22 กรกฎาคม 2562

ภาวะผู้นำระดับ 5... ผู้นำที่เยี่ยมยอด

การที่จะเป็นผู้นำที่เยี่ยมยอด  เราจะต้องเสริมสร้างทักษะความสามารถของเรา

อะไรที่ทำให้ผู้นำได้กลายเป็นผู้นำที่เยี่ยมยอด?  

ผู้คนทั้งหลายมักจะถามว่า  แล้วเราจะพัฒนาให้ภาวะผู้นำของเราก้าวจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่งได้อย่างไร   แล้วเราจะก้าวจากระดับผู้นำที่ดีไปสู่ผู้นำที่เยี่ยมยอดได้อย่างไร

ในที่นี้เราจะพิจารณาถึง “ภาวะผู้นำระดับที่ 5” ว่ามีความคิดหลักอะไรบ้างที่จะช่วยเราก้าวไปสู่ภาวะผู้นำระดับ 5 เป็นผู้นำที่เยี่ยมยอด แล้วจะมีย่างก้าวอะไร/อย่างไรบ้างที่ช่วยให้เราสามารถก้าวถึงภาวะผู้นำระดับสูงสุด

หลักคิดของภาวะผู้นำในระดับ 5 เป็นผลงานของ จิม คอลลินส์ (Jim Collins)  โดยได้ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review article และพิมพ์หนังสือของเขา "Good to Great" ในเวลาต่อมา

ผู้นำทั้ง 5 ระดับมีดังนี้

ผู้นำระดับ 1:  ผู้นำที่มีความสามารถสูง
ในระดับนี้ ผู้นำได้ทำให้เกิดคุณภาพสูงในงานที่ทำ   เป็นผู้นำที่มีความรู้ที่เป็นประโยชน์  มีความสามารถ พรสวรรค์ หรือ ของประทานที่จำเป็นต้องมีในงานที่ทำและรับผิดชอบให้เกิดผลงานที่ดี

ผู้นำระดับ 2:  ผู้นำที่หนุนเสริมสมาชิกในทีมงาน
ในระดับที่ 2 นี้ผู้นำได้ใช้ความรู้ และ ทักษะความสามารถที่เขามีอยู่หนุนเสริมช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกในทีมงาน   ทำให้ผู้นำทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  เกิดผลและประสบความสำเร็จร่วมกับคนอื่นๆในทีมงานของเขา

ผู้นำระดับ 3:  ผู้นำที่มีทักษะในการบริหารจัดการ
ในระดับนี้ผู้นำเป็นผู้ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการทีมงานให้มีความสามารถและประสิทธิภาพมุ่งบรรลุเป้าหมายเฉพาะ และ จุดประสงค์ของงาน

ผู้นำระดับ 4:  ผู้นำที่มีสมรรถนะ
ภาวะผู้นำในระดับนี้  มีความสามารถในการกระตุ้นดลใจองค์กร หน่วยงานที่ตนรับผิดชอบมุ่งไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ด้านประสิทธิภาพ และ บรรลุตามนิมิตหมาย หรือ วิสัยทัศน์ขององค์กรหรือหน่วยงาน

ผู้นำระดับ 5:  ผู้นำที่เยี่ยมยอด
ในระดับนี้เป็นผู้นำที่มีทักษะความสามารถของระดับ 1-4  ทั้งหมด  ซึ่งเป็นทักษะความสามารถที่จำเป็นสำหรับผู้นำ พร้อมกับผสมผสานความอ่อนน้อมถ่อมตน และคุณลักษณ์เฉพาะอื่นๆ (ที่กล่าวในลำดับตอนต่อไป)  ซึ่ง 5 ประการดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อการเป็นผู้นำในระดับ 5   คือผู้นำที่เยี่ยมยอด

แล้วท่านเป็นผู้นำในระดับไหน?   ทำไมถึงคิดเช่นนั้น?

แล้วผู้นำ/หัวหน้า ในองค์กร ในงานที่ท่านทำเป็นผู้นำระดับไหน?  ทำมถึงคิดเช่นนั้น?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น