24 ตุลาคม 2561

ระวังโรค.....ระบาด!

ความโกรธสามารถทำร้ายทำลายทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ   แต่ความโกรธมิได้ก่อผลร้ายกับคนที่โกรธเท่านั้น   แต่พ่นพิษร้ายแพร่ฟุ้งกระจายไปยังคนรอบข้างด้วย    ในกรณีนี้ถึงแม้ว่า ความขมขื่น ความไม่พอใจที่ “ระเบิดขึ้นในตัวเราเองอาจจะไร้เสียงปราศจากสำเนียง”  แต่มิใช่เรื่องของเราผู้เดียวเท่านั้นแต่มันสร้างผลกระทบอย่างมหันต์ต่อคนอื่น และสภาพแวดล้อมด้วย

“ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้แก่คนโบราณว่า ‘อย่าฆ่าคนและถ้าผู้ใดฆ่าคนจะถูกตัดสินลงโทษ’ แต่เราบอกท่านว่าถ้าผู้ใดโกรธเคืองพี่น้องของตนจะถูกตัดสินลงโทษ ถ้าผู้ใดพูดดูหมิ่นพี่น้องของตนจะต้องถูกนำตัวขึ้นศาลแซนเฮดริน และถ้าผู้ใดพูดว่า ‘ไอ้โง่!’ อาจจะต้องโทษถึงไฟนรก (มัทธิว 5:21-22 อมธ.)

จิตวิญญาณแห่งความโกรธฉุนเฉียวนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันฟุ้งกระจายขยายติดต่อไปยังคนรอบข้าง ไม่ต่างอะไรจากเชื้อโรค   แต่ระวังครับ  ความโกรธเป็นพิษต่อความสัมพันธ์ที่เรามีต่อคนรอบข้าง  และสิ่งนี้มิได้เกิดในวงแคบเท่านั้น  ในบางกรณีหรือในบางเรื่อง พิษร้ายของความโกรธแผ่ขยายพ่นพิษจากคนชั่วอายุหนึ่งไปยังอีกชั่วอายุหนึ่งเลยทีเดียว  

ถ้าจิตวิญญาณแห่งความโกรธเกิดขึ้นในที่ทำงานก็พ่นพิษทำให้เกิดความตึงเครียดในกลุ่มผู้ทำงาน   สภาพแวดล้อมในที่ทำงานเกิดมลพิษ บรรยายกาศเต็มไปด้วยการกัดกร่อน เซาะแทรกทำร้ายทำลายกัน  แต่แน่นอน ก่อเกิดมุมมองต่อกันด้วยสายตาที่เลวร้ายไม่ไว้ใจกัน กระทบต่องานที่ทำและผลงานที่จะเกิดขึ้น

ถ้าอาการพวกนี้เกิดขี้นในบ้านก็จะเกิดการพูดจาอย่างเผ็ดร้อนต่อกัน หรือ ไม่บางคนบางฝ่ายก็จะเก็บเงียบด้วยความเจ็บปวดภายในชีวิต  

ถ้าเกิดขึ้นในที่ประชุมก็จะเกิดการว่าร้ายป้ายสีสาดโคลน  ขุดลอกเอาเรื่องเก่า ๆ มาทับถมฝ่ายตรงกันข้ามให้จมมิด   เกิดการทำร้ายทำลายอย่างเจตนา   และ

ถ้าสิ่งทำนองนี้เกิดขึ้นในคริสตจักรของเรา   หลายต่อหลายคนต้องทนทุกข์จากคำซุบซิบนินทาว่าร้ายจากคนบางคนในคริสตจักร   และเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเพื่อปกป้องพวกตน  โจมตีพวกอื่น!

พระเจ้าทรงสร้างเราแต่ละคนให้ดำเนินชีวิตที่เกื้อหนุน เสริมสร้าง และเอื้ออาทรต่อคนรอบข้าง   แต่ความโกรธสามารถเป็นพิษต่อความสัมพันธ์ของเรา  และที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง  คนที่ต้องรองรับผลจากอารมณ์โกรธฉุนเฉียวมากที่สุดก็คือคนที่อยู่ใกล้ชิดเราที่สุด  ที่เขาจะต้องเกิดความทุกข์ระทมขมขื่นมากที่สุด 

อย่าลืมนะครับ  ลูกหลาน เยาวชนของเราเรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเขาก็ด้วยการสังเกตเห็นแบบอย่างที่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ศิษยาภิบาล และผู้ใหญ่ในสังคม   แล้วเขาก็พัฒนา “มุมมอง” ทัศนคติของตน และ รูปแบบพฤติกรรมแสดงออกของตนต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เลียนแบบจากเรา   จำเป็นที่เราจะต้องคิดใคร่ครวญจริงจังว่า “จิตใจ” แบบไหนที่เรากำลังยื่นส่งให้ลูกหลาน อนุชนชายหญิง และ คนรุ่นต่อไป

ขอบพระคุณพระเจ้าที่พระราชกิจสำคัญหนึ่งของพระองค์คือการเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจจิตวิญญาณของเรา   เราท่านต่างต้องเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ หรือเผชิญหน้ากับคนช่างโกรธฉุนเฉียวไม่ว่าเราจะต้องการหรือไม่ก็ตาม   แต่เราสามารถเรียนรู้จากพระเจ้าด้วยการเดินไปในชีวิตประจำวันที่ใกล้ชิดกับพระคริสต์ทุกขณะ   พระคริสต์ทรงเรียกเราแต่ละคนให้ติดตามพระองค์แล้วเรียนรู้และเลียนแบบจากพระองค์   และ ชีวิตจิตใจจิตวิญญาณของเราจะได้ “ผ่อนพัก” และ “ผ่อนคลาย”  และในที่สุดได้รับการเปลี่ยนแปลง 

“บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนักจงมาหาเรา และเราจะให้ท่านพักสงบ  จงรับแอกของเราแบกไว้และเรียนรู้จากเราเพราะเราสุภาพและถ่อมใจ แล้วจิตวิญญาณของท่านจะพักสงบ  เพราะแอกของเรานั้นพอเหมาะและภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28-29 อมธ.)

วันนี้ท่านต้องเลือกเอาเองครับ   ท่านเลือกที่จะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ  เพื่อให้ผู้คนเห็นว่าท่านเป็นฝ่ายถูก  หรือ ท่านจะเลือกศานติสุขของพระคริสต์?   ไม่ว่าท่านจะเลือกแบบไหน เราท่านต่างต้องจ่ายค่าราคานั้นครับ  

ถ้าเราเลือกที่จะโกรธท่านต้องจ่ายค่าราคาของการสูญเสียสุขภาพกายใจ จิตวิญญาณ  ท่านต้องเอาความสัมพันธ์ที่มีกับคนรอบข้างเข้าแลกเอา  และท่านอาจจะต้องสูญเสียมรดกแห่งความเชื่อศรัทธาที่บรรพบุรุษได้ส่งทอดมอบแก่ท่านในความเชื่อ  

แต่ถ้าเราท่านเลือกเอาศานติสุขในพระคริสต์   ท่านต้องทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าขอช่วยให้ท่านก้าวออกจากภาวะความไม่พึงพอใจที่กำลังเกิดขึ้น  ยอมสูญเสียการยึดมั่นในสิทธิส่วนตัวของท่าน  วางเครื่องบูชาไว้ที่แท่นก่อน   แล้วไปสร้างการคืนดีกับคนนั้นที่ท่านโกรธ!  ยอมเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี

“...ถ้าท่านกำลังถวายเครื่องบูชาที่แท่นบูชาและนึกขึ้นได้ว่าพี่น้องมีเหตุขุ่นเคืองใดๆ กับท่าน  จงละเครื่องบูชาไว้ที่หน้าแท่นแล้วไปคืนดีกับพี่น้องก่อน จึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชา” (มัทธิว 5:23-24

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น