26 ตุลาคม 2561

พระเจ้าทรงใช้เรา...เมื่อเราตกอับ?

อ่าน อพยพ 2:11-15

พระเจ้าทรงเรียกครั้งสำคัญในความนึกคิดและจิตใจของโมเสส   ที่มีจิตวิญญาณต้องการปลดปล่อยชนอิสราเอลประมาณ 2 ล้านคนออกจากแอกแห่งการเป็นทาสในอียิปต์   ดูภายนอกแล้วดูเหมือนโมเสสเป็นคนที่เหมาะสมสำหรับภารกิจอันสำคัญนี้   เพราะเขาเป็นถึงหลานชายบุญธรรมของฟาโรห์   เขาผ่านการศึกษาระดับสูงทางการทหาร และ การปกครองจากทางราชสำนัก  มีทั้งอำนาจ พร้อมทั้งความรู้!

นอกจากนั้นแล้ว  โมเสสเป็นคนที่มีจิตวิญญาณที่เป็นตัวของตัวเอง   เป็นคนที่มีความมั่นใจในความสามารถของตนเอง   แต่สิ่งดีนี้อาจทำให้เขาขาดการที่จะสนใจและเชื่อฟังในแผนการของพระเจ้า   เพราะเขาคิดว่าตนมีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพ มีอำนาจ  โมเสสต้องเรียนรู้ถึงชีวิตของเขาที่จะทำงานใหญ่นี้ว่า จะต้องพึ่งพิงในพระปัญญา  พระกำลัง  และแผนการจากเบื้องบน   เขาไม่สามารถสำเร็จด้วยการพึ่งตนเองหรือมั่นใจในตนเองเท่านั้น

จากการที่โมเสสพึ่งพิง ความรู้ ความสามารถ กำลังของตนเองในการจัดการกับปัญหาการกดขี่ข่มเหง และ เพื่อจะปลดปล่อยชนอิสราเอล (อพยพ 2:11-12)   โดยเขามิได้พึ่งพิงในพระเจ้า   ความคิดของเขาคือ “กำจัด” คนที่เป็นศัตรู  คนที่ข่มเหง   เขาฆ่าคนที่ทำร้ายแรงงานทาสอิสราเอล   แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ   เขาต้องหลบลี้หนีออกจากแผ่นดินอียิปต์   จากการไล่ล่าของฟาโรห์ที่เห็นว่าเขาคือคนที่เป็นภัยร้ายคุกคามความมั่นคงของชาติ   โมเสสต้องระเหเร่ร่อนไปในทะเลทราย   และนี่ดูเหมือนว่าคือจุดจบในชีวิตของเขา

ในเวลาที่ชีวิตโมเสสกำลังแตกหัก ตกระกำลำบาก ไร้ที่พึ่งพิง  อนาคตมืดมน  สับสน  คือโอกาสที่พระเจ้าจะช่วยให้โมเสสได้เรียนรู้ถึงความจริงอีกด้านหนึ่งของชีวิต   ที่เขาจะต้องพึ่งพิงพระปัญญา  แผนการจากเบื้องบน  และพระกำลัง  ที่เขาจะเดินหน้าไปตามแผนการที่ยิ่งใหญ่ตามการทรงเรียกของพระเจ้า

เราท่านก็เป็นเหมือนโมเสส   เราเกิดมา เติบโตขึ้น ถูกหล่อหลอมจากกระแสสังคมปัจุบันที่มีแนวโน้มเป็นคนที่เห็นแก่ตัว  และ ดื้อรั้น เราต้องการให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามความคิด ความต้องการ ตามใจปรารถนาของเราเอง   แต่พระเจ้าให้โอกาสแก่เราที่เรียนรู้ว่า  เราจะต้องมอบกายถวายชีวิตทุกมิติทุกด้านแด่พระองค์   เพื่อพระองค์จะพัฒนา แก้ไข เสริมสร้างใหม่เพื่อให้ใช้ได้ตามแผนการของพระองค์

เป็นความจริงว่า  น้อยคนนักที่พระเจ้าทรงเรียกให้รับงานใหญ่อย่างโมเสส   แต่พระเจ้าก็ยังทรงเรียกในความคิดจิตใจของผู้เชื่อแต่ละคน   ไม่ว่าจะเป็นการทรงเรียกให้เราดูแลครอบครัวของตนให้เป็นครอบครัวของพระเจ้า   หรือเอาใจใส่ผู้คนที่เราเกี่ยวข้องในที่ทำงานเพื่อก่อเกิดชุมชนที่พระเจ้าต้องการ   การเข้าถึงชีวิตของเพื่อนฝูง  เพื่อเขาจะได้เห็นพระคริสต์ในชีวิตประจำวันของเรา  เพื่อเสริมสร้างที่ทำงานให้เป็นชุมชนที่รักเมตตาที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางชีวิต   หรือ แม้แต่การที่เราจะเข้าถึงคนในชุมชนเพื่อสำแดงชีวิตของพระคริสต์แก่เพื่อนบ้านที่เราพบเห็น   แต่เราต้องไม่ลืมว่า   พระเจ้าประสงค์ให้เราทำตามแผนงานการทรงเรียกของพระองค์  ด้วยพึ่งพิงพระกำลัง พระปัญญาของพระองค์ด้วย

แน่นอนว่า  จะมีเวลาที่พระเจ้าทรงเตรียม  เสริมสร้าง ให้เราเข้าใจแผนการของพระเจ้า  ประทานวิธีการ  ความรู้ ทักษะในการทำตามแผนงานของพระองค์แก่เรา   ส่วนใหญ่ที่เราพบ มักพบว่าจุดเริ่มต้นที่พระองค์ทรงใช้ และ ทรงเตรียมเรา มักเป็นเวลาที่ชีวิตของเราพบกับทางตัน  พบกับจุดจบ   นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่พระเจ้าจะทรงใช้เราตามแผนการของพระองค์

ไม่ว่าจะเป็นคริสตจักรที่ใหญ่โตมีงบประมาณมากมาย  มีอาจารย์ศิษยาภิบาลที่เก่งมีชื่อเสียง  โรงพยาบาลคริสเตียนที่ทำเงินมากมาย   โรงเรียนคริสเตียนที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังของประเทศ   มหาวิทยาลัยของคริสเตียนที่เคยเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแนวหน้า   หรือ มีองค์กรพัฒนาสังคมระดับโลก   มีแนวโน้มที่มั่นใจในตนเอง  มั่นใจในการทำงานของตนเอง   และห่างไกลจากการพึ่งพิงและทำตามแผนการของพระเจ้า

แต่เมื่อถึงเวลาตกอับ  ถึงจุดจบ  ถึงทางตัน   นั่นจะเป็นเวลาที่พระเจ้าจะเริ่มต้น พลิกฟื้นซากปรักหักพังให้เป็นเครื่องมือในการทำงานตามพระประสงค์ของพระองค์  เพราะ “ความตกอับ” พระเจ้าจะใช้เป็นยาแก้ความภาคภูมิใจ  ความเห็นแก่ตัว  ความหยิ่งยโสในตนเองของผู้คน  ของสถาบัน  หน่วยงาน  และของประเทศชาติ

เราจะเป็นเหมือน อิสราเอลที่รุ่งเรืองสุดยอดแล้วต้องตกลงต่ำสุด   แพ้สงคราม  ถูกกวาดต้อนให้ไปเป็นเชลยศึกที่บาบิโลน   แล้วพระเจ้าทรงเริ่มต้นการทรงเรียกพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง  แล้วเตรียม และ เสริมสร้างพวกเขาให้กลับมาทำตามแผนการของพระองค์ 

หรือเราจะเป็นเหมือนกษัตริย์โยสิยาห์ ที่ตัดสินใจหันกลับมาหาพระเจ้า  แล้วนำสังคมอิสราเอลได้รับการทรงพลิกฟื้นปฏิรูปขึ้นใหม่จากพระเจ้า  ด้วยการพลิกฟื้นปฏิรูปจากชีวิตภายในของทั้งกษัตริย์ และ ประชาชน?

พระเจ้าเปิดโอกาสให้เราเลือกได้ครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

24 ตุลาคม 2561

ระวังโรค.....ระบาด!

ความโกรธสามารถทำร้ายทำลายทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ   แต่ความโกรธมิได้ก่อผลร้ายกับคนที่โกรธเท่านั้น   แต่พ่นพิษร้ายแพร่ฟุ้งกระจายไปยังคนรอบข้างด้วย    ในกรณีนี้ถึงแม้ว่า ความขมขื่น ความไม่พอใจที่ “ระเบิดขึ้นในตัวเราเองอาจจะไร้เสียงปราศจากสำเนียง”  แต่มิใช่เรื่องของเราผู้เดียวเท่านั้นแต่มันสร้างผลกระทบอย่างมหันต์ต่อคนอื่น และสภาพแวดล้อมด้วย

“ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้แก่คนโบราณว่า ‘อย่าฆ่าคนและถ้าผู้ใดฆ่าคนจะถูกตัดสินลงโทษ’ แต่เราบอกท่านว่าถ้าผู้ใดโกรธเคืองพี่น้องของตนจะถูกตัดสินลงโทษ ถ้าผู้ใดพูดดูหมิ่นพี่น้องของตนจะต้องถูกนำตัวขึ้นศาลแซนเฮดริน และถ้าผู้ใดพูดว่า ‘ไอ้โง่!’ อาจจะต้องโทษถึงไฟนรก (มัทธิว 5:21-22 อมธ.)

จิตวิญญาณแห่งความโกรธฉุนเฉียวนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันฟุ้งกระจายขยายติดต่อไปยังคนรอบข้าง ไม่ต่างอะไรจากเชื้อโรค   แต่ระวังครับ  ความโกรธเป็นพิษต่อความสัมพันธ์ที่เรามีต่อคนรอบข้าง  และสิ่งนี้มิได้เกิดในวงแคบเท่านั้น  ในบางกรณีหรือในบางเรื่อง พิษร้ายของความโกรธแผ่ขยายพ่นพิษจากคนชั่วอายุหนึ่งไปยังอีกชั่วอายุหนึ่งเลยทีเดียว  

ถ้าจิตวิญญาณแห่งความโกรธเกิดขึ้นในที่ทำงานก็พ่นพิษทำให้เกิดความตึงเครียดในกลุ่มผู้ทำงาน   สภาพแวดล้อมในที่ทำงานเกิดมลพิษ บรรยายกาศเต็มไปด้วยการกัดกร่อน เซาะแทรกทำร้ายทำลายกัน  แต่แน่นอน ก่อเกิดมุมมองต่อกันด้วยสายตาที่เลวร้ายไม่ไว้ใจกัน กระทบต่องานที่ทำและผลงานที่จะเกิดขึ้น

ถ้าอาการพวกนี้เกิดขี้นในบ้านก็จะเกิดการพูดจาอย่างเผ็ดร้อนต่อกัน หรือ ไม่บางคนบางฝ่ายก็จะเก็บเงียบด้วยความเจ็บปวดภายในชีวิต  

ถ้าเกิดขึ้นในที่ประชุมก็จะเกิดการว่าร้ายป้ายสีสาดโคลน  ขุดลอกเอาเรื่องเก่า ๆ มาทับถมฝ่ายตรงกันข้ามให้จมมิด   เกิดการทำร้ายทำลายอย่างเจตนา   และ

ถ้าสิ่งทำนองนี้เกิดขึ้นในคริสตจักรของเรา   หลายต่อหลายคนต้องทนทุกข์จากคำซุบซิบนินทาว่าร้ายจากคนบางคนในคริสตจักร   และเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเพื่อปกป้องพวกตน  โจมตีพวกอื่น!

พระเจ้าทรงสร้างเราแต่ละคนให้ดำเนินชีวิตที่เกื้อหนุน เสริมสร้าง และเอื้ออาทรต่อคนรอบข้าง   แต่ความโกรธสามารถเป็นพิษต่อความสัมพันธ์ของเรา  และที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง  คนที่ต้องรองรับผลจากอารมณ์โกรธฉุนเฉียวมากที่สุดก็คือคนที่อยู่ใกล้ชิดเราที่สุด  ที่เขาจะต้องเกิดความทุกข์ระทมขมขื่นมากที่สุด 

อย่าลืมนะครับ  ลูกหลาน เยาวชนของเราเรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเขาก็ด้วยการสังเกตเห็นแบบอย่างที่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ศิษยาภิบาล และผู้ใหญ่ในสังคม   แล้วเขาก็พัฒนา “มุมมอง” ทัศนคติของตน และ รูปแบบพฤติกรรมแสดงออกของตนต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เลียนแบบจากเรา   จำเป็นที่เราจะต้องคิดใคร่ครวญจริงจังว่า “จิตใจ” แบบไหนที่เรากำลังยื่นส่งให้ลูกหลาน อนุชนชายหญิง และ คนรุ่นต่อไป

ขอบพระคุณพระเจ้าที่พระราชกิจสำคัญหนึ่งของพระองค์คือการเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจจิตวิญญาณของเรา   เราท่านต่างต้องเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ หรือเผชิญหน้ากับคนช่างโกรธฉุนเฉียวไม่ว่าเราจะต้องการหรือไม่ก็ตาม   แต่เราสามารถเรียนรู้จากพระเจ้าด้วยการเดินไปในชีวิตประจำวันที่ใกล้ชิดกับพระคริสต์ทุกขณะ   พระคริสต์ทรงเรียกเราแต่ละคนให้ติดตามพระองค์แล้วเรียนรู้และเลียนแบบจากพระองค์   และ ชีวิตจิตใจจิตวิญญาณของเราจะได้ “ผ่อนพัก” และ “ผ่อนคลาย”  และในที่สุดได้รับการเปลี่ยนแปลง 

“บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนักจงมาหาเรา และเราจะให้ท่านพักสงบ  จงรับแอกของเราแบกไว้และเรียนรู้จากเราเพราะเราสุภาพและถ่อมใจ แล้วจิตวิญญาณของท่านจะพักสงบ  เพราะแอกของเรานั้นพอเหมาะและภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28-29 อมธ.)

วันนี้ท่านต้องเลือกเอาเองครับ   ท่านเลือกที่จะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ  เพื่อให้ผู้คนเห็นว่าท่านเป็นฝ่ายถูก  หรือ ท่านจะเลือกศานติสุขของพระคริสต์?   ไม่ว่าท่านจะเลือกแบบไหน เราท่านต่างต้องจ่ายค่าราคานั้นครับ  

ถ้าเราเลือกที่จะโกรธท่านต้องจ่ายค่าราคาของการสูญเสียสุขภาพกายใจ จิตวิญญาณ  ท่านต้องเอาความสัมพันธ์ที่มีกับคนรอบข้างเข้าแลกเอา  และท่านอาจจะต้องสูญเสียมรดกแห่งความเชื่อศรัทธาที่บรรพบุรุษได้ส่งทอดมอบแก่ท่านในความเชื่อ  

แต่ถ้าเราท่านเลือกเอาศานติสุขในพระคริสต์   ท่านต้องทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าขอช่วยให้ท่านก้าวออกจากภาวะความไม่พึงพอใจที่กำลังเกิดขึ้น  ยอมสูญเสียการยึดมั่นในสิทธิส่วนตัวของท่าน  วางเครื่องบูชาไว้ที่แท่นก่อน   แล้วไปสร้างการคืนดีกับคนนั้นที่ท่านโกรธ!  ยอมเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี

“...ถ้าท่านกำลังถวายเครื่องบูชาที่แท่นบูชาและนึกขึ้นได้ว่าพี่น้องมีเหตุขุ่นเคืองใดๆ กับท่าน  จงละเครื่องบูชาไว้ที่หน้าแท่นแล้วไปคืนดีกับพี่น้องก่อน จึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชา” (มัทธิว 5:23-24

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

22 ตุลาคม 2561

“หู” ที่มีประสิทธิภาพอย่างพระคริสต์

หูมีไว้ฟัง...   เราท่านต่างเห็นด้วย   และยุคนี้เราจะสอนผู้คนว่าจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี   และคุณสมบัติประการหนึ่งของผู้นำที่มีประสิทธิภาพคือ  เป็นผู้ฟังที่ใส่ใจ

แต่ผมเองต้องยอมรับอย่างไม่มีข้อแก้ตัวว่า  ผมเองมิใช่ผู้ฟังที่ดี   ผมมักสนใจ ใส่ใจแต่สิ่งที่ผมกำลังทำ  ผมจะพูด พูด พูด ในสิ่งที่ผมต้องการพูด  ทำให้ผมไม่ได้ยินเสียงสำคัญ ๆ ที่กำลังร้องขอความช่วยเหลือที่อยู่รอบข้างผม   เพราะผมไม่สนใจและใส่ใจต่อเสียงร้องขอเหล่านั้น   ผมสนใจใส่ใจแต่สิ่งที่ผมกำลังทำ  ผมสนใจแต่(จะตะเบ็ง)เสียงของตนเอง!

แต่พระเยซูคริสต์แตกต่างจากผมอย่างสิ้นเชิง   พระองค์ได้ยินเสียงร้องของคนที่ต้องการความช่วยเหลือ  เสียงร้องของคนที่ชีวิตกำลังรับความเจ็บปวด  พระองค์ได้ยินเสียงของคนเล็กน้อยที่กำลังถูกกีดกัน และ ถูกตีตราให้ไร้ค่า  

ถึงแม้พวกสาวกพยายาม “กลบเสียงร้อง” ของคนเล็กน้อยที่ตาบอดทั้งสอง   ถึงแม้คนใกล้ชิดพระเยซูพยายามกันพวกนี้ไม่ให้เข้ามาถึงตัวของพระเยซูคริสต์   แต่...
พระเยซูทรงหยุดและตรัสสั่งให้คนพาเขา(คนตาบอด)มาหาพระองค์ เมื่อเขาเข้ามาใกล้พระเยซูตรัสถามว่า  “ท่านต้องการให้เราทำอะไรให้?

เขาทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า ข้าพระองค์อยากมองเห็น” (ลูกา 18:40-41 อมธ.)

พระเยซูทรงสงสารเขาและทรงแตะตาของเขา ทันใดนั้นทั้งสองก็มองเห็นและตามพระองค์ไป (มัทธิว 20:29-34 อมธ.)

วันนี้กรุณาอย่าใช้แต่ปากและเสียงพูดมากเกินไปครับ   แต่ใช้หูให้มากเพื่อท่านจะมีหู และ ใช้หูของท่านอย่างมีประสิทธิภาพแบบหูของพระเยซูคริสต์ครับ!

ในวันนี้ให้เราทูลขอพระเจ้าโปรดเมตตาที่จะรักษาหูของเราให้ได้ยินเสียงของผู้เจ็บปวด และ สิ้นหวังในชีวิต   ฟังเสียงของคนรอบตัวของเราที่ถูกกีดกัน และไล่ให้ออกห่างจากเรา  เพื่อเราจะตอบสนองต่อเสียงเหล่านั้นอย่างพระคริสต์ทรงตอบสนอง

วันนี้ให้เราทูลขอพระเจ้าโปรดประทานหูที่ได้ยินถึงเสียงของพระองค์ผ่านเสียงแห่งชีวิตของผู้บาดเจ็บ สิ้นหวัง ต้องการความช่วยเหลือ  และโปรดประทานจิตใจเมตตาที่ไร้เงื่อนไขแบบพระคริสต์   และขอประทานพระกำลังที่เราจะใช้ตอบสนองเสียงของพระเจ้าที่ดังผ่านผู้เล็กน้อยเหล่านั้นเยี่ยงพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

17 ตุลาคม 2561

พระเจ้ารู้จัก “ฉัน” มากกว่าฉันรู้จักตนเอง!

พระเนตรขององค์พระผู้เป็นเจ้าเฝ้าดูคนชอบธรรม
และพระกรรณของพระองค์ฟังคำร้องทูลของพวกเขา (สดุดี 34:15 อมธ.)

ในแต่ละวัน   ให้เราเริ่มต้นวันใหม่ที่พระเจ้าประทานแก่เราด้วยการอธิษฐานต่อพระองค์   และนี่คือคำอธิษฐานสำหรับวันนี้

พระบิดาเจ้า  
ขอบพระคุณสำหรับความรักเมตตาที่พระองค์มีต่อข้าพระองค์ทั้งหลาย
พระองค์ทรงรู้จักตัวข้าพระองค์มากกว่าที่ข้าพระองค์รู้จักตนเอง
พระองค์ทรงล่วงรู้ถึง ความกลัว และ ความปรารถนาในก้นบึ้งแห่งจิตใจของข้าพระองค์
และพระองค์รู้ถึงสิ่งที่ข้าพระองค์ปรารถนามากที่สุด
ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงล่วงรู้ถึงจุดอ่อนว่า
ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้ตามที่ใจปรารถนา  ข้าพระองค์มักจะเสียใจ และ เสียศูนย์แค่ไหน
ข้าพระองค์รู้ว่า พระองค์ทรงรักข้าพระองค์
ข้าพระองค์ตระหนักอีกว่าพระองค์มีแผนการสำหรับชีวิตของข้าพระองค์

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า 
โปรดอย่าให้สิ่งที่ปรารถนา มาบดบังตาข้าพระองค์จนมืดบอดจากพระประสงค์ของพระองค์
โปรดขจัดสิ่งปรารถนาที่สวนทางกับแผนการของพระองค์สำหรับข้าพระองค์
โปรดขัดขวางความปรารถนาเหล่านั้นอย่าให้มันล่วงล้ำเข้าครอบงำชีวิตข้าพระองค์
แต่โปรดช่วยข้าพระองค์ติดตามน้ำพระทัยของพระองค์
โปรดประทานศานติสุขในทุกสิ่งที่เป็นพระประสงค์ของพระองค์
และเมื่อพระประสงค์ของพระองค์เข้ามาในชีวิตของข้าพระองค์  
โปรดให้ข้าพระองค์รู้ชัดว่า 
นี่คือพระหัตถ์ของพระองค์ที่กระทำพระราชกิจในชีวิตข้าพระองค์

ในพระนามพระเยซูคริสต์ที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งความเมตตา   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

15 ตุลาคม 2561

15 โอกาสในการอธิษฐานอย่างพระเยซูคริสต์

เราท่านคริสต์ชนต่างรู้ว่าเราแต่ละคนควรอธิษฐาน
แต่หลายต่อหลายครั้งที่พบว่า เมื่อจะเริ่มอธิษฐานจริงมันไม่ง่ายเลย
คริสต์ชนหลายท่านที่ต้องปล้ำสู้กับการอธิษฐาน

คริสต์ชนอาจจะเริ่มอธิษฐานอย่างที่พระเยซูคริสต์ที่เอาจริงเอาจัง และอธิษฐานในทุกบริบท หรือ สถานการณ์ชีวิตที่พระองค์ต้องประสบ   อย่างที่เราสามารถอ่านและศึกษาพบในพระกิตติคุณลูกา

1. เริ่มต้นวันใหม่ด้วยการอธิษฐาน:   พอรุ่งเช้าพระเยซูเสด็จไปยังที่สงบเงียบ...(ลูกา 4:2 อมธ.)   และ ใน มาระโก 1:35  บันทึกไว้ว่า พระเยซูไปที่สงบเงียบเพื่ออธิษฐาน

2. ปลีกตัวออกจากฝูงชนเพื่อหาที่สงบอธิษฐาน:  “...กิตติศัพท์ของพระองค์เลื่องลือออกไปมากยิ่งขึ้น  จนฝูงชนมากมายพากันมาฟังพระองค์และรับการรักษาโรค  แต่พระเยซูมักจะทรงปลีกตัวไปอยู่ในที่สงบและอธิษฐาน”  (ลูกา  5:15-16 อมธ.)

3. อธิษฐานเพื่อมอบกายถวายชีวิตของตนสำหรับพระราชกิจของพระเจ้า:  “เมื่อคนทั้งหลายกำลังรับบัพติศมาอยู่ พระเยซูก็ทรงรับบัพติศมาด้วย ขณะที่พระองค์ทรงอธิษฐาน ท้องฟ้าก็เปิดออก และพระวิญญาณบริสุทธิ์...เสด็จลงมาประทับเหนือพระองค์  และมีพระสุรเสียงจากฟ้าสวรรค์ว่า “เจ้าคือลูกของเรา ผู้ที่เรารัก เราพอใจเจ้ายิ่งนัก”  (ลูกา 3:21-22 อมธ.)

4. อธิษฐานเผื่อคนที่เราทุ่มเทเสริมสร้างในชีวิตของเขา  เฉกเช่นพระเยซูคริสต์อธิษฐานเผื่อคนที่พระองค์จะสอน สร้างให้เป็นอัครทูตของพระองค์:  “พระเยซูเสด็จไปที่ภูเขาเพื่ออธิษฐานและใช้เวลาอธิษฐานต่อพระเจ้าทั้งคืน  พอรุ่งเช้าพระองค์ทรงเรียกเหล่าสาวกมาหาพระองค์และเลือกสิบสองคนจากพวกเขา ทรงแต่งตั้งให้เป็นอัครทูต” (ลูกา 6:12-13 อมธ.)

5. อธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับอาหารในชีวิตประจำวัน:  “พระเยซูทรงรับขนมปังห้าก้อนและปลาสองตัวมา แล้วเงยพระพักตร์ขึ้นมองฟ้าสวรรค์ ทรงขอบพระคุณพระเจ้า และหักส่งให้เหล่าสาวกแจกจ่ายแก่ประชาชน”  (ลูกา 9:16 อมธ.)

6. มีเวลาอธิษฐานเป็นการส่วนตัว:  “ครั้งหนึ่งขณะพระเยซูทรงกำลังอธิษฐานเป็นการส่วนพระองค์...” (ลูกา 9:18 อมธ.)

7. นำคนอื่นออกไปที่สงบห่างไกลเพื่ออธิษฐานด้วยกัน:  “...พระองค์ทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์น ขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐาน”  (ลูกา 9:28 อมธ.)

8. อธิษฐานด้วยความชื่นชมยินดี:   ขณะนั้นพระเยซูทรงเปี่ยมด้วยความชื่นชมยินดีโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ และตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา... ข้าพระองค์สรรเสริญพระองค์ ...” (ลูกา 10:21 อมธ.)

9. อธิษฐานเอง และสอนคนอื่นในการอธิษฐาน:  “วันหนึ่งขณะพระเยซูทรงอธิษฐานอยู่ในที่แห่งหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงอธิษฐานจบ สาวกคนหนึ่งมาทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า ขอทรงสอนพวกข้าพระองค์อธิษฐาน... “เมื่อพวกท่านอธิษฐาน จงทูลว่า... ” (ลูกา 11:1-2 อมธ.)

10. อธิษฐานเผื่อคนอื่นที่กำลังถูกโจมตีโดยอำนาจแห่งความชั่วร้าย:  “ซีโมน ซีโมนเอ๋ย ซาตานได้ขอไว้ที่จะฝัดร่อนท่านเหมือนข้าวสาลี   แต่... เราได้อธิษฐานเผื่อท่าน เพื่อความเชื่อของท่านจะไม่ล้มเหลว ...” (ลูกา 22:31-32 อมธ.)

11. ร้องทูลอธิษฐานเมื่อเวลาทุกข์ยากโศกเศร้า:  “ข้าแต่พระบิดา ถ้าพระองค์พอพระทัย ขอทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพระองค์ ...” (ลูกา 22:42ก. อมธ.)

12. อธิษฐานทูลขอให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้า:  “... อย่างไรก็ตามอย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพระองค์ แต่ขอให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์” (ลูกา 22:42ข. อมธ.)

13. อธิษฐานเผื่อศัตรูของท่าน:  พระเยซูตรัสว่า “พระบิดา ขอทรงยกโทษให้พวกเขา เพราะพวกเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร...” (ลูกา 23:34 อมธ.)

14. อธิษฐานเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตาย:  ... “พระบิดา ข้าพระองค์ขอมอบจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลูกา 23:46 อมธ.)

15. พระเยซูอธิษฐานอวยพระพรสาวก:  เมื่อพระองค์ทรงนำพวกเขาออกมาที่ละแวกเบธานีแล้ว ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นอวยพรเขาทั้งหลาย  (ลูกา 24:50 อมธ.)

ให้เราใช้แบบอย่างในการอธิษฐานของพระเยซูคริสต์ สำหรับการอธิษฐานในชีวิตประจำวันของเราดีไหม?   อย่างน้อยเราพบโอกาสที่เราจะอธิษฐานในชีวิตประจำวันของเราถึง 15 โอกาส/ลักษณะด้วยกัน

ทุกสถานการณ์ชีวิตของเราในวันนี้  คือโอกาสที่เราจะอธิษฐานต่อพระเจ้า!


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

12 ตุลาคม 2561

ความเชื่อที่สมดุล

ในยุคของเนหะมีย์  พวกประชาชนมาช่วยกันซ่อมกำแพงเยรูซาเล็ม   พวกศัตรูรอบข้างต่างมาข่มขวัญและหาทางต่อสู้ขัดขวางการซ่อมกำแพงของพวกอิสราเอล   ซึ่งศัตรูที่รวมหัวมาขัดขวาง ข่มขู่ และต่อสู้รบกวนอิสราเอลเป็นพวกศัตรูหลายพวกรอบข้างอิสราเอล  

“แต่เมื่อสันบาลลัท โทบียาห์ ชาวอาหรับ ชาวอัมโมน และชาวอัชโดดได้ยินว่างานซ่อมแซมกำแพงเมืองเยรูซาเล็มคืบหน้าไป และช่องโหว่ในกำแพงก็ถูกอุดหมดแล้ว พวกเขาก็โกรธจัด พวกเขาคบคิดกันจะยกพวกมาสู้กับเยรูซาเล็มเพื่อก่อความวุ่นวาย” (ข้อ 7-8 อมธ.)  

เมื่ออิสราเอลประชากรของพระเจ้าถูกล้อมด้วยพวกศัตรู   พวกเขาต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร?

เมื่ออิสราเอลถูกท้าทายด้วยสถานการณ์คับขันเช่นนี้   พวกเขาตัดสินใจทำเช่นนี้คือ 
แต่เราอธิษฐานต่อพระเจ้าของเรา
และตั้งยามดูแลทั้งวันทั้งคืนเพื่อรับมือกับการคุกคาม
(เนหะมีย์ 4:9 อมธ.)

ในด้านหนึ่งอิสราเอลหันเข้าหาพระเจ้าด้วยการอธิษฐานทูลขอเพื่อแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้า  

ในอีกด้านหนึ่ง  พวกเขาจัดตั้งกองกำลังทหารตามศักยภาพที่มีอยู่ขึ้นมาปกป้องการรุกรานจากศัตรู   เพื่อคุ้มครองให้การซ่อมแซมกำแพงกรุงเยราเล็มมิให้หยุดชะงัก  พวกอิสราเอลได้เรียนรู้ถึงความสมดุลของความเชื่อในการทรงช่วยกู้ของพระเจ้า และ การใช้ศักยภาพและของประทานในวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น  

พวกเขาเรียนรู้ที่จะมีศรัทธาที่พึ่งพาในพระเจ้า และ การใช้ความสามารถที่พระเจ้าประทานให้อย่างสอดคล้องสมดุลกัน   เป็นความสมดุลสอดคล้องกันที่ไว้วางใจในการปกป้องจากพระเจ้า และ ในเวลาเดียวกันพวกเขาทำงานอย่างชาญฉลาด  

เป็นความสมดุลระหว่างการอธิษฐานและการวางแผนการขับเคลื่อนร่วมกันที่สอดคล้องและสมดุล

เราสามารถที่จะเรียนรู้จากเรื่องราวของฮีบรูแม้ว่าเป็นเรื่องในสมัยโบร่ำโบราณก็ตาม   บางคนบางกลุ่มในปัจจุบันนี้ที่มุ่งหน้าตั้งตาเอาแต่อธิษฐาน   แต่มิได้ทุ่มเทลงมือทำอะไร  มิได้ใช้ของประทานอันมีค่าจากพระเจ้าให้เกิดผลตามพระประสงค์ที่ประทานแก่เรา   พวกเขาบอกเพียงว่าไว้วางใจในพระเจ้า  และรอว่าเมื่อไหร่พระเจ้าจะลงมาทำอะไรบางอย่าง  

ส่วนอีกพวกหนึ่งทุ่มเททำงานหนัก   ลงมือพยายามทำอย่างสุดกำลังของตนเอง   แต่กลุ่มนี้ไม่ค่อยอธิษฐานทูลขอด้วยความไว้วางใจพระเจ้า  และปรึกษากับพระองค์มากสักเท่าใด   แต่เมื่อใดก็ตามที่เราอธิษฐานทูลขอและปรึกษาขอการทรงนำและพระกำลังจากพระเจ้าในสิ่งที่เรากระทำ   นั่นเป็นการทูลขอให้พระเจ้าทรงอวยพระพรในสิ่งที่เราทุ่มเทลงแรงทำลงไป

ขอพระเจ้าทรงโปรดช่วยเรา ให้เรียนรู้ที่จะมีความเชื่อศรัทธาที่สมดุล   ตามที่เนหะมีย์ได้กระทำแล้วเป็นตัวอย่าง   อย่าลืมที่เราจะมีเวลาใคร่ครวญว่างานที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ เรากำลังต่อสู้ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งการอธิษฐาน   หรือมุ่งมั่นมานะในการขับเคลื่อนด้วยพลังความสามารถของมนุษย์   หรือเรามีความสมดุลทั้งสองด้านในความเชื่อศรัทธาที่ปฏิบัติ   โปรดตระหนักชัดว่า  พระเจ้าทรงครอบครองเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง และ พระองค์ทรงควบคุมอำนาจชั่วร้ายของเหล่าศัตรูด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

10 ตุลาคม 2561

ใครคัดท้ายเรือแห่งประวัติศาสตร์?

ใครคือผู้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์?
.....กษัตริย์?
.....นักการเมือง   ผู้มีอำนาจ?
.....นายพล...  นายทหาร?
.....เจ้าสัว...  คนมั่งมี?
.....ผู้นำ  ผู้บริหารองค์กร?
.....แล้วพระเจ้าทรงใช้ใครที่จะเป็นคนคัดท้ายเรือแห่งประวัติศาสตร์?
ไม่ใช่สามัญชน คนหนุ่มสาว ทั้งชายและหญิงหรือ?
คนกลุ่มหลังนี้มิใช่หรือคือคนที่พระเจ้าทรงใช้เป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของโลกนี้?

กษัตริย์อียิปต์ตรัสกับนางผดุงครรภ์ชาวฮีบรูชื่อชิฟราห์และปูอาห์ว่า “เมื่อเจ้าทำคลอดให้หญิงชาวฮีบรูและดูแลหญิงนั้นขณะคลอด ถ้าทารกเป็นผู้ชายให้ฆ่าทิ้ง ถ้าเป็นผู้หญิงให้ไว้ชีวิต”
แต่นางผดุงครรภ์ทั้งสองยำเกรงพระเจ้า จึงไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของกษัตริย์อียิปต์ พวกนางปล่อยให้เด็กผู้ชายมีชีวิตอยู่
กษัตริย์อียิปต์จึงรับสั่งให้นำตัวนางผดุงครรภ์ทั้งสองมาเข้าเฝ้าและตรัสถามว่า “เหตุใดเจ้าจึงทำเช่นนี้? เหตุใดเจ้าจึงปล่อยเด็กผู้ชายให้มีชีวิตอยู่?”  (อพยพ 1:15-18 อมธ.)

ถ้าเราเป็นนางผดุงครรภ์  เราจะตัดสินใจอย่างไร?   เราจะทำอย่างไร?
ท่านจะตัดสินใจอย่างนางผดุงครรภ์  ที่ยำเกรงพระเจ้า 
....แต่ต้องเสี่ยงต่อพระอาชญาของกษัตริย์...อาจถึงตาย?
หรือ ยอมรับและทำตามบัญชาของกษัตริย์
....ท่านอาจจะได้รับการปูนบำเหน็จจากการกระทำนั้น?
แล้วท่านจะเลือกตัดสินใจแบบไหนในสถานการณ์ทำนองนี้ในปัจจุบัน?

ชีวิตของคนที่ยำเกรงพระเจ้าย่อมเสี่ยงต่ออันตรายหรือถึงความตายจากคนมีอำนาจมีตำแหน่ง
แต่ในฐานะคริสต์ชนเรื่องเช่นนี้สร้างผลกระทบที่มากกว่านั้นครับ...   มันเปลี่ยนประวัติศาสตร์ครับ???
การตัดสินใจของคริสต์ชนสามัญธรรมดาอย่างเราท่านนี้มีอิทธิพลเปลี่ยนประวติศาสตร์โลกครับ
ไม่ใช่นักการเมือง  เจ้าสัว  คนมีอำนาจ...
ทั้งสิ้นมันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคริสต์ชนคนสามัญว่า
ท่านจะยำเกรงพระเจ้า  หรือ
ท่านจะสวามิภักดิ์ต่อผู้นำ ผู้มีอำนาจ ผู้ใช้การเมือง 
เพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตน ส่วนพวก และ ส่วนพรรค

สิ่งที่พึงใคร่ครวญคือ
ในที่สุดท่านจะเป็นเหมือน “ยูดาส” ผู้ขายพระเยซูคริสต์
ที่ตัดสินใจเพื่อได้เงินสามสิบแผ่นจากฝ่ายตรงกันข้าม?  หรือ
กล้าปฏิเสธการเป็นพวกเดียวกับพระเยซูเพื่อจะ “รอดตัว” อย่างเปโตร ศิษย์ใกล้ชิดพระเยซู? หรือ
ตัดสินใจอย่างพระเยซูคริสต์  ที่ตัดสินใจเลือกเดินทางสู่กางเขนที่ภูเขากะโหลกศีรษะ?  
แทนที่จะตัดสินใจรับเป็นหัวหน้าพรรคกบฏใต้ดินเพื่อปฏิรูป ปฏิวัติประเทศ หรือ องค์กร?

วันนี้  เราท่านคริสต์ชนคนสามัญต้องตัดสินใจครับ
ไม่ว่าท่านจะตัดสินใจอย่างไร  ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่เขียนประวัติศาสตร์...หน้าต่อไปครับ
และประวัติศาสตร์ดังกล่าวจะวกกลับมากระทบชีวิตของท่านอย่างสุดเลี่ยงครับ
ท่านจะตัดสินใจอย่างนางผดุงครรภ์ทั้งสอง?  หรือ
ท่านจะตัดสินใจอย่าง “ยูดาส” ที่ขายพระเยซูเพื่อเอาเงิน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

08 ตุลาคม 2561

ชีวิตสงบศานติ...เป็นแบบไหนกันแน่?

ท่านเข้าใจว่า...ชีวิตที่มีศานติสุข  เป็นชีวิตแบบไหนกันแน่?...
เมื่อเวลาที่ชีวิตของท่านดำเนินไปอย่างราบเรียบ  สงบ
เมื่อชีวิตดูเหมือนไม่มีอะไรที่ผิดปกติ
เมื่อทุกคนต่างอดทนต่อกันและกัน...
นั่นเป็นชีวิตที่มีสันติสุข เช่นนั้นหรือ?

พระองค์ทรงลุกขึ้นห้ามลมและคลื่นว่า “เงียบ! จงสงบนิ่งเดี๋ยวนี้!”
แล้วลมก็หยุดพัด ทุกอย่างก็สงบนิ่งอย่างสิ้นเชิง (มาระโก 4:39 อมธ.)

ท่านคิดอย่างไร... ถ้าจะบอกว่า 
พระเจ้ามิเพียงแต่จะให้ท่านมี “ชีวิตที่มีสงบสุข” เท่านั้น
แต่เป็นชีวิตที่มีความสงบศานติ  
ที่แม้ชีวิตจะต้องเผชิญกับพายุแห่งความระทมยากลำบาก ปั่นป่วน วุ่นวาย
... แต่ท่านก็ยังสามารถหลับสนิทได้!

ท่านที่รักครับ  ให้เราอ่านใน มาระโก 4:38
เมื่อเรือที่สาวกและพระเยซูใช้ในการเดินทางกำลังเผชิญกับพายุโหมรุนแรงเรือกำลังจะล่ม
พระเยซูทรงหนุนหมอนบรรทมอยู่ท้ายเรือ เหล่าสาวกมาปลุกพระองค์และทูลว่า
“พระอาจารย์ พระองค์ไม่ทรงห่วงว่าเราจะจมน้ำตายหรือ?” (อมธ.)

พระคัมภีร์ตอนนี้มิได้บอกว่าพระเยซูนั่งหลับ  แต่บอกว่าหนุนหมอนนอนหลับ
ท่ามกลางพายุโหมกระน่ำ เรือกำลังวิกฤติ 
พระเยซูคริสต์หลับสนิทได้!
แต่สาวกกลับตระหนกตื่นผวา  ตรงมาโวยวาย ต่อว่า พระเยซู
“พระอาจารย์ พระองค์ไม่ทรงห่วงว่าเราจะจมน้ำตายหรือ?

ปกติธรรมดาครับ   ในความเป็นคน ๆ หนึ่ง
เราท่านต่างกลัวลานเมื่อชีวิตจะอับปาง จบสิ้น
เช่นกัน  เพราะสาวกมุ่งมองสนใจจดจ่ออยู่กับปัญหา
ติดแหงก จมปลักอยู่กับวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น (เขาจึงเกิดความกลัว)
...จนมองข้ามไปว่ามีใครอยู่ในเรือกับพวกเขา (เขาจึงไม่ได้ไว้วางใจพระคริสต์)
หรือ พวกสาวกไม่ได้คิดว่า...พระเยซูจะช่วยพวกเขาในวิกฤติเรือล่มได้?

ท่านที่รักครับ ถ้าท่านจะมีความสงบศานติในชีวิต  
ท่านจะต้องมีชีวิตที่ไว้วางในพระคริสต์
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตของท่าน  
ท่านต้องไว้วางใจพระคริสต์ที่อยู่เคียงข้างท่านตลอดเวลา
เมื่อท่านตระหนักรู้ชัดว่าพระองค์อยู่เคียงข้างท่าน 
...ท่านก็จะมีชีวิตที่ไว้วางใจในพระองค์ 
...ท่านก็จะมีจิตใจที่สงบศานติ
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับนาวาแห่งชีวิตของท่าน 
ท่านมั่นใจได้เลยว่า  ท่านจะสามารถข้ามไปถึงอีกฝั่งหนึ่งได้

เมื่อท่านเกิด “ความกลัว” สิ่งใด ๆ ในชีวิตประจำวัน
มิใช่ ให้ท่าน “เลิกกลัว” แล้วกลับมามี “ความกล้า”
เพราะท่าน “เลิกกลัว” ไม่ได้   ตราบใดยังเห็นภัยวิกฤติทนโท่
จนกว่าท่านจะตระหนักรู้ชัดว่า 
พระคริสต์อยู่เคียงข้างท่านในเวลาที่เลวร้ายนั้น พระองค์ช่วยท่านได้!
และเมื่อนั้นท่านถึงจะ “มั่นใจ” และเกิด “ความไว้วางใจ” ในพระองค์
และ...เมื่อนั้น  พลังแห่งความกล้าจึงจะเกิดขึ้นได้
เพราะท่านรู้ว่าแม้อะไรจะเกิดขึ้น พระคริสต์จะกอบกู้ท่านในวิกฤตินั้นได้


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

05 ตุลาคม 2561

บนเส้นทางชีวิต...ที่ให้ชีวิต!


เมล็ดที่ไม่ได้หว่านลงดินให้งอกก็ไม่เกิดผล   พระเยซูได้ใช้เมล็ดเป็นตัวอย่างที่เปรียบเทียบให้เห็นถึงความจริงว่า   ทำไมเราถึงต้องยอม “ให้ชีวิต” ยอมสละชีวิต  ทั้งนี้เพื่อที่เราจะสามารถนำคนเป็นอันมากเข้ามาหาพระองค์ได้   พระคริสต์ได้สอนหลักการ ชีวิตที่เกิดผลคือ “ชีวิตที่ให้ชีวิต”  นี่เป็นหลักการที่สามารถใช้กับชีวิตทุกด้าน  

ถ้าความใฝ่ฝัน ความปรารถนาของเราถูกเก็บรักษาอย่างดี  แยกไว้ต่างหาก เป็นพิเศษ  ปกป้องอย่างมิดชิด  และ ให้อยู่ในสภาพที่สะดวกสบาย และ ปลอดภัย ชีวิตของคน ๆ นี้ก็จะไม่เกิดผลตามที่พระเจ้าต้องการ  

แต่การที่คน ๆ นั้นยอมที่จะสละชีวิต ยอมที่จะให้ชีวิต  ยอมที่จะถูกหว่าน “ลงในดิน”  แล้วยอมอ่อนตัว และ แตกตัวออก งอกเป็นต้นใหม่  ยอมละทิ้งความสำคัญยิ่งใหญ่ของตนเอง  ความสามารถที่จะจัดการด้วยตนเอง  พึ่งตนเอง   เมื่อนั้นชีวิตของคน ๆ นั้นจะเกิดผล และ มีประโยชน์ในพระราชกิจของพระเจ้า

พระเยซูคริสต์ตรัสว่า... “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ถ้าเมล็ดข้าวสาลีไม่ได้ตกลงไปในดินและตายไปก็จะคงอยู่เพียงเมล็ดเดียว แต่ถ้าตายแล้วก็จะเกิดผลให้มีเมล็ดอื่น ๆ มากมาย  ผู้ที่รักชีวิตจะสูญเสียชีวิต ส่วนผู้ที่ชังชีวิตของตนในโลกนี้ก็จะรักษาชีวิตไว้และมีชีวิตนิรันดร์”   (ยอห์น 12:24-25 อมธ.)

การที่เรายอมจะให้ชีวิตของเรา “แตกตัว” ออก   เป็นวิธีการหนึ่งของพระเจ้าที่จะทำให้ลูกของพระองค์มีชีวิตที่เติบโตขึ้น   ในกระบวนการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป พลิกฟื้น อาจจะเกิดจากสิ่งท้าทายต่าง ๆ มาจากการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เช่น
สถานการณ์แวดล้อมอาจจะทำให้เราไม่สามารถพึ่งตนเองได้
บางสถานการณ์ที่เราไม่สามารถจัดการด้วยตนเอง นอกจากที่จะเชื่อฟังและไว้วางใจพระเจ้า
ยอมรับกำหนดเวลาตามแผนการของพระเจ้า

ถ้าเราปฏิเสธที่จะรับการพลิกฟื้นใหม่  ปฏิเสธรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ปฏิรูปใหม่ตามพระประสงค์ที่พระองค์จะปลดปล่อยและสร้างเราให้มีชีวิตใหม่   ถ้าเช่นนั้น พระเจ้าจะใช้เราร่วมในพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระองค์ได้อย่างไร?   ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็ไม่ต่างอะไรจากเมล็ดที่ไม่ยอมที่จะให้ตัวเองแตกตัวออกเพื่องอกเป็นพืชต้นใหม่   เราก็จะเป็นเมล็ดที่ไม่เกิดผล

อะไรที่ทำให้เรายังขัดขืน ดื้อดึง ต่อการที่จะมีชีวิตตามกระบวนการ “การให้ชีวิต  การยอมเสียสละชีวิต” “การยอมที่จะละทิ้งการมีชีวิตที่เพื่อตนเอง”  ทำไมถึงไม่ยอม “แตกชีวิต” ของเราออกเพื่องอกเป็นต้นใหม่?  

มักมีสาเหตุมาจากการที่เรามี “ความเชื่อแบบสายตาสั้น”  คือ มองเห็นความสำคัญของผลประโยชน์ที่อยู่ข้างหน้าใกล้ตัวเท่านั้น   เรามักมองแบบไม่มีกระบวนทัศน์   และไม่ยอมที่จะให้สิ่งดีมีค่าต่าง ๆ หรือ ความสัมพันธ์ดี ๆ ที่ทำให้เรามีความสุขต้องหลุดลอยออกไปจากชีวิตตน หรือ ไม่ยอม “ปล่อย” ให้สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งนั้นเป็นภัยฉุดรั้งความก้าวหน้าเติบโตในชีวิตจิตวิญญาณของเราในระยะยาวให้หลุดลอยจากชีวิต

เรามีความเชื่อแบบสายตาสั้น  ที่มองเห็นแต่ผลประโยชน์ที่ตนจะได้ใกล้มือ   ทำให้ชีวิตสาวกพระคริสต์ของเราแคระแกร็นไม่เติบโต   เรามักเลือกที่จะมีชีวิตบนเส้นทางที่สะดวกสบาย  หรูหรามีเกียรติ  ได้รับผลประโยชน์มากกว่าทางอื่น   ซึ่งการเลือกเส้นทางชีวิตเช่นนี้เป็นชีวิตที่สวนกระแส ต่อต้าน ดื้อดึงต่อพระประสงค์ของพระเจ้า  

เรากลับคาดหวังว่าพระเจ้ายังจะอวยพระพรเราบนเส้นทางที่ดื้อรั้น สวนทางกับเส้นทางชีวิตของพระเจ้าอยู่อีกหรือ?

อย่ามีจิตใจวอกแวก หลงไปยึด “ความเชื่อแบบสายตาสั้น”   ซึ่งมิใช่เส้นทางชีวิตที่พระเจ้าเตรียมและเป็นพระประสงค์เพื่อชีวิตของเรา   มิใช่เส้นทางชีวิตที่ท่านจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์  

เส้นทางชีวิตที่นำเราไปสู่ความอุดมเกิดผลรอเราอยู่  ให้เรา “ปล่อยสิ่งที่เรายึดมั่น”  แล้วหันไปให้พระคริสต์นำชีวิตของท่านไปบนเส้นทาง “ชีวิตที่ให้ชีวิต และ ยอมเสียสละชีวิต”   แต่เป็นเส้นทางที่เกิดการพลิกฟื้นคืนดีสู่ชีวิตใหม่และเกิดผลอย่างอุดมในชีวิตของเรา และ คนรอบข้าง  และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยพระกิตติคุณของพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

01 ตุลาคม 2561

แผนยุทธศาสตร์ซาตาน

เส้นทางชีวิตของเราแต่ละคนต่างมีบางช่วงที่ต้องผ่านไปในหุบเหวแห่งความล้มเหลว   คำถามอยู่ที่ว่าเราจะรับมืออย่างไรเมื่อต้องเดินเข้าไปในหุบเหวแห่งความล้มเหลวนั้น   คริสตชนหลายคนยอมแพ้  เปลี่ยนจากชีวิตที่เคยรับใช้แผ่นดินของพระเจ้าไปเป็นชีวิตที่ล้มเหลวพ่ายแพ้   แต่ความล้มเหลวไม่จำเป็นต้องเป็นจุดจบของชีวิตเสมอไป   ความล้มเหลวกลับกลายเป็นโอกาสที่เราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ด้วยพลังจากพระคริสต์

ชีวิตที่ล้มเหลวของเปโตรเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้   พระเยซูคริสต์เตือนเปโตรว่า “...ซาตานขอพวกท่านไว้ เพื่อจะฝัดร่อนเหมือนฝัดข้าวสาลี” (ลูกา 22:31 มตฐ.)  การฝัดร่อนเพื่อแยกเมล็ดข้าวสาลีออกจากเปลือก  แกลบ และเศษวัสดุต่าง ๆ   ศัตรูต้องการที่จะ “ฝัดร่อน” ความเชื่อของเปโตรว่า  ความเชื่อของเขาหนักแน่นมั่นคงในพระคริสต์ หรือ ความเชื่อของเขาก็เป็นแค่แกลบที่ถูกฝัดร่อนแล้วปลิวฟุ้งกระจายไปตามสายลม

เปโตรมั่นใจว่าเขามีความเชื่อที่หนักแน่นมั่นคง เขาถึงกับสัญญากับพระเยซูคริสต์ว่า  “ถึงใคร ๆ ทิ้งพระองค์ไปหมดแต่ข้าพระองค์จะไม่ทิ้งพระองค์” (มาระโก 14:29 อมธ.)   ซาตานมันรู้เท่าทันถึงจุดอ่อน 2 จุดในตัวมนุษย์ คือพลังความกลัวที่ซ่องสุมอยู่ในตัวสาวก  ประการที่สอง พวกสาวกจะเกิดบาดแผลและความขมขื่นเจ็บปวดในชีวิตเมื่อเขามิได้สัตย์ซื่อหรือจงรักภักดีต่อพระคริสต์   เมื่อความรู้สึกภาคภูมิใจของเขาต้องฉีกขาดรุ่งริ่งเขาทำสิ่งอื่นไม่ได้นอกจากที่จะมองตนว่า “ไม่มีค่าอะไร”  แล้วก็จะนอนโทรมดักดานในความรู้สึกไร้ค่าของตนเอง

เมื่อซาตานฝัดร่อนความเชื่อของสาวก   เป้าหมายของมันคือการกระแทกทำลายให้ความเชื่อของคน ๆ นั้นสลายด้วยการทำให้เราเห็นว่าเขาไม่มีคุณค่าอะไรอีกแล้วต่อพระเจ้า   พวกซาตานต้องการทำให้เราออกห่างให้ไปไกลที่สุดจากการมีส่วนสานต่อพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระเจ้า  ยุทธศาสตร์ของซาตานมุ่งที่จะโจมตีเข้าที่ที่เจ้าตัวคิดว่านั่นคือจุดแข็งของตนในชีวิต  หรือจุดที่เราคิดว่าเราปกป้องไว้อย่างดี   และเมื่อซาตานมีชัย   เมื่อนั้นเราจะสิ้นหวัง และขวัญหนีดีฝ่อ  

แต่เราไม่จำเป็นที่จะเลือกเดินไปตามทางกับดักที่ซาตานได้วางไว้

ถ้าเราเต็มใจ   พระเจ้าสามารถที่จะใช้ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราเป็นโอกาสที่จะชำระล้างบ้านแห่งจิตวิญญาณในตัวเรา   เปโตรยอมที่จะละทิ้งความภาคภูมิใจในตนเองออกไป   แล้วสวมความกล้าหาญที่มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์   หลังจากนั้นเป็นต้นมา เขากล้ารับหน้ากับความอับอาย  รับมือกับการถูกข่มเหงทำร้าย  และยอมตายที่จะประกาศถึงข่าวประเสริฐของพระคริสต์  

พระคริสต์หักมุมหักเหลี่ยมยุทธศาสตร์ที่ซานตานใช้ดังกล่าว  ทำให้ความล้มเหลวกลับกลายเป็นพลังกระตุ้นเร้าให้เรามีความเชื่อศรัทธาที่เข้มแข็ง  มั่นคง และยิ่งใหญ่ขึ้น  และมีชีวิตแห่งการรับใช้ที่ทรงคุณค่าสูงส่ง  ซึ่งมิใช่คุณค่าในตัวเราเองต่อไป   แต่เป็นคุณค่าชีวิตใหม่ที่พระคริสต์ให้แก่เราแต่ละคน

วันนี้ท่านเต็มใจ เปิดชีวิต ให้พระคริสต์เข้ามาทำการชำระล้างบ้านแห่งจิตวิญญาณของท่านหรือไม่?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499