17 มิถุนายน 2554

นักบริหารสไตล์พระเยซู

ท่านจะนำและบริหารจัดการอย่างไร กับลูกทีม 12 คน ที่มีสติปัญญาในระดับปานกลาง สถานภาพทางสังคมอยู่ในระดับกลางลงค่อนมาทางระดับล่าง และเป็นคนที่มีการศึกษาระดับกลางหรือน้อยกว่านั้นจนถึงระดับไม่มีการศึกษา? แต่พระเยซูคริสต์คิดการใหญ่ พระองค์วางแผนที่จะใช้คนกลุ่มนี้ในแผนการระยะยาว แผนการการพลิกเปลี่ยนโลกใบนี้

แน่นอน พระองค์ต้องพบกับปัญหามากมาย ตัวอย่างหนึ่งเช่น ยากที่จะเกิดผลอย่างชัดเจนตามที่ประสงค์ ผลที่เกิดขึ้นยากที่จะอธิบาย แผนงานทั้งหมดใช้วิธีการจัดการด้วยองค์ประกอบที่ธรรมดาสามัญ ด้วยคำพูด ด้วยข้อเขียน และคนที่อุทิศทุ่มเท ทีมงานมีค่าตัวถูกมากแต่มีส่วนต่างที่ค่อนข้างสูง ค่าใช้จ่ายในการพูดคุยต่อหัวลูกค้าใช้แรงงานค่อนข้างมาก ผลประโยชน์แรกที่ลูกทีมได้รับคือชีวิตที่ได้รับการค้ำประกันว่าจะได้รับความรอด ความจริงแล้ว ลูกทีมทั้งหมดไม่ได้รับเงินเดือนแต่อย่างใด พวกเขารู้ว่าเขาจะต้องมีรายได้ของตนเองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว และจะต้องอาสาบริการในงานที่ทำ

มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงพอประมาณ และยังมีการปลอมแปลงตราสินค้าอีกด้วย และนี่เองกระมังที่ทำให้สินค้า “ความจงรักภักดี” จึงเป็นที่น่าสนใจมากกว่าสินค้าประเภทเดียวกันในตราอื่นๆ

ทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหา แต่กระบวนการนี้กลับเติบโตก้าวหน้าเกินกว่าคาดคิดเมื่อพิจารณาถึงเรื่องราวความสำเร็จในอีกหลายยุคสมัยหลังจากนั้น เป็นการง่ายที่เรามักหลงลืมว่าพระเยซูคริสต์เป็นมนุษย์จริงๆ แล้วพระองค์ก็ดำเนินชีวิตปกติธรรมดาเหมือนเราท่าน ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ของพระองค์ได้แสดงให้เราเห็นว่าควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร และความมีภาวะผู้นำที่ดีเลิศของพระองค์สำแดงให้เรารู้ว่าควรจะนำเช่นไร

เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากแบบอย่างภาวะผู้นำแบบพระเยซูคริสต์? ซึ่งมีข้อคิดความเห็นบางประการดังนี้

พระเยซูคริสต์เป็นคนที่เปี่ยมด้วยนิมิต หรือ วิสัยทัศน์
พระเยซูมิใช่ผู้บริหารที่หมกมุ่นกับการหารายรับเพื่อมีพอจะจ่ายเงินเดือนให้กับลูกน้องและกำไรในแต่ละไตรมาส แต่พระองค์เป็นผู้บริหารที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ สำหรับเราแล้วนี่หมายความว่าสิ่งที่เราต้องการไปให้ถึงเป้าหมายปลายทางจะต้องยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน ในงานใดหรือองค์กรใดที่เรานำ เราจะต้องมีสายตาที่มองกว้างไกลกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน

พระเยซูคริสต์ฝึกฝนทีมงานของพระองค์ให้มีภาวะผู้นำ
สิ่งแรกที่ทีมงานเรียนรู้จากพระเยซูคริสต์คือ เขามุ่งมองสิ่งที่พระองค์กระทำ จากนั้นพระองค์ทรงให้โอกาสพวกเขาได้ลงมือทดลอง ฝึกหัด และทำจริง ในบริเวณพื้นที่ที่เฉพาะเหมาะสม แล้วค่อยๆ ขยายพื้นที่กว้างขวางออกไป “ภายหลังเหตุการณ์เหล่านั้น พระเยซูทรงตั้งสาวกอื่นอีกเจ็ดสิบคนไว้ และใช้เขาออกไปทีละสองคนๆ ให้ล่วงหน้าพระองค์ไปก่อน ให้เข้าไปทุกเมืองและทุกตำบลที่พระองค์จะเสด็จไปนั้น” (ลูกา 10:1) ท่านจงเป็นผู้นำที่สร้างโอกาสให้ทีมงานได้มีโอกาสลงมือทำ ฝึกหัด เพื่อที่จะมีภาวะผู้นำ

พระเยซูคริสต์รู้แน่แก่ใจว่า ทีมงานของพระองค์มีเวลาที่ทำผิดพลาด
พระเยซูคริสต์รู้แน่แก่ใจว่า การกระทำผิดการกระทำพลาดของทีมงานเป็นสิ่งจะเกิดขึ้นได้ พระองค์ให้สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือองค์ประกอบหนึ่งในแผนงานของพระองค์ และพระองค์ทรงใช้ความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นโอกาสและขั้นตอนในการเตรียม และ เสริมสร้างทีมงานให้เกิดการเรียนรู้ที่ชัดเจน และรู้จักรับมือกับสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นตามที่คาดหมาย เช่นเหตุการณ์ที่สวนเกธเสมนีที่พระเยซูคริสต์เตือนให้สาวกคอยเฝ้าระวังด้วยการอธิษฐาน แต่สาวกกลับหลับใหลไม่ได้สติ เมื่อพระเยซูมาพบกับสาวกที่หมดสภาพเช่นนั้น พระองค์มิได้ท้อแท้กับสาวกที่ไม่เอาไหน แค่อธิษฐานเป็นเพื่อนพระองค์ก็ม่อยหลับไป แต่พระองค์ตรัสว่า “เป็นอย่างไรนะ พวกท่านจะเฝ้าระวังอยู่กับเราสักชั่วโมงไม่ได้หรือ? ... จิตวิญญาณพร้อมแล้วก็จริง แต่กายยังอ่อนกำลัง” (มัทธิว 26:40-41) ผู้นำที่ดี ยอมที่จะให้ทีมงานเผชิญกับความผิดพลาดล้มเหลวและเรียนรู้จากความผิดพลาดดังกล่าว

พระเยซูคริสต์ทรงปกป้องทีมงาน
เมื่อพระเยซูและเหล่าสาวกยังอยู่ที่สวนเกธเสมนีนั้น กองกำลังทหารได้ล้อมจับพระเยซูและสาวก พระเยซูคริสต์มิได้ปล่อยให้ทหารจับสาวกของพระองค์ พระองค์ตรัสถามกองกำลังทหารว่า “พวกท่านมาหาใคร?” เขาทูลตอบว่า “มาหาเยซูชาวนาซาเร็ธ” พระเยซูตรัสตอบว่า “เราบอกท่านแล้วว่าเราเป็นผู้นั้น ถ้าท่านตามหาเราก็จงปล่อยคนเหล่านี้ไปเถิด” (ยอห์น 18:7-8) พระองค์ลุกขึ้นปกป้องทีมงานของพระองค์ ท่านต้องเตรียมพร้อมที่จะลุกขึ้นปกป้องทีมงานของท่านในทุกเวลาที่พวกเขาถูกโจมตี ให้ร้าย หรือถูกทำลาย

พระเยซูคริสต์เอาใจใส่และรับผิดชอบต่อสิ่งที่จำเป็นต้องการของทีมงาน
เมื่อทีมงานของพระองค์กำลังเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน พระองค์ตรัสว่า “...จงปลีกตัวออกมาหาที่สงบเพื่อหยุดพักสักหน่อยหนึ่ง” (มัทธิว 6:31) เมื่อทีมงานของพระองค์กำลังหิว พระองค์ตรัสกับเขาว่า “มารับประทานอาหารกันเถิด” (ยอห์น 21:12) และในเวลาเดียวกันพระองค์กล้าที่จะบอกทีมงานตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้น “พระองค์ตรัสว่า “เปโตรเอ๋ย เราบอกท่านว่า วันนี้ก่อนไก่ขัน ท่านจะปฏิเสธว่าไม่รู้จักเราถึงสามครั้ง” (ลูก 22:34) พระองค์เตรียมตัวเตรียมใจทีมงานของพระองค์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นแก่เขาที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้

พระเยซูคริสต์ยอมให้สิ่งที่จะต้องเกิดให้เกิดขึ้นในเวลาของมัน
พระเยซูคริสต์เผชิญหน้ากับสิ่งที่ดูเลวร้ายที่จะต้องเกิดด้วยความสงบมั่นคง และยังรักษาสัมพันธภาพที่มีต่อลูกทีมของพระองค์ด้วยสติมั่นคง พระเยซูจึงตรัสกับเขา(ยูดา)ว่า “ท่านจะทำอะไรก็จงทำเร็วๆ” (ยอห์น 13:27-28) ผู้นำแบบพระคริสต์ไม่หลบหลีกสิ่งเลวร้ายที่ต้องเกิดขึ้น ถ้าสิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งในพระประสงค์ของพระเจ้า

พระเยซูคริสต์มั่นใจในภาวะผู้นำของพระองค์
พระเยซูคริสต์รู้ชัดเจนว่าพระองค์จะนำทีมงานไปสู่ทิศทางไหน เป้าหมายปลายทางใด และรู้อีกด้วยว่าจะไปให้ถึงที่นั่นได้อย่างไร พระเยซูคริสต์เป็นผู้นำที่เป็นมนุษย์ พระองค์ล้างเท้าของสาวก เลี้ยงอาหารประชาชน สอนพวกเขา ตักเตือนเมื่อเขาออกนอกลู่นอกทาง พระองค์เข้าใจถึงภาพใหญ่ที่เป็นภาพของเป้าหมายปลายทางที่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่พระองค์ตระหนักถึงความจริงที่ต้องประสบพบในการทำงาน ในฐานะมนุษย์ที่กำลังทำงาน พระองค์มีนิมิตที่ยิ่งใหญ่แต่ทรงกระทำทีละเรื่องบนสภาพความเป็นจริงในความเป็นมนุษย์ในเวลานั้นและสภาพการณ์นั้นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น