05 พฤศจิกายน 2555

ศีลธรรมไม่ใช่พระกิตติคุณ พระกิตติคุณไม่ใช่ธรรมจริยา


คริสตชนมิได้รอดด้วยการทำความดี

เมื่อเปาโลเขียนจดหมายถึงคริสตจักรกาลาเทีย   ท่านแสดงออกถึงความแปลกอกแปลกใจและต่อว่า ผู้เชื่อในกาลาเทียที่ทิ้งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไปรับเอาพระกิตติคุณที่เทียมเท็จ

“ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจที่ท่านด่วนละทิ้งพระองค์ผู้ซึ่งทรงเรียกท่านโดยพระคุณของพระคริสต์  และหันไปหาข่าวประเสริฐอื่นเสีย   ซึ่งแท้จริงไม่ใช่ข่าวประเสริฐ   แต่มีบางคนทำให้พวกท่านยุ่งยาก   และปรารถนาบิดเบือนข่าวประเสริฐของพระคริสต์” (กาลาเทีย 1:6-7 อมตธรรม)

สำหรับเปาโลแล้ว   พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ที่ทรงประกาศคือ   การที่พระคริสต์ทรงยอมสละชีวิตของพระองค์เพื่อกอบกู้ และ ปลดปล่อยให้เราหลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความชั่วร้ายในรูปลักษณ์ที่หลากหลายในยุคปัจจุบัน   ตามพระประสงค์ของพระเจ้า (1:4)   ด้วยความรักเมตตา และ เป็นพระกรุณาคุณของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์เรา   และด้วยพระคุณของพระเจ้าทางพระเยซูคริสต์นี้เองที่ทำให้ผู้เชื่อได้รับการเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิตโดยพระเยซูคริสต์   ผ่านกระบวนการเจริญเติบโตด้วยความรักเมตตาที่เสริมสร้างจากพระองค์ และ ผ่านการเสริมสร้างของชุมชนผู้เชื่อในคริสตจักร   ด้วยกระบวนการการอภิบาลในรูปแบบต่างๆ ของชุมชนคริสตจักร

เปาโลพูดกับชาวกาลาเทียอย่างชัดแจ้งว่า  “แม้แต่เราเองหรือทูตสวรรค์ที่ประกาศข่าวประเสริฐอื่นแก่พวกท่าน   ซึ่งขัดกับข่าวประเสริฐที่เราได้ประกาศแก่พวกท่านไปแล้วนั้นก็ต้องถูกสาปแช่ง  ตามที่เราได้พูดไว้ก่อนแล้ว   และบัดนี้ข้าพเจ้าขอพูดอีกว่า  ถ้าใครประกาศข่าวประเสริฐอื่นแก่พวกท่านซึ่งขัดกับข่าวประเสริฐที่พวกท่านได้รับไว้แล้วให้ผู้นั้นถูกสาปแช่ง” (1:8-9)

คำเตือนเรื่องพระกิตติคุณ หรือ ข่าวประเสริฐที่ถูกบิดเบือน  ดูจะเป็นการเตือนที่ค่อนข้างน่าตกใจและน่าเศร้า   และเราคงต้องตระหนักด้วยว่ามิใช่เป็นคำเตือนสำหรับคริสตจักรกาลาเทียเท่านั้น   แต่ยังเป็นการเตือนที่รุนแรงถึงคริสตจักรของเราในยุคปัจจุบันด้วย   เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟังอย่างใส่ใจต่อคำเตือนนี้   ในยุคปัจจุบันเราต้องเผชิญหน้ากับ “พระกิตติคุณ หรือ ข่าวประเสริฐจอมปลอม” ที่เข้ามาหาเราทั้งในลักษณะล้มล้างความคิดความเชื่อเดิม และ ในลักษณะสร้างเสน่ห์ ดึงดูด เย้ายวนใจให้หลงไปกับสิ่งใหม่   แน่นอนครับ  มันรุนแรงกว่าสมัยของกาลาเทียหลายเท่าครับ

พระกิตติคุณ หรือ ข่าวประเสริฐจอมปลอมที่เผชิญหน้าเราอย่างจังในบริบทยุคปัจจุบันนี้คือ  การวัดความรอดด้วยการกระทำดี หรือ การเป็นคนดีมีศีลธรรมจริยา   อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า พระกิตติคุณจอมปลอมสามารถสำแดงตนออกมาในหลายรูปแบบผ่านแรงกระตุ้นทั้ง สังคม  เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม  

เค้าโครงความคิดความเชื่อว่ามนุษย์เราสามารถจัดการชีวิตของตนด้วยตนเองโดยการเป็นคนดีมีศีลธรรมจริยาเป็นลักษณะหนึ่งของพระกิตติคุณจอมปลอมที่พยายามแผ่อิทธิพลในยุคปัจจุบัน   หลักคิดหลักเชื่อของพระกิตติคุณจอมปลอมในประการนี้คือ   การบิดเบือนพระกิตติคุณให้เหลือแค่เพียงการทำให้ผู้คนพัฒนาพฤติกรรมของตนเองให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานทางศีลธรรมจริยาที่ตั้งไว้เท่านั้น   ซึ่งพระเยซูคริสต์ทรงชี้ชัดในเรื่องนี้ว่า  สำหรับคริสตชนแล้วการที่เราจะเป็นคนทำดีได้นั้นเราต้องพึ่งพิงในพระคุณของพระเจ้า  เราไม่สามารถ “ทำดี” หรือ เปลี่ยนแปลงพัฒนาพฤติกรรมให้มีศีลธรรมจริยาตามที่ตั้งไว้ด้วยกำลังความสามารถของตนเองได้   อย่างที่เรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ทุกศาสนาสอนคนให้เป็นคนดี”  และนี่ไม่ใช่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ทั้งน่าตกใจและน่าเศร้าในเวลาเดียวกันว่า  คริสตชนหลายคนทั้งกลุ่มหัวก้าวหน้าและอนุรักษ์นิยมได้ตกหลุมพรางของพระกิตติคุณจอมปลอมดังกล่าว   ที่ตกอยู่ใต้การครอบงำทางความคิดด้วยหลักตรรกะของศีลธรรมจริยา   และลดพระกิตติคุณลงเหลือหลักการการพัฒนาด้านศีลธรรมจริยาเท่านั้น   แล้วสอนกันว่าพระเจ้าปรารถนาและต้องการให้เขามีการดำเนินชีวิตตรงตามหลักเกณฑ์ศีลธรรมจริยาที่เขาเข้าใจว่านี่เป็นพระบัญญัติของพระเจ้า

ในความจริงด้านหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ   ในความเป็นคนนั้นเราเกิดมาเป็นคนที่มีศีลธรรมจริยาในสำนึก  และในเวลาเดียวกันที่เราได้รับการทรงสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า   ดังนั้นเราจึงมีจิตสำนึกถึงการที่จะรู้ดีผิดชั่ว  กล่าวคือมีสำนึกทางศีลธรรมจริยา   และจิตสำนึกนี้กระตุ้นเตือนให้เราสำนึกเสมอถึงความบาปผิดที่เราคิดเรากระทำ  ความบกพร่องในชีวิตเรา  การประพฤติผิดทั้งที่รู้แต่ยังทำ   กล่าวคือ จิตสำนึกศีลธรรมจริยาดังกล่าวส่งสัญญาณเตือนเราเสมอถึงความบาปผิดในชีวิตของเรา

ในกระบวนการเลี้ยงดูบ่มเพาะจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เรามักจะได้รับการสอนซ้ำย้ำเตือนถึงศีลธรรมจริยาในวัยเด็กของเรา   เราเรียนรู้ว่า พ่อแม่สนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เราแสดงออก   ถ้าเรากระทำพฤติกรรมที่ดีที่พ่อแม่กำหนด เด็กก็จะได้รับรางวัลในลักษณะต่างๆ เป็นลูกที่พ่อแม่รักใคร่เอ็นดู    และถ้าลูกไม่ได้ทำตามชุดพฤติกรรมที่พ่อแม่กำหนดไว้   ลูกจะได้รับการต่อต้าน การลงโทษจากพ่อแม่   จากการสั่งสมประสบการณ์เรียนรู้ในวัยเด็กเช่นนี้ที่ได้รับการเรียนซ้ำย้ำเตือนปลูกฝังความคิดเรื่อง “ทำดีเพื่อได้ดีในชีวิต” จากครอบครัวไปสู่ชุมชนสังคมที่กว้างขวางขึ้น   จนหลักคิดชีวิตดังกล่าวกลายเป็นหลักคิดหลักเชื่อเป็น “พระกิตติคุณ” ของคนๆ นั้น

สิ่งที่ฝังอยู่ในสำนึกของเราคือ  “เราต้องทำดี”   เราต้องทำตามเกณฑ์ของพ่อแม่เมื่อเป็นเด็ก   ทำตามกฎเกณฑ์ของสังคมเมื่อโตขึ้นมา   และจึงไม่แปลกที่เราไม่รู้สึกว่า  การตกอยู่ใต้อำนาจและอิทธิพลของสังคมทันสมัยปัจจุบันเป็นการผิด   เพราะเป็นความคิดและพฤติกรรมที่เป็นไปตามกระแสสังคม   ไม่ว่าจะเสพติดบริโภคนิยมอย่างงอมแงม   ชีวิตตกลงในโคลนตมของ “เงินนิยม” อย่างไม่สามารถถอนตัวขึ้นได้    อีกทั้งการยึดความคิดผิดๆ เรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องของความเป็น “ปัจเจก” เหล่านี้ทำให้การที่คนหนึ่งคนใดจะเป็นคนดีมีศีลธรรมจริยา จึงเป็นเรื่องของ “ตัวใครตัวมัน”  เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะต้องจัดการตนเอง   โดยให้ “ใจปรารถนาของตน” เป็นตัวชี้นำทิศทางและเป้าหมายในชีวิตของตน

ด้วยเหตุนี้   จึงมีความพยายามในหลากหลายรูปแบบของมนุษย์   ที่จะพึ่งพิงและจัดการชีวิตด้วยตนเอง   แต่หลายต่อหลายคนพบสัจจะความจริงว่า   เราไม่มีกำลังชีวิตเพียงพอที่จะควบคุม จัดการ และเปลี่ยนแปลงภายในชีวิตของตนเองได้   ทั้งๆ ที่รู้ว่าจำเป็นต้องจัดการเปลี่ยนแปลง  และเมื่อลงมือพยายามจัดการเปลี่ยนแปลงก็พบว่า   ไม่สามารถที่จะมีพลังชีวิตเปลี่ยนแปลงความเป็นตัวตนแท้ของตนเองได้   เพราะ “เมล็ด” ที่หว่านลงในชีวิตจิตวิญญาณตั้งแต่เกิดกำลังสำแดงผลของมัน  เฉกเช่นเมื่อเราหว่านเมล็ดถั่วดำ  ต้นอ่อนที่งอกและเติบโตขึ้น จนออกดอกเกิดผลย่อมเกิดผลเป็นถั่วดำ   จะให้มันเกิดผลเป็นแตงกวาได้อย่างไร   นอกจากที่จะต้องรื้อแปลงถั่วดำออก  และหว่านเมล็ดแตงกวาลงไปใหม่เท่านั้น

การที่มีเพียงหลักศีลธรรม  แนวทางปฏิบัติธรรมจริยา  จึงไม่เพียงพอ  เพราะโดยหลักศีลธรรมและธรรมจริยาไม่มีพลังนำสู่การเปลี่ยนแปลงในรากฐานของชีวิตเราได้   ดังนั้น  เมื่อเราต้อง “พึ่งตนเอง”  ที่จะจัดการปฏิบัติตนตามหลักศีลธรรมจริยาเหล่านั้น   เราก็พบความจริงอีกว่า  เราไม่มีพลังพอที่จะจัดการความคิดและพฤติกรรมชีวิตของเราได้   เราไม่สามารถพึ่งตนเองในทุกเรื่องชีวิตได้

สำหรับคริสตชน  เราเชื่อว่าพระเจ้าทรงมีพลังแห่งความรักเมตตาที่จะ “รื้อถอนรากฐานชีวิตเดิมที่เติบโตจากเมล็ดที่หว่าน บ่มเพาะ ฟูมฟักมาตั้งแต่เกิดจนปัจจุบัน” ออก   แล้วหว่านพระวจนะของพระเจ้า  ซึ่งเป็นทั้งความเข้าใจและมุมมองใหม่ในชีวิต   และมีพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นทิศทางเป้าหมายในชีวิตของเรา (แทนใจปรารถนาของเรา)   การเปลี่ยนแปลงใหญ่เช่นนี้ต้องพึ่งพลังจากพระเจ้า   เรายอมรับว่าเราไม่สามารถพึ่งพิงกำลังความสามารถของตนเองในชีวิตได้   แต่พระเจ้าทรงรักเมตตาและพร้อมที่จะทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของเรา  และนี่คือพระกิตติคุณ  และนี่คือพระคุณของพระเจ้า

ด้วยเหตุนี้สำหรับคริสตชนแล้ว   เรายอมรับว่าตนไม่สามารถพึ่งตนเองได้ในทุกเรื่องของชีวิต  พระเจ้าทรงเป็นที่พึ่งสูงสุดในชีวิตทุกด้านทุกมิติของเรา   จึงไม่น่าแปลกใจที่พี่น้องศาสนาเพื่อนบ้านจะถามว่า “ทำไม คริสตชนจึงพูดถึงเรื่องการพึ่งพิงพระเจ้ามากมาย   จนดูไม่พึ่งตนเองเลย”

ตลอดวันนี้เราคงต้องใคร่ครวญว่า   เราจะยึดถือหลักเกณฑ์ศีลธรรมจริยา หรือ เราจะมีรากฐานชีวิตบนความเชื่อศรัทธา  ไว้วางใจ  และพึ่งพิงในพระเจ้า  ที่จะเป็นพลังหนุนเสริมให้ชีวิตของเราดำเนินไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น