22 พฤษภาคม 2555

ความเชื่อแบบ “เฒ่าทารก”?


21 พฤษภาคม 2012

ในวงสนทนากลุ่มเล็กที่เรียนพระคัมภีร์ด้วยกัน   ในวันนี้เราศึกษาถึงเรื่องความเชื่อ   เราได้คำหนึ่งจากกลุ่มเล็กนี้ว่า “ความเชื่อเฒ่าทารก” แล้วนี่หมายความว่าอะไรกัน? ถ้าประมวลจากการพูดคุยแสดงความคิดเห็นกัน เราได้คำจำกัดความในทำนองนี้ว่า ความเชื่อแบบเฒ่าทารกเป็นความเชื่อของผู้ที่มีอายุความเชื่อที่มากหรือยาวนาน   แต่การเติบโตหรือพัฒนาการด้านวุฒิภาวะทางความเชื่อศรัทธากลับมิได้มีการเติบโต หรือ เติบโตแต่น้อยนิด

ในฐานะที่เราท่านต่างใช้ชีวิตประจำวันในสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย   เพื่อนที่ทำงานด้านวิจัยถามผมว่า   แล้วคุณใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดว่า คนนั้นคนนี้มีความเชื่อศรัทธาหรือไม่?   ถ้ามีความเชื่อศรัทธา ความเชื่อศรัทธาของเขามีประสิทธิภาพ หรือ คุณภาพแค่ไหน?

เรื่องนี้ทำให้กลุ่มเพื่อนคริสเตียนที่ทำงานด้านวิจัยด้วยกันคุยกันยาวนาน   บางท่านก็แนะนำว่า  เราจะเอาวิธีการ หรือ แนวการวัดทั่วไป ไปวัดด้านจิตวิญญาณไม่ได้   เพราะจิตวิญญาณเป็นอีกมิติหนึ่งของชีวิต   แต่เพื่อนอีกกลุ่มเห็นต่างว่า ความเชื่อศรัทธามิใช่ความลึกลับแต่เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน  เราสามารถสังเกตเห็นความเชื่อศรัทธาของแต่ละคนผ่านการตัดสินใจและการดำเนินชีวิตของคนๆ นั้น

ใช่...แต่  พวกเราแต่ละคนมีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย   แล้วเราจะหาตัวชี้วัดชีวิตจิตวิญญาณของเราที่เป็นกลางๆ   ที่คนแต่ละกลุ่ม  แต่ละอาชีพ  แต่ละสถานการณ์ชีวิตสามารถนำไปประยุกต์ปรับใช้การตรวจสอบหรือวัดความเจริญเติบโต หรือ ความเข้มแข็งในชีวิตจิตวิญญาณอย่างไร? 

ด้วยการพูดคุยอย่างออกรสชาติ หรือ  เพราะเรานานๆ พบกันที  หรือ  เพราะเป็นประเด็นที่เราแต่ละคนต้องการคำตอบต่อคำถามที่ติดค้างคาใจ  หรือ ด้วยสาเหตุที่เราไม่มีวินัยชีวิตเลยไม่ได้กำหนดกรอบเวลาของการพูดคุยก็ไม่รู้   การสนทนาวันนั้นลากยาวไปจนถึงอาหารมื้อค่ำ  เลยต้องช่วยกันหาคำสรุปในเรื่องนี้กัน

ในวันนั้น เรายอมรับร่วมกันว่า “การที่มีความเชื่อศรัทธาแบบคริสเตียนคือ ผู้เชื่อคนนั้นมีพลังความเชื่อ การคิด การรู้สึก และการตัดสินใจที่สามารถควบคุมสถานการณ์ชีวิตในตอนนั้นๆ ได้ แทนที่จะถูกอิทธิพลรอบข้างชีวิตของเขาครอบงำหรือควบคุมการคิด ความรู้สึก และ การตัดสินใจของเขาในสถานการณ์นั้นๆ”

ในการศึกษาพระคัมภีร์ เช่น ในมัทธิว 6:30 พระเยซูคริสต์ตรัสสอนประชาชนว่า  “...ถ้าพระเจ้าทรงตกแต่งหญ้าที่ทุ่งนาอย่างนั้น  ซึ่งเป็นอยู่วันนี้และรุ่งขึ้นต้องทิ้งในเตาไฟ  โอ คนมีความเชื่อน้อย พระองค์จะไม่ทรงตกแต่งท่านมากยิ่งกว่านั้นหรือ?”   ในที่นี้พระเยซูมิได้ใช้คำว่า “โอ...คนที่ไม่มีความเชื่อ”  แต่พระองค์ใช้คำพูดที่ว่า “โอ คนที่มีความเชื่อน้อย” 

เรื่องราวการเดินบนน้ำทะเลของเปโตรเพื่อที่จะไปหาพระเยซู  แต่เมื่อเกิดลมและคลื่นเปโตรตกใจกลัว  จนถึงกับร้องเรียกให้พระเยซูช่วย  ในมัทธิว 14:31 “พระเยซูจึงเอื้อมพระหัตถ์จับเขาไว้ทันที  และตรัสว่า ช่างมีความเชื่อน้อย ท่านสงสัยทำไม?

หรือเมื่อสาวกกำลังกังวลกับการที่ลืมเอาขนมปังติดตัวมาด้วย   จนเมื่อพระเยซูพูดเรื่อง “เชื้อ(ร้าย)ของฟาริสี  แต่สาวกกลับคิดถึงเชื้อในขนมปัง  แล้วถกกันถึงเรื่องการลืมเอาขนมปังมา   ทั้งๆ ที่สาวกเหล่านี้ได้ผ่านเหตุการณ์อัศจรรย์ครั้งสำคัญทั้งสองครั้ง  ในการเลี้ยงคนจำนวนมากมายด้วยขนมปังเพียงไม่กี่ก้อน  มัทธิว 16:8 บันทึกว่า  “พระเยซูทรงทราบจึงตรัสกับเขาทั้งหลายว่า พวกท่านช่างมีความเชื่อน้อยจริงๆ  ทำไมพวกท่านถึงพูดกันเรื่องไม่มีขนมปัง?

ประเด็นแรกที่เราเรียนรู้คือ  ในสายพระเนตรของพระเยซูคริสต์  เราท่านต่างมีความเชื่อศรัทธา   แต่ความเชื่อศรัทธาที่มีอยู่ในบางสถานการณ์มี “ความเชื่อน้อย”  ลักษณะของคนที่มีความเชื่อน้อยคือ การคิด การรู้สึก และความสนใจ การตัดสินใจของเขาถูกควบคุมด้วยสถานการณ์แวดล้อมในตอนนั้น อาจจะแสดงออกมาในความกลัว  ความวิตกกังวล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สถานการณ์แวดล้อมชีวิตในขณะนั้นมีอิทธิพลเหนือการคิด การรู้สึก  การสนใจ และการตัดสินใจของคนๆ นั้น   ดังนั้น การคิด การรู้สึก  การให้ความสนใจ และการตัดสินใจของเขาจึงทำตามกระแสอิทธิพลรอบข้างดังกล่าว  และนี่คือคนที่มีความเชื่อน้อย  ดังตัวอย่างเปโตร ตกใจกลัวเพราะสภาพแวดล้อมแปรปรวน หรือ ความคิดพวกสาวกถูกครอบงำเรื่องลืมขนมปังเป็นต้น

ประการที่สอง   แท้จริงแล้วความเชื่อศรัทธาเป็นสิ่งที่มีชีวิตและเติบโตเข้มแข็งได้  พระเยซูคริสต์ทรงเปรียบความเชื่อศรัทธาของเรากับเมล็ดพืช   ถึงแม้มีขนาดเล็ก  แต่มีพลังชีวิตภายในเมล็ดนั้นมีมากมายมหาศาล  ในมัทธิว 17:20 พระเยซูคริสต์ตรัสว่า  “เพราะพวกท่านมีความเชื่อน้อย  เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า  ถ้าพวกท่านมีความเชื่อเท่าเมล็ดมัสตาร์ดเมล็ดหนึ่ง  พวกท่านจะสั่งภูเขานี้ว่า จงเคลื่อนจากที่นี่ไปที่โน่น มันก็จะเคลื่อนไป  และสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้สำหรับพวกท่านจะไม่มีเลย” 

การที่ความเชื่อศรัทธาของเราจะเติบโต และ เข้มแข็ง   วัด  สังเกต หรือสัมผัสได้จากผู้เชื่อคนๆ นั้น และมีพลังชีวิตที่สามารถมีอิทธิพลเหนือสถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นแต่ละวันในชีวิต  จนสามารถไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของสถานการณ์และกระแสสังคมแวดล้อม   ยิ่งกว่านั้นเขายังเรียนรู้ที่จะจัดการชีวิตของตนเองโดยการใช้พระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงมีในชีวิตตน และ จัดการสภาพแวดล้อมตามพระประสงค์นั้น   และนี่น่าจะเป็นตัวชี้วัดถึงความเชื่อศรัทธาของคริสเตียนเรา

ประการที่สาม  ความเชื่อศรัทธาจะเจริญ เติบโต เข้มแข็งได้นั้น  เกิดจากการที่ความเชื่อศรัทธามี “รากฐาน” ที่แข็งแรงก่อน   รากฐานที่แข็งแรงของความเชื่อศรัทธาคือ “พระวจนะ” ของพระเจ้า   การวางรากฐานพระวจนะของพระเจ้าในผู้เชื่อแต่ละคนเป็นสิ่งละเว้นไม่ได้  ดังนั้น  การใคร่ครวญเรียนรู้พระวจนะของพระเจ้าจึงต้องกระทำตั้งแต่เริ่มแรกของชีวิต  อย่างต่อเนื่อง  และตลอดชีวิต  เพราะพระวจนะจะช่วยให้ผู้ศึกษาใคร่ครวญเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีในชีวิตของตน   พระวจนะบ่งชี้แนวทางการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้เชื่อ   พระวจนะเป็นพลังชีวิตและเสริมสร้างความหวัง  ตลอดจนเป็นเป้าหมายชีวิตของผู้เชื่อศรัทธาคนๆ นั้น

แต่พระวจนะจะเกิดฤทธิ์  ออกพลัง  ที่บ่งชี้ถึงความแข็งแรงนั้น  นอกจากพระวจนะจะต้องแทรกซึมเข้าในชีวิตของคนๆ นั้นแล้ว  สิ่งสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งคือการที่คนๆ นั้นใช้พระวจนะในการคิด  ตัดสินใจ  เป็นมุมมอง  และการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ตามพระวจนะที่เรียนรู้   นำสิ่งที่เรียนสู่การปฏิบัติจริง  เกิดประสบการณ์และพบการทรงกระทำพระราชกิจของพระเจ้าในประสบการณ์ชีวิตตน   เสริมสร้างความมั่นใจในความเชื่อศรัทธา  ยิ่งกว่านั้นเห็นพลัง อิทธิพลของความเชื่อศรัทธาที่หนุนเสริมชีวิตให้มีพลังตามพระประสงค์ขับเคลื่อนชีวิตตนไปข้างหน้า

ดังนั้น  ถ้าจะถามว่าอะไรคือตัวชี้วัดความเชื่อศรัทธา   คงตอบได้ว่า  คือการที่คนๆ นั้นสามารถคิด รู้สึก ตั้งใจ  และตัดสินใจ  แล้วกระทำตามบนรากฐานแห่งพระวจนะตามพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตประจำวันที่มีอิทธิผล และ เป็นพลังชีวิตที่ควบคุมสถานการณ์แวดล้อมและกระแสสังคมที่ตนต้องเผชิญทุกเมื่อเชื่อวัน

แต่การที่จะเกิดเป็นความเชื่อศรัทธาที่มั่นคง แข็งแรง และเกิดผลในชีวิตได้  ความเชื่อต้องหยั่งรากในพระวจนะ  และนำน้ำเลี้ยงจากพระวจนะไปเป็นพลังในการดำเนินชีวิตจนเกิดผลเป็นประสบการณ์ตรง  ได้สัมผัสกับการทรงกระทำพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของตน และผ่านชีวิตของตน  กลายเป็นพลังภูมิคุ้มกันในชีวิตต่ออิทธิพลจากภาวะแวดล้อม และ กระแสอิทธิพลสังคมโลกที่ทับถมเข้าใส่ชีวิต   ยิ่งกว่านั้น ผู้นั้นกลับนำเอาพลังชีวิตที่เข้มแข็งขึ้นจากความเชื่อศรัทธาใช้ในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและสังคมโลกรอบข้างอีกด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น