27 มิถุนายน 2554

พระเจ้าทรงเรียกท่านในวันนี้ให้บริการรับใช้ผู้คนตามโอกาสและศักยภาพที่ท่านมี

9...(พระเจ้า)ทรงเรียกเราด้วยการทรงเรียกอันบริสุทธิ์ ไม่ใช่ตามการกระทำของเรา แต่ตามพระประสงค์และพระคุณของพระองค์เอง... (2ทิโมธี 1:9)

ไม่ว่าเราแต่ละคนจะมีอาชีพการงานอะไรในวันนี้ พระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคน ทุกคน ให้ทำพันธกิจบริการรับใช้ในฐานะคริสเตียน หรือ ในฐานะสาวกของพระคริสต์ และนี่คือการทรงเรียกของพระเจ้า พระเจ้าทรงเรียกให้เราแต่ละคนสำแดงความรักของพระคริสต์ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ในการงานที่เรารับผิดชอบ ในอาชีพที่เราทำ ในชีวิตครอบครัว และในความสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน การสำแดงความรักของพระคริสต์ผ่านโอกาสเหล่านี้ ผู้คนจะเห็นว่าเราเป็นสาวกของพระคริสต์ และเราเป็นคนที่ดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์ (2ทิโมธี 1:9; โรม 8:28; 1โครินธ์ 1:26-27)

การให้บริการรับใช้ผู้คนรอบข้าง ผู้คนที่เราพบปะเจอะเจอในแต่ละวันด้วยความรักเมตตาของพระคริสต์นั้น มิใช่เพราะเราอยากเป็นคนดีเราจึงทำเช่นนั้น พระคัมภีร์บอกชัดว่า ที่เราทำเช่นนั้นก็เพราะเรายอมใช้เวลา โอกาส และชีวิตของเราตามพระประสงค์ของพระเจ้า และที่เราสามารถกระทำได้เช่นนั้นเป็นเพราะพระคุณของพระเจ้า กล่าวคือที่เราทำได้เช่นนั้น เพราะชีวิต ความคิด จิตใจของเราได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระองค์ และความรักเมตตาของพระคริสต์เข้ามาครอบครองในชีวิตของเรา เราจึงมีใจมีชีวิตที่จะทำพันธบริการแก่ทุกคนในพระนามของพระเยซูคริสต์ และการที่เราทำได้เพราะพระเจ้าทรงทำการบริการรับใช้ผ่านชีวิตของเรา และนี่คือพระคุณของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเราแต่ละคน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การที่คริสเตียนแต่ละคนรับใช้บริการแก่คนรอบข้างนั้นเป็นการสำแดงให้คนรอบข้างได้เห็นได้สัมผัสถึงความรักของพระคริสต์ อย่างที่เปโตรได้เขียนไว้ว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการประกาศถึง “พระเกียรติคุณ” ของพระเจ้า (1เปโตร 2:9)

เราในฐานะสาวกของพระเยซูคริสต์ พึงระวังกรอบคิดกรอบเชื่อที่ส่งทอดกันมาจากอดีต ที่มักทำให้เราคิดว่า เมื่อพูดถึงการทรงเรียกของพระเจ้าเรามักคิดถึงมิชชันนารี คนไปเรียนโรงเรียนพระคัมภีร์ พระคริสต์ธรรม คนที่เป็นศิษยาภิบาล ผู้ปกครอง มัคนายก หรือคนที่อุทิศตนทำงานของพระเจ้าเต็มเวลาในคริสตจักร แต่ถ้าเราศึกษาพระคัมภีร์เราจะพบว่า พระเจ้าทรงเรียกให้ทุกคนต้องทำพันธกิจบริการรับใช้ เพื่อเสริมสร้างคริสตจักรคือพระกายของพระคริสต์ให้เข้มแข็งขึ้น (เอเฟซัส 4:4-14 โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 12; 2เปโตร 1:3)

เมื่อเราใช้เวลา โอกาส ศักยภาพความสามารถที่พระเจ้าทรงประทานให้ในการช่วยคนอื่น บริการรับใช้คนที่เราพบเห็นด้วยความรักของพระเยซูคริสต์ ท่านกำลังตอบสนองการทรงเรียกของพระเจ้า “...เพื่อเราจะได้เกิดผลถวายแด่พระเจ้า” (โรม 7:4)

ให้เราตอบสนองการทรงเรียกของพระเจ้าในวันนี้ ด้วยการทำพันธกิจบริการรับใช้ด้วยความรักของพระเยซูคริสต์ ตามศักยภาพ ความสามารถ ตามโอกาสในที่ทำงาน ในครอบครัว ในชุมชน และการพบปะผู้คนต่างๆในวันนี้ เพื่อชีวิตคริสเตียนของเราจะเกิดผลถวายแด่พระเจ้า

17 มิถุนายน 2554

นักบริหารสไตล์พระเยซู

ท่านจะนำและบริหารจัดการอย่างไร กับลูกทีม 12 คน ที่มีสติปัญญาในระดับปานกลาง สถานภาพทางสังคมอยู่ในระดับกลางลงค่อนมาทางระดับล่าง และเป็นคนที่มีการศึกษาระดับกลางหรือน้อยกว่านั้นจนถึงระดับไม่มีการศึกษา? แต่พระเยซูคริสต์คิดการใหญ่ พระองค์วางแผนที่จะใช้คนกลุ่มนี้ในแผนการระยะยาว แผนการการพลิกเปลี่ยนโลกใบนี้

แน่นอน พระองค์ต้องพบกับปัญหามากมาย ตัวอย่างหนึ่งเช่น ยากที่จะเกิดผลอย่างชัดเจนตามที่ประสงค์ ผลที่เกิดขึ้นยากที่จะอธิบาย แผนงานทั้งหมดใช้วิธีการจัดการด้วยองค์ประกอบที่ธรรมดาสามัญ ด้วยคำพูด ด้วยข้อเขียน และคนที่อุทิศทุ่มเท ทีมงานมีค่าตัวถูกมากแต่มีส่วนต่างที่ค่อนข้างสูง ค่าใช้จ่ายในการพูดคุยต่อหัวลูกค้าใช้แรงงานค่อนข้างมาก ผลประโยชน์แรกที่ลูกทีมได้รับคือชีวิตที่ได้รับการค้ำประกันว่าจะได้รับความรอด ความจริงแล้ว ลูกทีมทั้งหมดไม่ได้รับเงินเดือนแต่อย่างใด พวกเขารู้ว่าเขาจะต้องมีรายได้ของตนเองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว และจะต้องอาสาบริการในงานที่ทำ

มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงพอประมาณ และยังมีการปลอมแปลงตราสินค้าอีกด้วย และนี่เองกระมังที่ทำให้สินค้า “ความจงรักภักดี” จึงเป็นที่น่าสนใจมากกว่าสินค้าประเภทเดียวกันในตราอื่นๆ

ทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหา แต่กระบวนการนี้กลับเติบโตก้าวหน้าเกินกว่าคาดคิดเมื่อพิจารณาถึงเรื่องราวความสำเร็จในอีกหลายยุคสมัยหลังจากนั้น เป็นการง่ายที่เรามักหลงลืมว่าพระเยซูคริสต์เป็นมนุษย์จริงๆ แล้วพระองค์ก็ดำเนินชีวิตปกติธรรมดาเหมือนเราท่าน ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ของพระองค์ได้แสดงให้เราเห็นว่าควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร และความมีภาวะผู้นำที่ดีเลิศของพระองค์สำแดงให้เรารู้ว่าควรจะนำเช่นไร

เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากแบบอย่างภาวะผู้นำแบบพระเยซูคริสต์? ซึ่งมีข้อคิดความเห็นบางประการดังนี้

พระเยซูคริสต์เป็นคนที่เปี่ยมด้วยนิมิต หรือ วิสัยทัศน์
พระเยซูมิใช่ผู้บริหารที่หมกมุ่นกับการหารายรับเพื่อมีพอจะจ่ายเงินเดือนให้กับลูกน้องและกำไรในแต่ละไตรมาส แต่พระองค์เป็นผู้บริหารที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ สำหรับเราแล้วนี่หมายความว่าสิ่งที่เราต้องการไปให้ถึงเป้าหมายปลายทางจะต้องยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน ในงานใดหรือองค์กรใดที่เรานำ เราจะต้องมีสายตาที่มองกว้างไกลกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน

พระเยซูคริสต์ฝึกฝนทีมงานของพระองค์ให้มีภาวะผู้นำ
สิ่งแรกที่ทีมงานเรียนรู้จากพระเยซูคริสต์คือ เขามุ่งมองสิ่งที่พระองค์กระทำ จากนั้นพระองค์ทรงให้โอกาสพวกเขาได้ลงมือทดลอง ฝึกหัด และทำจริง ในบริเวณพื้นที่ที่เฉพาะเหมาะสม แล้วค่อยๆ ขยายพื้นที่กว้างขวางออกไป “ภายหลังเหตุการณ์เหล่านั้น พระเยซูทรงตั้งสาวกอื่นอีกเจ็ดสิบคนไว้ และใช้เขาออกไปทีละสองคนๆ ให้ล่วงหน้าพระองค์ไปก่อน ให้เข้าไปทุกเมืองและทุกตำบลที่พระองค์จะเสด็จไปนั้น” (ลูกา 10:1) ท่านจงเป็นผู้นำที่สร้างโอกาสให้ทีมงานได้มีโอกาสลงมือทำ ฝึกหัด เพื่อที่จะมีภาวะผู้นำ

พระเยซูคริสต์รู้แน่แก่ใจว่า ทีมงานของพระองค์มีเวลาที่ทำผิดพลาด
พระเยซูคริสต์รู้แน่แก่ใจว่า การกระทำผิดการกระทำพลาดของทีมงานเป็นสิ่งจะเกิดขึ้นได้ พระองค์ให้สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือองค์ประกอบหนึ่งในแผนงานของพระองค์ และพระองค์ทรงใช้ความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นโอกาสและขั้นตอนในการเตรียม และ เสริมสร้างทีมงานให้เกิดการเรียนรู้ที่ชัดเจน และรู้จักรับมือกับสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นตามที่คาดหมาย เช่นเหตุการณ์ที่สวนเกธเสมนีที่พระเยซูคริสต์เตือนให้สาวกคอยเฝ้าระวังด้วยการอธิษฐาน แต่สาวกกลับหลับใหลไม่ได้สติ เมื่อพระเยซูมาพบกับสาวกที่หมดสภาพเช่นนั้น พระองค์มิได้ท้อแท้กับสาวกที่ไม่เอาไหน แค่อธิษฐานเป็นเพื่อนพระองค์ก็ม่อยหลับไป แต่พระองค์ตรัสว่า “เป็นอย่างไรนะ พวกท่านจะเฝ้าระวังอยู่กับเราสักชั่วโมงไม่ได้หรือ? ... จิตวิญญาณพร้อมแล้วก็จริง แต่กายยังอ่อนกำลัง” (มัทธิว 26:40-41) ผู้นำที่ดี ยอมที่จะให้ทีมงานเผชิญกับความผิดพลาดล้มเหลวและเรียนรู้จากความผิดพลาดดังกล่าว

พระเยซูคริสต์ทรงปกป้องทีมงาน
เมื่อพระเยซูและเหล่าสาวกยังอยู่ที่สวนเกธเสมนีนั้น กองกำลังทหารได้ล้อมจับพระเยซูและสาวก พระเยซูคริสต์มิได้ปล่อยให้ทหารจับสาวกของพระองค์ พระองค์ตรัสถามกองกำลังทหารว่า “พวกท่านมาหาใคร?” เขาทูลตอบว่า “มาหาเยซูชาวนาซาเร็ธ” พระเยซูตรัสตอบว่า “เราบอกท่านแล้วว่าเราเป็นผู้นั้น ถ้าท่านตามหาเราก็จงปล่อยคนเหล่านี้ไปเถิด” (ยอห์น 18:7-8) พระองค์ลุกขึ้นปกป้องทีมงานของพระองค์ ท่านต้องเตรียมพร้อมที่จะลุกขึ้นปกป้องทีมงานของท่านในทุกเวลาที่พวกเขาถูกโจมตี ให้ร้าย หรือถูกทำลาย

พระเยซูคริสต์เอาใจใส่และรับผิดชอบต่อสิ่งที่จำเป็นต้องการของทีมงาน
เมื่อทีมงานของพระองค์กำลังเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน พระองค์ตรัสว่า “...จงปลีกตัวออกมาหาที่สงบเพื่อหยุดพักสักหน่อยหนึ่ง” (มัทธิว 6:31) เมื่อทีมงานของพระองค์กำลังหิว พระองค์ตรัสกับเขาว่า “มารับประทานอาหารกันเถิด” (ยอห์น 21:12) และในเวลาเดียวกันพระองค์กล้าที่จะบอกทีมงานตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้น “พระองค์ตรัสว่า “เปโตรเอ๋ย เราบอกท่านว่า วันนี้ก่อนไก่ขัน ท่านจะปฏิเสธว่าไม่รู้จักเราถึงสามครั้ง” (ลูก 22:34) พระองค์เตรียมตัวเตรียมใจทีมงานของพระองค์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นแก่เขาที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้

พระเยซูคริสต์ยอมให้สิ่งที่จะต้องเกิดให้เกิดขึ้นในเวลาของมัน
พระเยซูคริสต์เผชิญหน้ากับสิ่งที่ดูเลวร้ายที่จะต้องเกิดด้วยความสงบมั่นคง และยังรักษาสัมพันธภาพที่มีต่อลูกทีมของพระองค์ด้วยสติมั่นคง พระเยซูจึงตรัสกับเขา(ยูดา)ว่า “ท่านจะทำอะไรก็จงทำเร็วๆ” (ยอห์น 13:27-28) ผู้นำแบบพระคริสต์ไม่หลบหลีกสิ่งเลวร้ายที่ต้องเกิดขึ้น ถ้าสิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งในพระประสงค์ของพระเจ้า

พระเยซูคริสต์มั่นใจในภาวะผู้นำของพระองค์
พระเยซูคริสต์รู้ชัดเจนว่าพระองค์จะนำทีมงานไปสู่ทิศทางไหน เป้าหมายปลายทางใด และรู้อีกด้วยว่าจะไปให้ถึงที่นั่นได้อย่างไร พระเยซูคริสต์เป็นผู้นำที่เป็นมนุษย์ พระองค์ล้างเท้าของสาวก เลี้ยงอาหารประชาชน สอนพวกเขา ตักเตือนเมื่อเขาออกนอกลู่นอกทาง พระองค์เข้าใจถึงภาพใหญ่ที่เป็นภาพของเป้าหมายปลายทางที่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่พระองค์ตระหนักถึงความจริงที่ต้องประสบพบในการทำงาน ในฐานะมนุษย์ที่กำลังทำงาน พระองค์มีนิมิตที่ยิ่งใหญ่แต่ทรงกระทำทีละเรื่องบนสภาพความเป็นจริงในความเป็นมนุษย์ในเวลานั้นและสภาพการณ์นั้นๆ

15 มิถุนายน 2554

ทะลุหลุดออกจากความคิดเดิมๆ

ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมักเป็นคนที่มีความคิดที่ไหลลื่น ยืดหยุ่น หร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความคิดของตน ซึ่งบุคคลนั้นมักมีคุณลักษณะที่สำคัญ 3 ประการในการดำเนินชีวิตประจำวันของเขา

1) เป็นผู้ที่เมื่อทำผิด ยอมรับว่าตนได้ทำผิด ด้วยคำพูดธรรมดาที่จริงใจว่า “ผมทำผิดครับ” แต่หลายคนที่ไม่ยอมพูดคำนี้เพราะต้องแสดงตัวให้ใครต่อใครเห็นว่าตนเป็นคนที่ทำถูกต้อง กลัวเสียหน้าถ้าบอกคนอื่นให้รู้ว่าตนทำผิด การที่พยายามปกปิดสิ่งที่ทำผิด การปฏิเสธว่าตนทำผิด หรือแม้แต่พยายามกล่าวโทษคนอื่นหรือสภาพแวดล้อม ย่อมทำให้ตนเองต้องสูญเสียพลังความคิดพลังภายในชีวิตอย่างมากมาย และที่สำคัญคือการไม่ยอมรับผิดคืออุปสรรคที่ขวางกั้นมิให้สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าที่มีพลังและเกิดผล

2) กล้าที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตนทำผิด คนที่มีความอ่อนแอในความนึกคิดมักมองว่า การยอมรับว่าตนทำผิดเป็นคำพูดของคนที่อ่อนแอ แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น คนที่กล้ายอมรับผิดคือคนที่มีความเติบโตมั่นคงขึ้นเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะทางความนึกคิด เป็นบุคลิกที่น่าไว้ใจและเป็นผู้ที่มีจิตใจที่เข้มแข็ง ทุกคนย่อมทำผิดได้ในแต่ละวัน

3) มีใจเปิดกว้างสำหรับข้อมูลข่าวสารและความคิดใหม่ๆ ที่ตนเองไม่คุ้นชิน ผู้คนที่มีความคิดที่สร้างสรรค์ย่อมเป็นคนที่เปิดใจเปิดความคิดยอมรับพิจารณาข้อมูลและความคิดใหม่ๆ อย่างใจกว้างขวาง และพร้อมที่จะบอกอย่างสัตย์ซื่อว่า “ผมได้เปลี่ยนความคิดเรื่องนี้แล้ว” น่าสงสารอย่างยิ่งที่มีผู้คนมากมายต้องตกอยู่ในภาวะที่ตนรู้สึกคับอกคับใจ รู้ถึงไม่สบาย อึดอัด เพียงเพราะเขาไม่เต็มใจ หรือ กลัวว่าเขาจะต้องเปลี่ยนแปลงความคิดของตน

ยอมสูญเสียสิ่งที่ตนคุ้นชิน
ถ้าท่านได้รับข้อมูลข่าวสารหรือความคิดใหม่ๆ ที่ตนไม่คุ้นชิน และสิ่งนั้นทำให้ท่านรู้สึกว่าการตัดสินใจของท่านที่ผ่านมาอาจจะไม่ถูกหรืออาจจะผิดพลาด จงยอมรับว่าท่านต้องเปลี่ยนความคิดแล้ว อย่าให้คนใดหรือสิ่งใดต้อนท่านให้จนมุมคลุกอยู่ในมุมความคิดเดิมๆ จงรวบรวมพลังภายในและความกล้าหาญที่จะยอมสูญเสียสิ่งที่ตนสนใจสิ่งที่ตนคุ้นชิน เพื่อที่ท่านจะเปลี่ยนความนึกคิดและได้รับสิ่งที่ดีกว่าเดิม

ลงมือปฏิบัติ
มีสองแนวทาวทางที่ท่านสามารถทะลุออกจากความนึกคิดเดิมที่คับแคบแล้วมุ่งสู่การเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์
ประการแรก จงเต็มใจยอมรับว่าท่านไม่ได้เป็นคนที่สมบูรณ์พูนพร้อม ท่านทำผิดในเรื่องธรรมดาสามัญหลายเรื่อง นี่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าท่านเป็นคนที่มีปัญญาและความกล้าหาญ
ประการที่สอง ด้วยข่าวสารความนึกคิดใหม่ๆ ท่านจงเต็มใจที่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิด แล้วสิ่งที่ท่านคิดท่านทำและรับผิดชอบจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างแตกต่างจากเดิมในอนาคต

สะท้อนคิดจากข้อเขียนของ Brian Tracy เรื่อง Break Away From Old Ideas

13 มิถุนายน 2554

คุณจำกัดการทำงานของพระเจ้าในชีวิตของคุณหรือเปล่า?

34โอ เยรูซาเล็มๆ ที่ได้ฆ่าบรรดาผู้เผยพระวจนะ และเอาหินขว้างผู้ที่รับใช้มาหาเจ้าให้ถึงตาย เราใคร่จะรวบรวมลูกของเจ้าไว้เนืองๆ เหมือนแม่ไก่กกลูกอยู่ใต้ปีกของมัน แต่เจ้าไม่ยอมเลยหนอ (ลูกา 13:34)

กรุณาอย่าหงุดหงิดกับชื่อของบทใคร่ครวญในวันนี้ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าท่านไม่เต็มใจให้พระเจ้าทำตามน้ำพระทัยของพระองค์ในชีวิตของท่าน แต่ผมคิดว่าในชีวิตของแต่ละคนเคยจำกัดขอบเขตการทำงานของพระเจ้าในชีวิตของตนไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตามที

ถึงแม้ว่าเราแต่ละคนต่างมีประสบการณ์ถึงการได้รับการยกโทษบาปจากพระเยซูคริสต์ให้เป็นผู้ที่ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่โดยทางพระองค์ก็ตาม แต่ก็มีบางช่วงเวลาที่เราต่อต้าน หรือ ขัดขวางพระราชกิจของพระเจ้าที่ประสงค์เปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา ทั้งนี้ น่าทึ่งอย่างยิ่งว่า เราสามารถที่ตอบปฏิเสธต่อพระราชกิจตามพระประสงค์ที่จะทำในชีวิตของเรา แม้จะเป็นการทรงอนุญาตเป็นเพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็ตาม

ในพระธรรมที่เราใคร่ครวญในตอนนี้ พระเยซูคริสต์ได้คร่ำครวญถึงกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ทบทวนถึงความทรงจำในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมถึงการทรงช่วยกู้ของพระเจ้าให้อิสราเอลหลุดรอดออกจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ และใช้ภาพเปรียบเทียบ อย่างที่ใช้ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เฉลยธรรมบัญญัติ 32:11 ที่ว่า

10...พระองค์ทรงโอบล้อมเขาไว้ และทรงดูแลเขาอยู่
ทรงรักษาเขาไว้ดังแก้วพระเนตรของพระองค์
11เหมือนนกอินทรีที่กวนรังของมันกระพือปีกอยู่เหนือลูกโต
กางปีกออกรองรับลูกไว้ให้เกาะอยู่บนปีก”

พระเยซูคร่ำครวญถึงเยรูซาเล็มว่า
“...เราใคร่จะรวบรวมลูกของเจ้าไว้เนืองๆ
เหมือนแม่ไก่กกลูกอยู่ใต้ปีกของมัน
แต่เจ้าไม่ยอมเลยหนอ” (ลูกา 31:34)
ประชาชนอิสราเอลในสมัยของพระเยซูไม่ยอมรับคำสอนของพระองค์ ที่พยายามปกป้องพวกเขาจากความหายนะแห่งชีวิตที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้

ข้อคำที่น่าสนใจในข้อนี้คือ “...แต่เจ้าไม่ยอมเลยหนอ”(ข้อ 34) ภาษากรีกของข้อความตอนนี้มีความหมายตามตัวอักษร แปลได้ว่า “แต่พวกเจ้าไม่เต็มใจ” พระเยซูไม่สามารถที่จะกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของประชาชนอิสราเอลในเวลานั้น เพราะพวกเขาไม่เต็มใจ ไม่ยอมรับ ต่อต้านพระราชกิจที่พระองค์ทรงกระทำ แทนที่ประชาชนจะละความคิดความต้องการของตนแล้วรับเอาพระประสงค์ของพระเยซู แต่พวกเขากระทำในทางตรงกันข้าม พระเจ้าทรงอนุญาตให้พวกเขาที่จะตัดสินใจเลือกทำตามทางของตนเอง แต่พวกเขาก็ต้องรับผลจากการเลือกของพวกเขา

บ่อยครั้ง ที่พระเจ้าทรงคร่ำครวญถึงชีวิตของเรา เช่น พระองค์อาจจะคร่ำครวญว่า “โอ ประสิทธิ์ เราต้องการที่จะอวยพรเจ้า และ ใช้เจ้าในงานแห่งแผ่นดินของเรา แต่เจ้ากลับไม่ยอม” อะไรที่ฉุดดึงเรามิให้เปิดชีวิตของเรากระทำตามพระราชกิจของพระเจ้า และ การทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านชีวิตของเรา อำนาจแห่งความผิดบาปและความชั่วร้ายในหลากหลายรูปแบบเป็นกำลังสำคัญที่ต่อต้านพระราชกิจของพระเจ้า และที่น่าสังเกตคือ อำนาจชั่วร้ายเหล่านี้มักจะทำให้เราตกอยู่ในความกลัว เช่น กลัวว่าถ้าทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าเราก็จะไม่ได้ผลตามที่เราต้องการ ถ้าทำตามนั้น พระเจ้าจะอยู่ที่นั่นจริงๆ หรือเปล่าและพร้อมช่วยเราหรือไม่ ถ้าเกิดความขัดข้อง เกิดปัญหา หรือเกิดวิกฤติ? ถ้าเราตัดสินใจก้าวไปด้วยความเชื่อ คนรอบข้างจะมองว่าเราเป็นคนโง่เขลาหรือเปล่า? เราปรารถนาความปลอดภัย เราต้องการรู้ชัดเจนก่อนว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องการมีชีวิตที่สะดวกสบายปลอดภัย เราคงจะมีชีวิตที่ใกล้ชิดกับพระราชกิจแห่งการทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราแน่ถ้าจะทรงทำให้เรามั่นใจก่อนว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น ใช่หรือไม่?

ท่ามกลางสภาวะที่เราพยายามจำกัดพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของเรา พระเจ้ามิได้ละทิ้งเราแต่ละคน ตรงกันข้ามกลับทรงติดตามใกล้ชิดเราทุกขณะทุกสถานการณ์ชีวิต พระเจ้าทรงอดทน ติดตาม รอคอย และแสวงหาโอกาสที่จะเสริมสร้างให้เราแต่ละคนมีประสบการณ์ตรงกับพระองค์ เพื่อทำให้เราเกิดความมั่นใจในพระองค์ และเติบโตขึ้นในชีวิต ทั้งสิ้นนี้ คือพระราชกิจที่ทรงตั้งต้นการดีไว้ในชีวิตของเรา และจะทรงกระทำให้สำเร็จจนถึงวันแห่งพระเยซูคริสต์ (ฟิลิปปี 1:6)

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ
1. ท่านเคยจำกัดพระราชกิจที่ทรงกระทำในชีวิตท่าน และ ทรงกระทำผ่านชีวิตของท่านหรือไม่?
2. อะไรที่จะช่วยให้ท่านไว้วางใจในพระเจ้ามากยิ่งขึ้น และเปิดชีวิตของตนแด่พระเจ้ามากกว่านี้?
3. ถ้าวันนี้ท่านไว้วางใจพระเจ้ามากกว่าที่เคยเป็นมา ท่านคิดว่าจะมีสิ่งแตกต่างอะไรเกิดขึ้นในชีวิตและในการงานที่ท่านทำในวันนี้?

09 มิถุนายน 2554

การอธิษฐาน...คือการรอคอยองค์พระผู้เป็นเจ้า

1ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์ร้องทูลพระองค์จากที่ลึก
2ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอทรงฟังเสียงของข้าพระองค์
ขอทรงเงี่ยพระโสต ฟังเสียงคำวิงวอนของข้าพระองค์
3ข้าแต่พระเจ้า ถ้าพระองค์จะทรงหมาย(ทรงบันทึก)ความบาปผิดไว้
องค์พระผู้เป็นเจ้าเจ้าข้า ผู้ใดจะยืนอยู่ได้
4แต่พระองค์มีการอภัย เพื่อเขาจะยำเกรงพระองค์
5ข้าพเจ้าคอยพระเจ้า จิตใจของข้าพเจ้าคอยอยู่
และข้าพเจ้าหวังในพระวจนะของพระองค์
6จิตใจของข้าพเจ้าคอยองค์พระผู้เป็นเจ้า
ยิ่งกว่าคนยามคอยเวลารุ่งเช้า
ยิ่งกว่าคนยามคอยเวลารุ่งเช้า
7อิสราเอลเอ๋ย จงหวังใจในพระเจ้า
เพราะในพระเจ้ามีความรักมั่นคง
และในพระองค์มีการไถ่อย่างสมบูรณ์
8และพระองค์จะทรงไถ่อิสราเอล
จากความบาปผิดทั้งสิ้นของเขา
สดุดี 130

ความคิดหงุดหงิดหรือความกระสับกระส่ายอะไรที่ครอบงำความนึกคิดของเราในตอนนี้?
เราจะมอบสิ่งเหล่านี้ให้พระเจ้าทรงจัดการได้อย่างไร?

เราเอาหลายเรื่องหลายราวสุมใส่ลงในความนึกคิดของเรา
แต่เรากลับไม่มีเวลาที่จะใส่ใจฟังพระเจ้า

พระเจ้ามิได้ตรัสกับเราเมื่อเราเริ่มงานใดงานหนึ่งและเมื่องานนั้นจบสิ้นลงเท่านั้น
แต่พระเจ้าตรัสกับเราตลอดเวลา

บางครั้งพระองค์อาจประสงค์ให้เราเปลี่ยนแนวทางที่เรากำลังดำเนินอยู่ก็ได้
แต่ในที่นี้มิได้หมายความว่าให้เรานั่งเฉยๆ “รอ” ว่าพระเจ้าจะตรัสอะไร

ในบางครั้งพระเจ้าอาจจะตรัสกับเราโดยตรง
แต่ในอีกหลายครั้งเช่นกันที่พระองค์ตรัสผ่านคนรอบข้างของเรา
เราต้องฟังคนเหล่านั้น ยื่นมือของเราออกและให้คนเหล่านั้นนำเรา

สิ่งแรกสุดของการอธิษฐานคือการที่เราต้องฟังพระเจ้า
เป็นการเปิดชีวิตของเราออกแด่พระเจ้า
แล้วพระองค์จะทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา
การอธิษฐานคือการที่เราเข้าถึงการทรงกระทำพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของเรา
ดังนั้น จงให้ชีวิตของเรามีพื้นที่สำหรับพระองค์จะทรงกระทำพระราชกิจ

การอธิษฐานเป็นเหมือนการที่เราเปิดประตูออกสู่โลกกว้างที่เรายังไม่เคยไปและพบเห็น
การอธิษฐานคือการที่ออกไปดูว่าสิ่งที่เราไม่เคยรู้เคยเห็นแท้จริงแล้วมีสภาพเช่นไร
พื้นฐานความจริงของการอธิษฐานคือ การเข้าถึงมุมมองของคำกล่าวที่ว่า
“โอองค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์กำลังตรัสอะไรกับข้าพระองค์?”

การอธิษฐานที่เปี่ยมล้นด้วยจิตใจแต่ไร้คำพูดก็ดีกว่าการอธิษฐานที่ไร้จิตใจแต่พร่ำพูดไม่หยุดไม่สิ้น
จอห์น บันยัน