30 พฤษภาคม 2555

วันนี้ท่านทำงานให้ใคร?

หลายคนบอกว่า ถ้ามีงานทำก็ขอบพระคุณพระเจ้าแล้ว   ในยุคที่เศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้  เพื่อนบางคนบอกผมว่า  ถ้าเราขืน “เลือก(งาน)มาก  จะยากนาน”   หรือ  หลายต่อหลายคนพยายามรักษางานที่ตนทำไม่ให้มีอันต้องหลุดลอยไปจากมือ   ถึงแม้จะบ่นว่าไม่พอใจเจ้านายมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

การทำงานของเรามิใช่เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของเรากับนายจ้างและเพื่อนร่วมงานของเราเท่านั้น  แต่เป็นเครื่องบอกชัดถึงความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าด้วย    สำหรับคริสเตียนแล้วในการทำงานอาชีพรวมไปถึงงานรับจ้างต่างๆ แท้จริงแล้วเป็นการกระทำเพื่อรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า   เราได้รับการวางรากฐานทางความเชื่อว่า  ไม่ว่านายจ้างของเราจะเป็นใคร หรือ เป็นคนอย่างไรก็ตาม   เจ้านายที่แท้จริงที่ใช้เราทำงานคือพระเยซูคริสต์   และผลการทำงานของเราแต่ละคนจะทำให้รู้ว่าใครคือเจ้านายตัวจริงของเรา   พระคัมภีร์บอกเราไว้ชัดเจนว่า “ไม่ว่าพวกท่านจะทำสิ่งใด ก็จงทำด้วยความเต็มใจเหมือนทำถวายองค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่เหมือนทำต่อมนุษย์” (โคโลสี 3:23 ฉบับมาตรฐาน)

นั่นหมายความว่า เรามิใช่คนทำงานที่ทำงานดีทำงานหนักเมื่อทำต่อหน้าเจ้านายที่ว่าจ้างเราเท่านั้น  “...แต่ทำด้วยจริงใจโดยความเกรงกลัวองค์พระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 22)   นี่หมายความว่าในการทำงานของเราต้องกระทำด้วยสำนึกในความคิดของเราเสมอว่า   ที่เราทำงานมิใช่พยายามทำงานให้ผ่านๆ ไปเท่านั้น   แต่ทำให้ดีที่สุด ให้เกิดคุณค่าสูงสุดเพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า   

คนของพระเจ้าเมื่อทำงานจะมีภาพของพระคริสต์อยู่ข้างหน้าการทำงานของตนเสมอ  ไม่ว่าจะเป็นโครงการ  งานตามคำสั่ง  หรืองานประจำที่ต้องทำให้สำเร็จในแต่ละสัปดาห์   สิ่งตอบแทนที่เราจะได้รับจากการทำงานของเรามิเพียงแต่ค่าจ้าง เงินเดือน  ค่าแรงของเราเท่านั้น   แต่เรายังเชื่อมั่นว่าเราได้รับพระพรที่มากกว่าเงินทองจากองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย   เมื่อเราทำงานอย่างดี   เราจะกระทำด้วยการชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้า   ไม่ว่านายจ้างของเราจะชื่นชม ยอมรับ  และเห็นผลงานที่ดีเยี่ยมนั้นหรือไม่ก็ตาม

ดังนั้น  ในวันนี้  ในสัปดาห์นี้ให้เรามุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานให้เกิดผลดีมีคุณค่าสูงสุด   จงเป็นคนทำงานที่ดีและทำดีที่สุดในงานที่ท่านทำ   แต่รู้ตระหนักชัดว่า   งานทั้งสิ้นที่ท่านทำนั้น  “ท่านกำลังรับใช้พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 24)

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญและสนทนาในกลุ่ม

1) ท่านเคยมีประสบการณ์การทำงานอาชีพด้วยสำนึกในการถวายเกียรติแด่พระเจ้าหรือไม่?   เป็นงานอาชีพอะไร?   เกิดผลอย่างไรบ้าง?

2) จากประสบการณ์ของท่าน   การทำงานอาชีพที่สำนึกเสมอว่าเป็นการทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า   ให้ผลที่แตกต่างจากการทำงานอาชีพเท่านั้นอย่างไร?   ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

3) โปรดให้คำแนะนำว่า  เราจะตระหนักรู้เสมอในความคิดจิตใจของเราว่า  เราทำงานอาชีพเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าได้อย่างไร?  (มีวิธีการอย่างไรบ้าง?)

4) วันนี้   ท่านจะทูลอธิษฐานต่อพระเจ้าในอาชีพการงานที่ท่านต้องกระทำว่าอย่างไรบ้าง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

28 พฤษภาคม 2555

อิทธิพลบริโภคนิยม ที่ทำให้ชีวิตครอบครัวในปัจจุบันแตกแยกฉีกขาด


ครอบครัวหย่าร้าง แตกแยก  แยกทางกันเดิน  แยกบ้านกันอยู่...  กลายเป็นเรื่องที่คนในยุคปัจจุบันคุ้นชินทั้งๆ ที่ไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นกับชีวิตคู่ของตน   มีคำแนะนำ การให้คำปรึกษามากมาย  และต่างมีความเห็นว่า   คนใดคนหนึ่งในคู่ชีวิตจะต้องเปลี่ยนนิสัย ท่าที หรือ เปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นปัญหา   แต่ที่พบเสมอคือ ต่างคนต่างโยนกลองให้อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นคนเปลี่ยนแปลง!

แต่ผมกลับเห็นว่า  รากเหง้าของปัญหาไม่ได้อยู่ที่คู่สามีภรรยาคนใดคนหนึ่งเท่านั้น   เพราะเบื้องหลังเจ้าอิทธิพลที่ก่อความเลวร้ายแก่ชีวิตคู่คือ  อิทธิพลที่เกิดจากอำนาจแห่งบริโภคนิยมในปัจจุบัน   ทั้งๆ ที่ไม่ทันจะรู้ตัว  ทั้งสามีและภรรยาต่างก็ถูกอิทธิพลของบริโภคนิยมครอบงำจนดิ้นไม่หลุด   แล้วเจ้าตัวก็ประยุกต์วิธีคิดและนำอิทธิพลของบริโภคนิยมไปปฏิบัติและกระทำกับคู่ชีวิตของตน

มาร์ก และ เรน  ทั้งคู่อายุ 40 กว่า   แต่งงานกันมาแล้ว 15 ปี  ในช่วงที่อยู่ต่อหน้าผู้ให้การปรึกษาเรื่องชีวิตคู่  ทั้งสองดูเหมือนกำลังพ่นพิษใส่กันแบบไม่ลดราวาศอก

มาร์ก ทำหน้าผากย่น หัวคิ้วมาชนกัน จ้องมองไปที่ภรรยาของเขา  แล้วหันมามองที่ แดน ผู้ให้การปรึกษา แล้วพูดว่า “แดน คุณรู้ไหม  ผมทนไม่ได้ที่จะอยู่กับเรนต่อไป   ถ้าผมรู้ว่าชีวิตแต่งงานมันเป็นอย่างงี้   ผมจะไม่แต่งงานเด็ดขาด   แต่ตอนนี้เรามีลูก 4 คน ไม่มีทางเลือก ขาข้างหนึ่งของผมติดในกับดักเสียแล้ว...”  มาร์กพรั่งพรูคำพูดที่ร้อนแรงด้วยโทสะ   และเห็นได้ชัดเจนว่า เขาพยายามใช้คำพูดที่เหน็บแทงให้ภรรยาของเขาได้รับความเจ็บใจ

เรน ทำท่าน่าสะอิดสะเอียน “แต่งงานรึ?”   คุณคิดว่าเราแต่งงานกันรึ?   ถ้าเราแต่งงานกันจริง   คุณจะไม่แสดงพฤติกรรมเหล่านี้เลย”  เธอพูดด้วยน้ำเสียงที่ดูถูก  “คุณกำลังมีผู้หญิงคนใหม่ที่นิวเม็กซิโก   ถ้าคุณคิดจะคบกับผู้หญิงคนนั้นต่อไป  ฉันขอหย่าขาด”

มาร์ก เพิ่มแรงกระทบกระเทียบแรงยิ่งขึ้น “แต่คุณไม่ใช่หรือ ที่เป็นผู้ที่ทำให้ฉันไปหาเธอ  แล้วเธอให้ความสนใจในตัวฉัน  เมื่อฉันอยู่ใกล้เธอ  เธอเอาใจใส่ฉัน   ต่างกับคุณ ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ฉันเจ็บปวด  แค่นั้นยังไม่พอ  คุณถีบฉันให้ออกนอกบ้าน   แล้วคุณจะให้ฉันทำยังไง?   ให้ฉันรออยู่นอกบ้าน  จนคุณอารมณ์ดี แล้วมาเชิญฉันกลับเข้าบ้านเช่นนั้นหรือ?

แดน ผู้ให้การปรึกษานั่งเงียบฟังทั้งสองตักโคลนคำพูดสาดใส่กัน   แดนรู้ว่าการพูดจาภาษาชีวิตคู่แบบนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

เรน หันหน้ามาที่แดน มีน้ำไหลรินออกจากตา  แล้วพูดด้วยเสียงนุ่มนวลว่า  “คุณแดนค่ะ   ดิฉันรู้สึกเหนื่อยกับการรอให้เขาทำในสิ่งที่เขาเคยบอกดิฉันว่าจะทำ”   แล้วเรนหันศีรษะไปเผชิญหน้ากับสามี   “เมื่อคุณอยู่ที่บ้านกับเรา  คุณจะตื่นแต่เช้าแล้วไปที่สำนักงาน   แล้วคุณใช้เวลาทั้งวันทำงานกับพวกผู้หญิง   แต่ปล่อยให้ฉันติด  แหง็กอยู่ที่บ้านกับลูกๆ   แล้วคุณไปกินข้าวเย็นกับผู้หญิงกลุ่มนั้น   ฉันเหนื่อยกับความรู้สึกถูกทอดทิ้ง   ฉันตัดสินใจแล้วว่า  ในเมื่อคุณไม่มีเวลาที่จะอยู่บ้าน  แล้วออกไปกับผู้หญิงอื่น   เราควรจะหย่าขาดอย่างเป็นทางการ   และนี่คือสาเหตุที่ฉันไล่คุณออกจากบ้าน  ฉันหวังว่าคุณจะสำนึกว่าได้สูญเสียอะไรไป  และกลับมาหาฉันอีกครั้งหนึ่ง   แต่สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย   ดูคุณดีอกดีใจเสียอีกที่ได้ออกไปจากบ้าน    อย่างไรก็ตาม  เมื่อเราอยู่ด้วยกัน   ชีวิตสมรสของเราดูเหมือนไม่เหลือความรักเยื่อใยต่อกัน   คุณรู้ไหมว่ามันทำให้ฉันรู้สึกอย่างไร?   ฉันต้องการผู้ชายที่ให้ความสำคัญกับภรรยาของเขาเป็นอันดับหนึ่งในชีวิตของตน   พูดด้วยความสัตย์มาร์ก  เมื่อเราแรกพบเมื่อ 20 ปีก่อน  ฉันเชื่อว่าคุณเป็นผู้ชายคนนั้น   แต่ตอนนี้ฉันไม่รู้ว่าคุณเป็นคนแบบไหนกันแน่”

มาร์ก โกรธจัด พยายามหายใจลึก แล้วพยายามที่จะรักษาท่าทีที่มีอารมณ์เย็นไว้   “แดน ผมทำงานในวงการธุรกิจแฟชั่น  คนส่วนใหญ่ที่ผมทำงานด้วยเป็นเกย์และผู้หญิง   ซึ่งช่วยไม่ได้   แต่ทำไมเรนไม่สนับสนุนในงานธุรกิจที่ผมทำอยู่?   และต้องยอมรับความจริงนะครับ   ผมเป็นผู้รับผิดชอบรายจ่ายทั้งหมด  บ้านหลังใหญ่  ค่าเล่าเรียนของลูกในโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียง   ค่ายาค่าหมอ  อาหาร  เสื้อผ้า...ให้ตายเถอะ  ทุกอย่างทุกสิ่งทุกคนผมรับผิดชอบหมด   ไม่เห็นมีใครโผล่หัวมาช่วยเลย   ปล่อยให้ผมเป็นอ้ายงั่งหาเลี้ยงอยู่คนเดียว   สิ่งที่เรนทำกับผมเหมือนกับว่าผมต้องชดใช้หนี้แก่เธอ  เมื่อเธอถีบไล่ผมออกจากบ้าน  ผมต้องไปเช่าอพาร์ตเม้นท์  แน่นอนผมมีเพื่อนหญิงอยู่ด้วย   เพราะผมต้องการคนที่อยู่เคียงข้าง   คนที่ทำให้ผมรู้สึกว่าผมมีความสำคัญสำหรับเธอ   ผมทนไม่ได้กับคนที่คอยก่อกวน ขี้บ่น  สร้างแต่ความน่ารำคาญต่อไปแล้ว!

เรน หันหน้าไปอีกทางหนึ่ง ดังนั้น มาร์กจึงไม่เห็นว่าเธอร้องไห้   จากนั้นเธอได้พูดประโยคหนึ่งที่ผมเชื่อว่า  หลายคนเคยใช้ประโยคนี้ หรือ ได้ยินจากคู่ชีวิตพูดประโยคนี้

“มาร์ก  แล้วฉันล่ะ?   คุณไม่คิดถึงความต้องการของฉันบ้างเลยรึ?”

นี่เป็นประโยคอมตะแห่งยุค “ความต้องการของฉัน   ฉันต้องการ  ฉัน...ต้องการ”  ใช้เป็นทั้งคำบ่นและเรียกร้อง   แต่รู้ไหมว่า   คนที่ได้ยินก็มีเพียงคนบ่นคนพูดประโยคนี้เท่านั้น

สำหรับแดนแล้ว  เขาเห็นว่า  ความยุ่งยากสับสนในเรื่องราวของมาร์กและเรนเกิดจากการที่ทั้งสองคนต่างมีวิธีการที่จะงัดให้ชีวิตครอบครัวต้องล้มคะมำลง   ดูเหมือนว่าทั้งสองไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นที่เขาต้องการในชีวิต   ทั้งๆ ที่แดนให้การปรึกษาแก่คู่นี้มาเป็นเวลาสองปีแล้ว   แดนเห็นว่า ความก้าวหน้าไปไม่ถึงไหน   แต่ถ้าจะให้ชีวิตของคู่นี้ไม่ลงเอยด้วยการ “หย่า”  แดนคิดว่ามีสิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้น

เขาทั้งสองจะต้องเปลี่ยนแปลงหรือพลิกฟื้นวิธีคิดของตนเองใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งมาร์กและเรนจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับชีวิตแต่งงานของตนใหม่   ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนท่าที นิสัย  พฤติกรรม การกระทำของคนทั้งสอง หรือปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกันเลย   เพราะการเปลี่ยนแปลงที่พฤติกรรม หรือ การกระทำนั้นเป็นการเปลี่ยนที่ปลายเหตุ  เป็นการเปลี่ยนที่ผิวเผินฉาบฉวย   เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น   ในวิกฤติชีวิตเช่นนี้พระเจ้าทรงเรียกให้เราพึ่งวางใจในพระองค์   มิใช่หวังพึ่งการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราเห็นว่า “ผิด” หรือ “เลว”   แต่สิ่งที่สำคัญคือชีวิตของเราเอง   ความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกัน  เราได้เชื่อพึ่งและวางใจพระองค์อย่างไร  สำหรับเรื่องที่อยู่เหนือความสามารถที่เราจะเปลี่ยนแปลงได้   เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปเปลี่ยนแปลง แก้ไข  หรือทำให้สิ่งที่เลวร้ายดูดีขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและจำเป็นมิใช่การเปลี่ยนแปลงอาการภายนอก   แต่เป็นการปรับเปลี่ยนภายในที่ “มุมมองชีวิต”  มุมองต่อตนเอง  มุมมองของเราต่อคู่ชีวิต   และมุมมองของเราต่อชีวิตคู่หรือชีวิตสมรสของเรา   รวมไปถึงมุมมองคู่ชีวิตของคุณในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง   ไม่ว่าในสถานการณ์ที่เพิ่งสู้รบปรบมือกันเมื่อวานนี้กับคู่ชีวิต   หรือลูกวัยรุ่นของคุณกบฏไปในทางที่เลวร้าย   หรือเกิดการไม่สัตย์ซื่อหักหลังกันในครอบครัว   เมื่อเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในที่นี้เราหมายถึงการแสวงหาและพิจารณาถึงคุณภาพชีวิตที่เราอยู่ร่วมกันในครอบครัว

นี่คือสิ่งที่มาร์ก และ เรน จำเป็นต้องทำ   ทั้งสองจะต้องกลับมามองด้วยมุมมองใหม่ ด้วยสายตาใหม่(อย่างสิ้นเชิง)ถึงชีวิตที่อยู่ด้วยกัน   แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงมุมมองชีวิตยังไม่เกิดขึ้น   วิธีการมากมาย  เครื่องมือที่หลากหลาย  หรือทักษะที่เรียนรู้มาเพื่อจะปกป้องรักษาชีวิตสมรสก็จะไม่เป็นประโยชน์อันใดเลย   ทำไมถึงว่าเช่นนั้น?

เพราะทั้งสองต่างมีมุมมองกันและกันว่าเป็น “สินค้า” (ผลิตภัณฑ์)  ที่เขาคิดว่าเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากสินค้าตัวอื่น หรือ ต้องดีกว่าสินค้าตัวอื่น  แต่เอาเข้าจริงๆ เขากลับพบว่าคู่ชีวิตของเขาเป็น “สินค้ามีตำหนิ  เป็นผลิตภัณฑ์ที่ชำรุด”  ดังนั้นเขาต้องแสวงหาวิธีการ เครื่องมือ หรือทักษะต่างๆ เพื่อใช้ในการพยายาม “ปรับปรุง แก้ไข” ผลิตภัณฑ์ หรือ สินค้า(คู่ชีวิต)ที่ได้มานี้   คือเขาคิดว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตของคู่สมรส  มันเหมือนกับสินค้าที่บกพร่อง มีตำหนิที่อีกฝ่ายหนึ่งพยายามแก้ไขอีกฝ่ายหนึ่ง  นั่นเป็นกลลวงสร้างความสับสนหลงทางแก่เรา  ที่เราสาละวนทนทุกข์อยู่กับการพยายามแก้ไขอีกคนซึ่งเป็นความพยายามที่ไม่มีทางเป็นไปได้

หมอลูกาได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งว่า  มีฝูงชนจำนวนมากติดตามพระเยซู   พระองค์ได้เล่าเรื่องหนึ่งที่มีความหมายอย่างมากถึงการติดตามพระคริสต์และการมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินของพระเจ้านั้นหมายความว่าอย่างไรกันแน่
“ถ้าใครมาหาเรา และไม่ชังบิดามารดา บุตรภรรยา และพี่น้องชายหญิง  แม้แต่ชีวิตของตนเอง คนนั้นจะเป็นสาวกของเราไม่ได้   และใครก็ตามที่ไม่ได้แบกกางเขนของตนตามเรามาคนนั้นจะเป็นสาวกของเราไม่ได้   ในพวกท่านมีใครบ้างเมื่อปรารถนาจะสร้างตึก   จะไม่นั่งลงคิดราคาดูเสียก่อนว่า  จะมีเงินพอที่จะสร้างให้สำเร็จได้หรือไม่?   เกรงว่าเมื่อวางรากฐานแล้ว  และทำให้สำเร็จไม่ได้  ทุกคนที่เห็นก็จะเยาะเย้ยเขาว่า คนนี้เริ่มก่อ แต่ทำให้สำเร็จไม่ได้ (ลูกา 14:25-30 ฉบับมาตรฐาน)

พระเยซูคริสต์ตรัสว่า ก่อนที่เราจะเริ่มมีสัมพันธภาพติดตามพระองค์  เราจำเป็นคิดค่าราคาที่เราจะสัมพันธ์กับพระองค์   พระองค์อธิบายว่า ในการที่จะติดตามพระองค์ค่าราคาที่เราจะต้องจ่าย หรือ สิ่งที่เราจะต้องสูญเสียไปคือครอบครัว  คนสนิทชิดเชื้อ คนใกล้ชิด   สูญเสียความเป็นตนเองที่เคยเป็นมา  สูญเสียนิสัยใจคอเดิมๆ ของเรา   จะต้องจ่ายค่าราคามากมายทีเดียว

การสมรสเป็นเครื่องมือหนึ่งของพระเจ้าที่ใช้ในการสร้างแผ่นดินของพระองค์   และเรื่องการแสวงหาความเป็นไปได้ในการมีชีวิตร่วมกันในแผ่นดินของพระเจ้า   เราต้องเตรียมพร้อมที่จะมีชีวิตที่เสียสละ  พร้อมที่จะให้ มิใช่พร้อมที่จะได้  เราต้องเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนมุมมองชีวิต(หรือชีวะทัศน์)  และเปลี่ยนเป้าประสงค์ที่เราจะมีชีวิตอยู่ร่วมกัน

แต่เนื่องจากปัจจุบันเรามีชีวิตอยู่ใต้อิทธิพลของกระแสบริโภคนิยม   เราจึงไม่เห็นความสำคัญของการเรียกร้องของพระเยซูคริสต์ข้างต้น   เราถูกครอบงำหรือเต็มใจเวียนว่ายในกระแสบริโภคนิยม   ดังนั้น วิธีคิด ความคิด และมุมมองชีวิตของเราจึงชุ่มโชกด้วยอิทธิพลของบริโภคนิยม

บริโภคนิยมมีมุมมองชีวิตสมรสเพื่อตนเอง เพื่อความต้องการแห่งตน  เพื่อความสำเร็จในชีวิตของตน   ถ้าคู่ชีวิตคนใดเริ่มมองเห็นแล้วว่า ชีวิตจะมิได้สำเร็จหรือเป็นไปอย่างที่คาดหวัง  “ผู้บริโภค” คนนั้นก็เริ่มจะมองหาความสัมพันธ์ใหม่ (สินค้าตัวใหม่)  หรือใช้วิธีการต่างๆ เพื่อที่จะสำเร็จตามความคาดหวังของตน   บ้างก็แต่งตัวดึงดูดความสนใจมากขึ้น   ทำบางอย่างที่ทำให้รู้สึกดีกับตนเอง   หาทางที่จะชี้ชัดว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก  หรือ มั่นใจว่าตนเองสามารถควบคุมสิ่งนั้นๆ คนนั้นๆ ได้

ชีวิตการแต่งงานของมาร์กและเรนเป็นตัวอย่างชัดของ “การสมรสตามอิทธิพลของบริโภคนิยม”   ดูได้จากคำพูดคำบ่นของคนทั้งสอง

มาร์กให้เหตุผลถึงการที่เขาไปมีหญิงคนใหม่ที่นิวเม็กซิโก  เขากล่าวว่า “เพราะผมต้องการคนที่อยู่เคียงข้าง   คนที่ทำให้ผมรู้สึกว่าผมมีความสำคัญสำหรับเธอ   ผมทนไม่ได้กับคนที่คอยก่อกวน ขี้บ่น  สร้างแต่ความน่ารำคาญต่อไปแล้ว!  มาร์กต้องการคนที่ชื่นชมในตัวเขา   และไม่ต้องการคนมาทวงถามให้ทำตามคำสัญญาเก่าๆ ในอดีตของตน   นอกจากนั้นแล้วมาร์กต้องการเป็นฝ่ายถูก และเป็นคนที่ควบคุมสิ่งต่างๆ   ดังนั้น มาร์กจึงฉวยโอกาสที่เรนไล่เขาออกจากบ้านเป็นข้ออ้างเพื่อความชอบธรรมที่เขาออกไปอยู่กับหญิงอื่น

เรน เคยกล่าวว่า “...ฉันเหนื่อยกับความรู้สึกถูกทอดทิ้ง   ฉันตัดสินใจแล้วว่า  ในเมื่อคุณไม่มีเวลาที่จะอยู่บ้าน  แต่มีเวลาออกไปกับผู้หญิงอื่น   เราควรจะหย่าขาดอย่างเป็นทางการ   และนี่คือสาเหตุที่ฉันไล่คุณออกจากบ้าน  ฉันหวังว่าเธอจะสำนึกว่าได้สูญเสียอะไรไป  และกลับมาหาฉันอีกครั้งหนึ่ง”  เรน ก็ต้องการที่จะมีความรู้สึกดี(ให้สามีกลับมาง้อ) เธอหวังที่จะมีชีวิตที่หวานชื่น  แต่เมื่อไม่ได้ดั่งใจหวัง  เธอจึงใช้อำนาจในการควบคุมสถานการณ์ด้วยการไล่มาร์กออกจากบ้าน

น่าสังเกตว่า ค่าราคาที่มาร์กและเรน เต็มใจที่จะจ่ายเพื่อที่จะสามารถควบคุม(เอาเปรียบ)อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อตนจะได้สิ่งที่ต้องการ  ดั่งคำแก้ตัวที่เหลวไหลเห็นแก่ตัวของทั้งสอง   คู่สมรสคริสเตียนหลายคู่ที่มีชีวิตแต่งงานอย่างมาร์กและเรน   คือเป็นชีวิตแต่งงานที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของบริโภคนิยม   เพราะเขามิได้เข้าใจถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในเรื่องชีวิตแต่งงานของเขา

บางสิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากบริโภคนิยม

ทั้งมาร์กและเรน กำลังเข้าสู่วงจรมัจจุราชของชีวิตแต่งงานใต้อิทธิพลบริโภคนิยม   สิ่งที่เขาพูดเขาอ้างเขาเรียกร้องทั้งหมดคือ “ความต้องการของฉัน”  แต่เขาหลงทางจากความจำเป็นต้องการที่แท้จริงในชีวิต  เขาต้องค้นให้พบว่า ความเข้าใจใหม่ว่าชีวิตแต่งงานสำหรับประชากรในแผ่นดินของพระเยซูคริสต์คืออะไรแน่

วันนี้พระคริสต์ตรัสถามท่านว่า “การปกครองของเราอยู่ในส่วนใดในชีวิตแต่งงานทั้งสิ้นของเจ้า?   เจ้ามีแต่ความต้องการส่วนตัวของเจ้า  ความพึงพอใจของเจ้าเอง  สิ่งเหล่านี้นำถึงจุดจบในชีวิตของเจ้า   ถ้าเจ้าจะเอาแต่ความต้องการและความพึงพอใจในตนเองชีวิตแต่งงานก็ไม่มีความยั่งยืน มีแต่จะพังพินาศ  ที่สำคัญเจ้าต้องตระหนักชัดว่าชีวิตแต่งงานมิใช่สินค้าที่จะมาซื้อขาย ต่อรองแลกเปลี่ยน ยื่นหมูยืนแมวกันได้   ทางออกที่ดีคือ จงยึดมั่นที่จะอยู่ด้วยกัน  ยอมต่อกันและกันเพื่อเสริมสร้างนำไปสู่ชีวิตแต่งงานที่เป็นหนึ่งเดียวกัน   แม้การกระทำเช่นนั้นจะสร้างความไม่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง  และรู้สึกว่าไม่สำเร็จตามความคาดหวังเป็นเวลายาวนานก็ตาม   จงทิ้งชีวิตแต่งงานใต้อิทธิพลบริโภคนิยม   และติดตามเรามา   เราจะเสริมสร้างเจ้าให้ติดสนิทกับบางสิ่งที่ไม่ทำให้ชีวิตของเจ้าต้องติดขัดติดหล่ม”

“เราไม่มีโปรแกรม หรือ ชุดปฏิบัติการ  หรือ สูตร หรือ รายการชี้นำสู่ความสำเร็จในชีวิตแต่งงาน   เราต้องการให้เจ้าทั้งสองทุ่มชีวิตเข้าสู่กระบวนการใหม่แก่กันและกัน   วางอดีตไว้ข้างทางแห่งชีวิต  แล้วอย่าหันกลับไปมองหามันอีก   แม้แต่ที่จะพูดถึงมันก็อย่าทำ   เราเสนอการเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิตอีกครั้ง ให้เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้  ใหม่ทั้งสิ้น  เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน  ไม่มีสิ่งใดที่จะเสมอเหมือนได้...”

ยอมด้วยความมั่นใจ

คำถามที่อยู่เบื้องหน้าของเราคือ  เราจะยอมรับข้อเสนอของพระคริสต์ หรือ เราจะยอมให้ชีวิตแต่งงานอันมีค่าของเราและของคนชั่วอายุต่อไปล่มจมลงไปพร้อมกับความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากนาวาบริโภคนิยมหรือ?   ให้เราเพ่งพินิจความแตกต่างของชีวิตแต่งงานสองขั้วคิดนี้ ในประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้

ชีวิตแต่งงานตามความคิดแบบบริโภคนิยมกระซิบในจิตสำนึกของเราว่า “ฉันจะเป็นอย่างที่ฉันควรจะเป็นตราบเท่าที่เธอเป็นอย่างที่เธอควรจะเป็น”(ในสายตาของฉัน หรือ ตามความคิดต้องการของฉัน)

ส่วนมุมมองชีวิตแต่งงานตามหลักคิดแห่งแผ่นดินของพระเจ้ากล่าวว่า “ฉันจะเป็นอย่างที่ฉันควรจะเป็นไม่ว่าเธอจะเป็นเช่นไร”

ถ้าคุณเป็นอย่างผมอาจจะถามว่า “ทำไมฉันจะต้องเป็นอย่างที่ควรจะเป็น  ในเมื่อคนอื่นเอารัดเอาเปรียบฉัน?   หรือ  ทำไมฉันจะต้องเปลี่ยนในเมื่อคู่ชีวิตของฉัน(อาจจะ)ไม่ต้องการเปลี่ยน?  หรือ   ทำไมฉันจะต้องทำงานทั้งหมดในเมื่อคู่ชีวิตของฉัน(อาจจะ)ไม่ยอมทำ   (อาจจะ)ปล่อยให้ฉันทำงานหนักอยู่คนเดียว?”   คำถามเช่นนี้หยั่งลงอยู่ในความกลัวและในความไม่รู้ชัด   และเป็นส่วนใหญ่ในความคิดแบบบริโภคนิยม

ในที่นี้หมายความว่า  ในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภคคนหนึ่งเราต้องการสินค้าที่ให้ความพึงพอใจแก่เรา   เราต้องการรู้อย่างแน่ชัดว่าเราจะได้รับอะไร   สินค้ามีประสิทธิภาพอย่างไร   ใครจะนำสินค้านั้นมาถึงเรา   สินค้าจะมาถึงเมื่อใด   แล้วราคาเท่าใด   กล่าวคือ เราต้องการที่จะควบคุมทุกอย่างให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้   เราต้องการสินค้าที่มีสมรรถนะสูงที่สุด   และอำนวยความสะดวกสบายแก่เราสูงสุด   นอกเหนือจากนี้คือสิ่งที่เราไม่รู้  ความไม่แน่นอน   และความไม่สะดวกสบาย   ดังนั้น   เราจึงพยายามที่จะรักษาและควบคุมค่าใช้จ่ายและขจัดความเสี่ยงที่อาจจะมี   หรือจัดการกับสิ่งที่เรายังไม่รู้

โดยส่วนลึกหรือโดยสันดานในความเป็นคนแล้วเราไม่ต้องการให้มีอุบัติเหตุแต่เราต้องการความมั่นใจ  

พระเจ้าทรงเรียกผู้ที่มีความปรารถนาที่จะอยู่กินเป็นหนึ่งเดียวกันในชีวิตแต่งงาน   ให้ร่วมชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันตามสายพระเนตร(ตามมุมมอง)ของพระเจ้า  คือสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับการที่เรา “ยอม” แทนที่จะ “ควบคุม”  ในชีวิตแต่งงานของเรา  เมื่อเรายอมให้กับคนที่เราไม่รู้จัก(ทั้งหมด)   เมื่อเราเริ่มเปิด เราได้สัมผัสกับความลุ่มลึกของความล้ำลึก   ข้อพระคัมภีร์ที่ผมชอบเกี่ยวกับความคิดเช่นนี้พบในพระธรรมเอเฟซัส   และตัวอย่างภาพชีวิตแต่งงานแบบแผ่นดินของพระเจ้ามีความแตกต่างจนตรงกันข้ามกับภาพชีวิตแต่งงานแบบบริโภคนิยม

เพราะการยำเกรงพระคริสต์  สามีภรรยาจึงยอมเชื่อฟังกันและกัน  เราจึงสัมพันธ์ต่อกันด้วยความสุภาพอ่อนโยน  และให้การเคารพนับถือกันและกัน

ภรรยา  มีความเข้าใจและสนับสนุนสามีของตนเฉกเช่นที่ตนตอบสนองต่อพระคริสต์  สามีแสดงภาวะผู้นำต่อภรรยาเฉกเช่นที่พระคริสต์ทรงนำคริสตจักร   มิใช่ด้วยการกดขี่ข่มเหงวางอำนาจ  แต่ด้วยความรักทะนุถนอม   ดังนั้นภรรยาจึงยอมเชื่อฟังสามี  เหมือนคริสตจักรยอมเชื่อฟังพระคริสต์ที่ทรงเป็นผู้นำของคริสตจักร

สามี  ต้องรักภรรยาเหมือนรักร่างกายของตน   ดั่งพระคริสต์ทรงรักคริสตจักร  และประทานพระองค์เองเพื่อคริสตจักร  สามีจึงควรรักภรรยา และความรักนี้คือการให้  มิใช่การที่จะเอา  เฉกเช่นพระคริสต์ให้แม้แต่ชีวิตของพระองค์เองแก่คริสตจักร   สามีจึงควรให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ภรรยา   ให้สิ่งที่ทำให้เธอเป็นคนที่งดงาม   ทั้งเครื่องแต่งกาย และ ความบริสุทธิ์ในชีวิต   และนี่คือแนวทางที่สามีควรรักภรรยา   และการที่สามีภรรยากระทำสิ่งดีแก่กันและกันนั้นก็เป็นการกระทำสิ่งดีแก่ตนเองด้วย   เพราะทั้งสองเป็นกายเดียวกันในชีวิตแต่งงาน

แน่นอนครับ ไม่มีคนปกติคนใดที่ทำร้ายร่างกายของตนเอง  ใช่ไหม?   เขาจะปกป้อง  ดูแล เลี้ยงดู ใส่ใจ  และนั่นคือสิ่งที่พระคริสต์ทรงกระทำแก่เราผู้เป็นส่วนหนึ่งในคริสตจักร   “เพราะเหตุนี้เอง  ผู้ชายจะละบิดามารดาไปผูกพันอยู่กับภรรยา  และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน”  (อ่าน เอเฟซัส 5:21-31 ฉบับมาตรฐาน)

เมื่ออ่านพระคัมภีร์ตอนนี้ สิ่งที่กินใจคือ  สามีภรรยาควรกระทำต่อกันและกัน  เยี่ยงพระคริสต์กระทำต่อคริสตจักร  ที่ทรงกระทำผ่านความรัก  การให้เกียรติ  การนับถือ  และการให้   นี่เป็นภาพเปรียบเทียบเพื่อให้สามีมีท่าที และ กระทำต่อภรรยาด้วยการกระทำดังกล่าว  และให้ภรรยากระทำต่อสามีด้วยการให้เกียรติแก่สามี   เปาโลได้สั่งเราด้วยคำสอนของพระเยซูคริสต์ในเรื่องการคิดค่าราคา   ค่าราคาของพระคัมภีร์ทั้งสองตอนนี้สรุปได้เป็นคำเดียวกันคือ “ยอม”   ถ้าเราต้องการที่จะติดตามเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ เราต้อง “ยอม” มอบชีวิตทั้งสิ้นของเราแด่พระองค์แล้วมีชีวิตติดตามพระองค์   ถ้าชีวิตแต่งงานของเราจะได้รับพระพรสำหรับเราทั้งสอง  สำหรับครอบครัว  และสำหรับชุมชน   เราจะต้อง “ยอม” กันและกัน

แต่ในวัฒนธรรมและกระแสสังคมปัจจุบันสอนเราว่า  สิ่งที่มีค่าสูงสุดของเราคือการที่เราทำเพื่อตนเองและเป็นเจ้าชีวิตของตนเอง เราต้อง “ควบคุมกำกับ”  เราได้รับคำสอนที่ตรงกันข้ามกับพระคัมภีร์   พระเจ้าทรงเตือนเราว่า  คุณค่าสูงสุดในชีวิตของเราคือการที่เรา “ยอม” มอบกายถวายชีวิตของเราแด่พระเจ้า  แล้ว “ยอม” ให้ตนเองแก่กันและกัน   การที่เรายอมเป็นคนรับใช้ย่อมนำมาซึ่งพระพรที่ยิ่งใหญ่กว่าการคิดและทำตามอิทธิพลของบริโภคนิยมที่จะให้ตนได้   และสิ่งนี้เกี่ยวโยงกับชีวิตการแต่งงาน   การ “ยอม” นั้นตรงกันข้ามกับการแสวงหา “ความมั่นใจ”   การที่เราสามารถ “ควบคุม” สิ่งที่อยากได้ต้องการ  และการที่เราเชื่อว่า “เรารู้ทุกอย่าง”   ความจริงที่ต้องยอมรับ การที่คิดว่า “ตนรู้ทุกเรื่อง” เป็นอุปสรรคต่อการยอมรับความล้ำลึกในชีวิตแต่งงาน

ลองคิดดูว่า:   เรารู้ทุกๆ เรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าหรือ?   แน่นอนไม่รู้ทั้งหมด   สิ่งหนึ่งที่เราสามารถมั่นใจได้แน่นอนคือ เราไม่รู้ถึงความล้ำลึกของพระเจ้าทั้งหมด   อย่างที่ได้กล่าวไว้ในพระธรรมโยบ 11:7-12

แดนกล่าวว่า  พระเจ้าทรงเป็นรากฐานของชีวิต  และพระองค์สำแดงพระองค์ผ่านความลี้ลับ   พระลักษณะของพระเจ้าเช่นนี้เราสามารถสัมผัสค้นพบและมีประสบการณ์ความลี้ลับของพระองค์ได้โดยการที่เรายอมเข้าในชีวิตแต่งงาน   แทนที่เราจะแสวงหาความมั่นใจแต่เรากลับ “ยอม” มอบกายถวายชีวิตแด่พระองค์  และต่อกันและกัน   เราเปิดชีวิตของเรารับการทรงเสริมสร้างใหม่  ให้เราเลิกที่จะคิดว่าเรารู้ทุกอย่างในชีวิตแต่งงาน  รู้ชีวิตของตนเอง  ชีวิตของคู่สมรส  และชีวิตแต่งงาน หรือ ชีวิตที่อยู่ด้วยกันของเรา   แต่ด้วยการที่เรายอมรับเอาความล้ำลึกที่เราสามารถสัมผัสและมีประสบการณ์ได้ด้วย “การยอม” เปลี่ยนการมองชีวิตแต่งงานของเราตามวิธีคิดแบบแผ่นดินของพระเจ้า

ที่แดนกล่าวเช่นนี้ได้เพราะเป็นประสบการณ์ตรงของแดนที่ได้รับการทรงปกป้องชีวิตแต่งงานของเขาไว้  เขาเริ่มด้วยเปิดชีวิตเปิดโอกาสให้กับความล้ำลึกของชีวิตแต่งงาน   จากนั้น ความล้ำลึกได้ซึมซับเข้าไปในความคิดของเขาเกี่ยวกับเรื่องภรรยาของเขา...   ขั้นต่อมาเขาเริ่มยอมรับว่า เขาไม่สามารถรู้ได้ว่าภรรยาของเขาคิดอะไร  และก็ไม่รู้ว่าเธอจะมีปฏิกิริยาอย่างไรในเรื่องนั้นๆ...  จากนั้นก็สามารถที่จะยอมให้พระเจ้าแทรกการทรงเปลี่ยนแปลงจิตใจของเขาเป็นจิตใจที่ “ให้” โดยไม่คาดหวังการตอบแทน   จากนั้นก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเขาและคู่ชีวิต

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
เรียบเรียงจากบทความของ Dan Tocchini
เรื่อง The Consumerism versus the Kingdom
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

26 พฤษภาคม 2555

พระพรที่ไม่มีใครต้องการ


พระเยซูคริสต์ตรัสสอนว่า
“คนที่โศกเศร้าก็เป็นสุข  เพราะว่าเขาทั้งหลายจะได้รับการหนุนใจ”
(มัทธิว 5:4 ฉบับมาตรฐาน)

ถ้าคำสอนตอนนี้ของพระเยซูคริสต์เป็นสัจจะความจริง   นี่คงเป็นสัจจะความจริงที่มีความขัดแย้งในตัวและคงเป็นสัจจะความจริงที่มีความล้ำลึกต่อการเข้าใจของปุถุชนคนธรรมดาอย่างผมแน่   หมายความว่าอะไรกันแน่ ที่พระเยซูตรัสว่า “พระพรเป็นของคนโศกเศร้า”  หรือ “ความสุขเป็นของคนที่โศกเศร้า”   คำสอนที่แปลกประหลาดนี้หมายความว่าอะไรกันแน่!  คนโศกเศร้าที่ว่านี้เป็นใครกันแน่?   ทำไมคนๆ นั้นถึงโศกเศร้า?   แล้วเขาได้รับการหนุนใจอย่างไรบ้าง?

คำตรัสสอนนี้ทำให้ผมได้มีโอกาสคิดย้อนหลังถึงประสบการณ์ทั้งในชีวิตส่วนตัว และ ในชีวิตบางคนที่ผมเคยรู้จักคุ้นชิน   อาจารย์บางท่านรับใช้พระเจ้ามาด้วยความจงรักภักดีและสัตย์ซื่อ   แต่จู่ๆ ชีวิตของเขาพลิกเปลี่ยนไปอย่างกะทันหันจากหน้ามือเป็นหลังมือ   สูญเสียคู่ชีวิต  จนตนเองปรับตัวไม่ทันจนเกิดวิกฤติในความคิดและการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป   ศาสนาจารย์บางท่านรับใช้พระเจ้ามาตลอดชีวิตสุดท้ายต้องป่วยอย่างมากด้วยมะเร็ง   แล้วความสุขเป็นของคนเช่นที่กล่าวมานี้ได้อย่างไร

ผมเคยอ่านเรื่องราวของ ปีเตอร์ เบลคมอร์ (Peter Blakmore)  ศิษยาภิบาลคริสตจักรที่ โอ๊คปาร์ค อิลลินอยส์ (Harrison Street Bible Church in Oak Park, Illinois)  ในตอนนั้นท่านอายุ 42 ปี นั่งอยู่บนล้อเข็น  ตลอดชีวิตของท่านใช้ชีวิตในคริสตจักรแห่งนี้  ยกเว้นช่วงที่ไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยเท่านั้น   พ่อของท่านเป็นศิษยาภิบาลแห่งนี้กว่า 30 ปี   และท่านได้รับมรดกตกทอดรับใช้พระเจ้าในคริสตจักรแห่งนี้ต่อจากพ่อ

ในวันนั้น ศิษยาภิบาลปีเตอร์ร่วมในกลุ่มอธิษฐานโดยนั่งในรถเข็น   เนื่องจากท่านมีอาการเจ็บปวดมาเป็นเวลานาน   แต่แพทย์ก็ไม่สามารถตรวจพบสาเหตุของการเจ็บปวด   จนวันหนึ่งได้ตรวจพบเนื้องอก  จึงทำการตัดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ   ใช้เวลานานในการตรวจอย่างละเอียดและพบว่าเป็นเนื้อร้ายที่กำลังก่อตัวเป็นมะเร็ง  ท่านเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด  หวังที่จะรักษาแบบถอนรากถอนโคน   แต่ในวันนั้นท่านได้รับความเจ็บปวดอย่างมากจากมะเร็งดังกล่าว  ลูกคนโตต้องช่วยลูบไล้ข้างหลังของพ่อเมื่อเจ็บปวดมาก

เผชิญหน้ากับรังสีความโชติช่วงแห่งพระสิริของพระเจ้า

ในกลุ่มอธิษฐานในวันนั้น   ศิษยาภิบาลปีเตอร์เป็นผู้อธิษฐานคนสุดท้าย   ท่านอธิษฐานพอจับใจความได้ดังนี้  “...ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   เมื่อข้าพระองค์ตรวจพบว่า ข้าพระองค์เป็นมะเร็ง   สิ่งเดียวที่ข้าพระองค์ทูลขอต่อพระองค์คือ   ขอพระองค์ทรงใช้เหตุการณ์นี้ให้เกิดการถวายพระเกียรติแด่พระนามของพระองค์   ข้าพระองค์ขอบพระคุณพระองค์   ที่พระองค์ทรงตอบคำอธิษฐานมากมายล้นเหลือของข้าพระองค์   ถ้าเป็นไปได้แล้ว ข้าพระองค์อยากจะลุกขึ้นและสรรเสริญพระองค์   แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้   ข้าพระองค์ก็ยังจะถวายพระเกียรติแด่พระสิริของพระองค์จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต...”

ภายหลังการอธิษฐาน ได้มีผู้มาพูดคุยกับ ศบ.ปีเตอร์ เป็นการส่วนตัวได้พบว่า สุขภาพของท่านไม่ค่อยดี  เนื้อร้ายตอนนี้เป็นมะเร็งที่ปอดข้างขวา  แล้วลามไปที่กระดูกซี่โครงบางซี่  และนี่คือสาเหตุที่เขามีอาการเจ็บปวดมากขึ้น

ศบ.ปีเตอร์ บอกกับผู้มาขอพูดคุยด้วยว่า  หมอได้บอกท่านว่าตอนนี้ไม่รู้ว่าจะเป็นมะเร็งชนิดใดในสองชนิด   ถ้าเป็นชนิดแรก ท่านจะมีชีวิตไปได้อีก 2-3 สัปดาห์   แต่ถ้าเป็นมะเร็งชนิดที่สองก็จะมีชีวิตไปอีก 1-2 เดือน

ท่านบอกเรื่องราวเหล่านี้อย่างสงบ  ไม่มีอาการกลัวหรือตระหนกกังวล   ขณะที่พูดท่านยังยิ้มแย้มไปด้วย   ผู้พูดคุยด้วยตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่สนทนาด้วยกันสีหน้าของ ศบ.ปีเตอร์เปล่งปลั่ง  หน้าเหมือนทอแสงดั่งพระสิริของพระเจ้า   ตามที่เคยเกิดขึ้นกับโมเสสที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์   ศบ.ปีเตอร์ ท่านได้เผชิญหน้ากับพระเจ้า หน้าตาเปล่งปลั่ง   ในตอนนี้จึงไม่มีสิ่งอื่นใดที่สำคัญต่อท่านอีกแล้ว

สืบเสาะรอยพระบาทของพระเจ้าไม่พบ

ศบ.ปีเตอร์ บอกว่า เมื่ออาทิตย์แล้วเป็นอาทิตย์แรกที่ท่านกลับมาเทศนาอีกครั้งหนึ่ง   หลังจากที่ว่างเว้นไม่ได้เทศนาเป็นเวลา 7 สัปดาห์   แต่สมาชิกต้องช่วยกันอุ้มท่านนั่งลงในรถเข็น   แล้วนำท่านขึ้นไปที่ธรรมมาสน์  แต่ท่านก็พบว่าท่านมีพลังในชีวิตที่จะเทศนา   ท่านเทศนาเป็นเวลา 1 ชั่วโมง   ท่านเทศนาจากพระธรรมโรม 11:33  เรื่อง “ทางของพระองค์ก็เหลือจะสืบเสาะได้”   ท่านบอกว่าพระธรรมตอนนี้มีความหมายว่า  ท่านไม่สามารถที่จะสืบเสาะหา “รอยพระบาทของพระเจ้า”  กล่าวคือ เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าพระเจ้ามาจากไหน และก็บอกไม่ได้เช่นกันว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด   สิ่งที่ท่านรู้และบอกได้แน่นอนคือ  พระองค์อยู่กับท่านท่ามกลางความทุกข์ยากลำบากในชีวิตของท่าน

ห้องว่างเปล่า   ศิษยาภิบาลที่มาอธิษฐานร่วมกันต่างลาจากไปหมดแล้ว   ศบ.ปีเตอร์กล่าวเป็นประโยคสุดท้ายกับผู้ที่สนทนากับท่านว่า  “ตลอดชีวิตของผม ผมพูดถึงเรื่องพระคุณของพระเจ้า  และพยายามที่จะให้คนได้ยินถึงพระคุณของพระเจ้า   ตอนนี้พวกเขาสนใจสิ่งที่ผมพูด  เพราะว่าตัวผมได้พบสิ่งยากลำบากเหล่านั้นด้วยตัวของผมเอง  และบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า พระคุณของพระเจ้ามีเพียงพอในทุกสถานการณ์ลำบากในชีวิต”   ลูกชายของท่านเริ่มเข็นท่านออกจากห้องนั้น   ถึงแม้ท่านจะเจ็บปวดตัวมาก   แต่ท่านยังยิ้มและโบกมือลา

ในสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผมคิดถึงคำกล่าวของเปาโลที่ว่า “...ถึงแม้ว่าภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป  แต่สภาพภายในนั้นก็ได้รับการเปลี่ยนใหม่ทุกๆ วัน”  (2โครินธ์ 4:16)  

แต่คำถามก็ยังค้างคาใจผมอยู่   “ทำไม ศบ.ปีเตอร์ จะต้องด่วนตาย...ทั้งๆ ที่อายุยังไม่เท่าไหร่   และสิ่งที่ท่านจะทำแก่โลกก็ยังมีอีกมากมาย?

นี่เป็นความล้ำลึก ที่พระเจ้าเท่านั้นทรงรู้  ความพยายามของมนุษย์ที่จะพยายามจะอธิบายสิ่งเหล่านี้มักประสบกับความผิดพลาดคลาดเคลื่อน   คำตอบต่อคำถามที่ว่าทำไมนั้น มีคำตอบแน่นอน  แต่ตอนนี้เรายังไม่รู้ถึงคำตอบดังกล่าว 

คำตอบต่อคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบ  อาจจะสามารถตอบอย่างที่พระเจ้าทรงตอบโมเสสว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” (อพยพ 3:14 ฉบับมาตรฐาน)   เป็นคำตอบที่คนถามหลายคนยังต้องการคำอธิบายคำตอบนี้   เพราะคำตอบจากพระเจ้านั้นเป็นคำตอบที่เป็นบุคคล   มิใช่คำอธิบายด้วยหลักการเหตุผล   โมเสสค่อยๆ เข้าใจพระเจ้ามากขึ้น   จากการที่พระองค์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในเหตุการณ์ต่างๆ   ทำให้โมเสสและชนอิสราเอลรู้จักความเป็นพระเจ้าของพระองค์มากยิ่งขึ้น “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น”   บางท่านคงยังมีคำถามในใจว่า  “ตอบแบบนี้มันยังไม่พอ  ขอตอบแบบตรงไปตรงมาได้ไหม?”   ถ้าความเป็นพระเจ้าเป็นคำตอบที่ยังไม่เพียงพอแล้ว   คำตอบอะไรอีกล่ะที่จะเพียงพอสำหรับคำถามในใจของท่าน?

พระราชกิจแห่งการหนุนใจของพระเจ้า

“คนที่โศกเศร้าเป็นสุข   เพราะว่าเขาทั้งหลายจะได้รับการหนุนใจ”   พระคัมภีร์ได้เปิดเผยถึงสัจจะความจริงในพระราชกิจแห่งการหนุนใจจากพระเจ้า

1. พระเจ้าผู้ทรงเคียงข้างผู้ที่หัวใจแตกสลาย

ในสดุดี 34:18 ผู้ประพันธ์ได้เขียนจากประสบการณ์ชีวิตของท่านว่า “พระยาเวห์ทรงอยู่ใกล้ผู้ที่ใจแตกสลาย และทรงช่วยผู้ที่สิ้นหวัง” (ฉบับมาตรฐาน)  นี่เป็นทั้งประสบการณ์จริงในชีวิตและเป็นพระสัญญาจากพระเจ้าว่า พระองค์ทรงสถิตเคียงข้างเราท่ามกลางความเจ็บปวดในชีวิต   โดยทางองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเราในเวลาที่เราต้องประสบกับ “มหันตทุกข์”   เราสามารถสัมผัสกับการทรงอยู่เคียงข้างของพระองค์ด้วยสัมผัสเหนือความจำกัดของความเป็นมนุษย์   เราได้ยินเสียงของพระองค์ที่มิใช่ศัพท์สำเนียงเสียงพูดทั่วไป   คริสเตียนหลายท่านสามารถเป็นพยานถึงประสบการณ์ในทำนองนี้เมื่อชีวิตของเขาต้องตกอยู่ท่ามกลางอันตรายและเจ็บปวด

2. ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากคือโอกาสที่พระเจ้าประทานให้เราได้เข้าใกล้พระองค์

ในพระธรรมสดุดีบทเดียวกันนี้ ดาวิดได้ประกาศว่า  “ข้าพเจ้าได้แสวงหาพระยาเวห์ และพระองค์ทรงตอบข้าพเจ้า  และทรงกู้ข้าพเจ้าให้พ้นจากความกลัวทั้งสิ้น” (ข้อ 4)   ความทุกข์ยากลำบากทำให้เราหันกลับมาหาพระเจ้า   ในเมื่อไม่มีสิ่งใดที่ทำให้เราหันกลับมาหาพระองค์ได้

เมื่อไม่นานมานี้  นักโทษหญิงโมนิกา (Monica) ได้เขียนจดหมายถึงองค์กรคริสเตียนแห่งหนึ่ง   ในจดหมายตอนหนึ่งความว่า
“ดิฉันได้อ่านหนังสือ “An Anchor for the Soul” เมื่ออ่านจบแล้วดิฉันกลับอ่านซ้ำใหม่อีกรอบ...   ดิฉันเชื่อจริงๆ ว่าดิฉันได้รับพระพรอย่างมากจากสถานการณ์ที่ดิฉันต้องเป็นอยู่ในขณะนี้   เพราะตอนนี้ดิฉันรู้แล้วว่าตนเองได้รับชีวิตนิรันดร์ในพระเยซูคริสต์   ถ้าดิฉันมิได้ถูกจับ  และติดคุก  ดิฉันคิดว่าตนเองจะไม่มีทางที่จะมารู้จักกับพระเยซูคริสต์อย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้...”

ปกติทั่วไปแล้ว “คุก” มิใช่สิ่งดีในชีวิต   แต่การต้องติดคุกจะกลับกลายเป็นสิ่งดียิ่งถ้าทำให้เราหันกลับมาหาพระเจ้า   ดังนั้น การที่เราต้องประสบความความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสหรือโรคภัยไข้เจ็บ  แล้วเราอธิษฐานมากขึ้น  ด้วยจิตใจที่ร้อนรน ศรัทธาแรงกล้ามากขึ้นในช่วงเวลาวิกฤติเหล่านั้น   เพราะในเวลาเช่นนั้นเรารู้แน่แก่ใจแล้วว่า  ถ้าพระเจ้าไม่ทรงช่วยชีวิตเราล่มจมแน่   บางครั้ง พระเจ้าทรงอนุญาตให้หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา   เพื่อที่จะกระตุ้นให้เรามีความสนใจทั้งสิ้นในชีวิตของเรามุ่งตรงไปที่พระองค์   ในที่นี้หมายความว่า  เมื่อชีวิตของเราแต่ละคนต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบาก   พระเจ้าทรงใช้เหตุการณ์ความทุกข์ยากลำบากในชีวิตของเราครั้งนั้นๆ กระตุ้นเตือนให้เราหันกลับมาหาพระองค์    เมื่อพระเจ้าสถิตอยู่ใกล้เรา เหตุร้ายในชีวิตแทนที่จะจะสร้างความเลวร้ายแก่ชีวิตของเรา แต่พระองค์ใช้สถานการณ์ที่เลวร้ายนั้นเสริมสร้างให้เราได้มีโอกาสที่จะใกล้ชิดสนิทแนบกับพระองค์อีกครั้งหนึ่ง

3. เมื่ออยู่ในเวลาที่ทุกข์ยากลำบาก ชีวิตเราเติบโตเข้มแข็งขึ้นเร็วกว่าเมื่อชีวิตสุขสบาย

โรม 5:2-4 เปาโลได้อธิบายถึงกระบวนการที่พระเจ้าทรงใช้ในการพัฒนาวุฒิภาวะและบุคลิกภาพชีวิตคริสเตียนในตัวเรา  ในตอนนี้เปาโลกล่าวว่า “ยิ่งกว่านั้น เราก็ชื่นชมยินดีในความทุกข์ยากด้วย...” (ข้อ 3 ฉบับมาตรฐาน)  ในที่นี้เปาโลมิได้พูดผิดแน่ๆ   และเปาโลก็มิได้กำลังเผยแพร่ปรัชญาชีวิตทุกขนิยมเช่นกัน   นี่เราต้องชัดเจนว่า เปาโลมิได้กล่าวว่าคริสเตียนชื่นชมยินดีเพราะเราได้รับความทุกข์ยากลำบาก   แต่เปาโลบอกกับคริสเตียนว่า ให้เราชื่นชมยินดีท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายเจ็บปวด  คริสเตียนสามารถที่จะมีชีวิตชื่นชมยินดีได้   เพราะในสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น  พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจที่สำคัญของพระองค์ในชีวิตของเรา    พระคัมภีร์ตอนนี้ต่อไปอีก 2-3 ข้อได้อธิบายถึงกระบวนการในเรื่องนี้   กล่าวคือ  ความทุกข์ยากลำบากทำให้เกิดความทรหด  ความทรหดทำให้เห็นว่าเราเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้   และการที่เป็นเช่นนี้ทำให้เรามีความหวัง   และเมื่อเรามีความหวังจึงไม่ทำให้เราต้องผิดหวัง   เพราะเหตุว่าความรักของพระเจ้าได้เข้าสู่จิตใจของเราโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์(ข้อ 5)   กระบวนการนี้เริ่มต้นที่ความทุกข์ยากลำบากลงท้ายด้วยความรักของพระเจ้า   เป็นกระบวนการที่เริ่มต้นท่ามกลางความสิ้นหวังแต่จบลงด้วยความหวัง   การที่เราได้สัมผัสกับความรักของพระเจ้าก็เพราะพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านท่ามกลางชีวิตที่ทุกข์ยาก   และนี่คือพระคุณของพระเจ้า ที่ทรงทำพระราชกิจท่ามกลางความสิ้นหวังของเรา   จนนำเราให้พบกับความหวังในพระองค์

4.  ประสบการณ์การทรงหนุนใจจากพระเจ้าในความทุกข์  เราจึงหนุนใจคนอื่นที่ตกในความทุกข์ได้

2โครินธ์ 1:4 บอกเราว่า  “พระเจ้าทรงหนุนใจเราในความยากลำบากทั้งหมดของเรา  เพื่อเราจะสามารถหนุนใจคนทั้งหลายที่มีความทุกข์ยากลำบากอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยการหนุนใจซึ่งเราเองได้รับจากพระเจ้า” (ฉบับมาตรฐาน)   คำว่า “หนุนใจ” ในภาษากรีกที่ใช้ในพระคัมภีร์ตอนนี้   เป็นคำเดียวกันที่พระเยซูคริสต์ทรงใช้ใน มัทธิว 5:4 ด้วยเช่นกัน   ในความทุกข์ยากลำบากของเราพระเจ้าทรงหนุนใจเรา   และเมื่อเราเข้มแข็งและเติบโตขึ้น   เราสามารถที่จะอภิบาลคนเหล่านั้นที่ตกในความทุกข์ยากลำบากด้วยการหนุนใจอย่างพระองค์ในพระนามของพระองค์

ไม่มีใครจะเข้าใจถึงความเจ็บปวดในการเป็นโรคมะเร็งได้เท่ากับคนที่เคยเป็นโรคมะเร็ง,   ไม่มีความรู้ถึงความเจ็บปวดทางกาย ใจ และวิญญาณของผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์ได้ดีเท่ากับคนที่ป่วยเป็นเอดส์,   ไม่มีใครที่จะรู้สึกเจ็บปวดของการสูญเสียลูกได้ดีเท่ากับคนที่เคยสูญเสียลูก  

จากการที่เคยมีส่วนในงานพันธกิจเอดส์ผมพบว่า  คนที่อภิบาลชีวิตผู้ป่วยเอดส์ได้ดียิ่งคือคนที่ป่วยเป็นเอดส์เพราะเคยสัมผัสกับความเจ็บปวดในชีวิตและพระคุณของพระเจ้าในวิกฤติ   จึงสามารถช่วยเพื่อนที่ได้รับเชื้อเอชไอวีด้วยกัน   เพราะผู้คนเหล่านี้สามารถบอกกับคนอื่นว่า  “พระเจ้าจะทรงเอาใจใส่และหนุนใจคุณได้  เพราะพระองค์ทรงกระทำเช่นนั้นกับชีวิตของฉันมาก่อน”


                                                                                                                                                ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499