24 กุมภาพันธ์ 2557

ไม่มีปัญหา ก็ ไม่ก้าวหน้า!?

แท้จริงแล้ว  ปัญหาไม่ใช่ปัญหา  ที่มันเป็นปัญหาเพราะเรามองว่ามันเป็นปัญหา
แท้จริงแล้ว  สิ่งที่เรามองว่าเป็นมันปัญหา   โดยแก่นแท้ของมันกลับตรงกันข้าม
แท้จริงแล้ว  สิ่งนั้นเป็นปัญหาเพราะเราไปติดยึดและมีมุมมองว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหาต่างหาก

เรามีมุมมองแบบไหนต่อสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นปัญหา?   เราคิดคาดหวังว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ควรจะเกิดขึ้น   แต่เมื่อมันไม่เป็นไปตามที่เราคาดคิด   ใจของเราจึงรู้สึกว่า “มันต้องมีปัญหา” แน่  หรือ  เราวางแผนงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างดีเราจึงคาดหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี   แต่มันก็ทำให้เราต้องแปลกใจที่ไม่เป็นไปอย่างที่คาดคิดตามที่วางแผน   “เพราะมันมีปัญหา”  ลึกๆ แล้วปัญหาคือการที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือ เหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดคิดตามที่เราวางแผนอย่างดี   เราเรียกอาการเช่นนี้ว่า “ปัญหา”

แนวทางและวิธีการมองและจัดการของเราต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสิ่ง/เหตุการณ์นั้นทำให้ไม่เกิดผลอย่างที่เราคาดคิดต้องการหรือตามแผนที่เราวางไว้   ธีโอดอร์ รูบิน เคยกล่าวไว้ว่า   การที่เราใช้มุมมองและแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นของสิ่ง/สถานการณ์นั้นๆ เป็นตัวที่ก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มเข้ามานอกเหนือจากสิ่งที่เราคาดคิดต้องการ   ดังนั้น  รูบิน เสนอแนะว่า ในแต่ละครั้งของการวางแผนสิ่งหนึ่งสิ่งใดน่าจะมองให้กว้างและคาดหวังว่าอาจจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง    ด้วยการมองเช่นนี้จะช่วยให้เรามีมุมมองที่แตกต่างหรือกว้างกว่ามุมมองที่เราเคยชินติดยึด   จึงสามารถมองหาแนวทางใหม่ๆ ที่จะจัดการกับสิ่งที่เราวางแผนนั้น   และถ้าเกิดปัญหาขึ้นเราจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นมิเป็นสิ่งนอกเหนือความคาดหวังของเรา  แต่เป็นสิ่งที่เราเคยคาดคิดมาก่อน   และจะได้หาทางแก้ไขและจัดการได้

แล้วเราจะมองสิ่งที่ระบุว่าเป็น “ปัญหา” อย่างไรดี?   จอห์น ซี. แม็กซ์แวลล์ ได้ให้ข้อคิดมุมมองที่น่าสนใจต่อการเผชิญหน้ารับมือกับปัญหา ดังนี้

“ปัญหา” เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น:

ประการแรกจากประสบการณ์ในการทำงานและการดำเนินชีวิตของเราปัญหามักเกิดขึ้นได้แม้ไม่คาดคิด   แต่ถ้าเราทบทวนประสบการณ์เราจะพบว่า   เมื่อเกิดปัญหาขึ้นทำให้เราแสวงหามุมมองอื่นๆ ในการมองประเด็นนั้นๆ ที่เป็นปัญหา   และปัญหาดังกล่าวจะช่วยบอกเราว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้าบนเส้นทางนี้

“ปัญหา” ช่วยกระตุ้นเตือน:

เมื่อเกิดปัญหาขึ้นปัญหานั้นเป็นตัวกระตุ้นเตือนให้เราต้องคิดทบทวนถึงคุณค่า เป้าหมาย และลำดับความสำคัญในงานที่เรากำลังดำเนินการ   ปัญหาเป็นตัวที่กระตุ้นให้เราต้องชัดเจนในงานที่เราปฏิบัติ   และเมื่อเรายอมรับเอาคุณค่า เป้าหมาย และลำดับสำคัญก่อนหลังของงานที่เราดำเนินการ   ทำให้เรามีการตัดสินใจที่ชัดเจนและมีกระบวนการดำเนินการอย่างมีเอกภาพและเป็นระบบ

“ปัญหา” ตัวเสริมสร้างความมั่นใจและมีมุมมองในเชิงบวก:

เมื่อปัญหาช่วยกระตุ้นให้เราเห็นชัดเจนถึงแนวทางที่เรามุ่งไป   ก็จะเสริมให้เราเกิดความมั่นใจ และ มีมุมมองในเชิงบวกต่อสิ่งที่เรากำลังทำและ “ปัญหา” ที่เกิดขึ้น   เพราะ “ปัญหา” ดังกล่าวไม่ทำให้เราต้องหลบลี้หนีมัน   แต่กลับเป็นสิ่งที่ยอมรับและช่วยให้เราดำเนินการด้วยความมั่นใจ และ ด้วยจิตใจที่สงบมั่นคงมีสมาธิดีขึ้น

“ปัญหา”  ตัวชี้นำถึง “พร” หรือผลอันดีที่จะเกิดแก่เรา:

“ปัญหา”  มิใช่เรื่องร้ายเรื่องไม่ดีเสมอไป   บ่อยครั้งปัญหาช่วยชี้นำให้เราเห็นถึงหนทางที่เราได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการดำเนินการตามแผนที่เรากำหนด   คงไม่เป็นการพูดเกินความจริงว่า “ปัญหา” คือตัวชี้ตัวนำสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิตการงานของเรา

“ปัญหา”  ให้บทเรียน:

เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหา   ให้เราถามตนเองว่า ฉันจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากปัญหานี้   ให้เรามองปัญหาเป็นตัวที่ให้บทเรียนสำคัญๆ แก่เรา   ปัญหาเป็นย่างก้าวที่เปิดให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สำหรับเราและทีมงาน

“ปัญหา” มีอยู่ทุกที่:

ให้เราคาดหวังได้เลยว่า  ไม่ว่าที่ใดก็ตามเราอาจจะต้องประสบพบกับปัญหา   ก้าวแรกของการเผชิญรับมือกับปัญหาอย่างสร้างสรรค์คือ   การที่เรายอมรับว่านี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นจริง

“ปัญหา” ให้สาระสัจจะแก่เรา:

เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาแต่ละเรื่อง   แต่ละปัญหาได้บอกถึงความจริง สาระสัจจะอะไรบ้างเกี่ยวกับตัวของเราเอง เกี่ยวกับเพื่อนร่วมทีมงานของเรา   หรือบอกเราถึงสาระสัจจะอะไรบ้างเกี่ยวกับสถานการณ์นั้นๆ?   ทุกครั้งที่เราประสบพบเจอกับปัญหาให้เราถามเสมอว่า  อะไรคือสาระความจริงที่ปัญหาให้แก่เราในครั้งนี้   เพื่อเราจะไม่มองปัญหาอย่างลบๆ ร้ายๆ   และช่วยให้เราเปิดใจเรียนรู้จากสถานการณ์นั้น

“ปัญหา” เป็นสิ่งที่เรารับมือและจัดการได้:

มุมมองต่อปัญหานี้สร้างความแตกต่างแก่เราระหว่าง   ปัญหาทำให้เรา “ก้าวหน้า”  หรือ  ปัญหาที่ทำให้เรา “ติดแหงก”  การที่เรามีมุมมองว่าปัญหาเป็นสิ่งที่เราสามารถรับมือและจัดการแก้ไขได้ปลดปล่อยให้เรามุ่งใช้ความสามารถสร้างสรรค์ของเราในการรับมือกับปัญหา    มากกว่าการหลบลี้หลีกเลี่ยงปัญหา  หรือ หนีปัญหา

“ความคิดที่สร้างสรรค์ คือการที่คนๆ หนึ่งมองเห็นสิ่งนั้นๆ อย่างที่คนอื่นเห็น   แต่เขาคิดต่อสิ่งที่เขาเห็นที่แปลกแตกต่างจากคนอื่น”  Albert Szent-Gyorgyi กล่าวไว้เช่นนั้น

เราคงต้องเปลี่ยนมุมมองและความเข้าใจต่อปัญหา   เพื่อที่เราจะสามารถมองสถานการณ์ที่เป็นปัญหา   ที่คนอื่นเห็นว่าตีบตันไม่มีทางออกไม่มีคำตอบ   เพื่อเราจะสามารถมองเห็นอีกโอกาสหนึ่งที่เปิดออกให้เราสามารถเติบโตขึ้นในชีวิตและสามารถก้าวข้ามความทุกข์ยากลำบาก   ด้วยการที่เรามีมุมมองใหม่ต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นว่า   เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่  ยอมรับปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน   และเผชิญ รับมือ และจัดการกับปัญหาต่างๆ ด้วยมุมองความคิดที่สร้างสรรค์   และการเผชิญหน้า รับมือ   การจัดการเช่นนี้ปัญหาแทนที่จะเป็นอุปสรรคขวางกั้น  แต่จะกลับกลายเป็นตัวนำความก้าวหน้ามาสู่ชีวิตของเรา

วันนี้ท่านทำตัวเป็นเหยื่อของปัญหา  หรือใช้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และเป็นพระพร!
ท่านเคยรับพระพรที่มาถึงเราผ่านทางปัญหาบ้างไหม?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น