24 พฤศจิกายน 2562

“แล้วอีกเก้าคนอยู่ที่ไหน?”

ถอดบทเรียนรู้กระบวนการความเชื่อของคริสตชน
(อ่าน ลูกา 17:11-19)

ในพระกิตติคุณลูกา 17:11-19 บันทึกเรื่องราวของคนโรคเรื้อน 10 คน เป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ รุนแรง  เขาถูกกีดกัน ไม่มีที่ยืนในครอบครัว  ในชุมชน แม้แต่ในพระวิหารของพระเจ้า   คุณค่าในความเป็นคนถูกลิดรอนลดทอนมิใช่มนุษย์ปกติในสายตาของสังคมและศาสนา อีกทั้งโรคเรื้อนเป็นโรครักษาไม่หายในเวลานั้น คนโรคเรื้อนถูกกดดันอย่างหนักทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม เจ้าตัวรู้สึกว่าตนไม่มีความเป็นมนุษย์ต่อไป รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ถูกดูถูก เหยียดหยาม รังเกียจ กีดกัน  ขับไล่  อีกทั้งสังคมศาสนาบังคับให้ต้องประจานตนเองอีกด้วย

มีคนโรคเรื้อนกลุ่มหนึ่งมารอดักพบพระเยซู เมื่อพวกเขาเห็นพระองค์แต่ไกลจึงร้องเสียงดังว่า  “พระเยซู พระอาจารย์เจ้าข้า เวทนาเราด้วยเถิด!” พวกเขาขอความเมตตา สงสาร จากพระคริสต์ (ข้อ 13) พระเยซูบอกพวกเขาว่า “จงไปแสดงตัวต่อปุโรหิต” (ตาม เลวีนิติ บทที่ 14) และนายแพทย์ลูกาบันทึกรายละเอียดไว้ว่า “ขณะเดินไปเขาก็หายโรค” (ลูกา 17:14) และในข้อที่ 17 คนโรคเรื้อนชาวสะมาเรียที่กลับมาขอบพระคุณพระเจ้า กราบลงที่แทบพระบาทพระเยซู (ข้อ 16) พระเยซูทรงยืนยันว่า “...ความเชื่อของท่านทำให้ตัวท่านหายปกติแล้ว” (ข้อ 19 มตฐ.)

การหายจากโรคต้องห้ามร้ายแรงอาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่การที่เขาหายโรคแล้วทำให้เขามีความเชื่อที่มั่นคง เข้มแข็ง หยั่งรากลึกนั้นสำคัญกว่า อีกเก้าคนอาจจะหายจากโรคร้ายในเวลานั้น แต่ความเชื่อไม่เติบโต เข้มแข็ง และหยั่งรากลงลึก หลายคนที่ได้รับประสบการณ์ตรงจากพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของตน แต่พวกเขาตื่นเต้นอยู่กับประสบการณ์ที่อัศจรรย์ ชื่นชมยินดีกับชีวิตที่กลับมามีคุณค่าอีกครั้งหนึ่ง เขากลับมาใช้สิทธิในความเป็นมนุษย์ในสังคมได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ชีวิตจิตวิญญาณของเขาไม่ได้รับการพัฒนาสร้างเสริมให้เติบโตขึ้น สิ่งที่พระเยซูคริสต์ห่วงใย 9 คนนั้นมากถึงกับถามชายสะมาเรียที่กลับมาขอบพระคุณพระเจ้าว่า “อีกเก้าคนอยู่ที่ไหน?”  

แน่นอนว่า พระเยซูห่วงใยมิเพียงแต่โรคร้ายได้รับการเยียวยารักษาเท่านั้น แต่พระองค์ห่วงใยชีวิตจิตวิญญาณของ 9 คนนั้นอาจจะ “หลงระเริง” อยู่ในความชื่นชมยินดีที่หายโรค แต่ความเชื่อไม่เติบโตและเกิดผล  

จากเรื่องนี้ เราสามารถถอดบทเรียนรู้ถึงกระบวนการความเชื่อได้ 7 ขั้นตอน ดังนี้

 (1) เชื่อที่วางใจ 8 (2) เชื่อที่ทำตาม 8 (3) เชื่อที่กล้าพิสูจน์ด้วยชีวิต 8
(4) เชื่อที่เปลี่ยนชีวิต8 (5) เชื่อที่ชื่นชมยินดี 8 (6) เชื่อที่สำนึกในพระคุณ 8
(7) เชื่อที่เติบโต เป็นความเชื่อที่ให้ชีวิตแก่คนอื่น

(1) ความเชื่อที่ไว้วางใจ คนโรคเรื้อนทั้ง 10 คน คงเคยได้ยินเรื่องพระเยซูรักษาโรค ขับผีร้าย จากผู้คนพูดกันมากมาย เขามีความเชื่อว่า ถ้าเช่นนั้นพระเยซูต้องรักษาโรคร้ายที่น่ารังเกียจของพวกเขาให้หายได้แน่

(2) ความเชื่อที่ทำตาม หรือ ความเชื่อเชิงปฏิบัติ พระเยซูคริสต์ไม่ได้วางมือรักษาโรคในกรณีนี้ แต่พระองค์สั่งให้ทั้ง 10 ไปหาปุโรหิต เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาสะอาด หายจากการเป็นโรคเรื้อนแล้ว “จงไปแสดงตัวต่อปุโรหิต” พวกเขาทำตามทันที  “ขณะกำลังเดินไป พวกเขาก็หายโรค” (ลูกา 17:14)  เขาหายโรคเมื่อเขาทำความเชื่อเป็นการกระทำในชีวิต

(3) ความเชื่อที่กล้าพิสูจน์ด้วยชีวิต การไปหาปุโรหิตก็เพื่อ ปุโรหิตจะตรวจสอบและชันสูตร ว่าเขาหายจากโรคเรื้อนจริง ๆ หรือไม่ ตามหลักเกณฑ์ใน เลวีนิติ บทที่ 14 แต่ถ้าไม่หายตามหลักเกณฑ์ล่ะ ชีวิตของเขาจะเป็นเช่นไร? เสี่ยงมากครับ...!

(4) ความเชื่อที่เปลี่ยนชีวิต ความเชื่อที่ทำให้ชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พระเจ้าทรงรักษาพวกเขามิเพียงให้หายจากโรคเรื้อนที่น่ารังเกียจเท่านั้น แต่พระองค์เปลี่ยนชีวิตที่เข้าไปในบ้านไม่ได้ กลับเข้าไปอยู่กับครอบครัวได้ ชีวิตที่อยู่ในพื้นที่สังคมไม่ได้ เขากลับไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมอีกครั้งหนึ่ง จากที่เข้าร่วมนมัสการพระเจ้าในพระวิหารไม่ได้ เขากลับไปปฏิบัติชีวิตและความเชื่อในพระวิหารได้ตามเคย

(5) ความเชื่อที่นำมาซึ่งความชื่นชมยินดี จากชีวิตที่ถูกตัดสิทธิกีดกันจากสังคมมนุษย์ แต่ได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ชีวิตที่ไร้ค่ากลับมีคุณค่าที่พระเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิต ความชื่นชมยินดีเป็นผลจากความเชื่อ

(6) ความเชื่อที่สำนึกในพระคุณพระเจ้า บ่อยครั้ง ผู้ที่ได้รับการเยียวยารักษา หรือ มีประสบการณ์ตรงในชีวิตกับพระเจ้า จะไปติดอยู่กับความชื่นชมยินดี ความภูมิอกภูมิใจ ความมีคุณค่าในตัวเอง จนลืมที่จะสำนึกถึงพระคุณของพระเจ้าที่มีในชีวิตของตน ที่แย่กว่านั้น จนลืมไปว่าที่ชีวิตตนเปลี่ยนแปลงถึงขนาดนี้เพราะพระคุณของพระเจ้า ทำให้ความเชื่อไปติดหล่มที่การอัศจรรย์ การรักษาโรค การอวยพระพรของพระเจ้า  แต่ชีวิตความเชื่อกลับไม่เติบโต และสิ่งสำคัญยิ่งคือ เมื่อความเชื่อไม่ได้สำนึกในพระคุณพระเจ้า ความเชื่อก็ไม่ตอบสนองพระคุณพระเจ้า กลับกลายเป็นความเชื่อแบบ “ผู้บริโภค” เป็นความเชื่อที่มีแต่อยากจะได้  ไม่มีความเชื่อที่พระคริสต์ประสงค์ คือความเชื่อที่ “ให้ชีวิต” แก่ผู้อื่น ความเชื่อจึงจมปลักวนเวียนเพื่อตนเองเท่านั้น แต่ความเชื่อที่สำนึกในพระคุณเป็นความเชื่อที่มีชีวิตอยู่เพื่อพระคริสต์

(7) ความเชื่อที่เติบโต ในอีกนัยหนึ่ง ความเชื่อที่มีชีวิตเท่านั้นถึงจะเป็นความเชื่อที่เติบโตได้   และความเชื่อที่เติบโตได้นั้นเป็นความเชื่อเชิงปฏิบัติ ความเชื่อที่ให้ชีวิตเพื่อคนรอบข้างจะได้โอกาสใหม่และชีวิตใหม่ ชีวิตที่กระทำและทุ่มเทชีวิตเพื่อคนอื่นเพราะสำนึกในพระคุณของพระเจ้าที่มีในชีวิตของตน ความเชื่อที่เติบโตจึงเป็นชีวิตที่เกิดผล

อย่าให้ความเชื่อของเราเป็นเหมือนคนยิว 9 คนนั้น ที่หายโรค กลับเข้าสู่อ้อมกอดของครอบครัว   กลับเข้าสู่สังคม เข้าร่วมในพระวิหารได้ แต่เป็นความเชื่อ “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่เคยมีประสบการณ์กับพระราชกิจอันอัศจรรย์ของพระเจ้าเท่านั้น  

ความเชื่อของทั้ง 9 คนขึ้นถึงจุดสุดยอดที่ชีวิตที่มีความชื่นชมยินดี แต่กลับเป็นความเชื่อที่มิได้สำนึกในพระคุณของพระเจ้า ดังนั้น ความเชื่อของทั้ง 9 คนจึง “ไม่สามารถเติบโต” ได้ เพราะความเชื่อที่ “เติบโต” คือความเชื่อก่อเกิดความเชื่อที่ต้องการเป็นท่อพระพรของพระคริสต์   ต้องการรับการเปลี่ยนแปลงให้มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์ เพื่อสานต่อพระราชกิจของพระองค์

ด้วยความห่วงใยของพระคริสต์ต่อคนยิวทั้ง 9 คน ถึงขั้นถามชายสะมาเรียว่า “อีกเก้าคนอยู่ที่ไหน?” ความเชื่อที่ไม่สำนึกในพระคุณของพระเจ้า ก็เป็นความเชื่อที่ไม่ได้เชื่อมสัมพันธ์กับพระเจ้า พวกเขาหายจากโรคเรื้อนที่ปรากฏประจักษ์ชัดตามร่างกาย “พวกเขาสะอาด” แต่เป็นความเชื่อที่ “แคระแกร็น” ความเชื่อที่ไม่เติบโต เข้มแข็ง และ เกิดผล เป็นความเชื่อแบบกิ่งที่ไม่ได้ติดสนิทกับลำต้นย่อมเกิดผลไม่ได้

แล้วความเชื่อของท่านวันนี้อยู่ในขั้นไหนครับ? ทำไม+ทำอย่างไรถึงอยู่ในขั้นนั้น?

 ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ8 มีนาคม 2567 เวลา 16:13

    อ่านหลายครั้ง ไม่ได้ข้อสังเกตแบบนี้เลยครับ ขอบคุณมากครับ ขอนำไปแบ่งปันนะครับ

    ตอบลบ