28 กุมภาพันธ์ 2557

บางอย่างหายไป...เมื่อคริสตจักรทำพันธกิจชุมชน

“เราพยายามที่จะเป็นคริสตจักรที่เน้นการทำพันธกิจ...  นั่นเป็นการเน้นลักษณะภายนอกของคริสตจักร...   และดูเหมือนเราไม่ประสบความเสร็จ”   ศิษยาภิบาลในเมืองใหญ่ที่ผมคุยด้วยกล่าว

คริสตจักรของศิษยาภิบาลท่านนี้ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่   เขาและคริสตจักรพยายามที่จะมีโปรแกรมต่างๆ ที่จะเข้าไปถึงชีวิตชุมชนเพื่อตอบสนองความต้องการด้านต่างๆ ของชุมชน   แต่เมื่อดูดีๆ แล้วกลุ่มเป้าหมายที่คริสตจักรพยายามรับใช้กับสมาชิกคริสตจักรไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นเลย

ศิษยาภิบาลท่านนี้ได้เล่าถึงตัวอย่างที่เกิดขึ้นในคริสตจักรของท่านเรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่ง คริสตจักรได้จัดทำอาหารมื้อเย็นให้กับคนที่ยากจนและคนที่มีรายได้ต่ำที่อยู่ในละแวกรอบคริสตจักร   “มีผู้คนมารับประทานอาหารเต็มห้องประชุมเลย”  ศิษยาภิบาลเล่า  “แต่สมาชิกคริสตจักรของเราสาละวนอยู่กับการทำอาหารในห้องครัว   อาหารในเย็นวันนั้นดีมาก   แต่ผมสังเกตเห็นว่า   ในขณะที่คนจากชุมชนกำลังรับประทานอาหารในห้องประชุม   สมาชิกของเราวุ่นวายกับการจัดทำอาหารในห้องครัว   มันเป็นภาพที่แบ่งแยกให้เห็นชัดเจนว่า   คนยากคนจนกินอาหารในห้องประชุม   สมาชิกคริสตจักรกำลังทำอาหารในห้องครัว”

หลายคริสตจักรจะจัดงบประมาณเลี้ยงอาหารผู้คนในชุมชนในวันสำคัญของคริสตจักรอาจจะปีละครั้งสองครั้ง   แล้วอาจจะมีรายการพิเศษที่เตรียมเสื้อผ้าหน้าหนาวสำหรับคนยากคนจน   หรือส่งไปให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวจัด   หรือบ้างก็เตรียมน้ำ  เครื่องดื่ม  ขนม และ ฯลฯ   ใส่ถุงเพื่อไปแจก   แล้วติดตราของคริสตจักร   พร้อมที่อยู่  หรืออาจจะมีข้อพระคัมภีร์  หรือมีข้อความว่า “พระเจ้ารักคุณ”

บ่อยครั้งหลายคริสตจักร   ต้องการแสดงให้เห็นว่าตนมาจากคริสตจักรไหน   และห่วงใยคนที่ทุกข์ยาก   แต่ของแจกเหล่านี้ก็เป็นเพียงสิ่งของและยื่นแจกให้เท่านั้น

สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากการทำพันธกิจแบบนี้คือ    ความสัมพันธ์ครับ

ถ้าพันธกิจของคริสตจักรในชุมชนคือการอาสาช่วยเหลือและรับใช้ผู้คน   เพื่อช่วยให้เขาได้รู้  รัก  และติดตามพระคริสต์   สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำพันธกิจมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้คนเหล่านั้น   มิใช่ฉลากที่ติดข้างถุงของขวัญ   ไม่ใช่การโฉบเฉี่ยวผ่านผู้คนแล้วยื่นถุงของขวัญให้กับคนในชุมชนเท่านั้น

ความเชื่อศรัทธาเป็นเรื่องความสัมพันธ์   และเป็นความพยายามของเราที่จะช่วยผู้คนให้ได้มีโอกาสสัมผัสสัมพันธ์กับความรักของพระคริสต์   ดังนั้น  สิ่งสำคัญในการทำพันธกิจชุมชนคือการที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนที่เราทำพันธกิจด้วย

การทำพันธกิจชุมชนของคริสตจักรมิใช่การใช้เงินและให้เวลาที่มี  แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนในชุมชนอย่างฉาบฉวย   หลายคริสตจักรได้กระตุ้น  เตรียม  และเสริมสร้างให้สมาชิกของตนมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งต่อเนื่องจนเกิดผลกระทบเชิงสร้างสรรค์กับคนที่ตนไปทำพันธกิจด้วย   เช่น   ผมพบกับศิษยาภิบาลหนุ่มท่านหนึ่งทำงานในพื้นที่ชนบทที่มีเด็กนักเรียนชนเผ่าจากพื้นที่สูงลงมาเรียนในโรงเรียนของชุมชน   ท่านได้เตรียมสมาชิก และ อนุชนในคริสตจักรของตนช่วยสอนการพูดภาษาไทยให้ชัดแก่นักเรียนชนเผ่าแบบตัวต่อตัว   และยังช่วยสอนการทำการบ้านในตอนเย็นแก่นักเรียน (เพราะเรียนไม่ทัน และทำการบ้านไม่ได้)   และผู้ใหญ่จากคริสตจักรบางท่านช่วยทำหน้าที่เอาใจใส่การกินการอยู่ของเด็กนักเรียนเหล่านี้ที่ต้องอยู่ห่างไกลจากพ่อแม่   คริสตจักรเตรียมสมาชิกให้การช่วยเหลือการเรียนของเด็ก  แต่ที่สำคัญคือการที่จะมีความสัมพันธ์และเอาใจใส่ชีวิตของเด็กแบบสัมพันธ์ใกล้ชิดและกระทำอย่างต่อเนื่องต่างหากที่สำคัญกว่า

คริสตจักรที่กระทำพันธกิจชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลได้นั้น   คริสตจักรต้องเสริมสร้างความเข้าใจแก่สมาชิกที่จะทำพันธกิจให้รู้ว่า   การทำพันธกิจชุมชนของคริสตจักรคือการยื่นมือยื่นชีวิตออกสร้างความสัมพันธ์กับชีวิตผู้คนที่ตนทำพันธกิจด้วย    เพื่อให้ผู้คนเหล่านั้นได้สัมผัสกับความรักของพระคริสต์ที่ตนยื่นออกไปสัมผัสชีวิตของผู้คนผ่านการอาสารับใช้ในลักษณะต่างๆ   และหนุนเสริมให้ผู้คนเติบโตขึ้นในความรักของพระคริสต์   และให้ความรักของพระคริสต์แผ่ขยายไปทั่วชุมชน

นี่คือการขยายแผ่นดินของพระเจ้าตามพระมหาบัญญัติ และ พระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์

การทำพันธกิจชุมชนของคริสตจักร จึงเป็นสร้างเสริมสัมพันธภาพของสมาชิกคริสตจักรกับผู้คนในชุมชนโดยมีพลังแห่งความรักเมตตาของพระคริสต์เป็นตัวขับเคลื่อนในชีวิตของสมาชิกคริสตจักรเหล่านั้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 กุมภาพันธ์ 2557

อะไรคือความ “มั่งคั่ง” ?

มุมมองที่ใช้ในการมองโลก   และท่าทีของท่านในการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโลก
คือตัวบ่งชี้ถึงความมั่งคั่งบริบูรณ์ที่แท้จริงในชีวิตของท่าน

คุณพ่อท่านหนึ่งจากครอบครัวที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยต้องการที่จะสอนให้ลูกได้รู้ถึงความยากจนในชีวิตของผู้คน    จึงพาลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตนไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในชนบท   แล้วเข้าไปขอพักแรม 2-3 วันในบ้านของชาวบ้านที่คุณพ่อเห็นว่ายากจนมากครอบครัวหนึ่ง

ขณะเมื่อกำลังเดินทางกลับ  ผู้เป็นพ่อได้ถามลูกชายของตนว่า “การมาพักแรมครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง?”

“มันยอดเยี่ยมเลยครับพ่อ”

“ลูกได้เห็นไหมว่าผู้คนในหมู่บ้านต้องอยู่อย่างยากจน?”   ผู้เป็นพ่อตั้งกระทู้ถาม

“เห็นครับ”  ลูกชายตอบ

คุณพ่อพูดกับลูกต่อไปว่า  “ขอลูกช่วยเล่าให้พ่อฟังว่า  ลูกได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการพักแรมครั้งนี้”

ลูกชายเล่าให้ผู้เป็นพ่อว่า

ที่บ้านของเรามีสระว่ายน้ำอยู่ตรงกลางสวนของเรา   แต่ที่บ้านของคนที่เราไปพักแรมด้วยเขามีลำธารธรรมชาติที่ยาวเหยียดไม่รู้ว่ามันยาวไปถึงที่ไหน

ที่บ้านของเรามีโคมไฟที่กลางสวน   แต่บ้านที่เราพักแรมในเวลากลางคืนเขามีดวงดาวมากมายนับไม่ถ้วน

ชานบ้านของเรายื่นออกไปถึงสนามหน้าบ้าน    แต่บ้านที่เราพักมีทุ่งนาเขียวขจีสุดขอบฟ้า

เรามีพื้นดินผืนเล็กๆ ที่เราอาศัยอยู่    แต่พวกเขามีท้องทุ่งสุดลูกหูลูกตา

เรามีคนใช้ที่คอยรับใช้พวกเรา   แต่พวกเขารับใช้คนอื่นๆ

เราต้องซื้ออาหารรับประทาน   แต่พวกเขาผลิตอาหารไว้รับประทานเอง   

เรามีรั้วรอบขอบชิดล้อมรอบทรัพย์สินของเรา   แต่เขามีเพื่อนบ้านคอยป้องกันชีวิตพวกเขา

พ่อของเด็กชายเงียบพูดไม่ออก   จากนั้นลูกชายพูดเพิ่มเติมว่า
“ขอบคุณคุณพ่ออย่างมากที่ช่วยให้ผมเห็นว่าเรายากจนมากมายแค่ไหน”

เมื่อใคร่ครวญถึงเรื่องราวข้างต้นที่ผมได้อ่านจากข้อเขียนของ  Chris Cade ทำให้ผมสำนึกถึงความรักเมตตา และ การหนุนช่วยตลอดชีวิตที่ผ่านมาที่มีในชีวิตของผม   ทั้งจากครอบครัว และ ผู้คนแวดล้อมในเวลาต่างๆ   ทั้งในเวลาทุกข์สุข   ในเวลาที่มีการท้าทายและมีการเปลี่ยนแปลง   เตือนให้ผมระลึกว่า   แท้จริงแล้วในชีวิตของผมได้รับความมั่งคั่งอย่างแท้จริงมากเพียงใด   รวมถึงความทุกข์ยากลำบากที่เป็นส่วนหนึ่งบนเส้นทางที่สร้างความมั่งคั่งสมบูรณ์แก่ชีวิตของผม

ผมยังได้เรียนรู้อีกว่า   เราสามารถสัมผัสถึงความมั่งคั่งในชีวิตไม่ว่าเราจะมีทรัพย์สินเงินทองมากน้อยแค่ไหน   อีกประการหนึ่งผมเรียนรู้ว่า   เราแต่ละคนต่างสมควรที่จะได้รับชีวิตที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์อยู่ที่ว่าเราจะมองและให้คุณค่าและความหมายความมั่งคั่งบริบูรณ์นั้นอย่างไรต่างหาก

เมื่อผมใคร่ครวญชีวิตตนเองมาถึงตรงนี้   ทำให้ผมได้ยินเสียงเพลงหนึ่งในจิตใจว่า

ขอบพระคุณในความรักเมตตา   พระบิดาเบื้องบนประทาน
ขอบพระคุณสิ่งสรรพทรงบันดาล   มาเนิ่นนานด้วยรักการุณย์
ขอบพระคุณในภาระการงาน   การผ่อนพักเมื่อยามสายัณห์
ขอบพระคุณในความรักผูกพัน   ของประทานอันดีทั้งปวง

ทั้งขวากหนามหรือหนทางปลอดภัย   ทั้งอ่อนแอหรือใจมั่นคง
มืดหม่นหมองหรือสว่างดำรง   ทุกข์หรือสุขจงขอบพระคุณ
ความเจ็บปวดหรือยินดีปรีดา   ประทานมาทุกวันทรงนำ
พระวาจามีค่าประเสริฐล้ำ   เป็นสว่างส่องทางดำเนิน

ขอบพระคุณความเริงรื่นชื่นบาน   ทั้งอาหารเลี้ยงชีพดำรง
ขอบพระคุณความสัมพันธ์ยืนยง   ทรงบำรุงวิญญาณเปรมปรีดิ์
ขอบพระคุณในยามเศร้าโศกา   สุขหรรษาชื่นชมยินดี
ขอบพระคุณหวังใจในวันนี้   ชั่วชีวิตราบนิรันดร   อาเมน
(เพลงไทยนมัสการบทที่ 278  ขอบพระคุณในความรักเมตตา  Thanks, O God, For Boundless Mercy)

มนุษย์​แม้​มั่งคั่ง​แต่​หาก​ปราศ​จาก​ความ​เข้า​ใจ
เขา​ก็​พินาศ​เหมือน​สัตว์​เดีย​รัจ​ฉาน (สดุดี 49:20 มตฐ.)

บาง​คน​ยิ่ง​แจก​จ่าย​ยิ่ง​มั่ง​คั่ง
บาง​คน​ยิ่ง​หวง​สิ่ง​ที่​ควร​จ่าย​แจก​ก็​ยิ่ง​ขัด​สน  (สุภาษิต 11:24 มตฐ.)

คน​มั่ง​คั่ง​และ​คน​ยาก​จน​เหมือน​กัน​อยู่​อย่าง​หนึ่ง
คือ​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​สร้าง​พวก​เขา​ทั้ง​สิ้น  (สุภาษิต 22:2 มตฐ.)

คน​ยาก​จน​ที่​ดำ​เนิน​ใน​ความ​ซื่อ​สัตย์​ของ​เขา
ก็​ดี​กว่า​คน​ที่​คด​โกง​ใน​ทาง​ของ​ตน​แล้ว​มั่ง​คั่ง  (สุภาษิต 28:6 มตฐ.)

ขโมย​นั้น​ย่อม​มา​เพื่อ​จะ​ลัก ฆ่า และ​ทำลาย
เรา(พระเยซูคริสต์)​มา​เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ได้​ชีวิต​และ​จะ​ได้​อย่าง​ครบ​บริ​บูรณ์
เรา(พระเยซูคริสต์)​เป็น​ผู้​เลี้ยง​ที่​ดี ผู้​เลี้ยง​ที่​ดี​ย่อม​สละ​ชีวิต​ของ​ตน​เพื่อ​ฝูง​แกะ (ยอห์น 10:10 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 กุมภาพันธ์ 2557

เริ่มต้นวันใหม่: นับวันคืนของตน

อ่านสดุดี 90:1-17

ขอ​ทรง​สอน​ข้า​พระ​องค์​ทั้ง​หลาย​ให้​นับ​วันคืน​ของ​ตน
เพื่อ​จะได้​มี​จิต​ใจ​ที่กอปรด้วยปัญ​ญา(สดุดี 90:12 อมต.)

สดุดีบทที่ 90 เป็นสดุดีที่คุ้นหูสำหรับคริสตชนหลายคน   เพราะสดุดีบทนี้ศาสนาจารย์ผู้ประกอบพิธีศพมักจะใช้ในการเทศน์ และ ใช้ในการประกอบพิธีฝังศพ   แท้จริงแล้ว  คริสตชนควรอ่านพระธรรมสดุดีบทนี้ทุกวันเมื่อเริ่มต้นวันใหม่ในทุกเช้า  เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนปลุกสำนึกของเรา   อย่ารอไปอ่านวันที่เรานอนอยู่ในโลงศพแล้ว เราก็อ่านเองไม่ได้   คนอื่นเป็นคนอ่าน  และผมไม่รู้ว่าเราจะได้ยินหรือไม่?   และถึงแม้เราจะได้ยิน   เราก็หมดเวลาที่จะนับวันคืนแห่งชีวิตของเราแล้ว

ปีนี้ให้เราเริ่มอ่านพระธรรมสดุดีบทที่ 90 นี้   ก่อนเริ่มต้นชีวิตในวันใหม่แต่ละวันดีไหมครับ?

การทรงสอนให้เรารู้จักการนับวันคืนของตนนั้นหมายความว่าอะไรกันแน่?   ไม่ได้หมายความว่า  ให้เรานับดูว่าเรามีชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงวันนี้คิดเป็นเวลากี่วันแล้ว   แต่ “การนับวันคืน” ของเราหมายถึงการที่เราตระหนักรู้ว่าชีวิตที่ตนมีอยู่นั้นแสนสั้นมีเวลาจำกัดที่จะมีชีวิตบนแผ่นดินโลกนี้   เพื่อที่จะเตือนใจเราว่าให้ดำเนินชีวิตของเราในแต่ละวันแต่ละชั่วโมงอย่างมีคุณค่าเต็มเปี่ยม

ผู้ประพันธ์สดุดีบทนี้เตือนผู้ที่เชื่อในพระเจ้าว่า   เราจะใช้เวลาแต่ละวันคืนอันจำกัดที่เราได้รับมานั้นอย่างไร    จะใช้เวลานั้นให้สิ้นเปลืองไปกับการใช้ชีวิตที่ก่อเกิด “พระพิโรธ” (ดูข้อ 7-11) หรือเราจะใช้เวลาชีวิต “ในความโปรดปราน” ของพระเจ้า (ข้อ 17)  เราจะใช้แต่ละวันในการ “นับพระกรุณา” ของพระเจ้า (ข้อ 13)   ที่ให้เรามีชีวิต “อิ่มเอมด้วยความรักของพระองค์ในยามเช้า” (ข้อ 14)   ดำเนินชีวิตแต่ละวัน “ด้วยความผาสุกยืนยาว” (ข้อ 15)  ในแต่ละวันเราดำเนินชีวิตด้วย  “การเห็นถึงพระราชกิจและพระบารมี” (ข้อ 16) ในแต่ละวันให้เราดำเนินชีวิต และ ทำงานแต่ละอย่างด้วยการเสริมหนุนจากพระเจ้า (ข้อ 17)   มากกว่าการดำเนินชีวิตและทำกิจการงานต่างๆ ด้วยใจปรารถนาของเราเอง

เมื่อเราตระหนักรู้แล้วว่า   ชีวิตของเราแต่ละคนมีช่วงเวลาที่จำกัดที่จะมีชีวิตบนโลกนี้   สัจจะความจริงประการนี้ช่วยกระตุ้นเตือนให้เราใคร่ครวญพิจารณาอย่างถ้วนถี่รอบคอบเสมอถึงการใช้เวลาชีวิตของตนเอง  อันเป็นการช่วยให้เราเติบโตขึ้นในพระปัญญาของพระเจ้า  ที่เราจะรู้จักพิจารณาและตัดสินใจในการใช้เวลาชีวิตของเราอย่างมีคุณภาพ  

การที่จะเป็นเช่นนี้ได้เราคริสตชนแต่ละคนจะต้องมี “มุมมองของพระเจ้า”   มิใช่รู้เพียงแต่ว่าเราทำอะไรได้บ้าง   แต่เราต้องเรียนรู้ด้วยว่าเราควรกระทำอะไรบ้างตามพระประสงค์ของพระเจ้า  การที่เราเรียนรู้ “การนับวันคืน” เช่นนี้ย่อมช่วยให้เราใส่ใจที่จะดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างมีคุณค่า   และใช้เวลาชีวิตทุกขณะจิตเพื่อพระประสงค์ของพระเจ้า  และ  เพื่อเป็นการยกย่องสรรเสริญ และ ตอบสนองต่อน้ำพระทัยของพระองค์

ใคร่ครวญภาวนา

พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระคุณ   ขอบพระคุณพระองค์ที่ประทานชีวิตนี้แก่ข้าพระองค์   ขอบพระคุณสำหรับชีวิตในแต่ละวันที่พระองค์ประทานแก่ข้าพระองค์   ขอบพระคุณที่ทรงช่วยให้ข้าพระองค์มีโอกาสที่จะมีชีวิตตามพระประสงค์   ในการรับใช้พระองค์ในทุกด้านทุกมิติชีวิต

องค์พระผู้เป็นเจ้า   ข้าพระองค์ต้องการให้พระองค์ทรงสอนข้าพระองค์รู้จัก “นับวันคืนแห่งชีวิต” ของข้าพระองค์   เพราะเป็นการง่ายเหลือเกินที่ข้าพระองค์จะดำเนินชีวิตแบบปล่อยให้ลื่นไหลไปตามสถานการณ์แวดล้อม   ตามกระแสสังคมโลกในปัจจุบัน   เพราะข้าพระองค์ไม่ต้องการที่จะสูญเสียโอกาสที่พระองค์ประทานแก่ข้าพระองค์ในแต่ละวัน   ในวันนี้ โปรดให้ข้าพระองค์ได้สัมผัสกับคุณค่าความหมายของชีวิตที่ได้มอบถวายแด่พระองค์

โปรดสอนข้าพระองค์ให้นับวันคืนแห่งชีวิตของข้าพระองค์   เพื่อข้าพระองค์จะมีจิตใจที่เติบโตขึ้นด้วยพระปัญญา   เพื่อแต่ละวันข้าพระองค์จะดำเนินชีวิตบนเส้นทางการรับใช้พระประสงค์ของพระองค์  และมีชีวิตที่ยกย่องสรรเสริญพระองค์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีปัญหา ก็ ไม่ก้าวหน้า!?

แท้จริงแล้ว  ปัญหาไม่ใช่ปัญหา  ที่มันเป็นปัญหาเพราะเรามองว่ามันเป็นปัญหา
แท้จริงแล้ว  สิ่งที่เรามองว่าเป็นมันปัญหา   โดยแก่นแท้ของมันกลับตรงกันข้าม
แท้จริงแล้ว  สิ่งนั้นเป็นปัญหาเพราะเราไปติดยึดและมีมุมมองว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหาต่างหาก

เรามีมุมมองแบบไหนต่อสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นปัญหา?   เราคิดคาดหวังว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ควรจะเกิดขึ้น   แต่เมื่อมันไม่เป็นไปตามที่เราคาดคิด   ใจของเราจึงรู้สึกว่า “มันต้องมีปัญหา” แน่  หรือ  เราวางแผนงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างดีเราจึงคาดหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี   แต่มันก็ทำให้เราต้องแปลกใจที่ไม่เป็นไปอย่างที่คาดคิดตามที่วางแผน   “เพราะมันมีปัญหา”  ลึกๆ แล้วปัญหาคือการที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือ เหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดคิดตามที่เราวางแผนอย่างดี   เราเรียกอาการเช่นนี้ว่า “ปัญหา”

แนวทางและวิธีการมองและจัดการของเราต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสิ่ง/เหตุการณ์นั้นทำให้ไม่เกิดผลอย่างที่เราคาดคิดต้องการหรือตามแผนที่เราวางไว้   ธีโอดอร์ รูบิน เคยกล่าวไว้ว่า   การที่เราใช้มุมมองและแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นของสิ่ง/สถานการณ์นั้นๆ เป็นตัวที่ก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มเข้ามานอกเหนือจากสิ่งที่เราคาดคิดต้องการ   ดังนั้น  รูบิน เสนอแนะว่า ในแต่ละครั้งของการวางแผนสิ่งหนึ่งสิ่งใดน่าจะมองให้กว้างและคาดหวังว่าอาจจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง    ด้วยการมองเช่นนี้จะช่วยให้เรามีมุมมองที่แตกต่างหรือกว้างกว่ามุมมองที่เราเคยชินติดยึด   จึงสามารถมองหาแนวทางใหม่ๆ ที่จะจัดการกับสิ่งที่เราวางแผนนั้น   และถ้าเกิดปัญหาขึ้นเราจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นมิเป็นสิ่งนอกเหนือความคาดหวังของเรา  แต่เป็นสิ่งที่เราเคยคาดคิดมาก่อน   และจะได้หาทางแก้ไขและจัดการได้

แล้วเราจะมองสิ่งที่ระบุว่าเป็น “ปัญหา” อย่างไรดี?   จอห์น ซี. แม็กซ์แวลล์ ได้ให้ข้อคิดมุมมองที่น่าสนใจต่อการเผชิญหน้ารับมือกับปัญหา ดังนี้

“ปัญหา” เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น:

ประการแรกจากประสบการณ์ในการทำงานและการดำเนินชีวิตของเราปัญหามักเกิดขึ้นได้แม้ไม่คาดคิด   แต่ถ้าเราทบทวนประสบการณ์เราจะพบว่า   เมื่อเกิดปัญหาขึ้นทำให้เราแสวงหามุมมองอื่นๆ ในการมองประเด็นนั้นๆ ที่เป็นปัญหา   และปัญหาดังกล่าวจะช่วยบอกเราว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้าบนเส้นทางนี้

“ปัญหา” ช่วยกระตุ้นเตือน:

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นปัญหานั้นเป็นตัวกระตุ้นเตือนให้เราต้องคิดทบทวนถึงคุณค่า เป้าหมาย และลำดับความสำคัญในงานที่เรากำลังดำเนินการ   ปัญหาเป็นตัวที่กระตุ้นให้เราต้องชัดเจนในงานที่เราปฏิบัติ   และเมื่อเรายอมรับเอาคุณค่า เป้าหมาย และลำดับสำคัญก่อนหลังของงานที่เราดำเนินการ   ทำให้เรามีการตัดสินใจที่ชัดเจนและมีกระบวนการดำเนินการอย่างมีเอกภาพและเป็นระบบ

“ปัญหา” ตัวเสริมสร้างความมั่นใจและมีมุมมองในเชิงบวก:

เมื่อปัญหาช่วยกระตุ้นให้เราเห็นชัดเจนถึงแนวทางที่เรามุ่งไป   ก็จะเสริมให้เราเกิดความมั่นใจ และ มีมุมมองในเชิงบวกต่อสิ่งที่เรากำลังทำและ “ปัญหา” ที่เกิดขึ้น   เพราะ “ปัญหา” ดังกล่าวไม่ทำให้เราต้องหลบลี้หนีมัน   แต่กลับเป็นสิ่งที่ยอมรับและช่วยให้เราดำเนินการด้วยความมั่นใจ และ ด้วยจิตใจที่สงบมั่นคงมีสมาธิดีขึ้น

“ปัญหา”  ตัวชี้นำถึง “พร” หรือผลอันดีที่จะเกิดแก่เรา:

“ปัญหา”  มิใช่เรื่องร้ายเรื่องไม่ดีเสมอไป   บ่อยครั้งปัญหาช่วยชี้นำให้เราเห็นถึงหนทางที่เราได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการดำเนินการตามแผนที่เรากำหนด   คงไม่เป็นการพูดเกินความจริงว่า “ปัญหา” คือตัวชี้ตัวนำสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิตการงานของเรา

“ปัญหา”  ให้บทเรียน:

เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหา   ให้เราถามตนเองว่า ฉันจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากปัญหานี้   ให้เรามองปัญหาเป็นตัวที่ให้บทเรียนสำคัญๆ แก่เรา   ปัญหาเป็นย่างก้าวที่เปิดให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สำหรับเราและทีมงาน

“ปัญหา” มีอยู่ทุกที่:

ให้เราคาดหวังได้เลยว่า  ไม่ว่าที่ใดก็ตามเราอาจจะต้องประสบพบกับปัญหา   ก้าวแรกของการเผชิญรับมือกับปัญหาอย่างสร้างสรรค์คือ   การที่เรายอมรับว่านี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นจริง

“ปัญหา” ให้สาระสัจจะแก่เรา:

เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาแต่ละเรื่อง   แต่ละปัญหาได้บอกถึงความจริง สาระสัจจะอะไรบ้างเกี่ยวกับตัวของเราเอง เกี่ยวกับเพื่อนร่วมทีมงานของเรา   หรือบอกเราถึงสาระสัจจะอะไรบ้างเกี่ยวกับสถานการณ์นั้นๆ?   ทุกครั้งที่เราประสบพบเจอกับปัญหาให้เราถามเสมอว่า  อะไรคือสาระความจริงที่ปัญหาให้แก่เราในครั้งนี้   เพื่อเราจะไม่มองปัญหาอย่างลบๆ ร้ายๆ   และช่วยให้เราเปิดใจเรียนรู้จากสถานการณ์นั้น

“ปัญหา” เป็นสิ่งที่เรารับมือและจัดการได้:

มุมมองต่อปัญหานี้สร้างความแตกต่างแก่เราระหว่าง   ปัญหาทำให้เรา “ก้าวหน้า”  หรือ  ปัญหาที่ทำให้เรา “ติดแหงก”  การที่เรามีมุมมองว่าปัญหาเป็นสิ่งที่เราสามารถรับมือและจัดการแก้ไขได้ปลดปล่อยให้เรามุ่งใช้ความสามารถสร้างสรรค์ของเราในการรับมือกับปัญหา    มากกว่าการหลบลี้หลีกเลี่ยงปัญหา  หรือ หนีปัญหา

“ความคิดที่สร้างสรรค์ คือการที่คนๆ หนึ่งมองเห็นสิ่งนั้นๆ อย่างที่คนอื่นเห็น   แต่เขาคิดต่อสิ่งที่เขาเห็นที่แปลกแตกต่างจากคนอื่น”  Albert Szent-Gyorgyi กล่าวไว้เช่นนั้น

เราคงต้องเปลี่ยนมุมมองและความเข้าใจต่อปัญหา   เพื่อที่เราจะสามารถมองสถานการณ์ที่เป็นปัญหา   ที่คนอื่นเห็นว่าตีบตันไม่มีทางออกไม่มีคำตอบ   เพื่อเราจะสามารถมองเห็นอีกโอกาสหนึ่งที่เปิดออกให้เราสามารถเติบโตขึ้นในชีวิตและสามารถก้าวข้ามความทุกข์ยากลำบาก   ด้วยการที่เรามีมุมมองใหม่ต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นว่า   เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่  ยอมรับปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน   และเผชิญ รับมือ และจัดการกับปัญหาต่างๆ ด้วยมุมองความคิดที่สร้างสรรค์   และการเผชิญหน้า รับมือ   การจัดการเช่นนี้ปัญหาแทนที่จะเป็นอุปสรรคขวางกั้น  แต่จะกลับกลายเป็นตัวนำความก้าวหน้ามาสู่ชีวิตของเรา

วันนี้ท่านทำตัวเป็นเหยื่อของปัญหา  หรือใช้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และเป็นพระพร!
ท่านเคยรับพระพรที่มาถึงเราผ่านทางปัญหาบ้างไหม?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 กุมภาพันธ์ 2557

จะสื่อสารกับลูกวัยรุ่นอย่างไร?

ครั้งเมื่อผมมีโอกาสไปเอื้ออำนวยเวทีพูดคุยกับพ่อแม่วัยรุ่นในจังหวัดต่างๆ   ทั้งในชุมชนหมู่บ้าน และ ในคริสตจักร   คำถามยอดฮิตที่พ่อแม่กล่าวถึงคือ   จะพูดคุยกับลูกวัยรุ่นอย่างไรดี?   ผมถามว่าทำไมหรือ เกิดอะไรขึ้นหรือ?   พ่อแม่มักบอกว่าวันๆ หนึ่งพูดกับลูกได้ไม่เกิน 5 ประโยค   เพราะมักลงเอยด้วยอารมณ์เสีย ไม่ของลูกวัยรุ่นก็ของพ่อแม่   แล้วมักลงท้ายถามว่า   เมื่อไหร่อาจารย์จะเปิดหลักสูตรอบรมการเป็นพ่อแม่ของลูกวัยรุ่น?

ในฐานะพ่อแม่ เราต้องการมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและไว้วางใจกับลูกวัยรุ่นของเรา   แต่เรามักประสบกับอุปสรรคไม่สามารถทำให้ไปถึงความต้องการนี้ได้สักที   ส่วนหนึ่งพ่อแม่ควรเรียนรู้วิธีการสื่อสารที่เสริมสร้างการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างมีความหมายสำหรับลูกวัยรุ่น    และสิ่งต่อไปนี้เป็นบทเรียนจากประสบการณ์ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวในการสื่อสัมพันธ์กับลูกวัยรุ่นในอดีตที่ผ่านมาครับ

1) การสื่อสารที่ดีเริ่มต้นที่การฟังอย่างใส่ใจ  ฟังอย่างไว้ใจ:   อย่าฟังเพียงได้ยินเสียงและคำพูดของลูกวัยรุ่น   แต่ให้ฟังด้วยความใส่ใจจนได้ยินเสียงของความวิตกกังวล  ความขุ่นมัวในอารมณ์  ความต้องการในชีวิตของเขา   ความเจ็บปวดที่เขากำลังได้รับในจิตใจ   การฟังอย่างใส่ใจควรไปพร้อมกับการฟังอย่างไว้ใจ   มิใช่ฟังเพื่อ “จับผิด” ลูก  แต่ต้องฟังเพื่อ “จับถูก” ในสิ่งดีๆ ของลูกที่ต้องการจะบอกให้เรารับรู้  

2) ชีวิตลูกมาก่อนสิ่งอื่น:  บ่อยครั้งการสื่อสารของเรากับลูกวัยรุ่น   เรามักกำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว   และเราก็สื่อสารกับลูกพร้อมกับการทำสิ่งอื่นๆพร้อมไปด้วย   ลูกวัยรุ่นจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ให้ความสนใจและใส่ใจว่าเรื่องของเขาเป็นสิ่งที่สำคัญ   ลูกวัยรุ่นจะมองว่า พ่อแม่กำลังเห็นว่างาน หรือ สิ่งอื่นที่กำลังทำมีความสำคัญกว่าตัวเขา  เช่น คุณแม่กำลังทำอาหารเย็น   ลูกสาววัยรุ่นเข้ามาหา   มีเรื่องที่ต้องการปรึกษากับแม่   แต่ถ้าแม่ง่วนอยู่กับการทำอาหาร   เพราะคิดว่าจะปล่อยให้อาหารไหม้ไม่ได้   ต้องการทำอาหารให้เสร็จก่อน   แล้วค่อยให้เวลาฟังเรื่องที่ลูกสาววัยรุ่นจะปรึกษา   แต่คุณแม่หลายท่านมีประสบการณ์ว่า   รอจนทำอาหารเสร็จลูกสาววัยรุ่นอาจจะน้อยใจว่าแม่ไม่สนใจเขา  แล้วหายหน้าไปไหนไม่รู้   ลูกสาววัยรุ่นต้องมาก่อน   หยุดการทำอาหารก่อน   ให้เวลา และใช้เวลากับลูกอย่างใส่ใจ   แล้วหลังจากนั้น  นอกจากลูกสาวจะได้คำตอบต่อประเด็นชีวิตของเขา และคุณแม่จะได้ความไว้เนื้อเชื่อใจจากลูกสาววัยรุ่นแล้ว   ยังอาจจะได้ลูกมือช่วยทำอาหารเย็นอีกด้วย  และที่สำคัญคือยังรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์แม่ลูกลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

3) สื่อสารแบบกระตุ้นคิด:   เมื่อลูกวัยรุ่นมาหาและมีเรื่องปรึกษาผู้เป็นพ่อแม่   มิใช่ทุกครั้งที่ลูกวัยรุ่นต้องการคำตอบหรือคำแนะนำจากเราเสมอไป   บางครั้งเขาต้องการปรึกษาและบอกถึงแนวทาง หรือ วิธีการของเขาเพื่อให้พ่อแม่รู้   หรือต้องการความคิดเห็นของพ่อแม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่   สิ่งสำคัญในสถานการณ์เช่นนี้   คุณพ่อคุณแม่อาจจะตอบสนองลูกวัยรุ่นด้วยการชวนคิดชวนคุย  หรือ ถามคำถามที่กระตุ้นให้ลูกวัยรุ่นของเราได้คิด  เพื่อเขาจะคิดได้คิดเป็น   และเมื่อเขาคิดได้คิดเป็น   ลูกวัยรุ่นก็จะรู้สึกว่านี่เป็นความคิด แนวทาง หรือวิธีการของเขาเอง   เกิดความภาคภูมิใจ   และคุณพ่อคุณแม่ควรหนุนใจในเวลาเช่นนี้ให้ลูกวัยรุ่นเกิดความมั่นใจในตนเอง

4) แสดงความสนใจอย่างแท้จริง: อย่ารอให้ลูกวัยรุ่นเข้ามาหาเราผู้เป็นพ่อแม่   แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างความสัมพันธ์เชิงรุกด้วยการแสดงความสนใจเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของลูก   ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานเช่นชื่นชมในการแต่งตัวของลูก   ชื่นชมในสิ่งดีๆ ที่ลูกทำ   ให้กำลังใจเมื่อลูกต้องพยายามทำบางสิ่งบางอย่างที่ยากลำบาก   การแสดงออกถึงความสนใจของคุณพ่อคุณแม่ต่อลูกวัยรุ่นสามารถกระทำได้ทั้งท่าทางการแสดงออกและคำพูด   ไม่จำเป็นที่พ่อแม่จะต้องบอกลูกเสมอไปว่าตนสนใจลูก   แต่ท่าทาง ท่าที  และการกระทำของพ่อแม่ย่อมทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกได้ว่า พ่อแม่สนใจเขาจริงแท้แค่ไหน

ทุกครั้งที่จะมีกิจกรรมใดๆ หรือจะต้องคิดและตัดสินใจเรื่องในครอบครัว  ควรให้ลูกวัยรุ่นมีส่วนร่วมทั้งในการคิด  การวางแผน  และในการดำเนินการ   และถ้าสิ่งใดที่ลูกวัยรุ่นมีทักษะความสามารถที่จะทำได้ให้คุณพ่อคุณแม่มอบหมายให้เขาเป็นผู้นำในเรื่องนั้นๆ   และอยู่เคียงข้างคอยให้กำลังใจ  โค้ช และ หนุนเสริมเขาตามที่จำเป็นหรือตามการร้องขอจากลูกวัยรุ่น   นอกจากสร้างความภาคภูมิใจ และ ความมั่นใจในตนเองของลูกแล้ว   ยังเป็นการพัฒนาเสริมสร้างภาวะผู้นำในลูกวัยรุ่นอีกด้วย

คุณพ่อคุณแม่พึงตระหนักเสมอว่า   การสนใจอย่างจริงใจของตนเป็นพลังสร้างผลกระทบต่อชีวิต จิตใจ  และความสัมพันธ์ของลูกวัยรุ่น   แน่นอนว่า ความสนใจของพ่อแม่มีผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของลูก   ต่อมุมมองของลูกที่มีต่อพ่อแม่   มิเพียงเท่านั้นกระทบต่อมุมมองชีวิตที่เกิดขึ้นในตัวลูก   และที่สำคัญคือสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างลูกวัยรุ่นและพ่อแม่   และยังสร้างผลกระทบต่อความรู้สึกของลูกวัยรุ่นว่าตนมีคุณค่าหรือไม่อีกด้วย

1) มุ่งมองหาโอกาส:   คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะไม่ได้สังเกตเห็นโอกาสที่เปิดออกจากคำพูดของลูกวัยรุ่น   เช่น ลูกวัยรุ่นอาจจะถามพ่อแม่ว่า “แม่ว่าใส่ชุดนี้หนูสวยไหม?”   หรือ ลูกชายวัยรุ่นอาจจะพูดว่า “ในทีมฟุตบอลไม่มีใครเหมือนผม?”   การพูดแบบนี้ของลูกวัยรุ่นเป็นโอกาสของพ่อแม่จะเข้าไปขุดลึกลงในความคิดและความรู้สึกของลูกวัยรุ่น   พ่อแม่ส่วนมากจะตอบลูกว่า  แน่นอนลูกสวยเฉียบเลย   หรือ  แน่นอนไม่มีใครเหมือนลูกหรอก   ถ้าเราตอบสนองคำพูดของลูกเช่นนี้การสนทนาก็จบลง   นอกจากมิได้ใช้โอกาสนี้ในการขุดลึกลงในความคิดและความรู้สึกของลูกแล้ว    ยังเป็นการตอบสนองที่มิได้ให้กำลังใจ(พ่อแม่อาจจะคิดว่าตนเองให้กำลังใจ)แก่ลูก   เพราะคำตอบของเราเหมือนกับกำลังบอกลูกว่า  เป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกแต่งตัวสวย  หรือ  เป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นในทีมฟุตบอล    แต่คุณพ่อคุณแม่พลาดโอกาสที่จะเรียนรู้เจาะลึกเข้าไปในความคิดจิตใจของลูก

เมื่อลูกเปิดโอกาสแก่พ่อแม่โดยถามพ่อแม่เช่นนี้   นอกจากชื่นชมว่าลูกสวยแล้ว   คุณพ่อคุณแม่วัยรุ่นสามารถใช้โอกาสนั้นเจาะลึกลงในความคิดความรู้สึกด้วย  โดยอาจจะถามต่อไปว่า  ลูกรู้สึกอย่างไร?   ลูกคิดอย่างไรกับชุดที่ใส่นี้?   หรืออาจจะพูดกับลูกชายว่า  “ใช่  ลูกไม่เหมือนใคร และ ก็ไม่มีใครเหมือน   แล้วลูกคิดอย่างไรในเรื่องนี้?”   และอย่าลืมใช้คำถามที่เปิดให้ลูกชายได้เล่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำถามลูกได้ว่า  “ลูกช่วยเล่ารายละเอียดเรื่องนี้หน่อยสิ”   และนี่คือโอกาสที่เราจะเรียนรู้และเข้าใจลูกมากขึ้น   และลูกเองก็จะรู้สึกว่าพ่อแม่สนใจเขาอย่างแท้จริง

2) ทำตัวเป็นเพื่อนของลูกวัยรุ่น:   การสื่อสารพูดคุยและความสัมพันธ์   หลีกเลี่ยงที่จะแสดงตนว่าพ่อแม่อยู่เหนือกว่าลูกวัยรุ่น   แสดงตนว่าตนเองเป็นพ่อแม่ที่มีอำนาจและการตัดสินใจเหนือกว่า   โดยเฉพาะเมื่อเกิดความขัดแย้งในครอบครัวระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่น   อย่าโต้เถียงกับลูกวัยรุ่นเมื่ออารมณ์ยังคุกรุ่น  หรือสถานการณ์ยังร้อนแรง   คุณพ่อคุณแม่ควรบอกตนเองว่า   ให้เราคุยเรื่องนี้หลังจากที่ความร้อนแรงลดลงแล้ว   และอาจจะบอกกับลูกว่า   แล้วค่อยคุยกันเรื่องนี้ทีหลังดีไหม?   พระธรรมสุภาษิต 17:27 กล่าวไว้ว่า “บุคคล​ที่​ยับ​ยั้ง​ถ้อย​คำ​ของ​เขา​เป็น​คน​มี​ความ​รู้   และ​บุคคล​มี​จิต​ใจ​เยือก​เย็น​เป็น​คน​มี​ความ​เข้า​ใจ” (มตฐ.)

3) เห็นอกเห็นใจและพยายามเข้าใจลูก:   คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยรุ่นพึงตระหนักว่า   วัยรุ่นมีอารมณ์ที่อ่อนไหว  มีความรู้สึกไว   และมักเกิดความเจ็บปวดภายในชีวิตได้ง่าย    คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เท่าทันถึงอารมณ์ลูกวัยรุ่นในตอนนั้น   ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าทำไมลูกถึงมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นนั้น   พ่อแม่ไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในลูกวัยรุ่นในเวลานั้น   แต่ขอพ่อแม่รับรู้ว่าลูกวัยรุ่นของตนกำลังรู้สึกเช่นนั้น

รับรู้ถึงมุมมองความรู้สึกของลูกวัยรุ่น อาจจะด้วยการกล่าวกับลูกว่า  “ตอนนี้ดูเหมือนว่าลูกกำลังพบกับปัญหาที่ยุ่งยากลำบาก”   แต่พ่อแม่โปรดเตรียมใจว่าลูกวัยรุ่นอาจจะไม่พูดอะไร  หรือไม่ขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือ  แต่เงียบ   ในเวลาเช่นนี้ลูกต้องการเวลาที่จะค่อยๆ ผ่อนคลายความโกรธ หรือ ความเครียด   ในเวลาเช่นนี้พ่อแม่ไม่ควรเซ้าซี้ แต่ปล่อยให้ลูกวัยรุ่นมีเวลาที่ค่อยๆ ทบทวนและจัดปรับกระบวนความคิดความรู้สึกและอารมณ์ของเขา   และเวลาเช่นนี้จะช่วยให้ลูกวัยรุ่นค่อยๆ เรียนรู้ชัดเจนในเหตุการณ์นั้นโดยที่พ่อแม่อาจจะไม่ต้องเข้าไปทำอะไรเลย   และหลังจากนั้นเขาอาจจะพร้อมที่พูดคุยกับพ่อแม่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น

ท่าทีและท่าทางของพ่อแม่ที่แสดงออกในเวลาเช่นนั้นก็มีความสำคัญมาก   เพราะเป็นการสื่อสารกับลูกที่ไม่ใช้คำพูด   เช่น การพูดกับลูกวัยรุ่นด้วยท่าทางกอดอก  ซึ่งเป็นการแสดงถึงการมีอำนาจเหนือกว่าหรือกำลังปกป้องตนเอง   หรือยืนคร่อมพูดกับลูกวัยรุ่น   แทนที่จะนั่งลงให้อยู่ระดับเดียวกับลูก

4) มองในมุมมองที่สร้างสรรค์ หรือ เชิงบวก:   แทนที่พ่อแม่จะมุ่งมองหาหรือชี้ในสิ่งที่ลูกวัยรุ่นทำผิดไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำก็ตาม   นั่นจะสร้างความรู้สึกแก่ลูกวัยรุ่นว่า  “พ่อแม่มีแต่จะ “จับผิดฉัน”   แต่ให้พ่อแม่วัยรุ่น “จับถูก” ของลูกดีกว่า   คือมองในส่วนดีของลูกวัยรุ่น   แล้วพูดกับลูกด้วยถ้อยคำที่ให้กำลังใจ   และรับรู้ถึงสิ่งที่ลูกได้พยายามกระทำแล้ว   มากกว่ามุ่งชี้ถึงสิ่งที่ลูกยังไม่ได้ทำ  ดั่งคำกล่าวในสุภาษิต 25:11 ที่ว่า “ถ้อย​คำ​ที่​พูด​ถูก​กาล​เทศะ  เหมือน​ผล​แอป​เปิล​ทอง​คำ​ล้อม​ด้วย​เงิน”  (มตฐ.)

5) ให้เกียรติแก่ลูก:   วัฒนธรรมของเราคาดหวังให้ลูกแสดงความเคารพนับถือ และ ให้เกียรติแก่พ่อแม่   แต่พ่อแม่ได้ให้เกียรติและนับถือเห็นคุณค่าในตัวลูกวัยรุ่นหรือไม่?   การที่เรานับถือและให้เกียรติแก่ลูกวัยรุ่นของเราด้วยความจริงใจย่อมสร้างผลกระทบต่อการการพูดการกระทำของเราต่อลูกวัยรุ่น   และยังมีผลต่อวิธีการและท่าทีการเสริมสร้างวินัยชีวิตแก่ลูก   ที่จะกระทำด้วยความรักเมตตาและพระคุณแบบพระคริสต์   และจะเห็นอาการของพ่อแม่ชัดเจนในเวลาที่กำลังไม่พอใจไม่สมหวังในตัวลูกวัยรุ่นของตน  โคโลสี 3:21 กล่าวไว้ว่า  “บิดา​ทั้ง​หลาย​ก็​อย่า​ยั่ว​บุตร​ของ​ตน​ให้​ขัด​เคือง​ใจ เพื่อ​ว่า​พวก​เขา​จะ​ไม่​ท้อ​ใจ” (มตฐ.)   พระคัมภีร์ตอนนี้เตือนสติผู้เป็นพ่อโดยตรง  แต่ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้เป็นแม่ด้วย

เมื่อลูกกำลังบอกเรื่องที่เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย   ผู้เป็นพ่อแม่ลูกวัยรุ่นจะไม่สร้างบรรยากาศด้วยการทำเป็นเรื่องตลกขบขัน เพื่อหวังทำให้ความตึงเครียดผ่อนคลาย  เพราะนั่นจะทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เห็นความสำคัญของเรื่องสำคัญสุดๆในชีวิตของเขา   หรือไม่ก็มองว่าพ่อแม่นี่ (งี่เง่า)ไม่เข้าใจเอาเลย   หรือไม่ก็จะเข้าใจว่าพ่อแม่กำลังมองว่าเขาเป็นฝ่ายผิด    รับฟังและยอมรับข้อเท็จจริงในสิ่งที่ลูกเล่าให้ฟังถึงแม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมดก็ตาม   แต่เคียงข้างลูกวัยรุ่นที่จะค่อยๆ เรียนรู้  และรับรู้ว่าบางสิ่งบางเรื่องจะต้องการเวลา  และในบางเรื่องต้องปล่อยให้มันค่อยๆ ผ่านไป

สิ่งที่เล่าสู่กันฟังนี้เป็นการสกัดจากประสบการณ์   ผู้เขียนเองตระหนักชัดว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ   แต่ต้องให้เวลา  ต้องฝึกฝนปฏิบัติ   แล้วประสบการณ์ในแต่ละครั้งจะทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น   แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่เราจะได้คือความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกจะเหนียวแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น   สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ “ความอดทน” ของพ่อแม่   แน่นอนครับ   การสื่อสารที่สร้างสรรค์ระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นไม่สามารถเกิดขึ้นชั่วข้ามคืนครับ   แต่ถ้าพยายามอย่างต่อเนื่องไม่ยอมแพ้ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นได้ครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

17 กุมภาพันธ์ 2557

สนใจแต่ข้อห้าม

แต่ละเลยชีวิตที่รับการทรงเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่

22 เกี่ยวกับวิถีชีวิตเดิมนั้น ท่านได้รับการสอนให้ทิ้งตัวตนเก่าของท่านซึ่งกำลังทำให้เสื่อมโทรมไปโดยตัณหาอันล่อลวงของมัน (อำนาจแห่งความบาปชั่ว)  

23 เพื่อรับการสร้างท่าทีความคิด จิตใจขึ้นใหม่  

24 และเพื่อสวมตัวตนใหม่ซึ่งพระเจ้าทรงสร้างขึ้นให้เป็นเหมือนพระองค์ ในความชอบธรรมและความบริสุทธิ์ที่แท้จริง (เอเฟซัส 4:22-24 อมต.)

คริสตชนไทยเราส่วนใหญ่ได้รับการสอนสืบทอดกันมาแต่อดีตที่ค่อนข้างเป็นกฎระเบียบตายตัวคือ  ห้ามดื่มของมึนเมา   ในอดีตมีบางพื้นที่ที่มิชชันนารีให้คนที่จะเป็นคริสตชนต้องเลิกเคี้ยวหมาก   หรือการไปกับหญิงที่ถูกตีตรามองร้ายในพฤติกรรมบางอย่างของเธอ   และหลายท่านอาจจะมีข้อห้ามเพิ่มเติมมากมายจากประสบการณ์ที่ตนพบเห็น เช่น   คริสตชนต้องไม่กล่าวคำสบถสาบาน   ต้องไม่เล่นการพนัน   หรือ ไม่ควรซื้อลอตเตอรี่ (ทั้งหวยบนดิน ใต้ดิน)   แต่ตอนนี้ยังไม่มีการห้ามซื้อหุ้น   ผมเคยได้ยินมาว่าสมัยเดิมนั้นคริสตชนในอเมริกาเขาห้ามเต้นรำ   ดูหนัง   แต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนไปมาก   นอกจากนั้นแล้วยังห้ามการอยู่กินกันก่อนแต่งงาน   และถ้าไปคบค้าทำกิจกรรมมากๆ กับคนที่ไม่เชื่อก็มักถูกเพ่งเล็ง   ผมโตในคริสตจักรที่เคร่งครัด   ตอนเป็นเด็กผมเห็นผู้นำคริสตจักรไม่ต้องการให้สมาชิกถามมากเกินไปเพราะนั่นแสดงว่าขาดความเชื่อ   ห้ามขาดการไปร่วมนมัสการพระเจ้าในคริสตจักรวันอาทิตย์   และถ้าจะให้เขียนรายการข้อห้ามเหล่านี้ก็คงมีอีกมาโขครับ

จากพระธรรมเอเฟซัส 4:22-24 ก็เห็นด้วยที่มีพฤติกรรมต่างๆ ที่ในฐานะคริสตชนไม่ควรประพฤติปฏิบัติ  เปาโลกล่าวว่า “ท่านได้รับการสอนให้ทิ้งตัวตนเก่าของท่าน...” (anthropos)  “ตัวตนเก่า” นั้นเกี่ยวพันกับ “วิถีการดำเนินชีวิตเดิม” ของเราด้วย   ซึ่งเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่ตรงกันข้ามกับคำสอน  และตัวอย่างชีวิตของพระคริสต์   ตามพระกิตติคุณของพระองค์   ในที่นี้รวมไปถึงข้อห้ามต่างๆ ของคริสตชนเคร่งครัดที่ผ่านมาด้วย

ชีวิตคริสตชนมิใช่มีเพียง “ข้อห้าม” เท่านั้น   แต่ส่วนสำคัญของชีวิตคริสตชนคือ การที่แต่ละคนได้รับการเปลี่ยนแปลงตัวตนเก่า  แล้วรับการทรงเสริมสร้างใหม่ในชีวิตจากพระเจ้า   เปาโลกล่าวถึงชีวิตที่ได้รับการทรงสร้างใหม่นั้นเป็นการทรงสร้าง “ท่าทีความคิดจิตใจขึ้นใหม่”   เพื่อให้เรามี “ตัวตน” ใหม่ที่มีชีวิตเป็นเหมือนพระองค์   เป็นชีวิตที่มีความชอบธรรม และ บริสุทธิ์ที่แท้จริง (ข้อ 24)

การทรงสร้าง “ตัวตนใหม่” นี้เป็นการที่พระเจ้าทรงกระทำการเปลี่ยนแปลงและสร้างจากภายในชีวิตของเราขึ้นใหม่และทำให้เรามีตัวตนใหม่ยังผลให้เกิดพฤติกรรมใหม่ในชีวิต เป็นการเปลี่ยนแปลงและสร้างขึ้นใหม่ที่รากฐานแห่งชีวิตของเรา   การเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่นี้ดำเนินไปอย่างเป็นกระบวนการ   มิใช่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีและเสร็จสิ้นในครั้งเดียว  แต่ต้องใช้เวลา   เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่ในระดับจิตสำนึก  ความนึกคิด  วิธีการคิด  จนเกิดผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของเรา

ตามนัยนี้ของเปาโล  การเปลี่ยนแปลงและการเสริมสร้างตัวตนและชีวิตใหม่นี้จะเกิดขึ้นเมื่อคนๆ นั้นมีความเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์   เพราะอิทธิพลที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงและชีวิตที่ได้รับการสร้างใหม่นี้มิได้ขึ้นอยู่กับความพยายามในการดำเนินชีวิตของคริสตชนเองแต่ตรงกันข้าม  ตัวตนใหม่ของชีวิตคริสตชนจะได้รับการก่อเสริมสร้างขึ้นใหม่เมื่อเรายอมรับให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเข้ามาเปลี่ยนแปลง “ตัวตนเก่า” ของเรา   ความจริงที่เราประสบก็คือว่า  เราไม่มีพลังหรืออิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง “ตัวตนเดิม” ของเราเอง   เราจึงต้องพึ่งพระกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์   เมื่อตัวตนเดิมของเราได้รับการทรงเปลี่ยนแปลง   พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงสร้างตัวตนใหม่แก่เรา   ที่มีชีวิตเป็นเหมือนพระองค์   เป็นตัวตนตามพระประสงค์ของพระเจ้า   และเมื่อ “ตัวตน” ของเราได้รับการทรงสร้างใหม่แล้ว   ก็จะมีแรงกระทบต่อการมี “วิถีการดำเนินชีวิตใหม่” ที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า

แต่ทั้งสิ้นนี้ขอเน้นย้ำว่า   จะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างใหม่   เป็นกระบวนการของการเจริญเติบโต   ที่ต้องพึ่งพาพระกำลังของพระวิญญาณบริสุทธิ์   และในเวลาเดียวกันเป็นการเอาใจใส่และการบ่มเพาะ เลี้ยงดู และเสริมสร้างกันและกันของชุมชนคริสตจักรด้วย   (นั่นหมายความว่า ชุมชนคริสตจักรจะต้องเป็นชุมชนที่ตระหนักและรู้ชัดเจนถึงบทบาทหน้าที่ที่พระคริสต์ทรงมอบหมายให้คริสตจักรรับผิดชอบด้วย)

บ่อยครั้งนักที่คริสตชนและชุมชนคริสตจักรมีทัศนะความเป็นคริสตชนที่มีการดำเนินชีวิตเพียง “ข้อห้าม” ต่างๆ   แต่ละเลยใส่ใจต่อชีวิตจิตวิญญาณภายในที่ต้องได้รับการทรงเปลี่ยนแปลง “ตัวตนเดิม” และรับการสร้าง “ตัวตนใหม่” จากพระเจ้า   เพื่อตนจะมี “วิถีการดำเนินชีวิตใหม่”   ที่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า   และถ้าเรามีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าแล้ว   “ข้อห้าม” ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับคริสตชนต่อไป 

จากประสบการณ์ชีวิตคริสตชนของท่าน...
  1. ชีวิตคริสตชนของท่านเน้นย้ำเรื่อง “ข้อห้าม” ในการดำเนินชีวิต   หรือท่านให้ความสำคัญกับการทรงเปลี่ยนแปลง และ การสร้างชีวิตภายในของท่านใหม่?   มีสาเหตุอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น?
  2. อะไรที่ช่วยให้ท่านตระหนักรู้ชัดว่า  ท่านจำเป็นที่จะต้องได้รับการทรงเปลี่ยนแปลงและสร้างตัวตนของท่านใหม่ในพระคริสต์   เพื่อท่านจะมีวิถีชีวิต และ การดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับพระกิตติคุณของพระองค์?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 กุมภาพันธ์ 2557

วันนี้ชี้อนาคต

ท่านกำลังจมจ่อมอยู่ในอดีตแล้วฝันพิชิตอนาคต   หรือ

ท่านกำลังจัดการกับปัจจุบันเพื่อเกิดปลายทางในอนาคต?

คงเป็นการเปลืองเปล่าเวลาชีวิตที่เราคิดจะกลับไปแก้สิ่งผิดพลาดย่ำแย่ในอดีตที่ผ่านมาแล้ว   เพราะเราแก้อดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วของเราไม่ได้   และในเวลาเดียวกันเราจะมัวแต่ฝันหวานถึงความสำเร็จรุ่งโรจน์ในอนาคตโดยไม่ลงมือทำอะไรเลยในขณะนี้ก็เป็นการหลอกตนเองให้สบายใจ   และความทุกข์ที่อยู่ข้างหน้ากำลังคืบคลานเข้ามาหาเรา

เราต้องพิจารณา ตัดสินใจ และลงมือทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้   เพื่อผลจะเกิดขึ้นตามเป้าหมายปลายทางในอนาคต

เปาโลได้เปรียบเทียบการขับเคลื่อนชีวิตของเรากับการเป็นนักกีฬาที่กำลังขับเคี่ยวบนลู่วิ่งแห่งชีวิตว่า

“... ข้าพ​เจ้า​ทำ​อย่าง​หนึ่ง คือ​ลืม​สิ่ง​ที่​ผ่าน​พ้น​มา แล้ว​โน้ม​ตัว​ไป​ยัง​สิ่ง​ที่​อยู่​เบื้อง​หน้า...”  (ฟิลิปปี 3:13)

ชีวิตที่มุ่งสู่หลักชัย   เพื่อจะฉวยเอาชัยชนะในชีวิตไว้   เปาโลให้หลักการสองประการคือ  ลืมสิ่งที่ผ่านพ้นมา   เพราะไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยที่จะมัวรู้สึกผิดหรือเจ็บปวด  เสียใจกับอดีต   ประการที่สองเปาโลชี้ว่า  ให้เราโน้มตัวไปยังสิ่งที่อยู่ข้างหน้า   การโน้มตัวเป็นภาพของนักวิ่งแข่งขัน   ที่ทุ่มแรงสุดกำลังชีวิตของเขาอย่างมีเป้าหมาย   และเป้าหมายในชีวิตของเปาโลคือพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของตน   กล่าวคือเปาโลกำลังหนุนใจเราว่า  เราต้องมุ่งมั่นทุ่มเทการดำเนินชีวิตของเราทุกหนทางให้ไปสู่เป้าหมายตามพระประสงค์ของพระคริสต์สำหรับชีวิตของเรา

ดังนั้น   วันนี้เป็นตัวชี้อนาคต   ซึ่งมีประเด็นชวนใคร่ครวญพิจารณาดังนี้

1. อนาคตอยู่ที่วันนี้:   วันต่อวันในความสำเร็จ

เวลาที่เราคิดเราพูดถึงอนาคต   เรามักคิดถึงอนาคตที่ยืดยาว   แต่สำหรับคริสตชนเรามองอนาคต “วันต่อวัน”  และเป็นวันต่อวันกับพระเจ้าเสียด้วย   เช่น   บางคนที่ต้องการเป็นนักเขียนที่สร้างพลังเร้าดลใจแก่ผู้อ่าน   แต่การที่จะเป็นนักเขียนระดับเช่นนั้นมิใช่อนาคตครับ   แต่เป็นวันนี้   วันนี้เราต้องเริ่มคิดและหยิบปากกาขึ้นเขียนครับ   จากนั้นเขียนอย่างต่อเนื่อง   พัฒนา แก้ไข  ปรับปรุงทั้งเนื้อหาและวิธีการเขียนของเรา   เป็นการพัฒนาแบบวันต่อวันครับ   และในกระบวนการวันต่อวันที่กล่าวนี้มิใช่ความมุมานะพยายามของเราแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น   แต่ในฐานะคริสตชนเรามีพระเยซูคริสต์ทรงเคียงข้าง  พระองค์จะเป็นโค้ชการเป็นนักเขียนของเรา   ด้วยการประทานพระปัญญาแก่เรา  ประทานการหล่อหลอมผ่านคนอ่าน  เพื่อนนักเขียน   ตัวอย่างการเขียนที่ดี  รวมถึงการดลใจจากพระองค์

สิ่งที่ต้องระวังคือ   เราต้องมุ่งมองที่หลักชัยให้ชัดเจน   เพื่อเราจะไม่พลาดจากเป้าหมายปลายทางแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า    แต่ในเวลาเดียวกันสิ่งที่เราต้องพึงระวังอีกประการหนึ่งก็คือ   เรามักไปมองที่ “ความสำเร็จสมบูรณ์”  ซึ่งถ้าเราเปรียบเทียบจากปัจจุบันที่เราเป็นอยู่ดูมันช่างห่างไกลเหลือเกิน   การมองเช่นนี้อาจจะสร้างความท้อแท้แก่จิตใจของเรา   แต่ให้เรามองที่ “ความสำเร็จวันต่อวัน” ที่พระเจ้าประทาน ถ้าเช่นนี้จะมีกำลังใจที่จะมุ่งไปข้างหน้า

2.   ความสำเร็จในอนาคต:   ทำสิ่งที่ควรจะทำที่ไม่ได้ทำในอดีต

จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไปว่า  “ถ้าท่านกลับไปมีอายุเป็นหนุ่มสาววัยทำงาน   ท่านจะทำอะไรที่แตกต่างจากสิ่งที่ท่านได้ทำเมื่ออยู่ในวัยนั้น?    เราได้รับคำตอบมากมายหลากหลายความคิดเห็น   แต่มีประเด็นหนึ่งที่สามารถสรุปว่าเป็นประเด็นร่วมและมีการเอ่ยถึงเกือบทุกคนคือ   ผู้สูงอายุกลุ่มนี้บอกว่า   ถ้าเขามีโอกาสเป็นหนุ่มสาววัยทำงานอีกครั้งหนึ่งสิ่งที่เขาต้องการทำแตกต่างจากที่เคยทำคือ  เขาจะกล้าเสี่ยงในชีวิตมากยิ่งขึ้น และมีความอดทนมากขึ้น  หมายความว่า พวกเขาจะไม่กลัวความล้มเหลวในชีวิต   ที่เป็นตัวกีดขวางให้เขาที่จะกล้าทำสิ่งใหม่ๆ  และจะทำด้วยความมั่นคงอดทน   เพราะถ้าไม่กล้าเสี่ยงเมื่อเวลาชีวิตผ่านไปแล้วมักจะเกิดคำที่ว่า   “จริงแล้วผมน่าจะทำสิ่งนั้นได้... หรือ  ฉันควรจะทำสิ่งนั้น...”

3.   เราไม่สามารถแก้ไขอดีต   แต่เราสามารถสร้างอนาคต

เราไม่สามารถย้อนกลับไปเริ่มต้นชีวิตอีกครั้งหนึ่งในอดีต   แต่เราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้  และสามารถที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายปลายทางชีวิตใหม่ได้   ใช่ เราจำเป็นต้องพูดและต้องเรียนรู้ถึงความผิดพลาดในอดีต   แต่ในเวลาเดียวกันเราไม่ควรให้โอกาสแก่ความรู้สึกจากความผิดพลาดในอดีตกลับมามีอิทธิพลทิ่มแทงบาดลึกสร้างความเจ็บปวดและบาดแผลในชีวิตของเรา   หรือเปิดทางให้ความรู้สึกผิด  หรือความคับข้องเคืองใจไล่ล่าความรู้สึกนึกคิดของเรา    เราต้องเรียนรู้ที่จะให้อภัยแก่คนอื่น และ ให้ความรักเมตตาด้วยพระคุณของพระเจ้าแก่ตนเอง   ปลดภาระที่หนักอึ้งแห่งอดีตลงจากบ่าของเรา   วางไว้ที่ใต้กางเขนของพระคริสต์   แล้วเงยหน้าขึ้นรับความเป็นไทจากพระองค์

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ
  1. การกระทำใดที่ท่านจะต้องเสริมสร้างให้เป็น “พฤติกรรมชีวิตในปีใหม่นี้”   เพื่อช่วยให้สิ่งที่ท่านคาดฝัน หรือ เป้าหมายที่วางไว้ให้สำเร็จเป็นจริงได้?
  2. เพื่อให้งานอาชีพของท่านประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมาย   ในปีใหม่นี้ท่านคิดว่าตนเองควร “กล้าเสี่ยง” และ “อดทน” ในการทำเรื่องอะไร ด้านไหน?
  3. มีใครบ้างที่ท่านจะต้องให้อภัย/ยกโทษ  เพื่อความขมขื่นในชีวิตของท่านจะไม่ฉุดกระชากลากถูชีวิตของท่านให้ต้องล่มล้มลง?     และท่านควรให้อภัยกับตนเองในเรื่องอะไรบ้าง?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

12 กุมภาพันธ์ 2557

คิดใหญ่แต่เริ่มเล็ก

พ่อสอนผมว่า  “แสนลี้เริ่มต้นที่ก้าวแรก”

ชาวบ้านสอนผมว่า  “เดินทีละก้าว   กินข้าวทีละคำ”

คิดจะเดินทางแสนลี้เป็นการคิดใหญ่   แต่ต้องเริ่มต้นที่ก้าวแรกซึ่งเป็นการเริ่มจากก้าวเล็กๆ

สมัยที่ผมเป็นอนุชน   ผมเข้าร่วมกิจกรรมจาริกชนของอนุชนสภาคริสตจักรในประเทศไทย   เดินทางด้วยจักรยานจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ไปยังแม่ฮ่องสอน   โดยใช้เส้นทางสงครามโลกครั้งที่สอง ที่อังกฤษสร้างไปทะลุที่ประเทศพม่า   ในครั้งนั้น ยังเป็นเส้นทางเดิมที่ยังไม่มีการสร้างใหม่   ตลอดเส้นทางที่ขรุขระและคลุมด้วยฝุ่นหนาถึงหัวเข่า   แล้วยังลดเลี้ยวคดเคี้ยวไต่ไปตามสันเขาสูงชัน   ประสบการณ์สอนผมว่า   การที่เราพยายามก้าวออกไปข้างหน้าก้าวเล็กๆ เป็นก้าวสำคัญและมีค่ายิ่ง เพราะถ้าไม่มีก้าวเล็กๆ ที่ก้าวไปก่อนหน้านี้จะไม่มีก้าวต่อๆ ไปเลย

ก้าวแรกเป็นก้าวที่นำสู่ความสำเร็จไปให้ถึงแสนลี้จริงๆ!

บนเส้นทางกลางป่าที่เราต้องการเดินทางไปให้ถึงแม่ฮ่องสอน   เราได้พักแรมกลางป่าที่เราไม่คุ้นชินหลายที่ด้วยกัน   ผมมีประสบการณ์ที่จะต้องออกจากเต็นท์เพื่อไปปัสสาวะที่ห่างจากที่ตั้งค่ายสัก 20-30 เมตร ท้องฟ้ามืดมิด  คืนนั้นไม่มีแสงจันทร์   แสงดาวไม่ช่วยให้เราเห็นเส้นทางที่จะเดินไป   ดังนั้นจึงต้องพึ่งไฟฉาย   ผมก้าวเดินไปทีละก้าวตามความสว่างจากไฟฉายที่แสงสลัวในวงกว้างจำกัดไม่รู้ว่าจะมีอะไรในความมืดที่อยู่ข้างหน้าผม   แต่ด้วยความไว้ใจผมตัดสินใจก้าวไปทีละก้าวไปบนพื้นที่แสงสว่างของไฟฉายที่ส่องให้ผมเห็นได้เท่านั้น

ก้าวแรก ก้าวเล็ก  เป็นก้าวที่เราก้าวไปด้วยความไว้วางใจ   แล้วนำไปยังก้าวที่สอง ที่สาม และก้าวต่อๆ ไปยังที่ผมจะไป  และเดินก้าวกลับทีละก้าวจนถึงเต็นท์ของผม   ที่จะเข้าไปหลับนอนต่อไป

ใช่ครับ...   ก้าวแรกนำไปสู่ก้าวต่อๆ ไป   และไปถึงเป้าหมายที่ต้องการไปครับ

ในการเป็นผู้นำ ความจริงที่เราพบคือ  เราอาจจะไม่รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง และ ทุกก้าวไปข้างหน้าจนบรรลุความสำเร็จ ว่าเราจะต้องพบอะไรบ้าง   และหลายคนไม่ชอบเลยที่จะต้องเริ่มก้าวในงานที่ตนรับผิดชอบโดยไม่มีความชัดเจน หรือ หยั่งรู้ว่าตลอดเส้นทางที่เขาจะก้าวเดินไปนั้นจะต้องพบกับอะไรบ้าง

หลายคนชอบที่จะพูดถึงความฝัน  วิสัยทัศน์  ดูมันตื่นเต้นมีสีสันยิ่งเมื่อเราพูดถึงความหวังที่เราต้องการไปให้ถึงในอนาคต อย่างไรก็ตามนั่นก็ยังเป็น “ความเพ้อฝัน”  จินตนาการที่รอการปฏิบัติ   รอการลงมือและก้าวมุ่งไปยังเป้าหมายหรือธงที่ปักไว้   ในชีวิตจริงประจำวันและการงานที่ต้องทำในแต่ละวัน   การลงมือทำในแต่ละวันต่างหากที่เป็นตัวบ่งบอกว่าความฝัน ความปรารถนา  วิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้นั้นจะเป็นจริงหรือไม่เพียงใด

แต่ทำไมจะต้องเริ่มต้นทำจากก้าวเล็กๆ?

1.   เพราะให้กำลังใจในการเริ่มต้น

ความชำนาญพัฒนาจากการสั่งสมบทเรียนทีละเล็กละน้อยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง   เมื่อบรรลุความสำเร็จในก้าวเล็กๆ   ย่อมทำให้เราได้รับกำลังใจและเกิดความมั่นใจว่าเราจะประสบความสำเร็จในก้าวต่อๆ ไปข้างหน้า   คนที่ประสบความสำเร็จสูงในอาชีพการงานของเขาไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเป็นคนที่มีความฉลาดหลักแหลมในงานอาชีพนั้นๆ   แต่เขาทุ่มเทเป็นพิเศษสำหรับงานอาชีพนั้นต่างหากที่นำเขาบรรลุความสำเร็จ

ในด้านความคิดความรู้สึกการที่เราเลือกที่จะเริ่มต้นด้วยก้าวสั้นๆ หรือก้าวเล็กย่อมทำให้เรามีกำลังใจที่จะก้าวออกไปได้ง่ายกว่าการที่คิดจะก้าวใหญ่ยาวเพื่อไปให้ถึงความสำเร็จในภาพใหญ่ทันที   เพราะภาพใหญ่ที่ต้องไปให้ถึงนั้นจะท่วมทับความคิดของเราให้เกิดการอ่อนแรงและหมดแรงไม่เคลื่อนไปไหนในทีสุด

เพราะความกลัวความสงสัยจะทะลวงเข้ามาในห้วงความคิดของเรา   ทำให้เกิดความวุ่นวายสับสน   แล้วทำให้เกิดความท้อแท้ใจ  แล้วเลิกล้มที่จะก้าวออกไป   แต่การเริ่มต้นคิดที่ก้าวแรกที่เป็นก้าวเล็ก   เป็นการคิดที่ทำให้เกิดกำลังใจที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำให้สำเร็จได้  

2.   การเริ่มต้นด้วยก้าวเล็กนำไปสู่ความสำเร็จง่ายกว่าก้าวใหญ่ยาว

ตัวอย่างเช่น   ถ้าเราไม่เคยออกกำลังกายด้วยการวิดพื้นมาก่อน   แต่ได้รับคำแนะนำว่าเราจะต้องวิดพื้นอย่างน้อยวันละ 30 ครั้ง   เราจะเริ่มตัดสินใจวิดพื้นในวันแรก 30 ครั้งเลยหรือ?   แน่นอนว่าวิดพื้นได้เพียง 2-3 ครั้งก็หมดแรง   แล้วมานั่งคิดว่าเราทำไม่สำเร็จ   แล้วก็สรุปว่าเราทำไม่ได้   เลยตัดสินใจว่าเราไม่น่าเสียเวลาที่จะมาออกกำลังกายด้วยการวิดพื้น   จึงเลิกราไม่ทำต่อไป

แต่ถ้าเรากำหนดขั้นตอนของการออกกำลังกายด้วยการวิดพื้นของเรา   เริ่มจากก้าวเล็กที่สำเร็จได้ เช่น วันแรกขอให้วิดพื้นได้อย่างถูกต้องสัก 1 ครั้ง   ในวันที่สองให้ได้สัก 3 ครั้ง   ในวันที่สามให้ได้สัก 7 ครั้ง   ในวันที่ 4 ให้ได้สัก 12 ครั้ง   แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนสามารถวิดพื้นได้วันละ 30 ครั้ง    การก้าวจากก้าวเล็กในก้าวแรกย่อมนำไปสู่เป้าหมายความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้    แต่ถ้าพยายามหักโหมด้วยก้าวที่ยิ่งใหญ่ให้สำเร็จทันทีในวันแรก    ย่อมทำให้เรา “ติดแหง็ก” ก้าวไม่ออก   และพบกับความล้มเหลวตั้งแต่ก้าวแรก   เพราะเราเริ่มคิดที่จะก้าวแรกที่เป็นก้าวใหญ่ยาวทันที

อย่าลืมครับ ก้าวเล็กเป็นก้าวนำสู่ความสำเร็จ!

3.   ก้าวแรกเป็นก้าวนำสู่ก้าวต่อๆ ไป

การที่เราก้าวออกไปก้าวแรกที่มีคุณภาพย่อมเปิดทางให้เราก้าวไปสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ขึ้น และ เป็นก้าวที่มีคุณภาพและคุณค่ายิ่งขึ้น   ถ้าเราไม่สามารถที่จะนำคนๆ หนึ่งในกลุ่มงานของเราแล้วใครที่ไหนจะวางใจให้ท่านนำคนทั้งแผนก?   อย่าไปมองว่า ก้าวเล็กๆ นั้นด้อยค่าไร้ความสำคัญ   แต่ก้าวแรกที่เล็กและธรรมดาเป็นก้าวที่ สำคัญ  ที่อยู่ข้างหน้าเราที่จะต้องก้าวไปด้วยความรับผิดชอบและใส่ใจเต็มกำลัง   เราไม่รู้หรอกว่าก้าวแรกที่สั้นๆ เล็กๆ นี้จะนำเราไปสู่ที่ไหน!

30 (พระคริสต์)​ตรัส​อีก​ว่า แผ่น​ดิน​ของ​พระ​เจ้า จะ​เปรียบ​เหมือน​สิ่ง​ใด?...31 ก็​เปรียบ​เหมือน​เมล็ด​มัส​ตาร์ด​เมล็ด​หนึ่ง ตอน​ที่​เพาะ​ลง​ใน​ดิน ก็​เล็ก​กว่า​เมล็ด​ทั้ง​ปวง​ทั่ว​ทั้ง​แผ่น​ดิน 32 แต่​เมื่อ​เพาะ​แล้ว​จึง​งอก​ขึ้น​จำเริญ​โต​ใหญ่​กว่า​ผัก​(พืช)ทั้ง​ปวง และ​แตก​กิ่ง​ก้าน​ใหญ่​พอ​ให้​นก​ใน​อากาศ​มา​ทำ​รัง​อาศัยอยู่​ใน​ร่ม​นั้น​ได้
(มาระโก 4:30-32 มตฐ.)

ประเด็นใคร่ครวญเจาะลึก

วันนี้ อะไรคือก้าวสำคัญที่ท่านจะต้องก้าวออกไปก่อนก้าวอื่นๆ ที่จะนำท่านไปสู่ความก้าวหน้าของงาน   ที่จะนำท่านให้บรรลุถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จในเดือนข้างหน้านี้?   แล้วท่านได้วางแต่ละก้าวเดินสำหรับงานนี้ไว้เป็นรายวันหรือไม่?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

10 กุมภาพันธ์ 2557

ท่านเป็นคนของใครในวันนี้?

เปา​โล ผู้​รับ​ใช้​ของ​พระ​เยซู​คริสต์
ที่​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​ให้​เป็น​อัคร​ทูต
และ​​ตั้ง​ไว้​ให้​ประกาศข่าวประเสริฐของ​พระ​เจ้า
(โรม 1:1 มตฐ.)

เปาโลเริ่มประโยคแรกในจดหมายที่ท่านเขียนถึงผู้เชื่อพระเยซูคริสต์ในโรม   ท่านได้บอกให้ผู้อ่านว่าท่านเป็นใคร  ท่านบอกผู้อ่านว่า  “(ข้าพเจ้า)เปาโล  ทาสรับใช้ ของพระคริสต์”   ในพระคัมภีร์สำนวนแปลต่างๆ ของสมาคมพระคริสต์ธรรมพระคัมภีร์ฯ  และของอมตธรรมร่วมสมัย  ต่างแปลอย่างเดียวกันว่า “เปาโล ผู้รับใช้ของพระเยซูคริสต์”   แต่ในต้นฉบับภาษากรีกใช้คำว่า doulos ซึ่งแปลว่า “ทาส”   มีความหมายถึงผู้ที่แม้จะมีชีวิตอยู่   แต่ตนไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง   มีคนอื่นเป็นเจ้าของ  เป็นเจ้านาย  ในที่นี้เปาโลบอกผู้อ่านว่า  ข้าพเจ้าเปาโล  ผู้เป็นทาสรับใช้ของพระเยซูคริสต์  

นั่นหมายความว่าท่านได้มอบกายถวายชีวิตให้เป็นของพระเยซูคริสต์ทั้งชีวิต

เฉกเช่นเดียวกับเปาโล   คริสตชนทุกคนต่างเป็น “ทาสรับใช้” ของพระคริสต์เช่นกัน

ทุกวันนี้เราท่านคงหนักใจที่จะใช้คำว่า “ทาสรับใช้”   หรือการที่จะบอกว่า “ตนเป็นคนที่มีเจ้าของ...”   เพราะเรามีมุมมองว่า ทาสเป็นเรื่องของการกดขี่ข่มเหงทำร้ายทำลายศักดิ์ศรี   พระฉายา  และคุณค่าในความเป็นคนที่พระเจ้าทรงสร้างและประทานให้   หลายคนบอกว่า  ราชกาลที่ 5 ได้ยกเลิกระบบทาสไปจากประเทศไทยแล้ว   นี่คริสตชนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 21 ยังมีจิตใจที่เป็นทาสอีกหรือ?

ความเป็นจริงคริสตชนไทยก็ไม่อยากใช้คำนี้สักเท่าใด   ดังเห็นได้จากการใช้คำว่า “ผู้รับใช้”  ที่ดูดีกว่าแทน   เพราะคำว่า “ผู้รับใช้” มิได้บ่งบอกถึงการที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตเราเอง   แต่บ่งบอกถึงฐานะพิเศษที่รับใช้พระเยซูคริสต์(คนสำคัญ)   ดังนั้น  ผู้รับใช้หลายต่อหลายคนจึงภาคภูมิใจในการใช้คำว่า “ผู้รับใช้ของพระคริสต์”   และมักนิยมชมชอบเป็นผู้รับใช้อย่างเป็น “ทูตของพระคริสต์”  ซึ่งมีฐานะสูงส่งขนาดตัวแทนของพระเยซูคริสต์

แต่เปาโลแนะนำตัวของท่านประโยคแรกในจดหมายฝากว่า  “ข้าพเจ้าเปาโล ทาสรับใช้ ของพระคริสต์”   “ข้าพเจ้าเปาโลมีพระเยซูคริสต์ทรงเป็นเจ้านาย และ ทรงเป็นเจ้าของ!

ทำไมเปาโลบอกถึงสถานภาพที่แท้จริงของตนว่า “ข้าพเจ้าเป็นทาสรับใช้ของพระเยซูคริสต์”   มิใช่เพราะเปาโลนิยมชมชอบระบบทาส   แต่เพราะเปาโลต้องการบอกกับผู้อ่านชัดเจนว่า   ชีวิตที่ท่านมีอยู่นี้   ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้   มีคุณค่าและความหมายที่ดำเนินชีวิตอยู่ในทุกวันนี้   เพราะพระคริสต์ทรงปลดปล่อย และ ไถ่ถอนชีวิตทั้งชีวิตของท่าน  คือทรงไถ่ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และพฤติกรรมชีวิตทั้งหมดของตนออกจากอำนาจของความบาปชั่ว ผิดพลาด  คิดผิด เชื่อผิด  เข้าใจผิด  และมีมุมมองที่ผิดๆ   จึงทำให้ดำเนินชีวิตไปอย่างผิดพลาดร้ายแรง    แต่เพราะพระคริสต์ทรงรักท่าน   จึงไถ่ถอนปลดปล่อยท่านออกมาจากอำนาจชั่วดังกล่าวด้วย “พระโลหิต” หรือทั้งชีวิตของพระคริสต์   ดังนั้น  เปาโลจึงมิได้เป็นเจ้าของชีวิตที่ตนเองมีอีกต่อไป   แต่ชีวิตทั้งชีวิตที่มีอยู่เป็นของพระเยซูคริสต์ที่ทรงไถ่ถอนปลดปล่อย   ดังนั้น   ชีวิตของเปาโลจึงมิใช่ทำตามใจปรารถนาของตนเองอีกต่อไป   แต่เปาโลชี้ชัดว่า  ชีวิตที่มีอยู่นี้มีอยู่เพื่อทำตามพระประสงค์ของพระคริสต์คือทรงใช้ให้ตนไปประกาศข่าวประเสริฐของพระองค์   และเปาโลออกไปทำเช่นนี้ในฐานะ “ทาสรับใช้ของพระคริสต์”  เพราะ...

ท่านไม่ได้ออกไปประกาศข่าวประเสริฐเพราะเป็นอาชีพเพื่อมีรายได้เพื่ออยู่รอด

ท่านมิได้ออกไปประกาศข่าวประเสริฐเพราะได้เงินเดือน  ได้ค่าสวัสดิการชีวิต  หรือได้ตำแหน่ง

ท่านมิได้รับจ้าง หรือ รับเงินเดือน  เงินสนับสนุนจากใคร  องค์กรไหน

แต่เปาโลออกไปประกาศข่าวประเสริฐเพราะจิตสำนึกว่า ตนเป็น ทาสรับใช้ของพระคริสต์

ในช่วงปี 2014 นี้   จะเป็นการดียิ่งถ้าเราท่านจะมีเวลาสงบอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า  เพื่อใคร่ครวญว่า   จากพฤติกรรมชีวิตที่ผ่านมาตลอดปี 2013 เรามีพฤติกรรมว่า “ใครเป็นเจ้าของชีวิตของเรากันแน่?”    และในปี 2014 นี้  ท่านตัดสินใจมีชีวิตโดยมีใครเป็นเจ้าของ  หรือ ใครเป็นเจ้านายควบคุมชีวิตของเราท่าน?

ชื่อเสียง  เกียรติยศ
ตำแหน่ง  ฐานะ
เงินทอง  ทรัพย์สิน  สมบัติ
ครอบครัว  คู่ชีวิต  ลูกหลาน...
ธุรกิจ  การงาน
ความอยู่รอดปลอดภัย
สารเสพติด และ สิ่งเสพติด (เช่น เน็ท  เพศ  เสี่ยงโชค   หุ้น...)
ใจปรารถนาของตนเอง
....
ทุกวันนี้อะไรที่เป็น “เจ้านาย” ที่บงการชีวิตของท่าน?  หรือ  ท่านกำลัง “รับใช้” ใคร/อะไรในทุกวันนี้

แล้วในปี 2014 นี้   ท่านคิดว่าจะยอมให้ “ใคร” หรือ “อะไร” ที่จะเป็นเจ้านายบงการชีวิตของท่าน?

หรือในปีใหม่นี้ ท่านจะยอมเป็น “ทาสรับใช้” ของใคร?  หรือ  อะไร ในชีวิตของท่าน?

จริงๆ แล้ว “ใคร” หรือ “สิ่งใด” ที่มีอิทธิพลบ่งการชีวิตของท่าน?
หรือพูดให้สวยหน่อย   ใครเป็นเจ้านายชีวิตของท่าน?
ท่านคิดอย่างไรกับการที่ “ท่านจะเป็นทาสรับใช้ของพระคริสต์”?
ท่านคิดอย่างไรกับประสบการณ์ของเปาโลที่ว่า  การเป็นทาสพระคริสต์คือการเป็นไทที่แท้จริงทั้งชีวิต?

ท่านคิดว่า   ถ้าท่านจะดำเนินชีวิตโดยมีพระคริสต์เป็นเจ้านาย หรือ เป็นทาสรับใช้พระคริสต์จะทำให้ท่านมีชีวิตที่แตกต่างจากปีที่ผ่านพ้นไปอย่างไรบ้าง?

วันนี้ท่านจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกว่า  ท่านเป็นคนของใคร? 
                                                                                  
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499