30 พฤศจิกายน 2555

เมื่อองค์กรกลายพันธุ์!


เราเป็นองค์กรแบบไหน?

ถ้าจะแบ่งองค์กรเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นลักษณะใหญ่ๆ  อาจสามารถแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะด้วยกันคือ

1. องค์กรเอกชนเพื่อธุรกิจ
2. องค์กรเอกชนการกุศล  และ
3. องค์กรเอกชนศาสนาแบบคริสตชนด้วยความเชื่อศรัทธา[1]

องค์กรเอกชนเพื่อธุรกิจ

ชื่อก็บ่งบอกชัดแล้วว่า   องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรของเอกชน   ที่ก่อตั้งและดำเนินการเพื่อทำธุรกิจ  เพื่อค้าขาย  เพื่อหากำไร   เป้าหมายขององค์เอกชนประเภทนี้จึงมุ่งเน้นไปสู่ความคาดหวังที่ “จะได้”  มุ่งบริหารจัดการทรัพย์สิน เงิน ทุน ที่มีอยู่เพื่อให้เกิดผลทวีคูณให้ได้มากที่สุด    ทั้งนี้ ต้องการเสริมสร้างให้ตนเองมั่นคง  และมั่งคั่งต้องการเป็นองค์กรที่เด่น ดัง อยู่เหนือองค์กรอื่น   และต้องการที่จะมีอิทธิพลต่อชีวิตคนในสังคม   องค์กรเหล่านี้จึงต้อง “แข่งขัน”  เพื่อชิงชัยความได้เปรียบและได้ “ผลประโยชน์สูงสุด” สำหรับตนเอง บริษัท พรรคพวก  หรือเครือญาติ   และคาดหวังการตั้งอยู่อย่างมั่นคงยืนยงยาวนานที่สุด   และเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า “ความสำเร็จ”

องค์กรเอกชนการกุศล

เป็นองค์กรเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานหลักคิดว่า  ควรมีองค์กรที่มุ่งกระทำความดี   โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนที่รอโอกาส  ด้อยโอกาส  หรือ คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ   เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยผู้คนที่มีความคิดความเชื่อในเรื่องการกระทำดี   การกระทำที่มีคุณค่า   และเสริมสร้างประโยชน์ต่อผู้คนและสังคมที่เป็นเป้าหมายขององค์กร

ดังนั้น  องค์กรประเภทนี้จึงทุ่มเทกำลังทรัพย์สิน  กำลังกาย  กำลังใจ ที่ตนมีอยู่   เพื่อทำสิ่งดีที่ตนตั้งใจจะทำ   อีกทั้งอาจจะรณรงค์หาการสนับสนุนด้านต่างๆ จากผู้คนในสังคมด้วย   การที่องค์กรประเภทนี้จะทำสิ่งที่ดีมีคุณภาพระดับไหน   จะทำไปได้ยาวนานแค่ไหน    ย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพคน  ความคิด  และมุมมองต่องานที่ตนทำในองค์กรประเภทนี้   อีกทั้งขึ้นกับ  กำลังคน  และ ทรัพย์กรที่มีพร้อมให้องค์กรขับเคลื่อนไป  

องค์กรประเภทนี้  ย่อมต้องขับเคลื่อนโดยคนในองค์กรที่มีจิตใจที่ต้องการกระทำสิ่งดีแก่คนอื่นรอบข้าง   และ ขึ้นอยู่กับความสามารถของตนที่จะสรรหาทรัพย์กรด้านต่างๆ ให้มีเพียงพอในการขับเคลื่อน   อีกทั้งขึ้นอยู่กับการรู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน   ซึ่งความรู้สึกที่มีคุณค่านี้มักขึ้นอยู่กับการยอมรับและการเห็นคุณค่าของคนรอบข้าง   ซึ่งเป็นเงื่อนไขจากสภาพภายนอกนั่นเอง   องค์กรประเภทนี้จะใช้การยอมรับ ชื่นชม  และการยกย่องจากผู้คนและสังคมเป็นเครื่องวัด “ความสำเร็จ”

องค์กรเอกชนศาสนาด้วยความศรัทธา

ดูเผินๆ แล้ว เราอาจจะเห็นว่าองค์กรศาสนาด้วยความศรัทธา กับ องค์กรเอกชนการกุศลมีความคล้ายและเหมือนกันพอประมาณ   ใช่ครับ  และก็มีส่วนที่เป็นเช่นนั้นจริงๆ   กล่าวคือ  องค์กรทั้งสองประเภทนี้ต่างมีจุดยืนเป้าหมายที่จะกระทำความดี   ให้การช่วยเหลือเกื้อกูนในด้านต่างๆ แก่ผู้คนที่ด้อยโอกาส  ขาดโอกาส  หรือกำลังรอโอกาส  

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเน้นชัดในที่นี้ว่า  องค์กรเอกชนศาสนาด้วยความศรัทธา   จะแตกต่างจากองค์กรศาสนาด้วยปัญญาและหลักคำสอนเท่านั้น(ที่มีความคล้ายคลึงกับองค์กรเอกชนการกุศลอย่างมาก)   กล่าวคือ  ถ้าเป็นองค์กรเอกชนคริสต์ศาสนาที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนด้วยศรัทธาเข้ามาด้วย  การที่มุ่งมั่นทำความดีขององค์กรนั้น  มิใช่เพราะคนทำต้องการทำดี   แต่ที่ทำความดีเพราะมีความเชื่อศรัทธาว่า  สิ่งดีที่กระทำนั้นสอดคล้องกับพระประสงค์พระเจ้าที่จะให้เรากระทำสานต่อจากพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำในโลกนี้  

พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจแห่งการทรงสร้างชีวิตและสรรพสิ่งสรรพสัตว์ในโลกนี้   ดังนั้น  งานด้านหนึ่งขององค์กรศาสนาด้วยความศรัทธาแบบคริสตชนคือ  การดูแล  เอาใจใส่  เยียวยา  รักษา ทุกสิ่งที่ทรงสร้างให้อยู่ในสภาพที่มีคุณภาพอย่างที่พระเจ้าประสงค์เมื่อทรงสร้าง   และพระองค์ต้องการให้เราดูแลเอาใจใส่ให้เกิดดอกออกผล   เพื่อเกื้อกูนการมีชีวิตอยู่รอดของกันและกัน   กลายเป็นความอุดมพูนสุขในชีวิตสังคมโลก

พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาตามศักดิ์ศรี และ พระฉายาของพระเจ้า    แต่มนุษย์กลับสูญเสียคุณค่า ศักดิ์ศรี และพระฉายาของพระเจ้าในตน   เกิดการทำร้ายทำลาย  เหยียบย่ำ  กดขี่ชีวิตของกันและกัน   ทำให้คนจำนวนมากต้องตกลงในกับดักแห่งความชั่วร้าย   ชีวิตต้องทนทุกข์ได้รับความเจ็บปวด   และในเวลาเดียวกันผู้ที่เหยียบย่ำ กดขี่  เอารัดเอาเปรียบคนอื่นชีวิตของตนก็ถูกครอบงำด้วยความคิดและอำนาจชั่วร้ายในรูปแบบต่างๆ เช่นกัน   พระราชกิจของพระเยซูคริสต์คือ  การที่พระองค์ทรงกอบกู้  ไถ่ถอน  และปลดปล่อยให้ผู้คนทั้งสองกลุ่มใหญ่ให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความชั่วร้ายเหล่านั้น   และพระองค์ทรงเรียกผู้เชื่อศรัทธาในพระองค์  ที่เป็นสาวกติดตามพระองค์ให้กระทำสานต่อพระราชกิจแห่งการกอบกู้ ปลดปล่อยของพระองค์

ในปัจจุบันนี้การงานที่สานต่อการกอบกู้ และ การปลดปล่อยจากอำนาจชั่ว   คริสตชนสามารถที่จะกระทำในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน   แล้วแต่สภาพชีวิตของผู้คนที่ตกลงในกับดักของอำนาจชั่วร้าย   เช่น การช่วยเหลือเหยื่อในด้านการค้ามนุษย์  ทั้งสตรี และ เด็ก   การเอาใจใส่เยียวยาผู้ต้องขังในเรือนจำ   การทำพันธกิจในชีวิตของเด็กข้างถนน   ในชีวิตของผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งขับไล่  การเอาใจใส่ผู้เจ็บป่วยและญาติ  และ ฯลฯ  ทั้งสิ้นนี้เรากระทำพันธกิจเหล่านี้มิใช่เพราะเราต้องการทำดีเท่านั้น   แต่เป็นการสนองพระประสงค์ของพระเจ้า   เพื่อให้น้ำพระทัยของพระองค์เกิดผลเป็นรูปธรรมในแผ่นดินโลกนี้  นั่นหมายความว่า พระประสงค์ของพระเจ้าทรงครอบครองชีวิตของผู้คน และ สรรพสัตว์สรรพสิ่งที่ทรงสร้าง   เพื่อโลกจะกลับสู่สภาพการทรงสร้างใหม่ที่อยู่ร่วมกันอย่างมีศานติสุข   “ในสวรรค์เป็นอย่างไร  ให้เป็นอย่างนั้นในแผ่นดินโลก”   และนี่คือความสำเร็จ

การเยียวยารักษา  การบ่มเพาะ ฟูมฟัก และการเสริมสร้างชีวิตที่เจ็บช้ำแตกหักขึ้นใหม่   เป็นพระราชกิจของพระคริสต์ที่ทรงกระทำไว้เป็นแบบอย่าง   และเป็นพระบัญชาให้เราสานต่อที่จะเสริมสร้าง และ หนุนเสริมชีวิตให้มีพลังเข้มแข็งและเติบโตขึ้นในชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน   และมีชีวิตที่อุทิศรับใช้เยี่ยงพระคริสต์

แต่ที่ต้องเน้นชัดคือ   ที่เราทำเพราะเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์   เราจึงอุทิศตนใช้ชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์   มิใช่เพราะเราต้องการทำและทำด้วยตนเอง   แต่การที่องค์กรศาสนาด้วยศรัทธาแบบคริสตชนกระทำนั้นมีลักษณะความเชื่อและศรัทธาประการพิเศษคือ   นี่เป็นงานที่เรากระทำสานต่อจากพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงเรียกให้เรากระทำ  ดังนั้น เราจึงต้องทำตามพระประสงค์และแผนการที่ทรงเปิดเผยในแต่ละวัน   “มิใช่ทำตามใจฉัน”   ดังนั้น  จึงมีอีกประการหนึ่งที่แตกต่างจากองค์กรเอกชนการกุศลคือ  องค์กรเอกชนศาสนาด้วยความศรัทธาแบบคริสตชน มิใช่ผู้เชื่อศรัทธาเป็นผู้ที่ทำงานสานต่อพระราชกิจของพระเจ้าตามพระประสงค์ของพระองค์เท่านั้น  แต่ในการสานต่อพระราชกิจ พระเจ้าทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้กระทำพระราชกิจเคียงข้างเราไปด้วย   ดังนั้นนอกจากกำลัง ปัญญา ความสามารถ  และทรัพยากรที่พระเจ้าประทานให้แล้ว   พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำงานเคียงข้างหนุนเสริมงานที่เราทำด้วย   ไม่เช่นนั้นแล้วเราไม่สามารถกระทำให้สำเร็จได้

เมื่อองค์กรเอกชนศาสนาแบบคริสตชนกลายพันธุ์

ยุคสมัยเปลี่ยนไป   การทำพันธกิจของพระเยซูถูกกระแสวัฒนธรรมในยุคต่างๆ กระทบ   บางยุคก็สามารถยืนหยัดเดินไปบนเส้นทางแห่งพระราชกิจของพระเยซูคริสต์  และอีกหลายยุคที่ถูกพายุแห่งยุคสมัยนั้นพัดกระหน่ำจนต้องซวนเซ   และอีกหลายยุคเช่นกันที่องค์กรศาสนาแบบคริสตชนที่ขับเคลื่อนไปตามกระแสวัฒนธรรมในยุคนั้น

องค์กรเอกชนศาสนาแบบคริสตชนที่ครั้งหนึ่งเลือกที่จะทำพันธกิจนี้สานต่อจากพระราชกิจของพระคริสต์ในบริบทประเทศไทย วัฒนธรรมไทย   แต่เนื่องจากทั้งผู้บริหาร  ผู้ทำงานองค์กรเอกชนศาสนาแบบคริสตชนถูกครอบงำด้วยวิธีคิดและระบบคุณค่าของกระแสสังคมแบบเงินนิยม   ทันสมัยนิยม   บริโภคนิยม  และ  ตัวกูนิยม   ในที่สุดองค์กรเอกชนศาสนาแบบคริสตชนก็เกิดการเปลี่ยนรูปแปรกระบวนการทำพันธกิจกลายพันธุ์เป็น “องค์กรเอกชนศาสนาแบบคริสตชนเพื่อธุรกิจ”  หรือ  “องค์กรเอกชนธุรกิจเพื่อคริสต์ศาสนา ”   หรือ “องค์กรเอกชนคริสต์ศาสนาเพื่อการกุศล”

เมื่อองค์กรเอกชนศาสนาแบบคริสตชนกลายพันธุ์   การทำพันธกิจขององค์กรก็แปรเปลี่ยนและกลายพันธุ์ด้วย   องค์กรเหล่านี้เปลี่ยนเป้าหมายและความสำเร็จไปสู่การทำธุรกิจ   กลายเป็นองค์กรที่ต้องทำเพื่อมีรายได้   และพลิกฟ้าให้เป็นดินเป็นการหารายได้เพื่อมาเลี้ยงองค์กรและคริสตจักร   ดังนั้น  องค์กรเอกชนศาสนาแบบคริสตชนเพื่อธุรกิจจึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องลงสนามแข่งขันกับองค์กรเอกชนธุรกิจประเภทเดียวกัน   ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยในการทำธุรกิจและบริการ  หนีไม่พ้นที่ต้องหากำไรเพื่อที่จะนำมาลงทุน  ค่าใช้จ่ายของผู้ที่มารับบริการเพิ่มมากขึ้น ราคาสูงขึ้น   ถึงขั้นใครไม่สามารถจ่ายตามเกณฑ์ก็ไม่สามารถมารับบริการจากองค์กรฯได้   ความสำเร็จวัดกันที่รายได้   วัดกันที่จำนวนคนที่มารับบริการ   วัดกันที่ความทันสมัยของเครื่องไม้เครื่องมือ   วัดกันที่อาคารทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น   และอีกตัวหนึ่งคือวัดกันที่จำนวนเงินที่ส่งไปบำรุงส่วนกลางขององค์กรฯ

น่าสังเกตว่า  สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่สูญหายไปในองค์กรเอกชนศาสนาแบบคริสตชนที่กลายพันธ์คือ   พระประสงค์และน้ำพระทัยของพระคริสต์   เพราะถูกแทนที่ด้วยเป้าหมายทางธุรกิจ   ดังนั้น  องค์กรฯ เหล่านี้จึงละเลย หรือ ทำเป็นหลงลืม  และที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงที่จะกระทำตามคำประกาศแห่งพระเจตนารมณ์ของพระเยซูคริสต์(ถ้อยแถลงแห่งนาซาเร็ธ)ในการเสด็จมาในโลกนี้ว่า  

“พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า
เพราะพระองค์ทรงเจิมตั้งข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่ผู้ยากไร้
พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาประกาศอิสรภาพแก่ผู้ถูกจำจอง
และให้คนตาบอดได้มองเห็น
ให้ปลดปล่อยผู้ที่ถูกกดขี่
ให้ประกาศปีแห่งความโปรดปรานขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลูกา 4:18-19)

คนทำงานในองค์กรศาสนาแบบคริสตชนจำนวนมากสนใจที่จะทำรายได้ขององค์กรให้สูง   เพื่อตนจะได้รับโบนัสกลางปี ปลายปี ที่มากขึ้น   วิธีคิด มุมมองและระบบคุณค่าของคนทำงานในองค์กรฯ เหล่านี้   เห็นว่าโบนัสนั้นมีคุณค่ามากกว่าชีวิตของคนที่มารับบริการ   มากกว่าชีวิตของคนเจ็บคนป่วยที่มาขอ(ทาน)ความช่วยเหลือเยียวยารักษา   มากกว่าเด็กข้างถนนที่ไม่ได้เรียนหนังสือและไม่มีใครเหลียวแล  และที่ร้ายกว่านั้นกำลังตกอยู่ในอันตราย

พระเยซูคริสต์ประกาศเป้าประสงค์ของพระองค์ว่า  “เรามาเพื่อท่านทั้งหลายจะได้ชีวิต  และจะได้ชีวิตที่ครบบริบูรณ์” (ยอห์น 10:10)   พระองค์สละชีวิตเพื่อคนทั้งหลายจะได้ชีวิต   พระองค์มิได้สละชีวิตเพื่อปกป้องความอยู่รอดขององค์กร   พันธกิจของพระเยซูคริสต์มิใช่พระราชกิจด้านการแพทย์ การพยาบาล การศึกษา  และสังคมสงเคราะห์  สังคมบริการ  แต่พระราชกิจของพระคริสต์เป็นพระราชกิจในการช่วยกอบกู้และการเสริมสร้างชีวิต   เป็นพระราชกิจแห่งชีวิต   พระองค์ให้ชีวิตเพื่อคนอื่นจะได้ชีวิต

คงต้องกระซิบถามว่า  แล้วองค์กรเอกชนศาสนาแบบคริสตชนในประเทศไทยกำลังเดินอยู่บนเส้นทางไหนขององค์กร?   กำลังเดินไปสู่เป้าหมายปลายทางใด?   จริงๆ แล้วองค์กรฯเหล่านี้ยังยินดีมีพระคริสต์อยู่ในงานที่เขาทำหรือไม่?   เขาบอกปัด หรือ ปฏิเสธการเคียงข้างของพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือ เฉยเมยต่อพระองค์ไปนานแค่ไหนแล้ว?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499


[1] ความเชื่อ:  เป็นเรื่องของความนึกคิดและจิตใจ   ที่ยอมรับว่าเรื่องนั้นสิ่งนี้เป็นจริงอย่างที่ตนเชื่อ แล้วคนๆ นั้นนำใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคิด การตัดสินใจ  และการกระทำ     ความเชื่อมักมีเป้าหมายปลายทางที่ความคาดหวังว่าจะ “ได้รับ” สิ่งนั้นสิ่งนี้แม้ยังไม่เห็นปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม
ความศรัทธา:เป็นเรื่องของการไว้วางใจและการอุทิศตน   ความศรัทธามักเกิดขึ้นจากการที่คนๆ นั้นได้รับประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ   ทั้งประสบการณ์ตรงหรือประสบการณ์อ้อม   ความศรัทธาที่เติบโตในชีวิตของผู้คนมักนำคนนั้นไปสู่ “การให้”  หรือ การอุทิศตน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุทิศตนต่อบุคคลหรือสิ่งที่ตน “ศรัทธา”  พร้อมที่จะดำเนินชีวิตตามเป้าประสงค์ของผู้ที่ตนศรัทธานั้น  เช่น  คริสตชนอุทิศตนหรืออุทิศชีวิตนี้เพื่อทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตประจำวัน  เป็นต้น

28 พฤศจิกายน 2555

คนหรือระบบ?


เมื่ออิสราเอลเข้าไปตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินพระสัญญา   พระเจ้าทรงเป็นผู้ปกครอง ดูแล และปกป้องเขา   โดยพระองค์ทรงเลือกผู้ที่เป็นผู้วินิจฉัยให้เป็นผู้ดูแลความเป็นอยู่  ความถูกต้อง  และความยุติธรรมในสังคมอิสราเอลตามกฎเกณฑ์และพระบัญญัติของพระเจ้า

เมื่ออิสราเอลเข้าตั้งถิ่นฐานใหม่ๆ   ถ้าศัตรูยกกำลังมารุกรานอิสราเอลพระเจ้าจะทรงเรียกบางคนให้เป็นผู้วินิจฉัยให้นำกำลังเข้าต่อต้าน หรือ สู้รบกับศัตรูเพื่อปกป้องประชากรในแผ่นดินแห่งพระสัญญา   จนกระทั่งเมื่ออิสราเอลมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว   พระเจ้าทรงให้ผู้วินิจฉัยเป็นผู้ปกครองดูแล   ตัดสินความขัดแย้งในหมู่ประชาชน   คอยสอนและแนะนำกำกับการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามพระบัญญัติหรือกฎเกณฑ์ของพระเจ้า

การปกครองดูแลอิสราเอลโดยผู้วินิจฉัยที่สัตย์ซื่ออย่างซามูเอลย่อมสร้างการยอมรับนับถือในหมู่ประชาชน   แต่เมื่อลูกของซามูเอลขึ้นปกครองดูแลประชาชน   กลับใช้อำนาจที่มีจากพระเจ้าผ่านทางซามูเอล และอำนาจจากตำแหน่งในการหารายได้อย่างผิดๆ  รับสินบน  บิดเบือนความยุติธรรม (1ซามูลเอล 8:1-3)    อันเป็นการกระทำฝ่าฝืนขัดขืนพระบัญญัติของพระเจ้าด้วยตัวของผู้นำผู้ปกครองอิสราเอลเสียเอง 

ในอพยพ 18:21  พระเจ้าได้สั่งไว้ว่า 

“...ท่านจงมองหาคนที่มีความสามารถ
ที่ยำเกรงพระเจ้า
ที่ไว้วางใจได้
และที่เกลียดสินบน
จงแต่งตั้งคนอย่างนี้ไว้เหนือพวกเขาเป็นผู้ปกครองคน...”
(ฉบับมาตรฐาน)

โยเอล บุตรหัวปี  และ อาบียาห์ บุตรคนที่สองของซามูเอลจงใจขัดขืนพระบัญญัติของพระเจ้าเสียเองในฐานะผู้นำการปกครองอิสราเอล   สร้างความอยุติธรรม  และตักตวงผลประโยชน์เพื่อตนเอง   สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนคนอิสราเอล   นำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชน  จนประชาชนต้องการปลดแอกออกจากการปกครองของบุตรซามูเอลทั้งสองคน   และต้องการปลดแอกปฏิรูปการปกครองของอิสราเอลไปสู่ระบบกษัตริย์   ซึ่งเป็นกระแสระบบการปกครองในเวลานั้นของประเทศต่างๆ ที่แวดล้อมอิสราเอล  (ข้อ 4-5)

ในเหตุการณ์นี้ได้ให้บทเรียนที่ประเมินค่ามิได้แก่เราด้วย  

ประการแรก  เมื่อผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกและทรงใช้ให้ดูแลปกครองประชากรของพระองค์ขัดขืน และ ล้มเหลวในการกระทำตามพระบัญญัติและพระประสงค์ของพระเจ้า   ย่อมสร้างความไม่พอใจแก่ประชากรของพระองค์   ต้องการที่จะเลือกผู้ที่จะมาปกครองเขาเองใหม่   เกิดการไม่ยอมรับและต่อต้านสิทธิอำนาจของผู้ปกครองอธรรม

ประการที่สอง  เมื่อผู้ปกครองที่พระเจ้าทรงเลือกกลับเป็นผู้นำผู้ปกครองที่บิดเบือน ฉ้อฉล เสียเอง  ย่อมทำให้ประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธา และ หลู่พระเกียรติของพระเจ้า  ทำให้ประชาชนปฏิเสธการปกครองของพระเจ้าที่ปกครองผ่านทางผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกและทรงใช้

ประการที่สาม  เมื่อประชาชนไม่พอใจผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกให้มาปกครองตนเอง  และต้องการมีสิทธิที่จะเลือกผู้ครองด้วยตนเองนั้น ประชาชนย่อมมีแนวโน้มที่จะเลือกแนวทางการดำเนินชีวิตตามกระแสสังคมรอบข้างมากกว่าที่จะยังคงยืนหยัดที่จะดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า  ที่มีพระเจ้าทรงเป็น “กษัตริย์” ในชีวิตของพวกเขา  ในเหตุการณ์ครั้งนี้เขาเลือกที่จะอยู่ในระบบการปกครองแบบกษัตริย์   ที่ให้มนุษย์มีอำนาจสูงสุดปกครองเหนือเขา (ข้อที่ 7;  19-20ถึงแม้ซามูลเอลชี้แจงให้ประชาชนเห็นถึงระบบกษัตริย์ในเวลานั้น  และ สิ่งที่กษัตริย์จะมีสิทธิอำนาจเหนือชีวิตและการดำเนินชีวิตของพวกเขาในทุกด้าน กษัตริย์ในระบบใหม่จะตักตวงผลประโยชน์จากชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นการปกครองที่อยุติธรรมในอีกระบบหนึ่งเพราะผู้ปกครอง แต่ประชาชนยังต้องการมีกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์มีอำนาจสูงสุดปกครองพวกเขา พวกเขาต้องการเลือกผู้ปกครองเขาด้วยตนเอง!

ประการสุดท้าย   ความจริงการปกครองที่ยุติธรรม  ชอบธรรม  และนำศานติสุขสู่ชีวิตของประชาชนนั้นมิได้อยู่ที่ระบบการปกครอง   แต่อยู่กับคุณภาพชีวิต  จิตใจ  จิตวิญญาณ และ ความถูกต้องชอบธรรมในการดำเนินชีวิตของผู้ทำการปกครองประชาชน  ไม่ว่าเขาจะอยู่ในระบบการปกครองใดก็ตาม

ถ้าองค์กรใด  ชุมชนใด  ที่ผู้นำผู้ปกครองทำตัวดำเนินชีวิตที่มีอิทธิพลอำนาจเหนือ “ระบบ” องค์กรนั้น ชุมชนนั้นก็ล่มจมฉิบหายเพราะผู้นำผู้ปกครองคนนั้น   แต่ถ้าองค์กรใด  ชุมชนใด ที่ผู้นำผู้ปกครองสัตย์ซื่อและมีคุณธรรมในการเกื้อหนุนและเสริมสร้างคุณค่าชีวิตและคุณธรรมของผู้ที่ตนปกป้อง ดูแล และปกครอง   ชุมชนนั้นแม้ในเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความทุกข์ยากลำบาก   คนในชุมชนนั้นจะร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวในการเสริมสร้างศานติสุขร่วมกันด้วยความชื่นชมยินดี

ประเด็นคำถามที่สำคัญคือ   แล้วผู้ที่ปกครองดูแลสุขทุกข์ของประชาชนด้วยความสัตย์ซื่อ ชอบธรรม  ยุติธรรมและถูกต้องนั้นเกิดขึ้นจากอะไร?   คำตอบจากพระวจนะของพระเจ้าคือ  ผู้นำผู้ปกครองที่พระเจ้าทรงเรียกและเลือกให้รับใช้กระทำพระราชกิจสานต่อจากพระราชกิจของพระเจ้า  และผู้ปกครองที่พระเจ้าทรงเลือกนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ถวายชีวิตให้พระองค์ทรงใช้ตามพระประสงค์ของพระองค์   และสัตย์ซื่อต่อการกระทำตามที่พระองค์ทรงเรียกให้กระทำนั้น   รักเมตตากรุณาและให้ความยุติธรรมหลั่งไหลออกมาดั่งน้ำแก่ประชาชนที่ตนดูแล   และที่สำคัญคือ ผู้นำคนนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นเอกเป็นใหญ่และเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิตของตน   มิใช่ยึดเกาะที่ตำแหน่งเพื่อไขว่คว้าควานหาผลประโยชน์ส่วนตน  และ การเสริมเพิ่มบารมีและอำนาจของตนเอง   ที่ทำให้ตนสามารถยืนหยัด “ปกครอง” (มีตำแหน่ง)ให้ยั่งยืนนานที่สุด!

ดังนั้น  สำหรับคริสตชนแล้ว   การที่จะมีผู้นำผู้ปกครองที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม  คุณภาพที่แท้จริงนั้น  ประการรากฐานสำคัญคือ ผู้นำผู้ปกครองคนนั้นต้องเชื่อและศรัทธา   สัตย์ซื่อต่อการทรงเรียกและทรงใช้ของพระเจ้า   และต้องใช้สิทธิอำนาจที่มีอยู่อย่างรับผิดชอบต่อพระประสงค์ของพระเจ้า  และ เอื้ออำนวยให้เกิดศานติสุขแก่ประชาชนที่ตนปกครอง    มิได้ขึ้นอยู่กับระบบการปกครอง หรือ ระบบการเมืองเป็นใหญ่

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ในวันนี้  พระเจ้าทรงเรียกและเลือกให้ท่านเป็นผู้ปกป้อง และ ปกครองใครบ้าง?  
2. ท่านมีมุมมองอย่างไรต่อความรับผิดชอบที่ต้องปกครองคนเหล่านั้นในวันนี้ว่า  การปกครองคือการที่เรามีสิทธิอำนาจที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ต่อคนเหล่านั้น  หรือ  เรามีมุมมองว่าการปกครองคือการปกป้อง  เอาใจใส่ชีวิต  และการทำงานของคนเหล่านั้น?   ทำไมท่านถึงคิดและเข้าใจเช่นนั้น?
3. ท่านคิดและมีความเข้าใจว่า “กษัตริย์” บนรากฐานแห่งความเชื่อศรัทธาของคริสตชน   กษัตริย์ควรมีคุณลักษณะ  และ  คุณธรรมในชีวิตแบบไหน?   และมีอะไรเป็นเป้าหมายปลายทางของการเป็นผู้นำหรือ “กษัตริย์”  ในบริบทสังคมหลากหลายในปัจจุบัน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 พฤศจิกายน 2555

ยืนหยัดเผชิญอุบายมาร


เอเฟซัส 6:10-14

“...จงเข้มแข็งขึ้นในองค์พระผู้เป็นเจ้า และ ในอานุภาพอันทรงพลังของพระองค์
     จงสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า เพื่อต่อสู้กับอุบายของมารได้
เพราะเราไม่ได้ต่อสู้กับเนื้อหนังและเลือด  
แต่ต่อสู้กับ...
ภูตผีที่ครอบครอง 
พวกภูตผีที่มีอำนาจ  
พวกภูตผีที่ครองพิภพในยุคมืดนี้  
(เรากำลัง)ต่อสู้กับพวกวิญญาณชั่วในสวรรคสถาน
เพราะเหตุนี้   จงสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้าไว้   เพื่อท่านจะสามารถต่อสู้ในวันชั่วร้ายนั้น   และเมื่อทำทุกอย่างแล้วจะยังยืนหยัดอยู่ได้
เพราะฉะนั้น จงยืนหยัดไว้  เอาความจริงคาดเอว  เอาความชอบธรรมเป็นเกราะป้องกันอก...”
(ฉบับมาตรฐาน)

ในชีวิตแต่ละวันผู้ที่เชื่อศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้าต่างต้องเผชิญหน้ากับการทดลองในชีวิต  ลองใช้เวลาสักนิดทบทวนย้อนหลังถึงเหตุการณ์ที่เราถูกดึงตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับการมีความคิดและชีวิตที่ไม่เป็นที่ชอบพระทัยของพระเจ้า   ในสถานการณ์นั้นในเหตุการณ์นั้นเราตระหนักหรือไม่ว่า “เรากำลังเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามชีวิตกับอำนาจชั่วร้ายของมาร” ?  เราตระหนักหรือไม่ว่า มารกำลังวางอุบายกับดักข้างหน้าของเรา?

พลังอำนาจชั่วร้ายของมารเป็นสิ่งที่มีจริงและเป็นจริง   แท้จริงแล้วมันเป็นพลังอำนาจที่ต้องการต่อสู้เอาชนะพลังอำนาจแห่งการสร้างสรรค์ของพระเจ้า   และอำนาจแห่งความชั่วร้ายนี้เองที่คิดเสมอว่ามันสามารถที่จะเอาชนะพลังอำนาจแห่งการสร้างสรรค์ของพระเจ้าได้

หลายท่านคงเกิดคำถามในใจว่า... 

แล้วสนามสงครามการสู้กันระหว่างอำนาจแห่งความชั่วร้ายของมาร กับ พลังอำนาจแห่งการสร้างสรรค์ของพระเจ้าเกิดขึ้นที่ไหน?  

สนามประลองยุทธ์ของสงครามยิ่งใหญ่นี้เกิดขึ้นในความคิด และ จิตใจของมนุษย์!  

มนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้าง  มนุษย์ผู้เป็นผู้ร่วมพระราชกิจกับพระเจ้าผู้สร้างสรรค์   

แต่พลังอำนาจชั่วร้ายของมารทำงานแย่งชิงมนุษย์ให้มีความคิดกบฏอย่างที่มันเป็นอยู่   และ
เมื่อมนุษย์ตกลงในหลุมพรางนี้แล้ว...  
จะมีความคิดที่ต้องการเป็นผู้มีอำนาจในตนเอง  
เป็นผู้ที่เทียบเท่า “เป็นเหมือน” พระเจ้า
มนุษย์ต้องการเป็นพระเจ้าเสียเอง  
มนุษย์จึงกบฏต่อการเป็นผู้ร่วมในพระราชกิจของพระเจ้า 
ต้องการเป็นเจ้าของพระราชกิจและจัดการตามใจปรารถนาของตนเอง  

ดังนั้น  ในพื้นที่ของความคิดและจิตใจมนุษย์จึงตกเป็นสนามสงครามแย่งชิงและประลองยุทธ์ของพลังอำนาจทั้งสอง

ท่านเคยตกลงใน “หลุมพราง” เช่นนี้ของมารหรือไม่?  
ในเหตุการณ์อะไร?  
เกิดผลเช่นไรในชีวิต?
แล้วผลที่เกิดขึ้นได้กระทบต่อชีวิตของท่านอย่างไรบ้าง?

สำหรับเปาโลแล้วท่านได้แบ่งปันประสบการณ์ชีวิตการเผชิญอุบายของมารไว้ว่า...
เราต้องมีชีวิตที่เข้มแข็ง  
มิใช่เข้มแข็ง “ในตนเอง”
แต่เข้มแข็ง “ในองค์พระผู้เป็นเจ้า”  

ประการแรก   เราต้องมีชีวิตภายใต้การครอบครอง การปกป้อง และพระประสงค์ของพระองค์   และสิ่งนี้จะเป็นอานุภาพที่ทรงพลังจากพระเจ้าที่ทำให้เรามีพลังชีวิตที่จะเผชิญหน้าและต่อสู้กับอุบายที่ล่อลวงของมารร้ายได้

ประการที่สอง   เราต้องตระหนักชัดว่า   อำนาจร้ายที่เรากำลังเผชิญต่อสู้นี้   มิใช่การต่อสู้ในด้านร่างกายเท่านั้น   แต่เรากำลังเผชิญหน้ากำลังพลังอำนาจชั่วที่ “ไร้รูป” ที่ยากจะเห็นด้วยตา  หรือ  จับต้องได้ด้วยมือของเรา   เปาโลบอกกับเราว่า   เป็นอำนาจชั่วร้ายที่ครอบคลุม  ครอบงำ  จิตสำนึก ความคิด  ความรู้  ความเข้าใจ  จิตใจ  และจิตวิญญาณของเรา   ซึ่งในอดีตในสังคมไทยเราใช้ภาพของ “วิญญาณชั่ว  ภูตผี  ปีศาจ”  ในการอธิบายอำนาจชั่วร้ายของมาร   ปัจจุบันก็มีผู้ใช้คำว่า  “วิชามาร”  อำนาจชั่วเหล่านี้มาเผชิญหน้าหลอกล่อเราในรูปแบบของ  ความรู้  ปัญญา  หลอกล่อด้วยผลประโยชน์ที่บอกว่าเราจะได้รับ   วางกับดักแห่งอำนาจที่หลอกล่อเราด้วยอำนาจที่เราจะมีในอนาคต   และมารเสนอคุณค่าที่จอมปลอมในชีวิตของเรา   นอกจากนั้นแล้วอำนาจชั่วร้ายยังแฝงเข้ามาในรูปของผลประโยชน์ทางการเมือง   บริโภคนิยม  เงินนิยม  และตัวกูนิยมอีกด้วยในยุคปัจจุบันนี้ด้วย

ประการที่สาม   เมื่อเราจำต้องเผชิญหน้ากับอำนาจชั่วร้ายของมารที่ประดังเข้าในชีวิตประจำวันของเราในหลากหลายรูปแบบ   เราจะต้องสวมพระวจนะของพระเจ้าเป็นเครื่องป้องกันจากอาวุธร้ายของมาร   เพื่อเราจะรอดปลอดภัยจากการหลอกล่อและการโจมตีของมาร   เราต้องสัตย์ซื่อต่อพระประสงค์ของพระเจ้าเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราจะมิได้หลงทิศผิดทาง   และสำนึกเสมอว่า  ทุกสิ่งที่เรากระทำในชีวิตประจำวัน  ไม่ว่าชีวิตในครอบครัว  อาชีพการงาน  หรือในสังคมชุมชน   รวมถึงในชุมชนคริสตจักร  เรากระทำทุกอย่างในชีวิตเพื่อถวายพระเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า   มีพระองค์เป็นผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดในชีวิตที่เราเป็นอยู่   มิใช่ใครคนอื่น หรือ ตัวเราเอง

สิ่งที่อันตรายมากคือ   ในชีวิตประจำวันของคริสตชนส่วนมากไม่ค่อยรู้เท่าทันและสำนึกว่า   ชีวิตต้องเผชิญกับอุบายหลอกล่อของมาร   แต่กลับมองกับดักของมารว่า  เป็น “โอกาส” ที่ตนจะมีความสุข  ก้าวหน้า  มีตำแหน่ง  มีอำนาจ  เป็น “โอกาส” เพิ่มคุณค่าสำหรับตน  และมักรีบฉกฉวยเข้ามาในชีวิตของตน   โดยมิได้รู้เท่าทันว่า  ตนได้ฮุบและกลืนเอา “เหยื่อที่หุ้มเบ็ด” ของอำนาจแห่งความชั่วร้ายเข้าไปในชีวิตของตนเสียแล้ว!

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ในทุกวันนี้  ท่านต้องเผชิญหน้ากับ “อุบายมาร”  ที่หลอกล่อในที่ทำงานของท่าน  ในสังคมชุมชน  ในคริสตจักร  และในครอบครัวในรูปแบบไหนบ้าง?
2. แล้วท่านจะตระหนักรู้เท่าทันว่าสถานการณ์นั้นเป็น “อุบายมาร” ได้อย่างไร?
3. ทำอย่างไรที่ท่านจะไม่เผลองับ “เหยื่อที่หุ้มเบ็ด” ของอำนาจบาปชั่วกลืนเข้าไปในชีวิตของท่าน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

Albert Schweitzer มิชชันนารีและแพทย์ผู้พิชิตโนเบลสันติภาพ

โดย สุทัศน์ ยกส้าน           23 พฤศจิกายน 2555 10:53 น.      

ช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 3-4 กันยายน ค.ศ.1965 Albert Schweitzer วัย 90 ผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1962 ได้ถึงแก่กรรม หลังจากที่ตกอยู่ในสภาพโคม่านานหนึ่งสัปดาห์ ที่โรงพยาบาลแห่งเมือง Lambaréné ในประเทศ Gabon ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแอฟริกา แม้ญาติจะมิได้ประกาศแถลงข่าวใดๆ แต่ทุกคนก็ทราบ และตระหนักว่าการจากไปของ Schweitzer เป็นการสูญเสียบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก

Schweitzer นอกจากจะมีอาชีพเป็นแพทย์แล้ว ยังเป็นนักปรัชญา นักดนตรีผู้เชี่ยวชาญการเล่นออร์แกน และหมอสอนศาสนาผู้ชำนาญการแปลความหมายของคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลด้วย

Albert Schweitzer เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ.1875 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระปิยมหาราช) ที่เมือง Keyserberg (ปัจจุบันคือเมือง Haut – Rhin ในฝรั่งเศสในแคว้น Alsace – Lorraine ของเยอรมนี) และใช้ชีวิตในวัยเด็กที่หมู่บ้าน Gunsbach เมื่อเติบใหญ่ได้ไปศึกษาที่โรงเรียนชื่อ Mulhouse จนสำเร็จระดับมัธยมศึกษาเมื่ออายุ 18 ปี จากนั้นได้ทุ่มเทชีวิตศึกษาวิธีเล่นออร์แกนกับ Eugéne Munch ผู้เป็นนักดนตรีผู้มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลกเป็นเวลานานถึง 8 ปี จนมีความเชี่ยวชาญในการเล่นดนตรีของ Bach และ Wagner แล้วไปเรียนวิชาเทววิทยาต่อที่มหาวิทยาลัย Kaiser Wilhelm แห่งเมือง Strassburg

ในปี 1898 Schweitzer วัย 23 ปี ได้เดินทางไปปารีส เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง “The Religious Philosophy of Kant” ที่มหาวิทยาลัย Sorbonne แล้วนำกลับมาตีพิมพ์เป็นวิทยานิพนธ์เพื่อขอรับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Tubingen ในปีต่อมา

โลกเริ่มรู้จัก Schweitzer ในฐานะนักวิชาดนตรี และนักเล่นออร์แกนที่มีความสามารถมาก เพราะเป็นคนที่สามารถเข้าใจดนตรีของ Bach ได้อย่างดียิ่งจนสามารถแปลความหมายของจังหวะ และเนื้อหาทุกตอนในเพลงในแง่ของศาสนาได้ลึกซึ้ง จึงได้ร่วมกับเพื่อนฝูงในการจัดตั้งสมาคม Bach Society ขึ้นที่ปารีส เพื่อเล่นเพลงของ Bach เป็นประจำ

ในปี 1905 Schweitzer วัย 30 ปี ได้ไปสมัครงานที่ “The Society of the Evangelist Missions of Paris” ซึ่งเป็นองค์กรที่ต้องการส่งแพทย์ไปเผยแพร่คริสต์ศาสนาในต่างแดน ทั้งๆ ที่ตัว Schweitzer เองไม่มีความรู้แพทย์ศาสตร์เลย ดังนั้นสมาคมจึงปฏิเสธ แต่ Schweitzer เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นมาก จึงตัดสินใจว่าจะต้องเป็นแพทย์ให้จงได้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือคนไข้ที่ยากไร้ในแอฟริกาและเผยแพร่คริสตศาสนาด้วย จึงได้ไปสมัครเรียนแพทย์ ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนอีก 7 ปี ท่ามกลางเสียงคัดค้านของบรรดาญาติและเพื่อนๆ

ในที่สุด Schweitzer ก็สำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง “The Psychiatric Study of Jesus” และเริ่มอาชีพเป็นแพทย์อย่างสมศักดิ์ศรีในปี 1911 ลุถึงเดือนมิถุนายนในปีต่อมา Schweitzer ได้เข้าพิธีสมรสกับ Helene Bresslau ผู้มีอาชีพเป็นนางพยาบาล แล้วได้ย้อนกลับไปที่สมาคมมิชชันนารีเดิม เพื่อสมัครขอไปเป็นแพทย์ที่เมือง Lambaréné ในแอฟริกา คราวนี้สมาคมตอบรับ

ในวันที่ออกเดินทาง เพื่อนๆ ได้มอบเปียโนให้ Schweitzer ใช้เล่นในยามเหงา โดยบรรทุกในเรือ เพื่อไปเป็นแพทย์มิชชันนารีที่หมู่บ้าน Lambaréné ซึ่งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำ Ogooué ประมาณ 320 กิโลเมตร ขบวนเดินทางต้องใช้เวลานานถึง 14 วัน จึงถึงจุดหมายปลายทาง

ในช่วงเวลา 9 เดือนแรกของการทำงานที่โรงพยาบาล Schweitzer กับภรรยาได้รักษาพยาบาลคนไข้ประมาณ 2,000 คน ชาวบ้านหลายคนต้องเดินเท้ามาจากถิ่นไกลเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร บางคนกำลังป่วยเป็นโรคร้ายแรงนานาชนิด เช่น บิด มาลาเรีย โรคง่วงหลับ โรคเรื้อน เนื้องอก บาดทะยัก เนื้อตาย ไส้เลื่อน ฯลฯ บางคนถูกวางยาพิษ ภรรยาของ Schweitzer มีหน้าที่ฉีดยาชาให้คนไข้ ส่วน Schweitzer มีหน้าที่ผ่าตัด สำหรับยาสลบที่ใช้ในการผ่าตัดได้แก่ มอร์ฟีน และคลอโรฟอร์ม ในส่วนของห้องผ่าตัดนั้น Schweitzer ได้ดัดแปลงจากเล้าไก่ และเพื่อให้โรงพยาบาลมีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ Schweitzer ได้สร้างห้องจ่ายยา ห้องรักษาพยาบาล และห้องพักสำหรับคนไข้ด้วย โดยตัว Schweitzer กับภรรยาได้แยกไปพักในบังกะโลขนาดเล็ก ครั้นเมื่อคนไข้ที่ต้องได้รับการดูแลรักษามีจำนวนมากขึ้น Schweitzer จึงมอบให้ญาติของคนไข้ทำหน้าที่ดูแลแทน เพราะเขาคิดว่า สมาชิกในครอบครัวจะดูแลคนไข้ได้ดีที่สุด ดังนั้นในบริเวณรอบโรงพยาบาล จึงมีอาคารสำหรับให้ญาติผู้ป่วยได้พักแรมด้วย โรงพยาบาล Lambaréné จึงมีสภาพเหมือนหมู่บ้านที่มีทั้งเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ และสัตว์เลี้ยงวิ่งเล่นและเดินเล่นตลอดเวลา

Schweitzer นั้นมีความรู้สึกผูกพันกับคนไข้แอฟริกันผู้ยากไร้มาก เขามักพูดกับคนไข้เสมอว่า ผมเป็นญาติผู้ใหญ่ของคุณแม้สังคมภายนอกจะดูแคลนในความโบราณล้าหลังของโรงพยาบาลที่ Lambaréné สักเพียงใด Schweitzer ก็ไม่เคยสนใจในคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น เพราะรู้แก่ใจว่า เขาต้องการช่วยเหลือคนเหล่านี้ เพื่อลบล้างบาปที่คนผิวขาวในอดีตได้เคยล่าจับชาวพื้นเมืองจำนวนมากไปเป็นทาส ดังนั้นการได้มาทำงานในแอฟริกาของ Schweitzer จึงเปรียบเสมือนการแก้กรรม (ที่คนอื่นกระทำ)

เมื่อคนไข้มีจำนวนเพิ่มขึ้นๆ Schweitzer เห็นความจำเป็นที่เขาจะต้องมีโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะไม่ต้องการให้โรงพยาบาลปฏิเสธคนไข้โดยให้เหตุผลว่า มีเตียงจำนวนไม่เพียงพอ Schweitzer ได้รับความช่วยเหลือในการก่อสร้างโรงพยาบาลจากองค์กรหลายแห่งในฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งศรัทธาในเจตนารมณ์ที่ดีของ Schweitzer กับภรรยา

ในฤดูร้อนของปี 1914 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 Schweitzer กับภรรยาในฐานะที่เป็นชาวเยอรมัน แต่กำลังทำงานในประเทศที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จึงถูกทหารฝรั่งเศสกักบริเวณ แต่ Schweitzer ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปที่ Lambaréné เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยใช้เวลาว่างเขียนหนังสือชื่อ “The Philosophy of Civilization” จากความรู้สึกสลดใจที่มนุษย์ต้องมารบราฆ่าฟันกัน นี่เป็นหนังสือที่ดีที่สุดจากปลายปากกาของ Schweitzer โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับปรัชญาของอารยธรรมมนุษย์ เมื่อเวลาผ่านไปอีก 4 ปี Schweitzer และภรรยาได้ล้มป่วยเป็นโรคโลหิตจาง จึงถูกนำตัวกลับฝรั่งเศสเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล Bordeaux แล้วถูกส่งไปเก็บตัวในค่ายเชลยที่เมือง Gavraison ซึ่งตั้งอยู่ในแถบเทือกเขา Pyrenees จากนั้นได้ถูกส่งไปกักตัวที่โรงพยาบาล Saint-Remy ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของฝรั่งเศส และเป็นโรงพยาบาลเดียวกับที่ Vincent van Gogh ได้เคยเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าก่อนฆ่าตัวตายในเดือนกรกฎาคมของปี 1918 หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพราะบิดามารดาของ Schweitzer ได้โอนสัญชาติเป็นชาวฝรั่งเศสแล้ว ดังนั้นลูกชายซึ่งเดิมเป็นคนเยอรมันก็ได้กลายเป็นคนฝรั่งเศสไปในทันที ในปี 1919 Schweitzer ได้ทายาทเป็นลูกสาวชื่อ Rhena

จากนั้น Schweitzer ก็ได้เริ่มทำงานหาเงินมาสร้างอาคาร และซื้ออุปกรณ์แพทย์เพิ่มเติม ให้โรงพยาบาลที่ Lambaréné โดยได้เล่นดนตรีออร์แกนการกุศล เพราะ Schweitzer รู้ดีว่า วันใดที่ตายการหาทุนเพิ่มเติมจะมีปัญหาทันที ในปี 1922 Schweitzer ได้เดินทางไปบรรยายที่มหาวิทยาลัย Oxford และเขียนหนังสือ 2 เล่ม ชื่อ “Decay and Restoration of Civilization” กับ “Civilization and Ethics”

Schweitzer เป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง แต่ภรรยาเป็นคนที่มีร่างกายบอบบาง เพราะในวัยเด็กเธอเคยป่วยเป็นวัณโรค และเมื่อต้องตกอยู่ในสถานกักกันเป็นเวลานาน วัณโรคร้ายได้หวนกลับมาคุกคามเธออีก จนเธอไม่อยู่ในสภาพที่จะเดินทางไปช่วยสามีที่ Lambaréné ได้อีกต่อไป Schweitzer จึงสร้างบ้านให้เธอพำนักอยู่กับลูกสาวที่ Konigsfeld ใน Black Forest

ดังนั้น ในปี 1924 ที่ Schweitzer เดินทางกลับ Lambaréné เขาจึงไม่มีภรรยา Helene อยู่เคียงข้าง แต่มีบุคคลอื่นอีกหลายคนที่เข้าร่วมขบวนซึ่งได้แก่ เจ้าหน้าที่พยาบาล แพทย์ และนางพยาบาล นอกจากนี้ Schweitzer ยังได้นำยารักษาโรค เช่น salvarsan สำหรับรักษาโรคแผลในกระเพาะ และยา trypassamide ที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคไข้ง่วงหลับไปด้วย ในช่วงเวลานี้โรงพยาบาลได้มีการสร้างอาคารดูแลคนไข้เพิ่มเติมอีกหลายหลังด้วย

ในช่วงปี 1927–1929 Schweitzer ได้เดินทางไปยุโรปเพื่อระดมทุน และขอความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ โดยทิ้งให้ผู้บริหารโรงพยาบาลที่ Lambaréné ทำงานอย่างอิสระ โดยไม่มีใครควบคุม

ในปี 1933 เมื่อ Hitler เรืองอำนาจ ภรรยาและลูกสาวของ Schweitzer ได้อพยพหลบหนีไปพำนักที่สวิสเซอร์แลนด์จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติ จึงกลับบ้านที่ Black Foerst อีก และภรรยาได้เดินทางไปแวะเยี่ยมสามีเป็นเวลาสั้นๆ หลายครั้ง และบอกว่ารู้สึกเสียใจที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานพยาบาลช่วยสามีที่เธอเคยทำได้ดีในสมัยหนึ่ง

การเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองได้ทำให้ Schweitzer ไม่สามารถเดินทางไปยุโรป จึงมีเวลาครุ่นคิดเรื่องสาเหตุที่ทำให้เกิดสงคราม และวิธีที่จะยุติสงคราม จนในที่สุดเขาก็ได้ความคิดเรื่อง “Reverence for Life” (การนับถือชีวิตว่าเป็นสิ่งมีค่าที่ศักดิ์สิทธิ์) จากการได้เห็นว่าความดีและการช่วยเหลือกันจะทำให้ทุกชีวิตมีความสุข แต่สงครามและความชั่วร้ายจะทำให้ทุกคนทุกข์ ดังนั้น Schweitzer จึงคิดว่า “Reverence for Life” เป็นความคิดรากฐานของสันติภาพ และเป็นปรัชญาส่วนตัวที่ Schweitzer ใช้ในการดำรงชีวิต

หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีบุคคลสำคัญของโลก ทั้งนักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ นักประพันธ์ และนักท่องเที่ยว ฯลฯ เดินทางมาเยี่ยมชมโรงพยาบาล Lambaréné และ Schweitzer ก็ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โดยนำแขกไปเดินเยี่ยมคนไข้ด้วยตนเอง อีกทั้งได้ถ่ายรูปร่วมกับบุคคลเหล่านั้นด้วย

ในปี 1952 Schweitzer ได้ทราบข่าวว่าเขาคือผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งเป็นข่าวที่ทำให้คนทั้งโลกรู้สึกยินดี และไม่มีใครไม่เห็นด้วยซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะแทบทุกครั้งที่มีการให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มักมีคนไม่เห็นด้วยมากมาย บ้างก็ต่อต้าน แต่บรรดาคนไข้ของ Schweitzer ในขณะนั้นไม่มีใครตระหนักในความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของรางวัลนี้ Schweitzer ได้ใช้เงินรางวัลโนเบลเพื่อสร้างอาคารที่พักและรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อน

เมื่ออายุมากขึ้น สังขารที่โรยราได้ทำให้ Schweitzer ไม่สามารถทำการผ่าตัดคนไข้ได้อีกต่อไป เมื่อถึงช่วงห้าปีสุดท้ายของชีวิต บุตรสาวชื่อ Rhena ซึ่งแต่งงานกับ David Miller ได้เดินทางมาช่วยบิดา หลังจากที่มารดาของเธอได้เสียชีวิตในปี 1957 ในบทบาทที่เป็นนักเทคนิคการแพทย์เธอได้พบว่า การทำงานร่วมกันของเธอกับพ่อไม่ราบรื่นเลย เพราะพ่อเป็นคนที่เธอเดาใจ และเอาใจยาก แม้ Schweitzer จะเป็นคนโกรธง่าย แต่ก็หายเร็ว คนทั้งสองมีความคิดเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับการทำงานของบุคลากรที่โรงพยาบาล Lambaréné บ่อย แต่ Rhena ก็รู้ว่าเธอต้องทำใจและต้องยอมรับว่า ในเวลากลางวัน เธอเป็นเพียงลูกจ้างที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของ Dr.Schweitzer แต่ในเวลากลางคืน Schweitzer คือพ่อของเธอ ครั้นเมื่อเธอเสนอแนะให้ Schweitzer ปรับเปลี่ยนระบบทำงานในโรงพยาบาลให้ทันสมัยขึ้น Schweitzer ได้นั่งฟังเธอพูดจนจบ แล้วบอกว่า แกทำทุกอย่างที่แกพูดได้ เมื่อฉันตายไปแล้ว

สำหรับบทบาทของความเป็นพ่อนั้น เพราะ Schweitzer เริ่มเป็นพ่อเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 44 ปีซึ่งเป็นวัยที่ค่อนข้างมาก อายุที่ต่างกับลูกมากจึงเป็นอุปสรรคหนึ่งในการแสดงความรู้สึกให้ลูกเห็น แต่ Schweitzer เขาก็ได้พยายาม เช่น เวลาเขียนจดหมาย Schweitzer มักเล่าเรื่องสัตว์ต่างๆ ทั้งในบริเวณรอบโรงพยาบาล และในสถานที่ที่ห่างไกล กระนั้นความใกล้ชิดระหว่าง Schweitzer กับลูกสาวก็ยังไม่มี

สำหรับงานอดิเรกนั้น Schweitzer สนใจการสร้างเครื่องดนตรีออร์แกน และมีความรู้เรื่องนี้ดีถึงระดับสามารถเขียนเป็นตำราได้ อีกทั้งยังสามารถเข้าใจความหมายของดนตรีของคีตกวี Bach ได้อย่างซาบซึ้ง ดังนั้น เวลามีแขกต่างชาติมาเยี่ยมที่ Lambaréné Schweitzer ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็จะเล่นเพลงของ Bach ให้แขกฟัง โดยมีเสียงกบ เสียงจิ้งหรีด และเสียงกลองจากหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ เป็นเสียงประกอบ ซึ่งเมื่อฟังเสียงทั้งหมดพร้อมกันจะได้บรรยากาศที่ไม่สามารถหาฟังได้จากสถานที่ใดในโลก

หลังจากที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแล้ว Schweitzer รู้สึกว่าตนมีความรับผิดชอบที่ต้องต่อต้านสงครามด้วย ดังนั้นในปี 1957 Schweitzer จึงปราศรัยทางวิทยุส่งกระจายเสียงไปทั่วโลก และได้กล่าวเตือนภัยสงครามนิวเคลียร์ อีกทั้งได้เดินทางไปพบ Albert Einstein, Otto Hahn และ Bertrand Russell เพื่อออกแถลงการณ์ร่วมกันต่อต้านการทดลองระเบิดปรมาณูของประเทศมหาอำนาจด้วย

เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้จะมาถึง Schweitzer ได้ปรารภว่ารู้สึกเสียใจที่มหาอำนาจของโลกยังมีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ต่อไปอีก และคิดว่าจะต้องขอร้องผู้นำประเทศมหาอำนาจต่างๆ เป็นการส่วนตัว ทว่าร่างกายได้อ่อนแอลงมากแล้ว และนี่เป็นงานชิ้นหนึ่งที่ Schweitzer ตั้งใจจะทำ แต่ไม่ได้ทำ chweitzer เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ.1965 ที่เมือง Lambaréné ในประเทศ Gabon สิริอายุ 90 ปี ศพถูกนำไปฝังที่ฝั่งของแม่น้ำ Ogooué และที่หลุมฝังศพมีไม้กางเขนที่ Schweitzer ทำเองปักอยู่

ในสายตาของชาวโลก Schweitzer เป็นทั้งมิชชันนารีและแพทย์ผู้ได้อุทิศชีวิตเพื่อผู้ยากไร้ในดินแดนที่แร้นแค้น และอันตราย เขาทำงานด้วยปณิธานที่แน่วแน่ เพราะเป็นคนที่มีความคาดหวังในตนเองสูง และบางครั้งความมุ่งมั่นนี้ก็ได้สร้างความอึดอัดให้คนรอบข้าง แต่ทุกคนก็ต้องยอมรับว่า Schweitzer เป็นคนน่าสนใจ มีชีวิตชีวา กระปรี้กระเปร่า และมีเสน่ห์ระดับสุดยอดคนหนึ่งของโลก

นอกจากจะได้รับรางวัลโนเบลแล้ว Schweitzer ยังได้รับเกียรติยศอีกมากมายเช่น เกียรติ Order of Merit จากสมเด็จพระราชินี Elizabeth ที่ 2 แห่งอังกฤษด้วย

ณ วันนี้ที่อเมริกามีเครือข่าย Schweitzer Fellows for Life ที่จัดส่งนักศึกษาแพทย์ที่กำลังเรียนปีสุดท้ายไปโรงพยาบาล Lambaréné เพื่อฝึกงานเป็นเวลา 3 เดือน

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2011 ที่เพิ่งผ่านมานี้ได้มีการมอบรางวัล International Albert Schweitzer Prize เป็นครั้งแรกโดยให้แก่ Eugen Drewermann, Rolf Maibach กับ ภรรยา Raphaela ที่ Konigfeld ใน Schwazwald ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Schweitzer และปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ Albert Schweitzer

สำหรับมรดกทางความคิดของ Schweitzer นั้น ในความเห็นของ Schweitzer เอง เขาคิดว่าจริยธรรมเรื่อง “Reverence for Life” เป็นมรดกทางความคิดที่สำคัญที่สุด และทุกชุมชนควรมีโรงพยาบาล Lambaréné ของตนเอง

อ่านเพิ่มเติมจาก Famous Humanitarians โดย William Oliver Stevens จัดพิมพ์โดย Dodd, Mead and Company ปี 1953

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน - ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000142385

23 พฤศจิกายน 2555

สิ่งที่สำคัญกว่า...


สิ่งที่มีความสำคัญไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เราสามารถจับต้อง สัมผัส หรือพิสูจน์ได้เท่านั้น   สำหรับความเชื่อของคริสตชนแล้ว   สิ่งที่เที่ยงแท้  แน่นอน  และยั่งยืนกลับเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะมองเห็นด้วยตา  และสัมผัสด้วยกาย   หรือพิสูจน์ด้วยเหตุผลและความคิดของเราเสมอไป   แต่สัจจะความจริงดังกล่าวคริสตชนรับด้วยความเชื่อศรัทธา   และที่สำคัญเราพบว่า สัจจะความจริงเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตและสรรพสิ่งในระยะยาวและยั่งยืน

พระธรรม 1ยอห์น 2:15-17 กล่าวไว้ว่า

“อย่ารักโลก หรือ สิ่งใดๆ ในโลก  ถ้าผู้ใดรักโลก  ความรักของพระบิดาก็ไม่ได้อยู่ในผู้นั้น   เพราะทุกสิ่งในโลกไม่ว่าจะเป็นตัณหาของเนื้อหนัง  ตัณหาของตา  และความทะนงในสิ่งที่ตนมีหรือทำ   ไม่ได้มาจากพระบิดาแต่มาจากโลก   โลกกับความปรารถนาต่างๆ ของโลกก็ล่วงไป   แต่ผู้ที่ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าดำรงอยู่ตลอดกาล” (อมตธรรม)

ในข้อที่ 16 ของพระธรรมข้างต้นที่กล่าวถึง 3 สิ่งที่เป็นของโลกนี้   ซึ่งเป็นสิ่งที่พระคัมภีร์บอกกับคริสตชนว่าไม่ควรรัก  หลงใหล  และรับใช้ในสิ่งทั้งสาม คือ
1.     ตัณหาของเนื้อหนัง
2.     ตัณหาของตา  และ
3.     ความทะนงในสิ่งที่ตนมี(ลาภ ยศ สรรเสริญ)และกระทำ
ทั้งสามสิ่งนี้เป็นของในโลกนี้ที่ได้มาแล้วก็จะหมดสิ้นไป   เป็นของโลกนี้ที่ไม่คงทนยั่งยืน   แต่การประพฤติตามพระทัยและพระประสงค์ของพระเจ้านั้นเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้  มั่นคง  และยืนยง

ภายหลังที่พระเยซูอดอาหารได้  40 วัน 40 คืน   มารมาทดลองพระเยซู   โดยใช้ 3 สิ่งข้างต้นในการทดลองพระองค์   พระเยซูคริสต์ตอบโต้การทดลองของมารด้วยพระวจนะของพระเจ้า

ตัณหาของเนื้อหนัง

“จากนั้นพระวิญญาณทรงนำพระเยซูไปยังถิ่นทุรกันดารเพื่อให้มารทดลอง  หลังจากอดอาหารสี่สิบวันสี่สิบคืนแล้ว  พระเยซูทรงหิว   มารผู้ทดลองได้มาหาพระองค์และทูลว่า ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า  จงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้กลายเป็นขนมปัง” (มัทธิว 4:1-4 อมตธรรม)

ตอนนั้นพระเยซูหิวอย่างแน่นอนครับ  เพราะอดอาหารมานานถึง 40 วัน   มารเสนอสิ่งที่ตอบสนองต่อความต้องการของพระเยซูว่า   ถ้าพระองค์เป็นบุตรของพระเจ้าก็ให้สั่งก้อนหินที่มีมากมายในถิ่นทุรกันดารให้เป็นขนมปังเพื่อที่จะแก้ปัญหาความหิวโหยของพระองค์  

พระเยซูรู้และมั่นใจว่าพระองค์สั่งก้อนหินให้เป็นขนมปังได้อย่างแน่นอน   แต่พระองค์ก็รู้ด้วยว่านี่มิใช่พระประสงค์ของพระเจ้าที่จะใช้ฤทธิ์อำนาจจากพระบิดาเพื่อปรนเปรอความสุขความต้องการส่วนตัวของพระองค์   และการที่ใช้ของประทานจากพระเจ้าโดยมิได้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้าย่อมไม่เกิดพระพร   ยิ่งกว่านั้นจะเป็นการใช้ของประทานจากพระเจ้าเพื่อตอบสนองตัณหาเนื้อหนังของตนมากกว่า

ดังนั้น   พระองค์ตอบโต้มารว่า 
“...มนุษย์ไม่อาจดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียว  
 แต่(ต้อง)ดำรงชีวิตด้วยทุกถ้อยคำจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (ข้อ 4)

พระวจนะของพระเจ้าย่อมมีความสำคัญกว่าขนมปัง หรือ อาหารที่เรารับประทานในแต่ละวัน   พระวจนะของพระเจ้านั้นหล่อเลี้ยงให้เรามีชีวิต  ทำให้เรายังมีชีวิตอยู่   และพระวจนะของพระเจ้าค้ำจุนหนุนเสริมให้กำลังในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเรา

ตัณหาของตา

แล้วมารนำพระองค์ไปยังนครบริสุทธิ์  และให้พระองค์ประทับยืนที่จุดสูงสุดของพระวิหาร แล้วทูลว่า  “ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้าจงกระโดดลงไปเถิด   เพราะมีคำเขียนว่า
พระองค์จะทรงบัญชาทูตสวรรค์ของพระองค์ให้ดูแลท่าน
ทูตเหล่านั้นจะยื่นมือประคองท่าน   เพื่อไม่ให้เท้าของท่านกระทบหิน
พระเยซูตรัสตอบมารว่า  “มีคำเขียนไว้เช่นกันว่า  อย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน” 
(มัทธิว 4:5-7 อมตธรรม)

มารได้ใช้กลยุทธ์หลอกล่อพระเยซู  ที่ร่างกายกำลังอยู่ในที่สภาพที่อ่อนกำลัง  อ่อนเพลีย  เพราะไม่ได้รับประทานอาหารมาเป็นเวลานาน    มารได้ท้าทายให้พระเยซูคริสต์กระโดดลงจากที่สูงสุดที่พระองค์ยืนอยู่  แล้วอ้างพระคัมภีร์เลียนแบบที่พระเยซูคริสต์อ้างมาก่อนหน้านี้ว่า   พระเจ้าจะทรงบัญชาให้เหล่าทูตสวรรค์มาประคองพระองค์ไว้  เพื่อไม่ให้เท้าของพระเยซูกระทบหิน

แต่พระเยซูคริสต์ทรงรู้เท่าทันกลโกงหลอกลวงของมาร   พระเจ้าทรงเอาใจใส่และปกป้องผู้ที่เชื่อในพระองค์อย่างแน่นอน   แม้ชีวิตของผู้เชื่อในพระองค์จะตกลงในสภาพที่เลวร้ายอันตรายปานใดก็ตาม   พระองค์ก็จะทรงปกป้องคนที่เชื่อวางใจในพระเจ้าแน่    แต่การที่มารท้าทายให้พระองค์กระโดดลงไปจากจุดสูงสุดของพระวิหารนั้น   พระเยซูคริสต์มิได้มีชีวิตที่ตกอยู่ในอันตราย   แต่เป็นการทดลองว่าพระเจ้าจะปกป้องพระเยซูคริสต์ตามพระสัญญาในพระวจนะหรือไม่ถ้าพระองค์กระโดดลงไป   พระเยซูคริสต์รู้เท่าทันว่า ถ้ากระทำตามคำท้าทายมิใช่เป็นการวางใจในพระเจ้า   แต่เป็นการทดลองพระเจ้าว่าพระเจ้าจะปกป้องได้หรือไม่

ประการที่สอง  การกระโดดลงจากยอดสูงพระวิหารเป็นการสำแดงถึงฤทธิ์เดชของพระเยซูให้ประชาชนได้เห็นด้วยตาของพวกเขาเอง   เพื่อประชาชนจะได้เชื่อ ศรัทธา ว่าพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า   และนี่เป็นการหลอกล่อของมารที่จะให้พระเยซูสร้างความเชื่อศรัทธาด้วย “ตัณหาทางตา”  ซึ่งความเชื่อนี้จะไม่ยั่งยืน   เพราะเป็นการสร้างความเชื่อบนรากฐาน “ประชานิยม” ที่มีวันเสื่อมคลายไป

ดังนั้น พระเยซูคริสต์จึงทรงตอบโต้มารกลับไปว่า  “มีคำเขียนไว้เช่นกันว่า อย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้าของท่าน”   พระเยซูคริสต์ทรงเชื่ออย่างมั่นใจว่า  พระบิดาจะทรงรักษาพระสัญญาของพระองค์   พระองค์ไม่จำเป็นจะต้องเห็นด้วยตาถึงจะเชื่อในการทรงรักษาพระสัญญาของพระบิดา   ตัณหาของตาคือความปรารถนาที่ต้องการเห็นบางสิ่งบางอย่าง   ตัณหาของตาปรารถนาที่จะเห็นว่า  “พระเจ้าทรงกระทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้หรือไม่”   เหมือนอย่างที่กษัตริย์เฮโรดอยากจะเห็นพระเยซูกระทำการอัศจรรย์ต่อหน้าตนเอง  ตามเสียงเล่าเสียงลือที่ได้ยินมา   ว่าพระเยซูทำการอัศจรรย์ได้จริงหรือไม่    แต่พระเยซูคริสต์ไม่ยอมกระทำตามที่เฮโรดต้องการ   แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าพระเยซูไม่สามารถทำการอัศจรรย์

ประเด็นสำคัญในประการที่สองนี้คือ   เราดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า  ไม่ใช่เพราะเราได้เห็นว่าเป็นจริง หรือ เราพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง   ทุกวันนี้เราดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อศรัทธาและไว้วางใจพระเจ้าแม้ไม่สามารถมองเห็นหรือพิสูจน์ได้ก็ตาม

ทะนงตนในสิ่งที่ตนมีและกระทำ

อีกครั้งหนึ่งมารได้นำพระองค์มายังภูเขาที่สูงมาก   แล้วแสดงอาณาจักรทั้งปวงของโลกกับความโอ่อ่าตระการของอาณาจักรเหล่านั้นให้พระองค์ทอดพระเนตร   แล้วทูลว่า  “ทั้งหมดนี้เราจะยกให้ท่านหากท่านกราบนมัสการเรา”
พระเยซูตรัสว่า “เจ้าซาตาน  จงไปให้พ้น   เพราะมีคำเขียนไว้ว่า จงนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านและปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว
แล้วมารก็ละพระองค์ไปแล้วเหล่าทูตสวรรค์มาปรนนิบัติพระองค์  
(มัทธิว 4:8-11 อมตธรรม)

ในครั้งนี้  มารพยายามด้วยการเอาเป้าหมายและความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในการเสด็จมาในโลกนี้ของพระคริสต์มาหลอกล่อ   โดยการให้สำเร็จเป้าหมายด้วยวิธีการที่ง่ายดายกว่าการที่พระเยซูคริสต์จะกระทำพระราชกิจตามแผนการ ขั้นตอน  และพระประสงค์ของพระบิดา   เพียงพระเยซูจะเปลี่ยนจากการที่มีพระบิดาเป็นเอกเป็นต้นในชีวิตของพระองค์มาเป็นการทำตามกระแสนิยมแห่งสังคมโลกภายใต้อำนาจของมาร   พระองค์ก็จะประสบกับความสำเร็จในชีวิต  และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่พระองค์จะได้รับ และ สามารถกระทำได้   เพียงยอมทำตามกระแสนิยมของโลกนี้   พระองค์ก็จะได้ครอบครองอาณาจักรแห่งโลกนี้   ได้รับเกียรติยศ  ชื่อเสียง

แต่สำหรับพระเยซูคริสต์  เป้าหมายปลายทางและความสำเร็จในชีวิตของพระองค์มิใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของพระองค์   สิ่งที่สำคัญสูงสุดในชีวิตของพระองค์คือการที่มีองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นเอกสูงสุดในชีวิตของพระองค์   ชีวิตของพระองค์จะเทิดทูนองค์พระผู้เป็นเจ้าไว้สูงสุดในชีวิต  นั่นคือพระเยซูจะนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่ผู้เดียว   พระองค์จะไม่ยอมก้มกราบอำนาจอื่นใดเพียงเพื่อให้เป้าประสงค์ของพระองค์ประสบความสำเร็จ   พระองค์จะไม่ยอมรับใช้อำนาจอื่นใดเพียงเพื่อตนจะได้เป็นใหญ่ในโลกนี้   เพราะการก้มกราบสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากองค์พระผู้เป็นเจ้านั่นเป็นการ “ไหว้รูปเคารพ” ไม่ว่าจะเป็น  อำนาจ  ทรัพย์สิน  เงินทอง  เกียรติยศ  ชื่อเสียง  และความสำเร็จในชีวิต หรือแม้กระทั่งการกราบไหว้ตนเอง

ประการที่สาม   สิ่งที่สำคัญกว่าคือการยืนหยัดสัตย์ซื่อที่จะนมัสการและรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นในชีวิต   ซึ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้   รวมไปถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงประทานแก่ท่านในชีวิตด้วย   สิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดคือการที่เราเทิดทูนยกย่องและเชื่อฟังให้พระเจ้าเป็นเอกเป็นต้นเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชีวิตของเรา

“...โลกกับความปรารถนา(ตัณหา)ต่างๆ ของโลกก็ล่วงไป  
แต่ผู้ที่ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าดำรงอยู่ตลอดกาล” (1ยอห์น 2:17  อมตธรรม)

สิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด  เป็นสิ่งที่ยั่งยืนเป็นนิตย์  เป็นสิ่งที่นิรันดร์  ที่เราต้องการจะเป็นและที่เราหวัง

ในเมื่อทรงให้ท่านทั้งหลายเป็นขึ้นกับพระคริสต์แล้ว  
ก็จงให้ใจของท่านจดจ่อกับสิ่งที่อยู่เบื้องบน 
ที่ซึ่งพระคริสต์ทรงประทับอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า  
จงให้ความคิดของท่านจดจ่ออยู่กับสิ่งเบื้องบน  ไม่ใช่สิ่งฝ่ายโลก  (โคโลสี 3:1-2 อมตธรรม)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

21 พฤศจิกายน 2555

งานนี้ไม่ต้องมี(ใบ)ปริญญาเอก!


อ่านกิจการ 4:13-17

มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับวิบากกรรมที่ตนกระทำเกี่ยวกับ “ธุรกิจปริญญาบัตร” กับพวกที่คิดว่าชีวิตนี้สำคัญเมื่อมีใบ “ปริญญา” ค้ำชีวิต   คนทั้งสองพวกนี้  ใจลึกๆต้องการสร้างคุณค่า ความสำคัญ และผลประโยชน์เพื่อตนเอง   โดยการหลอกตนเองและลวงคนอื่น   หลอกตนเองว่าปริญญาคือเครื่องค้ำประกันความสำคัญในชีวิตของตนเองตามกระแสสังคมประโยชน์ส่วนตนนิยม   เพื่อนำไป “เกทับ” คนอื่น   นำไปเป็น “บันได” ไต่สู่ตำแหน่งในสังคมชุมชนของตน   นำมาเป็น “หน้าตา” ของตนเองในสังคม  เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล   คนกลุ่มนี้มักหลงผิดคิดพลาดว่า “สถานภาพ  ตำแหน่ง  ปริญญา” คือสิ่งที่ส่งเสริมมาคู่กับการเป็น “ผู้นำ”   แต่การเป็นผู้นำเพราะมีตำแหน่ง หรือ มี(ใบ)ปริญญาค้ำบารมี   นั่นเป็นเพียงบันไดขั้นแรกของการเป็นผู้นำ   เป็นผู้นำระดับเตรียมอนุบาล   หรือตามภาษาวัยรุ่นปัจจุบันว่า ผู้นำแบบ “เบเบ หรือ ชิวชิว” ครับ

“เมื่อพวกเขาเห็นความกล้าหาญของเปโตรกับยอห์น  และรู้ว่าท่านทั้งสองขาดการศึกษาและเป็นคนสามัญก็อัศจรรย์ใจ   แล้วจำได้ว่าคนทั้งสองเคยอยู่กับพระเยซู” 
(กิจการ 4:13 ฉบับมาตรฐาน)

ใบประกาศนียบัตร หรือ ปริญญาบัตร (ระดับไหนก็ตาม) มิใช่เครื่องค้ำประกันว่า ผู้นั้นจะประสบความสำเร็จในชีวิต หรือ ในการประกอบอาชีพการงาน   หรือเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานอาชีพและงานรับใช้ในชีวิตของคริสตชน

เมื่อคนทั้งหลายเห็นชีวิตและการทำงานรับใช้ของเปโตร และ ยอห์น   สิ่งแรกที่ทำให้คนทั้งหลายต้องแปลกใจคือทั้งสอง “ขาดการศึกษา” (อันนี้ไม่ต้องไปพูดว่ามีใบปริญญาหรือไม่ หรือได้ใบปริญญามาอย่างไร  เป็นปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัย “ห้องแถว” หรือเปล่า)   คนทั้งหลายรู้ว่า ทั้งสองเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ   มิได้มีตำแหน่งสำคัญอะไรเลย   แต่สิ่งที่ทำให้คนทั้งหลายในกรุงเยรูซาเล็มถึงบางอ้อคือ   เขาระลึกได้ว่า “ทั้งสองเคยอยู่กับพระเยซูคริสต์มาก่อน”   ทั้งสองเคยใช้ชีวิตกับพระเยซูคริสต์ และพระองค์ได้เสริมสร้าง ฝึกฝน และเปลี่ยนแปลงชีวิตของทั้งสองใหม่  ให้เป็นชีวิตใหม่ในพระคริสต์  

ชีวิตใหม่ในพระคริสต์จะสร้างความแปลกประหลาดอัศจรรย์ใจแก่ผู้คนที่พบเห็นครับ!

มิใช่เพียงแค่นี้เท่านั้นครับ   พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเยรูซาเล็ม  และได้นำผู้คนจำนวนนับพันมารับเชื่อในพระเยซูคริสต์ด้วย

“การประกาศพระวจนะของพระเจ้าก็เจริญขึ้น  และจำนวนสาวกก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในกรุงเยรูซาเล็ม  และปุโรหิตจำนวนมากก็มาเชื่อถือ” (กิจการ 6:7 ฉบับมาตรฐาน)

“กรุงเยรูซาเล็ม” ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงด้วยงานการรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้าจากพวกสาวกของพระคริสต์   ที่เป็นปุถุชนคนสามัญธรรมดาอย่างเราท่าน   พวกเขาบ้างเป็นชาวประมง  คนเก็บภาษี เกษตรกร  งานช่าง และ ฯลฯ   ที่สำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่ที่พวกเขามีอาชีพอะไร  มีการศึกษาแค่ไหน   แต่อยู่ที่สาวกแต่ละคนมุ่งมั่นตั้งใจอุทิศชีวิตถวายตัวแด่พระคริสต์ ด้วยความกล้าหาญกล้าเสี่ยงต่างหาก   (พวกเขามิได้มัวแต่ไปกราบไหว้รูปเคารพในรูปแบบต่างๆ เช่น  ตำแหน่ง  ปริญญา  ฐานะในสังคม  เงินทอง  หรือการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนจากงานพันธกิจที่รับผิดชอบ หรือใช้ความเก่งกาจทางวาทศิลป์ในการแสวงหาสิ่งที่ตนปรารถนา) 

ตรงกันข้าม   สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเล็มในเวลานั้นต่างจากสถานการณ์ในคริสตจักรของเราในปัจจุบันคือ   ผู้เชื่อใหม่ในกรุงเยรูซาเล็มได้ขายทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนเพื่อนำมาจุนเจือช่วยเหลือคนที่มีความจำเป็นต้องการ (กิจการ 2:45)   แม่หม้ายในกรุงเยรูซาเล็มเวลานั้นได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากสาวกและผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์   พวกเขาไม่ถูกละเลยทอดทิ้งต่อไป   พวกเขาได้รับการแบ่งปันอาหารสิ่งจำเป็นเป็นประจำทุกวัน (กิจการ 6:1)

บริเวณเฉลียงซาโลมอนของพระมหาวิหารเยรูซาเล็มกลายเป็นที่นมัสการพระเจ้าของผู้เชื่อพระเยซูคริสต์ในสมัยเริ่มแรก (กิจการ 5:12-14)   แม้ว่าผู้คนรอบข้างจะกล้าๆกลัวๆที่จะเข้ามาร่วมในการนมัสการกับพวกที่เชื่อก็ตาม   สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ “ประชาชนเคารพพวกเขามาก”   แต่ในที่สุดก็มีผู้คนมาเชื่อและเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์มากขึ้นกว่าเดิม   บริเวณเฉลียง  บนทางเดินกลายเป็นพื้นที่ที่พวกสาวกใช้ในการประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์   เป็นพื้นที่ในการวางมือรักษาโรคแก่บรรดาผู้เจ็บป่วย   ข่าวแพร่สะพัด คนที่อยู่นอกเมืองเยรูซาเล็มก็เข้ามาร่วม  และพาคนเจ็บป่วย  คนผีเข้ามารับการรักษาจากสาวก (ข้อ 15-16)

กรุงเยรูซาเล็มที่ครั้งหนึ่งพระคริสต์ทอดพระเนตรกรุงนี้ด้วยความสงสารและต้องหลั่งน้ำตาเพื่อกรุงนี้   แต่ ณ วันนี้ถูกพลิกฟื้นเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นกรุงแห่งความชื่นชมยินดีของบรรดาคนยากคนจน คนธรรมดา  คนเจ็บป่วย  และคนผีเข้า (ลูกา 19:41)

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นเพราะมีเพียงคนบางคนเรียนรู้ตระหนักชัดถึงการทรงเรียกของพระเยซูคริสต์   พวกเขาไม่ใช่นักวิชาการ   ไม่ใช่นักตีความพระคัมภีร์หรือธรรมบัญญัติ   พวกเขาไม่ใช่พระ ปุโรหิต  ศาสนาจารย์ หรือ ศิษยาภิบาล   พวกเขาเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่มีชีวิตและประกอบอาชีพตามความสามารถและของประทานจากพระเจ้าอย่างเราท่าน   แต่ที่สำคัญคือแต่ละคนในพวกนี้มีชีวิตที่ติดสนิทกับพระเยซูคริสต์ในชีวิตประจำวัน   และที่สำคัญที่สุดคือ   คนเหล่านี้มีพระเยซูคริสต์ทรงเป็นเอกเป็นใหญ่ในชีวิตของตน   เขาคิด  เขาตัดสินใจ  และเขากระทำ ดำเนินชีวิตตามอย่างพระคริสต์ตามพระประสงค์ของพระองค์  

เขามีชีวิตและทำงานประจำวันเพื่อพระคริสต์!

ให้เรามีชีวิตในวันนี้ด้วยความชื่นชมยินดีในการรับใช้พระคริสต์   ท่ามกลางชีวิต การงานและอาชีพที่เราทำ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
e-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-289 4499

20 พฤศจิกายน 2555

แม้สถานการณ์เลวร้าย...วางใจในพระเจ้า


อ่าน  สดุดี 13:1-6

แต่ข้าพระองค์ได้ไว้วางใจในความรักมั่นคงของพระองค์
ใจของข้าพระองค์เปรมปรีดิ์ในการช่วยกู้ของพระองค์
ข้าพเจ้าจะร้องเพลงถวายพระยาเวห์
เพราะพระองค์ทรงดีต่อข้าพเจ้า”
(สดุดี 13:5-6 ฉบับมาตรฐาน)

ในบางสถานการณ์ชีวิตเป็นการง่ายเหลือเกินสำหรับเราที่จะไว้วางใจในพระเจ้า   และจะร้องสรรเสริญพระองค์   เพราะทุกสิ่งแวดล้อมรอบข้างดูดีไปหมด   เมื่อมองย้อนหลังชีวิตส่วนตัวบางครั้งก็ต้องบอกว่า   ไม่น่าเชื่อเลยว่าพระเจ้าทรงอวยพระพรชีวิตของตนมากมายท่วมท้นถึงขนาดนั้น   พระเจ้าทรงประทานให้เกิดสิ่งดีมากมายในชีวิตอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน

แต่ก็อีกบางครั้งอีกนั่นแหละที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ว่า หรืออย่างที่เคยคาดฝันไว้   เมื่อชีวิตต้องประสบกับความทุกข์ยาก   เมื่อจิตใจต้องทุกข์โศก เศร้าหมอง   จนบางครั้งทำให้เกิดคำถามในจิตใจของตนเองว่า   เอ๊ะนี่พระเจ้าอยู่ด้วยกับเราที่นี่ในเวลานี้หรือเปล่า?   ในเวลาที่ต้องเผชิญหน้าและผจญกับความทุกข์ยากในชีวิตเรายังจะไว้วางใจในความรักเมตตาของพระเจ้าได้หรือไม่?   แล้วเราจะยังชื่นชมยินดีในชีวิตได้อยู่อีกหรือ?  ในความเหี่ยวเฉาในจิตใจ  เราจะร้องสรรเสริญพระเจ้าด้วยความชื่นใจในพระองค์ได้อย่างไร?

พระธรรมสดุดี บทที่ 13 ตอบคำถามเหล่านี้ในชีวิตของมนุษย์ด้วยการเสริมเพิ่มความมั่นใจแก่เรา   ถ้าเราอ่านพระธรรมบทนี้เฉพาะในข้อ 5 และ เราอาจจะเข้าใจว่าดาวิดผู้ประพันธ์สดุดีบทนี้คงมีประสบการณ์ชีวิตแสนดีที่ได้รับการอวยพระพรจากพระเจ้าทั้งสิ้น    อย่างไรก็ตามให้เราสังเกตในคำแรกของข้อที่ 5 มีคำว่า  “แต่” ซึ่งดาวิดกำลังบ่งบอกตรงไปตรงมาว่า   เรื่องราวข้อความก่อนหน้าข้อ 5 นี้แตกต่างกับข้อ 5 และ 6  แสดงว่าก่อนสองข้อนี้สถานการณ์เป็นคนละเรื่องกับการที่ผู้เขียนสดุดีไว้วางใจในความรักของพระเจ้า

ให้เราย้อนกลับไปอ่านพระธรรมสดุดีบทนี้ใหม่ไปพร้อมๆ กัน   ในข้อที่ 1 ดาวิดบอกถึงสภาพชีวิตของตนเองที่เป็นเหมือนถูกพระเจ้าลืม  “...พระองค์ทรงลืมข้าพระองค์เป็นนิตย์หรือ?”   ในข้อ 2  ดาวิดกล่าวถึงสภาพชีวิตที่ต้องพบกับความเจ็บปวดรวดร้าววันแล้ววันเล่า  “...มีความทุกข์โศกอยู่ในใจตลอดวันนานสักเท่าใด?”   และ “ศัตรูข้าพระองค์จะอยู่เหนือข้าพระองค์นานเท่าใด?”  

แต่...ท่ามกลางสภาพชีวิตที่สิ้นหวัง  เข้าตาจน  จนสิ้นคิด   ดาวิดได้ยืนยันถึงความไว้วางใจที่เขามีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า   เขาจะร้องสรรเสริญพระเจ้าถึงคุณงามความดีและสิ่งดีๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำต่อเขา   บางท่านอาจจะคิดในใจว่า   เรื่องอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ประการแรก   ท่ามกลางที่ชีวิตกำลังประสบกับความล่อแหลม   เขามิได้มุ่งมองหรือเพ่งพินิจไปที่อันตรายและปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น   แต่ดาวิดกลับตรึกตรองและหวนคิดย้อนถึงอดีตในชีวิตที่พระเจ้าทรงช่วยกู้เขาไว้ (ข้อ 5)   ดาวิดระลึกถึงสิ่งดีๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของตน  “...เพราะพระองค์ทรงดีต่อข้าพระองค์...”  (ข้อ 6)   ความทรงจำดังกล่าวทำให้ดาวิดเกิดความมั่นใจในพระเจ้าว่า พระเจ้าจะทรงช่วยกู้เขาในปัจจุบันนี้ด้วยเช่นกัน  และจะทรงช่วยกู้ตามเวลาที่พระองค์ทรงเห็นว่าเหมาะสมสำหรับเรา

ประการที่สอง   ดาวิดระลึกถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นจริงในพระเจ้า   คือสิ่งที่เขาประสบพบเจอในชีวิตของเขาที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ต่อดาวิดว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่มีความรักมั่นคง  ไม่ล้มเหลวไม่เปลี่ยนแปลง “ข้าพระองค์ไว้วางใจในความรักมั่นคงของพระองค์...” (ข้อ 5)   ในบางเวลาเป็นการยากที่เราจะเข้าใจถึงวิถีทางที่พระเจ้าทรงสำแดงความรักเมตตาของพระองค์สำหรับเรา   อย่างไรก็ตาม   ความจริงก็คือว่าความรักของพระเจ้าคือ เสาหลักในความเชื่อศรัทธาของเรา   และเป็นเสาค้ำจุนชีวิตของเราให้สามารถที่จะยืนหยัดอยู่ได้

ภาพความรักเมตตาของพระเยซูคริสต์บนกางเขน   คือภาพที่ยืนยันและสำแดงถึงความรักมั่นคงของพระองค์อย่างชัดเจน   เป็นความรักเมตตาอย่างไม่มีเงื่อนไข   แต่ด้วยจิตใจที่ต้องการให้มนุษย์ที่ตกอยู่ใต้อำนาจของความชั่วร้าย   ที่กำลังรับผลของความบาป   ให้สามารถหลุดรอดออกจากอำนาจดังกล่าว   แล้วมาอยู่ภายใต้การทรงปกป้องด้วยพระคุณของพระองค์   นอกจากเป็นความรักเมตตาที่ช่วยกอบกู้ไถ่ถอนแล้ว   ยังเป็นความรักเมตตาที่เสริมสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่ให้ได้รับชีวิตใหม่ในพระคริสต์   และหนุนเสริมชีวิตของเราให้เข้มแข็งและเติบโตขึ้นในพระองค์   และทรงเสริมเพิ่มพลังชีวิตให้กล้าไว้วางใจในพระเจ้า   และช่วยเราให้มีพลังที่จะเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากด้วยการทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ดำเนินเคียงข้างกับเรา   จนเราสามารถร้องสรรเสริญพระองค์แม้ท่ามกลางความทุกข์ยากแห่งชีวิตก็ตาม

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ท่านเคยมีประสบการณ์ชีวิตเหมือนหรือคล้ายกับดาวิด  ที่ต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากเจ็บปวดในชีวิต   แต่ก็ยังสามารถที่จะไว้วางใจในพระเจ้าและยังสามารถที่จะร้องสรรเสริญพระองค์หรือไม่?

2. ถ้าท่านเคยมีประสบการณ์เหมือนดาวิด   ขอท่านช่วยสะท้อนคิดว่า  อะไรที่ช่วยให้ท่านมีความเชื่อศรัทธาและความชื่นชมยินดีในชีวิตถึงขนาดนั้น?

3. ถ้าท่านไม่เคยมีประสบการณ์เหมือนดาวิด   พระธรรมสดุดีที่ได้ใคร่ครวญในวันนี้กำลังพูดอะไรกับท่าน  หรือมีข้อเสนออะไรต่อชีวิตของท่าน?   อะไรที่จะช่วยหนุนเสริมให้ชีวิตของท่านไว้วางใจในพระเจ้าแม้ว่าสภาพชีวิตกำลังตกต่ำเลวร้ายก็ตาม?

ใคร่ครวญภาวนา

ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับความจริงใจของดาวิดในการอธิษฐานต่อพระองค์   ข้าแต่พระเจ้า มีบางเวลาที่ดูเหมือนพระองค์ทรงลืมข้าพระองค์   บางครั้งดูเหมือนพระองค์อยู่แสนไกลจากข้าพระองค์   ขอบพระคุณสำหรับดาวิดที่เป็นตัวอย่างสำหรับความเชื่อของข้าพระองค์   ที่มิได้ทำทุกอย่างในความเชื่อเพื่อให้ดูดีในสายตาคนรอบข้างเท่านั้น

ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับตัวอย่างชีวิตของดาวิดที่แม้จะต้องอยู่ท่ามกลางความทุกข์ยากและเจ็บปวดในชีวิต  แต่ท่านก็ยังไว้วางใจในพระองค์ และ มีชีวิตที่ยกย่องสรรเสริญพระองค์   ขอบพระคุณพระองค์ ที่ทรงหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตแก่ข้าพระองค์ให้ไว้วางใจในความรักของพระองค์  เพื่อจะสามารถเผชิญหน้ากับความทุกข์สาหัส   โปรดช่วยข้าพระองค์ให้สามารถที่จะไว้วางใจในพระองค์ และ ร้องสรรเสริญพระองค์ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ชีวิตเช่นใดก็ตาม  

ในเวลาใดที่ชีวิตของข้าพระองค์ถูกถาโถมโจมตีจากความทุกข์ยากลำบาก   โปรดช่วยให้ข้าพระองค์ได้ระลึกถึงพระคุณ พระพร ที่ทรงมีในชีวิตของข้าพระองค์ที่ผ่านมา   และโปรดให้ความเชื่อศรัทธาของข้าพระองค์ได้รับการค้ำจุนหนุนเสริมให้เข้มแข็งมั่นคงด้วยความรักมั่นคงที่ทรงสำแดงผ่านทางพระเยซูคริสต์

ข้าแต่พระเจ้า   ในวันนี้ข้าพระองค์ขอระลึกถึงผู้คนที่ต้องต่อสู้ยืนหยัดเกี่ยวกับความเชื่อศรัทธาของเขา   คนที่กำลังตกอยู่ในความรู้สึกว่าพระองค์ทรงอยู่ห่างไกลเหลือเกินจากชีวิตของเขา   โปรดเมตตาช่วยคนเหล่านี้ให้เกิดความมั่นใจและไว้วางใจในพระองค์   โปรดให้ข้าพระองค์ได้ยื่นชีวิตของข้าพระองค์ออกไปถึงชีวิตของคนเหล่านี้ด้วยพระทัยและพระหัตถ์แห่งความเมตตาของพระองค์   ขอทรงโปรดชูช่วยยกชีวิตคนเหล่านี้ให้ลุกขึ้นได้ด้วยพระคุณและพระเมตตาของพระองค์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499