11 มิถุนายน 2555

เราอยู่ต่อหน้าพระเจ้า...แต่พระองค์อยู่เคียงข้างเรา


วันนี้ผมมีโอกาสพบปะและพูดคุยกันกับ ผู้ปกครอง และ มัคนายก กลุ่มเล็กๆ เพียง 3 ท่าน   เมื่อพบและพูดคุยกัน   ผมถามขึ้นว่า  “เวลาใดบ้างที่เราอยู่ต่อหน้าพระเจ้า?”  สมาชิกกลุ่มคงสงสัยและถามในใจว่า วันนี้มาไม้ไหนกันแน่!  แต่ทุกคนก็ช่วยกันตอบ  “เวลาที่เราอธิษฐาน,   เวลาที่เราเข้านมัสการพระเจ้า,   เวลาที่เราเฝ้าเดี่ยวศึกษาพระวจนะของพระเจ้า...”

ผมตั้งข้อสังเกตว่า  “เวลาที่เราอยู่ต่อหน้าพระเจ้าส่วนมากเป็นอะไรที่เป็น “พิธีรีตอง”  เป็นเวลาที่แยกเฉพาะ   แล้วเวลาที่เราทำงาน  เวลาที่เราพูดคุยกับเพื่อนฝูงอย่างวันนี้   เวลาที่เราอยู่บ้าน   เวลาที่เราทำธุระส่วนตัว  เวลาที่เราพูดเรานำทั้งในที่ทำงาน  ในคริสตจักรและที่อื่นๆ   เวลาที่เราเข้าอินเตอร์เน็ท  เวลาที่เราดูหนังฟังเพลง  เวลาที่เราเล่นกีฬาล่ะ   เราอยู่ต่อหน้าพระเจ้าหรือไม่?”

สองท่านหัวเราะ  ผู้ปกครองท่านหนึ่งพูดขึ้นว่า  “ถ้าว่ากันอย่างอาจารย์  เวลาไหนๆ ก็อยู่ต่อหน้าพระเจ้าทั้งนั้นแหละ!   พวกเราต่างเห็นพ้องกันว่า   จริงๆ แล้วในทุกเวลาของชีวิตเรามีชีวิตอยู่ต่อหน้าพระเจ้า   และก็มิใช่การอยู่ต่อหน้าแบบพระเจ้าอยู่ในสวรรค์ที่สูงมองลงมาที่การดำเนินชีวิตของเราเท่านั้น   แต่เรามีชีวิตที่อยู่ต่อหน้าพระเจ้าแบบใกล้ชิดที่เรียกว่า พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเราในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว   ยิ่งกว่านั้นพระเจ้ายังอยู่เคียงข้างเราในทุกสถานการณ์ชีวิตอีกด้วย

จากนั้นผมชวนคุยต่อไปว่า   “ถ้าทุกขณะในการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นการอยู่ต่อหน้าพระเจ้าแล้ว  การอยู่ต่อหน้าพระเจ้าในแต่ละเหตุการณ์ สถานการณ์ เราจะต้องมีการเตรียมตัวหรือไม่อย่างไร?”

มัคนายกท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า  “ผมว่าจำเป็นมากนะครับที่เราจะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะอยู่ต่อหน้าพระเจ้า  เช่น  ในการที่จะอธิษฐานเราก็ควรมีการเตรียมตัว   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่เราจะเป็นผู้นำการอธิษฐานในที่สาธารณะ   ผมไม่ชอบเลยที่ถูกเชิญให้อธิษฐานอย่างกะทันหัน   เพราะผมจะต้องว่าไปตามความเคยชิน  ว่าไปตามที่จะคิดได้ในเวลานั้น...  บอกตรงๆ ผมไม่ชอบเลย”

ผู้ปกครองท่านหนึ่งถามขึ้นมาว่า   “แต่ถ้าเราบอกว่าทุกเหตุการณ์ในชีวิตเราอยู่ต่อหน้าพระเจ้า   แล้วเราจะเตรียมตัวอย่างไร  แล้วยิ่งอย่างที่พูดว่า เราอยู่ต่อหน้าพระเจ้า แล้วบอกว่าพระเจ้าอยู่เคียงข้างเราด้วยแล้ว  เราจะเตรียมตัวอย่างไร?”   คำถามของผู้ปกครองทำให้เราต่างต้องคิดหนัก

มัคนายกท่านเดิมแสดงความคิดเห็นว่า  “แท้จริงแล้ว  ในทุกเหตุการณ์ชีวิตเราควรจะมีการเตรียมตัวอย่างดี  เพราะเราใช้ชีวิตอยู่ต่อหน้าพระเจ้า   แต่เท่าที่ผ่านมาเราไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องนี้ หรือ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้   เราไม่ได้เตรียมตัวของเราที่อยู่ต่อหน้าพระเจ้า   หรืออาจจะเพราะเราไม่ได้คิด หรือ ลืมไปว่าในเหตุการณ์นั้นๆ เราอยู่ต่อหน้าพระเจ้า   เราจึงปล่อยให้การคิด การตัดสินใจ และการกระทำของเราเป็นไปตามกระแสเหตุการณ์  เป็นไปตามความคิดประสบการณ์ที่เราเคยชิน  และบ่อยครั้งก็ปล่อยไปตาม “ยถากรรม”

ผู้ปกครองท่านที่ตั้งคำถามนี้ถามสวนขึ้นมาว่า  “แล้วเราจะเตรียมตัวอย่างไร เตรียมแบบไหนในเหตุการณ์นั้น  ถ้าเป็นการเตรียมตัวก่อนการอธิษฐาน  เราอาจจะหาเวลาที่จะสงบใจ  เราอาจจะเตรียมตัวด้วยการอ่านพระคัมภีร์  หรือการร้องเพลง หรือ ฮัมเพลงนมัสการ หรือฟังเพลงนมัสการ  แต่ถ้าเป็นการที่เราจะต้องพบปะกับผู้คน  เจ้านาย  ลูกน้อง  เพื่อนร่วมงาน  เวลาที่เราจะต้องตัดสินใจ  ที่เราเชื่อว่าเป็นการกระทำต่อหน้าพระเจ้า  ในเหตุการณ์เช่นนี้เราจะเตรียมตัวอย่างไร?”

ผู้ปกครองอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นสตรี  ท่านขอแสดงความคิดเห็นด้วยคน  น้ำเสียงที่นุ่มนวลได้บอกกับคนในกลุ่มว่า “ดิฉันเห็นว่า เป็นความคิดเห็นที่ถูกต้องที่เราจะต้องมีการเตรียมตัวในการอยู่ต่อหน้าพระเจ้าในแต่ละเหตุการณ์   เพียงแต่เราไม่ค่อยคิดถึงเลยไม่ค่อยได้ทำ แล้วเราจึงไม่เคยชินต่างหาก   แต่ถ้าเราเอาใจใส่เรื่องนี้มากขึ้น  เราจะมีประสบการณ์  และเห็นความสำคัญ  เราจะทำบ่อยจนเป็นประจำ   จากประสบการณ์ส่วนตัว  เมื่อดิฉันต้องไปนำประชุมคณะครูในโรงเรียน   นอกจากที่ดิฉันจะเตรียมตัวอย่างดีในด้านเนื้อหาของประเด็นต่างๆ ที่จะนำในการประชุมครั้งนี้แล้ว   ดิฉันใคร่ครวญถึงความรู้สึก ถึงคุณค่าในชีวิตคุณครูแต่ละท่าน   ดิฉันจะถามตัวเองว่า ถ้าในการประชุมครั้งนี้พระเยซูจะยืนขึ้นพูดกับคณะครู   พระองค์จะพูดกับเขาถึงเรื่องอะไร ด้วยท่าทีแบบไหน   พระเจ้าต้องการให้อะไรเกิดขึ้นในการประชุมครูครั้งนี้   และดิฉันมักจะถามเป็นคำถามสุดท้ายว่า  ในการประชุมครั้งนี้พระเจ้ามีพระประสงค์อะไรในตัวดิฉันที่เป็นคนหนึ่งในที่ประชุมนี้... สำหรับประสบการณ์ส่วนตัว  ดิฉันเตรียมตัวก่อนอยู่ต่อหน้าพระเจ้าในการประชุมครูเช่นนี้ค่ะ”

เราต่างฟังด้วยความสนใจและผงกหัวเห็นด้วย   และนี่คือการเตรียมตัวที่จะอยู่ต่อหน้าพระเจ้าในเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา   การเตรียมนี้เป็นการเตรียมในชีวิต ความคิด จิตใจ และจิตวิญญาณของเรา   การเตรียมชีวิตภายในเช่นนี้ก็เป็นตัวควบคุมสิ่งที่เราจะพูดจะทำในเหตุการณ์เฉพาะที่เราจะเข้าร่วมอยู่ด้วย   ซึ่งเป็นการอยู่ต่อหน้าพระเจ้า

กลุ่มของเราได้มีโอกาสอ่านและศึกษาจากพระปัญญาในพระคัมภีร์  พระธรรมปัญญาจารย์ 5:1-7 ที่ว่า...
      จงระมัดระวังแต่ละย่างก้าว  เมื่อท่านไปยังพระนิเวศ(การอยู่ต่อหน้า)ของพระเจ้า
      เข้าไปฟังใกล้ๆ ก็ดีกว่าถวายเครื่องบูชาแบบคนโง่  ซึ่งไม่รู้ว่าตัวเองทำผิด
      อย่าปากไว  อย่าใจร้อนผลีผลาม  พลั้งปากพล่อยๆ ต่อหน้าพระเจ้า
      พระเจ้าประทับในฟ้าสวรรค์  ส่วนท่านอยู่บนโลก  ฉะนั้นจงพูดแต่น้อยคำ
      ห่วงกังวลมากก็ฝันมาก  ยิ่งพูดมากก็ยิ่งพูดโง่ๆ
      เมื่อถวายปฏิญาณต่อพระเจ้าแล้ว  จงรีบทำให้ครบถ้วน
      พระเจ้าไม่พอพระทัยคนโง่  จงทำตามที่ปฏิญาณไว้
      ไม่ปฏิญาณยังดีกว่าปฏิญาณแล้วไม่ทำให้ครบถ้วน
      อย่าให้ปากพาตัวหลงทำบาป
      และอย่าแก้ตัวกับผู้สื่อสารของพระเจ้าว่า “ข้าพเจ้าเผลอปฏิญาณไป”
      จะให้พระเจ้าทรงพระพิโรธวาจาของท่านและทำลายกิจการจากน้ำมือของท่านทำไมเล่า?
      ฝันมากและพูดมากก็อนิจจัง  ดังนั้นจงยำเกรงพระเจ้าเถิด  (อมตธรรม,  ข้อความในวงเล็บเป็นของผู้เขียน)

เราได้เรียนรู้ว่า การเตรียมตัวอยู่ต่อหน้าพระเจ้าคือการใคร่ครวญเพื่อที่เราจะ “ระมัดระวัง” ในการคิด ท่าทีชีวิตที่เราแสดงออก  การพูด และการกระทำของเราแต่ละอย่าง  พื้นฐานของการเตรียมตัวอยู่ต่อหน้าพระเจ้าคือ การที่เราจะต้องมีความยำเกรงพระเจ้า   มิใช่พูดจาเพ้อเจ้อ ท่าทีโอหัง เชื่อมั่นในตนเอง  จนกระทำหมิ่นหยามผู้อื่น   การกระทำเช่นนี้มิได้ยำเกรงพระเจ้า และ มิได้ถวายเกียรติแด่พระองค์

ทำให้ระลึกถึงคำตรัสของพระเยซูคริสต์ที่ว่า...
“สิ่งที่ออกมาจากปากนั้นออกมาจากใจ   และสิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เป็นมลทิน
เพราะความคิดชั่ว การเข่นฆ่า การล่วงประเวณี การผิดศีลธรรมทางเพศ การลักขโมย การเป็นพยานเท็จ การนินทาว่าร้าย  ล้วนออกมาจากจิตใจ
สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เป็นมลทิน...”   (มัทธิว 15:18-20 อมตธรรม)

ดังนั้น  การเตรียมตัวอยู่ต่อหน้าพระเจ้าในแต่ละเหตุการณ์   คือการเตรียมตัวด้วยการสำรวจ “ความคิดจิตใจของเรา”  เพราะสิ่งที่เราพูดออกมาย่อมแสดงถึงสภาพชีวิตจิตใจตัวจริงของเรา

การเตรียมที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ  การฟังพระเจ้า การเตรียมที่จะอยู่ต่อหน้าพระเจ้าในเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของเรา  คือการฟังให้ได้ยินถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในเหตุการณ์นั้นๆ   สิ่งที่เราจะพูด จะอธิษฐาน ท่าทีที่จะแสดงออก  และการตัดสินใจตลอดจนการกระทำของเราในเหตุการณ์นั้นได้สำแดงถึงสัจจะความจริงของพระเจ้าหรือไม่?   ทำไมเราถึงพูด ถึงอธิษฐาน  แสดงท่าที และการกระทำเช่นนั้น?   เราฟังมากกว่าพูดหรือพูดมากกว่าฟัง?  สิ่งที่เราพูดเป็นการพูดเร็วอย่างมิได้คิดใคร่ครวญหรือไม่?  เป็นการพูดในสิ่งที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า หรือพูดในสิ่งที่เราต้องการพูด?

ฟังเถิดท่านที่พูดว่า “ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้เราจะไปเมืองนั้นเมืองนี้  จะไปอยู่ที่นั่นหนึ่งปี  ทำมาค้าขายได้กำไร”  ท่านไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น  ชีวิตของท่านเป็นอย่างไร  ท่านเป็นเหมือนหมอกซึ่งปรากฏอย่างเพียงชั่วครู่แล้วก็เลือนหายไป   แทนที่จะกล่าวเช่นนั้นท่านควรพูดว่า “ถ้าเป็นพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเราจะมีชีวิตอยู่ทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้ (ยากอบ 4:13-15 อมตธรรม)

ในการเตรียมตัวการอยู่ต่อหน้าพระเจ้าในเหตุการณ์ต่างๆ   เรามักเตรียมตัวด้วยการอธิษฐานต่อพระเจ้า ในคำอธิษฐานเตรียมตัวนั้น เรากำลังบอกพระเจ้าให้ทำในสิ่งที่เราอยากให้พระเจ้าทำอยากให้เกิดหรือไม่?   บ่อยครั้งนักที่เราอธิษฐานเตรียมตัวสำหรับแต่ละเหตุการณ์   เราขอ(บางคนสั่ง)ให้พระเจ้าทำตามสิ่งที่เราเห็นดี   แทนที่จะเป็นเวลาของการแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า   ทั้งนี้เพราะ เรามักเตรียมตัวที่จะกำกับและควบคุมในเหตุการณ์นั้นๆ  จนลืมตัวไปควบคุมสิ่งที่พระเจ้าจะกระทำด้วยหรือไม่?

                                                                                              
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น