27 มิถุนายน 2562

ติดตามพระคริสต์ไปในชีวิตประจำวัน

พระเยซูตรัสว่า “จงตามเรามาเถิด แล้วเราจะส่งท่านให้ออกไปเป็นผู้หาคนดั่งหาปลา”
(มาระโก 1:17 สมช.)

ในวัฒนธรรมสังคมยิวในสมัยพระเยซูคริสต์ การที่ใครจะเป็นสาวกของใครนั้น คน ๆ นั้นเป็นคนที่ตัดสินใจว่า ตนจะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะติดตามและเป็นลูกศิษย์ หรือ เป็นสาวกของใคร แล้วเข้าไปสมัครฝากเนื้อฝากตัวกับอาจารย์คนนั้น อาจารย์ท่านนั้นอาจจะพิจารณา หรือ ทดสอบดูและตัดสินใจว่าจะรับคน ๆ นั้นมาเป็นศิษย์ หรือ สาวกของตนหรือไม่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมตะวันออกในสมัยก่อน เช่น จีน อินเดีย และ ไทยเรา

แต่พระเยซูคริสต์กลับกระทำปฏิบัติสวนกระแสกับวัฒนธรรมในสังคมยิวสมัยนั้น   พระองค์เป็นผู้ริเริ่มว่า พระองค์จะเป็นผู้เลือกและเรียกใครให้มาติดตามเป็นสาวกของพระองค์   และพระเยซูคริสต์ยังใช้กระบวนการเลือกสรรสาวกวิธีเดียวกันนี้กับการทรงเลือกและเรียกผู้คนในสมัยปัจจุบันให้มาติดตามและเป็นสาวกของพระองค์

แต่คริสตชนส่วนมากในปัจจุบันมักคิดว่า การเป็นคริสตชนเป็นเรื่องของแต่ละคนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าตนจะเชื่อในพระเยซูคริสต์ และคำสอนของพระองค์ไหม และก็มีส่วนเป็นความจริงอยู่บ้าง (ไม่เถียง?)  

แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง พระคริสต์ทรงเป็นผู้เรียกและเลือกเรา การที่เราเป็นของพระเยซูคริสต์เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้แสวงหาเราก่อน ทรงฉุดช่วยเราออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่ว   ด้วยความรักและพระคุณ แล้วพระองค์ทรงเสริมสร้างเราให้มีความเชื่อศรัทธา จากนั้น เปลี่ยนแปลง เสริมสร้างให้การดำเนินชีวิตประจำวันของเราให้ตอบสนองสอดคล้องต่อความเชื่อศรัทธาของเราในพระองค์ เป็นการดำเนินชีวิตประจำวันที่ตอบสนองต่อจุดประสงค์แห่งการทรงเลือกและการทรงเรียกของพระคริสต์

ดังนั้น การเป็นคริสตชน จึงมิใช่  เราเป็นผู้ริเริ่มที่จะตัดสินใจเชื่อในพระเยซูคริสต์  แล้วยอมรับบัพติสมา และหลายคนเข้าใจผิดพลาดว่า  ตนได้เป็นคริสตชนที่ได้รับความรอดที่สมบูรณ์แล้ว กระบวนการนี้คริสตจักรจึงได้สมาชิกมาเป็นคริสตชนที่ด้อยประสิทธิภาพ และ ไร้คุณภาพ เพราะเราจะพบว่า หลังจากการรับบัพติสมาแล้ว เขาก็เป็น “คริสตชนที่มีชีวิตเดิม ๆ”  ที่ปฏิบัติศาสนกิจ/พิธีตามวัฒนธรรมปฏิบัติของคริสตจักรเท่านั้น?

หัวใจ หรือ แก่นหลักของข่าวประเสริฐ หรือ พระกิตติคุณคือ แผ่นดินของพระเจ้ามาแล้ว  และกำลังค่อย ๆ สมบูรณ์ขึ้น การครอบครอง ปกครอง และ การปกป้องของพระเจ้าเกิดขึ้นเป็นจริงแล้วบนแผ่นดินโลกนี้ และกำลังขยายแผ่กว้างออกไป และพระคริสต์ได้เลือกและเรียกแต่ละคนให้ติดตามพระองค์ไปในชีวิตประจำวัน พร้อมกันนั้นพระองค์ก็ทรงเปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง หนุนเสริมชีวิตที่ติดตามพระองค์ของเราแต่ละคน เพื่อที่แต่ละคนจะสานต่อร่วมงานในพระราชกิจแผ่นดินของพระเจ้าที่พระองค์ได้เริ่มต้นสถาปนาแล้ว และยังดำเนินการต่อไปร่วมกับสาวกทุกคนที่ติดตามพระองค์

ถ้าเราสำนึกในพระคุณของพระเยซูคริสต์ ที่พระองค์เป็นผู้ที่แสวงหาเราก่อน เป็นผู้ทุ่มทั้งชีวิตของพระองค์มากอบกู้ฉุดช่วยเราให้หลุดรอดปลอดภัยจากอำนาจของมารร้าย แล้วยังเสริมสร้างชีวิตทุกมิติของเราขึ้นใหม่ และให้เกียรติแก่เราแต่ละคนที่จะเป็นผู้สานต่อพระราชกิจของพระคริสต์บนโลกนี้ร่วมกับพระองค์ และสาวกคนอื่น ๆ ที่ติดตามพระองค์ การตอบสนองต่อพระประสงค์ของพระคริสต์ และ พระคุณของพระองค์จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่เราต้องสัตย์ซื่อในชีวิตฐานะสาวกของพระคริสต์

การสร้างสาวกเป็นพระราชกิจที่พระคริสต์ริเริ่มตามแบบของพระองค์ และยังกำลังสร้างสาวกของพระองค์ในปัจจุบัน แล้วชวนคริสตจักรมาเข้าร่วมในพระราชกิจนี้ ดังนั้น เราจึงไม่สร้างสาวกตามแบบ/วิธีที่เราต้องการ แต่ตามกระบวนการสร้างสาวกของพระคริสต์

คำถามที่สำคัญตอนนี้คือ ตัวเราเองได้รับการทรงสร้างให้เป็นสาวกพระคริสต์แล้วหรือยัง? และถ้าเรายังไม่ได้รับการทรงสร้าง แล้วเราจะร่วมสร้างสาวกพระคริสต์ได้อย่างไร?

เพื่อในสวรรค์เป็นอย่างไร ให้เป็นเช่นนั้นบนแผ่นดินโลก! ตามพระประสงค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

24 มิถุนายน 2562

สิบลักษณะผู้นำ “เพื่อตนเอง” (มิใช่เพื่อคนอื่น)

“ผู้นำ” มี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ผู้นำที่รับใช้ตนเอง และ ผู้นำที่รับใช้คนอื่น ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นผู้นำในคริสตจักร ในสถาบัน ในองค์กร ในบริษัท หรือ ในองค์กรการกุศล ในองค์กรการกีฬา หรือ แม้แต่ในชั้นเรียน  

ต่อไปนี้คือ 10 ลักษณะของ “ผู้นำเพื่อตนเอง”  ที่มิใช่ผู้นำเพื่อคนอื่น

  1. เป็นผู้นำที่ไม่สนใจว่าคนอื่นจะว่าอย่างไร
  2. เป็นผู้นำที่ไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของผู้อื่น
  3. เป็นผู้นำที่โพนทะนาถึงความเสียสละของตนที่มาเป็นผู้นำของพวกเขา (ทั้งด้วยตนเอง หรือ ผ่านลูกน้องผู้จงรักภักดี)
  4. เป็นผู้นำที่เลือกสิ่งที่สำคัญสุด เลือกกระบวนการ เลือกคน  ตามที่ตนเองเห็นสำคัญ  มากกว่าที่จะพิจารณาร่วมกับเหตุผล หลักฐาน ความคิดของคนอื่น ๆ ในทีมงาน/องค์กร
  5. เป็นผู้นำที่มิได้อยู่ร่วมใกล้ชิด และ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับทีมงาน ดังนั้น เมื่อคนในทีมงานเกิดความจำเป็นต้องการที่สำคัญในชีวิต ผู้นำคนนั้นจึงไม่รู้ และ ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือหนุนเสริม
  6. เป็นผู้นำที่เลือกทำในสิ่งที่ง่ายสำหรับตน และเลือกที่จะทำในสิ่งที่เขาจะต้องเสียค่าใช้จ่าย/ผลประโยชน์ของตนน้อยที่สุด
  7. เป็นผู้นำที่ไม่ใส่ใจ/สนใจที่จะอธิษฐานเผื่อทีมงานของตนเอง
  8. เป็นผู้นำที่แสวงหาส่วนที่ตนและพรรคพวก “ที่จะได้”  มากกว่าที่ตนแลพรรคพวก “ที่จะให้” แก่องค์กร หรือ คนอื่น
  9. เป็นผู้นำที่เฉลิมฉลองชัยชนะของตนเอง แต่กลับพลาดจากเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของทีมงาน หรือ องค์กร
  10. เป็นผู้นำที่เวลาสนทนา ปราศรัย บรรยาย จะใช้คำสรรพนามแบบเน้นถึงตนเองเป็นศูนย์กลางบ่อย หรือ เสมอ เช่น ผมคิดว่า,  ดิฉันเห็นว่า, ฉันเป็น..., ผมเป็นคนทำ...,  ...ของผม, และ ฯลฯ
  11. ของแถมท้ายครับ...ผู้นำคริสตชนควรระมัดระวังอย่างมากเป็นพิเศษ เราต้องไวต่อสิ่งเหล่านี้ข้างต้น เพราะเราอาจจะเป็นผู้นำที่ “หลงตัวเองทางจิตวิญญาณ”  แล้วใช้คำใหญ่ ๆ ทางความเชื่อ ทางจิตวิญญาณอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน และใช้คำเหล่านี้อย่างไม่เหมาะสม เช่น “การทรงเรียก” “ผู้ดูแลรับผิดชอบที่ดี (ผู้จัดการที่ดี)” “การรับใช้” ในนามของความปรารถนาที่เห็นแก่ตัว!


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

20 มิถุนายน 2562

พระเจ้าใช้คนที่เต็มใจที่จะเสี่ยงต่อความล้มเหลว


พระเจ้ามิได้ใช้คนที่มีแต่วิสัยทัศน์หรือนิมิตเท่านั้น แต่พระองค์ใช้คนที่ลงมือทำตามวิสัยทัศน์ และแน่นอนว่า เมื่อเราลงมือเริ่มทำตามวิสัยทัศน์ เรามักพบกับอุปสรรค ปัญหา และที่สำคัญที่หลายคนกลัวคือ “เสี่ยงต่อความล้มเหลว”

คนลักษณะที่สองที่พระเจ้าทรงใช้คือ คนที่รู้อยู่แก่ใจว่า เขาต้องพบกับอุปสรรค ปัญหา และเสี่ยงที่จะล้มเหลว แต่เขายังยืนหยัดก้าวต่อไปด้วยความไว้วางใจว่า พระเจ้าจะทรงนำ พระเจ้าเคียงข้างเขาไปในทุกที่ทุกสถานการณ์ เขาเชื่อในพระสัญญาครับ

พระเจ้ามิได้ใช้เพียงคนที่มีนิมิต/วิสัยทัศน์ที่สำคัญและยิ่งใหญ่เท่านั้น 

แต่คน ๆ นั้นต้องเต็มใจที่จะเสี่ยงกับความล้มเหลวในชีวิตในการขับเคลื่อนมุ่งสู่วิสัยทัศน์ดังกล่าว นั่นหมายความว่า เขาวางความเสี่ยงที่จะล้มเหลว-ล้มลงบนเส้นทาง-กระบวนการมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์นั้นด้วย ดังคำโบราณกล่าวว่า  “เจ้าเต่าจะเดินก้าวไปข้างหน้าได้ก็ต่อเมื่อมันต้องกล้าเสี่ยงยื่นหัวออกจากกระดองของมันเท่านั้น”

วิสัยทัศน์/นิมิต จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าปราศจากความเสี่ยง ถ้าเราต้องการเป็นคนที่พระเจ้าใช้ เราต้องการรับใช้พระองค์ เราต้องเรียนรู้ที่จะเสี่ยง

ในอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ (ดู มัทธิว 25:14-27) คนใช้สองคนแรกนำเงินที่เจ้านายให้แม้จะมีจำนวนที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองก็สามารถนำไปลงทุนจนได้กำไรอีกเท่าตัว นายจึงกล่าวแก่คนรับใช้ทั้งสองว่า “...เจ้าเป็นบ่าวที่ดีและซื่อสัตย์...” 

แต่คนใช้คนที่สามที่ได้นำเงินที่เจ้านายให้ไปฝังดินเสีย เพราะไม่กล้าเสี่ยงกลัวจะขาดทุน แต่ยังมีหน้ามารายงานว่า เงินที่นายฝากให้ดูแลนั้นมีอยู่ครบถ้วน แต่นายตอบคนใช้คนที่สามว่า “ไอ้บ่าวเลวแสนขี้เกียจ!...” บ่าวที่ไม่มีความสัตย์ซื่อในความรับผิดชอบต่อเงินที่นายได้มอบหมายไว้ เพราะสิ่งที่นายฝากไว้คาดหวังว่า ต้องการให้เขานำไปลงทุนให้เกิดประโยชน์   แต่เขากลับเอาไปฝังซ่อนไว้ในดิน แล้วยังมีหน้ามาบอกเจ้านายว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ยังอยู่ครบ  แต่นายบอกว่า ถ้าเขากลัวขาดทุนเขาควร “เอาเงินของเราไปฝากกับนายธนาคาร เมื่อเรามาก็จะได้รับเงินทั้งดอกเบี้ยด้วย” ในที่นี้กำลังบอกเราว่า คนรับใช้ที่สัตย์ซื่อในที่นี้หมายถึง สัตย์ซื่อในความรับผิดชอบที่ตนได้รับ และการที่จะมีความสัตย์ซื่อในความรับผิดชอบย่อมรวมถึงต้องกล้าที่จะเสี่ยงด้วย

ถ้าเราไม่ยอมรับความเสี่ยงในพันธกิจที่เราทำ เราก็ไม่เข้าใจถึงความสัตย์ซื่อในการทำพันธกิจใด ๆ ที่พระเจ้าทรงเรียก หรือ ทรงมอบหมายให้เราทำ   เพราะถ้าไม่มีความเสี่ยงเราก็ไม่จำเป็นต้องมีความเชื่อศรัทธา เราต้องมีความเชื่อศรัทธาเพราะพันธกิจที่เราได้รับมอบหมายมีความเสี่ยงสูงมาก และในเวลาเดียวกันพระเจ้าประสงค์ที่จะใช้ประสบการณ์ในการรับมือกับความเสี่ยงนั้นเสริมสร้างศรัทธาของเราในพระองค์ที่มั่นคง แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ยิ่งเสี่ยงสูงศรัทธายิ่งมีโอกาสที่จะเข้มแข็งมาก

สิ่งที่ท้าทายเหล่านี้  เราไม่สามารถรับมือจัดการให้สำเร็จด้วยพลังความสามารถของเราเองได้ใช่ไหม?  หลายเรื่องหลายประเด็นในงานพันธกิจคริสตจักรที่เราอธิบายไม่ได้  นอกจากต้องพึ่งในพลังที่ทรงอานุภาพจากพระเจ้าเท่านั้น  ให้เรากล้าที่จะก้าวเข้าไปในกระบวนการของพันธกิจนั้น   แล้วก้าวเดินไปทีละก้าวกับพระเยซูคริสต์   ประสบการณ์นี้จะสอนและเสริมความเชื่อศรัทธาของเราว่า  พระเจ้ากำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์ในงานพันธกิจที่เรารับผิดชอบ อย่ากลัวที่จะเสี่ยงจนไม่กล้าทำอะไร กลัวจนหัวหดอยู่ในกระดอง? หรือ ไม่ก็เป็นผู้นำที่เอาตัวรอด เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น อะไรต้องเสี่ยง “เว้น” “หลีก” “หลบ” เสีย?

เมื่อเรากล้าที่จะก้าวออกไปกับพระคริสต์ในกระบวนพันธกิจทีละก้าว เราจะพบและเริ่มการเรียนรู้ว่า พระคริสต์ทำให้เกิดผลได้

ผู้นำแบบนี้ต่างหากที่พระเจ้าทรงใช้!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

17 มิถุนายน 2562

พระเจ้าใช้คนที่มี “วิสัยทัศน์” มี “นิมิต”

มักมีคนถามเสมอว่า  “คุณบอกหน่อยได้ไหมว่า... พระเจ้าใช้คนแบบไหน?

พระคัมภีร์บอกเราว่า พระเจ้าทรงใช้คนที่มีความเชื่อศรัทธา  “ถ้าไม่มีความเชื่อก็เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้พระเจ้าพอพระทัย...” (ฮีบรู 11:6 อมธ.) 

คนลักษณะแรกที่พระเจ้าทรงใช้คือ พระเจ้าใช้คนที่มีวิสัยทัศน์ คนที่มีนิมิต มีความฝัน  หรือ ผู้นำที่มีเป้าหมาย เพราะสิ่งเหล่านี้สำแดงออกมาให้เราเห็นว่า คนเช่นนี้มีความเชื่อศรัทธา

คริสตจักรย่อมไม่เจริญเติบโตเกินกว่านิมิตหมายที่ผู้นำคริสตจักรมี และไม่กว้างไกลไปกว่าภาวะผู้นำของผู้นำคริสตจักร และวิสัยทัศน์/นิมิตของภาวะผู้นำก็จะไม่กว้างไกลไปกว่าวิสัยทัศน์/นิมิตของพันธกิจการอภิบาลชีวิตคริสตจักรและชุมชน ตามพระมหาบัญชาของพระคริสต์  

สำหรับคริสตจักรแล้ว มิใช่มี...วิสัยทัศน์ที่ตอบสนองความต้องการของใครบางคน   ตอบสนองนโยบายของแหล่งทุน ตอบสนองนโยบายขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องตอบสนองพระมหาบัญชาของพระคริสต์ที่ตั้งคริสตจักรขึ้น เพื่อประสงค์ให้คริสตจักรสานต่อพระราชกิจที่พระองค์เริ่มต้นไว้แล้วบนแผ่นดินโลกนี้  

ถ้าเรามีเป้าหมายที่ดี เราก็เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า (ดู สุภาษิต 11:27 มตฐ.) ในที่นี้ขอท้าทายเราทุกคนว่าให้เรามีวิสัยทัศน์/นิมิตที่สำคัญ ที่ยิ่งใหญ่ที่พระคริสต์ประทานแก่คริสตจักร  ด้วยความเชื่อศรัทธาว่า พระองค์จะเคียงข้าง นำเรา ให้กำลังแก่เราที่จะทำสำเร็จตามวิสัยทัศน์ที่สำคัญยิ่งใหญ่ดังกล่าว

สิ่งสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของนิมิต/วิสัยทัศน์ที่เรามีนั้น  เราไม่ต้องลงทุนหรือเสียค่าราคาอะไรเลย เพราะวิสัยทัศน์/นิมิต เป็นเรื่องของความเชื่อที่เราซื้อขายกันไม่ได้ และย้ำว่าวิสัยทัศน์/นิมิต นั้นเป็นความเชื่อไม่ใช่ “ความอยากได้ใคร่มี/ใคร่ทำของเราเอง”  

ดังนั้น ให้เรามีวิสัยทัศน์/มีนิมิต ถึงสิ่งที่เราต้องการให้พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของเรา ทำพระราชกิจในคริสตจักรของเรา นี่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าราคาที่เราต้องลงทุน ไม่เกี่ยวกับว่า คริสตจักรมีงบประมาณเรื่องนี้หรือไม่? ไม่ขึ้นกับว่าจะได้เงิน “ตอบสนองนโยบายของ.....” หรือไม่ อย่าลืมว่า ความเชื่อศรัทธาทำให้เรากล้าที่จะมีเป้าหมาย ความเชื่อศรัทธาให้เรากล้าที่จะฝันในชีวิต  

ด้วยความเชื่อศรัทธาทำให้เรากล้าที่จะมีนิมิต/วิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นตั้งใจจะทำตามพระบัญชาของพระคริสต์ ในการสานต่อพระราชกิจของพระองค์ ด้วยความไว้วางใจและเชื่อมั่นในการทรงนำและเคียงข้างของพระองค์

แต่เราต้องย้อนกลับมาพิจารณาตนเองว่า ที่ผ่านมา เราผิดพลาดอะไรบ้างไหมในการกำหนดวิสัยทัศน์/นิมิต/เป้าหมายของเรา?  

ประการแรก เรากำหนดเป้าหมาย “ต่ำ” กว่าศักยภาพ ความสามารถ และ ความเชื่อที่เราเชื่อว่าพระเจ้าจะทำได้ในชีวิต/ในคริสตจักรของเรา (แต่เราไปกำหนดตามตัวเงินที่เรามี?)

ประการที่สอง เราพยายามที่จะเผด็จศึกให้แผนงานที่กำหนดเสร็จอย่างด่วนเร็วเกินไป   อย่าลืมว่า “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ” “แสนลี้เริ่มต้นที่ก้าวแรก” เวลาเรากินข้าวโพดต้มจากฝัก เราแทะทีละเล็กทีละน้อย ค่อยแทะ ค่อย ๆ เคี้ยว แล้วค่อยกลืน แล้วแทะใหม่ในที่ใหม่ต่อไป เราไม่ได้กลืนข้าวโพดครั้งละฝัก! และนี่คือวิถีการทำงานของคริสตจักรร่วมสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในชีวิตประจำวันของสมาชิกแต่ละคน

ประการที่สาม ที่ผ่านมาเรามักกำหนด วิสัยทัศน์/นิมิต/เป้าหมาย ตามที่เราคิด เราอยากทำ เราอยากได้ มิได้กำหนด วิสัยทัศน์/นิมิต/เป้าหมาย ที่สอดคล้องกับพระมหาบัญชา หรือ สิ่งที่พระคริสต์ต้องการให้คริสตจักรทำอย่างเป็นกระบวนการ  

นี่คือสาเหตุหลักในความผิดพลาดของคริสตจักร!

พระราชกิจของพระเจ้าที่กระทำในชีวิตของเราและของคริสตจักร ไม่ได้ทำแบบ “ไฟลามทุ่ง” ไม่ใช่ทำแบบสร้าง “อีเวนท์” (Event) ทำครั้งเดียวจบ? แต่ทำอย่างเป็นกระบวนการต่อเนื่อง เพราะคริสตจักรต้องทำการสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์บนโลกนี้!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

13 มิถุนายน 2562

คริสตชน... “มองบวก” อย่างไร?

การมองบวกนั้นเป็นการมองแบบไหน?

การมองบวก มิใช่ การมองทุกอย่างว่าดี ทั้ง ๆ ที่บางสิ่งบางอย่างเรารู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งนั้นไม่ถูก สิ่งนั้นไม่จริง สิ่งนั้นไม่ดี สิ่งนั้นกำลังมีปัญหา

แต่การมองบวกคือ  การมองทุกสิ่ง ทุกสถานการณ์  บนความเป็นจริง และ รับรู้สิ่งนั้นกำลังเกิดขึ้นจริง แต่ด้วยกระบวนทัศน์*ที่สร้างสรรค์  กล่าวคือ มีกระบวนทัศน์ที่มองในสิ่งที่ดีถูกต้องว่าจะพัฒนาให้สิ่งนั้นดีและถูกต้องยิ่งขึ้นได้อย่างไร และ มีกระบวนทัศน์ในการมองสถานการณ์ที่เลวร้าย ว่าสิ่งที่ไม่ถูกต้องนี้จะต้องมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องและทำให้เกิดสิ่งดีต่อส่วนรวมอย่างไร
(*กระบวนทัศน์คือ การมองแต่ละเรื่องอย่างตลอดรอดฝั่งและทะลุปรุโปร่งและเป็นกระบวนการ)

กรอบคิดฐานเชื่อ (Mindset) ที่ทำให้มองบวก คิดบวก

ฐานเชื่อกรอบคิด ที่มีอิทธิพลต่อมุมมองรับรู้ในเชิงบวก (มองบวก คิดบวก)  สำหรับความเชื่อของคริสตชนคือ “ความรักเมตตาที่เสียสละ หรือ การให้ชีวิต เพื่อคนอื่นจะมีชีวิตใหม่”  ซึ่งเป็นกรอบคิดฐานเชื่อแบบพระเยซูคริสต์ ที่พระองค์ใช้ในการดำเนินชีวิตและกระทำพระราชกิจของพระเจ้าที่พระบิดามอบหมายให้พระเยซูคริสต์กระทำในโลกนี้ จุดสำคัญสุดยอดคือ การเป็นขึ้นมีชีวิตใหม่ และ ถ้าใครก็ตามที่ยอม “อยู่ในพระคริสต์ และพระคริสต์มีชีวิตอยู่ในชีวิตของคนนั้น” พลังแห่งชีวิตใหม่ของพระคริสต์ก็จะมีอิทธิพลและทำให้สาวกของพระองค์คนนั้นบังเกิดชีวิตใหม่ เป็นชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้นจากที่พระคริสต์ทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาคนนั้น  

การที่เราจะมีมุมมองบวก กรอบคิดฐานเชื่อที่สำคัญคือ “การให้ชีวิตตนเองแก่คนอื่น”  และการที่จะให้ชีวิตแก่ใครเราต้องมองคนนั้นในความเป็นจริงที่เขาเป็น อย่างพระคริสต์มองมนุษย์เราแต่ละคนเป็นคนบาป ตกอยู่ใต้อำนาจของความชั่วร้าย ถูกครอบงำโดยอำนาจบาปในการดำเนินชีวิตประจำวันของเขา แต่มนุษย์เราทุกคนแม้ชีวิตอยู่ในสภาพใดก็ตามพระคริสต์มองว่า  พระองค์ต้องการช่วยกู้เขาให้หลุดรอดออกจากกงเล็บความบาปชั่วที่ครอบงำกดทับชีวิตของเราแต่ละคน เพื่อที่เราจะหลุดรอดออกมาได้ แล้วมามี “ชีวิตอยู่ในพระคริสต์” มีพระคริสต์อยู่ในชีวิตเรา เปลี่ยนแปลงและสร้างชีวิตใหม่ในเราแต่ละคน จากคนใต้อำนาจบาปเราจึงได้เป็นคนใหม่  มาอยู่ภายใต้ร่มพระคุณ เพราะพระราชกิจของพระคริสต์ ที่เกิดสิ่งดีมีค่าอย่างยิ่งในชีวิตของเราได้เช่นนี้เพราะ “พระคริสต์มองบวก” 

คริสตชนมองบวก

การที่เราแต่ละคนจะมองคนอื่นเชิงบวกได้นั้น เราต้องมองเห็นคุณค่าของคนนั้น และ มองว่าชีวิตของมนุษย์แต่ละคนว่า พระคริสต์ทรงเปลี่ยนแปลง สร้างให้เป็นชีวิตใหม่ได้ การมองว่าแต่ละคนมีคุณค่าและความสำคัญนั้นจะเป็นก้าวแรกที่เรายอมทุ่มเทให้ชีวิตของเราในด้านต่าง ๆ แก่คนอื่น เพื่อช่วยและเอื้อให้เขาได้รู้จักพระคริสต์ มีประสบการณ์ชีวิตกับพระองค์ ยอมอยู่ภายใต้พระคุณของพระคริสต์ มีชีวิต “อยู่ในพระองค์” และ พระคริสต์อยู่และทำงานในชีวิตประจำวันของเขา เขาได้รับการเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างใหม่จากพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน   เขาได้รับชีวิตใหม่ในพระคริสต์

ทั้งสิ้นนี้เกิดขึ้นเพราะพระคริสต์ “มองบวก” และ สร้างเราให้เป็นคนที่ “มองบวก” ในชีวิตประจำวัน เพื่อเราจะทำตามพระบัญชาของพระคริสต์ ในการสานต่อพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตประจำวันในสังคมชุมชนทุกแห่งหนที่เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้

“คริสตชนมองบวก” จึงเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่คนจะเป็นสาวกพระคริสต์จะต้องได้รับการเสริมสร้างจากพระคริสต์ ผ่านการรับใช้ของชุมชนคนในคริสตจักร!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

10 มิถุนายน 2562

ใส่ความรักเมตตาลงในงานที่ทำวันนี้

สุขสันติวันจันทร์...วันทำงาน!

เราคิดว่า อะไรคือพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนการกระทำในงานชีวิตทุกอย่าง  ตลอดจนถึงอาชีพการงานที่เราทำในแต่ละวัน?

เปาโล กล่าวว่า 14จงทำทุกสิ่งด้วยความรัก” (1โครินธ์ 16:14 อมธ.)   เปาโลไม่ได้กล่าวว่า ให้เราทำงานบางอย่างที่เราชอบด้วยความรัก   แต่กล่าวว่า “จงทำ ทุกสิ่ง (ทุกงาน) ด้วยความรัก”   และท่านกล่าวอีกว่า  3แม้ข้าพเจ้ายกทรัพย์สินทั้งหมดให้คนยากไร้และยอมพลีกายให้เอาไปเผาไฟ แต่ไม่มีความรักเมตตา ก็เป็นการเปล่าประโยชน์” (1โครินธ์ 13:3 สมช.)

ในที่นี้ประเด็นที่สำคัญคือ   ไม่ว่าจะเป็นงานใด  หรือ การกระทำใด ๆ ที่เราทำในชีวิตประจำวันของเรา  ทุกการกระทำนั้นจะนำไปสู่การยกย่อง นมัสการพระเจ้า   เมื่อเราทำงานนั้น ๆ บนรากฐานแห่งความรักเมตตาที่เสียสละแบบพระคริสต์   และเมื่อเราทำแต่ละงานในชีวิตประจำวันของเราเช่นนั้น  ความรักของพระคริสต์จะสำแดงออกมาเป็นรูปธรรมผ่านชีวิต ท่าที และการกระทำของเราไปถึงเพื่อนร่วมงาน  ไปถึงคนที่ท่านเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย   ไปถึงลูกค้า  ไปถึงคนที่ท่านรับใช้และให้บริการ   คุณแม่เทราซา เคยกล่าวไว้ว่า  “ความสำคัญมิได้อยู่ที่ว่าท่านได้ทำอะไรมากมายแค่ไหน  แต่อยู่ที่ท่านเอาความรักเมตตาใส่ลงไปในการกระทำของท่านต่างหากที่สำคัญยิ่ง” 

เมื่อเราทำอาชีพการงานในชีวิตประจำวันของเรา  จอห์น รัสกิน (John Ruskin) ผู้มีใจเมตตาได้กล่าวว่า  “เมื่อความรักและทักษะมาบรรจบกัน  ก็คาดหวังได้เลยว่า จะเกิดผลงานชิ้นเอก" 

ดังนั้น  เมื่อเราเริ่มต้นในวันใหม่แต่ละวัน   ให้เราตั้งจิตอธิษฐานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย  วันนี้ลูกต้องการและตั้งใจที่จะนมัสการพระองค์ด้วยการกระทำ และทุกงานชีวิตและงานอาชีพที่ลูกจะทำในวันนี้   ลูกตั้งใจและต้องการที่จะใช้ “ของขวัญที่พระองค์ประทานให้” ในชีวิตลูก   เพื่อสำแดงออกถึงความรักเมตตาของพระองค์   เพื่อให้เกิดการสรรเสริญถวายพระเกียรติแด่พระองค์   และลูกต้องการกระทำ “ทุกงาน” ในวันนี้ด้วยความรักเมตตาของพระคริสต์”

1เหตุฉะนั้นพี่น้องทั้งหลาย เมื่อพิจารณาถึงพระเมตตาของพระเจ้า ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลายถวายตัวของท่านแด่พระเจ้าเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต ที่บริสุทธิ์ และที่พระเจ้าพอพระทัย นี่เป็นการนมัสการที่แท้จริงที่ท่านควรถวายแด่พระองค์ (โรม 12:1 สมช.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

07 มิถุนายน 2562

ผู้นำที่ฉันฝันหา...!

  1. ฉันฝันหา...ผู้นำที่ปราดเปรื่อง ที่เป็นผู้นำที่ตระหนักรู้เท่าทันตนเอง มิใช่รู้สารพัดเรื่อง แต่กลับไม่รู้เท่าทันตนเอง
  2. ฉันฝันหา...ผู้นำที่ประสบความสำเร็จที่เป็นผู้นำที่รับผิดชอบต่อผลจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้น มิใช่ผู้นำที่เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ลูกน้อง สาดโคลนฝ่ายตรงกันข้าม
  3. ฉันฝันหา...ผู้นำที่นำบวก ใช้ช่วงเวลาแห่งวิกฤติ เป็นช่วงเวลาของความเชื่อศรัทธา “กล้าที่จะก้าวเท้าออกจากเรือ หยั่งเท้าลงในคลื่นทะเลที่กำลังบ้าคลั่ง” อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนั้นฟังเสียงของพระคริสต์ และกระบวนการนี้มิใช่กล้าที่จะเชื่อศรัทธาเท่านั้น แต่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ได้เสริมสร้างความเชื่อศรัทธาแก่ทั้งผู้นำและเพื่อนร่วมองค์กรด้วย
  4. ฉันฝันหา...ผู้นำที่ตระหนักรู้ชัดว่ามนุษย์ไม่สามารถควบคุมโลกทั้งใบ แต่ “ช่วงเวลาวิกฤติเป็นช่วงเวลาแห่งความเชื่อ คือเชื่อในการทรงนำตามแผนการของพระเจ้า มิใช่เชื่อในความรู้ความสามารถของ “ตนเอง” หรือ เชื่อว่า “กูทำได้”  “ฉันมีแผนแล้ว” 
  5. ฉันฝันหา...ผู้นำที่ยิ่งใหญ่จะให้สิ่งดีขององค์กรมาเป็นอันดับต้น ก่อนความสนใจและสิ่งดี ๆ สำหรับตนเอง มิใช่ “ฉันมาก่อน พวกพ้องตามมา ส่วนบรรดาประชากรค่อยวันกันทีหลัง”


ชีวิตองค์กรจะ “รุ่ง” หรือ “ร่วง” ก็อยู่ที่ภาวะผู้นำ ของคน ๆ นั้น ทีม ๆ นั้น และ ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ...คนในองค์กรนั้น ๆ ว่ามี “ฐานเชื่อกรอบคิด” (mindset) เกี่ยวกับองค์กรของเราอย่างไร?

ผมเชื่อว่า... สิ่งแรกคือ อยู่ที่ภาวะผู้นำของตัวฉันเองว่าเป็นอย่างไรกันแน่!? ในฐานะที่เป็นอวัยวะหนึ่งในองค์องค์กรนี้

ฉันฝันหา... “นนำน”  มิใช่เริ่มต้นที่  “นนำนอื่น” ครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

03 มิถุนายน 2562

แล้วแผ่นดินของพระเจ้ามีลักษณะอย่างไร?

มีหลายท่านที่ได้ถามว่า ที่ว่าแผ่นดินของพระเจ้าได้ปรากฏขึ้นแล้วในโลกนี้นั้นเป็นอย่างไรกันแน่? และที่ว่าแผ่นดินของพระเจ้าได้มาแล้วในโลกนี้ แต่ยังไม่ใช่ทุกแห่งหนในโลก (หรือ ยังไม่ครบสมบูรณ์) นั้นเป็นไปได้อย่างไร?

ที่ใดก็ตามที่พระคริสต์ทรงครอบครอง แผ่นดินของพระเจ้าก็ปรากฏขึ้นในที่นั้นแล้ว และนี่เป็นตัวชี้วัดง่าย ๆ ที่ไหนบ้างที่แผ่นดินของพระเจ้าปรากฏ และมีแนวโน้มที่จะขยายความเป็นแผ่นดินของพระเจ้าให้กว้างไกลออกไป

ปราการแรกสุด แผ่นดินของพระเจ้าปรากฏในพระกิตติคุณ พระเยซูคริสต์เองเรียกพระกิตติคุณว่า “ข่าวประเสริฐเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า” (ลูกา 4:43 มตฐ.) การเข้าใจอย่างถูกต้องคือ ข่าวประเสริฐคือการป่าวประกาศถึงการครอบครองของพระเจ้า และเป็นข่าวดีสำหรับคนทั้งปวง (ลูกา 2:10)

ประการที่สอง แผ่นดินของพระเจ้าก็อยู่ในชีวิตของผู้เชื่อในข่าวประเสริฐ และ ผู้ติดตามพระคริสต์แต่ละคน เมื่อพระคริสต์ทรงครอบครองความนึกคิดจิตใจของเรา แผ่นดินของพระเจ้าก็จะครอบครองทั้งชีวิตของเรา (โคโลสี 3:15)

ประการที่สาม เมื่อพระคริสต์ทรงครอบครองในชุมชนคริสตจักรท้องถิ่นของเรา   แผ่นดินของพระเจ้าก็จะอยู่และปรากฏท่ามกลางชุมชนคริสตจักรของเรา (วิวรณ์ 1:6) กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อผู้เชื่อรวมตัวกันเป็นชุมชนผู้เชื่อในพระคริสต์ที่เราเรียกว่าคริสตจักร มีชีวิตที่ยอมจำนนต่อพระคริสต์ และ อ่อนน้อมรับใช้กันและกัน แผ่นดินของพระเจ้าก็อยู่ท่ามกลางชุมชนคริสตจักรนั้น

เราพึงตระหนักชัดว่า การครอบครองของพระเจ้าจะขยายพื้นที่กว้างไกลออกไปทุกครั้ง เมื่อมีคนได้ยินได้ฟังข่าวประเสริฐ และ ตัดสินใจเริ่มติดตามพระเยซูคริสต์ด้วยความเชื่อในข่าวประเสริฐของพระองค์

จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง Ben Sobels (เบน) ได้เป็นพยานชีวิตเรื่องแผ่นดินของพระเจ้ากับชายผู้สูงอายุที่ชื่อ Bob (บ๊อบ) ซึ่ง Mickey ภรรยาของเขาได้อธิษฐานเผื่อเขาเป็นเวลา 50 ปีเพื่อให้สามีตัดสินใจรับเชื่อและติดตามพระเยซูคริสต์ เมื่อสองปีที่ผ่านมา ซึ่งเขามีอายุ 76 ปี  เขาตัดสินใจรับเชื่อและติดตามพระเยซูคริสต์ รับบัพติสมาในคริสตจักรของ Ben การครอบครองของพระเจ้าได้ลุกล้ำขยายเข้าในชีวิตส่วนตัวและชีวิตสมรสของบ๊อบ ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย 

หนึ่งปีที่ผ่านมา บ๊อบ ได้มาหาเบนแล้วถามว่า “ฉันเชื่อในพระกิตติคุณ ฉันได้รับบัพติสมา  และเข้าร่วมกับชุมชนคริสตจักรในทุกวันอาทิตย์ แล้วต้องทำอะไรต่อไป?”  นี่เป็นคำถามที่สำคัญมาก เบนจึงถามบ๊อบว่า เขาสนใจที่จะเข้าร่วมกลุ่มสาวกพระคริสต์ไหม? โดยเข้าร่วมกับเบนและเพื่อนอีกสองคน ในกลุ่มนี้เราศึกษาพระกิตติคุณมาระโกด้วยกันประมาณครั้งละ 1 บท เพื่อจะแสวงหาว่า มีคำสอนของพระเยซูคริสต์อะไรบ้างที่เราจะนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเมื่อเขาอ่านพระกิตติคุณตอนไหนที่พระเยซูคริสต์สั่ง/สอนให้เราทำ เขาจะนำคำสอน/สั่งนั้นไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันของเขาตลอดสัปดาห์ข้างหน้า หรือมีอะไรที่พระองค์กระทำกับสาวกของพระองค์ในพระกิตติคุณตอนที่เขาได้อ่าน เขาก็จะทำตามพระองค์ เขาทั้งสี่คนในกลุ่มตั้งใจที่จะทำตามนี้ร่วมกัน (ยากอบ 1:22 อมธ.) ในฐานะผู้เชื่อใหม่ บ๊อบ ซึมซับเอาคำสอน และ แบบอย่างชีวิตของพระเยซูคริสต์เข้าในการดำเนินชีวิตประจำวันของตน

ด้วยการฝึกฝนเสริมสร้างชีวิตสาวกพระคริสต์ดังกล่าว บ๊อบได้เรียนรู้อีกว่าเมื่อเขาเป็นสาวกของพระคริสต์แล้ว เขาสามารถที่จะหนุนเสริมคนอื่นให้เป็นสาวกของพระคริสต์ด้วย เฉกเช่นมีผู้กล่าวไว้ว่า “มีแต่สาวกของพระคริสต์เท่านั้นที่จะสร้างสาวกพระคริสต์ได้” (คนที่ยังไม่เคยรับการสร้างให้เป็นสาวกพระคริสต์ย่อมสร้างสาวกพระคริสต์ไม่ได้)

กลุ่มนี้ใช้เวลา 6 เดือน ในการศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนและรูปแบบชีวิตของพระคริสต์ตามพระกิตติคุณมาระโก บ๊อบเองก็เริ่มรวบรวมกลุ่มเสริมสร้างสาวกของตนขึ้น และการลงแรงลงชีวิตในการเสริมสร้างสาวกพระคริสต์ของเขาเกิดผล หลังจากที่เขาเริ่มกลุ่มของเขาไม่นานมีสองคนในกลุ่มขอรับบัพติสมา ในเวลานี้ บ๊อบได้นำกลุ่มเสริมสร้างสาวกพระคริสต์กลุ่มที่สองอยู่ และเขาเตรียมตัวในการที่จะสอนชั้นเรียนของผู้ที่จะประกาศตัวเป็นสมาชิกในคริสตจักรและเป็นสาวกของพระคริสต์

ตอนนี้ บ๊อบ อายุ 78 ปี มาเป็นสาวกพระคริสต์ได้สองปี และทำงานเสริมสร้างสาวกอย่างเอาจริงเอาจัง พระเจ้าทรงเพิ่มพูนผลงานในการลงแรงลงชีวิตของเขา เขามีประสบการณ์การชื่นชมยินในพระเจ้า เขามิใช่เพียงแต่มีชีวิตที่กลับใจเชื่อเท่านั้น แล้วเขาก็ไม่ใช่มีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง “ส.ว. (สาวก) ของพระเจ้า” เท่านั้น แต่บ๊อบมีความเข้าใจอย่างชัดเจนและเป็นพยานชีวิตว่า แผ่นดินของพระเจ้ามาปรากฏและขยายกว้างไกลออกไปในโลกนี้อย่างไร เมื่อใครก็ตามที่เป็นสาวกพระคริสต์ในแผ่นดินของพระเจ้า อย่างเช่น บ๊อบ เขาจะเสริมสร้างให้คนอื่นเป็นสาวกพระคริสต์เพิ่มมากขึ้น เพื่อว่าแผ่นดินของพระเจ้าจะขยายออกไปทั่วทั้งโลก  

พระเยซูคริสต์ทรงเรียกเราทุกคนในฐานะสาวกของพระองค์ ให้ดำเนินชีวิตสมกับการเป็นสาวกพระคริสต์ และ สร้างสาวกพระคริสต์เฉกเช่นที่บ๊อบได้ทำแล้ว

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499