27 เมษายน 2558

ใช้เงินบนรากฐานของจิตวิญญาณ

บุคคล​ที่​ใจ​กว้างขวาง​ย่อม​ได้รับ​ความ​มั่ง​คั่ง
บุคคล​ที่​รด​น้ำ เขา​เอง​จะ​รับ​การ​รด​น้ำ
(สุภาษิต 11:25 มตฐ.)

เงินเป็นตัวกลางในการ “ตีคุณค่า”  ของสิ่งต่าง ๆ  ตามกรอบคิด มุมมอง และระบบคุณค่าของแต่ละคน   เราใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ซื้อขายกัน   คริสตชนมิได้ปฏิเสธการใช้เงิน   แต่คริสตชนมีมุมมอง  และระบบคุณค่าในการใช้เงินบนรากฐานความเชื่อศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้า   คริสตชนควรเกี่ยวข้อง จัดการ และใช้เงินบนรากฐานของจิตวิญญาณ

กล่าวคือ คริสตชนมีมุมมองว่า เงินที่ตนได้มาในชีวิตจากการทำงานนั้นเป็น “พระคุณ” ที่พระเจ้าประทานให้   ซึ่งมิใช่เพียงเพื่อการอยู่ดีมีสุข หรือ การอยู่รอดมั่นคงของตนเองและครอบครัวเท่านั้น   แต่คริสตชนใช้จ่าย จัดการเงินทองนั้นเพื่อเป็น “พระพร” แก่คนอื่น ๆ ด้วย   แท้จริงแล้วเงินที่เราได้เรามีอยู่นั้นเป็นของประทานจากพระเจ้าทั้งสิ้น   ดังนั้น คริสตชนจึงใช้เงินทองเพื่อผู้อื่นด้วย   “บุคคล​ที่​เอ็นดู​คน​ยากจน​ก็​ให้​พระ​เจ้า​ทรง​ยืม   และ​พระ​องค์​จะ​ทรง​ตอบ​แทน​แก่​การ​กระทำ​ของ​เขา” (สุภาษิต 19:17 มตฐ.)   และนี่คือการใช้เงินบนรากฐานแห่งจิตวิญญาณ

มนุษย์เรามีชีวิตอยู่เพราะ “พระคุณ” ที่ทรงสร้างเรา  และทรงค้ำจุนหนุนเนื่องให้เราสามารถมีกำลัง สติปัญญา ทักษะ  ความชำนาญ  และโอกาสในการทำงาน   และพระองค์มีพระประสงค์ให้คนที่ได้รับ “พระคุณ” ของพระองค์เป็นผู้นำพระคุณที่เราได้รับไปเป็น “พระพร” สำหรับคนอื่นรอบข้าง

รากฐานความเชื่อและจิตสำนึกของคริสตชนมิได้อยู่ที่การใช้และการจัดการทรัพย์สินเงินทองอย่างประหยัด  อย่างรู้จักพอเพียงเพียง   รากฐานจิตวิญญาณการหา ใช้ และจัดการทรัพย์สินเงินทองบนความ “สำนึกในพระคุณของพระเจ้า”   และ ตระหนักชัดเสมอถึงพระประสงค์ของพระองค์ที่ให้เราเป็นผู้นำพระคุณของพระองค์ที่เราได้รับไปให้เป็น “พระพร” ในชีวิตของคนอื่น ๆ   ถ้าปราศจากการสำนึกถึงพระคุณ และ ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อพระประสงค์แล้ว   แม้เราจะได้ทรัพย์สินเงินทองมากมายแค่ไหน   เราก็จะไม่สำนึกว่า “พอเพียง”   บางคนแม้แต่เศษเดนทรัพย์สินเงินทองก็ไม่ยอมให้กระเด็นไปจากอ้อมกอดของตน   อย่างเช่นเรื่องเศรษฐีงี่เง่า ที่พระเยซูคริสต์เล่าให้ประชาชนฟัง เป็นต้น

คริสตชนจนตระหนักชัดว่า   มนุษย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อ “สัมพันธภาพ”   คือให้มีความสัมพันธ์กับพระองค์   มีความสัมพันธ์สมดุลกับตนเอง   และมีความสัมพันธ์กับคนอื่นรอบข้าง   ในเมื่อการใช้ทรัพย์สินเงินทองของเราสร้างผลกระทบอย่างมากต่อ “สัมพันธภาพ”  ที่คริสตชนมีต่อพระเจ้า   มีต่อตนเอง  และมีต่อเพื่อนบ้าน   ดังนั้นจึงเป็นการสำคัญยิ่งที่เราจะต้องพินิจพิจารณา และ ใคร่ครวญอย่างลุ่มลึกถึงการใช้ทรัพย์สินเงินทองของเราแต่ละคน  เช่น   เราได้ใช้ทรัพย์สินเงินทองเพื่อประโยชน์ควบคุมคนอื่นในบางเรื่องบางวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของเราหรือเปล่า?   เราเห็นว่าเราจะต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของเราก่อนสิ่งอื่นคนอื่นหรือไม่?   เราเคยใช้เงินทองเพื่อซื้อ “ความเป็นเพื่อน หรือ มิตรภาพ”  หรือ  เพื่อสร้างความ “ประทับใจ”  เพื่อการที่เขาจะยอมรับนับถือเราหรือไม่?   ลึก ๆ แล้วทรัพย์สินเงินทองคือแหล่งที่ทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าในตนเองหรือไม่?   หรือ  เราใช้ทรัพย์สินเงินทองเพื่อเป็นพระพรแก่คนอื่น (ด้วยความจริงใจ  ไม่มีจุดประสงค์แอบแฝง) หรือไม่?

พระคัมภีร์เป็นแหล่งปัญญาสำหรับเราในเรื่องที่เราเข้าไปข้องแวะกับทรัพย์สินเงินทองหลายตอน

ในอพยพ 20:2-3  เตือนเราอย่างตรง แรง และชัดว่า   อย่าให้ความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อทรัพย์สินเงินทองกลายเป็นรูปเคารพในชีวิตของเรา   กล่าวคือมีทรัพย์สินเงินทองเป็นเอกเป็นต้นในชีวิต   หรือที่พูดกันเสมอว่า  คริสตชนประเภทที่ “มีเงินนำหน้า  แต่พระเจ้าตามหลัง”   เราต้องตระหนักและสัตย์ซื่อเสมอว่า   พระเจ้าเท่านั้นที่เป็นเอกเป็นต้นนำหน้าในชีวิตของเรา   คริสตชนจะต้องให้ “พระเจ้านำหน้า  ทรัพย์สินเงินทองตามหลัง”

เมื่อบุคคลสำคัญ ๆ ในพระคัมภีร์ที่ได้รับพระพรจากพระเจ้า   เขาจะนำพระพรนั้นให้เป็นพระพรแก่คนรอบข้าง เช่น อับราฮัม (ปฐก. 12:1-2)   ดังนั้น  เมื่อเราได้รับการทรงอวยพระพรในด้านทรัพย์สินเงินทอง   จึงเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะให้เรานำพระพรนั้นไปเป็นพระพรสำหรับคนอื่นด้วย

อย่างไรก็ตาม  ในกรณีที่เราจะให้ใครบางคนยืมทรัพย์สินเงินทอง   เราคงจำเป็นจะต้องมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคือ   ประการแรก เราสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือที่คนนั้นต้องการหรือไม่?   ประการที่สอง  ถ้าเราให้ความช่วยเหลือคนนั้นจะกระทบกระเทือนต่อคนในครอบครัวของเราหรือไม่?   ประการที่สาม  ท่านพร้อมที่จะให้ทรัพย์สินเงินทองดังกล่าวแก่คน ๆ นั้นหรือไม่   ถ้าเขาไม่มีความสามารถที่จะคืนได้?

สิ่งที่พึงระมัดระวัง  เรื่องการให้พี่น้องเครือญาติ หรือ เพื่อนสนิทยืมทรัพย์สินเงินทอง   ซึ่งอาจจะเกิดการกระทบกระเทือนต่อสัมพันธภาพอันดีที่เรามีอยู่ก็ได้   ถ้าเขาไม่คืนเงินที่ยืม  หรือไม่สามารถคืนเงินที่ยืม   เราพร้อมจะยกหนี้นั้นแก่เขาหรือไม่?   และยิ่งกว่านั้นเราพร้อมที่จะยกโทษที่เขาไม่คืนหรือไม่?

อาจจะเพราะด้วยเหตุนี้กระมังที่พระคัมภีร์กล่าวชัดเจนว่า  เราจะไม่เป็นคนให้กู้เงิน   หรือแสวงหาผลประโยชน์จะการยืมเงินจากคนที่ขัดสนยากจนต้องการทรัพย์สินเงินทองเพื่อประทังชีวิต (สดุดี 15:5)   ดังนั้น  เมื่อท่านได้ใคร่ครวญพิจารณาแล้วเห็นว่า  ท่านสามารถให้ความช่วยเหลือทรัพย์สินเงินทองแก่คน ๆ นั้นที่กำลังมีความจำเป็นในชีวิต   และมองว่าทรัพย์สินเงินทองที่ท่านช่วยไปนั้นเป็นการให้แก่เขา   โดยไม่คาดหวังเขาจะนำมาส่งคืนหรือไม่   แน่นอนว่า พระเจ้าจะทรงเป็นผู้ตอบแทนท่านแทนเขาคนนั้น  

ทุกวันนี้ท่านหาเงิน ใช้เงิน สะสม  ดูแลทรัพย์สินเงินทองของท่านบนรากฐานทางจิตวิญญาณ   หรือบนรากฐานเศรษฐกิจเพื่อความมั่งคั่ง มั่นคง  ปลอดภัยในชีวิต  และประโยชน์ส่วนตนและครอบครัว ครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

22 เมษายน 2558

การชนะนั้นสำคัญนักรึ?

ถ้า​เป็น​ได้ เท่า​ที่​เรื่อง​ขึ้น​อยู่​กับ​ท่าน จง​อยู่​อย่าง​สงบ​สุข​กับ​ทุก​คน โรม 12:18

เมื่อใครก็ตามต้องการที่จะเอาชนะคู่ขัดแย้ง 
คนนั้นมักตอบสนองด้วยการโจมตี ให้ร้าย หรือ
เล่นงานคนอื่นมากกว่าที่จะตอบสนองแบบรักษาเยื่อใยความสัมพันธ์  

คนบางคนมักจะยืนกรานกระต่ายขาเดียว 
ตอบโต้แบบหัวชนฝา  
เขาจะยืนหยัดตามที่เขาต้องการถึงวินาทีสุดท้าย 
เขาต้องการที่ยืนยันว่าตนเองถูกต้อง  
และที่สำคัญมากกว่านั้น   เขาต้องการเอาชนะ

บ่อยครั้ง ในชีวิตแต่งงาน  คนที่ได้ชัยชนะในการถกเถียงกัน 
กลับกลายเป็นผู้สูญเสียมากกว่าสิ่งที่เขาได้

ในบางรายความเชื่อถือ ความรักเมตตา 
และความไว้วางใจในความสัมพันธ์ต้องหักสลายลง
 
บางกรณีถึงกับแตกหักอย่างสิ้นเชิง  
ในหลาย ๆ ครั้งการมุ่งแต่จะเอาชนะในการเผชิญหน้าต่อสู้ต้องจ่ายงวดราคาที่สูงลิบลิ่ว 

แล้วเราจะเอาชนะไปทำไมกันนักหนา?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 เมษายน 2558

เมื่อความสำเร็จแบบคริสตชน ไม่เป็นอย่างที่คิด?

ในยุคที่สถาบันโรงพยาบาล และ สถาบันการศึกษาคริสตชนต้องดำเนินการในสังคมโลกที่รายล้อมด้วยอิทธิพลของโลกแห่งการทำธุรกิจที่ยืนบนรากฐานของการแข่งขัน  เราวัดความสำเร็จที่การได้กำไรมากน้อยแค่ไหน   จำนวนผู้ป่วยที่ครองเตียงเพิ่มขึ้นหรือไม่  มีนักเรียนนักศึกษาเพิ่มขึ้น หรือ มากกว่าสถาบันที่เราแข่งขันด้วยหรือไม่  แข่งขันกันมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สุด   แล้วโรงพยาบาล และ โรงเรียนคริสตชนของพระเยซูคริสต์   ที่ได้รับการมอบหมายจากพระองค์ให้สานต่อพระราชกิจของพระองค์บนโลกใบนี้ในยุคปัจจุบันจะว่าอย่างไร   และ จะทำอย่างไรในเรื่องนี้   แล้วอะไรคือ “ตัวชี้วัด” ความสำเร็จของโรงพยาบาล และ สถาบันการศึกษาของคริสตชนในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้?

ชีวิตของคนในยุคศตวรรษที่ 21  หลงใหลเหลือเกินกับ “ความสำเร็จ” ในชีวิต?   เราต้องการความสำเร็จ  ไม่ว่าในด้านเงินทองเศรษฐกิจ  ในหน้าที่การงาน  ความสำเร็จในการเลี้ยงลูก   หรือความสำเร็จในชีวิตสังคมชุมชน  ความสำเร็จในการที่ได้อยู่ในตำแหน่งสูง ๆ ทางสังคม   ความสำเร็จทำให้เราท่านเกิดความรู้สึกดีกับตนเอง   รู้สึกว่าตนมีความสำคัญ   ทำให้เราแตกต่างไปจากคนอื่น ๆ ที่รายรอบตัวเราใช่ไหม?  

แล้วอะไรคือความสำเร็จของคริสตชนในยุคศตวรรษที่ 21 นี้?   เหมือน หรือ แตกต่างจากมุมมอง และ ค่านิยมตามกระแสสังคมโลกนี้อย่างไรบ้าง?   แต่เรารู้และเห็นชัดว่า  เกณฑ์ความสำเร็จของยุคนี้ช่างแตกต่างจากเกณฑ์ความสำเร็จแบบพระเยซูคริสต์ขนาด  “หน้ามือกับฝ่าเท้า!”  

ความสำเร็จคือการทำให้เป้าหมายกลายเป็นรูปธรรมและเป็นจริง  หรือเป็นการเกิดผลอย่างน่าชื่นชมสำหรับคนที่อุตสาหะทำ   ดูเหมือนว่าเป็นความคิดเข้าใจที่แตกต่างจากความเชื่อของคริสตชน   ที่เชื่อว่า เป้าหมายชีวิตของเราคือการได้รับการช่วยกู้ให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่วโดยพระคุณของพระเจ้า   แล้วชีวิตได้รับการทรงเปลี่ยนแปลงสร้างใหม่จากพระเจ้า  มิใช่ด้วยการกระทำดีของเราเท่านั้น  แต่เพื่อให้มีพลังชีวิตให้ดำเนินชีวิตตามพระประสงค์   และทำตามพระมหาบัญชาสานต่อพระราชกิจที่พระเยซูทรงเริ่มต้นไว้บนโลกใบนี้

ในความจริงแล้ว  พระเยซูคริสต์มีชีวิตในการทำงานเพียงชั่วระยะสั้น ๆ และเราก็ไม่สามารถที่จะเห็นหรือคิดได้ว่างานของพระองค์จะประสบความสำเร็จ   วิธีการทำงานของพระองค์ก็ไม่โดดเด่น   ไม่มีแนวโน้มว่าพระองค์จะประสบความสำเร็จ (ตามเกณฑ์แห่งโลกนี้)   คนที่พระองค์คบหา  ทำงานด้วย  หรือสาวกที่พระองค์เลือกก็ไม่เห็นแนวโน้มที่จะสร้างความสำเร็จแก่พระองค์ได้   เราพบความจริงว่า
  • พระองค์เองเป็นคนยากจน
  • พระองค์เป็นคนไร้บ้าน  ไร้ที่ซุกหัวนอน
  • พระองค์คบหากับคนชั้นต่ำ คนที่ไม่ใช่ยิว คนที่มีเลือดผสม  คนที่ถูกกดขี่  คนผิดศีลธรรม  คนนอกคอก   ซึ่งเป็นคนที่ไม่พึงปรารถนาของสังคมยิวในเวลานั้น
  • พระองค์เองก็กระทำขัดกับกฎระเบียบปฏิบัติประเพณีที่ผู้นำศาสนากำกับอย่างเข้มงวด
  • พระองค์เดินทางในวงแคบ ๆ ไม่กว้างไกล ดังนั้น จึงมิใช่คนที่ผู้คนรู้จักกว้างขวาง
  • พระองค์ไม่ได้ตั้งอาณาจักรของพระองค์บนแผ่นดินโลกนี้
  • พระองค์ถูกจับ  ถูกทุบตี  ถูกทรมานอย่างสาหัส  เป็นผู้ที่ไร้ความสามารถที่จะตอบโต้ได้
  • พระองค์ไม่สามารถแม้แต่ที่จะแบกกางเขนของตนเองไปได้ตลอดทางสู่เนินเขากะโหลกศีรษะ   ต้องขอให้บางคนช่วยเหลือ
  • พระองค์ถูกเยาะเย้ย ดูหมิ่น ถูกตัดสินให้ตายอย่างอาชญากร


ความสำเร็จแห่งโลกนี้  แตกต่างและสวนทางกับคำสอนของพระคริสต์

คำสอนคำเทศน์ของพระคริสต์บ่งชี้ชัดเจนว่า กรอบคิดมุมมองของโลกนี้มุ่งไปทิศทางที่ผิดพลาด   ถ้าเราคริสตชนมอง “ความสำเร็จ” ตามมุมมอง ค่านิยม และมาตรฐานแห่งโลกนี้   เราจะพบว่าเราห่างไกลและยืนอยู่คนละขั้วกับพระองค์   เพราะกรอบคิด มุมมอง รากฐานความเชื่อของพระคริสต์กลับตาลปัตรกับของสังคมโลก   เป็นคำสอนที่สวนกระแส   คนใดที่คิดว่าตนสำคัญ  เป็นใหญ่  มีอำนาจ พระคริสต์สอนว่าคนนั้นต้องยอมตนรับใช้คนอื่น    แต่ในความเป็นจริงของโลกปัจจุบันก็ไม่ต่างจากสมัยของพระเยซู   ที่สังคมกดบี้ กีดกัน คนต่ำต้อยเล็กน้อยที่ไม่มีทางประสบ “ความสำเร็จ” ตามกระแสสังคมโลกให้คนเหล่านั้นออกไปอยู่ชายขอบสังคม   แต่พระคริสต์กลับเดินเคียงข้างไปกับคนเหล่านั้น   และทำพระราชกิจของพระองค์ท่ามกลางคนเหล่านั้น?

การทำงานของพระองค์ดูบ้าบอคอแตก ต่างจากคนที่ประสบความสำเร็จในสังคมโลกนี้   ในพระคัมภีร์บันทึกว่าพระองค์เข้าไปหาคนที่ถูกผีสิง   มีอาการทางจิตที่รุนแรง   อาศัยตามอุโมงค์ฝังศพ  ร้องเสียงโหยหวนน่ากลัว  เอาหินเถือเนื้อตัวตนเองเป็นบาดแผล   เปลือยกายล่อนจ้อน   มีคนที่พยายามเอาโซ่ไปล่ามไว้ไม่ให้คน ๆ นั้นออกมาอาละวาด   แต่ก็เอาไม่อยู่   เขามีแรงมหาศาลที่หักโซ่ตรวนเหล่านั้น   ดังนั้น  ผู้คนกลัวเขา  รังเกียจเขา   พยายามหลบลี้หนีให้ไกลจาก “ผีบ้า” คนนี้   แต่พระคริสต์ตั้งใจเดินเข้าไปหาชายคนนี้

พระคริสต์เดินเข้าไปหาคนที่โลกกดดัน ขับไล่ บีบบี้ให้ออกไปจากสังคม!

ในขณะที่ สังคมโลกมองคนอื่นว่า ตนจะได้รับความปลอดภัย  ได้รับการยอมรับ  ได้รับประโยชน์อะไรบ้างที่ตนต้องการจากคนนั้น  พวกเขาเลือกปฏิสัมพันธ์คนที่อาจเอื้อความสำเร็จในชีวิตของตน   แต่พระคริสต์ปฏิสัมพันธ์กับคนที่พระองค์จะเอื้อประโยชน์แก่ชีวิตของคน ๆ นั้น   ที่พระองค์จะสามารถรับใช้คน ๆ นั้น

พระคริสต์มิได้สนใจในความสำเร็จของพระองค์เอง   แต่พระองค์มุ่งสนใจคนที่พระเจ้าทรงสร้าง!  

ทุกวันนี้  โรงพยาบาล  โรงเรียน  และมหาวิทยาลัยของสภาคริสตจักรในประเทศไทยสนใจ “ความสำเร็จ” ในการบริหารธุรกิจ  ตามอิทธิพลตามกระแสโลกนี้   หรือ  ทุ่มเทความสนใจทั้งหมดกับคน  ความเป็นคน อย่างที่พระคริสต์ทรงกระทำเป็นแบบอย่างหรือไม่?

ณ วันนี้เราสามารถพูดว่า โรงพยาบาล โรงเรียน และมหาวิทยาลัยของสภาฯ กำลังสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในสังคมประเทศไทยได้หรือไม่?

พระเจ้ายังทรงอดทนกับสภาคริสตจักรฯ   พระองค์ยังเปิดโอกาสให้เราได้เลือกตัดสินใจที่จะใช้ “พระคุณ” ทุกอย่างที่สภาคริสตจักรฯ ได้รับ และ มีอยู่เพื่อสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ หรือ ใช้ทุกอย่างที่มีอยู่เพื่อสร้าง “ความสำเร็จ” ตามกระแสสังคมโลกนี้?

ผู้บริหารสภาคริสตจักรฯ จะใช้กลยุทธ์ “เงินนำหน้า  พระราชกิจและพระปัญญาตามหลัง”   หรือ  จะใช้กลยุทธ์ “พระปัญญาและพระราชกิจนำหน้า  และใช้ของประทานที่เรามีอยู่สานต่อพระราชกิจของพระองค์”   เราเชื่อว่า เมื่อพระเจ้าทรงใช้เรา พระเจ้าประสงค์ใช้สภาคริสตจักรฯ  พระองค์ใช้เราตามของประทานที่เรามีอยู่   และถ้าต้องมีมากกว่านั้น  พระองค์มีแผนการเพิ่มพูน “พระคุณ” ของพระองค์ในงานที่เรารับใช้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

06 เมษายน 2558

อีสเตอร์ไข่ซีพี(+ต้ม)?

เช้านี้เป็นเช้าวันอีสเตอร์   เช้าวันที่ระลึกถึงการเป็นขึ้นจากความตายของพระเยซูคริสต์    ผมน่าจะเป็นคริสตชนที่ไม่เอาไหน (ถ้าวัดตามมาตรฐานของคริสตจักรเก่าแก่แห่งนี้)   ผมนั่งฟังเสียงคนเทศน์ที่ห่างจากที่เขารวมตัวกันสัก 100-150 เมตร   ฟังเสียงได้ยินชัด   เพราะเขาพูดใส่เครื่องขยายเสียง   ทำเหมือนจะประกาศให้คนทั้งหมู่บ้านได้ยิน   ผมมีคำถามกวนใจว่า   ทำไมคริสเตียนจะต้องเบิ่งตาตื่นนอน ลุกจากที่นอนตั้งแต่เช้าตรู่   และมาอ้าปากร้องเพลงที่เขามักร้องกันปีละครั้ง

เสียงเทศน์เหมือนเสียงบ่นพร่ำดัง ๆ   แต่ดูจืดชืดไม่มีชีวิตชีวา   ผมได้ยินว่า...
“อีสเตอร์เป็นเรื่องข่าวดี  
เป็นข่าวดีเพราะว่าพระเยซูคริสต์เป็นขึ้นจากความตายในเช้าวันนี้  
อำนาจแห่งความตายไม่สามารถที่ครอบงำชีวิตของพระเยซูคริสต์ได้  
แต่เราผู้เป็นมนุษย์เราไม่สามารถชนะอำนาจของความตายได้”

ผมถามในใจว่า...
“แล้วมันเกี่ยวอะไรกับผม...  เกี่ยวกับชีวิตของคนเราด้วยล่ะหรือ?”

เสียงเดิมเหมือนจะตอบคำถามของผม
“แต่ถ้าเรายอมเชื่อในพระเยซูคริสต์   พระองค์จะให้เรามีชีวิตใหม่”

ผมมีคำถามต่อไปว่า
“แล้วผมต้องทำอย่างไรล่ะ?”

แต่ครั้งนี้  คำเทศน์ไม่ได้ตอบคำถามในใจของผม   แต่พูดพร่ำไปว่า เช้าวันนั้นสาวกคนนี้เป็นอย่างนั้น   สาวกคนโน้นเป็นอย่างนี้   พูดเหมือนท่องทบทวนหลักข้อเชื่อของพวกคริสเตียนให้ผู้ฟัง   ฟังจนจบผมก็ไม่รู้ว่าแล้วผมจะต้องทำอย่างไรกับชีวิตของผม  

ผมหงุดหงิดครับ  ผมอุตส่าห์ตื่นก่อนไก่โห่  เพื่อนั่งฟังคำเทศนา    แต่คำเทศน์วันสำคัญเช่นนี้กลับไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตของผู้ฟัง   แต่กลับยัดเยียดหลักข้อเชื่อให้ผู้ฟังจำ   กำลังว้าวุ่นหงุดหงิดใจกับคนเทศน์   พอดีเสียงดังตื่นเต้นจากเสียงคนเดิมนั้นแหละครับ


“เอ้า...เด็ก ๆ  พวกเราทุกคน  เริ่มต้นล่าค้นหาไข่อีสเตอร์ที่ซ่อนอยู่ในบริเวณนี้ได้เลยครับ   ผมขอบอกว่าปีนี้เราซ่อนไข่ถึง 300 ฟอง   หาให้ได้นะครับแล้วจะได้นำมากินกับข้าวต้นที่แม่บ้านเตรียมไว้...   เริ่มได้เลยครับ”   เสียงตื่นเต้นมีชีวิตชีวากว่าเสียงเทศน์   และดูเหมือนจะตอบโจทย์ของหลายคนที่เตรียมตัวมาล่าไข่ต้มในเช้าวันนี้

ความคิดผุดขึ้นในสมอง  เสียงหนึ่งดังขึ้นในใจว่า  “เออ...ใช่ซินะ   อีสเตอร์ไข่ซีพี”   แต่ผมเถียงเสียงนั้นว่าไม่ใช่  “อีสเตอร์ไข่ซีพีต้ม”   เสียงนั้นย้อนถามผมอย่างไม่เกรงใจว่า  “แล้วนายว่ามันต่างกันยังไง”

ผมต้องนั่งเงียบคิดอยู่พักหนึ่ง  แล้วค่อยเรียบเรียงความคิดความเข้าใจ   ตอบเสียงนั้นว่า

“อีสเตอร์เป็นข่าวดีเพราะพระเยซูคริสต์มีชัยเหนืออำนาจแห่งความตาย   พระองค์ไม่ยอมให้ความตายครอบงำชีวิตของพระองค์ครับ”   เสียงนั้นสนับสนุนผมว่า  “เห็นด้วย...แล้วยังไงอีกล่ะ”   ผมต้องตอบอย่างระมัดระวังครับ   เพราะฟัง ๆ ไป เสียงนั้นเป็นเหมือนเสียงในใจผมที่ถามนักเทศน์เช้านี้ครับ   ผมค่อย ๆ ตอบไปว่า

“แต่ผมต้องการมีพลังที่จะให้มีชีวิตใหม่เหมือนพระเยซูคริสต์ครับ   ชีวิตผมถูกครอบงำด้วยอำนาจแห่งความตาย...   ผมดูเหมือนมีชีวิตแต่จริง ๆ ข้างในมันตายแล้วครับ”   เขาสวนขึ้นมาว่า 

“พูดได้ดีนี่  แล้วยังไงต่อ”   ผมพูดต่อไปว่า “แต่อีสเตอร์ในเช้าวันนี้ที่เฉลิมฉลองกัน   เป็นการเฉลิมฉลองชีวิตที่ดูเหมือนมีชีวิต  แต่ข้างในมันตายแล้วครับ”   เขาฟังผมเงียบ ๆ  ไม่ถามไม่ท้าทายหรือคัดค้านอะไร   ผมเลยพูดต่อไปว่า 

“พวกเขากำลังเฉลิมฉลองชีวิตคริสเตียนที่ตายแล้ว      ชีวิตที่เป็นเหมือนไข่ซีพีครับ   ใคร ๆ ก็รู้ว่าไข่ซีพีที่ขายอยู่ในตลาดทุกวันนี้   เอาไปฟักไม่ได้ครับ   เพราะจะไม่ได้ลูกไก่ที่เป็นชีวิตไก่ตัวใหม่ครับ   และแย่ยิ่งกว่านั้น   ชีวิตของเรานอกจากตายข้างในแล้ว   ยังดันถูกเอาไปต้มให้สุกครับ   เป็นอันว่าไม่มีโอกาสที่จะฟื้นเลยครับ...   มีไว้สำหรับกิน หรือ พูดให้เพราะคือ บริโภคครับ   เราเป็นคริสเตียนบริโภค...ครับ”   ผมหยุดจังหวะพูดเพื่อเหลือบดูว่าเขาหลับไปยัง   ไม่ครับเขาใส่ใจฟังอยู่  ผมเลยพูดต่อไปว่า   “ทุกวันนี้เราประกาศข่าวดีที่เป็นไข่ซีพีต้มครับ”   ผมหยุดพูด

เสียงเขาดังขึ้นทำลายความเงียบ  “ข้าว่านายเป็นคริสเตียนนอกคอกว่ะ... แล้วนายจะเข้ากับพวกเขาได้อย่างไร?”   เขาถามต่อไปว่า   “ถ้านายไม่ต้องการเป็นคริสเตียนแบบไข่ซีพีต้ม  แล้วนายจะเป็นคริสเตียนแบบไหนล่ะ?”   ผมตอบพรวดไปว่า 

“ผมอยากเป็นคริสตชนแบบไข่ของแม่ไก่บ้านที่กำลังถูกแม่ไก่กกครับ”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499