31 พฤษภาคม 2564

เราไม่ได้ห้อย “รูปเคารพ” ที่คอ แต่ห้อยที่ใจหรือเปล่า?

การที่เรามี “รูปเคารพ” ห้อยที่คอ ผูกที่ข้อมือ ผู้คนสังเกตเห็นได้ง่าย แต่ถ้าเราห้อย “รูปเคารพ” ที่ใจ ใครจะไปมองเห็นได้ง่าย? นอกจากสังเกตลึกลงในพฤติกรรมชีวิตเรา

เรื่อง “รูปเคารพ” เป็นข้อห้ามสำคัญข้อต้น ๆ ของพระบัญญัติสิบประการ

ในชีวิตของคริสตชน เรามีชีวิตอยู่เพื่อให้เป็นที่พอใจของพระเจ้าผู้ทรงสร้างและประทานชีวิตแก่  พระองค์คือผู้สร้างชีวิตของเรา เป็นเจ้าของชีวิตของเรา และมีพระประสงค์ในชีวิตของเราแต่ละคน เราต้องมีชีวิตที่องค์พระผู้เป็นเจ้ายอมรับตามพระประสงค์!

และนี่จะทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นอย่างมหาศาล

พระเยซูคริสต์กล่าวว่า “...เราไม่ได้มุ่งที่จะทำตามใจของเราเอง แต่ตามพระประสงค์ของผู้ทรงใช้เรามา” (ยอห์น 5:30 มตฐ.)

ท่านทราบใช่ไหมครับว่า การที่เรามุ่งทำตามใจใคร หรือ ทำให้ใครพอใจ โดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นที่พระเจ้าพอพระทัย หรือ ตามพระประสงค์หรือไม่ คน ๆ นั้นมีอิทธิพลเหนือชีวิตของเรา เป็น “พระเจ้า” ของเรา หรือไม่ก็เป็น “รูปเคารพของเรา”? ซึ่งพระบัญญัติสิบประการข้อแรกก็คือ “อย่ามีพระเจ้าอื่นใดต่อหน้าเรา” (อพยพ 20:3 อมธ.)

อะไรก็ตามที่เราให้อยู่ในที่ที่สูงสุด สำคัญสุดในชีวิตของเรา เรากำลังยกย่องสิ่งนั้นคนนั้นให้เป็น “พระเจ้า” ดังนั้น บ้านหรู รถยนต์รุ่นล่าสุด มือถือรุ่นใหม่สุด คนที่เราอยากได้เป็นคู่ชีวิต และ ตำแหน่งที่อยากไต่ขึ้นไปให้ถึง ความมั่งคั่งมั่นคงที่เราพยายามฉกฉวยมาให้ได้ในชีวิต...  

อะไรที่ขึ้นมาเป็น “หมายเลข 1” ในชีวิตของเรา ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นพระเจ้าของเรา แต่เรากำลังทำให้กลายเป็นพระเจ้าของเรา สิ่งนั้นเราเรียกว่า “รูปเคารพ” ของเราในชีวิต และการมีพฤติกรรมชีวิตเช่นนี้นี่เองที่เรากำลังทำรูปเคารพสำหรับตนเอง ที่นำเราไปสู่พระบัญญัติข้อที่ 2 คือ “ห้ามทำรูปเคารพสำหรับตน...” (อพยพ 20:4 มตฐ.) 

ในที่นี้รวมไปถึง การที่เรายอมให้ “ความคิดเห็น” “อุดมการณ์อื่นใดที่มิใช่พระประสงค์ของพระเจ้า” เข้ามาแทนที่พระประสงค์ของพระองค์ตามพระวจนะ นั่นก็เป็นรูปเคารพด้วยเช่นกัน เช่น ลัทธิประชาธิปไตย สังคมนิยม ทุนนิยม บริโภคนิยม อำนาจนิยม สิทธิมนุษยชน ความคิดอุดมการณ์เหล่านั้นเป็นรูปเคารพ เพราะมันมีอิทธิพลนำการเชื่อ การคิด การตัดสินใจ การดำเนินชีวิตของเรา และความสัมพันธ์ของเราในโลกนี้ แทนที่จะเราจะมีชีวิตเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

เปาโลกล่าวใน กาลาเทีย 1:10 ว่า “นี่ข้าพเจ้ากำลังมุ่งให้มนุษย์หรือพระเจ้ายอมรับกันแน่? หรือว่าข้าพเจ้ากำลังพยายามทำให้มนุษย์พอใจ? หากข้าพเจ้ากำลังพยายามทำให้มนุษย์พอใจ ข้าพเจ้าก็ไม่ใช่ผู้รับใช้ของพระคริสต์” (กาลาเทีย 1:10 อมธ.)

เราท่านแต่ละคนต่างต้องการให้คนอื่นรอบข้างยอมรับ นิยมชมชอบตนเอง เราพยายามทำให้คนเหล่านี้พึงพอใจตน ทำให้ “ผู้ใหญ่คนนั้น” พอใจตน แทนที่เราจะมีชีวิตและดำเนินชีวิตให้เป็นที่พึงพอใจของพระเจ้า ในฐานะที่เราแต่ละคนเป็นผู้รับใช้ของพระคริสต์ เราพึงมีชีวิตและดำเนินชีวิตให้เป็นที่พึงพอใจของพระเจ้า มิใช่เป็นที่พึงพอใจของคนอื่น หรือ ตนเอง

ถ้าเราทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เป็นที่พึงพอใจ และรับการยอมรับของคนอื่นรอบข้าง   เราก็ไม่ได้เป็นผู้รับใช้ของพระคริสต์ “การเป็นผู้รับใช้พระคริสต์” ของเราจึงเป็นเพียง “หน้ากาก” หรือ “หัวโขน” เท่านั้น

ระวัง นั่นเป็นการห้อยรูปเคารพที่ “ใจ” (ที่มองเห็นได้ยาก) มิใช่ที่คอที่มองเห็นได้เด่นชัด!

ในทุกวันนี้ ถ้าเราจำเป็นจะต้องดำเนินชีวิตเพื่อให้เป็นที่พึงพอใจและเป็นที่ยอมรับของใครบางคน   แล้วเราจะมีชีวิตที่พึงพอใจของพระเจ้าได้ไหม? อย่างไร? เราจะต้องมีชีวิตเช่นไรถึงจะเป็นชีวิตที่พึงพอใจของพระเจ้าอย่างแท้จริง?



30 พฤษภาคม 2564

“พระเจ้า! ถ้าพระองค์มีจริง ขอให้....” (พิมพ์ครั้งที่ 5)

เขาว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

หนังสือ “พระเจ้า! ถ้าพระองค์มีจริง ขอให้...” เป็นหนังสือที่ ศาสนาจารย์ อรัญ ยูแบงก์ เขียนรวบรวมขึ้นจากประสบการณ์จริงในการรับใช้พระเจ้าในประเทศไทย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2004 ส่วนเล่มที่กำลังจะออกจากโรงพิมพ์ในเวลาอันใกล้นี้ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยผู้เขียนเอง

ได้มีท่านผู้ใหญ่ในวงการคริสตชนในประเทศไทย เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านได้ให้ข้อคิดความเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ดังนี้...

“เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก สนุก เพราะเขียนจากประสบการณ์ชีวิตจริงของผู้เขียนเอง แต่แฝงไว้ด้วยข้อคิด คำหนุนใจ และบทเรียนหลายแง่มุมที่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสบการณ์ของผู้เขียนในการเผชิญกับอำนาจผี หรือ วิญญาณชั่วในสังคมไทย รับรองได้ว่าจะไม่ผิดหวัง   หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้”
          ศาสนาจารย์ ธีระ เจนพิริยประยูร

“...คงมีไม่กี่คนที่สามารถพรรณนาถึงประสบการณ์ในการรับใช้พระเจ้าในประเทศไทยอย่างโชกโชน เป็นเวลานานกว่า 60 ปี ได้อย่างออกรสออกชาติ ดุจดั่งที่ศาสนาจารย์ อรัญ ยูแบงก์ ได้กระทำ!

ทุกคำพยานและทุกคำสอน ล้วนแตะต้องใจของผมอย่างยิ่ง!

...ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่ควรจะอ่าน ทุกคนในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิชชันนารี ต้องไม่พลาด!

...เมื่อคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วคุณจะไม่สงสัยอีกเลยว่า พระเจ้ามีจริงหรือไม่”
           ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

“ความคิดเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้   แต่ประสบการณ์เป็นสิ่งที่ถกเถียงไม่ได้

หนังสือเล่มนี้ได้บันทึกประสบการณ์น่าตื่นเต้นมากมาย  เมื่ออ่านจบแล้วจะพบว่า  พระคริสต์ยิ่งใหญ่กว่าที่คิด  ทำได้มากกว่าที่ทูลขอ”
           ศาสนาจารย์ ดร. วีรชัย โกแวร์

“...ครอบครัวยูแบงก์ คือครอบครัวแห่งการรับใช้ ได้อุทิศตน อุทิศชีวิต เพื่อการประกาศพระกิตติคุณในประเทศไทย ผู้อ่านสามารถศึกษาถึงรูปแบบต่าง ๆ ในการนำพระกิตติคุณไปสู่ผู้ที่ยังไม่เชื่อ หรือผู้ที่ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจมืด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายดายอย่างแน่นอน เพราะการทำงานคือการต่อสู้กับเหล่าเทพแห่งความมืดทั้งหลาย ซึ่งต้องอาศัยการติดสนิทกับพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา มีความมานะอดทนไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออำนาจเหล่านั้นในการบุกเบิกแผ่นดินของพระเจ้า เข้าไปในพื้นที่ใหม่ ๆ  

จึงนับว่าครอบครัวยูแบงก์เป็นหนึ่งในจำนวนของผู้ที่ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์   และสัตย์ซื่อต่อพระมหาบัญชา สมกับพระดำรัสของพระเยซูคริสต์ที่ตรัสว่า “เราแต่งตั้งเจ้าเพื่อเจ้าจะได้เกิดผล” ชีวิตของท่านจึงเป็นดั่งที่อาจารย์เปาโลกล่าวว่า “เขาทั้งหลายได้สรรเสริญพระเจ้าเพราะข้าพเจ้าเป็นเหตุ”
           ศาสนาจารย์ ดร. บุญรัตน์ บัวเย็น

“...กิตติศัพท์ของท่านศาสนาจารย์อรัญ ยูแบงก์ คือนักประกาศและไล่ผี ที่ทราบก็เพราะฟังจากคำเล่าลือของผู้เคยร่วมงานกับท่าน และจากที่ข้าพเจ้ารับฟังเรื่องการประกาศและการขับผีของท่านด้วย นับว่ามีหลายเรื่องที่ตื่นเต้น  

ถ้าพระเจ้ามิได้สถิตกับท่าน อาจารย์คงจะลำบากทีเดียว ผีคงไม่กลัวท่าน แต่เพราะท่านมีความเชื่อที่มั่นคง มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ที่ต้องการให้ทุกคนได้รับพระกิตติคุณของพระเจ้า ท่านอาจารย์จึงยืนหยัดในการประกาศ นำพระกิตติคุณไปประกาศในที่ต่าง ๆ กับคนหลายประเภท ทั้งคนที่ดี และน่ากลัว...

ท่านจะอ่านพบในหนังสือ “พระเจ้า!  ถ้าพระองค์มีจริง ขอให้...” 
          ศาสนาจารย์ ดร. สินธุ์ คิมหะจันทร์




28 พฤษภาคม 2564

ต้องการพบเพื่อน...แต่ได้พบเป้าหมายชีวิตจากพระเจ้าด้วย!

“ถ้าพระเจ้าของครูมีจริง และ มีฤทธิ์อำนาจพอที่จะทำให้ผมพบเพื่อน ผมจะเชื่อถือพระเยซูของครู” นี่คือกึ่งท้าทายกึ่งสัญญาของชายหนุ่มอายุ 20 ปีคนหนึ่งจากจังหวัดนครพนม

คริสตจักรโปรเตสแตนท์ในประเทศไทยรู้จักชื่อของชายคนนี้อย่างดี เพราะท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และ อาจารย์พ่วง ยังเป็นที่รู้จักกันในนามของ “อาจารย์ผู้ไร้ปริญญา” ตามชื่อหนังสือที่ ศาสนาจารย์สัมฤทธิ์ วงษ์สังข์ ได้รวบรวมและเขียนขึ้น (1970)

ในหนังสือ “พระเจ้าถ้าพระองค์มีจริง ขอให้...” อาจารย์อรัญ ยูแบงก์ ยอมรับว่า อาจารย์พ่วง อรรฆภิญญ์ เป็นแบบอย่างของท่านในการฟื้นฟูและการประกาศพระกิตติคุณที่ทำในสภาคริสตจักรในประเทศไทย (อ่านหน้า 15-18   ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5)

อาจารย์พ่วงไม่ได้เกิดและเติบโตในครอบครัวคริสเตียน มีหลายท่านถามว่า แล้วท่านมาเป็นคริสเตียน ท่านรู้จักพระเจ้า และเชื่อพระเจ้าได้อย่างไร?

เมื่อท่านอายุ 20 ปี ท่านแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า จึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีญาติหรือคนรู้จักเลย นอกจากเพื่อนซี้คนหนึ่งและหวังที่จะพบเพื่อนคนนี้เพื่อให้เขาช่วยหางาน แต่ไม่รู้ว่าเพื่อนคนนี้มีหัวนอนปลายตีนอยู่ที่ไหนในกรุงเทพฯ เขาเดินตามหาเพื่อนอยู่หลายวันจนเหนื่อยกายอ่อนใจ

จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อเดินไปบนถนนตรีเพชร ผ่านศาลาประกาศพระกิตติคุณ เห็นคนมุงดูฝรั่งสอนศาสนากำลังพูด เลยเข้าไปมุงดูด้วย เห็นผู้หญิงฝรั่งคนหนึ่ง (แหม่มมากาเร็ธ ซี. แม็คคอร์ด  Mrs. McCord) ยืนอธิบายเรื่องโยนาห์ ใบหน้าท่าทางแสดงความเป็นมิตร ดึงดูดใจให้ชายหนุ่มคนนี้เข้าไปฟัง โดยซ่อนความเกลียดชังไว้ในใจ แต่ท่านก็ยอมรับว่าคำสอนน่าฟังและจับใจมาก

วันต่อมาท่านเดินผ่านศาลาธรรมตรีเพชรอีก และท่านสังเกตเห็นป้ายเขียนตัวหนังสือตัวโตว่า  “จงขอแล้วจะได้ จงหาแล้วจะพบ จงเคาะแล้วจะเปิดให้แก่ท่าน”  ข้อความนี้จับใจท่านมาก  ท่านจึงเข้าไปในศาลาธรรมและถามผู้สอนในนั้นถึงความหมายของประโยคดังกล่าว จนเข้าใจแล้วท่านกล่าวว่า “ผมต้องการพบเพื่อนคนหนึ่ง ถ้าพระเจ้าของครูมีจริงและมีฤทธิ์อำนาจพอที่จะให้ผมพบเพื่อนได้ ผมจะเชื่อถือพระเยซู” จากนั้น ครูสอนท่านนั้นจึงพาท่านเข้าไปยังห้องอธิษฐานด้วยกัน

สามวันต่อมา ท่านเดินไปตามถนนอย่างไร้จุดหมาย ก้มหน้าก้มตาเดินเรื่อยเปื่อยไป ทันใดนั้นท่านเดินชนชายหนุ่มคนหนึ่งเข้าอย่างจัง เมื่อท่านเงยหน้าขึ้นก็พบว่าเป็นเพื่อนซี้ที่ท่านกำลังตามหา ท่านโผเข้ากอดเพื่อนและอุทานออกมาว่า “พระเจ้าตอบคำอธิษฐานแล้ว” ท่านตัดสินใจเป็นคริสเตียน และรับบัพติสมาในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ.1915 ที่คริสตจักรสองสามย่าน   จากนั้นท่านได้ทำงานเป็นคนสวนที่บ้านหมอแมคฟาร์แลนด์

เมื่อพบกับพระเจ้า และ รับเชื่อในพระองค์ พระเจ้ามีพระประสงค์และแผนการของพระองค์ในชีวิตของชายคนนี้ อาจารย์พ่วงเริ่มต้นจากการเป็นคนทำสวน เมล็ดแห่งความเชื่อของท่านได้รับการบ่มเพาะจากผู้คนรอบข้างในชุมชนคริสตจักร ต่อมาอาจารย์พ่วง อรรฆภิญญ์ ได้เป็นนักเทศน์   นักประกาศพระกิตติคุณ และนักฟื้นฟูทั้งในคริสตจักร โรงเรียน และโรงพยาบาล ท่านได้จัดให้มีการฟื้นฟูขึ้นครั้งแรกในวันที่ 20-27 กรกฎาคม 1930 ที่คริสตจักรศรีพิมลธรรม เพชรบุรี มีประชาชนมารับเชื่อพระเจ้ามากมาย

ท่านเป็นบิดาแห่งการประกาศพระกิตติคุณของสภาคริสตจักรในประเทศไทย เป็นนักประกาศที่ไม่ได้รอเครื่องฉายหนัง รถยนต์ในการเดินทางออกไปประกาศ แต่ท่านเป็นนักประกาศที่ใช้จักรยานคู่ชีพเดินทางไปจังหวัดต่าง ๆ ทั่วเมืองไทย และนี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์พ่วงได้รับของประทานตามพระประสงค์ของพระเจ้าคือ “จิตวิญญาณแห่งการประกาศพลิกฟื้นชีวิตคริสตจักร”   ซึ่งจิตวิญญาณนี้ได้ส่งทอดลงมายังรุ่นลูก อาจารย์พิษณุ อรรฆภิญญ์ ได้รับสานต่อพระราชกิจนี้ในสภาคริสตจักรใน “โครงการพัฒนาฟื้นฟูคริสตจักร” (พ.ฟ.ค.)

อาจารย์พ่วง อายุ 70 ปี ท่านได้เทศนาที่คริสตจักรสะพานเหลือง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 1963  พระเจ้าได้รับท่านจากธรรมาสน์ ขณะที่ท่านกำลังเทศนา

จากเรื่องราวชีวิตของ ศาสนาจารย์ พ่วง อรรฆภิญญ์ เราได้รับบทเรียนชีวิตว่า พระเจ้าพร้อมที่จะตอบคำทูลขอของเราแต่ละคน มิเพียงเพื่อตอบสนองความจำเป็นต้องการในชีวิตของเราเท่านั้น  พระองค์ยังประทานเป้าหมายชีวิตแก่เราตามพระประสงค์ของพระองค์อีกด้วย



26 พฤษภาคม 2564

พระเจ้าเปลี่ยนชีวิต... ความเชื่อคุณละมุดจึงเปลี่ยน!

ศาสนาจารย์ อรัญ ยูแบงก์ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “พระเจ้าถ้าพระองค์มีจริง ขอให้...” ในบทที่ว่า “โจรกลับใจ”...  “ละมุดเป็นโจร! แต่ชีวิตของโจรคนนี้ทำให้ผมเห็นพลังอำนาจของพระคริสต์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนได้” (ยูแบงก์  หน้า 77)

หมู่บ้านที่ละมุดอยู่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นหมู่บ้านมือปืนรับจ้าง ผู้เขียนเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศในหมู่บ้านว่า “ผมได้สัมผัสกับถิ่นเสือเมืองเถื่อน แต่ละที่แต่ละแห่งพูดถึงเรื่องการลักขโมย การแก้แค้น หรือไม่ก็เรื่องการฆ่าล้างทำลาย”

ละมุดได้ยินเรื่องราวข่าวดีของพระเยซูคริสต์จากหญิงชาวลาวโซ่งคนหนึ่ง เธอเล่าถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ของน้องชาย เธอบอกละมุดว่า น้องชายของเธอได้ฆ่าชายสองคน เมื่อน้องชายมาเป็นคริสเตียนชีวิตของเขาได้เปลี่ยนแปลงใหม่ มีชีวิตที่ดีขึ้น  

ในใจลึก ๆ ของละมุดก็ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นเช่นกัน

ละมุดกังวลถึงความชั่วร้าย ความผิดบาปที่ตนเคยทำไปแล้ว เขาต้องการเปลี่ยนชีวิตใหม่ ละมุดคิดว่าเขาสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง เลิกทำสิ่งชั่วร้ายที่เคยทำ แล้วเริ่มต้นทำสิ่งดี เขาเชื่อว่าเขาต้องรับหรือชดใช้ “กรรม” หรือการกระทำของเขาที่ได้กระทำลงไปแล้ว และเชื่อว่าไม่มีทางจะหนีพ้นกรรมเวรเหล่านี้ของตนได้  

แต่ละมุดก็เชื่ออีกว่า เขาสามารถที่จะทำกรรมดีเพื่อชดใช้กรรมชั่วที่เคยทำมา ละมุดร่วมกับพวกเพื่อน ๆ หาเงินเข้าพระศาสนาด้วยการจัดหารายได้จากการขายบัตรรำวง แต่ในการทำความดีครั้งนั้นเขาเกือบต้องฆ่าคู่แค้นคู่อาฆาตคนหนึ่งของเขา ในที่สุด ละมุดยอมรับว่า ผมไม่สามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตของตนเองได้ ผมไม่สามารถที่จะมีชีวิตใหม่ด้วยตนเองได้ นี่ผมเกือบจะฆ่าคนหนึ่งในงานที่ตั้งใจทำความดีในครั้งนี้

ละมุดไปหาครูใหญ่โรงเรียนคริสเตียน อาจารย์บำรุง อดิพัฒน์ เขาพูดกับครูใหญ่ว่า “ผมมาพบครูใหญ่เพราะเดี๋ยวนี้ผมรู้แล้วว่า ผมเปลี่ยนชีวิตของผมเองไม่ได้ ผมได้ยินมาว่า พระเยซูคริสต์ช่วยเปลี่ยนชีวิตของคนได้ ผมต้องการให้พระเยซูช่วยเปลี่ยนชีวิตของผม”

ผู้เขียนและครูใหญ่ได้นำละมุดในการอธิษฐานรับพระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของตน ขอพระเยซูคริสต์ยกโทษบาปผิดที่ผ่านมาของเขา และขอพระเยซูคริสต์เปลี่ยนแปลงเสริมสร้างชีวิตใหม่แก่ตน ละมุดได้มาร่วมนมัสการพระเจ้าในอาทิตย์ เขาได้บอกเล่าถึงความเชื่อของเขาในพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาแก่คนที่ร่วมในการนมัสการพระเจ้าในวันนั้น

ถึงแม้ละมุดบอกว่าเขาได้รับชีวิตใหม่แล้วในพระเยซูคริสต์ แต่ในจิตใจของเขายังค้างคาใจเกี่ยวกับชายสองคนที่พยายามลักขโมยจักรยานของเขา เขารู้จักว่าสองคนนี้เป็นใครกันแน่   และตั้งใจว่าจะกำจัดสองคนนี้เสียเพื่อจะไม่มีใครมารบกวนเขาอีกต่อไป

ต่อมา คนหนึ่งในสองคนนั้นได้เสียชีวิตเพราะถูกคนอื่นสังหารก่อน ส่วนอีกคนหนึ่งต่อมาได้มาเยี่ยมละมุดอย่างไม่ได้นัดหมายก่อน ละมุดอึ้งไม่รู้จะทำอย่างไรดีเลยเข้าครัวทำอาหารเลี้ยงเขา   ขณะที่กำลังรับประทานอาหารด้วยกัน ชายคนนั้นได้ขอโทษและสารภาพกับละมุดว่าเขาคือโจรคนหนึ่งที่เคยพยายามเข้ามาลักจักรยานในบ้านของละมุด ตั้งแต่นั้นมาความเป็นศัตรูกันก็หมดสิ้นไป ภายหลังชายคนนี้ถูกยิงบาดเจ็บอยู่ข้างถนนใกล้บ้านละมุด ละมุดได้นำเขาส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา

อนงค์ ภรรยาของละมุดใช้เวลา 5 ปีหลังจากที่ละมุดกลับใจถึงตัดสินใจยอมรับพระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้ช่วยให้รอด เธอบอกกับอาจารย์ยูแบงก์ว่า “ดิฉันรอดูว่าพี่ละมุดเปลี่ยนแปลงชีวิตได้จริงหรือเปล่า เขาเปลี่ยนได้จริง เวลานี้ดิฉันรับบัพติสมาแล้วและดิฉันรู้แล้วว่า การบังเกิดใหม่นั้นเป็นเช่นไร”

ละมุดรู้ว่าพระเจ้ามีจริง เพราะพระองค์เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา ที่เขาเองไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ จากบทเรียนชีวิตของละมุดเราได้เรียนรู้ชัดเจนว่า เพราะพระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของละมุด ละมุดจึงเปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนระบบคุณค่าในชีวิต และที่สำคัญละมุดจึงมีชีวิตใหม่ และชีวิตใหม่ของละมุดได้สำแดงให้คนอื่นได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า พระเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิตของ “จอมโจร” ได้จริง ๆ ทำให้คนอื่นตัดสินใจรับและเชื่อในพระเจ้าด้วย

พระเจ้าทรงเปลี่ยนทั้งชีวิตของเราให้มีชีวิตใหม่ เราจึงมีประสบการณ์ตรงกับพระราชกิจของพระองค์ที่กระทำในชีวิตของเรา เพื่อเราจะมีความเชื่อและไว้วางใจในพระองค์ด้วยสุดชีวิต  

“ความรอด” เป็นพระราชกิจที่พระเจ้าทรงลงมือกระทำก่อนในชีวิตของเราแต่ละคน มิใช่เราพยายามทำดีก่อนให้พระเจ้าพอพระทัยเพื่อเราจะได้รับความรอดจากพระองค์  

แต่พระองค์เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราก่อน เพื่อเราจะได้รับประสบการณ์ตรงจากพระเจ้า จึงทำให้เราเปลี่ยนความเชื่อของเรา และการดำเนินชีวิตของเราตามพระประสงค์ของพระองค์



24 พฤษภาคม 2564

เพ็นเทคอสต์...พระเจ้าทำงานในชีวิตของผู้เชื่อ ท่ามกลางวิกฤติการทำลายล้างคริสตชน

วันเพ็นเทคอสต์ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติที่อันตรายและรุนแรงต่อกลุ่มผู้เชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์ในเวลานั้น และยิ่งสร้างความหวั่นไหวมากยิ่งขึ้นเมื่อพระคริสต์ได้เสด็จสู่สวรรค์แล้ว   ท่ามกลางวิกฤติที่หนักหนาสาหัสเช่นนี้เอง พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เสด็จลงมาอยู่ท่ามกลางเป็นกำลังชีวิตแก่พวกเขา ที่จะรับมือกับวิกฤติด้วยการทำให้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แพร่ขยายอย่างทรงพลังในวงกว้างออกไป    

“แต่พวกท่านจะได้รับพระราชทานฤทธานุภาพ เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมาเหนือท่าน และท่านทั้งหลายจะเป็นสักขีพยานของเราในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย ทั่วแคว้นสะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก”  (กิจการ 1:8 มตฐ.)

แล้วในวิกฤติการแพร่ระบาดของ โควิด 19 คริสตจักรจะรับมือกับวิกฤตินี้ด้วยการทำให้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แพร่ขยายอย่างทรงพลังในวงกว้างออกไป เฉกเช่นในเหตุการณ์วันเพ็นเทคอสต์อย่างไร?

ในวันเพ็นเทคอสต์ ที่พระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จลงมาเหนือเหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเริ่มแรกมีประมาณ 120 คน พวกเขาพบปะกันที่ห้องชั้นบน ในวันนั้นภายหลังการเทศนาของเปโตรมีผู้กลับใจเชื่อในพระเยซูคริสต์ประมาณ 3,000 คน เกิดคำถามว่า แล้วสาวกเหล่านี้เอาใจใส่เลี้ยงดู ผู้กลับใจเชื่อใหม่เหล่านี้อย่างไร?

แน่นอนครับ พวกสาวกที่เคยติดตามพระเยซูคริสต์ได้ร่วมกันใช้ประสบการณ์ที่พระเยซูคริสต์กระทำเสริมสร้างพวกตนมาประยุกต์ใช้ในการเอาใจใส่เลี้ยงดูผู้เชื่อใหม่จำนวนมากมายเหล่านี้   ในที่นี้ผมหมายรวมถึงประสบการณ์ที่พวกเขาถกถาม เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ จากพระอาจารย์ของตน   การเอาใจใส่เยียวรักษาคนเจ็บป่วย การขับไล่วิญญาณชั่ว และอีกประสบการณ์หนึ่งคือ การบริหารจัดการมวลชนจำนวนมากจากการเลี้ยงอาหาร 5,000 คนที่แบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในการแจกจ่ายอาหารแห่งพระพรที่พระเยซูคริสต์ทูลขอจากพระบิดา

เราเรียนรู้การบริหารจัดการเอาใจใส่ชีวิตและความเชื่อของผู้เชื่อใหม่เหล่านี้ได้จาก กิจการ 2:46-47 “ทุก ๆ วันพวกเขามาประชุมกันที่ลานพระวิหาร หักขนมปังตามบ้านของตน และรับประทานร่วมกันด้วยความยินดีและจริงใจ พวกเขาพากันสรรเสริญพระเจ้าและเป็นที่ชื่นชมของคนทั้งปวง ในแต่ละวันองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้คนทั้งหลายที่กำลังจะได้รับความรอดมาเข้ากับพวกเขา” (อมธ.)

ผู้เชื่อในพระเจ้าเหล่านี้รวมตัวและพบกันที่ลานพระวิหาร แล้วแบ่งเป็นกลุ่มเล็กพบปะกันตามบ้าน  “เขาทั้งหลายอุทิศตนในคำสอนของเหล่าอัครทูตและในการร่วมสามัคคีธรรม ในการหักขนมปัง และในการอธิษฐาน” (กิจการ 2:42 อมธ.) คนในชุมชนนี้พวกเขาเอาใจใส่หนุนเสริมกันและกัน  และเลี้ยงดู สั่งสอนผู้เชื่อใหม่แบบตัวต่อตัว และพระคัมภีร์บอกเราชัดเจนว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้คนทั้งหลายที่กำลังจะรับความรอดมาเข้ากับพวกเขา

ในกิจการ 20:20 เปาโลกล่าวแก่สมาชิกในคริสตจักรเอเฟซัสว่า “ท่านรู้ว่าข้าพเจ้าไม่ได้รีรอที่จะเทศนาสิ่งใด ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อท่านแต่ได้สั่งสอนทั้งในที่สาธารณะและตามบ้านต่าง ๆ” (อมธ.)

จดหมายของเปาโลที่เขียนถึงคริสตชนผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ที่โรมที่พบปะกันในบ้าน ในจดหมายนี้เปาโลระบุถึงกลุ่มคริสตชนที่พบปะกันที่คริสตจักรบ้านของปริสสิลลา และ อาควิลลา  “ขอฝากความคิดถึงมายังปริสสิลลา กับอาควิลลาเพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้าในพระเยซูคริสต์  ทั้งสองเสี่ยงชีวิตเพื่อข้าพเจ้า ไม่เพียงข้าพเจ้าเท่านั้น แต่คริสตจักรทั้งปวงของคนต่างชาติก็สำนึกในบุญคุณของพวกเขาด้วย ขอฝากความคิดถึงมายังคริสตจักรซึ่งมาประชุมกันที่บ้านของทั้งสองด้วย” (โรม 16:3-5 อมธ.)

เปาโลได้ส่งคำทักทายคิดถึงผู้คนที่อยู่ในบ้านของอาริสโทบูลลัส และผู้คนที่อยู่ในครัวเรือนของนารซิสซัสผู้อยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้า (โรม 16:10-11) และเราพบอีกว่า เปาโลได้ทักทายและฝากความคิดถึงไปยัง “อารคิปปัสเพื่อนทหารของเรา และถึงคริสตจักรซึ่งมาประชุมกันที่บ้านของท่าน” (ฟีเลโมน 1:2 อมธ.)

คริสตจักรในยุคแรกเน้นความสำคัญที่กลุ่มผู้เชื่อที่มาพบปะ เสริมหนุน เรียนรู้ถึงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พระวจนะของพระเจ้า และพระประสงค์ของพระองค์ร่วมกัน ในสถานที่ที่จะพอหาได้  ไม่ว่าในบ้าน หรือ ที่ทำงาน หรือ มุมใดมุมหนึ่งที่สะดวกในการพบปะพบกัน

บิลลี่ ซันเดย์ กล่าวไว้ว่า “การไป(อาคารและบริเวณ)โบสถ์ไม่ได้ทำให้คุณเป็นคริสตชนมากไปกว่าการไปอู่ซ่อมรถทำให้คุณเป็นรถยนต์”

หรือขยายความได้ว่า “การไปรวมกันที่อาคารโบสถ์ไม่ได้ทำให้คุณเป็นคริสตชน เฉกเช่นการไปอู่ซ่อมรถไม่ได้ทำให้คุณเป็นรถยนต์” หรือการที่เราไปในที่ที่มีคริสตชนมารวมตัวกันมาก ๆอย่างเช่นที่อาคารคริสตจักร ไม่ได้ทำให้เราเป็นคริสตชน เฉกเช่นที่เราไปอู่ซ่อมรถซึ่งมีรถยนต์มากมายก็ไม่ทำให้เรากลายเป็นรถยนต์ไปได้

“พันธกิจในอาคารโบสถ์” มีประโยชน์สำหรับการนมัสการร่วมกันของคนกลุ่มใหญ่ เพื่อการสั่งสอน และ งานเฉลิมฉลองร่วมกันในจำนวนคนมาก ๆ แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าประสงค์ให้พวกเรามุ่งมอง “คริสตจักร” ว่าเป็นคนมิใช่สถานที่ที่คริสตชนรวมตัวพบปะกัน ไม่ว่าในบ้านของเรา หรือมุมหนึ่งมุมใดในที่ทำงาน หรือที่หนึ่งที่ใดในโรงเรียน หรือโรงพยาบาล ย่อมเป็นที่ที่เหมาะสมยิ่งที่คริสตชนหรือผู้เชื่อสามารถใช้ในการพบปะรวมตัวกันเพื่อซึมซับเอาพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เข้าในชีวิตของเราและมีอิทธิพลต่อฐานเชื่อ กระบวนคิด มุมมอง และ การตัดสินใจในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา

ในวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้เราต้องงดการพบปะกันในวันอาทิตย์ พระเจ้ากำลังใช้วิกฤติกาลครั้งนี้กระตุ้นให้คริสตจักรไทยไม่ติดยึดอยู่กับตัวอาคารโบสถ์ บริเวณโบสถ์ การพบปะกันครั้งละหลาย ๆ คน หรือประเพณีปฏิบัติที่ทำกันมานมนาน แต่ให้แสวงหาแนวทางวิธีการที่จะเกิดกลุ่มผู้เชื่อที่จะเสริมสร้างกันละกันในฐานเชื่อกระบวนคิด และ การมีชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มีในยุคของเรารับใช้พระกิตติคุณ



21 พฤษภาคม 2564

เมื่อชาวนาใจนักเลงพิสูจน์ว่า... พระเจ้ามีอยู่จริงหรือ?

ใครกล้าบังอาจที่จะมาพิสูจน์พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด!?

แต่เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดในชีวิตคนธรรมดาสามัญคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ “ชาวนาคนหนึ่ง” ที่มีใจนักเลง เป็นมือปืนในซุ้มมือปืนแห่งหนึ่งในนครปฐม ที่กำลังหมดทางออก พบทางตัน สิ้นทางสู้ในชีวิตประจำวัน เขาร้องออกมาว่า “ถ้าพระเจ้ามีจริง...ขอนกไม่เข้ามาในนาของผม”

เรื่องราวของชายชาวนาคนนี้ปรากฏเรื่องราวในหนังสือชื่อ “ถ้าพระเจ้ามีจริง  ขอให้...”  เขียนโดย ศาสนาจารย์ อรัญ ยูแบงก์  มิชชันนารี และ นักประกาศพระกิตติคุณในประเทศไทยมาตลอดชีวิต และการประกาศพระกิตติคุณพระเยซูคริสต์ของมิชชันนารีคนนี้ท่านท้าทายผู้ฟังให้กล้าที่จะ “พิสูจน์” ความมีอยู่จริง และ ความรักเมตตาที่ใส่ใจของพระเจ้า

เรื่องราวชีวิตจริงของชาวนาใจนักเลงในซุ้มมือปืนแห่งหนึ่งในนครปฐม อยู่ที่บ้านสามแยก  จังหวัดนครปฐม และนี่คือเรื่องราวชีวิตจริงของนายหอม ผู้กล้าท้าทายพิสูจน์พระเจ้าว่ามีจริงหรือไม่ เขาได้อธิษฐานท้าทายพระเจ้าด้วยเดิมพันข้าวในนาข้าวที่จะใช้เลี้ยงชีวิตครอบครัวของเขาในปีข้างหน้าทั้งปี เขาเปิดชีวิตของเขาให้พระเจ้าพิสูจน์ว่า พระองค์มีอยู่จริงหรือไม่ โดยการอธิษฐานว่า “ถ้าพระเจ้ามีจริง...ขอนกไม่เข้ามากินข้าวในนาของผม” ศาสนาจารย์ ยูแบงก์ เล่าไว้ว่า

มีอยู่วันอาทิตย์หนึ่ง หลังการเทศนา นายหอมเดินออกมาหน้าที่นมัสการพระเจ้าเพื่อถวายชีวิตให้พระเจ้า อาจารย์ยูงแบงก์ถึงกับงง ภายหลัง อาจารย์ยูแบงก์มาถามนายหอมตรง ๆ ว่า “ทำไมถึงตัดสินใจรับเชื่อพระเจ้าเร็วเช่นนี้?” นายหอมตอบว่า “ก็อาจารย์บอกว่า พระเจ้าจะตอบคำอธิษฐาน แล้วมันเป็นจริงอย่างอาจารย์บอก” เขาเล่าต่อไปว่า

“ข้าวในนาของผมเกือบจะสุกแล้วเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ผมออกไปทุ่งนาตอนเช้ามืดไปไล่นกที่เข้ามากินข้าวในทุ่งนาผม ไล่ทีไรนกก็บินขึ้นกลางอากาศและเข้าไปในนาเพื่อนบ้านที่อยู่ข้าง ๆ นาผม   แต่เพื่อนบ้านผมเขารวยกว่าผม เขามีเครื่องทำเสียงระเบิดเป็นระยะ ๆ ทำให้นกบินหนี แล้วก็บินกลับมากินข้าวของผมอีกตามเคย”

“ผมไล่ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในที่สุดมันก็บินกลับมากินข้าวในนาผมอีก ผมไม่มีเวลากลับบ้านกินข้าว ผมเป็นโรคกระเพาะอยู่แล้ว ทำให้ผมปวดท้องรุนแรงมากยิ่งขึ้น”

ผมจำได้ที่อาจารย์เคยบอกว่า พระเจ้าจะตอบคำอธิษฐานที่เราขอต่อพระองค์ ผมจึงพูดออกเสียงดังว่า “ถ้าท่านเป็นพระเจ้าจริง ขอช่วยดูแลทุ่งนา และไม่ให้นกบินลงมากินข้าวในนาผม   เพื่อผมจะมีเวลากลับไปกินข้าวเช้าที่บ้าน”

หลังจากนั้นผมกลับบ้านกินข้าว เมื่อเสร็จจากกินข้าวเช้าผมกลับมาที่ทุ่งนาอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าไม่มีนกสักตัวในทุ่งนาผม พวกนกอยู่ในนาของคนอื่น เมื่อมีเสียงดังเหมือนระเบิดมันก็บินขึ้นฟ้า  แล้วบินมาอยู่เหนือทุ่งนาผมสักพักหนึ่ง แล้วบินกลับไปที่นาอื่นตามเดิม

นายหอมยืนยันว่า “พระเจ้าตอบคำอธิษฐานของผมจริง ๆ ผมจึงอยากจะมอบชีวิตให้พระเยซูคริสต์”

ในหนังสือ “ถ้าพระเจ้ามีจริง  ขอให้...”  เป็นหนังสือที่เล่าถึงชีวิตจริงของบุคคลต่าง ๆ ในสมัยปัจจุบันที่มาเชื่อพระเจ้า เพราะเขา “พิสูจน์” ได้ว่าพระเจ้ามีจริงในชีวิตของเขา เมื่อเขาคนนั้นเปิดพื้นที่ชีวิตของตนให้พระเจ้าได้พิสูจน์ถึงการมีอยู่จริง และ ให้พระเจ้าทำงานสำแดงความรักเมตตาของพระองค์ผ่านชีวิตจริงของเขาในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤติชีวิตที่กำลังเป็นอยู่

พระเจ้าทรงพิสูจน์ว่าพระองค์มีอยู่จริงด้วยการตอบคำอธิษฐานที่ท้าทายของคนที่มีวิกฤติชีวิตทั้งด้าน ความกลัว ความรัก ความปรารถนาต้องการ ความสงสัย และ ฯลฯ และการพิสูจน์ความมีอยู่จริงของพระเจ้าแบบนี้เป็นความเชื่อที่หยั่งลงในพระวจนะของพระเจ้าที่ว่า

“เพราะ​ว่า​ทุก​คน​ที่​ขอ​ก็​ได้ และ​ทุก​คน​ที่​แสวง​หา​ก็​พบ

ทุก​คน​ที่​เคาะ​ก็​จะ​เปิด​ให้​เขา” (มัทธิว 7:8)




19 พฤษภาคม 2564

คำถามเรียบง่ายที่ผู้นำมือเซียนใช้ในการนำ

ท่านเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เลี้ยงลูกด้วยคำถาม” หรือไม่? ใครก็ตามที่เลี้ยงลูกด้วยคำถามก็จะได้ลูกที่เป็นนักคิด ได้ลูกที่เป็นผู้นำในอนาคต

มีฝรั่งเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “นำด้วยคำถาม” (Leading with Questions เขียนโดย Michael Marquardt) หรืออีกเล่มหนึ่งชื่อ “คำถามที่พระเยซูถาม” (Questions Jesus Asked  เขียนโดย Clovis G. Chappell) และยังมีอีกหลายเล่มที่น่าสนใจครับ

ในการกล่าวถึงเรื่องภาวะผู้นำ การเสริมสร้างพัฒนาผู้นำ ดูเหมือนว่า คำถามนั้นมีความสำคัญมากต่อการสร้างภาวะผู้นำ ทั้งการเสริมสร้างภาวะผู้นำภายในตนเอง และ การเสริมสร้างภาวะผู้นำในคนอื่น

จากการที่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องภาวะผู้นำในหลายปีที่ผ่านมานี้ ต้องยอมรับว่าผมรู้เท่าที่รู้เท่านั้น และส่วนใหญ่แล้วผมไม่ได้รู้อะไรมากมายนัก หลายต่อหลายเรื่องเกี่ยวกับคนที่ผมพยายามนำที่ผมจำเป็นจะต้องเรียนรู้(ให้ได้) แต่ด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ผมจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อผมถามเท่านั้น นั่นหมายความว่าผมยังต้องถามคำถามอีกมากมายหลายคำถาม ศิลปะและทักษะหนึ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับผู้นำคือ ทักษะในการตั้งคำถาม

ทักษะหนึ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้นำจะต้องพัฒนาตนเองคือ ศิลปะในการตั้งคำถามที่ถูกต้อง คำถามที่เหมาะสม และคำถามที่สอดรับกับสถานการณ์ในเวลานั้น ๆ รอน เอ็ดมอนด์สัน (Ron Edmondson) ได้ประมวลคำถามเรียบง่ายที่ผู้นำชั้นเยี่ยมใช้ถามกันในเวลาที่นำทีมงาน...มีดังนี้ครับ

และนี่คือ 10 คำถามที่ดูธรรมดาเรียบง่ายแต่ทรงพลังของผู้นำมือเซียน

1. ผมจะช่วยคุณได้อย่างไรบ้างครับ?

2. การที่คุณมาถึงความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ได้ไม่ทราบว่าคุณต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่อะไรบ้าง?

3. คุณเข้าใจในสิ่งที่ผมขอให้คุณช่วยทำหรือไม่ครับ? (หรือ ผมอธิบายสื่อสารชัดพอให้เข้าใจไหมครับ?)

4. ถ้าคุณเป็นผมคุณจะทำอะไรที่แตกต่างจากสิ่งที่ผมทำมานี้บ้าง? (หรือ ผมไม่ได้ทำอะไร หรือ ทำบางเรื่องตกหล่นหรือเปล่าครับ?)

5. คุณมองเห็นอะไรบ้างในสิ่งที่ผมมองไม่เห็นครับ?

6. ในฐานะที่ผมเป็นผู้นำ ผมควรมีการปรับปรุงตนเองในด้านใดบ้างครับ?

7. ถ้าเรามีสิทธิอำนาจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ และเรื่องการเงินก็ไม่เป็นอุปสรรค คุณอยากจะเห็นว่าเราควรทำอะไร/อย่างไรบ้างในฐานะที่เราทำงานเป็นทีมเดียวกัน (หรือ องค์กรเดียวกัน)?

8. คุณต้องการเห็นตนเองอยู่ในฐานะเช่นไรในองค์กรนี้...ในสักวันหนึ่ง? และผมจะมีส่วนเช่นไรบ้างที่จะหนุนเสริมคุณให้ไปถึงจุดนั้นได้?

9. ตอนนี้คุณกำลังเรียนรู้เรื่องอะไรซึ่งคุณเห็นว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยพวกเราในทีมงานได้?

10. ชีวิตส่วนตัวตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ และผมจะมีส่วนหนุนเสริมอย่างไรบ้างที่จะช่วยคุณอย่างเป็นประโยชน์ได้?

อะไรคือหัวใจและความสำคัญที่ทำให้คำถามธรรมดา ๆ ทั้ง 10 ข้อข้างต้นนี้กลายเป็นคำถามที่สำคัญยิ่งที่ใช้ในการนำครับ? ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า 

(1) คำถามทั้งหมดของผู้นำมุ่งสนใจและให้ความสำคัญที่คนถูกถาม

(2) ผู้นำใส่ใจในความคิดเห็น ความรู้สึก ความมุ่งมั่นตั้งใจ และความสนใจของคนถูกถาม  

(3) ผู้นำอ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมที่จะรับฟัง เปลี่ยนแปลง พัฒนา และ รับใช้ตามคำแนะนำของผู้ถูกถาม

(4) โดยภาพรวม ผู้ถูกถามคือศูนย์กลางในการนำของผู้นำ (ไม่ใช่ตำแหน่ง อำนาจ ผลประโยชน์ ความต้องการของผู้นำ และความเข้มแข็งขององค์กรมาก่อน แต่ทีมงานที่ตนนำมาก่อน!)

(5) และการนำด้วยคำถามจะช่วยกรุยทางให้ผู้นำมีการนำ 4 ลักษณะที่กล่าวมานี้ ยากที่เราจะนำด้วยการสอน การบอก ให้คำแนะนำ หรือ การสั่งครับ! แต่สามารถนำด้วยคำถามที่จริงใจของผู้นำ และ อ่อนน้อมถ่อมตนอย่างโปร่งใสเท่านั้น

ท่านสมามารถปรับแก้สำนวนและใช้ถ้อยคำใหม่เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทในที่ทำงานของท่าน และแน่นอนครับท่านสามารถเพิ่มคำถามอื่น ๆ แต่ขอตระหนักเสมอว่าถ้าท่านต้องการเป็นผู้นำผู้อื่นในอนาคต หรือ กำลังเป็นผู้นำคนอื่นในขณะนี้ ผมขอเสนอว่าท่านควรเริ่มต้นด้วยคำถาม มิใช่คำแนะนำครับ!



17 พฤษภาคม 2564

รู้ได้อย่างไรว่า ท่านเป็นคน “มองบวก”?

เมื่อพูดถึง “การมองบวก” หลายท่านได้บ่นดัง ๆ ให้ได้ยินว่า มันคืออะไรกันแน่? มองบวก จริง ๆ แล้วมองกันอย่างไร? แล้วการมองบวกเป็นการมองอย่างจริงใจหรือเปล่า?  หรือ เป็นการแสแสร้งแกล้งว่าให้ดูดีเท่านั้น หรือเป็นการวิ่งตามกระแสนิยมเท่านั้น?

ใช่ “การมองบวก” มันเป็นการมองอย่างไรกันแน่ครับ? ให้เรามาคุยกันอย่างเป็นรูปธรรมถึงการ “มองบวก” ในเรื่องเฉพาะเจาะจงลงไปดีไหมว่า เขามองกันอย่างไร?  

ในข้อเขียนนี้ผมขอชวนให้เรามาคุยกันในเรื่อง “การมองบวกในคริสตจักร และ องค์กรคริสต์ชน” ครับ ว่ามองอย่างไรกันแน่?  

ขออนุญาตแจงเป็นประเด็นดังนี้ การมองบวกคือการที่...

1. “ท่านเป็นคนที่ชื่นชมยกย่องในการงานของคนอื่น ถึงแม้ว่างานนั้นจะมิใช่เป็นความคิดของท่านเองก็ตาม” ท่านเป็นคนหนึ่งในทีมงานคริสตจักร ท่านมุ่งความสนใจและใส่ใจไปที่เพื่อนร่วมทีม

2. “ท่านมองหาสิ่งดีท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้าย” ไม่ว่าสถานการณ์คริสตจักร หรือ องค์กรคริสตชนจะเป็นอย่างไรก็ตาม และดูเหมือนว่ามันยังคงจะเลวร้ายอีกยาวนาน ท่านพยายามมองหาสิ่งดีท่ามกลางความเลวร้ายที่กำลังเกิดขึ้น

3. “ท่านกล่าวถึงศิษยาภิบาลหรือผู้นำในอดีตของคริสตจักร หรือ องค์กรของท่าน ด้วยเรื่องดีดีที่ผู้นำเดิมได้ทำแก่คริสตจักรในเวลาที่ผ่านมา” แม้ว่าพันธกิจของผู้นำท่านนั้นจะดูไร้ผลดี หรือจบลงอย่างย่ำแย่ก็ตาม แต่ท่านกลับเลือกที่จะเริ่มกล่าวถึงสิ่งดีดีที่มี(จริง)ในอดีต   แต่ไม่ติดยึดกับความคิดประสบการณ์เสียหายที่ผ่านมา

4. “ท่านไม่เอาความล้มเหลวที่ผ่านมาเป็นตัวกำหนดความล้มเหลวของปัจจุบัน” ใช่การกระทำ การจัดการแบบนี้เป็นความล้มเหลวที่ท่านเคยทำผ่านมาก่อนแล้ว แต่ตระหนักเสมอว่านี่เป็นวันใหม่ ที่มิอาจเอาอดีตมากำหนดว่ามันจะต้องล้มเหลวในวันนี้ เรายังมีโอกาสที่จะคิดพิจารณาแนวทางที่จะทำให้เกิดผลดีได้ในวันใหม่นี้

5. “เมื่อมีใครเสนอความคิดใหม่ ๆ ท่านหลีกเลี่ยงที่จะตอบสนองด้วยคำว่า “แต่”” ทั้งนี้มิใช่ว่าท่านไม่รู้ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพียงแค่ท่านเต็มใจที่จะให้สิ่งต่าง ๆ ได้ลงมือลองทำก่อนแล้วค่อยตามด้วยการถอดบทเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับจากการกระทำนั้น เพื่อนำสู่การพัฒนา แก้ไขกระบวนการกระทำอย่างเป็นรูปธรรมที่เฉพาะเจาะจงอย่างเหมาะสม และยังเป็นการตกลงปลงใจร่วมกันที่เลือกที่จะทำตามแนวทางที่ตกลงกันใหม่ด้วยกัน

6. “ท่านยืนหยัดรับมือกับสิ่งต่าง ๆ บนรากฐานของความเชื่อศรัทธา” ท่านเชื่ออย่างมั่นคงว่า โดยพระเจ้าทุกสิ่งย่อมเป็นไปได้ และเริ่มต้นด้วยความหวังที่พระเจ้าประทานแก่ท่าน ท่านไม่ยอมให้ความกลัวมาครอบงำจนเกิดมุมมืดในความคิดของท่าน

7. “เมื่อท่านประสบความล้มเหลวจะไม่ว่าร้ายกล่าวโทษผู้อื่น” ท่านย่อมรู้ตนเองดี ท่านรับผิดชอบต่อการกระทำของท่านเอง

8. “ท่านไม่ร่วมหัวจมท้ายกับคนที่คิดลบคิดร้าย” แท้ที่จริงแล้ว การคิดลบคิดร้ายเป็นการดูดกลืนเอาพลังในชีวิตของท่านไปหมดสิ้น

9. “ท่านรู้สึกและมีจิตใจขอบคุณในทุกสิ่ง รวมทั้งเวลาที่ยากลำบากในชีวิต” สันติสุขขององค์พระผู้เป็นได้ประจักษ์แจ้งในชีวิตของท่านไม่ว่าชีวิตของท่านต้องเผชิญในสถานการณ์เช่นไรก็ตาม

10. “ท่านรับใช้อย่างสัตย์ซื่อในคริสตจักรหรือองค์กรโดยไม่แยแสสนใจในตำแหน่งและอำนาจ” ท่านเป็นผู้นำที่รับใช้ที่ไม่เคยห่วงกังวลว่าจะได้รับการยกย่องยอมรับจากคนอื่นหรือไม่ หรือหวังตำแหน่ง เพื่อมีอำนาจและผลประโยชน์ที่ปรารถนา

11. “ท่านเป็นคนที่ใส่ใจทั้งด้านร่างกายและจิตวิญญาณของตนเอง” ท่านใช้เวลากับพระเจ้าอย่างประจำสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ท่านไม่แบ่งแยกระหว่างชีวิตทางกายและชีวิตทางจิตวิญญาณ แต่ทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกันในชีวิตที่พระเจ้าทรงประทานให้

12. “คนรอบข้างชื่นชมสุขใจเมื่ออยู่กับท่าน” เพราะท่านนำความสุขสดชื่นมาในทุก ๆ ที่ที่ท่านอยู่ จริง ๆ แล้ว เราต้องการให้คนในคริสตจักรของเราเป็นคนแบบนี้



14 พฤษภาคม 2564

คำถามใช้ตรวจสอบ “อัตตา/ตัวตน” ของตนเอง

เราคงต้องระวังไม่ลืมตัว... 

ความภาคภูมิใจในตนเอง อาจจะพัฒนาไปสู่ความทระนง ยโส-โอหัง จนเป็นความอหังการ และหยิ่งผยองในที่สุด คงต้องพูดเลียนแบบเปาโลว่า อาการนี้ “ข้าพเจ้าเป็นตัวเอ้”   จากประสบการณ์ส่วนตัวได้พบกับความล้มเหลวเสียหายเพราะอัตตา-ตัวตนของตนเองมาแล้ว  จึงจำเป็นที่ต้องมาทบทวนถอดบทเรียนรู้ แล้วปรับเป็นคำถามที่จะใช้ไว้ถามตนเองเพื่อเตือนใจห้ามตนไว้เสมอ ดังนี้

1. ฉันกำลังโอ้อวด ให้คนอื่นเห็นถึงความสำเร็จ ยิ่งใหญ่ สำคัญในงานรับใช้ของตนหรือไม่?   

ผมสงสัยว่าพวกเราหลายคนทำตามที่กล่าวข้างบนนี้อย่างเปิดเผยชัดเจน แต่ในบางครั้งเราก็โอ้อวดซ่อนแฝงในการสนทนาของเราก็ได้  

2. ฉันจะตอบสนองอย่างไรต่อคนที่ฉันเคยเสริมสร้างให้เขาเป็นสาวกพระคริสต์ และชีวิตของเขากำลังเกิดผลมากกว่าที่เคยเห็น?  

คำถามในสถานการณ์นี้ เราจะอวดอ้างถึงความสามารถของเรา หรือเราจะชื่นชมยินดีกับชีวิตที่กำลังเกิดผลในชีวิตของคนอื่น มากกว่าการงานของเราเอง

3. ฉันจะตอบสนองอย่างไรต่อสมาชิกคนหนึ่งที่มีความสามารถอย่างสูงในงานรับใช้ในคริสตจักร แต่ได้ลาออกจากคริสตจักรเพื่อเข้าไปร่วมในทีมปลูกตั้งคริสตจักรใหม่ และในทีมพลิกฟื้นชีวิตคริสตจักรในที่ต่าง ๆ?  

ในสถานการณ์นี้ทำให้เราต้องประเมินว่าเรากำลังอุทิศทุ่มเทต่อพระมหาบัญชา หรือเราปรารถนาต้องการที่จะรักษาคนเก่ง ๆ ไว้ใกล้ตัวใกล้งานของเราเอง (เพื่อสร้างความสำเร็จของเราเองด้วย)

4. ฉันจะตอบสนองอย่างไรต่อคนที่ฉันเคยมีส่วนเสริมสร้างให้เขาเป็นสาวกพระคริสต์ แต่ตอนนี้กลับมาเป็นเจ้านายของฉัน?  

ในสถานการณ์นี้อยู่ที่มุมมองของเราว่า เรามีโลกทัศน์ต่อของประทาน ศักยภาพ และการพัฒนาขึ้นในความสามารถด้านต่าง ๆ ในแต่ละคนว่า แต่ละคนจะพัฒนาสูงขึ้นตามโอกาส เวลาที่รับการเสริมสร้างจากพระเจ้า หรือเรากลับมีมุมมองติดยึดว่า คน ๆ นี้เคยเป็นอนุชนที่ตนเคยเป็นศิษยาภิบาลของเขา คน ๆ นี้เคยเป็นนักศึกษาพระคริสต์ธรรมที่ตนเคยสอน (แล้วจะเป็น “หัวหน้า” หรือ “เจ้านาย” ของเราหรือ?)

5. ฉันเคยอิจฉาผู้ทำพันธกิจท่านอื่นที่ได้รับยอมรับมากกว่าฉันหรือไม่? 

แม้แต่คนที่ซื่อสัตย์ที่สุดในพวกเราบางครั้งก็ต้องเผชิญกับอำนาจชั่วที่แฝงกายในความนึกคิดรู้สึกของตน เมื่อใดก็ตามที่เราคิดว่า เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีกว่าคนที่ได้รับการยอมรับมากกว่าตนคนนั้น (คงต้องถามตนเองว่าเรากำลังอิจฉาเขาหรือไม่?)

6. เมื่อฉันประสบความสำเร็จในบางเรื่อง ฉันได้กล่าวถึงบางคนที่มีส่วนทำให้ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้น หรือ ฉันปิดบังความจริงนั้นเพื่อตนเองจะได้รับการยกย่องเต็ม ๆ?

ไม่มีใครที่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ประสบความสำเร็จด้วยตัวคนเดียว แต่บางครั้งเราก็ลืมไปว่า ชีวิตและการงานของเราในแต่ละวันเราต้องพึ่งพิงหนุนเสริมกันและกันกับเพื่อนร่วมทีมงาน

7. ฉันกล่าวโทษโยนผิดให้คนอื่นหรือไม่เมื่อสิ่งที่ทำไม่สำเร็จตามแผนที่วางไว้?  

ในประเด็นนี้เป็นด้านตรงกันข้ามกับข้อที่แล้ว อัตตาตัวตนของเราอยากได้ใคร่รับการยกย่องสรรเสริญ แต่ในอีกด้านหนึ่งมักกล่าวโทษหรือหยิบโยนความผิดพลาดให้คนอื่น เมื่อผลงานที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปดั่งที่คิดหมายตั้งใจ หรือ ตามแผนการที่กำหนด



12 พฤษภาคม 2564

ทำไมสมาชิกประเภทบริโภคนิยม...มักขู่ว่าจะออกจากคริสตจักร?

“อยู่คริสตจักรนี้มีแต่อดอยากปากแห้งทางจิตวิญญาณ” 

นี่คือข้ออ้างหรือเหตุผลส่วนใหญ่ของคนที่คิดจะออกจากคริสตจักรที่ตนเป็นสมาชิก หรือ ที่ตนร่วมอยู่ในตอนนี้ เหตุผลที่เขาจะออกจากคริสตจักรนี้คือ คำสอนคำเทศน์ของศิษยาภิบาลไม่ได้หนุนเสริมให้ชีวิตจิตวิญญาณของผู้ฟังเติบโตและเข้มแข็งขึ้น และส่วนมากคำสอนคำเทศน์เป็นเหมือนอาหารสำเร็จรูป หรือ “มาม่าทางจิตวิญญาณ”

แน่นอนครับคงมีศิษยาภิบาลไม่กี่ท่านกระมังที่เลี้ยงดูสมาชิกในคริสตจักรด้วย “มาม่า” เสียทุกมื้อไป? แต่ก็มีนักเทศน์ที่เทศนาแบบโชว์พาวด้านวาทศิลป์ หรือไม่ก็ตลกโปกฮาจนคนฟังหัวเราะน้ำตาไหล แทนที่จะเป็นการเทศน์ถึงพระวจนะของพระเจ้าในพระคัมภีร์

แท้จริงแล้วที่กล่าวว่า “ฉันไม่ได้รับอาหารจิตวิญญาณเพียงพอ” นั้น ผู้พูดประโยคนี้ส่วนใหญ่ลึก ๆ มักหมายความว่า ศิษยาภิบาลไม่ได้สอนไม่ได้เทศน์อย่างที่ฉันต้องการ อย่างที่ฉันชอบ  หรือไม่ก็อย่างที่ฉันคิดฉันคาด หรือพูดอย่างไม่ต้องเกรงใจกันก็คือ “ศิษยาภิบาลมิได้เชื่ออย่างที่ฉันเชื่อ” ถ้าสังเกตให้ดีเราจะเห็นว่า สมาชิกประเภทนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ไม่แตกต่างจากกระแสสังคมที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เลยขอเรียกสมาชิกกลุ่มนี้ว่า “สมาชิกบริโภคนิยม” ในคริสตจักร

แล้วทำไมพวกสมาชิกคริสตจักรประเภทบริโภคนิยม หรือ สมาชิกที่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางในคริสตจักร ถึงมักพูดถึงเรื่องที่ตนจะออกจากคริสตจักร?

1.  เพราะไม่เคยได้รับในสิ่งที่ตนพึงพอใจ

นี่เป็นธรรมดาหนึ่งของพวกบริโภคนิยม สมาชิกกลุ่มนี้มักถามหาว่าคริสตจักรได้ทำอะไรเพื่อสมาชิกของตนบ้าง? แม้ว่าที่ผ่านมาคริสตจักรอาจจะเคยตอบสนองความต้องการของเขาแล้ว   แต่ถ้าตอนนี้หยุดที่จะให้สิ่งที่เขาต้องการ เขาก็จะพูดถึงเรื่องการออกจากคริสตจักรอีก

2.  เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีเป้าหมายสูงสุดในความเชื่อ

เราท่านก็รู้อยู่แก่ใจว่า คุณลักษณะ บทบาทหลักสำคัญของสมาชิกคริสตจักรคือ การให้ การรับใช้ การสละตนเองเพื่อพระคริสต์ สมาชิกคริสตจักรอยู่เพื่อเป้าหมายตามพระประสงค์ของพระคริสต์ ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าเป้าหมายเพื่อตนเองที่สมาชิกกลุ่มนี้มีอยู่ คุณลักษณะของสมาชิกคริสตจักรแสวงหาทางที่จะรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยการรับใช้คนอื่นรอบข้าง สมาชิกที่มีคุณลักษณะเหล่านี้จะไม่ถามว่า “คริสตจักรได้ทำอะไรเพื่อฉัน?” เพราะพวกเขามุ่งและทุ่มเทอยู่กับการรับใช้คนอื่น ๆ พวก “สมาชิกประเภทบริโภคนิยม” ไม่มีเป้าหมายที่สูงไปกว่าสิ่งที่ตนเองชอบ สิ่งที่ตนเองต้องการ แล้วก็ไม่มีเป้าหมายเพื่อรับใช้พระประสงค์พระคริสต์

3.  เพราะคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่สร้างการแบ่งแยก  

สมาชิกคริสตจักรประเภทบริโภคนิยมแสวงหาสิ่งต่าง ๆ เพื่อตนเอง และถ้าพวกเขาไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการเขาก็จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจนทำให้ชุมชนคริสตจักรเกิดการแตกแยกแบ่งขั้วได้   และเขาจะออกจากคริสตจักรไปก็ต่อเมื่อเขาเริ่มรู้ตัวว่า ไม่มีผู้คนในคริสตจักรที่สนับสนุนความคิดของเขา

4.  เพราะเขาคิดว่าตนเองรู้ดีกว่าคนอื่น ๆ ในคริสตจักร  

ในบางคริสตจักรสมาชิกประเภทบริโภคนิยม อาจจะส่งคลิป หรือ ลิงค์ของการเทศน์ การออกอากาศของศิษยาภิบาลคริสตจักรอื่นมาให้ศิษยาภิบาลหรือคนในคริสตจักรเพื่อแสดงให้เห็นว่า ศิษยาภิบาลในคริสตจักรอื่นทำได้ดีกว่าศิษยาภิบาลคริสตจักรนี้มากแค่ไหน เขาจะอวดและชื่นชมคริสตจักรอื่นว่าเป็นคริสตจักรที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารด้านชีวิตจิตวิญญาณ

5.  เพราะคนกลุ่มนี้ขาดความเข้าใจถึงความหมายของการเป็นสมาชิกคริสตจักรบนรากฐานของพระคัมภีร์ 

จากคุณลักษณะของสมาชิกคริสตจักรที่กล่าวใน 1โครินธ์ บทที่ 12 เป็นการกล่าวถึงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายที่ทำงานร่วม ประสาน และหนุนเสริมกันและกันเพื่อให้เกิดสิ่งดีแก่ร่างกาย หรือ พระกายของพระคริสต์คือคริสตจักร และใน 1โครินธ์ บทที่ 13 ซึ่งเป็นบทที่ว่าด้วย “ความรักเมตตา”   แต่แท้จริงแล้วบทนี้กล่าวถึงความโยงใยสัมพันธ์กันและกันในคริสตจักร และ กับสังคมโลก   พวกสมาชิกคริสตจักรประเภทบริโภคนิยมยังไม่รู้ซึ้งถึงความสัมพันธ์ของสมาชิกคริสตจักรบนรากฐานพระวจนะของพระเจ้ากับการเป็นคริสตชนที่อุทิศและสละตนเอง และ การรับใช้คนอื่น

ศิษยาภิบาลครับ ท่านมิใช่เป็นเพียงคนเดียวที่ถูกสมาชิกประเภทบริโภคนิยมตีตราว่าร้ายว่า พวกเขาไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีจากศิษยาภิบาล เราพบได้ในหลายคริสตจักรถึงพิษร้ายของสมาชิกที่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางของคริสตจักร ให้เราชื่นชมยินดีกับสมาชิกคริสตจักรที่อุทิศตน รับใช้  ที่หนุนเสริมเพิ่มพลังกัน ที่รักเมตตาตามพระประสงค์ของพระคริสต์ ที่พวกเขายอมตนเป็นเครื่องมือของพระคริสต์ในคริสตจักร

สมาชิกคริสตจักรประเภทบริโภคนิยมนั้นเป็นเหมือนเสียงของ “ฉาบ ฉิ่ง ฆ้อง และกลอง” ที่ส่งเสียงดังที่ไร้ความหมายและคุณค่า และถ้าสมาชิกประเภทบริโภคนิยมออกไปจากคริสตจักรจริง ๆ ก็คงทำให้คริสตจักรเกิดความสงบ สันติบ้างกระมัง?

แต่ศิษยาภิบาลก็พึงตระหนักเช่นกันว่า เมื่อได้ยินเสียงฉิ่ง เสียงฉาบ ฆ้อง หรือ เสียงกลอง อย่าลืมตัวไปเต้นตามเสียงที่ได้ยิน แต่ขอให้เสียงนั้นทำให้ศิษยาภิบาลนิ่งลงพิจารณาตนเองว่า   ตนเองได้เลี้ยงดู ฟูมฟัก และ อภิบาลชีวิตและจิตวิญญาณของสมาชิกคริสตจักรหรือไม่ แค่ไหน   ต้องมีการพัฒนาในด้านใดไหม?



10 พฤษภาคม 2564

พระคริสต์ไม่เคยมีบัญชาให้หาสมาชิกมาเต็มอาคารโบสถ์

คริสตจักรมิใช่ที่รวมตัวกันเพื่อประกอบศาสนพิธีอย่างมีชีวิตชีวา เพราะมีผู้คนมาร่วมกันมากมายหลายคน

คริสตจักรมิใช่ที่ที่เราจะมาเพียงเพื่อผ่อนคลายความเครียด หรือ ระบายอารมณ์

คริสตจักรมิใช่เพียงที่ที่เราจะพบปะสังสรรค์และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันกับคนพวกเดียวกัน

คริสตจักรของพระเยซูคริสต์มิได้วัดกันว่า วันอาทิตย์นี้ คืนวันพุธอาทิตย์นี้ มีคนมาเต็มอาคารโบสถ์หรือไม่? ตัวชี้วัดสุขภาพ ประสิทธิภาพ และสมรรถภาพของชีวิตคริสตจักรมิได้วัดกันที่ว่ามีคนมาโบสถ์มากน้อยแค่ไหน หรือมีคนมาเต็มโบสถ์-ล้นโบสถ์หรือเปล่า เพราะพระเยซูคริสต์ไม่เคยสั่งพวกสาวกและพวกเราว่า "ท่านจงหาคนมาก ๆ ให้มาเข้าโบสถ์ในวันอาทิตย์ เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าท่านทั้งหลายรักเราจริง” แต่ถ้ากลับมาพิจารณาพฤติกรรมการทำพันธกิจของคริสตจักรและศิษยาภิบาลจำนวนมากในปัจจุบันได้ทุ่มเทเวลา กำลัง และวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้มีคนมาร่วมกันในอาคารโบสถ์มากยิ่งขึ้น เรากำลังกระทำคลาดเคลื่อนจากพระประสงค์ที่แท้จริงของพระคริสต์หรือเปล่า?

ทั้งพระเยซูคริสต์และสาวกไม่เคยเน้นย้ำเรื่อง “การไปที่อาคารคริสตจักร” แต่จะเน้นย้ำเรื่อง “การเป็นคริสตจักร” และในมาระโก 16:15 บอกให้เราทุกคนว่า “จงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวประเสริฐแก่คนทั้งปวง...”  (อมธ.)

พระเยซูคริสต์ไม่เคยสอนให้เราอธิษฐานว่า “ขอให้มีคนมาเต็มอาคารคริสตจักร” แต่พระองค์บอกให้เราว่า “งานเก็บเกี่ยวมีมากแต่คนงานมีน้อยนัก เหตุฉะนั้นจงทูลขอต่อพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยว ให้ส่งคนงาน มายังทุ่งแห่งการเก็บเกี่ยวของพระองค์” (ลูกา 10:2 อมธ.)  พระเยซูคริสต์มุ่งเน้นที่การขอคนทำงานตามพระบัญชาของพระองค์ พระองค์ไม่ได้ขอให้มีคนมาก ๆ มานั่งในโบสถ์

การทำตามพระบัญชาของพระเยซูคริสต์ เป้าหมายของคริสตจักรไม่ใช่ การเติมเต็มคนที่เข้ามาในอาคารโบสถ์หรือคริสตจักร ให้เต็มอาคาร แต่เป็นการเติมเต็ม “ข่าวดีแห่งความรักเมตตาของพระเยซูคริสต์” ให้เต็มล้นในชีวิตเพื่อนบ้านในชุมชนเป้าหมาย

บางท่านอาจจะคิดในใจ หรือเตรียมพร้อมงัดเอาพระธรรม ลูกา 14:23 มาสวนกลับที่กล่าวมาข้างต้นว่า แล้วในคำอุปมาเรื่องงานเลี้ยง แขกที่เชิญไม่มีใครมา เจ้าของงานเลี้ยงยังให้คนใช้ไปกวาดต้อนเอาคนข้างถนนมาให้เต็มบ้านว่า “จงไปตามถนนหนทางในชนบท และระดมพวกเขามาให้เต็มบ้านของเรา” (อมธ.) คนเต็มบ้านในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงคนเต็มอาคารคริสตจักรหรือ? คำอุปมานี้พระเยซูคริสต์เล่าเพราะมีคนถามพระองค์ถึงเรื่องคนที่มาร่วมงานเลี้ยง “ในแผ่นดินของพระเจ้า” และการที่มีคนมาเต็มบ้านในพระธรรมตอนนี้หมายถึงการนำพระกิตติคุณ (คำเชิญชวนให้มางานเลี้ยง) ของพระองค์ให้ไปประกาศนำคนทั้งหลายมาเต็ม “แผ่นดินของพระเจ้า”  (ดูข้อ 15 มตฐ.) ไม่ใช่ “อาคารคริสตจักร”

พระเยซูคริสต์เน้นการออกจากคริสตจักรแล้วเข้าไปในสังคม ไม่ใช่ให้มาเก็บตัวรวมหัวกันในอาคารคริสตจักร

เป็นเรื่องเยี่ยมยอดเลยที่อาคารคริสตจักรจะเต็มไปด้วยผู้คนที่เป็นผู้เชื่อที่นมัสการพระเจ้าด้วยความกระตือรือร้น มีชีวิตชีวา และแสวงหาพระเจ้าด้วยความจริงใจ แต่การที่จะหาคนมาใส่ให้เต็มอาคารคริสตจักรไม่ใช่เป้าหมายของพระบัญชาของพระเยซูคริสต์

พระเจ้าต้องการใช้อาคารคริสตจักรเป็น “เครื่องมือ” ที่เตรียมและเสริมสร้างสมาชิกให้เข้าไปถึงสังคมโลก อาคารคริสตจักรมิใช่ “เป้าหมาย” ของการมีคริสตจักร

คริสตจักรมากมายในปัจจุบัน ที่มีคนจำนวนมากมาเต็มอาคารคริสตจักร แล้วก็ทำกิจกรรมและประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในคริสตจักร แต่ชุมชนเพื่อนบ้านโดยรอบคริสตจักรกลับไม่ได้รับการดูแล เอาใจใส่จากคริสตจักรเลย ข่าวดีของพระเยซูคริสต์ไม่ได้ตกลงในชีวิตและในชุมชนคนเหล่านั้น

ดังนั้น คริสตจักรที่ยิ่งใหญ่เข้มแข็งจึงมิได้ดูกันที่ขนาดอาคารและบริเวณคริสตจักร หรือจำนวนคนที่มาในตัวอาคาร แต่ตัวชี้วัดความยิ่งใหญ่และเข้มแข็งของคริสตจักรควรวัดกันที่ “คุณภาพชีวิตการเป็นสาวกพระคริสต์” ในชีวิตของสมาชิกแต่ละคน และ ชีวิตที่ร่วมกันของคนเหล่านี้   เป็นชุมชนผู้เชื่อที่เน้นและสำแดงออกถึงชีวิตที่เป็นรูปธรรม 2 ด้านคือ

(1) ชีวิตของสมาชิกแต่ละคนเป็นชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง หรือ เป็นขึ้นใหม่โดยพระคริสต์

(2) เป็นคริสตจักรที่ “เสริมสร้าง” และ “ส่งสมาชิกแต่ละคนและทุกคนให้เข้าไปในสังคมชุมชนด้วยความรักเมตตาที่เสียสละแบบพระคริสต์ รับใช้ และ แบ่งปัน “ข่าวดีของพระคริสต์” อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการกระทำในชีวิตของสมาชิกแต่ละคน เพื่อตอบสนองความหิวกระหายในชีวิตของผู้คนรอบข้างคริสตจักร

ดังนั้น เราคงต้องชี้วัดคุณภาพ ประสิทธิภาพ สมรรถภาพ สุขภาพ และความเข้มแข็งของคริสตจักรจากการที่คริสตจักรนั้น ๆ สามารถที่จะ “ส่ง” สมาชิกของตนให้ออกจากคริสตจักรเข้าไปในสังคมชุมชนเพื่อแบ่งปันข่าวประเสริฐด้วยชีวิตมีประสิทธิภาพแค่ไหน ไม่ใช่นับจำนวนคนที่มีในอาคารและบริเวณโบสถ์ว่ามีมากเท่าใด

คริสตจักรนำผู้คนมาเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เพื่อจะเตรียม เสริมสร้างพวกเขาแต่ละคนให้เข้มแข็งแล้วส่งพวกเขาให้ออกจากคริสตจักร เพื่อนำพระกิตติคุณของพระคริสต์ไปยังชีวิตของคนรอบข้างที่เขาพบเห็น สัมผัส ในชีวิตประจำวันในชุมชนที่เขาอยู่และทำงาน ผ่านการดำเนินชีวิตที่สำแดงความรักเมตตาที่เสียสละของพระคริสต์

ถ้าเป็นเช่นนี้ แม้อาคารคริสตจักรของเราจะดู “โหรงเหรง” แต่เป็นที่น่าภูมิใจยิ่งครับ!



07 พฤษภาคม 2564

จัดการกระบวนคิดของท่านเพื่อประสิทธิผลในการทำพันธกิจ

สุขภาพจิตของเรามีส่วนสำคัญยิ่งในการเกิดประสิทธิผลในการทำพันธกิจ เป็นการง่ายที่เรามักคิดไปว่า ปัญหาของเรามีสาเหตุจากสถานการณ์โดยรอบของเรา หรือเพราะเราขาดทรัพยากรที่ใช้ในการทำพันธกิจ หรือเพราะชุมชนคริสตจักรของเราไม่ใส่ใจแยแสต่อจิตวิญญาณ หรือเพราะการปล้ำสู้กันในชีวิตที่เรากำลังเผชิญ และส่วนใหญ่แล้วเราไม่ค่อยคิดถึงว่าสาเหตุของปัญหามาจากวิธีการคิด หรือ กระบวนคิดของเรา

แต่สัจจะความจริงก็คือว่า พระเจ้าสนใจที่จะเปลี่ยนความนึกคิดของเรามากกว่าสถานการณ์โดยรอบของเรา เราต้องการให้พระเจ้าช่วยเปลี่ยนสถานการณ์โดยรอบของเรา และช่วยขจัดปัดเป่าความเจ็บปวดและความโศกเศร้าที่เราได้รับ ประเด็นนี้ก็สำคัญ แต่พระเจ้าต้องการจัดการกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ภายในชีวิตของเรามากกว่า (สิ่งที่อยู่ภายนอกชีวิตของเรา)

เปาโลบอกเราว่า“อย่าดำเนินชีวิตตามอย่างคนในโลกนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจความนึกคิดของท่านใหม่จากพระเจ้า เพื่อให้ท่านเป็นคนใหม่  แล้วท่านจึงจะสามารถพิสูจน์และยืนยันได้ว่าสิ่งใดคือพระประสงค์ของพระเจ้า เป็นพระประสงค์อันดีอันเป็นที่พอพระทัยและสมบูรณ์พูนพร้อมของพระองค์” (โรม 12:2 สมช.)

จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในชีวิตและการทำพันธกิจเลย นอกจากท่านจะเปลี่ยนวิธีคิด หรือ กระบวนคิดก่อนเท่านั้น ริก วอร์เรน ได้กล่าวถึง กระบวนยุทธการต่อสู้ทางความคิดไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ครับ

·         เพราะความนึกคิดควบคุมชีวิตของท่าน  ทุก ๆ พฤติกรรม หรือ การกระทำเริ่มมาจากความนึกคิด ถ้าเราไม่คิดเช่นนั้นเราก็จะไม่ทำเช่นนั้น สุภาษิต 4:23 กล่าวไว้ว่า “จงระแวดระวังใจของเจ้ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด  เพราะทุกสิ่งที่เจ้าทำออกมาจากใจ” (มตฐ.)

แม้แต่ความคิดที่ไม่จริงก็จะหล่อหลอมชีวิตทั้งชีวิตหากท่านไม่ตรวจสอบความคิดนั้น

  • ความนึกคิดคือสมรภูมิกับอำนาจแห่งความบาปชั่ว เราชนะหรือพ่ายแพ้ในการต่อสู้กับอำนาจแห่งความบาปชั่วก็เริ่มต้นจากความนึกคิดของเรา การถูกทดลองล่อลวงล้วนเกิดขึ้นที่ความนึกคิดของเรา ผลที่ตามมาก็คือ ความบาปก็เกิดขึ้น เปาโลอธิบายกระบวนการที่เกิดขึ้นของความบาปในความนึกคิดของเราไว้เช่นนี้ว่า “เพราะในส่วนลึกข้าพเจ้าชื่นชมในบทบัญญัติ (มาตรฐานตามพระประสงค์) ของพระเจ้า แต่ข้าพเจ้าเห็นกฎอีกข้อหนึ่ง (อีกมาตรฐานหนึ่ง) อยู่ในกายของข้าพเจ้า กฎนี้ต่อสู้กับกฎภายในจิตใจของข้าพเจ้า และทำให้ข้าพเจ้าเป็นนักโทษของกฎแห่งบาปซึ่งอยู่ในกายของข้าพเจ้า” (โรม 7:22-23 สมช.สมช3ะเจ้าะสงคพระเจ้า  3รต่อสธู้กคิดของเรา   การถราไม่คิดเช่นนั้นเรากะ)  

ความนึกคิดของท่านเป็นพื้นที่การทำงานในชีวิตที่สำคัญที่สุด  และซาตานต้องการเข้าไปควบคุมกระบวนการคิดของท่าน

  • การจัดการความนึกคิดของท่านเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่สงบสันติและความสุข   การที่ไม่มีการจัดการความนึกคิดย่อมนำสู่ความเครียด กดดัน และ ความขัดแย้ง ส่วนการที่มีการจัดการทางความนึกคิดจะนำสู่สันติสุข ความเยือกเย็น และความมั่นใจ ในโรม 8:6 กล่าวว่า “จิตใจของคนบาป หรือ จิตใจที่จดจ่ออยู่กับเนื้อหนังนำไปสู่ความตาย...” (อมธ.)

นิสัย และ วินัยชีวิตประจำวัน 3 ประการ ที่จะช่วยท่านบ่มเพาะความนึกคิดที่เข้มแข็ง:

(1) การหล่อเลี้ยงความนึกคิดของท่านด้วยสัจจะความจริง

เราต่างรู้ถึงความสำคัญของอาหารที่บำรุงเลี้ยงเรา สารอาหารที่ดีช่วยให้เราแข็งแรง และให้พลังงานมากขึ้น สารอาหารที่ไม่ดีอันตรายต่อร่างกายของเรา

นี่ก็เป็นความจริงเกี่ยวกับความนึกคิดของเรา เพื่อที่เราจะมีชีวิตที่มีสุขภาพทางความนึกคิด เราจำเป็นต้องหล่อเลี้ยงความคิดของเราด้วยสัจจะความจริง ไม่ใช่ด้วยขยะความคิด หรือ ความคิดที่เป็นพิษ

พระเยซูคริสต์ได้บอกเราเกี่ยวกับ “อาหารความคิด” ที่ดีเมื่อพระองค์ตอบโต้กับซาตานว่า  “มนุษย์ไม่อาจดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ดำรงชีวิตด้วยทุกถ้อยคำจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มัทธิว 4:4 อมธ.)

ท่าน...ครับ พระคัมภีร์เป็นอาหารสำหรับจิตวิญญาณของเรา เรามิเพียงอ่านเพื่อเตรียมสิ่งที่เราจะสอนและเทศน์ในวันอาทิตย์เท่านั้น แต่เราอ่านพระคัมภีร์เพื่อที่จะทำให้เรามีสุขภาพความนึกคิดที่ดีและแข็งแรงในทุก ๆ วัน

(2) การปลดปล่อยความคิดของเราจากความคิดที่ทำลายล้าง

ความนึกคิดของเราต้องการการปลดปล่อย เราเป็นนักโทษของความคิดของตนเอง เราได้รับการบอกเล่าเรื่องที่ไม่จริงเกี่ยวกับตัวเรา และเราได้หลงในหลายเรื่องที่ไม่จริงเหล่านั้น และความนึกคิดที่ชั่วเหล่านั้นได้เข้าครอบงำควบคุมการกระทำในชีวิตของเรา

ทุกวันเราต้องต่อสู้กับซาตาน ซึ่งเป็นธรรมชาติตัวเก่าของเราและระบบคุณค่าแห่งสังคมโลกนี้   แต่พระคัมภีร์บอกแก่เราว่า “อาวุธที่เราใช้ต่อสู้ไม่ใช่อาวุธของโลก แต่เป็นอาวุธที่เปี่ยมด้วยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าสามารถทำลายล้างที่มั่นต่าง ๆ ได้ เราทำลายล้างประเด็นโต้แย้งและคำแอบอ้างทั้งปวงที่ตั้งตัวขัดขวางความรู้ของพระเจ้า และเราสยบทุกความคิดให้ยอมจำนนเชื่อฟังพระคริสต์” (2โครินธ์ 10:4-5 อมธ.)

เบื้องหลังบาปทุกอย่างเป็นเรื่องโกหกที่เราเลือกที่จะเชื่อ และมันจะกลายเป็น “ฐานคิด” ที่แข็งแรง แต่เปาโลบอกเราว่า ให้เรา “สยบทุกความคิดให้ยอมจำนนเชื่อฟังพระคริสต์” 

เราต้องตัดสินใจให้ความนึกคิดของพระคริสต์ครอบครองในแต่ละวันของเรา เวลาที่ดีที่สุดที่จะต่อสู้เอาชนะการทดลองล่อลวง คือเราต้องจัดการควบคุมอำนาจชั่วในความนึกคิดของเราก่อนที่จะมีการลงมือกระทำ

(3)  มุ่งมองไปยังสิ่งที่ถูกต้อง

ในฟิลิปปี 4:8 กล่าวไว้ว่า “...จงใคร่ครวญถึงสิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่น่านับถือ สิ่งที่ยุติธรรม สิ่งที่บริสุทธิ์ สิ่งที่น่ารัก สิ่งที่ควรแก่การสรรเสริญ รวมทั้งถ้ามีสิ่งใดที่ยอดเยี่ยม สิ่งใดที่น่ายกย่อง” (มตฐ.) แล้วอะไรคือสิ่งดีที่เราควรให้ความสำคัญ?

  • คิดถึงพระเยซูคริสต์ ตามที่มีคำกล่าวว่า ท่านจะเป็นอย่างคนที่ท่านคิดถึงมากที่สุด   ถ้าท่านคิดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ท่านก็จะเป็นอย่างพระองค์ ดังนั้น เมื่อเรากำลังจะยอมแพ้ให้เราคิดถึงพระเยซูคริสต์
  • คิดถึงคนอื่น ทุกอย่างในโลกนี้จะสอนให้เราคิดถึงตัวเราเอง และไม่ต้องคิดถึงใครคนอื่นใด แต่พระคัมภีร์ บอกแก่เราว่า ชีวิตมิใช่เรื่องเกี่ยวกับตัวเราเอง เราจะรู้ถึงความหมายที่แท้จริงเกี่ยวกับชีวิต เมื่อเราเรียนรู้ที่จะให้ชีวิตของเราแก่ผู้อื่น
  • คิดถึงเรื่องที่เป็นนิรันดร์ ชีวิตเป็นเรื่องที่มากกว่า “ที่นี่และเดี๋ยวนี้” เรามักคิดสั้นคิดแคบคิดใกล้ตัวเราเอง โคโลสี 3:2 กล่าวว่า“จงให้ความคิดของท่านจดจ่ออยู่กับสิ่งเบื้องบน ไม่ใช่สิ่งฝ่ายโลก” (อมธ.)  

การเรียนรู้การจัดการเกี่ยวกับความนึกคิดของเราจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราและพันธกิจที่เรากระทำ พระเจ้าประทานความนึกคิดแก่เรา และสิ่งนี้คือสิ่งมีค่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับเรา

ได้เวลาที่เราจะใส่ใจต่อสู้กับอำนาจแห่งความชั่วที่ทำสงครามในความนึกคิดของเราในแต่ละวัน