31 ธันวาคม 2558

เมื่อชีวิตแสวงหาคุณค่าและความหมาย (2)

บทสะท้อนย้อนคิดเมื่อกำลังจะสิ้นสุดปี ค.ศ. 2015

ผมรู้อยู่ในใจนะครับว่า การที่จะเป็นคนที่พระเจ้าใช้ได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ผมจะทำอะไร  ผมจะทำอย่างไร
แต่ขึ้นอยู่กับว่า  ผมมีชีวิตเช่นไรต่างหากที่เป็นทุนเริ่มต้นในการรับใช้พระเจ้า

ผมรู้ลึกในจิตใจตนเองว่า   ความสำเร็จในชีวิตของผมขึ้นอยู่ว่า  ผมได้ทำตามพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของผมหรือไม่อย่างไร   และ

การที่ผมจะรู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์ก็ขึ้นอยู่กับชีวิตของผมว่าติดสนิทแนบกับพระเจ้าหรือไม่แค่ไหน  
เพราะสิ่งที่รู้และมีประสบการณ์ที่ได้รับจากพระองค์จะช่วยให้ผมตระหนักรับรู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์  

และการที่ผมจะทำตามพระประสงค์ของพระองค์ได้นั้นผมจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตที่เป็นอยู่ขึ้นใหม่ให้เป็นอย่างพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน  

เพื่อผมจะสามารถมองเห็น  เข้าใจ และวิเคราะห์ออกได้ว่า   พระวจนะและพระราชกิจของพระเจ้านั้นตอบโจทย์ชีวิตและสถานการณ์รอบข้างที่ผมกำลังเผชิญอยู่อย่างไรบ้าง  

และนี่คือจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง และความตระหนักเข้าใจของผมใหม่ในพระประสงค์ของพระองค์  
เพื่อสร้างให้ผมสามารถรับใช้พระองค์ตรงตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้
ในพระธรรมโรม 8:28-29 ได้สรุปเรื่องพระประสงค์ของพระเจ้าในแต่ละตัวคนไว้ว่า...

28 เรา​รู้​ว่า​เหตุ​การณ์​ทุก​อย่าง​ร่วม​กัน​ก่อ​ผล​ดี​แก่​คน​ที่​รัก​พระ​เจ้า คือ​แก่​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​พระ​องค์​ทรง​เรียก​ตาม​พระ​ประ​สงค์​ของ​พระ​องค์ 29 เพราะ​ว่า​ทุก​คน​ที่​พระ​องค์​ได้​ทรง​เลือก​ไว้​แล้ว พระ​องค์​ทรงกำหนดไว้​ก่อน​ให้​เป็น​ตาม​พระ​ฉายา​แห่ง​พระ​บุตร​ของ​พระ​องค์ เพื่อ​พระ​บุตร​นั้น​จะ​ได้​เป็น​บุตร​หัว​ปี​ท่ามกลาง​พี่​น้อง​จำนวน​มาก (โรม 8:28-29 มตฐ.)

ประเด็นสำคัญในพระธรรมตอนนี้มีดังนี้

พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่แน่นนอนและชัดเจนสำหรับแต่ละคน   พระธรรมตอนนี้บอกชัดว่า  “พระองค์ทรงเรียก(แต่ละคน)ตามพระประสงค์”   พระองค์ต้องการที่จะทำพระราชกิจในชีวิตของแต่ละคน

เพราะพระประสงค์ของพระเจ้าเราจึงได้รับการทรงเปลี่ยนแปลงให้มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระเยซูคริสต์   นี่ก็กล่าวอย่างชัดเจนในพระธรรมตอนนี้ว่า “พระองค์ทรงกำหนดไว้ก่อนให้เป็นตามฉายาแห่งพระองค์”   กล่าวคือพระเจ้าต้องการเปลี่ยนชีวิตที่เราเป็นอยู่ให้เป็นชีวิตเหมือนพระคริสต์   พระองค์ทรงกระทำพระราชกิจแห่งการเปลี่ยนชีวิตของเราท่าน คนรับใช้ของพระองค์ ให้มีชีวิตเป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน

พระเจ้าทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ในพระประสงค์ของพระองค์   ในพระคัมภีร์ตอนนี้ใช้คำที่แรงชัดคือ “พระองค์ทรงกำหนดไว้ก่อน”   หมายความว่า ไม่ว่าเราจะตกอยู่ในสภาพชีวิตเช่นไร   พระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจตามวิถีทางของพระองค์เพื่อเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างให้เรามีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น   พระองค์ทรงกระทำพระราชกิจนี้อย่างไม่ย่อท้อ  บากบั่น  และพากเพียร   อะไรก็ตามที่เป็นน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์แล้ว  พระองค์จะทรงกระทำให้บรรลุสำเร็จ

อิสยาห์ 46:9-10 
9 ​....  เรา​เป็น​พระ​เจ้า และ​ไม่​มี​ใคร​เป็น​เหมือน​เรา
 10 ผู้​แจ้ง​ตอน​จบ(เป้าหมายปลายทาง)​ให้​ทราบ​ตั้ง​แต่​เริ่ม​ต้น
และ​แจ้ง​สิ่ง​ที่​ยัง​ไม่​ได้​ทำ​นั้น​ให้​ทราบ​ตั้ง​แต่​อดีต​กาล(เริ่มต้น)
ทั้ง​กล่าว​ว่า แผน​งาน​ของ​เรา​จะ​ยั่งยืน
และ​เรา​จะ​ทำ​ทุก​สิ่ง​ตาม​ความ​ประ​สงค์​ของ​เรา

เราท่านต้องตระหนักและจำไว้เสมอว่า   พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่ตั้งพระทัยแน่วแน่ในพระประสงค์ที่ชัดเจนของพระองค์   ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงมุ่งมั่นและยืนหยัดในแผนงานแห่งการเปลี่ยนแปลงและสร้างชีวิตของเราแต่ละคนให้เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน   เพื่อเราจะเป็นคนหนึ่งที่พระองค์ทรงใช้ทำพระราชกิจตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ให้ลุล่วงสำเร็จตามที่พระองค์ทรงกำหนดไว้แล้ว

พระประสงค์สูงสุดของพระเจ้า คือการให้ความหมายแก่ทุกสถานการณ์ที่เผชิญในชีวิต  ในโรม 8:28 คำว่า “เหตุการณ์ทุกอย่าง” นี้หมายถึงทั้งเหตุการณ์ที่ดี และรวมถึงสถานการณ์ที่แย่เลวร้ายด้วยเช่นกัน  และพระธรรมตอนนี้บอกแก่เราด้วยว่า   แม้ในเหตุการณ์วิกฤติสุด ๆ ในชีวิตของเรา หรือ ในเหตุการณ์ที่เราต้องสูญเสียครั้งใหญ่หลวงในชีวิต  หรือโศกนาฏกรรมใด ๆ พระเจ้าทรงอยู่ที่นั่นที่จะช่วยให้เราค่อย ๆ เข้าใจถึงความหมายในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น   และนี่คือการที่ได้รับการประเล้าประโลมใจจากพระเจ้าโดยตรง  

“เหตุการณ์ทุกอย่าง” ในที่นี้หมายถึงทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา  ไม่ว่าจะดีหรือเลวร้าย  ที่บังเกิดขึ้น ปรากฏขึ้น  เพื่อใช้เป็นโอกาสในการที่พระเจ้าใช้เปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่   พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเราผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราต้องเผชิญ   เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงและสร้างเสริมเราขึ้นใหม่ให้เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น ๆ ดังนั้น  แม้เมื่อใดก็ตามที่ชีวิตของเราต้องประสบพบเจอกับเหตุเลวร้าย   เราจะไม่ประหวั่นพรั่นพรึง วุ่นวายใจ สับสน หนี และท้อแท้ต่อไป   เพราะเรารู้แล้วว่าในเวลานั่นพระเจ้าอยู่กับเราที่นั่น   สำคัญยิ่งกว่านั้น  เป็นเวลาที่พระเจ้าจะทรงเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างเราขึ้นใหม่ให้มีลักษณะของผู้รับใช้พระเจ้าที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป

พระประสงค์ของพระเจ้าเป็นสิ่งดีมีพระพรในชีวิตของเรา   ไม่ว่าเราจะย่างก้าวเข้าสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นไรแบบไหน  พระเจ้ามีพระประสงค์ให้เกิด “สิ่งดี  ก่อเกิดผลดี” ขึ้นในชีวิตของเรา   ถึงแม้มิใช่ทุกสถานการณ์เป็นเหตุการณ์ที่ดีที่พึงประสงค์เสมอไป   การสูญเสียชีวิต  โศกนาฏกรรม   ความเจ็บป่วยรุนแรง  ภัยพิบัติหายนะ  และเหตุการณ์ที่ประหวั่นพรั่นพรึงต่าง ๆ   พระเจ้าไม่ได้มองว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่ดี เป็นสิ่งที่ดี ในสายพระเนตรของพระองค์   แต่พระเจ้าสัญญาว่า สิ่งดีสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์เมื่อเหตุการณ์นั้นเชื่องโยงสัมพันธ์กับพระประสงค์สูงสุดของพระเจ้า   พระเจ้าทรงสามารถทำให้เกิดสิ่งดีในสถานการณ์ชีวิตที่เลวร้ายที่เราประสบ   ด้วยการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างเราขึ้นใหม่ให้เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น   เพื่อเราจะมีพลังที่จะกระทำ มีชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายให้เกิดสิ่งดีตามที่พระเจ้าประสงค์และอวยพระพร   และนี่คือข่าวดีของพระคริสต์   ข่าวดีพระคริสต์ที่ตอบโจทย์ในชีวิตของเราในทุกสถานการณ์ และ ในปัจจุบันขณะ

เมื่อสะท้อนย้อนคิดผมพบสัจจะความจริงด้วยว่า   เมื่อคนอื่นตกอยู่ในสถานการณ์ชีวิตที่ย่ำแย่เลวร้าย   แล้วเราตั้งใจมุ่งมั่นอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนนั้น   ผมพบว่า พระเจ้าทรงใช้เหตุการณ์นั้นที่จะเปลี่ยนแปลงและสร้างเสริมชีวิตผมขึ้นใหม่ให้เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นด้วยครับ!   มากกว่านั้น เพื่อนคนนั้นได้สัมผัสกับพระคริสต์ในวิกฤติชีวิตของเราด้วยครับ!  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เมื่อชีวิตแสวงหาคุณค่าและความหมาย (1)

บทสะท้อนย้อนคิดเมื่อกำลังจะสิ้นสุดปี ค.ศ. 2015

ผมจำได้ว่า  เมื่อสมัยยังเป็นนักเรียนโรงเรียนพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ หรือที่มักเรียกติดปากกันว่า “พระคริสต์ธรรมเชียงใหม่”   แล้วต่อมาเรียกว่า “พระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี”  ล่าสุดเรียกว่า “วิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี”  มหาวิทยาลัยพายัพ เอาเถอะ  จะชื่ออะไรก็ตาม...เชิญเปลี่ยนได้ตามสะดวกใจ ถ้าอยู่ในอำนาจของคุณ! 

ตอนที่ผมเรียนที่นั่น   ผมมีความคิดความปรารถนาที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้  

แต่เมื่อกำลังจะจบ  ผมมีความตั้งใจและปรารถนาลดลงมาเป็นผมต้องการเปลี่ยนสังคมไทย  

แต่เมื่อออกมาทำงานอภิบาลสักพักใหญ่   ผมเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ผมปรารถนาตั้งใจจะทำให้ได้คือปฏิรูปคริสตจักร(โดยเฉพาะคริสตจักรในสังกัดสภาคริสตจักรในประเทศไทย)  

แต่เมื่ออายุเลย 35 ใช้ชีวิตฝังตัวทำงานในชุมชน   ผมเริ่มเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากชุมชน  

แต่เมื่ออายุ 45 ก็พบว่า  การเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนที่คน/กลุ่มคนกลุ่มเล็ก ๆ ในชุมชน   ชุมชนต้องจัดการตนเองให้ได้ก่อน   แล้วค่อยไปจัดการขนาดกลุ่ม/ชุมชนที่ใหญ่ขึ้นไป  

แต่พอเมื่ออายุ 59-60 ผมพบว่า ผมจะต้องเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่ตนเองก่อน  

ใช่ครับ...!  มาพบว่าตนเองเป็นตัวปัญหา? (เป็นไปได้ยังไงนี่?)  

ตอนนี้ 63 ย่างเข้า 64  กำลังถามตนเองว่า   เมื่อความคิดที่จะเปลี่ยนคนอื่นมาพลิกเป็นเปลี่ยนตนเองแล้วใครจะเปลี่ยนเรา?  

แต่เมื่อสะท้อนคิดก็พบความจริงค่อนข้างชัดว่า  เรามักไม่ค่อยยอมเปลี่ยนตนเองหรอก   แต่เราพยายามที่จะ “เพิ่ม” คุณค่าแก่ตนเองมากกว่า   เลยต้องแสวงหาทำโน่นทำนี่   ชิงตำแหน่งนั้น  รับปริญญานี้   เพื่อที่จะเพิ่มคุณค่า และ แสวงหาความหมายให้กับชีวิตของตนเอง  

เสียงหนึ่งถามขึ้นในความคิดว่า “แล้วพบไหม?”  ผมเลยสวนกลับไปทันควันว่า “ก็กำลังหาอยู่...ไม่รู้รึ?... ถามไปทำไม?”

ใช่สินะ...   ผมเพิ่งอธิษฐานขอพระเจ้านำสำหรับปณิธานของปีใหม่ 2016   แต่เมื่อกลับมาสะท้อนย้อนคิดก็พบว่า   ปณิธานของเราก็คือ  สิ่งสำคัญที่จะทำในปีที่เข้ามาเผชิญหน้ากับเราไร้ทางเลี่ยง   แต่ผมดีกว่าหน่อยหนึ่งนะ   ปณิธานของผม เป็นสิ่งที่ผมอยากจะทำในสิ่งที่พระเจ้ามีแผนการ หรือ พระประสงค์ในชีวิตของผมนะ

มีแต่ความเงียบ...   ไม่มีเสียงมารบกวนใจ...   คิดในใจว่า “อยู่หมัดล่ะ”

มีเสียงที่นิ่มนวลผุดขึ้นว่า...  “แล้วที่ว่านั่น  มันเป็นวิธีการหนึ่งที่จะเพิ่มคุณค่าของตนเองต่อหน้าพระเจ้าหรือไม่?   เป็นการปลอบใจตนเองหรือไม่?  

ผมเริ่มหงุดหงิด... “แล้วจะเอาอะไรกับผม?  แล้วจะทำอย่างไรกับผม?”  

“ฟังนะ...  เราจะถามและขอเจ้าตอบด้วย... “พระเจ้ามีแผนการ และ พระประสงค์เฉพาะเจาะจงในชีวิตของท่านแน่   แต่ชีวิตที่ท่านเป็นอยู่ในขณะนี้... พระองค์จะใช้ท่านตามแผนการและพระประสงค์ได้ไหม?”

“เออวะ...  จริง!...  แต่ถามตรงถามแรงนะพระเจ้า”   ผมตอบเสียงนั้นด้วยเสียงอ่อย ๆ ทางความนึกคิด... 


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ถ้าท่านต้องการ...

ถ้า...
ท่านประสงค์
หญิงพรหมจารีจะมาเดินบนเส้นทางชีวิตของท่าน
หญิงพรหมจารีที่ตั้งท้องด้วยเดชพระวิญญาณ
แล้วเธอจะกล่าวกับท่านว่า...

“ฉันต้องการชายคาคุ้มหัวในค่ำคืนนี้
โปรดนำฉันเข้าใต้ชายคาของท่าน
เข้าใต้ชีวิตจิตใจของท่าน
เวลาคลอดลูกของฉันใกล้เข้ามาเต็มทนแล้ว

จากนั้น... ภายใต้ชายคาแห่งชีวิตจิตใจของท่าน
ท่านจะพบ...
การปัดกวาดทำความสะอาด
การติดสนิทใกล้ชิดเพิ่มทวีมากขึ้น
พระคริสต์องค์สูงสุดจะคลอดใต้ชายคาบ้านแห่งชีวิตจิตใจของท่าน
และจะอยู่ในชีวิตจิตใจของเราตลอดไป

เมื่อหญิงสาวพรหมจารีจับมือของท่านแน่น 
เพื่อให้ท่านช่วยเหลือเธอที่กำลังคลอดบุตร
เราแต่ละคนเป็นหมอตำแยของพระเจ้า

ใช่ ณ ที่นั่น...
ภายใต้ชายคาแห่งชีวิตจิตใจของท่าน
ภายใต้สภาพแวดล้อมในชีวิตของท่าน
ชีวิตของทารกน้อยปรากฏแจ้งออกมาในชีวิตประจำวันของท่าน

ท่านผู้จาริกไปบนเส้นทางชีวิต...
นี่คือความล้ำลึกของมดลูกแห่งจิตวิญญาณของท่าน
เมื่อพระเจ้าทรงกำมือของท่านแน่นเพื่อขอความช่วยเหลือจากท่าน
ท่านแต่ละคนก็เป็นคนรับใช้ที่พระองค์ทรงรักยิ่ง
ในเวลาเช่นนั้น...
อย่าอยู่ห่างจากพระองค์

ถ้าท่านต้องการ...
หญิงพรหมจารีจะเข้ามาในเส้นทางชีวิตของท่าน
หญิงสาวที่ตั้งครรภ์...
แห่งความสว่าง และ
ความชื่นชมยินดีแห่งชีวิต        

เรียบเรียงเขียนใหม่จากการอ่านข้อเขียนของท่านยอห์นแห่งกางเขนเรื่อง “IF YOU WANT”

โปรดอ่านบทคิดข้อเขียนนี้อย่างช้า ๆ  ด้วยจิตใคร่ครวญ   เพื่อจะสัมผัสกับการทรงสำแดงของพระเจ้าถึงความล้ำลึกของมดลูกแห่งจิตวิญญาณของท่าน 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

พระเจ้าแห่งสามัญธรรมดา

การมาบังเกิดของพระคริสต์   เป็นการที่พระเจ้าทรงเปิดเผยและสำแดงพระองค์ในสภาพชีวิตเยี่ยงมนุษย์สามัญชนคนธรรมดา  และดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัวสามัญชนคนยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในเวลานั้น   อยู่ในบ้านและชุมชนของคนธรรมดา   อยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจเผด็จการทหารโรมัน  และพวกเฮโรดขายชาติในเวลานั้น   ด้วยเหตุนี้ผู้คนส่วนใหญ่จึงมองข้ามพระเจ้าที่ทรงสำแดงพระองค์   คนทั้งหลายจะมองไม่เห็นพระเจ้าที่มาอยู่กับเขาในสภาพมนุษย์สามัญชนคนธรรมดาส่วนใหญ่ที่ต่ำต้อยยากจนดูเหมือนไร้อำนาจ   เพราะพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ที่แตกต่างจากที่มนุษย์ส่วนใหญ่คาดหวัง   พระองค์ไม่ได้ทำตามสิ่งที่มนุษย์ต้องการเห็น  

พระเจ้าจะมาเกิดเป็นคนธรรมดาสามัญ  และในชุมชนคนต่ำต้อยเล็กน้อยได้อย่างไร

การที่มารีย์และโยเซฟ เป็นคนยากจนสามัญชนธรรมดา   ที่ยอมตนตามพระประสงค์ของพระเจ้า   ยอมร่วมในกระบวนแห่งพระราชกิจของพระเจ้า   ที่ต้องกระทำงานนี้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก   ทำให้เราตระหนักคิดได้ว่า   การที่พระเจ้าทรงปรากฏพระองค์ท่ามกลางความยากจนข้นแค้นลำบากเช่นนี้เป็นเหมือนแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิดสนิทที่มองไม่เห็นอะไร   เพราะผู้คนไม่คิดว่าตนจะเห็นอะไรได้

การที่คนเลี้ยงแกะ  คนบ้านนอกคอกนา  คนที่ไม่มีความรู้  ไม่มีฐานะ กลับกลายเป็นคนกลุ่มแรกที่สุด  ที่ได้รับการเปิดเผยแจ้งข่าวยิ่งใหญ่แห่งพระราชกิจของพระเจ้า   คือการมาเกิดของพระคริสต์ในโลกนี้   แม้จะเป็นเรื่องที่เขาไม่คาดคิดมาก่อน   แต่พระเจ้าเห็นถึงความสำคัญยิ่งของพวกเขา   และที่เขาได้รับรู้ข่าวดีนี้จากทูตสวรรค์เพราะ “เขาตื่นรู้ในเวลานั้น”   เตือนเราให้ระมัดระวังว่า ชีวิตของเราต้องตื่นรู้เสมอ   และเมื่อ “ข่าวดี” จากพระเจ้าปรากฏขึ้นในถิ่นทุรกันดารแล้งแห้งแห่งชีวิตของเรา   เราจะได้ตื่นรู้และชื่นชมยินดีอย่างคนเลี้ยงแกะในครั้งนั้น   แล้วเราจะได้เข้าไปนมัสการพระกุมารในคอกเลี้ยงสัตว์ที่ผู้คนเดินผ่านไปมาไม่สนใจ และ เมินหนีด้วยซ้ำ

ความจริงที่นักปราชญ์คนต่างชาติที่พวกยิวมองด้วยสายตาที่เหยียดหยาม   ที่เป็นพวก “มิได้รับสุหนัต”  พวกที่ไม่ได้อยู่ใต้ร่มแห่งพระพรของพระเจ้า  เป็นผู้รู้นักปราชญ์ที่ได้รับการทรงเปิดเผยทาง “ดวงดาว” ผ่านความรู้ในศาสตร์ที่พวกเขาร่ำเรียน   แต่กลับมิใช่พวกปุโรหิต  ธรรมมาจารย์  อาลักษณ์  ฟาริสี  หรือนักการเมืองอย่างพวกสะดูสี  หรือ ไม่มีแม้แต่ตัวแทนในสภา (ซันเฮ็ดริน)   สิ่งนี้เตือนเราให้ระมัดระวังที่มั่นใจเกินจริงว่า “ชีวิตของเรารอดแล้ว”   “สำคัญผิดคิดว่าตนเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้”   แต่พระเจ้ากลับไปใช้คนนอกรีต  ในงานสำคัญยิ่งของพระองค์   พระองค์กลับไม่ทรงใช้เรา?

พระเจ้าแห่งสามัญชน   และที่สำคัญพระองค์ทรงใช้คนธรรมดาสามัญในการสานต่อพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์   แต่ในขวบปีที่ผ่านมา   เรามักพบแต่คนที่พยายามที่จะหาทางทำตนเป็นคนสำคัญ  คนมีตำแหน่งสูง ๆ   แล้วอ้างว่าเพื่อที่จะรับใช้พระเจ้า   ไม่เป็นศาสนาจารย์ก็รับใช้พระเจ้าได้ครับ   ไม่ได้เป็นผู้บริหารสภาฯ ก็รับใช้พระเจ้าได้ครับ   ไม่ได้เป็นกรรมการอำนวยการก็รับใช้พระเจ้าได้ครับ   อย่าอ้างว่าถ้าได้ตำแหน่งสูง  มีอำนาจ  มีหน้าที่แล้วจะทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ ได้  ไม่จริงครับ  โกหกตนเองทั้งสิ้น

ที่แน่ชัดคือ  พระคริสต์มาบังเกิดเป็นสามัญชน  อยู่กับสามัญชน  และเป็นสามัญชน   ถ้าเราท่านต้องการพบพระคริสต์เราต้องกลับคืนสู่สามัญชนเพื่อที่จะพบเห็นพระองค์ในชีวิตและในชุมชนของสามัญชน

แม่ชีเทเรซา  เคยกล่าวไว้ว่า...
“ในพิธีมหาสนิทฉันเห็นพระคริสต์ในขนมปัง
ในสลัมฉันเห็นพระคริสต์ในคนจนที่เปล่าเปลือยและถูกทอดทิ้ง
สำหรับฉันพิธีมหาสนิทและคนจนเป็นคนรักคนเดียวกัน
ในสวรรค์เท่านั้นที่เราจะรู้ว่าเราเป็นหนี้คนจนมากมายเพียงใด
ที่พวกเขาช่วยให้เรารักพระเจ้าได้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
เป็นการง่ายที่จะรักคนที่อยู่ไกล
ยิ่งเป็นการง่ายกว่าที่จะให้ข้าวสักชามหนึ่งแทนการช่วยบางคนในบ้าน...
ให้พ้นจากความว้าเหว่ เดียวดาย  และความเจ็บปวดที่ไม่มีใครรักเขา”...

ปีใหม่นี้  เราท่านพร้อมที่เป็นอย่างพระคริสต์ไหม?   เราจะมีชีวิตอย่างสามัญชนคนยากจนทั่วไปได้หรือไม่?   แต่แม่ชีเทเรซาพูดไว้อย่างชัดเจนว่า   “รักพระเยซูท่ามกลางประชาชน   รับใช้พระองค์ท่ามกลางมวลชน   รักแท้นั้นเจ็บปวดเสมอ   นั่นจะเป็นรักแท้และบริสุทธิ์...”

พระคริสต์มาเกิดเป็นสามัญชน   กำลังอยู่กับสามัญชน   ท่านต้องการจะพบพระองค์หรือไม่ครับ?   ถ้าอยากพบท่านก็ต้องลงไปหาพระองค์ที่อยู่ท่ามกลางสามัญชนคนธรรมดา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 ธันวาคม 2558

คริสตชน...หยุดกล่าวหากระแสสังคมดีไหม?

เมื่อถึงเทศกาลคริสต์มาสทุกปีจะต้องมีบทความ  ข้อเขียน  หรือ  เสียงบ่นจนกระทั่งเสียงด่าตำหนิว่า  อิทธิพลกระแสนิยมในสังคมเข้ามาแทรกซึมบ่อนเซาะทำลายความหมายที่แท้จริงของเทศกาลคริสต์มาส   แล้วก็กล่าวหาพวกห้างใหญ่ ๆ เดอะมอลล์ทั้งหลายว่า   นำเอาเทศกาลของคริสต์ศาสนาไปทำมาหากิน   กล่าวหาพวกคลับพวกบาร์  ว่านำเอาเทศกาลคริสต์มาสไปปู้ยี่ปู้ยำจนเสียหายคุณค่าและความหมาย   นี่ยังไม่ได้รวมไปถึง อาบอบนวดที่เอาซานต้ามาลงอ่างแช่น้ำร้อน  แล้วนวดให้หายปวดเมื่อยหลังจากเดินทางไกลรอบโลกแจกของขวัญแก่เด็ก ๆ ที่เขียนจดหมายไปขอ  

ที่คริสตชนบ่นด่าเช่นนี้จริง ๆ แล้วพวกเขาต้องการสื่อสารเรื่องอะไรกันแน่?

ที่คริสตชนต้องออกมาด่าทอต่อว่ากระแสสังคมเช่นนี้ในเรื่องคริสต์มาสเพราะ   พวกห้างร้าน  สถานบันเทิงและธุรกิจ นอกจากพวกนี้ใช้เทศกาลคริสต์มาสเป็น “อีเวนท์” ในการทำธุรกิจสร้างรายได้ของเขาแล้ว   คริสตชนกลุ่มนี้มักถามว่า  ทำไมไม่ใช้คริสต์มาสในความหมายที่ถูกต้อง   ทำไมต้องมาบิดเบือนความหมายของคริสต์มาส   นี่คือสิ่งที่สร้างความหงุดหงิดกังวลของคริสตชนกลุ่มใหญ่ ๆ ใช่ไหม?

คริสตชนครับ...  แล้วท่านว่าอะไรคือความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของวันคริสต์มาสล่ะครับ?

คำถามก็คือว่า...  แล้วคริสตชนได้สื่อสารความหมายที่แท้จริงเรื่องคริสต์มาสแก่คนกลุ่มเป้าหมายในสังคมที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของคริสต์มาสอย่างไรหรือไม่?   และทำแค่ไหน?   ด้วยจิตใจแบบไหน?   ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่รู้ถึงความหมายที่แท้จริงแล้ววิ่งไปตามกระแสสังคม  แล้วคริสตชนกล่าวหาคนกลุ่มนี้มันถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่?   แล้วที่ไปก่นด่าต่อว่าห้างร้าน สถานบันเทิงว่ามันชั่วมันเลว   แล้วแก้ปัญหาไหม?

เมื่ออิทธิพล “ความมืด” เข้ามาครอบงำสังคมและในคริสตจักร   คริสตชนควรเลือกด่าความเลวร้ายของความมืด หรือ ควรหาทางจุดเทียนเล็ก ๆ สักเล่มหนึ่ง   เพื่อให้เกิดแสงสว่าง   เพื่อเราเองและผู้คนจะได้มองเห็น  แม้จะเลือนรางก็ดีกว่ามืดมิดไม่เห็นอะไรเลย?

แต่ความเป็นจริงที่ประจักษ์  เราพบว่า   คริสตชนส่วนใหญ่เลือกที่จะ “ด่า” ความมืดครับ! (ง่ายดี!)

ในขณะที่พระเยซูคริสต์บอกให้คริสตชนเป็นความสว่างของโลก   แต่คริสตชนกลับไปบ่นด่าความมืดแทนที่จะเป็นความสว่างตามที่พระคริสต์ประสงค์!

แท้จริงแล้วคริสตจักรมีโอกาสมีเวลาปีละ 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) หรือ ปีละ 335 วัน   ที่จะเตรียม  ที่จะสื่อสารความจริงพระกิตติคุณเรื่องคริสต์มาสแก่สังคม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในสังคมที่อยู่รอบคริสตจักร   ที่อยู่ล้อมรอบสมาชิกคริสตจักร   ทั้งในที่ตั้งครอบครัว  ที่ทำงาน  การพบปะกันในชุมชน  หรือการทำงานเพื่อชุมชนร่วมกัน 

สำหรับวิธีการที่คริสตจักรจะสื่อสารถึงความหมายของพระกิตติคุณในวันคริสต์มาสนั้นมีหลากหลายวิธีที่คริสตจักรน่าจะทำได้   ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บริบทของชุมชน หรือ สถานที่นั้น ๆ   และที่สำคัญเป็นวิธีการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพ ความสามารถ หรือ ทักษะของสมาชิกในคริสตจักรแต่ละคนแต่ละกลุ่ม
  1. ในการสื่อสารสาระความหมายของข่าวดีในวันคริสต์มาสแก่ผู้คนในสังคม  โดยเฉพาะที่ยังไม่รู้เรื่องราวของคริสตชนนั้น   ไม่ควรเน้นเอกสารเช่นใบปลิว  คำพูดที่โน้มน้าว หรือ การเทศนา   แต่เน้นการทำสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายแก่ชีวิตของเพื่อนมนุษย์   โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กำลังเป็นประเด็นวิกฤติในชุมชนสังคมนั้น ๆ   เพื่อผู้คนจะได้เข้าใจถึงคุณค่าความหมายของวันคริสต์มาสที่เป็นรูปธรรมผ่านกิจกรรมที่ทำ
  2. เลือกสถานที่ที่จะสื่อสารคุณค่าและความหมายของวันคริสต์มาสในที่ที่มีผู้คนผ่านหรือชุมนุมกันจำนวนมาก เช่น ในห้างใหญ่  สถานที่สาธารณะ  หรือ ในที่ชุมนุมชน
  3. การสื่อสารผ่านกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมเน้นกิจกรรมที่จะให้ผู้คนทั้งที่เป็นและไม่เป็นคริสตชนสามารถเข้ามีส่วนร่วมที่จะสร้างคุณประโยชน์แก่คนกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดในกิจกรรมนั้น  เช่น การรณรงค์ทุนการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส   การเข้าถึงผู้สูงอายุที่ถูกละเลยทอดทิ้ง   การรวมตัวเป็นกลุ่มเสริมหนุนการเรียนรู้  การทำการบ้าน และการดำเนินชีวิตของเยาวชนวัยรุ่นในชุมชนต่าง ๆ    และชี้ชัดว่า ที่ทำเช่นนี้เพราะเป็นการกระทำตามความหมายที่แท้จริงของวันคริสต์มาส
  4. สื่อสารถึงคุณค่าและความหมายของวันคริสต์มาสผ่านสื่อในรูปแบบต่าง ๆ   ด้วยวิธีการที่น่าสนใจ  ท้าคิดท้าทำ   และเชิญชวนเข้าร่วมในการสร้างคุณค่าและความหมายวันคริสต์มาสสำหรับกลุ่มชนเป้าหมายที่กำหนด
  5. ถ้าเป็นไปได้แล้ว   ควรชวนสมาชิกคริสตจักรที่สนใจในเรื่องนี้ออกไปสำรวจ สังเกต และศึกษาในสถานที่ชุมนุมชนต่าง ๆ   ที่มีความเป็นไปได้ที่เราจะใช้ในการสื่อสารความจริง ความหมายและคุณค่าในวันคริสต์มาสที่เป็นการกระทำ เป็นรูปธรรม ที่ประจักษ์และสัมผัสได้   แล้วมีโอกาสร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผนว่าจะทำอย่างไรบน ทักษะ ความรู้ ความสามารถ และ ศักยภาพที่สมาชิกในคริสตจักรมีอยู่   ทั้งนี้เพื่อสมาชิกที่ร่วมกันคิดจะสามารถร่วมกันทำตามกำลังความสามารถที่ตนมีอยู่จริง
  6. อย่าลืมนะครับว่า  นี่เป็นสิ่งที่เราจะทำตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน ที่กำลังจะมาถึงนี้    มิใช่โหมกระทำในเดือนธันวาคม  “แบบไฟไหม้ฟาง”  เพียงไม่กี่วันนะครับ
  7. กระบวนการสื่อสารสัจจะความจริงแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวดีในวันคริสต์มาส เป็นโอกาสที่สมาชิกคริสตจักรจะเรียนรู้ และรับการเสริมสร้างใหม่จากพระเจ้า ให้สามารถดำเนินชีวิตท่ามกลางชุมชนคนที่ยังไม่เชื่อในพระเจ้าด้วยการหนุนเสริมให้เกิด  “สันติสุขบนแผ่นดินโลกนี้”   ตามคำพรที่ทูตสวรรค์นำถึงคนเลี้ยงแกะในวันที่พระคริสต์บังเกิดว่า  พระ​สิริ​จง​มี​แด่​พระ​เจ้า​ใน​ที่​สูง​สุด   ส่วน​บน​แผ่น​ดิน​โลก สันติ​สุข​จง​มีท่ามกลางมนุษย์​ทั้ง​หลาย​ที่​พระ​องค์​โปรด​ปราน​นั้น (ลูกา 2:14 มตฐ.)


ส่วนคริสตจักรไหนจะเลือกวิธีการทำอย่างไรผมขอเสนอว่า   ให้แต่ละคริสตจักรเตรียมการ ขับเคลื่อน  แล้วแบ่งปันความคิด ประสบการณ์ที่ได้รับจากการขับเคลื่อนบนสื่อออนไลน์นี้ดีไหมครับ?   ในเวลานั้น เราจะเห็นว่ามีวิธีการมากมายหลากหลายที่เราจะสื่อสารสัจจะความจริงคริสต์มาสแก่ผู้คนในสังคมชุมชน   และนี่คือพลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเรื่องคริสต์มาสได้อย่างดียิ่ง   และเราสามารถเรียนรู้จากกันและกัน   ตอนนั้นเราคงไม่ต้องมานั่ง “ด่าความมืด” แต่เราจะ “จุดเทียน” ให้เกิดการ “ส่องสว่างแห่งวันคริสต์มาส”  ในสังคมชุมชนโลกครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 ธันวาคม 2558

โปรดเข้าใจผมด้วยครับ...!:เสียงจากเจ้าของโรงเตี๊ยมที่เบธเลเฮม

เมื่อถึงเทศกาลคริสต์มาสทีไร   ผมทั้งดีใจและไม่สบายใจในเวลาเดียวกัน!

ที่ไม่สบายใจเอามาก ๆ ก็เพราะคนทั่วโลกเมื่ออ่านเรื่องราวของมารีย์  โยเซฟ และ ทารกน้อยในรางหญ้าที่คอกสัตว์มักจะมองหรือเข้าใจว่า  ผมเป็นเจ้าของโรงแรมที่ใจจืดใจดำ  หรือไม่ก็เป็นเจ้าของโรงแรมที่เห็นแก่เงิน   จริง ๆ ไม่ใช่เป็นเช่นนั้นเลย   นี่ไม่ใช่พยายามแก้ตัวหรอก   แต่ขอฟังผมก่อนได้ไหมว่า เรื่องมันเป็นอย่างไรกันแน่

ที่ผมมาเป็นเจ้าของโรงแรมมิใช่เพราะว่า ผมเป็นพ่อค้าต้องการหากำไรในการทำธุรกิจต่าง ๆ  รวมถึงธุรกิจโรงแรม   แต่ที่ว่าเป็นโรงแรมของผมนั้น   มันเป็นเพียงบ้านหลังใหญ่ที่คุณปู่ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักอาศัยให้พอสำหรับลูกหลานจำนวนทั้งหมด 14 คน   แต่พอเมื่อเด็ก ๆ ในครอบครัวเติบโตและต่างไปมีครอบครัวของตนเอง   บ้านหลังใหญ่โตหลังนี้ก็มีแต่ห้องว่าง  แทนที่จะปล่อยทิ้งให้ว่างเปล่า  เลยเปิดรับคนเดินทางที่ต้องการที่พักมาพักกับเราในบ้านหลังนี้  แท้จริงมันก็เป็นโรงเตี๊ยมดี ๆ นี่เองครับ    ที่ผ่านมาวัน ๆ หนึ่งก็มีผู้เข้ามาเช่าห้องพัก 2-3 คน   พอดีราเชลภรรยาของผมแกทำอาหารรสชาติดี  เลยทำอาหารสำหรับแขกที่มาพักด้วย   หลายคนที่เคยพักในบ้านเรา   ถ้าได้เดินทางผ่านมาอีกมักจะกลับมาพักอีกเป็นประจำ   หลายคนติดใจฝีมืออาหารของราเชลครับ

จนอยู่มาปีหนึ่ง  อ้ายพวกเผด็จการโรมันที่เฮงซวยที่สุดที่ผมพบในชีวิต   มันสั่งให้ผู้คนต้องกลับไปภูมิลำเนา (บ้านเกิด) ของตนเพื่อไปจดทะเบียนสำมะโนครัว   เป็นที่รู้อยู่กะใจว่าอ้ายพวกนักปกครองห่วยแตกพวกนี้มันคิดแต่หาวิธีรีดเก็บภาษีจากพวกเราทุกคนก็แค่นั้นเอง   ทีนี้สถานการณ์เลวร้ายก็เกิดขึ้นซิ   เมื่อถึงเวลาที่ชาวบ้านต้องไปจดทะเบียนสำมะโนครัว   ผู้คนหลั่งไหลกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองอย่างมืดฟ้ามัวดิน   ที่บ้านเบธเลเฮมก็ตกในสภาพเช่นกันนี้   แท้จริงแล้วในบ้านหลังใหญ่ของเรามี 4 ห้องใหญ่ ๆ เมื่อก่อนนั้นให้แขกเช่าห้องอยู่กันห้องละ 2-3 คน สบาย ๆ แต่มาในเวลานี้ทุกห้องมีคนพัก 3-4 ครอบครัว ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก คุณจินตนาการเอาเองก็แล้วกันว่า  ห้องหนึ่งเกินสิบคนมันยัดเยียดแออัดกันแค่ไหน

มีแต่ผู้คนมาเคาะประตูขอเช่าห้องพัก   พอบอกว่าห้องเต็มก็ร้องขอว่าขอเพียงมุมใดมุมหนึ่งที่จะซุกหัวในบ้านก็พอใจ   เรารับเท่าที่จะรับอัดแน่นได้   และในที่สุดเรารับอีก 3 ครอบครัวมาอยู่ในห้องพักของเราเอง  เป็นอันว่าใครมาอีกก็ไม่มีที่จะให้มุดหัวเข้ามาแล้ว  แต่ก็ไม่วายในเวลาค่ำคืนดึกดื่นจะมีคนมาเคาะประตูขอห้องพักไม่ขาดสาย

เที่ยงคืนแล้วเห็นจะได้   มีเสียงมาเคาะประตูอีก   เดาได้เลยมาขอห้องพัก   ผมก็ตะโกนกลับไปว่าไม่มีที่ให้ซุกหัวแล้ว   แต่เสียงชายหนุ่มคนนี้ไม่ลดละและบอกอีกว่า  เขาจำเป็นต้องหาที่พักให้ได้ที่ไหนก็ได้   เพราะคนที่มาด้วยกับเขากำลังลำบากเอามาก ๆ   ทำให้ผมต้องตัดสินใจลุกขึ้นจากเตียงเพื่อไปพูดให้รู้เรื่อง   ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่ยอมไป และ ผมก็จะไม่ได้นอนแน่ ๆ   นอกจากต้องลุกจากที่นอนอันอบอุ่น   ยังเดินสะดุดร่างคนนอนที่พื้นที่ระเกะระกะมองไม่เห็น  ผมเกือบล้ม 2-3 ครั้ง

พอผมเปิดแง้มประตูออกไป   เขาบอกว่า มารีย์ตัวเล็กของเขาคนนี้ท้องกำลังจะเกิดลูกสักพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้   ผมมองไปที่หญิงคนนั้นดูเหมือนตัวเล็กแต่ท้องไม่เล็กเลย   ท้องแก่   ผมว่าชายคนนี้ยังไม่เคยมีลูกมาก่อนแน่   ไม่ใช่จะคลอดวันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้หรอก   มันกำลังจะคลอดอยู่แล้ว   ดูซิเหงื่อเม็ดเป้ง ๆ ผุดเต็มหน้าผากของหญิงคนนี้   ทั้ง ๆ ที่อากาศหนาวเย็นขนาดนี้   ชายคนนี้เริ่มอ้อนวอนว่า  เขาต้องการมีที่พักสำหรับภรรยาของเขาที่จะหลบจากลมหนาวที่กระโชกแรงมาเป็นครั้ง ๆ

ในเวลาคับขันเช่นนี้ผมไม่รู้จะช่วยคู่ชีวิตที่น่าสงสารนี้ได้อย่างไร   คิดได้เพียงแต่ว่า  ก็เหลือแต่คอกเลี้ยงสัตว์หลังบ้านของเรา   อาจจะดีกว่าที่จะไปนอนเกิดลูกข้างถนนเป็นแน่

ผมเสนอเขาว่ามีที่ว่างที่คอกเลี้ยงสัตว์  ชายคนนั้นตอบรับคว้าหมับทันที   ผมพาเขาทั้งสองอ้อมไปหลังบ้านที่คอกเลี้ยงสัตว์   แล้วไล่สัตว์บางตัวให้ออกไปที่นอกคอกเลี้ยง   เพื่อที่จะให้มีที่แห้งสำหรับเขาทั้งสอง   ผมสังเกตเห็นหญิงน้อยคนนี้อุ้มท้องที่โตใหญ่ของเธอด้วยอาการที่กำลังเจ็บปวด   และมีเหงื่อเม็ดใหญ่ ๆ ผุดออกมาเต็มหน้าผากของเธอ   ผมรู้จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมทันทีว่า   ไม่ใช่พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้หรอก   เธอกำลังจะเกิดลูกในเวลาอันใกล้นี้แล้ว   ผมรีบไปปลุกราเชลภรรยาให้ออกมาช่วยว่าที่พ่อแม่ใหม่คู่นี้   ส่วนผมรีบวิ่งไปบ้านของป้าซาราห์  ที่เป็นหมอตำแยให้มาช่วยทำคลอดให้หญิงคนนี้

ป้าซาราห์ พอมาเห็นหญิงสาวคนนี้บอกอย่างที่ผมคาดเดาเลย   เธอกำลังจะคลอดลูกแล้ว   เลยรีบจัดที่จัดทาง   ปูฟางบนพื้นให้เป็นที่นอนสำหรับหญิงสาวท้องแก่   แล้วก็ไล่ผมและชายหนุ่มให้ออกไปจากคอกสัตว์ว่า   “ที่นี่ไม่ที่ว่างสำหรับผู้ชาย”   ผมกับโยเซฟถูกไล่ออกมา   เหลือแต่ป้าซาราห์และราเชลภรรยาของผมเท่านั้น   เราทั้งสองเลยต้องมานั่งรอข้างบ้านนอกโรงเลี้ยงสัตว์

เวลาผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง   ทันใดนั้นเราได้ยินเสียงทารกร้องไห้   พร้อมกับเสียงของป้าซาราห์ว่า “เธอได้ลูกผู้ชาย”   พร้อมกันนั้นผมแอบมองผ่านมุมบ้านไปที่โรงเลี้ยงสัตว์   ป้าซาราห์อุ้มทารกส่งต่อไปให้ราเชล   หลังจากเช็ดทำความสะอาดแล้ว ภรรยาของผมก็เอาผ้าอ้อมสะอาดพันรอบตัวทารกน้อยนั้นอย่างทะนุถนอม

โยเซฟชายหนุ่มคนนั้นก็เข้าไปที่คอกสัตว์แล้วเอาผ้าเช็ดเหงื่อจากหน้าของหญิงคนนั้นที่ชื่อมารีย์   แล้วราเชลก็ส่งทารกน้อยนั้นให้ผมได้อุ้ม   พร้อมกับพูดว่า “จำตอนที่โยชูวาของเราเกิดได้ไหม?”   เราส่งทารกน้อยกลับไปให้โยเซฟ และ กลับไปอยู่ในอ้อมกอดของมารีย์ผู้เป็นแม่   แสงจากตะเกียงของเรากำลังริบหรี่แล้วเพราะน้ำมันกำลังใกล้หมด   ผมเดินไปส่งป้าซาราห์ที่บ้านของเธอ   ผ่านลมหนาวที่พัดอย่างเยือกเย็น

กว่าผมจะกลับมาถึงบ้าน  ราเซลภรรยาของผมก็หลับใหลไปแล้ว    ส่วนผมก็ง่วงงัวเงียเต็มทน   กำลังจะมุดตัวเข้าในผ้าห่มอันแสนจะอุ่น   แต่ผมได้ยินเสียงใครบ่นพึมพำฟังไม่ศัพท์ที่คอกสัตว์   ผมตัดสินใจลุกจากเตียงแล้วมองไปที่คอกสัตว์   ผมเห็นคนเลี้ยงแกะแต่งตัวโกโรโกโส ดูสกปรกกำลังคุกเข่าแล้วก้มลงกราบทารกน้อยนั้น   แล้วคนเลี้ยงแกะที่มีอายุคนหนึ่งเล่าให้โยเซฟฟังถึงเรื่องทูตสวรรค์ และ เรื่องพระเมสสิยาห์   คนอื่น ๆ ก้มกราบลง  เมื่อลุกขึ้นผมเห็นบางคนมีน้ำตาไหลอาบแก้ม

ผมกระแอมแล้วทำเสียงไอ   โยเซฟมองมาที่ผม   ตอนนั้นผมเกือบจะไล่พวกคนเลี้ยงแกะที่กลิ่นแรงและสกปรกเหล่านั้นให้ออกไป   แต่โยเซฟยกมือบอกผมว่าไม่มีอะไร   พร้อมกับบอกผมเบาๆว่า   “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น   พวกเขาเพียงมาดูทารกที่เป็นพระคริสต์”

ทารกที่เป็นพระคริสต์!   พระเมสสิยาห์?   ผมคุกเข่าน้อมตัวลงโดยไม่รู้ตัว   ทั้งอธิษฐานในใจ   และฟังเรื่องราวอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากผู้เฒ่าคนเลี้ยงแกะคนนั้น   มีเสียงก้องในจิตใจของผม   “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์  พระคริสต์เกิดในคอกสัตว์ของฉัน   พระองค์หลับสงบในรางหญ้าสัตว์เลี้ยง   ฟางในบ้านของฉัน   สัตว์เลี้ยงที่เป็นเพื่อนของทารกน้อย   ภรรยาของผมมีโอกาสเป็นผู้ช่วยหมอตำแยทำคลอดพระคริสต์!   และนี่คือโอกาสที่ผมได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้า”

คนอื่นจะคิดอย่างไรผมไปห้ามเขาไม่ได้   แต่ผมชื่นชมยินดีที่มีโอกาสเปิดคอกสัตว์ เปิดครอบครัวต้อนรับทารกน้อยและครอบครัวที่ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์นี้   ผมรู้ตัวเองว่า ผมไม่ได้เป็นเจ้าของโรงแรมที่งก ใจคับแคบ   แต่ผมดีใจที่ผมได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้น   และคุณรู้อะไรหรือเปล่า   หลังจากนั้นอีกหลายปีทารกคนนี้ได้เติบใหญ่และกลับมาที่เบธเลเฮม   แต่ครั้งนี้เป็นชายหนุ่มที่มาบอกถึงเรื่องราวแห่งแผ่นดินของพระเจ้า   และผมขอบอกว่า ผมเชื่อในคำสอนของเขา   ผมเชื่อด้วยว่าถ้าคุณได้เห็นอย่างที่ผมเห็นคุณก็จะเชื่อด้วยเช่นกันแน่

เรียบเรียงและเล่าใหม่จากข้อเขียนของ Dr. Ralph F. Wilson
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 ธันวาคม 2558

วิ่งทีละก้าว...มุ่งเป้าพระประสงค์พระคริสต์ในชีวิตเรา

26 ดัง​นั้น​ข้าพเจ้า​ไม่​ได้​วิ่ง​แข่ง​โดย​ไม่​มี​เป้า​หมาย...  
(ดังนั้น ข้าพเจ้าวิ่งแข่งอย่างมีเป้าหมาย)   
(1โครินธ์ 9:26ก.  มตฐ. ในวงเล็บสำนวนผู้เขียน)

พระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเรามิได้เป็นพระประสงค์ชั่วครั้งชั่วคราว  หรือ พระประสงค์ตาม “อีเวนท์” หรือตามช่วงเวลาที่เราต้องการปรารถนาเท่านั้น   แต่พระเจ้าทรงมีพระประสงค์   มีเป้าหมายสำหรับชีวิตของเราทั้งหมด  ตั้งแต่วันนี้และต่อ ๆ ไปด้วย   ถ้าเราตระหนักเช่นนี้ เป้าหมายในชีวิตของเราจึงไม่เป็นอย่างที่เราคิดเราปรารถนาเท่านั้น

แต่ตรงกันข้าม  เป้าหมายชีวิตของเราที่สอดรับกับพระประสงค์ของพระเจ้าจะทำให้เรามุ่งไปยังที่พระคริสต์   เพราะเมื่อเราวิ่งตามเป้าหมายชีวิตที่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า   จะช่วยให้เราเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์   ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตแต่ละวันของเรา   เราจะมุ่งมองสนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นว่า  พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้เราเรียนรู้อะไรบ้าง   พระองค์ต้องการให้เราได้พัฒนา หรือ ปรับเปลี่ยนชีวิตของเราในด้านใดบ้าง

ทำให้เรารู้จักพระเจ้ามากยิ่งขึ้น   ทำให้ความสัมพันธ์ของเราสนิทแน่นกับพระองค์มากยิ่งขึ้น  เติบโตขึ้นผ่านการดำเนินชีวิตตามน้ำพระทัย   เข้มแข็งขึ้นผ่านการรับใช้พระองค์ในสถานการณ์ต่าง ๆ   ชีวิตของเราเป็นเกลือและแสงสว่างที่ทำให้คนรอบข้างได้เห็นและสัมผัสพระคริสต์ผ่านชีวิตของเรา

ดังนั้น   เมื่อเราอธิษฐานเราจึงไม่ได้อธิษฐานทูลขอให้พระเจ้าช่วยเราให้สำเร็จตามเป้าหมาย  ตามเป้าประสงค์ของเราเอง   แต่เราทูลขอที่จะให้รู้และตระหนักชัดว่า  เราจะทำอะไร อย่างไรที่จะเป็นการกระทำที่ตอบสนองตามเป้าประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเรา แต่ละวันแต่ละสถานการณ์   เช่นเราอาจจะอธิษฐานว่า   “พระเจ้า...  วันนี้ข้าพระองค์ตั้งใจที่จะทำในสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้กระทำในทุกสถานที่ ทุกสถานการณ์ ที่พระองค์นำข้าพระองค์เข้าไป...”  วันนั้น  จะเป็นวันที่พระเจ้าทรงสร้างเราขึ้นใหม่ให้เป็นคนที่พระองค์ประสงค์   และทุกที่ที่เราไป เราอยู่  จะเป็นที่ที่ได้รับพระพรของพระเจ้า   เพราะพระองค์สามารถใช้เราให้มีชีวิตที่ทำตามเป้าประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเราให้เป็นพระพรในทุกที่ที่เราอยู่  ที่เราทำงาน  ที่เราพบปะเพื่อนฝูง

เฉกเช่นที่เปาโลกล่าวว่า  ชีวิตนี้ท่านวิ่งอย่างมีเป้าหมาย  และเป็นเป้าหมายที่เป็นพระประสงค์ของพระคริสต์ (1โครินธ์ 9:26 ก.)   และเราต้องตระหนักด้วยว่า ในการวิ่งไปให้ถึงหลักชัยนั้น  การก้าวเข้าใกล้หลักชัยอยู่ที่แต่ละก้าวที่เราจะก้าววิ่งออกไป  และจะก้าววิ่งออกไปอย่างต่อเนื่อง   แม้จะก้าววิ่งไปครั้งละก้าว   แต่การก้าววิ่งไปแต่ละก้าวอย่างต่อเนื่อง   ก็จะทำให้เราไปถึงเส้นชัยได้

ดังนั้น  ในวันนี้ และแต่ละวันต่อจากนี้   เราจะวิ่งมุ่งสู่หลักชัยแห่งเป้าประสงค์ของพระคริสต์สำหรับเราไปทีละก้าววิ่ง   แต่เราจะวิ่งก้าวต่อก้าวด้วยพระประสงค์ของพระคริสต์อย่างต่อเนื่อง   และด้วยพระกำลังหนุนเสริมจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

04 ธันวาคม 2558

ความเชื่อที่กล้ากระทำและหลักแหลมด้วยพระปัญญา

โดย​ความ​เชื่อ เมื่อ​โม​เสส​เกิด​มา บิดา​มารดา​จึง​ซ่อน​ท่าน​ไว้​ถึง​สาม​เดือน
เพราะ​เห็น​ว่า​ท่าน​เป็น​เด็ก​น่ารัก และ​บิดา​มารดา​ของ​ท่าน​ไม่​ได้​กลัว​คำ​สั่ง​ของ​กษัตริย์​เลย
(ฮีบรู 11:23 มตฐ.)

เมื่อนางผดุงครรภ์ตัดสินใจไม่ยอมทำตามคำบัญชาแผนการที่ชั่วช้าเลวร้ายของฟาโรห์  ฟาโรห์เริ่มแผน 2 ของเขา   สั่งให้ฮีบรูบ้านใดก็ตามที่ทารกเกิดมาเป็นเพศชายให้นำไปทิ้งลงในแม่น้ำไนล์   โดยอนุญาตให้เลี้ยงทารกหญิงไว้ได้   น่าสังเกตว่า  แผนการที่ชั่วช้าเลวร้ายของนักปกครองประเทศมักจะใช้อำนาจเพื่อทำลายทุกสิ่งที่อาจจะเป็นภัยต่อตนเอง   ทำให้เราคิดถึงกษัตริย์เฮโรดที่ตื่นตระหนกอย่างมากเมื่อนักปราชญ์บอกเขาว่ากษัตริย์องค์ใหม่บังเกิดในอาณาจักรของตน   และเมื่อพบว่า นักปราชญ์ไม่ยอมทำตามคำสั่งของตนจึงจัดการแผนที่ชั่วร้ายกว่าเดิมคือ  สั่งให้ทหารฆ่าทารกที่อายุต่ำกว่า 2 ปีที่บ้านเบ็ธเลเฮ็มให้หมด

เหี้ยมแค่ไหน?   เพียงปกป้องความอยู่รอดปลอดภัยของตนเอง   แต่เด็กไม่รู้อะไรต้องสังเวยแผนการชั่วร้ายของเฮโรดไปกี่ชีวิต?

พ่อและแม่ของโมเสส   ผู้ที่มีบุตรอย่างน้อยมาแล้ว 2 คน (เท่าที่เรารู้จากพระคัมภีร์) คือ อาโรน ลูกชาย และ มิเรียม ลูกสาว   แล้วผู้เป็นภรรยาได้ให้กำเนิดลูกอีกคนหนึ่งในช่วงเวลาที่วิกฤติเป็น “เด็กชาย” เมื่อคลอดทารกออกมา  พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า “...เมื่อ​นาง​เห็น​ว่า​บุตร​น่า​รัก จึง​ซ่อน​ไว้​ถึง​สาม​เดือน และ​บิดา​มารดา​ของ​ท่าน​ไม่​ได้​กลัว​คำ​สั่ง​ของ​กษัตริย์​เลย”(อพยพ 2:2;  ฮีบรู 11:23 มตฐ.)  แท้จริงแล้ว แม่ทุกคนย่อมมองว่าทารกที่ตนให้กำเนิดน่ารักทั้งสิ้น   แต่ที่นี่นางกล้าหาญที่จะไม่ทำตามคำสั่งของฟาโรห์   และนี่คือ “ความเชื่อ” ที่เราสามารถเห็นและสัมผัสได้   เพราะเป็นความเชื่อที่เป็นพฤติกรรม ความเชื่อที่เป็นการกระทำ   ที่นางทำได้เช่นนี้เพราะ เธอวางใจในการปกป้องของพระเจ้า   แทนที่จะเกรงกลัวคำสั่งของผู้ปกครองประเทศ

เธอได้ซ่อนทารกเพศชายคนนี้ไว้ 3 เดือน   เธอคงทำทุกวิถีทางและทุกวิธีที่จะให้ทารกอยู่กับเธออย่างปลอดภัย   ให้ทารกได้ดูดนมแม่ให้เติบโตและแข็งแรง   เมื่อเห็นว่ายากที่ซ่อนบุตรชายต่อไปเธอได้ใช้ปัญญาของความเป็นแม่วางแผนขั้นต่อไป   เธอสานตะกร้าจากต้นกก  แล้ว “ยา​ด้วย​ยาง​มะ​ตอย​และ​ชัน”(ข้อ 3) แล้ววางแผนไปลอยตะกร้าทารกน้อยนี้ให้ผ่านไปบริเวณที่ธิดาฟาโรห์ลงมาสรงน้ำ   ส่วนมิเรียม พี่สาวเดินตามตะกร้าไปห่าง ๆ (ข้อ 4)   โดยผู้เป็นแม่เชื่อและคาดหวังว่า  จิตใจของสตรีที่มีจิตวิญญาณความเป็นแม่จะเกิดความเมตตาปรานีจากธิดาฟาโรห์

ความเชื่อที่เปี่ยมล้นด้วยปัญญา เป็นอีกมรดกหนึ่งที่โมเสสได้รับจากการที่เขาเกิดมาในยามวิกฤติแห่งการกดขี่นี้

ชนชาติอิสราเอลรู้สึกว่าตนตกลงในกับดักของอียิปต์  ตนตกเป็นเหยื่อของมหาอำนาจ   ตนไม่รู้จะหลบลี้หลีกหนีอำนาจที่ฉ้อฉลรุนแรงนี้ได้อย่างไร   ชีวิตและจิตใจต้องฉีกขาดภายใต้กรงเล็บของพวกนายงานอียิปต์   แต่สิ่งที่เขายังมีอยู่ในจิตวิญญาณของเขาคือความหวัง   พวกเขาหวังในพระสัญญาของพระเจ้าที่ทรงมีต่อบรรพบุรุษของเขา  อับราฮาม อิสอัค และ ยาโคบ  ที่จะเป็นพระพรชั่วลูกชั่วหลาน

ความเชื่อที่เป็นการกระทำและอุดมด้วยปัญญาที่มีในตัวแม่ได้ซึมซับเข้าในชีวิต ความคิด จิตสำนึกของโมเสส   ความฝันหวังถึงพระสัญญาแห่งเสรีภาพที่ทรงสัญญาต่อประชากรของพระองค์   แต่ถ้ามองในสายตามนุษย์จะคาดหวังอะไรได้อีกจากโมเสส   เมื่อชีวิตของโมเสสพลิกผันเข้าไปอยู่ในวังของฟาโรห์   เขาจะต้องถูกล้างสมองให้เป็นคนอียิปต์กลับมากดกี่ข่มเหงชนชาติอิสราเอลเป็นแน่

คำถามคือ  แล้วโมเสสจะรับมือจัดการอย่างไรกับโอกาสพิเศษในชีวิตของเขา   เขาคิดอย่างไรกับสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนอิสราเอลเผ่าพันธุ์ของตน   เขาจะทำอย่างไรกับผลประโยชน์มากมายที่รอเขาในชีวิตข้างหน้า  ในที่สุดโมเสสจะยืนเคียงข้างกับพวกมีอำนาจกดขี่ชนชาติอิสราเอลหรือไม่  หรือ เขาจะตัดสินใจเลือกที่จะอยู่เคียงข้างกับชนชาติอิสราเอลผู้ถูกกดขี่ในเวลานั้น

นั่นเป็นสถานการณ์ชีวิตของเราท่านแต่ละคนจะต้องเผชิญหน้าในชีวิตประจำวันของเรา   แล้วเราท่านจะเลือกเช่นไร   เราท่านหนีไม่พ้นที่จะต้องตัดสินใจเลือกสิ่งที่ข้างหน้าเรา   เราจะเลือกผลประโยชน์ที่วางรออยู่ข้างหน้าเรา   เราจะตัดสินใจงับเหยื่อที่อำนาจแห่งความชั่วร้าย “หย่อน” ลงหน้าเรา  หรือเราจะตัดสินใจด้วยพระปัญญาที่จะเลือกเคียงข้างกับประชาชนผู้เสียเปรียบและถูกกดขี่  

วันนี้  ในช่วงเทศกาลเตรียมรับเสด็จ   เป็นเวลาที่เราแต่ละท่านต้องตัดสินใจว่าจะฝังตนเองในพระราชวังที่สมบูรณ์พูนสุขสำหรับเรา   หรือจะตัดสินใจออกจากวังมาอยู่ในกระท่อมของพระคริสต์ที่อยู่ท่ามกลางชีวิตประชาชนที่ไร้ซึ่งอำนาจและความอุดมสมบูรณ์  และถูกฉกชิงทำร้ายคุณค่าในความเป็นมนุษย์แห่งพระฉายาในตัวเขา?

อย่าลืมนะครับ   ความเชื่อเป็นเรื่องของความหวังที่ไว้วางใจพระเจ้า ไม่ว่าสถานการณ์ชีวิตที่เรากำลังเผชิญอยู่จะเป็นอย่างไร  เราต้องทุ่มทั้งชีวิตกระทำเยี่ยงพระคริสต์ด้วยพระกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทุ่มทั้งชีวิตด้วยสุดจิตสุดใจสุดกำลังความคิดและปัญญาที่มาจากพระปัญญาของพระเจ้าด้วยครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

03 ธันวาคม 2558

ความเชื่อที่ท้าทาย

17 แต่​นาง​ผดุง​ครรภ์​ยำ​เกรง​พระ​เจ้า
จึง​ไม่​ได้​ทำ​ตาม​พระ​บัญชา​ของ​กษัตริย์​อียิปต์
ปล่อย​ให้​เด็ก​ชาย​รอด​ชีวิต
(อพยพ 1:17 มตฐ.)

เมื่อต้องตัดสินใจที่จะดำเนินตามพระประสงค์ หรือ ยอมตนที่จะเดินบนเส้นทางที่พระเจ้าทรงมีเพื่อเรา   เราเห็นตัวอย่างจากสตรีสองท่านชื่อ​ชิฟราห์ และ ​ปูอาห์ นางผดุงครรภ์ชาวฮีบรู ที่ร่วมในกระบวนการที่จะทำตามแผนการของพระเจ้า   เธอทั้งสองเลือกที่จะทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า   แต่นั่นหมายความว่าเธอตัดสินใจที่จะเลือก “ขัดขืน” ต่อพระบัญชาของฟาโรห์   ซึ่งต่างก็รู้อยู่เต็มอกว่า  นั่นเป็นการเลือกที่จะฝ่าฝืนคำสั่งตามกฎหมาย และนี่คือการกระทำที่เป็นรูปธรรมที่ชี้ถึงความหมายของ “การยำเกรงพระเจ้า” (“แต่​นาง​ผดุง​ครรภ์​ยำ​เกรง​พระ​เจ้า...”)  และบุคลิกความยำเกรงแบบนี้ได้ส่งทอดลงมาในชีวิตทารกน้อยโมเสสที่เธอทั้งสองช่วยกันทำคลอด

ในเวลานั้น ชนชาติฮีบรูได้ขยายเผ่าพันธุ์ขึ้นจำนวนมากและรวดเร็วทำให้ประชาชนอียิปต์เกิดความกลัว   ฟาโรห์ที่ปกครองอียิปต์ในตอนนั้นไม่รู้เรื่องราวประวัติความเป็นมาว่าทำไมพวกฮีบรูถึงมาอยู่ในอียิปต์อย่างไร   เขาไม่รู้ถึงโยเซฟชาวฮีบรูที่เป็นผู้กอบกู้หายนะภัยจากสถานการณ์ภัยแล้งและการขาดแคลนอาหารให้คนอียิปต์อยู่รอดปลอดภัยอย่างไร   แต่ฟาโรห์องค์นี้มุ่งมองไปยังสถานการณ์ที่น่ากลัวในตอนนั้น  และพูดกับคนของพระองค์ว่า  “...ดู​สิ คน​อิส​รา​เอล​มี​มาก​เกิน​ไป​และ​มี​กำลัง​ยิ่ง​กว่า​พวก​เรา​อีก มา​เถิด ให้​พวก​เรา​หา​อุบาย​ปราบ​เขา ไม่​อย่าง​นั้น​เขา​จะ​ทวี​มาก​ขึ้น แล้ว​ถ้า​เกิด​สง​คราม​ขึ้น​เมื่อ​ไร เขา​จะ​สม​ทบ​กับ​พวก​ข้า​ศึก​สู้​รบ​กับ​พวก​เรา แล้ว​จะ​ยก​ออก​ไป​จาก​แผ่น​ดิน​นี้ (ข้อ 9-10 มตฐ.)  พระองค์บัญชานางผดุงครรภ์ของฮีบรู ให้ฆ่าทารกชาวฮีบรูทุกคน

แผนการนี้ดูจะเด็ดขาดและมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ   พวกเขากระทำต่อพวกอิสราเอลให้เป็นทาสที่ต้องทำงานหนัก ใช้แรงงานราคาถูก  ให้ทำปูนสอน ทำอิฐ และเป็นแรงงานก่อสร้างเมืองตามแผนการที่ยิ่งใหญ่ของพวกอียิปต์  เมืองรามเสส (Ramses)  แต่มาตรการนี้ไม่สามารถที่จะควบคุมจำนวนประชากรฮีบรูที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจำนวนมาก   แต่กลับทำให้ “ชาว​อียิปต์​ทั้ง​เกลียด​ทั้ง​กลัว​ชน​ชาติ​อิส​รา​เอล...”(ข้อ 12 มตฐ.)   เฉกเช่นนักปกครองเผด็จการในทุกยุคทุกสมัย   ที่ใช้อำนาจกำลังและความรุนแรงในการกดขี่ฝ่ายตรงกันข้ามและประชาชน   แต่เราก็เห็นมาในประวัติศาสตร์แล้วว่า  อำนาจเผด็จการย่อมไม่สามารถควบคุม บังคับ กดขี่ประชาชนได้ดั่งใจตลอดไปได้

การที่นักปกครองใช้วิธีการปกครองอย่างฉ้อฉลไร้ความยุติธรรมมีแต่ที่จะสร้างแรงเกลียดชังและวิญญาณกบฏให้รุนแรงขึ้น แผนการกำจัดการเพิ่มจำนวนประชากร หรือ การพยายามกำจัด “กำลัง” ของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยมาตรการต่าง ๆ ของฟาโรห์   ประสบความล้มเหลว  มีแต่จะสร้างความเกลียดกลัวและก้าวร้าวให้เกิดขึ้นในตัวคนอียิปต์ที่รุนแรงขึ้น  อีกทั้งเป้าหมายที่ต้องการทำให้เกิดกลับไม่ประสบความสำเร็จ พระเจ้าทรงใช้คนที่เล็กน้อย  สตรีที่ทำหน้าที่ต่ำต้อยในชุมชนให้ทำการใหญ่ในแผนการของพระองค์   พระเจ้าทรงใช้นางผดุงครรภ์ทั้งสองคือ  ชิฟราห์ และ ​ปูอาห์

ใช่ครับ  พระคัมภีร์ของคริสตชนสอนให้ผู้เชื่อที่จะเชื่อฟังอำนาจของผู้ปกครองประเทศ  เป็นคำสั่งที่มีเหตุผลที่เราต้องกระทำตาม   แต่อย่างไรก็ตาม เราจะยอมที่จะอยู่ใต้อำนาจและยอมทำตามคำสั่งของผู้ปกครองประเทศเมื่อผู้ปกครองกลุ่มนั้นปกครองด้วยความถูกต้องเป็นธรรม  ปกป้องคนดีและลงโทษคนชั่ว (ดูโรม 13:3 มตฐ.)   แต่เมื่อผู้ปกครองประเทศปกครองด้วยอำนาจที่ฉ้อฉล  ถ้าเราต้องเลือกระหว่างการที่เราจะต้องเกรงกลัวพระเจ้า   กับการปกครองที่ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของผู้ปกครองประเทศ  คริสตชนเลือกที่จะยำเกรงพระเจ้าเฉกเช่นนางผดุงครรภ์ทั้งสอง  เพราะผู้ปกครองกลุ่มดังกล่าวกำลังข่มเหงคนถูกต้องชอบธรรม

เหตุการณ์ในพระธรรมกิจการ   พวกผู้นำศาสนายิวในสมัยนั้นสั่งให้พวกสาวกที่ติดตามพระเยซูคริสต์ “หยุด” ประกาศเรื่องราวและพระราชกิจของพระคริสต์   และที่สำคัญคือให้หยุด “สานต่อพระราชกิจของพระคริสต์” ในชุมชนคนยิว   แต่คำตอบของสาวกพระคริสต์ตอบด้วยความสุภาพที่ท้าทายกลางสภาฯว่า  “...เฉพาะ​พระ​พักตร์​พระ​เจ้า​เรา​ควร​เชื่อฟัง​พวก​ท่าน​หรือ​ควร​เชื่อฟัง​พระ​เจ้า ขอ​พวก​ท่าน​พิจารณาดู  เพราะ​เรา​ไม่​สา​มารถ​หยุด​พูด​ใน​สิ่ง​ที่​ได้​เห็น​และ​ได้​ยิน (กิจการ 4:19-20 มตฐ.)

ในเทศกาล “เตรียมรับเสด็จพระคริสต์เข้าในชีวิตเรา”  เราจะเปิดใจยอมรับพระคริสต์ และ กล้าที่จะต่อต้านอำนาจฉ้อฉล  หรือ  เราจะเลือกนิ่งเฉยต่อการสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในชุมชนที่เราอยู่   ในเทศกาลนี้เป็นเวลาที่ท้าทายความเชื่อของเราว่า  “เราจะตัดสินใจกบฏแข็งขืนต่ออำนาจและการกระทำที่ฉ้อฉล หรือ กบฏต่อพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของเรา?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

คำถามเพื่อการใคร่ครวญและอภิปราย

ท่านเคยมีประสบการณ์ชีวิตอย่างนางผดุงครรภ์ ชิฟราห์ และ ปูอาห์ หรือไม่?   ทั้งในครอบครัว หรือ ในที่ทำงาน หรือในชุมชนที่ท่านอยู่อาศัย?   เหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไรบ้าง?  ท่านทำอย่างไร?   แล้วเกิดผลอย่างไรบ้าง?

02 ธันวาคม 2558

คริสตชนมีมุมมองแบบไหนต่อ...การรอคอย?

ท่านอยากได้อะไร  ท่านจงให้สิ่งนั้น  แล้วท่านจะได้รับสิ่งนั้น 

และจะได้มากมายกว่าที่ท่านให้เป็นร้อยเท่าพันทวีทีเดียว เฉกเช่น เกษตรกร 

ถ้าเกษตรกรต้องการเก็บเกี่ยวข้าว  ตามหลักการธรรมชาติแห่งการทรงสร้างของพระเจ้า  เขาจะต้องหว่านข้าว ปลูกข้าว จึงจะได้เก็บเกี่ยวข้าว   เขาจะต้อง “ให้”  ความตั้งใจ  แรงงาน  และเมล็ดพันธุ์ข้าวตกลงในดิน   ยอมให้ข้าวเชื้อส่วนหนึ่ง   แต่เมื่อมันงอก  เติบโต  และเกิดผล   ข้าวเมล็ดนั้นมิได้ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวเพียงข้าวเมล็ดเดียว หรือ รวงเดียว   แต่หลายรวงรวมแล้วเป็นเมล็ดข้าวมากมายจากพันธุ์ข้าว 1 เมล็ด   ที่เราเรียกว่า ได้ข้าวกลับคืนร้อยเท่าพันทวี เช่นนั้น   และนี่คือพระพรที่พระเจ้าทรงอวยพระพรว่าให้เกิดผลดกทวีมากขึ้นบนแผ่นดิน...มิใช่หรือ?   

แต่ก็ยังมีหลักการธรรมชาติแห่งการทรงสร้างของพระเจ้าประการที่สองคือ  จากช่วงเวลาของการหว่าน  ถึงช่วงเวลาของการปลูก  และถึงช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยว   เป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรต้อง “รอคอย” ในช่วงเวลาที่เกษตรกรต้องรอคอย   เป็นช่วงเวลาที่เกษตรกร “ทำงานร่วมกับพระผู้ทรงสร้าง” เกษตรกรมิได้อยู่ว่างเฉย ๆ งานของเขาต้องดูแลเอาใจใส่พืชที่เขาหว่านและปลูก   การให้น้ำหรือรดน้ำให้พอเพียงและเหมาะสม   การป้องกัน และ กำจัดศัตรูพืช และ วัชพืช  ในขณะที่พืชเจริญ  เติบโต  เกิดดอก  ออกรวง  แล้วเกิดผล   เกษตรกรไม่สามารถทำให้พืชมีพลังชีวิตตามกระบวนการชีวิตที่เติบโตของมันได้   แต่พระเจ้าทรงเอาใจใส่และทรงกระทำพระราชกิจในส่วนนี้ของพระองค์ผ่านกระบวนการธรรมชาติที่ทรงสร้าง  

ดังนั้น ช่วงเวลาของ “การรอคอย” จึงมิใช่ช่วงเวลาของการอยู่เฉย ๆ  มิใช่เป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อหน่าย   เพราะถ้าเกษตรกรปล่อยให้ช่วงเวลานี้ผ่านไปอย่างไม่ใส่ใจ  ไม่กระตือรือร้น   แทนที่จะใช้เวลาช่วงนี้ร่วมในพระราชกิจกับพระเจ้าในพืชที่เขาหว่านและปลูกแล้ว   ท่านคงจินตนาการได้ว่าพืชที่เขาปลูกจะเกิดผล และ เกษตรกรได้รับผลอะไรบ้างจากการรอคอยที่เฉื่อยชาของเขา   การรอคอยของคริสตชนจึงเป็นช่วงเวลาที่เราจะต้องทำงานร่วมกับพระเจ้าอย่างสนิทใกล้ชิด  และเคียงข้างไปด้วยกัน

ในช่วงของ “การรอคอย”(ผลผลิต)  จึงเป็นช่วงเวลาที่ “บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์” อย่างยิ่งสำหรับคริสตชน และ สำหรับทุกคนด้วย   เพราะเป็นช่วงเวลาที่เราใช้ชีวิตและทำงานในแต่ละวันเคียงข้างไปกับพระเจ้าแบบ “ไหล่ชนไหล่”  เราได้เรียนรู้ถึงพระลักษณะ  จิตใจ  และพระประสงค์ของพระองค์เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น   มิใช่สัมผัสด้วยจินตนาการเท่านั้น   แต่สัมผัสพระองค์ผ่านการทำงานและการดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วย   พระเจ้า(ตัว)จริงจึงมิได้ถูก “กักขัง” ไว้ในพระคัมภีร์  แต่ทรงสำแดงพระองค์ในชีวิตประจำวันของเราที่ชัดเจนขึ้น

แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับเราแต่ละคนคือ   ในช่วงเวลาแห่ง “การรอคอย” เราได้ให้เวลาที่จะ “เก็บเกี่ยวประสบการณ์กับพระเจ้า” ในแต่ละวันหรือไม่?   น่าเสียดายมากครับ   เราปล่อยให้ “ประสบการณ์ชีวิตอันอุดม” ที่เราได้สัมผัสในแต่ละวันผ่านเลยชีวิตจิตใจของเราไป   ชีวิตของเราเป็นถังก้นรั่วที่มิได้รองรับพระพรที่พระเจ้าทรงเปิดเผย และ ประทานแก่เราเลย   เราปล่อยให้พระพรพระเจ้าผ่านเลยชีวิตของเราไปวันแล้ววันเล่าในช่วงเวลาแห่งการรอคอยนี้    ผมอยากจะพูดอย่างนี้ว่า  ในช่วงเวลาแห่งการรอคอย   เป็นช่วงเวลาที่เราต้อง “ถอดบทเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานเคียงข้างพระเจ้าไปวันต่อวัน และ ทุกวันทีเดียวครับ”

อย่าให้เรามัวแต่ “นั่งรอผลที่เราอยากได้”  จนมองข้ามช่วงเวลาแห่งการรอคอยถึงโอกาสที่เราจะ “เก็บเกี่ยว” สิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่า “ผลที่เราอยากได้” ที่เรากำลังรอคอย   คือ โอกาสที่จะได้ทำงานเคียงข้างไปกับพระเจ้า   มีโอกาสสนิทใกล้ชิดกับพระองค์ในชีวิตประจำวัน  ผ่านการงานที่เราทำ   และนี่คือโอกาสทองแห่งการได้สัมผัส  มีประสบการณ์ชีวิต  และเรียนรู้ถึงน้ำพระทัย และ พระประสงค์ของพระองค์   และนี่คือ “พระพรซ้อนพระพร” ในช่วงเวลาแห่งการรอคอย

ท่านมอง “ช่วงเวลาแห่งการรอคอย” ในชีวิตของท่านอย่างไรครับ?

“ข่วงเวลาแห่งการรอคอย”  เป็นช่วงเวลาที่เราไว้วางใจในแผนการ และ การทำงานของพระเจ้าในชีวิตของเรา   แล้วเราได้ใช้โอกาสนี้เข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์ผ่านอาชีพการงานและการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา   จนเราได้พบว่า  ในช่วงเวลาแห่งการรอคอยคือช่วงเวลาแห่ง “การเก็บเกี่ยว” การเรียนรู้ถึงน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเราชัดเจนยิ่งขึ้นหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

01 ธันวาคม 2558

จะจัดการความโศกเศร้า หรือ ให้มันจัดการเรา?

1 มีฤดูกาลสำหรับทุกสิ่ง
และมีวาระสำหรับเรื่องราวทุกอย่างภายใต้ฟ้าสวรรค์...
4 มีวาระร้องไห้ และวาระหัวเราะ  
มีวาระไว้ทุกข์ และวาระเต้นรำ (ปัญญาจารย์ 3:1, 4)

ชีวิตเป็นเรื่องที่ทุกข์ยากลำบาก   คุณมองชีวิตในวันนี้ด้วยมุมมองเช่นนี้หรือไม่?

คริสตชนมักมองว่า หลังจากที่อาดัมได้เลือกที่จะกระทำสิ่งที่ขัดขืนพระประสงค์ของพระเจ้า สร้างผลกระทบให้เกิดความฉีกขาด แตกหักขึ้นในมิติต่าง ๆ ในโลกใบนี้   ไม่มีสิ่งใดที่จะดำเนินต่อไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์   การดำเนินชีวิตตามใจปรารถนาของตนเองสร้างความไม่สมบูรณ์ถูกต้องทั้งในด้านร่างกาย   ในการงานของเรา   ทั้งในระดับตนเองและสังคม  ทั้งในระบบเศรษฐกิจ  การทำมาหากิน  และความเป็นอยู่   และที่เห็นชัดเจนทนโท่คือความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อมนุษย์ด้วยกัน  ความสัมพันธ์ที่มีต่อธรรมชาติ   และความสัมพันธ์กับพระเจ้าองค์สูงสุดในชีวิตกลับวิปริตวิกฤติแตกร้าวไปหมดสิ้น   ชีวิตของมนุษย์พบกับความสูญเสียมากมาย   และทำให้เราเกิดความรู้สึก เจ็บปวด  โศกเศร้าในชีวิต   ส่วนใหญ่คริสตชนมีมุมมองเช่นนี้ใช่ไหม?

จำเป็นอย่างยิ่งที่ราจะต้องกลับมาปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่เกี่ยวกับสัจจะความจริงการสูญเสีย และ ความโศกเศร้าที่เราประสบพบเจอในชีวิตของเราตามที่พรรณนาบ่นเสียยืดยาวข้างต้น

ประการแรก  พระเจ้าไม่ได้ทรงคาดหวังให้เรามีความสุขตลอดเวลา ตลอดชีวิต

เป็นความเชื่อและความเข้าใจผิด ๆ ว่าถ้าเป็นคริสตชนแล้วชีวิตจะมีความสุขตลอดเวลา   หน้าตาจะยิ้มแฉ่งตลอดวัน   เหมือนกับรูปปั้นพระยิ้มปุ้มปุ้ย   ในพระคัมภีร์มิได้มีมุมมองว่า ชีวิตของมนุษย์จะมีแต่ความสุข   แต่ชีวิตย่อมมีความทุกข์  มีความยากลำบาก  มีความเจ็บปวดได้ด้วย   และสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต   เพียงแต่ว่าคริสตชนที่ตกอยู่ในภาวะความทุกข์ยากลำบากของชีวิต   แต่ยังจะมีความชื่นชมยินดีได้อย่างไร?   หรือสามารถที่จะมองเห็นสิ่งดีมีประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากความทุกข์ยากลำบากในชีวิตได้หรือไม่ต่างหาก  

ตามพระธรรมปัญญาจารย์กล่าวชัดเจนไว้แล้วว่า  ชีวิตมีทั้งความทุกข์โศกเศร้า  แล้วก็มีเวลาของความสุขชื่นชมด้วย  “มีวาระร้องไห้ และวาระหัวเราะ   มีวาระไว้ทุกข์ และวาระเต้นรำ”   ในพระคัมภีร์กล่าวถึงความทุกข์โศกเศร้าที่เกิดขึ้นกับเรา  บางครั้งเกิดจากการสูญเสีย  บางครั้งเกิดจากความผิดหวัง   บางครั้งเกิดจากการกระทำผิดบาปของเรา  บางครั้งบางคนเกิดจากความตกต่ำของชีวิตภายในของตน   และบางครั้งเกิดจากผลกระทบจากการกระทำผิดของคนอื่น    แต่โปรดตระหนักชัดว่า   ในความทุกข์ยากลำบาก หรือ ความทุกข์โศกเศร้าในชีวิตเราทุกครั้ง   พระเจ้าทรงมีแผนการที่จะใช้สภาวการณ์ชีวิตเหล่านั้นในการเปลี่ยนแปลง และ เสริมสร้างชีวิตของเราแต่ละคนให้เติบโตแข็งแรงขึ้น   เพื่อชีวิตของเราแต่ละคนจะได้เป็นผู้ที่สามารถเป็นพระพรของพระเจ้าไปสู่มนุษยชาติทั้งใกล้และไกล

ประการที่สอง   ความทุกข์โศกเศร้าบ่งชี้ถึงความเป็นมนุษย์ปกติของเราแต่ละคน

ถ้าใครที่ไม่เคยมีความทุกข์โศกเศร้าในชีวิตเลย   นั่นบ่งชี้ชัดเจนว่า   คน ๆ นั้นกำลังไม่สามารถรับรู้ความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่ในสังคมโลกปัจจุบันนี้   และบ่งชี้ว่าคน ๆ นั้นเป็นคนที่ปราศจากและไร้ซึ่งอารมณ์ความรู้สึก   และบ่งชี้ด้วยว่า คน ๆ นั้นไร้ซึ่งความรักเมตตาในจิตใจ   เพราะถ้าเขาเห็น  สัมผัส และต้องตกอยู่ในสภาพชีวิตสังคมโลกปัจจุบันแล้วยังเฉยไม่รู้สึกทุกข์ร้อนใดเลย   คน ๆ นั้นจะมีความรักในหัวจิตหัวใจของเขาได้อย่างไร?

ความโศกเศร้าเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เจ็บปวด   แต่ความโศกเศร้าเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีสุขภาพที่ดีและเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นประโยชน์   และสิ่งนี้เป็นหนทางหนึ่งที่พระเจ้าทรงประทานสิ่งดีเข้ามาในชีวิตของเรา   ความโศกเศร้าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่พระเจ้าทรงใช้เพื่อช่วยหนุนเสริมให้เราสามารถข้ามผ่านความตึงเครียด การตีบตันในชีวิตของเรา

บางคนที่ได้รับความเจ็บปวดในส่วนลึกของชีวิตที่กลัดหนองในชีวิตจิตวิญญาณและความรู้สึก   อาจจะเกิดจากการกระทำของพ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูในสมัยที่ยังเป็นเด็ก   หรือบางคนเจ็บปวดในชีวิตไม่รู้ลืมจากคำพูดของเพื่อนสนิทคนหนึ่ง   คน ๆ นี้มีความ “โศกเศร้า” ในชีวิต   แต่ไม่สามารถจัดการรับมือกับมัน   คิดที่จะทิ้งมันเสีย หรือ หลีกลี้หนีไกลจากมัน   หรือ พยายามที่จะไม่ให้ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้น   แต่ก็ไม่สามารถควบคุมจัดการมันได้   แต่มันกลับฝังรากลงลึกในชีวิตของตน

แต่เราต้องไม่ลืมคำสอนบนภูเขาของพระเยซูคริสต์ที่ว่า   4คน​ที่​โศก​เศร้าก็​เป็น​สุข   เพราะ​ว่า​เขา​ทั้ง​หลาย​จะ​ได้​รับ​การ​หนุน​ใจ” (มัทธิว 5:4 มตฐ.)   ในมุมมองของพระเยซูคริสต์  ความโศกเศร้าเป็นสิ่งที่สำคัญจำเป็นที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา  เมื่อเรายอมรับ และจัดการรับมือกับความโศกเศร้าดังกล่าว   เราเอาความทุกข์โศกเศร้านั้นออกมาในที่เปิดเผยเห็นได้ชัด   ทั้งต่อหน้าเราและต่อพระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้า   แทนการที่เรามัวแต่คร่ำครวญถึงความทุกข์ยากลำบากที่เราได้รับ   ซึ่งเป็นอาการที่ความทุกข์ยากลำบากกำลังมีอิทธิพลเหนือชีวิตของเรา   ให้เรานำความโศกเศร้าขมขื่นที่รังแต่จะหยั่งรากลงลึกภายในชีวิตจิตใจของเราออกมา    แต่ไม่ให้มันเกาะกุม ยึดครอง  และควบคุมชีวิตความรู้สึกของเรา   เพื่อเราจะรู้เท่าทัน และ จัดการรับมือกับความทุกข์โศกเศร้านั้นโดยกำลังและพระปัญญาการทรงนำของพระเจ้า  เพื่อให้สิ่งใหม่คือ “การหนุนใจ” เข้ามาแทนที่ความทุกข์โศกเศร้าในชีวิตของเรา

ดาวิด กล่าวใน สดุดี 32:3 ว่า  “3 เมื่อ​ข้า​พระ​องค์​ไม่​สาร​ภาพ​บาป ร่าง​กาย​ของ​ข้า​พระ​องค์​ก็​ทรุด​โทรม​ไป   โดย​การ​คร่ำ​ครวญ​วัน​ยัง​ค่ำ” (มตฐ.)

แม้ว่าสิ่งเลวร้าย หรือ สถานการณ์ไม่พึงประสงค์หลายอย่างเกิดขึ้นกับเราโดยที่เราไม่สามารถที่จะเลือกได้   แต่การรับมือจัดการกับความทุกข์โศกเศร้าเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนสามารถที่จะเลือกได้   เราสามารถที่จะเลือกให้ความทุกข์โศกเศร้าในชีวิตจัดการควบคุมชีวิตของเรา หรือ เราจะเลือกที่จะดึงเอาความทุกข์โศกเศร้าออกมาจากภายในชีวิตของเรา  วางแผ่ให้เห็นชัดทั้งต่อหน้าตนเองและต่อพระพักตร์องค์พระผู้เป็นเจ้า   และจัดการรับมือกับมันด้วยพระกำลังและพระปัญญาที่พระเจ้าทรงนำเรา   เพื่อทำให้ชีวิตของเราเติบโตเข้มแข็ง และ เกิดผลตามพระประสงค์ของพระเจ้า   เป็นพระพรที่เกิดในชีวิตของเราและส่งผ่านไปยังคนรอบข้างด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499