16 มิถุนายน 2555

ความยุติธรรมในสังคมเกี่ยวอะไรกับพระกิตติคุณ?


ขณะนี้ต้องยอมรับว่า คริสตจักรในประเทศไทยมุ่งเน้นพันธกิจเรื่องการประกาศ  หรือพูดภาษาตลาดก็คือทำให้คนมาเป็นคริสเตียนมากยิ่งขึ้น  และตัวชี้วัดความสำเร็จคือจำนวนคนที่มารับบัพติศมาเพิ่มมากขึ้นก็สำเร็จมาก  และอีกตัวชี้วัดหนึ่งคือถ้าสามารถตั้งคริสตจักรแห่งใหม่ดูจะเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจทีเดียว   อิทธิพลความคิดเช่นนี้ตอนนี้สามารถครอบงำผู้ที่เคยทำงานด้านพัฒนาสังคมเลยทีเดียว   หรือเพราะเขาต้องพูดภาษาเดียวกับคนกลุ่มนี้ในคริสตจักรหรือเปล่าก็ไม่รู้   แต่พอพูดถึงคุณภาพชีวิตในสังคมชุมชน  เมื่อพูดถึงความยุติธรรมความชอบธรรมของสังคมชุมชน   คนในหลายคริสตจักรกลับมองเห็นว่านั่นไม่ใช่พันธกิจที่คริสตจักรต้องทำ   นั่นไม่ใช่งานของคริสเตียน   พูดอย่างกับว่า พระเจ้าไม่สนใจสังคมชุมชนอย่างนั้นแหละ   แต่ประเด็นเรื่องความยุติธรรมในสังคมชุมชนเป็นประเด็นใหญ่ที่คริสตจักรกำลังต้องเผชิญหน้าอยู่ในยุคปัจจุบัน

ก่อนอื่น คงต้องกล่าวอย่างชัดเจนว่า  พันธกิจที่คริสตจักรทำนั้นเป็นพันธกิจของพระเยซูคริสต์ที่คริสตจักรเข้าไปร่วมกระทำในพระราชกิจของพระองค์   มิใช่กิจกรรมที่คริสตจักรอยากจะทำ  หรือทำต่อๆ กันมา  หรือแหล่งทุนบอกให้ทำ  หรือคนถวายทรัพย์บอกว่าต้องทำ

เมื่อเราพิจารณาถึงการกระทำพระราชกิจที่พระเยซูคริสต์ทรงกระทำเมื่อเสด็จมาในโลกนี้มีมากมาย  แต่เราคงต้องบอกแจ้งชี้ชัดว่า   พระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่ทรงกระทำนั้นมิได้เริ่มต้นด้วยพระมหาบัญชา   แต่พระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงส่งสาวกของพระองค์หรือคริสตจักรของพระองค์เข้าไปในสังคมโลกด้วยสิทธิอำนาจที่พระองค์ทรงมอบให้ (มัทธิว 28:18)  แล้วทรงพระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่เป็นพลังที่จะกระทำตามพระบัญชาดังกล่าว (กิจการ 1:8)

ประการต่อมาที่ต้องพิจารณาคือ เนื้อหาพันธกิจตามพระมหาบัญชา มิใช่พันธกิจที่มุ่งเน้นเพียงเฉพาะเรื่องการมีชีวิตใหม่หรือการมีความเชื่อใหม่ในแต่ละคนเท่านั้น  แต่เป็นการสร้างสาวก หรือ การบ่มเพาะฟูมฟักให้ชีวิตผู้เชื่อได้รับการเปลี่ยนแปลงให้มีความคิด ทัศนคติ การตัดสินใจ และการดำเนินชีวิตเยี่ยงพระเยซูคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน  ซึ่งการสร้างสาวกแบบพระคริสต์นี้เองที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและสร้างชุมชนขึ้นใหม่ตามพระประสงค์ของพระเจ้าด้วย (มัทธิว 28:19)   เพราะในพระมหาบัญชานั้นมิใช่บัญชาให้สอนให้เทศน์เท่านั้น  แต่ให้เขาดำเนินชีวิตประจำวันตามสิ่งที่พระคริสต์ได้สั่งพวกสาวกไว้แล้ว  “สอนพวกเขา ให้ถือสิ่งสารพัดที่เราสั่งพวกท่านไว้” (มัทธิว 28:20)  มิใช่สอนให้รู้ ให้จำ และ ตอบได้เท่านั้น   แต่สอนให้ทำตามอย่างเชื่อฟังในสิ่งที่พระองค์สั่งสาวกไว้  และนี่เองคือพลังสำคัญที่เป็นรากฐานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมและชุมชนให้มี “ความยุติธรรม” ตามพระประสงค์ของพระองค์   ดังนั้น พันธกิจตามพระมหาบัญชานั้นนอกจากการบอกถึงข่าวดีของพระเยซูคริสต์  และให้ผู้เชื่อรับ    บัพติสมาในพระนามของพระเยซูคริสต์แล้ว   ยังต้องหนุนเสริมให้เขาดำเนินชีวิตอย่างเชื่อฟังตามที่พระองค์ทรงสอน และ กระทำให้เราเห็นอย่างเป็นรูปธรรมในพระราชกิจที่พระองค์ทรงกระทำ  พันธกิจการหนุนสร้างชุมชนที่มีความยุติธรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งกระบวนการเดียวกันในพันธกิจตามพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์

เมื่อคริสตจักรจะต้องรับผิดชอบในพันธกิจเรื่องความยุติธรรมในสังคม เราสามารถเห็นภาพการทำพันธกิจนี้ได้จากพระราชกิจที่พระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติในชีวิต   และพระราชกิจที่ทรงกระทำดังกล่าวได้มีการยืนยันชัดแจ้งว่าเป็นพระราชกิจของพระเจ้าผู้ทรงเป็นกษัตริย์  ตามที่ปรากฏในพระธรรมสดุดี บทที่ 72 (ฉบับมาตรฐาน)  ความยุติธรรมที่พระเจ้าประสงค์ให้เกิดขึ้นในสังคมชุมชนคือ  ผู้นำทำให้เกิดสันติสุขแก่ประชาชน(ข้อ 3)  สู้คดีเพื่อคนจน  ช่วยลูกของคนขัดสน และถูกบดขยี้(ข้อ 4)  ความชอบธรรมเจริญขึ้น ความสมบูรณ์พูนสุขดำรงอยู่(ข้อ 7)  ช่วยกู้คนขัดสน คนยากจน คนไร้ผู้อุปถัมภ์ และคนอ่อนแอให้รอด(ข้อ 12-13)  ไถ่ชีวิตของผู้ถูกบีบบังคับและการทารุณ  ชีวิตของคนเหล่านี้ประเสริฐในสายตาของพระเจ้า(ข้อ 14)  และนี่คือพระราชกิจของพระเจ้าผู้ทรงกระทำการอัศจรรย์แต่พระองค์เดียว(ข้อ 18)  พระราชกิจเหล่านี้สามารถเห็นชัดอย่างเป็นรูปธรรมในพระกิตติคุณที่พระเยซูคริสต์ทรงกระทำ   เป็นพระราชกิจที่ทรงกระทำด้วยพระทัยที่รักเมตตาเพื่อที่จะทรงช่วยให้รอดทุกด้านในความเป็นมนุษย์  ทั้งร่างกาย จิตใจ  สังคมและจิตวิญญาณด้วย   และพระราชกิจนี้เริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ในพระเยซูคริสต์   และภาพนี้เราสามารถมองเห็นชัดได้จากบทเพลงอธิษฐานของมารีย์ เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ ที่ปรากฏในพระกิตติคุณลูกา 1:46-55 ฉบับมาตรฐาน)  พระเจ้าทรงห่วงใยคนที่ต่ำต้อย(ข้อ 48)  ทรงทำให้คนที่มีใจเย่อหยิ่งกระจัดกระจายไป(ข้อ 51)  ถอดเจ้านายออกจากบัลลังก์ และยกผู้น้อยขึ้น(ข้อ 52)  คนอดยากอิ่มด้วยสิ่งดี คนมั่งมีไปมือเปล่า(ข้อ 53)  และพระเยซูคริสต์ทรงประกาศถึงแผ่นดินของพระเจ้าที่กำลังเข้ามาในโลกนี้  (ลูก 4:18-19 ฉบับมาตรฐาน) และพระเยซูคริสต์ทรงประกาศเจตนารมณ์ของพระองค์ว่า พระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าสถิตในพระองค์เพื่อนำข่าวดีไปยังคนยากจน  ประกาศอิสรภาพแก่บรรดาเชลย  คนตาบอดจะได้เห็นอีก  ปล่อยผู้ถูกบีบบังคับให้เป็นอิสระ  ประกาศปีแห่งความโปรดปรานของพระเป็นเจ้า (ข้อ 18-19)  ปีแห่งความโปรดปรานหมายถึงยุคของพระเมสสิยาห์ที่เป็นเวลาที่นำความรอดมาที่ปรากฏใน อิสยาห์ 61:1-2  เป็นปีแห่งกึ่งศตวรรษตาม เลวีนิติ 25:8-55

พันธกิจแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อาจจะสรุปเป็นภาพรวมว่า เป็นข่าวดีแห่งการคืนดี  การเสริมสร้างสัมพันธภาพใหม่ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง  เพื่อนำมาซึ่งสังคมชุมชนที่ยุติธรรมและก่อเกิดศานติสุข  ตามที่พระเยซูคริสต์ประมวลพระบัญญัติทั้งสิ้นไว้ว่า  ให้รักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตสุดใจสุดกำลัง และสิ้นสุดความคิด  และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง (ลูกา 10:27-28)

ดังนั้น  พันธกิจที่พระคริสต์ทรงกระทำและบัญชาให้สาวกกระทำด้วยนั้นจึงมิใช่เพียง “พันธกิจการเสริมสร้างด้านจิตวิญญาณ” เท่านั้น  เพราะพระองค์ทรงกระทำเป็นแบบอย่างเป็นพระราชกิจที่ทรงกระทำการกอบกู้ในทุกด้านทุกมิติของชีวิต   พระองค์ทรงเอาใจใส่ชีวิตทั้งชีวิตของผู้คน  ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย  จิตใจ  สังคมความสัมพันธ์  เศรษฐกิจความอยู่รอด   วัฒนธรรมวิถีการดำเนินชีวิต  และด้านจิตวิญญาณรากฐานของการมีชีวิตอยู่   พระกิตติคุณและพระราชกิจของพระเยซูคริสต์มิได้ให้ความสนใจเพียงเฉพาะอำนาจลึกลับที่สู้กันภายในชีวิตของเราเท่านั้น   เพราะเมื่อพระเยซูคริสต์ตรัสสอนและทำให้เห็นชัดเจนว่า  รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองนั้น   เมื่อเรารักตนเองเรามิได้รักแต่จิตวิญญาณของเราเท่านั้น   แต่เรารักทุกด้านทุกมิติในการรักตนเอง   ดังนั้นพระคริสต์ต้องการให้เรารักเพื่อนบ้านในทุกด้านทุกมิติของชีวิตด้วย

พระคัมภีร์เริ่มต้นจากพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำ  พระเจ้าทรงสร้างมิใช่วิญญาณมนุษย์เท่านั้น  แต่พระเจ้าทรงสร้างธรรมชาติแวดล้อม  พระเจ้าทรงสร้างร่างกายมนุษย์และใส่จิตวิญญาณ และ พระฉายาของพระองค์ลงในมนุษย์   พระเจ้าทรงสร้างสังคมมนุษย์  พระเจ้าทรงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และความสัมพันธ์กับบรรดาสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง   สรุปได้ว่าพระองค์ทรงสร้างทั้งชีวิตภายในและทรงสร้างสภาพแวดล้อมภายนอกชีวิตด้วย(ปฐมกาล บทที่ 1-2)   และเมื่อมนุษย์ตกหลุมพรางแห่งความบาป  ชีวิตของมนุษย์ก็เสื่อมเสีย  ถูกทำลายและเกิดหายนะขึ้น  มิใช่แต่ด้านจิตวิญญาณ และร่างกายของมนุษย์เท่านั้น  แต่รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม  ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระเจ้า  และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อม และ สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง  อีกทั้งเกิดความแปลกแยกทางความคิดในตัวมนุษย์  กระทบต่อสังคมที่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกัน  แม้แต่อาชีพการงาน  และความอยู่รอดของมนุษย์ (ปฐมกาลบทที่ 3-11)   แต่เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงกระทำการพลิกฟื้นและสร้างใหม่  พระองค์ทรงสร้างใหม่ทั้งหมดของชีวิตมนุษย์  ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่ในสรรพสิ่งที่ทรงสร้างและสภาพแวดล้อม  สังคมชุมชนมนุษย์  เศรษฐกิจความอยู่รอด  เสริมสร้างสุขภาพกาย ใจ จิตวิญญาณ   และทรงเรียกให้ผู้คนมาร่วมพระราชกิจแห่งการทรงสร้างใหม่ของพระองค์ (วิวรณ์ บทที่ 21-22)  เฉกเช่นพระบิดาให้มนุษย์คู่แรกร่วมในพระราชกิจของพระองค์ในสวนเอเดนนั้น

ยิ่งกว่านั้น ผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์ได้เป็นพยานและเผยพระวจนะอย่างต่อเนื่องในสิ่งเหล่านี้ที่พระเจ้าทรงกระทำ   ผู้เผยพระวจนะเผชิญหน้ากล่าวโทษกษัตริย์อาหับที่โลภแย่งชิงที่ดินของนาโบทอย่างไร้ยางอาย  โดยวางแผนฆ่านาโบทเสียตามคำชักจูงของเมีย(1พงศ์กษัตริย์ 21:1-19)  แม้จะเป็นเพราะจิตใจที่โลภของกษัตริย์อาหับ  แต่สร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อความยุติธรรมในสังคม?  ที่ผู้เผยพระวจนะต้องลุกขึ้นเผชิญหน้า   แต่นี่เป็นความบาปที่มีอำนาจครอบงำในจิตใจชีวิตมนุษย์คนหนึ่งอย่างเยเซเบลเมียของกษัตริย์อาหับที่ออกอุบายชั่ว และก็เป็นพลังความบาปที่แพร่เข้ามาในความคิดของอาหับ และ มีอิทธิพลสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงถึงแก่ชีวิตของนาโบท  และต่อระบบการปกครอง และ กระทบต่อความยุติธรรมในสังคม อิทธิพลของความบาปทั้งส่วนตัวและสังคม ทั้งสองเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดไม่สามารถแยกออกกจากกันได้  และสร้างผลกระทบต่อกันด้วย

ผู้เผยพระวจนะมิได้จำกัดเรื่องความชอบธรรมเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคลเท่านั้น  แต่มีผลกระทบและเกี่ยวเนื่องต่อความชอบธรรม หรือ ความหายนะของสังคมชุมชนด้วย   เมื่อผู้เผยพระวจนะอิสยาห์เผยถึงการพิพากษาของพระเจ้านั้น  เป็นทั้งเรื่องความเย่อหยิ่งผยอง จองหองในแต่ละบุคคล(อิสยาห์ 2:11)  และการใช้อำนาจบังคับเอารัดเอาเปรียบคนที่อ่อนแอไม่มีกำลัง  โดยการกลืนกินสวนองุ่น และ ริบของจากคนจน  บีบคั้นประชากรของพระเจ้า  บดขยี้หน้าคนจน(อิสยาห์ 3:14-15)  นอกจากนั้นแล้วผู้เผยพระวจนะโยเอล, มีคาห์, และมาลาคี  ตลอดมาจนถึงยอห์นผู้ให้บัพติศมาก็เผยพระวจนะของพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในทำนองเดียวกันนี้

คริสตจักรในพันธสัญญาใหม่ได้สืบทอดต่อเนื่องการเป็นพยานชีวิตเช่นเดียวกันนี้  แม้มาในสมัยคริสตจักรเริ่มแรกภายหลังที่พระเยซูคริสต์เสด็จสู่สวรรค์แล้ว  สาระพระกิตติคุณที่สาวกและผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ในคริสตจักรสมัยเริ่มแรกก็ประกาศถึงทั้งการได้รับการทรงชำระในชีวิตส่วนตัว และ การมีความสัมพันธ์ต่อกันและกันและต่อผู้คนอื่นอย่างยุติธรรม   อย่างเช่น ยากอบสอนคนในคริสตจักรทั้งเรื่องส่วนตัว เช่น การใช้ลิ้นพูดจาของแต่ละคน (ยากอบ 3:1-12) และก็สอนถึงการกระทำที่เอารัดเอาเปรียบค่าแรงของคนทำงานซึ่งเป็นเรื่องที่อยุติธรรม  ส่วนตนเองเสวยสุขบนความทุกข์ยากและความตายของคนอื่น(ยากอบ 5:1-6)  และความอยุติธรรมนี้เป็นเสียงร้องขอความเป็นธรรมถึงพระเจ้า  

สำหรับยากอบแล้ว “ธรรมะที่บริสุทธิ์ไร้มลทินเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าพระบิดานั้น  คือการช่วยเหลือเด็กกำพร้าและหญิงหม้ายที่มีความทุกข์ร้อน  และรักษาตัวให้พ้นจากราคีของโลก”(ยากอบ 1:27)   ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่ชายของยากอบคือพระเยซูคริสต์ได้กระทำและสอนก่อนหน้านี้แล้ว “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ซึ่งพวกท่านได้กระทำต่อคนใดคนหนึ่งที่เล็กน้อยที่สุดในพี่น้องของเรานี้ก็เหมือนทำกับเราด้วย”(มัทธิว 25:40)

สำหรับความคิดที่จะเอาศาสนศาสตร์ของเปาโลมาชนกับคำสอนของยากอบแบบแพะชนแกะนั้น  ก็จะไม่เห็นความขัดแย้งในเรื่องนี้ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่  ในเรื่องเกี่ยวกับความรอดในแต่ละตัวคนกับพันธกิจการดูแลเอาใจใส่ผู้เล็กน้อยอ่อนแอ  เมื่อชุมชนสาวกของพระเยซูคริสต์ที่กรุงเยรูซาเล็มยอมรับเปาโลแล้ว  ได้ขอให้เปาโลทำงานด้วยการเอาใจใส่คนยากจนด้วย  ซึ่งเปาโลยืนยันว่า “ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้ากระทำด้วยความกระตือรือร้นอยู่แล้ว” (กาลา-เทีย 2:10)

ถ้าเช่นนั้นคริสตจักรจะรับใช้ข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์เช่นใดที่จะมีความสมดุลระหว่างการประกาศพระกิตติคุณกับพันธกิจการเสริมสร้างความยุติธรรมในสังคมชุมชน   จำเป็นอย่างยิ่งที่คริสตจักรจะต้องทุ่มเทในพันธกิจการเสริมสร้างรากฐานความเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์  แล้ววางรากฐานการดำเนินชีวิตที่มีหลักของคริสต์จริยธรรม   เพื่อผู้เชื่อในคริสตจักรจะได้ร่วมกับคริสตชนคนอื่นๆ ในการสำแดงชีวิตด้วยความรักเมตตาและเสียสละของพระคริสต์  และนี่คือจุดสร้างผลกระทบอย่างแรงต่อระบบความยุติธรรมในสังคมชุมชน   แต่ก็น่าเป็นห่วงอย่างมากเช่นกันที่มีคริสตจักรที่เอาแต่เน้นด้านการเสริมสร้างความยุติธรรมในสังคมโดยมิได้สนใจว่าผู้ที่จะทำเช่นนี้ได้ควรจะมีการ “กลับใจเสียใหม่” ตามที่พระคริสต์ประกาศ  คือยอมเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติ มุมมอง ระบบคุณธรรมและคุณค่าในชีวิตตามคำสอนและตัวอย่างชีวิตของพระคริสต์ก่อน จากนั้นวางรากฐานความเชื่อศรัทธาและแก่นหลักในการดำเนินชีวิตตามแบบพระคริสต์เพื่อจะมีพลังสร้างแรงกระทบต่อสังคมชุมชนที่คริสตจักรตั้งอยู่

และในเวลาเดียวกันในปัจจุบันนี้ที่มีหลายคริสตจักร หรือ คริสเตียนหลายต่อหลายกลุ่มที่เน้นให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิบุคคลจนกลายเป็นสิทธิส่วนตัว (อย่างเช่น เรื่องสิทธิทางเพศ)  โดยมิได้แสดงจุดยืนชัดเจนบนพระกิตติคุณ   และมิได้ช่วยให้เข้าใจชัดเจนว่า สิทธิของคนนั้นมาจากไหน?   และก็มีบางคริสตจักรหรือคริสเตียนบางกลุ่มอีกเช่นกันที่มุ่งเน้นสอนถึงการมีจริยธรรมในชีวิตส่วนตัวเพื่อสร้างความพึงพอใจแก่พระเจ้า   และคาดหวังลึกๆ ว่าพระเจ้าจะอวยพระในสิ่งที่ตนต้องการ   และทั้งสองขั้วนี้ก็มิใช่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ในที่นี้ผู้เขียนมิได้ต่อต้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือบัญญัติในคริสต์ศาสนา  และก็มิได้ยืนกรานไม่เห็นด้วยกับกลุ่มที่เน้นการกระทำยุติธรรมในสังคมเพื่อสังคม  แต่มิได้มีความเชื่อบนรากฐานของพระกิตติคุณ   คริสตจักรทำเรื่องยุติธรรมในสังคมอย่างเช่น องค์กรรัฐ(สังคมสงเคราะห์) หรือ กลุ่ม เอ็นจีโอ ทั่วไป   เพราะเขาไม่จำเป็นต้องสนใจว่า  ที่เขากระทำกับคนยากคนจนคนเล็กน้อย  คนไร้ที่พักพิง  คนติดยาเสพติด  คนหิวโหย  คนที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์  หรือ คนที่ถูกตัดสิทธิให้เกิดมาในโลกเกี่ยวข้องกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์หรือไม่อย่างไร   แต่คริสเตียนและคริสตจักรทำพันธกิจกับผู้เล็กน้อยด้อยโอกาสดังกล่าวเพราะ  หัวใจที่รักเมตตาและเสียสละอย่างพระคริสต์   และกระทำเพราะเป็นการสำแดงความรักของพระคริสต์แก่ผู้คนเหล่านั้นเพื่อเขาจะได้สัมผัสกับความรักเมตตาของพระองค์ 

คงไม่มีสูตรหรือทฤษฎีที่จะบอกว่าทำพันธกิจอย่างไรที่จะเกิดความสมดุลย์ระหว่างการประกาศพระกิตติคุณกับการสำแดงความรักของพระคริสต์เพื่อสร้างสังคมชุมชนที่ยุติธรรม   แต่อาจจะตอบได้ว่า   ในเมื่อชีวิตสาวกของพระคริสต์คือการมีชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างให้เติบโตขึ้นอย่างพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวันแล้ว   เราก็จะต้องสนใจในสิ่งที่พระคริสต์สนพระทัย  สนใจและเอาใจใส่ในผู้คนที่พระคริสต์สนใจและเอาใจใส่   และกระทำต่อคนเหล่านั้นอย่างที่พระคริสต์ทรงกระทำ   คือรัก เมตตา และเสียสละชีวิตเพื่อคนเหล่านี้ทั้งด้านร่างกาย  จิตใจ  สังคม  ความอยู่รอด  และจิตวิญญาณ   อย่างที่พระคริสต์ทรงเอาใจใส่และกอบกู้ทั้งชีวิต ทุกด้านทุกมิติของชีวิต

พระเยซูคริสต์ไม่เคยให้ผู้คนจากพระองค์ไปด้วยความหิวโหย   เมื่อสาวกแนะนำพระเยซูคริสต์ว่าปล่อยให้ประชาชนกลับบ้าน   แต่พระคริสต์กลับบอกว่า “พวกท่านจงเลี้ยงเขาเถิด”(ลูกา 9:13 ฉบับมาตรฐาน)   ยากอบสอนว่า  เมื่อพี่น้องขาดแคลนอาหารและเสื้อผ้า แล้วมาขอความช่วยเหลือจากท่าน  ท่านจะกล่าวกับเขาว่า “ขอให้กลับไปอย่างเป็นสุข  ให้อบอุ่น และอิ่มหนำสำราญเถิด”(ยากอบ 2:16 ฉบับมาตรฐาน)เช่นนั้นหรือ?  แต่สำหรับพระคริสต์แล้วจะต้องสำแดงความรักเมตตาต่อคนๆ นั้น  และเป็นความรักเมตตาต่อทั้งชีวิตของคนๆ นั้น  เมื่อพระเยซูคริสต์เล่าเรื่องอุปมาคนสะมาเรียผู้มีใจเมตตาเสร็จ  พระองค์ถามผู้ชำนาญการเรื่องธรรมบัญญัติว่า  ใครคือเพื่อนบ้านของคนที่ถูกโจรปล้นและถูกทำร้าย   นักชำนาญการธรรมบัญญัติตอบว่า “คือคนนั้นแหละที่แสดงความเมตตาต่อเขา”  พระเยซูคริสต์ตรัสตอบเขาว่า “ท่านจงไปทำเหมือนอย่างนั้น” (ลูกา 10:37 ฉบับมาตรฐาน)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น