31 สิงหาคม 2553

ของโอชะแห่งความชั่วร้าย

อ่านสดุดี 141:1-10
4ขออย่าให้จิตใจข้าพระองค์เอนเอียงไปหาความชั่วใดๆ
หรือให้ข้าพระองค์สาละวนอยู่กับการชั่วร้าย
ร่วมกับคนที่ทำความบาปผิด
และขออย่าให้ข้าพระองค์กินของโอชะของเขา (สดุดี 141:4)

กษัตริย์ดาวิดประพันธ์สดุดีบทที่ 141 จากประสบการณ์ของท่านที่ต้องปล้ำสู้กับการทดลองที่ดึงดูดให้ท่านมีใจเอนเอียงไปสู่การกระทำผิด ซึ่งแตกต่างจากสดุดีที่ประพันธ์ในบทอื่นๆ ที่การทดลองทำให้ผู้ถูกทดลองต้องทำความชั่วร้ายรุนแรงอันเป็นภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพของชีวิต แต่การทดลองที่ปรากฏในสดุดีบทที่ 141 อันตรายที่เกิดจากการทดลองในที่นี้มิใช่การความรุนแรงจากการถูกล่อลวงให้กระทำผิด แต่การทดลองในสดุดีบทนี้มาในรูปแบบของการโน้มน้าวให้จิตใจเอนเอียงให้เข้าร่วมในการกระทำผิด และเห็นถึง “ความโอชะ” ของการกระทำผิดนั้น

น่าสังเกตว่า กษัตริย์ดาวิดรำพึงถึง “ความหอมหวานโอชะ” ของการกระทำผิด ท่านกล่าวถึงการทดลองในที่นี้ทำให้ผู้ถูกทดลองแทนที่จะมองเห็นความชั่วร้ายของการกระทำผิดอย่างในสดุดีบทอื่นๆ แต่ในสดุดี 141 กษัตริย์ดาวิดชี้ให้เห็นเล่ห์เหลี่ยมของผู้ทดลองที่ทำให้ผู้ถูกทดลองกลับมองเห็น “ความโอชะ” ของการกระทำผิดบาป คำว่า “ของโอชะ” ในข้อที่ 4 รากศัพท์ภาษาฮีบรูมีความหมายว่า สิ่งที่ทำให้ถูกตาตรึงใจ ความสวยงาม ความหวานชื่นอิ่มอกอิ่มใจ กษัตริย์ซาโลมอนใช้คำๆ นี้ในการพรรณนาถึงความงดงามของทรวดทรงหญิงที่โซโลมอนหลงรัก(บทเพลงโซโลมอน 1:16) หรือยังมีความหมายถึงรสชาติอันโอชะของอาหาร “น้ำที่ขโมยมาหวานดี และขนมที่รับประทานในที่ลับก็อร่อย” (สุภาษิต 9:17) หรือเสียงหวานชื่นตรึงใจของเสียงดนตรี (สดุดี 81:2) ความบาปสามารถแปลงโฉมให้ผู้คนมองว่าเป็น “ของโอชะ” “รื่นรมย์ยินดี” เป็นสิ่งที่น่าสนอกสนใจ และเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์

กษัตริย์ดาวิดรู้ดีว่า สิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ความ “โอชะ สวยงาม และทรงคุณค่า” นั้นคือความเลวร้ายที่รุนแรง เป็นความขมขื่นที่เคลือบด้วยน้ำผึ้ง เป็นความเปื่อยเน่าที่ฉาบหุ้มด้วยความสวยงาม ดังนั้น ท่านจึงทูลขอต่อพระเจ้าว่า “ขออย่าให้จิตใจของข้าพระองค์เอนเอียงไปหาความชั่วใดๆ” ตามความหมายรากศัพท์เดิมในภาษาฮีบรูอาจจะแปลได้ว่า “ขอโปรดอย่าให้ข้าพระองค์โอนเอียงด้วยความสมัครใจไปในทางที่ชั่ว” ความบาปมิได้เกิดขึ้นจากการที่รีบเร่งกระทำในสิ่งที่ผิด แต่ความบาปเริ่มต้นจากภายในส่วนลึกแห่งจิตใจของเรา ที่ถูกโน้มน้าวทำให้เอนเอียงไปตามความบาปชั่วโดยเล่ห์อุบายของการทดลอง ที่ทำให้เรามองว่าการกระทำบาปชั่วเช่นนั้นไม่เห็นจะผิดหรือเลวร้ายรุนแรงแต่ประการใด แต่ถ้าเรายอมปล่อยใจให้เอนเอียงไปหาความบาปชั่วดังกล่าว หากถ้าเรายอมปล่อยจิตปล่อยใจให้ไปตามการยั่วยุด้วย “ของโอชะ” ของความชั่วร้าย เมื่อนั้น เราก็จะ “...สาละวนอยู่กับการชั่วร้ายร่วมกับคนที่กระทำความบาปผิด”

ดังนั้น การที่เราหลีกลี้ ปฏิเสธ “ของโอชะ” ของความชั่วร้าย ด้วยการตระหนักชัดว่านี่คือการทดลอง และรีบหันหลังให้กับมัน แต่เราไม่สามารถที่จะกระทำเช่นนี้ด้วยพละกำลังของเราเอง เราต้องการการทรงช่วยจากองค์พระผู้เป็นเจ้า และเมื่อเราตัดสินใจ “ไม่เอนเอียงไปหาความชั่ว” แต่มุ่งมองไปที่องค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างสุดหัวใจทูลขอการทรงช่วยกู้จากพระองค์ พระองค์จะประทานการทรงช่วยเหลือแก่เรา

ในแต่ละวันจำเป็นที่เราต้องสำรวจและถามตนเองว่า
อะไรคือ “ของโอชะ” แห่งความบาปที่กำลังยั่วยวนเรา?
เรากำลังถูกการทดลองในเรื่องอะไร?
จิตใจของเราวันนี้ “เอนเอียง” ไปหาสิ่งใดกันแน่?

ในแต่ละวันจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องร้องทูลขออย่างกษัตริย์ดาวิด
บ่อยครั้งเรามีประสบการณ์อย่างดาวิดที่ชีวิตตกอยู่ในการล่อลวง
มีข้อเสนอที่ดูเหมือน “โอชะ” “หอมหวาน” ที่เราชื่นชอบ
แต่ขอพระเจ้าทรงช่วยให้เราตระหนักชัดทันทีว่า
นี่คือการทดลองของความบาป
นี่คือพลังอำนาจของการทดลองเพื่อทำร้ายและทำลาย

ดังนั้นให้เราอธิษฐานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างกษัตริย์ดาวิด
ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้เราอย่าได้มีจิตใจที่ “เอนเอียง” ไปหาความบาปชั่ว
ขอพระองค์คุ้มครองรักษาเราจากการที่ต้องตกลงในกับดัก “ความโอชะ”ของความบาป
การตกลงไปมีส่วนร่วมในการกระทำความชั่วร้ายเลวทราม ที่จะทำลายชีวิตจิตวิญญาณของเราและผู้อื่น

ขออย่านำข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง
ให้พ้นจากอำนาจแห่งความชั่วร้าย
ทรงนำข้าพระองค์ดำเนินไปบนเส้นทางของพระองค์
เติมเต็มจิตใจของข้าพระองค์ให้ปรารถนาพระองค์และความบริสุทธิ์ของพระองค์

29 สิงหาคม 2553

อะไรที่บ่งชี้ถึงความเป็นคริสเตียนของท่าน?

อ่าน 1โครินธ์ 1:10-17

...พวกท่านต่างก็กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เปาโล” หรือ “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์อปอลโล” หรือ “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เคฟาส” หรือ “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์พระคริสต์” (ข้อ 12)

เปาโลเขียนจดหมายฉบับแรกถึงชุมชนคริสตจักรในเมืองโครินธ์ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการแตกแยกแบ่งพรรคแบ่งพวกในคริสตจักรเวลานั้น มีหลายเหตุผลข้ออ้างของคนในชุมชนคริสตจักรโครินธ์ที่ไม่สามารถจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ชุมชนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์แห่งนี้แบ่งออกเป็นก๊กเป็นเหล่าแทนที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เป็นคริสตจักรของพระเยซูคริสต์

สาเหตุประการหลักที่ทำให้คริสเตียนในเมืองโครินธ์ต้องแตกเป็นพรรคเป็นพวก เป็นก๊กเป็นเหล่า หรือทำให้คริสเตียนในเมืองนั้นไม่สามารถที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้เพราะ “ความต่ำด้อยด้านวุฒิภาวะในความเชื่อและชีวิตคริสเตียน” หรือ “วุฒิภาวะในความเชื่อที่ยังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์” แต่ยังเป็นเด็กในพระคริสต์ที่ถูกซัดไปเซมา หันไปเหมา ด้วยลมปากและการใช้เหตุผล ด้วยผลประโยชน์และความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งเป็น “กับดัก” คริสเตียนที่ยังไม่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระเยซูคริสต์ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้นเช่นนั้นเพราะคริสเตียนเหล่านี้นำเอาวัฒนธรรมและบางส่วนในวิถีชีวิตเดิมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตเมื่อกลับใจเชื่อในพระเยซูคริสต์ หรือมองว่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดังกล่าวเป็นสิ่งกระทำกันในสังคมในเวลานั้นและถือว่าเป็นธรรมดา หรือบางครั้งเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีเสียอีก จึงยึดถือและนำเข้ามาปฏิบัติในชุมชนคริสเตียน ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วสิ่งเหล่านั้นไม่สอดคล้องถูกต้องตามวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตคริสเตียนเลย

ตัวอย่างวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตที่คริสเตียนในเมืองโครินธ์นำมาจากความเชื่อเดิม หรือ แนวทางปฏิบัติที่ทำกันในสังคมสมัยนั้นคือ การติดยึดตัวบุคคลที่นำเขาให้เข้าไปสู่ความล้ำลึกทางความเชื่อศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางศาสนา เช่น พระ, อาจารย์, หรือนักปรัชญาในยุคนั้น และประกาศตัวเป็นสาวกของผู้นำคนนั้นๆ สวามิภักดิ์ ทุ่มเทกาย ใจ ความคิด ให้แก่คนๆ นั้น เพราะผู้นำคนนี้นำเขาให้เข้าถึงพระเจ้า นำเขาให้ชีวิตได้ประสบพบโอกาสและสิ่งที่ดีมีประโยชน์ หรือไม่ผู้นำคนนั้นก็ได้ช่วยชี้ทางให้เขาให้ดำเนินเนินชีวิตที่มีจริยธรรม หรือ เสริมหนุนให้เขาพบกับปัญญาความคิด

ด้วยเหตุนี้จึงมีคริสเตียนในเมืองโครินธ์บางคนที่กล่าวอ้างแสดงตนว่า ตนเป็นสาวกของเปาโล บ้างก็ยืนยันว่าตนเป็นสาวกของอปอลโล อีกพวกหนึ่งก็อวดอ้างว่าเป็นสาวกของเปโตร และนี่คือผลของการนำเอาวัฒนธรรมเดิมและวิถีชีวิตเดิมมาปฏิบัติในคริสตจักร หรือการนำเอาวัฒนธรรมและแนวทางปฏิบัติที่นิยมชมชื่นว่าถูกต้องในสมัยนั้นแต่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามแบบพระเยซูคริสต์มาปฏิบัติในชุมชนคริสตจักรของพระองค์ นี่คือที่มาประการหนึ่งของการแตกแยกในคริสตจักรของพระเยซูคริสต์

คงยากที่จะปฏิเสธว่า สิ่งในทำนองนี้ก็เกิดขึ้นในคริสตจักรไทยปัจจุบัน บางคนยึดมั่นอวดอ้างในมรดกธรรมเนียมปฏิบัติตามลัทธินิกายของตน ในที่นี้รวมถึงพวกที่อ้างตนว่าเป็นคริสตจักรอิสระไม่มีสังกัดลัทธินิกายใดด้วยเช่นกัน (เพราะได้ตั้งตัวเป็นอีกพวกหนึ่งเช่นกัน) ด้วยเหตุผลที่ย้ำอย่างลึกๆ เพื่อจะบอกว่าตนเป็นคริสเตียนขนานแท้ (กว่าพวกอื่น)

อีกกลุ่มหนึ่งได้ยืนยันความเป็นคริสเตียนของตนโดยยึดมั่นในศาสนศาสตร์กระแสใดกระแสหนึ่ง บ้างจึงประกาศตัวว่าตนเป็นคริสเตียน “อีเวนเจริคัล” บ้างก็มุ่งมั่นทำให้คริสตจักรและสถาบันคริสเตียนทั้งหลายให้เชื่อแบบ “เอคคิวเมนิคัล” น่าสังเกตว่า คริสเตียนทั้งสองกลุ่มนี้ติดตามแนวทางศาสนศาสตร์ที่ตนยึดถืออย่างเอาเป็นเอาตาย การที่คริสเตียนจะมีศาสนศาสตร์นั้นไม่ใช่สิ่งผิดแปลกประการใด แต่การยึดมั่นถือมั่นในศาสนศาสตร์จนทำให้สัมพันธภาพของการเป็นชุมชนคริสเตียนของพระเยซูคริสต์ต้องแตกแยกฉีกขาดต่างหากที่เป็นการผิดแน่ๆ และเมื่อใดที่คริสเตียนไทยทำตนเช่นนี้ก็กำลังตกลงใน “กับดัก” ที่ชุมชนคริสตจักรโครินธ์เคยตกลงไปแล้ว

สิ่งที่จะสำแดงและยืนยันในการเป็นคริสเตียนของเราคือการที่เราเลือกที่จะยึดมั่น ยืนหยัดเคียงข้างการเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ ที่จะไม่สร้าง “กำแพง” ที่จะขวางกั้นสามัคคีธรรมของพระเยซูคริสต์ในแผ่นดินของพระเจ้า

ในการที่เราทุกคนยึดมั่น ติดตาม ด้วยความไว้วางใจในพระเยซูคริสต์ นี่คือสายสัมพันธ์ที่จะผูกพันเราเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชนคริสตจักรของพระเยซูคริสต์

วันนี้ เราแต่ละคนคงต้องถามตนเองว่า
อะไรคือสิ่งที่บ่งชี้ความเป็นคริสเตียนของเรา?
การที่จะต้อง “ตีตรา” ว่าเราเป็นคริสเตียน “ยี่ห้อ” อะไร สำคัญต่อเราแค่ไหน?
การที่เราต้องแสดงตน หรือ ประกาศตนว่าเป็นพวกของ “ผู้นำคริสเตียน” คนใด มีผลกระทบ หรือ สั่นคลอนต่อสัมพันธภาพกับคริสเตียนคนอื่นๆ หรือไม่?
คงเป็นเวลาที่เราจะต้องหันกลับมาติดตามแต่พระคริสต์
ยึดมั่น ทุ่มเททั้งหมดแด่พระองค์
แม้เราจะมี ศาสนศาสตร์อะไร หรือ เป็นพวกของใครก็ตาม

บ่อยครั้งที่เราถูกครอบงำจนเป็นทาสทางความคิด ความเชื่อที่ได้รับการสอน
จนเราไม่ยอมที่จะเป็นมิตรกับเพื่อนคริสเตียนที่คิดต่างจากเรา หรือปฏิบัติไม่เหมือนเรา
ท่ามกลางความแตกต่างของเราแต่ละคน
ให้เราต่างยึดมั่นวางใจในพระคริสต์
นี่จะเป็นสายใยสามัคคีธรรมที่จะผูกรัดจิตใจ ความคิด จิตวิญญาณ และทั้งชีวิตของเราทุกคนเข้าด้วยกัน
ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะทุกคนเป็นของพระองค์

ให้เราละ วาง สิ่งที่สั่นคลอน กีดขวาง และฉีกกระชากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเราในพระคริสต์ เพื่อเราจะเป็นของกันและกันในครอบครัวของพระองค์

พระธรรมภาวนา

ยอห์น 17:11
บัดนี้ข้าพระองค์จะไม่อยู่ในโลกนี้อีก แต่พวกเขายังอยู่ในโลกนี้ และข้าพระองค์กำลังจะไปหาพระองค์ ข้าแต่พระบิดาผู้บริสุทธิ์ ขอพระองค์ทรงโปรดพิทักษ์รักษาบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ประทานแก่ข้าพระองค์ไว้โดยพระนามของพระองค์ เพื่อเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนดังข้าพระองค์กับพระองค์

ยอห์น 17:21
เพื่อเขาทั้งหลายจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่พระองค์คือพระบิดาทรงสถิตในข้าพระองค์ และข้าพระองค์ในพระองค์ เพื่อให้เขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์ และกับข้าพระองค์ด้วย เพื่อโลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงใช้ข้าพระองค์มา

กาลาเทีย 3:27-28 27
เพราะเหตุว่าคนที่รับบัพติศมาเข้าร่วมในพระคริสต์แล้ว ก็จะสวมชีวิตพระคริสต์ 28จะไม่เป็นยิวหรือกรีก จะไม่เป็นทาสหรือไท จะไม่เป็นชายหรือหญิง เพราะว่าท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยพระเยซูคริสต์

เอเฟซัส 2:14-16, 18-19 14
เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นสันติสุขของเรา เป็นผู้ทรงกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทรงรื้อกำแพงที่กั้นระหว่างสองฝ่ายลง 15คือการเป็นปฏิปักษ์กัน... เพื่อจะกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นคนใหม่คนเดียวในพระองค์ เช่นนั้นแหละจึงทรงกระทำให้เกิดสันติสุข 16และเพื่อจะทรงกระทำให้ทั้งสองพวกคืนดีกับพระเจ้า เป็นกายเดียวโดยกางเขน ซึ่งเป็นการทำให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อกันหมดสิ้นไป.. 18เพราะว่าพระองค์ทรงทำให้เราทั้งสองพวกมีโอกาสเข้าเฝ้าพระบิดาโดยพระวิญญาณองค์เดียวกัน 19เหตุฉะนั้นท่านจึงไม่ใช่คนต่างด้าว(ท้าว)ต่างแดนอีกต่อไป แต่ว่าเป็นพลเมืองเดียวกันกับธรรมิกชน และเป็นครอบครัวของพระเจ้า

27 สิงหาคม 2553

ผู้นำที่สร้างผู้นำ

ผู้นำบางคนยอมตนให้ผู้ตามสร้างตนเองให้เป็นผู้นำ
มีผู้นำบางคนต้องการสร้างผู้ตามให้เป็นคนที่ทรงประสิทธิภาพ
แต่ผู้นำบางคนต้องการสร้างผู้นำที่ทรงประสิทธิภาพ
สำหรับ ดร. จอห์น ซี แมกซ์แวลล์ ต้องการเป็นผู้นำที่สร้างผู้นำของผู้นำ
และผู้นำของผู้นำของผู้นำของผู้นำ...

ผู้นำบางคน เขาให้คนแวดล้อมทำให้ตนเป็นผู้นำ เขาจึงเป็นผู้นำของ “พวกพ้อง” แต่คนอื่นในองค์กรไม่ยอมรับภาวะผู้นำของเขา
ผู้นำบางคนเข้าใจว่า ความก้าวหน้าขององค์กรขึ้นอยู่กับศักยภาพของลูกน้องในองค์กร ดังนั้น เขาจึงลงทุนลงแรงสร้างลูกน้องของเขาให้มีประสิทธิภาพ
ผู้นำบางคนเข้าใจว่า ความแกร่งขององค์กรเพราะมีคนที่มีภาวะผู้นำมากมาย ที่เข้ามีช่วยกันนำ ดังนั้น เขาจึงสร้างลูกน้องให้เป็นผู้นำที่มีศักยภาพ ให้เป็นผู้นำที่เพิ่มคุณค่าแก่องค์กร

ท่านเลือกคนแบบไหนเข้ามาทำงานในองค์กรของท่าน?
ท่านสบายใจกับคำหวานของพวกพ้อง เพื่อท่านจะรู้สึกมั่นคงในองค์กร หรือ
ท่านสร้างคนในองค์กรให้ทำงานที่ท่านต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ
ท่านฝึกฝนลูกน้องให้เป็นผู้นำที่สร้างคุณค่าเพิ่มแก่องค์กรของท่าน?

ในฐานะ “ผู้นำ” งานของท่านมิใช่เพียงแต่ที่จะรู้ถึงศักยภาพ และ ความสามารถของคนแต่ละคนในองค์กรของท่านเท่านั้น
แต่ผู้นำที่แท้จริงควรเป็นผู้ที่ “หนุนเสริมเพิ่มพลัง” ให้ลูกน้องกลายเป็นผู้นำให้ได้

ดร. จอห์น ซี. แมกซ์แวลล์ ได้ให้กุญแจ 5 ดอกสำหรับเสริมและสร้างคนในองค์กรของท่านจากผู้ตามให้เป็นผู้นำ ดังนี้

ขั้นแรก ท่านใช้กุญแจทั้งห้าดอกนี้ในการพิจารณาตนเองว่า “ฉันได้หนุนเสริมเพิ่มพลังให้คนของฉันให้เป็นผู้นำหรือไม่?”

ขั้นต่อไป ใช้กุญแจนี้เป็นแนวทางในการเสริมสร้างบรรยากาศของ... การหนุนเสริมเพิ่มพลังให้คนในองค์กรของท่านเติบโตขึ้นในการเป็นผู้นำ

1. ให้คุณค่าแก่กระบวนการมากกว่าความสำคัญของเหตุการณ์เป็นครั้งคราว

เราต้องตระหนักชัดว่า คนในองค์กรของเราจะไม่สามารถเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่เพียงแค่ในชั่วเวลาค่ำคืน ผู้นำต้องผ่านการพัฒนาเสริมสร้างวันแล้ววันเล่า ไม่ใช่วันเดียว ความรับผิดชอบของเราในฐานะผู้นำขององค์กรคือ จัดเตรียมขั้นตอนการพัฒนาเสริมหนุนสำหรับคนของเราในงานที่ทำ และเป็น “พี่เลี้ยง” ของเขาตลอดกระบวนการการทำงานและการหนุนเสริมเพิ่มพลังให้เขาเป็นผู้นำ

2. ให้สิ่งที่ดีที่สุดของท่านแก่คนที่ดีที่สุดขององค์กร

นอกจาก “คนที่ดีที่สุด” ในองค์กรหาได้ยากแล้ว การรักษาคนที่ดีที่สุดไว้ให้อยู่ในองค์กรนานที่สุดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราควรจะใช้เวลา 80% กับคน “หัวกะทิ” 20% ในองค์กรของเรา แต่ถ้าเราให้สิ่งที่ดีที่สุดของเราแก่คนทั่วไปในองค์กรของเรา โดยขาดการเฉพาะเจาะจง จะมีสองสิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กรของเราคือ คนที่ดีที่สุดในระดับหัวกะทิขององค์กรจะเกิดความรู้สึกว่า ตนเองมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะได้เจริญก้าวหน้าในองค์กรนี้ส่งผลให้เกิดความท้อแท้ใจในการทำงาน แล้วทำให้เกิดอาการทำงานแบบ “งานไม่เจ๊ง แต่งานไม่เจ๋ง”

3. เข้าใจและตอบสนองความจำเป็นต้องการของคนในองค์กร

คนในองค์กรของเราที่มีแนวโน้มจะเป็นผู้นำในอนาคตมีความจำเป็นต้องการพื้นฐาน 5 ประการคือ
1) เขาต้องการมีโอกาสที่ชีวิตจะประสบความสำเร็จ
2) เขาต้องการรู้ว่าท่านต้องการหรือคาดหวังอะไรจากเขา
3) เขาต้องการรู้ว่า ผลงานของเขาเป็นอย่างไรในสายตาของท่าน
4) เขาต้องการให้ท่านเป็นพี่เลี้ยง หรือ สอนงานเขา
5) เขาต้องการรู้ว่า ท่านและทีมงานจะหนุนเสริมเขาอะไรได้บ้างในการทำงาน
ท่านจะตอบสนองต่อความต้องการที่จำเป็นของผู้นำในอนาคตเหล่านี้อย่างเหนียวแน่นได้หรือไม่?

4. ประเมินความก้าวหน้าของคนกลุ่มนี้

ท่านต้องอธิบายถึงโอกาสที่เขาจะก้าวหน้า และวางขั้นตอนการพัฒนาของแต่ละคนให้เขาเห็นชัด พัฒนาแนวทางและความชัดเจนในงานที่เขาจะต้องรับผิดชอบ สร้างเครื่องมือในการชี้วัดหรือประเมินผลความก้าวหน้าในการทำงานนั้น อย่างน้อยปีละสองครั้ง และมีการบันทึกตลอดกระบวนการการพัฒนาถึงความก้าวหน้าของเขา

5. ส่งเสริมความก้าวหน้าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

แฟรงกิ้น รูสแวลท์ ได้ให้เกณฑ์ของคนที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาไว้ดังนี้
ใครที่มีน้ำใจ “ไมล์ที่สอง” ในการทำงาน?
ใครที่มีอิทธิพลต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ?
ใครคือคนที่สามารถให้ทางออกเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา?

ท่านพึงแน่ใจว่า ท่านได้สนับสนุนส่งเสริมผู้นำในอนาคตในองค์กรของท่านที่แสดงความแตกต่างดังกล่าว แต่ถ้าท่านไม่ตอบสนองส่งเสริมเขา เขาก็จะไปหาคนอื่นที่ส่งเสริมสนับสนุนเขา (ที่ไม่ใช่ท่าน) แน่นอนครับ คนที่มีศักยภาพในระดับผู้นำในอนาคตคงไม่งอมืองอเท้ารอให้ท่านช่วยเขา เพราะเขาเป็นคนที่ต้องพึ่งตนเองก่อน และเป็นคนที่ลงมือทำเสมอ

การที่ท่านเริ่มต้น “หนุนเสริมเพิ่มพลัง” แก่คนในองค์กรของท่านในวันนี้...
ท่านมิได้หนุนเสริมเพิ่มพลังพวกเขาด้วยกระบวนการและเครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตเท่านั้น
แต่เป็นการที่ท่านกำหนดเป้าหมาย และ แนวทางที่ท่านจะไปให้ถึง ซึ่งความสำเร็จในชีวิตของท่านและองค์กรของท่านด้วยเช่นกัน

24 สิงหาคม 2553

ยาแก้พิษโรคบ้างาน

อ่านสดุดีบทที่ 127:1-5

1ถ้าพระเจ้ามิได้ทรงสร้างบ้าน
บรรดาผู้ที่สร้างก็เหนื่อยเปล่า
ถ้าพระเจ้ามิได้ทรงเฝ้าอยู่เหนือนคร
คนยามตื่นอยู่ก็เหนื่อยเปล่า

ในปี 1971 นักศาสนศาสตร์และนักจิตวิทยาชื่อ Wayne E. Oates ได้เขียนหนังสือ “คำสารภาพของคนบ้างาน” (Confessions of a Workaholic) หลังจากนั้นคำว่า Workaholic ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย หลายต่อหลายคนต้องย้อนกลับมาถามตนเองว่า ฉันบ้างาน(Workaholic )หรือเปล่า เราทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง ทำงานมากเกินไปหรือไม่ คนในยุคนี้มีแนวโน้มสูงมากที่จะกลายเป็นคนบ้างาน เพราะสำหรับบางคนเอาความบ้างานเป็นรูปแบบของการทุ่มเทในชีวิต หรือ กำหนดว่านี่คือเส้นทางที่จะนำไปถึงซึ่งความสำเร็จ ทั้งๆ ที่รู้อยู่กับใจว่า การทำงานแบบเป็นบ้าเป็นหลังเช่นนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อสุขภาพของตนเอง และ ชีวิตในครอบครัว

แม้ว่าพระธรรมสดุดีบทที่ 127 เขียนก่อนที่จะมีหนังสือ “คำสารภาพของคนบ้างาน” (Confessions of a Workaholic) เป็นพันปี ได้ให้ปัญญาและข้อคิดที่แหลมคมว่า “ถ้าพระเจ้ามิได้ทรงสร้างบ้าน บรรดาผู้ที่สร้างก็เหนื่อยเปล่า ถ้าพระเจ้ามิได้ทรงเฝ้าอยู่เหนือนคร คนยามตื่นอยู่ก็เหนื่อยเปล่า” (ข้อ 1) การงานทั้งหลายที่เราอุตส่าห์สร้างอุตส่าห์ทำจะไม่เกิดค่าหรือเป็นประโยชน์อะไรเลยต่อชีวิต ถ้าสิ่งที่เราทำมิได้เป็นงานในแผนการหรืองานที่พระเจ้าทรงช่วยเหลือค้ำจุน ผู้เขียนสดุดีบทนี้กล่าวต่อไปว่า “เป็นการเหนื่อยเปล่า ที่ท่านลุกขึ้นแต่เช้ามืด นอนดึก และ กระหืดกระหอบกินอาหาร เพราะพระองค์ประทานแก่ผู้ที่รักของพระองค์ให้หลับสบาย” (ข้อ 2) การท างานหามรุ่งหามค่ำ วิตกกังวลจนนอนหลับไม่สนิท อาจจะทำให้งานเสร็จสิ้น แต่งานนั้นมิได้สร้างคุณค่าความหมายและความสำคัญต่อชีวิต พระเจ้ามีพระประสงค์ให้เราทำงาน แต่เป็นการทำงานที่ให้คุณค่าและความหมายในชีวิตและการทำงานมีความสมดุลกับการที่ได้ผ่อนพักในพระเจ้า ที่สำคัญคือเป็นงานที่เราร่วมในพระราชกิจของพระองค์ด้วย

ในความเชื่อของคริสเตียน การที่เรามีอาชีพการงานใดๆ ในชีวิต เราเชื่อว่าเราทำเพราะเป็นการทรงเรียกจากพระเจ้า การทรงเรียกจึงมิได้จำกัดอยู่แค่การที่พระเจ้าทรงเรียกให้มาเป็นศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล ผู้ประกาศ อาจารย์สอนในพระคริสต์ธรรม หรือเป็นผู้ปกครองหรือมัคนายกคริสตจักรเท่านั้น ในพระธรรมสดุดีจึงมิได้หมายความว่าเราไม่ควรสร้างบ้านหรือเป็นยามเฝ้าดูแลความปลอดภัย ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการที่เราคิดทำงานด้วยกำลังความสามารถของเราเอง มิได้ทำภารกิจการงานด้วยความพึ่งพิงในการทรงนำ ในพระกำลัง และคำนึงถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในงานที่เรากระทำนั้น การทำงานหามรุ่งหามค่ำโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของร่างกาย ไม่คำนึงถึงคุณค่าและความหมายในครอบครัว และที่สำคัญคือต้องตระหนักชัดเสมอถึงพระประสงค์ที่ต้องการให้มีความสมดุลในการทำงานกับการมีเวลาพักผ่อนอันเป็นของประทานจากพระเจ้า มุมมองการทำงานของคริสเตียนจึงควรเห็นชัดว่า งานที่เรากำลังทำอยู่นั้น เรากำลังทำงานร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าที่มีพระประสงค์อะไร? แล้วเราจะเข้าไปมีส่วนร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าในลักษณะเช่นใดบ้าง? แล้วเราจะทำงานนั้นด้วยการร่วมไม้ร่วมมือกับพระองค์ได้อย่างไรบ้าง?

ถ้าเราทุ่มเทชีวิตของเราทำงานในพระราชกิจของพระเจ้าที่พระองค์กำลังกระทำอยู่ ความทุ่มเทและความพยายามของเราก็เกิดผล ยิ่งกว่านั้น เราพบกับชีวิตที่มีความสมดุลในการทำงานกับการพักผ่อน มีศานติ และความสัมพันธ์ ทั้งในตนเองและครอบครัว ก่อเกิดคุณค่าความหมายต่อชีวิต ในวันนี้ให้เราทำงานที่ร่วมในพระราชกิจของพระองค์ มอบถวายสิ่งที่ดีที่สุดที่มีในชีวิตของเราในการทำงานของพระองค์ และสำหรับผลงานที่จะเกิดขึ้นนั้นให้เราไว้วางใจพระองค์ ให้เราใช้เวลาชีวิตและของประทานในชีวิตของเราในการทำงานของพระองค์เพื่อก่อเกิดสิ่งดี เกิดความสุขในครอบครัว ในสัมพันธภาพกับมิตรสหาย ในคำอธิษฐาน และในการผ่อนพักของเรา

เราต้องสารภาพว่า
บ่อยครั้งที่เราพยายามและทุ่มเทที่จะ “สร้างบ้าน” และ “เฝ้าดูความปลอดภัย” ด้วยความสามารถและพยายามของตนเอง
บ่อยครั้งที่เราลุกขึ้นทำงานแต่เช้ามืด นอนดึก และ กระหืดกระหอบกินอาหาร เป็นการทุ่มแรงออกกำลังที่เหนื่อยเปล่า

เราต้องสารภาพว่า
ในการทำงานใดๆ จะไม่พบกับคุณค่าและความหมายที่ยั่งยืนได้เลย ถ้าเราทำงานโดยลำพังที่ไม่ร่วมในพระราชกิจและรับกำลังจากพระองค์
พระเจ้าทรงเป็นเจ้าแห่งการงาน
ทรงเป็นที่มาของสิ่งดีทั้งปวง

องค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงให้ของประทานดีเลิศทุกอย่างแก่เรา
ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดให้เราจาริกไปบนเส้นทางการทำงานร่วมกับพระองค์
ขอให้เราได้เห็นถึงการทรงทำงานของพระเจ้า และ ให้เรามีส่วนร่วมในการทำงานนั้น
ถ้าเป็นน้ำพระทัยของพระองค์แล้ว
โปรดทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านการทำงานของเราด้วยกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์
ให้เราไว้วางใจ และ เชื่อฟังพระองค์ เมื่อพระองค์ประสงค์ให้เราผ่อนพัก

21 สิงหาคม 2553

ความยุติธรรมในเวลาเช้า

อ่าน เยเรมีย์ 21:12-14

พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า...
“จงให้ความยุติธรรมในเวลาเช้า
จงช่วยกู้ผู้ที่ถูกปล้น
ให้พ้นจากมือผู้ที่บีบบังคับ
เกรงว่าความพิโรธของเราจะออกไปเหมือนไฟ
และเผาไหม้อย่างที่ไม่มีใครดับได้
เพราะการกระทำอันชั่วช้าของเจ้าทั้งหลาย” (เยเรมีย์ 21:12)

คำเผยพระวจนะในพระธรรมเยเรมีย์ 21:12-14
เป็นพระวจนะที่มีถึงผู้คนในราชวงศ์ดาวิด
การที่ให้กษัตริย์ในราชวงศ์ดาวิดทำให้เกิดความยุติธรรมในเวลาเช้า มีความหมายอะไร?
ในสมัยนั้น กษัตริย์ทำหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาและตัดสินคดีความของประชาชน
มิใช่ความยุติธรรมในการตัดสินคดีความเท่านั้น
แต่รวมไปถึงกฎหมาย และ นโยบายที่กษัตริย์ใช้ในการปกครองประเทศด้วย

ยิ่งกว่านั้น พระเจ้ายังทรงคาดหวังว่า
ในการพิจารณาคดีความกษัตริย์จะต้องเอาใจใส่พิเศษต่อ...
ผู้เล็กน้อย
ผู้ไร้อำนาจ
ผู้ถูกจำกัดโอกาส
ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ในที่นี้กษัตริย์มิเพียงแต่ที่จะให้ความยุติธรรมเอาคนผิด คนกดขี่ คนเอาเปรียบมาลงโทษเท่านั้น
แต่กษัตริย์ต้องเอาใจใส่การมีชีวิตอยู่ของคนเล็กน้อยเหล่านี้ว่า จะต้องอยู่รอดอย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี
คุณค่าและศักดิ์ศรีที่มีพระฉายาของพระเจ้าในชีวิต
คุณค่าและศักดิ์ศรีในฐานะเป็นบุตรคนหนึ่งของพระเจ้า
คุณค่าและศักดิ์ศรีในฐานะเป็นพี่น้องคนหนึ่งในพวกเรา

ความยุติธรรมในเวลาเช้า
มิใช่ในตอนเช้าเท่านั้น แต่หมายถึงทุกวัน หรือวันแล้ววันเล่า
มิใช่ในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเท่านั้น แต่ในทุกเหตุการณ์
มิใช่สำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นความยุติธรรมสำหรับทุกคน

ในวันนี้
ผมเชื่อว่าไม่มีคนอ่านท่านใดเป็นกษัตริย์
แต่พระวจนะตอนนี้ก็ยังตรัสกับเรา
เราแต่ละคน ต่างมีฐานะ ตำแหน่ง ในทุกวันนี้
มีฐานะ ตำแหน่ง ความรับผิดชอบในครอบครัว
มีฐานะ ตำแหน่ง ความรับผิดชอบในที่ทำงาน
มีฐานะ ตำแหน่ง ความรับผิดชอบในคริสตจักร
มีฐานะ ตำแหน่ง ความรับผิดชอบในชุมชน
เราจึงต้องเอาใจใส่ที่จะให้สิ่งที่ออกจากชีวิตของเราให้ความยุติธรรมในทุกๆ วัน

เราได้ให้ความยุติธรรมกับคนในครอบครัวของเราหรือไม่
เราเอาใจใส่และให้ความยุติธรรมแก่คนใช้ คนสวน ในบ้านของเราหรือไม่
เราเอาใจใส่และให้ความยุติธรรมแก่ลูกน้องในที่ทำงานของเราหรือไม่
เราเอาใจใส่และให้ความยุติธรรมแก่เพื่อนร่วมงานของเราหรือไม่
เราเอาใจใส่และให้ความยุติธรรมแก่หัวหน้าของเราหรือไม่

ในวันนี้ ให้เราไวต่อโอกาสที่พระเจ้าประทานให้เราจะทำความยุติธรรม
ให้เราไวที่จะมองเห็นถึงผู้ถูกเหยียบย่ำ ข่มขู่ ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ
ให้เราพร้อมที่จะร่วมในความทุกข์และยืนเคียงข้างกับผู้ได้รับความอธรรม
ให้เราพร้อมที่จะร่วมพลิกคว่ำ ความไม่ถูกต้องชอบธรรมด้วยพระทัยแบบพระคริสต์

การที่เราจะมีส่วนในพันธกิจแห่งความยุติธรรมนั้น
เราจะต้องแสวงหาพระปัญญาของพระเจ้า

เพื่อเราจะรู้เท่าทันสถานการณ์ ความไม่ถูกต้องชอบธรรม และ รู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้า
เพื่อพระองค์จะสอนเราให้รู้ว่า ในวันนี้
เราควรจะทำอย่างไรกับลูกของเราที่ทำหลายสิ่งหลายอย่างดีมากแต่ไม่เก็บห้องของตนให้ดูสะอาดเรียบร้อย
เราควรจะทำอย่างไรกับลูกน้องของเราที่ทำงานไม่ได้ดั่งใจของเรา
เราควรจะทำอย่างไรกับนักเรียนของเราที่มาชั้นเรียนสาย
เราควรจะทำอย่างไรกับเจ้านายที่เอาแต่ใจตนเอง

ในวันนี้ ขอพระเจ้าทรงนำชีวิตของเรา ที่จะต้องนำและยังความยุติธรรมแก่คนต่างๆ ที่เราจะต้องพบ
ขอพระเจ้าทรงอวยพระพรหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ในงานที่เราทำ
ขอพระเจ้าประทานกำลังแก่เราที่จะสำแดงความยุติธรรมด้วยจิตใจที่เมตตากรุณา
เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาตอนเย็นเราจะได้เห็นรอยยิ้มของพระเจ้าผ่านแสงอาทิตย์อัศดง
เพื่อจิตใจของเราจะชุ่มชื่นด้วยความปีติยินดี
เพื่อเราจะได้ยินจากเสียงเบื้องบนว่า “เจ้าเป็นบ่าวที่สัตย์ซื่อ...”

19 สิงหาคม 2553

ชีวิตใหม่...วิถีใหม่...กำลังใหม่

อ่าน มาระโก 2:18-22

22...ไม่มีใครเอาเหล้าองุ่นหมักใหม่มาใส่ไว้ในถุงหนังเก่า ถ้าทำอย่างนั้นเหล้าองุ่นหมักใหม่จะทำให้ถุงเก่าขาด ทั้งเหล้าองุ่นและถุงก็จะเสียไปด้วยกัน แต่เหล้าองุ่นหมักใหม่จะต้องใส่ไว้ในถุงหนังใหม่”

ในเวลานั้นเกิดคำถามเชิงกล่าวหาต่อว่าพระเยซูคริสต์ ทำไมพระองค์ไม่สอนให้สาวกของพระองค์ถืออดอาหารอย่างที่ลูกศิษย์ของพวกฟาริสี หรือ แม้กระทั่งสาวกของยอห์นผู้ให้บัพติศมายังทำกัน พวกเขาตำหนิว่าสาวกของพระเยซูคริสต์มิได้มีชีวิตเคร่งครัดตามระเบียบและรูปแบบชีวิตของศาสนายิวในเวลานั้น พระเยซูคริสต์ตอบคำตำหนินี้ด้วยการยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่ออธิบาย ซึ่งในพระธรรมตอนนี้มีสองตัวอย่างที่พระองค์ใช้ในการเปรียบเทียบคือ ผ้าใหม่ปะเสื้อเก่า และเรื่อง เหล้าองุ่นหมักใหม่กับถุงหนังเก่า

การอดอาหารที่กระทำกันในหมู่อิสราเอลในสมัยพระคัมภีร์ เขาจะไม่กินหรือดื่มชั่วระยะเวลาหนึ่ง อาจจะอดอาหารเพื่อแสดงถึงความเศร้าโศก (นหม.1:4) ความเสียใจสำนึกที่ชีวิตตกในบาป (1 ซมอ.7:6) หรือแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้า (2 พศด.20:3-4) ชาวยิวจะถืออดอาหารเพียงครั้งเดียวในวันลบบาปตามบทบัญญัติของโมเสส (ลนต.16:29,31; 23:27-32; กดว.29:7) แต่หลังจากที่พวกยิวถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่บาบิโลน พวกเขาได้เพิ่มการถืออดอาหารขึ้นอีกเป็น 4 ครั้งในช่วงหนึ่งปี (ศคย.8:19) และเมื่อมาถึงสมัยของพระเยซู พวกฟาริสีถืออดอาหารบ่อยขึ้นอีกโดยเพิ่มเป็นอาทิตย์ละ 2 ครั้ง (ลก.18:12)

แต่ในเวลานั้น มีบางคนที่อดอาหารโดยไม่จริงใจ ทำไปเป็นเพียงเพื่อโอ้อวด หวังจะให้พระเจ้าและมนุษย์ชื่นชมยกย่องสรรเสริญตนเอง พระเจ้าไม่พอพระทัยการกระทำของเขา (อสย.58:3-9; ลก.18:12) และการอดอาหารก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่จะใช้บังคับพระเจ้าให้ตอบคำอธิษฐาน เขาใช้ศาสนพิธีสร้างความสำคัญศักดิ์สิทธิ์เพื่อตนเอง หรือไม่ก็ใช้การกระทำศาสนพิธีเพื่อบ่งชี้ถึงคุณภาพชีวิตของการเป็นคริสเตียน โดยนำศาสนพิธีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในรูปแบบในการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ “ตัดสิน” ว่าใครที่เป็นคริสเตียนแท้ ถูกต้อง!

ในที่นี้เราต้องเข้าใจชัดเจนว่า พระเยซูคริสต์มิได้ต่อต้านการถืออดอาหาร แต่พระองค์ต้องการอธิบายว่า ชีวิตใหม่ในแผ่นดินของพระเจ้าที่พระองค์ทรงนำมานั้นมีหลักคิดหลักเชื่อและวิถีในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตของผู้เชื่อในศาสนายิวในเวลานั้น และการที่ใครจะยอมรับหลักเชื่อหลักคิดและความศรัทธาในชีวิตใหม่ของพระเยซูคริสต์ จะต้องกลับใจใหม่ คือต้องเปลี่ยนจากภายในตั้งแต่ความนึกคิด ความเชื่อศรัทธา ระบบคุณค่า ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงในวิถีการดำเนินชีวิต พระองค์กำลังบอกว่า จะยอมรับแต่ข้อมูลความเชื่อใหม่เท่านั้นไม่ได้ แต่ชีวิตทั้งชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ด้วย

พระเยซูใช้ประสบการณ์ชีวิตประจำวันในสมัยนั้นในการเปรียบเทียบเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจ โดยใช้ประสบการณ์ในการทำไวน์องุ่นในสมัยนั้น เป็นการสร้างการเรียนรู้ การทำสวนองุ่น และ การเลี้ยงแกะเป็นอาชีพการงานปกติที่ทำกันทั่วไป พวกเขาจะเอาหนังแกะมาเย็บขอบให้เป็นถุงหนัง แล้วพวกเขาจะนำผลองุ่นที่มีมากมายมาบดคั้นในบ่อแล้วเอาน้ำองุ่นที่ได้ใส่ลงไปในถุงหนังนั้น จะเกิดการหมักจนถึงเวลาหนึ่งจะเกิดแก๊สทำให้ถุงหนังนั้นพองตึงโต ถุงหนังยืดตัวจนผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งน้ำองุ่นเกิดแอลกอฮอล์กลายเป็นไวน์องุ่นหรือเหล้าองุ่นที่พวกเขาใช้ดื่มกัน

ประเด็นที่พระเยซูต้องการให้ฟาริสี ประชาชน และสาวกเกิดการเรียนรู้คือ ในการหมักไวน์องุ่นใหม่ต้องหมักในถุงหนังใหม่เพราะถุงหนังใหม่มีความสามารถยืดตัวได้สูง ไม่มีใครที่จะหมักไวน์องุ่นใหม่ในถุงหนังเก่า เพราะถุงหนังเก่ามีความสามารถยืดตัวที่จำกัด เมื่อองุ่นหมักใหม่เกิดแก๊สมากจะทำให้ถุงหนังเก่าแตกระเบิดฉีกขาด เกิดการสูญเสียทั้งน้ำองุ่นที่หมักและถุงหนังเก่า ไม่ได้ไวน์องุ่นตามที่ต้องการ เช่นกัน ชีวิตใหม่ในแผ่นดินของพระเจ้าไม่สามารถ “หมัก” ในวิถีชีวิตเดิมๆ ที่กรอบจำกัดด้วยความเชื่อ ความคิด ระบบคุณค่า และค่านิยมต่างๆ ตามกระแสในเวลานั้นๆ แต่ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ ยอมรับ “เหล้าองุ่นใหม่” และ “ดำเนินชีวิตในวิถีใหม่” ในแผ่นดินของพระเจ้า

ทุกวันนี้ คริสเตียนตำหนิพฤติกรรมชีวิตแบบฟาริสีในพระคัมภีร์ แต่ก็แปลกที่คริสเตียนเหล่านี้ยังคิดและทำตัวที่มีชีวิตไม่ต่างจากรูปแบบของฟาริสี ยังติดยึดรูปแบบชีวิต และ ระบบคุณค่าในการตัดสินเพียงแค่ทำศาสนพิธีเพื่อสร้างให้เกิดความมั่นใจ คุณค่า ในชีวิตและความเชื่อศรัทธาของตน

นีนะเวห์ นครแห่งแห่งความพินาศกลับเป็นตัวอย่างที่ดีของคริสเตียนในสมัยนี้
5ฝ่ายประชาชนนครนีนะเวห์ได้เชื่อฟังพระเจ้า เขาประกาศให้อดอาหาร และสวมผ้ากระสอบ ตั้งแต่ผู้ใหญ่ที่สุดถึงผู้น้อยที่สุด .... 6...กษัตริย์นครนีนะเวห์ทรงลุกขึ้นจากพระที่นั่ง ทรงเปลื้องฉลองพระองค์ออกเสีย ทรงสวมผ้ากระสอบแทน และประทับบนกองขี้เถ้า ... 8ให้(ทุกคน)...นุ่งห่มผ้ากระสอบ ให้ตั้งจิตตั้งใจร้องทูลต่อพระเจ้า เออ ให้ทุกคนหันกลับเสียจากการประพฤติชั่ว และเลิกการทารุณซึ่งมือเขากระทำ (โยนาห์ 3:6-8)

ผู้เผยพระวจนะโยเอลได้กล่าวถึงประเด็นเดียวกันนี้ไว้ว่า
12พระเจ้าตรัสว่า
“ถึงกระนั้นก็ดี เจ้าทั้งหลายจงกลับมาหาเราเสียเดี๋ยวนี้ด้วยความเต็มใจ
ด้วยการอดอาหาร ด้วยการร้องไห้ และด้วยการโอดครวญ
13จงฉีกใจของเจ้า มิใช่ฉีกเสื้อผ้าของเจ้า
จงหันกลับมาหาพระเยโฮวาห์ พระเจ้าของท่านทั้งหลาย
เพราะว่าพระองค์ทรงกอปรด้วยพระคุณและทรงพระกรุณา
ทรงกริ้วช้าและบริบูรณ์ด้วยความรักมั่นคง และทรงกลับพระทัยไม่ลงโทษ (โยเอล 2:12-13)

ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ (อสย. 58:3-9) ได้สร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า
3พวกเขากล่าวว่า
“ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ถืออดอาหาร แต่ทำไมพระเจ้าถึงไม่เห็นบ้าง
ข้าพระองค์ทั้งหลายถ่อมกายถ่อมใจลงแล้ว แต่ทำไม(พระเจ้า)ยังไม่สังเกตบ้างเลย?”
การถืออดอาหารของเจ้าจบลงด้วยการทะเลาะวิวาทและการต่อสู้ พวกเจ้าชกต่อยกันเองด้วยหมัดอันโหดร้าย
อย่าหวังว่าการถืออดอาหารของเจ้าอย่างที่ทำในวันนี้ จะทำให้เสียงอ้อนวอนของเจ้าขึ้นไปถึงเบื้องบนได้
นี่หรือคือการอดอาหารที่เราเลือก? แค่เป็นวันที่ให้มนุษย์มา(ทำที)ถ่อม(ตัว)ลง
แค่เป็นวันให้เขาก้มหัวลงเหมือนต้นอ้อ และสวมผ้ากระสอบนอนลงในกองขี้เถ้าหรือ?
นี่หรือที่เจ้าเรียกว่าการถืออดอาหาร? นี่หรือวันที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงยอมรับ?

อย่างนี้มิใช่หรือคือการถืออดอาหารที่เราเลือกไว้?
คือการปลดโซ่ตรวนแห่งความอยุติธรรม แก้สายรัดแอก
ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ข่มเหงให้เป็นอิสระ และหักแอกทุกอัน
ไม่ใช่เป็นการแบ่งปันอาหารของเจ้าแก่ผู้หิวโหย และให้ที่พักพิงแก่คนยากจนเร่ร่อนหรือ?
ไม่ใช่การให้เสื้อผ้าแก่ผู้เปลือยกายที่เจ้าพบ และช่วยเหลือเลือดเนื้อเชื้อไขของเจ้าเองหรือ?

เมื่อนั้นความสว่างของเจ้าจะเจิดจ้าดั่งรุ่งอรุณ เจ้าจะรับการบำบัดรักษาอย่างรวดเร็ว
เมื่อนั้นความชอบธรรมของเจ้าจะนำหน้าเจ้า และพระเกียรติสิริ...จะระวังหลังให้เจ้า
เมื่อนั้นเจ้าจะร้องทูล และองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบ
เจ้าจะร้องขอความช่วยเหลือ และพระองค์ตรัสว่า เราอยู่ที่นี่ (สำนวนฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

นี่คือ “เหล้าองุ่นใหม่” ในแผ่นดินของพระเจ้าที่ต้องการถุงหนังแห่งวิถีชีวิตใหม่ในแผ่นดินของพระองค์ ให้เราเลิกกระทำศาสนพิธีเพื่อความความสำคัญศักดิ์สิทธิ์สำหรับตนเอง แต่ให้เราดำเนินชีวิตเป็นการสรรเสริญ ยกย่อง และถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า ให้เราขอบพระคุณชีวิตใหม่จากพระคริสต์ ความหวังใหม่ ความหมายใหม่ กำลังใหม่ และการเป็นคนใหม่ ซึ่งเป็นชีวิตที่รับ “เหล้าองุ่นใหม่” ใน “ถุงหนังแห่งวิถีชีวิตใหม่” ที่พระองค์ประทานแก่เราในแผ่นดินของพระเจ้า

17 สิงหาคม 2553

บนเส้นทางนี้ไม่สะดวกสบาย

57เมื่อพระองค์กับเหล่าสาวกกำลังเดินทางไป มีคนหนึ่งทูลพระองค์ว่า “พระองค์เสด็จไปทางไหน ข้าพระองค์จะตามพระองค์ไปทางนั้น” 58พระเยซูตรัสแก่เขาว่า “หมาจิ้งจอกยังมีโพรงและนกในอากาศก็ยังมีรัง แต่บุตรมนุษย์ไม่มีที่ที่จะวางศีรษะ” (ลูกา 9:57-58)

ในเวลานั้น พระเยซูกำลังมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมชมชื่นของผู้คนในพันธกิจที่พระองค์กระทำ ท่าทีชีวิตและการกระทำของพระองค์เป็นที่ติดตาตรึงใจและดึงดูดความสนใจของประชาชนในเวลานั้น พระองค์เป็นที่ยกย่องนับถือของผู้คน และมีหลายต่อหลายคนที่ต้องการจะประกาศตัวว่าเป็นพวกเดียวกันกับพระองค์ เพราะพระองค์ทรงมีสติปัญญาและเปี่ยมล้นด้วยฤทธานุภาพอย่างประหลาดอัศจรรย์

ชายคนนี้ตามเรื่องในพระคัมภีร์เป็นคนหนึ่งที่ชมชื่นในตัวของพระเยซู เขาต้องการที่จะติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง แต่เขาไม่เข้าใจว่า เส้นทางที่พระเยซูคริสต์กำลังดำเนินไปนั้นกำลังมุ่งหน้าไปสู่กางเขน ความปลาบปลื้มใจ คำชื่นชมสรรเสริญจะถูกแทนที่ด้วยเสียงเยาะเย้ย ถากถาง และคนที่ฉลาดปราดเปรื่องอย่างพระเยซูกลับนิ่งเงียบไม่ยอมตอบคำถามของฝ่ายตรงกันข้าม พระองค์ถูกเฆี่ยนตี ถ่มน้ำลายรดก่อนจะถูกประหารให้ตาย และก็ไม่มีสาวกแม้แต่คนเดียวที่เข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้

พระเยซูคริสต์จึงต้องค่อยๆ อธิบายให้เขาเข้าใจว่า แม้พระองค์จะเป็นที่ยอมรับและชื่นชมโดยฝูงชน แต่พระองค์ไม่มีบ้าน ในทุกเย็นทุกค่ำพระองค์ต้องนอนในบ้านของคนอื่น หรือไม่ก็ต้องอยู่ในที่เปลี่ยวเพื่ออธิษฐานต่อพระเจ้าพระบิดาตลอดคืน เวลาทั้งหมดของพระองค์มีไว้เพื่อทำพระราชกิจของพระเจ้า พระองค์ไม่มีเวลาสำหรับการใช้ชีวิตที่เด่นดัง คนที่จะติดตามพระองค์ชีวิตก็จะไม่ได้รับความสะดวกสบายอย่างพระองค์ เป็นการใช้ชีวิตท่ามกลางความไม่แน่นอนไปวันต่อวัน ถ้าจะเปรียบกับสุนัขจิ้งจอกแล้ว มันยังมีโพลงมีหลุมที่จะอยู่หลบปลอดภัย นกในอากาศยังมีรัง แต่สำหรับพระเยซูคริสต์แล้ว ทั้งวันและคืนกลับไม่มีอะไรที่จะให้ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของพระองค์

แต่ก็น่าทึ่ง ที่คริสตจักรกลับเจริญเติบโตได้อย่างดีเมื่อต้องตกอยู่ในภาวการณ์ที่ถูกกดขี่ข่มเหง แต่คริสตจักรที่มีชีวิตในสภาพที่สะดวกสบาย หรูหรา และรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร กลับมีแรงกระตุ้นที่จะกล้าเสี่ยงในความสัมพันธ์เพียงน้อยนิด ไม่กล้าเสี่ยงที่จะสูญเสียการงานที่มีหน้าตาชื่อเสียง ไม่ต้องการเสี่ยงในเรื่องต้องสูญเสียสิทธิอำนาจของตนเอง และไม่กล้าเสี่ยงในเรื่องของชีวิต

อย่างไรก็ตาม ทุกแห่งหนในโลกนี้ ที่ใดที่มีภัยข่มขู่คุกคามท้าทายชีวิตในปัจจุบันนี้ ที่นั่นจะมีผู้ที่มีชีวิตเพื่อพระคริสต์อย่างเด่นชัด บ่อยครั้งคนส่วนใหญ่จะเข้าใจและต้องการความสะดวกสบาย เพราะจะนำเขาเข้าไปสู่ความรู้สึกที่มั่นคงปลอดภัยไปเสียทุกเรื่อง แต่ในความเป็นจริงแล้วชีวิตของเราทุกคนทุกขณะอยู่ภายใต้การพิพากษาของพระเจ้า พระคุณของพระเจ้าเท่านั้นที่จะทรงปกป้องคุ้มครองให้เราปลอดภัย

และพระคุณดังกล่าวเป็นของพระราชทานจากพระเจ้าโดยไม่คิดค่าราคาแต่อย่างไร พระองค์ให้แก่มนุษย์เปล่าๆ ถ้าเราเป็นผู้ติดตามพระองค์อย่างแท้จริงเราต้องกล้าเสี่ยงที่จะพูดและกระทำอย่างพระองค์ ในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าเราจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นใด ให้เราอธิษฐานเผื่อพี่น้องเพื่อนบ้านของเราที่ตกทุกข์ได้ยากมากกว่าเรา

พระเยซูคริสต์เป็นแบบอย่างชีวิตที่ดีของเรา
พระองค์มิได้ลงทุนด้วยเงินทอง บ้านเรือน หรือทรัพย์สิน
พระองค์ไม่เคยหันเหออกนอกทางแห่งพระราชกิจของพระเจ้า
เพื่อแสวงหาความสะดวกสบายในชีวิต
แต่บ่อยครั้งที่เราในฐานะคนติดตามพระเยซูได้หลง ลืม ละเลย ในความรับผิดชอบ

ในเวลานี้ให้เราระลึกถึงพี่น้องและเพื่อนบ้านของเราเหล่านั้น
ที่ถูกทอดทิ้ง ถูกกดขี่ ถูกละเลย
ชีวิตตกอยู่ท่ามกลางความทุกข์ยากเพื่อข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์
ขอให้พระสัญญาของพระองค์เป็นกำลังชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้
ให้ยังยืนหยัดก้าวเดินตามรอยพระบาทของพระเยซูคริสต์ต่อไป

16 สิงหาคม 2553

ผู้นำที่กระตุ้นจูงใจเพื่อนร่วมงาน

การกระตุ้นจูงใจนอกจากเป็นการสร้างเสริมให้ทีมงานมีพลังใจในการขับเคลื่อนงานไปด้วยความรู้สึกว่าตนมีคุณค่าและความสำคัญแล้ว ยังเป็นพลังสำคัญที่ทำให้ทีมงานขับเคลื่อนงานไปสู่ความสำเร็จตามความมุ่งหมาย อีกทั้งเป็นการพัฒนาภาวะสร้างสรรค์และเสริมสร้างสิ่งใหม่ของทีมงาน หนังสือ 180 Ways to Walk the Motivation Talk ได้ให้ข้อคิดดีๆ และ แนวทางในเรื่องนี้ จึงขอ “ซึมซับ” ไว้ดังนี้ครับ

เสนอทางเลือก แทนการยื่นคำขาด(อย่างสุภาพเพื่อให้คนอื่นต้องทำตามแนวทางหรือวิธีการของเราเท่านั้น)

ทุกครั้งที่เป็นไปได้ โปรดให้เพื่อนร่วมงานมีโอกาสตัดสินใจเลือกว่าเขาจะมีวิธีขับเคลื่อนงานที่เขารับผิดชอบด้วยวิธีไหน อย่ายืนกรานว่าทุกอย่างจะต้องทำตามแนวทางหรือวิธีการของท่านเท่านั้น โปรดจำไว้ว่า การยื่นคำขาดมิใช่การกระตุ้นจูงใจ แต่เป็นการข่มขู่มากกว่า

ให้รางวัลแก่ผู้ทำงานบรรลุผลในสิ่งที่คุณต้องการ ตามแนวทางที่เขาต้องการ

จำเป็นที่คุณจะต้องทำให้เพื่อนร่วมงานมีประสบการณ์ในทางบวกจากผลงานที่เขาได้ทำให้บรรลุตามที่คุณคาดหมาย ดังนั้น ถาม หรือ พยายามเรียนรู้ว่า แต่ละคนในทีมงานของคุณต้องการการยกย่องชื่นชมและการให้รางวัลแบบไหน อะไร และอย่างไร ที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับเขาแต่ละคน แล้วท่านหาโอกาสทำสิ่งนี้ให้ดีที่สุดที่เหมาะสมสอดคล้องสำหรับแต่ละคน

วิพากษ์อย่างสร้างสรรค์และหนุนเสริมเพิ่มพลัง

ถ้าจะวิพากษ์ให้วิพากษ์วิธีการทำงานหรือท่าทีที่แสดงออก มิใช่วิพากษ์บุคคล พร้อมกับข้อเสนอที่เฉพาะเจาะจงและให้ผลตามมาชัดเจน จะช่วยให้ทีมงานเกิดความคิดว่าเขาจะสามารถปรับเปลี่ยน/พัฒนางานที่ทำอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร และเขารู้สึกดีและมีคุณค่าในตัวเขาและงานที่ทำ เมื่อเขาทำการปรับแก้และพัฒนางานที่ทำให้ดีขึ้น เขารู้สึกมีแรงกระตุ้นจูงใจให้ทำงานที่ใหญ่ยิ่งสำคัญ

สร้างโอกาสให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนทีมงานประจำสม่ำเสมอ

เพื่อช่วยให้ทีมงานแต่ละคนสามารถรู้เท่าทันข้อมูล ข่าวสาร การเคลื่อนไหว สถานการณ์ขององค์กรทั้งแผนงานในอนาคตที่จะทำ ชื่นชมในผลงานที่สำเร็จ ตลอดจนข้อคิดข้อเสนอในการพัฒนาขับเคลื่อนองค์กรของเรา ต้องมั่นใจว่าจะไม่มีคนหนึ่งคนใดในทีมงานของเรา "ตกข่าว" หรือ ถูกทิ้งให้อยู่ในความมืดบอดจนไม่สามารถรู้เท่าทันความเป็นไปขององค์กร

มุ่งมั่นตั้งใจในการฟัง

การฟังเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกว่าเรายอมรับนับถือคนที่เราฟัง... แสดงออกถึงการที่เราเห็นความสำคัญถึงความคิดและสิ่งที่เขาทำ เมื่อทีมงานรู้ว่าท่านสนใจและเต็มใจที่จะฟัง ทีมงานแต่ละคนก็มั่นใจและกล้าที่จะเสนอแบ่งปันความคิดความเห็นของเขา และก็กล้าที่จะบอกถึงความสับสนยุ่งยากใจที่เขามีอยู่ การฟังช่วยสร้างรากฐานการไว้วางใจของทีมงานที่มีต่อตัวท่าน ซึ่งเป็นสิ่งนี้สำคัญยิ่งต่อการกระตุ้นจูงใจเพื่อนร่วมงาน

15 สิงหาคม 2553

ขอโทษ...ที่สำคัญผิด

อ่านลูกา 10:17-20

17สาวกเจ็ดสิบสองคนนั้นกลับมาด้วยความยินดีทูลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า แม้แต่พวกผีก็อยู่ใต้บังคับของพวกข้าพระองค์โดยพระนามของพระองค์” 18พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “เราเห็นซาตาน(ตก)จากฟ้าเหมือนฟ้าแลบ 19นี่แน่ะ เราให้พวกท่านมีสิทธิอำนาจเหยียบงูร้ายและแมงป่อง และให้มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าฤทธานุภาพของศัตรูนั้น ไม่มีอะไรจะมาทำอันตรายพวกท่านได้เลย 20แต่ว่าอย่าชื่นชมยินดีในสิ่งนี้ คือที่พวกผีอยู่ใต้บังคับของท่าน แต่จงชื่นชมยินดีที่ชื่อของท่านจดไว้ในสวรรค์” (ฉบับ 2002)

ก่อนอื่นขอท่านโปรดสังเกตว่า ในพระคัมภีร์ของสมาคมฯ ฉบับ 1971 จะบอกว่ามีสาวก 70 คน แต่ในฉบับ 2002 บอกว่ามี 72 คน แต่ที่สำคัญกว่านี้คือ สาวกกลุ่มนี้มิใช่สาวกกลุ่ม 12 คนที่อยู่ใกล้ชิดพระเยซูคริสต์ หรือที่บางคนเรียกว่า “สาวกวงใน” คนเหล่านี้คือประชาชนคนสามัญธรรมดา ที่ติดตามฟังคำสอนของพระองค์และมีประสบการณ์ถึงฤทธิ์เดชที่พระเยซูคริสต์ทรงกระทำในพระราชกิจของพระองค์ แล้วติดตามพระองค์ค่อนข้างถี่จนพระเยซูทรงบ่มเพาะและฝึกฝนพวกเขาให้เป็นสาวกของพระองค์ด้วย พระองค์ทรงส่งสาวกกลุ่มนี้ออกไปทำพันธกิจของพระองค์ในหมู่บ้านต่างๆ เป็นคู่ๆ และนี่ชี้ชัดว่า กำลังและฤทธานุภาพที่พระองค์ประทานให้ผู้คนนั้นมิใช่เฉพาะเจาะจงเฉพาะคนใกล้ชิดเท่านั้น แต่พระองค์ประทานแก่ผู้เต็มใจทำงานของพระองค์ตามที่พระองค์มอบหมาย

เมื่อสาวกรุ่นที่สองจำนวนเจ็ดสิบสองคนที่พระเยซูคริสต์ส่งออกไปเพื่อออกไปประกาศและทำพันธกิจที่พระองค์มอบหมายในหมู่บ้านต่างๆ ได้กลับมา และรายงานผลที่เกิดขึ้นจากการทำพันธกิจในหมู่บ้านด้วยความตื่นเต้น เร้าใจ ชื่นชมยินดีอย่างมาก พวกเขารายงานให้พระเยซูคริสต์ฟังว่า พวกเขามีอำนาจเหนือพวกผีซาตาน วิญญาณชั่ว เพราะพวกเขามีอำนาจเหนือพวกมัน พวกเขาสามารถสั่งให้ผีทำตาม พวกมันต้องอยู่ใต้คำสั่งของพวกเขาที่สั่งในพระนามของพระเยซูคริสต์

พระเยซูคริสต์ทรงยืนยันว่า ประสบการณ์ที่พวกเขาพบและเข้าใจว่า พวกเขามีอำนาจเหนืออำนาจแห่งความชั่วร้ายนั้นเป็นความจริง และพระองค์ยังยืนยันมากกว่าประสบการณ์ของเหล่าสาวกกลุ่มนี้ว่า มิเพียงแต่พวกผีและวิญญาณชั่วต้องสยบยอมฟังและทำตามคำสั่งของสาวกเท่านั้น แต่พวกเขายังมีสิทธิอำนาจเหนือสัตว์ร้ายทั้งปวง และไม่มีอำนาจชั่วร้ายใดๆ ที่จะมาทำร้ายทำอันตรายชีวิตของสาวกได้เลย แล้วพระคริสต์หักมุม กระตุกเตือนความรู้สึกของพวกเขาที่กำลังดีอกดีใจ ภูมิอกภูมิใจอย่างเหลือล้นด้วยคำตรัสของพระองค์ว่า “แต่ว่าอย่าชื่นชมยินดีในสิ่งนี้ คือที่พวกผีอยู่ใต้บังคับของท่าน...”

จากประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นเร้าใจนี้อาจจะทำให้สาวกกลุ่มนี้สำคัญผิดไปว่า ตนเองประสบความสำเร็จถึงการเจริญเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ในชีวิตจิตวิญญาณ เพราะพวกเขาสามารถทำให้พวกผีและวิญญาณชั่วต้องยอมสยบยอมอยู่ใต้บังคับของพวกเขา พระเยซูทรงเตือนสาวกแบบตรงไปตรงมา พวกเขาไม่ควรชื่นชมยินดีในสิ่งเหล่านี้ ถ้าวันนี้พวกเขาชื่นชมยินดีในความสำเร็จ วันหนึ่งพวกเขาจะต้องเสียใจสิ้นหวังในความล้มเหลวที่พวกเขาประสบพบ และการที่ชื่นชมยินดีเพราะตน “ประสบความสำเร็จ” ง่ายที่จะทำให้คนๆ นั้นลืมตัวหลงคิดผิดไปว่า ตนทำสำเร็จเพราะตนมีความพิเศษกว่าคนอื่น หรือ พระเจ้าทรงใช้ตนมากกว่าใช้คนอื่น พูดฟันธงคือหลงคิดผิดไปว่า ตนเป็นสาวกคนสำคัญกว่าคนอื่น

แต่พระเยซูคริสต์ทรงเตือนสติพวกสาวกว่า “แต่ว่าอย่าชื่นชมยินดีในสิ่งนี้ คือที่พวกผีอยู่ใต้บังคับของท่าน แต่จงชื่นชมยินดีที่ชื่อของท่านจดไว้ในสวรรค์” พระเยซูคริสต์มิใช่คนที่ต่อต้านการมีความสุขการมีความชื่นชมยินดี แต่สาวกต้องชัดเจนว่า ที่พวกเขาชื่นชมยินดีเพราะพระเจ้าทรงโปรดรับพวกเขาให้มีส่วนอยู่ในแผ่นดินของพระเจ้า เป็นคนที่มีส่วนร่วมในพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระองค์ จงชื่นชมยินดีเพราะพระเจ้าทรงใช้ท่าน และท่านเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้

ถ้าพระเยซูคริสต์มิได้สอนเรื่องนี้ให้ชัดเจนเช่นนี้ เป็นการง่ายที่เราจะตกลงในกับดักอย่างที่สาวก 72 คน เคยประสบมาก่อนเรา และเราอาจจะเอาความเข้าใจผิดๆ นี้ไปตัดสินคนอื่นและตนเองว่า ท่านยังไม่ใช่ผู้ที่พระเจ้าทรงใช้เพราะท่านไม่สามารถทำอย่างเกิดผลอย่างที่ข้าพเจ้าทำ หรือเรารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมพระเจ้าไม่ใช้เราให้ทำได้อย่าง “คนนั้น” ทั้งๆ ที่เราถวายตัวแด่พระองค์ด้วยความเต็มใจ แต่เราต้องไม่พลั้งเผลอลืมตนไปว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้เลือกเราให้ทำพระราชกิจตามพระประสงค์ของพระองค์ และพระองค์ทรงประทานกำลังความสามารถให้เราทำในสิ่งที่พระองค์ประสงค์ มิใช่เพราะเราทำได้เพราะเรามีความรู้ ความสามารถ หรือเพราะเรามีของประทานพิเศษต่างจากคนอื่น

เราต้องชัดเจนว่า เราไม่สามารถเผชิญหน้ากับอำนาจแห่งความมืดบอดเพราะเรามีฤทธิ์อำนาจ(จากพระเจ้า)ที่จะควบคุมบังคับและสั่งมันได้ แต่ต้องตระหนักชัดว่า พระวจนะของพระเจ้าต่างหากที่เป็นดาบสองคมที่ทรงฤทธิ์อำนาจที่เป็นผู้จัดการกับความมืดบอดและอำนาจชั่วเหล่านั้นมิใช่ฤทธิ์เดชความสามารถในตัวเรา

ถ้าเราคนใดมีความคิดว่า ตนได้รับฤทธิ์เดชกำลังที่สามารถจะต่อสู้กับอำนาจชั่วร้ายและพลังแห่งความมืดบอดแล้ว คงต้องขอกันตรงๆ ในวันนี้ว่า จงกลับใจเสียใหม่ จงสละละทิ้งความเป็นตัวตนของตนเอง มีจิตใจที่ถ่อมลงต่อหน้าพระเจ้า และยอมที่จะดำเนินชีวิตไปกับพระองค์ด้วยจิตใจที่ถ่อม สุภาพ และขอบพระคุณพระองค์ เพราะพระองค์ทำให้ท่านเป็นคนหนึ่งในแผ่นดินของพระองค์ และพระองค์จะทรงเลือกใช้ท่านตามพระประสงค์ของพระองค์ มิใช่ตามใจต้องการของท่าน

ในวันนี้ให้เราเปิดชีวิตของเรา
เพื่อพระองค์จะทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของเรา
เพื่อพระองค์จะทำพระราชกิจผ่านชีวิตของเรา
เพื่อเราจะวางใจในพระคุณของพระองค์มากและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เพื่อเราจะเป็นคนหนึ่งในครอบครัวของพระองค์
เพื่อเราจะเป็นคนใช้คนหนึ่งในพระราชกิจของพระองค์ ที่พระองค์ทรงไว้วางใจได้
เพื่อเราจะมั่นใจในพระองค์ แทนความมั่นใจในตนเอง
เพื่อเราจะมั่นใจว่าพระเจ้าทรงใช้เราไปทำพระราชกิจของพระองค์ในพระนามของพระองค์
เพื่อเราจะภาคภูมิใจที่พระองค์ทรงใช้เรา
เพื่อชีวิตทั้งสิ้นของเรามีส่วนในการสรรเสริญยกย่องพระเจ้า
ทั้งสิ้นนี้เป็นไปได้เพราะเป็นพระคุณของพระเยซูคริสต์ต่างหาก

12 สิงหาคม 2553

ผู้ยิ่งใหญ่

46แล้วเหล่าสาวกก็เกิดเถียงกันว่าในพวกเขาใครเป็นใหญ่ 47ฝ่ายพระเยซูทรงหยั่งรู้ความคิดในใจของเขาจึงให้เด็กคนหนึ่งยืนอยู่ใกล้พระองค์ 48แล้วตรัสกับเขาว่า “ถ้าผู้ใดจะรับเด็กเล็กๆ คนนี้ในนามของเรา ผู้นั้นก็ได้รับเรา และผู้ใดได้รับเรา ผู้นั้นก็ได้รับพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา เพราะว่าในพวกท่านทั้งหลาย ผู้ใดเป็นผู้น้อยผู้นั้นแหละเป็นผู้ใหญ่ (ลูกา 9:46-48)

การคิดว่าตนเองเป็นคนสำคัญ หรือการที่สนใจแต่ตนเองนั้นมักทำให้เกิดการถกเถียงกัน หรือไม่ก็เกิดความรู้สึกไม่พออกพอใจอยู่ภายใน ความครุกรุ่นในจิตใจ ความรู้สึกขมขื่นในชีวิต อีกทั้งทำให้ตนเองต้องตกอยู่ในวังวนของความสับสนวุ่นวายใจอีกด้วย อาจจะเป็นไปได้ว่า การที่พระเยซูคริสต์ทรงเลือกให้เปโตร ยากอบ และยอห์น ขึ้นไปบนภูเขาที่พระองค์ทรงจำแลงพระกายทำให้สาวกกลุ่มนี้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญ จนนำมาถึงซึ่งการถกเถียงว่าใครกันแน่ที่มีความสำคัญในกลุ่มสาวกคนใกล้ชิด

พระเยซูคริสต์มิได้อยู่ตอนเริ่มต้นที่ถกเถียงกัน แต่พระองค์ทรงรู้ว่าสาเหตุของการถกเถียงกันของสาวกมีสาเหตุจากเรื่องอะไร “พระองค์ทรงหยั่งรู้ความคิด” ของสาวกในเวลานั้น พระเยซูได้นำเด็กเล็กคนหนึ่งที่อยู่แถวนั้นเข้ามาใกล้พระองค์ เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบให้สาวกเห็นถึงระบบคุณค่าที่ใช้ในแผ่นดินของพระเจ้า ระบบการให้คุณค่าแก่ผู้คนในแผ่นดินของพระเจ้าแตกต่างตรงกันข้ามจากหน้ามือเป็นหลังมือกับระบบการให้คุณค่าสำคัญของกระแสแห่งโลกนี้

เมื่อพระเยซูนำเด็กมายืนเคียงข้างพระองค์ พระองค์มิได้หมายความว่าเด็กสำคัญกว่าผู้ใหญ่ หรือเพราะเด็กยืนเคียงข้างพระองค์ดังนั้นเด็กจึงมีความสำคัญ และพระองค์ก็ไม่ได้บอกว่าเด็กเป็นเหมือนทูตสวรรค์ที่จะนำเราให้เข้าไปถึงพระพักตร์พระเจ้า จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง หรือให้เรานมัสการเด็กคนนี้ มิใช่เช่นนั้นแน่ แต่พระองค์ประสงค์ที่จะเปรียบเทียบให้สาวกได้เรียนรู้และเข้าใจถึง “ระบบคุณค่า” แห่งแผ่นดินของพระเจ้า

ในสังคมและวัฒนธรรมยิวในสมัยนั้น เด็กไม่มีคุณค่าและความหมายอะไรเลยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ใหญ่ผู้ชายอย่างสาวกของพระองค์ ดังนั้น ในสังคมยิวเวลานั้นจึงมิได้ให้คุณค่าและความสนใจเด็กเช่นพระองค์ แต่พระเยซูคริสต์ตรัสสอนสาวกของพระองค์ว่า ถ้าใครยอมรับ ให้เกียรติ และให้คุณค่าแก่เด็กเล็กๆ เช่นนี้คนหนึ่งในนามของพระองค์ คนนั้นก็ยอมรับ ให้เกียรติ และให้คุณค่าแก่พระองค์ด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการยอมรับ ให้เกียรติ และให้การยกย่องสรรเสริญแก่พระบิดาเจ้าด้วย และนี่คือ ระบบคุณค่าแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

ในเมื่อสาวกแต่ละคนยอมรับ ให้เกียรติ และให้คุณค่าแม้แต่เด็กเล็กๆ คนนี้ เขาก็ควรจะยอมรับ ให้เกียรติ และให้คุณค่าแก่กันและกันในกลุ่มสาวกด้วย มองเห็นคุณค่าในชีวิตของผู้อื่น กระทำสิ่งที่ดีที่สุดแก่กันและกันเหมือนที่พวกเขาต้องการกระทำต่อพระองค์ และ พระบิดา อันความเป็นใหญ่ตามระบบคุณค่าของพระเยซูคริสต์ ที่มิใช่ได้มาเพราะคนๆ นั้นได้ใกล้ชิดคนสำคัญ มิใช่คนนั้นมีอำนาจ หรืออยู่ใกล้ชิดคนที่มีอำนาจ แต่เพราะการยอมรับคนอื่น ให้เกียรติ และ เห็นคุณค่าของคนอื่น นำเขาไปสู่การใช้ชีวิตในการรับใช้คนๆ นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนเล็กน้อยด้อยค่า อยู่ชายขอบหรือนอกขอบสังคม ตามระบบคุณค่าของพระเยซูคริสต์ คนกลุ่มนี้แหละที่สาวกคนติดตามพระองค์จะต้องรับใช้

พระเยซูคริสต์มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม พระองค์มาในโลกนี้เพื่อรับใช้ช่วยเหลือคนผิดคนบาปที่หลีกลี้หนีออกจากทางพระเจ้า ความยิ่งใหญ่ของพระเยซูคริสต์มิใช่เพราะเป็นพระบุตรของพระบิดา มิใช่เพราะพระองค์เลือกวิธีสละชีวิตที่ทรมานเจ็บปวดและตายด้วยความรุนแรงบนกางเขน แต่ที่พระเยซูคริสต์ทรงยิ่งใหญ่เพราะ พระองค์ยอมเชื่อฟังพระบิดา ทนทุกข์เจ็บปวดเพื่อเราผู้บาปผิดบนกางเขน ถ้าเป็นเช่นนั้น ระบบคุณค่าของคริสเตียนเราในปัจจุบันก็ต้องผิดรูปผิดแบบจากแก่นแท้แห่งระบบคุณค่าแห่งแผ่นดินของพระเจ้า ไม่มีใครในพวกเราที่จะอ้างสิทธิอำนาจเหนือคนอื่นได้ในเมื่อพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงถ่อมพระองค์ลงยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา(ฟิลิปปี 2:5-8)

คริสเตียนและคริสตจักรในปัจจุบันต้องตัดสินใจเลือกว่าจะใช้ชีวิตบนเส้นทางแห่งกางเขนของพระคริสต์หรือจะเลือกเดินไปตามกระแสแห่งโลกนี้ ที่จะคิด ตัดสินใจ และกระทำตามหลักการหลักเกณฑ์ของสังคมโลกปัจจุบัน ถ้าใครตัดสินใจเลือกเส้นทางแห่งกางเขนของพระคริสต์ ผู้นั้นเลือกระบบคุณค่าที่ความยิ่งใหญ่เกิดจากการที่คนๆ นั้นบริการรับใช้ผู้อื่นด้วยชีวิตที่รักเมตตาและเสียสละ และนี่คือวิธีการที่ดีที่สุดจะสำแดงพระคริสต์ให้เพื่อนรอบข้างของเราเห็นและสัมผัสพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน เป็นชีวิตที่ถ่อมสุภาพ รับใช้ด้วยความรักเมตตา รับใช้แม้คนที่เราชัง

พระคริสต์ทรงถ่อมพระองค์ลง
ทรงกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อเราทั้งๆ ที่เรามิใช่คนที่เหมาะสมจะรับสิ่งเหล่านั้น
พระคริสต์ทรงถ่อมพระองค์ลง
ยอมทนทุกข์เพื่อเราแต่ละคนผู้เล็กน้อยด้อยค่า
พระคริสต์ต้องถ่อมพระองค์ลงอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเราคิดว่า ตนเองมีคุณค่าสำคัญกว่าคนอื่น
พระคริสต์ต้องถ่อมพระองค์ลงอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเราไม่ยอมที่จะถ่อมตนลงรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยรักและเสียสละ
พระคริสต์ต้องถ่อมพระองค์ลง ยอมถูกตรึงบนกางเขนอีกกี่ครั้งเพื่อเรา?

5ท่านจงมีน้ำใจต่อกันเหมือนอย่างที่มีในพระเยซูคริสต์ 6ผู้ทรงสภาพของพระเจ้า แต่มิได้ทรงถือว่าการเท่าเทียมกับพระเจ้านั้นเป็นสิ่งที่จะต้องยึดถือ 7แต่ได้กลับทรงสละและทรงรับสภาพทาส ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์ 8และเมื่อทรงปรากฏพระองค์ในสภาพมนุษย์แล้ว พระองค์ก็ทรงถ่อมพระองค์ลงยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา กระทั่งความมรณาที่กางเขน (ฟีลิปปี 2:5-8)

10 สิงหาคม 2553

สาวกรับใช้พระคริสต์

10ครั้นอัครทูตกลับมาแล้ว เขาทูลพระองค์ถึงบรรดาการซึ่งเขาได้กระทำนั้น พระองค์จึงพาเขาไปแต่ลำพังถึงเมืองที่เรียกว่าเบธไซดา 11แต่เมื่อประชาชนรู้แล้วจึงตามพระองค์ไป พระองค์ทรงต้อนรับเขา ตรัสสั่งสอนเขาถึงแผ่นดินของพระเจ้า และทุกคนที่ต้องการให้หายโรคพระองค์ก็ทรงรักษาให้ (ลูกา 9:10-11)

เราแต่ละคนต่างคาดหวังที่จะมีชีวิตที่เป็นสาวกของพระคริสต์
เป็นชีวิตที่ผ่านการบ่มเพาะ ฝึกฝนจากพระคริสต์ในทุกสถานการณ์ชีวิตประจำวัน
สาวกของพระคริสต์
เรียนรู้จากสิ่งที่พระองค์สอน
เรียนรู้จากสิ่งที่พระองค์ทำ
เรียนรู้จากท่าทีที่พระองค์แสดงออกต่อผู้คน
เรียนรู้ว่าพระองค์เลือกทำอะไรก่อนและหลัง
เรียนรู้ว่า เป้าหมายสำคัญสุดยอดคือ แผ่นดินของพระเจ้า
เรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อประชาชนให้มีชีวิตอยู่ในแผ่นดินของพระเจ้า
เรียนรู้ว่าการตอบสนองต่อชีวิตผู้คนสำคัญกว่าเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นสุดๆ ในชีวิตของตนเอง

ภายหลังที่ติดตามสังเกตเรียนรู้ในสิ่งที่พระองค์สอนและพระองค์กระทำ
พระเยซูก็ส่งสาวกของพระองค์ลงสนามฝึกหัด
ทำในสิ่งที่พระองค์ทำ สอนในสิ่งที่พระองค์สอน
แต่ทั้งสิ้นเหล่านี้เป็นการกระทำที่สำนึกเสมอว่า ทำด้วยฤทธิ์อำนาจของพระองค์
กระทำทุกอย่างในพระนามของพระคริสต์

ทุกคนกลับมาพร้อมกับความเหน็ดเหนื่อย แต่ตื่นเต้นในประสบการณ์ใหม่ๆ
พระเยซูพาเขาออกจากเมืองคาเปอรนาอุมไปในที่สงบเงียบของเบธไซดา
ใกล้ปากแม่น้ำจอร์แดนที่ไหลลงสู่ทะเลสาบกาลิลี
เพื่อจะได้พักผ่อน และบอกเล่าถึงประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นที่เจอะเจอมา
แต่ฝูงชนสืบทราบมา จึงติดตามไปทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อพบกับพระเยซูและสาวก
การพักผ่อน ความสุขจากการเล่าประสบการณ์เลยต้อง “เก็บไว้ก่อน”

พระเยซูต้อนรับประชาชนที่ตามหาจนพบ
พระองค์ทรงสั่งสอนพวกเขาถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า
พระองค์ทรงรักษาคนเจ็บป่วยที่ต้องการหาย
สาวกปรับตัวเข้าสู่สถานการณ์การเรียนรู้ในสิ่งที่พระเยซูสอนและทำ
พวกเขาเรียนรู้จากการเป็นผู้ช่วยพระคริสต์ในการรับใช้ประชาชน
พระองค์กำลังเตรียมสาวกของพระองค์
ในการที่จะต้องทำงานที่ตนเองมิได้กะเกณฑ์หรือคาดการณ์ล่วงหน้า

พระคริสต์กำลังเตรียมสาวกของพระองค์ในการทำงานในปีข้างหน้าที่จะมาถึง
พระองค์ทรงเตรียมเขาให้มีชีวิตพร้อมเสมอสำหรับประชาชน และ เหตุการณ์ที่พระเจ้าจะส่งมา
พระองค์ทรงเตรียมพวกเขาให้รู้จักที่จะอดทนในความยากลำบาก
พระองค์ทรงเตรียมเขาให้เป็นผู้แบ่งปันแผ่นดินของพระเจ้าแก่ผู้คนในทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
พระองค์ทรงเตรียมเขาให้พร้อมรับใช้พระเจ้าที่ไม่เป็นไปตามตารางเวลาชีวิตของตน
พระองค์ทรงเตรียมสาวกของพระองค์รับใช้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตนไม่สามารถควบคุม
พระองค์ทรงเสริมสร้างพวกเขาให้เป็นคนงานในแผ่นดินของพระเจ้า

เราอาจจะถูกบ่มเพาะ ฟูมฟักมาอย่างผิดพลาด
คริสเตียนมักเข้าใจว่า งานรับใช้เป็นงานเฉพาะ เป็นงานของคริสตจักร
ดังนั้น หลายคนจึงทำงานพันธกิจรับใช้เป็นงานอดิเรก
เป็นงานฝาก ถ้ามีเวลาขอช่วยทำหน่อย
งานรับใช้พระคริสต์เป็นงานที่ทำในเวลาที่เหลือ
เป็นงานที่ทำนอกธุรกิจการงาน อาชีพของตน

แต่พระคริสต์ทรงเรียกแต่ละคนให้รับใช้ในพันธกิจของพระองค์ในเวลาที่พระองค์ต้องการ
พระองค์ทรงเรียกให้เราทำพันธกิจของพระองค์ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกสถานการณ์ที่พระองค์ประสงค์
พระองค์ทรงเรียกให้เราทำตามการทรงคาดหวังของพระองค์ มิใช่ตามความคาดหวังของเรา
แต่ที่สำคัญคือ เมื่อพระองค์ทรงเรียกเราทำตามพระประสงค์ของพระองค์
พระองค์ทรงพร้อมส่งคนที่เราจะพบ สถานการณ์ที่เราจะต้องประสบ ความยากลำบากที่เราจะต้องเผชิญ
พระองค์พร้อมที่จะนำเราในการรับใช้พันธกิจนั้นด้วยพระกำลัง และ น้ำพระทัยของพระองค์

พระคริสต์ประสงค์ที่จะทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านชีวิตและการงานของสาวก
พระคริสต์ประสงค์ที่จะทำงานในชีวิตของสาวกของพระองค์ ผ่านการอธิษฐาน และ ผ่านพระวจนะ
สาวกของพระคริสต์จึงเรียนรู้ มีประสบการณ์ มีความศรัทธา และมั่นใจในพระองค์
เราต้องเรียนรู้แล้วเรียนรู้เล่าจากพระองค์ ในทุกวัน

โปรดระลึกเสมอว่า เมื่อพระเจ้าส่งงานพันธกิจมาให้เราทำ
พระองค์ก็จะส่งการทรงนำ และ พระกำลัง ความรักเมตตา พระคุณ และสิ่งจำเป็นต่างๆแก่เรา
เพียงขอท่านพร้อมและเต็มใจที่จะให้พระองค์ทรงใช้เท่านั้น

08 สิงหาคม 2553

เสียงฟ้องแห่งจิตสำนึกผิด

7ฝ่ายเฮโรดผู้ครองแคว้นได้ยินเรื่องราวทั้งปวงที่เกิดขึ้นก็สับสนว้าวุ่น เพราะบางคนก็พูดกันว่า ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเป็นขึ้นจากตาย 8บ้างก็ว่าเอลียาห์มาปรากฏตัว ทั้งยังมีคนอื่นๆ ที่บอกว่า ผู้เผยพระวจนะสมัยก่อนคนหนึ่งได้เป็นขึ้นจากตาย 9แต่เฮโรคกล่าวว่า “เราตัดศีรษะยอห์นไปแล้ว แล้วคนที่เราได้ยินกิตติศัพท์คนนี้เป็นใครกันแน่?” เฮโรดจึงพยายามที่จะเห็นพระองค์ (ลูกา 9:7-9 สำนวนอมตธรรมร่วมสมัย)

ความจริงย่อมเป็นความจริงวันยังค่ำ
หลังจากที่พระเยซูส่งสาวกของพระองค์ออกไปทำพระราชกิจของพระองค์ท่ามกลางชุมชน
โดยที่พระองค์มิได้ออกไปด้วย
สาวกรักษาประชาชนทุกหนทุกแห่งที่ไปถึง
ให้หายจากความเจ็บป่วยด้วยฤทธิ์อำนาจของพระเยซูคริสต์
สาวกขับผีร้าย อำนาจชั่วทั้งปวง ออกจากผู้คนในพระนามของพระเยซูคริสต์
สาวกประกาศถึงแผ่นดินของพระเจ้า ประกาศถึงการครอบครองของพระองค์

นี่แค่สาวกของพระองค์ยังทำสิ่งมหัศจรรย์งานใหญ่ได้มากมายถึงเพียงนี้
แล้วพระอาจารย์ของพวกเขาล่ะจะแค่ไหน
คนในเมืองต่างๆ ในแว่นแคว้นนี้ต่างโจษจันกันแซดถึงพระเยซูคริสต์ว่าเป็นใคร
บางคนว่า พระเยซูคือยอห์นผู้ให้บัพติศมาที่กลับฟื้นคืนชีวิตมาใหม่
บางคนว่าเป็นเอลียาห์มาปรากฏอีกครั้งตามคำทำนายของมาลาคี (4:5)
บางคนว่าจะเป็นผู้เผยพระวจนะคนใดคนหนึ่งมาเกิดอีกครั้งหนึ่งแน่ๆ
แต่เฮโรคเชื่ออย่างมั่นใจว่า
“คือยอห์นนั่นเองที่เราตัดศีรษะเสีย ท่านได้เป็นขึ้นมาจากความตาย” (มก. 6:15)

เพราะเหตุนี้เอง เฮโรดจึงว้าวุ่นใจ...
ท่านว้าวุ่นใจเพราะจิตสำนึกผิดกำลังกระทุ้งทิ่มแทงจิตใจ และ ภายในชีวิตของท่าน

จิตสำนึกผิดที่เอาเมียคนอื่นมาเป็นเมียของตน
จิตสำนึกผิดที่ตนยอมให้คนดีที่มาเตือนสติต้องถูกตัดศีรษะ
จิตสำนึกผิดที่เอาชีวิตของคนดีถูกต้องแลกกับการรักษาคำสัญญาที่ให้กับหญิงสาวคนหนึ่ง
จิตสำนึกผิดที่เพียงต้องการเอาใจชู้ของตน

จิตสำนึกผิดกลายเป็นภาพหลอนที่เกาะกุมจิตใจ และปกคลุมจิตวิญญาณของเฮโรดจนมืดมัว
จิตสำนึกผิดทำให้ภาพของยอห์นผู้ให้บัพติศมาแจ่มชัดในความทรงจำอย่างเจ็บปวด
จิตสำนึกผิดกระตุ้นเตือนถึงการที่ตนทำผิด ตนเป็นคนบาป ตนเป็นคนของบาป
เฮโรคจะเป็นไทจากจิตสำนึกผิดนี้ได้อย่างไร
เฮโรดรู้ว่า ตนจะต้องจ่ายค่าในสิ่งที่ผิดที่ได้ตัดสินใจและทำลงไป
แต่เฮโรดไม่มีโอกาส ไม่มีทางที่จะจ่ายค่าในความผิดของตนที่ได้ทำกับยอห์นผู้ให้บัพติศมา
เฮโรคสิ้นทางออก พบทางตัน เฮโรคตกลงใน “กับดัก” ของจิตสำนึกผิด

วันนี้... เราแต่ละคนมี “จิตสำนึกผิด” อะไรหรือไม่
ที่คอยกระทุ้งเตือนถึงความผิดบาปของเรา
ทุกครั้งที่มันมีโอกาสมักจะโผล่ขึ้นมาสร้างความเจ็บปวดในชีวิต จิตวิญญาณของเราเอง
ที่มันจะเกาะกุมกร่อนเซาะจิตใจของเราให้ตกอยู่ในความกลัว วิตกกังวล ว้าวุ่นใจด้วยความสิ้นหวัง
เราเองก็สิ้นทางออก พบทางตัน ตกลงใน “กับดัก” ของจิตสำนึกผิด
เพราะความจริงก็คือว่า...อำนาจแห่งความผิดบาปไม่ยอมปล่อยให้เราหลุดจาก “กงเล็บ” ของมัน

เมื่อหลุดพ้นเป็นไทไม่ได้...
บางคนจึงปกปิด ซุกซ่อน จิตสำนึกผิด...
ด้วยการพยายามที่จะทำดี
ด้วยทรัพย์สินเงินทองความมั่งคั่ง
ด้วยการทำงานหนัก
ด้วยความทะเยอทะยาน
ด้วยการสร้างการยอมรับนับถือจากคนอื่น
ด้วยการดื่มแอลกอฮอล์
ด้วยใช้เครื่องเสพติดนานาชนิด
แต่นี่ก็เป็นเพียงการปกปิด ซุกซ่อน กลบเกลื่อนจิตสำนึกผิดในความทรงจำของเราไว้ชั่วคราวเท่านั้น

ทางออกที่เปิดช่องให้ชีวิตเราออกสู่ความเป็นไทได้คือ...
เปิดใจ เปิดชีวิต เปิดจิตสำนึกผิด
เลิกปกปิด ซุกซ่อน กลบเกลื่อนจิตสำนึกผิด
ขอให้พระคริสต์ทรงปลดปล่อยเราให้หลุดรอดออกจาก “กงเล็บ” ของอำนาจแห่งความบาป
ขอให้พระคริสต์เข้ามาครอบครอง และ ขับเคลื่อนชีวิตของเรา
ให้ชีวิตนี้ มุ่งสู่พระประสงค์ของพระองค์เป็นเป้าหมายหลักชัยในชีวิตของเรา

เมื่อท่านพบทางออก พ้นจากทางตัน และหลุดพ้นจากกับดักแห่งจิตสำนึกผิดแล้ว
อย่าลืมที่จะบอกเพื่อนของท่าน เพื่อนร่วมงาน คนในบ้าน คนในชุมชน และคนในโบสถ์
ถึงทางออกที่นำไปสู่ความเป็นไทในชีวิตด้วย

เพราะนี่คือความรับผิดชอบของท่านและข้าพเจ้า
เพราะนี่คือพันธกิจที่ได้รับการทรงเรียก และ งานที่ทรงมอบหมาย
เพราะนี่คือการสำแดงถึงความรักเมตตาอย่างแท้จริง
เพราะนี่คือพระราชกิจที่นำมาซึ่งแผ่นดินของพระเจ้า และ น้ำพระทัยของพระองค์
เพราะนี่คือเหตุผลที่เราเป็นสาวกของพระคริสต์
เพราะนี่คือเหตุผลที่คริสตจักรตั้งอยู่ในโลกนี้
เพราะนี่คือพระประสงค์ของพระบุตรของพระเจ้าที่เสด็จมาในโลกนี้

เส้นทางชีวิตที่ต้องคิดหนัก

23พระองค์จึงตรัสแก่คนทั้งหลายว่า “ถ้าผู้ใดใคร่ตามเรามา ให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเอง และรับกางเขนของตนแบกทุกวัน และตามเรามา 24เพราะว่าผู้ใดใคร่จะเอาชีวิตรอด ผู้นั้นจะเสียชีวิต แต่ผู้ใดจะเสียชีวิตเพราะเห็นแก่เรา ผู้นั้นจะได้ชีวิตรอด 25เพราะถ้าผู้ใดจะได้สิ่งของสิ้นทั้งโลก แต่ต้องเสียตัวของตนเองผู้นั้นจะได้ประโยชน์อะไร (ลูกา 9:23-25)

ในที่สุดความลับก็ถูกเปิดเผย พระเยซูคริสต์เองก็ยืนยันคำกล่าวของเปโตรที่บอกว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์ เป็นผู้ที่ได้รับการทรงเจิมจากพระเจ้า เป็นพระบุตรของพระบิดา ที่เข้ามาในโลกนี้เพื่อปราบปรามทำลายความตั้งใจและกิจการของซาตาน(1ยอห์น 3:8) บัดนี้ การศึกสงครามก็เปิดออกอย่างแจ้งชัด หมดเวลาสำหรับประชานิยมในตัวของพระเยซูคริสต์แล้ว การโจมตีอย่างรุนแรงจากฝ่ายตรงกันข้ามของพระเยซูจะทวีความมากขึ้น และนี่คือจุดที่นำพระเยซูขึ้นไปสู่การถูกตรึงที่กางเขน แต่เรื่องมิได้มีเพียงแค่นั้น เพราะทุกคนที่คิดจะติดตามพระองค์จำเป็นที่จะต้องเดินไปบนเส้นทางแห่งกางเขนเส้นนี้อย่างไม่มีทางเลี่ยง

เส้นทางกางเขนแห่งการเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ มิเพียงแต่จะนำสาวกที่ติดตามพระองค์ในเวลานั้นไปถึงจุดจบของชีวิตด้านร่างกายด้วยกางเขนไม้และตะปูเหล็กเท่านั้น แต่สาวกที่จะติดตามพระคริสต์ต้องเต็มใจที่จะปฏิเสธพลังธรรมชาติในการเห็นแก่ตัวเองทั้งสิ้น ละทิ้งความกดดันภายในตนแห่งความอยากได้ใคร่มี เพื่อที่จะยอมเชื่อฟังพระเจ้าพระบิดา เพราะพระคริสต์เองมิได้ทำตามใจที่ตนปรารถนา ไม่ว่าในสวนเกธเสมนี และ ที่ภูเขากะโหลกศีรษะ ดังนั้น ในฐานะสาวกของพระเยซูคริสต์ก็ไม่มีสิทธิที่จะทำตามใจปรารถนาของตนเองด้วยเช่นกัน เพราะพระคริสต์ทรงวางแบบอย่างสำหรับผู้ที่ตัดสินใจที่จะดำเนินบนเส้นทางแห่งกางเขนนี้ ที่จะเดินไปตามรอยพระบาทของพระองค์

บนเส้นทางแห่งกางเขนนี้เป็นเส้นทางที่ผู้จะตัดสินใจต้องเลือกว่า ท่ามกลางสถานการณ์สังคมที่พระเยซูคริสต์กำลังอยู่ในกระแสประชานิยม พระเยซูคริสต์ทรงยื่นคำขาดที่แต่ละคนจะต้องตัดสินใจเลือกว่า ตนจะยอมเสียสิทธิส่วนตัวที่จะทำตามใจปรารถนาอยากได้ใคร่มีของตน หรือเลือกที่จะยอมสูญเสียสิทธิแห่งชีวิตนิรันดร์ ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ แต่สำหรับพระคริสต์แล้ว พระองค์มิได้เลือกสารพัดสิ่งที่โลกนี้ประเคนให้พระองค์ แต่พระองค์เลือกที่จะยอมมอบกายให้ชีวิตแก่คนที่รักและเชื่อฟังพระองค์

หัวใจการเป็นสาวกของพระคริสต์ที่แท้จริงคือ การที่คนๆ นั้นเต็มอกเต็มใจที่จะติดตามพระองค์ไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต พร้อมเสมอที่จะเชื่อฟังพระองค์ และเลือกที่จะปฏิเสธสิ่งที่ตนอยากได้ใคร่มี เพื่อที่ตนจะสามารถถวายชีวิตทำตามพระบัญชาของพระองค์ สำหรับพระคริสต์ พระองค์ยอมสละชีวิตเป็นเครื่องบูชาเพื่อกอบกู้ไถ่ถอนเราให้หลุดพ้นจากอำนาจของความบาปแห่งโลกนี้ สำหรับเราที่ตัดสินใจเลือกที่จะติดตามเป็นสาวกของพระองค์คือ การที่เรายอมละทิ้งหรือยอมสูญเสียสิ่งที่เราอยากได้ใคร่มีสูงสุดในชีวิตของเรา ที่เราอาจจะอ้างอิงเหตุผลสารพัดเพื่อที่จะกอดยึดสิ่งเหล่านั้นให้เป็นของเรา

คำตรัสของพระคริสต์ที่ทรงยื่นคำขาดสำหรับคนที่จะเลือกติดตามเป็นสาวกของพระองค์ต้องตัดสินใจ ยุติจิตใจที่หมกมุ่นอยู่กับความเห็นแก่ตัวแห่งโลกนี้ เป็นคำตรัสที่กระตุกเตือนทุกคนที่หลงคิดว่าตนเป็นสาวกของพระคริสต์ ให้มองชีวิตการติดตามพระองค์และมีชีวิตที่เป็นสาวกของพระองค์ด้วยมุมมองของเบื้องบน

ดังนั้น ใครก็ตามที่หลงระเริงอยู่กับความคิดว่าตนเป็นสาวกของพระคริสต์ ถึงเวลาแล้วที่ต้องหยุดตนเอง แล้วใช้เวลาพิจารณาตนเองอย่างจริงจังว่า ตนเองเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์อย่างแท้จริงหรือไม่ หรือเราคิดว่าเราเป็นสาวกของพระองค์ แต่ดำเนินชีวิตที่ต่อต้านขัดแย้งต่อพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระเจ้า

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตัดสินใจเลือกที่จะละทิ้งตนเอง แล้วตามพระองค์ไปบนเส้นทางแห่งกางเขนดังกล่าว ถ้าใครที่รู้สึกได้รับความเจ็บปวดจากการที่ตนถวายชีวิตเป็นเครื่องบูชา และถูกทดลองให้ท้อแท้ถอยกลับ...ขอให้ระลึกถึงพระเยซู ดังใน พระธรรมฮีบรู 12:2-3 ที่เขียนไว้ว่า “...ขอให้เราวิ่งแข่งด้วยความเพียรพยายาม ตามที่ได้กำหนดไว้สำหรับเรา 2หมายเอาพระเยซูเป็นผู้บุกเบิกความเชื่อ และผู้ทรงทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์ พระองค์ได้ทรงอดทนต่อกางเขน เพื่อความรื่นเริงยินดีที่ได้เตรียมไว้สำหรับพระองค์ ทรงถือว่าความละอายนั้นไม่เป็นสิ่งสำคัญและพระองค์ได้ประทับ ณ เบื้องขวาพระที่นั่งของพระเจ้า 3ท่านทั้งหลายจงคิดถึงพระองค์ผู้ได้ทรงยอมทนต่อคำคัดค้านของคนบาป เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้ไม่รู้สึกท้อถอย”

ให้เราขอบพระคุณพระเจ้า ที่ทรงเตือนให้เราระลึกถึงการที่เราจาริกไปกับพระองค์ในแต่ละวัน ที่เรามีโอกาสดำเนินไปกับพระองค์บนเส้นทางชีวิตประจำวัน มิใช่เชื่อศรัทธาในพระองค์ด้วยการประกอบศาสนพิธี แต่ด้วยการถวายชีวิตของเราเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าและมีชีวิตที่เชื่อฟังพระองค์ และขอพระเจ้าทรงโปรดยกโทษเราที่บ่อยครั้งเราเรียกร้องหรืออ้างสิทธิส่วนบุคคลให้ได้ซึ่งความอยากมีอยากได้เพื่อตนเอง ขอพระเจ้าทรงช่วยให้เราได้เข้าใจถึงการที่พระคริสต์ยอมมอบกายถวายชีวิตของพระองค์ให้เป็นเครื่องบูชาเพื่อเป็นค่าไถ่ชีวิตคนเป็นอันมาก เพื่อเราจะติดตามและทำตามอย่างพระองค์ด้วยความเต็มใจ และพร้อมที่จะละทิ้งสิทธิส่วนบุคคลเพื่อเราจะสามารถเดินไปอย่างใกล้ชิดพระองค์ ขอให้พระคุณขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปกป้องรักษาให้ชีวิตของเราเป็นสาวกที่แท้จริงของพระองค์

03 สิงหาคม 2553

อย่าลอกเลียนแบบ...

อ่านพระธรรมโรม 12:1-2

2อย่าลอกเลียนแบบอย่างคนในยุคนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ แล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่ เพื่อท่านจะได้ทราบพระประสงค์ของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัย และอะไรดียอดเยี่ยม (โรม 12:2 สำนวนฉบับ 2002)
ท่านอย่าลอกเลียนแบบพฤติกรรมและประเพณีตามกระแสนิยมในยุคนี้ แต่จงเปิดชีวิตของท่านให้พระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงท่านให้เป็นคนใหม่ ให้ทรงเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของท่าน เพื่อท่านจะได้เรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของท่าน เพื่อท่านจะได้มีชีวิตที่ดี น่าชื่นชม และเป็นชีวิตที่ถ้วนครบสมบูรณ์ (โรม 2:2 สำนวนแปลของผู้เขียน)

พระธรรมโรม 12:1 กระตุ้นเตือนคริสเตียนให้มอบกายถวายชีวิตนี้แด่องค์พระผู้เป็นเจ้าให้เป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตอยู่ ในฐานะคริสเตียนแล้วเราจึงควรดำเนินชีวิตประจำวันให้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญพระเจ้า เป็นการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์ มิใช่ดำเนินชีวิตตามใจต้องการของตนเอง โรม 12:2 เริ่มต้นประโยคที่เป็นการห้ามปราม “อย่าลอกเลียนแบบพฤติกรรมและประเพณีตามกระแสนิยมในยุคนี้” ถ้าแปลตามอักษรจากภาษากรีกก็จะแปลได้ว่า “อย่าประพฤติอย่างคนในยุคนี้” ซึ่งกินความหมายถึงการประพฤติตามประเพณีนิยมและกระแสนิยมในสมัยนี้ เพราะการประพฤติเหล่านั้นแตกต่างตรงกันข้ามกับสัจจะความจริงและพระประสงค์ของพระจ้า

ถ้าพิจารณาตามหลักไวยากรณ์ คำว่า “อย่าลอกเลียนแบบ” หมายถึงการลอกเลียน หรือ การประพฤติตามอย่างกระแสโลกนี้ เป็นการกระทำที่ต่อเนื่อง มิได้กระทำครั้งเดียวจบ แต่การลอกเลียนแบบตามประเพณีนิยมและกระแสนิยมแห่งสังคมโลกปัจจุบันนี้เป็นการลอกเลียนแบบอย่างต่อเนื่อง เพราะกระแสนิยมปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา คนส่วนใหญ่ในสังคมจึงตามติดกระแสเหล่านั้นอย่างไม่ลดละและสิ้นสุด จนเข้าไปสู่ลักษณะการติดพันกับกระแสนิยมนั้นอย่างถอนตัวไม่ออก เหมือน “หนูติดจั่น” ในสภาพชีวิตเช่นนี้ เราจะต้องหยุดเพื่อที่จะตัดสินใจว่า เราจะวิ่งไล่ตามกระแสนิยมแห่งโลกนี้ หรือ ตัดสินใจที่จะเลือกติดตามพระเจ้า

ยิ่งนานวันคริสเตียนยิ่งมีความรู้สึกตึงเครียดระหว่าง “การประพฤติตามกระแสนิยมในยุคนี้” กับมุมมองความเชื่อศรัทธาตามพระคัมภีร์ สิ่งนี้ได้ปรากฏมาเป็นเวลายาวนานพอประมาณ คริสเตียนต้องคิดว่าในฐานะที่ตนเป็นคริสเตียนและในฐานะที่เราอยู่ในสังคมไทย เราต้องเผชิญหน้าตลอดเวลาว่า ถ้าเราเชื่อศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้า เราจะต้องปฏิเสธต่อการยอมจำนนที่ต้องกระทำตามกระแสแห่งสังคมโลกนี้ การปฏิเสธนี้จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังรอบคอบ เพราะเราเป็นคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในสังคมโลกนี้ การปฏิเสธที่เราต้องสนใจคือ แนวทางความประพฤติตามประเพณีนิยมและกระแสนิยมของสังคมที่ขัดแย้งต่อต้านกับแนวทางการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า ในการนี้เราต้องกล้าหาญที่จะตัดสินใจและบอกปฏิเสธต่อวิถีการประพฤติปฏิบัติเหล่านั้น และยืนหยัดและยืนยันที่ตัดสินใจเลือกแนวทางชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มิได้หมายความว่าให้เรามีชีวิตที่ “ถอนตัวหลุดโลก” หรือพวกหนีสังคม แต่ให้เราดำเนินชีวิตในโลกนี้เพื่อพระประสงค์ของพระเจ้าและถวายพระเกียรติแด่พระองค์

ปัจจุบันนี้มีอะไรไหมที่กดดันท่านให้มีชีวิตเป็นไปตาม “เบ้าหลอม” แห่งสังคมโลกนี้? มีอะไรบ้างในที่ทำงานของท่าน ที่ท่านคิดว่า ท่านจะต้องกล้าปฏิเสธ ในที่นี้รวมถึงระบบคุณค่า และ แนวทางการปฏิบัติในสถานที่ทำงานของท่านด้วย?

ขอสารภาพว่า กับดักแห่งโลกนี้มีมากมายนักหนา
ถึงแม้ว่าเราจะแสวงหาชีวิตที่คิดอย่างพระเจ้า
จนแล้วจนรอดเรากลับไปทำตามกระแสแห่งโลกนี้
ขอพระเจ้าโปรดยกโทษด้วย

พระเจ้าทรงสอนเราให้กล้าที่จะไม่ลอกเลียนแบบการประพฤติตามธรรมเนียมตามกระแสสังคมปัจจุบัน
เราต้องการมองเห็นตนเองตามสายพระเนตรของพระเจ้า
เราต้องการสายตาที่สามารถมองเห็นความโกหก หลอกลวงในสังคมของเรา อย่างทะลุปรุโปร่ง
เราต้องการรอดพ้นจากอิทธิพลของกระแสนิยมเหล่านั้น
เราต้องการการทรงช่วยจากพระเจ้า เปิดตาของเราให้สามารถเห็นอย่างที่พระองค์เห็น

ในเวลาเดียวกันเราก็ตระหนักว่า
เราไม่ต้องการหลีกลี้หนีออกจากสังคมโลก และ จากเพื่อนมนุษย์
ขอพระกำลังของพระเจ้าที่จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตในโลกเพื่อพระประสงค์ของพระองค์
ขอพระเจ้าทรงใช้ชีวิตของเรา
ให้เป็นท่อแห่งพระคุณ สัจจะความจริง และความรักเมตตาในทุกๆ ที่ที่เราไป

01 สิงหาคม 2553

พระเจ้าตอบคำอธิษฐานเพราะ...

อ่านสดุดี 143:1-12

1ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงฟังคำอธิษฐานของข้าพระองค์
ขอทรงเงี่ยพระกรรณสดับคำวิงวอนของข้าพระองค์
ขอทรงตอบข้าพระองค์ตามความสัตย์สุจริตของพระองค์
(และ) ตามความชอบธรรมของพระองค์ (สดุดี 143:1)


ผู้เขียนสดุดีบทนี้ ร้องวิงวอนขอพระเจ้าฟังคำอธิษฐานของตน
ชีวิตของเขากำลังถูกศัตรูไล่กวด
ถูกขยี้ลงถึงดิน
ชีวิตถูกกดดันให้อยู่ในความมืดมิด หาทางออกไม่ได้
เหมือนคนตายในหลุมฝังศพ
จิตใจของเขา...ตกอยู่ในสภาพอ่อนระอา และ ฝ่อ
ตกในสภาพที่กลัวลาน
จิตใจของเขา...กระหายหาพระเจ้า เหมือนแผ่นดินที่แห้งผาก

เขาอธิษฐาน ร้องทูล เขาวิงวอนต่อพระเจ้า
เขาขอพระเจ้า “ทรงสดับคำวิงวอนของเขา”
เขาขอพระเจ้า “เงี่ยหู” ฟังคำอธิษฐานของเขา
เขาขอพระเจ้า “ตอบ” คำวิงวอนของเขา

ถ้าเป็นเราที่ตกอยู่ในสถานการณ์อย่างผู้เขียนสดุดีบทนี้...
เราอาจจะอธิษฐานแบบทำสัญญาแลกเปลี่ยนกับพระเจ้า เช่น
ขอพระองค์นำข้าพระองค์ออกจากสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้แล้ว...
ข้าพระองค์สัญญาว่าข้าพระองค์ถวายตัวรับใช้พระองค์
ข้าพระองค์จะเปลี่ยนแปลงและดำเนินชีวิตเป็นคนที่พระเจ้าต้องการ
หรือไม่ก็จะอ้างว่า....
ขอพระเจ้าโปรดระลึกถึงความสัตย์ซื่อที่ตนมีต่อพระเจ้าตลอดมา
ขอพระเจ้าเห็นแก่ตนในฐานะผู้รับใช้ที่ดีของพระองค์
ขอพระเจ้าทรงช่วยกู้เพราะเห็นแก่ชีวิตที่ทุ่มเทที่ผ่านมา
เพื่อคนทั้งหลายจะได้เห็นถึงพระคุณและความรักของพระองค์

แต่...ผู้เขียนพระธรรมสดุดีบทนี้ ทูลต่อพระเจ้าแตกต่างจากข้างต้น...
เขาขอพระเจ้า
“เงี่ยหู”
“ฟัง” และ
“ตอบ” เขาในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน
มิใช่เพราะความดีความชอบที่ตนเคยทำต่อพระเจ้าในอดีต หรือ
ตั้งใจที่จะทำดีดทำชอบในสายตาของพระเจ้าในอนาคต

แต่...ผู้เขียนสดุดีบทนี้ ขอพระเจ้าทรง เงี่ยหูฟังคำอธิษฐานของเขา
“ตามความสัตย์สุจริตของพระองค์”
“ตามความชอบธรรมของพระองค์”
มิใช่ตามความสัตย์ซื่อของตนเอง หรือ
ความตั้งใจที่จะทำดีของตนเอง หรือ
เพราะเรายื่นเงื่อนไขที่(น่าจะ)ดีต่อพระเจ้า
เพราะเราจะยอมเป็นคนดีในอนาคต ตามที่พระเจ้าต้องการ

ผู้เขียนสดุดีบทนี้ตระหนักชัดว่า...
การที่พระเจ้า “ทรงเงี่ยหูฟังคำอธิษฐานทูลขอ และ ทรงตอบคำอธิษฐาน” ของตน
เป็นเพราะพระคุณของพระเจ้า
เป็นเพราะพระเจ้าทรงสัตย์สุจริต
เป็นเพราะความชอบธรรมของพระองค์
เป็นเพราะพระองค์ทรงรัก เมตตา และต้องการทรงช่วยกอบกู้และสร้างสรรค์เรา

ผู้เขียนสดุดีบทนี้ยังเชื่อศรัทธาอีกว่า...
การที่พระเจ้า “ทรงตอบคำอธิษฐาน” ...
มิใช่เพื่อตอบสนองการทูลขอในความต้องการของตน(มนุษย์)
แต่เป็นพระราชกิจอันทรงพระคุณของพระองค์ที่ให้แก่ชีวิตของเรา
เป็นการเอาใจใส่ ดูแล ด้วยความรักเมตตาของพระเจ้า
เป็นพระราชกิจแห่งการกอบกู้ของพระเจ้า
เป็นพระราชกิจของพระเจ้า ที่ทรงนำและสร้างเราให้เติบโตขึ้น
เป็นการ “ทรงสอนถึงทางที่ควรเดินไป”
เป็นการ “ทรงสอนให้ข้าพระองค์ทำตามพระทัยของพระองค์”
เป็นการ “ทรงนำข้าพระองค์ไปตามวิถีราบ”
เป็นการ “ทรงนำข้าพระองค์ออกจากความทุกข์ยากลำบาก”
เป็นการ “ทรงสอนและทรงนำ” ด้วยความรักเมตตาขององค์พระผู้เป็นเจ้า

ในวันนี้....
ไม่ว่าชีวิตของเราจะมีความมั่นคงในพระเจ้า หรือ
ชีวิตกำลังล้มสะดุดลง
แม้ว่าจิตสำนึกภายในของเราฟ้องถึงพฤติกรรมอดีตในชีวิตของเรา
จงร้องทูลวิงวอน อธิษฐานต่อพระเจ้า
จงเชื่อมั่นและวางใจในพระเจ้า...
พระองค์จะทรงตอบคำอธิษฐานของเรา เพราะ....
ความสัตย์สุจริตของพระองค์ และ
ความชอบธรรม และ
พระคุณความรักของพระองค์