11 มิถุนายน 2563

“นวัตกรรม” หรือแค่ “การปรับตัว”

สิ่งที่เราตื่นเต้นคิดว่าเป็น “นวัตกรรม” ใหม่ของคริสตจักรท้องถิ่น ที่เกิดเมื่อ 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ ในตอนที่ผู้คนต้องรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และ สังคมนั้น  นั่นไม่ใช่ “นวัตกรรม” แต่เป็น “การปรับตัวต่างหาก”

แต่ถ้าคริสตจักรของเราต้องการเติบโตเข้มแข็งจริงในชีวิตและการทำพันธกิจ การรับใช้ผู้คนในสังคม เข้าถึงคนใหม่ ๆ นั่นหมายความว่าในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้ยังต้องการ “นวัตกรรม” อีกมากมาย ด้วยการการทดลองทำและถอดบทเรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ

นั่นหมายความว่าเราต้องมีความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น และขับเคลื่อนทดลองอย่างร้อนรน ทุ่มเท และที่สำคัญครับ จะไม่ยอมเลิกราท้อถอย

ตัวอย่างจริงที่พบในวิกฤติโควิด 19 ครั้งนี้ พบว่ามีศิษยาภิบาลหญิงท่านหนึ่ง ท่านเป็นศิษยาภิบาลในคริสตจักรชนบท-ชานเมือง ท่านต้องรีบปรับตัวเรื่องการนมัสการพระเจ้าที่ต้องทำกันในครอบครัวผ่านการถ่ายทอดออนไลน์  
แต่ศิษยาภิบาลท่านนี้เธอมิได้ทำการนมัสการและเทศนาออนไลน์เท่านั้น เพราะเธอตระหนักชัดว่า คริสตจักรชนบท-ชานเมืองเป็นชุมชนที่หล่อเลี้ยงและผูกพันด้วยสายใยแห่งความสัมพันธ์ ดังนั้น เธอจึงยังโทรศัพท์ไปหาสมาชิกแต่ละคน อธิษฐานด้วยกันทางโทรศัพท์ ปรึกษากันเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพ อาชีพการงาน และ รายได้ของครอบครัว จากการใช้โทรศัพท์ และ ไลน์ในการเยี่ยมเยียนเป็นรายครอบครัว ทำให้เธอรู้ถึงสภาพชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณของสมาชิกแต่บ้าน

จากนั้น เธอเลือกที่จะนัดเวลาเพื่อขอไปเยี่ยมที่บ้าน ในบางครอบครัวที่เธอไปพบว่า ต้องการการหนุนเสริม   แน่นอนครับเธอระมัดระวังเรื่องมาตรการการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเต็มที่ เธอสามารถเข้าถึงผู้คนในแต่ละครอบครัว และหาทางหนุนเสริมช่วยเหลือในสถานการณ์วิกฤติจำเป็นของครอบครัวนั้น ครอบครัวที่สถานการณ์หนักหนาสาหัสก็นำปรึกษาคณะธรรมกิจออนไลน์ เพื่อศึกษา แสวงหาแนวทางในการอภิบาลเชิงรูปธรรมต่อไป

ผมประทับใจมากครับ นอกจากที่เธอจัดการนมัสการ-เทศนาออนไลน์แล้ว เธอยังนัดพบกับคนในครอบครัวที่อยู่ใกล้กันในจุดต่าง ๆ ครั้งละ 2-3 ครอบครัว มีโอกาสพบปะ พูดคุย ถามถึงความทุกข์สุขของกันและกัน อธิษฐานด้วยกัน   ทบทวนเนื้อหาข่าวสารคำเทศนาในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีอะไรบ้างที่เป็นกำลังใจ หนุนเสริม และนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้บ้าง อะไรที่ทำจริงในชีวิตประจำวันไม่ได้ เพราะอะไร และจะทำอย่างไรต่อไป

ขอตั้งข้อสังเกตว่า เธอมิได้เน้นความสำคัญที่เทคนิค/วิธีการ หรือ เทคโนโลยี เท่านั้น แต่เน้นถึงเนื้อหาของการทำพันธกิจกับความเหมาะสมสอดคล้องต่อความจำเป็นต้องการในการดำเนินชีวิตประจำวันของสมาชิก  

นอกจากนั้น ศิษยาภิบาลหญิงอีกท่านหนึ่งเมื่อเธอได้ทราบถึงปัญหาของสมาชิกในการจำหน่ายสินค้าที่ตนปลูก/ผลิตในครัวเรือน เธอถ่ายภาพ แล้วนำมาประชาสัมพันธ์ในเฟสบุ๊คของเธอ เพื่อช่วยหาผู้ซื้อผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยเรื่องรายได้ในครัวเรือนของสมาชิก

ศิษยาภิบาลชายท่านหนึ่ง ที่เป็นชนชาติพันธุ์ แต่ทำพันธกิจในพื้นที่อีสาน ท่านเข้าไปในชุมชน และสามารถเข้าถึงครอบครัวต่าง ๆ ของพี่น้องในชุมชน ท่านไปพร้อมกับสมาชิก 2-3 คนจากคริสตจักร ทีมงานทำความรู้จัก ถามถึงความเป็นอยู่ของชีวิต และเมื่อพบว่าหลายครอบครัวกำลังประสบกับเรื่องรายได้ในครอบครัว จนกระทบต่อความอยู่รอดในชีวิตประจำวัน ทีมงานของท่านและคริสตจักรร่วมกันจัดทำ “ถุงแห่งพระพร” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัวที่ได้ไปเยี่ยม และถ้าเจ้าบ้านอนุญาตทีมงานก็จะนำอธิษฐานเผื่อชีวิตของผู้คนในครอบครัวนั้น พร้อมกับได้บอกว่าพวกตนเป็นใคร มาจากไหน ทำไมถึงทำเช่นนี้ ซึ่งเป็นการนำเสนอพระกิตติคุณผ่านการเอาใจใส่และอภิบาลชีวิตเพื่อนบ้านในยามที่ชีวิตมีวิกฤติ มีหลายคนที่เข้ารับเชื่อในพระเยซูคริสต์ กระบวนการนี้เป็นการเข้าถึงชีวิตชุมชน และเป็นการสร้างให้ทีมงานให้มีชีวิตที่เป็นสาวกพระคริสต์ และเรียนรู้รูปแบบ กระบวนการในการสร้างคนอื่นให้เป็นสาวกพระคริสต์ด้วย

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือผลที่ได้รับจากการปรับวิธีการทำพันธกิจ และ การอภิบาลชีวิตในคริสตจักรและชุมชนในยามวิกฤติ และถ้ามีโอกาสชวนกันวิเคราะห์ สังเคราะห์ ถอดบทเรียนรู้ และนำสิ่งที่เรียนรู้จากการทดลองทำนี้มาประมวลเชื่อมโยงให้เห็นเป็นกระบวนการ นั่นจะเกิดเป็น “นวัตกรรมในการอภิบาลชีวิตคริสตจักรและชุมชน” สำหรับคริสตจักรของตน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น