31 มกราคม 2561

ผู้นำที่มั่นคงมั่นใจ

ความรู้สึกที่มั่นคงมั่นใจเป็นรากฐานของภาวะผู้นำที่เข้มแข็งกล้าหาญ

เวลาใดที่เราเกิดความรู้สึกว่า ชีวิตไม่มั่นคง เราก็จะไม่มั่นใจในพันธกิจที่เรารับใช้   และเมื่อใดที่เกิดความยากลำบากขึ้นในพันธกิจการงานที่เราทำและรับผิดชอบ เช่น  คนที่เราทำงานด้วยเริ่มไม่ชอบเรา  ต่อต้าน ว่าร้ายเรา  เมื่อแหล่งทุนที่สนับสนุนงานที่เราทำกำลังลดน้อยถอยลง หรือ กำลังจะถอนตัว   หรือ เมื่อคุณธรรมจริยธรรมในองค์กรเกิดการไถลไหลลื่นลง   เมื่อคนอื่นปฏิเสธเรา   เราก็จะเกิดความรู้สึกที่ไม่มั่นคง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในภาวะผู้นำของตน

การที่เราเกิดความรู้สึกที่ไม่มั่นคงและมั่นใจเช่นนี้   สิ่งที่จะแทรกซึมและถาโถมบ่อนทำลายจิตใจของเราคือ “ความกลัว”   และความกลัวนี้เองที่กลายเป็นตัวถล่มทำลายภาวะผู้นำของเรา

ให้เราพิจารณาเรียนรู้จากเรื่องในพระธรรม 2 ซามูลเอล 12:“ทำไม​เจ้า​ดู​หมิ่น​พระ​วจนะ​ของ​พระ​ยาห์​เวห์? ทำ​สิ่ง​ที่​ชั่ว​ใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระ​องค์ เจ้า​ประหาร​อุรี​ยาห์​คน​ฮิต​ไทต์​ด้วย​ดาบ เอา​ภรรยา​ของ​เขา​มา​เป็น​ภรรยา​ของ​เจ้า และ​ฆ่า​เขา​เสีย​ด้วย​ดาบ​ของ​คน​อัม​โมน” (มตฐ.)

ลองจินตนาการดูว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้า ผู้เผยพระวจนะนาธันเกิดความไม่มั่นคงและมั่นใจที่จะเผชิญหน้ากับกษัตริย์ดาวิดในสิ่งที่กษัตริย์ได้กระทำผิด   ซึ่งน่าจะเป็นเช่นนั้น   เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ดาวิดได้วางแผนไว้อย่างรอบคอบ แนบเนียน   ยิ่งกว่านั้น เวลานั้นดาวิดกำลังเป็นวีรบุรุษของคนอิสราเอลทั้งประเทศ   ทุกคนรู้ว่าดาวิดคือผู้นำความมั่นคง มั่งคั่ง  และความยั่งยืนมาสู่ประเทศชาติ   และแน่นอนถ้าประชาชนต้องเลือกว่าจะสนับสนุนใครระหว่างดาวิด กับ นาธัน  ประชาชนอิสราเอลจะเลือกข้างกษัตริย์ดาวิดอย่างแน่นอน

ประการสุดท้าย   ถ้ามองในเชิงแผนการ  ดาวิดได้วางแผนแบบที่แยบยล   ให้ทหารคนเผ่าอาโมนเป็นคนฆ่าอุรียาห์   อาวุธที่ฆ่าอุรียาห์ไม่ใช่อาวุธของดาวิด   แน่นอนครับ นาธันต้องรู้สึกความไม่มั่นคง และมีความหวั่นไหวอย่างเต็มที่ที่จะเข้าไปเผชิญหน้ากับกษัตริย์ดาวิด   แน่นอน นาธัน คิดค่าราคาถึงสิ่งที่ดาวิดอาจจะโต้ย้อนกลับมานั้นจะรุนแรงแค่ไหน

แต่คำถามคือ  อะไรล่ะครับที่ทำให้นาธันมีความมั่นคงและมั่นใจที่เข้าไปเผชิญหน้ากับดาวิดในวัง?   ผู้นำคริสตชนปัจจุบันจะมีความมั่นคงและมั่นใจในภาวะผู้นำอย่างนาธันได้อย่างไรครับ?

ที่ผู้เผยพระวจนะนาธันทำเช่นนี้ได้   เพราะเขาไม่ใช่คนอีกขั้วที่ต่างจากดาวิด   มิใช่เพราะเขาเป็นคนหนึ่งในขั้วของดาวิด  แต่เขามั่นใจเช่นนี้ได้เพราะเขารู้ว่า เขาเป็นคนรับใช้พระเจ้า   และที่เขาทำทำในนามของพระเจ้า

ท่านคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ครับ?    และภาวะผู้นำแบบนาธันจะมีในผู้นำสภาคริสตจักรได้ไหมครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

29 มกราคม 2561

อาชีพการงานของเรากับชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า

ชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า ที่พระคริสต์นำมาสถาปนาบนแผ่นดินโลกนี้เกี่ยวข้องกับอาชีพการงานของสาวกพระคริสต์แต่ละคนด้วยหรือ?  ถ้าเกี่ยวข้องมันเกี่ยวข้องอย่างไร?   ถ้ามองดูคริสตจักรส่วนใหญ่ในปัจจุบัน  คริสตจักรใช้เวลาส่วนใหญ่ของตนในการสอน และ บ่มเพาะฟูมฟัก เรื่องการดำเนินชีวิตด้านจิตวิญญาณท่ามกลางชุมชนสังคมส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เป็นคริสต์มากกว่า?

น่าสนใจว่า  หลังจากที่สมาชิกคริสตจักรใช้เวลานมัสการพระเจ้าร่วมกันในวันอาทิตย์ไม่กี่ชั่วโมง   สมาชิกเกือบทุกคนต้องใช้เวลาทำอาชีพการงานของตนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 40-50 ชั่วโมง หลายต่อหลายคนใช้เวลามากกว่านี้  หลายคนต้องทำการงานที่ไม่มีค่าจ้าง เช่น  การเลี้ยงลูก  ทำความสะอาดบ้าน  บางคนยังต้องทำงานในสวน  บางคนออกกำลังกาย บางคนใช้เวลาในการบริการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในชุมชน   บางคนทำงานรับใช้คริสตจักรในเวลาพิเศษ อีกทั้งยังต้องใช้เวลาประมาณ 50 ชั่วโมงในครอบครัว และ ฯลฯ

การทำงานด้านต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นได้ดูดเอาเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเรา แต่ทำไมคริสตจักรท้องถิ่นกลับไม่ได้ให้ความสำคัญในการสอนและบ่มเพาะชีวิตในการทำงานของสมาชิกให้เป็นชีวิตที่เป็น “สาวกพระคริสต์ในที่ทำงาน” หรือ “ในงานที่ทำ”  และนี่เป็นหัวข้อที่สำคัญมากหัวข้อหนึ่งที่คริสตจักรจะต้องใส่ใจการสอน เสริมสร้างสมาชิกของตนให้เป็นสาวกพระคริสต์ในที่ทำงานของตน และ ในงานที่ตนทำ

การสร้างสาวกพระคริสต์แบบองค์รวม หรือ รอบด้าน หรือ การเป็นสาวกทั้งชีวิต  แท้จริงการเป็นสาวกพระคริสต์เป็นเรื่องของชีวิตทั้งชีวิต ทั้งชีวิตด้านจิตวิญญาณ ชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัว ด้านเพศ ด้านเงินทอง ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและสังคม เรื่องความสัมพันธ์และชุมชน ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา  และ อื่น ๆ อีกในทุกด้านของชีวิตที่กล่าวนี้ เราจะต้องฝึกฝนที่จะดำเนินชีวิตตามคำสอนและตามแบบอย่างชีวิตของพระคริสต์ในทุกมิติ หรือ ทุกบริบทของชีวิต เป้าหมายคือ การเสริมสร้างให้สาวกพระคริสต์แต่ละคนมีชีวิตประจำวันที่ดำเนินชีวิตตามคำสอน และ แบบอย่างชีวิตของพระคริสต์  และร่วมสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์  ที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า

เราเห็นแล้วว่า ในชีวิตพระเยซูคริสต์  พระองค์เป็นคนทำงาน  “พระคริสต์เป็นคนงาน”  ที่ทำงานอย่างดีในอาชีพการงานที่พระองค์ทำและรับผิดชอบ แต่ในความเป็นจริงพระองค์เป็นคนงานที่ทำงานอย่างใส่ใจและทำให้ทั้งตนเองและคนที่พระองค์เกี่ยวข้องด้วยมีคุณภาพชีวิตแบบแผ่นดินของพระเจ้า พระองค์เป็นทั้งช่างฝีมือและพ่อค้า   อย่าลืมว่าก่อนที่มหาชนทั่วไปจะรู้และยอมรับว่าพระองค์เป็น “รับบี” หรือ “ครูสอนศาสนา”  พระองค์เป็น “คนใช้แรงงาน”  พระองค์ทำงานในชุมชน พระองค์อาศัยอยู่เช่นนี้อย่างน้อยเกือบ 30 ปี  พระองค์ทำงานประกอบอาชีพสัปดาห์ละ 6 วัน และพักผ่อนในวันสะบาโต เพื่อนมัสการพระเจ้า แล้วเริ่มต้นอีกวันหนึ่งในการทำงานเช่นเดิม

ถ้าพระคริสต์มาเกิดเป็นมนุษย์ในปัจจุบันนี้ พระองค์อาจจะมีอาชีพเป็นนักวิจัย  เป็นคนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์  เป็นครูสอนในโรงเรียน เป็นนักจิตวิทยา เป็นพยาบาล หรือไม่ก็เป็นหมอในโรงพยาบาล  พระองค์อาจจะเป็นช่างซ่อมรถยนต์  หรือพระองค์อาจจะเป็นคนขายของที่ห้าง  หรือไม่ก็อาจจะเป็นนักข่าว  พระองค์อาจจะเป็นชาวนา  เป็นคนจับปลา   หรืออาจจะเป็นแรงงานข้ามชาติ  พระองค์อาจจะเป็นศิษยาภิบาล  อาจจะเป็นข้าราชการ หรือ อาจจะทำอาชีพต่าง ๆ อย่างที่เราท่านทำกันในทุกวันนี้   พระองค์อาจจะมีบ้าน หรือ ไม่ก็ห้องเช่าในอพาร์ทเมนท์  หรือ ไม่ก็ในบ้านเช่าโกโรโกโส  หรือไม่ก็กระต๊อบปลายนา แย่หน่อยอาจจะเพิงใต้สะพานลอย  พระองค์คงต้องทำงานตามอาชีพของพระองค์  พระองค์อาจจะได้รับการศึกษา และ ได้รับการฝึกทักษะในงานนั้น ๆ    แล้วแต่งานที่ทำไม่ว่าอะไร  ที่ไหน  ใช้เวลาเท่าใดในแต่ละวัน  พระองค์ก็คงทำอาชีพหนึ่งอาชีพใดเป็นแน่ 

คำถามหลักในเรื่องนี้สำหรับคนที่เป็นสาวกพระคริสต์คือ ถ้าพระเยซูคริสต์มาเกิดในหมู่บ้านของฉันอย่างกับฉันในปัจจุบันนี้  ทำงานอย่างฉัน  มีรายได้อย่างฉัน มีความสัมพันธ์กับผู้คนอย่างที่ฉันมี ลักษณะท่าทีแสดงออกอย่างที่ฉันต้องมีและแสดงออก  พระคริสต์จะมีชีวิตแบบไหน? และนี่คือคำถาม ซึ่งเป็นคำถามที่เราไม่ค่อยถามตนเอง และ ถามกันในชีวิตประจำวันของเรา หรือไม่ก็ ถามกันไม่จริงจังลงลึกพอเพื่อที่จะได้คำตอบที่แท้จริง

แท้จริงแล้ว ถ้าสาวกพระคริสต์แต่ละคนจะจริงจังในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าในอาชีพการงาน ชีวิตในครอบครัว   ชีวิตในชุมชน และชีวิตในคริสตจักรแล้ว เราจะต้องใส่ใจทั้งงานที่ทำ และ คนรอบข้างที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์   ด้วยชีวิตที่เป็น “คนต้นเรือน” ที่เอาใจใส่รับผิดชอบสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างและที่ทรงมอบหมายให้เราแต่ละคนดูแลเอาใจใส่   และยิ่งกว่านั้น  เราจะต้องทำตามพระประสงค์ของพระองค์คือการที่เราจะทำงานชีวิตเหล่านี้ “ให้เกิดผลดกทวีมากขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน”

ในชีวิตของพระคริสต์   พระองค์กระทำทุกอย่างในชีวิตให้เกิดคุณภาพชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า  แบบเรียกว่า 24/7 คือดำเนินชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้าวันละ 24 ชั่วโมง  สัปดาห์ละ 7 วัน เลยทีเดียว  

แล้วเราคิดอย่างไรในเรื่องนี้ครับ?   คริสตจักรของเราสนใจเรื่องนี้หรือเปล่าครับ?

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คริสตจักรจะใส่ใจ สอน และ เสริมสร้างสมาชิกแต่ละคนให้เป็นสาวกพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน และ ในที่ทำงาน หรือ ในงานที่ทำทุกวัน?

แล้วท่านมีความคิดเห็น  ข้อแนะนำ อย่างไรบ้างครับ?   ขอแบ่งปันเรียนรู้ร่วมกันด้วยครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499

24 มกราคม 2561

สาวกพระคริสต์แท้ในชีวิตประจำวัน

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราเป็นสาวกพระคริสต์จริงหรือไม่?  แค่ไหน?   แท้จริงแล้ว มีสิ่งที่บ่งชัดถึงชีวิตที่เป็นสาวกของพระคริสต์ในชีวิตประจำวันของเรา

10... เรา​มา​เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ได้​ชีวิต​และ​จะ​ได้​อย่าง​ครบ​บริบูรณ์   11... ผู้​เลี้ยง​ที่​ดี​ย่อม​สละ (ให้) ​ชีวิต​ของ​ตน​เพื่อ​ฝูง​แกะ  14เรา​เป็น​ผู้​เลี้ยง​ที่​ดี เรา​รู้​จัก​แกะ​ของ​เรา​และ​แกะ​ของ​เรา​ก็​รู้​จัก​เรา     15เหมือน​อย่าง​ที่​พระ​บิดา​ทรง​รู้​จัก​เรา​และ​เรา​รู้​จัก​พระ​บิดา และ​เรา​สละ (ให้) ​ชีวิต​เพื่อ​ฝูง​แกะ   (ยอห์น 10)

จะเอาระบบคุณค่าที่ตนเองชอบ หรือ ระบบคุณค่าตามแบบพระคริสต์ประสงค์

พระเยซูคริสต์บอกกับสาวกของพระองค์ว่า  “ถ้า​ใคร​ต้อง​การ​จะ​ติด​ตาม​เรา ให้​คน​นั้น​ปฏิเสธตน​เอง รับ​กาง​เขน​ของ​ตน​แบก​และ​ตาม​เรา​มา” (มัทธิว 16:24 มตฐ.)  เพราะ​ว่า​ใคร​ต้อง​การ​จะ​เอา​ชีวิต​รอด คน​นั้น​จะ​เสีย​ชีวิต แต่​ใคร​ยอม​เสีย​(ให้)ชีวิต​เพราะ​เห็น​แก่​เรา คน​นั้น​จะ​ได้​ชีวิต​รอด (มัทธิว 16:25)  และกล่าวอีกว่า  “ศิษย์​ย่อม​ไม่​ใหญ่​ไป​กว่า​ครู แต่​ศิษย์​ทุก​คน​ที่​ได้​รับ​การ​ฝึก​สอน​อย่าง​สมบูรณ์​แล้ว ก็​จะ​เป็น​เหมือน​อย่าง​ครู (ลูกา 6:40)  และสาวกคนใดที่จะมีชีวิตตามอย่างของพระคริสต์  สาวกคนนั้นจะมีชีวิตที่ทนทุกข์เพื่อผู้อื่นเหมือนพระคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อมวลมนุษยชาติ   ในรูปแบบต่าง ๆ ตามสถานการณ์และบริบทชีวิตของแต่ละคนในเวลานั้น ๆ  

26“ถ้า​ใคร​มา​หา​เรา​และ​ไม่​ชัง​บิดา​มารดา บุตร​ภรรยา และ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง แม้​แต่​ชีวิต​ของ​ตน​เอง คน​นั้น​จะ​เป็น​สา​วก​ของ​เรา​ไม่​ได้...” (ลูกา 14:26 มตฐ.)

27“...และ​ใคร​ก็​ตาม​ที่​ไม่​ได้​แบก​กาง​เขน​ของ​ตน​ตาม​เรา​มา คน​นั้น​จะ​เป็น​สา​วก​ของ​เรา​ไม่​ได้...” (ลูกา 14:27 มตฐ.

13 “จง​เข้า​ไป​ทาง​ประตู​แคบ เพราะ​ว่า​ประตู​ใหญ่ และ​ทาง​กว้าง​นั้น​นำ​ไปถึง​ความ​พินาศ และ​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​เข้า​ไป​ทาง​นั้น​มี​มาก 14 เพราะ​ประตู​ที่​แคบ​และ​ทาง​ที่​ลำ​บาก​นั้น​นำ​ไป​สู่​ชีวิต และ​พวก​ที่​หา​พบ​ก็​มี​น้อย (มัทธิว 7:13-14 มตฐ.)

 33“เช่น​นั้น​แหละ ทุก​คน​ใน​พวก​ท่าน​ที่​ไม่​ได้​สละ​สิ่ง​สาร​พัด​ที่​มี​อยู่​จะ​เป็น​สา​วก​ของ​เรา​ไม่​ได้”   (ลูกา 14:33 มตฐ.)    

การเป็นสาวกพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน ดูกันที่ว่า คริสตชนคนนั้นมีระบบคุณค่าในชีวิตประจำวันอย่างไร   เราพิจารณาได้ว่า คริสตชนคนนั้น ๆ ให้คุณค่าในการมีชีวิตที่ติดตามพระคริสต์เหนือกว่าสิ่งอื่นใดหรือไม่?   เขาให้คุณค่าในการติดตามพระคริสต์เหนือความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว  เหนือความต้องการอยากได้ใคร่มีของตนเอง (หรือ ภาษาในพระคัมภีร์ใช้คำว่า “ปฏิเสธตนเอง”) หรือไม่? เราตัดสินใจเลือกที่จะเดินบนเส้นทางที่พระคริสต์ดำเนินไป  หรือ เราเลือกที่จะเดินไปบนเส้นทางตามกระแสนิยม  กระแสสังคม  หรือบนเส้นทาง “ประชานิยม” และได้พัฒนาเป็น “ไทยนิยม” ในปัจจุบันนี้ ที่นักการเมืองวางกับดักไว้   พฤติกรรมการตัดสินใจเลือกเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานบ่งชี้ชัดว่า  เรามีระบบคุณค่าที่พระคริสต์ประสงค์ให้มีในตัวสาวกของพระองค์หรือไม่?   และสิ่งนี้เป็นอีกด้านหนึ่งที่ช่วยบ่งชี้ชัดว่าเราเป็นสาวกของพระคริสต์ในชีวิตประจำวันหรือไม่? 

การเสริมหนุนชุมชนสาวกพระคริสต์ ให้ติดตามพระองค์

นอกจากที่สาวกพระคริสต์มีชีวิตในที่ไหน  เขาจะสำแดงชีวิตพระคริสต์ในที่นั้น ๆ เพื่อคนรอบข้างจะได้สัมผัสกับความรักเมตตาที่ไร้เงื่อนไขของพระองค์   แล้วตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการ “การให้ชีวิตแบบพระคริสต์”  เพื่อร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกตามระบบคุณค่า และ มีเป้าหมายในการนำคุณภาพชีวิตแบบแผ่นดินสวรรค์ให้มาเป็นคุณภาพชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกนี้ที่พระคริสต์นำมาสถาปนา  ด้วยการที่แต่ละคนตัดสินใจที่จะ “ติดตามพระคริสต์”  และให้ชีวิตของตนเยี่ยงพระคริสต์แก่ผู้คนรอบข้าง

ดังนั้น   การเสริมสร้างบ่มเพาะชีวิตสาวกพระคริสต์เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง   แต่คริสตชนต้องไม่ลืมหรือละทิ้งในการเสริมสร้าง “ชุมชนแห่งแผ่นดินของพระเจ้า” ในทุก ๆ ที่ที่มีสาวกของพระคริสต์  ชุมชนแห่งแผ่นดินของพระเจ้าจะเป็นชุมชนที่ช่วยบ่มเพาะ หนุนเสริม ให้แต่ละคนในชุมชนเติบโต เข้มแข็งขึ้นในการเป็นสาวกพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน   ชุมชนผู้เชื่อที่เสริมสร้างชีวิตสาวกพระคริสต์ในชีวิตประจำวันจึงมิใช่ชุมชนคริสตชนวันอาทิตย์ที่มานมัสการพระเจ้าร่วมกันเท่านั้น   แต่เป็นชุมชนของผู้เชื่อในทุกที่ในชีวิตประจำวัน (ในครอบครัว  ในที่ทำงาน  และในชุมชน) ที่ต่างหนุนเสริม ค้ำชู และเสริมสร้างกันและกัน  และที่สำคัญคือ ชีวิตร่วมกันในชุมชนผู้เชื่อนั้นเองที่พระคริสต์จะเสริมสร้างคน ๆ นั้นให้เป็นคนรับใช้ของพระองค์  และพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเป็นพลังชีวิตที่เสริมสร้างคน ๆ นั้นในทุกสถานการณ์ชีวิตที่เขาเผชิญ ประสบพบเจอ  เพื่อมีชีวิตที่สำแดงพระคริสต์แก่ผู้คนรอบข้างในที่นั้น ๆ

การติดตามพระคริสต์  เราต้องการกำลังหนุนเสริม และ การเสริมสร้างจากพระคริสต์ และหลายครั้งพระองค์สร้างและหนุนเสริมเราผ่านชุมชนผู้เชื่อที่ติดตามพระองค์ ดังนั้น การมีชุมชนผู้เชื่อในที่ต่าง ๆ จึงเป็นความจำเป็นต้องการอย่างมากสำหรับการเป็นสาวกพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน   นอกจากชุมชนที่พบปะกันหน้าต่อหน้าแล้ว   ปัจจุบันนี้ เรายังมีชุมชนผู้เชื่อทาง “อากาศ”  ที่สามารถเป็นชุมชนสื่อสาร เสริมสร้าง  และ หนุนเสริมกันและกันในพระคริสต์ผ่านเครื่องมือสื่อสารทันสมัยหลายรูปแบบอีกด้วย   แต่สาวกพระคริสต์ต้องตระหนักชัดด้วยว่า “ชุมชนทางอากาศ” ไม่สามารถมาแทนที่ “ชุมชนที่สัมพันธ์พบปะกันหน้าต่อหน้า” ได้   แต่ในเวลาเดียวกันเราต้องระมัดระวังด้วยว่า   เมื่อเราเข้าร่วมในชุมชน  เรามิได้ติดตามชุมชน  แต่เราต้องยืนหยัดยึดมั่นว่าเราติดตามพระคริสต์   และชุมชนดังกล่าวต้องติดตามพระคริสต์ด้วย  แต่มิใช่ตามใจปรารถนาของตนเอง  เราไม่ได้เลือกพระคริสต์  แต่พระคริสต์ทรงเป็นผู้เลือกเรา   และให้เราติดตามพระองค์  มิใช่ติดตามตามกระแสโลก  ถ้าเราจะเป็นสาวกของพระคริสต์อย่างแท้จริง   นั่นหมายความว่าเราต้องปฏิเสธตนเอง   แล้วแบกกางเขนตามพระคริสต์ไป (มัทธิว 16:24)  ในชีวิตประจำวันแต่ละวัน   มิใช่ติดตามพระองค์เพียงเช้าวันอาทิตย์เท่านั้น   และในการที่เราเป็นสาวกติดตามพระคริสต์   ชุมชนผู้เชื่อจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราหนุนเสริมกันและกันให้ยืนมั่นคงที่จะมีชีวิตติดตามพระคริสต์

คิดค่าราคาในการติดตามพระคริสต์

เมื่อเราจะซ่อมบ้าน  ไม่ว่าจะเทพื้นใหม่ หรือ ซ่อมหลังคาบ้าน   สิ่งแรกเราต้องคำนวณว่า จะต้องมีค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน   เพื่อเราจะสามารถประเมินได้ว่าเราสามารถจะซ่อมให้เสร็จหรือไม่   ในทำนองเดียวกัน  ถ้าเราจะต้องปฏิเสธตนเองและติดตามพระคริสต์   เราต้องประเมินว่าเราต้องจ่ายค่าราคาเท่าใด   การที่เราจะดำเนินชีวิตตามคำสอนและแบบอย่างชีวิตของพระคริสต์   เราพร้อมที่จะต้องจ่ายค่าราคาในการที่จะดำเนินชีวิตแบบนั้นหรือไม่   สำหรับบอนฮอฟเฟอร์ได้กล่าวเรื่องนี้   ในสมัยที่ท่านต้องถูกจับเข้าคุกในยุคของนาซี   ค่าราคาที่เขาจะต้องจ่ายในการเป็นสาวกของพระคริสต์คือการทนทุกข์จนถึงการที่ต้องสละชีวิต   เปาโลกล่าวว่า  “ข้าพเจ้า​ต้อง​การ​จะ​รู้​จัก​พระ​องค์ คือ​รู้​จัก​ฤทธิ์​เดช​แห่ง​การ​คืน​พระ​ชนม์​ของ​พระ​องค์​และ​รู้จัก​การ​มีส่วน​ร่วม​ใน​ความ​ทุกข์​ของ​พระ​องค์ และ​เป็น​เหมือน​กับ​พระ​องค์​ใน​ความ​ตาย​นั้น”  (ฟิลิปปี 3:10 มตฐ.) และชีวิตของเปาโลก็ได้พบเช่นนั้น   การเป็นสาวกของพระคริสต์  เราต้องปฏิเสธตนเอง  ติดตามพระองค์ไป   และ ประเมินค่าราคาในการเป็นสาวกที่เราจะต้องจ่ายด้วยชีวิต   เราพร้อมและเต็มใจที่จะจ่ายค่าราคาชีวิตของเราหรือไม่?

แจ้งข่าวร้าย  ให้ข่าวดี

หลายท่านเกิดคำถามในใจทันทีว่า   ทำไมถึงพูดว่า สาวกพระคริสต์ต้องแจ้งข่าวร้าย   ทำไมเราถึงบอกผู้คนในสิ่งที่ไม่ดี   คริสตชนคือผู้ที่ประกาศข่าวดีมิใช่หรือ   ถ้าเราไปพูดข่าวร้ายแล้วเขาจะมาเชื่อพึ่งในพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?   ใช่ครับ เราพยายามที่จะไม่แจ้งข่าวร้ายแก่ผู้คน   เพราะคนจะไม่อยากฟัง  และเขาคงไม่ชอบเราด้วย   แต่ความจริงก็คือว่า  พระวจนะของพระเจ้าให้กำลังใจและความหวังแก่คนที่ตกทุกข์ยากลำบาก   ให้การประเล้าประโลมใจ   แต่ในอีกด้านหนึ่งพระวจนะของพระเจ้าตักเตือน กล่าวโทษ คนที่มั่งมี คนที่กำลังมีความสะดวกสบายในชีวิตเพราะความเห็นแก่ตัว  เพราะการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น  เพราะการอยุติธรรมที่เขากระทำต่อผู้อื่น ผู้เล็กน้อย   และด้านนี้พระวจนะของพระเจ้ากำลังแจ้งข่าวร้าย   ที่พระวจนะของพระเจ้ากล่าวร้ายคนเหล่านี้มิใช่เพราะความจงเกลียดจงชัง   ที่จะทำให้เกิดความเจ็บปวด ไม่พอใจ หรือ เกิดบาดแผลในชีวิต   แต่พระวจนะต้องการตักเตือนเพื่อให้เขารู้ตัวว่า  เขากำลังดำเนินชีวิตที่หมิ่นเหม่ อันตรายสู่ความตาย    เพื่อที่จะบอกข่าวดีแก่เขาว่า   โดยพระเมตตาคุณของพระเจ้าที่ไร้เงื่อนไข   พระองค์พร้อมที่จะอภัยโทษ และ ให้โอกาสที่จะตั้งต้นชีวิตใหม่  กลับใจใหม่  เพื่อจะได้รับการเยียวยา รักษา และการช่วยกู้จากพระคริสต์   และนี่คือการให้ข่าวดี ประกาศข่าวดีแก่เขา

ตัวอย่างเช่น   มีครอบครัวหนึ่งกำลังหลับสนิทอย่างอบอุ่นและสบาย   แต่รอบ ๆ บ้านของเขาไฟกำลังไหม้   สิ่งที่เราควรกระทำคือ  ปลุกให้คนในบ้านรีบตื่น  เพราะเกิดเหตุร้ายไฟกำลังจะไหม้บ้านเขา  รีบหนีออกจากบ้าน เพื่อทุกคนจะไม่ถูกไฟครอกตาย   ไฟไหม้บ้านเป็นข่าวร้าย   และการให้รีบหนีออกจากบ้านเพื่อไม่ถูกไฟครอกตายเป็นข่าวดี   คนในบ้านต้องตระหนักว่าเขากำลังอยู่ในความอันตราย   เขาถึงจะยอมรับข่าวดีคือรีบหนีออกจากบ้านเอาชีวิตรอด

คริสตชนหลายคนสบายใจที่จะประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูคริสต์แก่ผู้คนรอบข้าง   แต่การที่ผู้คนจะหันกลับมารับเอาข่าวดีของพระเยซูคริสต์ก็ต่อเมื่อเขาตระหนักชัดว่า  ชีวิตของเขาตกอยู่ในอำนาจแห่งความบาปชั่ว   ชีวิตของเขาตกลงในกับดักของมารร้าย   และไม่สามารถหลุดรอดออกจากอำนาจชั่วดังกล่าวด้วยตนเอง  และนี่คือข่าวร้ายสุด ๆ แต่เขาไม่ต้องสิ้นหวัง   พระคริสต์มีอำนาจฤทธิ์เดชที่จะฉุดกู้เขาออกจากอำนาจชั่วเหล่านั้น  ด้วยความรักเมตตาของพระองค์  และนี่คือข่าวดีของพระเยซูคริสต์

กล่าวได้ว่า  การที่จะประกาศข่าวดีให้ผู้คนยอมรับการช่วยกู้ให้รอด   คริสตชนต้องประกาศข่าวร้ายที่ชีวิตของเขาสิ้นหวังหมดทางรอดพ้นก่อน   แล้วจึงประกาศข่าวดีที่ว่า ชีวิตยังมีความหวัง  ถ้าเขายอมให้พระเยซูคริสต์กอบกู้ฉุดเขาออกจากอำนาจแห่งความชั่วนั้น 

พระคริสต์ต้องการสาวกที่ปรารถนาดำเนินชีวิตตามพระทัยของพระองค์  พระองค์ไม่ต้องการสาวกที่ทำตามใจปรารถนาของตนเอง   สาวกของพระคริสต์ที่แท้จริงต้องปฏิเสธตนเอง  แล้วดำเนินชีวิตประจำวันตามพระคริสต์ไป   เพราะสาวกคนนั้นได้ประเมินค่าราคาที่เขาจะต้องจ่ายในการติดตามพระคริสต์   และสาวกพระคริสต์ที่แท้จริงมิใช่ประกาศแต่ข่าวดีเท่านั้น   แต่พร้อมที่จะประกาศข่าวร้ายแก่ผู้คนรอบข้าง   เพื่อทุกคนจะได้ตระหนักชัดว่าชีวิตของตนกำลังหมิ่นเหม่อันตรายสู่ความตาย  และตนเองหมดทางสู้ที่จะหลุดรอดออกจากอันตรายนั้นได้   และเราจะประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์ที่เป็นความหวังและที่พึ่งของเราทุกคน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

22 มกราคม 2561

มองพระคริสต์...บนเส้นทางชีวิตที่ตกเป็นเหยื่อ

วันนี้ผมขอนำเรื่องจริงที่เกิดขึ้น(ในต่างแดน)ที่เป็นสัจจะชีวิตสาวกพระคริสต์ มาเล่าสู่กันฟัง  

ผู้เขียนชื่อ พอล มิลเลอร์ และ ภรรยาชื่อ จิลล์  จะพาลูกที่พิการไปร่วมในค่ายครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากลูกที่พิการทุกปี  ในค่ายนั้นจะมีอาสาสมัครที่จ่ายค่าใช้จ่ายในการมาอาสาสมัครที่ค่ายเอง   หลายคนได้ลางานประจำเพื่อมารับใช้เด็กและพ่อแม่ที่มาในค่ายนั้น   จิลล์ชอบมาร่วมในค่ายนี้ เพราะรู้สึกว่าตนได้รับการชูใจและจิตวิญญาณกับคนที่มีความเข้าอกเข้าใจสภาวะชีวิตของเธอ

เมื่อหลายปีผ่านมาแล้ว จิลล์ รู้จักกับอาสาสมัครที่ชื่อว่า เคย์ลา สนิทเป็นเพื่อนกัน   วันรุ่งขึ้น เคย์ลา ต้องประสบกับสถานการณ์ที่เลวร้ายจากในค่าย   เธอถูกผู้อำนวยการค่ายเรียกไปพบ  และพูดคุยถึงคุณแม่คนหนึ่งมาฟ้องว่า  เขาได้ยิน เคย์ลา พูดถึงสิ่งไม่ดีในการเลี้ยงลูกของเขา   เคย์ลา เองคิดไม่ออกเลยว่า เธอได้พูดอะไร เมื่อไหร่ ที่เป็นการกล่าวร้ายกับคุณแม่ท่านนั้น   และปรากฏว่า  ต่อมาอาสาสมัครหลายคนก็ประสบกับเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้   ผู้อำนวยการค่ายพยายามรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างระมัดระวัง และอย่างดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้   อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้กลายเป็นฝันร้ายที่เจ็บปวด คอยตามหลอน เคย์ลา ตลอดเวลาในช่วงนั้น

วันต่อมา เคย์ลา มาหาจิลล์ และ ผู้เขียนด้วยอาการใจเหม่อลอย  วอกแวก   เธอบอกว่าเธอไม่สามารถที่จะขอโทษในสิ่งที่เธอคิดไม่ออกเลยว่าเป็นสิ่งผิดเลวร้ายที่เธอได้ทำลงไป   เป็นการยากอย่างมากที่เธอจะอาสาสมัครรับใช้ในค่ายนี้อย่างมีความสุขชื่นบาน    ในเมื่อยังมี “ฝันร้าย” ที่ตามหลอนเธออยู่ตลอดเวลา   เคย์ลารู้สึกว่า พันธกิจชีวิตที่เธอรับใช้กำลังจะล้มครืนจบสิ้น แต่ผู้เขียนกลับมองเห็นว่า  สถานการณ์นี้กำลังขับเคลื่อนชีวิตการรับใช้ของ เคย์ลาสูงขึ้นไปในระดับใหม่  

ผู้เขียนกล่าวกับ จิลล์ ว่า “ก่อนที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น  คุณได้ทำในสิ่งที่ดีมาก  คุณให้เวลา และ สละเงินทองส่วนตัวเพื่อคนอื่น  คุณได้รับคำขอบคุณ  และ มีความชื่นชมยินดีที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น   แต่ตอนนี้  แทนที่คุณจะได้รับการยกย่องนับถือ  คุณกลับได้รับความอับอายขายหน้าเป็นการตอบแทน   แทนที่คุณจะได้รับคำขอบคุณ  แต่คุณกลับได้รับความเข้าใจผิด หรือ อาจจะถึงขั้นถูกใส่ร้ายป้ายสีก็อาจจะเป็นไปได้   นี่เป็นสิ่งที่น่าสังเวชใจ   เป็นเส้นทางชีวิตที่ทนทุกข์   และก็มีผู้หนึ่งที่เดินบนเส้นทางชีวิตนี้คือพระเยซู   คุณกำลังเข้าไปมีส่วนร่วมในความทุกข์ของพระคริสต์”

ปักหัวดิ่งลงเพื่อทะยานขึ้นสูง

คำสอนของเปาโล ในจดหมายฉบับต่าง ๆ เปาโลมองว่า  วิถีชีวิตของพระคริสต์นั้นปักหัวดิ่งลงไปสู่ความตาย ก่อนที่พระองค์จะทะยานขึ้นสู่การเป็นขึ้นใหม่   อย่างไรก็ตาม เรามักลืมคำสอนของเปาโลที่กล่าวถึงวิถีชีวิตสาวกพระคริสต์ที่สำแดงออกถึงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ทุกเมื่อเชื่อวัน  ที่สำแดงถึงชีวิตที่ยอมตายและการเป็นขึ้นและมีชีวิตใหม่ในชีวิตประจำวัน  (ดู ฟิลิปปี 1:29; 2:5-9 “พระเจ้า...ไม่​ใช่​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เชื่อ​ใน​พระ​องค์​เท่า​นั้น แต่​ให้​ทน​ทุกข์​ยาก​เพราะ​เห็น​แก่​พระ​องค์​ด้วย” (1:29 มตฐ.)    “จง​มี​จิต​ใจ​...เหมือน​อย่าง​ที่​มี​ใน​พระ​เยซู​คริสต์   ผู้​ทรง​สภาพ​เป็น​พระ​เจ้า ไม่​ทรง​ถือ​ว่า​ความ​ทัด​เทียม​กับ​พระ​เจ้า​เป็น​สิ่ง​ที่​จะ​ต้อง​ยึด​ไว้   แต่​ทรง​สละ​พระ​องค์​เอง​และ​ทรง​รับ​สภาพ​ทาส ... พระ​องค์​ทรง​ถ่อม​พระ​องค์​ลง ทรง​ยอม​เชื่อ​ฟัง​จน​ถึง​ความ​มร​ณา กระ​ทั่ง​มร​ณา​บน​กาง​เขน   เพราะ​ฉะนั้น​พระ​เจ้า​จึง​ทรง​ยก​พระ​องค์​ขึ้น​สูง​สุด...” (2:5-9 มตฐ.)

เปาโลพูดถึงเรื่องนี้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ข้าพ​เจ้า​ต้อง​การ​จะ​รู้​จัก​พระ​องค์ คือ​รู้​จัก​ฤทธิ์​เดช​แห่ง​การ​คืน​พระ​ชนม์​ของ​พระ​องค์​และ​รู้จัก​การ​มีส่วน​ร่วม​ใน​ความ​ทุกข์​ของ​พระ​องค์ และ​เป็น​เหมือน​กับ​พระ​องค์​ใน​ความ​ตาย​นั้น”  (3:10 มตฐ.)  จากนั้นเปาโลเดินทางด้วยความหวังจากเยรูซาเล็มไปกรุงโรม   เพื่อมีประสบการณ์ในความตายของพระคริสต์ในการถูกทำร้ายทรมานรูปแบบต่าง ๆ แต่ประสบการณ์ของเปาโลมิใช่เพียงชีวิตที่ดิ่งลงสู่ความตายเท่านั้น   แต่ยังเป็นประสบการณ์ที่ทะยานขึ้นสูงเป็นชีวิตก้าวไปอีกระดับหนึ่ง เป็นชีวิตที่เหนือความตาย เปาโลเข้ามีส่วนร่วมในการเป็นขึ้นจากความตายกับพระคริสต์ในชีวิตประจำวันที่จาริกไปบนเส้นทางชีวิตของพระคริสต์

จากเหยื่อสู่ผู้มีชัย

ชีวิตที่ เคย์ลา กำลังเผชิญในเวลานั้นก็เป็นชีวิตที่ “ปักหัวดิ่งลงสู่ต่ำสุด”   เคย์ลารับใช้ผู้คนด้วยจิตใจที่ถ่อม เธอสูญเสียอำน่าจ   และชีวิตในช่วงเวลานั้นเองที่เธอเริ่มเข้าใจว่า  ชีวิตที่เข้าไปสู่วิถีแห่งพระกิตติคุณของพระคริสต์นั้นเป็นเช่นไร   ชีวิตของการเป็นสาวกพระคริสต์นั้นมีรสชาติอย่างไร   บนเส้นทางชีวิตสาวกพระคริสต์ที่ปักหัวดิ่งลงต่ำสุดนั้น   เป็นการนำชีวิตของเธอเข้าสู่แกนกลางแห่งชีวิตสาวกพระคริสต์คือ “มีส่วนร่วมในความทุกข์ของพระองค์และความตายของพระคริสต์” (3:10) สถานการณ์ที่เลวร้ายสุดๆในค่ายสัปดาห์นั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบสิ้นเชิง   เรื่องราวชีวิตของ เคย์ลา ในตอนนั้นเปลี่ยนไปคนละเรื่อง   เธอไม่ได้ดำเนินชีวิตของเธอเอง   แต่เธอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวชีวิตของพระคริสต์ในชีวิตประจำวันในช่วงเวลานั้น

ตอนนี้ คุณแม่ที่เคยกล่าวหา เคย์ลา ไม่ใช่คนที่ทำให้ชีวิตของเคย์ลาต้องปั่นป่วนอีกต่อไป   แต่เคย์ลาได้นำคุณแม่คนนั้นเข้าถึงพระคริสต์   เคย์ลา เปลี่ยนจุดมุ่งมองถึงสิ่งที่คุณแม่คนนั้นทำต่อเธอช่วงเวลาที่ผ่านมา   กลับมุ่งมั่นมองไปที่สิ่งที่พระเจ้าจะทรงกระทำแก่คุณแม่คนนั้นในอนาคต   เคย์ลาน้อมรับความทุกข์ยากเจ็บปวดอย่างพระคริสต์  และยังคงทุ่มเทรับใช้คนอื่นด้วยความชื่นชมยินดีตลอดสัปดาห์นั้นในค่าย

เมื่อเราตั้งใจร่วมอารมณ์ทนทุกข์และยอมตายเหมือนพระคริสต์   ทั้ง ๆ ที่ทำให้เรามัวหมองเสียชื่อเสียง  และดูเหมือนว่าเป็นการยินยอมทนความทุกข์ยากลำบากอย่างไร้เป้าหมาย   เราก็จะมีโอกาสร่วมทะยานขึ้นสู่ชีวิตใหม่   มองสิ่งเลวร้ายในชีวิตด้วยสายตาเชิงบวกแบบพระคริสต์   มองสถานการณ์เลวร้ายกลับกลายเป็นพันธกิจ   เมื่อเคย์ลาเริ่มเปลี่ยนมุมมองจากสิ่งเลวร้ายที่ผู้อื่นกระทำกับตน  ไปเป็นมุมมองใช้ชีวิตประจำวันสำแดงพระคริสต์ผ่านการทนทุกข์ของเธอ   เคย์ลา ก้าวออกจากการเป็นเหยื่อไปสู่ผู้มีชัย

เคย์ลา อาจจะไม่รู้ว่า เมื่อไหร่ที่จะถึงช่วงเวลาที่ชีวิตของเธอจะเข้าสู่ช่วงเวลาของชีวิตใหม่ที่พระเจ้าจะประทานให้  แต่เธอรู้เพียงว่า เวลาแห่งชีวิตใหม่จะมาถึงแน่เพราะเธอเดินบนเส้นทางของพระคริสต์   และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นเป็นจริง   ทุกวันนี้ เคย์ลา มาทำพันธกิจในค่ายนี้ทุกปี  และได้เป็นผู้นำค่ายคนหนึ่งด้วย

การติดตามพระคริสต์มิใช่การที่เราเห็นด้วยกับคำสอนและแบบอย่างชีวิตของพระคริสต์เท่านั้น   แต่ชีวิตสาวกพระคริสต์เป็นชีวิตที่เปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตเดิมของเราอย่างสิ้นเชิง   แล้วไปเดินบนเส้นทางชีวิตของพระเยซูคริสต์   บนเส้นทางที่ให้ชีวิตแก่ผู้อื่น  เส้นทางที่ยอมปักหัวดิ่งลงสู่ความตาย เพื่อที่จะทะยานขึ้นพร้อมกับพระคริสต์สู่ชีวิตใหม่ในพระองค์   ในทุกครั้งที่ชีวิตของเราต้องเผชิญกับความผิดหวัง ท้อแท้  ทุกข์ยากลำบาก ตรากตรำ ฝ่าฝัน  หรือ ถึงกับต้องปล้ำสู้   เรากำลังได้รับโอกาสที่มีส่วนร่วมในวิถีชีวิตของพระคริสต์   และการที่จะมีโอกาสเข้าร่วมชีวิตบนเส้นทางชีวิตพระคริสต์   เมื่อเราเปลี่ยนมุมมองสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เราประสบ  เป็นการที่มองเห็นว่า นั่นเป็นโอกาสที่เราจะร่วมในพระราชกิจของพระคริสต์ในสถานการณ์ที่เราเผชิญนั้น   เป็นการที่เรารู้ตัวว่า  เรากำลังอยู่บนเส้นทางในแผนที่ชีวิตของพระคริสต์   และปลดปล่อยเราให้มีอิสระที่จะมีประสบการณ์ในการร่วมเดินไปบนเส้นทางนั้นกับพระองค์  ด้วยจิตใจที่ขอบพระคุณและชื่นชม ไม่ว่าชีวิตจะขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างไรก็ตาม

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

19 มกราคม 2561

เมื่อลูกวัยรุ่น “ละทิ้งความเชื่อ” พ่อแม่จะทำอย่างไรดี? (2)

ข้อเขียนนี้เป็นตอนที่สอง

ในตอนที่หนึ่ง   เป็นการเจาะลงในความจริงชีวิตที่ยุคสมัยลูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากสังคมในสมัยพ่อแม่   เราได้พิจารณาถึงการที่ลูกของเราเดินออกนอกแผนที่ชีวิตและความเชื่อที่พ่อแม่เคยมีประสบการณ์  และคาดหวังที่จะให้ลูก ๆ เดินตามแผนที่ฉบับเดิมนั้น   เราพบความจริงว่าลูก ๆ ต้องการแผนที่ชีวิตและความเชื่อฉบับใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของเขา

พ่อแม่คริสตชนทุกข์ใจว่า   ตนจะรับมือและจัดการอย่างไรกับลูก ๆ ที่ไม่ยอมเดินตามแผนที่ชีวิตและความเชื่อที่ตนมีอยู่   และพ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าแผนที่ฉบับใหม่ที่ตอบโจทย์ชีวิตของลูก ๆ มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร?   ในภาวะเช่นนี้จะทำอย่างไรดี?

ผมได้อ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่ง  ที่คุณแม่อดทนใกล้ชิดลูกที่ทิ้งความเชื่อที่พ่อแม่เคยมี  แต่คุณแม่กลับอยู่เคียงข้างลูก รักเขาอย่างไร้เงื่อนไข   เมื่ออ่านบทความนี้ได้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์คุณแม่คนนี้ได้ว่า   ถ้าลูกของเราเลิกที่จะเชื่อ  หรือ ทิ้งความเชื่อดั้งเดิมที่เรามี   พ่อแม่มีแนวทางปฏิบัติ 12 ประการครับ

  1. เราจะไม่มีวันหยุดอธิษฐานเพื่อลูก   เพราะการอธิษฐานคือพลังที่ยิ่งใหญ่  และเป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำได้ตลอดเวลา
  2. เราจะหายใจลึก ๆ  แล้วพึ่งพาความเชื่อศรัทธา   และไว้วางใจพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพของเรา  และวางใจในพระราชกิจที่พระองค์จะกระทำในชีวิตลูก ๆ ของเรา  และ เฝ้าคอยดูพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของลูกแต่ละวัน
  3. เราจะไม่หยุดที่จะรักลูก  และพยายามที่จะมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างถึงความรักเมตตาที่ไม่มีเงื่อนไขของพระคริสต์สำหรับพวกเขา
  4. เราจะฟังลูก ๆ ตลอดเวลาไม่หยุดยั้ง (แม้บางครั้งคำพูดของเขาดูจะรุนแรงหรือก้าวร้าวกับเรา)   เราจะรักษาและเปิดช่องทางสื่อสารระหว่างเรากับลูกไว้เสมอ   เราจะสื่อสารกับลูกด้วยความสัตย์ซื่อ จริงใจ และ ด้วยความนับถือ   เราพยายามแสวงหาความเข้าใจในตัวลูก  และเราจะถามคำถามที่จะช่วยให้ลูกขุดลึกค้นพบตนเองและความจริง   และจะเสนอความจริงด้วยใจรักแทนที่จะถกเถียงความจริงกัน
  5. เราตระหนักรู้ว่าลูก ๆ ของเราไม่สามารถจะมีความเชื่อศรัทธาเพราะสืบทอดมรดกความเชื่อจากเราผู้เป็นพ่อแม่ได้   แต่เราจะต้องช่วยเขาให้ก่อนร่างหยั่งรากความเชื่อของเขาเอง  และนี่จึงไม่แปลกที่บางครั้งลูกสงสัยในสิ่งที่เราเชื่อศรัทธา  เกิดคำถาม  หรือ ไม่เดินตามบนเส้นทางความเชื่อแบบพ่อแม่  แต่ลูกบางคนก็เอาจริงเอาจังร้อนรนบนเส้นทางความเชื่อนั้น  เพราะสำหรับเยาวชน นี่คือเส้นทางชีวิตที่เขาจะเรียนรู้ความจริงว่าเขาต้องการพระคริสต์ด้วยชีวิตของเขาเอง และยอมรับพระคริสต์เข้าในชีวิตของตนด้วยการตัดสินในของเขาเอง  ไม่ใช่ด้วยพ่อแม่ และคริสเตียนศึกษาที่สอนเขาในชั้นเรียน
  6. เราในฐานะพ่อแม่ให้เราแบ่งปันประสบการณ์เรื่องราวการเผชิญหน้ากับความเชื่อ และประสบการณ์ที่ล้มลุกคลุกคลานในความเชื่อของเราแก่ลูก ๆ   เช่น  ในช่วงเวลาที่เราสงสัยในสิ่งที่เชื่อ  และ ทำไมเราถึงตัดสินใจและมีความเชื่ออย่างที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้
  7. เราบอกให้ลูก ๆ รู้ว่าเราอธิษฐานเผื่อพวกเขา   และบอกลูก ๆ ว่าเราเห็นว่าพระเจ้ากำลังทำงานในชีวิตและสถานการณ์ที่ลูก ๆ เผชิญอยู่อย่างไร  พระเจ้ายังอยู่เคียงข้างเขาเสมอในทุกสถานการณ์ชีวิตของเขา  และพระเจ้ายังคงรักเมตตาพวกเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข   ถึงแม้ตอนนี้ลูกจะไม่เชื่อในพระองค์ก็ตาม
  8. เราจะไม่ท้อถอย  และเราจะไม่บีบบังคับลูก  เราหาหนทางที่จะช่วยลูก ๆ ที่จะมีโอกาสสัมพันธ์กับบางคนที่มีความเชื่อที่เข้มแข็งในพื้นที่ที่ลูกอาศัย หรือ ทำงานอยู่   และถ้าบางคำถามของลูก ๆ ที่เราในฐานะพ่อแม่ไม่รู้จะตอบอย่างไรดี   พยายามเชื่อมให้ลูกไปพบกับบางคนที่เรารู้ว่าเขาสามารถอธิบายให้ลูก ๆ เข้าใจได้      เราให้กำลังใจแก่ลูก ๆ ที่จะหาโอกาสที่เขาจะสามารถบริการรับใช้คนรอบข้างใกล้เคียงในชีวิตประจำวันของเขา   เพื่อว่าความรักเมตตาของพระคริสต์จะซึมซับเข้าในจิตใจของลูก   เราจะแนะนำหรือกระตุ้นเชิญชวนให้ลูกไปโบสถ์   แต่เราจะไม่ใช้วิธีบังคับขู่เข็ญ  ต่อว่า ดุด่า ตำหนิที่ลูกไม่ไปโบสถ์  หรือ สร้างเงื่อนไข ผลประโยชน์ต่อรองให้ลูกไปโบสถ์  หรือถึงขั้นลงโทษถ้าเขายังไม่ไปโบสถ์   ให้เราเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสไว้เสมอ
  9. เราต้องตระหนักรู้ว่า การที่ลูกไม่เชื่อพระเจ้ามิใช่ความล้มเหลวในการเป็นพ่อแม่   พระเจ้าประทานของประทานความสามารถต่าง ๆ แก่เราอย่างมีพระประสงค์   และการที่ลูกบางคนเดินออกนอกเส้นทางความเชื่อที่เรามีอยู่ใช่เป็นการสะท้อนถึงอัตลักษณ์ความเชื่อของพ่อแม่
  10. เรายอมรับความจริงว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นความจริงในวันพรุ่งนี้   และเรารู้ความจริงว่า การเลี้ยงดูลูก ๆ และ การฟูมฟักความเชื่อศรัทธาของเขาเป็นเรื่องที่พัฒนาไปตลอดชีวิต   ที่เรายังไม่สามารถตัดสินลงไปว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้เป็นสิ่งจริงที่เป็นเช่นนี้ตลอดไปในชีวิตของลูก
  11. เรายังยืนหยัดมั่นคงอย่างเข้มแข็งและชื่นชมยินดีในความเชื่อศรัทธาของเรา   ติดตามและขุดลึกลงในความสัมพันธ์กับพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน  แสวงหาความจริงจากพระวจนะ  และยอมรับคุณค่าของเราในฐานะลูกที่รักของพระเจ้าคนหนึ่ง   และสำนึกถึงพระคุณของพระองค์ที่มีอยู่ในชีวิตของเราตลอดเวลา
  12. ให้เราภาวนาอธิษฐานให้การดำเนินชีวิตประจำวันของเราเป็นเสียงที่มีพลานุภาพในเมื่อเราไม่สามารถพูดด้วยคำพูดของเรา 


ทั้งสิ้นนี้  ยืนอยู่บนรากฐานความเชื่อของพ่อแม่ว่า  ความเชื่อศรัทธางอกงามและเข้มแข็งเมื่อชีวิตประจำวันของลูกมีโอกาสเผชิญหน้ากับพระเจ้า   และประสบการณ์ในชีวิตช่วงนั้นเองที่เขามีประสบการณ์ตรงกับพระองค์เป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงเสริมสร้างประทานความเชื่อแก่ลูกให้เกิดขึ้น  จนเป็นความเชื่อที่ลูกตัดสินใจที่จะวางใจถวายชีวิตแด่พระเจ้าด้วยตัวของเขาเอง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

17 มกราคม 2561

เมื่อลูกวัยรุ่น “ละทิ้งความเชื่อ” พ่อแม่จะทำอย่างไรดี?

มรดกทางความเชื่อศรัทธาของคริสตชน  ไม่ได้เป็นเหมือนมรดกทางทรัพย์สิน เงินทอง  ที่ดิน บ้างช่อง ฯลฯ   ที่พ่อแม่สามารถเก็บรักษาแล้วมอบให้กับลูก ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม   แต่ความเชื่อศรัทธาของคริสตชนแต่ละคน เป็นสิ่งที่คน ๆ นั้นต้องเผชิญ ปลุกปล้ำในชีวิตประจำวันของเขาเอง   จนเขายอมรับ และกลายเป็นความเชื่อศรัทธาของคน ๆ นั้นโดยเฉพาะ

เมื่อผมมีโอกาสพูดคุยกับพ่อแม่คริสตชนในปัจจุบัน  พบว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่คริสตชนหลายต่อหลายครอบครัวและหลายคนเกิดความทุกข์ใจอย่างมากคือ   ลูก ๆ ไม่เดินตามเส้นทางชีวิตแห่งความเชื่อ (อย่างที่พ่อแม่เคยเป็นเคยเดินมาก่อน)  พ่อแม่หลายครอบครัวพบว่า ลูก ๆ ที่ออกไปศึกษาต่อในเมืองในกรุงไม่ไปโบสถ์  อย่างที่สมัยตนเมื่ออายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกไปโบสถ์เป็นประจำและช่วยงานโบสถ์อย่างเต็มที่

พ่อแม่คริสตชนปัจจุบันทุกข์ใจเพราะลูก ๆ ไม่เดินตาม “แผนที่ชีวิตแห่งความเชื่อ” ที่พ่อแม่เคยเดินมาก่อน

พวกเขากำลังพบว่า  ลูก ๆ กำลังเดินออกนอกแผนที่ชีวิตแห่งความเชื่อศรัทธาที่ตนคาดว่าลูกจะเดินตาม   ทั้ง ๆ ที่เมื่อเขาเป็นเด็ก   เขาเรียนในชั้นเรียนรวีฯ อย่างต่อเนื่อง   จนโตขึ้นเข้าเรียนในชั้นเรียนก่อนรับบัพติสมา   เข้าร่วมกิจกรรมของอนุชนในคริสตจักร   แต่เมื่อต้องออกจากบ้าน หรือ ใช้เวลาชีวิตนอกบ้านมากกว่าในบ้าน   ลูก ๆ เริ่มไม่ค่อยไปโบสถ์ในวันอาทิตย์   ยิ่งเขามีกิจกรรมของสถานศึกษามากขึ้น   เมื่อพ่อแม่คาดหวังให้เขาเก่งมีทักษะในด้านต่าง ๆ  ไม่ว่ากีฬา ดนตรี ศิลปะ และ ฯลฯ   เวลาที่จะไปโบสถ์ยิ่งหดหายไปจนไม่มีเวลาไปโบสถ์  

ลูก ๆ ค้นพบแผนที่ชีวิตฉบับใหม่ “ในสังคมนอกบ้าน”   เขาเริ่มเดินออกนอกแผนที่ชีวิตความเชื่อที่พ่อแม่เคยเดินมาก่อน   และเข้าไปเดินใน “แผนที่ชีวิตสมัยใหม่”  

ต้องยอมรับว่า  พ่อแม่และคริสตจักรยังคงใช้แผนที่ชีวิตฉบับเดิมทั้ง ๆ ที่ชีวิตสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายเรียกว่าจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว   และ คนหนุ่มสาวก็คาดหวังว่าแผนที่ชีวิตสมัยใหม่จะตอบโจทย์ชีวิตที่เขากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันมากกว่าแผนที่ชีวิตของพ่อแม่

สิ่งที่พ่อแม่คริสตชนพยายามปลูกฝังเมื่อลูก ๆ ยังเป็นเด็กและเยาวชนให้มีความเชื่อศรัทธาอย่างที่ตนเองเคยได้รับการปลูกฝังมาก่อน   ดูเหมือนละลายหายสูญไปอย่างสิ้นเชิง   เมื่อเขาเริ่มเติบโตเป็นวัยรุ่นและเมื่อเขาเริ่มใช้ชีวิตนอกบ้านมากยิ่งขึ้น   ทำไมถึงเป็นเช่นนี้?   เป็นโจทย์ที่คริสตจักรจะต้องมีคำตอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว   และคริสตจักรมีแผนที่ความเชื่อศรัทธาที่สามารถสื่อสาร ตอบโจทย์ชีวิตของวัยรุ่นคนสมัยใหม่เหล่านี้หรือไม่?   คริสตจักรใส่ใจและสนใจที่จะแสวงหา “แผนที่ชีวิตแห่งความเชื่อ” ที่ตอบโจทย์ชีวิตของหนุ่มสาววัยรุ่นคนรุ่นใหม่หรือไม่?   หรือมองว่า “แผนที่ชีวิตความเชื่อศรัทธาคริสตชน” ศักดิ์สิทธิ์จนเปลี่ยนแปลงไม่ได้?

เมื่อผมมีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เคยมาคริสตจักร   ประเด็นที่น่าคิดคือ  เขาพูดตีแสกหน้าผมว่า  พวกผู้ใหญ่คริสตชนในคริสตจักรโดยเฉพาะระดับผู้นำมีชีวิตที่ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ผู้นำ และ นักการเมืองในสังคมเลย   เขาพบว่า “ผู้ใหญ่” ในคริสตจักรหน้าไหว้หลังหลอก   เขาบอกว่าเขาเห็นพวกผู้ใหญ่หักหลังกัน  ไม่ได้มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สมาชิก และ เยาวชนในคริสตจักร   คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งบอกผมว่า “ผมรู้สึกว่า  คริสตจักรไม่ได้สนใจสิ่งที่พวกผมคับข้องใจ หรือ ปัญหาที่พวกเราประสบในชีวิตประจำวัน  แต่กลับสนใจเรื่อง กฎระเบียบ  การตีตราตัดสินผู้อื่น...  เน้นการประกอบศาสนพิธีสำคัญกว่าการมีชีวิตที่สำแดงความรักแบบพระคริสต์”  วัยรุ่นอีกกลุ่มหนึ่งบอกผมว่า  “เวลาไปโบสถ์วันอาทิตย์ พบแต่ความรุนแรงทั้งการซุบซิบนินทา  ตีตรากล่าวร้าย”   อีกกลุ่มหนึ่งบอกผมว่า  “พวกผู้นำคริสตจักรก็เอาระบบการเมืองสกปรกมาใช้ในคริสตจักร...  พวกเขาทำตัวไม่แตกต่างจากผู้นำในสังคมปัจจุบัน”   ....พอแค่นี้ครับ

เหล่านี้คือโจทย์ชีวิตที่เขาถาม และ ต้องการคำตอบ!   ดูเหมือนว่าผู้ใหญ่ของคริสตจักรระดับต่าง ๆ ไม่สนใจที่จะตอบ?   เขาเลยไม่สนใจที่จะสืบทอดความเชื่อศรัทธา “ที่ไม่ตอบโจทย์ในชีวิตของเขา”?

ในภาวะล่อแหลมแห่งชีวิตเช่นนี้   ใครที่จะดูแลความคิดจิตวิญญาณของเยาวชนคนรุ่นใหม่   คำตอบคงหนีไม่พ้น “พ่อแม่คริสตชน” ครับ   อย่างน้อยที่สุดผู้เขียนคาดหวังว่า  พ่อแม่กับลูก ๆ น่าจะมีสัมพันธภาพที่ยึดแน่นต่อกันเป็นรากฐานที่จะค่อย ๆ ประคับประคอง และ หล่อหลอมฟูมฟัก ความเชื่อศรัทธาของคริสตชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้

ผมมีโอกาสสัมภาษณ์วัยรุ่นคริสตชนบางคนบางกลุ่ม   ที่ยืนยันว่า แม่ หรือ พ่อคือผู้ที่ช่วยประคับประคองชีวิตและความเชื่อศรัทธาของเขา   เมื่อเกิดวิกฤติชีวิต พ่อแม่คอยเตือนสติตนเสมอว่า  ในวิกฤติปัญหา หรือ สถานการณ์ที่เลวร้ายล่อแหลมเหล่านั้น  พระคริสต์อยู่เคียงข้างลูก   และพ่อแม่คอยบอกหนูเสมอว่า เขาอธิษฐานเผื่อหนูเสมอ   และที่สำคัญผมเห็นพ่อแม่ยังคงเคียงข้างในสถานการณ์ที่เลวร้ายของผม   ในเวลาเช่นนั้นเองที่ผมหมดทางเลือก  ผมก้มหัวลงอธิษฐานขอพระเจ้าช่วย   และจุดนี้เองที่ความเชื่อศรัทธาของผมกลับมาและค่อย ๆ เติบโตจากวันนั้น

จากการพูดคุยกับคริสตจักรกลุ่มวัยต่าง ๆ   ผมได้รับข้อมูลและการเรียนรู้มากมาย   สิ่งหนึ่งที่ยืนยันความจริงว่า   การที่เด็กและเยาวชนในครอบครัวของเราที่ได้ไปคริสตจักรในวันอาทิตย์  หรือรับการเลี้ยงดูด้วยพ่อแม่ที่เป็นคริสตชน   ไม่ได้รับประกันได้ว่าเด็กคนนั้นจะมีชีวิตตามความเชื่อศรัทธาของคริสตจักร   พลังการสร้างเสริมหล่อหลอมของครอบครัวคริสตชนเป็นการวางรากฐานที่สำคัญยิ่ง  นั่นเป็นความจริงส่วนหนึ่ง   แต่ก็ไม่สามารถที่จะค้ำประกันได้ว่า เด็กคนนั้นจะเป็นสาวกที่แท้จริงของพระคริสต์

เพราะความเชื่อศรัทธาเป็นเรื่องของแต่ละตัวคน  ความเชื่อศรัทธาเป็นการค้นพบในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง   มิใช่ครั้งเดียวเสร็จ   และความเชื่อศรัทธาในตัวของลูก ๆ มิใช่การสืบทอดความเชื่อศรัทธาจากตัวพ่อแม่   แต่ต้องเป็นความเชื่อศรัทธาที่แต่ละคนค้นพบ และ เติบโตขึ้นในความเชื่อที่เกิดขึ้นในแต่ละตัวคน  

ครอบครัวคริสตชนสามารถเสริมสร้างความเชื่อศรัทธาในลูกที่อยู่กับพ่อแม่   แต่เมื่อลูกต้องเผชิญโลกกว้างความเชื่อศรัทธาในบ้านไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตในสังคมได้   แต่ความเชื่อที่พระคริสต์กระทำกิจของพระองค์ในชีวิตของเขาแต่ละคนต่างหากที่ก่อร่างสร้างรากฐานความเชื่อที่เป็นของวัยรุ่นคน ๆ นั้น   เป็นความเชื่อของเขาเองที่มีกับพระเจ้า   ลูกของเราต้องมีโอกาสที่เผชิญหน้า สัมผัส และสัมพันธ์กับพระเจ้าด้วยตัวของเขาเอง

ผมได้อ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่ง  ที่คุณแม่อดทนใกล้ชิดลูกที่ทิ้งความเชื่อแบบพ่อแม่  แต่คุณแม่กลับอยู่เคียงข้างลูก รักเขาอย่างไรเงื่อนไข   เมื่ออ่านบทความนี้ได้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์จากคุณแม่คนนี้ไว้ว่า   ถ้าลูกของเราเลิกที่จะเชื่อ  หรือ ทิ้งความเชื่อดังเดิมที่เรามี   เรามีแนวทางปฏิบัติ 12 ประการครับ
(กรุณาอ่านต่อในตอนที่ 2)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499

15 มกราคม 2561

ถ้ามีความเชื่อ...ต้องไม่ด่วนยอมแพ้!

อะไรคือความแตกต่างของผู้ที่มีความเชื่อศรัทธา กับ คนที่ไม่มีความเชื่อศรัทธา?

คนที่เชื่อศรัทธาจะไม่ยอมแพ้ “ยกธงขาว” ตั้งแต่เมื่อพบเห็นความยากลำบากครั้งแรก ๆ พวกเขาบากบั่น มุ่งมั่น ไปทีละก้าว ก้าวต่อก้าว ก้าวแล้วก้าวอีกไม่ย่อท้อ คนที่เชื่อศรัทธาเป็นคนที่มีจิตใจหนักแน่นมุ่งมั่น คนที่มีความเชื่อศรัทธาคือคนที่บากบั่นพากเพียร คนที่มีความเชื่อคือคนที่ยืนหยัดเด็ดเดี่ยว คนที่มีความเชื่อศรัทธาคือคนที่ไม่รู้ว่าจะล้มเลิกท้อถอยอย่างไร เมล็ดไม้สักงอก เติบโต เป็นต้นไม้ใหญ่ได้อย่างไร? ต้นสักที่สูงใหญ่มาจากเมล็ดสักเม็ดเล็ก ๆ เมื่องอกแล้ว ค่อย ๆ เติบใหญ่ ในทุกหน้าแล้งมันเสี่ยงต่อการถูกไฟป่าเผา แต่เพราะมันไม่ย่อหย่อน ท้อถอย และยอมแพ้ต่างหากที่ทำให้มันเป็นต้นสักที่เติบใหญ่ สูงตระหง่านอยู่ได้

ที่ผ่านมา ผมเคยเป็นคนหนึ่งในหลาย ๆ คนที่ทำอะไรมัก “ยอมแพ้” ง่าย ๆ แต่ประสบการณ์ชีวิตสอนผมว่า เราจะไม่ล้มเหลวในชีวิตเลยตราบใดที่เรายังไม่ท้อถอย ยอมแพ้ พระเจ้าทรงใช้สถานการณ์ที่เลวร้าย ลำบาก ทุกข์ยากที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เพื่อที่จะทดสอบและเสริมสร้างให้เราเป็นคนที่ยืนหยัด มั่นคง เด็ดเดี่ยว ที่พระองค์จะใช้ได้

ศาสนาจารย์ ริก วอร์เรน เล่าว่า คริสตจักรเซดเดลแบค เขาเทศนาครั้งแรกในคริสตจักรแห่งนี้ให้คนฟัง 1 คน ริก หมายถึงภรรยาของเขา เธอรู้สึกว่าคำเทศนาของ ริก ยืดยาวเกินไป หลังจากนั้นอีก 31 ปี เธอก็ยังบอกกับ ริก ว่า เทศนาของเขายังยาวเกินไป

ริกเล่าอีกว่า เมื่อเขาเริ่มต้นคริสตจักร เขาคาดหวังว่าจะมีตัวอาคารโบสถ์ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ปรากฏว่า คริสตจักรแห่งนี้ไม่มีอาคารโบสถ์เป็นของตนเองเป็นเวลา 15 ปี และใน 13 ปีแรกเราต้องเปลี่ยนที่เช่าหลายที่ ริกถามว่า “ท่านรู้ไหม มีสักกี่ครั้งที่ผมรู้สึกท้อแท้จนอยากจะยอมแพ้? เกือบจะทุกเช้าวันจันทร์ครับ แต่ผมไม่รู้ว่าจะล้มเลิกความตั้งใจอย่างไร”

พระเจ้าตรัสกับ ริก ว่า “ถ้าเราไม่ให้อาคารโบสถ์แก่เจ้า เจ้ายังจะรับใช้เราหรือไม่? ริก ตอบพระเจ้าว่า “แน่นอน ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ข้าพระองค์ยังจะรับใช้พระองค์”

คริสตจักรแห่งนี้เติบโตขึ้นจนมีสมาชิกเกินกว่า 10,000 คน ก่อนที่เขาจะมีตัวอาคารโบสถ์เป็นของตนเอง พวกเขาจะต้องจัดสถานที่นมัสการพระเจ้าสำหรับคน 10,000 คนทุกวันอาทิตย์ แล้วเก็บกวาด จัดเก็บ สถานที่นั้นหลังการนมัสการเลิกทุกวันอาทิตย์ ใครบ้างอยากทำงานลำบากเช่นนั้น? แน่นอน คงไม่มีใครที่อยากทำอย่างนั้น อีกทั้งดูเป็นคริสตจักรที่ไม่น่าชื่นชมสนใจอะไรเลย มีแต่จะต้องทำงานหนัก แต่พระเจ้าทรงใช้เวลาที่พวกเขาต้องทุกข์ยากลำบาก ทำงานหนัก เพื่อทดสอบและเสริมสร้างความมุ่งมั่น ตั้งใจ ยืนหยัด อย่างเด็ดเดี่ยวของพวกเขา

อะไรที่ทำให้เราอดทน บากบั่นจาริกไปได้บนเส้นทาง และ ในเวลาที่แสนทุกข์ยากลำบากเช่นนี้? อาจารย์เปาโล กล่าวจากประสบการณ์ตรงของท่านว่า “...(ที่)เรา...ไม่ย่อท้อ ถึงแม้ว่าสภาพภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป แต่สภาพภายในนั้นก็ได้รับการเปลี่ยนใหม่ทุก ๆ วัน เพราะว่าความยากลำบากชั่วคราวและเล็กน้อยของเรา จะทำให้เรามีศักดิ์ศรีนิรันดร์มากมายอย่างไม่มีที่เปรียบ” (2 โครินธ์ 4:16 มตฐ.)

พระเจ้าสนพระทัยว่า เราจะเป็นคนอย่างไร มากกว่ามีอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเราในตอนนี้

พระองค์ใช้การประสบกับการทดลอง ความทุกข์ยากลำบาก ความแร้นแค้น และเกิดปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตคนของพระองค์ ที่จะสอนและเสริมสร้างให้เขาเป็นคนที่บากบั่นพากเพียร เป็นคนที่มีความหนักแน่น ตั้งใจ แน่วแน่ และเสริมสร้างอุปนิสัยและบุคลิกคนของพระเจ้า และ มีชีวิตตามที่พระองค์จะทรงใช้ได้

ปัญหา ความทุกข์ยากลำบากที่เราประสบพบเจอในชีวิตปัจจุบันนี้ เป็นการทดสอบ และ เสริมสร้างให้เราเป็นผู้ที่มีความเชื่อศรัทธาที่สัตย์ซื่อ

ท่านยังจะรับใช้พระองค์ต่อไปหรือไม่ เมื่อชีวิตต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบากข้นแค้น?

เปาโลเขียนไว้ใน กาลาเทีย บทสุดท้ายว่า “อย่าให้เราเมื่อยล้าในการทำดี เพราะว่าถ้าเราไม่ท้อใจแล้ว เราก็จะเก็บเกี่ยวในเวลาอันสมควร” (6:9 มตฐ.)

ประเด็นใคร่ครวญ และ แบ่งปันความคิดเห็น ประสบการณ์

ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับที่กล่าวข้างต้นที่ว่า พระเจ้าสนพระทัยว่าท่านจะเป็นคนอย่างไร มากกว่าที่มีอะไรกำลังเกิดขึ้นในชีวิตของท่านในปัจจุบันนี้? ทำไม?

การที่ท่านรู้ว่า พระเจ้ากำลังทำพระราชกิจของพระองค์ท่ามกลางสถานการณ์ชีวิตที่ทุกข์ยากลำบากของท่าน จะช่วยเปลี่ยนท่าที และ แนวทางที่ท่านจะจัดการและรับมือกับสถานการณ์วิกฤติเหล่านั้นหรือไม่? อย่างไร? และทำไม?

ในสถานการณ์แบบไหนที่ท่านพร้อมจะยอมแพ้ “ยกธงขาว”? แต่ถ้าท่านเลือกที่จะไว้วางใจพระเจ้าในสถานการณ์นั้น ขณะที่ท่านบากบั่น พากเพียร และ พยายามในสถานการณ์ดังกล่าว ท่านคิดว่าจะเกิดความแตกต่างหรือไม่? อย่างไร? ทำไม?

ท่านมีตัวอย่าง หรือ ประสบการณ์ตรงในเรื่องข้างต้นนี้หรือไม่? ถ้ามี เล่าแบ่งปันกันฟังและเรียนรู้ด้วยกัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

Prasit.emmaus@gmail.com; 081 289 4499

12 มกราคม 2561

ไม่ใช่ตำแหน่ง ไม่ใช่อำนาจ แต่เชื่อฟังพระเจ้า

ใครคือผู้เปลี่ยนเส้นทางประวัติศาสตร์?
กษัตริย์ ผู้มีอำนาจ? นายพล? คนมั่งคั่งร่ำรวย?

แต่บ่อยครั้งเราพบว่า สามัญชนคนธรรมดาผู้เล็กน้อยในสังคมมีความสำคัญที่ทำให้โลกนี้ต้องเปลี่ยนแปลงไป

เรามักได้ยินหลายต่อหลายคนบอกว่า ถ้าเขาได้ขึ้นไปในตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ เขาจะสามารถบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้นสะดวกขึ้น นั่นเป็นความคิดความเข้าใจที่หลอกลวง กล่าวคือหลอกลวงทั้งตนเอง และ หลอกลวงคนอื่นด้วย

เมื่อฟาโรห์แห่งอียิปต์ กลัวว่าประชากรทาสอิสราเอลจะแผ่กว้างขยายจำนวนมากขึ้น จึงได้สั่งให้นางผดุงครรภ์ ชิฟราห์ และ ปูอาห์ เมื่อทำคลอดถ้าทารกเป็นผู้ชายให้ฆ่าเสีย แต่นางผดุงครรภ์เกรงกลัวพระเจ้าจึงปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งที่ชั่วร้าย แม้ฟาโรห์ตั้งใจคุกคามชีวิตทารกอิสราเอลที่เกิดมา แต่ฟาโรห์ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามคำสั่งของตนเอง ทารกชายอิสราเอลรอดชีวิตและเพิ่มจำนวนมากขึ้น ถึงแม้นางผดุงครรภ์จะไม่ได้รู้ว่า สิ่งที่เธอกำลังเสี่ยงฝืนคำสั่งฟาโรห์นั้นเป็นการช่วยให้โมเสสรอดชีวิตเมื่อกำเนิด และ นั่นเป็นแผนการของพระเจ้า

การที่นางผดุงครรภ์ไม่ได้ทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคมขณะนั้น เป็นการที่นางเสี่ยงชีวิตของตนเพื่อปกป้องทารกที่พระเจ้ามอบหมายให้นางดูแลเอาใจใส่ในการทำคลอด เพราะความกล้าหาญของนางพระเจ้าได้ประทานสิ่งดีด้วยการให้นางได้มีครอบครัว แน่นอนว่าลูกหลานของเธอมีส่วนในกระบวนที่อพยพออกจากจากการเป็นทาสในอียิปต์ครั้งสำคัญยิ่งนี้ด้วย

ผู้มีตำแหน่ง ผู้มั่งคั่ง อาจจะใช้อำนาจสั่งการสิ่งชั่วเลวร้าย แต่สามัญชนคนเล็กน้อยที่เกรงกลัวและเชื่อฟังพระเจ้า พระองค์จะทรงใช้คนเหล่านี้ให้ทำการอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ นำไปสู่ความสำเร็จ และนำไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่เป็นตามแผนการของพระเจ้า

แต่นางผดุงครรภ์ยำเกรงพระเจ้า จึงไม่ได้ทำตามพระบัญชาของกษัตริย์อียิปต์ ปล่อยให้เด็กชายรอดชีวิต... พระเจ้าจึงทรงดีต่อนางผดุงครรภ์นั้น คนอิสราเอลยิ่งทวีขึ้น และมี กำลังเข้มแข็งมาก (อพยพ 1:17, 20 มตฐ.)


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

Prasit.emmaus@gmail.com; 081 289 4499

10 มกราคม 2561

ไม่ต้อง “หาแพะ” ก็อยู่รอดได้

ชายนั้นทูลว่า “หญิงที่พระองค์ประทานให้อยู่กับข้าพระองค์ เธอส่งผลจากต้นไม้นั้นให้ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จึงรับประทาน” (ปฐมกาล 3:12 มตฐ.)

เมื่อเกิดความผิดพลาด ธรรมชาติของคนเราทั่วไปมักหันซ้ายแลขวาควานหา “แพะ” รับผิด ควานหาผู้คน หรือ สิ่งของที่เราจะโยนความผิดให้ และนี่คืออิทธิพลแห่งความบาปที่ส่งผ่านมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงเราในปัจจุบันนี้

แล้วถ้าเราจะไม่ “หาแพะมารับผิด” เราจะต้องทำอย่างไร?

เมื่อเกิดการผิดพลาด ล้มเหลว ไม่ว่าในการดำเนินชีวิต หรือ ในการงานที่เรารับผิดชอบ หยุดมองหาแพะ แต่มุ่งมองหา “สาเหตุ” ที่ทำให้เกิดความผิดพลาด เกิดความล้มเหลว

ทำไมถึงเกิดความผิดพลาด? ทำไมถึงเกิดความล้มเหลว?

เพื่อเราจะไม่ทำเช่นนั้นอีก เพื่อเราจะไม่ตกลงในหลุมพรางเดิมอีก มิเช่นนั้นแล้วกระบวนการผิดพลาดล้มเหลวก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกกับเรา เพียงแต่ในงาน หรือ สถานการณ์ที่แตกต่างออกไปเท่านั้น

จากนั้นให้เราถามตนเองต่อไปว่า ถ้าจะทำให้ดีกว่านี้ และ เกิดผลมากกว่านี้จะต้องทำอย่างไร? เราคงไม่พอใจอยู่เพียงว่าทำงานไม่ผิดพลาด แต่เราทุกคนต้องการทำงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดผล

หลังจากที่เราคิดทบทวน ใคร่ครวญ วิเคราะห์ แล้วสังเคราะห์ว่าจะทำอย่างไร สิ่งสำคัญสุดต่อจากนี้คือเราต้องลงมือทำเลยครับ ตามบทเรียนที่เราได้สังเคราะห์ และ ถอดบทเรียนรู้นั้น

เมื่อลงมือทำใหม่อีกครั้งตามบทเรียนที่เราได้เรียนรู้ เมื่อทำแล้วให้ทบทวน และ ถอดบทเรียนรู้อีกครั้ง พร้อมกับเทียบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากครั้งก่อนกับครั้งใหม่นี้ว่า มีอะไรที่เหมือนและแตกต่างกัน? ทำไมถึงเกิดผลเช่นนั้น? และถ้าเราจะทำให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลดีกว่านี้จะทำอย่างไร?

แล้วช่วยบันทึกไว้ด้วยว่า ทั้งหมดนี้ท่านได้เรียนรู้อะไรบ้าง?
คิดแล้วทำ ทำแล้วคิด Action-Reflection-Action
เราไม่ต้องการแพะต่อไปแล้วครับ แต่เรากลับได้ผลงานและการเรียนรู้!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

Prasit.emmaus@gmail.com; 081 289 4499

08 มกราคม 2561

ปีใหม่นี้...เลือกที่จะเชื่อเหนือที่จะกลัว!

เมื่อเราเริ่มต้นปีใหม่ หรือ วันใหม่ เราต้องเผชิญกับสองสิ่งข้างหน้าเราคือ ความเชื่อ กับ ความกลัว แล้วในแต่ละวันใหม่เราต้องตัดสินใจเลือกว่า เราจะจาริกไปในวันนี้ด้วยความเชื่อ หรือ ก้าวเดินไปในวันนี้ด้วยความกลัว? จากประสบการณ์ในชีวิตพบครั้งแล้วครั้งเล่า ถ้าเราเลือกที่จะกลัว ระวังครับ...ความกลัวมันมีอิทธิฤทธิ์มากมายเหลือเชื่อ ที่จะหลอมละลายให้ศักยภาพความสามารถที่พระเจ้าประทานให้เรานั้นอ่อนปวกเปียก แล้วฉุดดึงตรึงเราไว้ไม่ให้เราเริ่มต้น แล้วผูกมัดเราไว้ไม่ให้ความเชื่อแสดงพลังในชีวิตของเราได้

แน่นอนครับ... ผมเลือกที่จะเริ่มต้นด้วยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ ที่พระองค์เดินเคียงข้างผมไปในที่ทุกที่ ทุกสถานการณ์ และทุกวันด้วยครับ

แต่ถ้าเลือก หรือ เปิดโอกาส หรือ ปล่อยให้ “ความกลัว” มีอิทธิพลเหนือชีวิตของเรา แทนที่จะเป็นความเชื่อ สิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดจิตใจคือ สงสัย ระแวง กังขา และ ไม่เชื่อ ทำให้เกิดอาการ “กลัวที่จะทดลอง หรือ ไม่กล้าที่จะลงมือทำสิ่งใหม่ ในวันนั้น”

เมื่อความกลัวเข้ามายึดครองความคิดจิตใจของเรา เราเริ่มที่จะต้องปกป้องตนเองเพื่อความปลอดภัย เราจึงเลือกที่จะทำทุกอย่างทุกทางเพื่อตนเอง จนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว

เมื่อความกลัวมีอิทธิพลในการคิดของเราในเวลานั้น เราก็จะกลัว ไม่แน่ใจ ไม่กล้าที่จะอุทิศชีวิตแด่พระเจ้า และไม่ยอมจะแบ่งปันชีวิตแก่คนอื่น ทำให้เราเลือกคิดสั้นคิดง่ายคิดใกล้ คิดเพื่อตนเองเท่านั้น ความกลัวทำให้เรากลับมามองและมุ่งเน้นที่อดีต แล้วชีวิตติดในหล่มโคลนตมประสบการณ์แห่งความล้มเหลวที่ผ่านมา เพิ่มพูนอิทธิพลความกลัวในตัวเรามากยิ่งขึ้น จนไม่กล้าที่จะมองไปในอนาคต หรือ บ้างทำให้ “สายตาสั้น” หรือไม่ก็ “มืดบอด” จนมองไม่เห็นอนาคต

บารทิเมอัส ขอทานตาบอดข้างถนนไปเยรีโค เมื่อเขามีโอกาสเผชิญกับพระเยซู แน่นอนว่า บารทิเมอัส รู้ว่า สิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ เขาต้องตัดสินใจเลือกว่าตนจะทำอย่างไร ถ้าจะให้พระเยซูคริสต์รู้ว่า เขาอยู่ที่นั่น เขาต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์ เขาต้องตะโกนเสียงดังบอกพระเยซูให้ได้ยิน พระเยซูถึงจะรู้ว่าเขาอยู่ที่นั่น และเขาเชื่อแน่ว่าพระเยซูจะสามารถรักษาการตาบอดของเขาได้

แต่ถ้าเลือกที่จะตะโกนร้องเสียงดังให้พระเยซูได้ยิน เขาก็กลัวว่า เกรงว่า ผู้คนจะมองเขาว่า เขาเป็นคนไม่สุภาพ ทำเสียงดังก่อกวนความสงบในสังคม ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย เขากลัวว่า ผู้คนจะรับการกระทำของเขาไม่ได้ ผู้คนจะต่อต้านการกระทำของเขา เขาจะกลายเป็นคนที่สังคมไม่ยอมรับ เป็นคนที่สังคมประณาม และเขาอาจจะไม่มีที่ยืนและที่อยู่ในสังคมนั้นอีกต่อไป

แต่ถ้าเขาได้รับการรักษาจากพระเยซูคริสต์ ตาของเขาจะเห็นได้ เขาไม่ต้องขอทานพึ่งคนอื่นต่อไป แต่ถ้าจะได้รับการรักษาจากพระคริสต์ เขาต้องทำให้พระคริสต์รู้ว่า เขาอยู่ที่นั่น เขาต้องการการรักษาจากพระองค์ เขาเชื่อว่า พระเยซูคริสต์จะเข้าใจและยอมรับที่เขากระทำเสียงดังเช่นนั้น เขาเชื่อว่า พระองค์รักษาให้เขาหายได้ เขาเชื่อว่า พระเยซูคริสต์คือผู้เปลี่ยนชีวิตของเขาได้

บารทิเมอัส เมื่อเผชิญหน้ากับโอกาสในวันนั้น เขาเลือกที่จะ เชื่อ เป็นพลังกระทำในเวลานั้นของเขาเหนือ อิทธิพลแห่ง ความกลัว เขาตะโกนบอกพระเยซูว่า เขาต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์

หลายคนตำหนิและบอกให้เขาเงียบ แต่เขายิ่งร้องดังขึ้นว่า “บุตรดาวิดเจ้าข้า ขอท่านเมตตาข้าพระองค์ด้วยเถิด”(มาระโก 10:48 อมธ.)

ผลที่เกิดขึ้นตามมา ทั้งสาวกและผู้คนที่นั่น “ต่างตำหนิ และ บอกให้เขาเงียบ” ถ้าเป็นปัจจุบัน ก็คงจะมีคนพูดแรง ๆกับเขาว่า หุบปากเงียบได้ไหม? พระเยซูคริสต์มีงานอื่นที่สำคัญกว่าที่จะต้องทำ หยุดสร้างสถานการณ์ สร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย อย่าทำตัวป่วนเมืองได้ไหม? ถ้าคิดจะอยู่ในเมืองนี้ต่อก็หุบปากเสีย!

บ่อยครั้ง ซาตานอำนาจชั่ว มักกระซิบข้างหูของเรา ด้วยหลักการ เหตุผล อ้างความสงบเรียบร้อย อ้างความเป็นระเบียบ อ้างส่วนรวม อ้างแต่สิ่งลบ ๆ ร้าย ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพียงเพื่อที่จะหยุดยั้งสิ่งที่เราคิดเราเชื่อในพระเมตตาของพระเจ้าที่สามารถทำให้เกิดผลดีสร้างสรรค์ได้

แต่สำหรับพระคริสต์แล้ว คิดต่างทำต่างจากสาวกและฝูงชนในเวลานั้น พระเยซูคริสต์สั่งสาวกของพระองค์ว่า “ไปเรียกคนนั้นมา” (ข้อ 49) พระคริสต์ต้องการพบสัมผัสกับเรา ไม่ว่าสถานภาพชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรก็ตาม และ พระคริสต์ถามชายตาบอดนั้นว่า “ท่านต้องการจะให้เราทำอะไรให้ท่าน?” (ข้อ 51) พระคริสต์สนใจสิ่งที่เราคิด เราต้องการ สิ่งที่เราต้องการจากพระองค์ พระคริสต์ตั้งใจที่จะฟังเรา พระคริสต์ต้องการให้เราบอกพระองค์ตรง ๆ ถึงสิ่งที่เราคาดเราหวังจากพระองค์

ในทุก ๆ โอกาส ทุก ๆ ขณะ ที่พระคริสต์สัมผัสชีวิตของเรา พระองค์ต้องการตอบสนองคุณภาพชีวิตของเราที่ขาดที่พร่อง และสำคัญกว่านั้น เป็นเวลาที่จะทรงเสริมเพิ่มและหล่อหลอมความเชื่อศรัทธาของเรา และในเวลาเดียวกันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของสาวกและคนรอบข้าง ให้มีความคิดความเชื่อและความเข้าใจถึงความรักเมตตาที่ไร้เงื่อนไขของพระคริสต์ และเข้าใจถึงพระราชกิจการให้ชีวิตของพระองค์เพื่อผู้คนจะได้ชีวิตใหม่

พระคริสต์มีพระประสงค์ให้เราเริ่มต้นปีใหม่ วันใหม่ หรือ โอกาสใหม่ ด้วยความเชื่อศรัทธาและไว้วางใจในพระประสงค์ และ พระราชกิจที่พระองค์จะกระทำในชีวิตและเหตุการณ์ที่เราจะประสบพบเจอในแต่ละปี แต่ละวัน และแต่ละโอกาส ให้เราตระหนักชัดเสมอว่า ทุกขณะจิตพระคริสต์เคียงข้างไปกับเราแต่ละคน และพร้อมที่จะหนุนเสริมเพิ่มพลังกาย ใจ จิตวิญญาณ ความคิด และ ความสัมพันธ์ ให้เราสามารถรับมือจัดการสถานการณ์ชีวิตเวลานั้น ๆ ด้วยพระกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

ปีใหม่นี้...เลือกที่จะเชื่อเพื่อจะไม่ต้องกลัว!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

Prasit.emmaus@gmail.com; 081 289 4499

05 มกราคม 2561

ปีข้างหน้า...จะกังวล หรือ จะกล้าเสี่ยง?

ปีใหม่...โอกาสใหม่ ประสบการณ์ใหม่...เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
อย่ากังวลว่า “ข้างหน้า”...เราจะล้มเหลว หรือ ล้มลง
แต่ให้เราใส่ใจ “ข้างหน้า” ที่เป็น "โอกาส" มาถึงเรา
แล้วใช้โอกาสนั้นอย่างสุขุม สร้างสรรค์ และ เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
มิใช่กังวล หรือ กลัวจนพลาดที่จะใช้โอกาสนั้นในชีวิตอย่างเกิดผล และ เรียนรู้
เป็นไรไปที่จะล้มลงอีกสักครั้งหนึ่ง แต่ทำให้เราได้เรียนรู้อีกวิธีหนึ่งที่เราจะไม่ทำซ้ำอีก
ถึงจะ “ล้ม” ก็ได้เรียนรู้อีกวิธีหนึ่งที่จะลุกขึ้น เพื่อชีวิตจะสำเร็จและเกิดผล

จากขวบปีที่ผ่านมา เมื่อหวนไปทบทวนวันคืนเหล่านั้นพบว่า ในแต่ละวันมีสิ่งใหม่ผุดขึ้นในความคิดของเรา หรือสิ่งที่ท้าทายเราให้ต้องตัดสินใจ แต่หลายต่อหลายครั้ง หรือ โอกาสส่วนใหญ่ก็ว่าได้ที่เราละเลยเพิกเฉย เพราะเราบอกกับตนเองว่า “อย่าเสี่ยงดีกว่า!” เรากลัวที่จะผิดพลาด เรากลัวที่จะล้มลง เรากลัวว่าคนอื่นจะมองเห็นถึงความล้มเหลวในชีวิตของเรา

ความกลัว” คือก้างชิ้นโตที่ขวางไม่ให้เราไปถึงชีวิตที่สำเร็จ ชีวิตที่เกิดผล และ ชีวิตที่เรียนรู้

แม้แต่เรื่องพื้น ๆ ง่าย ๆ เมื่อเราไปร้านอาหารตามสั่ง แม้จะพบว่ามีเมนูอาหารชนิดใหม่ที่เราไม่เคยรับประทานมาก่อน แต่เราก็ไม่กล้าที่จะสั่งมาลองรับประทาน เพราะ “เรากลัว” ว่ารสชาติมันอาจจะไม่เอาไหน มันอาจจะไม่อร่อยอย่างที่เราคิดเราต้องการ เราเลยตัดสินใจไม่สั่งอาหารเมนูใหม่นั้น กลับไปสั่ง “ข้าวกะเพราไข่ดาว” เมนูอาหารคนสิ้นคิด เราจึงชวดที่จะได้ลิ้มรสอาหารเมนูใหม่ ไม่รู้ว่าอร่อยหรือไม่อย่างไร กลับไปใช้ชีวิตซ้ำซากที่คุ้นชิน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันแค่อาหารของคนสิ้นคิด กินเพื่อประทังไม่ให้หิวไปแค่นั้น

แท้จริงแล้ว ในแต่ละวันเมื่อเราเดินไปในที่ต่าง ๆ พบผู้คนมากมาย นั่นเป็น “โอกาสใหม่ ๆ” ที่เราสามารถที่จะฉวยและใช้เป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ในชีวิต เราพบหน้าผู้คนผ่านไปผ่านมามากมาย แค่เราจะยิ้ม แล้วเป็นฝ่ายเริ่มต้นทักว่า “สวัสดีครับ” การพบปะ การเป็นฝ่ายริเริ่มก่อน คือจุดที่เอื้อให้เกิดความสัมพันธ์ที่มีต่อกันได้ แต่เรากลับคิดไปว่า “แล้วถ้า” เขาไม่ตอบกลับล่ะ เราก็หน้าแตกซิ? เขาจะคิดว่าเราบ้าหรือไปทักผู้คนเรื่อยเปื่อย? “การเกรงว่า” “การสงสัยว่า” ทำให้เราเสียโอกาสใหม่ ๆ ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในชีวิตแต่ละวัน โอกาสดี ๆ ถูกเพิกเฉยเลยผ่านไปอย่างน่าเสียดาย

ในแต่ละวัน เราแต่ละคนต่างมีโอกาสมากมายที่จะคิดจะฝัน สิ่งใหม่ สิ่งใหญ่เสมอ แต่บ่อยครั้ง ผมก็เตือนตนเอง หรือ หลอกตนเองก็ไม่รู้ว่า “อย่าไปฝันใหญ่ ฝันไกล ไปเลย เพราะฝันมากก็จะเสียใจมาก เพราะเราก็จะผิดหวังมาก! ผมยอมรับครับว่า บางครั้งความฝันของเรามันไม่ได้ไปไกลอย่างที่คาดหวัง แต่ถ้าเราไม่หยุดแค่ความฝันไม่เป็นไปอย่างที่คาดคิด แล้วกลับมาทบทวน สะท้อนคิด ถอดบทเรียน หาสาเหตุ และ แสวงหาแนวทางว่าจะต้องทำอย่างไรความฝันถึงจะเป็นจริงได้ แล้วฝันใหม่ ฝันใหญ่ ฝันบนฐานของความเป็นจริง แน่นอนว่า จะมีสักครั้งหนึ่งที่ความฝันอันยิ่งใหญ่ก็จะประสบพบกับความสำเร็จเป็นจริง

ปีใหม่นี้ มีคำถามหนึ่งที่เรายังต้องถามตนเองว่า แล้วเราจะกล้าเสี่ยงไหม? เสี่ยงที่จะล้มเหลว เสี่ยงที่คนอื่นอาจจะคิดด้านลบกับเรา เสี่ยงที่ไม่เป็นไปอย่างที่เราฝันเราคาดหวัง? เพราะสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นแรงกระตุ้นที่มหาศาลทำให้เราพบพลังที่นำไปสู่ความสำเร็จ มิใช่ความสำเร็จเพื่อเราเอง แต่เป็นความสำเร็จเพื่อคนอื่นที่เราสัมผัสพบเห็นในชีวิตประจำวันอีกด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

Prasit.emmaus@gmail.com; 081 2894499

03 มกราคม 2561

จะโทษใครดี... เมื่อชีวิตตกต่ำ สับสน ทุกข์ยาก?

เมื่อทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านมา บางครั้งเกิดคำถามลึก ๆ ในใจว่า ทำไมพระเจ้าถึงปล่อยให้เราต้องเดินไปบนเส้นทางชีวิตที่ดูยุ่งยากยุ่งเหยิง? ทำไมพระองค์ให้เราต้องเผชิญกับชีวิตที่ซับซ้อนและสับสน? ทำไมพระเจ้าทำให้ชีวิตของเราต้องตกต่ำ ติดหล่มกับดักของอำนาจบาปชั่ว?

จริงอยู่ สิ่งทุกข์ยากในชีวิตอาจเกิดจากการตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินที่ผิดพลาดของเรา แต่ทำไมพระเจ้าปล่อยให้เราเลือกเส้นทางชีวิตที่ผิดพลาด? พระองค์ก็รู้ว่า ถ้าเราเลือกไปบนเส้นทางที่ผิดพลาดเช่นนี้ ชีวิตเราจะต้องได้รับความทุกข์ยาก สับสน วุ่นวาย หลงทาง แต่ทำไมพระองค์ยังยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับชีวิตคนของพระเจ้า คนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์?

ถามจนไม่รู้จะถามอะไรเลยต้องอยู่ในความเงียบ ตนเองก็ไม่รู้จะตอบตนเองอย่างไร มีเสียงแผ่วเบาและนิ่มนวลเอ่ยขึ้นว่า “เจ้าเป็นชนเผ่ากรรมสิทธิ์ของเรา แต่เจ้ามิใช่อภิสิทธิ์ชน”

เสียงประโยคข้างต้นทำให้ตนเองต้อง “สะอึก” ในที่สุดไม่รู้จะตอบอย่างไรได้ นอกจากจะยอมรับว่า “ใช่พระเจ้าข้า ที่ผ่านมาข้าพระองค์คิดอย่าง “อภิสิทธิ์ชน” คิดเข้าข้างตนเอง คิดแต่สิ่งที่ตนเองอยากได้ และคิดว่า คนอื่นต้องทำเพื่อตนเอง เป็นสิทธิ์ของตนเอง และข้าพระองค์ก็คิดและทำเช่นนี้ต่อพระองค์ด้วย...” ทำให้ตนเองต้องหวนกลับไปอ่านคำของผู้เผยพระวจนะ อิสยาห์ ที่ว่า...

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า
เหตุใดทำให้ข้าพระองค์ทั้งหลายหลงเตลิดจากวิถีทางของพระองค์
และทำให้จิตใจของข้าพระองค์แข็งกระด้างจนไม่ยำเกรงพระองค์?
ขอทรงโปรดกลับมาเพื่อเห็นแก่ผู้รับใช้ของพระองค์
ชนเผ่าซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ (อิสยาห์ 63:17 อมธ.)

อิสราเอล ที่ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจในสมัยนั้นก็ถามคำถามตรง ๆ กับพระเจ้า อย่างที่เราปัจจุบันถามพระองค์เช่นกัน แต่อิสยาห์ไปไกลกว่าคำถามที่ว่า “ทำไมพระเจ้าปล่อยให้ประชาชนของพระองค์เตลิดไปเช่นนั้น” แต่สิ่งที่อิสยาห์ทูลขอในเวลาเช่นนี้ เขาทูลขอโอกาสใหม่ โอกาสอีกครั้งหนึ่ง ที่จะทรงปกป้องคุ้มครอง “ชนเผ่ากรรมสิทธิ์ของพระองค์” เขาทูลขอโอกาสที่จะกลับมาหาพระองค์ใหม่ รับการเสริมสร้างให้เป็นชนเผ่าที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า แต่มิใช่ชนเผ่าอภิสิทธิ์ชน(ตามใจตน) เป็นชนเผ่าที่ทำตามพระประสงค์ และ มีชีวิตที่เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้า

ในเวลาที่เราพบว่าชีวิตของเราเลือกทางพลาดเดินทางผิด สิ่งสำคัญที่ต้องการในเวลาสับสน วุ่นวายใจ และเจ็บปวดในชีวิตเช่นนี้ เราต้องการการช่วยเหลือจากพระเจ้า ในภาวะเช่นนี้คือภาวะที่เราไม่สามารถที่จะช่วยตนเองได้ ต่อให้มีอภิสิทธิ์อีกกี่ร้อยกี่พันเท่า ก็ไม่ช่วยให้เราช่วยตนเองให้รอดพ้นจากกับดักหล่มโคลนของชีวิตได้ ในภาวะเช่นนี้เราต้องการการช่วยเหลือจากพระเจ้า เราขอพระเมตตาที่จะให้โอกาสใหม่อีกสักครั้งหนึ่งในชีวิตนี้ ผู้ประพันธ์บทเพลงสดุดี 46:1 ได้บอกกับเราถึงประสบการณ์ในชีวิตของเขาว่า
พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัยและเป็นกำลังของเรา
เป็นความช่วยเหลือที่พร้อมอยู่ในยามยากลำบาก...”

ขอให้สัจจะความจริงดังกล่าว ได้ฝังแน่นในก้นบึ้งแห่งชีวิตจิตใจ และ ในจิตใต้สำนึกของเราว่า “พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัย เป็นกำลังของเรา และ เป็นความช่วยเหลือที่พร้อมในยามที่เราเผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก” แม้เราได้ตัดสินใจพลาดเลือกทางเดินชีวิตที่ผิด แต่พระเจ้าเป็นความช่วยเหลือที่พร้อมอยู่สำหรับเราทุกคน กลับมาหาพระเจ้า และบอกพระองค์จากจริงใจว่า เราต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ในชีวิต

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง:

prasit.emmaus@gmail.com; 081 289 4499

01 มกราคม 2561

ปีใหม่นี้...เราจะไปตามนัดไหม?

ถ้าเรายอมรับว่ามี “ปีใหม่”
นั่นหมายว่า เรายอมรับว่าเรากำลังก้าวเดินเข้าสู่ “ภาวะที่ง่อนแง่น ภาวะที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง”
เรารับรู้ ตระหนักว่า “เราจะอยู่ในความเปลี่ยนแปลง”
เราเตรียมจิต เตรียมใจ เตรียมกาย ที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์

เราคาดหวังว่า ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงนี้เราจะสัมผัสและจะให้ “ความสุข”
เราตั้งใจว่า การเปลี่ยนแปลงคือ “กระดาษทราย” ที่ขัดเกลาชีวิตเราให้ “เรียบรื่น และ ละมุน”
เรารับรู้ และ เรียนรู้ถึง “การที่จะให้ชีวิต เพื่อจะเกิดชีวิตใหม่ในคนอื่นรอบข้าง”
เรามั่นใจว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเป็นพลังหนุนเสริมชีวิตประจำวันของเรา

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง การสร้างใหม่ ที่เราจะพบ ผ่าน ประสบ รู้สึก และ เรียนรู้
ให้เราตระหนักรู้ว่า ทุกเสี้ยววินาทีคือ “ชีวิตใหม่” ในกระแสธารแห่ง “ชีวิตนิรันดร์”
ชีวิตนิรันดร์เป็นชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงทุกอณูในชีวิต
ชีวิตนิรันดร์เป็นชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทุกเสี้ยววินาที ทุกก้าวที่ขยับตัวออกไป เป็นก้าวใหม่ในชีวิตของเรา

สัจจะชีวิต ตั้งแต่ปฐมกาล จนถึง วิวรณ์ ได้ย้ำเตือนเราตลอดเวลาคือ
พระเจ้าคือผู้ที่ก่อเกิด “การเปลี่ยนแปลง”
พระเจ้าองค์นิรันดร์กาลคือ “ผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนทุกย่างก้าวในชีวิต”
พระเจ้า “ผู้ทรงสร้าง” ก็เป็น “ผู้ใส่ใจ” “ผู้เยียวยารักษา” และ “ผู้สร้างใหม่”

พระเจ้าองค์นิรันดร์ เป็นพระเจ้าที่อยู่กับเรา
พระเจ้าพระผู้สร้างอยู่กับเราในสถานการณ์ชีวิตทั้งความสุข และ เจ็บปวด
พระเจ้าผู้สูงสุดอยู่กับเราในเวลาชีวิตที่ตกต่ำ ลำเค็ญที่สุดที่เราต้องประสบพบ
พระเจ้าองค์บริสุทธิ์กลับมาคลุกคลีกับชีวิตของเราที่เปรอะเปื้อนมลทินสิ้นหวัง

เราพบกับพระเจ้าแห่งความหวังท่ามกลางความสิ้นหวัง
เราพบกับพระเจ้าที่เข้มแข็งเมตตา เมื่อเรากำลังสิ้นแรงไร้ที่พึ่งพิง และผู้นำพา
เราพบกับพระเจ้าผู้สร้างใหม่ ให้ชีวิตใหม่ เมื่อเราอยู่ใน “การล้มละลายของชีวิต”
เราพบกับพระเจ้าแห่งสันติสุข ท่ามกลางการแย่งชิง ทำลายล้างผู้อื่น ท่ามกลางที่โลกปกครองด้วย “ผู้นำที่บ้า”

ในปีใหม่พระเจ้านัดพบกับเราในชีวิตประจำวันที่เราจะต้องเผชิญ
ในปีใหม่พระเจ้านัดพบกับเราในภาวะฉ้อฉลที่เราไม่สามารถควบคุมและจัดการได้
ในปีใหม่พระเจ้านัดพบกับเราใน “ทะเลทรายแห่งความเห็นแก่ตัวและทำลายผู้อื่น”
ในปีใหม่พระเจ้านัดพบกับเราในความฉีกขาดและบาดแผลในชีวิตของเรา

ในปีใหม่นี้ เราพร้อมจะไปตามนัดของพระเจ้าหรือเปล่า?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

Prasit.emmaus@gmail.com; 081 289 4499