30 กรกฎาคม 2561

พระคริสต์ไม่เคยเรียกร้อง...ความสำคัญ ยิ่งใหญ่เพื่อตนเอง

ถ้าใครเก่งในเรื่องไหนเรื่องหนึ่งจริง  เขาไม่จำเป็นต้องคุยโตโอ้อวดโพนทะนาว่าตนเองเก่งในเรื่องนั้น   และคนที่คุยโตโอ้อวดในยุคนี้หลายคนมักทำได้ด้อยกว่าที่ “โฆษณาตนเอง”  หรือ มัก “ไม่สมราคาคุย”?

ถ้าเราสังเกตและสำรวจตลอดชีวิตของพระคริสต์   พระองค์มิได้เป็นคนที่คุยโตโอ้อวดว่าตนนั้นสำคัญ   ยกเว้นเรื่องเดียวที่พระองค์พูดความจริงที่พวกผู้นำศาสนายิวรับไม่ได้คือ  ที่พระองค์พูดความจริงว่าพระเจ้าเป็นพระบิดาของพระองค์   แต่พระองค์ก็ไม่เคยกะเกณฑ์หรือเรียกร้องให้คนทั้งหลายปฏิบัติต่อพระองค์ในฐานะ “พระบุตรของพระเจ้า”   ดังในพระธรรมฟิลิปปีได้ยืนยันชัดเจนถึงท่าทีของพระคริสต์ในฐานะพระบุตรของพระเจ้าว่า  “(พระ​เยซู​คริสต์) ผู้​ทรง​สภาพ​เป็น​พระ​เจ้า ไม่​ทรง​ถือ​ว่า​ความ​ทัด​เทียม​กับ​พระ​เจ้า​เป็น​สิ่ง​ที่​จะ​ต้อง​ยึด​ไว้” (มตฐ.)

แต่น่าเศร้าใจ  ที่ผู้นำคริสตชนในปัจจุบันนี้ติดยึดกับ “ฐานะ ตำแหน่ง” ที่ตนได้รับ  และสำคัญผิดคิดว่าตนเองเป็นคนสำคัญ  เหนือกว่า สำคัญกว่า   หรือหลายคนพูดต่อว่าสมาชิกคริสตจักรไม่ได้กระทำอย่างเหมาะสมกับตำแหน่ง ศาสนศักดิ์ของตนในคริสตจักร (แล้วก็ไปเปรียบเทียบผู้นำคริสตจักรของบางประเทศ)   ผู้นำคริสตจักรกลุ่มนี้ช่างแตกต่างจากพระเยซูคริสต์แบบหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว

ให้เราใคร่ครวญถึงคำอธิษฐานของพระเยซูที่พระองค์ทูลอธิษฐานต่อพระบิดา  ถึงท่าทีที่พระองค์ต้องการกระทำต่อสาวกที่ติดตามพระองค์ และ อนาคตของเหล่าสาวก  ในยอห์น 17:12-14,19,21 (มตฐ.)
  • “ข้าพระองค์ได้พิทักษ์รักษาเขา...ปกป้องพวกเขาไว้”
  • “ข้าพระองค์สอนเขา...เพื่อเขาจะมีความชื่นชมยินดี...”
  • “โลกเกลียดชังพวกเขาเพราะพวกเขามิใช่คนของโลก  เหมือนข้าพระองค์มิใช่ของโลก...”
  • “เพราะเห็นแก่พวกเขาข้าพระองค์จึงชำระตนให้บริสุทธิ์  เพื่อว่าพวกเขาจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์อย่างแท้จริงด้วย” (อมธ.)
  • พระองค์ทูลขอว่า  “ขอทรงชำระพวกเขาให้บริสุทธิ์ ด้วยความจริงแห่งพระวจนะของพระองค์”
  • ข้าพระองค์ไม่ได้อธิษฐานเผื่อคนเหล่านี้เพียงพวกเดียว  แต่เพื่อทุกคนที่วางใจในข้าพระองค์โดยผ่านทางถ้อยคำ(ประกาศ)ของพวกเขา
  • เพื่อพวกเขาจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ดั่งเช่นพระองค์ผู้เป็นพระบิดาสถิตย์ในข้าพระองค์  เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ได้​อยู่​ใน​พระ​องค์​และ​ใน​ข้า​พระ​องค์​ด้วย เพื่อ​โลก​จะ​ได้​เชื่อ​ว่า​พระ​บิดา​ทรง​ใช้​ข้า​พระ​องค์​มา


เราจะเห็นชัดว่า  พระเยซูคริสต์มิได้เน้นความสำคัญของตนเอง  ดังคำอธิษฐานของพระองค์ที่ว่า   เพื่อพวกเขาจะรู้ว่า ข้าพระองค์กับพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   พระองค์ทรงรักพวกเขาเหมือนอย่างที่พระองค์ทรงรักข้าพระองค์   พระเยซูคริสต์มิได้กล่าวอ้าง หรือ เรียกร้องสัมพันธภาพที่พิเศษเหนือกว่าสาวกที่มีในพระบิดา   แต่พระองค์กลับทูลขอให้พระบิดาทรงรักพวกสาวกในระดับเดียวกันหรือเหมือนอย่างที่พระบิดารักพระองค์   และนี่เป็นความสำคัญที่ล้ำค่ายิ่งที่พระคริสต์ทรงมี   พระองค์ไม่ได้เรียกร้องความสัมพันธ์ที่เหนือกว่าพิเศษกว่าจากพระบิดา   ตรงกันข้ามพระองค์กลับทูลขอความสัมพันธ์สุดยอดเพื่อสาวกของพระองค์เสียอีก

นี่คือแบบอย่างที่เป็นรูปธรรมของพระเยซูคริสต์   ที่ทรงกระทำและวางเป็นแบบอย่างแก่สาวกของพระองค์ทุกคน   ที่เป็นแบบอย่างชีวิตที่เป็นพลังหนุนเสริมให้สาวกของพระองค์กล้าที่จะทุ่ม เสี่ยง และยอมตายเพื่อพระนามของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

25 กรกฎาคม 2561

ความอ่อนแอ...ในมุมมองของคริสตชน

โดยทั่วไป  ไม่มีใครที่ต้องการมีความอ่อนแอในชีวิต
เพราะเรามองว่านั่นเป็นจุดด้อย  เป็นความจำกัด  เป็นอุปสรรคในชีวิตของเรา
เราทุกคนต่างต้องการมี “จุดแข็ง” “จุดเด่น” “จุดดัง” ในชีวิต
เราไม่ต้องการ “ความจำกัด” “จุดอ่อน” “จุดด้อย” หรือ “จุดอับ” ในชีวิต
แล้วคริสตชนมองอย่างไรถึง “จุดอ่อน” ในชีวิตของตน?

แต่​พระ​องค์​ตรัส​กับ​ข้าพ​เจ้า​แล้ว​ว่า
“การ​มี​พระ​คุณ​ของ​เรา​ก็​เพียง​พอ​กับ​เจ้า
เพราะ​ว่า​ความ​อ่อน​แอ​มี​ที่​ไหน
ฤทธา​นุ​ภาพ​ของ​เรา​ก็​ปรา​กฏ​เต็ม​ที่​ที่​นั่น”
เพราะ​ฉะนั้น ข้าพ​เจ้า​จะ​อวด​บรร​ดา​ความ​อ่อน​แอ​ของ​ข้าพ​เจ้า​มาก​ขึ้น
​ด้วย​ความ​ยินดี​อย่าง​ยิ่ง
เพื่อ​ว่า​ฤทธา​นุ​ภาพ​ของ​พระ​คริสต์​จะ​อยู่​ใน​ข้าพ​เจ้า” (2โครินธ์ 12:9 มตฐ.)

ท่านที่รัก   ถ้าท่านรู้สึกว่ามีบางด้านในชีวิตของท่านที่อ่อนแอ
ท่านจงชื่นชมยินดีเถิด   เพราะพระคุณของพระคริสต์มีมากพอสำหรับท่าน
เพราะฤทธานุภาพและความเข้มแข็งของพระเจ้า...
จะกระทำให้ความอ่อนแอของท่านกลับเข้มแข็งสมบูรณ์ขึ้น

เมื่อเราจำนนต่อพระเจ้า  ถึงความอ่อนด้อย อ่อนแอ ในชีวิตของเรา
ความอ่อนแอในชีวิตกลับเป็นโอกาสที่ชีวิตของเราจะได้สัมผัสกับฤทธานุภาพของพระเจ้า
ดังนั้น จุดอ่อนแอในชีวิตของเราจึงเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสรับพระคุณของพระคริสต์
มีประสบการณ์กับการอัศจรรย์แห่งพระราชกิจของพระเจ้าที่กระทำในชีวิตของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

23 กรกฎาคม 2561

ขั้นตอนของการหลุดหนี้แบบสาวกพระคริสต์

หนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมยุคทุนและบริโภคนิยมในปัจจุบัน   ในฐานะสาวกของพระคริสต์เราจะมองและเข้าใจเรื่อง “หนี้” อย่างไร?   แล้วเราจะรับมือกับหนี้สินที่เรามีในชีวิตปัจจุบันอย่างไร?

เรื่องหนี้สินไม่เข้าใครออกใคร   ถ้าคริสตชนขาดความเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว   โอกาสที่จะตกลงในหลุมพรางของการเป็นหนี้เกิดเป็นจริงได้ทุกขณะ   ปัจจุบันนี้มิใช่สมาชิกคริสตจักรเท่านั้นที่เป็นหนี้   ศิษยาภิบาลหลายต่อหลายท่านก็ตกอยู่ในหลุมพรางของหนี้สินเช่นกัน

คำถามคือเราจะรับมือจัดการกับหนี้สินในชีวิตของเราอย่างไร  ในฐานะที่เราเป็นสาวกของพระคริสต์

1.   มุ่งมั่นตั้งใจที่จะหลุดรอดออกจากหนี้เดี๋ยวนี้

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ยากยิ่งที่สุด   แต่เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด   เราจะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการปลดหนี้   และนี่เป็นงานอภิบาลหนึ่งที่ศิษยาภิบาลจะต้องนำสมาชิกของตนให้หลุดรอดออกจากการเป็นหนี้ในชีวิตประจำวัน   ซึ่งเป็นการอภิบาลที่สำคัญมากด้วย

ไม่มีใครที่จะหลุดรอดออกจากหนี้โดยไม่รับผิดชอบ หรือ ชำระหนี้ที่มีอยู่  และการปล่อยให้หนี้อยู่อย่างนั้นก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา  รังแต่จะเพิ่มพูนหนี้มากขึ้นเพราะดอกเบี้ย   แต่การหลุดรอดออกจากหนี้ต้องเริ่มที่เราตั้งใจจะให้ตนหลุดรอดออกจากหนี้ที่มีอยู่  และไม่ก่อหนี้ใหม่   หลายคนจะบอกว่า “พูดง่ายแต่ทำยาก   แต่นี่คือวินัยชีวิตที่คริสตชนแต่ละคนจะต้องมี   และเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมที่คริสตชนทุกคนควรกระทำ

2.   เริ่มต้นที่รับผิดชอบต่อพระเจ้า และ รับผิดชอบต่อตนเอง

ถ้าเราจะหลุดรอดออกจากหนี้ หรือ ไม่ก่อหนี้ให้เราเริ่มที่จะรับผิดชอบต่อพระเจ้าในด้านการเงิน   คือการถวายสิบลด   และรับผิดชอบด้านการเงินต่อตนเอง คือการออมเพื่อตนเอง 10% ของรายได้

แน่นอนว่าคนที่มีหนี้ติดตัวในขณะนี้จะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอข้างต้น   เพราะเขาไม่เข้าใจว่า สิบลด และ การออมประจำจะช่วยให้เขาหลุดจากการเป็นหนี้ได้อย่างไร   แต่ถ้าเรารอจนกว่าเราชดใช้จ่ายหนี้ที่มีอยู่ให้เรียบร้อยก่อน   เราก็จะไม่มีการออมและไม่มีการถวายสิบลดเลย   เมื่อเราตกเป็นหนี้เราร้องขอพระเจ้าโปรดช่วยเรา   นั่นหมายความว่าเราต้องพึ่งพระเจ้า  เราจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามวิถีทางของพระเจ้า   ความจริงก็คือว่า ถ้าเราต้องการให้พระเจ้าทรงอวยพรในชีวิตด้านใดของเรา   เราต้องให้พระองค์เป็นหนึ่งเป็นเอกในชีวิตด้านนั้น ๆ ของเรา

3.   เขียนรายการสิ่งที่ท่านเป็นเจ้าของ รายการรายจ่ายและหนี้ และรายการรายได้

เราจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่เป็นจริงและเป็นปัจจุบัน  ที่จะบ่งบอกส่วนสำคัญ 4 ประการคือ   ขณะนี้เราเป็นเจ้าของอะไรบ้าง   ในแต่ละเดือนเรามีรายจ่ายทั้งสิ้นอะไรบ้าง   แล้วแต่ละเดือนเรามีรายรับอะไรบ้าง   และสำคัญตอนนี้เรามีหนี้สินเท่าใด?   การที่เราจะสร้างบ้านสร้างครอบครัว  พระธรรมสุภาษิตสอนเราว่า  บ้านและครอบครัวของเรานั้นสร้างด้วยปัญญา   และสามารถตั้งยั่งยืนอยู่ได้เพราะความเข้าใจ  (สุภาษิต 24:3 อมธ. และ สมช.)

ด้วยวิธีการนี้จะบอกเราอย่างชัดเจนว่า   เราใช้จ่ายเงินไปในทางใดบ้าง  และแต่ละทางด้วยจำนวนเท่าใด?   เพื่อเราจะตอบตนเองอย่างชัดเจนได้ว่า “เงินของฉันมันไปไหนหมด?”   เพราะเราจะรู้ว่าเดือนนี้เรามีรายได้เท่าใด   เราจ่ายค่าอะไรไปบ้าง   รายรับกับรายจ่ายของเราสมดุลกันไหม?   ถ้าจะปรับลดรายจ่ายให้สมดุลกับรายได้  จะต้องปรับลดรายจ่ายในเรื่องใด?   และนี่คือข้อเท็จจริงที่เราจะควบคุมรายจ่ายประจำวันของเรา   หรือที่เราเรียกว่าการทำงบประมาณครัวเรือน หรือ บัญชีครัวเรือน

4.   มีอะไรที่เราไม่ได้ใช้ที่เราสามารถเอาไปขายได้

เราจำเป็นที่จะขจัดสิ่งของบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกจากบ้านและชีวิตของเรา   เราสามารถที่จะเปลี่ยนสิ่งของที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ให้เป็น “เงินสด” ในมือของเรา   ลองสำรวจดูว่าเรามีสิ่งของใดบ้างที่ไม่จำเป็นสำหรับเราแล้ว   แล้วขายสิ่งเหล่านั้นให้เป็นรายได้   แทนที่เราจะต้องเอาใจใส่และเสียค่าบำรุงรักษาสิ่งนั้น   เป็นภาระที่เราต้องรับผิดชอบโดยไม่เป็นประโยชน์อันใด   ส่วนมากจะเป็นของใช้ หรือ เครื่องต่าง ๆ ที่มีมากเกินความจำเป็น  หรือมันไม่จำเป็นสำหรับท่านต่อไป   ไม่ว่าเก้าอี้ โต๊ะ รถจักรยานยนต์  รถยนต์ และ ฯลฯ  นอกจากจะมีรายได้แล้วยังเป็นการลดรายจ่ายการบำรุงรักษาอีกด้วย

5.   วางแผนการชำระหนี้สิน

สุภาษิต 21:5  กล่าวว่า  “แผนงานของคนขยันนำไปสู่กำไรแน่นอน...” (อมธ.)   เราอาจจะจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการวางแผนการชำระหนี้   คริสตจักรในสภาคริสตจักรของเราน่าจะมีพันธกิจให้คำปรึกษาวางแผนให้สมาชิกหลุดหนี้?

ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคริสตจักรที่ใหญ่ที่จะมีที่ปรึกษาในการวางแผนขจัดหนี้   แต่ให้เราหาคนในคริสตจักรที่มีใจรักคนอื่นในคริสตจักรและมีความรู้และประสบการณ์ในการวางแผนลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แล้วมีแผนการขจัดหนี้   หรืออาจจะมีคนที่มีความสามารถดังกล่าวในคริสตจักรใกล้เคียงก็สามารถเชิญให้มาช่วยเรื่องนี้ในคริสตจักรของเราได้

6.   เลิก (ห้าม) สร้างหนี้ใหม่

การจัดการขจัดหนี้เป็นเรื่องกล้วย ๆ  เมื่อเทียบกับการไม่ไปสร้างหนี้ใหม่   บอกเลิกการใช้บัตรเครดิต   และไม่กู้หนี้ยืมสินรายการใหม่   การที่คนเราตกเป็นหนี้เพราะเขาใช้จ่ายในชีวิตที่มากกว่ารายรับที่เขาได้   ตัดสินใจวันนี้  เลิกใช้ “เงินล่วงหน้า”  เลิกใช้บัตรเครดิต  ไม่กู้ ไม่ผ่อน   นั่นหมายความว่าเราต้องพอใจในสิ่งที่เรามี   และนี่คือตัวปกป้องเราไม่ให้ตกในหลุมพรางของการเป็นหนี้

7.   ประนอมหนี้ (ด้วยตนเอง)

ให้เราบอกเจ้าหนี้ของเราแต่ละคนได้ทราบว่า   เรามีแผนในการชำระหนี้ที่สามารถเป็นจริงได้อย่างไร   แสดงให้เขาเห็นแผนการขจัดหนี้ของเราให้เจ้าหนี้เห็น   บอกกับเขาว่าเราไม่ต้องการ “ชักดาบ”  เราไม่ต้องการหนีอย่างไม่รับผิดชอบ  เราไม่ต้องการเป็นผู้ล้มละลาย   เพราะนั่นไม่ดีสำหรับท่านในฐานะเจ้าหนี้  และไม่ดีสำหรับผมในฐานะลูกหนี้ด้วย   สำหรับหนี้ที่ผมจะต้องผ่อนเดือนละหนึ่งหมื่นบาท   ตอนนี้ผมมีความสามารถผ่อนได้เดือนละสองพันห้าร้อยบาท   ผมต้องการที่จะชำระหนี้ที่มีจบครบ   ท่านจะกรุณาช่วยผมตามแผนการขจัดหนี้นี้ได้ไหม?

พระเจ้าจะทรงทำให้ท่านเป็นผู้ที่เจ้าหนี้โปรดปราน  เมื่อเราตั้งใจกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง   เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เมื่อรู้ความจริงนี้เขาจะยอมที่จะให้เราชำระหนี้ตามแผนการขจัดหนี้ที่เราเสนอ   เพราะเขาจะได้รับการชดใช้หนี้ที่มีอยู่จนครบ

8.   ทำตามแผนขจัดหนี้อย่างเคร่งครัด   

การหลุดรอดออกจากหนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย   เราต้องมีวินัยชีวิต   มีความอดทนพยายาม   แต่เราท่านสามารถทำได้   เพียงท่านจะปฏิบัติตามแผนงานขจัดหนี้อย่างจริงจังเคร่งครัด   หลักการนี้จะเกิดผล  แต่ท่านต้องลงมือทำตามแผนนั้น  ขอเน้นว่า...ท่านต้องทำอย่างเคร่งครัด...(ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ  หรือ  คอยแต่ให้คนยกหนี้???)

พระธรรมกาลาเทีย 6:9 เขียนไว้ว่า   “อย่าให้เราอ่อนล้าในการทำดี เพราะถ้าเราไม่ย่อท้อ เราก็จะเก็บเกี่ยวในเวลาอันเหมาะสม”  (มตฐ.)  

ท่านอาจจะพบกับการทดลองให้หยุดทำตามแผนขจัดหนี้   การที่เรามีเพื่อนสนิทที่เราไว้ใจ และมีใจต้องการช่วยเรา   ให้เขาอยู่ใกล้เราเพื่อกระตุ้นเตือนให้เรายึดมั่นทำตามแผนขจัดหนี้อย่างมั่นคง  และให้กำลังใจแก่เราที่จะสัตย์ซื่อทำตามแผนขจัดหนี้  

อย่าลืมว่า  พระเจ้าทรงสนพระทัยในทุกรายละเอียดในชีวิตของท่าน   รวมถึงชีวิตในด้านการเงิน  รายรับ รายจ่าย และหนี้สิน   พระองค์ประสงค์ให้ท่านชำระหนี้ที่มีอยู่ของท่าน   และที่สำคัญคือพระองค์จะเคียงข้างและช่วยท่านในแผนการขจัดหนี้ของท่าน   เพียงท่านต้องทูลขอต่อพระองค์ในทุกกรณีที่เกิดขึ้นในแผนการขจัดหนี้นี้

พระองค์จะไม่ละทิ้งท่านให้ต้องเผชิญกับหนี้ที่มีอยู่เพียงตัวคนเดียว   พระองค์พร้อมที่จะเคียงข้างช่วยเหลือท่านในเรื่องนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

20 กรกฎาคม 2561

ทัศนะมุมมองต่อ...ทรัพย์สิน & ความมั่งคั่งในชีวิต

คริสตชนมีทัศนะมุมมองทรัพย์สิน และความมั่งคั่งในชีวิตว่า สิ่งนี้เป็นของประทานจากพระเจ้าสำหรับชีวิตในโลกนี้ เพื่อเราจะได้ชื่นชม ใช้ประโยชน์ และมีความสุขกับการใช้ของประทานแห่งโลกนี้ในชีวิต ทั้งในชีวิตส่วนตน และชีวิตของคนรอบข้าง

พระเจ้าที่เราเชื่อและไว้วางใจ เป็นพระเจ้าที่ทรงประทานสิ่งของในโลกนี้แก่เราเพื่อเราจะได้ชื่นชมในสิ่งประทานเหล่านั้น แต่ในสภาพความจริงคือเรากลับมิได้ชื่นชมในของประทานทางโลกเหล่านั้น เพราะแทนที่เราจะขอบพระคุณและชื่นชมในของประทานเหล่านั้น เรากลับสาละวนอยู่กับการแสวงหาของเหล่านั้นเพิ่มมากยิ่ง ๆ ขึ้นจนเกิดความทุกข์ เกิดความไม่รู้จักพอสักที บางครั้งทุ่มเทแสวงหาจนทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม หรือเกิดความวิตกกังวลมากขึ้น แต่แย่ยิ่งกว่านั้น การที่เราแสวงหามากขึ้นแบบละโมบไม่รู้จักพอกลับทำให้ความสัมพันธ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องเลวร้ายลง และในที่สุดมันมากระทบกระเทือนต่อสัมพันธภาพที่เรามีกับพระเจ้าต้องห่างเหินเสื่อมทรามลง

1ทิโมธี 6:17 ได้ย้ำเตือนสติผู้เชื่อ เกี่ยวกับทัศนะมุมมองของเราต่อทรัพย์สมบัติว่า   ความสำคัญสูงสุดมิใช่อยู่ที่ทรัพย์สินเงินทองที่เราได้มา   แต่พระเจ้าผู้ประทานทรัพย์สินเงินทองและความมั่งคั่งต่างหากที่มีความสำคัญสูงสุดในชีวิตของเรามิใช่หรือ?  

แต่ถ้าเรามีทัศนะมุมมองว่า ทรัพย์สินเงินทองที่เราได้มานั้นสำคัญสุด   เราก็จะกลายเป็นคนที่หยิ่งผยองเพราะคิดว่าตนคือผู้ที่สามารถทำงานจนมีความมั่งคั่งเช่นนี้   พระธรรมตอนนี้ย้ำเตือนผู้เชื่อให้มุ่งหวังที่จะมีชีวิตที่ใกล้ชิดสนิทแนบกับพระเจ้าผู้เป็นแหล่งและเป็นผู้ประทานความมั่งคั่งแก่เขา   เพื่อเขาจะมีชีวิตที่มีความสุข ชื่นชมจากความมั่งคั่ง   มิใช่เทิดทูนทรัพย์สิ่งของเหล่านั้น  

เพราะนั่นจะทำให้เรายกย่องเทิดทูนทรัพย์สินมั่งคั่งเป็นพระเจ้าของเรา   และนั่นจะกลายเป็นรูปเคารพในชีวิตของเรา!

เพื่อนรุ่นพี่ของผมคนหนึ่ง  เขาทำสิ่งหนึ่งเป็นประจำทุกวันคือ   นั่งในม้านั่งที่มีที่วางแขนและเอนได้นิดหนึ่ง   เขาบอกผมว่าได้ซื้อเก้าอี้ตัวนี้จากร้านขายสินค้าราคาประหยัด   เป็นพลาสติก  อายุมากกว่า 25 ปีเข้าไปแล้ว   วางอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ในสวนของเขา   เขาจะมานั่งดูดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในแต่ละวัน   เป็นความสุขชื่นชอบที่เขาได้รับในแต่ละวัน   ไม่จำเป็นที่ต้องเป็นเก้าอี้ราคาแพง แบรนด์แนม  หรือม้านั่งฝังเพชร  เพื่อนรุ่นพี่คนนี้ก็ได้ชื่นชมกับความสุขใจจากฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าได้   และนี่คือความสุขชื่นชมที่ไม่มีใครจะแย่งชิงจากเขาได้

ในแต่ละวันเราคงต้องกลับมาสอบถาม ตรวจสอบตนเองว่า   อะไรที่ทำให้ฉันไม่มีความสุขชื่นชมในชีวิต?  เช่น  เมื่อเรายังหนุ่ม-สาววัยรุ่น  เราคิดว่าถ้าเรามีแฟนเราจะมีความสุขมาก เมื่อมีแฟนแล้วเราก็บอกกับตนเองว่า  ถ้าเราได้แต่งงานและใช้ชีวิตด้วยกันจะเป็นความสุขมากกว่านี้   แต่เมื่อแต่งงานอยู่ด้วยกันแล้วก็บอกกับตนเองว่า   ถ้ามีลูกเราจะมีความสุขสมบูรณ์แน่   เมื่อมีลูกแล้วเราก็คิดว่า เมื่อไหร่ลูกจะโต เรียนจบ  เป็นผู้ใหญ่ หลังจากนั้นเราจะมีความสุขที่แท้จริง   เมื่อลูกโตออกจากบ้านไปมีครอบครัวแล้ว   ปรากฏว่าเขาก็ยังไม่พบความสุขในชีวิต   ส่วนใหญ่เราตกอยู่ใน”วังวนที่ไม่มีความความสุข”   เพราะเราไปคาดหวังว่าถ้าเรามีสิ่งนั้น สิ่งนี้   ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเราจะมีความสุข   และในที่สุดเราก็ไม่สามารถพบความสุขชื่นชมในชีวิตสักที

การที่ใครก็ตามจะมีความสุขและความชื่นบานในชีวิตอยู่ที่ว่าเขาเลือกที่จะอยู่อย่างมีสุข  เขาเลือกที่จะมีชีวิตที่จะชื่นชมยินดีในสิ่งเล็กสิ่งน้อยที่เกิดขึ้นในชีวิต   อยู่ที่เขาแต่ละคนจะเลือกระหว่าง จะมีสุข หรือ เลือกที่จะ “มีมากกว่านี้”?   ความจริงคือ ความสุขมิได้ขึ้นอยู่ที่เรามีโน่นมีนี่  หรือ สถานการณ์แวดล้อมเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

ถ้าเราไม่มีความสุขในเวลานี้   เราก็จะไม่มีความสุขเมื่อเวลาผ่านไป

ในสลัมแห่งหนึ่งมีสองคนที่มีห้องซุกหัวนอนติดกัน คนหนึ่งมีจิตใจที่ห่อเหี่ยว ท้อแท้ สิ้นหวัง แต่อีกคนที่อยู่ข้างห้องกลับมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข ชื่นชมกับสิ่งเล็กสิ่งน้อยที่มีในชีวิต ความสุขชื่นชมในชีวิตมิได้ขึ้นอยู่สถานการณ์แวดล้อม   ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนที่อยู่ด้วยว่าเป็นคนอย่างที่เราต้องการให้เป็นหรือไม่

แต่ความสุขชื่นชมในชีวิตขึ้นอยู่กับทัศนะมุมมองในชีวิตของคน ๆ นั้น   ถึงแม้คุณจะอยู่ในสถานการณ์แวดล้อมที่คนมองว่าสะดวกสบาย  อุดมสมบูรณ์  ผมยืนยันได้ว่า คุณอาจจะไม่มีความสุขชื่นชมท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์และทันสมัย   เพราะคุณจะยังต้องการมากเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้จักพอ ทำให้คุณมีความต้องการไม่รู้จักจบสิ้น และนี่เองที่คุณจะไม่ได้พบความสุขชื่นชมเลยในชีวิต

ความสุขเป็นสิ่งที่ท่านจะต้องเลือกว่า ท่านจะมีชีวิตที่มีความสุขชื่นชม

เลือกที่จะชื่นชมกับสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าประทานแก่ท่านในชีวิตประจำวันตามที่พระองค์ต้องการให้ท่านมีความสุขชื่นชม   แต่สิ่งนี้เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเรามีความใกล้ชิดสนิทแนบกับพระเจ้าก่อน   และเห็นถึงพระคุณของพระองค์ในชีวิตของเรา  

ความสุขเป็นความชื่นชมที่เรามีความสัมพันธ์กับพระเจ้า  

ความสุขเกิดจากความสำนึกขอบพระคุณในความรักเมตตาของพระองค์   มิใช่สิ่งของ สถานการณ์ที่พระองค์ประทานให้

แล้ววันนี้เราจะเลือกมีสิ่งของต้องการ มีสถานการณ์ชีวิตที่พอใจ   หรือ เราจะเลือกติดสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า   และ รู้จักที่จะนับพระคุณของพระองค์ในแต่ละวัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

18 กรกฎาคม 2561

มีเวลาที่สงบเงียบกับพระเจ้า

ท่านไม่ได้รอคอยพระเจ้าหรอก!   แต่พระเจ้าต่างหากที่กำลังรอคอยท่าน!

พระเจ้าจะยังไม่ตรัสกับท่าน  ถ้าชีวิตของท่านยังวุ่นวายด้วยเสียงต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน   แต่ถ้าท่านจะฟังเสียงของพระเจ้าท่านต้องหาที่สงบและอยู่ลำพังส่วนตัวกับพระองค์   เราเรียกช่วงเวลาเช่นนี้ว่า “เวลาที่สงบเงียบ” กับพระเจ้า

ในมัทธิว 6:6  พระเยซูคริสต์ตรัสในทำนองนี้กับสาวกของพระองค์ว่า...  เมื่อท่านอธิษฐาน  จงหาที่เงียบสงบ เป็นที่เฉพาะส่วนตัวกับพระเจ้า   เพื่อท่านจะเปิดใจแสดงตัวตนที่แท้จริงของท่านต่อหน้าพระองค์   เพื่อท่านจะได้มีท่าที และ วางตัวอย่างเรียบง่ายด้วยจริงใจ   แล้วเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญแก่ตัวท่านเองไปเป็นการให้ความสำคัญที่องค์พระผู้เป็นเจ้า   เมื่อนั้นท่านจะสัมผัสกับพระคุณของพระองค์ (มัทธิว 6:6 สมช.)

นี่คือกุญแจดอกสำคัญ ที่จะนำท่านให้ได้ยินการตรัสของพระองค์ และได้รับวิสัยทัศน์สำหรับชีวิตของท่านจากพระองค์ ระลึกเสมอว่า พระเจ้าประสงค์ที่จะพบปะพูดคุยกับท่าน

ท่านพึงตระหนักชัดว่า  ท่านไม่ได้รอคอยพระเจ้า  แต่พระองค์ต่างหากที่กำลังรอคอยท่าน

พระองค์ทรงกระทำให้ท่านมีสัมพันธภาพกับพระองค์   พระองค์ประสงค์ให้ท่านมีและใช้เวลากับพระองค์ในชีวิตประจำวันทุกวัน   พระองค์ต้องการให้ท่านได้กำหนดช่วงเวลาในทุกวันสำหรับที่จะพบปะกับพระองค์   อย่าลืมว่า พระเจ้าทรงรอคอยท่านอยู่

เป็นการยากอย่างยิ่งสำหรับชีวิตอย่างปัจจุบันนี้ที่เราจะมีเวลาที่สงบเงียบ  และอยู่ในที่เฉพาะส่วนตัวกับพระเจ้า   ไม่รู้ว่าเรารู้เท่าทันหรือไม่ว่า ในแต่ละวันมีเสียงที่ครอบงำทำให้เราสับสนวุ่นวายในชีวิต   คนในยุคนี้คุ้นชินกับชีวิตที่เต็มไปด้วยเสียงรอบข้างตน   จนไม่คุ้นชินกับการอยู่เงียบ ๆ น่าสังเกตว่า พอมาถึงห้องนอน หรือห้องของตนเอง ต้องเปิดทีวี วิทยุ เปิดเสียงจากโทรศัพท์มือถือ  ต้องเขี่ยไลน์  ควานหาข่าวสาร  เข้าหาเฟสบุ๊ค   ถ้าเราสังเกตในห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก  ต่างก้มหน้าก้มตาสนใจเครื่องสื่อสารของตนเองพร้อมหูฟัง   ในห้างสรรพสินค้าก็ต้องเปิดเสียงเพลง   การหาเวลาที่เราจะมีความสงบเงียบจริง ๆ สำหรับตนเองยากทีเดียว

และยิ่งถ้าท่านจะต้องเลี้ยงเด็กในบ้านก็ยิ่งจะควานหาเวลาสงบเงียบได้ยากยิ่งกว่าใด ๆ ซูซานนา เวสเลย์ สตรีผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เธอมีลูก 18 คน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ จอห์น เวสเลย์  ผู้ก่อตั้งคริสตจักรเมธอดิสท์  และเป็นผู้ประกาศพระกิตติคุณให้แพร่ขยายไปทั่วอเมริกา และเธอยังมีลูกอีกคนหนึ่งที่คริสตชนรู้จักกันอย่างดี คือ ชาร์ล เวสเลย์  ผู้ประพันธ์บทเพลงนมัสการพระเจ้ากว่า 6,000 เพลง

แล้วซูซานนาหาเวลาที่เงียบสงบกับพระเจ้าได้อย่างไรในเมื่อเธอต้องเลี้ยงลูกถึง 18 คน? จากหนังสืออรรถประวัติของซูซานนา  เล่าไว้ว่า  ในทุกช่วงบ่ายเธอจะนั่งบนเก้าอี้โยกของเธอ   แล้วเอาผ้ากันเปื้อนของเธอปิดคลุมศีรษะเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง   ลูก ๆ ของเธอรู้ว่า  ถ้าแม่เอาผ้ากันเปื้อนคลุมศีรษะหมายความว่า “ห้ามลูกคนใดที่จะรบกวนแม่  มิเช่นนั้นลูกคนนั้นจะได้รับผลจากการที่รบกวนแม่ในเวลาดังกล่าว”

จอห์น เวสเลย์กล่าวไว้ว่า เพราะคำอธิษฐานของแม่ที่เปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตของเขา

เราท่านสามารถหาเวลาที่จะสงบเงียบและเป็นการส่วนตัวกับพระเจ้าได้  ถ้าเราท่านตั้งใจแน่วแน่ที่จะต้องการมีเวลาที่สงบเงียบ และเป็นการส่วนตัวกับพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

ประเด็นที่เราต้องตอบตนเอง
  1. ในวันหนึ่งๆท่านใช้เวลาในความเงียบสงบกับพระเจ้ามากน้อยแค่ไหน?
  2. ครอบครัวของท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า ท่านต้องการช่วงเวลาสงบเงียบ   ทำอย่างไรครอบครัวจะรู้และหนุนเสริมท่านในเรื่องนี้?
  3. ถ้าเรามีเวลาที่สงบเงียบ เป็นเวลาส่วนตัวเฉพาะกับพระเจ้า จะสร้างผลกระทบต่อชีวิตของท่าน และ ครอบครัวหรือไม่? อย่างไร?

16 กรกฎาคม 2561

ทำพันธกิจอย่างไรที่ไม่ตกเป็นเหยื่อของความเครียด?

การทำพันธกิจในคริสตจักร เป็นงานหนึ่งที่สร้างความเครียดแก่ผู้อภิบาลและทีมงานคริสตจักรที่ไม่แพ้งานอื่น ๆ เลยทีเดียว   ทีมงานพันธกิจคริสตจักรต้องเผชิญหน้ากับประเด็นต่าง ๆ ในพันธกิจที่ทำ  จนทำให้ความดันขึ้น   แต่มีศิษยาภิบาลบางท่านเคยตั้งข้อสังเกตว่า   แล้วเมื่อพระเยซูคริสต์ทำพันธกิจในสมัยของพระองค์  พระองค์ถูกกดดันจนเครียดหรือไม่?

ในสมัยที่พระเยซูคริสต์ทำพันธกิจ   ประชาชนรอบข้างเรียกร้องต้องการให้พระองค์ช่วยทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ   แน่นอนครับ นั่นก็เป็นการ “กดดัน” ลักษณะหนึ่ง   นอกจากนั้นแล้วพระองค์ยังถูกเข้าใจผิด และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้นำศาสนาในสมัยนั้น   แต่ถ้าเราสังเกต เราจะเห็นว่าพระองค์เผชิญกับสถานการณ์เหล่านั้น  แต่ไม่มีอาการหดหู่ หรือ ท้อแท้  พระองค์ไม่ได้ยกธงขาวยอมแพ้   เกิดคำถามว่า พระองค์ทำอย่างไรที่มีความสงบท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักเช่นนั้นได้?   แล้วเราท่านในปัจจุบันจะมีสันติ สงบในชีวิตท่ามกลางแรงกดดันมากมายในปัจจุบันนี้อย่างพระคริสต์ได้หรือไม่?

1.   รู้ว่าตนเองคือใคร?

พระ​เยซู​ตรัส​กับ​พวก​เขา​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ว่า “เรา​เป็น​ความ​สว่าง​ของ​โลก คน​ที่​ตาม​เรา​มา​จะ​ไม่​ต้อง​เดิน​ใน​ความ​มืด แต่​จะ​มี​ความ​สว่าง​แห่ง​ชีวิต” (ยอห์น 8:12 มตฐ.)

ตลอดชีวิตของพระเยซูคริสต์  พระองค์บอกชัดเจนว่าพระองค์เป็นใคร   มากกว่า 18 ครั้งที่พระองค์บอกว่า พระองค์คือใคร หรือ พระองค์เปรียบเหมือนอะไร   และตามด้วยคำอธิษฐาน   พระองค์ชัดเจนว่า พระองค์เป็นใคร  พระองค์บอกเสมอว่า “เรารู้ว่าเราคือใคร”   และเพราะการที่พระองค์รู้ชัดเจนว่าพระองค์เป็นใคร  ทำให้พระองค์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการกดดันจากรอบข้างชีวิตของพระองค์

บ่อยครั้งใช่ไหมที่เราต้องเครียดเพราะเราพยายามที่จะเป็นเหมือนคนบางคนที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา  เราสวมหน้ากากแล้วซ่อนตัวตนที่แท้จริงของเราจากคนรอบข้าง   เรากลัวว่าคนอื่นจะล่วงรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงของตน  และนี่ทำให้เราเครียดมิใช่หรือ?   ถ้าเรายังไม่ชัดเจนในตนเองว่า “เราคือใคร” นั่นเรากำลังมีชีวิตที่ “ตีสองหน้า” หรือ ต้องดำเนินชีวิตในสองตัวตนในคน ๆ เดียวกัน...   เหนื่อยครับ?

ให้เราลดความเครียดนี้  ด้วยการให้เกิดความพึงพอใจภายในของเราว่า เราคือใคร และ พระเจ้าทรงสร้างให้เราเป็นใคร   เราจะค้นพบว่า ตัวเราคือใครก็ด้วยการที่เราค้นพบว่า เราเป็นคนของใคร

2.   รู้เท่าทันว่าตนเองมีชีวิตอยู่เพื่อใคร

“เรา​จะ​ทำ​สิ่ง​ใด​ตาม​ใจ​ไม่​ได้ เรา​ได้​ยิน​อย่าง​ไร​เรา​ก็​พิ​พาก​ษา​อย่าง​นั้น และ​การ​พิ​พาก​ษา​ของ​เรา​ก็​ยุติ​ธรรม เพราะ​เรา​ไม่​ได้​มุ่ง​ที่​จะ​ทำ​ตาม​ใจ​ของ​เรา​เอง แต่​ตาม​พระ​ประ​สงค์​ของ​ผู้​ทรง​ใช้​เรา​มา (ยอห์น 5:30 มตฐ.)

พระเยซูคริสต์อุทิศทั้งชีวิตของพระองค์เพื่อที่จะมีชีวิตเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า   พระองค์มิได้มีชีวิตเพื่อความปรารถนาของตนเอง   หรือ มีชีวิตเพื่อให้ถูกใจคนบางคน   พระเยซูคริสต์รู้ชัดว่าการมีชีวิตที่พอพระทัยพระเจ้าเป็นการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง   เราไม่สามารถที่จะมีชีวิตถูกใจหรือเป็นที่พอใจของทุกคนได้   สำหรับพระคริสต์แล้วพระองค์ดำเนินชีวิตในโลกนี้ ทำพันธกิจในโลกนี้เพื่อให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เท่านั้น

และพระบืดาได้ยืนยันว่า  พระเยซูคริสต์มีชีวิตที่พอพระทัยพระบิดา   เมื่อพระเยซูทรงรับบัพติสมาจากยอห์น   มีเสียงยืนยันจากฟ้าว่า  “ท่าน​ผู้​นี้​เป็น​บุตร​ที่​รัก​ของ​เรา เรา​ชอบ​ใจ​ท่าน​มาก” (มัทธิว 3:17 มตฐ.)   และเมื่อพระคริสต์จำแลงพระกายที่บนภูเขาก็มีเสียงจากฟ้าเช่นกันว่า  “ท่าน​ผู้​นี้​เป็น​บุตร​ที่​รัก​ของ​เรา จง​เชื่อ​ฟัง​ท่าน​เถิด” (มาระโก 9:7 มตฐ.)

พระเยซูคริสต์มิได้มาในโลกนี้เพื่อทำให้ทุกคนพอใจในพระองค์   เราก็เช่นกันการรับใช้พระคริสต์มิใช่การทำให้คนทั้งหลายพึงพอใจในตัวเรา   เราทำทุกอย่างในชีวิตเพื่อให้เป็นที่พึงพอพระทัยของพระเจ้า   ชีวิตและการงานของเรา  เรากระทำด้วยสำนึกถึงการกระทำเพื่อให้เป็นที่พระเจ้าพึงพอพระทัย

เมื่อเราทำเพื่อให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า   นั่นหมายความว่าเรากระทำด้วยความรับผิดชอบและเพื่อตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้า   แม้ว่าการกระทำดังกล่าวของเราอาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่เป็นที่พึงพอใจของใครบางคนก็ไม่ทำให้เราท้อแท้หมดกำลังใจ   เพราะเราเป็นคนของพระเจ้า   กระทำตามพระประสงค์ของพระองค์ในสถานการณ์นั้น ๆ เรามิได้ทำเพื่อให้ใครบางคนชื่นชอบพอใจเรา หรือ ยอมรับในตัวเรา

3.  รู้แน่ชัดว่าเราทำเพื่อให้บรรลุสำเร็จในเรื่องใด

พระเยซูตรัสตอบว่า “... เพราะเรารู้ว่าเรามาจากไหนและจะไปไหน แต่พวกท่านไม่รู้เลยว่าเรามาจากไหนหรือจะไปไหน...” (ยอห์น 8:14 อมธ.)

พระเยซูคริสต์รู้ชัดเจนว่าพระองค์ต้องการบรรลุสำเร็จในเรื่องอะไร   เราก็ควรที่จะรู้ชัดเจนเช่นกันว่าที่เรากระทำนั้นเพื่อให้บรรลุสำเร็จในเรื่องอะไร   ให้ชีวิตของเรามีเป้าหมาย   และจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังในการดำเนินให้บรรลุตามเป้าหมายนั้น

คนที่ตกเป็นเหยื่อของความเครียดมักเป็นคนที่ไม่มีเป้าหมาย  หรือ มีเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน   แต่ละคนต้องเลือกเอาว่าชีวิตประจำวันของเราจะเป็นคนที่มีระบบขั้นตอนที่สำคัญก่อนหลังในการดำเนินชีวิต  หรือไม่ก็ต้องเลือกที่จะพบกับความกดดันจนเครียดในชีวิต   ถ้าเราไม่ตัดสินใจว่าอะไรที่มีความสำคัญในชีวิต  และเราต้องการบรรลุสำเร็จในเรื่องอะไรแล้ว   ระวัง...คนอื่นจะเข้ามาจัดการตัดสินและเลือกให้เรา

การที่เรามีการจัดลำดับสิ่งสำคัญในชีวิตช่วยป้องกันมิให้เราตกเป็นเหยื่อถูกครอบงำของความเร่งด่วน   แล้วเราต้องวิ่งไล่แก้ตามปัญหาที่เกิดขึ้น   ไม่มีใครต้องการที่ทำงานแทบตายตลอดวันแต่กลับงงงวยประหลาดใจว่า  วันนี้เราทำอะไรสำเร็จบ้างหรือไม่เนี่ย!   วันนี้เราทำสิ่งที่คุณค่าความหมายอะไรสำเร็จบ้าง?   คนที่ต้องทำงานยุ่งวุ่นตลอดวันไม่ได้หมายความว่าเขาจะบรรลุสำเร็จสิ่งสำคัญในวันนั้น   เราอาจจะทำงานเหมือน “หนูติดจั่น” วิ่งหมุนกงล้อตลอดวันแต่ไปไม่ถึงไหนเลยนอกจากวิ่งในกงล้อนั้น   การมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้งานพันธกิจและชีวิตครอบครัวของท่านง่ายขึ้น   และลดความเครียดจากการทำลงได้

วันนี้เรารู้ไหมครับว่า   “เราคือใคร?”  “เรามีชีวิตอยู่เพื่อใคร?”  “เราทำเพื่อบรรลุอะไร?”

ถ่าเรารู้ชัดและดำเนินตามนั้น   นี่คือเส้นทางชีวิตที่ไม่ตกในหลุมพรางแห่งความเครียด ท้อแท้ สิ้นหวัง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

13 กรกฎาคม 2561

เรียกร้อง...ความถูกต้องเป็นธรรม!

ปัจจุบันไม่ว่าในสังคมไหน   เราจะพบการเรียกร้องให้คนเรากระทำในสิ่งที่ถูกต้อง  กดดันให้มีการกระทำความเป็นธรรมมากมาย  

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น หรือ อย่างน้อยก็ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้อง “คนอื่น” ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง  กดดันให้คนอื่นรับผิดชอบและกระทำในสิ่งที่เป็นความยุติธรรม  

แล้วสังคมก็จะมองว่าคน ๆ นั้นมีความกล้าหาญทางจริยธรรม   คนนั้นกล้าพูดความจริง   เขากล้าเสี่ยงมาเปิดโปงความผิดต่าง ๆ ของคนอื่น และ ที่เกิดขึ้นในสังคม

ยิ่งกว่านั้น   หลายคนยังมองว่าคน ๆ นั้น “ยืนหยัด” บนความถูกต้องชอบธรรม   เพราะดูซิ เขากล้ากระหน่ำซ้ำเติมอย่างไม่ยอมลดราวาศอก  

ใครจะไปรู้   เขาอาจจะกลายเป็น “ฮีโร่” ของเยาวชนคนมากมายก็ได้?   การกระทำแบบนี้กลายเป็น “ผู้กล้าในดวงใจ” ของเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกมากมายก็ได้ ...ใครจะไปรู้?

เมื่อใกล้เวลาสัปดาห์สุดท้ายในช่วงชีวิตของพระเยซูคริสต์ที่ปรากฏตัวในสังคมโลกนี้    ในสัปดาห์สุดท้าย พระองค์ก็เผชิญกับ “การเรียกร้อง กดดัน ความถูกต้องเป็นธรรม” ด้วย?    ให้เราระลึกถึงเหตุการณ์ และ คำสอนของพระคริสต์    ให้เรามีเวลาที่จะสงบ ใกล้ชิด ติดสนิทกับพระองค์   สะท้อนคิดถึงชีวิตการเป็นสาวกพระคริสต์ในชีวิตประจำวันของตน

วันนี้ให้เราย้อนระลึกถึงชีวิตการทำพันธกิจของพระคริสต์ในโลกนี้   พระองค์ทรงใช้ชีวิตที่เปิดเผย  และพระองค์ทรงสอนในสิ่งที่เป็นชีวิตประจำวันของเรา   ลึกซึ้งแต่ไม่ลึกลับซับซ้อน   คำสอนของพระองค์เป็นรูปธรรม  และคำสอนของพระองค์ตอบโจทย์ชีวิตของประชาสามัญชนคนบาปทั่วไป

เมื่อพวกผู้นำศาสนา พร้อมด้วยลิ่วล้อที่ยุแยงตะแคงรั่ว ที่จะทำให้พระเยซูตกลงในกับดักที่ตนวางไว้   เพื่อจะประนามทำลายความน่านับถือและการยอมรับนับถือของพระองค์ในหมู่ประชาชน   พวกเขานำหญิงที่ถูกจับได้ขณะกำลังทำผิดประเวณี   แล้วเรียกร้องให้พระองค์ตัดสินหญิงคนนี้ตามบทบัญญัติ   กดดันพระองค์ให้เป็นคนตัดสินคนอื่น

แต่ในความนิ่ง สงบ และความเงียบของพระองค์   พระคริสต์บอกกับพวกเขาว่า  “ถ้าใครไม่เคยทำความบาปผิดก็ให้คนนั้นเป็นคนแรกที่เอาหินขว้างหญิงคนนี้” (ยอห์น 8:3-11)

ใช่ครับ...   ถ้าเราคิดจะทำให้คนอื่นเป็นคนที่ถูกต้องบริสุทธิ์   ไม่ใช่พร่ำสอน  บังคับ กดดัน ให้คนอื่นเป็นคนที่ทำถูกต้อง มีชีวิตที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม  

แต่พระคริสต์ให้เราเริ่มต้นที่จะ “พิจารณาตนเอง” ก่อน

ในคำสอนของพระคริสต์ยังได้สอนเราว่า   ถ้าเราคิดว่าจะช่วยเขี่ยผงออกจากตาของเพื่อนบ้าน   ให้เรางัดเอาไม้ซุงทั้งท่อนที่ขวางการมองเห็นความจริงของเราออกไปเสียก่อน(มัทธิว 7:3-5)    

นี่คือแนวทางปฏิบัติง่าย ๆ สำหรับชีวิตสาวกพระคริสต์ในชีวิตประจำวันครับ

ถ้าเราคิดจะสร้างสาวกพระคริสต์   ให้เราเริ่มสร้างสาวกในชีวิตของตนเองก่อนครับ!  

เพราะถ้าชีวิตประจำวันของเราเป็นชีวิตที่สำแดงการเป็นสาวกของพระคริสต์ที่แท้จริงแล้ว   การสร้างสาวกก็สำเร็จไปเกินครึ่งแล้วครับ

ถ้าเราเป็นสาวกพระคริสต์  เราจะไม่เริ่มต้นด้วยการเรียกร้อง กดดัน ให้คนอื่นทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือ กดดันให้คนอื่นต้องทำหน้าที่ กำจัด ชำระ สังคมชุมชนให้ถูกต้อง   แต่ให้เราเริ่มต้นที่จะ ชำระ เปลี่ยนแปลงในตัวเราเองก่อนตามที่พระคริสต์สอนและที่เป็นตัวอย่างแก่เราจะดีไหม?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

11 กรกฎาคม 2561

ตอบสนองความอยุติธรรมด้วยความรักเมตตา

บ่อยมากที่มีคริสตชนมาระบายให้ผมฟังว่า  เขาได้รับความไม่เป็นธรรมในที่ทำงานของเขา   บ้างบอกว่าเขาถูกนายจ้างเอาเปรียบ   หัวหน้าแย่งผลงานของตนไปเป็นผลงานของเขาต่อเจ้านาย   เพื่อนร่วมงานอู้งานเอาเปรียบทำให้ตนต้องทำงานหนักขึ้น  และอะไรอีกมากมาย  จนกระทั่งบางคนรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย    แล้วก็ถามคำถามยอดนิยมว่า  “แล้วจะให้ฉันตอบสนองเช่นไรในสถานการณ์นี้?”

มีสองทางเลือกใหญ่ ๆ ครับ... เลือกที่จะตอบสนองคนที่ทำให้เราต้องเจ็บปวดด้วยการตอบโต้กลับด้วยความชั่ว(เพื่อความเป็นธรรม?) และทางเลือกนี้เป็นทางเลือกปกตินิยมโดยทั่วไป   ง่าย  ไม่ต้องคิดมาก?

แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ชี้แนะทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ  “ท่าน​ทั้ง​หลาย​ได้​ยิน​คำ​ซึ่ง​กล่าว​ไว้​ว่า ‘จง​รัก​เพื่อน​บ้าน​ของ​ท่าน และ​เกลียด​ชัง​ศัตรู​ของ​ท่าน’ แต่​เรา​บอก​พวก​ท่านว่า จง​รัก​ศัตรู​ของ​ท่าน และ​จง​อธิษ​ฐาน​เพื่อ​บรร​ดา​คน​ที่​ข่ม​เหง​พวก​ท่าน” (มัทธิว 5:43-44 มตฐ.)

เมื่อใครก็ตามที่ทำให้เราต้องเจ็บปวด   เขารู้และคาดหวังว่าเราต้องตอบโต้การกระทำของเขาอย่างแน่นอน  เขาคาดว่าท่านต้องตอบโต้เขาด้วยการแก้แค้นเอาคืน   แต่พระเจ้าประสงค์ให้ท่านตอบสนองต่อสถานการณ์นี้ด้วยวิธีการที่ตรงกันข้าม  ด้วยวิธีคนละขั้ว   พระองค์ประสงค์ให้ท่านตอบสนองด้วยความรักเมตตา

เมื่อเราถูกกระทำอย่างชั่วร้าย-อย่างอยุติธรรม(จากคนอื่น)  แต่เรากลับตอบสนองด้วยความรักเมตตา   ถ้าเรากระทำเช่นนี้เราก็สามารถที่จะหลุดพ้นจากการควบคุมของคนอื่นที่กระทำต่อเรา  Booker T. Washington กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้คนอื่นมาควบคุมชีวิตของข้าพเจ้าด้วยการที่เขาทำให้ข้าพเจ้าต้องเกลียดเขา”   เราไม่สามารถควบคุมคนอื่นไม่ให้กระทำการอยุติธรรมต่อเรา   แต่เราสามารถควบคุมว่า เราจะยอมให้การกระทำที่ไม่ยุติธรรมของคนอื่นทำให้เราต้องเจ็บปวด เครียด โกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจในชีวิตหรือไม่?    เราสามารถควบคุมการตอบสนองของเราเองต่อสถานการณ์ที่อยุติธรรมนั้นได้!

การที่เราตอบสนองต่อผู้ที่กระทำความผิดความอยุติธรรมแก่เราด้วยความรักเมตตา  มิได้หมายความว่าเรายอมให้เกิดความอยุติธรรม   ตรงกันข้าม  เราแสวงหาความยุติธรรมด้วยความรักเมตตาต่างหาก   เราต้องสร้างสันติยุติธรรมในสังคมโลกนี้โดยไม่ใช้การตอบโต้ แก้เผ็ด และ ด้วยความรุนแรง   พระคัมภีร์บัญชาแก่เราว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า​ตรัส​ดัง​นี้​ว่า จง​กระ​ทำ​ความ​ยุติ​ธรรม​และ​ความ​ชอบ​ธรรม ... และ​อย่า​ทำ​ความ​ผิด​หรือ​ความ​ทารุณ​... (เยเรมีย์ 22:3 สมช.) 

Martin Luther King Jr. เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมแก่เราในเรื่องนี้   เขาต่อสู้กับความอยุติธรรมโดยไม่ยอมใช้ความรุนแรง   เขาชนะอำนาจแห่งความชั่วร้ายด้วยพลังแห่งความรักเมตตา   เขาทำตามแบบของพระคริสต์   เขาเลือกที่จะยกโทษแก่คนที่ข่มเหง ทำร้าย ทำลายเขา   แม้ในขณะที่เขากำลังถูกฆ่าล้างทำลาย

และนี่ก็เป็นการทรงเรียกที่พระเจ้ามีต่อเราในการเป็นสาวกพระคริสต์ติดตามพระองค์   ความอยุติธรรม ความไม่เสมอภาค ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นจริงในสังคมโลกปัจจุบัน   เราต้องระวังไม่ถลำลงไปในกับดักของมันด้วยการตอบโต้ รุนแรง   แต่พระเจ้า ทรงเรียกให้เราตอบสนองด้วยความรักเมตตาแบบพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

09 กรกฎาคม 2561

วันนี้...ที่มีพระเจ้า

ในชีวิตประจำวันของเรา
แต่ละวันเป็นโอกาสที่เราจะรับการเปลี่ยนแปลง
และเสริมสร้างใหม่จากพระคริสต์
ให้มีชีวิตตามแบบอย่างพระองค์
และตามพระประสงค์ของพระองค์
สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นการมีชีวิตในวันใหม่คือ
การอธิษฐานทูลการเสริมสร้างจากพระองค์
วันนี้...ท่านต้องการรับการเปลี่ยนแปลง
และเสริมสร้างจากพระองค์หรือไม่?
ถ้าต้องการ...ให้เราอธิษฐานด้วยกันดังนี้

พระเจ้าโปรดช่วยลูกในวันนี้...
ให้ลูกเห็นสิ่งที่ดี ๆ ในชีวิตของผู้คนที่ประสบพบเห็น
มีจิตใจที่จะให้อภัยคนที่ผิดพลาดและต่อต้านขัดขวางลูก
มีความคิดที่ไม่จดจำความบาปผิดของคนอื่น
มีจิตวิญญาณที่ไม่สูญเสียความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า
และให้ชีวิตลูกเป็นท่อแห่งพระพรที่เชื่อมต่อจากพระเจ้า...
...ถึงคนที่พบเห็น
ด้วยการหนุนเสริมจากองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์
ในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

06 กรกฎาคม 2561

เป้าหมายชีวิต...ของคริสตชน

สำหรับคริสตชนแล้ว  เป้าหมายปลายทางสุดท้ายที่คริสตชนมุ่งไปให้ถึงคือ   พระประสงค์ที่พระเจ้าต้องการให้สำเร็จเกิดผลในชีวิตที่พระองค์ประทานแก่เรา  

แต่ในความเป็นจริง กว่าที่เราแต่ละคนจะไปถึงเป้าหมายปลายทางแห่งชีวิตนั้น   เราจะต้องจาริกไปบนเส้นทางชีวิตแต่ละวัน  แต่ละเดือน และ ในแต่ละปี  ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาเราก็มีเป้าหมายชีวิตสำหรับช่วงเวลานั้น ๆ นั่นหมายความว่า ถ้าเราจะจาริกให้ไปถึงเป้าหมายปลายทาง ในแต่ละช่วงเวลาเราชีวิตต้องรู้ว่าอะไรคือเป้าหมายชีวิตในช่วงเวลานั้น  และเมื่อไปถึงเป้าหมายของช่วงเวลานั้น   เราก็จะพบก้าวเดินใหม่ที่เราจะต้องก้าวต่อไปอีก  ซึ่งเป็นการเข้าสู่อีกช่วงเวลาหนึ่ง  เราก็จะต้องชัดเจนถึงเป้าหมายของช่วงเวลาใหม่นั้น  แล้วก้าวต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เรากล่าวได้ว่า การที่แต่ละคนจะจาริกไปให้ถึงเป้าหมายปลายทางแห่งชีวิตนั้น จะต้องก้าวผ่านเป้าหมายเล็กเป้าหมายย่อยแต่ละช่วงเวลาที่เชื่อมต่อเนื่องกัน เป็นเหมือนการที่เราจะก้าวข้ามธารน้ำ ที่มีหินวางให้เราเหยียบจากก้อนหนึ่งไปสู่หินรองเท้าให้เราเหยียบอีกก้อนหนึ่งที่วางในลำธารนั้น   แล้วค่อย ๆ ก้าวข้ามไปในลำธารนั้นไปทีละก้าวบนหินที่รองให้เราเหยียบทีละก้อน ไปเป็นทางยาวจนกว่าเราจะถึงอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางของเรา 

หินแต่ละก้อนที่วางต่อกันอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นเหมือนเป้าหมายย่อยของแต่ละช่วงเวลา หรือ แต่ละช่วงทางชีวิตที่เราจะต้องบรรลุหรือก้าวให้ถึงทีละก้าว บนหินทีละก้อน จนกว่าหินรองเท้าเดินข้ามลำธารนั้นพาเราไปถึงอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางที่เราต้องการไปให้ถึง

การที่เราจะบรรลุเป้าหมายปลายทาง หรือ เป้าหมายสูงสุดในชีวิต  เราจะต้องก้าวไปทีละก้าวผ่านเป้าหมายย่อยที่รายเรียงกันเป็นทางที่เราจะต้องก้าวเหยียบลงบนหินรองเท้าเดินแต่ละก้อนอย่างต่อเนื่อง 

ความจริงที่เราต้องพบและต้องตระหนักเสมออีกประการหนึ่งว่า   หินรองเท้าที่เราต้องก้าวไปทีละก้าวนั้นมิได้เป็นเส้นตรงเสมอไป  อาจะจะต้องคดเคี้ยวเลี้ยวย้อนในบางช่วง   ซึ่งบางครั้งก็ดูเหมือนว่า ไม่ได้ก้าวหน้า หรือ ยิ่งกว่านั้นดูเหมือนกำลังย้อนมาข้างหลัง  

แต่เราต้องค่อย ๆ สังเกต ค่อย ๆ เรียนรู้ และ ค่อย ๆ เข้าใจว่า   หินรองเท้าเดินไปแต่ละก้อนต้องผ่านสภาพธารน้ำที่ลึกตื้นไม่เท่ากัน   ต้องผ่านกระแสน้ำที่เชี่ยวหรือเฉื่อยไม่เหมือนกัน   นอกจากที่มีขนาดก้อนไม่เท่ากันแล้ว   ยังคดเคี้ยวไปตามเส้นทางที่เหมาะสมปลอดภัยอีกด้วย

การทรงนำของพระเจ้าเป็นเหมือนเส้นทางที่ก้อนหินรองเท้าเดินข้ามลำธารที่วางไปทีละก้อนถ้าเราตัดสินใจก้าวไปบนหินก้อนที่หนึ่งไปยังก้อนที่สอง  เราก็จะเห็นก้อนที่สามที่ชัดขึ้น และ สามารถประเมินได้ว่าเราจะก้าวต่อไปยังก้าวที่สามอย่างไร  พอก้าวไปยืนบนหินรองเท้าเดินก้อนที่สามเราก็จะเริ่มเห็นก้อนต่อไป   เป็นกระบวนการที่ก้าวไปด้วยความไว้วางใจที่ตัดสินใจเสี่ยงก้าวไปอย่างต่อเนื่อง   ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่สามารถมองเห็นอีกฝั่งหนึ่งว่าเป็นอย่างไร   แต่เราไว้วางใจในการทรงนำของพระเจ้าเพราะแต่ละก้าวเดินเราพบหินรองเท้าเดินอีกก้อนหนึ่งที่เราสามารถก้าวต่อไป   แล้วทำให้เราสามารถก้าวอย่างต่อเนื่องได้  

พระเจ้าทรงวางย่างก้าวแต่ละก้าวไว้  เราต้องตัดสินใจที่จะวางใจในพระองค์แล้วกล้าที่จะก้าวไปสู่หินรองเท้าเดินก้อนที่อยู่ข้างหน้า ทีละก้อน  โดยไม่จำเป็นว่าเราต้องเห็นหินรองเท้าเดินตลอดเส้นทางก่อน หรือ เห็นเป้าหมายปลายทางอีกฝั่งหนึ่งอย่างชัดเจนก่อนถึงจะตัดสินใจเดินไป   

เพราะบนเส้นทางนี้เราต้องเดินไปด้วยความเชื่อศรัทธาที่ไว้ใจในการทรงนำของพระเจ้า

“พระเจ้า...วาง​เท้า​ของ​ข้าพ​เจ้า​ลง​บน​ศิลา   ทำ​ให้​ย่าง​เท้า​ของ​ข้าพ​เจ้า​มั่น​คง” (สดุดี 40:2 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

03 กรกฎาคม 2561

ในความกลัว...จงขอบพระคุณพระเจ้าเถิด เพราะ...

“องค์พระผู้เป็นเจ้า​ทรง​เป็น​ศิลา​ป้อม​ปรา​การ และ​ผู้​ช่วย​กู้​ของ​ข้าพ​เจ้า”
พระ​เจ้า​แห่ง​ศิลา​ของ​ข้าพ​เจ้า ข้าพ​เจ้า​เข้า​ลี้​ภัย​อยู่​ใน​พระ​องค์
พระ​องค์​ทรง​เป็น​โล่ เป็น​พลัง​แห่ง​ความ​รอด​ของ​ข้าพ​เจ้า
ทรง​เป็น​ที่​กำ​บัง​อัน​แข็ง​แกร่ง​และ​ที่​ลี้​ภัย​ของ​ข้าพ​เจ้า
พระ​ผู้​ช่วย​ของ​ข้าพ​เจ้า
พระ​องค์​ทรง​ช่วย​ข้า​พระ​องค์​ให้​รอด​จาก​ความ​ทา​รุณเลวร้าย 
(2ซามูเอล 22:2-3 สมช.)

เช้านี้พระเจ้าถามในจิตใจของฉันว่า
“ลูกเอ๋ย   อะไรคือความกลัวสุดขีดในชีวิตของลูก
อะไรคือความคร้ามกลัวที่ฝังแน่ในส่วนลึกแห่งจิตใจของลูก?”

ฉันตอบแบบตรงไปตรงมาว่า
ลูกกลัวอนาคตที่กำลังคืบคลานเข้ามาหา
ลูกกลัวว่า ชีวิตของลูกจะเป็นเหมือนที่คนอื่นบอกว่าลูกจะมีชีวิตเช่นนั้น
ที่เขาบอกว่าลูกจะล้มเหลว  ผิดหวัง  จะเสื่อมเสีย  เสียหน้า  สูญเสีย...

ทันที  พระองค์ตอบเสียงความกลัวลานดังกล่าวแก่ฉันว่า
“จงกล้าหาญเถิด   เราอยู่กับเจ้า
เราคือแหล่งแห่งความช่วยเหลือสำหรับเจ้า
เราต่างหาก ที่มีสิทธิอำนาจที่จะบอกว่า  ชีวิตของเจ้าจะเป็นเช่นไร
และเราจะ..........แก่เจ้า”

วันนี้   ฉันขอกล่าวหนุนจิตชูใจคนที่สภาพชีวิตจิตใจตกอยู่ในสภาพอย่างฉัน
มีบางเวลาใช่ไหม  ที่เราดูถูก ดูแคลน  และลดคุณค่าในตนเอง
แต่จงขอบพระคุณพระเจ้าเถิด
พระบิดาเท่านั้นที่มีสิทธิอำนาจที่จะบอกแก่เราว่า 
เราเป็นใคร และ จะมีชีวิตในอนาคตอย่างไร
เพราะเราเป็น “บุตรที่รักขององค์พระผู้เป็นเจ้า”

สะท้อนคิดความเชื่อ เช้าที่ 2018-07-02  ณ  สำนักงานคริสตจักรภาคที่ 11  นครปฐม

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

02 กรกฎาคม 2561

ฝ่าทะลวงอุปสรรค


ในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน
ต่างต้องพบกับอุปสรรคขวางกั้น  เราต่างต้องฝ่าทะลุอุปสรรคในชีวิต
ถึงแม้ว่า เรามีสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรคที่แตกต่างไม่เหมือนกันก็ตาม
ผมเองอาจจะไม่สามารถเข้าใจสถานการณ์อุปสรรคในชีวิตที่ท่านกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
แต่แน่นอนที่สุดครับ เรามีพระบิดาที่รักเมตตาที่ใส่ใจในชีวิตของเราแต่ละคน
ผมเชื่อมั่นว่า  พระองค์จะไม่ละทิ้งเราไม่ว่าอุปสรรคนั้นจากใหญ่ยากปานใดก็ตาม
ให้เราอธิษฐานด้วยกันครับ

พระบิดา และ องค์พระผู้เป็นเจ้าของลูก ๆ ทั้งหลาย
ขอบพระคุณสำหรับความรักเมตตา และ การเอาใจใส่ของพระองค์ในชีวิตของลูก
ขอบพระคุณพระองค์ทรงรักลูกแต่ละคนตามสภาพชีวิตที่แต่ละคนเป็นอยู่
ถึงแม้เมื่อลูกของพระองค์ต้องเผชิญหน้ากับภัยมืด  หมดทางสู้  หาทางออกไม่ได้
แม้ลูก ๆ ของพระองค์ต้องหมดความเชื่อ สิ้นหวังในชีวิต พระองค์ก็ยังรักลูก

พระบิดาที่รัก   ไม่ว่าตอนนี้ชีวิตของลูกต้องประสบกับภัยร้ายในลักษณะใดก็ตาม
ลูกเชื่อว่าพระบิดายังสัตย์ซื่อในความรักเมตตาต่อลูก
ไม่ว่าสถานการณ์ชีวิตของลูกต้อง “จมปลัก”  “ติดแหงก” หาทางออกไม่ได้
ลูกยังขอบพระคุณพระองค์   เพราะลูกเชื่อมั่นว่า
พระองค์จะทรงกอบกู้และปลดปล่อยลูกออกจากสถานการณ์นั้น
ลูกเชื่อมั่นว่า  “พระองค์จะฉุดลูกขึ้นจากโคลนตม และ วางเท้าบนศิลาแห้งที่มั่นคง”
มิใช่ ให้สถานการณ์ที่เลวร้ายเกิดขึ้นกับลูกอันตรธานหายไป  
แต่ขอพระบิดาช่วยลูกให้สามารถฝ่าทะลุอุปสรรคเหล่านั้น
ความมืดอาจบังตาลูก  
แต่พระองค์จะจูงมือของลูกแต่ละคนที่จะเดินผ่านอุปสรรค ภยันตรายเหล่านั้นออกมา

ลูกขอมอบปัญหา อุปสรรค และอารมณ์ที่หวั่นไหวผันแปรให้อยู่ในพระหัตถ์ที่เมตตาของพระองค์
และขอประกาศถึงความเชื่อว่าพระเองค์จะทรงกระทำอย่างที่เคยทำแล้วในสดุดีบทที่ 91
และในที่สุดขอทรงช่วยกู้ลูกอย่างใน สดุดี 40:2-3

พระ​องค์​ได้​ทรง​ฉุด​ข้าพ​เจ้า​ขึ้น​มา​จาก​หลุม​มรณะ    ออก​มา​จาก​เลน​ตม
แล้ว​วาง​เท้า​ของ​ข้าพ​เจ้า​ลง​บน​ศิลา   ทำ​ให้​ย่าง​เท้า​ของ​ข้าพ​เจ้า​มั่น​คง
พระ​องค์​ได้​ทรง​บรรจุ​เพลง​ใหม่​ใน​ปาก​ข้าพ​เจ้า   เป็น​บท​เพลง​สรร​เสริญ​พระ​เจ้า​ของ​เรา
คน​มาก​มาย​จะ​เห็น​และ​เกรง​กลัว   และ​วาง​ใจ​ใน​พระ​ยาห์​เวห์