02 ธันวาคม 2558

คริสตชนมีมุมมองแบบไหนต่อ...การรอคอย?

ท่านอยากได้อะไร  ท่านจงให้สิ่งนั้น  แล้วท่านจะได้รับสิ่งนั้น 

และจะได้มากมายกว่าที่ท่านให้เป็นร้อยเท่าพันทวีทีเดียว เฉกเช่น เกษตรกร 

ถ้าเกษตรกรต้องการเก็บเกี่ยวข้าว  ตามหลักการธรรมชาติแห่งการทรงสร้างของพระเจ้า  เขาจะต้องหว่านข้าว ปลูกข้าว จึงจะได้เก็บเกี่ยวข้าว   เขาจะต้อง “ให้”  ความตั้งใจ  แรงงาน  และเมล็ดพันธุ์ข้าวตกลงในดิน   ยอมให้ข้าวเชื้อส่วนหนึ่ง   แต่เมื่อมันงอก  เติบโต  และเกิดผล   ข้าวเมล็ดนั้นมิได้ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวเพียงข้าวเมล็ดเดียว หรือ รวงเดียว   แต่หลายรวงรวมแล้วเป็นเมล็ดข้าวมากมายจากพันธุ์ข้าว 1 เมล็ด   ที่เราเรียกว่า ได้ข้าวกลับคืนร้อยเท่าพันทวี เช่นนั้น   และนี่คือพระพรที่พระเจ้าทรงอวยพระพรว่าให้เกิดผลดกทวีมากขึ้นบนแผ่นดิน...มิใช่หรือ?   

แต่ก็ยังมีหลักการธรรมชาติแห่งการทรงสร้างของพระเจ้าประการที่สองคือ  จากช่วงเวลาของการหว่าน  ถึงช่วงเวลาของการปลูก  และถึงช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยว   เป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรต้อง “รอคอย” ในช่วงเวลาที่เกษตรกรต้องรอคอย   เป็นช่วงเวลาที่เกษตรกร “ทำงานร่วมกับพระผู้ทรงสร้าง” เกษตรกรมิได้อยู่ว่างเฉย ๆ งานของเขาต้องดูแลเอาใจใส่พืชที่เขาหว่านและปลูก   การให้น้ำหรือรดน้ำให้พอเพียงและเหมาะสม   การป้องกัน และ กำจัดศัตรูพืช และ วัชพืช  ในขณะที่พืชเจริญ  เติบโต  เกิดดอก  ออกรวง  แล้วเกิดผล   เกษตรกรไม่สามารถทำให้พืชมีพลังชีวิตตามกระบวนการชีวิตที่เติบโตของมันได้   แต่พระเจ้าทรงเอาใจใส่และทรงกระทำพระราชกิจในส่วนนี้ของพระองค์ผ่านกระบวนการธรรมชาติที่ทรงสร้าง  

ดังนั้น ช่วงเวลาของ “การรอคอย” จึงมิใช่ช่วงเวลาของการอยู่เฉย ๆ  มิใช่เป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อหน่าย   เพราะถ้าเกษตรกรปล่อยให้ช่วงเวลานี้ผ่านไปอย่างไม่ใส่ใจ  ไม่กระตือรือร้น   แทนที่จะใช้เวลาช่วงนี้ร่วมในพระราชกิจกับพระเจ้าในพืชที่เขาหว่านและปลูกแล้ว   ท่านคงจินตนาการได้ว่าพืชที่เขาปลูกจะเกิดผล และ เกษตรกรได้รับผลอะไรบ้างจากการรอคอยที่เฉื่อยชาของเขา   การรอคอยของคริสตชนจึงเป็นช่วงเวลาที่เราจะต้องทำงานร่วมกับพระเจ้าอย่างสนิทใกล้ชิด  และเคียงข้างไปด้วยกัน

ในช่วงของ “การรอคอย”(ผลผลิต)  จึงเป็นช่วงเวลาที่ “บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์” อย่างยิ่งสำหรับคริสตชน และ สำหรับทุกคนด้วย   เพราะเป็นช่วงเวลาที่เราใช้ชีวิตและทำงานในแต่ละวันเคียงข้างไปกับพระเจ้าแบบ “ไหล่ชนไหล่”  เราได้เรียนรู้ถึงพระลักษณะ  จิตใจ  และพระประสงค์ของพระองค์เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น   มิใช่สัมผัสด้วยจินตนาการเท่านั้น   แต่สัมผัสพระองค์ผ่านการทำงานและการดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วย   พระเจ้า(ตัว)จริงจึงมิได้ถูก “กักขัง” ไว้ในพระคัมภีร์  แต่ทรงสำแดงพระองค์ในชีวิตประจำวันของเราที่ชัดเจนขึ้น

แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับเราแต่ละคนคือ   ในช่วงเวลาแห่ง “การรอคอย” เราได้ให้เวลาที่จะ “เก็บเกี่ยวประสบการณ์กับพระเจ้า” ในแต่ละวันหรือไม่?   น่าเสียดายมากครับ   เราปล่อยให้ “ประสบการณ์ชีวิตอันอุดม” ที่เราได้สัมผัสในแต่ละวันผ่านเลยชีวิตจิตใจของเราไป   ชีวิตของเราเป็นถังก้นรั่วที่มิได้รองรับพระพรที่พระเจ้าทรงเปิดเผย และ ประทานแก่เราเลย   เราปล่อยให้พระพรพระเจ้าผ่านเลยชีวิตของเราไปวันแล้ววันเล่าในช่วงเวลาแห่งการรอคอยนี้    ผมอยากจะพูดอย่างนี้ว่า  ในช่วงเวลาแห่งการรอคอย   เป็นช่วงเวลาที่เราต้อง “ถอดบทเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานเคียงข้างพระเจ้าไปวันต่อวัน และ ทุกวันทีเดียวครับ”

อย่าให้เรามัวแต่ “นั่งรอผลที่เราอยากได้”  จนมองข้ามช่วงเวลาแห่งการรอคอยถึงโอกาสที่เราจะ “เก็บเกี่ยว” สิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่า “ผลที่เราอยากได้” ที่เรากำลังรอคอย   คือ โอกาสที่จะได้ทำงานเคียงข้างไปกับพระเจ้า   มีโอกาสสนิทใกล้ชิดกับพระองค์ในชีวิตประจำวัน  ผ่านการงานที่เราทำ   และนี่คือโอกาสทองแห่งการได้สัมผัส  มีประสบการณ์ชีวิต  และเรียนรู้ถึงน้ำพระทัย และ พระประสงค์ของพระองค์   และนี่คือ “พระพรซ้อนพระพร” ในช่วงเวลาแห่งการรอคอย

ท่านมอง “ช่วงเวลาแห่งการรอคอย” ในชีวิตของท่านอย่างไรครับ?

“ข่วงเวลาแห่งการรอคอย”  เป็นช่วงเวลาที่เราไว้วางใจในแผนการ และ การทำงานของพระเจ้าในชีวิตของเรา   แล้วเราได้ใช้โอกาสนี้เข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์ผ่านอาชีพการงานและการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา   จนเราได้พบว่า  ในช่วงเวลาแห่งการรอคอยคือช่วงเวลาแห่ง “การเก็บเกี่ยว” การเรียนรู้ถึงน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเราชัดเจนยิ่งขึ้นหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น