29 พฤศจิกายน 2562

เขามาด้วย “ความมักใหญ่ใฝ่สูง” หรือ “ทาสรับใช้”?

อ่าน   มัทธิว 20:17-28

การมักใหญ่ใฝ่สูง และ การรับใช้พระคริสต์ ไม่สามารถไปด้วยกันอย่างลงตัวเสมอไป   ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองมักขัดแย้งกันต่างหาก เป้าหมายของการรับใช้ คือการทำทุกวิถีทางเพื่อให้เจ้านายของตนพึงพอใจ แต่การกระทำด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง เป็นการมุ่งมั่นกระทำเพื่อให้ตนเองก้าวหน้า เพื่อตนเอง “จะได้”  ไม่ใช่ที่ตนเอง “จะให้”

จากคำสอนของพระเยซูคริสต์ใน มัทธิว 20:17-28 น่าจะเป็นคำสอนที่นอกจากจะไม่คุ้นหูของสาวกแล้วยังฟังดูแปร่งแปลกเข้าใจยาก เพราะตามวิธีการคิดของวัฒนธรรมยิวในเวลานั้น   ความยิ่งใหญ่ได้มาจากการที่ต้องมุ่งมั่น ดิ้นรน ต่อสู้ และแข่งขัน มิใช่ได้มาด้วยการยอมตนรับใช้คนอื่น

เราในยุคนี้ แม้ในวงการคริสตชน หลายคนแสวงหาชื่อเสียง เกียรติยศ  อำนาจ และความยิ่งใหญ่เพื่อตนเอง คนเหล่านี้กำหนดเป้าหมาย  วางแผน และกระทำทุกอย่างด้วยทุกวิถีทางเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่เขากำหนด แต่คริสตชนต้องไม่หลงและลืมว่า  ชีวิตของเรามีมาตรฐานที่แตกต่างจากกระแสสังคมวัฒนธรรมโลกปัจจุบัน เป้าหมายชีวิตของเราคือ การมีชีวิตทุกมิติเพื่อที่จะยกย่องสรรเสริญพระเจ้า กระทำตามที่พระคริสต์สอนและบัญชาเรา มีชีวิตที่รับใช้พระองค์ด้วยความสัตย์ซื่อ ด้วยการกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า มิใช่กระทำตามใจปรารถนาของตนเอง และตามความอยากได้ใคร่มีของตนเอง

พระเจ้ามิได้ทรงเรียกให้เรามาเพื่อที่จะแสวงหาชื่อเสียง เกียรติยศ  อำนาจ ความมั่งคั่ง  และการทำตามใจตนเอง แล้ว “สร้างอนุสาวรีย์”  “ฝังรอยเท้า” ให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก ได้จำ ได้ยกย่องสรรเสริญ และเดินตาม แต่ภารกิจหน้าที่ของคริสตชนคือการติดตามพระเยซูคริสต์ด้วยจิตใจชีวิตที่อ่อนน้อม ถ่อมสุภาพ  เดินตาม “รอยพระบาท” ของพระคริสต์ ส่วนชีวิตของเราจะเกิดผล หรือ สร้างผลกระทบน้อยใหญ่เป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า มิใช่ตามใจปรารถนาของเราเอง การรับใช้ที่ยิ่งใหญ่มักเป็นการกระทำอย่าง “เงียบ เรียบ ง่าย” ไม่ทำแบบ “โฉ่งฉ่าง” ตีปีบ ลั่นกลอง โฆษณาเอาหน้า แต่ผู้ที่สานต่อพันธกิจของพระคริสต์จะอภิบาลชีวิตผู้คนให้เป็นสาวกพระคริสต์  อธิษฐานภาวนา และรับใช้คนเหล่านั้น

“แต่สำหรับพวกท่าน...ใครอยากเป็นใหญ่ในพวกท่านต้องรับใช้พวกท่าน และผู้ใดปรารถนาที่จะเป็นเอกต้องยอมเป็นทาสของพวกท่าน เหมือนกับที่บุตรมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่มาเพื่อปรนนิบัติและประทานชีวิตของพระองค์เป็นค่าไถ่เพื่อคนเป็นอันมาก” (มัทธิว 20:26-28 อมธ.)

และนี่คือ จิตวิญญาณแห่งการรับใช้ตามแบบอย่างที่พระคริสต์ได้ให้ไว้แก่เราทุกคน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


27 พฤศจิกายน 2562

วันนี้...ขอจับมือของพระองค์ไว้ให้แน่น!

โลกเราปัจจุบันนี้เป็นสังคมโลกที่ฉ้อฉล ฉีกขาด มีสภาพที่ผิดปกติ และเป็นไปอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากที่มันควรจะเป็น สิ่งที่เลวร้ายเกิดขึ้นกับคนดี อำนาจความบาปชั่วอยู่ล้อมรอบตัวเรา แล้วคำอธิษฐานที่พระเยซูสอนสาวกว่า “ในสวรรค์เป็นอย่างไร ให้เป็นเช่นนั้นในแผ่นดินโลก” จะเป็นจริงได้อย่างไร (ดู มัทธิว 6:10)  

“เราบอกเรื่องนี้แก่พวกท่าน เพื่อท่านจะได้มีสันติสุขในเรา ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก แต่จงมีใจกล้าเถิด เพราะว่าเราชนะโลกแล้ว”  (ยอห์น 16:33 มตฐ.)

แต่ในที่สุด ชุมชนสังคมโลกที่พระเจ้าครอบครองก็จะมีชีวิตที่มี “สัจจะและความยุติธรรม”   ความอยุติธรรมจะได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มีสภาพที่ถูกต้องในเวลาที่สุดของพระเจ้า   ความบาปผิดแห่งโลกนี้จะได้รับการยกโทษ และมีโอกาสเริ่มต้นใหม่ ความเจ็บป่วยจะได้รับการเยียวยารักษา แม้หลายคนที่อธิษฐานเช่นนี้จะคิดว่า นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม

แต่สัจจะความจริงก็คือว่า แม้จะดูเหมือนว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เหล่านี้ก็ตาม แต่พระคริสต์ไม่เคยทอดทิ้งเรา และจะไม่มีทางที่พระองค์จะทอดทิ้งเราไป เราจึงสามารถอธิษฐานตามที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนดังกล่าวอย่างมั่นใจ เราสามารถยอมจำนน และ มอบชีวิตจิตใจแด่พระคริสต์ ให้เจตจำนงของเราเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ เราขออยู่กับพระองค์ด้วยความสงบศานติ มั่นใจในพระองค์ไม่ว่าสถานการณ์ชีวิตของเราในแต่ละวันจะเป็นอย่างไร เพราะเรารับมือสถานการณ์เหล่านั้นร่วมกับพระคริสต์

พระคัมภีร์บอกชัดว่า ในโลกนี้ เราจะประสบพบกับความทุกข์ยากมากมาย (ยอห์น 16:33) แต่เมื่อชีวิตประจำวันของเราแต่ละวันมีพระคริสต์เป็น “เสาหลัก” เราจึงมั่นใจในพระองค์ได้ เพราะพระองค์ทรงชนะอำนาจทั้งสิ้นบนโลกใบนี้แล้ว ขอให้ความมั่นใจเช่นนี้ได้ปลูกฝังและเติบโตขึ้นในชีวิตจิตใจของเรา เราจะสามารถเผชิญหน้าและรับมือกับทุกสถานการณ์ที่ดาหน้าเข้าหาในชีวิตประจำวันของเรา

อธิษฐาน

พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า วันนี้เป็นวันของพระองค์ ขอให้เป็นวันที่ชีวิตและสถานการณ์แวดล้อมของข้าพระองค์เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ข้าพระองค์ขอจับมือของพระองค์ไว้แน่น เพื่อข้าพระองค์และพระองค์จะเผชิญหน้าสถานการณ์นั้นไปด้วยกัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


24 พฤศจิกายน 2562

“แล้วอีกเก้าคนอยู่ที่ไหน?”

ถอดบทเรียนรู้กระบวนการความเชื่อของคริสตชน
(อ่าน ลูกา 17:11-19)

ในพระกิตติคุณลูกา 17:11-19 บันทึกเรื่องราวของคนโรคเรื้อน 10 คน เป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ รุนแรง  เขาถูกกีดกัน ไม่มีที่ยืนในครอบครัว  ในชุมชน แม้แต่ในพระวิหารของพระเจ้า   คุณค่าในความเป็นคนถูกลิดรอนลดทอนมิใช่มนุษย์ปกติในสายตาของสังคมและศาสนา อีกทั้งโรคเรื้อนเป็นโรครักษาไม่หายในเวลานั้น คนโรคเรื้อนถูกกดดันอย่างหนักทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม เจ้าตัวรู้สึกว่าตนไม่มีความเป็นมนุษย์ต่อไป รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ถูกดูถูก เหยียดหยาม รังเกียจ กีดกัน  ขับไล่  อีกทั้งสังคมศาสนาบังคับให้ต้องประจานตนเองอีกด้วย

มีคนโรคเรื้อนกลุ่มหนึ่งมารอดักพบพระเยซู เมื่อพวกเขาเห็นพระองค์แต่ไกลจึงร้องเสียงดังว่า  “พระเยซู พระอาจารย์เจ้าข้า เวทนาเราด้วยเถิด!” พวกเขาขอความเมตตา สงสาร จากพระคริสต์ (ข้อ 13) พระเยซูบอกพวกเขาว่า “จงไปแสดงตัวต่อปุโรหิต” (ตาม เลวีนิติ บทที่ 14) และนายแพทย์ลูกาบันทึกรายละเอียดไว้ว่า “ขณะเดินไปเขาก็หายโรค” (ลูกา 17:14) และในข้อที่ 17 คนโรคเรื้อนชาวสะมาเรียที่กลับมาขอบพระคุณพระเจ้า กราบลงที่แทบพระบาทพระเยซู (ข้อ 16) พระเยซูทรงยืนยันว่า “...ความเชื่อของท่านทำให้ตัวท่านหายปกติแล้ว” (ข้อ 19 มตฐ.)

การหายจากโรคต้องห้ามร้ายแรงอาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่การที่เขาหายโรคแล้วทำให้เขามีความเชื่อที่มั่นคง เข้มแข็ง หยั่งรากลึกนั้นสำคัญกว่า อีกเก้าคนอาจจะหายจากโรคร้ายในเวลานั้น แต่ความเชื่อไม่เติบโต เข้มแข็ง และหยั่งรากลงลึก หลายคนที่ได้รับประสบการณ์ตรงจากพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของตน แต่พวกเขาตื่นเต้นอยู่กับประสบการณ์ที่อัศจรรย์ ชื่นชมยินดีกับชีวิตที่กลับมามีคุณค่าอีกครั้งหนึ่ง เขากลับมาใช้สิทธิในความเป็นมนุษย์ในสังคมได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ชีวิตจิตวิญญาณของเขาไม่ได้รับการพัฒนาสร้างเสริมให้เติบโตขึ้น สิ่งที่พระเยซูคริสต์ห่วงใย 9 คนนั้นมากถึงกับถามชายสะมาเรียที่กลับมาขอบพระคุณพระเจ้าว่า “อีกเก้าคนอยู่ที่ไหน?”  

แน่นอนว่า พระเยซูห่วงใยมิเพียงแต่โรคร้ายได้รับการเยียวยารักษาเท่านั้น แต่พระองค์ห่วงใยชีวิตจิตวิญญาณของ 9 คนนั้นอาจจะ “หลงระเริง” อยู่ในความชื่นชมยินดีที่หายโรค แต่ความเชื่อไม่เติบโตและเกิดผล  

จากเรื่องนี้ เราสามารถถอดบทเรียนรู้ถึงกระบวนการความเชื่อได้ 7 ขั้นตอน ดังนี้

 (1) เชื่อที่วางใจ 8 (2) เชื่อที่ทำตาม 8 (3) เชื่อที่กล้าพิสูจน์ด้วยชีวิต 8
(4) เชื่อที่เปลี่ยนชีวิต8 (5) เชื่อที่ชื่นชมยินดี 8 (6) เชื่อที่สำนึกในพระคุณ 8
(7) เชื่อที่เติบโต เป็นความเชื่อที่ให้ชีวิตแก่คนอื่น

(1) ความเชื่อที่ไว้วางใจ คนโรคเรื้อนทั้ง 10 คน คงเคยได้ยินเรื่องพระเยซูรักษาโรค ขับผีร้าย จากผู้คนพูดกันมากมาย เขามีความเชื่อว่า ถ้าเช่นนั้นพระเยซูต้องรักษาโรคร้ายที่น่ารังเกียจของพวกเขาให้หายได้แน่

(2) ความเชื่อที่ทำตาม หรือ ความเชื่อเชิงปฏิบัติ พระเยซูคริสต์ไม่ได้วางมือรักษาโรคในกรณีนี้ แต่พระองค์สั่งให้ทั้ง 10 ไปหาปุโรหิต เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาสะอาด หายจากการเป็นโรคเรื้อนแล้ว “จงไปแสดงตัวต่อปุโรหิต” พวกเขาทำตามทันที  “ขณะกำลังเดินไป พวกเขาก็หายโรค” (ลูกา 17:14)  เขาหายโรคเมื่อเขาทำความเชื่อเป็นการกระทำในชีวิต

(3) ความเชื่อที่กล้าพิสูจน์ด้วยชีวิต การไปหาปุโรหิตก็เพื่อ ปุโรหิตจะตรวจสอบและชันสูตร ว่าเขาหายจากโรคเรื้อนจริง ๆ หรือไม่ ตามหลักเกณฑ์ใน เลวีนิติ บทที่ 14 แต่ถ้าไม่หายตามหลักเกณฑ์ล่ะ ชีวิตของเขาจะเป็นเช่นไร? เสี่ยงมากครับ...!

(4) ความเชื่อที่เปลี่ยนชีวิต ความเชื่อที่ทำให้ชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พระเจ้าทรงรักษาพวกเขามิเพียงให้หายจากโรคเรื้อนที่น่ารังเกียจเท่านั้น แต่พระองค์เปลี่ยนชีวิตที่เข้าไปในบ้านไม่ได้ กลับเข้าไปอยู่กับครอบครัวได้ ชีวิตที่อยู่ในพื้นที่สังคมไม่ได้ เขากลับไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมอีกครั้งหนึ่ง จากที่เข้าร่วมนมัสการพระเจ้าในพระวิหารไม่ได้ เขากลับไปปฏิบัติชีวิตและความเชื่อในพระวิหารได้ตามเคย

(5) ความเชื่อที่นำมาซึ่งความชื่นชมยินดี จากชีวิตที่ถูกตัดสิทธิกีดกันจากสังคมมนุษย์ แต่ได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ชีวิตที่ไร้ค่ากลับมีคุณค่าที่พระเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิต ความชื่นชมยินดีเป็นผลจากความเชื่อ

(6) ความเชื่อที่สำนึกในพระคุณพระเจ้า บ่อยครั้ง ผู้ที่ได้รับการเยียวยารักษา หรือ มีประสบการณ์ตรงในชีวิตกับพระเจ้า จะไปติดอยู่กับความชื่นชมยินดี ความภูมิอกภูมิใจ ความมีคุณค่าในตัวเอง จนลืมที่จะสำนึกถึงพระคุณของพระเจ้าที่มีในชีวิตของตน ที่แย่กว่านั้น จนลืมไปว่าที่ชีวิตตนเปลี่ยนแปลงถึงขนาดนี้เพราะพระคุณของพระเจ้า ทำให้ความเชื่อไปติดหล่มที่การอัศจรรย์ การรักษาโรค การอวยพระพรของพระเจ้า  แต่ชีวิตความเชื่อกลับไม่เติบโต และสิ่งสำคัญยิ่งคือ เมื่อความเชื่อไม่ได้สำนึกในพระคุณพระเจ้า ความเชื่อก็ไม่ตอบสนองพระคุณพระเจ้า กลับกลายเป็นความเชื่อแบบ “ผู้บริโภค” เป็นความเชื่อที่มีแต่อยากจะได้  ไม่มีความเชื่อที่พระคริสต์ประสงค์ คือความเชื่อที่ “ให้ชีวิต” แก่ผู้อื่น ความเชื่อจึงจมปลักวนเวียนเพื่อตนเองเท่านั้น แต่ความเชื่อที่สำนึกในพระคุณเป็นความเชื่อที่มีชีวิตอยู่เพื่อพระคริสต์

(7) ความเชื่อที่เติบโต ในอีกนัยหนึ่ง ความเชื่อที่มีชีวิตเท่านั้นถึงจะเป็นความเชื่อที่เติบโตได้   และความเชื่อที่เติบโตได้นั้นเป็นความเชื่อเชิงปฏิบัติ ความเชื่อที่ให้ชีวิตเพื่อคนรอบข้างจะได้โอกาสใหม่และชีวิตใหม่ ชีวิตที่กระทำและทุ่มเทชีวิตเพื่อคนอื่นเพราะสำนึกในพระคุณของพระเจ้าที่มีในชีวิตของตน ความเชื่อที่เติบโตจึงเป็นชีวิตที่เกิดผล

อย่าให้ความเชื่อของเราเป็นเหมือนคนยิว 9 คนนั้น ที่หายโรค กลับเข้าสู่อ้อมกอดของครอบครัว   กลับเข้าสู่สังคม เข้าร่วมในพระวิหารได้ แต่เป็นความเชื่อ “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่เคยมีประสบการณ์กับพระราชกิจอันอัศจรรย์ของพระเจ้าเท่านั้น  

ความเชื่อของทั้ง 9 คนขึ้นถึงจุดสุดยอดที่ชีวิตที่มีความชื่นชมยินดี แต่กลับเป็นความเชื่อที่มิได้สำนึกในพระคุณของพระเจ้า ดังนั้น ความเชื่อของทั้ง 9 คนจึง “ไม่สามารถเติบโต” ได้ เพราะความเชื่อที่ “เติบโต” คือความเชื่อก่อเกิดความเชื่อที่ต้องการเป็นท่อพระพรของพระคริสต์   ต้องการรับการเปลี่ยนแปลงให้มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์ เพื่อสานต่อพระราชกิจของพระองค์

ด้วยความห่วงใยของพระคริสต์ต่อคนยิวทั้ง 9 คน ถึงขั้นถามชายสะมาเรียว่า “อีกเก้าคนอยู่ที่ไหน?” ความเชื่อที่ไม่สำนึกในพระคุณของพระเจ้า ก็เป็นความเชื่อที่ไม่ได้เชื่อมสัมพันธ์กับพระเจ้า พวกเขาหายจากโรคเรื้อนที่ปรากฏประจักษ์ชัดตามร่างกาย “พวกเขาสะอาด” แต่เป็นความเชื่อที่ “แคระแกร็น” ความเชื่อที่ไม่เติบโต เข้มแข็ง และ เกิดผล เป็นความเชื่อแบบกิ่งที่ไม่ได้ติดสนิทกับลำต้นย่อมเกิดผลไม่ได้

แล้วความเชื่อของท่านวันนี้อยู่ในขั้นไหนครับ? ทำไม+ทำอย่างไรถึงอยู่ในขั้นนั้น?

 ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



22 พฤศจิกายน 2562

ทุกงาน...เป็นพันธกิจจริงหรือ?

พระเจ้าทรงเรียกท่านให้เป็นผู้ทำพันธกิจ

ท่านอาจจะไม่เคยเทศนา ไม่เคยเป็นผู้ประกอบพิธีสมรส หรือ พิธีศพ และท่านอาจจะไม่เคยเป็นผู้นำคริสตจักร นั่นไม่ได้หมายความว่า ท่านไม่ได้ทำพันธกิจ

เพราะเราแต่ละคนต่างเป็น “สาวกพระคริสต์” จึงได้รับการทรงเรียกให้เป็นผู้ทำพันธกิจ

พระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนให้เป็นผู้ทำ “พันธกิจ” ในความหมายสองระดับ ริก วอร์เรน ได้เปรียบเทียบกับแว่นสายตา ที่เรียกว่า “แว่นสายตาสองชั้น” กล่าวคือในแว่นเดียวกันมีเลนส์ที่ใช้มองสิ่งต่าง ๆ ในระยะใกล้ได้ชัดเจน กับเลนส์ที่ใช้มองสิ่งที่อยู่ห่างออกไปได้ชัดเจน

เมื่อเราเป็นสาวกของพระคริสต์ เรากระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุผลสองระดับคือ เรากระทำสิ่งนั้น ๆ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น และ ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า เราจึงเป็นผู้ทำพันธกิจในสองระดับ   ไม่ว่าเราจะเป็นเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน คนทำความสะอาด แม่บ้าน-พ่อบ้าน แพทย์ พยาบาล  ครู-อาจารย์ นักศึกษา นักการเมือง และ ฯลฯ ในทุกสายอาชีพงานที่เราแต่ละคนมี เรามีงานอาชีพนั้น ๆ ที่จะต้องรับผิดชอบ และในงานที่เรารับผิดชอบนั้นเราทำพันธกิจเพื่อจะช่วยคนอื่น  ให้เกิดประโยชน์ผลดีแก่คนอื่น และเพื่อเป็นที่ยกย่องสรรเสริญพระเจ้าด้วย

ในพระธรรมโคโลสี 3:17 กล่าวไว้ว่า “...เมื่อท่านทั้งหลายทำสิ่งใดไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือด้วยการประพฤติ จงทำทุกสิ่งในพระนามของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า และขอบพระคุณพระเจ้าพระบิดา โดยทางพระองค์” (มตฐ.)

พระคัมภีร์ย้ำเตือนว่า ทุกงานที่เราทำในชีวิต เรากระทำด้วยสำนึกชัดว่า นั่นเป็นพันธกิจที่พระเจ้ามอบแก่เราให้กระทำ และ เป็นพระพรสำหรับเราและคนรอบข้าง หากเรากระทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า และ เพื่อหนุนเสริมช่วยเหลือคนรอบข้าง ไม่ว่าเราจะกระทำสิ่งใด ให้เรากระทำในพระนามของพระเยซูคริสต์ การกระทำนั้นเป็นการกระทำพันธกิจด้วย เช่น การนำขยะไปทิ้ง การทำความสะอาดห้องน้ำ การเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารก ทั้งสิ้นเป็นทั้งงาน และ เป็นพันธกิจที่เราทำ

ดังนั้น การทำพันธกิจคือ ไม่ว่างานอะไรที่เรากระทำ เรากระทำด้วยพันธะผูกพันที่มีต่อพระเยซูคริสต์ “ทำในพระนามของพระคริสต์” และทำตามพระประสงค์ของพระองค์ มิใช่ทำตามความปรารถนาของเราเอง ทุกงานไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหน หรือ ต่ำต้อยเพียงใด ทุกงานสามารถเป็นพันธกิจที่เราทำด้วยพันธะผูกพันกับพระคริสต์ เพื่อสานต่อพระราชกิจของพระองค์ที่ได้ทรงเริ่มต้นไว้บนแผ่นดินโลกนี้

การทำพันธกิจของพระเยซูคริสต์มิได้ขึ้นอยู่ที่ประเภทของงาน แต่อยู่ที่แรงจูงใจ หรือ แรงบันดาลใจที่เรามีในงานนั้น ๆ ที่ทำอยู่ กล่าวคือเราทำทุกงานเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า   เราทำทุกงานให้เป็นการสานต่อพระราชกิจที่พระคริสต์ได้เริ่มต้นไว้ และเราทำทุกอย่างด้วยความรักเมตตาที่เสียสละชีวิตแก่เพื่อนมนุษย์ที่จะมีโอกาสใหม่ ชีวิตใหม่ในพระคริสต์

เมื่อเรามองทุกงานด้วยมุมมองดังกล่าว ทุกงานต่างเป็นพันธกิจที่พระเจ้าทรงเรียกและมอบหมายให้เราทำ ทุกงานต่างเป็นที่งานสำคัญยิ่งสำหรับการกระทำของเรา ทุกงานเป็นพันธกิจที่เรากระทำในชีวิตประจำวันที่กระทำด้วยพันธะผูกพันที่ทำตามพระประสงค์ของพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




20 พฤศจิกายน 2562

รูปเคารพทางเศรษฐกิจ?


เมื่อพูดถึง “รูปเคารพ” เรามักคิดถึงรูปปั้น รูปแกะสลักของพระต่าง ๆ แล้วรูปเคารพทางเศรษฐกิจ มันเป็นรูปเคารพแบบไหนกันแน่? 

เมื่ออิสราเอลมีพระเยโฮวาห์เป็นพระเจ้าของตน แล้วทำไมถึงยังไปนมัสการพระบาอัล? ทำไมคริสตชนในยุคปัจจุบัน นมัสการพระเจ้าในคริสตจักร แต่กลับนมัสการรูปเคารพแห่งเศรษฐกิจทุกที่ในชีวิตประจำวันของตน(รวมทั้งในคริสตจักรด้วย)? ทำไม คริสตชนทำพันธกิจในรูปแบบต่าง ๆ แต่พันธกิจที่ทำกลับมี “เศรษฐกิจ” เป็นเรื่องใหญ่โต จนเป็นรูปเคารพหรือไม่?

เมื่อพูดถึงรูปเคารพในพระคัมภีร์เดิม ขอตั้งข้อสังเกตว่า รูปเคารพเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “อำนาจ” และ “เศรษฐกิจ” เมื่อเราอ่านเรื่องราวที่คนอิสราเอลนมัสการพระบาอัลใน 1พงศ์กษัตริย์ บทที่ 18 เรามักจะคิดว่าพวกเขาทำรูปเคารพในลักษณะต่าง ๆ แต่ตัวดึงดูดความสนใจของพระบาอัลมิใช่เป็นรูปเคารพที่สวยงาม แต่เป็นเรื่องคำมั่นสัญญาทางเศรษฐกิจ ในความเชื่อของผู้คนแถบนั้นรวมถึงอิสราเอลด้วย จะเชื่อและเข้าใจว่า พระบาอัลขับเคลื่อนมาบนเมฆ เป็นผู้นำเอาฝนที่เป็นพระพรให้ไหลหลั่งสู่พื้นดิน ทำให้บังเกิดพืชพันธุ์ธัญญาหาร และชีวิตที่เกิดใหม่อุดมสมบูรณ์   และเมื่อกษัตริย์อาหับไปแต่งงานกับหญิงจากแผ่นดินที่เชื่อในพระบาอัล พวกเกษตรกรอิสราเอลได้สร้างวิหาร และ แท่นบูชาให้พระบาอัล (ดู 1พงศ์กษัตริย์ 16:31)

แน่นอนว่า อิสราเอลส่วนมากจะไม่ปฏิเสธ หรือ เลิกเชื่อในพระเยโฮวาห์ว่าเป็นพระเจ้าของตนอย่างสิ้นเชิง พวกเขายังไปประกอบศาสนพิธีที่พระวิหาร ยังถวายสิบลด และร่วมประกอบศาสนพิธีที่สำคัญในพระวิหาร แล้วก็ผนวกเอาการนมัสการพระบาอัลเพิ่มเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง เพื่อประกันความมั่นใจว่าจะได้รับพระพรทางเศรษฐกิจจากพระบาอัล เกษตรกรอิสราเอลส่วนใหญ่ทำเช่นนี้ก็เพื่อที่ตนจะเป็นที่โปรดปรานและรับการอวยพรจากพระบาอัล

พระเยโฮวาห์ไม่พอพระทัยในพฤติกรรมแบบนี้ของอิสราเอล พระองค์ส่งผู้เผยพระวจนะเอลียาห์มาบอกให้อิสราเอลเลิกกระทำ “แบบจับปลาสองมือ” ดังกล่าว “พวกท่านจะเหยียบเรือสองแคมไปนานสักเท่าใด?...” (1พงศ์กษัตริย์ 18:21 อมธ.) พระเจ้าประกาศผ่านผู้เผยพระวจนะเอลียาห์ว่า พระบาอัลไม่สามารถให้สิ่งที่ดีแก่อิสราเอล ประชากรของพระองค์ไม่สามารถที่จะเลือกเชื่อศรัทธาพระบาอัลและพระเยโฮวาห์ไปพร้อม ๆ กัน

พระเจ้าทรงพิสูจน์สัจจะความจริงในเรื่องนี้ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระองค์ที่เหนือกว่าพระบาอัล   บาอัลบอกว่าตนเป็นพระเจ้าที่อำนวยสายฝนและความอุดมสมบูรณ์ แต่พระเจ้ากลับทำให้ไม่มีน้ำค้างหรือฝน เกิดความแห้งเล้ง (1พงศ์กษัตริย์ 17:1) พวกที่นมัสการพระบาอัลต้องประสบกับความอดอยากในช่วงเวลานั้น แต่พระเจ้าทรงเลี้ยงดูเอลียาห์ด้วยเนื้อและขนมปังที่อีกาคาบมาให้ทุกเช้าเย็น (ข้อ 6)

พระองค์ทำให้ประชากรของพระองค์กลับใจหันมาหาพระองค์ พระเจ้าทรงเรียกร้องให้ประชากรของพระองค์จงรักภักดี ทั้งในการงาน และในการนมัสการพระเจ้า และนี่มิใช่การต่อสู้ในสนามรบที่มองเห็นด้วยตาเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้หรือสงครามในจิตใจ และ จิตวิญญาณของประชากรอิสราเอลด้วย ที่ต่อสู้ในเรื่องอำนาจ รายได้ เศรษฐกิจ ในชีวิตของพวกเขา

พระเยซูหรือ ทรัพย์ศฤงคาร  

พระเยซูคริสต์ล่วงรู้ลึกลงไปถึงความบอบบางในจิตใจของมนุษย์ที่เผชิญกับการทดลองในรูปแบบใหม่ ๆ และที่รุนแรงกว่า โดยเฉพาะคนในยุคนี้ที่นมัสการเงินทอง อย่างนมัสการพระบาอัล เป็นการนมัสการพระเจ้าหรือเทพทั้งหลายเพื่อจะได้ในสิ่งที่ตนต้องการ แต่มนุษย์เราไม่สามารถที่จะเป็น “ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย” ได้ พระเยซูคริสต์พูดชัดเจนว่า เราจะรับใช้พระเจ้าไปพร้อม ๆ กับการรับใช้เงินทองไม่ได้ (ลูกา 16:13)  

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ สอนว่า ทรัพย์สินเงินทองและ ความโลภ เป็นรูปเคารพย่อมเสียงดัง และ มีพลังดึงดูดความสนใจของเรามาก เปาโลประกาศว่า ความโลภเป็นการบูชารูปเคารพด้วย (โคโลสี 3:5;  เอเฟซัส 5:3)  

เปาโลได้พูดอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องนี้ รูปเคารพจะปล้นขโมยเอาความรัก ความไว้วางใจ  และการรับใช้พระเจ้าที่มีในคนของพระองค์ไป และชี้ชัดว่า “ความโลภ” นั้นเลวร้ายเท่ากับรูปเคารพ และคริสตชนไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปในพระวิหารของความเชื่ออื่นเพื่อนมัสการรูปเคารพ   จิตใจที่โลภของคริสตชนได้สร้างรูปเคารพจากเงินทอง หรือ ทรัพย์สินมีค่าทุกอย่างในตัวเขา ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม รวมถึงเมื่ออยู่ในพระวิหารขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย

ดังนั้น พระเยซูคริสต์จึงเตือนสาวกของพระองค์  “จงระวังให้ดี! จงระวังตนจากความโลภทุกชนิด ชีวิตคนเราไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สิ่งของเหลือเฟือ” (ลูกา 12:15 อมธ.) คำอุปมาเรื่องเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากมายจนคิดสร้างขยายยุ้งฉางเก็บทรัพย์สมบัติมากขึ้น แต่เขากลับประสบกับการสูญเสียชีวิตเพราะเขา “...สะสมสิ่งของไว้สำหรับตนแต่ไม่ได้มั่งมีต่อหน้าพระเจ้า...” (ข้อ 16-21

เงินทองทรัพย์ศฤงคารเป็นรูปเคารพที่หลอกล่อให้เรานมัสการมัน แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่เรามีแท้จริงทุกสิ่งเราได้จากพระเจ้า เราพึงนมัสการพระองค์ มิใช่นมัสการสิ่งที่พระองค์ประทานแก่เรา

ค่าราคาที่เราต้องจ่ายแก่การนมัสการรูปเคารพทางเศรษฐกิจ

พระคัมภีร์สอนเราเช่นกันว่า ค่าจ้างที่เรานมัสการรูปเคารพทางเศรษฐกิจคือความตาย เปาโล กล่าวว่า “คนที่อยากรวยก็ตกหล่มเย้ายวนให้ทำบาป ติดกับและตกในความปรารถนาต่าง ๆ อันโง่เขลาและอันตราย ซึ่งดึงมนุษย์ดิ่งลงในห้วงแห่งความพินาศย่อยยับ” (1ทิโมธี 6:9 อมธ.)

ตามทัศนะของเปาโล การรักเงินทองทำให้คนที่นมัสการรูปเคารพทางเศรษฐกิจได้รับความเจ็บปวดในชีวิต และถูกหลอกล่อให้หลงไปจากความเชื่อ และจบลงด้วยตกเป็นเหยื่อของความชั่วร้าย ตรอมตรมในความทุกข์ทรมานมากมาย  (ข้อ 10 อมธ.)

เมื่อเรานมัสการเงินทอง ระวังมันจะขย้ำชีวิตเราให้อยู่ในกงเล็บของมัน เงินทองกลายเป็นพลังอำนาจทางจิตวิญญาณที่จะใช้เรา มากกว่าที่เราจะใช้มัน

เมื่อเรานมัสการรูปเคารพแห่งเงินทอง ชีวิตของเราก็จะมุ่งมั่นทุ่มเทในการหารายได้ ทำให้ได้เงินทอง และเก็บกักสะสมเงินทอง ชีวิตของเราผิดรูปผิดแบบไปจากพระฉายาของพระเจ้าผู้ทรงสร้างพวกเรา เพราะพระเจ้ามีพระฉายาคือ “การให้” เมื่อเราบูชาเงินทอง ชีวิตของเราจึงมิได้สะท้อนพระฉายาแห่งการให้ของพระเจ้าในชีวิตเรา แต่กลับสะท้อนท่าทีรูปแบบชีวิตของเงินทองคือ การเน้นความสำคัญของตนเอง เน้นความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ “ของฉัน” และมุ่งมั่นที่จะ “สะสม” “กักตุน” สมบัติทรัพย์สินสำหรับตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่แตกต่างสิ้นเชิงจากที่พระคริสต์ต้องการให้เราดำเนินชีวิตในเส้นทางของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


18 พฤศจิกายน 2562

ข้อมูลเชิงลึก 9 ประการในชีวิตสมาชิก ที่ศิษยาภิบาลพึงรู้เท่าทัน

ศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตจักร  มีความสำคัญต่อชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักร  

สิ่งสำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ ศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตจักร รู้เท่าทันเกี่ยวกับความเป็นจริงในชีวิตและความเชื่อของสมาชิกฆราวาสในคริสตจักรของตนลุ่มลึกมากน้อยเพียงไรย่อมมีผลต่อการบริหารจัดการความสัมพันธ์ การอภิบาล และการทำพันธกิจในชีวิตคริสตจักรมากเท่านั้น

จากประสบการณ์และข้อมูลที่ได้จากการพูดคุย/สัมภาษณ์ ช่วยให้ผมได้รับข้อสรุป-บทเรียนรู้ความจริงที่สำคัญเชิงลึกเกี่ยวกับสมาชิกฆราวาสในคริสตจักร ถ้าศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรมองข้าม หรือ มองไม่เห็นความจริงเหล่านี้ของสมาชิกฆราวาสในคริสตจักร จะมีผลต่อการอภิบาลชีวิตและการทำพันธกิจของศิษยาภิบาล และผู้นำคริสตจักรอย่างมีนัยสำคัญ ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเชิงลึก 9 ประการ

1. สมาชิกฆราวาสบางคนยังไม่มีความเชื่อศรัทธา การที่ศิษยาภิบาลจะต้องเข้าใจเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมาก เราคงต้องพูดความจริงตรงไปตรงมาแต่แรกว่า เมื่อพระเยซูคริสต์มีสาวก 12 คน หนึ่งในสาวกเป็น “สาวกเทียม” “สาวกปลอม” เราคงไม่สามารถทำต่อสมาชิกประเภทนี้ในคริสตจักรของเราได้ดีไปกว่าพระเยซูคริสต์ได้กระทำมาแล้ว

2. สมาชิกฆราวาสส่วนใหญ่ในคริสตจักรรักองค์พระผู้เป็นเจ้า ยกเว้นสมาชิกฆราวาสในข้อ ที่ 1   ตลอดเวลาที่ผ่านเราพบว่า สมาชิกฆราวาสส่วนใหญ่(จำนวนมาก)ในคริสตจักรที่รักองค์พระผู้เป็นเจ้า   พวกเขาบางคนอาจจะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากในการติดตามพระคริสต์ แต่นั่นมิใช่เพราะว่าพวกเขาไม่รักพระองค์ (โปรดดูในประเด็นต่อไป)

3. สมาชิกฆราวาสส่วนมากมิได้เป็น “สาวกพระคริสต์” ที่ดีมีคุณภาพ หลายคนเป็นสมาชิกในคริสตจักรโดยไม่เคยผ่านการสอน และ เสริมสร้างให้มีชีวิตประจำวันที่เป็นสาวกของพระคริสต์ ผลที่เกิดขึ้นคือ ชีวิตประจำวันต้องประสบกับความล้มเหลว พ่ายแพ้ แล้วคนกลุ่มนี้บางคนก็มีตำแหน่งผู้นำในคริสตจักรทั้ง ๆ ที่มิได้รับการเตรียมความพร้อมทางจิตวิญญาณ เราท่านคงต้องยอมรับว่า ตัวเราเองอาจจะเคยมีประสบการณ์เช่นนี้ในอดีตมาแล้ว

4. สมาชิกฆราวาสจำนวนมากยังมีความเชื่อศรัทธาที่อ่อนหัด ถ้าผู้เชื่อไม่มีความตั้งใจที่จะมีชีวิตการเป็นสาวกของพระคริสต์ การเติบโตในชีวิตจิตวิญญาณของเขาจะหยุดชะงัก และแคระแกร็น และนี่เป็นความผิดพลาดของชุมชนคริสตจักรที่ไม่ใส่ใจ/สอนและเสริมสร้างให้สมาชิกฆราวาสทุกคนเป็นสาวกพระคริสต์ ปัญหาที่ตามมาก็คือ ผู้นำคริสตจักรจะเกิดความผิดหวัง คับข้องใจกับสมาชิกกลุ่มนี้ เพราะศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรคาดหวังว่า ผู้เชื่อเหล่านี้ควรจะมีชีวิตประจำวันที่แสดงออกถึงผู้เชื่อที่มีวุฒิภาวะ ที่เติบโตในความเชื่อของเขา

5. สมาชิกฆราวาสจำนวนมากที่มี “ของประทาน” มากกว่าศิษยาภิบาลในบางด้าน นี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า เราจะเห็นคริสตจักรเป็นพระกายเดียวกันของพระคริสต์อย่างชัดเจนตามที่เขียนใน 1โครินธ์  บทที่ 12  ที่แต่ละคนในคริสตจักรใช้ของประทานที่ตนได้รับในการรับใช้และหนุนเสริมกันและกัน   แต่ถ้าเวลาใดที่ศิษยาภิบาลเลือกที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ในคริสตจักรด้วยตนเอง ศิษยาภิบาลกำลัง “บูชาตนเอง” ตนเองกลายเป็นรูปเคารพที่ตนกำลังกราบไหว้บูชา

6. สมาชิกเกือบทุกคนต้องการรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าในคริสตจักร และ ผ่านคริสตจักร อย่างไรก็ตาม การที่สมาชิกฆราวาสแต่ละคนต้องการที่จะรับใช้แต่กลับไม่ได้รับใช้ ทั้งนี้เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าพวกเขาจะรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไร จะเริ่มต้นที่ไหนดี บางคนเคยได้รับ “ความเจ็บปวดผิดหวัง” จากการรับใช้มาก่อน ดังนั้น จึงกลัวที่จะรับใช้ ถึงแม้จิตใจของเขาต้องการที่จะสัตย์ซื่อในการรับใช้ก็ตาม

7. สมาชิกฆราวาสส่วนใหญ่รักศิษยาภิบาลของเขา จากประสบการณ์การเป็นศิษยาภิบาลของผม ผมไม่เคยพบว่ามีสมาชิกฆราวาสคนไหนที่ไม่รักผม มีบ้างบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับผมในบางเรื่อง และมีบ้างที่โกรธไม่พอใจผมที่ผมลาออกจากคริสตจักร แต่ผมไม่เคยสงสัยเลยว่าเขารักผมหรือไม่

8. สมาชิกฆราวาสหลายคนที่ต้องปล้ำสู้กับความบาปที่ซ่อนเร้น สมาชิกฆราวาสหลายคนที่รู้สึกว่า “ไม่มีใครที่ปลอดภัยพอที่ตนจะบอกหรือปรึกษาเรื่องบาปที่ซ่อนเร้นของตนได้” บางคนไม่มีสัมพันธภาพกับใครในคริสตจักรที่เขาจะปรึกษาเรื่องนี้ วันอาทิตย์แล้วอาทิตย์เล่าเขาต้อง “ปล้ำสู้” กับความผิดบาปในชีวิตจิตวิญญาณของเขา และไม่รู้ไม่เข้าใจเลยว่าจะเอาชนะสงครามจิตวิญญาณภายในชีวิตของเขาดังกล่าวอย่างไรดี

9. สมาชิกฆราวาสที่สร้างความยุ่งเหยิง ลำบากใจแก่/ในคริสตจักร อย่างที่เคยเกิดขึ้นในคริสตจักรสมัยเริ่มแรกที่เราพบในพระธรรมพันธสัญญาใหม่ ถ้าเราอ่านในพระธรรม 1โครินธ์ เราจะพบว่า คริสตจักรในสมัยเริ่มแรกในพันธสัญญาใหม่ก็ต้องพบกับคนที่เป็นตัวปัญหาในคริสตจักร แต่ข่าวดีก็คือว่า ทุกวันนี้เรารับใช้พระเจ้าองค์เดียวกันกับคริสตจักรในพันธสัญญาใหม่ พระเจ้าที่ทรงรักคริสตจักรของพระองค์ถึงแม้จะเป็นคริสตจักรที่มีปัญหายุ่งเหยิงเพียงใดก็ตาม

ข้อมูลเชิงลึกของสมาชิกคริสตจักรทั้ง 9 ประการนี้ ศิษยาภิบาลจะต้องรู้เท่าทันชัดเจน และอธิษฐานขอการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะช่วยศิษยาภิบาลในการอภิบาลสมาชิกตามบริบทและสภาพความเป็นจริงในชีวิตของสมาชิกแต่ละคน เพื่อเสริมสร้างสมาชิกแต่ละคนให้มีชีวิตที่เป็นสาวกพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน และเราสามารถแบ่งปันประสบการณ์จากการอภิบาลสมาชิกที่มีสภาพชีวิตดังกล่าวข้างต้นแก่กันและกันต่อไป

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


15 พฤศจิกายน 2562

ชีวิตที่ทนทุกข์ ด้วยใจที่ชื่นชมยินดี

ในการทนทุกข์ของเปาโล  ท่านทนทุกข์อย่างมีเป้าหมายชัดเจนและด้วยความชื่นชมยินดี   และนี่คือการทำพันธกิจแห่งพระกิตติคุณ  เปาโลได้ส่งต่อพันธกิจนี้มายังทิโมธี และ มายังเราแต่ละคนให้สานต่อพันธกิจแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในสังคมโลกนี้

นั่นเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าทนทุกข์อย่างที่เป็นอยู่ กระนั้นข้าพเจ้าก็ไม่ละอายเพราะข้าพเจ้ารู้จักพระองค์ที่ข้าพเจ้าเชื่อ และมั่นใจว่าพระองค์ทรงสามารถรักษาสิ่งที่ข้าพเจ้ามอบไว้กับพระองค์จนถึงวันนั้นได้ (ในภาษาต้นฉบับ “สิ่งที่ข้าพเจ้ามอบไว้กับพระองค์” สามารถแปลได้ว่า “สิ่งที่พระองค์ทรงมอบไว้กับข้าพเจ้า” ปรากฏใน มตฐ.) 

เมื่อเปาโลเขียนจดหมายถึงทิโมธีฉบับที่สอง ท่านรู้ว่าชีวิตของท่านกำลังจะถึงจุดจบ ถ้าเราอ่านความหมายระหว่างบรรทัด เราจะสัมผัสได้ชัดเจนว่า เปาโลมีความรู้สึกว่า ความตายกำลังคืบคลานเข้ามาในชีวิตของท่าน

เปาโลไม่ได้ให้กำลังใจแก่ทิโมธีแบบลม ๆ แล้ง ๆ ว่า สถานการณ์หรือวิกฤติกาลสำหรับคริสตชน และ ทิโมธีในเวลานั้นจะดีขึ้น แต่เราพบในคำอธิษฐานของเปาโลว่า ผู้ประกาศพระกิตติคุณจะต้องพบปัญหา พบวิกฤติในชีวิตอย่างแน่นอน  เปาโลบอกความจริงแก่ทิโมธีแทนที่จะปลอบใจว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ยิ่งกว่านั้น เปาโลแนะนำทิโมธีว่า อย่าละอายที่จะเป็นพยานชีวิต เฉกเช่นชีวิตของเปาโลที่ต้องติดคุก(คนขี้คุก กบฏสังคม) และท้าชวนให้ทิโมธีร่วมในการทนทุกข์กับเปาโลเพราะพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ด้วยฤทธิ์เดชของพระเจ้า

ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับความเชื่อคำสอนของคริสตชนบางกลุ่ม ที่มุ่งสอนว่าเป้าหมายของพระกิตติคุณคือ เราจะได้ไปอยู่สุขสบายในสวรรค์ ไม่ต้องไปสนใจกับความทุกข์ยากในชีวิตบนโลกนี้ แต่เป้าหมายของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ที่เปาโลประกาศ คือกระบวนการการเปลี่ยนแปลงชีวิตของคน และ สังคมชุมชนในโลกนี้ ให้มีคุณภาพชีวิตเป็นชุมชนแห่งแผ่นดินของพระเจ้า ที่จะก้าวไปสู่การมีชีวิตอยู่ร่วมกับพระคริสต์ตามที่พระองค์ทรงเตรียมไว้

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มีเป้าหมายชัดเจนถึง “ชีวิตในปัจจุบันนี้” และเคลื่อนต่อไปสู่ “ชีวิตในอนาคต” ด้วย พระคัมภีร์ได้แสดงให้เราเห็นชัดว่า พระคริสต์ทำงานหนักเยี่ยงสามัญชน  “มือถือค้อน หน้าสู้ไฟ” เหมือนผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย มือของพระองค์หยาบกร้านเพราะงานช่างไม้ เมื่อออกทำพันธกิจพระองค์เยียวยารักษาคนเจ็บป่วย ถ้าเปรียบกับชาวนาของเรา “มือถือคันไถ  สองขาย่ำในโคลน” และทั้งสองมือต้องหลั่งเลือดบนกางเขนเพื่อเป็นค่าไถ่สำหรับชีวิตมากมาย

แต่ดวงใจของพระองค์ ละเอียดอ่อนชุ่มชื้นไปด้วยความรักเมตตาที่เสียสละ เพื่อชีวิตทั้งหลายบนโลกนี้ที่หัวใจกำลังแตกและฉีกขาด เพื่อดวงจิตที่ฟกช้ำ  

การติดตามพระเยซูคริสต์ มือของเราจะหยาบกร้านจนชินชา และหัวใจจะอ่อนนิ่มนวลเมื่อจิตใจของเราไวต่อสภาพชีวิตของคนอื่น เราทำในสิ่งที่ตอบสนองต่อความจำเป็นต้องการของชีวิตผู้คน และเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพชีวิตแห่งโลกนี้

พระคริสต์ผู้มีมือที่หยาบกร้าน เต็มด้วยบาดแผล จะเป็นชีวิตที่ยุติความป่วยเจ็บของมนุษยชาติ และ เยียวยาฟื้นฟูโลกที่ทรงสร้างให้เป็นสังคมโลกใหม่ และพระคริสต์ได้เข้ามาในชีวิตส่วนตัวของเราแต่ละคน เพื่อขจัดยุติชีวิตข้างในของเราที่เจ็บป่วยและแตกหัก ฟื้นฟูชีวิตของเรากลับสู่ศักยภาพที่ทรงพลังตามที่พระเจ้าประทานแก่เราแต่ละคน

แน่นอนว่า ในชีวิตของเราจะต้องพบกับความทุกข์ยากลำบาก
ความตายจะเข้ามาในชีวิตของเรา
เราจะต้องเผชิญกับการทำร้ายทำลายกัน

ความจริงก็คือว่า มิใช่ว่าพระคริสต์จะขจัดความทุกข์ยากลำบากออกจากชีวิตของเรา  แต่ที่เป็นกำลังใจของเราคือ พระคริสต์อยู่เคียงข้างร่วมทุกข์ร่วมสุขในทุกสถานการณ์ชีวิตของเรา  เราจะมีชีวิตเหมือนเปาโล และ ทิโมธี  คือเราจะทำงานเคียงข้างไปกับพระเยซูคริสต์

และเราก็เป็นผู้ที่หยั่งรากความเชื่อและไว้วางใจในพระเยซูคริสต์
เมื่อเราเดินไปกับพระคริสต์
เราจะไม่อับอายที่ต้องเป็นคนที่ตกอยู่ในความทุกข์
ที่เรามั่นใจเช่นนี้เพราะเราเชื่อมั่นในพระองค์

เรามั่นใจว่า ด้วยพระกำลังของพระคริสต์ต่างหากที่ทำให้เราเผชิญกับความเลวร้ายในชีวิตได้ ชีวิตในแต่ละวันของเราได้รับการปกป้องคุ้มครองจากพระเยซูคริสต์

“...ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์ที่ข้าพเจ้าเชื่อ และมั่นใจว่าพระองค์ทรงสามารถรักษาสิ่งที่ข้าพเจ้ามอบไว้กับพระองค์จนถึงวันนั้นได้” (2 ทิโมธี 1:12)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


13 พฤศจิกายน 2562

เราไปทำอะไรกันที่คริสตจักรในวันอาทิตย์?

อ่าน ฟิลิปปี 3:10-14

เราเคยนั่งลงตรึกตรอง ทบทวนตนเองบ้างไหมว่า... เราไปคริสตจักรในวันอาทิตย์ทำไมกัน? แต่ก่อนที่จะถามคำถามข้างต้นนี้ เราน่าจะถามตนเองก่อนว่า เราแต่ละคนมีนิมิต มีวิสัยทัศน์อย่างไรบ้างเกี่ยวกับคริสตจักรที่เราไปร่วมในวันอาทิตย์?

สำหรับผมส่วนตัว ผมไม่มีวิสัยทัศน์แบบต้องการเห็นคริสตจักรมีที่นั่งจำนวนมากสำหรับคนที่มาในวันอาทิตย์ และก็ไม่ใช่อยากจะเห็นคนมาล้นโบสถ์จนที่นั่งไม่พอสำหรับคนที่มา ไม่ใช่คริสตจักรของเรามีเครื่องอำนวยความสะดวกทันสมัย ติดแอร์  มีโปรเจคเตอร์ที่ทันสมัย มีชุดเครื่องดนตรีที่ราคาแพง มีที่จอดรถกว้างขวาง มีสุสานฝังศพของคริสตจักรเอง ฯลฯ

สิ่งข้างต้นเหล่านี้ ไม่ใช่วิสัยทัศน์ หรือ นิมิต คริสตจักรในวันอาทิตย์ของผม!  

แต่...ผมมีนิมิต/วิสัยทัศน์ว่า...

คริสตจักรของเรามีชีวิตอยู่เพื่อช่วยผู้คนให้...
รู้จักพระเจ้า
พบความเป็นไท/เสรีในชีวิต
ค้นพบพระประสงค์ในชีวิตของตน และ
มีชีวิตที่แตกต่างจากเดิมเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

คริสตจักรของเรามิได้มีชีวิตอยู่เพื่อมีคริสตจักรที่สวยงาม หรือ ใหญ่โตขึ้น แต่เป็นคริสตจักรที่เติบโต แข็งแรงขึ้นด้วยการมุ่งเน้นเสริมสร้างสมาชิกแต่ละคนในคริสตจักรให้เติบโต แข็งแรง และมีสุขภาพทุกมิติที่สมบูรณ์ ด้วยการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันของสมาชิกแต่ละคน

เมื่อผู้คนมาร่วมในคริสตจักรในวันอาทิตย์ สิ่งที่เราคาดหวังจากการทำพันธกิจของคริสตจักรคือ
  • รู้จักพระเจ้าเสริมสร้างการนมัสการพระเจ้าที่ทำให้ผู้เข้าร่วมมีประสบการณ์ตรงที่ได้รับการสัมผัสจากพระเจ้า และต้องการเข้ามาร่วมในการนมัสการพระเจ้าอีก อีกทั้งเชิญชวนคนใหม่เข้ามาร่วมเพิ่ม  เพื่อให้คนใหม่มีประสบการณ์ตรงถึงพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ในชีวิตของตน และ ชีวิตที่ร่วมกัน
  • พบกับเสรีในชีวิตประจำวัน: คริสตจักรช่วยให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมในคริสตจักรได้มีโอกาสเข้าร่วมในกลุ่มเล็ก  เพื่อเป็นที่ที่จะช่วยแต่ละคนให้มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน   เติบโตในชีวิตที่เป็นไทจากอำนาจแห่งความบาปชั่ว และ ความฉีกขาดแตกหักในชีวิตของแต่ละคน ไปสู่ชีวิตใหม่ใต้ร่มพระคุณของพระคริสต์   
  • ค้นพบเป้าหมายในชีวิตของตน: นอกจากการเสริมสร้างให้ผู้คนมีชีวิตที่เป็นสาวกของพระคริสต์แล้ว คริสตจักรยังต้องมีการติดตาม หนุนเสริม ให้การดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคนได้มุ่งสู่เป้าหมายชีวิตของตนตามพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งนำไปสู่การเติบโตในชีวิตการเป็นสาวกพระคริสต์ขั้นต่อ ๆ ไป
  • เกิดความแตกต่างในชีวิตจากเดิม: คริสตจักรเสริมสร้างแต่ละคนให้ร่วมรับใช้ในทีมงานต่าง ๆ ของคริสตจักร ตามความสามารถ ของประทานที่มีในชีวิตแต่ละคน และคริสตจักร “ส่ง” ทุกคนออกไปให้ดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวัน ด้วยการสานต่อพระราชกิจต่อจากพระคริสต์ในพื้นที่ชีวิตของตน
  • เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า: การดำเนินชีวิตประจำวันของสมาชิกแต่ละคนมุ่งมั่นที่จะถวายพระเกียรติทั้งสิ้นแด่พระเจ้า และในวันอาทิตย์เป็นโอกาสที่แต่ละคนจะเข้ามาในคริสตจักรที่จะขอบพระคุณ และ ถวายพระเกียรติในพระราชกิจที่พระเจ้าได้ทำในชีวิตและผ่านชีวิตของสมาชิกคริสตจักรแต่ละคน


ดังนั้น  บทบาทในฐานะศิษยาภิบาล จึงเป็นทั้ง “ผู้นำและผู้เลี้ยง”  เป็นผู้ดูแล กำกับ จัดการชีวิตคริสตจักรที่พระคริสต์ทรงมอบหมายให้ศิษยาภิบาล เลี้ยงดู และรับผิดชอบ บ่มเพาะและขยายนิมิต/วิสัยทัศน์ และเป็นผู้ริเริ่มหนุนเสริมให้สมาชิกแต่ละคนขับเคลื่อนตามย่างก้าวตามนิมิต/วิสัยทัศน์ที่กำหนดให้บรรลุสำเร็จ ด้วยการเสริมสร้างสมาชิกคริสตจักรแต่ละคนให้มีชีวิตที่เติบโตขึ้นในพระคริสต์ แล้วเสริมสร้างให้เรียนรู้และมีทักษะความสามารถในการสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในโลกนี้

ทีมงาน  คณะธรรมกิจ ทีมผู้นำผู้รับใช้จะร่วมการบริหารจัดการขั้นตอนก้าวเดินมุ่งสู่ความสำเร็จตามนิมิตหมายตามที่ได้ร่วมกันกำหนด พวกเขามิเพียงทำพันธกิจร่วมกันเท่านั้น แต่ทุกคนในทีมงานร่วมกันเสริมสร้าง และ หนุนเสริมทุกคนในคริสตจักรรักกันและกัน และขับเคลื่อนพระราชกิจของพระคริสต์อย่างรับผิดชอบตามแผนงานพันธกิจที่ได้กำหนดร่วมกัน

คริสตจักรจะเติบโต เข้มแข็ง และ เกิดผลในชีวิต  ก็ต่อเมื่อ...
สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนเติบโต เข้มแข็ง และ เกิดผลในชีวิต  และ
สมาชิกเป็นผู้ขับเคลื่อนชีวิตและพันธกิจคริสตจักรไปสู่นิมิตที่ชัดเจนเดียวกัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


10 พฤศจิกายน 2562

สมาชิกอธิษฐานเผื่อศิษยาภิบาล...ในวันจันทร์หรือเปล่า?

ท่านสมาชิกคริสตจักรที่รักทุกท่านครับ วันจันทร์อย่าลืมอธิษฐานเผื่อศิษยาภิบาลของท่านนะครับ ต่อไปนี้เป็นประเด็นที่สมาชิกคริสตจักรควรอธิษฐานเผื่อ ศบ. ในวันจันทร์ครับ!

1. วันอาทิตย์เป็นวันที่ศิษยาภิบาลเหน็ดเหนื่อยมาก ศิษยาภิบาลที่ทุ่มเททำงานพันธกิจตลอดทั้งวัน แท้จริงแล้วมิใช่งานยุ่งในวันอาทิตย์เท่านั้น แต่ทำงานหนักมาตลอดสัปดาห์ (ยกเว้น ศบ. ที่ไม่ค่อยทำอะไรนอกจากเทศนา มักหายหน้าจากโบสถ์ในระหว่างสัปดาห์) ทั้งที่ต้องทุ่มเทกับการเตรียมสำหรับคืนวันพุธ งานวันเสาร์ แล้วงานทั้งวันในวันอาทิตย์ ศิษยาภิบาลต้องต้อนรับสมาชิก แขก รับคำขอให้อธิษฐานเผื่อจากคนต่าง   ๆ รับฟังคำบ่นจากสมาชิก ตอบประเด็นคำถามคนที่มาโบสถ์ ตระเตรียมทีมนำนมัสการ และยังต้องพร้อมที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดหวังที่เกิดขึ้น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่ศิษยาภิบาลจะได้กล่าวพระวจนะของพระเจ้า  

ให้เราอธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับศิษยาภิบาลที่ทำงานหนัก ขอประทานพลังปัญญา  พลังกาย  และพลังจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคง

2. การเทศนาดูดพลังไปจำนวนมาก เป็นงานหนักมากในการเตรียมพระวจนะที่จะนำเสนอ  และ ยังจะต้องนำเสนอพระวจนะอย่างชัดเจน กระชับรัดกุม และเป็นพระวจนะที่ท้าทายต่อผู้ฟัง  นี่คือพระวจนะของพระเจ้าที่ ศบ. ต้องสอน

อย่าลืมที่จะมีเวลาอธิษฐานให้ศิษยาภิบาลได้รับพลังใหม่จากพระเจ้า

3. ไม่มีคำเทศนาที่สมบูรณ์ครบถ้วน ศิษยาภิบาลมักถูกวิพากษ์วิจารณ์คำเทศนาไปในทางที่ลบ เรามักไม่ค่อยจะชื่นชมต่อคำเทศนาของศิษยาภิบาล และในหัวของเราก็จะมีแต่ส่วนที่บกพร่องของคำเทศน์ หรือคำพูดที่ไม่ถูกต้อง มันวนเวียนในความคิดของเราไปอีกหลายวัน วันจันทร์กลายเป็นวันที่ ศบ. จะต้องกดดันตนเองในความจริงเหล่านี้  

ขอพระปัญญาของพระเจ้า เป็นสติปัญญาของศิษยาภิบาลในการเตรียมคำสอนคำเทศนาจากพระวจนะ  และ ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำงานในการสื่อสารของศิษยาภิบาลอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผล และขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยผู้ฟังได้เข้าใจ

4. ความเครียดของวันหยุดสุดสัปดาห์ในครอบครัวของศิษยาภิบาล ศิษยาภิบาลจะมีงานยุ่งมากในวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำให้เขาไม่มีเวลาให้แก่คนในครอบครัว คนในครอบครัวเฝ้าดูการใช้เวลาของศิษยาภิบาลเพื่ออภิบาลชีวิตสมาชิกคริสตจักร คนในครอบครัวก็อยากได้การอภิบาลเช่นนั้นจากศิษยาภิบาลเช่นกัน และเมื่อตัวศิษยาภิบาลเองใคร่ครวญถึงเรื่องนี้ในวันจันทร์ ทำให้เขาเกิดความเสียใจลึก ๆ ในชีวิตของเขา

สมาชิกคริสตจักรอย่าลืมอธิษฐานเผื่อครอบครัวของศิษยาภิบาล และ จิตใจของศิษยาภิบาลต่อเรื่องการอภิบาลคนในครอบครัวของตน และให้เราทูลขอความเข้าใจว่าตนจะมีส่วนในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

5. ประเด็นภาระหนักอกที่ศิษยาภิบาลได้รับในวันอาทิตย์ วันอาทิตย์เป็นวันหนึ่งที่สมาชิกจะมีโอกาสบอกเล่าพูดคุยกับศิษยาภิบาลแบบตัวต่อตัว หน้าต่อหน้า อาจจะเป็นเรื่องความแตกแยกในครอบครัว คู่รักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้าย เพิ่งมารับรู้ว่าลูกเป็นเกย์ เรื่องราวที่เป็นภาระหนักอกที่ศิษยาภิบาลได้ยินและรับรู้เหล่านี้กลายเป็นความเจ็บปวดในชีวิตศิษยาภิบาล  เมื่อเขาได้ใคร่ครวญในวันจันทร์

ขอแสงสว่างจากพระเจ้า ได้ฉายเข้าไปในจิตใจและความนึกคิดหนักอกหนักใจของศิษยาภิบาล   เพื่อภาระหนักอกเหล่านั้นจะได้รับการทรงเปิดเผยและทรงนำในทางที่จะอภิบาลอย่างสร้างสรรค์  

6. เสียงบ่นตำหนิศิษยาภิบาล เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง บ้างก็บ่นตำหนิศิษยาภิบาลแบบซึ่งหน้า   จริง ๆ แล้วสิ่งที่เขาบ่นตำหนิเป็นเรื่องเดิมเรื่องเก่า และไม่น่าแปลกใจที่พฤติกรรมเช่นนี้ของสมาชิกบางคนที่ทำให้ศิษยาภิบาลบางคนถอดใจอยากลาออกจากคริสตจักรนั้น

ทูลขอพระเจ้าโปรดประทานความหนักแน่น อดทนแก่ศิษยาภิบาล จิตใจที่รักเมตตา และมีน้ำใจของพระคริสต์ชโลมจิตใจของศิษยาภิบาลด้วย

7. บางคนไม่ได้มาร่วมนมัสการพระเจ้าอย่างที่คาดคิด ศิษยาภิบาลจะรู้จักและจำสมาชิกของตนเองได้ และศิษยาภิบาลจะรู้และจำได้ว่าวันอาทิตย์ที่ผ่านมาใครไม่ได้มาร่วม หรือ บางครั้งแขกที่ไปเชิญให้มาร่วมในวันอาทิตย์ไม่ได้มาตามที่นัดแนะ หรือ สมาชิกในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาลดจำนวนน้อยลง ทำให้ศิษยาภิบาลเกิดความเครียดและกังวลใจว่า ทำไมคนเหล่านี้ถึงไม่มาร่วมในวันอาทิตย์

ในวันจันทร์สมาชิกอย่าลืมที่จะอธิษฐานเผื่อจิตใจของศิษยาภิบาลที่ผู้คนไม่ได้มา หรือ มีสมาชิกมาร่วมน้อยคน

8. ไม่มีใครตอบสนองพระกิตติคุณของพระคริสต์ที่เทศน์ในวันอาทิตย์ แน่นอนครับนักเทศน์ย่อมต้องการให้ผู้ฟังตอบสนองพระกิตติคุณที่เขานำเสนอด้วยการปฏิบัติในชีวิตจริง   แต่เมื่อนักเทศน์รู้และเห็นว่าไม่มีใครตอบสนอง ย่อมนำมาซึ่งความรู้สึกสิ้นหวัง

ขอพระเจ้าประทานความเข้มแข็งภายในแก่ศิษยาภิบาล เมื่อสถานการณ์มิได้เป็นไปอย่างที่ศิษยาภิบาลคาดหวัง

9. ไม่มีสมาชิกสักคนขออธิษฐานเพื่อศิษยาภิบาลร่วมกับศิษยาภิบาลในวันอาทิตย์ ดูเหมือนประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ขอให้เราอย่ามองว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ ตัวศิษยาภิบาลนำในการอธิษฐาน อธิษฐานเพื่อคนอื่นมากมายและเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ตลอดวันอาทิตย์ แต่น้อยครั้งนักที่จะมีคนที่บอกศิษยาภิบาลว่า “ผมขออธิษฐานเพื่ออาจารย์ในการรับใช้ในวันนี้ด้วยกัน”   ท่ามกลางฝูงชนในคริสตจักรวันอาทิตย์ ศิษยาภิบาลอาจจะรู้สึกว้าเหว่โดดเดี่ยวก็ได้

อธิษฐานทูลขอพระเจ้าประเล้าประโลมจิตใจของศิษยาภิบาล และประทานความใส่ใจแก่สมาชิกในวันอาทิตย์  ที่จะเป็นเพื่อนและเป็นกำลังใจแก่การทำพันธกิจของศิษยาภิบาลด้วยการอธิษฐานร่วมกับศิษยาภิบาล 

10. วันนี้  เป็นโอกาสของการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าเมื่อวานนี้(วันอาทิตย์)เกิดอะไรขึ้น ศิษยาภิบาลยังต้องเริ่มต้นทำงานสัปดาห์ใหม่ในวันนี้ ความจำเป็นต้องการของสมาชิกคริสตจักรและโลกยังเป็นความจำเป็นต้องการ พันธกิจต้องดำเนินต่อไป การเทศนายังต้องเตรียม ภาระหนักอึ้งยังอยู่บนบ่าของศิษยาภิบาลที่ต้องแบกไป และต้องการคำอธิษฐานของท่านเสมอ

เรามิใช่อธิษฐานเผื่อ ศบ. ให้พระเจ้าทรงทำพระราชกิจในชีวิต และ ผ่านชีวิตของศิษยาภิบาลเท่านั้น แต่ขอให้เราอธิษฐานขอพระเจ้าทรงเปิดเผย และ เสริมสร้างให้เราเองแต่ละคน หนุนเสริม เพิ่มพลัง ในการรับใช้ของศิษยาภิบาลด้วย

เรียบเรียงจากข้อเขียนของ Chuck lawless

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


08 พฤศจิกายน 2562

ทำยังไงดี...เมื่อพระเจ้าเชื่องช้า?

บ่อยครั้ง ในชีวิตประจำวันของเราในยุคที่ทุกอย่างต้อง “เร่งด่วน” “ทันสมัย” “ทันใจฉัน”  ทำให้พระเจ้าของเราดูทำงานเชื่องช้าไม่ทันใจผู้คน... หรือ เพราะพระเจ้าไม่ยอมไล่ตามให้ทันโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรีบด่วน? หรือเพราะพระเจ้า “ดื้อ” ไม่ยอมทำตัวให้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยตามสถานการณ์? หรือ เพราะพระเจ้ายังยึดถือแผนการ และ ตารางเวลาของพระองค์เอง? ทำไมพระเจ้าถึงเชื่องช้านัก?

คิดไปอีกทีหนึ่ง การเชื่องช้าของพระเจ้า เป็นการประทานโอกาสให้เราได้คิดทบทวนให้รอบคอบยิ่งขึ้นในเรื่องที่เราเห็นว่าพระเจ้าเชื่องช้า เป็นโอกาสที่เราจะทบทวน ตรึกตรอง ใคร่ครวญถึงพระสัญญาของพระองค์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นโอกาสที่เราจะแสวงหาพระประสงค์ น้ำพระทัยของพระองค์ที่รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความใส่ใจ และที่เปิดใจรับการเปิดเผยของพระเจ้าที่อาจจะคนละเรื่องกับสิ่งที่เราต้องการให้พระเจ้าจัดการ หรือ คนละเรื่องกับความคาดหวังของเราเองว่าพระองค์จะทรงสำแดงอะไร อย่างไร? และนี่คือโอกาสที่เราจะเรียนรู้ใหม่   เข้าใจใหม่ ถึงแผนการของพระเจ้าในเรื่องที่เรากล่าวหาว่าพระเจ้าเชื่องช้า!

เมื่อพระเจ้าเชื่องช้า เราจะตัดสินใจทำอย่างไรดี? เราจะตัดสินใจปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเองวิ่งให้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือ? แต่ส่วนตัวของผมแล้ว เมื่อเผชิญกับการที่พระเจ้าเชื่องช้า เรามีโอกาสทำ 3 สิ่งที่สำคัญในช่วงเวลาทองของชีวิตครับ!

1. มองลึกเข้าไปในก้นบึ้งแห่งหัวใจของเรา

พระธรรมสดุดี 139:23  กล่าวไว้ว่า  “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงตรวจตรา(ตรวจค้นข้าพระองค์  อมธ.) ดูเถิด และทรงทราบจิตใจของข้าพระองค์ขอทรงตรวจสอบและประจักษ์แจ้งความคิดกระวนกระวายของข้าพระองค์” (มตฐ.)

การตรวจค้น หรือ ตรวจสอบ ในที่นี้มิได้หมายถึงให้พระเจ้ามาจับผิดสิ่งที่มีในจิตใจของเรา แต่หมายถึงการที่เราเปิดใจของเราให้พระเจ้าเข้ามาช่วยตรวจสอบทบทวนให้เราดำเนินชีวิตเพื่อพระองค์ ถ้าเราเปิดชีวิตจิตใจของเรา และทูลขอพระองค์ช่วยทบทวนตรวจสอบ พระองค์จะทรงเปิดเผยให้เราเห็นถึงสิ่งที่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และโดยพระคุณของพระองค์ เราจะได้รับพลังความเข้มแข็งจากพระองค์ที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตจิตใจของเรา

2.  มองออกไปข้างนอกรอบ ๆ ชีวิตของเรา

ไม่ว่าเราจะหันมองไปที่ใดรอบ ๆ ตัวเรา เราจะพบคนที่กำลังแสวงหาคำตอบที่ถูกต้อง เราจะพบผู้คนที่กำลังมีความจำเป็นต้องการ บางคนที่กำลังหลงทางชีวิต และบางคนที่มีความจำเป็นต้องการในสิ่งที่เราได้ค้นพบแล้ว

พระเยซูคริสต์บอกให้เราสร้างสาวกของพระองค์ การสื่อสารให้กำลังใจ การเป็นพยานชีวิตแก่ผู้คน การกระทำที่ไม่เห็นแก่ตัวคลุกเคล้าด้วยความรักเมตตาจากพระเจ้า ด้วยการกระทำเช่นนี้เราและผู้คนรอบข้างจะพบว่า “พระเจ้าไม่ได้เชื่องช้า” พระสัญญาของพระองค์นั้นเป็นจริงและเป็นรูปธรรม และพระคริสต์กำลังใช้ชีวิตของเราที่จะทำให้คนรอบข้างรู้ว่า ความรักของพระองค์นั้นเป็นอย่างไรจริง ๆ ที่เป็นรูปธรรม

3.  มุ่งมองขึ้นสู่เบื้องบน

สิ่งสำคัญกว่าอื่นใด ให้เรามุ่งมองไปที่พระเยซูคริสต์ เราจะไม่ลาออกจากงานของเรา  ขายบ้านของเรา  แล้วไปตั้งเต็นท์บนยอดเขาสูง เพื่อคอยต้อนรับการกลับมาของพระเยซูคริสต์ การกระทำเช่นนั้นมิใช่ความเชื่อศรัทธา และก็ไม่ใช่การกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ส่วนตัวผมเอง ผมจะมีเวลาที่จะทบทวน ตรวจสอบ ถามตนเองถึงสิ่งที่ผมได้ทำในชีวิต สิ่งที่ผมทำไปนั้นเพียงพอไหม? สิ่งที่ผมทำเป็นสิ่งที่ตอบสนองความจำเป็นต้องการของผู้คนไหม? ผมต้องทำอะไรที่มากกว่านี้ หรือ แตกต่างจากนี้? เราต้องมีเวลาที่จะตรวจสอบทบทวนชีวิตของตนเอง

ไม่ว่าพระเจ้าจะทรงมอบหมายภารกิจการงานอะไรให้เราทำและรับผิดชอบ ให้เราทำสิ่งนั้นด้วยความสัตย์ซื่อและทุ่มเท และงานที่เราได้รับมอบหมายจากพระเจ้าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพสุขภาพ  อายุ  หรือสถานการณ์แวดล้อม นั่นมิใช่ประเด็นที่สำคัญ การที่มีชีวิตประจำวันที่ติดตามพระองค์และพระวจนะของพระองค์อย่างใกล้ชิด ไว้วางใจในพระองค์ทั้งชีวิต ใช้ชีวิตที่มีอยู่ในการติดตามแสวงหาที่จะรู้จักพระองค์มากยิ่งขึ้น และ ช่วยให้ผู้คนรู้จักถึงการดำเนินชีวิตตามวิถีทางของพระเจ้า และรักเมตตา และ เสียสละเพื่อคนอื่นด้วยความรักเมตตาของพระคริสต์ที่หลั่งล้นออกมาจากชีวิตประจำวันของเรา

พระเจ้ารู้พระองค์เองเสมอว่า พระองค์กำลังทำอะไรอยู่ พระองค์มีแผนการของพระองค์เสมอ   ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าไม่รู้ หรือสิ่งที่ทำให้พระองค์แปลกใจ พระองค์ดูเชื่องช้าต่อสถานการณ์ของโลก ต่อเรื่องวาระสุดท้ายของโลก หรือต่อชีวิตของเรา เพราะพระองค์ประสงค์ที่จะประทานโอกาสให้เราและมนุษยชาติ ให้เราใช้เวลาที่เรารู้สึกว่า “พระเจ้าเชื่องช้า” ที่จะตรวจสอบส่วนลึกแห่งชีวิตจิตใจของเรา และเตรียมตนให้พร้อม เพราะพระองค์กระทำพระราชกิจทันเวลาในแผนการของพระองค์เสมอ

“องค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ทรงเชื่องช้าที่จะทำตามพระสัญญาอย่างที่บางคนคิด แต่ทรงอดทนต่อท่านเพราะพระองค์ไม่ทรงประสงค์ให้ผู้ใดพินาศ แต่ทรงประสงค์ให้ทุกคนกลับใจใหม่” (2เปโตร 3:9 อมธ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499