19 มกราคม 2565

ศิษยาภิบาลที่อาวุโสมากกว่า ส่งต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ในงานรับใช้ แก่ศิษยาภิบาลรุ่นเยาว์กว่า


ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อุปกรณ์ เครื่องมือ และทรัพยากรต่าง ๆ สำหรับศิษยาภิบาลที่ใช้ในการทำพันธกิจได้แพร่หลายมากมายขึ้น เมื่อทำการวิจัยชีวิตคริสตจักร การวิจัยมักให้ความสนใจมุ่งไปที่ศิษยาภิบาล เมื่อผมมองดูชั้นหนังสือในสำนักงาน มีหนังสือหลายเล่มสำหรับการเป็นผู้นำของผู้อภิบาล การฝึกอบรม การสัมมนา หลักสูตรในพระคริสต์ธรรม และหน่วยงานเสริมพันธกิจคริสตจักรต่างพุ่งเป้าไปที่ศิษยาภิบาลเพื่อการพัฒนาความเป็นผู้นำ แต่ทั้งสิ้นเหล่านี้ไม่สามารถแทนที่การให้คำปรึกษาจากพี่เลี้ยงผู้อภิบาล และ การโค้ชชิ่งการอภิบาลได้ และแนวโน้มความต้องการพัฒนาการรับใช้ของผู้ปกครองคริสตจักร

ท่านอดีตศิษยาภิบาลมากมายหลายท่าน ถ้าเป็นทหารก็เป็นทหารผ่านศึกของพระคริสต์ ท่านเหล่านี้เป็นศิษยาภิบาลที่คร่ำหวอดโชกโชนด้วยประสบการณ์การอภิบาลชีวิตผู้คนผ่านมาเป็นเวลาหลายสิบปี มีประสบการณ์ บทเรียนรู้ องค์ความรู้การอภิบาลที่สั่งสมไว้มากมาย ทำอย่างไรถึงจะได้ใช้ในการแบ่งปัน สะท้อนคิดกับศิษยาภิบาลรุ่นใหม่ ศิษยาภิบาลมือใหม่ในปัจจุบัน เพื่อศิษยาภิบาลรุ่นใหม่จะได้นำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องตอบสนองต่อสถานการณ์จริงที่พวกเขาประสบพบเจอ

ศิษยาภิบาลรุ่นน้อง รุ่นลูก หรือ แม้แต่รุ่นหลานจะเรียนรู้อะไรได้บ้างในงานพันธกิจการอภิบาลชีวิตจากผู้อาวุโสที่คร่ำหวอดในงานพันธกิจการอภิบาลชีวิตของผู้คน? ศิษยาภิบาลอาวุโสจะเป็นพี่เลี้ยงของศิษยาภิบาลรุ่นน้อง รุ่นลูก และรุ่นหลานได้อย่างไรที่จะก่อเกิดประโยชน์ล้ำค่ามากมายแก่ชีวิตและการรับใช้ในงานพันธกิจคริสตจักร?

[1] ศิษยาภิบาลอาวุโสสำแดงชีวิตที่มีเกียรติ “น่ายกย่องนับถือ” แก่ศิษยาภิบาลรุ่นต่อๆ มา

เมื่อศิษยาภิบาลรุ่นต่อ ๆ มา “ปรารถนา” ที่จะเป็นศิษยาภิบาล  พวกเขาปรารถนาบางสิ่งที่ “มีเกียรติ” ตาม 1 ทิโมธี บทที่ 3 พระธรรมตอนนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า พฤติกรรมที่บ่งชี้พิสูจน์ถึงชีวิตที่ “มีเกียรติ” เป็นชีวิตที่ควบคุมตนเอง รู้จักประมาณตน น่านับถือ มีน้ำใจรับรองแขก สามารถที่จะสอนคนอื่นได้ ไม่ดื่มสุราเมามาย ไม่ก้าวร้าวแต่สุภาพอ่อนโยน ไม่ชอบทะเลาะวิวาท ไม่เป็นคนรักเงิน สามารถดูแลจัดการครอบครัวของตนเองได้อย่างดี อบรมสั่งสอนลูกหลานของตนเองให้เคารพเชื่อฟังตนได้

ศิษยาภิบาลที่รับใช้ในคริสตจักรมาหลายสิบปี จะมีประสบการณ์กับวันอันมืดมัวในชีวิตการทำงานพันธกิจคริสตจักรที่ตนรับผิดชอบมากมายหลายครั้ง ศิษยาภิบาลรุ่นใหม่ต่อ ๆ มาก็จะประสบพบเจอปัญหาของตนเองขณะรับใช้เช่นกัน ศิษยาภิบาลที่มีอาวุโสมากกว่าสามารถเดินเคียงข้างไปกับศิษยาภิบาลรุ่นเยาว์และเตือนพวกเขาว่า แม้ชีวิตของเราต้องเดินเข้าไปในหุบเขาเงาแห่งความมืดมิด เราก็ยังจะมั่นคงในคำสัญญาที่เราให้กับพระเจ้า และเรายังจะจงรักภักดีต่อพระองค์เสมอไป

[2] ศิษยาภิบาลที่มีอาวุโสกว่าสามารถชี้นำศิษยาภิบาลรุ่นต่อ ๆ มาให้ก้าวย่างผ่านสิ่งที่เขาไม่รู้

ผมสังเกตเห็นว่า ศิษยาภิบาลมือใหม่ หรือ รุ่นต่อ ๆ มาเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่เขาไม่รู้จะทำอย่างไร จะทำให้พวกเขาต้องชะงักหยุดนิ่ง  ใช่ครับ  เมื่อเราต้องพบกับสิ่งที่เราไม่รู้ หรือ ไม่เคยมีประสบการณ์กับสิ่งนั้น หรือเหตุการณ์นั้น ๆ จะทำให้เราเกิดความลังเล ศิษยาภิบาลอาวุโสสามารถชวนศิษยาภิบาลรุ่นเยาว์ร่วมกันสำรวจสิ่งที่เขาไม่รู้จักนั้น ซึ่งในหลาย ๆ กรณี ศิษยาภิบาลที่มีอาวุโสกว่า อาจจะเคยผ่านและพบกับสิ่งนั้นมาก่อนแล้ว แต่จะไม่รีบ “ใส่ประสบการณ์ และ ความคิด” ที่เราได้รับลงในศิษยาภิบาลปัจจุบัน แต่จะชวนคิดชวนคุย “จะถาม” เพื่อกระตุ้นให้ ศบ.ปัจจุบัน ได้คิด ค้นหา ใคร่ครวญ

แต่ในที่นี้ขอย้ำว่า บทบาทก้าวแรกในเรื่องนี้ของศิษยาภิบาลที่มีอาวุโสกว่าชวนศิษยาภิบาลมือใหม่ หรือ รุ่นเยาว์กว่าให้ร่วมกันสำรวจ   และชวนคิดพิจารณาต่อไปว่า ตามกำลังความสามารถของเขาคิดว่าน่าจะรับมือหรือจัดการได้อย่างไรบ้าง ในที่นี้ศิษยาภิบาลที่อาวุโสกว่าต้องไม่ใจอ่อนลงไปทำแทนศิษยาภิบาลรุ่นเยาว์กว่า หรือเสนอวิธีการที่ตนเคยใช้ทำและประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุผลคือ สถานการณ์ที่เราประสบในอดีตอาจจะแตกต่างจากสถานการณ์ในตอนนี้ ประการที่สอง เรากำลังหนุนเสริมให้ศิษยาภิบาลที่รุ่นเยาว์กว่าให้กล้าและสามารถจัดการด้วยตนเองภายใต้การทรงนำของพระเจ้า

[3] ศิษยาภิบาลที่มีอาวุโสมากกว่าควรแสดงให้ศิษยาภิบาลรุ่นเยาว์กว่าได้เห็นถึงความรับผิดชอบที่แท้จริงของศิษยาภิบาลที่ตนจะต้องมี

ชื่อเสียงที่ดีได้รับหลังจากที่ได้ทำงานหนัก ศิษยาภิบาลที่อาวุโสกว่าที่ซื่อสัตย์รู้ว่าชื่อเสียงที่ดีจะไม่คงอยู่ตลอดไปหากปราศจากความเต็มใจที่จะรับผิดชอบ ศิษยาภิบาลที่มีอายุมากกว่าสามารถให้คำปรึกษาแก่ศิษยาภิบาลรุ่นเยาว์โดยแสดงให้เห็นว่าความเต็มใจที่จะรับผิดชอบนั้นเป็นอย่างไร

การเป็นพี่เลี้ยงและให้การปรึกษา และ การโค้ชชิ่ง ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ การให้การปรึกษาไม่จำเป็นต้องเป็นโปรแกรมที่เป็นทางการ  หรือต้องมีเวลากำหนดพบปะกันที่ตายตัว การให้การปรึกษาศิษยาภิบาลที่อาวุโสมากกว่าสามารถใช้ทุกโอกาสที่มีเป็นแบบอย่างพฤติกรรมสำหรับศิษยาภิบาลรุ่นเยาว์กว่า ศิษยาภิบาลที่อาวุโสน้อยกว่าจำเป็นที่จะต้องได้ยินได้ฟังเรื่องราวบาดแผลที่ได้รับของศิษยาภิบาลที่อาวุโสกว่า  ศิษยาภิบาลรุ่นเยาว์กว่าจำเป็นที่ต้องเห็นถึงการเสียสละของศิษยาภิบาลที่อาวุโสมากกว่า ศิษยาภิบาลรุ่นเยาว์กว่าจำเป็นต้องเรียนรู้ความคิดริเริ่มจากศิษยาภิบาลที่อาวุโสมากกว่า และศิษยาภิบาลรุ่นเยาว์กว่า จะไม่เรียนรู้ความรับผิดชอบที่แท้จริงเว้นแต่ศิษยาภิบาลที่อาวุโสกว่าจะดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่าง

เอมมาอูส

08 สิงหาคม 2564

ของฝากวันสตรีแห่งชาติ 2021: แนวทางขจัดความเครียดสำหรับสตรีคริสเตียน



มีคนพูดไว้ว่า “สตรีกับความเครียดเป็นของคู่กัน”

ทุกวันนี้ชีวิตของท่านได้รับพระพร หรือ มีแต่ความเครียด?

กล่าวได้ว่า ไม่ว่าชีวิตในบ้านหรือนอกบ้านของสตรีทุกวันนี้  ไม่ว่าจะเป็นแม่ เป็นย่า หรือ ยาย หรือเป็นสตรีทุกวัยต่างต้องรับมือกับความเครียด  สำหรับสตรีคริสเตียนแล้วเรามีแนวทางในการขจัดความเครียด 10 ประการดังนี้

  1. แต่ละวัน มีเวลาที่จะใกล้ชิดกับพระเจ้า  เช่น บางคนเริ่มวันใหม่เมื่อตื่นนอนที่จะมีเวลาสงบอธิษฐาน สนทนา ใกล้ชิดกับพระเจ้า
  2. เตรียมแผนการใช้ชีวิตสำหรับวันพรุ่งนี้ในค่ำคืนนี้  บางคนจะใช้เวลาก่อนนอนในการเตรียมแผนการใช้เวลาชีวิตสำหรับพรุ่งนี้ หรือ แผนงานของตนในวันพรุ่งนี้
  3. ให้จัดลำดับงานที่จะทำในแต่ละวันตามลำดับความสำคัญ
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
  5. ทำสิ่งที่เอื้อให้ตนเองมีความสุข ชื่นชมยินดี
  6. ให้หว่านเมล็ดแห่งความเมตตาลงในชีวิตของคนอื่นรอบข้าง
  7. ทบทวน รวบรวม รักษา ความทรงจำดี ๆ แม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีในชีวิต
  8. ยิ้มและหัวเราะได้ในทุกสถานการณ์ชีวิต
  9. สรรเสริญ ขอบพระคุณพระเจ้าในทุกสิ่งที่พระองค์อวยพระพร
  10. อธิษฐานสม่ำเสมอ ในทุกสถานการณ์ชีวิตตลอดวันที่ประสบพบเจอ

 

พระองค์ทรงเจิมศีรษะข้าพระองค์ด้วยน้ำมัน(พระพร)
จน ถ้วยแห่งชีวิต ของข้าพระองค์เปี่ยมล้น
(สดุดี 23:5 สมช.)

เอมมาอูส

พระคริสต์มาพบแม่ในความวุ่นวายสับสน

 



โดยปกติทั่วไป  เรามักจะหาเวลาที่สงบ  เวลาที่เราอยู่คนเดียวเพื่อจะใกล้ชิดองค์พระผู้เป็นเจ้าในแต่ละวัน 

แต่เมื่อมีโอกาสคุยเรื่องการมีเวลาส่วนตัวกับพระเจ้ากับผู้ที่กำลังเป็นแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกน้อย   คุณแม่ที่กำลังเลี้ยงลูกน้อยคนหนึ่งถามโพล่งออกมาว่า  “ตาย  ตาย  ตาย แล้วคนที่เป็นแม่ลูกอ่อนอย่างฉันจะไปหาเวลาอย่างงั้นมาใกล้ชิดพระเจ้าได้ยังไง?   ตอนที่ฉันเป็นสาวยังไม่มีลูกน้อยฉันทำของฉันได้ไม่มีปัญหา   แต่ลองมาเป็นแม่ลูกอ่อนอย่างฉันบ้างซิ   แล้วจะรู้ว่า  ไม่มีเวลาอยู่คนเดียว  เวลาที่เงียบสงบกับพระเจ้าหรอก   ใจ...ฉันก็อยากจะได้ใกล้ชิดพระเจ้า   ฉันจะได้กำลังจากพระองค์   ทุกวันนี้ฉันเหนื่อยจนสายตัวแทบจะขาดอยู่แล้ว   เจ้าของเสียงเงียบไป  ผมเงยหน้าขึ้นพบว่าเธอเอามือข้างหนึ่งปาดน้ำตาอย่างเงียบๆ

อีกเสียงหนึ่งข้างหลังผมเอ่ยขึ้นว่า... ฉันเห็นใจเธอมากนะ   เมื่อตอนฉันต้องเลี้ยงลูกน้อยเป็นอย่างงี้จริง ๆ นอกจากต้องให้ลูกกินนมจนหลับและฉันก็หลับไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยตลอดวัน   ในตอนค่ำคืนครั้งแล้วครั้งเล่า  ต้องลุกขึ้นมาให้นม  เปลี่ยนผ้าอ้อม  เช้ามาหลายครั้งที่ลูกน้อยตื่นก่อนแล้วปลุกให้ฉันตื่น   เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวังที่จะให้เฝ้าเดี่ยวตอนเช้าค่ะ  “น่าจะบอกว่าเฝ้าเจ้าตัวเล็กนี่มากกว่า”

คุณแม่ลูกสามที่ลูกเริ่มโตแล้ว เธอได้เล่าจากประสบการณ์ตรงของเธอว่า สำหรับฉันแม้ว่าตื่นนอนเช้า ฉันตื่นก่อนลูกน้อย ต้องรีบชงกาแฟ แต่ถ้าเจ้าตัวเล็กตื่นก็ต้องไปจัดการกับเขา กว่าจะเสร็จกาแฟร้อนบนโต๊ะก็กลายเป็นกาแฟเย็นไปแล้ว จากนั้น แม่ลูกอ่อนก็ต้องจัดการโน่นจัดการนี่ไปทั้งวัน รวมถึงการเตรียมอาหารให้ลูก ๆ สามี  บอกได้เลยค่ะว่าเหนื่อย  เหนื่อยสุด ๆ เลย แม้ว่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านมาได้หลายปี แต่เมื่อมาเล่าตอนนี้ก็ยังรู้สึกถึงความเหนื่อยนั้นได้อยู่เลย

ผมสรุปด้วยความเห็นใจว่า ถ้าเช่นนั้นคุณแม่ลูกอ่อนเลยไม่มีโอกาสที่จะอยู่ใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าส่วนตัว   แล้วแม่ลูกอ่อนจะได้รับการเสริมกำลังจากพระเจ้าได้อย่างไรครับ?

ผมพูดยังไม่ทันสิ้นประโยคดีก็มีเสียงสตรีเสียงใหญ่วัยกลางคนดังขึ้นมาว่า  “ใครบอก ใครบอกว่าเราแม่ลูกอ่อนไม่มีโอกาสที่จะอยู่ใกล้ชิดส่วนตัวกับพระเยซูคริสต์?   จากประสบการณ์ของฉันที่เลี้ยงลูกน้อยมาสี่คน บอกได้เลยว่า ฉันมีโอกาสใกล้ชิดติดสนิทกับพระเยซูคริสต์มากกว่า  แตกต่างกว่า  พิเศษกว่า  และต้องบอกตรง ๆ ว่า ฉันได้เรียนรู้อย่างมากว่าด้วยการใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อม เช่นอยู่คนเดียว สงบ เงียบ ฉันว่าไม่ใช่ แต่ฉันพบว่า เราใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าอย่างแนบแน่นเมื่อเราต้องมีชีวิตที่วุ่นวายและฉันพบพระเยซูคริสต์อยู่ในสถานการณ์นั้นกับฉัน  ร่วมในความวุ่นวายนั้นด้วย  ฉันมีกำลังใจมากขึ้นนะ

เมื่อฉันต้องทำความสะอาดลูกน้อย  ฉันพูดคุยกับพระองค์ขอทรงชำระล้างให้ฉันสะอาดอย่างฉันทำความสะอาดแก่ลูกฉัน   

บางครั้งเมื่อลูกงอแงร้องไห้เพราะไม่สบาย ฉันไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร เขาก็บอกฉันไม่ได้  ด้วยความเชื่อฉันอธิษฐานขอพระเยซูโปรดวางมือและรักษาลูกของฉัน หลายครั้งที่ฉันพบว่าพระองค์ได้รักษาลูกฉันให้หาย ทำให้ความเชื่อของฉันมั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น  ฉันยังมีเวลามีโอกาสพูดคุยกับพระองค์ในโอกาสต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องในใจของฉัน ไม่ว่าเวลาที่ฉันอาบน้ำ ล้างหน้าแปรงฟัน แต่งตัว หรือเวลาที่ฉันล้างจาน

เมื่อฉันพาลูกน้อยไปเล่นที่สนามเด็กเล่น  ฉันขอบพระคุณพระเจ้าที่ลูกสนุก ลูกพบเพื่อน และฉันได้พบเพื่อนบ้านในชุมชน ฉันขอบพระคุณพระเจ้า ฉันอธิษฐานเผื่อพวกเขา

สำหรับประสบการณ์ของฉัน ฉันอยากเป็นกำลังใจให้แม่ลูกอ่อนว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์อะไรก็ตาม เราใกล้ชิดติดสนิท พูดคุยปรึกษาพระเจ้าของเราได้ เราฟังพระองค์ได้ และหลายครั้งเมื่อฉันมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนบ้านที่เป็นแม่ลูกอ่อนคนอื่น ๆ มีโอกาสพูดคุย ปรึกษากัน  ฉันพบว่า หลายเรื่องที่ฉันเคยอธิษฐานทูลขอได้รับคำตอบผ่านเพื่อนบ้านเหล่านั้น

อีกเสียงหนึ่งพูดขึ้นว่า ใช่สินะ ถูกของพี่เขา ทุกสถานการณ์ชีวิตเราใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าได้ ท่ามกลางปัญหา วิกฤติชีวิตที่เราพบ พระเยซูคริสต์อยู่และร่วมกับเราในสถานการณ์นั้น ให้เรามองให้เห็นพระราชกิจของพระองค์ในแต่ละสถานการณ์ชีวิตของเรา ในเวลาเช่นนี้เองที่เรามีโอกาสใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์   รับกำลังเสริมหนุน รับการทรงนำ รับสติปัญญาความนึกคิดจากพระองค์ ทำให้ชีวิตการเป็นสาวกของเราเติบโตขึ้น   และยังมีโอกาสที่จะรับใช้ซึ่งกันและกันกับเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น

และนี่มิใช่หรือที่เราได้รับพระคุณของพระเยซูคริสต์วันต่อวันเมื่อเราดำเนินชีวิตไปกับพระองค์ในทุกสถานการณ์จริงในชีวิต

ผมอยากจะตะโกนบอกคนทั่วไปว่า เราสามารถใกล้ชิดติดสนิทกับพระเยซูคริสต์ในสถานการณ์ที่ว้าวุ่น สับสน วุ่นวาย อึกทึก และ วิกฤติอย่างแน่นอน  และ

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ พระคริสต์ต่างหากที่เข้ามาหาเราและร่วมชีวิตกับเราในสถานการณ์ที่วุ่นวายสับสน   เราไม่จำเป็นต้องตามหาพระองค์ครับ!

เอมมาอูส

05 สิงหาคม 2564

การเลี้ยงลูกของแม่: เป็นการสร้างสาวกพระคริสต์!

เราเคยคิดและใส่ใจไหมว่า  การเลี้ยงลูกของแม่คือการเสริมสร้างชีวิตสาวกพระคริสต์ทั้งในตัวแม่เอง และ ในชีวิตของลูกด้วย?

ปัจจุบันในวงการคริสตจักรพูดถึงเรื่อง “การสร้างสาวกพระคริสต์”   ส่วนใหญ่เรามักหมายความว่า ศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตจักรเสริมสร้างสมาชิกคนอื่นๆให้มีชีวิตประจำวันให้ดำเนินชีวิตอย่างชีวิตและตามคำสอนของพระเยซูคริสต์

แต่โอกาสทอง ของสตรีที่เลี้ยงลูกน้อย จะได้รับการเสริมสร้างให้มีชีวิตที่เป็น “สาวกพระคริสต์” ผ่านกระบวนการเป็นแม่ลูกอ่อน ที่พวกผู้ชายต้องอิจฉา?   เพราะพวกเขาส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสที่ดีเช่นนี้

ที่สำคัญประการต่อมาคือ   การเสริมสร้าง “ชีวิตสาวกพระคริสต์” ในกระบวนการเลี้ยงดูลูกน้อยของแม่ลูกอ่อน   เป็นโอกาสที่ตนจะเสริมสร้าง “ชีวิตสาวกพระคริสต์” ในชีวิตของตนเอง (Personal Discipleship Growth: PDG)   ผ่านเหตุการณ์ หรือ สถานการณ์จริงในชีวิตประจำวันของตน   ที่มีพระคริสต์มาพบและทำพระราชกิจชีวิตในแม่ลูกอ่อนคนๆนั้น

ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ  การที่คุณแม่มีโอกาสและสิทธิพิเศษในการฟูมฟักเลี้ยงดูลูกน้อยให้เป็นสาวกพระคริสต์ด้วยไปพร้อมๆกับชีวิตสาวกพระคริสต์ในตัวแม่เอง

เลี้ยงลูกน้อยด้วยชีวิต

ในการเลี้ยงดูฟูมฟักลูกอ่อนเป็นงานที่ต้องทุ่มเททั้งชีวิตด้วยสุดจิตสุดใจ สุดความคิดและชีวิตของตน ทั้งกลางวันกลางคืน  ยิ่งในเวลากลางคืนต้องเลี้ยงดูจนลูกอ่อนหลับ   และต้องตื่นขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้นม  ทำความสะอาดให้ลูก  จนลูกน้อยหลับไปอีกครั้งหนึ่งผู้เป็นแม่ถึงจะมีโอกาสได้งีบหลับอีกครั้ง   แต่ก็ไม่วายจะต้องรีบตื่นขึ้นในรุ่งเช้าเพื่อเตรียมหาอาหารให้ลูกคนอื่นๆ (ถ้ามี) และสามี 

ในความเป็นแม่  เธอได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า   ที่จะเรียนรู้ถึงชีวิตในการรับใช้ และ รับการเสริมสร้างจากพระองค์ผ่านกระบวนการการเลี้ยงลูกอ่อนของเธอ   ทำให้เธอได้รับการทรงเสริมสร้างและพัฒนาชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์ ในการให้ชีวิตแก่ลูกน้อยของเธออย่างที่พระคริสต์ให้ทั้งชีวิตแก่มนุษย์เราแต่ละคน  

ในความเป็นแม่ได้เรียนรู้ว่าการเป็นแม่จะต้อง “ให้ตนเอง” มากกว่าที่ตนจะให้ได้   เกิดคำถามว่า  แล้วแม่จะได้ทรัพยากร และ แหล่งพลังชีวิต ที่ตนจะมีมากกว่าที่จำกัดนั้นจากที่ไหน?  เช่น เวลาที่เหน็ดเหนื่อยหมดแรงเพราะนอนหลับไม่เพียงพอแล้วจะเอาแรงมาจากไหน?   บ่อยครั้งที่สถานการณ์รุมเร้าทับถมจนเกือบทนไม่ได้  อยากจะยอมแพ้   ในช่วงเวลาเช่นนั้น พระเจ้าใช้ความจริงหลายประการเพื่อช่วยให้คุณแม่เรียนรู้ที่พึ่งพากำลังของพระองค์ เมื่อความเหนื่อยล้าและความกลัวของแม่กำลังคุกคามผู้เป็นแม่

พระเจ้ายินดีต้อนรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องการ

การเลี้ยงลูกน้อยของการเป็นแม่   เป็นโอกาสที่ผู้เป็นแม่คนนั้นได้เรียนรู้ถึงการรับใช้   เมื่อเรากำลังดิ้นรนกับความรับผิดชอบและความต้องการของการเป็นแม่  ตัวปัญหาที่ลึกที่สุดในสถานการณ์นี้ของแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นสามีที่มีงานยุ่งหรืออ่อนไหว  ความจุกจิกถี่ย่อยในการดูแลลูกน้อย หรือมีเศรษฐกิจที่จำกัดจำเขี่ย    ตัวปัญหาที่ลึกที่สุดของเราคือความโน้มเอียงที่จะเอาแต่ใจตัวเอง

เด็กทุกคนมีความจำเป็นต้องการ และสมควรจะได้รับการอุทิศชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไขจากอย่างน้อยผู้ใหญ่สักคนหนึ่งในชีวิตของเขา   การอุทิศชีวิตที่ไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวมีคุณค่าสูงส่งยิ่ง   แต่สิ่งที่มีคุณค่าสูงส่งเช่นที่ว่านี้มันคืออะไร   คือเมื่อแม่เลี้ยงดูลูก นั่นเป็นโอกาสที่แม่กำลังเสริมสร้างพัฒนาภาวะความเป็น “ผู้นำแบบพระคริสต์” ในตัวของแม่  คือ “ผู้นำที่รับใช้”  เริ่มด้วยการอุทิศหมดสิ้นทั้งชีวิตจิตใจเฉกเช่นพระคริสต์  มีชีวิตที่สัตย์ซื่อ  มีความรักที่เสียสละ  และการเลี้ยงดูเจ้าตัวเล็กด้วยสุดจิตสุดใจ  ความเป็นแม่เรียกร้องสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเราในฐานะผู้หญิง   เป็นโอกาสที่เราจะเรียนรู้ถึงการรับใช้   มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น   และนี่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งประการหนึ่งในการเสริมสร้างความเป็นสาวกพระคริสต์ในตัวเรามิใช่หรือ?  

ในความเป็นแม่เธอกำลังมีชีวิตแบบพระคริสต์ที่ “...ทรงสละพระองค์เองและทรงรับสภาพทาส (คนรับใช้)...” (ฟีลิปปี 2:7)

เมื่อแม่รับใช้เจ้าตัวเล็ก   แม่จะเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าที่ได้รับการเชิดชู และ ชื่นชมจากองค์พระผู้เป็นเจ้า จากอิสยาห์ 42:1 “นี่คือผู้รับใช้ของเรา ซึ่งเราเชิดชู   ผู้ที่เราเลือกสรรไว้ ซึ่งเราชื่นชม   เราจะส่งวิญญาณของเราลงมาเหนือเขา...” (อมธ.)   องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอ้าแขนของพระองค์ออกกว้างสำหรับแม่ผู้ที่เหน็ดเหนื่อยหมดแรง   ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังทรงโอบกอดลูกอ่อนของเธอไว้ในอ้อมพระกร และโอบอุ้มไว้แนบพระทรวง (อิสยาห์ 40:11) และจะค่อยๆนำแม่ที่มีลูกอ่อนไป   ดังนั้น แม้แม่จะเหน็ดเหนื่อยหมดแรง  พระเจ้าทรงรับรู้และเข้าใจถึงสภาพชีวิตของแม่อย่างดี  ดังนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าจะฟื้นฟูจิตวิญญาณของผู้เป็นแม่ (สดุดี 23:2-3)   และพระองค์จะทรงหนุนเสริมแม่ให้  “ ...มีกำลังด้วยฤทธานุภาพทั้งสิ้น... เพื่อให้ท่านมีความทรหดอดทน และมีความอดทนในทุกสิ่ง พร้อมทั้งมีความยินดี” (โคโลสี 1:11 มตฐ.)

เมื่อเราในฐานะแม่รู้สึกหมดหนทาง โดดเดี่ยว และท้อแท้ เรามีทางเลือก   เราสามารถเลือกที่จะต่อต้านความคิดความรู้สึกเช่นนั้น หรือยอมปล่อยให้ความรู้สึกนั้นบุกรุกถาโถมเข้ามาในห้วงความนึกคิดความรู้สึกของเรามากขึ้นๆ   แล้วทำให้เกิดความรู้สึกขุ่นเคืองไม่พอใจยึดครองพื้นที่ความนึกคิดและความรู้สึกของเรา    หรือเราจะเลือกต้อนรับเจ้าตัวน้อยของแม่  ที่กำลังมีชีวิตในสภาพที่อ่อนแอและมีความจำเป็นต้องการการปกป้อง เอาใจใส่ เลี้ยงดูอย่างสูงในชีวิต  และได้แสดงให้แม่เห็นถึงความจำเป็นต้องการของตนในเวลานั้น   เรามั่นใจได้ว่า  พระคริสต์พระผู้ช่วยให้รอด จะอ้าแขนต้อนรับ  บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก... และพระองค์จะให้ผู้เป็นแม่ได้รับการพักสงบ (มัทธิว 11:28)  พระคริสต์เคยบอกเราแล้วว่า  คนแข็งแรงไม่ต้องการพระองค์  แต่คนที่สิ้นแรงหมดกำลังพระองค์ทรงต้อนรับ   ให้ผู้เป็นแม่พึ่งพิงในพระองค์ต่อไป

การเป็นแม่เป็นสิทธิพิเศษในการช่วยให้มีชายหนุ่มหรือหญิงสาวที่รักพระคริสต์ที่มีชีวิตชีวาคนใหม่ๆเข้ามาในโลกที่เศร้าโศกนี้ด้วยความชื่นชมยินดี

คุณแม่สามารถที่จะกำหนดและเสริมสร้างลักษณะอารมณ์ในครอบครัว   ผู้เป็นแม่สามารถที่จะเสริมสร้างสภาพแวดล้อมโดยรอบบ้านให้เป็นแหล่งของการค้นพบเรียนรู้และสร้างสรรค์   คุณแม่เป็นผู้ที่จะให้คำปรึกษาและสนับสนุนให้บุตรหลานของตนต่อต้าน “ระบบประโยชน์นิยมที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง”  ซึ่งกำลังกลืนกินโลกของเราในทุกวันนี้   ในความเป็นแม่เป็นการเตรียมลูกสำหรับสัมพันธภาพในอนาคต   งานหนักที่เปี่ยมด้วยคุณค่าของความเป็นแม่คือการที่แม่พยายามสอนลูกให้ยกย่องนับถือพ่อของลูก รักและผูกพันกับญาติพี่น้อง   สอนลูกให้รู้จักเลือกบริโภคโภชนาการที่ดี   ความบันเทิงที่บริสุทธิ์และเป็นประโยชน์  สอนให้ลูกรู้ถึงคุณค่าของความสะอาดบริสุทธิ์และมีมารยาทที่ดี   และสิ่งสูงสุดคือการต่อสู้เพื่อสิ่งที่มีคุณค่าสมกับแรงพลัง และ ชื่อเสียงของเขา

ใครบางคนอาจจะมีอิทธิพลเหนือชีวิตลูกของท่าน

ลองนึกถึงสิทธิพิเศษของแม่ถึงการชี้นำความคิดและหัวใจของคนหนุ่มสาวในการพัฒนาจิตวิญญาณ สติปัญญา อารมณ์ และสัมพันธภาพทางสังคมของเขา   ลองนึกถึงพระพรของการได้แนะนำให้ลูกรู้จักพระเจ้าแห่งจักรวาล และความจริงนิรันดร์ในพระวจนะของพระองค์   ลองนึกถึงความสุขที่ได้เห็นลูกพูดความจริงแม้ในเวลาที่เขาประสบกับความยากลำบาก  และแสดงความรักแทนความเห็นแก่ตัว  อีกทั้งแสดงความเมตตาด้วยความจริงใจ  

ขอให้แม่ชื่นชมยินดีกับสิทธิพิเศษของการทำหน้าที่ความเป็นแม่  ในการส่งชายหนุ่มหรือหญิงสาวผู้รักพระคริสต์ที่เข้มแข็ง มีชีวิตชีวา เข้ามาในโลกที่เต็มไปด้วยอิทธิพลของความชั่วร้ายทำลาย  ให้พวกเขามีชีวิตที่กล้าหาญที่จะดำเนินชีวิตที่ดีเพื่อเห็นแก่พระคริสต์   ชายหนุ่มหญิงสาวที่รักพระคริสต์ที่เข้ามาอยู่ในสังคมโลกที่มีความโศกสลดเพราะความบาปผิดด้วยควากล้าหาญที่ต้องการดำเนินชีวิตที่ดีเพื่อเห็นแก่พระคริสต์  

ผู้เป็นแม่อย่าเพิ่งท้อแท้   เพราะงานชีวิตของแม่นั้นยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง

จะมีบางคนที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตลูกของท่านในช่วงแรกในชีวิตของลูก  แล้วปลูกฝังระบบค่านิยมและมาตรฐานชีวิตลงบนจิตวิญญาณหนุ่มสาวลูกของแม่อย่างน่าประทับใจ   ขอคุณแม่ยังคงยืนหยัดในความเป็นแม่ของตน   ผมในฐานะที่เป็นผู้สูงวัย  ขอให้ความมั่นใจแก่คุณแม่ในตอนนี้ว่า  เมื่อคุณแม่เห็นลูกของตนเติบโตแข็งแรงขึ้นในพระคริสต์ ความทุกยากลำบากในชีวิตของแม่ที่ทุ่มเทลงไปสำหรับลูกจะอันตรธานหายสิ้น  ยิ่งเมื่อลูกยืนยันความเชื่อของเขาเองที่มีในองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอด “อย่าให้เราอ่อนล้าในการทำดี เพราะถ้าเราไม่ย่อท้อ เราก็จะเก็บเกี่ยวในเวลาอันเหมาะสม” (กาลาเทีย 6:9 อมธ.)

นี่คือสิทธิอันพิเศษและมีคุณค่ายิ่งในการทำหน้าที่แม่   ขอให้เป็นคุณแม่ที่เต็มใจทุ่มเทยอมจ่ายค่าราคาชีวิตของแม่  ที่ยอมอุทิศทั้งชีวิตตามการทรงเรียกให้เป็นแม่ตามพระประสงค์ของพระเจ้า  ขออย่าละเลยสิ่งที่พระเจ้าเรียกให้เราทำ หรือเพิกเฉยต่อสิ่งที่พระองค์ขอให้เราเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ในการเลี้ยงดูฟูมฟักชนรุ่นต่อไป และนี่คือสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง  เพราะสิ่งที่คุณแม่กระทำมิใช่การรับใช้เสริมสร้างชีวิตลูกเท่านั้น  แต่ “...องค์พระคริสต์เจ้านี่แหละคือผู้ที่ท่านกำลังรับใช้อยู่” (โคโลสี 3:24 อมธ.)

27 กรกฎาคม 2564

พระองค์ยิ่งใหญ่กว่า...สิ่งที่ลูกต้องเผชิญในวันนี้!


เช้าวันนี้   เมื่อฉันสงบและถ่อมจิตใจลง
     ภาวนาอธิษฐานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า
เสียงเพลง “พระเจ้ายิ่งใหญ่”
     ได้แว่วดังชัดเจนในโสตประสาทแห่งจิตวิญญาณ
ฉันไม่รู้ว่าวันนี้จะต้องเผชิญกับอะไร
ไม่ว่าฉันจะต้องพบกับอะไรใหญ่โตแค่ไหน  
     ฉันมั่นใจว่า “พระเจ้ายิ่งใหญ่”
พระเจ้ายิ่งใหญ่กว่า  เศรษฐกิจที่ฉันจำเป็นต้องการในเวลานี้
พระเจ้ายิ่งใหญ่กว่า  เจ้าเชื้อโรคร้าย
     ที่แพร่กระจายอย่างรุนแรงในเวลานี้
พระเจ้ายิ่งใหญ่กว่า  ภูเขาที่ขวางกั้นในชีวิตฉัน
     ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
ฉันจึงก้มจิตใจของฉันน้อมลงอธิษฐานต่อพระเจ้า...


พระบิดาที่รัก
ไม่มีใครที่เป็นเหมือนพระองค์
พระองค์ยิ่งใหญ่
พระนามของพระองค์เปี่ยมด้วยฤทธานุภาพ
โดยฤทธานุภาพของพระองค์ได้สร้างโลกนี้
โดยพระปัญญาของพระองค์ได้วางรากฐานโลกนี้
ด้วยความเข้าใจของพระองค์  จักรวาลนี้ถูกยืดขยายออกไป

เสียงฟ้าคำรามและสายฝนส่งมาจากเบื้องบน
เหล่าเมฆไหลมาจากที่ต่าง ๆ ตามคำสั่งของพระองค์
แสงแห่งฟ้าแลบส่งแสงแปลบปลาบตามพระบัญชา
เมื่อพระองค์กระซิบกระแสลมก็พัดเคลื่อนตัว
พระองค์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของสรรพสิ่ง
เป็นพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ

อะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นบนเส้นทางชีวิตของลูก
ลูกรู้อย่างมั่นใจว่า พระองค์ทรงยิ่งใหญ่กว่า
ลูกวางใจในแผนการของพระองค์สำหรับชีวิตลูก
ลูกมั่นใจในพระราชกิจในวันนี้ในชีวิตของลูก
ลูกจึงสามารถ สงบ สุข สันติ ในพระองค์

ขอบพระคุณในพระนามพระเยซูคริสต์   อาเมน

29 มิถุนายน 2564

ขณะเรากำลังรอ พระเจ้ากำลังทำพระราชกิจในตัวเรา

“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า
ในยามเช้าพระองค์ทรงได้ยินเสียงข้าพระองค์  
ในยามเช้าข้าพระองค์นำคำร้องทูลมาต่อหน้าพระองค์  
และจดจ่อรอคอยคำตอบจากพระองค์” (สดุดี 5:3 อมธ.)

 เมื่อเราทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า   เราจะรอคอยด้วยความคาดหวัง

เราอธิษฐานต่อพระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อในพระสัญญาของพระองค์   พระเจ้าเป็นเหมือนพ่อที่ดีผู้สัญญาว่าจะประทานในสิ่งที่เราจำเป็นสำหรับเราเสมอ   เมื่อเรารอคอยด้วยความคาดหวัง   เราได้แสดงออกถึงความเชื่อศรัทธาของเราด้วยความเชื่อว่า พระเจ้าจะทำในสิ่งที่พระองค์ได้สัญญาไว้

ความคาดหวัง เราไม่ได้หวังในสิ่งที่เราพึงมีสิทธิที่จะได้รับ  สิทธิที่พึงจะได้รับบอกว่า  “ฉันควรจะได้รับในสิ่งที่ฉันจำเป็นต้องการจากพระเจ้า  ฉันสมควรจะได้รับเพราะฉันได้อ่านพระคัมภีร์ 5 ครั้งในสัปดาห์นี้  และได้ไปร่วมกิจกรรมที่คริสตจักร 2 ครั้ง  ดังนั้นพระเจ้าจะต้องให้สิ่งที่ฉันต้องการจำเป็น” (??)   แต่ความคาดหวังเป็นการกล่าวว่า “พระเจ้าจะให้สิ่งที่ฉันจำเป็นเพราะพระองค์ประสงค์ที่จะให้สิ่งที่ดีสำหรับฉัน  ตามแผนการชีวิตของพระองค์สำหรับชีวิตฉัน”

การรอคอยสิ่งที่เราคาดหวังไม่ใช่เรื่องง่าย!   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่มีกำลังอำนาจ   เมื่อเราไว้วางใจในพระเจ้ากระทำสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ในชีวิตสมรส หรือในอาชีพการงาน  หรือในความสัมพันธ์   และเวลาของพระเจ้าดูเคลื่อนไปอย่างเชื่องช้า   เป็นการยากที่เราจะยังไว้วางใจในพระองค์

อย่าท้อแท้  ไม่ยอมแพ้   ถึงแม้ว่า  เราไม่รู้ว่าทำไมพระเจ้าถึงยังไม่ตอบคำอธิษฐานของเรา   เรายังสามารถที่จะไว้วางใจว่าพระองค์จะรักษาพระสัญญาของพระองค์   เรายังมั่นใจว่าทุกอย่างยังอยู่ในการควบคุมของพระเจ้า   ไม่มีผู้ใดที่จะมีฤทธิ์อำนาจมากกว่าพระองค์   ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของเราเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยสำหรับพระองค์

ขณะที่เรากำลังรอคอยคำตอบจากพระเจ้า พระองค์กำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์   พระองค์กำลังเสริมสร้างความเชื่อศรัทธาของเราให้เข้มแข็งมั่นคงขึ้น   ทรงสอนสัจจะความจริงที่เรายังไม่รู้ไม่เข้าใจแก่เรา   ทรงกระทำให้เราใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น   และเสริมสร้างให้เรามีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น  

พระเจ้าทรงล่วงรู้ถึงความจำเป็นต้องการในชีวิตของท่านยิ่งกว่าที่ท่านรู้จักตนเอง

ให้เราทำอย่างกษัตริย์ดาวิด   ให้เราทูลขอต่อพระเจ้า   และรอคอยคำตอบจากพระองค์ด้วยความคาดหวัง  (ไม่ใช่ด้วยความไม่แน่ใจ หรือ ด้วยความสิ้นหวังที่ซ่อนเร้นในใจ)

02 มิถุนายน 2564

“จงอธิษฐานอยู่เสมอ”...เขาทำกันอย่างไร?

อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:16-18

พระวจนะของพระเจ้าบอกแก่เราว่า “จงอธิษฐานอยู่เสมอ” (1เธสะโลนิกา 5:17 อมธ.) อนุชนคนหนึ่งถามผมตรง ๆ ต่อหน้าเพื่อนฝูงของเขาว่า “การอธิษฐานอยู่เสมอหมายความว่าอย่างไร?....”   อีกคนหนึ่งถามต่อว่า “แล้วเขาทำกันอย่างไร?”

พระเจ้าประสงค์ให้เราบ่นพึมพำกับพระองค์ตลอดเวลาอย่างเช่นคนเคร่งศาสนาที่ท่องมนต์บ่นภาวนาในทุกขณะชีวิตของเขาเช่นนั้นหรือ? ไม่ใช่แน่... พระเจ้าไม่ต้องการให้เราทำเช่นนั้นแน่   เพราะการอธิษฐานมิใช่การท่องมนต์บ่นกับพระเจ้า หรือเป็นเหมือนการท่องคาถาเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่างของเราเอง

แต่การอธิษฐานอยู่เสมอคือ...

(1)  การที่เราตระหนักรู้ว่าเราอยู่กับพระเจ้าเสมอ มั่นใจที่จะปรึกษากับพระองค์ได้ทุกเรื่องในชีวิตของเรา สำนึกในพระคุณของพระองค์ที่มีต่อชีวิตของเราในทุกเวลา และชื่นชมยินดีในพระองค์ในทุกสถานการณ์ชีวิตของเรา เพราะเราเชื่อมั่นในแผนการของพระองค์สำหรับชีวิตของเราในขณะนี้และตลอดวันนี้

(2)  พฤติกรรมความเชื่อในชีวิตของเราจะสำแดงเบ่งบานเมื่อเราเริ่มต้นวันใหม่ทุกวันด้วยการอธิษฐานสนทนากับพระเจ้า และเริ่มต้นวันใหม่ทุกวันด้วยการอ่าน ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ขุดค้นเจาะลึกในพระวจนะของพระองค์ และมีเวลาที่จะนิ่ง เงียบ เพื่อฟังเสียงของพระองค์สำหรับเราในวันใหม่แต่ละวัน 

และถ้าเป็นได้ให้บันทึก จดจำ เพื่อสามารถนำมาพิจารณาใคร่ครวญว่า เสียงที่พระเจ้าตรัสและสนทนาในเช้าวันนี้พระองค์ประสงค์ให้เราทำอะไรบ้างในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ ซึ่งเราสามารถพิจารณาใคร่ครวญเสียงของพระองค์ในวันนี้ในทุก ๆ สถานการณ์ชีวิต   ในทุก ๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตลอดวันนี้ของเรา

(3)  เมื่อเวลาใดที่เกิดภาวะวิกฤติ เกิดความขัดข้องขัดแย้ง เกิดภาวะอ่อนแรงท้อแท้ พบทางตัน หาทางออกไม่ได้ ให้เรานิ่ง สงบ ทบทวนถึงเสียงสนทนาของพระเจ้าเมื่อเช้าวันนี้ ใคร่ครวญ ไตร่ตรองเสียงของพระองค์ว่าพระองค์ประสงค์ให้เราทำเช่นไรในวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นกับเรา แล้วทำตามเสียงของพระองค์ที่ชี้นำแก่เรา หรือพร้อมที่จะรอคอยในการชี้นำของพระองค์ด้วยความอดทน

(4)  ในช่วงเวลาใด ในสถานการณ์ใด ในงานใดที่เราได้ประสบกับความสำเร็จที่ทำให้เราเกิดความชื่นชมยินดีและภูมิอกพอใจ ให้เรานิ่งและสงบ และใคร่ครวญถึงพระคุณของพระองค์ที่ได้ใส่พระทัยเมตตาเรา อวยพระพรแก่เราและคนรอบข้าง ให้เราขอบพระคุณพระองค์  สรรเสริญพระองค์

(5)  เมื่อมาถึงเวลาสิ้นวันนี้ของเรา ให้เรามีเวลาเฉพาะที่จะนิ่งและสงบ และทบทวน สะท้อนคิดถึงถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่ได้กระทำในชีวิต ผ่านชีวิต และในสถานการณ์ชีวิตของเราในวันนี้  

1)   แล้วเขียนรายการที่เราสำนึกในพระคุณของพระองค์ที่กระทำแก่เราและคนรอบข้างตลอดวันนี้  

2)   มีสถานการณ์อะไรบ้างที่เราพลั้งเผลอผิดพลาดในวันนี้ ขอโปรดเมตตายกโทษแก่เรา   และทูลขอพระปัญญาและพระกำลังที่จะไม่ก้าวลงไปทำผิดซ้ำอีกในวันต่อ ๆ ไป  

3)   มีใครบ้างที่เราได้พบเจอสัมผัสสัมพันธ์ด้วยในวันนี้ ที่เราต้องการอธิษฐานเผื่อเขา  และอธิษฐานเผื่อเขาในเรื่องอะไร

4)   มีอะไรบ้างที่ไม่สามารถสำเร็จตามความคาดคิดของเรา ทำให้เราวิตกกังวล ให้นิ่งและสงบทูลขอพระเจ้าโปรดเมตตาชี้นำเราว่าควรทำอะไร อย่างไร เมื่อใด ในวันต่อ ๆ ไป

5)   ขอบพระคุณสำหรับค่ำคืนนี้ เป็นเวลาที่พระองค์ประทานแก่เราให้รับพระพร ในการพักผ่อนหลับนอน ขอน้อมรับพระพรนี้ด้วยสำนึกในพระคุณของพระองค์ เป็นเวลาที่เราจะได้รับการพลิกฟื้นชีวิตทั้งร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณของเรา   

จำเป็นที่คริสตชนจะต้องตระหนักชัดว่า การอธิษฐานมิใช่เวลาของการนำเสนอรายการความต้องการของเราต่อพระเจ้า แต่การอธิษฐานเป็นช่วงเวลาและโอกาสแห่งการเสริมสร้างสัมพันธภาพของเรากับองค์พระผู้เป็นเจ้า 

การอธิษฐานเป็นเวลาที่เตือนให้เราตระหนักชัดว่าเราต้องพึ่งพิงในพระเจ้า เราไม่สามารถที่จะพึ่งพาในความสามารถของตนเองเท่านั้น เป็นเวลาที่เตือนสติของเราทุกครั้งว่า “พระเจ้าทรงเป็นที่พึ่งพิงและลี้ภัยในทุกสถานการณ์ชีวิตของเรา” 

การอธิษฐานเป็นการสื่อสารสองทาง มิใช่การสื่อสารทางเดียวที่พระเจ้าต้องมาฟังเราพูดเราขอเท่านั้น แต่พระองค์พร้อมที่จะตรัสแก่เรา ชี้นำ เสริมหนุนเรา

และทั้งสิ้นนี้เป็นกระบวนการของ “การอธิษฐานอยู่เสมอ”

แล้วเราจะเริ่มต้น “อธิษฐานอยู่เสมอ” อย่างไร

อ้อ...ถ้าใครมีปัญหาใน “การอธิษฐานอยู่เสมอ” ท่านสามารถทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์ได้ในเรื่องนี้ด้วยครับ แต่การอธิษฐานไม่เหมือนการกล่าวท่องเวทมนตร์ สำเร็จรูป ซ้ำซาก เพื่อเราจะได้สิ่งที่เราต้องการ  

การอธิษฐานเป็น “วินัยชีวิตคริสตชน” หรือ ที่เราจะเรียกว่า “นิสัยหนึ่งของชีวิตคริสตชน” ก็ได้  ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าประสงค์ที่จะเสริมสร้างให้เกิดขึ้นในชีวิตของเราแต่ละคน ซึ่งต้องการส่วนความรับผิดชอบของตัวเราเอง ที่จะต้องมีมานะฝึกฝนด้วยความอดทนในการรับการก่อร่างสร้างตัวสิ่งนี้ในชีวิตจิตวิญญาณของเราจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

อีกประการหนึ่งครับ “การอธิษฐานอยู่เสมอ” เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับเราทั้งหลายแต่ละคนในพระเยซูคริสต์ด้วยครับ  (1เธสะโลนิกา 5:18 อมธ.)

 จงชื่นชมยินดีอยู่เสมอ 
จงอธิษฐานอยู่เสมอ 
จงขอบพระคุณในทุกสถานการณ์
เพราะนี่คือพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับท่านทั้งหลายในพระเยซูคริสต์

(1เธสะโลนิกา 5:16-18 อมธ.)