28 กุมภาพันธ์ 2564

สงบ สยบ ความกลุ้มอกหนักใจ

 พระบิดาที่พึ่งในชีวิตของลูก

จิตใจของลูกยากที่จะหยั่งรู้ถึงความลึกล้ำในความรักเมตตาที่พระองค์มีต่อลูก

เมื่อความกลุ้มอกหนักใจก่อตัวขึ้นมาจุกแน่นที่หน้าอกของลูก

ลูกไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิต  รู้เพียงแต่ว่าต้องหันหน้าเข้าหาพระองค์

พระองค์รู้ถึงจำนวนเส้นผมบนศีรษะของลูก

พระองค์คือผู้จัดวางดวงดาวแต่ละดวงให้อยู่ในที่ของมัน

พระองค์คือผู้ที่วางแผนทุกย่างก้าวในชีวิตของลูก

เมื่อความกลุ้มอกหนักใจก่อตัวขึ้นในความนึกคิดของลูก

แล้วมันเพิ่มขึ้นอย่างมากล้นจนเกินความคาดคิดของลูก

พระองค์บอกให้ลูกปล่อยและวางความกลุ้มอกหนักใจทั้งสิ้นไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์

พระหัตถ์ที่ได้สร้างสรรค์เส้นผมบนศีรษะของลูก

พระหัตถ์ที่สร้างท้องฟ้ายามค่ำคืนที่ดารดาษเต็มไปด้วยดวงดาว

พระหัตถ์เดี่ยวกันนี้ที่ได้โอบอุ้มอนาคตของลูกไว้

ขอพระองค์ประทานความกล้าที่จะไว้วางใจพระองค์อย่างสุดจิตสุดชีวิต

ขอพระองค์ประทานความสงบสันติของพระองค์ให้สยบความกลัวทั้งสิ้นของลูก

เพื่อลูกจะมีชีวิตฟื้นชื่นขึ้น

จากสภาพชีวิตที่น่าเวทนาเพราะความกลุ้มอกหนักใจ

สู่การมีชีวิตนักรบผู้แกร่งกล้าในการอธิษฐาน

ขอบพระคุณในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า

อาเมน




26 กุมภาพันธ์ 2564

แบบสำรวจความรับผิดชอบของตนเอง

ในชีวิตคริสตชน


หลายสัปดาห์ก่อนโน้นได้มีโอกาสทำแบบสำรวจชุดหนึ่งร่วมกับศิษยาภิบาลหนุ่มกลุ่มหนึ่ง มีศิษยาภิบาลท่านหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “เราน่าจะมีแบบสำรวจประเมินความรับผิดชอบของตนเองในชีวิตคริสตชนประจำสัปดาห์” เพื่อสมาชิกแต่ละคนจะใช้ในการสำรวจประเมินตนเองว่า ชีวิตคริสตชนของตนมีความรับผิดชอบเช่นไรบ้างในสัปดาห์นี้?” ผมเห็นด้วยครับ นี่เป็นไอเดียที่ดีมากเลย เพราะถ้าคริสตชนไม่หลอกตนเองและหลอกพระเจ้าแล้ว ในการสำรวจประเมินตนเองเช่นนี้ทำให้ตนรู้เท่าทันการดำเนินชีวิตของตนเอง เพื่อมีโอกาสปรับปรุง แก้ไข และพัฒนา ด้วยการทรงนำจากพระเจ้าและพระกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

เพื่อกำหนดขอบเขตแบบสำรวจให้มีขอบเขตเฉพาะชัดเจน ผมคิดริเริ่มทำ “ประเด็นสำรวจประเมินความรับผิดชอบของตนเองในชีวิตคริสตชน” ก่อน ผมเริ่มศึกษา ค้นหาดูว่า มีผู้ทำในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง จากนั้น ผมเลยลองขยับร่างประเด็นสำรวจประเมินตนเองขึ้นเป็นขั้นแรก   และขอนำเสนอในวันนี้ เพื่อท่านผู้อ่านจะพิจารณาและลองใช้ดู และหวังอย่างยิ่งว่าจะได้ช่วยกันแก้ไขพัฒนาเป็น “แบบสำรวจประเมินความรับผิดชอบของตนเองในชีวิตคริสตชน” ฉบับมาตรฐานสำหรับคริสตจักรไทยต่อไป

การใช้แบบสำรวจตนเองในชีวิตคริสตชนนี้ ผมมีความคิดว่าน่าจะสำรวจในวันที่กำลังจะสิ้นสุดของสัปดาห์นั้น ๆ น่าจะเป็นวันศุกร์ หรือ เสาร์ เพื่อเราจะเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ในวันอาทิตย์ และนี่คือ ประเด็นความรับผิดชอบตนเองในการดำเนินชีวิตคริสตชน ซึ่งประเด็นร่างนี้มี 10 ข้อด้วยกัน ดังนี้

  1. ในสัปดาห์นี้ ท่านได้อ่านพระวจนะของพระเจ้าเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง?
  2. ในสัปดาห์นี้ ชีวิตในการอธิษฐานของท่านเป็นอย่างไรบ้าง?
  3. ในสัปดาห์นี้ ชีวิตของท่านได้ช่วยให้ใครบ้างได้รู้จักพระคริสต์ผ่านชีวิตของท่านบ้าง?
  4. ในสัปดาห์นี้ ท่านได้เอื้อให้ใครบ้างที่มีชีวิตใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้า?
  5. ในสัปดาห์นี้ ท่านได้ตอบสนองการทรงเรียกของพระเจ้าด้วยการใช้ของประทานจากพระองค์ให้เกิดผลดีที่สุดในเรื่องอะไรบ้าง?
  6. ในสัปดาห์นี้ ท่านได้เห็นพระเจ้ากระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของท่านในด้านใดบ้าง? หรือ ในเรื่องอะไรบ้าง?
  7. ในสัปดาห์นี้ ท่านได้ให้เวลาแก่ครอบครัวเป็นอันดับแรกหรือไม่?
  8. ในสัปดาห์นี้ ท่านมีเรื่องเกี่ยวกับการเงินที่ไม่โปร่งใสบ้างหรือไม่?
  9. ในสัปดาห์นี้ มีเหตุการณ์ใดบ้างที่เป็นภาวะสุ่มเสี่ยงให้เกิดปัญหาเรื่องเพศ?

10.  ในสัปดาห์นี้ มีเรื่องอะไรบ้างไหมที่ท่านต้องปิดบังซ่อนเร้นไว้?

11.  มีเรื่องใดข้างต้นนี้ ที่จะยังเกิดขึ้น หรือ อาจจะดำเนินต่อไปในสัปดาห์หน้า?

12.  แล้วท่านจะรับมือกับสิ่งที่ว่าในข้อ 11 อย่างไร?

ถ้าท่านได้มีโอกาสทดลองใช้แล้วเป็นเช่นไรกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ และ การเรียนรู้ให้กันบ้างนะครับ และมีข้อเสนออะไรบ้างครับ?  เพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนาเป็นแบบสำรวจความรับผิดชอบตนเองของคริสตชนฉบับมาตรฐานในอนาคต แต่ถ้าท่านใดไปสะดวกที่จะแบ่งปันในสื่อนี้ท่านสามารถแบ่งปันมาทางอีเมล์ของผมที่:  prasit.emmaus@gmail.com



24 กุมภาพันธ์ 2564

เมื่อท่านอ่านพระคัมภีร์ ท่านมุ่งจดจ่อค้นหาอะไร?

เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ หรือ อ่านพระวจนะของพระเจ้าเรามักทำผิดครั้งแล้วครั้งเล่า เราพยายามที่จะทำให้พระคัมภีร์เป็นเรื่องของเรา แล้วเปิดไปในแต่ละหน้าเพื่อค้นหาตนเอง เช่น เราต้องการที่จะรู้ว่าเราจะต้องกระทำอย่างไรในชีวิต หรือ ทำอย่างไรชีวิตจิตวิญญาณของเราจะเติบโต เราอ่านพระคัมภีร์เพื่อที่เราจะมีสันติสุข ความมั่นใจในชีวิต ความเข้มแข็งเติบโต ผมไม่ได้ว่าที่กล่าวมานี้ผิดนะครับ พระวจนะของพระเจ้าได้กระทำอะไรต่อมิอะไรในชีวิตของเรามากกว่านี้มากมาย  สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง “ผลพลอยได้” สำหรับเราในชีวิตเท่านั้น

ขอให้เราเข้าใจให้ชัดเจนว่า ใช่... พระคัมภีร์ หรือ พระวจนะนั้นมี “เพื่อเรา” แต่แก่นหลักมิใช่ “เกี่ยวกับเรา” บ่อยครั้งที่คริสตชนอ่านและศึกษาพระคัมภีร์ด้วยมุมมองที่มี “ตนเองเป็นศูนย์กลาง” จึงทำให้เราคิดถึงแต่ตนเอง สิ่งนี้ปิดบังสัจจะความจริงของพระเจ้า และ ความหมายที่แท้จริงของพระวจนะ น่าเสียใจว่า บ่อยครั้งนักที่เราหลงทางคลาดเคลื่อนจากจุดประสงค์ของพระคัมภีร์ ที่ต้องการให้เรารู้ถึง “พระเจ้า” ผู้ได้ดลใจให้เขียนพระคัมภีร์เล่มนี้ขึ้น

เป้าประสงค์แรกของพระคัมภีร์คือ เรารู้แล้วว่า พระคัมภีร์เป็นเรื่องราวที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าให้บันทึกเป็นพระคัมภีร์ พระคัมภีร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า วัตถุประสงค์ของพระคัมภีร์คือการทรงเปิดเผยของพระเจ้า ถึงคำสอนของพระองค์สำหรับเรา, พระลักษณะบุคลิกภาพของพระองค์, พระประสงค์ของพระองค์, แผนการของพระองค์, พระราชกิจของพระองค์ และวิถีทางของพระองค์ และยังรวมถึงแผนการที่พระองค์ได้จัดเตรียมและประทานความรอดแก่เราผ่านชีวิตและพระราชกิจของพระเยซูคริสต์

พระเจ้าเป็นผู้ขับเคลื่อนตัวหลักของทุกเรื่องราวในพระคัมภีร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ดาวิดกับโกลิอัท (1ซามูเอล 17:1-49) ดาเนียลในถ้ำสิงโต (ดาเนียล 6:1-24) เปาโลและสิลาในคุกเมืองฟีลิปปี (กิจการ 18:16-40) แม้กระทั่งในเรื่องของเอสเธอร์ ที่ไม่ได้เอ่ยถึงพระนามของพระเจ้าเลย   พระองค์ทรงเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องราวทุกเรื่องในพระคัมภีร์ พระหัตถ์ที่ทรงตระเตรียมและประทานสิ่งต่าง ๆ ก็เป็นพระหัตถ์เดียวกันที่ประทานความรอดสำหรับประชากรของพระองค์

แล้วเราจะอ่านและศึกษาพระคัมภีร์ด้วยมุมมองที่พระเจ้าทรงเป็นแก่นหลัก หรือ เป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์ได้อย่างไร?

เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์หรือศึกษาพระวจนะของพระเจ้าให้เราจดจ่อมุ่งมองไปที่พระเจ้า

ก่อนที่เราจะสามารถระบุชัดลงไปว่า พระคัมภีร์ตอนนี้ “หมายความ” ว่าอย่างไร เราต้องสังเกตว่า พระคัมภีร์ตอนนั้น ๆ กำลังพูดถึงเรื่องอะไร ในขณะที่มีหลายเรื่องหลายประเด็นที่น่าสังเกตในพระคัมภีร์ตอนนั้น พระเจ้าต้องเป็นเรื่องที่เราจะต้องจดจ่อใส่ใจสังเกตเป็นสิ่งแรกในการศึกษาพระคัมภีร์ตอนนั้น ๆ ให้เราอ่านและศึกษาพระคัมภีร์ด้วยการแสวงหาสัจจะที่ยกย่องและถวายเกียรติแด่พระเจ้า หลายท่านที่อ่านพระคัมภีร์จะใช้สีต่าง ๆ ขีดหรือทำเครื่องหมายที่มีความหมายสำคัญ เช่น จะใช้สีเน้นชัดคำ วลี หรือประโยคในพระคัมภีร์ทุกที่ที่แสดงถึงสัจจะเกี่ยวกับพระเจ้า   ซึ่งมีตัวอย่างที่แสดงถึงความสำคัญของพระเจ้าในประเด็นดังนี้ เช่น...

• พระลักษณะของพระเจ้า พระคัมภีร์ตอนนี้สอนเราเกี่ยวกับพระลักษณะเฉพาะของพระเจ้าอะไรบ้าง?

• พระประสงค์ของพระเจ้า เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับแผนการของพระเจ้าสำหรับโลกนี้  สำหรับประชากรของพระองค์ สำหรับแผนการแห่งความรอด และ ฯลฯ อะไรบ้าง?

• วิถีทางของพระเจ้า พระเจ้าทรงติดต่อสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างไร? แล้วพระองค์สื่อสารพระประสงค์ของพระองค์กับมนุษย์อย่างไร?

การตอบสนองต่อสิ่งที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าจากการอ่านพระคัมภีร์

• กลับใจ เมื่อเราเผชิญหน้ากับพระเจ้าผู้บริสุทธิ์เปิดเผยให้เราเห็นถึงความบาปผิดของเรา เราจะต้องหันหลังและหลีกหนีออกจากอะไรบ้าง?

• นมัสการ ยิ่งเราเรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้ามากขึ้นแค่ไหน เรายิ่งตระหนักชัดว่าพระองค์สมควรอย่างยิ่งที่เราจะยกย่องสรรเสริญ

• เชื่อ เราได้เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระเจ้าที่เราไม่เคยรู้มาก่อน? ที่ปรับเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อพระองค์ และเราเชื่อในสิ่งนั้นหรือไม่?

• เชื่อฟัง เมื่อมีความรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้า เกิดการกระตุ้นให้เรากระทำบางสิ่งบางอย่างที่พระองค์ต้องการให้เรากระทำหรือไม่?

แล้วท่านล่ะ ท่านต้องเผชิญกับการอ่านพระคัมภีร์ที่มีพระเจ้าเป็นแก่นหลักที่ท่านจะจดจ่อใส่ใจในการพระคัมภีร์หรือไม่?



22 กุมภาพันธ์ 2564

อัตลักษณ์พระคริสต์ในชีวิตของสาวก

เรามักพูดว่า การเป็นสาวกของพระคริสต์ คือการที่เรามีชีวิตที่เป็นเหมือนพระองค์ อนุชนคนหนึ่งถามผมว่า แล้วถ้าเราจะเป็นสาวกพระคริสต์ เราจะต้องมีชีวิตเหมือนกับพระคริสต์ในลักษณะใดบ้าง

ลักษณะชีวิตที่เฉพาะ หรือ อัตลักษณ์ของพระคริสต์มีลักษณะอย่างไรบ้าง?

ตอนนี้เราคงยังไม่มีคำตอบที่ “ชัดเจนตายตัว” แต่ให้เราสังเกตและเรียนรู้จากสิ่งที่พระองค์สอนแล้วพระองค์ทำเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนแก่เรา ที่เราจะเลียนแบบและทำตามแบบอย่างของพระองค์ ในข้อเขียนนี้ได้ประมวล “อัตลักษณ์” คุณลักษณะเด่นและสำคัญของพระเยซูคริสต์ ที่สาวกพึงได้รับการเสริมสร้างดังนี้ครับ...

1. พระคริสต์ออกไปใช้ชีวิตประจำวันเข้าถึงและร่วมกับคนบาป

ในเวลานั้นบรรดาคนเก็บภาษีและพวกคนบาปเข้ามาใกล้เพื่อจะฟังพระองค์ พวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ก็บ่นว่า “คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินด้วยกันกับเขา” (ลูกา 15:1-2 มตฐ.) พระเยซูคริสต์ใช้เวลาชีวิตทุ่มเทแก่คนบาปเพื่อที่จะช่วยพวกเขาให้ได้รับความรอด ในขณะที่พวกผู้นำศาสนายิวแยกตนเองอยู่ห่างไกลจากคนบาปเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของตน เพื่อตนจะได้รับความรอด

2. พระคริสต์ให้คุณค่าความจริง “ชีวิตภายใน” มากกว่าลักษณะภายนอกที่ฉาบฉวยหลอกลวง

“วิบัติแก่เจ้า เหล่าธรรมาจารย์และพวกฟาริสี เจ้าคนหน้าซื่อใจคด! เจ้าล้างถ้วยชามแต่ภายนอก ส่วนภายในเต็มไปด้วยความโลภและความมัวเมาในกิเลส... เจ้าเป็นเหมือนอุโมงค์ฝังศพฉาบปูนขาว ภายนอกแลดูสวยงามแต่ภายในเต็มไปด้วยซากกระดูกและสิ่งโสโครกทั้งปวง” (มัทธิว 23:25 & 27 อมธ.) พระเยซูคริสต์พิจารณาคุณลักษณะชีวิตที่ “ภายใน” คือ ฐานเชื่อ กระบวนคิด และมุมมองชีวิตของแต่ละคน มิใช่ดูเพียงท่าทีฉาบฉวยภายนอก

3. พระคริสต์ปลอบโยน หนุนช่วยผู้ทุกข์ยาก

“บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนักจงมาหาเรา และเราจะให้ท่านพักสงบ จงรับแอกของเราแบกไว้และเรียนรู้จากเราเพราะเราสุภาพและถ่อมใจ แล้วจิตวิญญาณของท่านจะพักสงบ  เพราะแอกของเรานั้นพอเหมาะและภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28-30 อมธ.) การเป็นผู้นำแบบพระคริสต์มิใช่การแสดงอำนาจ ความยิ่งใหญ่ ความเหนือชั้นกว่าคนอื่น แต่ความถ่อมอกถ่อมใจต่างหากที่จะช่วยให้ผู้อื่นได้พบกับความสงบในชีวิต การเป็นผู้นำมีใช่ตนเองมีความเด่นดังแกร่งกล้า แต่การเป็นผู้นำเพื่อนำศานติสุขแก่ชีวิตผู้คนทั้งหลายให้พบกับความสงบ

4. พระคริสต์ส่งเสริมศักดิ์ศรีและคุณค่าของสตรีและคนชายขอบ

มารีย์ชาวมักดาลาจึงไปแจ้งข่าวแก่เหล่าสาวกว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว!” และเล่าถึงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสกับนาง (ยอห์น 20:18 อมธ. ดูข้อ 27 ด้วย) พระเยซูปรากฏแก่สตรีเป็นคนแรกหลังการเป็นขึ้นจากความตาย และยังมอบหมายให้สตรีเป็นผู้นำข่าวดีแห่งการเป็นขึ้นจากความตายไปบอกแก่สาวกคนอื่น ๆ

5. พระคริสต์ปกป้องและให้คุณค่าแก่เด็ก ๆ

“และถ้าใครจะยอมรับเด็กเล็ก ๆ อย่างนี้สักคนหนึ่งในนามของเรา คนนั้นก็ยอมรับเราด้วย  แต่ถ้าใครทำให้ผู้เล็กน้อยเหล่านี้คนหนึ่งที่วางใจในเราหลงผิดไป เอาหินโม่ก้อนใหญ่ผูกคอคนนั้นแล้วถ่วงเขาเสียที่ทะเลลึกก็จะดีกว่า” (มัทธิว 18:5-6 มตฐ.) พระคริสต์ให้คุณค่าชีวิตเด็กเทียบเท่าคุณค่าของพระองค์ และใครที่ทำให้เด็กหลงผิดเขาคนนั้นควรได้รับโทษถึงความตาย

6. พระคริสต์ใส่ใจเข้าถึงคนหลงหายมากกว่าคนที่คิดว่าตนเองชอบธรรม

พระเยซูตรัส...ว่า “คนสบายไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บป่วยต้องการ เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเรียกคนบาปให้กลับใจใหม่” (ลูกา 5:31-32 มตฐ.) เป้าหมายหลักของพระเยซูคริสต์คือ การช่วยให้คนบาปได้กลับใจมีชีวิตใหม่ พระองค์มิได้มาเพื่อคนที่คิดว่าตนเองเป็นคนชอบธรรม เพราะคนพวกนี้ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงชีวิต

7. พระคริสต์มิได้ให้ความสำคัญแก่อำนาจ ความโดดเด่น ตำแหน่ง และชื่อเสียงเกียรติยศ

จงมีจิตใจเช่นนี้ในพวกท่านเหมือนอย่างที่มีในพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงสภาพเป็นพระเจ้า ไม่ทรงถือว่าความทัดเทียมกับพระเจ้าเป็นสิ่งที่จะต้องยึดไว้ แต่ทรงสละพระองค์เองและทรงรับสภาพทาส ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์ และทรงปรากฏอยู่ในสภาพมนุษย์ (ฟีลิปปี 2:5-7 มตฐ.) นั่นหมายความว่าพระคริสต์มาในโลกนี้เพื่อที่จะให้ชีวิต เพราะเห็นคุณค่าในชีวิตของมนุษย์ 

8. พระคริสต์ให้สาวกใช้ชีวิตที่เรียบง่ายในการทำพันธกิจ

“ไม่ต้องพกเงิน ทอง หรือทองแดงไว้ในเข็มขัด ไม่ต้องเอาย่าม หรือเสื้ออีกตัวหนึ่ง หรือรองเท้า หรือไม้เท้าไปในการเดินทาง...” (มัทธิว 19:9-10 อมธ.) ในการทำพันธกิจไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงความพร้อมทางเงินทอง วัตถุ อุปกรณ์ เพราะพันธกิจที่สาวกกระทำนั้นเป็นการทำงานร่วมในพระราชกิจของพระเจ้า พระองค์จะจัดเตรียมสิ่งจำเป็นในการทำพันธกิจ

9. พระคริสต์ไม่แบ่งแยก เหยียดเชื้อชาติ และ เพศ

เมื่อหญิงชาวสะมาเรียคนหนึ่งมาตักน้ำ พระเยซูตรัสกับนางว่า “ขอน้ำให้เราดื่มหน่อยได้ไหม?” (สาวกของพระองค์เข้าไปซื้ออาหารในเมือง) หญิงชาวสะมาเรียทูลว่า “ท่านเป็นยิว ส่วนดิฉันเป็นหญิงชาวสะมาเรีย ท่านมาขอน้ำจากดิฉันได้อย่างไร?” (เพราะชาวยิวไม่คบหากับชาวสะมาเรีย) (ยอห์น 4:7-9 อมธ.)  สำหรับพระคริสต์แล้ว พระองค์อยู่เหนือวัฒนธรรม และ อคติทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ และสาวกของพระองค์ไม่ควรที่จะตกใต้กรอบอำนาจทางวัฒนธรรมและอคติที่ส่งทอดกันมา

10. พระคริสต์มาเพื่อรับใช้และให้ชีวิตแก่ผู้คนเป็นอันมาก

“เพราะว่าบุตรมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่มาเพื่อจะปรนนิบัติคนอื่น และให้ชีวิตของท่านเป็นค่าไถ่คนจำนวนมาก” (มาระโก 10:45 มตฐ.) และเมื่อพระคริสต์ทรงเรียกเราให้มาเป็นสาวกของพระองค์ พระองค์ก็ทรงเรียกเราให้มารับใช้คนทั้งหลาย และ ให้ชีวิตแก่คนทั้งหลายเพื่อทำพันธกิจสานต่อพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

และทั้ง 10 คุณลักษณะข้างต้นเป็นอัตลักษณ์ของพระคริสต์ที่พึงมีในชีวิตเราแต่ละคนที่เป็นสาวกของพระองค์



19 กุมภาพันธ์ 2564

สงบ สยบ ความกลัว

 


พระบิดาที่รัก

ขอบคุณพระองค์ที่ทรงอยู่เคียงข้างจิตใจของลูก

และ ที่พระองค์สถิตอยู่ในชีวิตของลูก

     พระบิดาเป็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ยิ่งใหญ่

     พระองค์ทรงโปรดปรานลูกด้วยความชื่นชมยินดี

     ด้วยความรักเมตตา พระบิดาทำให้ความกลัวทั้งสิ้นของลูกสงบลง

     พระบิดาชื่นชมยินดีในตัวลูก ด้วยบทเพลงที่ชื่นบาน

     พระบิดาปกป้องคนอ่อนแอ หมดทางสู้ และจนตรอกในชีวิต

     ลูกขอบพระคุณอย่างมากสำหรับพระกำลังของพระองค์

พระบิดาได้กอบกู้ผู้ที่ถูกเหยียดหยามและได้รับความอับอาย

พระบิดาทรงฟื้นฟูยกชูคนไร้ค่า

ทุกสิ่งที่พระบิดาตรัสได้สำเร็จเป็นจริง

ขอประทานใจสงบแก่ลูกเมื่อความกลัวเริ่มแฝงตัวคืบคลานเข้าในชีวิตลูก

     กระตุ้นเตือนลูกให้ตระหนักชัดเสมอว่า พระบิดาคือพระเจ้า

     ในวันนี้  ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรือ อะไรจะเข้ามาในชีวิตของลูก

     ลูกไม่จำเป็นต้องกลัว

     เพราะพระบิดาได้ควบคุมทุกอย่างอยู่แล้ว

     ลูกเชื่อมั่นและไว้วางใจในพระนามพระเยซูคริสต์

อาเมน

 

“พระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าสถิตกับเจ้า

เป็นนักรบผู้ทรงช่วยให้รอด

(หรือแปลอีกได้ว่า  พระองค์ทรงฤทธิ์อำนาจที่จะช่วยเจ้า)

พระองค์จะทรงปีติยินดีในตัวเจ้า

จะทรงปลอบเจ้าด้วยความรักของพระองค์

และจะทรงร้องเพลงเพราะชื่นชมยินดีในตัวเจ้า”

(เศฟันยาห์ 3:17 สมช.)

17 กุมภาพันธ์ 2564

สมาชิกไม่ต้องการ “ศิษยาภิบาลฮีโร่-คนเก่ง” แต่ต้องการนักอภิบาลชีวิต

สมาชิกคริสตจักรส่วนมากไม่ได้แสวงหาหรือต้องการ “ซุปเปอร์ศิษยาภิบาล” แต่พวกเขาต้องการศิษยาภิบาลที่มีความสามารถในการใส่ใจในการอภิบาล สัตย์ซื่อ และมีภาวะผู้นำ นั่นคือศิษยาภิบาลที่สมาชิกคาดหวังกัน

ผมกลับไปรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์และข้อมูลที่เคยเก็บเกี่ยวกับชีวิตคริสตจักรครั้งต่าง ๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะถึงคุณลักษณะศิษยาภิบาลที่สมาชิกคริสตจักรพึงประสงค์   พบว่า มีคำตอบที่น่าสนใจ และเมื่อนำไปเทียบกับข้อมูลผลการวิจัยในต่างประเทศ บอกได้เลยว่า ข้อมูลใกล้เคียงกันมากครับ

ผมขอประมวลเป็นประเด็นสำคัญของศิษยาภิบาลที่สมาชิกพึงประสงค์  ดังนี้ครับ

·       ศิษยาภิบาลที่รักสมาชิกในคริสตจักร

·       เทศนาอย่างมีประสิทธิภาพเสริมหนุนชีวิตคริสตชนที่เข้มแข็ง

·       มีบุคลิกที่มั่นคงเข้มแข็ง

·       มีมนุษย์สัมพันธ์ เข้าถึงสมาชิกทุกระดับ

·       ทำงานอย่างมีหลักการตามพระคัมภีร์

·       มีนิมิต หรือ วิสัยทัศน์และทำงานมุ่งสู่วิสัยทัศน์นั้น

·       แสดงออกถึงการเป็นผู้นำที่สร้างสรรค์

·       เป็นคนที่เบิกบาน ร่าเริง

·       ไม่ท้อแท้ยอมแพ้ต่อคำวิพากษ์วิจารณ์

·       เป็นคนที่มีชีวิตโปร่งใส

·       เป็นแบบอย่างในการประกาศพระกิตติคุณ

·       ใส่ใจเสริมสร้างสมาชิกให้เติบโตขึ้นในชีวิตจิตวิญญาณ

·       สร้างสมาชิกให้เป็นคนทำพันธกิจด้านต่าง ๆ

·       เข้าถึงผู้คนในชุมชนที่คริสตจักรตั้งอยู่

น่าสนใจมากในรายการความพึงพอใจของสมาชิกต่อศิษยาภิบาลข้างต้น เราพบว่าสมาชิกมิได้ต้องการ “ซุปเปอร์ศิษยาภิบาล” แต่คาดหวังต้องการศิษยาภิบาลที่มีสมรรถนะในการอภิบาลชีวิตสมาชิก อย่างสัตย์ซื่อ และมีภาวะผู้นำ

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ คำกล่าวของสมาชิกบางท่านถึงลักษณะศิษยาภิบาลที่พวกเขาคาดหวัง หรือ ต้องการ  เช่น 

“ฉันไม่คาดหวังว่าศิษยาภิบาลของฉันจะต้องเป็นนักเทศน์ที่โด่งดัง หรือ มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย”

“ไม่มีศิษยาภิบาลท่านใดที่ดีพร้อมสมบูรณ์”

“ผมไม่ต้องการศิษยาภิบาลที่ “บ้างาน” หรือ “ขี้เกียจ”

“อยากจะบอกศิษยาภิบาลว่า สมาชิกส่วนมากยังรักและสนับสนุนศิษยาภิบาล มีคนเพียงไม่กี่คนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ศิษยาภิบาล ขอศิษยาภิบาลอย่าให้คำพูดของคนไม่กี่คนนั้นมากระทบต่อการนำและรับใช้ของศิษยาภิบาล”

ในอีกด้านหนึ่งที่ผมใคร่ขอท่านผู้อ่านพิจารณาคือ เกือบทั้งหมดของผู้ให้ข้อมูล ไม่คาดหวังสิ่งต่อไปนี้จากศิษยาภิบาลของตน

| ศิษยาภิบาลไม่จำเป็นที่ต้องเป็นผู้บริหารที่ดีเยี่ยม

| ศิษยาภิบาลไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักระดมทุนของคริสตจักร

| ศิษยาภิบาลไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ “ภารโรง” หรือ อำนวยความสะดวก” ในคริสตจักร

| ศิษยาภิบาลไม่จำเป็นต้องเป็นนักวางแผนกลยุทธ์

แต่อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งผมมักได้ยินจากคริสตจักรขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีบางคริสตจักรที่คณะธรรมกิจ หรือ สมาชิกบางท่านที่คาดหวังความสามารถ 4 ประการที่เพิ่งกล่าวข้างต้น เมื่อมีการพิจารณาคัดเลือกศิษยาภิบาลท่านใหม่

จากข้อมูลที่ประมวลข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นชัดว่า สมาชิกคริสตจักรคาดหวังและต้องการศิษยาภิบาลที่มีความสามารถบนรากฐานในการอภิบาลชีวิต เป็นคนสัตย์ซื่อ พวกเขาไม่ได้มองหาศิษยาภิบาลที่สมบูรณ์แบบ หรือ ศิษยาภิบาลที่ยิ่งใหญ่

คงไม่มีศิษยาภิบาลท่านใดที่จะมีคุณลักษณะศิษยาภิบาลที่พึงประสงค์ทั้ง 14 ประการที่รวบรวมมาข้างต้น แต่สิ่งที่สมาชิกต้องการศิษยาภิบาลเป็นผู้อภิบาลชีวิตผู้คน แม้จะสอนไม่เก่ง เทศน์ไม่เยี่ยมก็ตาม

ผมอยากจะพูดว่า สมาชิกต้องการศิษยาภิบาลที่เป็นผู้อภิบาลของเขา นำด้วยชีวิตที่เป็นแบบอย่าง มีความสัตย์ซื่อ หนุนเสริมให้พวกเขาเติบโตขึ้นในชีวิตและความเชื่อ และรักพวกเขาตลอดเส้นทางในการอภิบาลของศิษยาภิบาล



15 กุมภาพันธ์ 2564

วินัยชีวิต 4 ประการในการรับมือกับความขัดแย้ง

เราทุกคนต่างเคยเผชิญกับความขัดแย้งในชีวิตมาแล้วไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในมิติใดในชีวิต หลายท่านต้องเผชิญกับความขัดแย้งในชีวิตครอบครัว บ้างในชีวิตสมรส  บ้างก็ต้องรับมือกับความขัดแย้งในที่ทำงาน ในความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เพื่อนฝูง รวมไปถึงความขัดแย้งในคริสตจักร และในกลุ่มทำพันธกิจด้วย เรียกว่าความขัดแย้งมันเข้ามาแทรกตัวแล้วสร้างปัญหาและผลเสียหายด้านต่าง ๆ ในชีวิต

จากประสบการณ์ในการรับมือกับความขัดแย้งในชีวิต เมื่อประมวลประสบการณ์ที่ได้รับพอจะตกผลึกมาเป็น 4 วินัยชีวิตที่สำคัญที่ใช้เป็นหลักการแนวทางในการรับมือกับความขัดแย้งด้านต่าง ๆ ในชีวิตคริสตชนได้อย่างเกิดผล ซึ่งวินัยชีวิตทั้ง 4 ประการดังกล่าวมีดังนี้...

วินัยชีวิตประการที่ 1: มุ่งมองไปยังพระเจ้า

ขั้นแรกนี้ให้เราถามตนเองว่า “เราจะมุ่งมองและให้ความสำคัญแด่พระเจ้าในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร?

ท่ามกลางภาวะความขัดแย้ง เรามักจะคิดถึงพระเจ้าเป็นบุคคลสุดท้ายเมื่อเราหมดที่พึ่งและความหวังแล้ว เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งใด ๆ ให้เราเริ่มต้นวินัยชีวิตของเราด้วยการมุ่งมองและคิดถึงพระเจ้าเป็นบุคคลแรกด้วยการที่เราจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า พระองค์ทรงเป็นผู้ที่จะชี้นำวิธีการและวิถีทางในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ความขัดแย้งเป็นเหตุให้เรามีโอกาสที่จะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

บางท่านอาจจะถามในใจว่า ในภาวะเช่นนี้เราจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าได้อย่างไร?   วิถีหลัก ๆ ในการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าในภาวะความขัดแย้งคือ การไว้วางใจพระเจ้าในทุกสถานการณ์ การเชื่อฟังพระองค์ และการใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์ในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้

วินัยชีวิตประการที่ 2:  มุ่งมองตรวจสอบชีวิตของตนเอง

ในขั้นตอนนี้ให้เราถามตนเองว่า “เรามีส่วนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งนี้อย่างไรบ้าง?

ไม่ว่าในความขัดแย้งของชีวิตสมรส ชีวิตครอบครัว หรือชีวิตในที่ทำงาน รวมไปถึงความขัดแย้งในการทำพันธกิจในคริสตจักร เรามักจะมุ่งมองไปที่คนอื่นว่าทำไม่ดีกับเราอย่างไร แต่ด้วยวินัยชีวิตแบบนี้ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้เลย ในมัทธิว 7:3-5 พระเยซูคริสต์ได้ช่วยให้เราเห็นภาพเปรียบเทียบที่ชัดเจนในเรื่องความขัดแย้ง พระองค์กล่าวถึงคนหนึ่งที่มีไม้ทั้งท่อนขวางอยู่ในตาของเขา แต่พยายามที่จะเขี่ยผงในตาของคนอื่น พระองค์สอนเราว่า สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ จงชักไม้ทั้งท่อนให้ออกจากตาของตัวเราเองก่อน

การที่เราจะยอมรับส่วนที่เราทำให้เกิดความขัดแย้ง จำเป็นที่เราต้องมีการอ่อนน้อมถ่อมตนแบบพระเยซูคริสต์

เราสามารถที่จะเอาชนะทัศนคติที่เปราะบางและความรู้สึกที่อ่อนไหวด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน เราจะรับมือกับความเย่อหยิ่งผยองของเราเองได้ก็ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนในตัวเรา   ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ยอมรับความผิดพลาดและความบาปผิดของเราเองด้วยความจริงใจและเต็มใจต่อคู่กรณีในความขัดแย้งดังกล่าว และในความอ่อนน้อมถ่อมตนเราจำเป็นที่จะต้องฟังคำแนะนำจากคนอื่นเพื่อที่จะช่วยแนะนำเราในการแก้ไขรับมือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ในการที่เราจะยอมรับในส่วนความผิดของเราที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ให้เราหลีกเลี่ยงการกระทำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “ถ้า” “แต่” และ “อาจจะ”
  • เป็นการยอมรับที่จริงใจและเต็มใจในเรื่องนั้น มิใช่ยอมรับเฉพาะบางแง่บางมุม
  • หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจจะนำผลข้างเคียงที่จะตามมา
  • ไม่ใช่เป็นการยอมรับในแบบการแก้ตัว
  • ไม่ขอการยกโทษ (ปล่อยให้การให้อภัยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ)

ในพระธรรมสุภาษิต 28:13 กล่าวว่า “ผู้ซ่อนการละเมิดของตนไว้จะไม่เจริญ แต่ผู้สารภาพและทิ้งมันจะได้ความกรุณา” (มตฐ.) เป็นการสำคัญอย่างมากที่เรามุ่งมองและตรวจสอบตนเอง และ ยอมรับความผิดพลาดของเราที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งดังกล่าว

วินัยชีวิตประการที่ 3:  มุมมองของเราในการมองผู้อื่น หรือ คู่กรณี

บางคนอาจจะคิดว่า นี่เป็นขั้นตอนที่เรารอคอย เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งในการแก้ความขัดแย้ง แต่เราต้องระวัง! ไม่ใช่เป็นไปอย่างที่เราคิด ขั้นตอนที่สามนี้ไม่ใช่โอกาสของท่านที่จะขุดคุ้ยแสดงชัดถึงสิ่งที่คู่กรณีของเราได้กระทำผิด

ในขั้นตอนที่สามนี้เราถามคำถามว่า “เราจะช่วยคนอื่นหรือคู่กรณีที่มีส่วนในความผิดพลาดในความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร?” ไม่ใช่ “เราจะทำให้เขาต้องยอมรับ และ รู้สึกผิดในสิ่งที่เขาทำผิดอย่างไร?

ในการแสวงหาและเสริมสร้างความสงบสุข  ให้เรามุ่งมองไปที่พระเจ้า  และตรวจสอบความผิดพลาดของตนเองที่ทำให้เกิดความขัดแย้งก่อนที่เราจะช่วยคนอื่นในความผิดพลาดของเขาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งนี้

พระธรรมกาลาเทีย 6:1 กล่าวไว้ว่า “พี่น้องทั้งหลาย แม้จับใครที่ละเมิดประการใดได้ พวกท่านซึ่งอยู่ฝ่ายพระวิญญาณ จงช่วยคนนั้นด้วยใจสุภาพอ่อนโยนให้เขากลับตั้งตัวใหม่ โดยคิดถึงตัวเอง เกรงว่าท่านจะถูกทดลองด้วย” (มตฐ.)

เป้าหมายในขั้นตอนนี้คือ ความถ่อมสุภาพ การมีจิตใจที่อ่อนโยนเป็นผลของพระวิญญาณ ดังนั้น การที่เราจะมีจิตใจที่อ่อนโยนสุภาพได้ก็ต่อเมื่อเราพึ่งพิงในพระกำลังจากพระเจ้าที่ทำงานในชีวิตจิตใจของเราเท่านั้น และนี่คือเหตุผลว่าขั้นตอนที่หนึ่งที่ให้เรามุ่งมองไปยังพระเจ้าเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งในการแก้ไขรับมือกับภาวะความขัดแย้ง และในขั้นตอนที่สองก็มีส่วนสำคัญมากด้วย เราจะไม่สามารถกล่าวถึงความผิดพลาดของคนอื่นได้นอกจากที่เราจะรู้เท่าทันถึงความผิดพลาดของตนเองในครั้งนี้ก่อน

วินัยชีวิตประการที่ 4: มุมมองในการมองร่วมกัน

ในขั้นตอนนี้เราถามตนเองว่า “เราจะยกโทษและช่วยหาทางออกที่สมเหตุสมผลได้อย่างไร?”

เป้าหมายในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการให้อภัย  ขอรับการอภัย เพื่อเราจะมีทางออกร่วมกันอย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผล นำสู่ความเป็นเอกภาพที่เกิดจากการคืนดีกัน หลังจากที่เราพูดคุยถึงความขัดแย้งที่หนักอึ้งกับคู่กรณีของเรา ให้เราอธิษฐานต่อพระเจ้าด้วยกัน และอธิษฐานเพื่อกันและกัน



12 กุมภาพันธ์ 2564

สงบ สยบ ความวิตกกังวล

 พระบิดาที่รัก,

ในขณะนี้   ความวิตกกังวลได้ครอบงำพื้นที่ชีวิตของลูกอย่างมาก

ลูกขออธิษฐานต่อพระบิดาแห่งมนุษยชาติ

พระเยซูคริสต์เจ้า  ลูกต้องการพระองค์อย่างมาก

ภาระของโลกนี้กัดกิน บ่อนเซาะชีวิตจิตใจของลูก

และจิตวิญญาณของลูกสับสน ว้าวุ่น

ลูกรู้ว่าพระบิดาไม่ใช่พระเจ้าแห่งความสับสน วุ่นวาย

พระบิดาเป็นพระเจ้าแห่งระบบ ระเบียบ ความรักเมตตา และสันติสุข

ลูกภาวนาขอพระองค์โปรดฟื้นฟูความสงบสันติในตัวลูกขณะนี้

ขอให้จิตใจของลูกได้สัมผัสรับรู้ถึงการสดับฟังของพระบิดา

ขอให้วิญญาณของลูกได้รับกำลังที่พระองค์ประทานแก่ลูก

ขอให้หัวใจของลูกเชื่อที่พระบิดาจะสำแดงความรักต่อลูก

ขอบพระคุณพระบิดาที่ปลดเปลื้องภาระหนักจากชีวิตจิตใจของลูก

อาเมน



10 กุมภาพันธ์ 2564

พระเจ้าทำอะไร ...บนเส้นทางชีวิตทุรกันดาร?

ใคร ๆ ก็อยากมีชีวิตที่สุข สะดวก สบาย

แต่ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติบนโลกใบนี้เราพบว่าพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของผู้คนต่าง ๆ ที่ต้องเดิน เผชิญ และปล้ำสู้กับสภาพแวดล้อมที่เป็น “ถิ่นทุรกันดาร” ในชีวิตของคนเหล่านั้น  

แล้วพระเจ้าทรงกระทำอะไรกับชีวิตของผู้คนบนเส้นทางทุรกันดารนี้?

“พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทรงอวยพรการงานทุกอย่างที่ท่านทำ

ทรงดูแลท่านตลอดการเดินทางผ่านถิ่นกันดารอันกว้างใหญ่ยาวไกลนี้...”

(เฉลยธรรมบัญญัติ 2:7 สมช.)

ถิ่นทุรกันดาร เป็นพื้นที่ป่าเขา และพื้นที่แห้งแล้ง เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัย แต่มันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า สัตว์ร้ายมากกว่า ในบริบทของพวกอิสราเอลยังหมายถึงทะเลทรายที่แห้งแล้งกันดารอีกด้วย

คำว่า “ถิ่นทุรกันดาร” เราอ่านพบในพระคัมภีร์หลาย ๆ แห่ง พระคัมภีร์มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับผู้เชื่อที่ต้องดั้นด้นอย่างเหน็ดเหนื่อยยาวนานในถิ่นทุรกันดาร ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอลที่เดินทางไปยังแผ่นดินคะนาอันยาวนานถึง 40 ปี, ดาวิด ที่ต้องหลบลี้หนีและซ่อนตัวในถ้ำอดุลลัมจากกษัตริย์ซาอูลที่ตามล้างตามผลาญชีวิตของเขาและเรายังพบอีกว่าพระเยซูคริสต์เองก็ถูกมารทดลองในถิ่นทุรกันดารยูเดียเป็นเวลา 40 วันอีกด้วย

ดูเหมือน คำว่าถิ่นทุรกันดารในพระคัมภีร์บ่งบอกถึงชีวิตที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก   แต่เราทุกคนต่างจำเป็นที่จะต้องผ่านการฝึกฝนเสริมสร้างชีวิตบนเส้นทางชีวิต “ถิ่นทุรกันดาร”  และแสวงหาความอยู่รอดในชีวิตจิตวิญญาณของเราท่ามกลางชีวิตในเมือง “ศิวิไลซ์” ที่ "แห้งแล้ง ทุกข์ยาก อ้างว้าง  โดดเดี่ยว  หวาดกลัว และ ฯลฯ”

สิ่งสำคัญที่สุดของการฝึกฝนหล่อหลอมชีวิตใน “ถิ่นทุรกันดาร” คือเราต้องมีคู่มือที่ถูกต้องคือพระวจนะของพระเจ้าที่จะนำทางชีวิต  เราพบว่า มารในถิ่นทุรกันดารไม่สามารถคุกคามพระเยซูคริสต์ เพราะพระวจนะคือแสงสว่างนำทางความคิด ความเชื่อ และเป็นอาวุธที่ตอบโต้กับการทดลองของมาร และเพราะพระเจ้าคือพระผู้ทรงสร้างแผ่นดินที่ว่างเปล่า และพระองค์ทรงสร้างที่รกร้างว่างเปล่าที่กว้างใหญ่ไพศาลในจักรวาล พระองค์จึงทรงล่วงรู้ถึงทุกย่างก้าวขั้นตอนบนเส้นทางเหล่านั้น

วันนี้ขอท่านอย่าวิตกกังวล เพราะการทรงนำของพระเจ้าเราจึงสามารถที่จะก้าวย่างเดินไปบนเส้นทางผ่านทะลุถิ่นทุรกันดารในชีวิตประจำวันของเรา

องค์พระผู้เป็นเจ้าของผมผู้ทรงรู้ทะลุปรุโปร่ง
ถึงวิถีทางที่ผ่านทะลุถิ่นทุรกันดาร 
สิ่งที่ผมจะต้องทำคือ เดินตามพระองค์ไป   (ซิดนี่ อี. คอกซ์) 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่

E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



08 กุมภาพันธ์ 2564

ทะยานสู่ความแกร่ง

แร้งแอนเดียน (แร้งคอนดอร์แอนดีส Andean condor, condor) เป็นสัตว์ประเภทนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อมันกางปีกออกมีความกว้างถึง 3 เมตร แร้งแอนเดียนสามารถเหินบนท้องฟ้าได้ถึง 5 ชั่วโมง เรียกว่าเหินไปไกลกว่า 100 ไมล์ โดยไม่ต้องกระพือปีกของมันแม้แต่ครั้งเดียว จากนิตยาสาร The Guardian, (July 13, 2020.) รายงานผลการศึกษาพบว่า กลุ่มแร้งแอนเดียนใช้เวลาเพียง 1% ของมันบนท้องฟ้าในการกระพือปีก

ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์อาจจะไม่เคยเห็นนกแร้งแอนเดียน แต่เขาจะคุ้นชินกับนกอินทรี และ นกที่สามารถทะยานเหินไปได้ในแถบตะวันออกกลาง เราคงไม่แปลกใจที่อิสยาห์ใช้การบินเหินไปของนกอินทรีมาเปรียบกับผู้ที่รอคอยองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความหวังว่า...

“แต่บรรดาผู้ที่รอคอยองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความหวัง 
     จะฟื้นกำลังขึ้นใหม่
พวกเขาจะกางปีกทะยานขึ้นเหมือนนกอินทรี
พวกเขาจะวิ่งไปโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
พวกเขาจะเดินไปโดยไม่อ่อนระโหยโรยแรง”
              อิสยาห์ 40:31 (อมธ.)

เมื่อนกอินทรีทะยานเหินสู่ฟ้าเบื้องบนสูงขึ้น ๆ พลังของกระแสลมที่จะทำให้ตัวนกอินทรีที่เหินและทะยานไปข้างหน้าได้ มิใช่ด้วยพลังของการกระพือปีกของนกอินทรีเอง

โมเสสกล่าวถึงประสบการณ์ชีวิตของอิสราเอลในอียิปต์ และ ในถิ่นทุรกันดารว่า...

“...อย่าตระหนกตกใจ อย่ากลัวพวกเขาเลย พระยาห์เวห์พระเจ้าของพวกท่านทรงนำหน้าท่าน พระองค์จะทรงต่อสู้เพื่อท่าน เหมือนที่ทรงทำต่อหน้าต่อตาพวกท่านทั้งในอียิปต์ และในถิ่นกันดาร ที่นั่นท่านได้เห็นพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทรงโอบอุ้มท่านดั่งพ่อโอบอุ้มลูกตลอดทางมาจนถึงที่นี่” (เฉลยธรรมบัญญัติ 1:29-31 อมธ.)

ในชีวิตคริสตชน พลังลมแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าที่เป็นและให้พลังแก่ชีวิตของเราให้เหินไปอย่างเต็มพลัง มีกำลังที่จะวิ่งไปโดยไม่เหน็ดเหนื่อย และเราจะเดินไปโดยไม่อ่อนเปลี้ยสิ้นแรง

การใช้เวลากับพระเจ้าเป็นประจำทุกวัน จะเป็นการที่พระเจ้าจะทรงเสริมเพิ่มพลังใหม่แก่เราในทุก ๆ วัน ด้วยการที่เราเข้าใกล้ชิดสนิทกับพระองค์ด้วยการอธิษฐานและใคร่ครวญเจาะลึกเข้าไปในพระวจนะของพระองค์ และเมื่อเราเรียนรู้ที่จะนิ่งและรอคอยพระองค์ เราจะได้รับการหนุนเสริมและเพิ่มพลังใหม่ที่จำเป็นจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

เฉพาะคนที่มี “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพลังเรี่ยวแรงในชีวิตของตน” เท่านั้นที่จะสามารถกล่าวว่า  “แล้วข้าพระองค์จะต้องเกรงกลัวผู้ใดอีกเล่า?”

 ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499