06 มิถุนายน 2555

จะรัก หรือ เรียกร้อง(สิทธิ): “คุณจะยอมให้ถูกเอาเปรียบหรือ?”


ความคิดเรื่องประชาธิปไตยตามกระแสสังคมผลประโยชน์นิยมตามอิทธิพลของบริโภคนิยมในปัจจุบัน   ทำให้คริสตชนต้องกลับมาทบทวนและใคร่ครวญตนเองว่า บนรากฐานแห่งความเชื่อศรัทธาของเราอะไรคือจุดยืนของเราในการดำเนินชีวิตคริสเตียนในสังคมโลกนี้

ประเด็นหนึ่งที่พึงนำมาพิจารณาคือ “จะรักเมตตาหรือจะเรียกร้อง(สิทธิ)” แท้จริงแล้วในฐานะคริสตชนเราเชื่อว่า “สิทธิ” เป็นของประทานจากพระเจ้ามิใช่ “เป็นสิ่งที่เรามีเอง”   ปัจจุบันเรามักเข้าใจว่า “สิทธิ(เป็น)ของเรา”  เราต้องเรียกร้องทวงคืนมาถึงจะมีความยุติธรรม   ดังนั้น เราจึงมักแยกเรื่องสิทธิ(ของ)เรา ออกจากความรักเมตตาของพระเจ้า ที่เราพึงมีพึงให้ตามคำสอนของพระคริสต์   แต่เรามักไปยึดเอาหลักคิดประชาธิปไตยแบบผลประโยชน์นิยมสำคัญผิดคิดว่าเป็นหลักยึดทางความเชื่อของคริสตชน   ดั่งตัวอย่างในเรื่องของ เอซาวกับยาโคบ ที่เกิดการขายสิทธิบุตรหัวปี(ปฐมกาล 25:27-34)   ซึ่งเป็นสิทธิของเอซาวที่ได้แต่กำเนิด   เป็นสิทธิที่ได้จากเบื้องบนที่เอซาวจะต้องเป็นผู้ดูแลเอาใจใส่คนในตระกูลและสืบทอดตระกูลต่อไป   แต่เพราะความหิวและความอยากและขาดความอดทนในชีวิตจึงถูกหลอกล่อจากยาโคบผู้เป็นน้องที่เสนอซื้อขายแลกเปลี่ยนสิทธิบุตรหัวปีกับถั่วแดงต้มร้อนๆ เพียงถ้วยเดียว

ทั้งสองคนมีส่วนที่ควรได้รับคำประณาม ที่มิได้เห็นคุณค่าของสิทธิที่เป็นของประทานจากเบื้องบน และ มิได้เคารพต่อผู้ประทานสิทธินี้แก่ตน  จึงเกิดการซื้อ-ขายสิทธิขึ้น  และการซื้อ-ขายสิทธิครั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ   ผลประโยชน์ของเอซาวดูจะเป็นผลประโยชน์ใกล้ตัวระยะสั้นคือความหิวจะได้รับการเติมเพิ่มด้วยถั่วแดงต้มและขนมปัง   ในขณะที่ยาโคบมองว่าสิทธินี้จะทำให้ตนมี “อำนาจ” ในการปกครองตระกูล และ ครอบครองทรัพย์สินผลประโยชน์ที่มากกว่า   ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ยาโคบช่วงชิงโอกาสในขณะที่พี่ชายหิวและอยาก  โดยการเสนอข้อแลกเปลี่ยนซื้อขายสิทธิครั้งนี้   จะว่าไปก็ดูเหมือนว่ายาโคบเป็นคนที่ฉลาด(แกมโกง)กว่า  ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะผู้นำที่คนยิวนิยม  อย่างที่คนไทยบางกลุ่มนิยมชมชอบคนอย่างศรีธนญชัย ก็อาจเป็นไปได้   แต่ในฐานะคริสตชนผมยอมรับไม่ได้  ผมหมายความว่า พระเยซูคริสต์ได้เห็นต่างในเรื่องนี้

คำสอนชุดแรกในพระกิตติคุณมัทธิว 5:38-48 ได้บันทึกว่า

“ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า ตาแทนตา ฟันแทนฟัน 
ส่วนเราบอกพวกท่านว่า อย่าต่อสู้คนชั่ว
     ถ้าใครตบแก้มขวาของท่าน  ก็จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาด้วย
     ถ้าใครต้องการจะฟ้องศาล เพื่อจะปรับเอาเสื้อของท่าน  ก็จงสละเสื้อคลุมให้เขาด้วย
     ถ้าใครจะเกณฑ์ท่านให้เดินทางไปหนึ่งกิโลเมตร  ก็ให้เลยไปกับเขาถึงสองกิโลเมตร
     ถ้าเขาขอสิ่งใดจากท่านก็จงให้  อย่าเมินหน้าจากผู้ที่ต้องการขอยืมจากท่าน”  (5:38-42 ฉบับมาตรฐาน)

แทนที่จะสนใจและให้ความสำคัญกับสิทธิอันพึงจะมีของเรา  บนรากฐานของพระคัมภีร์เราต้องไม่ลืมหรือละเลยการที่มีความรักเมตตาต่อคนที่เอาเปรียบ หรือ ศัตรูคู่กัดของเรา  และพร้อมที่จะให้อภัยแก่คนที่ข่มเหงเรา  พระคริสต์สอนว่า “แต่เราบอกพวกท่านว่า จงรักศัตรูของท่าน  และจงอธิษฐานเพื่อบรรดาคนที่ข่มเหงพวกท่าน” (5:44

คริสตชนต้องรู้จักที่จะ “ปล่อย” และ “วาง” สิทธิแห่งตนเองลง  แต่ควรยึดถือความสัมพันธ์และการดำเนินชีวิตในฐานะประชากรแห่งแผ่นดินของพระคริสต์   แต่นี่มิได้หมายความว่าเราเห็นด้วยหรือยอมให้มีการเหยียบย่ำ เอาเปรียบ ทำร้ายคนจนคนเล็กน้อยในสังคม   แต่ประเด็นในที่นี้คือ เราจะมีท่าทีและตอบสนองต่อคนเช่นนั้นอย่างไรต่างหาก   เราจะตอบสนองคนเหล่านี้ตามหลักการในพระคัมภีร์ได้อย่างไร   กล่าวคือ คริสตชนมิใช่ผู้ตัดสินพิพากษาลงโทษความผิดของคนอื่นแต่ในสถานการณ์ที่ขาดแคลนความรักเมตตาเช่นนี้  คริสตชนควรเป็นผู้สำแดง หยิบยื่น และเติมเต็มความรักของพระเจ้าในสถานการณ์ดังกล่าวมากกว่าการยืนขึ้นเรียกร้องสิทธิของตน

หลายคนคงตะโกนในใจดังๆ ว่า “ทำอย่างงี้แล้วอ้ายพวก...นั้นมันจะได้รู้ตัวและสำนึกผิดได้อย่างไรล่ะ?”  บอกตามตรงนะครับ  ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จะทำให้คนที่เราไม่ชอบเหล่านี้รู้ตัวสำนึกอย่างไร   แต่ผมรู้แน่แก่ใจว่า หนึ่ง ผมมิใช่ผู้ที่จะพิพากษาตัดสินเขา นั่นเป็นหน้าที่ของพระเจ้า  อีกอย่างหนึ่ง  ผมไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปเปลี่ยนความคิดของเขา   นอกจากพระเจ้าอีกเช่นกัน   แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้คือจากรูปแบบชีวิตของพระคริสต์   เมื่อพระองค์ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกทำร้ายและทำลายจากศัตรูของพระองค์  เมื่อพระองค์ถูกสาวกของพระองค์ละทิ้ง  ถูกศิษย์โปรดหัวแก้วหัวแหวนปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง   ถูกขายโดยสาวกวงในของพระองค์เอง  ถูกตอกตรึงบนกางเขน   สิ่งที่พระองค์ตอบโต้คือ อธิษฐานเพื่อคนเหล่านี้ว่า “...โปรดยกโทษพวกเขา” (ลูกา 23:34)

แต่คงมีบางท่านสวนแย้งแสกหน้าไร้สำเนียงในความคิดว่า “ที่พระเยซูทำเช่นนี้ได้เพราะพระองค์ไม่ได้เป็นเพียงปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราเท่านั้นนี่”  ใช่ครับ ถ้าโดยลำพังในความเป็นมนุษย์ของพระองค์ย่อมทำเช่นนี้ไม่ได้ครับ   แต่เราท่านมิได้เป็นเพียงปุถุชนคนธรรมเท่านั้นนะครับ   คริสตชนมีพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงพร้อมกระทำพระราชกิจภายในชีวิตของเราด้วยครับ  อยู่ที่ว่าเราจะยอมทำตามการทรงนำแห่งพลังของพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือไม่   เราต้องไม่ลืมว่า พระองค์พร้อมและประสงค์ทำพระราชกิจในชีวิตของเรา และ ผ่านชีวิตของเราครับ

พระกิตติคุณลูกา 6:29 ได้บอกกับเราว่า  การที่เราสามารถหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้กับศัตรูของเรานั้นเพราะเรารักเมตตาศัตรูของเรา “จงรักศัตรูของท่าน และทำดีแก่คนที่เกลียดชังท่าน” (ข้อ 27)   นั่นคือ ให้สำแดงความรักมิใช่เรียกร้องตามสิทธิ  การที่เราให้ความรักมอบความเมตตาสำแดงความกรุณาเราไม่ได้สูญเสียอะไร   แต่สิ่งที่จะได้คือพระพรของพระเจ้า  และหวังอย่างยิ่งว่าผู้คนจะได้สัมผัสกับความรักของพระคริสต์  นั่นคือจุดเริ่มในการเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมและชุมชนครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น