26 พฤศจิกายน 2555

Albert Schweitzer มิชชันนารีและแพทย์ผู้พิชิตโนเบลสันติภาพ

โดย สุทัศน์ ยกส้าน           23 พฤศจิกายน 2555 10:53 น.      

ช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 3-4 กันยายน ค.ศ.1965 Albert Schweitzer วัย 90 ผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1962 ได้ถึงแก่กรรม หลังจากที่ตกอยู่ในสภาพโคม่านานหนึ่งสัปดาห์ ที่โรงพยาบาลแห่งเมือง Lambaréné ในประเทศ Gabon ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแอฟริกา แม้ญาติจะมิได้ประกาศแถลงข่าวใดๆ แต่ทุกคนก็ทราบ และตระหนักว่าการจากไปของ Schweitzer เป็นการสูญเสียบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก

Schweitzer นอกจากจะมีอาชีพเป็นแพทย์แล้ว ยังเป็นนักปรัชญา นักดนตรีผู้เชี่ยวชาญการเล่นออร์แกน และหมอสอนศาสนาผู้ชำนาญการแปลความหมายของคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลด้วย

Albert Schweitzer เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ.1875 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระปิยมหาราช) ที่เมือง Keyserberg (ปัจจุบันคือเมือง Haut – Rhin ในฝรั่งเศสในแคว้น Alsace – Lorraine ของเยอรมนี) และใช้ชีวิตในวัยเด็กที่หมู่บ้าน Gunsbach เมื่อเติบใหญ่ได้ไปศึกษาที่โรงเรียนชื่อ Mulhouse จนสำเร็จระดับมัธยมศึกษาเมื่ออายุ 18 ปี จากนั้นได้ทุ่มเทชีวิตศึกษาวิธีเล่นออร์แกนกับ Eugéne Munch ผู้เป็นนักดนตรีผู้มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลกเป็นเวลานานถึง 8 ปี จนมีความเชี่ยวชาญในการเล่นดนตรีของ Bach และ Wagner แล้วไปเรียนวิชาเทววิทยาต่อที่มหาวิทยาลัย Kaiser Wilhelm แห่งเมือง Strassburg

ในปี 1898 Schweitzer วัย 23 ปี ได้เดินทางไปปารีส เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง “The Religious Philosophy of Kant” ที่มหาวิทยาลัย Sorbonne แล้วนำกลับมาตีพิมพ์เป็นวิทยานิพนธ์เพื่อขอรับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Tubingen ในปีต่อมา

โลกเริ่มรู้จัก Schweitzer ในฐานะนักวิชาดนตรี และนักเล่นออร์แกนที่มีความสามารถมาก เพราะเป็นคนที่สามารถเข้าใจดนตรีของ Bach ได้อย่างดียิ่งจนสามารถแปลความหมายของจังหวะ และเนื้อหาทุกตอนในเพลงในแง่ของศาสนาได้ลึกซึ้ง จึงได้ร่วมกับเพื่อนฝูงในการจัดตั้งสมาคม Bach Society ขึ้นที่ปารีส เพื่อเล่นเพลงของ Bach เป็นประจำ

ในปี 1905 Schweitzer วัย 30 ปี ได้ไปสมัครงานที่ “The Society of the Evangelist Missions of Paris” ซึ่งเป็นองค์กรที่ต้องการส่งแพทย์ไปเผยแพร่คริสต์ศาสนาในต่างแดน ทั้งๆ ที่ตัว Schweitzer เองไม่มีความรู้แพทย์ศาสตร์เลย ดังนั้นสมาคมจึงปฏิเสธ แต่ Schweitzer เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นมาก จึงตัดสินใจว่าจะต้องเป็นแพทย์ให้จงได้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือคนไข้ที่ยากไร้ในแอฟริกาและเผยแพร่คริสตศาสนาด้วย จึงได้ไปสมัครเรียนแพทย์ ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนอีก 7 ปี ท่ามกลางเสียงคัดค้านของบรรดาญาติและเพื่อนๆ

ในที่สุด Schweitzer ก็สำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง “The Psychiatric Study of Jesus” และเริ่มอาชีพเป็นแพทย์อย่างสมศักดิ์ศรีในปี 1911 ลุถึงเดือนมิถุนายนในปีต่อมา Schweitzer ได้เข้าพิธีสมรสกับ Helene Bresslau ผู้มีอาชีพเป็นนางพยาบาล แล้วได้ย้อนกลับไปที่สมาคมมิชชันนารีเดิม เพื่อสมัครขอไปเป็นแพทย์ที่เมือง Lambaréné ในแอฟริกา คราวนี้สมาคมตอบรับ

ในวันที่ออกเดินทาง เพื่อนๆ ได้มอบเปียโนให้ Schweitzer ใช้เล่นในยามเหงา โดยบรรทุกในเรือ เพื่อไปเป็นแพทย์มิชชันนารีที่หมู่บ้าน Lambaréné ซึ่งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำ Ogooué ประมาณ 320 กิโลเมตร ขบวนเดินทางต้องใช้เวลานานถึง 14 วัน จึงถึงจุดหมายปลายทาง

ในช่วงเวลา 9 เดือนแรกของการทำงานที่โรงพยาบาล Schweitzer กับภรรยาได้รักษาพยาบาลคนไข้ประมาณ 2,000 คน ชาวบ้านหลายคนต้องเดินเท้ามาจากถิ่นไกลเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร บางคนกำลังป่วยเป็นโรคร้ายแรงนานาชนิด เช่น บิด มาลาเรีย โรคง่วงหลับ โรคเรื้อน เนื้องอก บาดทะยัก เนื้อตาย ไส้เลื่อน ฯลฯ บางคนถูกวางยาพิษ ภรรยาของ Schweitzer มีหน้าที่ฉีดยาชาให้คนไข้ ส่วน Schweitzer มีหน้าที่ผ่าตัด สำหรับยาสลบที่ใช้ในการผ่าตัดได้แก่ มอร์ฟีน และคลอโรฟอร์ม ในส่วนของห้องผ่าตัดนั้น Schweitzer ได้ดัดแปลงจากเล้าไก่ และเพื่อให้โรงพยาบาลมีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ Schweitzer ได้สร้างห้องจ่ายยา ห้องรักษาพยาบาล และห้องพักสำหรับคนไข้ด้วย โดยตัว Schweitzer กับภรรยาได้แยกไปพักในบังกะโลขนาดเล็ก ครั้นเมื่อคนไข้ที่ต้องได้รับการดูแลรักษามีจำนวนมากขึ้น Schweitzer จึงมอบให้ญาติของคนไข้ทำหน้าที่ดูแลแทน เพราะเขาคิดว่า สมาชิกในครอบครัวจะดูแลคนไข้ได้ดีที่สุด ดังนั้นในบริเวณรอบโรงพยาบาล จึงมีอาคารสำหรับให้ญาติผู้ป่วยได้พักแรมด้วย โรงพยาบาล Lambaréné จึงมีสภาพเหมือนหมู่บ้านที่มีทั้งเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ และสัตว์เลี้ยงวิ่งเล่นและเดินเล่นตลอดเวลา

Schweitzer นั้นมีความรู้สึกผูกพันกับคนไข้แอฟริกันผู้ยากไร้มาก เขามักพูดกับคนไข้เสมอว่า ผมเป็นญาติผู้ใหญ่ของคุณแม้สังคมภายนอกจะดูแคลนในความโบราณล้าหลังของโรงพยาบาลที่ Lambaréné สักเพียงใด Schweitzer ก็ไม่เคยสนใจในคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น เพราะรู้แก่ใจว่า เขาต้องการช่วยเหลือคนเหล่านี้ เพื่อลบล้างบาปที่คนผิวขาวในอดีตได้เคยล่าจับชาวพื้นเมืองจำนวนมากไปเป็นทาส ดังนั้นการได้มาทำงานในแอฟริกาของ Schweitzer จึงเปรียบเสมือนการแก้กรรม (ที่คนอื่นกระทำ)

เมื่อคนไข้มีจำนวนเพิ่มขึ้นๆ Schweitzer เห็นความจำเป็นที่เขาจะต้องมีโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะไม่ต้องการให้โรงพยาบาลปฏิเสธคนไข้โดยให้เหตุผลว่า มีเตียงจำนวนไม่เพียงพอ Schweitzer ได้รับความช่วยเหลือในการก่อสร้างโรงพยาบาลจากองค์กรหลายแห่งในฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งศรัทธาในเจตนารมณ์ที่ดีของ Schweitzer กับภรรยา

ในฤดูร้อนของปี 1914 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 Schweitzer กับภรรยาในฐานะที่เป็นชาวเยอรมัน แต่กำลังทำงานในประเทศที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จึงถูกทหารฝรั่งเศสกักบริเวณ แต่ Schweitzer ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปที่ Lambaréné เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยใช้เวลาว่างเขียนหนังสือชื่อ “The Philosophy of Civilization” จากความรู้สึกสลดใจที่มนุษย์ต้องมารบราฆ่าฟันกัน นี่เป็นหนังสือที่ดีที่สุดจากปลายปากกาของ Schweitzer โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับปรัชญาของอารยธรรมมนุษย์ เมื่อเวลาผ่านไปอีก 4 ปี Schweitzer และภรรยาได้ล้มป่วยเป็นโรคโลหิตจาง จึงถูกนำตัวกลับฝรั่งเศสเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล Bordeaux แล้วถูกส่งไปเก็บตัวในค่ายเชลยที่เมือง Gavraison ซึ่งตั้งอยู่ในแถบเทือกเขา Pyrenees จากนั้นได้ถูกส่งไปกักตัวที่โรงพยาบาล Saint-Remy ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของฝรั่งเศส และเป็นโรงพยาบาลเดียวกับที่ Vincent van Gogh ได้เคยเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าก่อนฆ่าตัวตายในเดือนกรกฎาคมของปี 1918 หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพราะบิดามารดาของ Schweitzer ได้โอนสัญชาติเป็นชาวฝรั่งเศสแล้ว ดังนั้นลูกชายซึ่งเดิมเป็นคนเยอรมันก็ได้กลายเป็นคนฝรั่งเศสไปในทันที ในปี 1919 Schweitzer ได้ทายาทเป็นลูกสาวชื่อ Rhena

จากนั้น Schweitzer ก็ได้เริ่มทำงานหาเงินมาสร้างอาคาร และซื้ออุปกรณ์แพทย์เพิ่มเติม ให้โรงพยาบาลที่ Lambaréné โดยได้เล่นดนตรีออร์แกนการกุศล เพราะ Schweitzer รู้ดีว่า วันใดที่ตายการหาทุนเพิ่มเติมจะมีปัญหาทันที ในปี 1922 Schweitzer ได้เดินทางไปบรรยายที่มหาวิทยาลัย Oxford และเขียนหนังสือ 2 เล่ม ชื่อ “Decay and Restoration of Civilization” กับ “Civilization and Ethics”

Schweitzer เป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง แต่ภรรยาเป็นคนที่มีร่างกายบอบบาง เพราะในวัยเด็กเธอเคยป่วยเป็นวัณโรค และเมื่อต้องตกอยู่ในสถานกักกันเป็นเวลานาน วัณโรคร้ายได้หวนกลับมาคุกคามเธออีก จนเธอไม่อยู่ในสภาพที่จะเดินทางไปช่วยสามีที่ Lambaréné ได้อีกต่อไป Schweitzer จึงสร้างบ้านให้เธอพำนักอยู่กับลูกสาวที่ Konigsfeld ใน Black Forest

ดังนั้น ในปี 1924 ที่ Schweitzer เดินทางกลับ Lambaréné เขาจึงไม่มีภรรยา Helene อยู่เคียงข้าง แต่มีบุคคลอื่นอีกหลายคนที่เข้าร่วมขบวนซึ่งได้แก่ เจ้าหน้าที่พยาบาล แพทย์ และนางพยาบาล นอกจากนี้ Schweitzer ยังได้นำยารักษาโรค เช่น salvarsan สำหรับรักษาโรคแผลในกระเพาะ และยา trypassamide ที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคไข้ง่วงหลับไปด้วย ในช่วงเวลานี้โรงพยาบาลได้มีการสร้างอาคารดูแลคนไข้เพิ่มเติมอีกหลายหลังด้วย

ในช่วงปี 1927–1929 Schweitzer ได้เดินทางไปยุโรปเพื่อระดมทุน และขอความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ โดยทิ้งให้ผู้บริหารโรงพยาบาลที่ Lambaréné ทำงานอย่างอิสระ โดยไม่มีใครควบคุม

ในปี 1933 เมื่อ Hitler เรืองอำนาจ ภรรยาและลูกสาวของ Schweitzer ได้อพยพหลบหนีไปพำนักที่สวิสเซอร์แลนด์จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติ จึงกลับบ้านที่ Black Foerst อีก และภรรยาได้เดินทางไปแวะเยี่ยมสามีเป็นเวลาสั้นๆ หลายครั้ง และบอกว่ารู้สึกเสียใจที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานพยาบาลช่วยสามีที่เธอเคยทำได้ดีในสมัยหนึ่ง

การเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองได้ทำให้ Schweitzer ไม่สามารถเดินทางไปยุโรป จึงมีเวลาครุ่นคิดเรื่องสาเหตุที่ทำให้เกิดสงคราม และวิธีที่จะยุติสงคราม จนในที่สุดเขาก็ได้ความคิดเรื่อง “Reverence for Life” (การนับถือชีวิตว่าเป็นสิ่งมีค่าที่ศักดิ์สิทธิ์) จากการได้เห็นว่าความดีและการช่วยเหลือกันจะทำให้ทุกชีวิตมีความสุข แต่สงครามและความชั่วร้ายจะทำให้ทุกคนทุกข์ ดังนั้น Schweitzer จึงคิดว่า “Reverence for Life” เป็นความคิดรากฐานของสันติภาพ และเป็นปรัชญาส่วนตัวที่ Schweitzer ใช้ในการดำรงชีวิต

หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีบุคคลสำคัญของโลก ทั้งนักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ นักประพันธ์ และนักท่องเที่ยว ฯลฯ เดินทางมาเยี่ยมชมโรงพยาบาล Lambaréné และ Schweitzer ก็ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โดยนำแขกไปเดินเยี่ยมคนไข้ด้วยตนเอง อีกทั้งได้ถ่ายรูปร่วมกับบุคคลเหล่านั้นด้วย

ในปี 1952 Schweitzer ได้ทราบข่าวว่าเขาคือผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งเป็นข่าวที่ทำให้คนทั้งโลกรู้สึกยินดี และไม่มีใครไม่เห็นด้วยซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะแทบทุกครั้งที่มีการให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มักมีคนไม่เห็นด้วยมากมาย บ้างก็ต่อต้าน แต่บรรดาคนไข้ของ Schweitzer ในขณะนั้นไม่มีใครตระหนักในความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของรางวัลนี้ Schweitzer ได้ใช้เงินรางวัลโนเบลเพื่อสร้างอาคารที่พักและรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อน

เมื่ออายุมากขึ้น สังขารที่โรยราได้ทำให้ Schweitzer ไม่สามารถทำการผ่าตัดคนไข้ได้อีกต่อไป เมื่อถึงช่วงห้าปีสุดท้ายของชีวิต บุตรสาวชื่อ Rhena ซึ่งแต่งงานกับ David Miller ได้เดินทางมาช่วยบิดา หลังจากที่มารดาของเธอได้เสียชีวิตในปี 1957 ในบทบาทที่เป็นนักเทคนิคการแพทย์เธอได้พบว่า การทำงานร่วมกันของเธอกับพ่อไม่ราบรื่นเลย เพราะพ่อเป็นคนที่เธอเดาใจ และเอาใจยาก แม้ Schweitzer จะเป็นคนโกรธง่าย แต่ก็หายเร็ว คนทั้งสองมีความคิดเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับการทำงานของบุคลากรที่โรงพยาบาล Lambaréné บ่อย แต่ Rhena ก็รู้ว่าเธอต้องทำใจและต้องยอมรับว่า ในเวลากลางวัน เธอเป็นเพียงลูกจ้างที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของ Dr.Schweitzer แต่ในเวลากลางคืน Schweitzer คือพ่อของเธอ ครั้นเมื่อเธอเสนอแนะให้ Schweitzer ปรับเปลี่ยนระบบทำงานในโรงพยาบาลให้ทันสมัยขึ้น Schweitzer ได้นั่งฟังเธอพูดจนจบ แล้วบอกว่า แกทำทุกอย่างที่แกพูดได้ เมื่อฉันตายไปแล้ว

สำหรับบทบาทของความเป็นพ่อนั้น เพราะ Schweitzer เริ่มเป็นพ่อเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 44 ปีซึ่งเป็นวัยที่ค่อนข้างมาก อายุที่ต่างกับลูกมากจึงเป็นอุปสรรคหนึ่งในการแสดงความรู้สึกให้ลูกเห็น แต่ Schweitzer เขาก็ได้พยายาม เช่น เวลาเขียนจดหมาย Schweitzer มักเล่าเรื่องสัตว์ต่างๆ ทั้งในบริเวณรอบโรงพยาบาล และในสถานที่ที่ห่างไกล กระนั้นความใกล้ชิดระหว่าง Schweitzer กับลูกสาวก็ยังไม่มี

สำหรับงานอดิเรกนั้น Schweitzer สนใจการสร้างเครื่องดนตรีออร์แกน และมีความรู้เรื่องนี้ดีถึงระดับสามารถเขียนเป็นตำราได้ อีกทั้งยังสามารถเข้าใจความหมายของดนตรีของคีตกวี Bach ได้อย่างซาบซึ้ง ดังนั้น เวลามีแขกต่างชาติมาเยี่ยมที่ Lambaréné Schweitzer ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็จะเล่นเพลงของ Bach ให้แขกฟัง โดยมีเสียงกบ เสียงจิ้งหรีด และเสียงกลองจากหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ เป็นเสียงประกอบ ซึ่งเมื่อฟังเสียงทั้งหมดพร้อมกันจะได้บรรยากาศที่ไม่สามารถหาฟังได้จากสถานที่ใดในโลก

หลังจากที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแล้ว Schweitzer รู้สึกว่าตนมีความรับผิดชอบที่ต้องต่อต้านสงครามด้วย ดังนั้นในปี 1957 Schweitzer จึงปราศรัยทางวิทยุส่งกระจายเสียงไปทั่วโลก และได้กล่าวเตือนภัยสงครามนิวเคลียร์ อีกทั้งได้เดินทางไปพบ Albert Einstein, Otto Hahn และ Bertrand Russell เพื่อออกแถลงการณ์ร่วมกันต่อต้านการทดลองระเบิดปรมาณูของประเทศมหาอำนาจด้วย

เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้จะมาถึง Schweitzer ได้ปรารภว่ารู้สึกเสียใจที่มหาอำนาจของโลกยังมีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ต่อไปอีก และคิดว่าจะต้องขอร้องผู้นำประเทศมหาอำนาจต่างๆ เป็นการส่วนตัว ทว่าร่างกายได้อ่อนแอลงมากแล้ว และนี่เป็นงานชิ้นหนึ่งที่ Schweitzer ตั้งใจจะทำ แต่ไม่ได้ทำ chweitzer เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ.1965 ที่เมือง Lambaréné ในประเทศ Gabon สิริอายุ 90 ปี ศพถูกนำไปฝังที่ฝั่งของแม่น้ำ Ogooué และที่หลุมฝังศพมีไม้กางเขนที่ Schweitzer ทำเองปักอยู่

ในสายตาของชาวโลก Schweitzer เป็นทั้งมิชชันนารีและแพทย์ผู้ได้อุทิศชีวิตเพื่อผู้ยากไร้ในดินแดนที่แร้นแค้น และอันตราย เขาทำงานด้วยปณิธานที่แน่วแน่ เพราะเป็นคนที่มีความคาดหวังในตนเองสูง และบางครั้งความมุ่งมั่นนี้ก็ได้สร้างความอึดอัดให้คนรอบข้าง แต่ทุกคนก็ต้องยอมรับว่า Schweitzer เป็นคนน่าสนใจ มีชีวิตชีวา กระปรี้กระเปร่า และมีเสน่ห์ระดับสุดยอดคนหนึ่งของโลก

นอกจากจะได้รับรางวัลโนเบลแล้ว Schweitzer ยังได้รับเกียรติยศอีกมากมายเช่น เกียรติ Order of Merit จากสมเด็จพระราชินี Elizabeth ที่ 2 แห่งอังกฤษด้วย

ณ วันนี้ที่อเมริกามีเครือข่าย Schweitzer Fellows for Life ที่จัดส่งนักศึกษาแพทย์ที่กำลังเรียนปีสุดท้ายไปโรงพยาบาล Lambaréné เพื่อฝึกงานเป็นเวลา 3 เดือน

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2011 ที่เพิ่งผ่านมานี้ได้มีการมอบรางวัล International Albert Schweitzer Prize เป็นครั้งแรกโดยให้แก่ Eugen Drewermann, Rolf Maibach กับ ภรรยา Raphaela ที่ Konigfeld ใน Schwazwald ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Schweitzer และปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ Albert Schweitzer

สำหรับมรดกทางความคิดของ Schweitzer นั้น ในความเห็นของ Schweitzer เอง เขาคิดว่าจริยธรรมเรื่อง “Reverence for Life” เป็นมรดกทางความคิดที่สำคัญที่สุด และทุกชุมชนควรมีโรงพยาบาล Lambaréné ของตนเอง

อ่านเพิ่มเติมจาก Famous Humanitarians โดย William Oliver Stevens จัดพิมพ์โดย Dodd, Mead and Company ปี 1953

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน - ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000142385

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น