27 สิงหาคม 2553

ผู้นำที่สร้างผู้นำ

ผู้นำบางคนยอมตนให้ผู้ตามสร้างตนเองให้เป็นผู้นำ
มีผู้นำบางคนต้องการสร้างผู้ตามให้เป็นคนที่ทรงประสิทธิภาพ
แต่ผู้นำบางคนต้องการสร้างผู้นำที่ทรงประสิทธิภาพ
สำหรับ ดร. จอห์น ซี แมกซ์แวลล์ ต้องการเป็นผู้นำที่สร้างผู้นำของผู้นำ
และผู้นำของผู้นำของผู้นำของผู้นำ...

ผู้นำบางคน เขาให้คนแวดล้อมทำให้ตนเป็นผู้นำ เขาจึงเป็นผู้นำของ “พวกพ้อง” แต่คนอื่นในองค์กรไม่ยอมรับภาวะผู้นำของเขา
ผู้นำบางคนเข้าใจว่า ความก้าวหน้าขององค์กรขึ้นอยู่กับศักยภาพของลูกน้องในองค์กร ดังนั้น เขาจึงลงทุนลงแรงสร้างลูกน้องของเขาให้มีประสิทธิภาพ
ผู้นำบางคนเข้าใจว่า ความแกร่งขององค์กรเพราะมีคนที่มีภาวะผู้นำมากมาย ที่เข้ามีช่วยกันนำ ดังนั้น เขาจึงสร้างลูกน้องให้เป็นผู้นำที่มีศักยภาพ ให้เป็นผู้นำที่เพิ่มคุณค่าแก่องค์กร

ท่านเลือกคนแบบไหนเข้ามาทำงานในองค์กรของท่าน?
ท่านสบายใจกับคำหวานของพวกพ้อง เพื่อท่านจะรู้สึกมั่นคงในองค์กร หรือ
ท่านสร้างคนในองค์กรให้ทำงานที่ท่านต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ
ท่านฝึกฝนลูกน้องให้เป็นผู้นำที่สร้างคุณค่าเพิ่มแก่องค์กรของท่าน?

ในฐานะ “ผู้นำ” งานของท่านมิใช่เพียงแต่ที่จะรู้ถึงศักยภาพ และ ความสามารถของคนแต่ละคนในองค์กรของท่านเท่านั้น
แต่ผู้นำที่แท้จริงควรเป็นผู้ที่ “หนุนเสริมเพิ่มพลัง” ให้ลูกน้องกลายเป็นผู้นำให้ได้

ดร. จอห์น ซี. แมกซ์แวลล์ ได้ให้กุญแจ 5 ดอกสำหรับเสริมและสร้างคนในองค์กรของท่านจากผู้ตามให้เป็นผู้นำ ดังนี้

ขั้นแรก ท่านใช้กุญแจทั้งห้าดอกนี้ในการพิจารณาตนเองว่า “ฉันได้หนุนเสริมเพิ่มพลังให้คนของฉันให้เป็นผู้นำหรือไม่?”

ขั้นต่อไป ใช้กุญแจนี้เป็นแนวทางในการเสริมสร้างบรรยากาศของ... การหนุนเสริมเพิ่มพลังให้คนในองค์กรของท่านเติบโตขึ้นในการเป็นผู้นำ

1. ให้คุณค่าแก่กระบวนการมากกว่าความสำคัญของเหตุการณ์เป็นครั้งคราว

เราต้องตระหนักชัดว่า คนในองค์กรของเราจะไม่สามารถเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่เพียงแค่ในชั่วเวลาค่ำคืน ผู้นำต้องผ่านการพัฒนาเสริมสร้างวันแล้ววันเล่า ไม่ใช่วันเดียว ความรับผิดชอบของเราในฐานะผู้นำขององค์กรคือ จัดเตรียมขั้นตอนการพัฒนาเสริมหนุนสำหรับคนของเราในงานที่ทำ และเป็น “พี่เลี้ยง” ของเขาตลอดกระบวนการการทำงานและการหนุนเสริมเพิ่มพลังให้เขาเป็นผู้นำ

2. ให้สิ่งที่ดีที่สุดของท่านแก่คนที่ดีที่สุดขององค์กร

นอกจาก “คนที่ดีที่สุด” ในองค์กรหาได้ยากแล้ว การรักษาคนที่ดีที่สุดไว้ให้อยู่ในองค์กรนานที่สุดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราควรจะใช้เวลา 80% กับคน “หัวกะทิ” 20% ในองค์กรของเรา แต่ถ้าเราให้สิ่งที่ดีที่สุดของเราแก่คนทั่วไปในองค์กรของเรา โดยขาดการเฉพาะเจาะจง จะมีสองสิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กรของเราคือ คนที่ดีที่สุดในระดับหัวกะทิขององค์กรจะเกิดความรู้สึกว่า ตนเองมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะได้เจริญก้าวหน้าในองค์กรนี้ส่งผลให้เกิดความท้อแท้ใจในการทำงาน แล้วทำให้เกิดอาการทำงานแบบ “งานไม่เจ๊ง แต่งานไม่เจ๋ง”

3. เข้าใจและตอบสนองความจำเป็นต้องการของคนในองค์กร

คนในองค์กรของเราที่มีแนวโน้มจะเป็นผู้นำในอนาคตมีความจำเป็นต้องการพื้นฐาน 5 ประการคือ
1) เขาต้องการมีโอกาสที่ชีวิตจะประสบความสำเร็จ
2) เขาต้องการรู้ว่าท่านต้องการหรือคาดหวังอะไรจากเขา
3) เขาต้องการรู้ว่า ผลงานของเขาเป็นอย่างไรในสายตาของท่าน
4) เขาต้องการให้ท่านเป็นพี่เลี้ยง หรือ สอนงานเขา
5) เขาต้องการรู้ว่า ท่านและทีมงานจะหนุนเสริมเขาอะไรได้บ้างในการทำงาน
ท่านจะตอบสนองต่อความต้องการที่จำเป็นของผู้นำในอนาคตเหล่านี้อย่างเหนียวแน่นได้หรือไม่?

4. ประเมินความก้าวหน้าของคนกลุ่มนี้

ท่านต้องอธิบายถึงโอกาสที่เขาจะก้าวหน้า และวางขั้นตอนการพัฒนาของแต่ละคนให้เขาเห็นชัด พัฒนาแนวทางและความชัดเจนในงานที่เขาจะต้องรับผิดชอบ สร้างเครื่องมือในการชี้วัดหรือประเมินผลความก้าวหน้าในการทำงานนั้น อย่างน้อยปีละสองครั้ง และมีการบันทึกตลอดกระบวนการการพัฒนาถึงความก้าวหน้าของเขา

5. ส่งเสริมความก้าวหน้าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

แฟรงกิ้น รูสแวลท์ ได้ให้เกณฑ์ของคนที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาไว้ดังนี้
ใครที่มีน้ำใจ “ไมล์ที่สอง” ในการทำงาน?
ใครที่มีอิทธิพลต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ?
ใครคือคนที่สามารถให้ทางออกเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา?

ท่านพึงแน่ใจว่า ท่านได้สนับสนุนส่งเสริมผู้นำในอนาคตในองค์กรของท่านที่แสดงความแตกต่างดังกล่าว แต่ถ้าท่านไม่ตอบสนองส่งเสริมเขา เขาก็จะไปหาคนอื่นที่ส่งเสริมสนับสนุนเขา (ที่ไม่ใช่ท่าน) แน่นอนครับ คนที่มีศักยภาพในระดับผู้นำในอนาคตคงไม่งอมืองอเท้ารอให้ท่านช่วยเขา เพราะเขาเป็นคนที่ต้องพึ่งตนเองก่อน และเป็นคนที่ลงมือทำเสมอ

การที่ท่านเริ่มต้น “หนุนเสริมเพิ่มพลัง” แก่คนในองค์กรของท่านในวันนี้...
ท่านมิได้หนุนเสริมเพิ่มพลังพวกเขาด้วยกระบวนการและเครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตเท่านั้น
แต่เป็นการที่ท่านกำหนดเป้าหมาย และ แนวทางที่ท่านจะไปให้ถึง ซึ่งความสำเร็จในชีวิตของท่านและองค์กรของท่านด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น