05 มิถุนายน 2555

เมื่อชีวิตต้องเจ็บปวด...


แต่ข้าพระองค์ทุกข์ยากและเจ็บปวด   ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงช่วยกู้ข้าพระองค์ พิทักษ์รักษาข้าพระองค์
ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระนามของพระเจ้าด้วยบทเพลง   ข้าพเจ้าจะยกย่องพระองค์ด้วยการขอบพระคุณ
...
ขอให้บรรดาผู้ถ่อมใจเห็นการนั้นและยินดี   ท่านเสาะหาพระเจ้า  ขอให้ใจของท่านฟื้นชื่นขึ้น
พระยาเวห์ทรงฟังคนขัดสน   และมิได้ดูหมิ่นคนของพระองค์ที่ถูกจำจอง
(สดุดี 69:29-33)

วิบัติแก่ข้าพเจ้า  เพราะความเจ็บปวดของข้าพเจ้า   บาดแผลของข้าพเจ้าก็สาหัส
แต่ข้าพเจ้าเคยว่า  “แท้จริงนี่เป็นความเจ็บป่วย  และข้าพเจ้าจะต้องทนเอง”
เพราะว่าผู้เลี้ยงแกะก็เขลา และไม่ได้ทูลถามพระยาเวห์
เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่จำเริญขึ้น  และฝูงแกะของเขาก็กระจัดกระจายไป
(เยเรมีย์ 10:19, 21)

พระเจ้าทรงเช็ดน้ำตาทุกๆ หยดจากตาของเขาทั้งหลาย  และความตายจะไม่มีอีกต่อไป
ความโศกเศร้า การร้องไห้  และการเจ็บปวดจะไม่มีอีกต่อไป
เพราะยุคเดิมผ่านพ้นไปแล้ว
(วิวรณ์ 21:4)

การรู้สึก “เจ็บ” หรือ “ปวด” เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ทั้งด้านร่างกาย และ จิตใจ รวมถึงจิตวิญญาณของคนเรา

การรู้สึกเจ็บปวดมักถูกมองไปในทางลบ  เป็นความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์  เป็นความรู้สึกที่ไม่ต้องการได้รับหรือให้เกิดขึ้นกับชีวิตของตนเอง   เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้วเกิดผลกระทบเชิงลบ  ทำให้เกิดความหดหู่ใจ  ทุกข์ ทรมาน  ตลอดจนหงุดหงิด  หรือเกิดความเครียด   ดังนั้น  หลายคนจึงพยายามหลีกเลี่ยง หรือ ป้องกันมิให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดในชีวิต

แท้จริงแล้วการที่พระเจ้าทรงสร้างแต่ละคนมาให้สามารถรับรู้ความรู้สึกด้านต่างๆ  รวมถึงการรู้สึกเจ็บปวดในชีวิตของเราด้วย   กล่าวได้เต็มปากว่า  การรู้สึกเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งของ “การมีชีวิต” ในมนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้าง  และเราควรขอบพระคุณพระเจ้าอย่างมากที่ให้ “การรู้สึกเจ็บปวด” เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและการเจริญเติบโตของชีวิต   ทั้งนี้เพราะการที่คนเรา “รู้สึกเจ็บปวด” ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณนั้นเป็นสัญญาณเตือนถึง “อันตราย  เหตุร้าย  ความเสื่อมทรุด” กำลังคืบคลานเข้าปะทะชีวิตของเรา อาจจะทางร่างกาย  จิตใจ  หรือจิตวิญญาณ

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเผลอไปจับกาน้ำที่ร้อนจัด  เพราะเรารู้สึกร้อน  ศูนย์ประสาทของเราสั่งการให้เราหดมือของเราออกทันที   หรือ การที่เราปวดศีรษะ เราจะค้นหาสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้เราปวดศีรษะ  เพื่อที่จะหาทางบำบัดเยียวยาให้หายจากการปวดศีรษะ   ยิ่งกว่านั้น ถ้ารู้ต้นเหตุของการทำให้เกิดการปวดศีรษะ  เราก็จะได้หลีกเลี่ยง หรือ เลิกที่จะกระทำ หรือไม่นำตนเองเข้าสู่ภาวะแห่งต้นเหตุของการทำให้ปวดศีรษะดังกล่าว

ผมเคยอ่านคู่มือสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อน  ในหัวข้อสิ่งที่พึงระวัง  มีสองประการที่ผมจำได้คือ  ผู้ป่วยโรคเรื้อนไม่ควรใช้ของมีคม   และ ไม่ควรนั่งผิงไฟ  หรือ  นั่งใกล้กองไฟ   ในคู่มือให้เหตุผลว่า  เพราะในส่วนของร่างกายที่ถูกทำลายจากโรคเรื้อน ประสาทความรู้สึกจะหมดสภาพการรับรู้   จึงทำให้ร่างกายบริเวณนั้นๆ หมดความรู้สึก   และถ้าผู้ป่วยโรคเรื้อนใช้ของมีคมและถูกบาดก็จะไม่มีความรู้สึก   ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้   ในทำนองเดียวกัน  การที่ผู้ป่วยโรคเรื้อนนั่งผิงไฟ  นั่งใกล้กองไฟอาจจะถูกไฟลามไฟลวก   แต่เนื่องจากไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด หรือ ความรู้สึกแสบร้อน  ไฟก็จะลวกไหม้ผู้ป่วยคนนั้นและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ในด้านหนึ่งการรู้สึกเจ็บปวดย่อมมีคุณมากมายต่อการขับเคลื่อนการดำรงชีวิตของเรา   เพราะเป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของเรา   อยู่ที่ท่าทีและการตอบสนองของคนๆ นั้นต่อสัญญาณที่เกิดขึ้นในชีวิตของตน   พระเจ้าทรงสร้างระบบความรู้สึก และ จิตสำนึกไว้ในระบบการขับเคลื่อนชีวิตของคนเรา   เพื่อเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสภาพชีวิตที่กำลังเป็นอยู่เฉกเช่นปรอทที่บอกถึงอุณหภูมิในร่างกายของเรา   ความเจ็บปวดเป็นระบบภูมิคุ้มกันของชีวิตที่สะท้อนให้เรารู้ถึงภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามา   คนๆ นั้นจะ “หยุด” การขับเคลื่อนชีวิตให้ช้าลง   และเพ่งพินิจพิจารณาถึงสาเหตุ และ ภัยที่กำลังคืบคลาน หรือ ถาโถมเข้ามาในชีวิตของเรา   และมีสติที่จะรับมือ หรือ หลีกเลี่ยง ป้องกันภัยเหล่านั้น

ดังนั้น  เมื่อการเจ็บปวดเกิดขึ้นในชีวิตของเรา  อยู่ที่ว่าเรามองการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นว่าเป็นภัยคุกคามทำลายความสุขของเรา  เป็นศัตรูตัวฉกาจที่จ้องล้างผลาญเรา หรือเราจะมองการเจ็บปวดด้วยมุมมองสายตาแห่ง “ความเป็นมิตร” ที่หวังดีและส่งสัญญาณเตือนภัยที่กำลังแทรกซึม หรือ จู่โจมเข้ามาในชีวิตของเรา เพื่อเราจะสามารถตอบสนองอย่างรู้เท่าทัน

สำหรับคริสตชนแล้ว การที่เรายังมีความเจ็บปวดในชีวิต นั่นเป็นเครื่องบ่งบอกว่าเรายังมีชีวิตอยู่  และเป็นโอกาสที่เราจะเพ่งพินิจพิจารณาชีวิตของเราที่กำลังขับเคลื่อนไป   พร้อมๆ กับแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าท่ามกลางความเจ็บปวดนั้น   เพื่อเราจะพบประกายสว่างแห่งชีวิตที่จะจุดไฟชีวิตของเราให้สว่างมีพลังขับเคลื่อนไปในเส้นทางชีวิตตามพระประสงค์อีกครั้งหนึ่ง

โรคที่น่ากลัวสำหรับคริสตชนในปัจจุบันคือ “โรคจิตวิญญาณด้านชา” หรือ ที่ผมชอบใช้คือ “โรคจิตวิญญาณตายด้าน”  คนกลุ่มนี้หมดความรู้สึกทางจิตวิญญาณ   ดังนั้น  จึงหมดโอกาสที่จะรู้เท่าทันสภาพชีวิตจิตวิญญาณของตนเอง   นอกจากชีวิตจิตวิญญาณตกอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงและภัยอันตรายโดยเจ้าตัวไม่ตระหนักสำนึกแล้ว   ชีวิตจิตวิญญาณของคนๆ นั้นจะไม่พบกับการปรับเปลี่ยน  พัฒนา  การเจริญเติบโต  และเกิดผลในชีวิตต่อไป

การรับมือกับความเจ็บปวดในชีวิต

บุคคลหนึ่งที่ผมชื่นชอบในการดำเนินชีวิตของเขา   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชีวิตของเขาต้องได้รับการเจ็บปวด  ทั้งที่เป็นเพราะท่าทีหรือการกระทำของตนเองในชีวิต   หรือการที่ได้รับการตอบโต้ที่รุนแรงเกินพอดี   หรือได้รับความเจ็บปวดในชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม   แต่สิ่งที่ผมชื่นชมในตัวโยเซฟเมื่อเขาได้รับความเจ็บปวดในชีวิตคือ  เขามิได้ถามว่าทำไมความเจ็บปวดนี้ถึงเกิดขึ้นกับตน   เขามิได้พยายามค้นหาหรือพิสูจน์ว่าใครทำให้เขาเจ็บปวดในชีวิต   แต่เมื่อเขาได้รับความเจ็บปวดในชีวิตเขาถามว่า  พระเจ้าประสงค์ให้เขาทำอะไรอย่างไรในสถานการณ์ของความเจ็บปวดนั้น   เขาแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าในเวลาเช่นนั้น  และเขาเฝ้าดูพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำในชีวิตของเขาและผ่านชีวิตของเขา   ในชีวิตที่เจ็บปวดของโยเซฟเขากลับได้รับพระพรและเป็นพระพรสำหรับคนอื่น  และพระเจ้าทรงใช้ชีวิตของเขาอย่างเป็นกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอนเลยทีเดียว

ชีวิตของโยเซฟได้รับความเจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่า   ที่เป็นเหตุการณ์ความเจ็บปวดในชีวิตครั้งใหญ่ๆ เช่น
1. โยเซฟถูกพี่ชายขายให้กับพ่อค้าชาวมีเดียน  ทำให้เขาต้องถูกแยกจากพ่อที่เขารักและผูกพัน  ต้องไปอยู่ในอียิปต์แผ่นดินต่างแดน (ปฐมกาล 37:12-36)
2. ถูกขายเป็นทาส  ต้องเป็นทาสรับใช้และทำงานในบ้านของโปทิฟาร์ (ปฐมกาล 39:1-6)
3. ถูกใส่ร้ายจากนายหญิง และ ถูกขังในคุกนักโทษเด็ดขาด  ทั้งๆ ที่ตนพยายามรักษาชีวิตมิให้ทำผิดจริยธรรมทางเพศ (ปฐมกาล 39:7-23)
4. ถูกเพื่อนที่เคยติดคุกด้วยกันที่โยเซฟทำนายฝันให้อย่างแม่นยำและถูกต้อง  ได้รับการปลอดปล่อยจากการติดคุก  แล้วลืมโยเซฟทั้งๆ ที่สัญญากันอย่างมั่นเหมาะว่าจะช่วยโยเซฟ (ปฐมกาล 40:1-23)

แต่เมื่อย้อนทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของโยเซฟกลับพบว่า ชีวิตของเขาเหมือนก้าวขึ้นบันไดไปทีละก้าวอย่างที่มีการวางแผนชัดเจนไว้ กล่าวคือ...
ถ้าโยเซฟไม่ถูกขายมายังอียิปต์  เขาก็ไม่มีโอกาสที่จะเป็นทาสรับใช้ในบ้านของโปทิฟาร์,  
ถ้าเขาไม่ได้เป็นทาสรับใช้ในบ้านของโปทิฟาร์  เขาก็จะไม่พบกับนายหญิงที่มายั่วยวนทางเพศ,  
ถ้าเขาไม่ปฏิเสธที่จะทำตามใจปรารถนาของนายหญิง โยเซฟก็จะไม่ติดคุก, 
แต่ถ้าโยเซฟไม่ติดคุก  เขาก็จะไม่พบกับเพื่อนสองคนที่โยเซฟช่วยทำนายฝัน,  
ถ้าโยเซฟมิได้ทำนายฝันให้เพื่อนนักโทษอย่างถูกต้อง   ก็ไม่มีโอกาสที่ฟาโรห์จะรู้ว่าโยเซฟทำนายฝันได้อย่างถูกต้องแม่นยำและเป็นจริง, 
ถ้าโยเซฟไม่มีโอกาสที่จะทำนายฝันให้แก่ฟาโรห์ ฟาโรห์ก็ไม่มีโอกาสได้พบโยเซฟ  และเห็นถึงการที่พระเจ้าสถิตในโยเซฟ,  
ถ้ามิใช่เพราะฟาโรห์ได้เห็นว่าพระเจ้าสถิตกับโยเซฟ  โยเซฟอาจจะไม่ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่แทนฟาโรห์, 
ถ้าโยเซฟไม่เป็นมหาอุปราช   ก็จะไม่มีโอกาสบริหาราชการแผ่นดินอียิปต์ในการรับมือกับภัยแล้ง, 
ถ้าโยเซฟมิได้เป็นมหาอุปราชแห่งอียิปต์ในเวลานั้น  ไม่รู้ว่าภัยแล้ง 7 ปีในครั้งนั้นจะคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลแค่ไหน  รวมทั้งครอบครัวใหญ่ของยาโคบด้วย

น่าสังเกตว่า ทุกขั้นตอนของการเจ็บปวดในชีวิต  ทำให้เกิดสิ่งดีในสถานการณ์ความเจ็บปวดนั้นๆ   อีกทั้งยังส่งต่อไปสู่สถานการณ์ใหม่ๆ   โยเซฟไม่รู้ว่าข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น   แต่เมื่อเกิดความเจ็บปวดในชีวิตสิ่งที่เขาเฝ้ามองและใคร่ครวญคือ  พระเจ้ามีพระประสงค์อะไร  พระองค์กำลังจะทำอะไร   และเพื่อที่จะทรงให้เกิดอะไรขึ้น

โยเซฟสรุปประสบการณ์ตลอดชีวิตของเขา  ครั้งเมื่อเปิดเผยตนกับพวกพี่ๆ ในอียิปต์ว่า  “แต่บัดนี้อย่าเสียใจและอย่าโกรธตนเองที่ได้ขายเรามาที่นี่ เพราะว่าพระเจ้าทรงส่งเรามาล่วงหน้าพวกพี่เพื่อช่วยคนทั้งหลาย...  ดังนั้น จึงไม่ใช่พวกพี่ที่ส่งเรามาที่นี่  แต่เป็นพระเจ้าเอง...” (ปฐมกาล 45:5, 8 อมตธรรม)

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน   ไม่ว่าชีวิตของเราจะตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์เช่นไรก็ตาม  ได้สร้างความเจ็บปวดแค่ไหนแก่ชีวิตเราก็ตาม   โปรดสงบและรู้เถิดว่า พระเจ้าทรงมีแผนการของพระองค์ในชีวิตของเราที่ตกในความเจ็บปวดนั้น   เพื่อกระทำพระราชกิจในชีวิตของเรา และ ผ่านชีวิตของเรา  จนเกิดผลตามแผนการของพระองค์ มิใช่ตามใจปรารถนาของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น