29 มิถุนายน 2563

ทำไมเราต้องกลับมาร่วมกันอีกครั้งหนึ่งในคริสตจักร?

ในโอกาสที่เรากลับมาร่วมกันในคริสตจักรอีกครั้งหนึ่ง เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะต้องกลับมาใคร่ครวญว่า คริสตจักรของเราตั้งอยู่เพื่ออะไร? ทำไมเราต้องมาร่วมกันที่คริสตจักร?

เมื่อกล่าวถึง “คริสตจักร” หลายคนมักคิดถึง การที่ผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์มาชุมนุม พบปะ รวมตัว และทำกิจกรรม  หรือประกอบพิธีกรรมร่วมกัน และอาจจะมีการพูดคุย ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา เรียนรู้เรื่องราวเนื้อหาในพระคัมภีร์  ฟังเทศนา อธิษฐานเผื่อกัน บางคริสตจักรมีการรับประทานอาหารร่วมกัน บางแห่งบางโอกาสมีการช่วยเหลือเกื้อหนุนกัน

นี่เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น แต่ขอถามต่อว่า เป็นจุดประสงค์ที่เราตั้งคริสตจักรขึ้นใช่ไหม? ทำแค่นี้พอไหมครับ? ที่กล่าวข้างบนนี้ เป็นลักษณะชุมชนคริสตจักรบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ใช่ไหม? เป็นชุมชนผู้เชื่อที่พระเยซูคริสต์ประสงค์ให้เป็นใช่หรือไม่?

ก่อนที่จะถามว่า “คริสตจักร” และ “สามัคคีธรรมในคริสตจักร” ควรมีลักษณะอย่างไร? เราจะต้องถามคำถามสำคัญคือ “ทำไมจึงต้องมีคริสตจักร?” หรือ “มีคริสตจักรไปเพื่ออะไร? หรือ “ต้องการให้เกิดอะไรขึ้นจากการที่มีการมาร่วมพบปะกันในคริสตจักร?”

จากนั้น เราถามต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้น ชุมชนคริสตจักรจะต้องทำอะไร ทำอย่างไรบ้างเพื่อที่จะไปให้ถึงสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น?” มีวิธีการและกระบวนการอย่างไรที่จะช่วยให้คริสตจักรสามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย?”   “จะต้องทำแก่ใคร และ ใครเป็นผู้ทำ?” เมื่อใด? เวลาใดบ้าง?

ใคร หรือ อะไรคือตัวหลักในการขับเคลื่อนชีวิตคริสตจักรให้ไปสู่เป้าหมาย? ใครคือตัวหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งที่ประสงค์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม? แล้วทำอย่างไรที่จะช่วยให้ “ตัวหลัก” ที่ต้องขับเคลื่อนเหล่านั้นสามารถขับเคลื่อนชีวิตและกระบวนการพันธกิจคริสตจักรอย่างมีพลังและประสิทธิภาพ

เราย้อนคิดใคร่ครวญถึงประสบการณ์ในอดีตว่า อะไรที่มีคุณค่าและความหมายที่ทำให้เราเกิดการรวมตัวกันเป็นชุมชนคริสตจักร? อะไรที่ทำให้เราท่านต้องมาร่วมกัน? อาจจะเกิดจากมีงานบางอย่างที่เราต้องทำ หรือเพราะมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับขององค์กรที่เราจะต้องปฏิบัติตาม หรือเพราะมีเหตุการณ์วิกฤติฉุกเฉินที่ทำให้เราต้องมาร่วมกัน  หรืออาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ทำให้เราต้องมารวมตัวกัน หรือเรามาร่วมกันเพราะความเคยชิน หรือเพราะเรามีนิมิต/วิสัยทัศน์ก็เป็นไปได้

คำถามคือ... อะไรที่ทำให้เรามาร่วมกันเป็นชุมชนคริสตจักร?

ถ้าเราอ่านในพระคัมภีร์อย่างใคร่ครวญ เราพบว่า เพราะชุมชนคริสตจักรมีพันธกิจที่สำคัญยิ่งจะต้องทำ พวกเขาจึงต้องมารวมตัวกัน กล่าวคือการรวมตัวพบปะของชุมชนผู้เชื่อมิใช่เป็น “เป้าหมาย” แต่การพบปะรวมตัวกันเป็นวิธีการและกระบวนการที่จะนำและขับเคลื่อนคริสตจักรให้บรรลุ “เป้าหมาย” 

สมาชิกผู้เชื่อในพระเยซูทุกคนได้รับการทรงเรียก และ ได้รับพระบัญชาจากพระเยซูคริสต์ให้สานต่อพระราชกิจของพระองค์ ที่พระองค์ได้เริ่มต้นไว้นั้น เพราะผู้เชื่อพระเยซูคริสต์ต้องการทำตามพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์ให้สำเร็จ และ เกิดผลเป็นรูปธรรมตามพระประสงค์ พวกเขาจึงมารวมตัวพบปะกันที่คริสตจักร เพื่อ...

[1] เป็นชุมชนที่บ่มเพาะ ฟูมฟัก ทุกชีวิตในชุมชนคริสตจักรมีชีวิตประจำวันที่เป็น “สาวกพระคริสต์” ที่ดำเนินชีวิตในประจำวันให้เป็นอย่างพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน

[2] การมาร่วมกันในคริสตจักรเพื่อเสริมสร้างทุกคนให้สามารถสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในชีวิตประวันของตน ทั้งในครอบครัว ชุมชนคนข้างบ้าน ในที่ทำงาน และในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่

[3] การมาร่วมกันในคริสตจักรเพื่อที่จะติดตามหนุนเสริมให้สมาชิกที่มีชีวิตสาวกพระคริสต์ที่สมบูรณ์ขึ้น เพื่อเสริมสร้างชุมชนแห่งแผ่นดินของพระเจ้าร่วมกันในคริสตจักร ที่ทุกคนจะเรียนรู้และมีประสบการณ์ตรงว่าคุณภาพชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้านั้นเป็นเช่นไร และ สามารถนำประสบการณ์ตรงและตัวแบบคุณภาพชีวิตแห่งแผ่นดินของพระเจ้าที่ได้รับ ไปขยายและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแผ่นดินของพระเจ้าในครอบครัวของตน ในที่ทำงาน และในชุมชนที่ตนอยู่อาศัย อันเป็นการขยายแผ่นดินของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกตามพระประสงค์ของพระคริสต์

[4] เป็นชุมชนที่มาพบปะและร่วมกันเพื่อสรรเสริญ ขอบพระคุณพระเจ้าที่มีพระคุณในชีวิตของตน เป็นที่ที่ผู้เชื่อทุกคนจะสารภาพความบาปผิดต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นที่ที่ทุกคนจะเรียนรู้น้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระเจ้า   และเป็นที่ที่เตรียมเสริมเพิ่มพลังชีวิตจิตวิญญาณที่จะเข้าไปดำเนินชีวิตในสังคมโลกเพื่อสำแดงพระคริสต์ตลอดสัปดาห์ข้างหน้า

[5] เป็นชุมชนที่เปิดกว้างต้อนรับคนต่าง ๆ หลากหลายให้เข้าร่วมเป็นพี่น้องในพระคริสต์ และเริ่มกระบวนการบ่มเพาะ เสริมสร้าง และ หนุนและเสริมสร้างให้พี่น้องที่เข้ามาใหม่แต่ละคนเป็นสาวกพระคริสต์ที่มีประสิทธิภาพต่อไป

[6] เป็นชุมชนที่ร่วมกันตั้งคริสตจักรที่มีสาวกพระคริสต์ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ขยายกว้างออกไป เพื่อแผ่อิทธิพลแห่งแผ่นดินของพระเจ้าครอบคลุมและครอบครองพื้นที่ต่าง ๆ ในสังคมโลก

จุดประสงค์หลักของการมาร่วมกันในคริสตจักร เพื่อบ่มเพาะ เสริมสร้าง ให้ทุกคนมีชีวิตที่ “เป็นสาวกพระคริสต์”  คือการดำเนินชีวิตตามแบบพระคริสต์ และ กระทำตามการทรงเรียกและพระบัญชาของพระองค์ ด้วยการสำแดงความรักเมตตาที่เสียสละแบบพระองค์แก่ทุกคนรอบข้างที่เราไปสัมผัสและสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน เพื่อนำคนเหล่านั้นให้รู้จักพระคริสต์ มีประสบการณ์ตรงกับพระองค์ และ รับเชื่อ มอบกายถวายชีวิตแด่พระคริสต์ เข้ามาร่วมชีวิตในชุมชนคริสตจักร และผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง ให้มีชีวิต “เป็นสาวกพระคริสต์”

ดังนั้น เป้าหมาย แก่นหลัก หรือ หัวใจของการมาร่วมกันเป็นคริสตจักรคือ การเสริมสร้างชีวิตของแต่ละคนให้มีชีวิตที่เป็น “สาวกพระคริสต์” การมาร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ และความสัมพันธ์ที่แต่ละคนมีต่อกัน เป็นเครื่องมือ  แนวทาง วิธีการที่เราใช้ในการเสริมสร้าง “สาวกพระคริสต์” ที่มีชีวิตประจำวันตามการทรงเรียกและพระบัญชาต่อไป

การชี้วัดการเกิดผลของคริสตจักร จึงมิใช่วัดกันเพียงว่า มีกี่คนมารับเชื่อใหม่ ตั้งคริสตจักรใหม่กี่แห่ง แต่เราวัดการเกิดผลของคริสตจักรว่า ได้เสริมสร้างสาวกพระคริสต์ที่มีชีวิตประจำวันตามการทรงเรียก และ ตามพระบัญชาของพระคริสต์หรือไม่ และสาวกพระคริสต์เหล่านี้เกิดผลตามพระประสงค์ของพระคริสต์หรือเปล่า?

ถ้าเราสร้างสาวกพระคริสต์ เราจะได้ทั้งสาวกและคริสตจักร  

แต่ถ้าเราสร้างคริสตจักร เราจะได้คริสตจักรที่ "อาจจะ" ไม่มีสาวกพระคริสต์!?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


26 มิถุนายน 2563

ผู้นำในภาวะวิกฤติ...เขานำกันอย่างไร?

ความโดดเด่นของผู้นำในภาวะที่วิกฤติ

คุณลักษณะบางประการของผู้นำที่โดดเด่นในภาวะวิกฤติ

ผู้คนจะพบว่า ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ น่านับถือยกย่องเป็นผู้นำที่ฝ่าวิกฤติที่หฤโหด เพราะภาวะวิกฤตินั้นเองที่ทำให้เราเห็นถึงภาวะผู้นำที่แตกต่างจากผู้นำทั่วไป ดังที่ จอห์น เคนเน็ธ เกลเบรธ เคยกล่าวไว้ว่า “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ทั้งสิ้นมีคุณลักษณะหนึ่งที่เหมือนกันคือ ตั้งใจและเต็มใจเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤติตึงเครียดครั้งใหญ่ของผู้คนในเวลานั้น ๆ”

นอกจากนั้นแล้วยังเป็นผู้นำที่โน้มตัวเข้าหาความท้าทาย ในขณะที่คนอื่นหดหัวจากความท้าทายในยามวิกฤติ   ดังนั้น ภาวะวิกฤติที่ยากลำบากเป็นสิ่งกระตุ้นให้คนรอบข้างเห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของผู้นำคนนั้น เฉกเช่นเมื่อเราคั้นส้มเราก็ได้น้ำส้ม เมื่อเราคั้นมะนาวเราก็ได้น้ำมะนาว และเมื่อมนุษย์ถูกบีบและคั้นในภาวะวิกฤติตึงเครียด สิ่งที่ได้ออกมาคือสิ่งที่มีอยู่ในตัวผู้นำคนนั้น เช่น เขาเป็นคนที่มองลบ หรือ มองบวก เป็นตัวอย่างหนึ่ง

ในสถานการณ์วิกฤตินี้เองที่ผู้นำคนนั้นฉายแววเด่นชัดในความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่

1. ผู้นำเผชิญหน้ากับวิกฤติจะยึดมั่นบนความเป็นจริง

[1] คำจำกัดความของภาวะวิกฤติคือ เมื่อเราไม่สามารถที่จะพูดว่า “ปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม”

[2] ความรับผิดชอบประการแรกของผู้นำคือ การแยกแยะความจริงของสถานการณ์ในตอนนั้นให้ชัดเจน Peter Drucker กล่าวไว้ว่า “ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเป็นช่วงเวลาที่อันตรายยิ่ง แต่สิ่งที่อันตรายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ กับดักที่ทำให้เราหลบเลี่ยงและปฏิเสธความจริงของสถานการณ์นั้น”

[3] ถ้าผู้คนที่ล้อมรอบตัวผู้นำเองเป็นคนที่มีลักษณะเหมือน ๆ กับผู้นำ...ผู้นำจะกลายเป็นผู้นำที่โดดเดี่ยว (ไม่ใช่ผู้นำที่โดดเด่น) หลักการของผู้นำที่จะประสบความสำเร็จในยามวิกฤติ

1) ท่านต้องตัดสินใจให้พระเจ้าเป็นผู้ชี้นำจุดหมายปลายทางในชีวิตของท่าน มิเช่นนั้นแล้วคนอื่นจะเข้ามาบงการชี้นำจุดหมายปลายทางในชีวิตของท่าน

2) ท่านจะต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงอย่างที่มันเป็นอยู่ในขณะนี้ มิใช่ความจริงในอดีต หรือ ความจริงในอนาคตที่เราคาดฝันไว้

3) ท่านจงเป็นคนมีน้ำใสใจจริง ตรงไปตรงมากับทุกคน

4) อย่าเป็นเพียงผู้รับมือ หรือ จัดการ แต่ท่านต้อง “นำ”

5) จงเปลี่ยนแปลงตนเองบนความเป็นจริง มิใช่เปลี่ยนแปลงเมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนเพื่อพรางตัวอย่างกิ้งก่า

6) อย่าคิดที่จะทำเพื่อแข่งขัน หรือ ชิงดีชิงเด่นกับคนอื่น แต่จงทำอย่างสุดกำลังตามของประท่านที่มีในตัวท่าน

2. ในช่วงเวลาที่วิกฤติยากลำบาก ผู้นำมุ่งมองที่ภาพใหญ่  

[1] เป็นผู้นำที่มองได้รอบด้านกว่าคนอื่น มองเห็นก่อนคนอื่น มองเห็นในส่วนที่คนอื่น ๆ ต้องการมองเห็น

[2] ในขณะที่ผู้ตามมองเห็นว่ามันเป็นอะไร แต่ผู้นำจะมองเห็นว่ามันควรจะเป็นอะไร  

[3] ผู้ตามจะคิดถึงตนเองก่อน แต่ผู้นำคิดถึงคนอื่นก่อน

[4] ผู้ตามมองเห็นโทษที่จะได้รับจากความล้มเหลว ในขณะที่ผู้นำมองเห็นผลตอบแทนที่ได้จากความสำเร็จ

[5] ความคลุมเครือ ความไม่ชัดเจน หรือความไม่แน่นอน มิใช่ตัวบ่งชี้ว่าผู้นำ คนนั้นเป็นผู้นำที่ไม่ดี แต่เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้นำคนนั้นมีภาวะผู้นำไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม เราในฐานะผู้นำในยามวิกฤติเราไม่สามารถมีทุกคำตอบ แต่เรารู้ว่าเรากำลังมุ่งไปสู่ที่ไหน

3. ในยามวิกฤติที่ยากลำบาก ผู้นำจะต้องตัดสินใจให้ดีที่สุด

[1] การตัดสินใจเลือกในยามวิกฤติสำคัญกว่าการไม่ตัดสินใจในภาวะสถานการณ์วิกฤติ

[2] ผู้นำทุกคนต่างรู้แน่แก่ใจว่า จะเกิดวิกฤติในบางครั้งการตัดสินใจเลือกในช่วงวิกฤติ

1) ตัดสินใจด้วยความกล้า: วิกฤติขจัดตัวเลือกของเรา แต่เราจะต้องทำอะไรให้สำเร็จ? “เวลาใดก็ตามที่เราได้เห็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แสดงว่าได้มีบางคนที่ได้ตัดสินใจด้วยความกล้าหาญ” (ปีเตอร์ ดรากเกอร์)

2) การตัดสินใจลำดับความสำคัญ: จะต้องทำอะไรให้สำเร็จก่อน

3) เปลี่ยนการตัดสินใจ: เราจะต้องทำอะไรที่ต่างไปจากที่ได้วางแผนมาก่อน “หากมีใครบางคนกำลังเดินไปบนเส้นทางที่ไม่ถูกต้อง เขาไม่ต้องการแรงจูงใจในการกระตุ้นให้เขาก้าวไปเร็วขึ้น สิ่งที่จำเป็นต้องการของเขาคือ เขาต้องการเรียนรู้ว่าจะหันหลังกลับอย่างไร” (จิม รอห์น)

4) การตัดสินใจที่สร้างสรรค์: แล้วมีทางเลือกอื่นไหม?

5) การตัดสินใจรับการหนุนเสริม: ใครสามารถช่วยเราได้บ้าง?

4. ผู้นำพัฒนาแผนงาน ในช่วงเวลาที่วิกฤติลำบาก  

[1] กำหนดแนวทางปฏิบัติล่วงหน้า

[2] กำหนดเป้าหมาย

[3] ปรับลำดับความสำคัญก่อนหลัง ให้เราปรับลำดับความสำคัญของการดำเนินการและเป้าหมายที่ไม่ค่อยเข้าที่เข้าลำดับ

[4] แจ้งเตือนบุคลากรหลัก

[5] ให้เวลาที่จะพิจารณาการยอมรับ

[6] มุ่งสู่การขับเคลื่อนดำเนินการ

[7] คาดหวังว่าอาจจะมีปัญหาและความขัดแย้ง

[8] ให้มุ่งมองไปยังความสำเร็จเสมอ เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในช่วงเวลาของวิกฤติ

[9] ให้ทบทวนตรวจสอบความคืบหน้าเป็นรายวัน

5. ในช่วงของวิกฤติ ผู้นำปรับแผนงาน

[1] ผู้นำเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ไม่สำเร็จ “วิกฤตินี้ต้องไม่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง”

[2] บทเรียนรู้ที่ดีที่สุดนั้น ผู้นำเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับในสถานการณ์ที่เลวร้าย

[3] เรามักไม่พร้อมที่จะรับการสอนในช่วงเวลาที่ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี

6. ในช่วงวิกฤติลำบาก ผู้นำให้คุณค่าแก่ทีมงาน

กฎแห่งภูเขาเอเวอร์เรส  “ยิ่งท้าทายมากเท่าใด ความจำเป็นของทีมงานเอเวอร์เรสก็มากยิ่งขึ้นเท่านั้น” ตัวบ่งชี้ความสำเร็จของผู้นำมิใช่ความสามารถที่จะทำให้คนอื่นทำงาน แต่เป็นความสามารถที่ทำให้คนในทีมงานทำงานหนักมากขึ้น

7. ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผู้นำคือผู้ให้ความหวัง

ความหวังคือรากฐานของการเปลี่ยนแปลง... ถ้าไม่มีความหวังการเปลี่ยนแปลงก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
“สิ่งแรกและภารกิจสุดท้ายของผู้นำคือการรักษาให้ความหวังยังมีชีวิตขับเคลื่อน เป็นความหวังที่เราสามารถแสวงหาให้พบเส้นทางที่นำไปสู่โลกที่ดีกว่า...”  

“การมองโลกในแง่ดี คือการที่เราเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้น ด้วยความหวังซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความเชื่อศรัทธา ทั้งสองร่วมกันที่จะทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น การมองโลกในแง่ดีเป็นคุณธรรมที่แฝงอยู่ในความหวังเชิงปฏิบัติ การมีมุมมองในแง่ดีไม่ต้องมีความกล้าหาญ แต่การที่จะมีความหวังเชิงปฏิบัติจะต้องมีความกล้าหาญอย่างยิ่ง” (โจนาธาน เสคส์)

8. ในช่วงเวลายากลำบาก เป็นช่วงเวลาการทำให้บางสิ่งเกิดขึ้น

[1] เราสามารถประเมินภาวะความเป็นผู้นำ จากขนาดของปัญหาที่ผู้นำเต็มใจที่จะแก้ไข

[2] ถ้าเราไม่สามารถทำให้บางสิ่งเกิดขึ้นแก่ตนเอง เราจะไม่สามารถทำให้บางสิ่งเกิดขึ้นแก่คนอื่น

[3] ในความสะดวกสบาย...“เราทำในสิ่งที่เรารู้แล้วว่าเราสามารถทำได้”

[4] แต่ในความท้าทาย... “เราพยายามทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำสำเร็จมาก่อน”

[5] “การทำให้บางสิ่งให้เกิดขึ้น” เราจำเป็นต้องเสี่ยง

[6] ในช่วงวิกฤติ ปัญหาคือ “ตัวปลุกกระตุ้น” ให้เรามีความสร้างสรรค์

9. ในช่วงเวลาที่วิกฤติลำบาก ผู้นำจะระแวดระวังมุมมอง/ทัศนคติของตน

[1] มุมมอง/ทัศนคติเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องเลือก เราไม่สามารถที่จะเลือกสถานการณ์ที่เกิดแก่เราเสมอไป แต่เราสามารถที่จะเลือกสิ่งที่เกิดขึ้นภายในคือ มุมมองและทัศนคติของเรา

[2] มุมมอง/ทัศนคติ เป็นตัวกำหนดที่สำคัญที่ใช้ในการรับมือกับปัญหาที่เราเผชิญ

[3] ในช่วงเวลาวิกฤติลำบาก มุมมอง/ทัศนคติได้แบ่งแยกคนที่ประสบความสำเร็จออกจากผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ

10. ในช่วงวิกฤติ ผู้นำวางใจในพระเจ้า

“พระเจ้าทรงดีเกินกว่าที่จะไร้ความเมตตา และ รู้แจ้งเห็นจริงเกินกว่าที่จะสับสน แม้ว่าฉันจะไม่สามารถเกาะยึดพระหัตถ์ของพระเจ้า แต่ฉันวางใจพระองค์ได้เสมอ” (ซี.เอ็ช. สเปอร์เจียน)

สิบหลักการนี้พอจะช่วยเราในการนำในภาวะวิกฤติชีวิต ที่ต้องเผชิญหน้ากับ “พวงปัญหา” ที่เป็นผลจากวิกฤติการแพร่ระบาดของ “โควิด 19” ได้ไหมครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


24 มิถุนายน 2563

การทำพันธกิจอนุชนในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21

ถ้าครอบครัวคือ “หัวหอก” และ “แนวหน้า” ในการทำพันธกิจคริสตจักร อนุชนจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีพลังชีวิตให้เกิดผลร้อยเท่าพันทวี ด้วยพลังแห่งพระราชกิจของพระคริสต์ในชีวิตประจำวันของเขา

นั่นหมายความว่า...การทำพันธกิจอนุชนจะต้องมีพระกิตติคุณของพระคริสต์เป็นแกนกลางแห่งการขับเคลื่อนพลังชีวิตของพวกเขา

1. เสียดายเวลา...ถ้าทำพันธกิจอนุชนโดยไม่มีพ่อแม่เข้าร่วมด้วย...

การทำพันธกิจอนุชนอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องเป็น “พันธกิจอนุชนและครอบครัว” คริสตจักรจะต้องใส่ใจเสริมสร้างพ่อแม่ให้เป็นผู้นำในชีวิตจิตวิญญาณสำหรับลูกของเขา และเตรียมเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับพ่อแม่เพื่อจะใช้ในการนำลูกของเขาอย่างมีประสิทธิภาพ พันธกิจอนุชนที่เปี่ยมประสิทธิภาพต้องเป็นพันธกิจที่ทุ่มเททำกับทั้งอนุชนและพ่อแม่ของอนุชนไปด้วยกัน

2. ล้มเหลวแน่...ถ้าคิดทำพันธกิจอนุชนตามกระแสสังคมโลก

พันธกิจอนุชนมิใช่การทำกิจกรรมสร้างความบันเทิงแก่อนุชนอย่างที่กระแสสังคมโลกทำกัน การที่กลุ่มอนุชนจะมีความสนุกสนานมิใช่สิ่งต้องห้ามหรือสิ่งที่ผิด เมื่อเราเป็นครอบครัวในพระคริสต์แน่นอนว่าเราควรมีความสุขชื่นชมยินดีในความสัมพันธ์ของเรา ถ้าพันธกิจอนุชนในคริสตจักรจะคิดใช้เกม หรือ กิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน หรือ สิ่งที่อนุชนกำลังสนใจในเวลานี้ เช่น เกมคอมฯ ไอโฟน กีฬา งานเลี้ยง เดินห้าง และ ฯลฯ มาเป็นกิจกรรมดึงดูด   พันธกิจอนุชนจะประสบความล้มเหลวในที่สุด พันธกิจอนุชนถ้าสามารถดึงดูดอนุชน-เยาวชนในการค้นหาความมาย  จุดประสงค์ ความหวัง ศานติ ความชื่นชมยินดี และความรักที่เมตตาเสียสละแบบพระคริสต์ และนี่ควรจะเป็นแรงดึงดูดความสนใจหลักในการทำพันธกิจอนุชน

3. อย่ามองว่า...อนุชนไม่สนใจในการคิด การค้นหา และการเรียนรู้

อนุชนถูกท้าทายในด้านปัญญาและวิชาการในโลกแห่งการเรียนรู้ แต่พันธกิจอนุชนมิใช่ทำตัวเป็นอย่างโรงเรียนในการยัดเยียด ข้อมูล ความรู้ลงใน “หัว” ของอนุชน แต่เราต้องมองเห็นถึงสมรรถนะของอนุชนในการเรียนรู้ ด้วยการเสริมหนุนให้เยาวชนในการค้นหา เพื่อค้นพบคุณค่าและความหมายในชีวิตของตน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ถึงคุณค่าและความหมายในพระวจนะของพระเจ้า ในจุดยืนทางคริสต์ศาสนศาสตร์ที่เราเชื่อ และเรียนรู้ถึงสัจจะความจริงในพระประสงค์ของพระเจ้า ผ่านกระบวนการค้นหา เรียนรู้ในชีวิตประจำวันบนรากฐานพระวจนะ

4. “พระกิตติคุณ” เป็นแก่นหลัก หรือ หัวใจของการเรียนรู้และเข้าใจที่สำคัญของอนุชน

คงไม่สามารถรับประกันได้ว่า เมื่อเรียนรู้ถึงหลักแก่นแห่งพระกิตติคุณแล้วอนุชนคนนั้นจะรับพระกิตติคุณในชีวิตของเขาหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุด อนุชนจะเข้าใจคริสต์ศาสนาในทางที่เข้าใจพระกิตติคุณอย่างเรียบง่ายคือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชกิจแห่งการช่วยกู้ให้เราแต่ละคนกลับคืนดีกับพระเจ้า ผ่านชีวิต พระราชกิจ การสิ้นพระชนม์ และ การเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์ และการนำแผ่นดินของพระเจ้ามาสู่มนุษย์และสังคมโลก หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประการแรก อนุชนจะรู้ว่าคริสต์ศาสนาเป็นเรื่องที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อเราแต่ละคนโดยทางพระเยซูคริสต์  ประการที่สอง พระคริสต์ได้เปลี่ยนแปลงทั้งชีวิตของเราให้มีชีวิตตามพระประสงค์  ประการที่สาม เราแต่ละคนจึงดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ดังกล่าว ยิ่งถ้าอนุชนเข้าใจพระกิตติคุณชัดเจนแค่ไหน โอกาสที่อนุชนคนนั้นจะติดสนิทกับพระคริสต์และมีชีวิตเหมือนพระองค์ในชีวิตประจำวันมากขึ้นเท่านั้น

5. อนุชนเป็นคนที่มี “ความจริงใจและจริงจัง” มากกว่า “คนชอบสนุก”

หลายคนมักคิดว่า คนที่จะทำพันธกิจอนุชนจำเป็นต้องเป็นคนที่มีพลัง ชอบสนุก แต่ในความเป็นจริงอนุชนไว้วางใจ  สนใจ และ ฟังคนที่จริงใจ คนที่มีความลึกซึ้งในพระกิตติคุณและมีความเข้าใจว่าพระเจ้ารักเขาแค่ไหน คนเหล่านี้มักมีพลังดึงดูดความสนใจของอนุชน อนุชนจะฟังคนประเภทนี้ คุณสมบัติเหล่านี้มีความสำคัญกว่าเรื่องอายุ หรือ ความตลกโปกฮา โดยทั่วไปมักมีความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนว่า คนที่ไม่มีคุณสมบัติแบบคนสนุกเฮฮาไม่เหมาะสมกับการทำพันธกิจอนุชน ผู้ใหญ่หรือคนที่มีอายุมากกว่าอนุชนสามารถเป็นอาสาสมัครหรือร่วมรับใช้ในพันธกิจอนุชน แม้ดูเหมือนว่าเขาไม่มีพลังมากมาย หรือ สิ่งที่คล้ายคลึงกับอนุชนก็ตาม

6. การสื่อสารพระวจนะสำหรับอนุชน

คำกำชับของเปาโลที่มีถึงทิโมธี “จงประกาศพระวจนะ” (2ทิโมธี 4:2 อมธ.) ก็เป็นคำกำชับที่สำคัญสำหรับพันธกิจอภิบาลอนุชน และ พันธกิจการอภิบาลผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะมีอายุเท่าใดก็ตามพันธกิจพระวจนะของพระเจ้าเป็นพันธกิจที่ “หนัก” แน่นอนว่า การสอนพระวจนะ พระกิตติคุณ จะมีวิธีการสอนและการสื่อให้สอดคล้องเหมาะสมตามวัย การใช้ตัวอย่างที่เข้ากับประสบการณ์ชีวิตกลุ่มวัยของผู้เรียน อีกทั้งต้องสอดคล้องตามบริบทของแต่ละภาษา วัฒนธรรม  วิธีการที่สำคัญหนึ่งในการสอนที่นำถึงการตัดสินใจของผู้เรียน คือการสอนพระวจนะของพะเจ้าแบบอรรถาธิบายเจาะลึกลงในความหมายที่สามารถนำสู่การตัดสินใจ นำสู่การปฏิบัติ ทำให้เติบโตด้านชีวิตจิตวิญญาณ และฝึกฝนเสริมสร้างให้ทำพันธกิจและรับใช้

7. คริสตจักรสามารถเสริมสร้างอนุชนให้เป็นคนรับใช้ในคริสตจักรและชุมชน

เป็นความจริงว่า ปัจจุบันนี้อนุชนอยู่กับเราอยู่กับคริสตจักรไปในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น จากนั้นเขาต้องไปศึกษาต่อ  ไปทำงาน มีครอบครัว ซึ่งหลายคนก็ไปอยู่ในต่างถิ่นห่างไกลจากคริสตจักร ที่จะเหลือคงอยู่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกผู้ใหญ่ในคริสตจักรของเราที่มีจำนวนจำกัด แต่คริสตจักรจะไม่ละเลยมองข้ามการเสริมสร้างอนุชน “ในการทำพันธกิจคริสตจักรและชุมชน” เพื่อวางรากฐานความเชื่อที่เข้มแข็งขึ้น และที่สำคัญเตรียมเขาให้พร้อมที่จะเป็นสาวกของพระคริสต์ที่มีชีวิตในการรับใช้คริสตจักรและชุมชน เพื่อเมื่อเขาไปอยู่ที่ไหนก็ตามเขาจะมีชีวิตประจำวันในการรับใช้คนรอบข้างด้วยความรักเมตตาและเสียสละแบบพระคริสต์ เพื่อเขาจะเป็นสาวกที่เติบโตขึ้นสู่ความไพบูลย์ของพระคริสต์ (เอเฟซัส 4:13) แม้ว่าภายหลังเขาจะต้องไปเป็นสมาชิกในคริสตจักรอื่นที่เขาอยู่อาศัยก็ตาม  

อนุชนเป็นผู้ที่มีศักยภาพมากในการรับใช้ ดังนั้นพันธกิจอนุชนจะต้องทุ่มเทและจริงจังในการสร้างเสริมอนุชนแต่ละคนได้เป็นคนรับใช้พระคริสต์ท่ามกลางชุมชนในชีวิตประจำวัน

8. จะเป็นไรไป...ถ้าคริสตจักรของท่านมิได้เป็นผู้เก็บเกี่ยวผลที่เกิดขึ้น

เปาโลเคยกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าปลูก อปอลโลรดน้ำ แต่พระเจ้าทรงให้เติบโต” (1โครินธ์ 3:6 อมธ.) บางครั้ง ผู้ทำพันธกิจอาจจะพบกับความสุขที่ได้เห็นอนุชนกลับใจ หรือ เติบโตขึ้นในความเชื่อ และ การเชื่อฟังแบบก้าวกระโดด   แต่บางครั้ง อนุชนได้รับการเรียกร้องให้มีความสัตย์ซื่อในความเชื่อในช่วงเวลาที่ทุกข์ยากลำบาก และบางครั้งเมล็ดแห่งพระวจนะและพระกิตติคุณที่หว่านลงไปในชีวิตจิตใจไม่ค่อยเกิดผล

ท่านครับ  เราต้องตระหนักเสมอว่า การเกิดผลเป็นของประทานจากพระเจ้า เราได้รับการทรงเรียกให้เป็นพยานที่สัตย์ซื่อของพระองค์ ไม่ว่าใครเป็นผู้ปลูกใครเป็นคนรดน้ำ และใครเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลก็ตาม

9. ในฐานะผู้นำของอนุชน เราต้องตระหนักชัดถึงอัตลักษณ์ของเราในพระคริสต์

ในฐานะผู้ทำพันธกิจ หรือ เป็นผู้นำพันธกิจอนุชนเราต้องถามตนเองเสมอว่า “ความมีคุณค่าในตัวฉันขึ้นอยู่กับการได้รับความนิยมชมชอบ การยอมรับ หรือ ความคิดเห็นของอนุชนที่มีต่อฉันหรือเปล่า” บางท่านอาจจะรู้สึกว่า คำถามนี้ฟังดูน่าขำ แต่บ่อยครั้งที่เราค้นหาอัตลักษณ์ของตนเองจากการดูว่าอนุชนชอบ ยอมรับตัวเราหรือไม่  แม้บางครั้งอาจจะไม่ทันรู้ตัวก็ตาม

ท่านที่ทำพันธกิจอนุชนทุกท่านครับ ท่านเป็นบุตรของพระเจ้า ที่พระคริสต์ไถ่ถอนท่านมาโดยพระโลหิตของพระคริสต์ และได้แยกท่านไว้เพื่อพันธกิจแห่งพระกิตติคุณและเพื่อการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า และต้องไม่ลืมว่า อัตลักษณ์ของท่านที่มีอยู่ได้รับจากพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จงออกไปรับใช้อนุชนของท่านด้วยความชื่นชมยินดีและมีเสรีในชีวิต ถึงแม้มิใช่ทุกคนที่มองว่าท่านเหมาะสมในพันธกิจนี้ก็ตาม

การทำพันธกิจอนุชนมีคุณค่าสำคัญอย่างยิ่ง การวางรากฐานพระวจนะในชีวิตของอนุชนเป็นยุทธศาสตร์อันสำคัญอย่างสูงในการพัฒนาชีวิตในขั้นตอนต่าง ๆ ของอนุชน ผู้อภิบาลอนุชนได้หว่านเมล็ดพระกิตติคุณลงในจิตใจและจิตวิญญาณของอนุชน ซึ่งเป็นการวางเส้นทางการเจริญเติบโตในวิถีชีวิตของพวกเขา และสร้างผลกระทบต่อชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักร และนี่คือการร่วมและสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ในโลกนี้ด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


21 มิถุนายน 2563

อะไรคือ “รากฐาน” ของคริสตจักร? อะไรคือ “กุญแจแห่งแผ่นดินสวรรค์”?

โปรดอ่าน  มัทธิว 16:15-19 

ที่พระเยซูคริสต์กล่าวว่า...
บน “ศิลานี้” หรือ “บนศิลารากฐานนี้” หมายถึงใคร? หรือ อะไรกันแน่?
แล้ว “กุญแจแห่งแผ่นดินสวรรค์”  หมายถึงอะไร?

[1] รากฐานความเชื่อสาวกพระคริสต์

พระเยซูคริสต์ถามสาวกของพระองค์ว่า พวกเขาเชื่อว่าพระองค์คือใคร? พระเยซูคริสต์นำสาวกเข้าไปถึงแก่นหลัก หรือ รากแก้ว เกี่ยวกับเรื่องการเป็นสาวกของพระองค์  คือเรื่อง “อัตลักษณ์ของพระเยซูคริสต์” ถ้าสาวกไม่มีความเชื่อ ไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ความเชื่อความเข้าใจเรื่องอื่น ๆ ของสาวกผิดเพี้ยนบิดเบือนไปด้วย ความเชื่อความเข้าใจของสาวกจะไม่ได้ก่อร่างหยั่งรากลึกลงใน “รากฐาน” ที่เป็นแก่นหลักบนคำสอนของพระองค์ว่า พระเยซูคริสต์คือใครกันแน่

เปโตรตอบคำถามของพระเยซูถึงแก่นหลักนี้ว่า “พระองค์คือพระคริสต์ (พระเมสิยาห์) พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” ในที่นี้เปโตรตอบชัดเจนว่า พระองค์มิใช่มนุษย์คนหนึ่งที่มาเกิดเป็นพระเมสิยาห์  

แต่พระเยซูคริสต์เป็นพระเมสิยาห์ที่เป็นบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่  

แล้วพระเยซูคริสต์กล่าวชัดเจนอีกว่า ที่เปโตรกล่าวมานี้มิใช่ความรู้ความเข้าใจที่สั่งสอนสืบทอดส่งต่อกันมาในวงการผู้นำศาสนา จากบรรพบุรุษ หรือ ที่เปโตรเรียนรู้เข้าใจจากมนุษย์คนอื่น หรือ ในภาษากรีกใช้คำว่า “เนื้อและเลือด” แต่ที่เปโตรกล่าวถึงความเข้าใจดังกล่าวนี้กล่าวโดยการทรงสำแดงเปิดเผยจากพระเจ้า ว่า “แก่นหลัก” หรือ “รากฐาน” คำสอนของพระเยซูคริสต์คือ พระเยซูคริสต์คือใครกันแน่?  

การที่เปโตรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องว่า “พระเยซูคริสต์คือใครกันแน่” นี้มิใช่จากความรู้ความเข้าใจของคนอื่นเขาสอนมา แต่เป็นการที่พระเจ้าทรงเปิดเผย สำแดงให้เปโตรรู้และเข้าใจ ด้วยเหตุนี้พระเยซูคริสต์ถึงกล่าว่า “ซีโมนบุตรโยนาห์เอ๋ย ท่านก็เป็นสุข” (มัทธิว 16:17 มตฐ.) ที่เปโตรได้รับพระพร เกิดความสุขในชีวิต เพราะพระเจ้าเป็นผู้ประทานความรู้ความเข้าใจ หรือ ความตระหนักชัดว่า “พระเยซูคริสต์เป็นพระเมสิยาห์ พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่”

จากนั้น พระเยซูคริสต์กล่าวต่อไปด้วยการ “เล่นคำ” โดยใช้ชื่อของ เปโตร

ในภาษาเดิม ชื่อของเปโตรใช้คำว่า Petros มีความหมายว่า “หิน หรือ ศิลา”

ดังนั้น พระเยซูคริสต์จึงกล่าวว่า “ท่านคือเปโตร (Petros) หมายความว่า ท่านเป็นศิลา หรือ หิน แต่บน “รากฐานนี้” (ภาษาเดิมเขียนว่า Petra) พระเยซูคริสต์ได้กล่าวเช่นนี้ว่า “ท่านคือเปโตร (petros) บนศิลา หรือ รากฐานความเชื่อนี้ (Petra) เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้ และพลังแห่งความตาย (ภาษากรีกแปลตรงตัวว่า บรรดาประตูของแดนคนตาย) จะมีชัยต่อคริสตจักรไม่ได้

[2] รากฐานของคริสตจักร

1) พระคริสต์ไม่ได้กล่าวว่า “บนชีวิต หรือ ความเชื่อของเปโตร เราจะสร้างคริสตจักรของเรา” ซึ่งมีหลายคนที่เข้าใจเช่นนี้จากคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “เราบอกท่านว่าท่านคือเปโตร (ภาษากรีกคือ เปตรอส [Petros]) และบนศิลานี้ (ภาษากรีกคือ เปตรา [Petra]) เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้...

แต่แท้จริงแล้ว พระเยซูได้ตรัสกับเปโตรว่า “เราบอกท่านว่า ท่านคือเปโตร (Petros) บนศิลารากฐานแก่นแท้แห่งความเชื่อ (Petra) ที่ว่า “เราคือพระเมสิยาห์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” นี้ เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้

2) ถึงแม้ว่าพระเยซูได้กล่าวแก่เปโตรว่า “[19] เราจะมอบลูกกุญแจต่าง ๆ แห่งแผ่นดินสวรรค์ให้ไว้แก่ท่าน สิ่งใดที่ท่านกล่าวห้ามในโลก สิ่งนั้นก็จะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ และสิ่งใดที่ท่านกล่าวอนุญาตในโลก สิ่งนั้นก็จะได้รับอนุญาตในสวรรค์” และนี่ก็เป็นคำกล่าวของพระเยซูคริสต์ กล่าวกับคริสตชนทุกคนด้วย เราจะพบคำกล่าวในทำนองเดียวกันนี้ใน มัทธิว 18:18 ว่า  “[18] เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า สิ่งใด ๆ ที่พวกท่านจะกล่าวห้ามในโลก สิ่งนั้นก็จะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ และสิ่งใด ๆ ที่พวกท่านจะกล่าวอนุญาตในโลก สิ่งนั้นก็จะได้รับอนุญาตในสวรรค์”  

ขอตั้งข้อสังเกตว่า  เมื่อพระเยซูกล่าวนี้ใช้คำว่า “ท่านทั้งหลาย” มิได้หมายถึงท่านคนเดียว หรือ เปโตร เท่านั้น

3) พระเยซูไม่ได้กล่าวว่า “ท่านคือ เปโตร บน ศิลา นี้ (ที่มักเข้าใจว่า บนตัวของเปโตร เพราะคำว่าเปโตรแปลว่า หิน หรือ ศิลา เหมือนกัน) เราจะสร้างคริสตจักรของเรา แต่ดูจากต้นฉบับพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า  “ท่านคือ เปโตร (petros) และบน ศิลา (petra ซึ่งเป็นคนละคำกับคำว่า เปโตร petros) นี้ เราจะสร้างคริสตจักรของเรา”  คำว่า ศิลา มาจากคำต้นฉบับที่ว่า petra ซึ่งมีความหมายถึง หินที่มีเนื้อเข็งแกร่งที่ใช้ในการสร้างรากฐานของตึก หรือ สิ่งก่อสร้างที่ใหญ่และสำคัญ  

ในที่นี้พระเยซูคริสต์กล่าวเชื่อมโยงกับก่อนหน้านี้ที่เปโตรยืนยันว่า ตนเชื่อและเข้าใจว่า พระเยซูคริสต์คือพระเมสิยาห์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ คำว่า ศิลา petra  ในที่นี้หมายถึง หินแกร่งที่เป็นรากฐานแห่งความเชื่อและความเข้าใจว่า พระเยซูคริสต์คือพระเมสิยาห์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ และบนศิลาแห่งรากฐานความเชื่อว่า พระเยซูคริสต์คือใครนี้เอง ที่จะเป็นรากฐานความเชื่อที่พระเยซูคริสต์จะตั้งคริสตจักรของพระองค์ขึ้น
ศิลารากฐาน (petra) ของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มิใช่หินทั่วไป แต่เป็นหินที่แข็งแกร่งที่ใช้ในการวางรากของสิ่งก่อสร้าง  ดูจากมัทธิว 27:60 ที่ว่า “[60] แล้วเชิญพระศพไปวางไว้ในอุโมงค์ใหม่ของตนที่สกัดไว้ในศิลา และกลิ้ง “หินใหญ่” ปิดปากอุโมงค์ไว้…” ในข้อนี้เขียนไว้ว่า อุโมงค์ที่ฝังพระศพพระเยซู “สกัดในศิลา หรือ เปตรา (petra) ซึ่งเป็นหินที่แกร่งแข็ง แต่คำว่า “หินใหญ่” ที่ปิดปากอุโมงค์ใช้คำว่า เปตรอส (petros) ซึ่งเป็นหินธรรมดาทั่วไป เช่นหินที่ใช้โรยตามถนน

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ จากคำอุปมาของพระเยซูคริสต์เรื่องการสร้างบ้าน มัทธิว 7:24  “[24] เพราะฉะนั้น ทุกคนที่ได้ยินคำเหล่านี้ของเราและประพฤติตาม ก็เปรียบเสมือนผู้ที่มีสติปัญญาสร้างบ้านของตนไว้บนศิลา” ในพระคัมภีร์ตอนนี้คือการสร้างบ้านบน เปตรา petra หรือ หินแกร่งก้อนโต (มิใช่บนกองหินทั่วไป) แล้วขุดลึกลงในดิน แล้ววาง หินแกร่งก้อนโต (petra) ลงไปเพื่อวางเป็นรากฐานของบ้านหลังนั้น เพื่อบ้านหลังนั้นจะมีรากฐานที่แข็งแกร่ง  มั่นคง ในพระธรรมตอนนี้หมายถึงการที่ดำเนินชีวิตประจำวันของตนตามรากฐานความเชื่อคำสอนของพระเยซูคริสต์

ดังนั้น หินหรือศิลาที่เป็นรากฐานของคริสตจักรในที่นี้หมายถึง ความเชื่อว่า พระเยซูคริสต์เป็นพระเมสิยาห์ พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ (ซึ่งคนยิวในสมัยของพระเยซูคริสต์ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับฐานเชื่อแบบนี้ และต่อต้านอีกด้วย) และ ศิลารากฐานความเชื่อนี้ยังหมายถึงคำสอนของพระเยซูคริสต์ที่ได้รับการปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันของคริสตชน

[3] กุญแจแห่งแผ่นดินสวรรค์

ที่พระเยซูคริสต์บอกว่า พระองค์จะมอบกุญแจแห่งแผ่นดินสวรรค์แก่ทั้งเปโตร และแก่คริสตชนตามที่กล่าวใน  มัทธิว 16:19 กล่าวว่า “เราจะมอบลูกกุญแจต่าง ๆ แห่งแผ่นดินสวรรค์ให้ไว้แก่ท่าน สิ่งใดที่ท่านกล่าวห้ามในโลก สิ่งนั้นก็จะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ และสิ่งใดที่ท่านกล่าวอนุญาตในโลก สิ่งนั้นก็จะได้รับอนุญาตในสวรรค์” (และดูใน 18:18 ด้วย) เวลาใดก็ตามที่คริสต์ชนประกาศหรือยืนหยัดความเชื่อว่า พระคริสต์คือพระเมสิยาห์ พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ และเวลาใดก็ตามที่คริสต์ชนดำเนินชีวิตตามคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ที่ประจักษ์แก่คนทั่วไปด้วยความสัตย์ซื่อ เมื่อนั้น  คริสตชนได้เอากุญแจแห่งแผ่นดินสวรรค์ไขประตูแห่งแผ่นดินของพระเจ้าเข้าไปในชีวิตประจำวันของประชาชนคนเหล่านั้น

ซึ่งสอดคล้องกับ ลูกา 11:52  “[52] วิบัติแก่เจ้าพวกผู้เชี่ยวชาญทางบทบัญญัติ เพราะเจ้าได้เอากุญแจแห่งความรู้ไป ตัวเจ้าเองไม่เข้าไป แล้วยังขัดขวางคนอื่นที่กำลังเข้าไป” (อมธ.) กุญแจแห่งความรู้ที่ว่านี้คือกุญแจแห่งแผ่นดินสวรรค์ หรือ กุญแจแห่งแผ่นดินของพระเจ้า กุญแจที่เป็นคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ ที่มีพระเยซูคริสต์เป็นแก่นกลางหรือเสาหลักของชีวิต เป็นกุญแจแห่งความรู้ถึงว่า พระเยซูคริสต์เป็นพระเมสิยาห์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ 

และที่พระเยซูคริสต์บอกว่า “...สิ่งใดที่ท่านกล่าวห้ามในโลก สิ่งนั้นก็จะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ และสิ่งใดที่ท่านกล่าวอนุญาตในโลก สิ่งนั้นก็จะได้รับอนุญาตในสวรรค์” พระเยซูคริสต์หมายความว่า พระเจ้าได้ทรงมอบกุญแจแห่งความรู้ของพระเจ้าแก่มนุษย์ เราจึงรู้ถึงน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์ เราจึงสามารถรู้ว่าเราจะมีชีวิตเช่นไรที่พระเจ้าต้องการ และด้วยความสัตย์ซื่อเราจึงสามารถที่จะทำในสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้นคำสอนของพระเยซูคริสต์จึงมีความสำคัญมาก และพระประสงค์ของพระเจ้านั้นชัดเจนและแน่นอน

กุญแจแห่งแผ่นดินสวรรค์ หรือ แผ่นดินของพระเจ้า พระองค์ได้มอบให้อยู่ในมือของคริสตชนแล้ว อยู่ที่เราจะต้องสัตย์ซื่อที่จะนำกุญแจแห่งแผ่นดินสวรรค์เข้าไปในชีวิตจิตใจของผู้คนที่เราพบเห็นสัมพันธ์ เพื่อคนนั้นจะมีกุญแจไขเข้าในแผ่นดินสวรรค์ และมีชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



19 มิถุนายน 2563

สมาชิกที่ทำให้ศิษยาภิบาลปวดเศียรเวียนเกล้า

เมื่อมีโอกาสพูดคุยกับศิษยาภิบาลในบริบทต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่มีในทุกคริสตจักรคือ สมาชิกประเภทที่นำมาซึ่งการปวดเศียรเวียนเกล้าของศิษยาภิบาล แต่สมาชิกประเภทเหล่านี้อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป เมื่อรวบรวมประมวลเข้าด้วยกันมีประเภทต่าง ๆ ดังนี้

1. สมาชิกที่เห็นอะไรก็ผิดไปทั้งนั้น

ไม่มีอะไรที่ถูกในสายตาสมาชิกคนนั้น และไม่เคยยอมรับความผิดของตนเอง ศิษยาภิบาลพยายามหลีกทางเลี่ยงพบคนแบบนี้

2. ขู่ว่าจะออกไปจากคริสตจักร

สมาชิกพวกนี้มักชอบขู่ว่าจะออกไปจากคริสตจักรด้วยเรื่องโน้นเรื่องนี้ ศิษยาภิบาลควรจะเรียนรู้ที่จะ “นิ่ง” ต่อคำขู่ของเขา (จริง ๆ แล้วถ้าเขาจะไปจริงก็น่าจะดีนะ???)

3. สมาชิกประเภททำตัวเป็นนักคริสต์ศาสนศาสตร์  

สมาชิกประเภทนี้มักคิดว่าตนเองรู้เรื่องคริสต์ศาสนศาสตร์ดีกว่าคนอื่น ๆ (และ ศบ. ด้วย)  และมักชอบถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องคริสต์ศาสนศาสตร์ และมักแสดงท่าทีว่าเขาทำเช่นนี้เพื่อต่อสู้ปกป้องและส่งเสริมคริสต์ศาสนศาสตร์

4. สมาชิกประเภทรู้ทุกเรื่อง  

เขาต้องการแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเขารู้ทุกเรื่องในคริสตจักร แท้จริงแล้วเขาร่วมวงในการซุบซิบนินทาในทุกกลุ่มทุกเรื่อง และถ้ากลุ่มใดที่ไม่ให้เขาเข้าไปร่วมด้วย เขาก็จะโกรธ   

5. สมาชิกประเภทยืนยันการเป็นสมาชิกใหม่ 

สมาชิกประเภทมาคริสตจักรหกเดือนครั้ง แล้วถวายชีวิตแก่พระเยซูคริสต์ใหม่ แล้วหายไปอีกหกเดือน

6. สมาชิกประเภทนักธรรมนูญคริสตจักร  

ไม่มีใครที่รู้ธรรมนูญคริสตจักรได้ดีเท่าคน ๆ นี้ และถ้าเขาไม่ชอบอะไรในคริสตจักรเขาจะเขียนโจมตีโดยอ้างอิงธรรมนูญคริสตจักร 

7. สมาชิกประเภทเปรียบคำเทศน์ของศิษยาภิบาลกับคำเทศน์ในอินเตอร์เน็ท  

เขาฟังแสวงหาฟังคำเทศนาในอินเตอร์เน็ท แล้วก็นำเอาคำเทศนาของศิษยาภิบาลไปเปรียบเทียบแล้ววิพากษ์วิจารณ์ จริง ๆ แล้วเขาฟังเทศน์ของศิษยาภิบาลเพื่อจับผิดมากกว่าที่จะนำคำเทศนามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

8. สมาชิกประเภทนักปกป้อง “อดีต”

สมาชิกคนนั้นรู้ถึงประวัติความเป็นมาของคริสตจักรอย่างดี และเขามองว่าบทบาทของเขาคือผู้พิทักษ์ปกป้องและสู้กับทุกสิ่งใหม่ที่จะนำเข้ามาทำในคริสตจักรต่างไปจากเดิม

9. สมาชิกประเภทไม่ยอมยกโทษ  

เขาเคยโกรธอะไรบางอย่างเมื่อหลายปีก่อน แต่เขายังไม่ยอมยกโทษ หรือ ให้เรื่องนั้นจบลง เมื่อต้องเผชิญกับเรื่องนั้นอีกเขาจะให้เหตุผลว่าเขาเป็นฝ่ายถูก

10. สมาชิกประเภทหยุดทำพันธกิจ  

ไม่ว่าศิษยาภิบาลจะพูดจะทำอย่างไร สมาชิกประเภทนี้จะปฏิเสธที่จะทำพันธกิจคริสตจักร โดยอ้างว่า “ฉันเคยทำหน้าที่เหล่านี้ของฉันแล้วในอดีต”  

พูดแบบตรงไปตรงมาได้ว่า สมาชิกประเภทต่าง ๆ ข้างต้นนี้ทำให้การทำพันธกิจการอภิบาลไม่สนุกเท่าใดนัก   ขอให้กำลังใจแก่ผู้อภิบาลว่า ใช้เวลาในการอธิษฐานสำหรับสมาชิกเหล่านี้ครับ

เราเปลี่ยนเขาไม่ได้ แต่พระเจ้าทรงเปลี่ยนและสร้างเขาใหม่ได้ครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


17 มิถุนายน 2563

พระคริสต์จะเสริมพลังในทุกเรื่องที่ฉันจะทำจริงหรือ?

เมื่อคริสตชนหลายคนต้องการกำลังใจ กำลังชีวิตทำในบางสิ่งบางอย่างที่ยากลำบาก หรือ ตนเองไม่ค่อยมั่นใจ    ก็จะอ้างพระคัมภีร์บางข้อเพื่อเป็นตัวกระตุ้นพลังใจที่จะเผชิญกับสิ่งที่ยากลำบากนั้น เช่น “ข้าพเจ้าเผชิญ (ทำ) ได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” (ฟีลิปปี 4:13 มตฐ.)

แต่ลึก ๆ เกิดคำถามขึ้นมาว่า “จริงหรือเปล่าที่พระเจ้าจะ “เสริมกำลัง” ให้เราเผชิญกับทุกเรื่องที่เราต้องเผชิญ ที่เราต้องการก้าวข้ามไปให้ได้?

คำตอบคือ ใช่ ข้อความนี้เป็นข้อความจากพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นพระวจนะของพระเจ้า และจะเป็นความจริงอย่างที่พระคัมภีร์ข้ออื่น ๆ ที่เป็นความจริง แต่ในการอ่าน เข้าใจ หรือ ตีความหาความหมายของพระคัมภีร์แต่ละข้อ เราต้องใส่ใจพิจารณาถึงสถานการณ์เบื้องหลังในบริบทของพระคัมภีร์ข้อนั้น ๆ ทำไมผู้เขียนถึงเขียนเช่นนั้น? มีเบื้องหลังหรือสาเหตุอะไรไหม? และต้องการบอกอะไรแก่ผู้อ่าน? และพระเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับพระคัมภีร์ข้อนั้น?

เพราะถ้าเราไม่ระมัดระวังให้ดี เราท่านอาจจะทึกทักอ้างว่าเราสามารถกระทำสิ่งนั้นเรื่องนี้ที่เราต้องการให้ได้ ซึ่งแท้จริงแล้วเรื่องนั้นมิใช่พระประสงค์ของพระเจ้าในขณะนั้นสำหรับชีวิตของเรา กล่าวอีกนัยหนึ่ง พระคัมภีร์ตอนนี้เปาโลมิได้หมายความว่า โดยพระเยซูคริสต์ เราจะสามารถบินเร็วยิ่งกว่าลูกกระสุน มีพลังยิ่งกว่ารถไฟฟ้าหัวกระสุน   หรือสามารถกระโดดลงจากตึกสูงอย่างกล้าหาญปลอดภัย และเปาโลก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถบรรลุความสำเร็จโดยไม่ต้องรับความเจ็บปวด หรือ มีการเติบโตขึ้นด้านวุฒิภาวะโดยไม่ต้องมีวินัยในชีวิต

เบื้องหลังบริบทของพระคัมภีร์ข้อนี้ เปาโลบอกเราว่า เปาโลต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก และ พบกับความมั่งคั่งอุดม ทั้งสองสถานการณ์นั้น เปาโลสามารถยืนหยัดในความเชื่อศรัทธาได้เพราะความสัมพันธ์ที่เขามีกับพระเยซูคริสต์ และที่สำคัญคือ ทั้งสุขทุกข์ที่เปาโลเผชิญนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เปาโลต้องการกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า

เช่นเดียวกัน ในสถานการณ์ชีวิตของเราที่ต้องการยินหยัดที่จะมีชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า แต่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่รุนแรง อุปสรรคขัดขวาง ลำบาก จนรู้สึกเกินกว่าที่เราจะรับมือด้วยตนเองได้ ในวิกฤติเช่นนั้นจะมีเสียงยืนยันและรับรองก้องภายในชีวิตของเราว่า เราจะเผชิญทุกอย่างทุกสถานการณ์ได้ด้วยกำลังจากพระเยซูคริสต์มิใช่กำลังของเราเอง

เมื่อเราได้รับการทรงเรียกให้มีชีวิตตามพระประสงค์ พระเยซูคริสต์ทรงอยู่ในเราจะประทานกำลังของพระองค์แก่เราที่จะเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ที่มาขวางกั้นน้ำพระทัยของพระเจ้า

ด้วยพละกำลังที่ท่านมีอยู่ ท่านไม่สามารถที่จะเผชิญทุกสถานการณ์ได้ แต่ถ้าสถานการณ์นั้นเป็นการทรงเรียกท่าน   และท่านยอมทำตาม ท่านจะสามารถกระทำได้ มิใช่ด้วยกำลังของท่าน แต่ด้วยพระกำลังของพระคริสต์ที่ประทานแก่ท่านในสถานการณ์นั้น ๆ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


15 มิถุนายน 2563

ใครเอาศิษยาภิบาลเกษียณไปไว้ไหน?

แม้ศิษยาภิบาลเกษียณอายุแล้ว  
แต่ยังไม่เกษียณจากพันธกิจชีวิต 
ถึงแม้จะเป็นศิษยาภิบาลที่สูงอายุ 
แต่ก็ควรได้รับการอภิบาลชีวิตด้วยมิใช่หรือ?

ในช่วงที่ผมยังมีโอกาสไปเยี่ยมคริสตจักรในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากที่ได้พบกับศิษยาภิบาล ธรรมกิจ และ สมาชิกคริสตจักรแล้ว ในพื้นที่ที่มีศิษยาภิบาลสูงอายุที่เกษียณอายุจากการรับใช้แล้ว ผมจะพยายามหาโอกาสพูดคุยสัมภาษณ์ท่านถึงสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ในช่วงสูงวัยของท่าน และนี่คือสิ่งที่ผมได้ยินได้ฟังและได้เรียนรู้ถึงชีวิตของ “ผู้รับใช้อภิบาลชีวิตคริสตจักรและชุมชน” และในช่วงท้ายของชีวิตที่ท่านเป็นอยู่

[1] เป้าหมายชีวิตช่วงสูงวัยของศิษยาภิบาล

จากผู้อภิบาลที่เทศนาเกือบทุกอาทิตย์ และ หลายอาทิตย์ต้องเทศนามากกว่า 2-3 ครั้ง ต้องออกไปเยี่ยมเยียนครอบครัวต่าง ๆ นั่งพูดคุยกับผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านที่เวลาส่วนใหญ่ต้องนอนเหงาอยู่คนเดียว ไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาล กุมมือคนเจ็บป่วยอธิษฐานด้วยกัน อบรมสั่งสอนให้ผู้คนเติบโตขึ้นในความเชื่อ ชีวิต จิตวิญญาณ ทำพิธีแต่งงาน ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับบ้านใหม่ของสมาชิก ให้บัพติสมา ประกอบพิธีมหาสนิท เลี้ยงดูลูกแกะของพระคริสต์ ทำพิธีศพเมื่อถึงบั้นปลายของชีวิตสมาชิก แล้วจู่ ๆ วันหนึ่ง ท่านกลายเป็นศิษยาภิบาลสูงอายุที่เกษียณจากการอภิบาลชีวิตคริสตจักร  

ยิ่งนานวัน ยิ่งเงียบเหงา  ยิ่งดูเหมือนชีวิตลดคุณค่าลง

จากชีวิตที่เคยมีงานพันธกิจล้นมือในแต่ละวัน ใจยังต้องการทำในสิ่งที่เคยทำ เทศนา สอนพระคัมภีร์ แต่วันนี้กลับต้องอยู่เงียบเหงา บางคนเส้นผมบนศีรษะเริ่มขาวโพลนหรือไม่ก็บางเบาโล่งล้าน แต่ที่น่าเศร้าใจคือ         ลึก ๆ ในจิตใจของอดีตศิษยาภิบาลหลายท่านรู้สึกว่าตนเองมีค่าลดน้อยถอยลง

ต้องยอมรับว่า ศิษยาภิบาลเกษียณอายุเหล่านี้ท่านทุ่มเทเวลาที่ผ่านมาในการรับใช้ ไม่มีโอกาสเตรียมตัว เตรียมใจ และจิตวิญญาณเข้าสู่ภาวการณ์เป็นศิษยาภิบาลผู้สูงอายุ

ผมมีโอกาสพบกับท่านศิษยาภิบาลสูงอายุ หรือ ศิษยาภิบาลอาวุโส ท่านบอกว่าเมื่อเกษียณอายุตอนแรก ๆ ท่านเกือบตั้งตัวไม่ได้ ท่านบอกว่าท่านต้องอธิษฐานต่อพระเจ้าว่า “แล้วตอนนี้พระองค์ต้องการให้ผมทำอะไร?”  

อะไรคือเป้าหมายชีวิตของอดีตศิษยาภิบาลที่สูงอายุ?

ศิษยาภิบาลที่เกษียณอายุการอภิบาลหลายท่านได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า เมื่อต้องอยู่ในภาวะวัยเกษียณท่านพบว่า   นี่เป็นช่วงโอกาสใหม่ที่ท่านจะรับใช้พระเยซูคริสต์ ท่านยังรับใช้เป็นผู้อภิบาลอาวุโสได้โดยไม่ต้องมีตำแหน่ง เช่น   ท่านยังสามารถสอนพระคัมภีร์ในกลุ่มผู้สนใจ ติดตามสมาชิกที่หลงหาย ช่วยสร้างสาวกพระคริสต์เป็นการส่วนตัว   โดยเฉพาะเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาชีวิต

ในช่วงเกษียณอายุจากพันธกิจการอภิบาลเป็นโอกาสที่จะเป็นสามี หรือ ภรรยา ที่ดี เป็นพ่อหรือแม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งตอนที่เป็นศิษยาภิบาลอาจจะไม่ค่อยมีเวลาทำได้อย่างเต็มที่

ในเวลาเดียวกัน คริสตจักรก็ไม่ควรมองข้ามคุณค่า สติปัญญา และ ประสบการณ์ดีดีมากมายที่มีในตัวของศิษยาภิบาลเกษียณอายุ และหลายท่ายังสามารถทำพันธกิจบางอย่างได้อย่างดี แต่คริสตจักรต้องรู้เท่าทันว่า ศิษยาภิบาลเกษียณอายุเหล่านี้รอให้เราขอ รอให้เราเชิญเข้าร่วมพันธกิจ เพราะท่านเหล่านี้ระมัดระวังที่จะไม่เข้ามาครอบงำผู้อภิบาลของคริสตจักร

ศิษยาภิบาลปัจจุบันอาจจะพิจารณาว่า ผู้อภิบาลเกษียณอายุยังสามารถที่จะเป็นที่ปรึกษา เป็นโค้ชส่วนตัวของศิษยาภิบาลหนุ่มสาวหรือที่ปรึกษาของคณะธรรมกิจหรือไม่ และถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงของคริสตจักรอย่ามองข้ามค่าสมนาคุณเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะมีค่ามากสำหรับศิษยาภิบาลที่เกษียณอายุ ที่มีสวัสดิการชีวิตที่จำกัด หรือ บางท่านไม่มีเลย

[2] ศิษยาภิบาลเกษียณยังจำเป็นต้องกินต้องใช้

ศิษยาภิบาลเกษียณอายุหลายท่านที่รับใช้ในคริสตจักรบนที่สูง ชนบท หรือ คริสตจักรขนาดเล็ก ท่านเหล่านี้ได้รับเงินค่าตอบแทนที่จำกัดจำเขี่ย หลายท่านที่เกษียณแล้วมิได้มีเงินก้อน เงินสวัสดิการสังคม หรือเงินเกษียณอายุอย่างทำงานราชการ หรือ ในหน่วยงาน สถาบัน แต่ปัจจุบันนี้ค่าใช้จ่ายประจำวันสูงขึ้น ทั้งค่าอาหาร และเครื่องใช้จำเป็นต่าง ๆ และค่าพยาบาลรักษาสุขภาพก็แพงผิดหูผิดตาจากอดีต

ศิษยาภิบาลเกษียณเกือบทุกคนแม้จะอยู่ในสภาพชักหน้าไม่ถึงหลังพวกท่านเหล่านี้จะไม่เอ่ยปากขอ ท่านเหล่านี้เป็นผู้ให้มาตลอดชีวิตของท่าน ยอมเสียสละเพื่อเห็นแก่ชีวิตของผู้อื่น เมื่อครอบครัวคริสตจักรรู้ว่าครอบครัวของท่านเหล่านี้ได้รับความทุกข์ยากลำบาก คริสตจักรควรใส่ใจและให้การช่วยเหลือหนุนเสริมศิษยาภิบาลเกษียณและคู่ชีวิต

[3] ผู้อภิบาลเกษียณอายุต้องการความสัมพันธ์

เมื่อศิษยาภิบาลเกษียณยังมีคู่ชีวิต ลูกหลาน หรือ พี่น้องล้อมหน้าล้อมหลัง ดูเหมือนว่าเขามีความอบอุ่นและมีความสัมพันธ์ที่ดี แต่ถ้าเป็นศิษยาภิบาลเกษียณอายุที่คู่ชีวิตจากไป ลูกหลานอยู่ไกล หรือ ไม่มีลูกหลาน ตัวศิษยาภิบาลเกษียณต้องอยู่ตัวคนเดียวในกรณีนี้ คริสตจักร หรือ สมาชิกคริสตจักรจำเป็นต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ทำอย่างไรที่จะช่วยไม่ให้รู้สึกว่าต้องอยู่โดดเดี่ยวตัวคนเดียว ยังมีสมาชิกคริสตจักรไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนอยู่สม่ำเสมอ และเอาใจใส่สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของศิษยาภิบาลเกษียณอายุ และมีผู้คอยช่วยพาศิษยาภิบาลเกษียณอายุไปร่วมงานพันธกิจต่าง ๆ ของคริสตจักรเท่าที่ตัวท่านเองจะสะดวก และ ไปร่วมได้

ให้เราใส่ใจที่จะอภิบาลชีวิตผู้รับใช้ที่เคยอภิบาลผู้อื่นมาตลอดชีวิตด้วยครับ

คริสตจักรของท่าน เอาใจใส่ อภิบาลศิษยาภิบาลเกษียณอย่างไรบ้างครับ? เชิญแบ่งปันประสบการณ์กันหน่อยครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499