20 พฤศจิกายน 2562

รูปเคารพทางเศรษฐกิจ?


เมื่อพูดถึง “รูปเคารพ” เรามักคิดถึงรูปปั้น รูปแกะสลักของพระต่าง ๆ แล้วรูปเคารพทางเศรษฐกิจ มันเป็นรูปเคารพแบบไหนกันแน่? 

เมื่ออิสราเอลมีพระเยโฮวาห์เป็นพระเจ้าของตน แล้วทำไมถึงยังไปนมัสการพระบาอัล? ทำไมคริสตชนในยุคปัจจุบัน นมัสการพระเจ้าในคริสตจักร แต่กลับนมัสการรูปเคารพแห่งเศรษฐกิจทุกที่ในชีวิตประจำวันของตน(รวมทั้งในคริสตจักรด้วย)? ทำไม คริสตชนทำพันธกิจในรูปแบบต่าง ๆ แต่พันธกิจที่ทำกลับมี “เศรษฐกิจ” เป็นเรื่องใหญ่โต จนเป็นรูปเคารพหรือไม่?

เมื่อพูดถึงรูปเคารพในพระคัมภีร์เดิม ขอตั้งข้อสังเกตว่า รูปเคารพเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “อำนาจ” และ “เศรษฐกิจ” เมื่อเราอ่านเรื่องราวที่คนอิสราเอลนมัสการพระบาอัลใน 1พงศ์กษัตริย์ บทที่ 18 เรามักจะคิดว่าพวกเขาทำรูปเคารพในลักษณะต่าง ๆ แต่ตัวดึงดูดความสนใจของพระบาอัลมิใช่เป็นรูปเคารพที่สวยงาม แต่เป็นเรื่องคำมั่นสัญญาทางเศรษฐกิจ ในความเชื่อของผู้คนแถบนั้นรวมถึงอิสราเอลด้วย จะเชื่อและเข้าใจว่า พระบาอัลขับเคลื่อนมาบนเมฆ เป็นผู้นำเอาฝนที่เป็นพระพรให้ไหลหลั่งสู่พื้นดิน ทำให้บังเกิดพืชพันธุ์ธัญญาหาร และชีวิตที่เกิดใหม่อุดมสมบูรณ์   และเมื่อกษัตริย์อาหับไปแต่งงานกับหญิงจากแผ่นดินที่เชื่อในพระบาอัล พวกเกษตรกรอิสราเอลได้สร้างวิหาร และ แท่นบูชาให้พระบาอัล (ดู 1พงศ์กษัตริย์ 16:31)

แน่นอนว่า อิสราเอลส่วนมากจะไม่ปฏิเสธ หรือ เลิกเชื่อในพระเยโฮวาห์ว่าเป็นพระเจ้าของตนอย่างสิ้นเชิง พวกเขายังไปประกอบศาสนพิธีที่พระวิหาร ยังถวายสิบลด และร่วมประกอบศาสนพิธีที่สำคัญในพระวิหาร แล้วก็ผนวกเอาการนมัสการพระบาอัลเพิ่มเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง เพื่อประกันความมั่นใจว่าจะได้รับพระพรทางเศรษฐกิจจากพระบาอัล เกษตรกรอิสราเอลส่วนใหญ่ทำเช่นนี้ก็เพื่อที่ตนจะเป็นที่โปรดปรานและรับการอวยพรจากพระบาอัล

พระเยโฮวาห์ไม่พอพระทัยในพฤติกรรมแบบนี้ของอิสราเอล พระองค์ส่งผู้เผยพระวจนะเอลียาห์มาบอกให้อิสราเอลเลิกกระทำ “แบบจับปลาสองมือ” ดังกล่าว “พวกท่านจะเหยียบเรือสองแคมไปนานสักเท่าใด?...” (1พงศ์กษัตริย์ 18:21 อมธ.) พระเจ้าประกาศผ่านผู้เผยพระวจนะเอลียาห์ว่า พระบาอัลไม่สามารถให้สิ่งที่ดีแก่อิสราเอล ประชากรของพระองค์ไม่สามารถที่จะเลือกเชื่อศรัทธาพระบาอัลและพระเยโฮวาห์ไปพร้อม ๆ กัน

พระเจ้าทรงพิสูจน์สัจจะความจริงในเรื่องนี้ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระองค์ที่เหนือกว่าพระบาอัล   บาอัลบอกว่าตนเป็นพระเจ้าที่อำนวยสายฝนและความอุดมสมบูรณ์ แต่พระเจ้ากลับทำให้ไม่มีน้ำค้างหรือฝน เกิดความแห้งเล้ง (1พงศ์กษัตริย์ 17:1) พวกที่นมัสการพระบาอัลต้องประสบกับความอดอยากในช่วงเวลานั้น แต่พระเจ้าทรงเลี้ยงดูเอลียาห์ด้วยเนื้อและขนมปังที่อีกาคาบมาให้ทุกเช้าเย็น (ข้อ 6)

พระองค์ทำให้ประชากรของพระองค์กลับใจหันมาหาพระองค์ พระเจ้าทรงเรียกร้องให้ประชากรของพระองค์จงรักภักดี ทั้งในการงาน และในการนมัสการพระเจ้า และนี่มิใช่การต่อสู้ในสนามรบที่มองเห็นด้วยตาเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้หรือสงครามในจิตใจ และ จิตวิญญาณของประชากรอิสราเอลด้วย ที่ต่อสู้ในเรื่องอำนาจ รายได้ เศรษฐกิจ ในชีวิตของพวกเขา

พระเยซูหรือ ทรัพย์ศฤงคาร  

พระเยซูคริสต์ล่วงรู้ลึกลงไปถึงความบอบบางในจิตใจของมนุษย์ที่เผชิญกับการทดลองในรูปแบบใหม่ ๆ และที่รุนแรงกว่า โดยเฉพาะคนในยุคนี้ที่นมัสการเงินทอง อย่างนมัสการพระบาอัล เป็นการนมัสการพระเจ้าหรือเทพทั้งหลายเพื่อจะได้ในสิ่งที่ตนต้องการ แต่มนุษย์เราไม่สามารถที่จะเป็น “ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย” ได้ พระเยซูคริสต์พูดชัดเจนว่า เราจะรับใช้พระเจ้าไปพร้อม ๆ กับการรับใช้เงินทองไม่ได้ (ลูกา 16:13)  

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ สอนว่า ทรัพย์สินเงินทองและ ความโลภ เป็นรูปเคารพย่อมเสียงดัง และ มีพลังดึงดูดความสนใจของเรามาก เปาโลประกาศว่า ความโลภเป็นการบูชารูปเคารพด้วย (โคโลสี 3:5;  เอเฟซัส 5:3)  

เปาโลได้พูดอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องนี้ รูปเคารพจะปล้นขโมยเอาความรัก ความไว้วางใจ  และการรับใช้พระเจ้าที่มีในคนของพระองค์ไป และชี้ชัดว่า “ความโลภ” นั้นเลวร้ายเท่ากับรูปเคารพ และคริสตชนไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปในพระวิหารของความเชื่ออื่นเพื่อนมัสการรูปเคารพ   จิตใจที่โลภของคริสตชนได้สร้างรูปเคารพจากเงินทอง หรือ ทรัพย์สินมีค่าทุกอย่างในตัวเขา ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม รวมถึงเมื่ออยู่ในพระวิหารขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย

ดังนั้น พระเยซูคริสต์จึงเตือนสาวกของพระองค์  “จงระวังให้ดี! จงระวังตนจากความโลภทุกชนิด ชีวิตคนเราไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สิ่งของเหลือเฟือ” (ลูกา 12:15 อมธ.) คำอุปมาเรื่องเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากมายจนคิดสร้างขยายยุ้งฉางเก็บทรัพย์สมบัติมากขึ้น แต่เขากลับประสบกับการสูญเสียชีวิตเพราะเขา “...สะสมสิ่งของไว้สำหรับตนแต่ไม่ได้มั่งมีต่อหน้าพระเจ้า...” (ข้อ 16-21

เงินทองทรัพย์ศฤงคารเป็นรูปเคารพที่หลอกล่อให้เรานมัสการมัน แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่เรามีแท้จริงทุกสิ่งเราได้จากพระเจ้า เราพึงนมัสการพระองค์ มิใช่นมัสการสิ่งที่พระองค์ประทานแก่เรา

ค่าราคาที่เราต้องจ่ายแก่การนมัสการรูปเคารพทางเศรษฐกิจ

พระคัมภีร์สอนเราเช่นกันว่า ค่าจ้างที่เรานมัสการรูปเคารพทางเศรษฐกิจคือความตาย เปาโล กล่าวว่า “คนที่อยากรวยก็ตกหล่มเย้ายวนให้ทำบาป ติดกับและตกในความปรารถนาต่าง ๆ อันโง่เขลาและอันตราย ซึ่งดึงมนุษย์ดิ่งลงในห้วงแห่งความพินาศย่อยยับ” (1ทิโมธี 6:9 อมธ.)

ตามทัศนะของเปาโล การรักเงินทองทำให้คนที่นมัสการรูปเคารพทางเศรษฐกิจได้รับความเจ็บปวดในชีวิต และถูกหลอกล่อให้หลงไปจากความเชื่อ และจบลงด้วยตกเป็นเหยื่อของความชั่วร้าย ตรอมตรมในความทุกข์ทรมานมากมาย  (ข้อ 10 อมธ.)

เมื่อเรานมัสการเงินทอง ระวังมันจะขย้ำชีวิตเราให้อยู่ในกงเล็บของมัน เงินทองกลายเป็นพลังอำนาจทางจิตวิญญาณที่จะใช้เรา มากกว่าที่เราจะใช้มัน

เมื่อเรานมัสการรูปเคารพแห่งเงินทอง ชีวิตของเราก็จะมุ่งมั่นทุ่มเทในการหารายได้ ทำให้ได้เงินทอง และเก็บกักสะสมเงินทอง ชีวิตของเราผิดรูปผิดแบบไปจากพระฉายาของพระเจ้าผู้ทรงสร้างพวกเรา เพราะพระเจ้ามีพระฉายาคือ “การให้” เมื่อเราบูชาเงินทอง ชีวิตของเราจึงมิได้สะท้อนพระฉายาแห่งการให้ของพระเจ้าในชีวิตเรา แต่กลับสะท้อนท่าทีรูปแบบชีวิตของเงินทองคือ การเน้นความสำคัญของตนเอง เน้นความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ “ของฉัน” และมุ่งมั่นที่จะ “สะสม” “กักตุน” สมบัติทรัพย์สินสำหรับตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่แตกต่างสิ้นเชิงจากที่พระคริสต์ต้องการให้เราดำเนินชีวิตในเส้นทางของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น