27 มิถุนายน 2556

กล้าหาญเผชิญหน้าศัตรู


ท่านกล้าที่จะมองไปในดวงตาของปรปักษ์  เพื่อที่จะเห็นถึงความโกรธ เกลียด และความมุ่งร้ายหวังทำลายท่านหรือไม่?   เราจะมีความกล้าในการเผชิญหน้ากับศัตรูได้อย่างไร?

พระธรรมกิจการ 14:19-22   เป็นเรื่องราวของเปาโลเมื่อท่านต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่มุ่งทำลายท่าน
แล้วพวกยิวบางคนมาจากเมืองอันทิโอกและเมืองอิโคนียูม และชักจูงฝูงชนให้มาเป็นพวกตนได้สำเร็จ   พวกเขาเอาหินขว้างเปาโลและลากออกนอกเมืองเพราะคิดว่าเขาตายแล้ว   แต่หลังจากที่เหล่าสาวกเข้ามาห้อมล้อมเขา  เปาโลก็ลุกขึ้นและกลับเข้าไปในเมือง   วันรุ่งขึ้นเขากับบารนาบัสก็ออกเดินทางไปเมืองเดอร์บี
พวกเขาประกาศข่าวประเสริฐในเมืองนั้นและมีคนมากมายมาเป็นสาวก   จากนั้นพวกเขากลับไปยังเมืองลิสตรา  เมืองอิโคนียูม  และเมืองอันทิโอก   เพื่อช่วยให้พวกสาวกเข้มแข็งขึ้น   และให้กำลังใจพวกเขาให้สัตย์ซื่อมั่นคงในความเชื่อ   พวกเขากล่าวว่า  ‘เราต้องเผชิญหน้าความยากลำบากมากมายเพื่อเข้าอาณาจักรของพระเจ้า’” (อมตธรรม)

พวกผู้นำศาสนายิวทั้งเกลียดและเคียดแค้นเปาโล ที่ครั้งหนึ่งเคยยืนหยัดปกป้องศาสนายิว  และมุ่งหน้าตั้งตาทำลายลัทธิความเชื่อใหม่ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์   แต่พวกเขาต้องโกรธแค้นอย่างมากเพราะเปาโลคือผู้ทรยศหักหลังพวกเขา   กลับไปประกาศเผยแพร่ลัทธิความเชื่อใหม่ที่เป็นคู่แข่งศาสนายิว   และเป็นภัยคุกคามศาสนายิวที่พวกตนเชื่อถือ   ดังนั้น  จึงเห็นว่ามีทางเดียวคือการขจัดเปาโลที่เป็นเสี้ยนหนามของศาสนายิวเสีย   ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย ปลอดภัย และสงบสุข

เปาโล เคยเข้าไปประกาศข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์ในเมืองอิโคนียูม และอันทิโอก   จนมีผู้เชื่อถวายตัวเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์   ดังนั้น  คนยิวกลุ่มนี้เมื่อรู้ว่าเปาโลและบารนาบัสทำการประกาศที่เมืองลิสตราและเดอร์บี   พวกเขาจึงเดินทางมาจากอิโคนียูม และอันทิโอกเพื่อจะมาลอบทำร้ายทั้งสองคน   ด้วยการชักจูงฝูงชนให้เป็นพวกของตน   แล้วเอาหินขว้างเปาโลจนหมดสติ   เมื่อคิดว่าเปาโลตายแล้ว   จึงลากไปทิ้งที่นอกเมือง

ในชีวิตการทำงาน และ การอยู่ในชุมชน   ท่านเคยพบกับบางคนบางพวกที่เกลียดเคียดแค้นท่านหรือไม่?   อาจจะเป็นเพราะการกระทำของท่านไปขัดผลประโยชน์ของเขา   หรือไปขวางทางประโยชน์ของเขา   หรือไปสร้างอำนาจบารมีเหนือเขา   ท่านต้องเผชิญศัตรูในคณะกรรมการที่ท่านทำงานด้วย หรือ ธรรมกิจในคริสตจักรหรือไม่?   พวกเขาหาทางที่ต่อต้านกำจัดท่านให้ออกไปจากกรรมการนั้น  องค์กรนั้น  หรือคริสตจักรนั้นหรือไม่?

ถึงแม้เปาโลจะกระทำในสิ่งดีสิ่งถูกต้อง  แต่สิ่งที่เปาโลได้รับคือถูกหินขว้างจนหมดสติ   จนคนคิดว่าเปาโลตายแล้ว   คนๆ นี้หมดฤทธิ์สิ้นเดชแล้ว   พวกเขาคิดว่าพวกเขาชนะแล้วแก้ปัญหาได้แล้ว   ด้วยการขจัดคนที่เป็นเสี้ยนหนามออกจากเมืองของเขา  องค์กรของเขา  หน่วยงานของเขา  คริสตจักรของเขา

ในขณะที่เปาโลเชื่อว่า  เขาต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง  ทำสิ่งที่เป็นพระประสงค์ และ การทรงเรียกของพระคริสต์   เขาทุ่มเททุกอย่างในชีวิตเพื่อตอบสนองการทรงเรียกของพระคริสต์   แต่ผู้นำศาสนายิวกลับมองว่า  การกระทำทั้งสิ้นของเปาโลเป็นภัยคุกคามทำร้ายทำลายศาสนายิว   ดังนั้น  พวกเขาต้องทำทุกวิถีทางที่จะขจัดคนที่เป็นพิษภัยต่อองค์กรศาสนายิวที่พวกเขาศรัทธาและเทิดทูนให้ไปจากแผ่นดิน 

ผมใคร่ชักชวนให้พวกเราพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นนี้คือ  เมื่อพวกยิวเห็นว่าใครเป็นตัวปัญหาในองค์กรของตน   วิธีแก้ปัญหาคือ  การขจัดคนๆ นั้นออกไปจากองค์กรของตน   เมื่อเขามองว่าพระเยซูคริสต์เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อศรัทธาและสั่งสอน   เขาหาทางกล่าวร้ายจนตรึงพระเยซูที่กางเขน   เพราะคิดว่าถ้าขจัดพระเยซูออกไปได้แล้ว   ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้   องค์กรศาสนายิวก็จะมั่นคงปลอดภัย   แต่ผลตามมาไม่เป็นอย่างที่พวกผู้นำศาสนายิวคาดคิด!   แต่เขากลับพบว่า  สาวกที่พวกเขาคิดว่าเป็นคนสามัญธรรมดากลับกลายเป็นผู้นำที่ประชาชนเชื่อศรัทธา   และก็มีผู้นำคนใหม่เกิดขึ้นมาอีกไม่ขาดสาย   เขาคนนั้นคือเปาโล

พวกผู้นำศาสนายิวคิดอย่างเดิมอีกคือ  ถ้าเขาสามารถกำจัดเปาโลให้สิ้นซาก   ศาสนาลัทธิใหม่ของพระเยซูก็จะหมดสิ้น   และครั้งนี้ก็พบว่า   คนพวกนี้ไม่ได้เกรงกลัวความโหดเหี้ยมมุ่งร้ายของพวกเขา   แต่กลับกล้าหาญในการประกาศข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์   การแก้ปัญหาด้วยการกำจัดคนที่ไม่พึงประสงค์มิใช่หนทางการแก้ปัญหาที่เกิดผลเลย   
ทุกวันนี้  พวกเรา  คริสตจักร  องค์กร  หน่วยงาน  สถาบันคริสตชนได้ใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างผู้นำศาสนายิวในสมัยเปาโลหรือไม่?   ถ้ายังใช้อยู่ผลเป็นอย่างไรบ้างครับ?

สิ่งใดที่เป็นแผนการของพระเจ้า   ไม่มีมนุษย์คนใดที่จะขจัดขัดขวางได้สำเร็จ   เมื่อเหล่าสาวกห้อมล้อมเปาโล   เขาก็ฟื้นและลุกขึ้นเข้าเมืองเตรียมตัว  วันรุ่งขึ้นเดินทางออกจากเดอร์บีไปพร้อมกับบารนาบัส   เพื่อทำพันธกิจตามพระประสงค์ของพระเยซูคริสต์    น่าสังเกตว่า ทั้งเปาโลและบารนาบัสถึงแม้จะไม่พยายามเผชิญหน้ากับกลุ่มยิวที่มุ่งทำร้ายเปาโล   แต่เขาทั้งสองก็มิได้เกรงกลัวคนพวกนี้   ทั้งสองกลับเดินทางไปยังเมืองของคนกลุ่มที่มาทำร้ายเปาโลคือที่เมือง อิโคนียูม และ อันทิโอก   เพื่อให้กำลังใจแก่สาวกของพระเยซูคริสต์ในเมืองดังกล่าว

น่าสังเกตว่า   พระเจ้าไม่ได้บอกให้ทั้งเปาโลและบารนาบัสให้เผชิญหน้ากับพวกยิวที่เป็นศัตรูกลุ่มนั้น   แต่ตรงกันข้ามกลับให้ระมัดระวังรอบคอบ   ที่จะเอาตัวรอดปลอดภัยจากเงื้อมมือของคนพวกนั้น   แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า  ให้ทั้งสองหงอกลัวซ่อนตัวไม่กล้าทำอะไรเลย    แต่ใช้เวลาและโอกาสที่เหมาะสมและที่ยังมีอยู่หนุนเสริมเพิ่มพลังคริสตชนในเมืองอันทิโอกให้เข้มแข็งมีกำลังใจในการมีชีวิตท่ามกลางความทุกข์ยากลำบากจากการข่มเหงของพวกยิว

ในวันนี้ท่านจะเผชิญหน้าเช่นไรก็คนที่โกรธ เกลียด และมุ่งร้ายต่อท่าน  หรือท่านจะเผชิญหน้ากับอิทธิพลเถื่อนในองค์กรอย่างไร?   และถ้ามีคนที่มองว่าท่านเป็นคู่แข่งของเขา   ท่านจะเผชิญหน้า หรือ จัดการกับสถานการณ์นั้นอย่างไร?   ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีแต่ความมุ่งร้ายทำลายขวัญและกำลังใจ   ท่านจะหาความกล้าหาญจากที่ใดที่จะยังคงทุ่มเทและกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า?

ผมได้เรียนรู้จากเปาโลว่า   ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีแต่ความมุ่งร้ายทำลายกำลังใจ   ผมจะไม่พึ่งพาแรงกระตุ้นบันดาลใจของตนเอง   แต่จะขอองค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดชำระพลังกระตุ้นและแรงบันดาลใจของผมให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า   ด้วยการนี้เราจะเกิดพลังความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับศัตรู   เพราะเราเผชิญหน้าศัตรูด้วยการทรงเคียงข้างขององค์พระเยซูคริสต์


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

25 มิถุนายน 2556

อันตรายของการรักเงินทอง


ในพระคัมภีร์กล่าวถึงการอธิษฐานและความเชื่อมีประมาณ 500 ข้อ   ในขณะที่มีข้อพระคัมภีร์ที่พูดถึงเรื่องทรัพย์สินเงินทองเกือบ 2,000 ข้อ   ทรัพย์สินเงินทองเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ   เงินทองสามารถที่จะทำให้เกิดความเจ็บปวดในชีวิตได้   ข้างล่างนี้เป็นประเด็นอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรักเงินทองบนพื้นฐานของพระคัมภีร์  พร้อมกับประเด็นสำหรับการอภิปรายในกลุ่มเล็ก หรือ ท่านสามารถใช้ใคร่ครวญส่วนตัวได้ด้วย

อันตรายประการแรก:   ขาดความพอใจในสิ่งที่ตนมี
อ่าน 1ทิโมธี 6:6-8   แล้วช่วยบอกหน่อยว่า   พระคัมภีร์ตอนนี้ได้สอนอะไรเกี่ยวกับการพอใจในสิ่งที่มี?
6อันที่จริง การอยู่ในทางพระเจ้าพร้อมกับมีความพอใจก็เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง  
7เพราะว่าเราไม่ได้เอาอะไรเข้ามาในโลกเช่นไร เราก็เอาอะไรออกไปจากโลกไม่ได้เช่นกัน   
8ถ้ามีอาหารและเสื้อผ้า เราก็ควรพอใจในสิ่งเหล่านั้น (มตฐ

ข้อมูลสำหรับใคร่ครวญและผู้นำกลุ่ม
  • ความพึงพอใจเป็นเรื่องการจัดการข้างในชีวิตของเรา   ไม่เกี่ยวกับการจัดการกับทรัพย์สินสิ่งของภายนอกชีวิตของเรา หรือ สถานการณ์แวดล้อมว่า เรามีหรือไม่มีสิ่งเหล่านั้น   คนส่วนใหญ่เชื่อเช่นนั้น   แต่ในความเป็นจริง   เราได้ทำอย่างที่เราเชื่อหรือไม่?   
  • มีข้อมูลว่า เด็กฝรั่งอายุ 5 ขวบทั่วไป   ที่มีชีวิตในโลกนี้มาเพียง 260 สัปดาห์   แต่พบว่าได้สะสมของเล่นไว้มากถึง 250 ชิ้น   ความพอใจในสิ่งที่ตนมีเป็นการพอใจในการมีของเล่นจำนวนมากมายเช่นนั้นหรือ?   เป็นการพออกพอใจที่ได้ไปชมภาพยนตร์หลายๆ ครั้งหรือ?   เป็นการพอใจที่มีโอกาสที่ไปรับประทานอาหารตามร้านที่เราชอบเป็นประจำเช่นนั้นหรือ?
  • ความพึงพอใจเป็นการจัดการการเรียนรู้ภายในชีวิตของเรา   มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ  หรือมันสามารถเกิดขึ้นเองในตัวคนเรา   แต่เป็นการที่เราสามารถจัดการให้เกิดการเรียนรู้ได้   คำถามคือแล้วเราจะจัดการให้เกิดการเรียนรู้ถึงความพึงพอใจได้อย่างไร?
  • เรียนรู้และยอมรับความจริงว่า พระเยซูคริสต์ได้ประทานชีวิตที่ครบบริบูรณ์แก่เรา   พระองค์ได้เติมเต็มช่องว่างในชีวิตของเรา
  • เริ่มสร้างนิสัยที่รู้จักขอบพระคุณพระเจ้าเป็นประจำ ในสิ่งที่เรามีเราได้รับ
  • เลิกหลอกล่อตนเองด้วยการอยากได้ใคร่มีในสิ่งที่เราไม่มี  

อันตรายประการที่สองหลุมพรางแห่งอำนาจความบาปชั่ว
อ่าน  ข้อ 9-10  คำถาม:   การรักเงินทองเป็นกับดักที่ทำให้เราตกลงในอำนาจแห่งความบาปชั่วอะไรบ้าง?
9ส่วนพวกที่อยากร่ำรวยก็ตกอยู่ในการล่อลวงและติดกับดักของความอยากมากมายที่โง่เขลาและอันตราย ซึ่งฉุดคนเราให้ลงไปสู่ความพินาศและความย่อยยับ   
10เพราะว่าการรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด ความโลภเงินทองนี้ที่ทำให้บางคนหลงไปจากความเชื่อ และ ตรอมตรมด้วยความทุกข์มากมาย (มตฐ
ข้อมูลสำหรับใคร่ครวญและผู้นำกลุ่ม
พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงความชั่วประมาณ 450 ครั้ง   แต่มีเพียงแห่งเดียวที่กล่าวถึงรากเหง้าของความชั่ว   เปาโลกล่าวว่า  การรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด   ตัวของเงินทองเองมันเป็นเพียงวัตถุที่ไม่ดีไม่ชั่ว   แต่การที่คนใดคนหนึ่งไปรักเงินทองจะกลับกลายเป็นรากของความบาปชั่วรากหนึ่ง ที่ไชชอนลงในชีวิตจิตวิญญาณ
  • ท่านเคยมีชีวิตอยู่เพื่อเงินทองหรือไม่เช่น การยอมบิดเบือน หรือ เปลี่ยนแปลงความจริงเพียงเล็กน้อยในรายงาน   หรือให้ข้อมูลที่คลุมเครือแก่ลูกค้าเพียงต้องการให้เขาตัดสินใจซื้อสินค้าของเรา
  • ท่านเคยปรารถนาหรืออยากมีอยากได้บางอย่างที่คนอื่นเขามีกันหรือไม่?
  • ท่านเคยใช้จ่ายเงินทองมากเกินตัวหรือไม่?   หรือเคยซื้อในสิ่งที่ไม่ควรจะซื้อหรือไม่?

อันตรายประการที่สามเตลิด(หลง)ไปจากความเชื่อ
อ่านข้อที่ 10   คำถามการที่เรากระหายอยากได้เงินทองทำให้เราต้องหลงเตลิดไปจากความเชื่ออย่างไร?
10เพราะว่าการรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด ความโลภเงินทองนี้ที่ทำให้บางคนหลงไปจากความเชื่อ และตรอมตรมด้วยความทุกข์มากมาย (มตฐ)
ข้อมูลสำหรับใคร่ครวญและผู้นำกลุ่ม
  • เงินทองจะสะท้อนความจริงในตัวเราให้เห็นว่า  ชีวิตของเรายืนอยู่บนรากฐานอะไร    พระเยซูคริสต์จะไม่ยอมอยู่ร่วมกับใคร หรือ สิ่งใดว่าเป็นสิ่งที่สูงสุดในชีวิตของตน(นอกจากพระเจ้า)   
แท้จริงแล้วอะไรคือสิ่งที่สำคัญสุดหรือสูงสุดในชีวิตของท่าน?  
  • เงินทองจะดึงชีวิตจิตใจของเราให้ไขว้เขวจากความจริงที่สำคัญที่สุดในชีวิต   เปาโลใช้คำว่าหลงไปจาก”  การหลงเป็นการที่เรามิได้คิดพิจารณาอย่างสุขุมรอบคอบ   “การหลงไปจากเป็นการบอกถึงว่าเราหลงทางไปเพราะเรามิได้เอาใจใส่ในสิ่งที่เราควรเอาใจใส่อย่างจริงจัง   
แล้วท่านเคยประสบพบด้วยตนเอง หรือ เห็นพี่น้องเพื่อนฝูงที่หลงไปจากความเชื่อหรือไม่?   อะไรเกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้น?

อันตรายประการที่สี่ตรอมตรมด้วยความทุกข์
อ่านข้อที่ 10   เราจะป้องกันไม่ให้เงินทองทำให้เกิดความเจ็บปวดในชีวิตของเราได้อย่างไร?
10เพราะว่าการรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด ความโลภเงินทองนี้ที่ทำให้บางคนหลงไปจากความเชื่อ และตรอมตรมด้วยความทุกข์มากมาย (มตฐ)
ข้อมูลสำหรับใคร่ครวญและผู้นำกลุ่ม
ในข้อที่ 10 บอกเราว่าคนที่กระหายอยากได้เงินทองทำให้เขาต้องได้รับความทุกข์ยากเจ็บปวดและหายนะในชีวิตจากการเป็นหนี้  การทำงานอย่างไม่ลืมหูลืมตา  การพนัน   หลายคนที่ต้องโศกเศร้า ซึมเศร้าเสียใจก็เพราะคนๆ นั้นให้เงินทองเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดในชีวิต

ประเด็นการอภิปราย
  • ท่านเคยเห็นคนที่ต้องได้รับภัยอันตรายจากเงินทองที่มีผลกระทบต่อชีวิตหรือไม่อะไรเกิดขึ้นกับเขา?
  • หลักการความระมัดระวังและความรับผิดชอบในเรื่องเงินทองมีอะไรบ้างที่จะช่วยในสถานการณ์ดังกล่าว?
  • เราจะบ่มเพาะปลูกฝังหลักการความรับผิดชอบเรื่องเงินทองแก่ผู้ที่เข้ามาร่วม และ สมาชิกในชุมชนคริสตจักรของเราได้อย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 มิถุนายน 2556

มุมมองการทำงานของคริสตชน


ตลอดชีวิตของคนเราแต่ละคนคำนวนแล้วประมาณได้ว่าคนหนึ่งใช้เวลาในการทำงานในชีวิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ชั่วโมง   นี่เป็นการใช้เวลาในชีวิตที่มากที่สุด   ถ้าจะไม่นับชั่วโมงการนอนหลับของคนเรา   ถ้าเช่นนั้น  การทำงานในชีวิตของคนเรามีคุณค่า  ความหมาย และมีเป้าหมายอะไร?   ที่คนเราทำงานเพราะเราจำเป็นต้องทำ หรือ เพราะเป็นพระประสงค์อันสำคัญที่ทรงมอบหมายให้มนุษย์กระทำและรับผิดชอบจากพระเจ้า?

เมื่อไม่นานมานี้   ผมต้องบินจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ กับสายการบินที่อ้างว่าบินได้นิ่มนวลดุจใยไหม   ซึ่งบินเหนือระดับน้ำทะเล 35,000 ฟุต   ผมหวังว่านักบินต้องคิดว่าภารกิจที่เขารับผิดชอบเป็นความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งยวด   เพราะนอกจากที่จะนำตนเอง ลูกเรือ  ผู้โดยสารและเครื่องบินไปถึงเป้าหมายปลายทางอย่างปลอดภัยและตามเวลาที่กำหนดแล้ว   ภารกิจความรับผิดชอบประการสำคัญอีกประการหนึ่งคือความสะดวกสบายและชีวิตของทุกคนในเครื่องบินลำนั้น   สำหรับคริสตชนแล้วนี่เป็นภารกิจความรับผิดชอบที่พระเจ้าทรงมอบหมายและทรงเรียกให้กระทำ   นี่เป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์

แล้วความรับผิดชอบของทีมงานและลูกเรือบนเครื่องบินล่ะ  เป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยหรือไม่?   แน่นอนครับ   พวกเขาต้องเอาใจใส่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร   พวกเขาเอื้ออำนวยให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย   รู้สึกดีมีความสุขในการเหินสู่ฟ้า  เคลื่อนตัวไปในอากาศ   และลงสู่ภาคพื้นดินด้วยความนิ่มนวลและปลอดภัย   

แล้วเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินในสนามบินล่ะเป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยหรือไม่?   ตั้งแต่ช่างเครื่อง  คนดูแลเรื่องตั๋วเครื่องบิน  เจ้าหน้าที่ดูแลกระเป๋าของผู้โดยสาร   เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร  งานและความรับผิดชอบของพวกเขาเป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยหรือ?   แน่นอนครับพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้ผู้โดยสารทุกคนได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง   แต่พระประสงค์ดังกล่าวทั้งหมดเกิดผลเป็นจริงได้ไม่มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคนที่รับผิดชอบในหน้าที่ต่างๆ  ในพื้นที่ต่างๆ ของงานว่า  เขาได้ทำอะไรบ้างในงานความรับผิดชอบของเขา   และเขาทำอย่างไรในความรับผิดชอบนั้น

เมื่อผมมีโอกาสมองดูไปรอบๆ ในเครื่องบิน  ผู้โดยสารที่ร่วมไปกับเครื่องบินลำเดียวกับผม   ผมถามในใจว่า   งานของผู้คนเหล่านี้คนใดบ้างที่เป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์”  เป็นงานที่พระเจ้าทรงเรียกและมอบหมายให้เขารับผิดชอบ   เป็นหน้าที่การงานที่เขาทำได้อย่างดี   เป็นการทรงเรียกของเบื้องบนผ่านการรับใช้คนอื่นในงานที่เขาทำ   บางคนดูท่าทางเป็นพระเป็นนักบวช   อย่างน้อยก็คนหนึ่งที่ผมรู้ว่าเขาเป็นศาสนาจารย์   อีกคนหนึ่งดูน่าจะเป็นอาจารย์   เพราะเห็นเขากำลังอ่านและเขียนเกี่ยวกับแผนการสอน   ผมเชื่อว่างานของเขาเป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์ครับ   โดยทั่วไปแล้วคริสตชนมักทึกทักเข้าใจเอาเองว่า   งานการเป็นศิษยาภิบาล  ศาสนาจารย์  หรือผู้รับใช้ในคริสตจักรเท่านั้นเป็นงานการทรงเรียก หรือ งานศักดิ์สิทธิ์ที่สูงสุด    แต่นั่นเป็นการเข้าใจผิดของเราในเรื่องการทรงเรียกของพระเจ้า

ผมเห็นผู้โดยสารอีกท่านหนึ่งกำลังดูที่จอเครื่องแล็บทอป   หน้าจอเต็มไปด้วยตารางตัวเลข   และภาพของพิมพ์เขียวมีเส้นมากมายยั้วเยี้ย   ผมเดาว่าเธอต้องเป็นวิศวกรแน่   แล้วงานที่เธอทำเป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นงานที่พระเจ้าทรงเรียกและมอบหมายให้เธอด้วยหรือไม่?   ผมเหลือบไปเห็นนักบริหารธุรกิจท่านหนึ่ง   ข้างๆ เขาน่าจะเป็นนักกฎหมายหรือทนายความ   อีกคนหนึ่งหน้าคลับคล้ายคลับคลานักดนตรีที่ผมเคยเห็นในทีวี   และข้างบนที่วางสัมภาระของเขามีกีตาร์ตัวใหญ่วางอยู่   ผู้คนเหล่านี้เขาได้รับการทรงเรียกและมอบหมายความรับผิดชอบจากพระเจ้าในงานที่เขาทำหรือไม่?   และเขามีอะไรจะต้องทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยหรือไม่?

คำถามเดียวกันนี้เราสามารถใช้ถามถึงแม่คนหนึ่งกับลูกน้อยสองคนที่นั่งอยู่แถวหน้า   และผู้อาวุโสสามีภรรยาสองคนที่กำลังเดินทางไปพักผ่อน   และนักศึกษาที่กำลังจะไปทันการเปิดภาคเรียนเทอมใหม่   คนกลุ่มนี้เขาต้องทำงานแต่เป็นงานที่ไม่ได้ค่าจ้างเงินเดือนแต่อย่างใด   แล้วงานที่เขาทำเขารับผิดชอบเป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยหรือไม่”?   แม้จะเป็นงานที่ไม่ได้ค่าจ้างเงินเดือน   แต่อาจจะเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่ง   เป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง   เป็นงานที่พระเจ้าทรงเรียกให้รับผิดชอบด้วย

แล้วอะไรล่ะที่ทำให้งานที่เราทำและรับผิดชอบนั้นศักดิ์สิทธิ์?   และอะไรที่บ่งชี้ว่านั่นเป็นงานที่พระเจ้าทรงเรียกและมอบหมายให้รับผิดชอบ?

สำหรับบางงานแล้วเราทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละห้าถึงหกวัน   แต่มันเป็นสิ่งที่แย่อย่างยิ่งที่เราต้องอดทนทำ เพื่อที่เราจะสามารถหารายได้ซื้ออาหารมาเลี้ยงตนเองและครอบครัว   ท่านเคยต้องทนทำงานด้วยความรู้สึกว่าตนเป็นทาสของงานที่ทำหรือไม่?   หรือท่านสามารถทำงานและมีเวลาพักผ่อนเพื่อจะกลับฟื้นกำลังใหม่ที่จะทำในสัปดาห์ต่อไปหรือไม่?   หรือ เรามักตะโกนกับตนเองในใจว่า  “ขอบพระคุณพระเจ้าที่วันนี้เป็นวันศุกร์”  หรือ  เราบอกกับตนเองว่าขอบพระคุณพระเจ้าที่วันนี้เป็นจันทร์”   พระเจ้าทรงเรียกและมอบหมายให้เราทำและรับผิดชอบในงานที่เราทำหรือไม่?

สำหรับคริสตชนแล้ว  คำว่าการทรงเรียกในพระคัมภีร์มาจากรากศัพท์ภาษาฮีบรูคำว่า vocare  พระคัมภีร์ใช้คำนี้ในความหมายว่าเราได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าให้มาดำเนินชีวิตในพระคริสต์   ให้มีความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าผ่านทางพระเยซูคริสต์   และยังหมายความว่าชีวิตของเราเป็นของพระคริสต์   และภารกิจการงานที่เรากระทำนั้นเป็นการสำแดงออกถึงความเชื่อศรัทธาของเราต่อพระเจ้า  เป็นการยกย่องสรรเสริญ และชื่นชมยินดีในพระองค์   ดังนั้นจึงเป็นงานการทรงเรียกที่สำคัญยิ่งจากพระเจ้า    งานที่เราทำในแต่ละวันไม่ว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบอะไร   ต่างเป็นงานความรับผิดชอบที่พระเจ้าทรงเรียก   เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จตามพระประสงค์ของพระเจ้า

งานที่เราทำมาจากพระเจ้า

งานเป็นพระดำริหรือความคิดของพระเจ้าที่พระองค์ทรงโปรดปรานและเห็นว่าดีตั้งแต่เริ่มแรกการสร้างโลก  และพระองค์ยังทรงสร้างอย่างต่อเนื่อง   ภายหลังจากเรื่องราวการทรงสร้างมนุษย์ชายหญิงในวันที่หก   ในพระธรรมปฐมกาลได้บันทึกถึงคำตรัสของพระเจ้าว่า   “...28จงมีลูกดกทวีมากขึ้นจนเต็มแผ่นดิน จงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน จงครอบครองฝูงปลาในทะเล และฝูงนกในท้องฟ้า กับสัตว์ที่เคลื่อนไหวบนแผ่นดินทั้งหมด... 15 พระยาห์เวห์พระเจ้าจึงทรงให้มนุษย์นั้นอาศัยอยู่ในสวนเอเดน ให้ทำและดูแลสวน” (ปฐมกาล 1:28; 2:15 มตฐ)

นี่เป็นภาพแรกที่เราได้พบว่า  มนุษย์ในพระคัมภีร์เป็นเกษตรกรและดูแลจัดการสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างด้วยความปีติชื่นชม  สนุก  มีเป้าหมาย และรับผิดชอบให้สรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

บนรากฐานความเชื่อของคริสตชน   เรามองว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ทำงาน   และเราผู้เป็นมนุษย์ที่ได้รับการทรงสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า   เราจึงมีศักยภาพในการทำงานฝังเร้นในชีวิตของแต่ละคน   มนุษย์ทุกคนจึงเป็นผู้ทำงานด้วย   มนุษย์คู่แรกร่วมในพระราชกิจแห่งการทรงสร้างและดูแลสวนของพระเจ้า   ยิ่งกว่านั้น มนุษย์ยังเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์อย่างพระเจ้าผู้ทรงสร้างสรรค์   มนุษย์จึงแสดงศักยภาพที่ได้จากพระเจ้าออกมาในความสามารถรูปแบบต่างๆ  ทั้งด้านศิลปะ  ในการก่อสร้าง   ในการประดิษฐ์คิดค้นนวตกรรมต่างๆ   มนุษย์เรามีหน้าที่ความรับผิดชอบหลักสองประการคือ   การร่วมงานการเสริมสร้างที่ต่อเนื่องจากพระเจ้า   และเอาใจใส่ดูแลสิ่งที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เรารับผิดชอบ

เป็นการยากยิ่งที่การงานของมนุษย์ที่จะบอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องจากการทรงสร้างของพระเจ้า  แท้จริงแล้วเราเป็นผู้ร่วมงานในพระราชกิจแห่งการสร้างสรรค์ของพระเจ้า   เราได้สำแดงออกถึงพระฉายาของพระเจ้าในกิจการงานที่เรากระทำ

การทำงานเป็นการนำสู่สุขภาวะของสังคม

เป้าหมายปลายทางของมนุษย์เรานั้นถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระเจ้า”  รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าและกระบวนการเสริมสร้างพัฒนาต่อเนื่อง  การดูแลรักษา  และการเสริมหนุนชีวิตของชุมชน    เราทำภารกิจการงานของเราเพื่อก่อเกิดผลดีสำหรับประชาสังคมที่เราอยู่อาศัยและงานที่ทำ   พระเจ้าทรงเรียกเราให้ทำการสร้างสรรค์   อะไรบ้างที่เป็นสิ่งสร้างสรรค์ในงานที่เรากำลังทำอยู่?   งานที่ท่านทำอยู่ได้ก่อเกิดประโยชน์ร่วมกันในสังคมชุมชนอะไรบ้าง?   งานที่พระเจ้าทรงเรียกและมอบหมายให้เรารับผิดชอบเป็นจุดบรรจบกันของความชื่นชมยินดีในงานที่เราทำกับความจำเป็นต้องการของผู้คนได้รับการตอบสนอง

ความเข้าใจตามพระคัมภีร์เกี่ยวกับการทำงานที่กระทำเพื่อชีวิตทั้งมวลนั้น   มิได้มีการแบ่งแยกว่านี่เป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์   นั่นเป็นงานของโลกีย์หรืองานฝ่ายโลกหรือเนื้อหนัง   การแบ่งแยกงานศักดิ์สิทธิ์ออกจากงานของโลกเป็นหลักคิดของพลาโต และ นักปรัชญากลุ่มทวินิยม    คำสอนในพระคัมภีร์มิได้สอนเช่นนี้เลย    ทุกๆ งานเป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะพระเจ้าทรงสร้างงานและมอบหมายให้เราร่วมงานต่อจากพระองค์เพื่อค้ำจุนและเสริมสร้างต่อเนื่องพระราชกิจแห่งการทรงสร้างนั้น   ตามพระประสงค์ของพระองค์

การทำงานเป็นวิธีการแรกๆ ที่เราใช้ยกย่องและนมัสการพระเจ้า

คำว่า avoda ในภาษาฮีบรูตามพระคัมภีร์มีความหมายหลักสองความหมายคือการนมัสการพระเจ้าและการทำงาน”   เปาโลได้ให้กำลังใจแก่ชุมชนผู้เชื่อในโคโลสีว่า  17และเมื่อท่านทั้งหลายทำสิ่งใด​...จงทำทุกสิ่งในพระนามของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า และขอบพระคุณพระเจ้าพระบิดา... 23ไม่ว่าพวกท่านจะทำสิ่งใด ก็จงทำด้วยความเต็มใจเหมือนทำถวายองค์พระผู้เป็นเจ้า...”  (โคโลสี 3:17; 23 มตฐ)   งานจึงเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์  เป็นการทำตามการทรงเรียกจากเบื้องบน   และเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วย

ครั้งเมื่อผมไปร่วมประชุมกับคริสตจักรในศรีลังกา   ได้มีโอกาสเข้าร่วมในการเฉลิมฉลองมหาสนิท   ได้มีการอธิบายถึงความหมายของขนมปังและเหล้าองุ่นที่ใช้ในพิธีนี้   ทั้งขนมปังและเหล้าองุ่นเป็นสิ่งที่ได้จากการทุ่มเทของความคิด  ความตั้งใจ  และแรงงานของคนเรา   ที่นำมาถวายอยู่บนโต๊ะมหาสนิทมีคุณค่าและความศักดิ์สิทธิ์ถึงขนาดที่ได้รับการยกย่องให้บ่งชี้ถึงเนื้อและโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า   เป็นการบ่งชี้ถึงคุณค่าของการทำงานและผลงานของมนุษย์เป็นความศักดิ์สิทธิ์ และ คุณค่าที่ได้รับการยกย่อง   และนี่เป็นการเชื่อมโยงทั้งสองความหมายของการทำงานและการนมัสการพระเจ้า

มีผู้เล่าเรื่องนี้ที่มีความหมายมากให้ผมฟังว่า

เมื่อเขาเดินผ่านพื้นที่ที่กำลังมีการก่อสร้างอาคารที่ใหญ่โต   เขาได้มีโอกาสเข้าไปสนทนาไต่ถามคนที่กำลังก่ออิฐอาคารนั้นสามคนว่า   เขากำลังทำอะไร?   คนก่ออิฐคนแรกบอกว่า  เขากำลังทำงานเพื่อที่จะได้ค่าจ้างเพื่อใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร  ที่พัก และความอยู่รอดในครอบครัว   ส่วนคนก่ออิฐคนที่สองตอบว่า   “ฉันกำลังก่ออิฐพวกนี้เข้าด้วยกันให้เป็นกำแพงของอาคาร”   ในขณะคนที่สามตอบว่า  “ฉันกำลังช่วยสร้างพระมหาวิหารเพื่อเป็นที่ยกย่องสรรเสริญและเป็นที่นมัสการพระเจ้า”   ทั้งสามคนทำงานอย่างเดียวกันในที่เดียวกันในเวลาเดียวกัน   แต่ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันจึงให้คุณค่ากับความหมายในการทำงานที่แตกต่างกันด้วย

แล้วท่านล่ะ  ท่านกำลังทำอะไรอยู่?    งานที่ท่านทำเป็นงานที่พระเจ้าทรงเรียกและมอบหมายให้รับผิดชอบหรือไม่?   หวังว่าจะเป็นเช่นนั้นนะครับ   ท่านคงทำงานนั้นจากพลังสร้างสรรค์ที่มีในชีวิตของท่าน   ทำด้วยความตั้งอกตั้งใจและใส่ใจ   เพื่อก่อเกิดผลสูงสุดตามพระประสงค์ของพระเจ้า    ให้เราทำงานในแต่ละวันด้วยการทุ่มเท  ด้วยคุณภาพ  และด้วยความปีติชื่นชม   และเมื่อนั้นเราสามารถที่จะกล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า

ขอบพระคุณพระเจ้าที่เป็นวันจันทร์  และวันศุกร์  และวันอาทิตย์

ขอบพระคุณพระเจ้าที่พระองค์ทรงไว้วางใจและยังใช้ข้าพระองค์ในพระราชกิจของพระองค์แต่ละวัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 มิถุนายน 2556

เคล็ดลับไร้กังวล: พอใจในความเป็นอยู่ของตน

อ่านฟีลิปปี 4:4-13

4จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าเสมอ   ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งว่า จงชื่นชมยินดีเถิด!

5ให้ความสุภาพอ่อนโยนของท่านประจักษ์แก่คนทั้งปวง   องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่ใกล้แล้ว

6อย่ากระวนกระวายในเรื่องใดๆ เลย   แต่จงทูลทุกสิ่งต่อพระเจ้าด้วยการอธิษฐาน และอ้อนวอน พร้อมด้วยการขอบพระคุณ

7แล้วสันติสุขของพระเจ้าซึ่งเกินความเข้าใจจะปกป้องความคิดจิตใจของท่านไว้ในพระคริสต์...

10ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้ายิ่งนัก...

11...เพราะข้าพเจ้าเรียนรู้ที่จะพอใจในสิ่งที่ตนมีไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร

12ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่ายามขาดแคลนเป็นอย่างไร   และรู้ว่ายามมีเหลือเฟือเป็นอย่างไร   ข้าพเจ้ารู้จักเคล็ดลับที่จะพอใจในสิ่งที่ตนมีในทุกสถานการณ์   ไม่ว่าจะอิ่มหนำหรือหิวโหย   มั่งมีหรือขัดสน

13ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้โดยพระองค์ผู้ประทานกำลังแก่ข้าพเจ้า... (ข้อ 4-7, 10-13  อมตธรรม)

ข้อเขียนข้างต้นของเปาโลที่เขียนถึงผู้อ่านให้ชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้า   ท่านเขียนขณะที่ตนกำลังถูกจำขังเป็นนักโทษ    และท่านบอกกับผู้อ่านว่า  ที่ท่านสามารถมีชีวิตอยู่ท่ามกลางเครื่องพันธนาการ   ถูกกล่าวหากล่าวร้าย  แต่กลับเป็นอิสระจากความวิตกกังวล...   ท่านบอกกับผู้อ่านเฉกเช่นเราว่า   เพราะท่านมีประสบการณ์ “พอใจในสิ่งที่ตนมีไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร” (ข้อ 11)   ท่าน “รู้จักเคล็ดลับที่จะพอใจในสิ่งที่ตนมีในทุกสถานการณ์...” (ข้อ 12)   และที่ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ   เมื่อท่านเขียนข้อความเหล่านี้ท่านไม่รู้ว่าชีวิตข้างหน้าของท่านจะเป็นเช่นไร!

น่าแปลกใจสำหรับคนในยุคนี้   ที่เรามักจะไม่พอใจแม้แต่เมื่อเรามีชีวิตอย่างดี   ที่เราไม่พอใจสถานการณ์แวดล้อม   เพราะเรารู้สึกว่า สถานภาพชีวิตของเรายังดีไม่พออย่างใจของเราคาดหวังใช่ไหม?   ถ้าเช่นนั้นไม่ต้องไปถามถึงว่า  เมื่อชีวิตของเราต้องตกอยู่ในสภาพที่เลวร้าย  ทุกข์ยากลำบาก   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่สามารถที่จะรู้ว่าผลที่จะเกิดขึ้นในที่สุดของเรื่องนั้นจะเป็นอย่างไร   เราก็จะยิ่งวิตกกังวล  เครียด  วุ่นวายใจ  ชีวิตอยู่ไม่เป็นสุข    แล้วเราจะพอใจในในสิ่งที่ตนมีอยู่เป็นอยู่ได้อย่างไร?

ถ้าอย่างนั้น  การพอใจในสิ่งที่ตนเป็นอยู่และมีอยู่ ที่แท้จริงแล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่?

เปาโลพูดถึงชีวิตที่หลุดรอดเป็นไทเป็นอิสระจากความกระวนกระวาย  วิตกกังวล  และความว้าวุ่นสับสนในทุกสิ่งทุกเรื่องในชีวิตของเรา...  ในที่นี้รวมถึงความปรารถนาของเราที่ไม่ประสบความสำเร็จด้วย!

ความจริงก็คือว่า   ในเมื่อสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากสาเหตุหลากหลายรอบด้าน   เราจึงไม่สามารถที่จะควบคุมกำกับ หรือ เปลี่ยนแปลงสถานการณ์เหล่านั้นที่เกิดแก่เรา   ดังนั้น เราจึงเกิดความ “ไม่พึงพอใจ” ต่อเหตุการณ์เหล่านั้น  

แต่ที่สำคัญคือ  เรากลับยอมให้ผลจากสถานการณ์เลวร้ายเหล่านั้นมาจู่โจม ทิ่มแทง  ทำร้ายชีวิตจิตใจและความรู้สึกของเรา   

เรายอมให้สถานการณ์เลวร้ายเหล่านั้นมาหลอกล่อทำลายความสุขภายในของเรา

เราเปิดชีวิตจิตใจของเราให้มันทะลวงเข้ามาทำร้ายทำลายสร้างความสับสนวุ่นวาย จนความสงบหายไปจากในชีวิตของเรา

ทั้งสิ้นนี้มันขึ้นอยู่กับตัวเราว่า  เราเลือกที่จะตอบสนองอย่างไรต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ชีวิตที่ทุกข์ยากเลวร้าย  ไม่ให้มันเข้ามากัดกินชีวิตของเรามากกว่า

นี่เป็นบทเรียนชีวิตที่เปาโลได้เรียนรู้   เปาโลต้องทนต่อสถานการณ์ที่ทุกข์ยากเลวร้าย   ต้องประสบกับเรืออับปาง  ประสบกับความหิวโหย   ถูกจับขังอย่างอยุติธรรม   และถูกเคี่ยนตีลงโทษโดยไร้ความผิด (2โครินธ์ 11:24-30)   เปาโลต้องประสบกับสถานการณ์ที่ล่อแหลมอันตรายมากมาย   ต้องได้รับความเจ็บปวด   ดูเหมือนชีวิตจะสิ้นหวัง  

แต่ในที่สุดท่านเรียนรู้ว่าความพึงพอใจในทุกสถานการณ์ชีวิตเหล่านั้นที่ท่านประสบมิได้ขึ้นกับสถานการณ์เหล่านั้น   แต่ความพึงพอใจในทุกสถานการณ์เกิดขึ้นจากการที่เปาโลมุ่งมองไปที่พระเจ้า  ไว้วางใจในแผนการและพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของท่าน    และชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา   และนี่คือจุดพลิกผันจากความวิตกกังวลกลับกลายเป็นความพอใจในสถานการณ์ชีวิตที่เป็นอยู่

ในทุกวันนี้ท่านทำอย่างไร เมื่อสถานการณ์รอบข้างอยู่เหนือการควบคุมกำกับของท่าน?

ท่านรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจหรือไม่?   หรือท่านหาทางที่จะหลบหลีกไปจากสถานการณ์นั้น?

ความสิ้นหวังทำให้ท่านยอมจำนนต่อเหตุการณ์เหล่านั้นหรือเปล่า?

แต่สำหรับเปาโลแล้วท่านเลือกที่จะไว้วางใจในพระเจ้าสำหรับเหตุการณ์ที่อยู่เหนือที่ท่านจะควบคุมได้   เพื่อรับเอาสันติสุขจากพระเจ้าที่เกินความเข้าใจเข้ามาปกป้องความคิด และ จิตใจของท่านไว้ในพระคริสต์

สันติสุขดังกล่าวจากพระคริสต์ก็พร้อมที่จะปกป้องความคิดและจิตใจของท่านในวันนี้ไว้ในพระคริสต์เช่นกันครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com

081-2894499

17 มิถุนายน 2556

พระวิหารที่มีชีวิต

อ่านเอเฟซัส 2:19-22

19ดังนั้นท่านจึงไม่ใช่คนต่างด้าวแปลกถิ่นอีกต่อไป   แต่เป็นพลเมืองเดียวกับประชากรของพระเจ้า   และเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้า   20ท่านได้รับการสร้างขึ้นบนรากฐานของเหล่าอัครทูตและผู้เผยพระวจนะ   โดยมีพระเยซูคริสต์เองเป็นศิลามุมเอก   21ในพระองค์ทุกส่วนของอาคารทั่วทั้งหมดต่อกันสนิทและประกอบกันขึ้นเป็นวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ในองค์พระผู้เป็นเจ้า   22และในพระองค์ท่านก็เช่นกันรับการทรงสร้างขึ้นด้วยกันให้เป็นที่พระเจ้าที่พระเจ้าสถิตอยู่โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ (อมตธรรม)

ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 สังคมโลกในแถบเมดิเตอเรเนียนมีความคิดความเชื่อว่า  เทพเจ้าที่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้จะสิงสถิตในวิหารที่มนุษย์สร้างขึ้น   และวิหารเหล่านั้นถูกแบ่งแยกออกชัดเจนให้เป็นบริเวณและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใช้เป็นที่ประกอบศาสนพิธีที่จะเป็นการติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้าเหล่านั้น   ดังนั้น ถ้าใครก็ตามที่ต้องการได้รับการรักษาจากเทพเจ้า   คนๆ นั้นต้องไปที่วิหารของเทพที่ทำการรักษาเยียวยาเช่นเทพเอสคลีปิอูส (Asclepius)   ถึงแม้คนยิวทุกคนมีความคิดความเชื่อและเข้าใจว่าพวกเขาจะไม่สามารถสร้างที่ประทับของพระเจ้าได้   แต่ยิวก็มีความเชื่อว่า  พวกเขาสร้างพระวิหารเพื่อที่เป็นสถาปนาพระนามของพระเจ้าไว้ที่นั่น (1พงศ์กษัตริย์ 8:12-29;  อิสยาห์ 66:1-2)   ตราบใดที่ยังมีพระมหาวิหารที่เยรูซาเล็ม   พวกยิวจะจาริกไปที่นั่นเพื่อถวายการสรรเสริญและถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า (เช่น สดุดี 42:4)

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ก็สอนเช่นกันว่า  พระเจ้าทรงสถิตในพระวิหาร   แต่ความหมายของพระวิหารที่ใช้นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง   ใน 1โครินธ์ 6:19  กล่าวถึงพระวิหารที่หมายถึงชีวิตของผู้ที่เชื่อแต่ละคนเป็นที่สถิตอยู่ของพระวิญญาณบริสุทธิ์   ก่อนหน้านี้ในพระธรรมเดียวกันนี้เปาโลกล่าวถึงว่า   พระเจ้าทรงสถิตในท่ามกลางชุมชนคริสตจักรหรือชุมนุมชนของผู้เชื่อ (1โครินธ์ 3:16)   ถ้าจะมีชาวโรมมาถามเปาโลว่า   และวิหารที่สถิตของพระเจ้าของท่านอยู่ที่ไหน?   เปาโลก็คงตอบว่า   ทุกคนที่ได้รับพระคุณของพระเจ้าโดยทางความเชื่อก็เป็นพระวิหารของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่   และทุกๆ ชุมชนแห่งความเชื่อศรัทธาก็เป็นที่สถิตของพระเจ้าด้วย

พระธรรมเอเฟซัส 2:21 เปาโลได้ใช้ภาพลักษณ์เรื่องพระวิหารที่สถิตของพระเจ้าที่กล่าวข้างต้นมาอธิบายเพิ่มเติมว่า  “ในพระองค์(พระคริสต์)ทุกส่วนของอาคารทั่วทั้งหมดต่อกันสนิทและประกอบกันขึ้นเป็นวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ในองค์พระผู้เป็นเจ้า”   ในที่นี้เปาโลหมายถึง  คริสตชนที่มารวมกันเป็นชุมนุมชนของผู้เชื่อศรัทธา  มิใช่คริสตชนแต่ละคน   และยังหมายถึงชุมชนผู้เชื่อเดียวกันทั้งสากลจักรวาลด้วย

เมื่อเราประยุกต์ความเชื่อความเข้าใจดังกล่าวใช้ในชีวิตประจำวันของเรา   เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมมากว่า  ในฐานะที่เราแต่ละคนเป็นคริสตชนที่ดำเนินชีวิตโลกนี้   ที่มีพระคริสต์และพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตในชีวิตของเรา   ผู้คนรอบข้างสามารถเห็นพระเยซูคริสต์ในชีวิตประจำวันของเราชัดเจนมากน้อยแค่ไหน?   ทั้งในชีวิตส่วนตัวในครอบครัว  และชีวิตที่เราสำแดงออกในสังคมชุมชนและในที่ทำงาน   และถ้ามีคนที่ต้องการพบพระเจ้าที่สถิตในโลกนี้   เขาจะคิดถึงการดำเนินชีวิตของเราคริสตชนหรือไม่?

ในเวลาเดียวกัน   ชีวิตคริสตจักรของท่านที่เป็นการรวมกันเป็นชุมชนของผู้เชื่อ   ซึ่งก็เป็นที่สถิตของพระเจ้าและพระวิญญาณบริสุทธิ์  ได้สำแดงพระคริสต์ให้...
  • ผู้คนทั้งหลายในชุมชนได้เห็นพระเยซูคริสต์จากชีวิตชุมชนคริสตจักรของเราหรือไม่ แค่ไหน?   และ
  • ผู้คนสามารถเห็นพระองค์ผ่านชีวิตด้านใดของชุมชนคริสตจักร?  
  • คนทั่วไปมองเห็นและรู้สึกต่อคริสตจักรของเราเช่นไรในทุกวันนี้?  
  • พวกเขาคิดและเห็นว่าคริสตจักรทั้งหลายในโลกนี้มีพระเจ้าสถิตอยู่จริงหรือไม่   ทำไม?  
  • เขาสามารถเห็นพระเจ้าในชีวิตคริสตจักรของเราได้อย่างไร?


แท้จริงแล้ว การสถิตอยู่ของพระคริสต์และพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตคริสตชนและชีวิตชุมชนคริสตจักรเป็นการประกาศถึงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ที่สำคัญและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง   คริสตชน/คริสตจักรไม่ต้องไปคิดทำ “อิเวนท์” หรือ “กิจกรรม” การประกาศเป็นพิเศษใดๆ เลย    เพราะถ้าสมาชิกคริสตจักรแต่ละคน และ ชีวิตชุมชนคริสตจักรสามารถสำแดงพระเยซคริสต์ผ่านการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน   วันละหลายๆ ชั่วโมง   และเป็นการประกาศอย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่ชีวิตของสมาชิกแต่ละคน  และอย่างต่อเนื่องยั่งยืนทุกวันเช่นนี้แล้ว    เราคงไม่ต้องมาประกาศประโคมอีกต่อไปว่า   คริสตจักรของเรามีการประกาศพระกิตติคุณเป็นเป้าหมาย   เพราะชีวิตของเราคริสตชนแต่ละคนได้สำแดงให้คนอื่นได้เห็น สัมผัส และนำเขาให้ยอมรับพระคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิต 

นั่นแหละเป็นการประกาศพระกิตติคุณที่สำคัญ  ยิ่งใหญ่  และมีประสิทธิภาพกว่าวิธีอื่นใดทั้งสิ้น

แต่น่าเสียดายที่คริสตจักรปัจจุบันกลับบิดเบือนและเบี่ยงเบนไปใช้วิธีการประกาศที่ด้อยประสิทธิภาพกว่าหรือไม่?

หรือเพราะการดำเนินชีวิตประจำวันของคริสตชนส่วนใหญ่ และ คริสตจักรส่วนมากเป็น “อุปสรรค”  “หินสะดุด” ที่ผู้คนรอบข้างจะเข้ามาถึงพระเยซูคริสต์ผ่านชีวิตของคริสตชนและคริสตจักรหรือไม่?

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ชีวิตของท่านที่มีพระคริสต์และพระวิญญาณของพระองค์สถิตอยู่ได้สร้างความแตกต่างในชีวิตครอบครัว  ชุมชน  หรือที่ทำงานของท่านอย่างไรบ้าง?

2. ท่านคิดว่า เมื่อเพื่อนร่วมงานมองเห็นพฤติกรรมที่แสดงออกในชีวิตประจำวันของท่าน  เขาจะเอ่ยปากพูดไหมว่าพระเจ้าสถิตในชีวิตของท่าน?

3. ชุมชนคริสตจักรของท่านได้สำแดงถึงการสถิตอยู่ของพระคริสต์ต่อสังคมชุมชนรอบข้างหรือไม่  อย่างไร?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเจ้าองค์บริสุทธิ์  ข้าพระองค์ได้รับเกียรติและพระเมตตาอย่างยิ่งจากพระองค์ที่ให้ชีวิตของข้าพระองค์เป็นที่สถิตอยู่ของพระองค์โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์   ขอบพระคุณที่พระองค์สถิตอยู่ในชุมชนคริสตจักรของข้าพระองค์ด้วยเช่นกัน   ขอบพระคุณที่ทรงไว้วางใจมอบหมายให้ชุมชนคริสตจักรได้สำแดงถึงการสถิตอยู่ของพระองค์สำหรับประชากรโลก

โอองค์พระผู้เป็นเจ้า   เป็นการได้รับเกียรติอย่างยิ่งที่ให้ชีวิตข้าพระองค์เป็นพระวิหารของพระองค์   แต่นั่นเป็นความรับผิดชอบที่สูงส่ง   โปรดช่วยข้าพระองค์ที่จะดำเนินชีวิตในแต่ละวันที่สำแดงให้ผู้คนรอบข้างได้เห็นและสัมผัสกับพระองค์ผ่านชีวิตของข้าพระองค์   และโปรดช่วยให้ชุมชนคริสตจักรของพระองค์ในโลกนี้เป็นที่ที่ผู้คนสามารถเข้ามาสัมผัสความรัก และ มีความหวังที่จะได้พบพิงในพระองค์

ในวันนี้   ขออธิษฐานเผื่อสากลคริสตจักรทั่วโลก   โปรดให้คำพูดและการกระทำของคริสตจักรที่จะยืนหยัดมั่นคงในการเป็นพยานชีวิตที่สัตย์ซื่อของพระองค์   เพื่อพระองค์จะได้รับการยกย่องสรรเสริญ   และเพื่อคนทั้งหลายจะเข้ามาหาพระองค์ผ่านการดำเนินชีวิตของข้าพระองค์และชุมชนคริสตจักร   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 มิถุนายน 2556

เมื่อชีวิตจิตวิญญาณของผู้นำคริสตชนหมดไฟ

เราจะหนุนเสริมเพิ่มพลังผู้นำคริสตชนที่จิตวิญญาณเฉื่อยชาหมดแรงได้อย่างไร?

ช่วงนี้ผมได้พบเพื่อนศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสเตียน เฉื่อยชาหมดแรงในชีวิตรับใช้หลายคน   ทำให้ผมคิดไปถึงเวลารถยนต์ของผมสตาร์ทไม่ติดเพราะแบตเตอรี่มีไฟไม่พอ  เนื่องจากผมจอดทิ้งไว้ไม่ได้ใช้เพราะเดินทางไปต่างจังหวัดนานถึง 10 วัน  

ผมมีทางเลือกคือยกแบตเตอรี่ไปร้านชาร์ตแบตฯ  หรือไม่ก็ซื้อแบตฯตัวใหม่มาใส่รถยนต์   แต่ผมไม่อยากเลือกทั้งสองทางเพราะไม่อยากเดินทางไปในเมืองเพื่อไปชาร์ตแบตฯหรือซื้อแบตฯใหม่   เหลือบไปเห็นรถยนต์ข้างบ้าน   เลยไปขอความกรุณาเขาช่วยขับรถมาข้างหน้ารถยนต์ผม   แล้ว “จั้มพ์” พ่วงสายไฟจากแบตฯของรถยนต์ของเพื่อนบ้านมาที่แบตฯรถของผม   เมื่อเครื่องยนต์ของเพื่อนบ้านติดแล้วผมก็สตาร์ทรถของผม   รถของผมเครื่องติดอีกครั้งหนึ่งครับ   ผมจัดการชาร์ตไฟต่อ  และเอารถออกวิ่งไปสักพักหนึ่ง

จากประสบการณ์ดังกล่าว  ผมถามตนเองว่า  เมื่อเราพบศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตชนที่แบตเตอรี่ไม่มีไฟแรงพอที่จะสตาร์ทชีวิตจิตวิญญาณของเขาในการรับใช้ได้ต่อไป   เราจะช่วย “จั้มพ์” สายจากแบตเตอรี่ชีวิตผู้รับใช้คนหนึ่งไปยังศิษยาภิบาล หรือ ผู้นำคริสตชนคนนั้นได้ไหม?

โดยปกติแล้ว  เราท่านในปัจจุบันมักติดกระแสคิดแบบสังคมโลกปัจจุบันว่า  การที่เราจะมีชีวิตที่สำเร็จเกิดผลนั้นเพราะเรามุ่งมั่นตั้งใจทุ่มเทชีวิตของเราในการทำงานในการรับใช้   ด้วยเหตุนี้ชีวิตของศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตชนจึงเป็นชีวิตที่มีแต่คำว่า “ยุ่ง ยุ่ง ยุ่ง...ไม่ว่าง  ไม่ว่าง  ไม่ว่าง”   และบ่อยครั้งผู้นำคริสตชนเหล่านี้กลับสำคัญไปว่า   ชีวิตที่ยุ่งๆ ไม่ว่างเช่นนี้แสดงถึงประสิทธิภาพและรู้สึกมีคุณค่าในการขับเคลื่อนชีวิตการงานเสียอีก  

แต่สิ่งที่ต้องตระหนักชัดคือ   ถ้าแบตเตอรี่ชีวิตของใครก็ตามที่ติดเครื่อง  ใช้ไฟไปเท่านั้น  แต่ไม่ชาร์ตไฟไปพร้อมกัน   มีหวังไฟอ่อนจนหมดไฟชีวิตจิตวิญญาณก็ได้

พระเยซูคริสต์ได้สอนด้วยคำเปรียบเทียบว่า   ในฐานะคริสตชน  ชีวิตของเราต้องชาร์ตไฟแบตเตอรี่ชีวิตจิตวิญญาณของเราเสมอ   และจะต้องมีมุมมองคุณค่าชีวิตหรือมองชีวิตที่เกิดผลว่า   มันมิได้เกิดขึ้นหรือสำเร็จด้วยตนเอง    แต่การที่เราคริสตชนจะมีชีวิตที่สำเร็จเกิดผลนั้น   เพราะเราได้รับพลังด้านต่างๆ ในชีวิตจากแหล่งกำเนิดแห่งพลังชีวิตจิตวิญญาณใหญ่

พระเยซูคริสต์ตรัสสอนว่า 

1เรา​เป็น​เถา​องุ่น​แท้ และ​พระ​บิดา​ของ​เรา​ทรง​เป็น​ผู้​ดูแล​รักษา  2แขนง​ทุก​แขนง​ใน​เรา​ที่​ไม่​ออก​ผล พระ​องค์​ก็​ทรง​ตัด​ทิ้ง​เสีย และ​แขนง​ทุก​แขนง​ที่​ออก​ผล พระ​องค์​ก็​ทรง​ลิด​เพื่อ​ให้​ออก​ผล​มาก​ขึ้น...   3พวก​ท่าน​ได้​รับ​การ​ชำระ​ให้​สะอาด​แล้ว​ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​เรา​กล่าว​กับ​ท่าน    4จง​ติด​สนิท​อยู่​กับ​เรา​และ​เรา​ติด​สนิท​อยู่​กับ​พวก​ท่าน แขนง​จะ​ออก​ผล​เอง​ไม่​ได้​นอก​จาก​จะ​ติด​สนิท​อยู่​กับ​เถา พวก​ท่าน​ก็​เช่น​เดียว​กัน​จะ​เกิด​ผล​ไม่​ได้​นอก​จาก​จะ​ติด​สนิท​อยู่​กับ​เรา    5เรา​เป็น​เถา​องุ่น พวก​ท่าน​เป็น​แขนง คน​ที่​ติด​สนิท​อยู่​กับ​เรา​และ​เรา​ติด​สนิท​อยู่​กับ​เขา คน​นั้น​จะ​เกิด​ผล​มาก เพราะ​ว่า​ถ้า​แยก​จาก​เรา​แล้ว​พวก​ท่าน​จะ​ทำ​สิ่ง​ใด​ไม่​ได้​เลย...”  (ยอห์น 15:1-5 มตฐ.)

เวลาใดก็ตามเราใช้แต่ไฟแบตเตอรี่ชีวิตของเราเอง  โอกาสที่ไฟอ่อนไฟหมดเกิดขึ้นได้เสมอครับ  แต่ถ้าชีวิตของเราติดสนิทกับพระเจ้า  เหมือนกิ่งติดสนิทกับต้นเช่นไร   โอกาสที่แบตเตอรี่ชีวิตจะได้รับการชาร์ตไฟเสมอจากพระเจ้าย่อมทำให้เรามีไฟชีวิตจิตวิญญาณที่จะทำให้เครื่องรถติดและขับเคลื่อนได้

ศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตชนที่มีแบตเตอรี่ชีวิตจิตวิญญาณที่ติดสนิทกับพระเจ้าก็จะได้รับการชาร์ตไฟเสมอจากพระองค์   และเมื่อพบศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตชนที่แบตเตอรี่ไฟอ่อนหรือหมดไฟ   เราสามารถหนุนเสริมเพิ่มพลังด้วยการ “จัมพ์” สายจากแบตเตอรี่ชีวิตจิตวิญญาณของเราไปยังแบตเตอรี่ของเขา  เพื่อช่วยให้เขาสตาร์ทเครื่องชีวิตจิตวิญญาณของการเป็นผู้นำและศิษยาภิบาลได้อีกครั้งหนึ่ง

เราสามารถที่จะอยู่เคียงข้างศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตชนคนนั้น   และร่วมกับเขาในการที่จะเข้าติดสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยกันจนกระทั่งชีวิตจิตวิญญาณของเขาสามารถขับเคลื่อนการรับใช้ตามพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า  และด้วยพลังจากองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ส่งเข้าในชีวิตของเขาเมื่อเขาติดสนิทกับพระองค์

วันนี้เมื่อท่านขับเคลื่อนชีวิตจิตวิญญาณ   ท่านใช้แต่ไฟที่เหลืออยู่  หรือท่านได้รับการชาร์ตเติมเต็มไฟชีวิตจิตวิญญาณจากเบื้องบน?   และอย่าลืมนำสาย “จั้มพ์” แบตเตอรี่ติดชีวิตของท่านไปด้วย   เพื่อว่าเมื่อท่านพบเพื่อนบ้านที่แบตเตอรี่หมดไฟ   ท่านจะได้ช่วย “จั้มพ์” ไฟจากรถของท่านเพื่อสตาร์ทการขับเคลื่อนรับใช้ของเพื่อนบ้านต่อไป

นี่เป็นงานแห่งการทรงเรียกจากเบื้องบนสำหรับท่านด้วยเช่นกันในวันนี้ครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com

081-2894499