15 กุมภาพันธ์ 2564

วินัยชีวิต 4 ประการในการรับมือกับความขัดแย้ง

เราทุกคนต่างเคยเผชิญกับความขัดแย้งในชีวิตมาแล้วไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในมิติใดในชีวิต หลายท่านต้องเผชิญกับความขัดแย้งในชีวิตครอบครัว บ้างในชีวิตสมรส  บ้างก็ต้องรับมือกับความขัดแย้งในที่ทำงาน ในความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เพื่อนฝูง รวมไปถึงความขัดแย้งในคริสตจักร และในกลุ่มทำพันธกิจด้วย เรียกว่าความขัดแย้งมันเข้ามาแทรกตัวแล้วสร้างปัญหาและผลเสียหายด้านต่าง ๆ ในชีวิต

จากประสบการณ์ในการรับมือกับความขัดแย้งในชีวิต เมื่อประมวลประสบการณ์ที่ได้รับพอจะตกผลึกมาเป็น 4 วินัยชีวิตที่สำคัญที่ใช้เป็นหลักการแนวทางในการรับมือกับความขัดแย้งด้านต่าง ๆ ในชีวิตคริสตชนได้อย่างเกิดผล ซึ่งวินัยชีวิตทั้ง 4 ประการดังกล่าวมีดังนี้...

วินัยชีวิตประการที่ 1: มุ่งมองไปยังพระเจ้า

ขั้นแรกนี้ให้เราถามตนเองว่า “เราจะมุ่งมองและให้ความสำคัญแด่พระเจ้าในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร?

ท่ามกลางภาวะความขัดแย้ง เรามักจะคิดถึงพระเจ้าเป็นบุคคลสุดท้ายเมื่อเราหมดที่พึ่งและความหวังแล้ว เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งใด ๆ ให้เราเริ่มต้นวินัยชีวิตของเราด้วยการมุ่งมองและคิดถึงพระเจ้าเป็นบุคคลแรกด้วยการที่เราจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า พระองค์ทรงเป็นผู้ที่จะชี้นำวิธีการและวิถีทางในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ความขัดแย้งเป็นเหตุให้เรามีโอกาสที่จะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

บางท่านอาจจะถามในใจว่า ในภาวะเช่นนี้เราจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าได้อย่างไร?   วิถีหลัก ๆ ในการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าในภาวะความขัดแย้งคือ การไว้วางใจพระเจ้าในทุกสถานการณ์ การเชื่อฟังพระองค์ และการใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์ในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้

วินัยชีวิตประการที่ 2:  มุ่งมองตรวจสอบชีวิตของตนเอง

ในขั้นตอนนี้ให้เราถามตนเองว่า “เรามีส่วนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งนี้อย่างไรบ้าง?

ไม่ว่าในความขัดแย้งของชีวิตสมรส ชีวิตครอบครัว หรือชีวิตในที่ทำงาน รวมไปถึงความขัดแย้งในการทำพันธกิจในคริสตจักร เรามักจะมุ่งมองไปที่คนอื่นว่าทำไม่ดีกับเราอย่างไร แต่ด้วยวินัยชีวิตแบบนี้ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้เลย ในมัทธิว 7:3-5 พระเยซูคริสต์ได้ช่วยให้เราเห็นภาพเปรียบเทียบที่ชัดเจนในเรื่องความขัดแย้ง พระองค์กล่าวถึงคนหนึ่งที่มีไม้ทั้งท่อนขวางอยู่ในตาของเขา แต่พยายามที่จะเขี่ยผงในตาของคนอื่น พระองค์สอนเราว่า สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ จงชักไม้ทั้งท่อนให้ออกจากตาของตัวเราเองก่อน

การที่เราจะยอมรับส่วนที่เราทำให้เกิดความขัดแย้ง จำเป็นที่เราต้องมีการอ่อนน้อมถ่อมตนแบบพระเยซูคริสต์

เราสามารถที่จะเอาชนะทัศนคติที่เปราะบางและความรู้สึกที่อ่อนไหวด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน เราจะรับมือกับความเย่อหยิ่งผยองของเราเองได้ก็ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนในตัวเรา   ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ยอมรับความผิดพลาดและความบาปผิดของเราเองด้วยความจริงใจและเต็มใจต่อคู่กรณีในความขัดแย้งดังกล่าว และในความอ่อนน้อมถ่อมตนเราจำเป็นที่จะต้องฟังคำแนะนำจากคนอื่นเพื่อที่จะช่วยแนะนำเราในการแก้ไขรับมือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ในการที่เราจะยอมรับในส่วนความผิดของเราที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ให้เราหลีกเลี่ยงการกระทำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “ถ้า” “แต่” และ “อาจจะ”
  • เป็นการยอมรับที่จริงใจและเต็มใจในเรื่องนั้น มิใช่ยอมรับเฉพาะบางแง่บางมุม
  • หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจจะนำผลข้างเคียงที่จะตามมา
  • ไม่ใช่เป็นการยอมรับในแบบการแก้ตัว
  • ไม่ขอการยกโทษ (ปล่อยให้การให้อภัยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ)

ในพระธรรมสุภาษิต 28:13 กล่าวว่า “ผู้ซ่อนการละเมิดของตนไว้จะไม่เจริญ แต่ผู้สารภาพและทิ้งมันจะได้ความกรุณา” (มตฐ.) เป็นการสำคัญอย่างมากที่เรามุ่งมองและตรวจสอบตนเอง และ ยอมรับความผิดพลาดของเราที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งดังกล่าว

วินัยชีวิตประการที่ 3:  มุมมองของเราในการมองผู้อื่น หรือ คู่กรณี

บางคนอาจจะคิดว่า นี่เป็นขั้นตอนที่เรารอคอย เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งในการแก้ความขัดแย้ง แต่เราต้องระวัง! ไม่ใช่เป็นไปอย่างที่เราคิด ขั้นตอนที่สามนี้ไม่ใช่โอกาสของท่านที่จะขุดคุ้ยแสดงชัดถึงสิ่งที่คู่กรณีของเราได้กระทำผิด

ในขั้นตอนที่สามนี้เราถามคำถามว่า “เราจะช่วยคนอื่นหรือคู่กรณีที่มีส่วนในความผิดพลาดในความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร?” ไม่ใช่ “เราจะทำให้เขาต้องยอมรับ และ รู้สึกผิดในสิ่งที่เขาทำผิดอย่างไร?

ในการแสวงหาและเสริมสร้างความสงบสุข  ให้เรามุ่งมองไปที่พระเจ้า  และตรวจสอบความผิดพลาดของตนเองที่ทำให้เกิดความขัดแย้งก่อนที่เราจะช่วยคนอื่นในความผิดพลาดของเขาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งนี้

พระธรรมกาลาเทีย 6:1 กล่าวไว้ว่า “พี่น้องทั้งหลาย แม้จับใครที่ละเมิดประการใดได้ พวกท่านซึ่งอยู่ฝ่ายพระวิญญาณ จงช่วยคนนั้นด้วยใจสุภาพอ่อนโยนให้เขากลับตั้งตัวใหม่ โดยคิดถึงตัวเอง เกรงว่าท่านจะถูกทดลองด้วย” (มตฐ.)

เป้าหมายในขั้นตอนนี้คือ ความถ่อมสุภาพ การมีจิตใจที่อ่อนโยนเป็นผลของพระวิญญาณ ดังนั้น การที่เราจะมีจิตใจที่อ่อนโยนสุภาพได้ก็ต่อเมื่อเราพึ่งพิงในพระกำลังจากพระเจ้าที่ทำงานในชีวิตจิตใจของเราเท่านั้น และนี่คือเหตุผลว่าขั้นตอนที่หนึ่งที่ให้เรามุ่งมองไปยังพระเจ้าเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งในการแก้ไขรับมือกับภาวะความขัดแย้ง และในขั้นตอนที่สองก็มีส่วนสำคัญมากด้วย เราจะไม่สามารถกล่าวถึงความผิดพลาดของคนอื่นได้นอกจากที่เราจะรู้เท่าทันถึงความผิดพลาดของตนเองในครั้งนี้ก่อน

วินัยชีวิตประการที่ 4: มุมมองในการมองร่วมกัน

ในขั้นตอนนี้เราถามตนเองว่า “เราจะยกโทษและช่วยหาทางออกที่สมเหตุสมผลได้อย่างไร?”

เป้าหมายในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการให้อภัย  ขอรับการอภัย เพื่อเราจะมีทางออกร่วมกันอย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผล นำสู่ความเป็นเอกภาพที่เกิดจากการคืนดีกัน หลังจากที่เราพูดคุยถึงความขัดแย้งที่หนักอึ้งกับคู่กรณีของเรา ให้เราอธิษฐานต่อพระเจ้าด้วยกัน และอธิษฐานเพื่อกันและกัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น