27 มิถุนายน 2555

เชื่อได้แค่ไหนว่า เหตุการณ์ทุกอย่าง...ก่อเกิดผลดี?


เรารู้ว่า เหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า
คือแก่คนทั้งหลายที่พระองค์ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์
(โรม 8:28 ฉบับมาตรฐาน)

เหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อ(ให้เกิด)ผลดีจริงหรือ?
นี่เป็นการพูดด้วยภาษาความเชื่อด้านจิตวิญญาณ หรือ เป็นความจริงในชีวิตทุกวันนี้ของเรา?
คำกล่าวในโรม 8:28 เป็นจริงอย่างที่พูดหรือ?   แต่ดูเหมือนว่าตรงกันข้ามกับชีวิตจริงปัจจุบันมิใช่หรือ?

·         ลูกสาวอายุ 17 ปี  ชนะเลิศการประกวดการเป่าฟลุทของประเทศ  ได้รับรางวัลให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาในต่างประเทศ   ขับรถไปส่งเพื่อนกลับบ้าน  กลับมาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

·         สุภาพร จบการศึกษาปริญญาตรี  ได้เข้าทำงานองค์กรการกุศลต่างประเทศ   แต่เพราะวิกฤติเศรษฐกิจโลกเงินบริจาคลดน้อยลง   เธอถูกให้ออกจากงาน  ในขณะที่บ้านกำลังผ่อน  ลูกกำลังเรียน

·         ประกาศิต  ร้อยตำรวจเอกหนุ่ม  เข้าจับกุมชายหนุ่มขับรถเบนซ์ที่เป็นผู้ค้ายาเสพติด  ขณะที่คนในรถเปิดกระจกได้กระชากปืนพกของประกาศิตแล้วยิ่งร้อยตำรวจเอกหนุ่มคนนี้เสียชีวิตคาที่   ท่ามกลางความตื่นตระหนกของผู้คนที่การจราจรกำลังคับคั่ง!

·         สนธิชัย  อาจารย์หนุ่มทางด้านคอมพิวเตอร์  ตัดสินใจเข้ารับการอบรมในสถาบันการการเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้รับใช้พระเจ้าในต่างประเทศ   เมื่อกลับมาและกำลังได้รับเชิญให้เป็นศิษยาภิบาลคริสตจักรแห่งหนึ่งในสลัม  ภรรยาขอหย่าเพราะไม่ต้องการที่จะเป็นภรรยาของคนที่มีอาชีพเป็นศิษยาภิบาล

เหตุการณ์เหล่านี้จะร่วมกันก่อผลดีได้อย่างไร?   แล้วเรายังจะเชื่อพระธรรมโรม 8:28 ได้อยู่หรือไม่เนี่ย?

เรารู้ว่า เหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า
คือแก่คนทั้งหลายที่พระองค์ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์
(โรม 8:28 ฉบับมาตรฐาน)

ถ้าพูดแบบเปิดใจตรงไปตรงมา  ในพระธรรมข้อนี้มีความเคลือบแคลงใจอย่างน้อยในสองคำที่เปาโลใช้ในที่นี้
1. เป็นคำสัญญาที่เราทำใจเชื่อยาก  พระธรรมตอนนี้เขียนว่า  เรารู้ว่า เหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันเกิดผลดี...” (ฉบับมาตรฐาน)  เมื่ออ่านประโยคดังกล่าวผมถามในใจว่า อาจารย์เปาโลครับ ผมจะแน่ใจได้แค่ไหนว่า เรารู้?  ผมบอกได้เลยครับอาจารย์เปาโลว่า คนส่วนใหญ่ในพวกเราไม่รู้ครับ   พวกเราหวังว่าเหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อให้เกิดผลดี  เราหวังให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ   และเราก็เชื่อว่ามันควรเป็นไปเช่นนั้น   แต่เรารู้จริงๆหรือไม่ว่านั่นจะเกิดจริงแน่นอน?

2. เป็นคำสัญญารวมเอาสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะอยู่ในประโยคนี้  เหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อผลดี...” นี่คือเหตุการณ์ทุกอย่าง  เป็นไปได้จริงหรือว่า “ทุกๆ เหตุการณ์” ร่วมกันก่อให้เกิดผลดี  ทุกเหตุการณ์จริงๆ หรือ?   ผมว่ามันน่าจะเพียง “บางเหตุการณ์” ร่วมกันทำให้เกิดผลดี  แต่ผมเข้าใจและยอมรับว่า ในเหตุการณ์ที่ทุกข์ยากลำบากเราจะได้เรียนรู้บทเรียนแห่งความเชื่อที่ไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยวิธีการอื่น  และผมก็ยอมรับเช่นกันว่าบางเหตุการณ์ร่วมกันก่อให้เกิดผลดีได้   แต่เราจะแน่ใจได้อย่างว่า ทุกเหตุการณ์ร่วมกันแล้วก่อให้เกิดผลดี?  คำกล่าวเช่นนี้ดูจะจริงเมื่อเป็นคำกล่าวในเชิงคริสต์ศาสนศาสตร์  หรือดูจริงเมื่อเป็นคำกล่าวทางด้านความเชื่อศรัทธา แต่จะเป็นจริงในทุกแง่มุมในชีวิตทุกด้านหรือ?

ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เลยที่คนส่วนใหญ่จะบอกว่า พระธรรมโรม 8:28 เป็นข้อพระคัมภีร์ที่ผู้คนชื่นชอบ  จะมีหลายคนที่เป็นพยานว่า  เมื่อเขาเจ็บป่วย พระคัมภีร์ข้อนี้เป็นยาที่ชโลมจิตวิญญาณของเขา เมื่อคนที่ต้องสูญเสียผู้เป็นที่รัก พระธรรมข้อนี้เป็นกำลังที่ช่วยให้เขาสามารถข้ามทะลุในเวลาที่แสนเจ็บปวดนั้น   และเมื่อต้องถูกกระหน่ำด้วยมรสุมแห่งชีวิต  พระคัมภีร์ข้อนี้ให้ความหวังที่ทำให้ชีวิตเดินต่อไปได้

อย่าตกใจนะครับถ้าผมจะบอกว่า จากที่เคยพูดคุยกับเพื่อนฝูง คนรู้จัก นักศึกษาพระคริสต์ธรรม  หรือเพื่อนศิษยาภิบาลหลายท่านที่มีความสงสัยเรื่องนี้ในจิตใจ  เมื่อเขาได้ยินข้อความในพระธรรมตอนนี้  ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องจรรโลงจิตวิญญาณ แต่เป็นเหมือนว่าตนกำลังถูกเยาะเย้ยล้อเลียน  ด้วยคำถามว่า  “หมายความว่าอะไรกันแน่ที่ว่า เหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดกับเราในชีวิตร่วมกัน(ทำให้)ก่อเกิดผลดี” ที่พูดอย่างนี้หมายความว่าอะไรกันแน่?
ความเจ็บป่วยเป็นผลดีหรือ
การถูกฆ่าตายเป็นผลดีหรือ
การหย่าร้างเป็นผลดีหรือ
การฆ่าตัวตายเป็นผลดีหรือ
การตายของเด็กอายุเพียงน้อยนิดเป็นผลดีหรือ
ที่ว่า “ผลดี” นั้นหมายความว่าอะไรกันแน่?

คงต้องยอมรับว่า บางครั้งที่มีการใช้พระคัมภีร์ข้อนี้ไปในทางที่ผิด หรือ ใช้ไปในความหมายที่คลาดเคลื่อนจากความตั้งใจของเปาโล   บ่อยครั้งที่พระคัมภีร์ข้อนี้ถูกโยนใส่คนที่กำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์ยาก เหมือนกับว่าพระคัมภีร์ข้อนี้สามารถตอบปัญหาชีวิตได้ทุกเรื่องทุกประเด็น   เมื่อมีการใช้พระคัมภีร์ข้อนี้อย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความหมายเดิมของเปาโลย่อมทำให้เกิดผลกระทบด้านตรงกันข้ามกับที่เปาโลตั้งใจให้เกิดขึ้น

ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบพระคัมภีร์ข้อนี้  พระคัมภีร์ข้อนี้ก็ยังอยู่ในพระคัมภีร์ของคริสตชน   จะไม่หายไปไหน   ทำให้เราต้องกลับมาถามคำถามพื้นฐานว่า   แล้วเรายังเชื่อในพระคัมภีร์โรม 8:28 ได้หรือไม่?

ข้อพิจารณาสี่ประการที่จะช่วยเราในการตอบคำถามข้างต้นนี้   ดร. เวอนอน กราวดส์ (Dr. Vernon Grounds) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระคริสต์ธรรมเดนเวอร์ (president of Denver Seminary) เป็นผู้ที่ให้ข้อพิจารณาทั้งสี่ประการดังกล่าว ซึ่งผมไม่เคยคิดเช่นนี้มาก่อน 

เราต้องเริ่มต้นกับพระเจ้า

สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านพระคัมภีร์เข้าใจคลาดเคลื่อน หรือ เกิดความสงสัยต่อสัจจะความจริงในข้อพระคัมภีร์บางข้อเพราะขึ้นอยู่กับการแปลพระคัมภีร์   ผมขออนุญาตใช้ตัวอย่างการแปลพระคัมภีร์ในภาษาไทย โดยใช้โรม 8:28 เปรียบเทียบสำนวนแปล 3 สำนวนด้วยกันดังนี้
สำนวนแปล 1  ฉบับมาตรฐาน
“เรารู้ว่า เหตุการณ์ทุกอย่างร่วมกันก่อผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า...” 

สำนวนแปล 2  ฉบับ 1971
“เรารู้ว่า พระเจ้าทรงช่วยคนที่รักพระองค์ให้เกิดผลอันดีในทุกสิ่ง...”

สำนวนแปล 3  อมตธรรม
“เรารู้ว่า ในทุกๆ สิ่งพระเจ้าทรงทำให้เกิดผลดีแก่บรรดาผู้ที่รักพระองค์...”

เราเห็นความต่างในสำนวนแปลของทั้ง 3 สำนวนใช่ไหมครับ?   สำนวนแปลแรก  เน้นความสำคัญที่เหตุการณ์ต่างๆ ร่วมกันก่อให้เกิดผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า  ในขณะที่สำนวนแปลที่สอง  เน้นว่าพระเจ้าทรงช่วยคนที่รักพระองค์ให้เกิดผลดีในทุกสิ่ง(ในทุกเหตุการณ์)   ส่วนสำนวนที่สาม  เน้นว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้กระทำให้เกิดผลดีในทุกสิ่งแก่คนที่รักพระองค์   ซึ่งการเน้นจุดสำคัญที่แตกต่างกันเช่นนี้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผู้อ่านพระคัมภีร์มีโอกาสที่จะเข้าใจพระคัมภีร์ที่แตกต่างกันออกไป  หรือคลาดเคลื่อนจากความหมายดั้งเดิมได้   ในที่นี้ผมมิได้หมายความสำนวนไหนแปลผิดและสำนวนไหนแปลถูก   แต่ผมเพียงต้องการตั้งข้อสังเกตว่า  คริสต์ศาสนศาสตร์ของผู้แปลพระคัมภีร์มีส่วนสำคัญและสร้างผลกระทบต่อผู้อ่านพระคัมภีร์เป็นอย่างมาก (และที่แปลแตกต่างกันนี้ก็ต้องยอมรับว่า ต้นฉบับในภาษาเดิมของพระคัมภีร์มีลักษณะไม่ชัดเจนที่จะฟันธงลงไปได้  ดังนั้น ศาสนศาสตร์ของผู้แปลจึงมีผลพลังต่อความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจของผู้อ่านพระคัมภีร์)

ในสำนวนแปลแรก ผลดีที่เกิดขึ้นเป็นการเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ ร่วมกันแล้วเกิดผลดีแก่คนที่รักพระเจ้า   ความเชื่อที่ให้พระเจ้ามีบทบาทตอนท้ายสุด   แต่ผู้เชื่อประเภทนี้เชื่อในเหตุการณ์ทั้งสิ้น  แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดแต่ในตอนสุดท้ายพระเจ้าจะทรงกระทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องเกิดผลดี   ความเชื่อของคนประเภทนี้เป็นความเชื่อแบบ “ทอดลูกเต๋า” จะมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบางครั้งดี บางครั้งเลว  เหมือนทอดลูกเต๋าบางครั้งได้บางครั้งเสีย   คนกลุ่มนี้จะเชื่อต่อไปว่าในที่สุดพระเจ้าจะทำให้ทุกอย่างเป็นไปในทางที่ดี เกิดผลดี   แล้วความเชื่อเช่นนี้ต่างอะไรกับการเชื่อแบบคนที่เชื่อ “โชคชะตา” เพียงผู้เชื่อกลุ่มนี้คาดหวังให้พระเจ้าทำทุกอย่างให้เกิดผลดีในตอนท้ายเท่านั้น   ผู้เชื่อกลุ่มนี้มักจะกล่าวว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น  พระเจ้าจะทรงเปลี่ยนความโศกเศร้าให้เป็นพระพร”  นั่นคงเป็นเรื่องเล่าในนิยาย   มิใช่ในชีวิตจริง

ในความเป็นจริงแล้ว  ในทุกเหตุการณ์ของชีวิต  คริสตชนเชื่อว่าพระเจ้าทรงอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นเหตุการณ์  และทรงอยู่ในตอนท้ายเหตุการณ์  และพระองค์ทรงอยู่ในตลอดทุกๆ สถานการณ์ของชีวิต   พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในทุกๆ เหตุการณ์ในชีวิตของเรา มิใช่โชคชะตาที่เป็นผู้กำหนดผลที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา  และนี่เป็นคำตอบตรงต่อคำถามที่ว่า “แล้วพระเจ้าอยู่แห่งหนใดเมื่อเราเจ็บปวดในชีวิต?” พระเจ้าอยู่ตั้งแรกแรกเริ่มของเหตุการณ์? หรือ พระเจ้าอยู่ตอนท้ายของเหตุการณ์?  คำตอบจาก โรม 8:28 สำนวนแปลที่สามบอกเราว่า  พระเจ้าทรงอยู่ที่นั่นก่อนเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น  และพระเจ้าทรงอยู่ที่นั่นด้วยเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น   และพระองค์ยังทรงอยู่ที่นั่นหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว  พระองค์อยู่ที่นั่นและทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์นั้นๆ  “ในทุกๆ สิ่งพระเจ้าทรงทำให้เกิดผลดีแก่บรรดาผู้ที่รักพระองค์”(อมตธรรม)

เด็กเล็กมักกลัวความมืดในเวลาค่ำคืน   ที่เด็กกลัวมากเพราะเขามองอะไรไม่เห็นในความมืด  เขาร้องไห้ด้วยความกลัว   จนกว่าพ่อหรือแม่เข้าไปในห้องนั่งลงบนเตียงและอุ้มเด็กน้อยไว้  พร้อมกับบอกว่า  “ไม่ต้องกลัว  พ่ออยู่กับลูก”  ความกลัวมลายหายไปเมื่อพ่อมาอยู่ด้วย”   เช่นกัน ในทุกสถานการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต  เป็นเสมือนชีวิตตกอยู่ในความมืดมิด  ทำให้เราเกิดความประหวั่นกลัว   แต่เราจะหายกลัวเมื่อรู้ว่าพระบิดาอยู่ด้วยในความมืดมิดแห่งชีวิตนั้น   สถานการณ์ชีวิตยังอยู่ในความมืดมิด  แต่เพราะพระเจ้าอยู่ในความมืดมิดแห่งชีวิตกับเรา   นั่นทำให้ทุกสิ่งในชีวิตแตกต่างอย่างสิ้นเชิง   และนี่คือมุมมองของคริสตชนตามพระคัมภีร์ แม้เหตุการณ์ทุกข์ยากเลวร้ายเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา หรือ แก่ชีวิตคนที่เรารัก  เพื่อนบ้านเพื่อนฝูงของเราก็ตาม

มุมมองที่ว่า ในทุกสถานการณ์ชีวิตพระเจ้าทรงอยู่ด้วย   นี่คือจุดสร้างความแตกต่างอย่างมากมายต่อการดำเนินชีวิตและความเชื่อศรัทธา  ในตอนต่อไปเราจะร่วมกันพิจารณาต่อไปว่า แล้วเราจะมีมุมมองเช่นนี้ได้อย่างไร


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น