31 กรกฎาคม 2563

ต้องการการเปลี่ยนแปลง...จำเป็นต้องคิดใหม่!

การปล้ำสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราเริ่มต้นด้วยการปล้ำสู้ในความนึกคิดและจิตใจของเรา ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือ การดำเนินชีวิตของเรา เราต้องเริ่มต้นปล้ำสู้ในความนึกคิดและในจิตใจของเรา   เราต้องเปลี่ยนแปลงฐานเชื่อ กระบวนคิด แล้วมุมมองของเราจะเปลี่ยนแปลง ที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงของการตัดสินใจ แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม และ การดำเนินชีวิตประจำวันของเรา

การเปลี่ยนแปลงความนึกคิด/จิตใจของเรา ในพระคริสต์ธรรมพระคัมภีร์ใช้คำว่า “การกลับใจเสียใหม่” บางคนไม่ค่อยชอบคำนี้ เพราะคำนี้บ่งบอกชี้ชัดว่า “เราคิดพลาดเราทำผิด” “เราเป็นคนบาป”

แท้จริง “การกลับใจเสียใหม่” เป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นสำหรับเราแต่ละคน การกลับใจเสียใหม่มิได้เริ่มต้นที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา แต่เริ่มต้นในการเรียนรู้ที่จะคิดต่างไปจากเดิม การกลับใจเสียใหม่ หรือ การเปลี่ยนใจใหม่ เป็นเหมือนการที่เราทำให้เกิดการ “ยูเทิร์น” หรือเป็นเหมือนการกลับรถ ซึ่งเป็นสิ่งเริ่มต้นในความนึกคิดของเรา มิใช่เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา แต่เมื่อใดที่เราเปลี่ยนวิถีการนึกคิดของเรา  เรา ที่จะนำสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา

สำหรับการกลับใจใหม่หมายถึงการที่เรา หันออกจากความรู้สึกผิดไปสู่การยกโทษ หันออกจากการที่ชีวิตไร้เป้าหมายสู่ชีวิตที่มีเป้าหมาย หันออกจากความสิ้นหวังสู่ความหวัง หันออกจากความผิดหวังการตกในกับดักชีวิตไปสู่ชีวิตที่มีเสรี มีชีวิตในความเป็นไท หันออกจากความมืดสู่ความสว่าง หันออกจากความตายไปสู่ชีวิตใหม่ หันออกจากความเกลียดสู่ความรักเมตตา...

การกลับใจใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและความเข้าใจของเราเกี่ยวกับพระเจ้า พระเจ้ามิได้โกรธเกลียดเรา แต่พระองค์ไม่พอพระทัยที่เราดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่เป็นอยู่

การกลับใจใหม่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดที่เราคิดเกี่ยวกับตนเอง คู่ชีวิตของตน ลูกหลานของตน คนที่ท่านรัก และวิธีการคิดถึงอดีตของตนเอง คิดถึงปัจจุบันที่เราเป็นอยู่ และเกี่ยวกับอนาคตของเรา

พลังการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเรามาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา ทรงช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงความนึกคิดของเรา เพื่อเราจะมีชีวิตเหมือนพระเยซูคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน

วันนี้ท่านคาดหวัง และ ต้องการให้ชีวิตของท่านเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอะไร?

ถ้าเช่นนั้น ท่านจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงความนึกคิดในเรื่องอะไร?

แล้วท่านจะใช้พลังจากที่ใด หรือ พลังอะไรที่จะจุดประกายและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในความนึกคิดจิตใจของท่าน?

[23] เพื่อรับการสร้างท่าทีความคิดจิตใจ(จิตวิญญาณ)ขึ้นใหม่  [24] และเพื่อสวมตัวตนใหม่ซึ่งพระเจ้าทรงสร้างขึ้นให้เป็นเหมือนพระองค์ในความชอบธรรมและความบริสุทธิ์ที่แท้จริง (เอเฟซัส 4:23-24 อมธ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




29 กรกฎาคม 2563

เมื่อทางชีวิตถูกปกคลุมด้วยหมอกหนาทึบ

บางครั้งชีวิตของเราต้องประสบกับความเบลอมัวถูกปกคลุมไปด้วยหมอกแห่งความสับสน ความกลัวหวาดหวั่น  และ ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงในชีวิต ยิ่งในช่วงที่ต้องเผชิญหน้ารับมือกับภัยร้ายภัยร้อนของโควิด 19 ที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างรอบด้าน ทั้งทางกาย อารมณ์ จิตใจ และเขย่าสั่นคลอนถึงรากฐานทางจิตวิญญาณของเรา   เวลาเช่นนั้นเราจะทำอย่างไรดี?

สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ในทุกยุคทุกสมัย แม้เมื่อกว่า 3,000 ปีก่อนหน้านี้ก็เกิดขึ้นกับกษัตริย์ในตะวันออกกลาง กษัตริย์เยโฮชาฟัท แห่งยูดาห์ ที่เราอ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ใน 2พงศาวดาร บทที่ 20  

เมื่อกษัตริย์เยโฮชาฟัทได้ยินข่าวรายงานว่า ศัตรูคือ เอโดมและพันธมิตรของเขากำลังเดินทางใกล้เข้ามาเพื่อทำสงครามกับเยโฮชาฟัท  เยโฮชาฟัทวุ่นวายใจ สับสนไม่รู้จะสู้กับศัตรูได้อย่างไร เกิดความวิตกกังวลอย่างมาก พระคัมภีร์บรรยายไว้สั้น ๆ ว่า “และเยโฮชาฟัทก็กลัว...” (ข้อ 3 มตฐ.) ขอให้เราอ่านอย่างละเอียดในเหตุการณ์ตอนนี้จากพระคัมภีร์ เพื่อแสวงหาว่า เมื่อเยโฮชาฟัทเกิดความกลัว เกิดความกังวลสับสน ไม่รู้จะทำอย่างไร ในวิกฤติเช่นนั้น เยโฮชาฟัททำอะไร?  

จาก 2พงศาวดาร 20:1-4 เขียนไว้ว่า “[1] ต่อมาภายหลัง คนโมอับและคนอัมโมนพร้อมกับคนเมอูนีบางส่วนมาทำสงครามกับเยโฮชาฟัท [2] มีคนมาทูลเยโฮชาฟัทว่า “มีคนมากมายจากเอโดม และจากฟากข้างนั้นของทะเล ยกมาสู้รบกับฝ่าพระบาท ดูสิ พวกเขาอยู่ในฮาซาโซนทามาร์” (คือ เอนกาดี) [3] และเยโฮชาฟัทก็กลัว และทรงมุ่งแสวงหาพระยาห์เวห์ ทั้งทรงประกาศให้อดอาหารทั่วยูดาห์ [4] แล้วยูดาห์ชุมนุมกันและแสวงหาความช่วยเหลือจากพระยาห์เวห์ เขาทั้งหลายมาจากทุกเมืองของยูดาห์ เพื่อแสวงหาพระยาห์เวห์” (มตฐ.)

สิ่งที่กษัตริย์เยโฮชาฟัททำในขณะที่พระองค์ตกใจกลัว สับสน และไม่รู้จะทำอย่างไรดี พระองค์กระทำ 4 ประการด้วยกัน ดังนี้

1. นำสถานการณ์ที่เลวร้ายวางต่อหน้าพระเจ้า

กษัตริย์เยโฮชาฟัทเมื่อเกิดความกลัวจนสับสนนั้น พระองค์ไม่ได้พยายามคิดให้ออกว่าตนจะทำอย่างไรจนเครียดจัด   หรือไม่ได้เอา “หัวมุดทราย” (ไม่รับรู้) เหมือนนกชนิดหนึ่ง หรือไม่ได้ทำเป็นไม่กลัวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือไม่สนใจกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นโดยคิดว่าเดี๋ยวมันก็จะคลี่คลายไปเอง แต่สิ่งที่เยโฮชาฟัททำคือ “มุ่งแสวงหาพระเจ้า” มอบเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับตนให้อยู่ต่อหน้าพระเจ้า โดยไม่พยายามลงมือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเอง ที่อาจจะก่อเกิดเกิดกังวลสับสนมากขึ้น

2. แสวงหาเสียงตรัสของพระเจ้าท่ามกลางเสียงโกลาหล

ปรับเปลี่ยนจิตใจ ความนึกคิดของเรา ที่พึ่งพิงในตัวเลข (สถิติต่าง ๆ) ข้อมูลข่าวสารที่ครึกโครมมากมายที่บ่าล้นท่วมความนึกคิดของเรา ทั้งที่เป็นข้อมูลจริง หรือ ข่าวเท็จเรื่องปลอม ตลอดถึงการคาดเดาของข่าวสารต่าง ๆ ที่ไหลบ่ามาในสื่อต่าง ๆ เสียงเหล่านี้กำลังดังมากขึ้น อย่างที่เรารู้ชัดว่ามันเป็นเสียงสร้างความโกลาหลอย่างยิ่ง

กระแสคำพูดต่าง ๆ เหล่านี้ไหลบ่าท่วมทับจิตใจและความนึกคิดของพวกเรา แต่ในที่นี้ผมมิได้บอกให้เรามองข้ามรายละเอียดที่มีสติปัญญาจากข่าวดีดีที่กำลังไหลท่วมชีวิตเราทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางการแพทย์และสาธารณสุข เศรษฐกิจ และความปลอดภัยทางสังคมแต่อย่านำข้อมูลเหล่านี้มาเป็น “ข้อมูลแก่นหลัก” ของเราในการรับมือกับสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญหน้าที่เราท่านจะไว้วางใจอย่างสูงสุด

ปรับ “เครื่องรับ” เสียงในภาวะสับสนนี้ให้รับเสียงจากพระสัญญา และ เสียงการชี้นำจากพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นเสียงแห่งความหวัง กษัตริย์เยโฮชาฟัท “มุ่งหน้าแสวงหาพระเจ้า” ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เยโฮชาฟัทสามารถอยู่เหนือความอลหม่านสับสน ความหวาดกลัว และความว้าวุ่นใจในสถานการณ์ที่เลวร้ายดังกล่าว เพราะเยโฮชาฟัทมิได้แสวงหาทางออกตามวิถีแห่งสังคมโลกในเวลานั้น แต่เขาหวังใน “พระปัญญา” จากเบื้องบน

3. ทบทวนถึงสิ่งที่เรารู้ว่าเป็นรากฐานความเชื่อและความจริง 

กษัตริย์เยโฮชาฟัทย้อนทบทวนถึงความเชื่อศรัทธาที่ตนมีในพระเจ้า ถึงความดีของพระเจ้าที่มีในชีวิตของตน   กล่าวทบทวนถึงสัจจะความจริงที่พระเจ้าทรงชี้นำเขาและปกป้องรักษาในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา เตือนตนเองว่าเรามิได้อยู่โดดเดี่ยวคนเดียว และย้ำเตือนแก่ตนเองว่าพระผู้ทรงสร้างเราทรงรักและเอาใจใส่เราเสมอ และนี่คือวิธีปฏิบัติที่สำคัญของผู้คนในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม พวกเขาย้ำเตือนตนเองถึงความสัตย์ซื่อเที่ยงธรรมของพระเจ้า จิตใจที่สำนึกในพระคุณของพระเจ้าเป็นจิตใจที่มีพลังแข็งแรงในยามวิกฤติเช่นนี้

4. เดินตามขั้นตอนที่ทรงชี้นำ และเรียนรู้ที่จะวางใจว่าความสำเร็จเป็นพระราชกิจของพระเจ้า มิใช่ความสามารถและเครื่องมือทันสมัยของเรา

ขั้นตอนนี้เป็นการยอมรับความจริง 2 ประการ เรามีความรับผิดชอบแต่ในเวลาเดียวกันเรามิใช่ผู้ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ ให้เราเรียนรู้ที่จะมีชีวิตด้วยการมีฐานเชื่อกรอบคิดว่าพระเจ้าทรงครอบครองสูงสุดเหนือทุกสิ่งในเชิงปฏิบัติ (practical mindset of God’s sovereignty) เรียนรู้ว่าจะมีศานติสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าสถานการณ์และสภาพการแวดล้อมในเวลายากลำบากนั้น เรียนรู้ที่จะไม่หมกมุ่นกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นราวกับว่าเราสามารถจัดการสิ่งเหล่านี้ได้เอง เรียนรู้ว่าแม้แต่คนที่ฉลาดยอดเยี่ยมที่สุดท่ามกลางเราเขาเป็นได้แค่คนที่เห็นทางข้างหน้าที่นำไปสู่ความสำเร็จเท่านั้น แต่มิใช่ผู้ที่กระทำให้สำเร็จได้

เยโฮชาฟัท มุ่งมองและพึ่งพิงในพระเจ้าด้วยความถ่อม จิตอธิษฐาน สารภาพด้วยจริงใจว่า เขาไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว นอกจากที่เขาจะมุ่งมองไปยังพระองค์เท่านั้น  

ท่ามกลางความโกลาหลของสภาพสังคม ท่ามกลางความกลัวที่เจาะไชลงลึกในหัวใจ แต่ถ้าเราเป็นอย่างเยโฮชาฟัท แสงสว่างก็จะโผล่ขึ้นจากท่ามกลางความโกลาหลเหล่านั้น กลับกลายเป็นพระพรเหลือล้น ที่เป็นเหตุให้อิสราเอลโห่ร้องสรรเสริญพระเจ้าของเขา และประเทศรอบด้านก็เกรงกลัวพระเจ้าของอิสราเอล  เพราะพระองค์รบแทนอิสราเอล

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




27 กรกฎาคม 2563

สิ่งดีดีที่ได้จากการนมัสการพระเจ้าทางออนไลน์ในครอบครัว

อย่างที่เราเคยคุยกันแล้วว่า ในวิกฤติโควิด 19 เราต้องหยุดการนมัสการพระเจ้าร่วมกันในอาคารคริสตจักรตามแผนการหยุดยั้งการแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 และก็สามารถเห็นผลของกระบวนการการป้องกันการแพร่ระบาดที่รุนแรง  

จนกระทั่งไม่นานมานี้เรากลับมานมัสการพระเจ้าที่ตัวอาคารคริสตจักรอีกครั้งหนึ่งภายใต้มาตรการการวางระยะห่างระหว่างบุคคล การสวมหน้ากากอนามัยทุกคน ล้างมือให้สะอาดเสมอ และ กินร้อนช้อนตัว ส่วนใหญ่ที่มีการเลี้ยงอาหารจะเป็นข้าวกล่องที่แต่ละคนรับประทานของตนเอง จนถึงขณะนี้ส่วนตัวผมเองยังไม่ได้รับข่าวว่าเกิดการแพร่เชื้อจากการกลับมานมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ที่ไปรวมตัวกันในอาคารคริสตจักรในประเทศไทยของเรา

ข้อมูลที่ใช้ในข้อเขียนนี้เป็นข้อมูลจากการพูดคุย/สัมภาษณ์จากการนมัสการออนไลน์เป็นครอบครัว (ไม่ใช่คนเดียว)   และได้ทำเช่นนี้ติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 3 อาทิตย์ (3 ครั้ง) และเน้นค้นหาสิ่งดีดีที่ผู้ให้ข้อมูลได้รับจากการนมัสการพระเจ้าออนไลน์ร่วมกันในครอบครัว ซึ่งสามารถประมวลถึงประโยชน์จากการนมัสการพระเจ้าออนไลน์ในครอบครัว 3 ประการใหญ่ ๆ คือ  

ประการแรก การนมัสการพระเจ้าออนไลน์ทำให้เราไม่ต้องขาดการนมัสการพระเจ้า

แม้วันนี้มีบางคนในครอบครัวตื่นสายไปหน่อยก็ไม่ต้องขาดการนมัสการพระเจ้าร่วมในครอบครัว ทั้งนี้เพราะ การนมัสการออนไลน์ที่บ้านไม่ต้องแต่งตัวที่สุภาพเรียบร้อยอย่างไปที่โบสถ์ วัยรุ่นบอกว่า ไม่ต้องแปลกใจว่าบางคนในครอบครัวมาร่วมนมัสการออนไลน์ด้วยชุดนอน และเมื่อพลาดเวลานมัสการจริง ก็ยังสามารถเปิดเทปที่คริสตจักรบันทึกไว้แล้วนมัสการพระเจ้าร่วมกันทั้งครอบครัวได้อยู่

คนรักดื่มกาแฟก็บอกว่า เมื่อกำลังนมัสการอยู่บางคนก็สามารถลุกเดินไปเติมกาแฟที่โต๊ะอาหารได้ บางคนฟังเทศนาไปแล้วเอนตัวคว่ำลงบนพื้นฟังเทศน์และสามารถลุกไปเอาอะไรมาบันทึกประเด็นที่น่าสนใจหรือสงสัยได้

พูดกันเป็นเสียงเดียวว่า การนมัสการพระเจ้าออนไลน์รู้สึกผ่อนคลาย ไม่ต้องเครียดกับท่าทาง กริยา หรือ ระวังการมองจากผู้ใหญ่หรือคนอื่น ๆ ในคริสตจักร วางตัวในการนมัสการพระเจ้าตามอย่างที่ตนเองถนัดและรู้สึกสบายกายและใจ

ประการที่สอง เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในเนื้อหาคำเทศนา ด้วยการพูดคุยในครอบครัว

พ่อแม่บอกว่า ลูกวัยรุ่นของเขามีคำถามที่น่าสนใจมากจากการฟังคำเทศนา (ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน) และที่ถามกันมากเช่น  ในตอนนั้น เรื่องนั้น หรือวลีนั้นมันหมายความว่าอะไร? ที่ว่า.... มันเป็นเรื่องจริงหรือ? ทำให้เราที่เป็นพ่อแม่ต้องเปิดพระคัมภีร์ อ่านด้วยกัน และแบ่งปันความเข้าใจในเรื่องนั้นแก่กันและกัน และสามารถที่จะหยุดเทปเทศนาไว้ที่นั่นก่อนแล้วค้นหาคำตอบร่วมกันได้ด้วย มีพ่อแม่ครอบครัวหนึ่งเล่าว่า เขาเจอคำถามลูกวัยรุ่นที่ตอบไม่ได้ พอดีเป็นการเปิดเทปนมัสการร่วมกันเลยโทรศัพท์หาอาจารย์ศิษยาภิบาล และท่านก็ได้อธิบายให้ทุกคนฟังจนเข้าใจ ไม่ต้องรอนมัสการเสร็จ กลับบ้านแล้วค่อยถามพ่อแม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะลืม ไม่ได้ถาม เพราะมีสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ เข้ามาแทนที่

ผู้ใหญ่บางท่านบอกว่า หลายครั้งคำถามที่ลูก หรือ หลานวัยรุ่นถามนั้น จริง ๆ แล้วเป็นคำถามทางศาสนศาสตร์ที่สำคัญ ทำให้วันนั้นในครอบครัวได้เกิดการพูดคุยแสดงความคิดเห็นความหมายทางพระคัมภีร์ และ ศาสนศาสตร์   มีครอบครัวหนึ่งบอกว่า ในการนมัสการพระเจ้าร่วมกันบางครั้งเป็นเหมือนชั้นเรียนในวิทยาลัยพระคริสต์ธรรม

บรรยากาศเช่นนี้นอกจากที่สามารถเกิดขึ้นในการนมัสการพระเจ้าในครอบครัวแล้ว จะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในการนมัสการพระเจ้าร่วมกันในอาคารคริสตจักรได้อย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ร่วมกัน การแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็นแก่กันและกัน การแสวงหาคำตอบชีวิตจากพระวจนะของพระเจ้าด้วยกัน

ประการที่สาม มิใช่เป็นเพียงความรู้และความรู้สึกเท่านั้น แต่เอื้อให้เกิดการนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง ไม่ต่ำกว่า 3 ครอบครัวที่บอกว่า หลังการพูดคุยกันแล้ว พ่อแม่มักจะถามต่อไปว่า สิ่งที่เราพูดคุยกันในวันนี้ เราจะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างไร? ซึ่งแต่ละคนมีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงปฏิบัติตามบริบทชีวิตประจำวันของตนเอง  

ในแต่ละวัน เมื่อกลับบ้านมารับประทานอาหารเย็นด้วยกัน จะเป็นโอกาสที่พ่อแม่หรือผู้นำครอบครัวจะถามไถ่ถึงชีวิตในวันนั้น พร้อมด้วยการถามถึงสิ่งที่แต่ละคนตั้งใจจะปฏิบัติที่เสนอในวันอาทิตย์ว่า เป็นอย่างไรบ้าง เป็นโอกาสที่เราจะชื่นชมกัน หรือ ให้กำลังใจที่จะบากบั่นมุ่งหน้าต่อไป หรือ มีความคิดเห็นข้อแนะนำกันและกันในครอบครัว

เราสามารถใช้ 3 คำถามต่อไปนี้ นำการพูดคุยหลังการฟังคำเทศนาแล้ว คือ

1) จากคำเทศนาในวันนี้ เราได้เรียนรู้อะไร? หรือ เตือนเราในเรื่องอะไรบ้าง?

2) เราจะประยุกต์พระวจนะจากคำเทศนาในวันนี้ไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคนอย่างไรบ้าง?

3) เราจะทำอย่างไรบ้างที่คนรอบข้างจะมองเห็นพระเยซูคริสต์ในชีวิตแต่ละวันของเรา?

และนี่คือกระบวนการฟังเทศนาและศึกษาพระคัมภีร์เชิงปฏิบัติ หรือ การฟังเทศนาและศึกษาพระคัมภีร์ด้วยชีวิตที่เชื่อฟัง สอดคล้องกับพระธรรมยากอบ 1:22 ว่า “[22] แต่จงเป็นผู้ประพฤติตามพระวจนะ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น...” (มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




24 กรกฎาคม 2563

ท่านเป็น “นักพูด” หรือ “นักฟัง”?

เรามักจะยกย่องชื่นชม “คนที่พูดเก่ง” ว่าเป็น “นักพูด”  แต่น้อยครั้งนักที่จะได้ยินการชื่นชมคนที่ “ฟังอย่างใส่ใจ” ว่าเป็น “นักฟัง”

เรามีหลักสูตร “สร้างนักพูด” (รวมถึงนักเทศน์) ที่ใช้อบรมกันมากมาย แต่เราไม่ค่อยได้ยินถึงเรื่องหลักสูตร “นักฟัง”  หรือการอบรมให้เรารู้จักการฟังที่มีประสิทธิภาพ?

คริสต์ชนจำนวนมากชอบในการอธิษฐานแต่ไม่เคย “สงบปากสงบคำ” ที่จะเงียบเพื่อจะฟังพระเจ้าตอบ แล้วก็มักบ่นว่า พระเจ้าไม่ตอบคำอธิษฐานของตน

นักพูดที่แท้จริงมิใช่ผู้พูดที่ “พูดเก่ง” หรือ “พูดฟังสนุก ตลก” แต่เป็นนักพูดที่ “พูดได้สาระ” พูดแล้วเสริมสร้างกำลังใจ เกิดแรงกระตุ้นหนุนใจคนฟังให้เกิดพลังที่จะก้าวเดินต่อไปในชีวิต

ตรงกันข้ามกับคนที่ “พูดมาก” “พูดอวดรู้” (คนกลุ่มนี้เมื่อใครพูดเรื่องอะไรเขาจะบอกว่า “รู้แล้ว รู้แล้ว” ไปเสียทุกเรื่อง) หรือพวกที่พูดเพื่อจะอวดคนอื่นว่าตนเองรู้ทุกเรื่อง และถ้ามีการถกเถียงกัน คนพวกนี้จะใช้เสียงตะเบ็งดังขึ้น ๆ ใช้เสียงดังข่มทับเกทับคนอื่น บางครั้งถึงกับตะโกนใส่หน้าคู่ถกเถียง

โดยภาพรวม สังคมเราในปัจจุบันนิยมชมชื่น “คนพูดเก่ง” มากกว่า “คนฟังเก่ง!

แท้ที่จริงแล้วใครที่จะเป็น “นักพูดที่ดี” จะต้องโตมาจากพื้นฐานเป็น “นักฟังที่ดี” ก่อน

เมื่อมีโอกาสที่จะเงียบและใคร่ครวญไตร่ตรองถึงพระลักษณะของพระเจ้า เราคงไม่ปฏิเสธว่า เราต้องการได้ยินเสียงตอบของพระเจ้า เมื่อเราทูลขอต่อพระองค์ เราคาดหวังให้พระองค์ตรัสกับเรา และถ้าพระเจ้าเขียนบล็อกอย่างในปัจจุบันนี้เราคงพากันเข้าไปอ่านกันมากมาย แต่เรามักมีประสบการณ์และพบว่า “พระเจ้าเงียบ ดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ตรัสอะไร” และบางครั้งทำให้บางคนเกิดความสงสัยว่า หรือพระเจ้าไม่ได้อยู่กับเรา หรือ ไม่สนใจเรา

การเงียบของพระเจ้าไม่ได้หมายความว่าพระองค์ไม่สนใจเรา และการใส่ใจของพระองค์ต่อชีวิตของเราก็ไม่ได้แสดงออกด้วยการพูด(มาก ๆ)  

แต่พระองค์ใส่ใจด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของเราเชิงปฏิบัติ การสนพระทัยของพระองค์ไม่เหมือนอย่างที่เราคิดเราทำกัน แทนที่ความสนใจของพระองค์แสดงออกด้วยการพูด แต่พระองค์ใส่พระทัยเราด้วย “การฟัง”

[*] พระเจ้าทรงฟัง (ได้ยิน) เสียงร้องของเด็กนั้น พระเจ้าทรงฟังเสียงของเด็กน้อยลูกชายของหญิงรับใช้ภรรยาของอับราฮามที่ถูกขับไล่ออกจากบ้าน (ปฐมกาล 21:17)

[*] พระเจ้าทรงได้ยินเสียงคร่ำครวญของพวกแรงงานทาสในอียิปต์ (อพยพ 2:24)

[*] และในพระธรรมสดุดีหลายตอนที่บอกว่าพระเจ้าฟังเสียงร้องของประชาอิสราเอล

พระเยซูคริสต์ก็ไม่ได้แตกต่างจากพระเจ้าพระบิดา พระองค์ฟังผู้คนเสมอ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราทำตามรูปแบบของพระบิดาและพระเยซูคริสต์ที่ให้ความสำคัญกับการฟัง  

มารีย์น้องสาวของมารธาได้รับการยกย่องจากพระคริสต์ที่เธอ “นั่งลงและฟัง” พระเยซูคริสต์ตรัสด้วยความเมตตาต่อมารธาว่า เธอวุ่นวายกับการทำบริการรับใช้มากเกินไป

ผู้นำที่ยิ่งใหญ่เป็นนักฟังที่เยี่ยมยอด ยิ่งถ้าเป็นผู้อภิบาลด้วยแล้ว ให้เราเลียนแบบขององค์พระผู้เป็นเจ้า และ พระผู้ช่วยให้รอดของเรา ให้เรามีเวลาฟังคนรอบข้างของเรา คนที่ได้รับความเจ็บปวดในชีวิต คนที่มีชีวิตโดดเดี่ยวว้าเหว่  ให้เราเสริมสร้างชุมชนคริสตจักรของเราให้โดดเด่นในการฟังคนอื่น

ท่านพี่น้องครับอย่าลืมคำแนะนำของยากอบที่ว่า... “...ให้ทุกคนไวในการฟัง ช้าในการพูด...” (ยากอบ 1:19 มตฐ.)  และเลิกนิสัยชอบพูดมาก ชอบรายงาน(เอาหน้า) เพื่อแสดงว่าตนรู้ทุกเรื่อง?

 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




22 กรกฎาคม 2563

ผลจากอิทธิพลของ “ความเชื่อที่แฝงเร้น”

ความเชื่อที่แฝงเร้น” เป็นความเชื่อ หรือ ระบบคุณค่า-คุณธรรมที่ถูกปลูกฝังอยู่ภายในชีวิตเราแต่ละคนจนกลายเป็นพฤติกรรมที่คุ้นชินในการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่คน ๆ นั้นกระทำตามความเชื่อที่ปลูกฝังนั้นทั้งที่รู้ตัว และ อาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ และเมื่อคน ๆ นั้นมารับเชื่อในคริสต์ศาสนา หรือ มาเป็นคริสตชน คริสตจักรก็ปลูกฝังความเชื่ออีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นความเชื่อในพระเจ้า 

แต่ความเชื่อชุดเดิมก่อนหน้านี้ยังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของคน ๆ นั้น และพฤติกรรมที่แสดงออกเหล่านั้นกลับมาบดบังซ้อนทับ “ความเชื่อในพระเยซูคริสต์” ที่เขารับเชื่อใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อและสัมพันธภาพที่เขาควรจะมีในชีวิตประจำวันกับพระเยซูคริสต์ ทั้งในชีวิตส่วนตัว ในครอบครัว ในอาชีพการงานและในความสัมพันธ์กับสังคมชุมชน และในคริสตจักรด้วย

ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ เรื่องราวของพี่น้องมารีย์ และ มารธา เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่อง “ความเชื่อที่แฝงเร้น” (ดู ลูกา 10:38-42) เมื่อพระเยซูคริสต์และสาวกมาเยี่ยมที่บ้านของพี่น้องทั้งสอง มารีย์ได้มานั่งที่แทบเท้าของพระเยซูเพื่อฟังและซึมซับคำสอนของพระองค์ แต่มารธากำลังวุ่นวุ่นวายไปทั้งบ้านเพื่อเตรียมต้อนรับแขก ยิ่งกว่านั้นยังบ่นว่ามารธาน้องสาวของเธอต่อพระเยซูว่า ขอบอกให้มารีย์ลุกมาช่วยเธอบ้าง

พระเยซูคริสต์ตอบมารธาด้วยความเมตตาว่า “[41]... “มารธา มารธาเอ๋ย เธอกระวนกระวายและร้อนใจหลายอย่างเหลือเกิน [42] สิ่งที่จำเป็นนั้นมีเพียงสิ่งเดียว และมารีย์ก็เลือกเอาส่วนที่ดีนั้น ใครจะชิงเอาไปจากเธอไม่ได้” (ลูกา 10:41-42 มตฐ.)

มารธา “วุ่นวายอย่างมากกับการปรนนิบัติ” (ข้อ 40) นั่นไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่เธอให้สิ่งดีดีมากมายมาครอบงำชีวิตของเธอ จนพลาดโอกาสที่จะนั่งใกล้ชิดและรับสิ่งที่จำเป็นในชีวิตจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

น่าเศร้าใจ ที่หลายคนในพวกเราตกเป็นเหยื่อของ “ความเชื่อที่แฝงเร้น” จนยอมให้สิ่งดีดีมากมายมายึดครองชีวิตของตน จนไม่มีพื้นที่ว่างในชีวิตสำหรับสิ่งที่จำเป็น สิ่งที่ดีกว่า และสิ่งที่ดีที่สุดจะอยู่ในชีวิตของตนได้  

เราลงทุนลงแรงกระทำตามแรงกระตุ้นของศาสนาที่เราเชื่อมากกว่าสัมพันธภาพที่เรามีกับพระเจ้าที่เราเชื่อศรัทธา   ผลที่เราได้รับจากการ “ความเชื่อที่แฝงเร้น” สามารถเห็นชัดใน 3 ลักษณะด้วยกันในชีวิตประจำวันของเรา คือ

1. ชีวิตที่ถูกครอบงำด้วยกิจกรรมต่าง ๆ และ ธรรมเนียมปฏิบัติ

เมื่อกิจกรรมและงานเกี่ยวกับความเชื่อศรัทธาทับบังและครอบงำความเชื่อของเรา เราจะสูญเสียความชื่นชมยินดี (แม้จะเป็นการกระทำดีก็ตาม) และเมื่อทำการ “รับใช้” กลับทำให้เรามีมุมมองและพฤติกรรมที่วิจารณ์ว่าร้ายคนอื่น  และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับมารธา

2. ชีวิตที่ถูกครอบงำด้วยความยุ่งวุ่นวาย

เราอยู่ในวัฒนธรรมที่มีระบบคุณค่าที่ผิด ๆ เรามักจะมองว่าคนที่มีคุณค่าคือคนที่ต้องทำอะไรมากมาย จนคนในสมัยนี้เวลาและชีวิตถูกครอบงำยึดครองด้วยรายการงานที่ต้องทำเต็มปฏิทิน ที่สำคัญกว่าชีวิตครอบครัว สุขภาพของตนเอง และความสัมพันธ์ที่เราควรมี ผลเลวร้ายที่เราได้รับคือ เรามีการงานมากเกินไปจนไม่มีเวลาและชีวิตสำหรับพระประสงค์และแผนงานของพระเจ้าที่มีสำหรับชีวิตของเราเอง และในยุคนี้เราพบการสื่อสารให้คนอื่นเห็นว่าเราต้องทำงานมากมายผ่านสื่อออนไลน์ ที่เราเรียกด้วยคำที่สวยหรูว่า “ประชาสัมพันธ์ผลงาน” (เพื่อประชาสัมพันธ์ตนเอง?)

3. ชีวิตที่หมดไฟสิ้นพลัง

ความมุ่งมั่นอย่างจริงจังในกิจการงานของคริสตจักรสามารถเป็นอุปสรรคต่อความเชื่อของเรา! เมื่อใดก็ตามที่กิจกรรมต่าง ๆ ทางศาสนากลายเป็นพลังขับเคลื่อนความเชื่อของเรา ความสัมพันธ์ของเรากับพระเยซูคริสต์จะถูกผลักไสไว้ข้างหลัง เราปิดหูปิดใจของเรา ต่อการทรงชี้นำ ต่อพระกำลังจากพระคริสต์ และกำลังใจจากพระองค์   แล้วเรามุ่งแต่พึ่งพากำลังในชีวิตของตนเอง จนต้องพบกับภาวะ “หมดไฟ” ไร้พลังในชีวิต

ไม่มีใครในพวกเราที่ต้องการความเชื่อที่แฝงเร้นนี้ บางครั้งเรารู้ทั้งรู้ แต่เราก็ยังลื่นไถลล้มลงไปในสถานการณ์เช่นนี้   แต่ชีวิตไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้ คำถามก็คือว่า...

แล้วเราจะพลิกจาก “ความเชื่อที่แฝงเร้น” ที่มีอำนาจเหนือชีวิตของเรา ไปสู่ “ความเชื่อที่จริงแท้” จากพระคริสต์ได้อย่างไร?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




20 กรกฎาคม 2563

ความเชื่อจริงแท้...มุ่งเข้าหาความยุ่งยากสับสน

หลายต่อหลายศาสนาสอนให้คน “หลีกเลี่ยง หลีกหนี” สอนให้หาทางออกจากความทุกข์ แต่พระเยซูคริสต์สอนและมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่ “หันหน้าเข้าไปและรับมือกับความทุกข์” แปลกยิ่งกว่านั้น “หันหน้าเข้าไปรับมือกับความทุกข์ยากที่มิใช่ความทุกข์ของตนเองแต่เพื่อคนอื่น”

ความเชื่อจริงแท้ตามพระคัมภีร์ นอกจากความเชื่อต้องมีความเชื่อเชิงปฏิบัติแล้ว ยังเป็นความเชื่อมิใช่เพื่อตนเองเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อที่มุ่งเข้าหาสถานการณ์ที่สับสน ยุ่งยากของคนอื่นเพื่อรับมือ ช่วยเหลือ ให้กำลังใจ  สนับสนุน และรับใช้คนเหล่านั้น  

ความเชื่อที่จริงแท้คือความเชื่อที่ขับเคลื่อนตอบสนองปัญหา วิกฤติ ที่เกิดขึ้นรอบข้างให้ได้รับการเปลี่ยนแปลง  และเสริมสร้างให้เกิดชีวิตใหม่ ความหวังใหม่ และ สถานการณ์ใหม่

[14] พี่น้องของข้าพเจ้า แม้ใครจะกล่าวว่าตนมีความเชื่อ แต่ไม่ได้ประพฤติตามจะมีประโยชน์อะไร? ความเชื่อนั้นจะช่วยให้เขารอดได้หรือ? (ยากอบ 2:14 มตฐ.)

แล้วยากอบได้กล่าวยกตัวอย่างให้เห็นชัดว่า

[15] ถ้าพี่น้องชายหญิงคนไหนขาดแคลนเสื้อผ้าและอาหารประจำวัน [16] แล้วมีใครในพวกท่านกล่าวกับเขาทั้งหลายว่า “ขอให้กลับไปอย่างเป็นสุข ให้อบอุ่น และอิ่มหนำสำราญเถิด” แต่ไม่ได้ให้สิ่งจำเป็นฝ่ายกายแก่พวกเขา จะมีประโยชน์อะไร?  (ข้อ 15-17 มตฐ.)

ยากอบมิได้บอกกับเราว่า ความเชื่อของเราควรจะเป็นความเชื่อเชิงปฏิบัติ หรือ ต้องเป็นความเชื่อที่มีการกระทำเท่านั้น แต่ได้ยกตัวอย่างชัดเจนว่า ความเชื่อทำอะไรอย่างไรด้วย

ความเชื่อสำหรับคริสตชนในการทำอาชีพการงานในแต่ละวัน มิใช่ให้เราทำงานจนครบเวลากำหนด เพื่อรับค่าแรง  กลับบ้าน แล้วซุกตัวในมุมที่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ความเชื่อมองหาโอกาสที่เราจะเข้าไปร่วมในความทุกข์ยากเจ็บปวดของคนอื่น ๆ เพื่ออภิบาลดูแลชีวิตของคนนั้น เพื่อที่จะ “ให้” จะ “ช่วย” และจะ “รับใช้” เขา

ความเชื่อเมื่อเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาจะเข้าไปรับมือกับปัญหานั้น ความเชื่อที่จริงแท้คือความเชื่อที่เห็นประเด็นวิกฤติในชีวิตของเพื่อนมนุษย์จะไม่ยอมนิ่งเฉย ความเชื่อที่จริงแท้จะเข้าไปเกี่ยวข้องรับมือกับความยุ่งยากในชีวิตที่ฉีกขาดของผู้คนที่อาจจะมีความเชื่อหรือไม่ก็ตาม 

ดังนั้น ความเชื่อที่จริงแท้เป็นความเชื่อที่มีปฏิกิริยาขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่กำลังผิดเพี้ยน ฉีกขาด ทุกข์ยาก มีปัญหา เพื่อที่จะช่วยเหลือ รับใช้ ในประเด็นชีวิตที่คน ๆ นั้น หรือ เหล่านั้นกำลังประสบ

คำถามคือ แล้วความเชื่อของเราทำงานอย่างที่กล่าวมานี้หรือไม่? ความเชื่อของเราขับเคลื่อนมุ่งหน้าเข้าหาสถานการณ์ความยุ่งยากหรือเปล่า? เราแต่ละคนต้องตอบคำถามนี้ เมื่อใครบางคนที่ชีวิตกำลังเผชิญกับประเด็นปัญหา และต้องแบกรับกับปัญหานั้นโดยที่เราไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แล้วเขาเปิดเผยแก่เราถึงสถานการณ์เลวร้ายที่เขากำลังประสบ หรือ กำลังมีประเด็นปัญหาในเรื่องสุขภาพ หรือมีประเด็นปัญหาบางเรื่องในครอบครัว   แล้วเราจะทำอะไร อย่างไร ในเวลาเช่นนั้น? เราจะนิ่งเงียบต่อสิ่งที่รับรู้ โดยหวังว่าเรื่องต่าง ๆ จะจบลงด้วยดีในที่สุดเช่นนั้นหรือ?

หรือ เราจะตัดสินใจว่า เราต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือในเรื่องนั้นไหม? เราจะเข้าไปให้กำลังใจพวกเขา   เราจะเข้าไปช่วยเขา เราจะให้อะไรบางอย่างแก่เขา เราจะเคียงข้างไปกับเขาให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันไหม?

เราจะเดินเลี่ยงออกไปอีกทางหนึ่ง หรือ เดินเข้าไปหาสถานการณ์ที่ยุ่งยากลำบากนั้น?

แต่สำหรับความเชื่อที่จริงแท้จะมุ่งเข้าไปในสถานการณ์ยุ่งยากนั้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


17 กรกฎาคม 2563

เมื่อชีวิตถูก “บีบ-คั้น-กด-ดัน”

ทุกคนหนีไม่พ้นภาวะที่ถูกกดดันในชีวิต ทั้งการกดดันจากสภาพแวดล้อมภายนอก จากคนรอบข้าง และบ่อยครั้งที่เรากดดันตนเองทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ผมพบความจริงว่า ไม่เพียงแต่คนที่ชอบเข้าสังคมเท่านั้นที่ได้รับการกดดันในชีวิต คนเก็บตัวอย่างผมก็ไม่วายที่ต้องพบกับการกดดันในชีวิตด้วยเช่นกัน เพียงแต่ลักษณะความกดดันอาจจะแตกต่างกันออกไปเท่านั้น

เราท่านต่างก็รู้อยู่ว่า ความกดดันในชีวิตเป็นสิ่งที่ยากที่จะหลีกเลี่ยง แต่คริสตชนรู้มากกว่านั้นว่า พระเจ้าสามารถที่จะใช้การกดดันในชีวิตที่เราได้รับเพื่อบีบคั้นเราเข้าใน “เบ้าแบบชีวิต” ที่พระองค์ประสงค์ให้เราแต่ละมีชีวิตแบบนั้น ๆ ตามพระประสงค์  

ดังที่เปาโลได้กล่าวไว้ว่า...

“[8] เราถูกบีบคั้น (กดดัน) อย่างหนักทุกด้าน แต่ไม่ถึงกับถูกบดขยี้ สับสนแต่ไม่ถึงกับสิ้นหวัง” (2โครินธ์ 4:8 อมธ. ในวงเล็บผู้เขียนเพิ่มเติม)

สำหรับคริสตชน เรามีสัจจะความจริงในการรับมือกับความกดดันในชีวิต ซึ่งเป็นพระสัญญาจากพระเจ้าที่มีต่อลูก ๆ ของพระองค์ คือ

[1] เมื่อพระเจ้าหนุนเสริม และ เสริมสร้างให้เราเติบโตขึ้นในพระองค์ เราจะพบกับแรงกดดันในชีวิต

[2] แรงกดดันดังกล่าวจะไม่บดขยี้เราจนถึงตาย หรือ ทำให้เราต้องสิ้นหวัง ชีวิตอาจจะพบกับความยากลำบาก แต่ในความยากลำบากเราได้รับพระกำลังของพระเจ้าที่จะหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่เราเสมอ

แต่ถ้าเราไม่ยอม หรือ หลีกเลี่ยงการถูกบีบคั้น-กดดัน ชีวิตของเราก็จะสูญเสียโอกาสที่จะเติบโต แข็งแรง และ เกิดผล

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


15 กรกฎาคม 2563

จะเลี้ยงความคิดของเราด้วยอะไรดี?

ในขณะที่เราใส่ใจเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และหาโอกาสในการออกกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อจะมีร่างกายที่แข็งแรง ถึงแม้จะมิได้ใส่ใจ 100% ทุกครั้งเสมอไป แต่โดยภาพรวมแล้วคนส่วนมากใส่ใจเรื่องสุขภาพของตน แต่ในเวลาเดียวกัน เรากลับไม่ค่อยให้ความใส่ใจว่าจะเลี้ยงดูความคิดของเราด้วยอะไรและอย่างไรที่จะทำให้เรามีความนึกคิด จิตใจ มุมมองที่แข็งแรง และความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ

สิ่งที่เราป้อนเข้าไปในความนึกคิดของเรา คือสิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดความคิด และวิธีการคิด ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อบุคลิกและพฤติกรรมชีวิตของเรา  

ถ้าคริสตชนรับเอาฐานเชื่อ-กรอบคิด ที่มาจากพระวจนะของพระเจ้า มุมมอง การตัดสินใจ พฤติกรรมชีวิต และบุคลิกภาพย่อมส่อสื่อออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมในทางความคิด คำพูด และ พฤติกรรมชีวิตด้านต่าง ๆ ที่เป็นไปตามพระวจนะของพระเจ้า เราสามารถกล่าวได้ว่า เรากำลังเลี้ยงดู บ่มเพาะ ฟูมฟัก และ หล่อหลอมความนึกคิดของเราด้วยพระวจนะของพระเจ้า

ความคิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน

ในวัฒนธรรมสังคมที่เรามีชีวิตอยู่ “ความดี  มีศีลธรรม และ หลักการที่ได้รับการยอมรับ” ดูจะแตกต่างห่างไกลไปจากสัจจะความจริงในพระวจนะของพระเจ้า แต่เมื่อใครก็ตามที่อ่าน ศึกษา ค้นหา และ นำชีวิตของตนเข้าไปในแนวทางชีวิตตามสัจจะความจริงของพระเจ้าในพระวจนะ ความนึกคิดของคน ๆ นั้นเริ่มซึมซับเอาสัจจะความจริงจากพระวจนะ และสัจจะจากพระวจนะนั้นได้แผ่ซ่านแทรกซึมเข้าในความนึกคิด ความนึกคิดของคน ๆ นั้นเริ่มรับอิทธิพลหรือพลังสัจจะของพระวจนะเข้าไปเปลี่ยนแปลงฐานเชื่อกรอบคิด กระบวนการคิดของเขา ย่อมทำให้มุมมองโลกทัศน์ และ บุคลิกภาพของคนๆนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง กระบวนการคิด และ การตัดสินใจดำเนินไปตามแนวทางใหม่ตามอิทธิพลของสัจจะความจริงจากพระวจนะของพระเจ้า และพฤติกรรมชีวิตคนๆนั้นจะเปลี่ยนแปลงตามมาอย่างเป็นรูปธรรม จนคนรอบข้างสังเกตเห็นได้ชัดเจน

พระวจนะของพระเจ้าได้แสดงวิถีทางที่มีความสัมพันธ์ระหว่าง “วิถีคิดของเรา” และ “โลกทัศน์ของเรา” กับ สุขภาวะทางจิตวิญญาณ หรือ ความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณของเรา 

เปาโลกล่าวว่า  “[2] อย่าลอกเลียนแบบอย่างคนในยุคนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ แล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่ เพื่อท่านจะได้ทราบพระประสงค์ของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัย และอะไรดียอดเยี่ยม (สมบูรณ์พร้อม)”  (โรม 12:2 มตฐ. ในวงเล็บสำนวน อมธ.)

ภาษากรีกคำว่า “เปลี่ยนแปลง” ที่ใช้ในพระธรรมข้อนี้ มีความหมายว่า “การปรับเปลี่ยนความคิดทางศีลธรรมและวิสัยทัศน์ทางจิตวิญญาณ และ ความคิดให้เป็นไปตามความคิดในพระวจนะของพระเจ้า  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตทั้งชีวิต”  

เมื่อเราศึกษาพระวจนะของพระเจ้า อิทธิพลสัจจะความจริงแห่งพระวจนะของพระเจ้าจะปรับเปลี่ยนวิถีและวิธีการคิดของเราใหม่ให้มีวิถีและวิธีคิดไปในแนวทางเดียวที่สอดคล้องกับสัจจะแห่งพระวจนะพระเจ้า เมื่อเราได้รับการปรับเปลี่ยนวิถีและวิธีการคิดแล้ว พระวิญญาณของพระเจ้าจะปรับเปลี่ยนทัศนะมุมมองของเรา แรงจูงใจในชีวิต  และพฤติกรรมชีวิตของเราให้สอดคล้องตามแบบอย่างในชีวิตของพระคริสต์

แล้วเราเอาอะไรเลี้ยงดูความคิดของเรา?

พระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของเรา (ทิตัส 3:5) และเราสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ด้วยการ “เลี้ยงดู” ความนึกคิดของเราด้วยสัจจะความจริงจากพระวจนะของพระเจ้า ให้เราทูลขอพระเจ้าโปรดสำแดงให้เราเห็นว่า ความนึกคิดของเราได้หลงเจิ่นออกนอกวิถีทางแห่งสัจจะความจริงของพระองค์อย่างไร ทูลขอให้พระองค์โปรดพลิกฟื้นความนึกคิดของเราขึ้นใหม่ และฟื้นฟูความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณของเรา และให้เราร่วมในพระราชกิจการทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในครั้งนี้ ด้วย “การเปลี่ยนแปลงชีวิตเชิงปฏิบัติ” ของเรา

พระวจนะของพระเจ้าบอกเราให้คิด...ในสิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่น่านับถือ สิ่งที่ยุติธรรม สิ่งที่บริสุทธิ์ สิ่งที่น่ารัก สิ่งที่ควรแก่การสรรเสริญ รวมทั้งถ้ามีสิ่งใดที่ยอดเยี่ยม สิ่งใดที่น่ายกย่อง (ฟีลิปปี 4:8 มตฐ.) และนี่คือ คุณลักษณะต่าง ๆ ที่พระวจนะของพระเจ้าบ่งชี้ชัดว่า เมื่อเรานึกคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเราควรมีการคิดที่มีคุณลักษณะอย่างไรบ้าง

เลี้ยงความคิดของเราด้วยอาหารสุขภาพทางจิตวิญญาณ

ให้เราเริ่ม “พลิกฟื้นความนึกคิดจิตวิญญาณของเรา” บางท่านบอกว่าแล้วจะให้เริ่มต้นอย่างไร? มีหนทาง วิธีในการเลี้ยงดู ฟื้นฟูความนึกคิดจิตวิญญาณของเรามากมายด้วยสัจจะความจริงในพระวจนะของพระเจ้า ในที่นี้ขอประมวลวิธีการเป็นภาพรวมภาพใหญ่ ดังนี้

[#1] “อ่าน” พระวจนะของพระเจ้าเป็นประจำ

[#2] “ฟัง”  พระวจนะของพระเจ้า (ฟังเทศนา รายการพระวจนะพระเจ้าทางวิทยุ/โทรทัศน์/รายการออนไลน์ในอินเตอร์เน็ต หรือ ฟังเทปเกี่ยวกับพระวจนะของพระเจ้า)

[#3] “จำ” พระวจนะของพระเจ้า จดจำ ท่องจำ สะสมพระวจนะของพระเจ้าในความนึกคิดจิตใจของเรา

[#4] “ภาวนา-ไต่ตรอง” พระวจนะของพระเจ้า ใคร่ครวญพระวจนะแสวงหาการทรงสำแดงจากพระเจ้าผ่านการไตร่ตรองพระวจนะของพระองค์

[#5] “ร่วม” ในกลุ่มศึกษาพระวจนะ ทั้งกลุ่มที่พบกันหน้าต่อหน้า หรือ กลุ่มศึกษาพระวจนะพระเจ้าทางออนไลน์ร่วมกัน

[#6] “ฟังเพลง” เปิดเพลงนมัสการ หรือ เพลงสรรเสริญจากเทป/ออนไลน์ฟังขณะทำงาน พักผ่อน หรือ กำลังขับรถยนต์

ในการปรับเปลี่ยน พลิกฟื้น ความนึกคิดของเราใหม่ให้สอดคล้องกับสัจจะความจริงแห่งพระวจนะของพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องใช้เวลา ความอดทนกับตนเอง ถึงแม้การเปลี่ยนแปลง-พัฒนาทางร่างกายยังต้องออกกำลัง  การทุ่มเท ความอดทน และเวลา การเปลี่ยนแปลงพลิกฟื้นความนึกคิดและจิตวิญญาณของเราไม่สามารถทำได้ให้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงนี้เราไม่สามารถกระทำได้ด้วยตนเองเท่านั้น แต่เราต้องพึ่งในพระกำลังของพระเจ้า และการทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตประจำวันของเรา และ การที่พระเจ้าทรงใช้คริสตชนบางคนเข้ามาช่วยเสริมหนุนเราให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกฟื้นในความนึกคิดและจิตวิญญาณ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



13 กรกฎาคม 2563

การทำอาชีพการงานเป็นการนำ “พระพร” ไปถึงคนอื่น!

พระเจ้าประทานวันจันทร์ถึงวันเสาร์ให้เป็น “วันแห่งพระพร” ที่ให้เราแต่ละคนเข้าไปในสังคมชุมชนเพื่อนำ “พระพรของพระเจ้า” ไปยังชีวิตของคนต่าง ๆ รอบข้างเรา ผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน และ การประกอบอาชีพของเรา

สำหรับคริสตชน งานอาชีพของแต่ละคนเป็นการทรงเรียกของพระเจ้าที่มีต่อคน ๆ นั้น ที่เราแต่ละคนจะต้องตอบสนองต่อการทรงเรียกของพระองค์ ด้วยจิตใจแห่งการภาวนาอธิษฐาน ทูลขอให้การดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพการงานในแต่ละวันของเราให้เป็นไปตามพระประสงค์แห่งการทรงเรียกของพระองค์อย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น การอธิษฐานที่เกิดเป็นพระพร จึงมิใช่การอธิษฐานด้วยคำพูดเท่านั้น แต่เป็นการอธิษฐานด้วยปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน

น้อยนักที่คริสตชนจะคิดที่ว่า “การทำงานเป็นการอธิษฐาน” “การทำอาชีพเป็นการนำพระพรไปถึงคนอื่น” ส่วนมากเราจะมองว่าการทำงานนั้นเป็นอาชีพ เป็นสิ่งที่เราใช้เวลา ความรู้ความสามารถในการทำเพื่อเราจะได้รับรายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องต่าง ๆ  

แต่ในความเป็นจริง คริสตชนทำงานอาชีพในแต่ละวันนั้นเป็นโอกาสที่เราจะทำงานเพื่อตอบสนองการทรงเรียกของพระเจ้าให้รับใช้คนอื่นและเพื่อประโยชน์สำหรับคนอื่น เป็นการกระทำเพื่อ “ให้สิ่งดี ๆ ในชีวิต” เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นในพระนามของพระคริสต์

ดังนั้น การทำงานในแต่ละวันของแต่ละคนเป็นการรับใช้คนต่าง ๆ ตามการทรงเรียกของพระเจ้า ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการทำงานในคริสตจักร ในสถาบันหรือหน่วยงานคริสตชน แต่อาจจะเป็นคนงานรับจ้าง กรรมกรก่อสร้าง เกษตรกร แพทย์ พยาบาล ครู อาจารย์ ผู้บริหาร นักดนตรี ช่างเทคนิค เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ข้าราชการ  พ่อค้าแม่ค้า แม่ที่เลี้ยงทารก และ ฯลฯ  คริสตชนเชื่อว่า พระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนรับใช้พระองค์ผ่านอาชีพและการงานที่เราทำ เพื่อรับใช้และกระทำสิ่งดีดีมีประโยชน์แก่ผู้อื่นในพระนามของพระเยซูคริสต์  

ดังนั้น การออกแรง ทุ่มเท ใช้สติปัญญา และ ทักษะความสามารถของเราจึงเป็นคำอธิษฐานเชิงปฏิบัติการของเราในแต่ละวัน แต่ละหน้าที่การงานที่จะเป็นพระพรแก่คนอื่นรอบข้าง และแก่คนที่รับบริการหรือใช้ประโยชน์จากงานที่เราทำ

สำหรับคริสตชนแล้ว ในหน้าที่การงานที่เราทำแต่ละวัน เราสามารถที่จะตั้งใจทำเพื่อสำแดงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ กล่าวคือ ความรักเมตตาที่เสียสละเยี่ยงพระคริสต์แก่ผู้คนที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทุกคน

ขอตั้งข้อสังเกตว่า แม้ในบริบทที่ไม่เอื้อ หรือ มีการต่อต้านการประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งกีดกันการนำพระพรของพระเจ้าเข้าถึงผู้คนรอบข้าง และ ไม่สามารถขัดขวางการนำความรักเมตตาและเสียสละแบบพระคริสต์ที่สำแดงผ่านการทำงานอาชีพในประจำวันของเราไปถึงผู้คนวงกว้าง 

ในการทำงานอาชีพของเราแต่ละวัน เราสามารถเลือกที่จะทำงานนั้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ “น่าเบื่อหน่าย” หรือ เราจะทำงานนั้นด้วยจิตอธิษฐานในพระนามของพระคริสต์ เพื่อเป็นการยกย่องสรรเสริญพระเจ้าผ่านการทำงานนั้น  เพื่อให้เกิดสิ่งดีมีประโยชน์แก่คนรอบข้างและผู้รับบริการ 

ดังที่พระคริสต์ตรัสถึงชีวิตที่เรานำพระพรไปยังคนรอบข้างนั้นควรมีลักษณะเช่นไร“

[25] ...“ท่านทั้งหลายรู้อยู่ว่าผู้ปกครองของคนต่างชาติเป็นเจ้าเหนือเขาและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ใช้อำนาจเหนือพวกเขา [26] แต่สำหรับพวกท่านไม่เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม ใครอยากเป็นใหญ่ในพวกท่านต้องรับใช้พวกท่าน” (มัทธิว 20:25-26 อมธ.) ขอตั้งข้อสังเกตว่า ในสายพระเนตรของพระเยซูคริสต์ ผู้ที่กระทำเช่นนี้คือ “ผู้เป็นใหญ่” ในพวกท่าน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



08 กรกฎาคม 2563

เมื่อเกิดความขัดแย้ง...ตรวจสอบแรงจูงใจตนเองก่อน!

ในการทะเลาะด่าว่ากันบางครั้งที่เรารู้ว่า คู่ปรปักษ์ของเราเป็นฝ่ายถูก และเราเองเป็นฝ่ายผิด แต่เพราะการถกเถียงมันไปไกลเกินกว่าจะกู่กลับ ดังนั้น เราจึงยืนกระต่ายขาเดียวเถียงไปไม่ยอมถอยเพราะความหยิ่งทะนง แพ้ไม่ได้  เราต้องเป็นฝ่ายถูกเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เรารู้อยู่แก่ใจแล้วว่า เขานะถูกแต่เรานี่ผิดก็ตาม

ยากอบ พี่น้องต่างบิดาของพระเยซูกล่าวไว้ว่า

[1] อะไรคือต้นเหตุของการต่อสู้และการทะเลาะวิวาทในหมู่พวกท่าน? สิ่งเหล่านี้มาจากตัณหาซึ่งขับเคี่ยวกันภายในท่านไม่ใช่หรือ? [2] ท่านอยากได้แต่ไม่ได้ ท่านก็ฆ่าและละโมบของผู้อื่น ท่านไม่ได้สิ่งที่ตนต้องการก็วิวาทและต่อสู้กัน ท่านไม่มีเพราะไม่ได้ทูลขอพระเจ้า [3] เมื่อท่านทูลขอท่านไม่ได้รับเพราะท่านขอด้วย "แรงจูงใจผิด ๆ" เพื่อจะนำไปปรนเปรอตนเอง (ยากอบ 4:1-3 สมช.)

ในยุคปัจเจกนิยมที่เรามุ่งเทิดทูน “สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล” จนมองข้ามและลืมที่จะคิดและใส่ใจถึงสิ่งดี ๆ เพื่อคนอื่น หรือ อะไรคือสิ่งสำคัญเหมาะสมสำหรับสังคมชุมชนที่อยู่รอบตัวเรา และที่เราไว้วางใจพระเจ้าทุกวันนี้ เราไว้วางใจพระเจ้าเพื่อความจำเป็นต้องการของ “ตนเอง” เท่านั้นหรือเปล่า? เรากลายเป็น “ผู้บริโภค” ที่หุนหันพลันแล่นข้ามผ่านละเลยวิถีคริสต์จริยธรรมที่ตนพึงปฏิบัติ แล้วเลือกที่จะเดินบนเส้นทาง “ตามใจปรารถนาของตนเอง”

ในเมื่่อวิถีคริสต์จริยธรรมถูกบิดเบือนด้วย “แรงจูงใจที่เห็นแก่ตัว” คนที่เราสัมผัสสัมพันธ์มักจะได้รับบาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิตจากที่สัมพันธ์กับเรา บางครั้ง สัมพันธภาพต้องพังพินาศเพราะไม่มีใครยอมที่จะละวางผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของบุคคลอื่น

พระเยซูคริสต์ได้เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในความสัมพันธ์ที่ไม่เห็นแก่ตัว ในขณะที่พระองค์มีชีวิตที่แข็งแรง และในสภาพที่สุขสบาย แต่พระองค์ได้ให้เวลา ให้ความสัมพันธ์ ให้ชีวิตของพระองค์แก่คนต่าง ๆ ตามที่พระองค์จะให้ได้   พระองค์ได้ให้ชีวิตของพระองค์เพื่อเป็นค่าไถ่สำหรับคนเป็นอันมาก

แน่นอนเลยครับ เราสามารถที่จะให้ ที่จะละ และวาง “สิทธิส่วนตัวที่เราควรจะได้จะมีก่อนคนอื่น” หรือ สิ่งดีมีค่าที่สุด เพื่อคนอื่นรอบข้างจะได้สิ่งดีมีค่าในชีวิตของเขาบ้าง

ถ้าเราทำเช่นนี้แล้ว “ความขัดแย้ง” “ความเป็นปรปักษ์ต่อกัน” “การต่อสู้ชิงชัยชนะกัน” จะเกิดขึ้นอยู่อีกหรือไม่?

ยากอบบอกแก่เราว่า เมื่อเราต้องพบกับความขัดแย้ง ต่อสู้ ปะทะ หรือ ทะเลาะกัน ท่านบอกให้เราหันกลับมาสำรวจตนเองในเวลานั้นว่า อะไรคือแรงจูงใจของเราเองในความขัดแย้งนั้น? แล้วอะไรคือแรงจูงใจผิด ๆ ในตัวเราในเวลานั้น?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



06 กรกฎาคม 2563

เราถูก “ทดสอบ” หรือ “ถูกทดลอง”?

ผมเชื่อว่าคนที่เคยเป็นนักเรียนนักศึกษาต่างเคยมีประสบการณ์ใน “การสอบ” หรือ “ผ่านการทดสอบมาแล้ว” คนที่ไปสอบใบขับขี่ ต้องสอบทั้งข้อเขียน หรือ กฎหมายการจราจร และ ยังต้องทดสอบในเชิงปฏิบัติคือการสอบในการขับขี่รถ สาเหตุประการหลักที่ทำให้หลายคนต้องสอบตก หรือ สอบไม่ผ่าน เพราะขาดการเอาใจใส่ในการศึกษา เตรียมตัว ฝึกฝนเพียงพอก่อนสอบ

ชีวิตจริงในแต่ละวัน เรามิใช่มีเพียงการสอบทางการศึกษาเท่านั้น แต่เราต้องพบกับ “การทดสอบในการดำเนินชีวิต” ถ้าเราต้องการที่จะมีการเจริญเติบโตในชีวิตจิตวิญญาณของเรา เราต้องอดทนในการฝึกฝน และ ทดสอบเสมอ   การทดสอบทำให้เราต้องหมั่นเพียรมีวินัยในการฝึกฝน การทดสอบช่วยให้เจ้าตัวรู้ว่า ตนเองมีความเข้มแข็ง หรือ แข็งแกร่งในเรื่องนั้น ๆ มากน้อยแค่ไหน และยังช่วยให้เรารู้ตัวด้วยว่าเราอ่อนแอ อ่อนแรงในชีวิตด้านไหน เพื่อเราจะได้มีการฝึกหัด-ฝึกฝนและสร้างความชำนาญเหนียวแน่นในด้านนั้น ๆ  

ที่สำคัญเราต้องไม่เอาเรื่องการ “ทดสอบ” ที่กล่าวนี้ไปปนเปสับสนกับเรื่อง “การถูกทดลอง” (หรือ การถูกหลอกล่อ) ในการดำเนินชีวิตของเรา

พระธรรมยากอบ บอกแก่เราว่า  “[3] เพราะพวกท่านรู้ว่า “การทดสอบ” ความเชื่อของท่านนั้น ทำให้เกิดความทรหดอดทน” (ยากอบ 1:3 มตฐ.) และยากอบกล่าวอย่างชัดเจนในข้อที่ 13 ว่า  “[13] ขณะถูก “ทดลอง” ให้ทำบาป อย่าให้ใครพูดว่า “พระเจ้าทรงทดลองข้าพเจ้า” เพราะความชั่วไม่อาจล่อลวงพระเจ้าให้ทำบาปและพระองค์ก็ไม่ทรงล่อลวงผู้ใดเลย” (ข้อ 13 อมธ.)

นี่คือจุดที่แตกต่าง:  

พระเจ้าทรงใช้ “การทดสอบ” เพื่อพัฒนาความเชื่อของเรา ให้เรามีความเชื่อที่แข็งแรงเติบโตขึ้น  

แต่ซาตานใช้ “การทดลอง” เพื่อเป็นการหลอกล่อในการทำลายความเชื่อ และ ทำให้ชีวิตของเราอ่อนแอลง
ให้เราขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรง “ทดสอบ” ในชีวิตของเรา เพราะพระองค์มีพระประสงค์ให้เรามีความเชื่อและชีวิตที่แข็งแรงเติบโตขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์ และแต่ละวันเราจะอธิษฐานต่อพระเจ้าตามแบบที่พระเยซูคริสต์สอนเราว่า  “[13] ...ขออย่าทรงนำพวกข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง แต่ขอให้พวกข้าพระองค์พ้นจากความชั่วร้าย”  (มัทธิว 6:13 มตฐ.)

ในวันนี้ ให้เรามีความชื่นชมยินดีในการทดสอบของพระเจ้า และขอพระเจ้าทรงปกป้องเราให้ “รอดพ้น” จากอำนาจของมารร้ายใน “การทดลอง”  

ทั้งสิ้นนี้เกิดขึ้นด้วยสิทธิอำนาจและพระกำลังที่พระคริสต์ประทานแก่เรา!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


03 กรกฎาคม 2563

ศุกร์นี้ท่านได้ถามตนเองแล้วหรือยัง?

สวัสดีเช้าวันศุกร์” นี่เป็นข้อความที่ผมพบทุกวันศุกร์ในไลน์ที่ส่งมาจากเพื่อนฝูง และมักจะพบข้อความในทำนองว่า “ขอบคุณพระเจ้าที่วันนี้เป็นวันศุกร์” 

เมื่อสิ้นสุดงานในทุกสัปดาห์ หรือ วันศุกร์น่าจะเป็นโอกาสที่เราจะถามตนเองที่เป็นการทบทวน ไตร่ตรอง สะท้อนคิดถึงชีวิตและการงานของเราตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้างล่างนี้เป็น สิบคำถาม ที่ผู้นำต้องถามตนเองทุกวันศุกร์เย็น   แท้จริงจะถามตนเองทุกวันก็ดีใช่น้อย!

1. ฉันภูมิอกพอใจอะไรบ้างในสิ่งที่ฉันทำในสัปดาห์นี้ (หรือวันนี้) ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน และจะแพร่ขยายออกไปในวงกว้าง?

2. มีอะไรบ้างที่ฉันทำในสัปดาห์นี้ (หรือวันนี้) ที่สามารถมองเห็นถึงการใช้ศักยภาพในการบริหารจัดการ และ ความสร้างสรรค์ในการทำงาน?

3. วิธีการที่ใช้ในการรับมือ และ บริหารจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ที่ฉันทำในสัปดาห์นี้ (หรือวันนี้) มีวิธีการที่ฉันรับมือจัดการใหม่ ๆ หรือฉันทำด้วยวิธีเดิม ๆ ใช้วลีหรือประโยคซ้ำเดิมอย่างที่ใช้มาแล้วในสองปีที่ผ่านมา? เรื่องราวที่ใช้ยกประกอบเป็นตัวอย่างเรื่องเก่า ๆ ที่ใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก?

4. ฉันเติบโตขึ้นในฐานะคนทำงานคนหนึ่ง และ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานหรือไม่?

5. ฉันเป็นผู้ชำนาญการในสิ่งที่ฉันมีฝีมือหรือไม่? ฉันสามารถรับมือกับคำถาม/ประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการจัดการอย่างเป็นธรรมชาติและมีประสิทธิภาพหรือไม่?

6. สัปดาห์นี้ (หรือวันนี้) ฉันได้เรียนรู้อะไรบ้างจากหนังสือและบทความที่ฉันอ่าน และ จากการพบปะปฏิสัมพันธ์กับผู้คน?

7. ฉันสามารถที่จะสื่อสารสัมพันธ์และท้าชวนผู้คนให้เข้าร่วมในเรื่องราว ประเด็นการงาน ที่ดูยิ่งใหญ่ในความเป็นตัวเขาหรือไม่?

8. สัปดาห์นี้ (หรือวันนี้) ฉันได้ใช้จุดแข็งของฉันในหน้าที่ การงาน และชีวิตของตนหรือไม่?

9. สัปดาห์นี้ (หรือวันนี้) ฉันได้เรียนรู้อะไรบ้างจากความผิดพลาด/ล้มเหลว?

10. สุดท้าย ฉันได้เห็นและเข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ทำในสัปดาห์นี้ (หรือวันนี้) เป็นการทรงเรียกจากพระเจ้าที่จะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เป็นการทรงมอบหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ฉันได้ใช้ของประทานด้วยมานะพยายามร่วมในพระราชกิจของพระเจ้า ที่จะส่งผลให้ชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดไปหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499