29 กันยายน 2562

คุณลักษณะของพ่อแม่คริสตชนที่เข้มแข็ง


เมื่อมีโอกาสชวนพูดคุยกับอนุชนในคริสตจักรว่า ลักษณะของพ่อแม่คริสตชนที่พวกเขาต้องการเห็นในยุคนี้ ควรจะมีลักษณะอย่างไร? เมื่อนำสิ่งที่ได้จากการพูดคุยต่างกรรมต่างวาระต่างคริสตจักรมาประมวลเข้ากัน พ่อแม่คริสตชนในยุคศตวรรษที่ 21 ที่อนุชนคริสตจักรอยากเห็นมีภาพดังนี้

1. มีความเชื่อที่จริงแท้: มิใช่ความเชื่อในคริสตจักรเป็นอย่างหนึ่ง ในบ้านเป็นอีกอย่างหนึ่ง และในที่ทำงาน ในสังคมชุมชนเป็นอีกอย่างหนึ่ง

2. เมื่อทำผิดกล้าที่จะรับผิดและขอโทษ: ไม่มีใครที่เป็นคนที่ดีพร้อมสมบูรณ์ตลอดเวลา เรามีเวลาที่พลาดพลั้ง แม้กับคนที่ตนรักก็ตาม แต่การถ่อม จริงใจ กล้าที่จะกล่าวขอโทษยอมรับผิด การกระทำเช่นนี้จะฝังในจิตสำนึกของลูกที่ยากจะลืมได้

3. รักซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ: ความรักต่อกันของพ่อแม่นั้นเห็นได้เด่นชัดและครอบคลุมความรู้สึกของทุกคนที่อยู่ในบ้าน ลูก ๆ รู้และมั่นใจว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่สุขสงบปลอดภัยในครอบครัวนี้ ชีวิตในครอบครัวจะไม่แตกหักเป็นเสี่ยง ๆ

4. เป็นพ่อแม่ที่รับมือกับความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์: เรามักได้ยินเสียงของเด็ก หนุ่มสาว ในบ้านพูดถึงพ่อที่ขี้โมโห กระทำความรุนแรงต่อลูก หรือ ต่อแม่ แล้วเราจะคาดหวังว่าเด็ก ๆ ในครอบครัวเช่นนี้จะมีคุณลักษณะในการจัดการกับความไม่เห็นด้วยกันด้วยความรักและเมตตาได้อย่างไร?

5. เป็นพ่อแม่ที่ตั้งใจที่จะทำให้บรรยากาศในบ้านอยู่กันอย่างสนุกสนาน: พูดคุยกันหยอกล้อกันด้วยความสนิทสนม เป็นบ้านที่เปิดรับเพื่อน ๆ ของลูก เป็นพ่อแม่ที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าตนมีความสำคัญ เพื่อทำให้ลูก ๆ รู้สึกรักครอบครัวของเขา

6. เป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสอธิษฐานกับลูกเสมอ: พ่อแม่จำนวนมากที่อธิษฐานกับลูกเมื่อลูกยังเล็กอยู่ และมักหยุดที่จะอธิษฐานเมื่อลูกเติบโตขึ้น แต่ในยุคนี้เราต้องการพ่อแม่ที่อธิษฐานกับลูกแม้จะเติบโตขึ้น หรือแม้เมื่อลูกเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

7. พ่อแม่ทำให้คริสตจักรเป็นส่วนสำคัญในครอบครัวของเขา: เมื่อพ่อแม่ทำเช่นนี้ลูก ๆ ก็จะต้องการเป็นส่วนหนึ่งของคริสตจักรด้วย แต่ถ้าเมื่อกลับบ้าน พ่อแม่วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบต่อศิษยาภิบาล คณะธรรมกิจ หรือ สมาชิกบางคนในคริสตจักร ก็จะทำให้ลูก ๆ ไม่ค่อยอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในคริสตจักรนั้น

8. พ่อ แม่ให้ความสำคัญแก่ครอบครัวในอันดับต้น ๆ : เมื่อชวนเด็กโตคุยกันถึงลักษณะพ่อแม่ที่ตนประทับใจ พวกเขากล่าวว่า “เมื่อเราจำเป็นต้องการพ่อแม่ เขามีเวลาสำหรับเรา” “เรารู้เสมอว่า พ่อแม่รักเราเสมอ แม้เราจะทำให้เกิดความยุ่งยากแก่ท่านก็ตาม” “เวลาสำหรับครอบครัวพ่อแม่จะอยู่กับเราทุกครั้ง”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



27 กันยายน 2562

จะฟังเทศนาอย่างไรดี?

จากการ “ระเมิน” สู่ การ “ฏิบัติ” คำเทศน์

คนส่วนมาก ตำรับตำราส่วนใหญ่ มักจะพูดถึง  “จะเทศนาอย่างไร ถึง.....”

พูดง่าย ๆ เรามีคู่มือ มีคำสอนสำหรับนักเทศน์มากมาย แต่ปัจจุบันเราต้องการคู่มือสำหรับผู้ฟังเทศน์อย่างมากด้วยใช่ไหม?

เนื้อหาข่าวสารในการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ โดยเฉพาะคำเทศนา มีเพื่อที่จะหนุนเสริมพัฒนาให้ชีวิตจิตวิญญาณของมวลสมาชิกในคริสตจักรเจริญเติบโต แข็งแรง และเกิดผลในชีวิตประจำวัน

คนฟังเทศน์กลุ่มใหญ่ ๆ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือ  

กลุ่มแรก ฟังเทศน์เป็นพิธีกรรมหนึ่งทางศาสนาที่สมาชิกพึงปฏิบัติ เพื่อจะได้รับพระพร เพื่อความรู้สึกดีสบายใจ กลุ่มที่สอง กลุ่มที่แสวงหาความรู้ กลุ่มที่สาม กลุ่มที่ฟังเทศน์แล้ว “ประเมิน” การเทศนาของผู้เทศน์ ตั้งแต่เนื้อหา ประสิทธิภาพในการสื่อสาร ภาษาที่ใช้ในคำเทศน์ ท่าทางการสื่อสาร ความยาวสั้นของคำเทศนา และ ฯลฯ กลุ่มที่สี่ กลุ่มฟังเทศน์เพื่อความบันเทิง และ “การปลดปล่อยทางอารมณ์” กลุ่มที่ห้า กลุ่มที่ฟังเทศน์เพื่อแสวงหาว่า พระเจ้ามีพระประสงค์ให้ตนดำเนินชีวิต และ มีพฤติกรรมชีวิตประจำวันแบบไหน พระองค์ต้องการให้ชีวิตของฉันเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง พัฒนาอะไรบ้าง

วิธีการฟังเทศนาที่เป็น “อันตราย” ต่อจิตวิญญาณ

ประการแรก  ฟังเทศนาด้วยจิตนึกคิดที่วิพากษ์วิจารณ์ การทำเช่นนี้ความคิดวิพากษ์-วิจารณ์จะขวางการรับรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในพระวจนะครั้งนั้น

ประการที่สอง  ฟังคำเทศน์แล้วไปเปรียบเทียบนักเทศน์วันนี้กับนักเทศน์ดังคนอื่น ๆ ทั้งนักเทศน์ในทีวี หรือ นักเทศน์ออนไลน์ในปัจจุบัน ความสนใจของเราไปจดจ่ออยู่กับตัวนักเทศน์มากกว่าความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า และพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา

ประการที่สาม  ฟังเทศน์แล้วไปคิดถึงคนอื่น แต่ไม่ได้คิดถึงตนเอง คนนั้นคนนี้น่าจะมาฟังเทศน์ในวันนี้ การคิดถึงคนอื่นเช่นนี้  ควรจะเริ่มต้นจากตนเองว่า พระวจนะพระเจ้าวันนี้ต้องการให้ฉันเปลี่ยนแปลง พัฒนาชีวิตจิตวิญญาณในเรื่องอะไร แล้วเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน  จากนั้นค่อยคิดถึงสิ่งดี ๆ จากคำเทศน์สำหรับคนอื่นที่เราคิดถึงต่อไป

ถ้าเช่นนั้น เราจะมีวิธีการ หรือ แนวทางการฟังเทศนาในวันอาทิตย์อย่างไร?

แนวทางปฏิบัติ 1: จดจ่อที่เนื้อหาพระวจนะของพระเจ้า มิใช่ที่ตัวผู้เทศน์ อะไรคือประเด็นหลักของคำเทศนา? พระเจ้าตรัสอะไรกับฉันในคำเทศนาวันนี้? ให้เรามุ่งจดจ่อหาทางให้ชีวิตประจำวันของเราเข้าไปมีส่วนในพระวจนะ และ คำตรัสของพระเจ้าผ่านคำเทศนาวันนี้

แนวทางปฏิบัติ 2: ฟังเพื่อให้ได้ปัญญาความเข้าใจมากกว่าเพื่อความบันเทิง  เราจะไม่ติดยึดที่ตัวอย่างเปรียบเทียบที่ตลก สนุก แต่การเปรียบเทียบนั้นนำเราเข้าถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในพระวจนะ ช่วยให้เราเข้าใจพระวจนะวันนี้ชัดเจนมากขึ้นสำหรับเราที่จะปฏิบัติตามพระวจนะนั้น

แนวทางปฏิบัติ 3: ฟังให้เกิดการยกย่องถวายเกียรติพระเจ้ามากกว่าเพื่อการศึกษาเรียนรู้ พระวจนะของพระเจ้ามุ่งสั่งสอนเรา ให้มีความรู้ แต่ต้องเป็นความรู้นำสู่การปฏิบัติเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชีวิตจิตวิญญาณของเรา 2ทิโมธี 3:16-17 กล่าวว่า พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ในการสั่งสอน การว่ากล่าวตักเตือน การแก้ไขข้อบกพร่อง และการฝึกฝนในความชอบธรรม  เพื่อเตรียมคนของพระเจ้าให้พรักพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง (อมธ.)

แนวทางปฏิบัติ 4: เอาตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมในพระวจนะที่เทศนา มากกว่าเป็นเหมือนคนชมฟุตบอลข้างสนามเท่านั้น ทุกคนที่เข้ามาร่วมนมัสการพระเจ้าและฟังเทศน์ในวันอาทิตย์ ไม่มีใครเข้ามาในโบสถ์ด้วยชีวิตมี “ความเป็นไท” แต่ทุกคนแบกภาระชีวิตมาด้วย ความวิตกกังวล ความเครียด ปัญหาชีวิต เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทั้งในบ้าน ในที่ทำงาน ภาระเหล่านี้ที่แต่ละคนแบกมาด้วยย่อมทำให้จิตใจของแต่ละคนวอกแวก และทางหนึ่งที่เราจะมีชีวิตที่มีส่วนในพระวจนะคือ การที่เรามาหาพระเจ้าพร้อมด้วยภาระหนักอึ้งที่เราแบกอยู่  แสวงหาทางออกของชีวิตจากการชี้นำของพระวจนะในวันนั้น

แนวทางปฏิบัติ 5: ใจจดจ่ออยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตของตนมากกว่าความสมบูรณ์ของเนื้อหาคำเทศน์ จุดประสงค์ที่เรามาร่วมนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์เพื่อให้ชีวิตจิตวิญญาณของเราเติบโต เข้มแข็ง เกิดผล สิ่งนี้เริ่มต้นที่ชีวิตของเราได้รับการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่จากพระเจ้า  

เราต้องตระหนักชัดว่า พลังอำนาจในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรานั้นมาจากพระเจ้า ส่วนการที่จะเลือกรับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อยู่ที่การตัดสินใจเลือกของเราแต่ละคน

ให้เราเปลี่ยนจากการฟังเทศน์เพื่อ “ประเมิน” คำเทศน์ สู่ การ “ปฏิบัติ” คำเทศน์ดีไหม? 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



24 กันยายน 2562

คำประกาศแห่งความเชื่อศรัทธาของฉัน วันที่ 6


ฉันเชื่อมั่นว่า พระเจ้าทรงสร้างฉันให้เป็น “หัว” มิใช่ “หาง”
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงนำหน้าชีวิตฉันไป

พระองค์ทำให้ทางชีวิตที่คดเคี้ยวของฉันให้เที่ยงตรง
องค์พระผู้เป็นเจ้าจะเปลี่ยนความสิ้นหวังในชีวิตของฉัน
ให้เป็นความหวังในพระองค์

พระองค์จะเปลี่ยนความกลัวลานเป็นดวงดาวที่เจิดจำรัส
พระองค์จะทรงอวยพระพรงานต่าง ๆ ที่ฉันลงมือทำ
และสิ่งต่าง ๆ ที่ฉันสัมผัสเริ่มต้นจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

อนาคตของฉันนั้นสดใสแจ่มจรัส
เพราะพระองค์ทรงรักเมตตาฉัน
นี่คือคำประกาศแห่งความเชื่อศรัทธาของฉัน



23 กันยายน 2562

เป้าหมายชีวิตฉัน...มาจากไหน?

เราท่านต่างเห็นความสำคัญว่าชีวิตนี้ต้องมีวัตถุประสงค์ ต้องมีเป้าหมาย  

แต่เกิดคำถามเสมอว่า แล้วฉันจะไปหาวัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมายชีวิตฉันจากที่ไหน?

ณ วันนี้ ท่านมีวัตถุประสงค์อะไร มีเป้าหมายอะไรในชีวิต? แล้วท่านหาพบสิ่งนี้ได้จากที่ไหน?   ในฐานะคริสตชน อะไรคือวัตถุประสงค์ในชีวิต? แล้วเราจะหาพบได้ที่ไหนบ้าง?

การค้นหาให้พบวัตถุประสงค์ในชีวิตของเรา เป็นเรื่องของกระบวนการชีวิต มิได้ “เหตุการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต” แต่เป็นกระบวนการชีวิตที่ขับเคลื่อนพัฒนาไปจนเกิดความชัดเจนในวัตถุประสงค์ และ เป้าหมายในชีวิตเราแต่ละคน และที่สำคัญยิ่งคือ เรามี “ฐานเชื่อกรอบคิด” (Mindset) ในเรื่องนี้ว่าอย่างไร

ฐานเชื่อกรอบคิด 1:  “ไม่ใช่สิ่งที่ฉันอยากเป็นอยากมี”
คริสตชนเชื่อว่า ชีวิตของเราแต่ละคนพระเจ้าทรงสร้าง พระองค์ทรงสร้างให้เรามีความสัมพันธ์และผูกพันกับพระองค์ และสร้างเราให้มีความสัมพันธ์และความผูกพันกับเพื่อนมนุษย์ ดังนั้น  วัตถุประสงค์ และ เป้าหมายชีวิตของเราจึงไม่ได้มาจากสิ่งที่ “ฉันอยากมีอยากเป็น” แต่ฐานเชื่อกรอบคิดในเรื่องนี้คือ  พระเจ้าผู้สร้างเราอย่างมีจุดประสงค์และเป้าหมาย

ฐานเชื่อกรอบคิด 2:  “เป็นสิ่งที่พระผู้สร้างใส่ในชีวิตของแต่ละคน”
พระเจ้าสร้างเราแต่ละคนให้เป็นผู้ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ หรือ “อัตลักษณ์” ของเราแต่ละคน   ดังนั้น แต่ละคนได้รับมอบหมายให้มีความรับผิดชอบ/ความสามารถพิเศษที่จะทำในบางสิ่งบางเรื่องในชีวิตของเราแต่ละคน เป็นพลังชีวิตพิเศษที่เราจะใช้ในความสัมพันธ์กับคนอื่นในชุมชน  และธรรมชาติแวดล้อมที่พระเจ้าทรงสร้าง พระเจ้ามักใช้ความเจ็บปวดในชีวิตเราแต่ละคนเพื่อนำแต่ละคนให้ไปยังพระประสงค์สำหรับชีวิตของคน ๆ นั้น และนี่เป็นเหมือน “พระลิขิตชีวิตฉัน”

ดังนั้น ให้เราแต่ละคนค้นหาให้พบว่า อะไรคือสิ่งดี ๆ พิเศษ เฉพาะที่มีอยู่ในชีวิตเรา สิ่งที่เราตระหนักชัดว่าชอบที่จะทำ เรามีความสุขเพลิดเพลินในการทำสิ่งนั้นจนลืมเรื่องเวลาที่ล่วงเลยไป และนี่คือร่องรอยที่เราสามารถตามหา “อัตลักษณ์” และ “วัตถุประสงค์เฉพาะ” ในชีวิตของเรา

ฐานเชื่อกรอบคิด 3:  “สิ่งที่ท้าทายเรา”
สิ่งที่ท้าทาย เหตุการณ์/สถานการณ์ที่ท้าทาย คือโอกาสและเครื่องมือที่เราแต่ละคนใช้ขุดค้นหา “วัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมายในชีวิต” ของตน เช่น ชุมชนถูกภัยธรรมชาติโหมกระหน่ำ ไฟป่ากำลังลุกลามอย่างรุนแรง เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งกำลังเกิดปัญหาครอบครัว หรือ แรงงานจากพม่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างในพื้นที่ และ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่เราพบประสบเจอ และนี่คือโอกาสที่เราจะพิจารณาอย่างสงบสุขุม และอาจจะเลือกเข้าไปมีส่วนร่วมทุกข์ร่วมสุขในชีวิต หรือ ในสถานการณ์นั้น ๆ เพื่อเป็นโอกาสที่เราจะค้นหาว่า “เรามีความสุขใจ และ มีของประทาน หรือ ศักยภาพ หรือ ความสามารถ ที่จะรับมือและจัดการในเรื่องนั้นไหม? และ มีศักยภาพหรือของประทานใดที่เราสามารถพัฒนาให้เป็นความสามารถและความชำนาญได้

คริสตชนเชื่อว่า เมื่อพระเจ้าใส่ “วัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมายชีวิต” ใดในชีวิตเรา พระองค์จะประทายศักยภาพ ความสามารถที่ใช้ในการรับมือจัดการในเรื่องนั้นในชีวิตของเรา เพื่อเราสามารถจะทำได้ ความท้าทายในชีวิต จึงเป็นโอกาสที่เราจะค้นพบวัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมายในชีวิตของเราแต่ละคน

ฐานเชื่อกรอบคิด 4:  “ยิ่งทุ่มแรงยิ่งหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตของตน”
คริสตชนเชื่อว่า เมื่อเรากระทำสิ่งใดในชีวิตที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า พระองค์จะให้เกิดผลดีในชีวิตของเรา เพราะในฐานะคริสต์ชนเราไม่ได้ทำเพื่อ “บรรลุความสำเร็จ” หรือ “ปัญหาได้รับการแก้ไข” เท่านั้น แต่เราต้องการมีชีวิตที่ตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีสำหรับชีวิตของเรา และเรารู้ว่าเป็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายสำหรับชีวิตของเราเมื่อยิ่งเราทุ่มแรงทุ่มใจทำในสิ่งนั้นเรื่องนั้น เรายิ่งมีระดับพลังชีวิตที่สูงขึ้น เรามั่นใจว่านั่นคือ วัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมายชีวิตของเรา

ฐานเชื่อกรอบคิด 5:  “เป็นอาหารจากเบื้องบนที่หล่อเลี้ยงชีวิตจิตวิญญาณของเรา”
คริสตชนเรามีความเชื่อว่ การที่เราทำอะไรก็ตามในชีวิตประจำวัน ที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า  ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายในชีวิตของเรา สิ่งที่เรากระทำนั้นเป็น “อาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตจิตวิญญาณของเรา” พระ​เยซู​ตรัส​กับ​เขา​ว่า “อาหาร​ของ​เรา​คือ​การ​กระทำ​ตาม​พระ​ทัย​ของ​พระ​องค์ผู้​ทรง​ใช้​เรา​มา และ​ทำ​ให้​งาน​ของ​พระ​องค์​สำเร็จ​” (ยอห์น 4:34 มตฐ.)

ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วย ผู้บริหาร คนงาน  ครู/อาจารย์  พ่อค้า  พนักงาน  เกษตรกร  ศิษยาภิบาล พ่อ แม่ และ ฯลฯ   ที่ใช้หน้าที่การงานของตนเพื่อทำให้เกิดสิ่งดีมีคุณค่าขึ้นในชีวิตผู้คน ประสบการณ์เหล่านี้ที่เป็น “อาหาร” ที่หล่อเลี้ยงชีวิตจิตวิญญาณของเรา

“เพราะ​ว่า​เรา​เป็น​ฝี​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​องค์ ที่​ทรง​สร้าง​ขึ้น​ใน​พระ​เยซู​คริสต์​เพื่อให้​ประกอบการ​ดี ซึ่ง​พระ​เจ้า​ได้​ทรง​ดำริ​ไว้​ล่วงหน้า​เพื่อให้​เรา​กระทำ” (เอเฟซัส 2:10 มตฐ.)​

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


19 กันยายน 2562

บุคลิกภาพคริสตชน...ที่เราจำเป็นต้องมี

บทเรียนจากพระธรรมฟีเลโมน

จดหมายจากคุกฉบับนี้มีเพียงบทเดียว แต่ให้คุณลักษณะชีวิตคริสตชนไว้ชัดเจน

1.  เป็นคนที่หนุนเสริมเพิ่มกำลังใจคนรอบข้าง
คำพูดของเปาโลเป็นคำพูดที่ให้กำลังใจ ชื่นชมฟีเลโมนที่มีชีวิตที่รักประชากรของพระเจ้าตามแบบพระคริสต์ (ฟีเลโมน 1:5, 7) เป็นชีวิตแบบพระคริสต์ที่แตกต่างจากชีวิตแบบสังคมโลกนี้   มิใช่ชีวิตที่สร้างความสำคัญแก่ตนเอง แต่กระตุ้นหนุนเสริมให้กำลังใจแก่ผู้อื่นให้ดำเนินชีวิตแบบพระคริสต์ต่อไป

2.  เป็นคนที่มุ่งมั่นในการอธิษฐาน
เปาโลมิได้อธิษฐานเผื่อฟีเลโมนเท่านั้น แต่บอกฟีเลโมนว่า ตนได้อธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับชีวิตของฟีเลโมน และทูลขอให้งานรับใช้ของฟีเลโมนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบอกเช่นนี้มิเพียงแต่เป็นการให้กำลังใจฟีเลโมนเท่านั้น แต่ยังทำให้ฟีเลโมนเกิดความหวังในการตอบคำอธิษฐานจากพระเจ้าด้วย (1:4-6

3.  เป็นคนที่รับใช้คนอื่น ตามพระประสงค์ของพระเจ้า
เราสามารถรับใช้พระเจ้าไม่ว่าชีวิตของเราตกอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม โซ่ล่ามเปาโลให้ต้องอยู่แต่ในคุก แต่โซ่ไม่สามารถล่ามพระประสงค์ของพระเจ้าที่เปาโลรับใช้ เพราะความเชื่อที่มุ่งมั่นอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้โอเนสิมัส ซึ่งเป็นทาสของฟีเลโมนที่ถูกคุมขังในคุกได้กลับใจรับความรอด (1:8-10) อย่าให้ความจำกัดในชีวิตของเราไปจำกัดเราในการรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า

4.  เป็นพี่เลี้ยงของผู้ได้รับความรอด ให้เติบโต เข้มแข็งขึ้นในความเชื่อ และ การดำเนินชีวิตแบบพระคริสต์
เปาโลมิได้ช่วยให้โอเนสิมัสได้รับความรอดในพระคริสต์เท่านั้น แต่เสริมสร้างให้ชีวิตจิตวิญญาณของเขาเติบโต เข้มแข็ง และฝึกเขาในงานรับใช้ด้วย (1:10-13) ครั้งหนึ่งโอเนสิมัสเป็นคนที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่ตอนนี้เป็นประโยชน์ต่อฟีเลโมน  เปาโล และแผ่นดินของพระเจ้า ไม่ว่าชีวิตจิตวิญญาณของเราจะตกอยู่ในสถานการณ์ชีวิตแบบไหนก็ตาม ขอให้ชีวิตของเราเป็นประโยชน์ และ เป็นกำลังใจแก่คนอื่น

5.  เป็นคริสตชนที่เสริมสร้างสัมพันธ์สร้างสรรค์
การสร้างการคืนดีในความสัมพันธ์ที่ฉีกขาดของฟีเลโมนและโอเนสิมัส เป็นเป้าหมายต้น ๆ ของเปาโล (1:10, 15-16) จากนายทาสและลูกทาสเปลี่ยนไปเป็นความสัมพันธ์ “พี่น้องในพระคริสต์” ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้ามีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่น ๆ ด้วย ในฐานะสาวกพระคริสต์เรามีพันธะที่จะเยียวยารักษาและฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่แตกหักให้กลับคืนดีกัน ด้วยความรักเมตตาที่เสียสละแบบพระคริสต์

6.  ถ่อมตนลงเคียงข้างกับคนอื่น
ทาสในสมัยนั้น เป็นผู้ที่ด้อยค่าต่ำต้อยที่สุดในสังคม และมักไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคน แต่ถูกมองเป็นเพียงสิ่งของหรือแรงงาน เปาโลเขียนถึงฟีเลโมนผู้เป็นนายทาสของโอเนสิมัส ขอร้องว่า ขอยอมรับโอเนสิมัสในฐานะ “พี่น้องในองค์พระผู้เป็นเจ้า” (1:15-17)ให้เราเสริมสร้างความเสมอภาคในคุณค่าความเป็นมนุษย์เมื่อเรามีชีวิตอยู่ในพระคริสต์แล้ว (กาลาเทีย 3:28

7.  มีจิตใจแห่งการให้อภัย/การยกโทษอย่างไร้เงื่อนไข
เรารู้เพียงแต่ว่า โอเนสิมัส เป็นทาสของฟีเลโมน ถูกจับจำคุก นักวิชาการทางพระคัมภีร์คาดเดาว่า อาจจะเป็นเพราะ โอเนสิมัส หนีการเป็นทาสจากฟีเลโมน แต่ในคุกแห่งนั้นเขาพบกับเปาโล  เปาโลนำโอเนสิมัสรับพระคริสต์ อย่างไรก็ตามเรื่องสำคัญในที่นี้คือ  เปาโลขอให้ฟีเลโมนยกโทษแก่โอเนสิมัส ซึ่งตามกฎหมายในเวลานั้น ฟีเลโมนมี “สิทธิ” ที่จะเอาผิดอย่างไรก็ได้กับโอเนสิมัส  แต่เปาโลขอร้องฟีเลโมนยกเลิก “สิทธิที่ตนมีอยู่” แล้วกลับให้อภัยแก่โอเนสิมัส (1:17-19)  ดั่งพระคริสต์ที่ยกโทษแก่เราอย่างไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เช่นกัน

8.  มีจิตใจที่เมตตาบนรากฐานพระคุณพระเจ้า
โอเนสิมัส ในฐานะทาสที่หนีจากนายทาส เขาจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากฎหมาย เมื่อถูกจับได้ก็จะได้รับการลงโทษจากนายทาสอย่างสาสมตามที่นายทาสต้องการ โอเนสิมัสจะเป็นหรือตายขึ้นอยู่กับฟีเลโมน  เป็น “สิทธิ” ของฟีเลโมนจะจัดการ แต่เปาโลกลับขอร้องให้ฟีเลโมนจัดการเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย “พระคุณ” ของพระเยซูคริสต์ 

9.  เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ
เปาโลได้รับผิดชอบในการช่วยเหลือให้ฟีเลโมนดำเนินชีวิตประจำวันที่ยกย่องถวายเกียรติแด่พระเจ้า เราก็เช่นกัน พระเจ้าได้มอบหมายความรับผิดชอบแก่เราทุกคน ให้เราตักเตือน หนุนใจ  เสริมสร้างกันและกันขึ้นในชีวิตและความเชื่อของเรา (เช่น ฮีบรู 3:13, 1โครินธ์ 5:12, 1เธสะโลนิกา 5:14…)  

10. ผู้สร้างสันติและการคืนดี
เปาโลมิได้มุ่งที่จะหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือ ทำการพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์ที่ฉีกขาดเท่านั้น แต่เปาโลต้องการเห็นชุมชนผู้เชื่อที่อยู่ร่วมกันอย่างชื่นชมยินดีในความผูกพันที่ลึกซึ้ง   และนี่คือรูปแบบการสร้างสันติที่เป็นความรับผิดชอบของคริสตชนที่เปาโลต้องการให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้เชื่อทั้งหลาย พระเจ้าปรารถนาให้เราดำเนินชีวิตร่วมกับคนอื่นอย่างสงบสุขในทุกหนทางที่เราจะกระทำได้ (โรม 12:18) และเป็นผู้สร้างสันติ




ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

14 กันยายน 2562

จะปรึกษาพระเจ้าเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อย่างไรดี?

ในพระคัมภีร์ทั้งฉบับ มีถึง 1,524 ข้อที่พูดถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แสดงว่าเรื่องเงินทองเป็นเรื่องที่สำคัญในชีวิตและสังคมมนุษย์ และที่สำคัญคือพระคัมภีร์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้

หลายคนถามในใจว่า แล้วพระเจ้าใส่ใจและเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องเงินทองในชีวิตของมนุษย์หรือไม่? เมื่อเรามีวิกฤติการเงินในชีวิต ในครอบครัว ในธุรกิจ เราจะปรึกษาพระองค์ในเรื่องเงินทองหรือเศรษฐกิจได้ไหม? อย่างไร?

พระธรรมฟีลิปปี 4:19 บันทึกไว้ว่า  “พระเจ้าของข้าพเจ้า จะประทานทุกสิ่งที่จำเป็น แก่พวกท่านจากทรัพย์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์ในพระเยซูคริสต์” (ฟีลิปปี 4:19)  

เปาโลยืนยันถึงพระสัญญาของพระเจ้าว่า พระเจ้าจะประทานทุกสิ่งที่เป็นเรื่องที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันแก่เรา นี่เป็นคำยืนยันถึงพระสัญญาที่เขียนชัดเจนว่า “พระเจ้าจะประทานสิ่งที่จำเป็นในชีวิต” มิได้เขียนไว้ว่า “พระเจ้าอาจจะ..” หรือ “พระเจ้าน่าจะ...” แต่ยืนยันว่า “พระเจ้าจะประทาน...” พระองค์จะเป็นผู้ประทาน สิ่งที่จำเป็น ในชีวิตประจำวันของเรา และนี่คืออัตลักษณ์ และ เกียรติคุณของพระองค์ ให้เราระลึกถึงคำอธิษฐานที่พระเยซูคริสต์สอนสาวกที่ว่า  ...ขอประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพระองค์ในวันนี้... (มัทธิว 6:11)

เมื่ออิสราเอลต้องเดินรอนแรมในถิ่นทุรกันดาร ต้องใช้ชีวิตจาริกไปในทะเลทราย พวกเขาไม่มีเวลาจะเพาะปลูก และฟ้าฝนไม่อำนวย พระเจ้าจึงประทาน “มานา” เป็นอาหารประจำวันแก่พวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประชากรอิสราเอลในช่วงเวลานั้น (อพยพ 16:31-35;  เฉลยธรรมบัญญัติ 8:16

แต่เมื่อเขาเริ่มเข้าสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา  “มานา” มิใช่สิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของชนอิสราเอลต่อไป เพราะพวกเขาสามารถหาอาหารกินจากพืชผล บนแผ่นดินแห่งพระสัญญา   ดังนั้น พระเจ้าจึงยุติการประทาน “มานา” แก่คนอิสราเอลตั้งแต่เวลานั้น โยชูวา 5:12 เขียนไว้ว่า  “ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นมานา ก็ขาดไป  คือเมื่อเขาได้รับประทานผลจากแผ่นดิน ประชาชนอิสราเอลไม่มีมานา อีกเลย” (มตฐ.)

ดังนั้น เราต้องเข้าใจชัดเจนในความแตกต่างระหว่าง “สิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน” กับ “ความอยากได้ใคร่มี” “ความโลภ” “การไม่รู้จักพอ” ลองใคร่ครวญดูเถิด อะไรจะเกิดขึ้นถ้าอิสราเอลเข้าสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญาแล้ว พระเจ้ายังประทาน “มานา” หล่นลงมาจากฟ้า คนอิสราเอลกลุ่มหนึ่งก็จะ “งอตีนงอมือ” ไม่ทำมาหากินบนแผ่นดินพระสัญญา   รอ “มานา” มาป้อนใส่ปากทุกเช้า ถ้าเป็นเช่นนั้น...พระเจ้ากำลังทำให้อิสราเอลเสียนิสัย ขาดความรับผิดชอบ ไม่รู้จักหน้าที่ของตนใช่ไหม? ดังนั้น เราจะต้องตระหนักชัดในความแตกต่างของ “ความจำเป็นในชีวิตประจำวัน” กับ “ความอยากได้ใคร่มี” “ความโลภ” “เกียจคร้าน งอตีนงอมือ” 

พระเจ้าจะไม่ประทานทุกอย่างที่ท่านอยากได้ใคร่มี หรือ “ต้องการ” แต่พระองค์จะประทานทุกอย่างที่จำเป็นในชีวิตประจำวันแก่ท่าน

และนี่คือพระสัญญาของพระเจ้า เมื่อเราปรึกษา ทูลขอพระเจ้าในเรื่องเงินทอง ความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจในครัวเรือน ในธุรกิจ (ทำมาค้าขาย) หรือ ในการทำมาหากินของเรา   พระเจ้าจะทรงกระทำหน้าที่ และตามความรับผิดชอบในส่วนของพระองค์ แต่เราต้องรับผิดชอบในส่วนของตนเองด้วย  เฉกเช่น ความรับผิดชอบของอิสราเอลเมื่อเดินทางในถิ่นทุรกันดาร กับ การดำรงชีวิตในแผ่นดินพระสัญญา มีความแตกต่างกัน ก็มีความรับผิดชอบในส่วนของตนที่แตกต่างไปด้วย ในแผ่นดินพระสัญญา เขาต้องเพาะปลูก ดูแล บำรุง รักษา และเก็บเกี่ยว เขาจะรับผิดชอบแบบชีวิตในถิ่นทุรกันดาร ที่เพียงออกไปเก็บมานาตอนเช้าเท่านั้นไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีมานาหล่นจากฟ้าอีกแล้ว

เมื่อเราทูลขอหรือปรึกษาพระเจ้าเกี่ยวกับการเงิน เศรษฐกิจของเรา พระเจ้าพร้อมเสมอที่จะประทานสิ่งที่จำเป็นสำหรับท่านในชีวิตประจำวันในเวลานั้น ๆ พระองค์ใส่ใจและต้องการประทานสิ่งดีสำหรับชีวิตของเรา แต่เราต้องไม่ลืมที่จะปรึกษา ทูลขอ และฟังพระองค์ว่า  พระองค์เห็นว่า เราจะต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง? รับผิดชอบอย่างไร? และรับผิดชอบต่อใคร?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


12 กันยายน 2562

ฉันเป็น “ผู้นำ-ผู้รับใช้” ที่สร้างอาณาจักรของตนเองหรือเปล่า?

บ่อยครั้งที่ผู้นำที่เรียกตนเองว่าผู้รับใช้พระเจ้าและคนอื่น กลับกลายเป็น “ผู้สร้างอาณาจักรของตนเอง”  แทนที่จะสร้าง “แผ่นดินของพระเจ้า”   ตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ผู้นำผู้รับใช้   ผู้นำกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่น่าสังเกตคือ

1. เมื่อเขานำการประชุม แม้เขาจะเปิดโอกาสให้คนอื่นแสดงความคิดเห็นแต่เขาก็จะไม่ยอมเปลี่ยนความคิดที่เขามีอยู่แล้ว เขาเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายเป็นพิธีเท่านั้น แต่คำตอบเขาได้ตัดสินใจไว้เรียบร้อยแล้ว

2. ถ้าเขาทำผิดเขาจะไม่ค่อยยอมรับ เขามักเข้าข้างตนเองว่า ตนทำดีที่สุดแล้ว ไม่มีใครที่จะทำได้ดีกว่านี้ คนอื่นยังต้องเรียนรู้อีกมาก

3. ทีมงานมักทำงานด้วยในช่วงเวลาสั้น ๆ เขาเก่งในการสรรหาคนเก่งเข้ามาร่วมทีม   แต่กลับอ่อนแอในการรักษาคนทำงานที่ดีเหล่านั้น เขาต้องการลูกน้องที่ตามใจเขามากกว่าเพื่อนร่วมคิดร่วมทำ

4. เขาไม่ค่อยยอมให้คนอื่นเทศนา ธรรมมาสน์เป็นเวทีสำหรับเขาเท่านั้น ไม่ยอมให้คนอื่นใช้เวทีนี้ ยิ่งคนที่พูดเก่งสื่อสารมีประสิทธิภาพที่เขามองว่าเก่งกว่าตน อย่าหวังจะได้โอกาสใช้เวทีนี้

5. เขากระทำต่อคนอื่นเป็นคนใต้อำนาจของเขา เขาใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือที่จะบรรลุเป้าหมายของตน เป็นเครื่องมือที่จะสร้างอาณาจักรของเขา มากกว่าที่เป็นเพื่อนร่วมงาน  มากกว่าการเป็นพี่น้องในพระคริสต์

6. เขาต้องการให้คนอื่นจงรักภักดีต่อเขาอย่างไร้เงื่อนไข และมองว่าการแสดงความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ถือว่าเป็นการขัดขืน การกบฏ

7. เขาขยายอาณาจักของตนแผ่กว้างออกไปแต่ไม่หยั่งรากลงลึกมั่นคง ในที่สุดอาณาจักรที่เขาสร้างขึ้นจึงขาดแคลนสาวกพระคริสต์ที่รับใช้จริงจัง ผู้คนจะเริ่มรู้ถึงปัญหาลักษณะภาวะผู้นำแบบนี้

8. ผู้คนที่รู้จักผู้นำคนนี้ดีก็จะมีคำถามเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตจิตวิญญาณของผู้นำคนนี้ พวกเขารู้ว่าผู้นำคนนี้เป็นอย่างไรเมื่อเขาลับตาคนอื่น

9. ผู้นำแบบนี้จะลงมือทำพันธกิจด้วยตนเองน้อยลง เขาอาจจะเคยเริ่มต้นด้วยการรับใช้คนอื่น โดยจุดประสงค์เพื่อให้คนเหล่านี้มารับใช้ตนเองในที่สุด ความคิดความเข้าใจของเขาคือผู้นำไม่ต้องรับใช้คนอื่น แต่คนอื่นจะต้องรับใช้ผู้นำ

10. เป็นสิ่งยากสำหรับผู้นำประเภทนี้ที่จะมีการอธิษฐานเป็นสิ่งแรกในชีวิตของเขา  คงไม่น่าแปลกใจที่ผู้นำประเภทนี้พึ่งพิงความสามารถของตนเอง มิใช่พึ่งพิงในพระเจ้า

11. ผู้นำพวกนี้ไม่คิดที่จะมีคนอื่นมาสืบทอดการเป็นผู้นำต่อจากตน เขาอาจจะพูดถึงเรื่องการเกษียณอายุในบางด้าน แต่มักเป็นเพียงการพูดเท่านั้น ลึก ๆ แล้ว ผู้นำพวกนี้จะไม่ยอมออกจากตำแหน่งง่าย ๆ

เราอาจจะตัดสินผู้นำพวกนี้จริงจังไปหน่อย แต่เราก็พึงระมัดระวังว่า ตัวเราเองกำลังเป็นผู้นำบนวิถีที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ ความภาคภูมิใจในตนเอง ความหยิ่งผยองมักเป็นตัวหลอกล่อผู้นำคริสตชนให้หลงทางเสมอ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



11 กันยายน 2562

คำประกาศแห่งความเชื่อศรัทธาของฉัน วันที่ 5


ฉันเชื่อมั่นว่า ฉันได้รับการเสริมสร้างให้ทำงานได้ดีเยี่ยม
พระเจ้ามีแผนการชีวิตสำหรับฉัน

ฉันได้รับการสร้างขึ้นอย่างน่าประหลาดอัศจรรย์ใจ
ฉันได้รับการทรงเลือก และ รับการทรงหนุนเสริมเพิ่มพลัง
โดยพระผู้ทรงสร้างแห่งจักรวาลนี้

พันธนาการ และ ความจำกัดต่าง ๆ ในชีวิตฉัน
ได้รับการปลดเปลื้อง

เป็นเวลาที่ชีวิตฉันจะฉายแสงโชติช่วง
ชีวิตฉันจะโคจรสูงขึ้นไปเป็นลำดับ
มีชัยชนะเหนืออุปสรรคทั้งปวง

ฉันจะพบและมีประสบการณ์แห่งความมีชัย
ที่ไม่เคยประสบมาก่อน

นี่คือคำประกาศแห่งความเชื่อศรัทธาของฉัน



09 กันยายน 2562

คำประกาศแห่งความเชื่อศรัทธาของฉัน วันที่ 4


ฉันจะพูดแต่คำพูดและทำในสิ่งที่เป็นความเชื่อที่ฉันเชื่อ

สิ่งที่เป็นชัยชนะในตัวฉัน ในครอบครัว ในชุมชน
และในอนาคตของฉัน

คำพูดที่ฉันใช้จะมิเป็นเพียงคำพูดที่อธิบายสถานการณ์เท่านั้น

ฉันจะใช้คำพูดที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ที่ฉันเป็นอยู่

เป็นคำพูดที่ทำให้เกิดการโปรดปราน
เป็นคำพูดที่ช่วยให้เกิดการผ่อนคลาย
เป็นคำพูดที่ทำให้เกิดการรักษาเยียวยา
เป็นคำพูดที่ทำให้เกิดการพลิกฟื้นใหม่

และเป็นคำพูดที่เป็นความรักอย่างลุ่มลึกจากพระเจ้า
พระเจ้าจะเป็นผู้ที่กระทำให้เกิดสิ่งดีในตัวฉัน
พระองค์จะทรงนำ และ วางฉันไว้ในที่ที่เหมาะสมถูกต้อง
ในเวลาที่ถูกต้อง และพบกับคนที่เหมาะสม



04 กันยายน 2562

คำประกาศแห่งความเชื่อศรัทธาของฉัน วันที่ 3

ฉันมีจิตใจที่ดี เปี่ยมด้วยความคิดที่เยี่ยมยอด 
มิใช่ความคิดแห่งความพ่ายแพ้
ด้วยความเชื่อ  ฉันจึงมีความสามารถที่ดี
ฉันได้มีการเตรียมพร้อม
ได้รับการหนุนเสริมเพิ่มพลัง
ความคิดของฉันได้รับการชี้นำจากเบื้องบนทุกวัน
ไม่มีอุปสรรคใดที่จะเอาชนะฉันได้
เพราะความนึกคิดจิตใจของฉัน
ได้รับการกำหนดเพื่อชัยชนะ
ชีวิตของฉันดีขึ้นและดีขึ้นทุกๆวัน

ฉันเป็นผู้มีชัย  มิใช่ผู้พ่ายแพ้

นี่คือคำประกาศแห่งความเชื่อศรัทธาของฉัน

และนี่คือศรัทธาปฏิบัติในชีวิตประจำวันของฉัน


ทุกวันนี้ ฉันคิดว่า ตนเป็นเหยื่อหรือผู้มีชัยชนะในชีวิต?
แล้วความเป็นจริงในพฤติกรรมของฉันแต่ละวัน
เป็นไปอย่างที่ตนคิดหรือแตกต่าง?

03 กันยายน 2562

คำประกาศแห่งความเชื่อศรัทธาของฉัน วันที่ 2

ในสายตา หรือ มุมมองของพระเจ้า ฉันเป็นคนพิเศษ
พระองค์รักเมตตาฉันอย่างไม่มีเงื่อนไข
ฉันจะมีอนาคตที่รุ่งโรจน์
องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานสิ่งต่าง ๆ  ตะลันต์ พรสวรรค์ และความสามารถแก่ฉัน 
วันนี้  ฉันได้รับพระคุณมากมาย  และ ใช้สิทธิอันชอบธรรม ในการดูแลและใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อจัดการในชีวิต
ขอบพระคุณพระองค์สำหรับความโปรดปรานของพระเจ้าในชีวิตฉัน ที่ทรงเป็นโล่ปกป้อง และ ยังเปิดโอกาสต่าง ๆ สำหรับฉัน
ฉันจะไม่ทุกข์ยากขัดสนในสิ่งใด  แต่ความอุดมมั่งคั่งของพระองค์  พระปัญญาอันแหลมคม  และการปกป้องอย่างปลอดภัยจากพระเจ้า
ได้ห้อมล้อมชีวิตของฉันไว้
นี่คือคำประกาศแห่งความเชื่อศรัทธาของฉัน
และนี่คือศรัทธาปฏิบัติในชีวิตประจำวันของฉัน
แล้ว ฉันมีมุมมองตนเองตามสายตาของพระเจ้า และตามของประทานที่มีในชีวิตฉัน  หรือ ฉันมองตนเองตามอย่างที่คนรอบข้างมอง และ บอกฉัน?

02 กันยายน 2562

คำประกาศแห่งความเชื่อศรัทธาของฉัน วันที่ 1

พระเจ้าทรงมีพระพรพิเศษเฉพาะสำหรับชีวิตของฉัน
ฉันจะเห็นโอกาสดีดีที่เปิดสำหรับฉัน
ฉันขอบพระคุณที่ความโปรดปรานของพระเจ้าที่ล้อมรอบฉันเป็นเหมือนโล่ที่ปกป้องกำบังฉันไว้
พระพรพระเจ้าจะยกชูชีวิตของฉันขึ้นสูงกว่าที่ฉันปรารถนาและใฝ่ฝัน
พลังแห่งพระพรของพระเจ้าในชีวิตของฉันกำลังเกิดขึ้นและเห็นชัดเจนมากยิ่งๆขึ้นทุกวัน

นี่คือคำประกาศแห่งความเชื่อศรัทธาของฉัน


และนี่คือศรัทธาปฏิบัติในชีวิตประจำวันของฉัน