29 มิถุนายน 2555

เชื่อได้แค่ไหนว่า เหตุการณ์ทุกอย่าง...ก่อเกิดผลดี? (2)


จากตอนก่อน เราเห็นแล้วว่า ศาสนศาสตร์ของผู้แปลพระคัมภีร์มีอิทธิพลต่อผู้อ่านพระคัมภีร์  เพราะให้จุดเน้นและความหมายที่แตกต่างกันแม้ในพระคัมภีร์ข้อเดียวกัน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อพระคัมภีร์ที่อาจจะแปลความได้หลายทาง  อย่างเช่นในโรม 8:28 เป็นต้น  

เราก็พบความจริงว่า  ในทุกสถานการณ์ชีวิตพระเจ้าสถิตอยู่ในทุกเหตุการณ์ร่วมกับเรา   และพระองค์ทรงกระทำพระราชกิจในทุกสถานการณ์ชีวิตเพื่อก่อเกิดผลดี   แต่ก็เกิดคำถามว่าแล้วเราจะมีมุมมองเช่นไรในเรื่องนี้   ที่ว่าพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในทุกสถานการณ์ชีวิตของเราให้เกิดผลดีนั้นหมายความว่าเป็นเช่นไร?   และผลดีที่ว่านี้เป็นผลดีแบบใดกันแน่?   เป็นผลดีในทัศนะของใคร?

เราจำเป็นต้องมีสายตาแห่งชีวิตที่ยาวไกล

หลายเรื่องราวในชีวิตที่ดูเหมือนว่าเราไม่สามารถที่จะอธิบายได้   เช่น ทำไมเมื่อเกิดพายุรุนแรงพัดผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  บ้านพังพินาศราบเรียบ  แต่ทำไมมีบ้านสองหลังที่กระจุกนั้นกลับไม่ถูกพัดทำลาย?   ทำไมพี่คนโตถึงอยู่สุขสบายในบ้าน แต่น้องคนอื่นๆ ชีวิตกลับต้องผจญกับความทุกข์ยากแสนสาหัส?  หมอบอกว่า มะเร็งที่เขาเคยเป็น ได้ถูกขจัดออกไปหมดแล้ว แต่ทำไมตอนนี้มันถึงกลับมากำเริบอีก?  คำถามแบบนี้มีมากมายก่ายกองถามไปได้อีกยืดยาวมากมาย   แต่เมื่อเราจะมองทีละปัญหาอย่างแยกส่วน   เราจะไม่สามารถเห็นเป้าประสงค์ในที่สุดของเรื่องเหล่านั้นอย่างแน่นอน 

เพื่อความชัดเจนผมขอยกตัวอย่างเรื่องของโยเซฟบุตรยาโคบมาเป็นตัวอย่าง

แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของโยเซฟ  ดูเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้าย  ตั้งแต่ถูกพวกพี่ชายเกลียดเพราะพ่อรักโยเซฟมากกว่า  เพราะโยเซฟ “ปากมาก”  “แสดงตัวว่าอยู่ฐานะเหนือกว่า”  ในที่สุดถูกพี่ชายขายให้กับพ่อค้า

โยเซฟถูกขายต่อให้กับนายทหารในอียิปต์  โยเซฟถูกใส่ร้ายว่าพยายามข่มขืนเมียของนาย  โยเซฟถูกขังในคุกหลวง  โยเซฟถูกเพื่อนอดีตนักโทษในคุกหลวงลืม   เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายทั้งสิ้น   ยิ่งกว่านั้นถ้าเรามาพิจารณาแต่ละเหตุการณ์เราจะไม่พบเป้าประสงค์ หรือ เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของโยเซฟเลย   ถ้าเราแยกพิจารณาและหาคำตอบแต่ละสถานการณ์เราจะไม่พบคุณค่าความหมายของเป้าหมายปลายทางในเหตุการณ์ทั้งหมดเลย   สิ่งที่พบจะมีแต่ “ความเจ็บปวด”  “ความอยุติธรรม”  “ทำไมพระเจ้าให้เกิดเหตุการณ์อย่างงี้กับเรา?”  เราจะไม่สามารถพบคำตอบด้วยการพยายามหาคำตอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแยกส่วนเช่นนี้  เพราะเราไม่สามารถรู้และมองเห็นว่าเป้าหมายปลายทางสถานการณ์ชีวิตของโยเซฟ หรือ ของเราคืออะไรกันแน่   ดังนั้นเราจึงคาดคะเนและพยายามหาเหตุผลเพื่อจะตอบสถานการณ์นั้นทั้งๆ ไม่รู้ว่า เป้าหมายปลายทางของเหตุการณ์นั้นนำไปสู่ที่ไหน   แต่เราเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วไปบอกว่าเป้าหมายปลายทางจะเป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น   เมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้าย  เราจึงคาดคะเนหรือตัดสินลงไปว่าเป้าหมายปลายทางต้องเป็นสิ่งเลวร้ายด้วย   เราจึงมีคำถามมากมายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต

จากบทเรียนชีวิตของโยเซฟผมได้เรียนรู้ว่า  การมองสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นต้องมองสถานการณ์แต่ละสถานการณ์อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกัน   จนเป็นเหตุให้เกิดพลังร่วม ที่เราแปลจากภาษาอังกฤษคำว่า synergy  ที่มาจากภาษากรีกว่า “sunergon”   ซึ่งมีความหมายว่า  การเอาองค์ประกอบตั้งแต่สองอย่างเป็นต้นไปมาร่วมเข้ากันกลายเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกัน   ทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนใหม่  สิ่งใหญ่  ประโยชน์ใหม่  รสชาติใหม่  เช่น  ผมต้มน้ำ  เอาข่า ตะไคร้ลงไปต้ม  เมื่อเดือดแล้ว ผมใส่กุ้งสด  น้ำพริกเผา  พริกขี้หนูสัก 2-3 เม็ด  น้ำมะนาว  น้ำปลา  เมื่อได้รสชาติกลมกล่อมแล้ว  ผมใส่ใบมะกรูด  (ไม่ใส่ผงชูรส) เมื่อเดือดแล้วปิดฝาหม้อปิดแก๊ส  ผมได้ต้มยำกุ้งครับ  เป็นอาหารชนิดหนึ่ง  รสชาติใหม่ 

ถ้าคนที่ไม่ชอบเข้าห้องครัว  อาจจะดูจากประสบการณ์ธรรมดา  เช่น  กาแฟที่เราดื่ม  เราจะตักกาแฟผงสำเร็จรูปลงในแก้วกาแฟตามความเข้มที่เราต้องการ   จากนั้นบางท่านก็ใส่น้ำตาล และ ครีมตามชอบ   แล้วเอาน้ำร้อนๆชงลงในแก้นั้น   จากนั้นเอาช้อนคนให้เข้ากัน   เราจะได้กาแฟร้อนกลิ่นหอมกรุ่นรสกลมกล่อม   เราไม่สามารถแยกออกเป็นแต่ละอย่างต่อไป  เช่น เป็นกาแฟ  น้ำตาล  ครีม และน้ำร้อน   แต่เราจะได้กาแฟร้อนรสชาติใหม่ เป็นต้น

การที่เราจะใส่กาแฟเท่าใด  ครีมกี่ช้อน  หรือ น้ำตาลมากน้อยแค่ไหนนั้น  อยู่ที่เป้าหมายปลายทางครับว่าเราต้องการดื่มกาแฟรสชาติแบบไหนเป็นตัวกำหนดว่าเราจะใส่อะไรเท่าใดลงในแก้วกาแฟของเรา   เป้าหมายปลายทางเป็นตัวให้ความหมายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  และเราจะมองแบบ synergy หรือ พลังร่วมที่เกิดขึ้นใหม่ 

เช่นเดียวกับที่โยเซฟมองสถานการณ์ชีวิตที่ทุกข์ยากลำบาก ความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดขึ้นในชีวิตของตน   เมื่อแต่ละเหตุการณ์เกิดขึ้น   โยเซฟอาจไม่สามารถเข้าใจหรือให้คำตอบได้ว่า ทำไมถึงเกิดขึ้นเช่นนั้น   แต่สิ่งที่โยเซฟและคนรอบข้างรู้และบอกได้คือ พระเจ้าทรงอยู่ด้วยกับโยเซฟในทุกสถานการณ์ชีวิต  และเป็นพระปัญญาของเขา   แต่เมื่อเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นและผ่านพ้นไปทีละเหตุการณ์  และสัมผัสการทรงสถิตอยู่และการทรงทำงานของพระเจ้าในเหตุการณ์ต่างๆ   ในที่สุดโยเซฟจึงได้เห็น สัมผัส และเข้าใจถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่เป็นเป้าหมายปลายทางในชีวิต   และด้วยการมองทุกสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นแบบ “สถานการณ์ร่วม” synergy ว่าเป็นกระบวนเหตุการณ์เดียวกัน  จึงได้เห็นพระประสงค์ใหญ่ของสถานการณ์ร่วม ดั่งคำพูดที่โยเซฟพูดกับพี่ชายของตนว่า

“...อย่าเสียใจไปเลย  อย่าโกรธตัวเองที่ขายฉันมาที่นี่  เพราะพระเจ้าทรงใช้ฉันให้มาก่อนหน้าพวกพี่...” (ปฐมกาล 45:5 ฉบับมาตรฐาน)  คุณค่าความหมายของสถานการณ์ย่อยถูกแปลเปลี่ยนและมีความหมายใหม่เมื่อมองจากพระประสงค์ของพระเจ้าที่เป็นเป้าหมายปลายทางสถานการณ์ชีวิตทั้งสิ้นของโยเซฟ   แทนที่จะมองว่าเป้าหมายที่ขายโยเซฟเพื่อขจัดโยเซฟออกไปเสียจากครอบครัว จากพ่อที่ลำเอียง   แต่กลับมองว่านี่คือ ส่วนหนึ่งในพระราชกิจที่พระเจ้า ทรงกระทำในชีวิตโยเซฟ  ตามแผนการใหญ่หรือพระประสงค์ของพระเจ้า   ดังนั้น ไม่ต้องแค้น  ไม่ต้องโกรธตนเอง  คำถามชีวิตถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

แล้วโยเซฟชี้ให้เห็นถึง  “สถานการณ์ร่วม” ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตนนั้นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าว่า “...พระเจ้าทรงใช้ฉันมาก่อนหน้าพี่ เพื่อจะได้ช่วยชีวิต...เพื่อสงวนคนที่เหลือส่วนหนึ่งบนแผ่นดินไว้ให้พวกพี่  และช่วยชีวิตของพวกพี่ไว้ด้วยการช่วยกู้อันยิ่งใหญ่” (ข้อ 5, 7)  เมื่อโยเซฟชี้ถึงพระประสงค์ซึ่งเป็นเป้าหมายทางสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นกับโยเซฟแล้ว   โยเซฟเอาเป้าหมายปลายทางนี้ไปตีความในสิ่งที่ยังค้างคาในใจของพี่ๆ ที่ขายเขาให้กับพ่อค้า  ในมุมมองใหม่และสายตาใหม่ว่า “ฉะนั้น มิใช่พี่เป็นผู้ให้ฉันมาที่นี่  แต่พระเจ้าทรงให้มา...”(ข้อ 8)

ด้วยมุมมองและรากฐานความเชื่อแบบนี้เองที่เปาโลกล่าวกับคริสตชนในกรุงโรมว่า  พระเจ้าทรงใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราแต่ละคน  แต่ละกลุ่ม  แต่ละคริสตจักร  แต่ละสถาบัน  แต่ละชุมชนให้เกิดสิ่งดีแก่บรรดาคนที่รักพระองค์ (โรม 8:28)  กล่าวคือ คริสตชนจะไม่ตัดสินหรือเข้าใจในสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นั้นๆ และ อย่างแยกส่วนจากสถานการณ์ชีวิตอื่นๆ   แต่จะรอคอยเพื่อที่จะเห็นเป้าหมายปลายทางสถานการณ์ชีวิต   เพื่อจะเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้าที่กระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา   แล้วค่อยนำเป้าหมายปลายทางนั้นมาตีความ เรียนรู้ และเข้าใจในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตที่ผ่านมา

สำหรับคริสตชนแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องตอบคำถามในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต   แต่ในทุกสถานการณ์ชีวิตเราเชื่อและยอมที่จะให้พระเจ้าทรงเสริมสร้างเราขึ้นใหม่ตามพระประสงค์ของพระองค์   เพื่อเราจะมีชีวิตที่เติบโต แข็งแรง  และเกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์   เพื่อเราจะเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้ในทุกสถานการณ์ชีวิต  และเพื่อให้เกิดสิ่งดี  ที่มิใช่เพื่อเราคนเดียว หรือ พวกเราเท่านั้น แต่สิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นกับคนที่รักพระเจ้านั้นเพื่อมวลชนตามพระประสงค์ของพระเจ้า  ดังเรื่องโยเซฟที่พระเจ้าทรงช่วยกู้ในเหตุการณ์ภัยแล้ง  มิใช่เพื่อครอบครัวใหญ่ของโยเซฟเท่านั้น  แต่เพื่อคนอียิปต์  และคนที่ภูมิภาคแถบนั้นด้วย

“ผลดี” ในที่นี้หมายความถึงอะไรกันแน่?

ที่เปาโลกล่าวว่า “...พระเจ้าทรงกระทำให้เกิดผลดี”  เรามีคำถามว่า ผลดีที่ว่านี้หมายถึงอะไรกันแน่   โดยปกติทั่วไปแล้ว  เมื่อกล่าวถึง “ผลดี” เรามักหมายถึงสิ่งดีๆ ที่เราอยากให้เกิดกับตน  สิ่งดีๆ ที่เราอยากได้   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพของเรา  ความสุข  ความสัมพันธ์ที่มั่นคง  ชีวิตที่ยืนยาว  มีเงินมีทอง  มีอาหารพอเพียงเลี้ยงครอบครัว  มีงานที่มีคุณค่าความหมายสำหรับเรา  มีที่อยู่อาศัย  มีเครื่องอำนวยความสะดวก   รวมความแล้วสิ่งดีหรือผลดีที่ว่านี้คือสภาพแวดล้อมชีวิตที่ดีที่เราอยากได้อยากเป็น   แต่อย่างไรก็ตามสิ่งดี หรือ ผลดีในชีวิตของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันออกไป

คำถามก็คือ แล้วพระคัมภีร์มองสิ่งดีหรือผลดีในชีวิตอย่างที่เรามองๆ กันตามที่กล่าวข้างต้นหรือไม่?   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระธรรมตอนนี้ “ผลดี” ที่เปาโลกล่าวถึงนั้นหมายความถึงอะไรกันแน่? ถ้าเราอ่านต่อไปอีกข้อหนึ่งเราจะพบว่า “เพราะบรรดาผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้ล่วงหน้าแล้ว  พระองค์ทรงกำหนดไว้ก่อนแล้วให้เป็นเหมือนพระบุตรของพระองค์...” (ข้อ 29 อมตธรรม)  พระธรรมข้อนี้ชี้ชัดว่า  พระเจ้าทรงกำหนดเป้าหมายปลายทางชีวิตของผู้ที่พระองค์ทรงเลือกนั้นไว้ล่วงหน้าแล้ว   และเป้าหมายปลายทางที่ทรงกำหนดนั้นจะเกิดผลดี   และผลดีในที่นี้เปาโลหมายถึง การที่มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระบุตรของพระเจ้า  นั่นคือการที่มีชีวิตเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์เป็นผลดีที่พระเจ้าทรงกระทำให้เกิดขึ้น

ในที่สุดชีวิตของเราเกิดผลดีคือมีชีวิตที่เป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ พระธรรมตอนนี้กล่าวชัดเจนว่า “พระเจ้าทรงกระทำให้เกิดผลดี”  นั่นหมายความว่า พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเราเพื่อให้เกิดผลดี  คือเพื่อให้เรามีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์”  หรือเราสามารถกล่าวในอีกนัยหนึ่งคือ  ทุกๆ อย่างที่ดึงเราให้ออกห่างหรือมีชีวิตที่แตกต่างจากพระคริสต์คือผลเลวสิ่งชั่วในชีวิตของเรา   เปาโลกล่าวชัดว่า พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในทุกๆ สิ่งให้เกิดผลดี (ข้อ 28 อมตธรรม) ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้เกิดความทุกข์ยากลำบาก  ทำให้โศกเศร้าเสียใจ ชื่นชมยินดี  หรือ ฯลฯ  มิได้หมายความว่า ผลที่ไม่ดีในแต่ละเหตุการณ์ทำให้เกิดผลดี   แต่เปาโลหมายความว่า พระเจ้าทรงกระทำกิจของพระองค์ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เกิดในชีวิตของเราจนนำไปสู่ให้เกิดผลดีคือเกิดการเปลี่ยนแปลงเติบโตในชีวิตของเราให้เป็นเหมือนพระคริสต์

ดังนั้น  ชีวิตของเราที่ต้องผ่านพบกับชีวิตที่อยู่ท่ามกลางความมืดมิดที่มีพระคริสต์กระทำกิจในชีวิตของเรา   เราเกิดการเรียนรู้จากพระเจ้ามากยิ่งขึ้น  และเราสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้นั้นเป็นความสว่างสำหรับดำเนินชีวิต  จึงไม่แปลกที่มนุษย์เรียนรู้เมื่อเจ็บป่วยมากกว่าเมื่อสุขสบาย  เราทุ่มเทอธิษฐานมากเมื่อเรากลัวมาก  เมื่อเรามีต้องการความมั่นใจมากขึ้น  และสถานการณ์ความทุกข์ยาก ความโศกเศร้า การสูญเสีย หรือประสบการณ์ที่พบว่าเราเลือกผิดพลาดในชีวิต  สิ่งเหล่านั้นจะเป็นเบ้าหลอมชีวิตของเรา  เพื่อให้เกิดผลดีในชีวิตตามพระประสงค์  และที่สำคัญคือพระเจ้าจะไม่ยอมล้มเลิกแม้เรายอมแพ้หรือล้มเลิกก็ตาม

พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา  ในขณะที่ชีวิตของเรายังขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำ   ต้องได้รับการเจียรนัยขัดเอาผิวหินออกไป  เพื่อให้เนื้อเพชรสะท้อนประกายแสงได้   พระองค์ไม่มีความประสงค์หรือตั้งใจให้เราต้องเกิดความเจ็บปวดหรือบาดแผลในชีวิต   แต่จุดประสงค์ของพระองค์คือ  ในที่สุดชีวิตของเราจะเป็นเหมือนพระคริสต์

ปัญหาใหญ่ ปัญหาหลักในความเข้าใจของเราต่อโรม 8:28 คือ  “ผลดีที่เราเข้าใจและผลดีของพระเจ้านั้นแตกต่างกัน” เราต้องการมีเงินมีทอง  เราต้องการความสุข  เราต้องการความสำเร็จในชีวิต  เราต้องการชีวิตที่สงบ  ชีวิตยืนยาว  และบอกว่าสิ่งเหล่านี้คือ “ผลดี” ในชีวิต   แต่ผลดีในความหมายของพระเจ้าคือ  ผลดีจากการที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเราผ่านทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  เพื่อเสริมสร้าง เปลี่ยนแปลงเราให้มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระบุตร  
นั่นรวมถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราด้วยหรือ?                 ใช่แล้ว
นั่นรวมถึงสถานการณ์ที่ทำให้เราเจ็บปวดบาดลึกลงในชีวิตด้วยหรือ?             ใช่แล้ว
นั่นรวมถึงเวลาที่ชีวิตของเราต้องฉีกขาดและแตกหักด้วยหรือ?                    ใช่แล้ว
นั่นรวมถึงเวลาที่เราตกลงในกับดักและกระทำบาปชั่วด้วยหรือ?                   ใช่แล้ว
นั่นรวมถึงเวลาที่เราไม่แน่ใจและสงสัยพระเจ้าอย่างมากด้วยหรือ?                ใช่แล้ว
นั่นรวมถึงเวลาที่เราต่อว่า ก่นด่า  หรือสาปแช่งพระเจ้าด้วยหรือ?                  ใช่แล้ว

เรารู้ว่า พระเจ้าประสงค์กระทำพระราชกิจในทุกสถานการณ์ชีวิตของเรา

แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็รู้ว่ามีอีกหลายอย่างเหลือเกินที่เรายังไม่รู้  แต่สิ่งที่เรารู้และมั่นใจได้คือ พระเจ้ายังสถิตใกล้ชิดเรา  พระองค์กระทำพระราชกิจในชีวิตของเราและผ่านชีวิตของเรา   และพระองค์ทรงมีพระประสงค์ในชีวิตของเราด้วย   ประเด็นที่ตามมาคือ  แล้วเราจะตอบสนองต่อพระราชกิจในชีวิตของเราอย่างไร

ไม่จำเป็นอธิบายในสิ่งที่เราไม่รู้

บางครั้งคริสตชนบางคนพยายามให้คำตอบต่อสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนหรือคนใกล้ชิด คนรอบข้าง หรือเพื่อนฝูง   เพียงเพื่อจะปกป้องพระเจ้าให้ผู้คนเห็นเชื่อพระเจ้าในเชิงบวก   ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่องนั้นๆ ที่เกิดขึ้นว่าพระเจ้ามีพระประสงค์อะไร   การพยายามตอบคำถามที่เราไม่รู้ไม่มีคำตอบเพียงเพื่อปกป้องพระเจ้าเป็นความคิดและแนวทางการกระทำที่ผิดพลาด   หรือพูดตรงๆ ว่า เราไม่ต้องพยายามปกป้องพระเจ้า

แท้จริงแล้วเราเป็นเหมือนเด็กที่มองหน้าคุณพ่อ   เป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้และเข้าใจทั้งหมดว่าคุณพ่อคิดอะไร  อย่างไร  แค่ไหน  และมีแผนการอย่างไรในแต่ละสถานการณ์ชีวิต   แต่เรามั่นใจว่า พ่อของเรามีสติปัญญาและเชื่อมั่นว่าจะตอบสนองสถานการณ์ต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ให้เกิดผลดี   แต่สิ่งที่เรารู้อย่างมั่นใจคือพ่อรักเราและอยู่กับเราในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สิ่งที่เราจะตอบคนต่างๆ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตให้เราตอบเฉพาะที่เรารู้และมั่นใจเท่านั้น   สิ่งที่ไม่รู้ก็บอกตรงๆ ว่าไม่รู้ แต่บอกเขาถึงความมั่นใจของเราว่าสิ่งที่แน่นอนคือในทุกสถานการณ์พระเจ้าอยู่ด้วย

คุณค่าในสายพระเนตรของพระเจ้ากับระบบคุณค่าของเรา

ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า  บ่อยครั้งที่เราไม่เข้าใจอะไรเอาเสียเลย  และระบบที่เรายึดถือและใช้ในชีวิตปัจจุบันนี้ของเราอาจจะแตกต่างจากระบบคุณค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า   เราต้องชัดเจนว่า  เรามิได้สรรเสริญพระเจ้าเพราะเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา   แต่ที่เราสรรเสริญพระเจ้าเพราะท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายในชีวิตของเรา  พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตที่ประสบความมืดมิดของเราให้เกิดผลดี   จากโรม 8:28 ให้บทเรียนสำคัญแก่เราว่า  ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา  ไม่ว่ามันจะเลวร้ายสักปานใด  ไม่ว่าเราได้รับการกระทำที่ไม่เป็นธรรมแค่ไหนก็ตาม  พระเจ้าทรงอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเหล่านั้นกับเราด้วย  พระองค์มิได้ทอดทิ้งเรา   พระองค์อยู่กับเราและทำพระราชกิจตามพระประสงค์ของพระองค์ท่ามกลางสถานการณ์ที่มืดมิด   และความมืดมิดดังกล่าวจะกลับกลายเป็นความสว่างในชีวิตของเราในที่สุด

คริสตชนไม่จำเป็นจะต้องตอบทุกคำถามในชีวิตที่กำลังประสบความทุกข์ยากลำบาก แต่ให้เราตอบคำถามที่สำคัญคือ  พระเจ้าอยู่ไหนเมื่อเรายากลำบาก?  คำตอบคือพระเจ้าอยู่ด้วยกับเราในทุกความทุกข์ยากลำบาก  และพระองค์รู้ว่าพระองค์จะทำอะไรอย่างไรในสถานการณ์นั้น   และเรารู้และมั่นใจว่าพระองค์จะทรงกระทำให้เกิดผลดีตามพระประสงค์ของพระองค์   นั่นก็เป็นคำตอบที่เพียงพอในชีวิตของเราแล้ว! 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น