31 กรกฎาคม 2562

สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้... แต่พระเจ้าควบคุมได้!


อ่าน ฟิลิปปี 1:12-18

ถ้าเป็นไปได้แล้ว สถานการณ์ที่เราสามารถจะควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ เราจะเปลี่ยนแปลงใช่ไหม? แม้หลายคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกสงบ รู้สึกสบาย แต่ก็ยังคิดจะเปลี่ยนแปลงให้มันมีเงื่อนไขที่ดีขึ้น!

แต่หลายคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน ทุกข์ยาก เจ็บปวด ยากลำบาก คนเหล่านี้มุ่งมองหาทางให้ตนหลุดรอดออกจากสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ให้ได้ แม้จะรู้ว่าเราควบคุมสถานการณ์นี้ไม่ได้ เราก็ยังอธิษฐานทั้งขอทั้งบอกพระเจ้าให้ช่วย “ขจัด” หรือ “ยก” สถานการณ์ที่เราไม่อยากได้นี้ออกไปทีเถิดใช่ไหม?

ถ้าเป็นเหมือนสถานการณ์ของเปาโลที่ถูกคุมขังอย่างหนาแน่น เราคาดหวังว่าพระเจ้าจะทำการอัศจรรย์ให้เราหลุดออกจากการถูกคุมขัง...ใช่ไหม?

เสียใจด้วยครับ...พระเจ้าไม่ได้ช่วยเปาโลให้หลุดพ้นจากการถูกคุมขัง แต่พระเจ้าช่วยให้เปาโลที่ถูกคุมขังใช้สิ่งที่เขามีและสามารถควบคุมได้ในสถานการณ์ที่จำกัดเช่นนั้นให้เกิดผลเป็นประโยชน์ในการสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ในสถานการณ์ชีวิตประจำวันของท่าน ตามพระบัญชาของพระคริสต์ คือการประกาศพระกิตติคุณของพระคริสต์เพื่อหนุนเสริมให้แผ่นดินของพระเจ้าเกิดเป็นรูปธรรมบนแผ่นดินโลกนี้

พระเจ้าทรงใช้สถานการณ์ที่เปาโลถูกคุมขัง เพื่อช่วยให้เปาโลหาทางใหม่ในการประกาศข่าวประเสริฐ คือทำให้ผู้เชื่อ และคริสตจักรกระตือรือร้นและมีความกล้าหาญในการประกาศเพราะเห็นแบบอย่างของเปาโลที่ยอมถูกคุมขังเพราะข่าวประเสริฐ และการเลี้ยงดูเสริมสร้างผู้เชื่อให้เป็นคนรับใช้ที่กล้าเผชิญหน้ากับความทุกข์ผ่านจดหมาย และ คำสอนของท่านที่มีไปถึงผู้เชื่อเหล่านั้น

อิทธิพลกระแสสังคมโลกในเวลานั้นปิดกั้นพระกิตติคุณทางหนึ่ง แต่พระเจ้าเปิดทางใหม่ที่สามารถเกิดผลมากกว่าเดิม แทนที่เปาโลจะตะลอนประกาศพระกิตติคุณไปทุกแว่นแคว้นด้วยตนเอง แต่ทางใหม่ที่พระเจ้าประทานแก่เปาโลและคริสตจักรในเวลานั้น มีผู้ที่ถวายตัวรับใช้ในการประกาศพระกิตติคุณเพิ่มขึ้นหลายคน ที่กระจายออกไปประกาศในพื้นที่ต่าง ๆ ในกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย และยิ่งสำคัญกว่านี้คือ เปาโลเสริมสร้างผู้เชื่อใหม่ให้รับใช้ในการประกาศพระกิตติคุณเพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย

เปาโลมิเพียงแต่ได้ผู้เชื่อในพระคริสต์เท่านั้น แต่ได้สร้างพวกเขาให้มีชีวิตประจำวันเป็นสาวกของพระคริสต์ด้วย ที่สานต่อพระราชกิจที่ได้เริ่มต้นไว้ตามพระบัญชาของพระคริสต์

ในฟิลิปปี บทที่ 1 เปาโลเขียนไว้ว่า “(12)พี่น้องทั้งหลาย บัดนี้ข้าพเจ้าอยากให้ท่านทราบว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เกิดกับข้าพเจ้ากลับทำให้ข่าวประเสริฐแพร่ออกไป (13)จนทหารทั้งปวงที่รักษาวัง และคนอื่น ๆ ทุกคนประจักษ์ทั่วกันว่าข้าพเจ้าถูกจองจำเพื่อพระคริสต์ (14)เพราะการที่ข้าพเจ้าถูกจองจำทำให้พี่น้องส่วนใหญ่ในองค์พระผู้เป็นเจ้าได้รับกำลังใจให้กล่าวพระวจนะของพระเจ้าอย่างกล้าหาญและไม่หวั่นเกรงมากขึ้น” (ข้อ 12-14 อมธ.)

สำหรับเราท่าน...

l อะไรคือสิ่งที่คุมขัง ตีตรวน ควบคุม จำกัดชีวิตของท่านในปัจจุบัน ที่ทำให้ท่านไม่สามารถที่จะรับใช้พระคริสต์ในชีวิตประจำวันตามพระมหาบัญชาของพระองค์?

l ท่านได้อธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้าอย่างไรบ้างในเรื่องนี้?

l ในสถานการณ์ที่จำกัดอย่างปัจจุบันของท่าน ท่านเห็นว่าพระเจ้าได้เปิดช่องทางอะไรบ้างสำหรับท่าน ที่ท่านยังสามารถจะทำได้?

l ท่านจะทำอย่างไร จะเริ่มต้นอย่างไรในช่องทางใหม่นี้?
เราต้องไม่ลืมว่า ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่พระเจ้าทรงควบคุม-ครอบครองและจัดการสถานการณ์แวดล้อมที่เป็นอยู่ในตอนนี้ในชีวิตของเราให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์

เราควบคุมไม่ได้...แต่พระเจ้าทรงควบคุมได้!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

28 กรกฎาคม 2562

จงวางใจพระเจ้าในชีวิตแต่ละวัน


มีอยู่สองวันที่เราท่านไม่ควรนำมาวิตกกังวล คือ เมื่อวานนี้ และ พรุ่งนี้!

เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในวันที่ผ่านมาแล้ว และในเวลาเดียวกันเราก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในอนาคตด้วย ทำไมเราถึงควรมีชีวิตวันต่อวัน?

ประการแรก เมื่อเรากังวลถึงปัญหาของวันพรุ่งนี้ เราก็พลาดโอกาสแห่งพระพรในวันนี้

ประการที่สอง เราไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาของวันพรุ่งนี้ด้วยพลังของวันนี้ได้ เมื่อวันพรุ่งนี้มาถึง พระเจ้าจะประทานพลัง มุมมอง พระคุณ และพระปัญญาที่จำเป็นต้องมีแก่เรา

ในพระธรรมมัทธิว 6:11 ไม่ได้บอกกับเราว่า โปรดประทานอาหารสำหรับสัปดาห์นี้แก่ข้าพระองค์ แต่สอนเราอธิษฐานว่า โปรดประทานอาหารสำหรับวันนี้ พระเจ้าต้องการให้เราสำนึกเสมอว่าที่เรามีชีวิตอยู่ในแต่ละวันเราต้องพึ่งพิงพระองค์ และให้เราพึ่งพิงพระองค์วันต่อวัน พระองค์ใส่ใจเราแต่ละคนในแต่ละวัน วันต่อวัน เราจะไม่ขัดสนสิ่งใดในแต่ละวัน

เราสามารถที่จะวางแผนสำหรับวันพรุ่งนี้ อนาคตได้ แต่อย่าเผลอไปหยิบฉวยความวิตกกังวลในวันพรุ่งนี้มาเป็นของวันนี้ จงวางใจในพระเจ้าในแต่ละวันที่มันเคลื่อนเข้ามาหาเราทีละวัน

อย่าลืมว่า เรามีชีวิตอยู่ได้ทีละวัน อย่าเอาความวิตกกังวลเหมารวมหลายๆวันมาทับถมตนเองในวันเดียวคือวันนี้

มีอะไรบ้างในชีวิตจิตใจของเราที่วิตก เครียด กังวลเกี่ยวกับชีวิตที่ผ่านมา ให้เราเปิดเผยและยอมมอบสิ่งเหล่านี้ไว้ในพระหัตถ์ของพระเจ้า และไว้วางใจว่า พระเจ้าจะจัดการสิ่งเหล่านั้นให้เกิดผลดีที่สุดสำหรับชีวิตของเรา

วันนี้ให้เราค่อย ๆ อ่านสดุดีบทที่ 23 ค่อย ๆ อ่านทีละประโยค ให้แต่ละประโยคพูดกับชีวิตและจิตใจวันนี้ของเรา พระเจ้าทรงกระทำอะไรในวันนี้ในชีวิตของเรา? (ข้อ 1-5) ส่วนเราจะไว้วางใจพระองค์อย่างไรในอนาคต? (ข้อ 6)

34เพราะฉะนั้นอย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้เพราะพรุ่งนี้ก็จะมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้เอง แต่ละวันก็มีความเดือดร้อนของมันพออยู่แล้ว (มัทธิว 6:34 อมธ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

25 กรกฎาคม 2562

จะเป็นผู้นำระดับ 5 ได้อย่างไร?

การที่จะเป็นผู้นำระดับ 5 ผู้นำที่เยี่ยมยอดได้นั้น จำเป็นที่ผู้นำคนนั้นจะต้องพัฒนาจากภายในตนเองด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการพัฒนาสู่การเป็นผู้นำระดับ 5 ดังนี้

© พัฒนาความอ่อนน้อมถ่อมตน
ผู้นำระดับ 5 เป็นผู้นำที่อ่อนน้อมถ่อมตน  การอ่อนน้อมถ่อมตนนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่มีต่อคนรอบข้าง การหยิ่งยโส อวดดี รังแต่ผลาญล้างความสัมพันธ์และทำลายคุณค่าของตนเองในสายตาของคนรอบข้าง... 

เมื่อประสบความสำเร็จในการทำงาน   ผู้นำจะไม่แย่งชิงเอาความสำเร็จจากทีมงานมาเป็นของตนคนเดียว แต่ผู้นำที่ถ่อมตนจะให้เครดิตความสำเร็จแก่ทีมงานที่ได้ทำงานมาอย่างหนักด้วยกัน  ในทางกลับกัน ในฐานะผู้นำจะต้องรับผิดชอบในความพยายามของทีมงานแม้จะมีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นบ้างก็ตาม

© กล้าขอความช่วยเหลือ
ผู้นำบางท่านมีมุมมองที่คลาดเคลื่อนว่า การขอความช่วยเหลือเป็นการแสดงออกถึงความ “อ่อนแอ” ของภาวะผู้นำ ทำให้ “เสียหน้า”

ผู้นำที่เรียนรู้จากการขอความช่วยเหลือจากทีมงานหรือคนรอบข้างนั่นเป็นจุดแข็งที่แท้จริง  เพราะผู้นำกล้าที่จะขอคนที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องที่ที่ตนมีความชำนาญพร่องกว่ามาช่วยเติมเต็มให้งานของทีมให้ประสบความสำเร็จสูงสุด

© เป็นผู้นำที่มีวินัยชีวิต
ผู้นำระดับ 5 เป็นผู้นำที่มีวินัยในชีวิตและการทำงาน เมื่อเขากระทำการใด ๆ ไม่ว่าจะยากเพียงใดก็ตาม เขาจะยืนหยัดทุ่มเททำให้งานนั้นสำเร็จให้ได้  

ผู้นำระดับ 5 หากรู้ว่าสิ่งที่ตนคิดถูกต้องแล้ว จะไม่ยอมปล่อยให้เสียงที่ไม่เห็นด้วยมาเป็นเหตุให้เขาต้องทิ้งงานนั้น หรือ หยุดชะงักในการทำงานนั้น การฟังเสียงที่มีความคิดที่แตกต่างเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าให้ความคิดเห็นดังกล่าวสร้างความกลัวจนทำให้เราเปลี่ยนการตัดสินใจในการทำเรื่องนั้น

© ตั้งใจพัฒนาคนรอบข้างให้เป็นผู้นำที่เหมาะสม
ผู้นำระดับ 5 จะขับเคลื่อนงานไปพร้อมกับทีมงาน ดังนั้น เขาจะใช้เวลาในการค้นหาเลือกเฟ้นคนที่เหมาะสม แล้วหนุนเสริมให้คนนั้นได้พัฒนาศักยภาพที่มีในตัวเขาให้เป็นความสามารถที่สูงสุด

© นำอย่างกระตือรือร้น
ผู้นำระดับ 5 จะเป็นผู้นำด้วยความกระตือรือร้น ด้วยใจรัก เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนทำ และนำอย่างเปิดเผยโปร่งใส เมื่อทีมงานเห็นถึงการนำและการทำงานของผู้นำพวกเขาก็จะทำอย่างเดียวกัน


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


22 กรกฎาคม 2562

ภาวะผู้นำระดับ 5... ผู้นำที่เยี่ยมยอด

การที่จะเป็นผู้นำที่เยี่ยมยอด  เราจะต้องเสริมสร้างทักษะความสามารถของเรา

อะไรที่ทำให้ผู้นำได้กลายเป็นผู้นำที่เยี่ยมยอด?  

ผู้คนทั้งหลายมักจะถามว่า  แล้วเราจะพัฒนาให้ภาวะผู้นำของเราก้าวจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่งได้อย่างไร   แล้วเราจะก้าวจากระดับผู้นำที่ดีไปสู่ผู้นำที่เยี่ยมยอดได้อย่างไร

ในที่นี้เราจะพิจารณาถึง “ภาวะผู้นำระดับที่ 5” ว่ามีความคิดหลักอะไรบ้างที่จะช่วยเราก้าวไปสู่ภาวะผู้นำระดับ 5 เป็นผู้นำที่เยี่ยมยอด แล้วจะมีย่างก้าวอะไร/อย่างไรบ้างที่ช่วยให้เราสามารถก้าวถึงภาวะผู้นำระดับสูงสุด

หลักคิดของภาวะผู้นำในระดับ 5 เป็นผลงานของ จิม คอลลินส์ (Jim Collins)  โดยได้ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review article และพิมพ์หนังสือของเขา "Good to Great" ในเวลาต่อมา

ผู้นำทั้ง 5 ระดับมีดังนี้

ผู้นำระดับ 1:  ผู้นำที่มีความสามารถสูง
ในระดับนี้ ผู้นำได้ทำให้เกิดคุณภาพสูงในงานที่ทำ   เป็นผู้นำที่มีความรู้ที่เป็นประโยชน์  มีความสามารถ พรสวรรค์ หรือ ของประทานที่จำเป็นต้องมีในงานที่ทำและรับผิดชอบให้เกิดผลงานที่ดี

ผู้นำระดับ 2:  ผู้นำที่หนุนเสริมสมาชิกในทีมงาน
ในระดับที่ 2 นี้ผู้นำได้ใช้ความรู้ และ ทักษะความสามารถที่เขามีอยู่หนุนเสริมช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกในทีมงาน   ทำให้ผู้นำทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  เกิดผลและประสบความสำเร็จร่วมกับคนอื่นๆในทีมงานของเขา

ผู้นำระดับ 3:  ผู้นำที่มีทักษะในการบริหารจัดการ
ในระดับนี้ผู้นำเป็นผู้ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการทีมงานให้มีความสามารถและประสิทธิภาพมุ่งบรรลุเป้าหมายเฉพาะ และ จุดประสงค์ของงาน

ผู้นำระดับ 4:  ผู้นำที่มีสมรรถนะ
ภาวะผู้นำในระดับนี้  มีความสามารถในการกระตุ้นดลใจองค์กร หน่วยงานที่ตนรับผิดชอบมุ่งไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ด้านประสิทธิภาพ และ บรรลุตามนิมิตหมาย หรือ วิสัยทัศน์ขององค์กรหรือหน่วยงาน

ผู้นำระดับ 5:  ผู้นำที่เยี่ยมยอด
ในระดับนี้เป็นผู้นำที่มีทักษะความสามารถของระดับ 1-4  ทั้งหมด  ซึ่งเป็นทักษะความสามารถที่จำเป็นสำหรับผู้นำ พร้อมกับผสมผสานความอ่อนน้อมถ่อมตน และคุณลักษณ์เฉพาะอื่นๆ (ที่กล่าวในลำดับตอนต่อไป)  ซึ่ง 5 ประการดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อการเป็นผู้นำในระดับ 5   คือผู้นำที่เยี่ยมยอด

แล้วท่านเป็นผู้นำในระดับไหน?   ทำไมถึงคิดเช่นนั้น?

แล้วผู้นำ/หัวหน้า ในองค์กร ในงานที่ท่านทำเป็นผู้นำระดับไหน?  ทำมถึงคิดเช่นนั้น?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


18 กรกฎาคม 2562

จะจัดการอย่างไรกับภาวะล้มเหลว สิ้นหวังในชีวิต?

“...เรารู้ว่าในทุก ๆ สิ่งพระเจ้าทรงทำให้เกิดผลดีแก่บรรดาผู้ที่รักพระองค์ แก่บรรดาผู้ที่ได้ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์” (โรม 8:29 อมธ.)

เมื่อหลายปีก่อนเหตุการณ์จริงนี้ได้เกิดขึ้นในกรุงลอนดอน ชายหนุ่มที่มีของประทานได้เตรียมตัวที่จะทำพันธกิจรับใช้พระเจ้า เขามอบกายถวายชีวิตของตนแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า และต้องการให้พระองค์ใช้ชีวิตของเขา เขาเป็นนักศึกษาที่ฉลาดหลักแหลม จบการศึกษาพระคริสต์ธรรมด้วยคะแนนเกียรตินิยม

ก่อนที่เขาจะเป็นศิษยาภิบาล/ศาสนาจารย์ เขาจะต้องผ่านการสอบการเทศนาในเชิงปฏิบัติต่อหน้าคณะกรรมการศาสนาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ สถานการณ์นี้กดดันจนทำให้เขาเกิดความวิตกกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาเห็นคู่หมั้นของตนนั่งอยู่ในกลุ่มผู้ฟังด้วย เพราะความวิตกกังวลอย่างรุนแรงนี้ ทำให้เขาลืมกระบวนเนื้อหาที่เขาเตรียมอย่างดีสำหรับการเทศนาครั้งนี้  กลายเป็นความคิดที่สับสน การเทศนาของเขาดำเนินไปอย่างสับสนไม่เป็นกระบวนคิด กระท่อนกระแท่น ผลที่ได้รับคือ เขาเทศนาไม่ผ่านที่จะรับการสถาปนาเป็นศาสนาจารย์

เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเจ็บปวดและผิดหวังท้อแท้เสียใจอย่างมาก ยิ่งเสียใจมากขึ้นเมื่อคู่หมั้นของเขาถอนหมั้นเพราะการเทศนาของเขาที่ไม่เอาไหน ภายหลังสองสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ เขาต้องสู้กับภาวะซึมเศร้าและแสวงหาความสงบในชีวิต หลังจากนั้นหลายสัปดาห์ เขาระบายความรู้สึกของเขาทั้งสิ้นต่อพระเจ้า พระเจ้าได้เตือนเขาด้วยพระธรรม โรม 8:28 “ในทุก ๆ สิ่งพระเจ้าทรงทำให้เกิดผลดีแก่บรรดาผู้ที่รักพระองค์...” หลังจากนั้นเขาสัมผัสกับประสบการณ์ความสงบสันติในจิตใจจิตวิญญาณของเขาอย่างประหลาด

เมื่อถึงโอกาสที่เขาจะสอบการเทศนาในครั้งใหม่ ชายหนุ่มคนนี้ได้เทศนาอย่างมีพลัง และคณะกรรมการมีมติให้เขาได้รับการสถาปนาเป็นศาสนาจารย์ ตั้งแต่นั้นมาการเทศนาของชายหนุ่มคนนี้คือ จี. แคมป์แบล มอร์แกน (G. Campbell Morgan) ได้สร้างผลกระทบอย่างสร้างสรรค์ต่อผู้คนจำนวนมาก เขาเป็นผู้ที่เขียนอรรถาธิบายพระคัมภีร์จำนวนมากมายและเขียนหนังสือคริสต์ศาสนศาสตร์ 60 เล่ม มอร์แกน ได้ฝากมรดกอันมีค่าสำหรับผู้รับใช้และผู้เชื่อจำนวนมากมายที่ยังมีพลังจนทุกวันนี้ เพราะประสบการณ์ที่เขาต้องเผชิญกับวิกฤติชีวิต และ การเอาชนะวิกฤตินั้นด้วยการทรงช่วยเหลือของพระเจ้า ซึ่งเราเห็นแล้วว่า พระราชกิจของพระเจ้าที่ทำงานในชีวิตของมอร์แกนเกิดผลมหาศาลต่อผู้คน/ผู้รับใช้กระทั่งทุกวันนี้

ความล้มเหลวเป็นโอกาสที่เราจะทูลขอพระเจ้าให้เข้ามาในชีวิตของเรา ส่วนมากในภาวะเช่นนั้นเราไม่สามารถที่จะมองเห็นภาพใหญ่ของสถานการณ์นั้น ถึงแม้เราไม่สามารถเห็น เมื่อพระเจ้าเข้ามาในชีวิตของเรา พระองค์จะทำพระราชกิจของพระองค์ตามที่พระองค์ประสงค์ และบางครั้งการทำพระราชกิจของพระองค์เป็นการกระทำ “หลังฉากสถานการณ์ในเวลานั้น”

ถ้าท่านเป็นผู้เชื่อศรัทธาในพระเจ้าคนหนึ่งที่ประสบพบเจอกับความล้มเหลวในชีวิต อย่าท้อแท้ ท้อถอย อย่ายอมแพ้ พระเจ้าทรงใช้สถานการณ์ความล้มเหลวในชีวิตของเราเพื่อเสริมสร้างความสำเร็จเกิดผลในชีวิตของเรา แล้วเป็นพระพรในชีวิตของท่าน ตามพระสัญญาของพระองค์ ยิ่งกว่านั้นยังสร้างผลกระทบสร้างสรรค์แก่คนอื่นมากมายอีกด้วย

ในความล้มเหลว สิ้นหวังในชีวิต ทูลขอพระเจ้าใช้ความล้มเหลวเพื่อก่อเกิดชัยชนะ ขอบพระคุณพระองค์สำหรับพระสัญญาของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

14 กรกฎาคม 2562

เมื่อชีวิต พลั้ง-ผิด พลาด-พัง พระเจ้าเข้าแทรกแซง

การที่คนเราได้รับความทุกข์ยากลำบากในชีวิต มีสาเหตุ 3 ประการใหญ่ ๆ ที่เราควรพิจารณา คือ

1. เราตัดสินใจกระทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเหตุของการเกิดความเจ็บปวด ลำบากในชีวิตของเรา   เรียกว่าเราตั้งใจทำบาป หรือ เราเลือกที่จะเดินไปในทางของความบาป

ตัวอย่างเช่น อาดัมและอีฟ, โยนาห์, บุตรคนเล็ก (ในคำอุปมาของพระเยซูคริสต์), หญิงที่ถูกจับได้คาหนังคาเขาที่ล่วงประเวณีแล้วผู้นำศาสนายิวจับมาให้พระเยซูตัดสินว่าจะให้ทำอย่างไร และ ฯลฯ อีกหลายคน ในทุกสถานการณ์ของคนในกลุ่มนี้พวกเขาตัดสินใจเลือกที่จะกระทำผิดชั่ว และแน่นอนเขาก็จะได้รับผล/ผลกระทบ จากความบาปชั่วที่เขาทำ  

แต่พระเจ้าทรงเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตของคนกลุ่มนี้ เข้ามากอบกู้ เสริมหนุน ให้เกิดสิ่งดีจากสถานการณ์ที่เลวร้ายเหล่านี้ พระเจ้าเข้ามาแทรกแซง “ฐานเชื่อกรอบคิด” (mindset) ของทุกคนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นั้น และเปิดโอกาสให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ตามฐานเชื่อกรอบคิดใหม่จากพระองค์ ในชีวิตที่เจ็บปวด  พ่ายแพ้  สูญเสีย และเสี่ยงตาย  เขาได้พบทางไปสู่ชีวิตใหม่  

2. สถานการณ์ อันเป็นผลพวงจากความบาปที่มนุษยชาติได้กระทำจนทำให้ระบบที่พระเจ้าทรงสร้างปั่นป่วน รวนเร ก่อเกิดผลเสียผลร้ายต่อสังคมมนุษย์ส่วนรวม เรียกว่า ผลของความบาปชั่วที่เจ้าตัวมิได้ตัดสินใจเลือกดำเนินชีวิตในทางที่ผิดบาปนั้น แต่เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผล และ ผลกระทบจากความบาปชั่วนั้นในชีวิตของตน ในกรณีนี้จะมีเสียงบ่นต่อว่า  ทำไมคนดีต้องได้รับความเจ็บปวด ทุกข์ยากลำบากในชีวิต 

ตัวอย่างเช่น โยเซฟ ที่ต้องถูกพี่ชายขายไปเป็นทาสในประเทศอียิปต์ เพราะพี่ไม่ชอบขี้หน้า อิจฉา เกลียดชัง กีดกัน และต้องการขจัดน้องที่ทำตัวสำคัญกว่าพี่ (ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง) แต่โยเซฟก็ต้องรับผล/ผลกระทบจากรากเหง้าความบาปชั่วของพี่  

แต่พระเจ้าทรงใส่ใจเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์เลวร้ายของโยเซฟในทุกขั้นตอน  และในสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้พระเจ้าทรงใช้เป็นโอกาสในการทำให้เกิดสิ่งดีขึ้นในชีวิตของโยเซฟ ครอบครัว และชุมชนโลกที่นั่นในสมัยนั้น และยังใช้เป็นกระบวนการในการเตรียม เสริมสร้างโยเซฟสู่การเป็นคนที่พระเจ้าใช้ได้อย่างเกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์

3. สาเหตุประการที่สาม เป็นสาเหตุที่เริ่มต้นจากข้อที่ 2 แล้วตามด้วยข้อที่ 1 เป็นอิทธิพล และ ผล/ผลกระทบจากอำนาจแห่งความบาปชั่วที่ครอบงำอย่างกว้างขวาง แล้วเราตัดสินใจเลือกที่จะไหลไปตามกระแสอิทธิพลแห่งความบาปชั่วนั้น

ตัวอย่างเช่น โมเสส ที่ตัดสินใจฆ่าทหารอียิปต์ที่ข่มเหงแรงงานทาสยิว เพราะฐานเชื่อกรอบคิดที่ตนได้รับการสั่งสอนอบรมมาจากวัง และ ฐานะของตนเป็นถึงลูกชายธิดาฟาโรห์ หรือ หลานชายฟาโรห์ สำคัญว่าตนมีอำนาจ หรือ ต้องการแสดงอำนาจให้เป็นที่ยอมรับในหมู่แรงงานทาสยิว แต่ผลพวงที่เกิดขึ้นกลับตาลปัตร ทางฝ่ายราชบัลลังก์กลับมองว่าโมเสสก็คือลูกของพวกแรงงานทาสยิว ที่พระธิดาฉุดช่วยขึ้นมาจากแม่น้ำไนล์ และมองการะทำครั้งนั้นว่า เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นตั้งตัวเป็นกบฏแข็งข้อ   ผลคือ โมเสสต้องหนีระหกระเหินไปยังถิ่นทุรกันดารมีเดียน  

แต่บนเส้นทางชีวิตนี้พระเจ้าเข้ามาแทรกแซง ทรงเรียกเขา และสร้างเขาให้มีฐานเชื่อกรอบคิดใหม่ และให้โอกาสใหม่แก่โมเสส โดยใช้เขาในงานใหญ่ของพระองค์ตามพระประสงค์ และ การทรงนำของพระองค์ตลอดเส้นทางแห่งความทุกข์ยากลำบาก   จนถึงฝั่งฟากตรงกันข้ามกับแผ่นดินแห่งพระสัญญา

พระเจ้าทรงมีพระเมตตา พระองค์เข้ามาแทรกแซงในทุกสถานการณ์ชีวิตของเรา   เพื่อปรับเปลี่ยน “ฐานเชื่อกรอบคิด” (mindset) ของเรา เพื่อที่จะทรงพลิกสถานการณ์ที่เรามองว่าเลวร้าย รุนแรง สิ้นหวัง ให้มีมุมมองใหม่ที่ช่วยให้มองเห็นถึงพระประสงค์ของพระองค์ในสถานการณ์ที่เราไม่พึงต้องการนั้น และเราแต่ละคนที่ตกในสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้นต้องตัดสินใจเลือกว่า เราจะยอมรับ “ฐานเชื่อกรอบคิดใหม่” ที่พระเจ้าต้องการปรับเปลี่ยนให้เรา หรือเรายังคงต้องการยึดเกาะแน่น “ฐานเชื่อกรอบคิดเดิม” ของเราอย่างไม่ยอมปล่อย

ถ้าเราตัดสินใจยอมรับ “ฐานเชื่อกรอบคิดใหม่” จากพระองค์ พระองค์จะเดินเคียงข้างเราไปในทุกที่ทุกเวลา เป็นพระปัญญา และ พระกำลังหนุนเสริมเราไปสู่ผลดีที่จะเกิดขึ้นแก่เราตามพระประสงค์

แต่ถ้าเราตัดสินใจยึดเกาะแน่นใน “ฐานเชื่อกรอบคิดดั้งเดิม” อย่างไม่ยอมปล่อย   พระองค์ก็ยังติดตามเคียงข้างเราอย่างใกล้ชิด แน่นอนว่า เราต้องเผชิญกับผล/ผลกระทบใหม่ที่เราอาจจะคาดไม่ถึง ในความเลวร้ายที่รุนแรงกว่าเดิมนั้น ในเวลาเช่นนั้น พระเจ้าพร้อมที่จะเป็นพระกำลัง และพระปัญญาแก่เรา และพร้อมจะช่วยปรับ “ฐานเชื่อกรอบคิดของเรา” ให้ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง การช่วยกู้เป็นพระประสงค์ และ เป็นของประทานจากพระเจ้าแก่เรา เราต้องเลือกที่จะรับ เมินเฉย หรือไม่รับ  

พระเจ้าไม่บังคับ ให้เราต้องรับของประทานจากพระองค์ครับ แต่พระองค์มีพระประสงค์ให้เราแต่ละคน “กลับใจใหม่” ครับ   คือ ยอมเปลี่ยน “ฐานเชื่อกรอบคิด” ที่เรามีอยู่ ให้เป็นฐานเชื่อกรอบคิดที่สอดคล้องตามพระประสงค์ที่ต้องการให้เกิดสิ่งดีในชีวิตของเราแต่ละคนครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

11 กรกฎาคม 2562

ทำไมคริสตจักรปัจจุบันจึงมีชีวิตที่ “แย่ลง” ?

เรามักมีความรู้สึกนึกคิดว่าคริสตจักรในยุคความทันสมัยมีชีวิตที่ตกต่ำลง   ผมเองได้ยินเสียงบ่นวิจารณ์ถึงคริสตจักรปัจจุบัน  เช่น

N “คริสตจักรปัจจุบันนี้ประนีประนอมกับสังคม และ ดำเนินชีวิตตามกระแสสังคม”
N “คริสตจักรสมัยใหม่เป็นคริสตจักรมุ่งเน้นไปสู่การสร้างความบันเทิงแก่ผู้มานมัสการพระเจ้า”
N “คริสตจักรในยุคนี้ เป็นเรื่องบุคลิกภาพ หน้าตา มากกว่าเรื่องพระเยซูคริสต์”
N “ปัจจุบันนี้นักเทศน์จะพูดแต่เรื่องที่ถูกใจผู้ฟัง”
N “สมัยนี้เครื่องแต่งตัวของศิษยาภิบาลรุ่นใหม่เป็นแบรนด์ทันสมัยราคาแพง!” ฯลฯ

บ่อยครั้งเรามักคิดว่า คริสตจักรในสมัยนี้ ในปัจจุบันนี้ ในยุคนี้ “แย่” กว่าคริสตจักรในยุคที่ผ่าน ๆ ม แต่ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์คริสตจักรเราจะพบว่า คริสตจักรในแต่ละยุคแต่สมัยต่างก็จะมีความผิดพลาด จุดอ่อน ความด่างพร้อยที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่สถานการณ์ในยุคนั้น ๆ ไม่มีคริสตจักรในสมัยไหน ในยุคไหนที่เป็นคริสตจักรที่ดีพร้อมสมบูรณ์ แม้แต่คริสตจักรในสมัยเริ่มแรกก็ตาม

อย่างประเด็นแรกที่กล่าวถึงขั้นต้นว่า ปัจจุบันคริสตจักรประนีประนอมกับสังคม และ ดำเนินชีวิตคริสเตียนตามกระแสนิยมของสังคม   ใช่คริสตจักรทุกวันนี้เป็นเช่นนั้น

คริสตจักรปัจจุบันนี้นอกจากจะประนีประนอมกับสังคม และ ดำเนินชีวิตคริสตชนประจำวันตามกระแสนิยมของสังคมแล้ว ความเชื่อยังผิวเผินตื้นเขิน กลับไปเน้นเรื่องกฎระเบียบปฏิบัติ ใจคับแคบ ไม่ให้อภัย แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในคริสตจักรอดีตที่ผ่านมา แต่ละยุคแต่ละสมัยต่างก็มีคริสตจักรลักษณะดังกล่าวทั้งสิ้น ต่างกันเพียงเนื้อหา/ประเด็นความอ่อนแอ  ผิดพลาด จุดอ่อนในแต่ละเรื่องเท่านั้น

เราต้องยอมรับว่า คริสตจักรทุกยุคทุกสมัยต่างก็มีความผิดพลาด จุดอ่อน ความคลาดเคลื่อนไปจากสัจจะธรรมของพระคริสต์ ในทุกยุคทุกสมัยต่างก็มีสมาชิกที่ชั่ว ที่ร้าย  “สมาชิกที่เป็นพิษ” ในคริสตจักร แย่กว่านั้น  สาวกเองกลับหักหลังขายพระอาจารย์

ในทุกสมัยต่างก็มีผู้รับใช้/ศิษยาภิบาล ที่รับใช้ตนเองแทนรับใช้พระคริสต์

ถ้าคริสตจักรในสมัยเริ่มแรก คริสตจักรในยุคศตวรรษแรกเป็นคริสตจักรที่ดีพร้อมสมบูรณ์   เราคงไม่มีพระธรรมที่เป็นจดหมายฝากจากอาจารย์เปาโล และ อัครทูตคนอื่น ๆ ที่เขียนถึงคริสตจักร และคนต่าง ๆ  

คริสตจักรกาลาเทียที่ละทิ้ง “พระคุณของพระเจ้า” กลับไปสู่ความเชื่อแบบธรรมบัญญัติ   คริสตจักรเอเฟซัสได้สูญเสียความรักเมตตาที่เขาได้รับจากพระคริสต์  คริสตจักรเลาดีเซียเป็นคริสตจักรที่ไม่ร้อนไม่เย็น  เป็นคริสตจักรที่ “อุ่น ๆ” ไม่เอาไหน แล้วคริสตจักรโครินธ์ล่ะ?  จะเริ่มพรรณนาจากเรื่องอะไรดี เพราะมีหลายเรื่องเหลือเกิน?

แต่พระเจ้าทรงใช้คน และ คริสตจักรที่ไม่ดีพร้อมสมบูรณ์แต่ยัง “สัตย์ซื่อต่อพระองค์”  มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตน เป็นคนและคริสตจักรที่มีการให้อภัย  พระเจ้าทรงใช้คริสตจักรในยุคศตวรรษแรกที่จะ “พลิกคว่ำ”  สังคมโลกในเวลานั้น

และนี่เองมิใช่หรือที่เป็นความหวังของเรา

แล้วมันผิดที่ไหน ที่พระเจ้าจะทรงใช้คริสตจักรที่มีชีวิตผิดพลาด บกพร่อง  แต่เป็นคริสตจักรที่พระองค์จะทรงใช้ได้?

แน่นอนครับ ในคริสตจักรมีปัญหามากมาย แล้วก็มีตลอดเวลา

อย่าให้เราถอดใจ การกลับใจเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นสำหรับคริสตจักรทุกยุคทุกสมัย  แต่ในเวลาเดียวกันคริสตจักรต้องมีการให้อภัย ให้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตที่บริสุทธิ์ถูกต้องใหม่ และเลิกคิดว่า คริสตจักรปัจจุบันไม่มีสมรรถนะที่พระเจ้าจะใช้แล้ว เพราะประวัติศาสตร์พิสูจน์ชัดว่า พระเจ้าทรงใช้คริสตจักรที่ไม่ดีพร้อมสมบูรณ์ แต่มีใจที่สัตย์ซื่อต่อพระองค์

นั่นหมายความว่า พระเจ้าสามารถทรงใช้ผม และ ท่านแม้จะยังเป็นคนที่ไม่ดีพร้อมสมบูรณ์ก็ตาม และพระองค์สามารถใช้คริสตจักรที่มีความด่างพร้อยไม่ถูกต้องสมบูรณ์ด้วย

เรายอมรับว่า คริสตจักรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้เป็น “คริสตจักรที่ควรจะเป็น” และก็ไม่เคยมีคริสตจักรที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุนี้มิใช่หรือ พระคริสต์ถึงบอกว่า “เราจะสร้างคริสตจักรของเรา” เพราะพระองค์รู้ชัดว่า  พระองค์ต้องเสริมสร้างชีวิตคริสตจักรไปทีละขั้นตอนจนถึงในเวลาสุดท้าย และขณะนี้ก็ยังอยู่ภายใต้การเสริมสร้างจากพระคริสต์ ทั้งสมาชิกคริสตจักรแต่ละคน   และชุมชนทั้งคริสตจักรในองค์รวม

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

08 กรกฎาคม 2562

พระคริสต์เปลี่ยน “ฐานเชื่อกรอบคิด” การทำงานของเราใหม่!

ถ้าเราตัดสินใจตามพระเยซูคริสต์   เราจะต้องลาออกจากงานเดิมหรือไม่?  

คำตอบคือบางรายอาจจะใช่  แต่ไม่แน่เสมอไปสำหรับทุกคน  ขึ้นอยู่ว่าเราได้รับการทรงเรียกจากพระคริสต์ให้ต้องเปลี่ยนงานใหม่หรือไม่มากกว่า แต่คนส่วนใหญ่แล้ว เมื่อตัดสินใจตามพระเยซูคริสต์ไปจะไม่ต้องเปลี่ยนงานใหม่ แต่พระคริสต์จะหนุนเสริมให้เราเปลี่ยนมุมมองงานที่เราทำใหม่ ด้วยการเปลี่ยนฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) ของเราใหม่ ซึ่งเดิมเราประกอบอาชีพเพื่อมีรายได้ เพื่อจะยังชีพ เพื่อร่ำรวยมั่นคง แต่หลังจากติดตามพระคริสต์ฐานเชื่อกรอบคิดการทำอาชีพเปลี่ยนไป

ตัวอย่างที่ชัดเจน เราสามารถเห็นได้จากเปาโล อาชีพและความชำนาญของท่านคือการเย็บเต็นท์ขาย เมื่อท่านกลับใจและตัดสินใจตามพระคริสต์ไปในชีวิตประจำวันของท่านประกาศถึงสัจจะความจริงของข่าวประเสริฐ ท่านยังไม่ทิ้งอาชีพเย็บเต็นท์ แต่ฐานเชื่อกรอบคิดในการเย็บเต็นท์ของท่านได้รับการเปลี่ยนใหม่จากพระคริสต์ ท่านเย็บเต็นท์เพื่อที่จะมีชีวิตประกาศสัจจะความจริงของข่าวประเสริฐให้แผ่กว้างออกไปให้กว้างไกลที่สุด เพื่อสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์บนแผ่นดินโลกนี้ตามพระมหาบัญชาของพระคริสต์

อีกคนหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ศักเคียส  เขาเป็นคนเก็บภาษีให้รัฐบาลโรมัน หลังจากที่เขาพบกับพระเยซู พระองค์มีโอกาสใช้เวลากับเขาในบ้านของเขา ทำให้ฐานเชื่อกรอบคิดในชีวิตของเขาเปลี่ยนไป และมีผลกระทบต่อฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) ในงานอาชีพเก็บภาษีของเขาอย่างมากด้วย  

ศักเคียส ทูลองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า  “องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรัพย์สิ่งของของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ยอมให้คนยากจนครึ่งหนึ่ง และถ้าข้าพระองค์โกงอะไรของใครมา ก็ยอมคืนให้เขาสี่เท่า” (ลูกา 19:8 มตฐ.)

น่าสังเกตว่า เขาไม่ได้กล่าวว่าเขาจะเลิกทำอาชีพเก็บภาษี แต่เขาได้เปลี่ยนมุมมองกรอบคิดในอาชีพเก็บภาษีใหม่  

ประการแรก เก็บภาษีด้วยความสัตย์ซื่อ  

ประการที่สอง แบ่งปันทรัพย์สินที่ตนมีครึ่งหนึ่งให้กับคนยากคนจน เพราะเขาต้องการสำแดงพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน และได้เห็นคุณค่าของผู้ต่ำต้อยเล็กน้อยเหล่านี้ และนี่เป็นพระประสงค์ของพระคริสต์คือ “ให้คนอื่น”  (อย่างที่พระเยซูคริสต์บอกเศรษฐีหนุ่มให้กระทำเช่นนี้แล้วจะได้ชีวิตนิรันดร์ แต่เขาทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าควรกระทำ) 

ประการที่สาม ยังชดใช้ผู้ที่ตนเคยคดโกง 4 เท่า ถ้าพูดภาษาง่าย ๆ คือ ตั้งแต่นี้ต่อไปเขาจะเก็บภาษีอย่างสัตย์ซื่อ ทำอาชีพบนรากฐานพระวจนะ  มิใช่ทำอย่างเอาเปรียบ คดโกง เพื่อตนจะร่ำรวยต่อไป

ศักเคียส ใช้อาชีพการงานของตนในการสำแดงชีวิตสาวกที่ติดตามพระคริสต์ด้วยการปฏิบัติ เพื่อเป็นการสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ที่ได้เริ่มต้นไว้แล้วผ่านการงานอาชีพในชีวิตประจำวันของเขา เพื่อเป็นการเสริมสร้างชุมชนแห่งแผ่นดินของพระเจ้าบนโลกนี้ด้วยรักเมตตา เสียสละ ตามแบบอย่างของพระคริสต์ที่ยอมให้ชีวิต  เพื่อคนอื่นจะได้พบกับโอกาสใหม่ชีวิตใหม่

พระเยซูคริสต์มิได้ต่อต้านการทำงานอาชีพในสังคมโลกนี้ แต่พระองค์ปรับเปลี่ยนฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) การทำงานอาชีพของเราใหม่ เพื่อใช้งานอาชีพในการรับใช้แผ่นดินของพระเจ้าผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน  

เพื่อให้แผ่นดินของพระเจ้ามาตั้งอยู่บนโลกนี้  ในสวรรค์เป็นอย่างไร  ให้เป็นเช่นนั้นบนแผ่นดินโลก

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

01 กรกฎาคม 2562

ตามพระคริสต์ไปด้วยเชื่อและการกระทำ!

เมื่อครั้งพระคริสต์ทรงเรียกซีโมน(เปโตร)และแอนดรูว์ พระองค์ทรงเรียกเขา “จงตามเรามาเถิด”  โปรดสังเกตว่า พระคริสต์ไม่ได้เรียกเขาทั้งสองให้ “จงเชื่อศรัทธาในเรา” แน่นอนครับ  ทั้งสองจะไม่ตามพระองค์ไปถ้าเขามิได้เชื่อและเห็นว่า พระเยซูคริสต์มีคุณค่าเพียงพอที่เขาจะติดตามพระองค์  

เมื่ออ่านพระคัมภีร์ตอนนี้เราจะอ่านด้วยความระมัดระวัง ที่พระองค์เรียกให้ทั้งสองติดตามพระองค์มิใช่เรียกให้พวกเขามา “เชื่อ” พระองค์ แต่พระองค์ชวนเขาให้มาร่วม “ปฏิบัติการ” กับพระองค์ และจากประสบการณ์ที่เขาได้รับเมื่ออยู่กับพระองค์ต่างหากที่ทำให้เขา “เชื่อวางใจ” ในพระเยซูคริสต์

การติดตามพระคริสต์ตามการทรงเรียกของพระองค์ มิใช่การตอบสนองการทรงเรียกเพียง “เชื่อในพระองค์” แล้วกลับไปหาปลา และ ใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ และในวันนี้พระองค์ทรงเรียกเราแต่ละคนให้ “ตามพระองค์ไป” มิใช่มาเรียนรู้เรื่องราวการทรงเรียก และคำสอนของพระองค์เท่านั้น แต่พระองค์ทรงเรียกเรา โดยมีพระประสงค์ให้เรา “ปฏิบัติการ” ในพระราชกิจที่ต้องการให้เราทำ

ในที่นี้ผมไม่มีเจตนาที่จะลดคุณค่าสำคัญของเรื่องความเชื่อ และ การรู้เรื่องราวในพระคัมภีร์ หรือการที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ การที่แต่ละคนจะเชื่อว่าพระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงเป็นพระผู้ช่วยเราเป็นเรื่องสำคัญ และส่วนต่อไปก็สำคัญด้วยเช่นกันคือ เมื่อพระองค์กอบกู้ไถ่ถอนเราให้หลุดรอดจากอำนาจบาปชั่วของมารร้ายแล้ว พระองค์ต้องการเข้ามาในชีวิตของเราเพื่อเปลี่ยนแปลง ฟื้นฟู และเสริมสร้างชีวิตของเราใหม่ให้มีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องตามพระประสงค์

ปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อของคริสตชนในปัจจุบันคือ เราให้ความสำคัญของพระกิตติคุณเพียงส่วนแรกคือ การได้รับการกอบกู้ฉุดช่วยออกจากความบาปเท่านั้น แต่ไม่ใส่ใจส่วนต่อจากนั้นคือการรับการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตขึ้นใหม่จากพระคริสต์

เราแยก “ความเชื่อ” ออกจาก “ชีวิตและการปฏิบัติ”  

ทั้งสองเป็นเรื่องต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน แยกขาดจากกันไม่ได้ ดังนั้น คริสตชนไทยปัจจุบันจึงมีแต่ “ความเชื่อ”  แต่ขาดการ “เปลี่ยนแปลงในชีวิต และ การดำเนินชีวิต” ตามความเชื่อที่มีอยู่

เมื่อชีวิตไม่มี “ความเชื่อที่มีพลังปฏิบัติการในชีวิต”  ชีวิตคริสตชนจึง “เหมือนเดิม” เปลี่ยนแต่ศาสนา หรือ  หลักการความเชื่อเท่านั้น แต่ต้องบอกตรงไปตรงมาว่า “ความเชื่อแบบนี้” สวนกระแสกับพระประสงค์ของพระคริสต์ เพราะคริสตชนคนนั้นมิสามารถที่จะตอบสนองจุดประสงค์ของการทรงเรียก กลายเป็นคริสตชนที่ “ง่อยเปลี้ยเสียขา”

พระคริสต์มิได้ทรงเรียกเราเพียงเพื่อให้เราเชื่อว่าพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดเท่านั้น   แต่ทรงเรียกเราให้ไว้วางใจพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจของเรา สารภาพความบาปผิดของเรา  รับการอภัยโทษโดยทางพระคุณของพระองค์ แล้วรับการทรงเสริมสร้างชีวิตเราขึ้นใหม่ตามพระประสงค์ เพื่อชีวิตของเราจะมีพลังขับเคลื่อนตอบสนองพระประสงค์ของพระคริสต์

พระคริสต์มิได้ทรงเรียกเราเพียงเพื่อเราจะเชื่อว่า พระองค์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น   แต่พระองค์ทรงเรียกเราให้ยอมรับว่า พระองค์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิตประจำวันของเรา ที่เราจะต้องมอบกายถวายทั้งชีวิตและดวงจิตให้กับพระองค์

พระองค์ทรงเรียกสาวกในชุดแรกเช่นไร พระองค์ก็ ทรงเรียกเราให้ติดตามพระองค์ไปในชีวิตประจำวัน ในวันนี้   เราไม่มีโอกาสที่จะเดินตามพระเยซูคริสต์เฉกเช่นสาวกรุ่นแรก แต่เราได้รับสิทธิพิเศษที่จะเดินติดตามพระคริสต์ไปในชีวิตประจำวัน  ในทุกสถานการณ์ที่เราเผชิญในวันนี้และแต่ละวัน ทั้งในชีวิตครอบครัว  ในชีวิตการงาน ในความเป็นประชาชนไทยของเรา  ในชีวิตคริสตจักร ในทุกมิติชีวิตของเราครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499