29 มิถุนายน 2555

เชื่อได้แค่ไหนว่า เหตุการณ์ทุกอย่าง...ก่อเกิดผลดี? (2)


จากตอนก่อน เราเห็นแล้วว่า ศาสนศาสตร์ของผู้แปลพระคัมภีร์มีอิทธิพลต่อผู้อ่านพระคัมภีร์  เพราะให้จุดเน้นและความหมายที่แตกต่างกันแม้ในพระคัมภีร์ข้อเดียวกัน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อพระคัมภีร์ที่อาจจะแปลความได้หลายทาง  อย่างเช่นในโรม 8:28 เป็นต้น  

เราก็พบความจริงว่า  ในทุกสถานการณ์ชีวิตพระเจ้าสถิตอยู่ในทุกเหตุการณ์ร่วมกับเรา   และพระองค์ทรงกระทำพระราชกิจในทุกสถานการณ์ชีวิตเพื่อก่อเกิดผลดี   แต่ก็เกิดคำถามว่าแล้วเราจะมีมุมมองเช่นไรในเรื่องนี้   ที่ว่าพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในทุกสถานการณ์ชีวิตของเราให้เกิดผลดีนั้นหมายความว่าเป็นเช่นไร?   และผลดีที่ว่านี้เป็นผลดีแบบใดกันแน่?   เป็นผลดีในทัศนะของใคร?

เราจำเป็นต้องมีสายตาแห่งชีวิตที่ยาวไกล

หลายเรื่องราวในชีวิตที่ดูเหมือนว่าเราไม่สามารถที่จะอธิบายได้   เช่น ทำไมเมื่อเกิดพายุรุนแรงพัดผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  บ้านพังพินาศราบเรียบ  แต่ทำไมมีบ้านสองหลังที่กระจุกนั้นกลับไม่ถูกพัดทำลาย?   ทำไมพี่คนโตถึงอยู่สุขสบายในบ้าน แต่น้องคนอื่นๆ ชีวิตกลับต้องผจญกับความทุกข์ยากแสนสาหัส?  หมอบอกว่า มะเร็งที่เขาเคยเป็น ได้ถูกขจัดออกไปหมดแล้ว แต่ทำไมตอนนี้มันถึงกลับมากำเริบอีก?  คำถามแบบนี้มีมากมายก่ายกองถามไปได้อีกยืดยาวมากมาย   แต่เมื่อเราจะมองทีละปัญหาอย่างแยกส่วน   เราจะไม่สามารถเห็นเป้าประสงค์ในที่สุดของเรื่องเหล่านั้นอย่างแน่นอน 

เพื่อความชัดเจนผมขอยกตัวอย่างเรื่องของโยเซฟบุตรยาโคบมาเป็นตัวอย่าง

แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของโยเซฟ  ดูเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้าย  ตั้งแต่ถูกพวกพี่ชายเกลียดเพราะพ่อรักโยเซฟมากกว่า  เพราะโยเซฟ “ปากมาก”  “แสดงตัวว่าอยู่ฐานะเหนือกว่า”  ในที่สุดถูกพี่ชายขายให้กับพ่อค้า

โยเซฟถูกขายต่อให้กับนายทหารในอียิปต์  โยเซฟถูกใส่ร้ายว่าพยายามข่มขืนเมียของนาย  โยเซฟถูกขังในคุกหลวง  โยเซฟถูกเพื่อนอดีตนักโทษในคุกหลวงลืม   เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายทั้งสิ้น   ยิ่งกว่านั้นถ้าเรามาพิจารณาแต่ละเหตุการณ์เราจะไม่พบเป้าประสงค์ หรือ เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของโยเซฟเลย   ถ้าเราแยกพิจารณาและหาคำตอบแต่ละสถานการณ์เราจะไม่พบคุณค่าความหมายของเป้าหมายปลายทางในเหตุการณ์ทั้งหมดเลย   สิ่งที่พบจะมีแต่ “ความเจ็บปวด”  “ความอยุติธรรม”  “ทำไมพระเจ้าให้เกิดเหตุการณ์อย่างงี้กับเรา?”  เราจะไม่สามารถพบคำตอบด้วยการพยายามหาคำตอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแยกส่วนเช่นนี้  เพราะเราไม่สามารถรู้และมองเห็นว่าเป้าหมายปลายทางสถานการณ์ชีวิตของโยเซฟ หรือ ของเราคืออะไรกันแน่   ดังนั้นเราจึงคาดคะเนและพยายามหาเหตุผลเพื่อจะตอบสถานการณ์นั้นทั้งๆ ไม่รู้ว่า เป้าหมายปลายทางของเหตุการณ์นั้นนำไปสู่ที่ไหน   แต่เราเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วไปบอกว่าเป้าหมายปลายทางจะเป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น   เมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้าย  เราจึงคาดคะเนหรือตัดสินลงไปว่าเป้าหมายปลายทางต้องเป็นสิ่งเลวร้ายด้วย   เราจึงมีคำถามมากมายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต

จากบทเรียนชีวิตของโยเซฟผมได้เรียนรู้ว่า  การมองสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นต้องมองสถานการณ์แต่ละสถานการณ์อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกัน   จนเป็นเหตุให้เกิดพลังร่วม ที่เราแปลจากภาษาอังกฤษคำว่า synergy  ที่มาจากภาษากรีกว่า “sunergon”   ซึ่งมีความหมายว่า  การเอาองค์ประกอบตั้งแต่สองอย่างเป็นต้นไปมาร่วมเข้ากันกลายเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกัน   ทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนใหม่  สิ่งใหญ่  ประโยชน์ใหม่  รสชาติใหม่  เช่น  ผมต้มน้ำ  เอาข่า ตะไคร้ลงไปต้ม  เมื่อเดือดแล้ว ผมใส่กุ้งสด  น้ำพริกเผา  พริกขี้หนูสัก 2-3 เม็ด  น้ำมะนาว  น้ำปลา  เมื่อได้รสชาติกลมกล่อมแล้ว  ผมใส่ใบมะกรูด  (ไม่ใส่ผงชูรส) เมื่อเดือดแล้วปิดฝาหม้อปิดแก๊ส  ผมได้ต้มยำกุ้งครับ  เป็นอาหารชนิดหนึ่ง  รสชาติใหม่ 

ถ้าคนที่ไม่ชอบเข้าห้องครัว  อาจจะดูจากประสบการณ์ธรรมดา  เช่น  กาแฟที่เราดื่ม  เราจะตักกาแฟผงสำเร็จรูปลงในแก้วกาแฟตามความเข้มที่เราต้องการ   จากนั้นบางท่านก็ใส่น้ำตาล และ ครีมตามชอบ   แล้วเอาน้ำร้อนๆชงลงในแก้นั้น   จากนั้นเอาช้อนคนให้เข้ากัน   เราจะได้กาแฟร้อนกลิ่นหอมกรุ่นรสกลมกล่อม   เราไม่สามารถแยกออกเป็นแต่ละอย่างต่อไป  เช่น เป็นกาแฟ  น้ำตาล  ครีม และน้ำร้อน   แต่เราจะได้กาแฟร้อนรสชาติใหม่ เป็นต้น

การที่เราจะใส่กาแฟเท่าใด  ครีมกี่ช้อน  หรือ น้ำตาลมากน้อยแค่ไหนนั้น  อยู่ที่เป้าหมายปลายทางครับว่าเราต้องการดื่มกาแฟรสชาติแบบไหนเป็นตัวกำหนดว่าเราจะใส่อะไรเท่าใดลงในแก้วกาแฟของเรา   เป้าหมายปลายทางเป็นตัวให้ความหมายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  และเราจะมองแบบ synergy หรือ พลังร่วมที่เกิดขึ้นใหม่ 

เช่นเดียวกับที่โยเซฟมองสถานการณ์ชีวิตที่ทุกข์ยากลำบาก ความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดขึ้นในชีวิตของตน   เมื่อแต่ละเหตุการณ์เกิดขึ้น   โยเซฟอาจไม่สามารถเข้าใจหรือให้คำตอบได้ว่า ทำไมถึงเกิดขึ้นเช่นนั้น   แต่สิ่งที่โยเซฟและคนรอบข้างรู้และบอกได้คือ พระเจ้าทรงอยู่ด้วยกับโยเซฟในทุกสถานการณ์ชีวิต  และเป็นพระปัญญาของเขา   แต่เมื่อเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นและผ่านพ้นไปทีละเหตุการณ์  และสัมผัสการทรงสถิตอยู่และการทรงทำงานของพระเจ้าในเหตุการณ์ต่างๆ   ในที่สุดโยเซฟจึงได้เห็น สัมผัส และเข้าใจถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่เป็นเป้าหมายปลายทางในชีวิต   และด้วยการมองทุกสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นแบบ “สถานการณ์ร่วม” synergy ว่าเป็นกระบวนเหตุการณ์เดียวกัน  จึงได้เห็นพระประสงค์ใหญ่ของสถานการณ์ร่วม ดั่งคำพูดที่โยเซฟพูดกับพี่ชายของตนว่า

“...อย่าเสียใจไปเลย  อย่าโกรธตัวเองที่ขายฉันมาที่นี่  เพราะพระเจ้าทรงใช้ฉันให้มาก่อนหน้าพวกพี่...” (ปฐมกาล 45:5 ฉบับมาตรฐาน)  คุณค่าความหมายของสถานการณ์ย่อยถูกแปลเปลี่ยนและมีความหมายใหม่เมื่อมองจากพระประสงค์ของพระเจ้าที่เป็นเป้าหมายปลายทางสถานการณ์ชีวิตทั้งสิ้นของโยเซฟ   แทนที่จะมองว่าเป้าหมายที่ขายโยเซฟเพื่อขจัดโยเซฟออกไปเสียจากครอบครัว จากพ่อที่ลำเอียง   แต่กลับมองว่านี่คือ ส่วนหนึ่งในพระราชกิจที่พระเจ้า ทรงกระทำในชีวิตโยเซฟ  ตามแผนการใหญ่หรือพระประสงค์ของพระเจ้า   ดังนั้น ไม่ต้องแค้น  ไม่ต้องโกรธตนเอง  คำถามชีวิตถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

แล้วโยเซฟชี้ให้เห็นถึง  “สถานการณ์ร่วม” ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตนนั้นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าว่า “...พระเจ้าทรงใช้ฉันมาก่อนหน้าพี่ เพื่อจะได้ช่วยชีวิต...เพื่อสงวนคนที่เหลือส่วนหนึ่งบนแผ่นดินไว้ให้พวกพี่  และช่วยชีวิตของพวกพี่ไว้ด้วยการช่วยกู้อันยิ่งใหญ่” (ข้อ 5, 7)  เมื่อโยเซฟชี้ถึงพระประสงค์ซึ่งเป็นเป้าหมายทางสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นกับโยเซฟแล้ว   โยเซฟเอาเป้าหมายปลายทางนี้ไปตีความในสิ่งที่ยังค้างคาในใจของพี่ๆ ที่ขายเขาให้กับพ่อค้า  ในมุมมองใหม่และสายตาใหม่ว่า “ฉะนั้น มิใช่พี่เป็นผู้ให้ฉันมาที่นี่  แต่พระเจ้าทรงให้มา...”(ข้อ 8)

ด้วยมุมมองและรากฐานความเชื่อแบบนี้เองที่เปาโลกล่าวกับคริสตชนในกรุงโรมว่า  พระเจ้าทรงใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราแต่ละคน  แต่ละกลุ่ม  แต่ละคริสตจักร  แต่ละสถาบัน  แต่ละชุมชนให้เกิดสิ่งดีแก่บรรดาคนที่รักพระองค์ (โรม 8:28)  กล่าวคือ คริสตชนจะไม่ตัดสินหรือเข้าใจในสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นั้นๆ และ อย่างแยกส่วนจากสถานการณ์ชีวิตอื่นๆ   แต่จะรอคอยเพื่อที่จะเห็นเป้าหมายปลายทางสถานการณ์ชีวิต   เพื่อจะเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้าที่กระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา   แล้วค่อยนำเป้าหมายปลายทางนั้นมาตีความ เรียนรู้ และเข้าใจในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตที่ผ่านมา

สำหรับคริสตชนแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องตอบคำถามในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต   แต่ในทุกสถานการณ์ชีวิตเราเชื่อและยอมที่จะให้พระเจ้าทรงเสริมสร้างเราขึ้นใหม่ตามพระประสงค์ของพระองค์   เพื่อเราจะมีชีวิตที่เติบโต แข็งแรง  และเกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์   เพื่อเราจะเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้ในทุกสถานการณ์ชีวิต  และเพื่อให้เกิดสิ่งดี  ที่มิใช่เพื่อเราคนเดียว หรือ พวกเราเท่านั้น แต่สิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นกับคนที่รักพระเจ้านั้นเพื่อมวลชนตามพระประสงค์ของพระเจ้า  ดังเรื่องโยเซฟที่พระเจ้าทรงช่วยกู้ในเหตุการณ์ภัยแล้ง  มิใช่เพื่อครอบครัวใหญ่ของโยเซฟเท่านั้น  แต่เพื่อคนอียิปต์  และคนที่ภูมิภาคแถบนั้นด้วย

“ผลดี” ในที่นี้หมายความถึงอะไรกันแน่?

ที่เปาโลกล่าวว่า “...พระเจ้าทรงกระทำให้เกิดผลดี”  เรามีคำถามว่า ผลดีที่ว่านี้หมายถึงอะไรกันแน่   โดยปกติทั่วไปแล้ว  เมื่อกล่าวถึง “ผลดี” เรามักหมายถึงสิ่งดีๆ ที่เราอยากให้เกิดกับตน  สิ่งดีๆ ที่เราอยากได้   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพของเรา  ความสุข  ความสัมพันธ์ที่มั่นคง  ชีวิตที่ยืนยาว  มีเงินมีทอง  มีอาหารพอเพียงเลี้ยงครอบครัว  มีงานที่มีคุณค่าความหมายสำหรับเรา  มีที่อยู่อาศัย  มีเครื่องอำนวยความสะดวก   รวมความแล้วสิ่งดีหรือผลดีที่ว่านี้คือสภาพแวดล้อมชีวิตที่ดีที่เราอยากได้อยากเป็น   แต่อย่างไรก็ตามสิ่งดี หรือ ผลดีในชีวิตของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันออกไป

คำถามก็คือ แล้วพระคัมภีร์มองสิ่งดีหรือผลดีในชีวิตอย่างที่เรามองๆ กันตามที่กล่าวข้างต้นหรือไม่?   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระธรรมตอนนี้ “ผลดี” ที่เปาโลกล่าวถึงนั้นหมายความถึงอะไรกันแน่? ถ้าเราอ่านต่อไปอีกข้อหนึ่งเราจะพบว่า “เพราะบรรดาผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้ล่วงหน้าแล้ว  พระองค์ทรงกำหนดไว้ก่อนแล้วให้เป็นเหมือนพระบุตรของพระองค์...” (ข้อ 29 อมตธรรม)  พระธรรมข้อนี้ชี้ชัดว่า  พระเจ้าทรงกำหนดเป้าหมายปลายทางชีวิตของผู้ที่พระองค์ทรงเลือกนั้นไว้ล่วงหน้าแล้ว   และเป้าหมายปลายทางที่ทรงกำหนดนั้นจะเกิดผลดี   และผลดีในที่นี้เปาโลหมายถึง การที่มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระบุตรของพระเจ้า  นั่นคือการที่มีชีวิตเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์เป็นผลดีที่พระเจ้าทรงกระทำให้เกิดขึ้น

ในที่สุดชีวิตของเราเกิดผลดีคือมีชีวิตที่เป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ พระธรรมตอนนี้กล่าวชัดเจนว่า “พระเจ้าทรงกระทำให้เกิดผลดี”  นั่นหมายความว่า พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเราเพื่อให้เกิดผลดี  คือเพื่อให้เรามีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์”  หรือเราสามารถกล่าวในอีกนัยหนึ่งคือ  ทุกๆ อย่างที่ดึงเราให้ออกห่างหรือมีชีวิตที่แตกต่างจากพระคริสต์คือผลเลวสิ่งชั่วในชีวิตของเรา   เปาโลกล่าวชัดว่า พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในทุกๆ สิ่งให้เกิดผลดี (ข้อ 28 อมตธรรม) ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้เกิดความทุกข์ยากลำบาก  ทำให้โศกเศร้าเสียใจ ชื่นชมยินดี  หรือ ฯลฯ  มิได้หมายความว่า ผลที่ไม่ดีในแต่ละเหตุการณ์ทำให้เกิดผลดี   แต่เปาโลหมายความว่า พระเจ้าทรงกระทำกิจของพระองค์ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เกิดในชีวิตของเราจนนำไปสู่ให้เกิดผลดีคือเกิดการเปลี่ยนแปลงเติบโตในชีวิตของเราให้เป็นเหมือนพระคริสต์

ดังนั้น  ชีวิตของเราที่ต้องผ่านพบกับชีวิตที่อยู่ท่ามกลางความมืดมิดที่มีพระคริสต์กระทำกิจในชีวิตของเรา   เราเกิดการเรียนรู้จากพระเจ้ามากยิ่งขึ้น  และเราสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้นั้นเป็นความสว่างสำหรับดำเนินชีวิต  จึงไม่แปลกที่มนุษย์เรียนรู้เมื่อเจ็บป่วยมากกว่าเมื่อสุขสบาย  เราทุ่มเทอธิษฐานมากเมื่อเรากลัวมาก  เมื่อเรามีต้องการความมั่นใจมากขึ้น  และสถานการณ์ความทุกข์ยาก ความโศกเศร้า การสูญเสีย หรือประสบการณ์ที่พบว่าเราเลือกผิดพลาดในชีวิต  สิ่งเหล่านั้นจะเป็นเบ้าหลอมชีวิตของเรา  เพื่อให้เกิดผลดีในชีวิตตามพระประสงค์  และที่สำคัญคือพระเจ้าจะไม่ยอมล้มเลิกแม้เรายอมแพ้หรือล้มเลิกก็ตาม

พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา  ในขณะที่ชีวิตของเรายังขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำ   ต้องได้รับการเจียรนัยขัดเอาผิวหินออกไป  เพื่อให้เนื้อเพชรสะท้อนประกายแสงได้   พระองค์ไม่มีความประสงค์หรือตั้งใจให้เราต้องเกิดความเจ็บปวดหรือบาดแผลในชีวิต   แต่จุดประสงค์ของพระองค์คือ  ในที่สุดชีวิตของเราจะเป็นเหมือนพระคริสต์

ปัญหาใหญ่ ปัญหาหลักในความเข้าใจของเราต่อโรม 8:28 คือ  “ผลดีที่เราเข้าใจและผลดีของพระเจ้านั้นแตกต่างกัน” เราต้องการมีเงินมีทอง  เราต้องการความสุข  เราต้องการความสำเร็จในชีวิต  เราต้องการชีวิตที่สงบ  ชีวิตยืนยาว  และบอกว่าสิ่งเหล่านี้คือ “ผลดี” ในชีวิต   แต่ผลดีในความหมายของพระเจ้าคือ  ผลดีจากการที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเราผ่านทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  เพื่อเสริมสร้าง เปลี่ยนแปลงเราให้มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระบุตร  
นั่นรวมถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราด้วยหรือ?                 ใช่แล้ว
นั่นรวมถึงสถานการณ์ที่ทำให้เราเจ็บปวดบาดลึกลงในชีวิตด้วยหรือ?             ใช่แล้ว
นั่นรวมถึงเวลาที่ชีวิตของเราต้องฉีกขาดและแตกหักด้วยหรือ?                    ใช่แล้ว
นั่นรวมถึงเวลาที่เราตกลงในกับดักและกระทำบาปชั่วด้วยหรือ?                   ใช่แล้ว
นั่นรวมถึงเวลาที่เราไม่แน่ใจและสงสัยพระเจ้าอย่างมากด้วยหรือ?                ใช่แล้ว
นั่นรวมถึงเวลาที่เราต่อว่า ก่นด่า  หรือสาปแช่งพระเจ้าด้วยหรือ?                  ใช่แล้ว

เรารู้ว่า พระเจ้าประสงค์กระทำพระราชกิจในทุกสถานการณ์ชีวิตของเรา

แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็รู้ว่ามีอีกหลายอย่างเหลือเกินที่เรายังไม่รู้  แต่สิ่งที่เรารู้และมั่นใจได้คือ พระเจ้ายังสถิตใกล้ชิดเรา  พระองค์กระทำพระราชกิจในชีวิตของเราและผ่านชีวิตของเรา   และพระองค์ทรงมีพระประสงค์ในชีวิตของเราด้วย   ประเด็นที่ตามมาคือ  แล้วเราจะตอบสนองต่อพระราชกิจในชีวิตของเราอย่างไร

ไม่จำเป็นอธิบายในสิ่งที่เราไม่รู้

บางครั้งคริสตชนบางคนพยายามให้คำตอบต่อสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนหรือคนใกล้ชิด คนรอบข้าง หรือเพื่อนฝูง   เพียงเพื่อจะปกป้องพระเจ้าให้ผู้คนเห็นเชื่อพระเจ้าในเชิงบวก   ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่องนั้นๆ ที่เกิดขึ้นว่าพระเจ้ามีพระประสงค์อะไร   การพยายามตอบคำถามที่เราไม่รู้ไม่มีคำตอบเพียงเพื่อปกป้องพระเจ้าเป็นความคิดและแนวทางการกระทำที่ผิดพลาด   หรือพูดตรงๆ ว่า เราไม่ต้องพยายามปกป้องพระเจ้า

แท้จริงแล้วเราเป็นเหมือนเด็กที่มองหน้าคุณพ่อ   เป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้และเข้าใจทั้งหมดว่าคุณพ่อคิดอะไร  อย่างไร  แค่ไหน  และมีแผนการอย่างไรในแต่ละสถานการณ์ชีวิต   แต่เรามั่นใจว่า พ่อของเรามีสติปัญญาและเชื่อมั่นว่าจะตอบสนองสถานการณ์ต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ให้เกิดผลดี   แต่สิ่งที่เรารู้อย่างมั่นใจคือพ่อรักเราและอยู่กับเราในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สิ่งที่เราจะตอบคนต่างๆ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตให้เราตอบเฉพาะที่เรารู้และมั่นใจเท่านั้น   สิ่งที่ไม่รู้ก็บอกตรงๆ ว่าไม่รู้ แต่บอกเขาถึงความมั่นใจของเราว่าสิ่งที่แน่นอนคือในทุกสถานการณ์พระเจ้าอยู่ด้วย

คุณค่าในสายพระเนตรของพระเจ้ากับระบบคุณค่าของเรา

ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า  บ่อยครั้งที่เราไม่เข้าใจอะไรเอาเสียเลย  และระบบที่เรายึดถือและใช้ในชีวิตปัจจุบันนี้ของเราอาจจะแตกต่างจากระบบคุณค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า   เราต้องชัดเจนว่า  เรามิได้สรรเสริญพระเจ้าเพราะเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา   แต่ที่เราสรรเสริญพระเจ้าเพราะท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายในชีวิตของเรา  พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตที่ประสบความมืดมิดของเราให้เกิดผลดี   จากโรม 8:28 ให้บทเรียนสำคัญแก่เราว่า  ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา  ไม่ว่ามันจะเลวร้ายสักปานใด  ไม่ว่าเราได้รับการกระทำที่ไม่เป็นธรรมแค่ไหนก็ตาม  พระเจ้าทรงอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเหล่านั้นกับเราด้วย  พระองค์มิได้ทอดทิ้งเรา   พระองค์อยู่กับเราและทำพระราชกิจตามพระประสงค์ของพระองค์ท่ามกลางสถานการณ์ที่มืดมิด   และความมืดมิดดังกล่าวจะกลับกลายเป็นความสว่างในชีวิตของเราในที่สุด

คริสตชนไม่จำเป็นจะต้องตอบทุกคำถามในชีวิตที่กำลังประสบความทุกข์ยากลำบาก แต่ให้เราตอบคำถามที่สำคัญคือ  พระเจ้าอยู่ไหนเมื่อเรายากลำบาก?  คำตอบคือพระเจ้าอยู่ด้วยกับเราในทุกความทุกข์ยากลำบาก  และพระองค์รู้ว่าพระองค์จะทำอะไรอย่างไรในสถานการณ์นั้น   และเรารู้และมั่นใจว่าพระองค์จะทรงกระทำให้เกิดผลดีตามพระประสงค์ของพระองค์   นั่นก็เป็นคำตอบที่เพียงพอในชีวิตของเราแล้ว! 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

27 มิถุนายน 2555

เชื่อได้แค่ไหนว่า เหตุการณ์ทุกอย่าง...ก่อเกิดผลดี?


เรารู้ว่า เหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า
คือแก่คนทั้งหลายที่พระองค์ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์
(โรม 8:28 ฉบับมาตรฐาน)

เหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อ(ให้เกิด)ผลดีจริงหรือ?
นี่เป็นการพูดด้วยภาษาความเชื่อด้านจิตวิญญาณ หรือ เป็นความจริงในชีวิตทุกวันนี้ของเรา?
คำกล่าวในโรม 8:28 เป็นจริงอย่างที่พูดหรือ?   แต่ดูเหมือนว่าตรงกันข้ามกับชีวิตจริงปัจจุบันมิใช่หรือ?

·         ลูกสาวอายุ 17 ปี  ชนะเลิศการประกวดการเป่าฟลุทของประเทศ  ได้รับรางวัลให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาในต่างประเทศ   ขับรถไปส่งเพื่อนกลับบ้าน  กลับมาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

·         สุภาพร จบการศึกษาปริญญาตรี  ได้เข้าทำงานองค์กรการกุศลต่างประเทศ   แต่เพราะวิกฤติเศรษฐกิจโลกเงินบริจาคลดน้อยลง   เธอถูกให้ออกจากงาน  ในขณะที่บ้านกำลังผ่อน  ลูกกำลังเรียน

·         ประกาศิต  ร้อยตำรวจเอกหนุ่ม  เข้าจับกุมชายหนุ่มขับรถเบนซ์ที่เป็นผู้ค้ายาเสพติด  ขณะที่คนในรถเปิดกระจกได้กระชากปืนพกของประกาศิตแล้วยิ่งร้อยตำรวจเอกหนุ่มคนนี้เสียชีวิตคาที่   ท่ามกลางความตื่นตระหนกของผู้คนที่การจราจรกำลังคับคั่ง!

·         สนธิชัย  อาจารย์หนุ่มทางด้านคอมพิวเตอร์  ตัดสินใจเข้ารับการอบรมในสถาบันการการเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้รับใช้พระเจ้าในต่างประเทศ   เมื่อกลับมาและกำลังได้รับเชิญให้เป็นศิษยาภิบาลคริสตจักรแห่งหนึ่งในสลัม  ภรรยาขอหย่าเพราะไม่ต้องการที่จะเป็นภรรยาของคนที่มีอาชีพเป็นศิษยาภิบาล

เหตุการณ์เหล่านี้จะร่วมกันก่อผลดีได้อย่างไร?   แล้วเรายังจะเชื่อพระธรรมโรม 8:28 ได้อยู่หรือไม่เนี่ย?

เรารู้ว่า เหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า
คือแก่คนทั้งหลายที่พระองค์ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์
(โรม 8:28 ฉบับมาตรฐาน)

ถ้าพูดแบบเปิดใจตรงไปตรงมา  ในพระธรรมข้อนี้มีความเคลือบแคลงใจอย่างน้อยในสองคำที่เปาโลใช้ในที่นี้
1. เป็นคำสัญญาที่เราทำใจเชื่อยาก  พระธรรมตอนนี้เขียนว่า  เรารู้ว่า เหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันเกิดผลดี...” (ฉบับมาตรฐาน)  เมื่ออ่านประโยคดังกล่าวผมถามในใจว่า อาจารย์เปาโลครับ ผมจะแน่ใจได้แค่ไหนว่า เรารู้?  ผมบอกได้เลยครับอาจารย์เปาโลว่า คนส่วนใหญ่ในพวกเราไม่รู้ครับ   พวกเราหวังว่าเหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อให้เกิดผลดี  เราหวังให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ   และเราก็เชื่อว่ามันควรเป็นไปเช่นนั้น   แต่เรารู้จริงๆหรือไม่ว่านั่นจะเกิดจริงแน่นอน?

2. เป็นคำสัญญารวมเอาสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะอยู่ในประโยคนี้  เหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อผลดี...” นี่คือเหตุการณ์ทุกอย่าง  เป็นไปได้จริงหรือว่า “ทุกๆ เหตุการณ์” ร่วมกันก่อให้เกิดผลดี  ทุกเหตุการณ์จริงๆ หรือ?   ผมว่ามันน่าจะเพียง “บางเหตุการณ์” ร่วมกันทำให้เกิดผลดี  แต่ผมเข้าใจและยอมรับว่า ในเหตุการณ์ที่ทุกข์ยากลำบากเราจะได้เรียนรู้บทเรียนแห่งความเชื่อที่ไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยวิธีการอื่น  และผมก็ยอมรับเช่นกันว่าบางเหตุการณ์ร่วมกันก่อให้เกิดผลดีได้   แต่เราจะแน่ใจได้อย่างว่า ทุกเหตุการณ์ร่วมกันแล้วก่อให้เกิดผลดี?  คำกล่าวเช่นนี้ดูจะจริงเมื่อเป็นคำกล่าวในเชิงคริสต์ศาสนศาสตร์  หรือดูจริงเมื่อเป็นคำกล่าวทางด้านความเชื่อศรัทธา แต่จะเป็นจริงในทุกแง่มุมในชีวิตทุกด้านหรือ?

ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เลยที่คนส่วนใหญ่จะบอกว่า พระธรรมโรม 8:28 เป็นข้อพระคัมภีร์ที่ผู้คนชื่นชอบ  จะมีหลายคนที่เป็นพยานว่า  เมื่อเขาเจ็บป่วย พระคัมภีร์ข้อนี้เป็นยาที่ชโลมจิตวิญญาณของเขา เมื่อคนที่ต้องสูญเสียผู้เป็นที่รัก พระธรรมข้อนี้เป็นกำลังที่ช่วยให้เขาสามารถข้ามทะลุในเวลาที่แสนเจ็บปวดนั้น   และเมื่อต้องถูกกระหน่ำด้วยมรสุมแห่งชีวิต  พระคัมภีร์ข้อนี้ให้ความหวังที่ทำให้ชีวิตเดินต่อไปได้

อย่าตกใจนะครับถ้าผมจะบอกว่า จากที่เคยพูดคุยกับเพื่อนฝูง คนรู้จัก นักศึกษาพระคริสต์ธรรม  หรือเพื่อนศิษยาภิบาลหลายท่านที่มีความสงสัยเรื่องนี้ในจิตใจ  เมื่อเขาได้ยินข้อความในพระธรรมตอนนี้  ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องจรรโลงจิตวิญญาณ แต่เป็นเหมือนว่าตนกำลังถูกเยาะเย้ยล้อเลียน  ด้วยคำถามว่า  “หมายความว่าอะไรกันแน่ที่ว่า เหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดกับเราในชีวิตร่วมกัน(ทำให้)ก่อเกิดผลดี” ที่พูดอย่างนี้หมายความว่าอะไรกันแน่?
ความเจ็บป่วยเป็นผลดีหรือ
การถูกฆ่าตายเป็นผลดีหรือ
การหย่าร้างเป็นผลดีหรือ
การฆ่าตัวตายเป็นผลดีหรือ
การตายของเด็กอายุเพียงน้อยนิดเป็นผลดีหรือ
ที่ว่า “ผลดี” นั้นหมายความว่าอะไรกันแน่?

คงต้องยอมรับว่า บางครั้งที่มีการใช้พระคัมภีร์ข้อนี้ไปในทางที่ผิด หรือ ใช้ไปในความหมายที่คลาดเคลื่อนจากความตั้งใจของเปาโล   บ่อยครั้งที่พระคัมภีร์ข้อนี้ถูกโยนใส่คนที่กำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์ยาก เหมือนกับว่าพระคัมภีร์ข้อนี้สามารถตอบปัญหาชีวิตได้ทุกเรื่องทุกประเด็น   เมื่อมีการใช้พระคัมภีร์ข้อนี้อย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความหมายเดิมของเปาโลย่อมทำให้เกิดผลกระทบด้านตรงกันข้ามกับที่เปาโลตั้งใจให้เกิดขึ้น

ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบพระคัมภีร์ข้อนี้  พระคัมภีร์ข้อนี้ก็ยังอยู่ในพระคัมภีร์ของคริสตชน   จะไม่หายไปไหน   ทำให้เราต้องกลับมาถามคำถามพื้นฐานว่า   แล้วเรายังเชื่อในพระคัมภีร์โรม 8:28 ได้หรือไม่?

ข้อพิจารณาสี่ประการที่จะช่วยเราในการตอบคำถามข้างต้นนี้   ดร. เวอนอน กราวดส์ (Dr. Vernon Grounds) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระคริสต์ธรรมเดนเวอร์ (president of Denver Seminary) เป็นผู้ที่ให้ข้อพิจารณาทั้งสี่ประการดังกล่าว ซึ่งผมไม่เคยคิดเช่นนี้มาก่อน 

เราต้องเริ่มต้นกับพระเจ้า

สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านพระคัมภีร์เข้าใจคลาดเคลื่อน หรือ เกิดความสงสัยต่อสัจจะความจริงในข้อพระคัมภีร์บางข้อเพราะขึ้นอยู่กับการแปลพระคัมภีร์   ผมขออนุญาตใช้ตัวอย่างการแปลพระคัมภีร์ในภาษาไทย โดยใช้โรม 8:28 เปรียบเทียบสำนวนแปล 3 สำนวนด้วยกันดังนี้
สำนวนแปล 1  ฉบับมาตรฐาน
“เรารู้ว่า เหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า...” 

สำนวนแปล 2  ฉบับ 1971
“เรารู้ว่า พระเจ้าทรงช่วยคนที่รักพระองค์ให้เกิดผลอันดีในทุกสิ่ง...”

สำนวนแปล 3  อมตธรรม
“เรารู้ว่า ในทุกๆ สิ่งพระเจ้าทรงทำให้เกิดผลดีแก่บรรดาผู้ที่รักพระองค์...”

เราเห็นความต่างในสำนวนแปลของทั้ง 3 สำนวนใช่ไหมครับ?   สำนวนแปลแรก  เน้นความสำคัญที่เหตุการณ์ต่างๆ ร่วมกันก่อให้เกิดผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า  ในขณะที่สำนวนแปลที่สอง  เน้นว่าพระเจ้าทรงช่วยคนที่รักพระองค์ให้เกิดผลดีในทุกสิ่ง(ในทุกเหตุการณ์)   ส่วนสำนวนที่สาม  เน้นว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้กระทำให้เกิดผลดีในทุกสิ่งแก่คนที่รักพระองค์   ซึ่งการเน้นจุดสำคัญที่แตกต่างกันเช่นนี้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผู้อ่านพระคัมภีร์มีโอกาสที่จะเข้าใจพระคัมภีร์ที่แตกต่างกันออกไป  หรือคลาดเคลื่อนจากความหมายดั้งเดิมได้   ในที่นี้ผมมิได้หมายความสำนวนไหนแปลผิดและสำนวนไหนแปลถูก   แต่ผมเพียงต้องการตั้งข้อสังเกตว่า  คริสต์ศาสนศาสตร์ของผู้แปลพระคัมภีร์มีส่วนสำคัญและสร้างผลกระทบต่อผู้อ่านพระคัมภีร์เป็นอย่างมาก (และที่แปลแตกต่างกันนี้ก็ต้องยอมรับว่า ต้นฉบับในภาษาเดิมของพระคัมภีร์มีลักษณะไม่ชัดเจนที่จะฟันธงลงไปได้  ดังนั้น ศาสนศาสตร์ของผู้แปลจึงมีผลพลังต่อความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจของผู้อ่านพระคัมภีร์)

ในสำนวนแปลแรก ผลดีที่เกิดขึ้นเป็นการเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ ร่วมกันแล้วเกิดผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า   ความเชื่อที่ให้พระเจ้ามีบทบาทตอนท้ายสุด   แต่ผู้เชื่อประเภทนี้เชื่อในเหตุการณ์ทั้งสิ้น  แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดแต่ในตอนสุดท้ายพระเจ้าจะทรงกระทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องเกิดผลดี   ความเชื่อของคนประเภทนี้เป็นความเชื่อแบบ “ทอดลูกเต๋า” จะมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบางครั้งดี บางครั้งเลว  เหมือนทอดลูกเต๋าบางครั้งได้บางครั้งเสีย   คนกลุ่มนี้จะเชื่อต่อไปว่าในที่สุดพระเจ้าจะทำให้ทุกอย่างเป็นไปในทางที่ดี เกิดผลดี   แล้วความเชื่อเช่นนี้ต่างอะไรกับการเชื่อแบบคนที่เชื่อ “โชคชะตา” เพียงผู้เชื่อกลุ่มนี้คาดหวังให้พระเจ้าทำทุกอย่างให้เกิดผลดีในตอนท้ายเท่านั้น   ผู้เชื่อกลุ่มนี้มักจะกล่าวว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น  พระเจ้าจะทรงเปลี่ยนความโศกเศร้าให้เป็นพระพร”  นั่นคงเป็นเรื่องเล่าในนิยาย   มิใช่ในชีวิตจริง

ในความเป็นจริงแล้ว  ในทุกเหตุการณ์ของชีวิต  คริสตชนเชื่อว่าพระเจ้าทรงอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นเหตุการณ์  และทรงอยู่ในตอนท้ายเหตุการณ์  และพระองค์ทรงอยู่ในตลอดทุกๆ สถานการณ์ของชีวิต   พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในทุกๆ เหตุการณ์ในชีวิตของเรา มิใช่โชคชะตาที่เป็นผู้กำหนดผลที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา  และนี่เป็นคำตอบตรงต่อคำถามที่ว่า “แล้วพระเจ้าอยู่แห่งหนใดเมื่อเราเจ็บปวดในชีวิต?” พระเจ้าอยู่ตั้งแรกแรกเริ่มของเหตุการณ์? หรือ พระเจ้าอยู่ตอนท้ายของเหตุการณ์?  คำตอบจาก โรม 8:28 สำนวนแปลที่สามบอกเราว่า  พระเจ้าทรงอยู่ที่นั่นก่อนเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น  และพระเจ้าทรงอยู่ที่นั่นด้วยเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น   และพระองค์ยังทรงอยู่ที่นั่นหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว  พระองค์อยู่ที่นั่นและทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์นั้นๆ  “ในทุกๆ สิ่งพระเจ้าทรงทำให้เกิดผลดีแก่บรรดาผู้ที่รักพระองค์”(อมตธรรม)

เด็กเล็กมักกลัวความมืดในเวลาค่ำคืน   ที่เด็กกลัวมากเพราะเขามองอะไรไม่เห็นในความมืด  เขาร้องไห้ด้วยความกลัว   จนกว่าพ่อหรือแม่เข้าไปในห้องนั่งลงบนเตียงและอุ้มเด็กน้อยไว้  พร้อมกับบอกว่า  “ไม่ต้องกลัว  พ่ออยู่กับลูก”  ความกลัวมลายหายไปเมื่อพ่อมาอยู่ด้วย”   เช่นกัน ในทุกสถานการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต  เป็นเสมือนชีวิตตกอยู่ในความมืดมิด  ทำให้เราเกิดความประหวั่นกลัว   แต่เราจะหายกลัวเมื่อรู้ว่าพระบิดาอยู่ด้วยในความมืดมิดแห่งชีวิตนั้น   สถานการณ์ชีวิตยังอยู่ในความมืดมิด  แต่เพราะพระเจ้าอยู่ในความมืดมิดแห่งชีวิตกับเรา   นั่นทำให้ทุกสิ่งในชีวิตแตกต่างอย่างสิ้นเชิง   และนี่คือมุมมองของคริสตชนตามพระคัมภีร์ แม้เหตุการณ์ทุกข์ยากเลวร้ายเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา หรือ แก่ชีวิตคนที่เรารัก  เพื่อนบ้านเพื่อนฝูงของเราก็ตาม

มุมมองที่ว่า ในทุกสถานการณ์ชีวิตพระเจ้าทรงอยู่ด้วย   นี่คือจุดสร้างความแตกต่างอย่างมากมายต่อการดำเนินชีวิตและความเชื่อศรัทธา  ในตอนต่อไปเราจะร่วมกันพิจารณาต่อไปว่า แล้วเราจะมีมุมมองเช่นนี้ได้อย่างไร


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

25 มิถุนายน 2555

รับใช้ด้วยรักและเสรี


พี่น้องทั้งหลาย  ที่ทรงเรียกท่านนั้นก็เพื่อให้มีเสรีภาพ
แต่อย่าใช้เสรีภาพของท่านเพื่อปลดปล่อยตัวตามวิสัยบาป(ตามเนื้อหนัง ความอยาก ใจปรารถนาของตนเอง)
แต่จงรับใช้กันและกันด้วยความรัก
บทบัญญัติทั้งหมดสรุปรวมเป็นข้อเดียวว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
หากท่านยังคอยกัดกินกันเอง ระวังให้ดีจะย่อยยับไปตามๆ กัน 
(กาลาเทีย 5:13-15 อมตธรรม ในวงเล็บของผู้เขียน)         

พระเยซูคริสต์ได้บัญชาให้คนที่ติดตามพระองค์ว่าให้รับใช้กันและกัน  เป็นคำสอนที่คริสตชนภูมิใจว่าเป็นคำสอนที่ดีและเป็นคำสอนที่เป็นจุดเด่นประการหนึ่งของคริสต์ศาสนา   แต่ในชีวิตจริงคริสตชนน้อยคนนักที่ถ่อมใจถ่อมชีวิตยอมเชื่อฟังและทำตามอย่างเต็มใจ   เพราะการที่ใครจะทำตามพระบัญชานี้ได้ต้องเป็นคนที่ “ยอมถ่อม” และยอมที่จะเป็นผู้ให้หรือเป็นผู้ที่จะยอมสูญเสียสิ่งอื่นๆ เพื่อสามารถทำตามพระบัญชาประการนี้ได้   การรับใช้กันและกัน การรักคนอื่นก่อนเป็นเรื่องของการ “ยอมสละตนเอง” (เยี่ยงพระคริสต์)   และยิ่งถ้าเป็นการ “ยอมสละตนเอง” แก่คนที่เรามองว่า เป็นคนที่ไม่เอาไหน  เป็นคนที่เราไม่ชอบหน้า  คนที่เราไม่เห็นคุณค่า  คนที่เรารู้สึกว่าขัดขวางทางของเราที่จะไปสู่เป้าหมายปลายทาง  หรือ คนที่เรามองว่าเป็นคนมีปัญหา   โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะให้เรายอมสละตนเองให้กับคนที่มาขวางทางใจปรารถนาของเราได้อย่างไรกัน?

วันนี้ผมถูกเสียงในใจถามตรงๆ ว่า “ที่ว่ารับใช้ รับใช้ นั้นหมายความว่าอะไรกันแน่?”

ใช่ซินะ  เราพูดคำนี้จนติดปาก แต่เราไม่ได้ทำจนติดเป็นนิสัย

เมื่อทบทวนภาพชีวิตของพระเยซูคริสต์   ทำให้เกิดความละอายใจที่เราพูดเรื่องการรับใช้มากมาย   แต่การกระทำกลับหาเจอยากและบ่อยครั้งที่เราทำตรงกันข้ามกับการรับใช้ที่เราพูดถึง   เมื่อใคร่ครวญถึง “การรับใช้” ของพระคริสต์   ทำให้เห็นตัวอย่างของพระองค์ แล้วทำให้ตนเองรู้สึกว่ามีชีวิตที่ห่างไกลจากภาพเหล่านั้นเสียเหลือเกิน

พระเยซูคริสต์ทรงยอมสละทุกอย่างในสวรรค์สถานแล้วยอมถ่อมพระองค์ลงมามีชีวิตท่ามกลางมนุษย์
ยอมอยู่ใต้มนุษย์ที่ไม่ให้เกียรติแก่พระองค์  อยู่ท่ามกลางมนุษย์ที่อ่อนแอ ใจโลเล

พระเยซูคริสต์รักแม้แต่คนที่ปฏิเสธ และ ต่อต้านพระองค์

พระเยซูคริสต์มิเพียงมีใจถ่อมลงเท่านั้น  พระองค์ดำเนินชีวิตที่ถ่อมด้วย ยอมล้างเท้าให้เหล่าสาวกของพระองค์
ซึ่งแทนที่สาวกจะล้างเท้าให้กับพระองค์   หน้าที่ล้างเท้านี้คือหน้าที่ของทาสรับใช้  และเมื่อพระองค์
สอนว่า ให้เรารับใช้ซึ่งกันและกัน  ก็สอนให้เรารับใช้เยี่ยงทาสต่อกันและกันด้วย  ไม่ใช่รับใช้ตามฐานะ
ตำแหน่งอย่างหลักคิดของพวกเรา

พระเยซูคริสต์เป็นพระบุตรของพระเจ้าพระบิดา  แต่สำแดงให้เราเห็นแล้วว่า จิตวิญญาณของพระองค์คือรับใช้
คนอื่น  รับใช้มนุษย์ที่พระองค์มาอยู่ด้วย  ด้วยใจรักและเมตตาอย่างไร้ขอบเขตและเงื่อนไข   ทั้งๆ ที่
พระองค์รู้อยู่แก่ใจว่า สาวกเหล่านี้จะทอดทิ้งพระองค์ในยามวิกฤติก็ตาม พระองค์ก็ยังรับใช้สาวกเหล่านี้

การรับใช้ที่สำคัญสูงสุดของพระเยซูคริสต์คือ การรับใช้ด้วยการให้ชีวิตของพระองค์เองแก่ทุกคน  ในขณะที่ทุกคนตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความบาปชั่ว (โรม 5:8)   ดังนั้น  การรับใช้ของพระคริสต์มิใช่รับใช้ด้วยริมฝีปาก  แต่เป็นการรับใช้เป็นนิสัยและเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของพระองค์  การรับใช้เป็นทั้งจุดยืนในชีวิต ความคิด ท่าที และการกระทำทุกอย่างในชีวิต   ในฐานะที่เราเรียกตนเองว่า “คนติดตามพระคริสต์” “สาวกของพระเยซู” เราควรรับการเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิตของเราให้เติบโตขึ้นเป็นอย่างพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกๆ วัน

ดังนั้น “การรับใช้” เริ่มต้นจากการที่ “เรายอมตายจากความเห็นแก่ตัวในตนเอง” ทั้งวิธีคิด  ทัศนคติ  สิ่งกระตุ้นเร้าดลใจ สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงเป็นรากฐานก่อน   จากนั้น ตั้งเป้าหมายชีวิตว่า จะมีชีวิตและดำเนินชีวิตทุกวันเพื่อมีชีวิตที่ถวายพระเกียรติและเป็นที่สรรเสริญพระเจ้า   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ผู้คนได้เห็นและสัมผัสกับการดำเนินชีวิตการรับใช้ของเราในแต่ละวันแล้วคนเหล่านั้นเกิดจิตใจขอบพระคุณ และ สรรเสริญพระเจ้า (มิใช่เพียงสรรเสริญจากปากของเราเองเท่านั้น)

ทุกวันนี้หลายต่อหลายคนที่พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ชีวิตก้าวไปสู่ความสุขและความสำเร็จ “ตามใจปรารถนา ตามความคิดความเข้าใจของตนเอง”  ผลที่ได้รับคืออะไร?
ความเหน็ดเหนื่อย  ล้า  อ่อนแรงอ่อนใจ
ความสิ้นหวัง
ความไม่พอใจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่พอใจคนอื่น
ความเครียด  ความกังวล
ความโกรธ  พัฒนาไปสู่ความเกลียด
ความเศร้าเสียใจ  ย่อท้อ  ...

ความพึงพอใจ สงบและสุขใจ จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราดำเนินชีวิตใกล้ชิดพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน   พระองค์จะทรงชี้แนะเราถึงการถ่อมชีวิตจิตใจของเราแล้วให้ความสนใจเอาใจใส่ชีวิตจิตใจของผู้อื่นแทนใจปรารถนาของตนเอง  ที่เราทำสิ่งเหล่านี้ได้เพราะ พระเยซูคริสต์จะทรงหนุนเสริมพลังแก่เราทั้งในความคิดความเข้าใจ  ทัศนคติ  ท่าทีที่แสดงออก  ตลอดจนการกระทำและการดำเนินชีวิตประจำวันของเราโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์  เวลาเช่นนั้นเองเราจึงสามารถรับใช้ผู้อื่นเยี่ยงพระคริสต์   และในเวลานั้นเองที่เกิดพระพรทั้งในชีวิตของเรา  เพื่อนบ้าน และคนที่เป็นศัตรูของเราด้วย

เสรีภาพในชีวิตจิตใจที่แท้จริงคือ   มีเสรีภาพที่จะรับใช้ด้วยรักเมตตาอย่างพระคริสต์ที่เป็นรักเมตตาที่ไร้ขอบเขตและเงื่อนไข   เป็นเสรีภาพที่อยู่เหนือความยิ่งใหญ่สำคัญของตนเอง  เป็นเสรีภาพที่ “ยอมและถ่อม”   เป็นเสรีภาพที่รับใช้   เป็นเสรีภาพที่ให้ด้วยรักแทนการเรียกร้องด้วยความชอบธรรม   เป็นชีวิตที่อยู่เพื่อเพื่อนมนุษย์ตามพระประสงค์ของพระเจ้าแทนใจปรารถนาของตนเอง   เป็นชีวิตที่ได้ยินเสียงขององค์พระผู้เป็นเจ้าแทนการบูชาติดยึดกับเสียงของตนเอง

วันนี้เรามีเสรีภาพในพระเยซูคริสต์ที่จะรับใช้ผู้คนตามแบบพระคริสต์และตามพระประสงค์ของพระเจ้าหรือยัง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499