26 พฤษภาคม 2555

พระพรที่ไม่มีใครต้องการ


พระเยซูคริสต์ตรัสสอนว่า
“คนที่โศกเศร้าก็เป็นสุข  เพราะว่าเขาทั้งหลายจะได้รับการหนุนใจ”
(มัทธิว 5:4 ฉบับมาตรฐาน)

ถ้าคำสอนตอนนี้ของพระเยซูคริสต์เป็นสัจจะความจริง   นี่คงเป็นสัจจะความจริงที่มีความขัดแย้งในตัวและคงเป็นสัจจะความจริงที่มีความล้ำลึกต่อการเข้าใจของปุถุชนคนธรรมดาอย่างผมแน่   หมายความว่าอะไรกันแน่ ที่พระเยซูตรัสว่า “พระพรเป็นของคนโศกเศร้า”  หรือ “ความสุขเป็นของคนที่โศกเศร้า”   คำสอนที่แปลกประหลาดนี้หมายความว่าอะไรกันแน่!  คนโศกเศร้าที่ว่านี้เป็นใครกันแน่?   ทำไมคนๆ นั้นถึงโศกเศร้า?   แล้วเขาได้รับการหนุนใจอย่างไรบ้าง?

คำตรัสสอนนี้ทำให้ผมได้มีโอกาสคิดย้อนหลังถึงประสบการณ์ทั้งในชีวิตส่วนตัว และ ในชีวิตบางคนที่ผมเคยรู้จักคุ้นชิน   อาจารย์บางท่านรับใช้พระเจ้ามาด้วยความจงรักภักดีและสัตย์ซื่อ   แต่จู่ๆ ชีวิตของเขาพลิกเปลี่ยนไปอย่างกะทันหันจากหน้ามือเป็นหลังมือ   สูญเสียคู่ชีวิต  จนตนเองปรับตัวไม่ทันจนเกิดวิกฤติในความคิดและการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป   ศาสนาจารย์บางท่านรับใช้พระเจ้ามาตลอดชีวิตสุดท้ายต้องป่วยอย่างมากด้วยมะเร็ง   แล้วความสุขเป็นของคนเช่นที่กล่าวมานี้ได้อย่างไร

ผมเคยอ่านเรื่องราวของ ปีเตอร์ เบลคมอร์ (Peter Blakmore)  ศิษยาภิบาลคริสตจักรที่ โอ๊คปาร์ค อิลลินอยส์ (Harrison Street Bible Church in Oak Park, Illinois)  ในตอนนั้นท่านอายุ 42 ปี นั่งอยู่บนล้อเข็น  ตลอดชีวิตของท่านใช้ชีวิตในคริสตจักรแห่งนี้  ยกเว้นช่วงที่ไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยเท่านั้น   พ่อของท่านเป็นศิษยาภิบาลแห่งนี้กว่า 30 ปี   และท่านได้รับมรดกตกทอดรับใช้พระเจ้าในคริสตจักรแห่งนี้ต่อจากพ่อ

ในวันนั้น ศิษยาภิบาลปีเตอร์ร่วมในกลุ่มอธิษฐานโดยนั่งในรถเข็น   เนื่องจากท่านมีอาการเจ็บปวดมาเป็นเวลานาน   แต่แพทย์ก็ไม่สามารถตรวจพบสาเหตุของการเจ็บปวด   จนวันหนึ่งได้ตรวจพบเนื้องอก  จึงทำการตัดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ   ใช้เวลานานในการตรวจอย่างละเอียดและพบว่าเป็นเนื้อร้ายที่กำลังก่อตัวเป็นมะเร็ง  ท่านเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด  หวังที่จะรักษาแบบถอนรากถอนโคน   แต่ในวันนั้นท่านได้รับความเจ็บปวดอย่างมากจากมะเร็งดังกล่าว  ลูกคนโตต้องช่วยลูบไล้ข้างหลังของพ่อเมื่อเจ็บปวดมาก

เผชิญหน้ากับรังสีความโชติช่วงแห่งพระสิริของพระเจ้า

ในกลุ่มอธิษฐานในวันนั้น   ศิษยาภิบาลปีเตอร์เป็นผู้อธิษฐานคนสุดท้าย   ท่านอธิษฐานพอจับใจความได้ดังนี้  “...ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   เมื่อข้าพระองค์ตรวจพบว่า ข้าพระองค์เป็นมะเร็ง   สิ่งเดียวที่ข้าพระองค์ทูลขอต่อพระองค์คือ   ขอพระองค์ทรงใช้เหตุการณ์นี้ให้เกิดการถวายพระเกียรติแด่พระนามของพระองค์   ข้าพระองค์ขอบพระคุณพระองค์   ที่พระองค์ทรงตอบคำอธิษฐานมากมายล้นเหลือของข้าพระองค์   ถ้าเป็นไปได้แล้ว ข้าพระองค์อยากจะลุกขึ้นและสรรเสริญพระองค์   แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้   ข้าพระองค์ก็ยังจะถวายพระเกียรติแด่พระสิริของพระองค์จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต...”

ภายหลังการอธิษฐาน ได้มีผู้มาพูดคุยกับ ศบ.ปีเตอร์ เป็นการส่วนตัวได้พบว่า สุขภาพของท่านไม่ค่อยดี  เนื้อร้ายตอนนี้เป็นมะเร็งที่ปอดข้างขวา  แล้วลามไปที่กระดูกซี่โครงบางซี่  และนี่คือสาเหตุที่เขามีอาการเจ็บปวดมากขึ้น

ศบ.ปีเตอร์ บอกกับผู้มาขอพูดคุยด้วยว่า  หมอได้บอกท่านว่าตอนนี้ไม่รู้ว่าจะเป็นมะเร็งชนิดใดในสองชนิด   ถ้าเป็นชนิดแรก ท่านจะมีชีวิตไปได้อีก 2-3 สัปดาห์   แต่ถ้าเป็นมะเร็งชนิดที่สองก็จะมีชีวิตไปอีก 1-2 เดือน

ท่านบอกเรื่องราวเหล่านี้อย่างสงบ  ไม่มีอาการกลัวหรือตระหนกกังวล   ขณะที่พูดท่านยังยิ้มแย้มไปด้วย   ผู้พูดคุยด้วยตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่สนทนาด้วยกันสีหน้าของ ศบ.ปีเตอร์เปล่งปลั่ง  หน้าเหมือนทอแสงดั่งพระสิริของพระเจ้า   ตามที่เคยเกิดขึ้นกับโมเสสที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์   ศบ.ปีเตอร์ ท่านได้เผชิญหน้ากับพระเจ้า หน้าตาเปล่งปลั่ง   ในตอนนี้จึงไม่มีสิ่งอื่นใดที่สำคัญต่อท่านอีกแล้ว

สืบเสาะรอยพระบาทของพระเจ้าไม่พบ

ศบ.ปีเตอร์ บอกว่า เมื่ออาทิตย์แล้วเป็นอาทิตย์แรกที่ท่านกลับมาเทศนาอีกครั้งหนึ่ง   หลังจากที่ว่างเว้นไม่ได้เทศนาเป็นเวลา 7 สัปดาห์   แต่สมาชิกต้องช่วยกันอุ้มท่านนั่งลงในรถเข็น   แล้วนำท่านขึ้นไปที่ธรรมมาสน์  แต่ท่านก็พบว่าท่านมีพลังในชีวิตที่จะเทศนา   ท่านเทศนาเป็นเวลา 1 ชั่วโมง   ท่านเทศนาจากพระธรรมโรม 11:33  เรื่อง “ทางของพระองค์ก็เหลือจะสืบเสาะได้”   ท่านบอกว่าพระธรรมตอนนี้มีความหมายว่า  ท่านไม่สามารถที่จะสืบเสาะหา “รอยพระบาทของพระเจ้า”  กล่าวคือ เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าพระเจ้ามาจากไหน และก็บอกไม่ได้เช่นกันว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด   สิ่งที่ท่านรู้และบอกได้แน่นอนคือ  พระองค์อยู่กับท่านท่ามกลางความทุกข์ยากลำบากในชีวิตของท่าน

ห้องว่างเปล่า   ศิษยาภิบาลที่มาอธิษฐานร่วมกันต่างลาจากไปหมดแล้ว   ศบ.ปีเตอร์กล่าวเป็นประโยคสุดท้ายกับผู้ที่สนทนากับท่านว่า  “ตลอดชีวิตของผม ผมพูดถึงเรื่องพระคุณของพระเจ้า  และพยายามที่จะให้คนได้ยินถึงพระคุณของพระเจ้า   ตอนนี้พวกเขาสนใจสิ่งที่ผมพูด  เพราะว่าตัวผมได้พบสิ่งยากลำบากเหล่านั้นด้วยตัวของผมเอง  และบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า พระคุณของพระเจ้ามีเพียงพอในทุกสถานการณ์ลำบากในชีวิต”   ลูกชายของท่านเริ่มเข็นท่านออกจากห้องนั้น   ถึงแม้ท่านจะเจ็บปวดตัวมาก   แต่ท่านยังยิ้มและโบกมือลา

ในสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผมคิดถึงคำกล่าวของเปาโลที่ว่า “...ถึงแม้ว่าภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป  แต่สภาพภายในนั้นก็ได้รับการเปลี่ยนใหม่ทุกๆ วัน”  (2โครินธ์ 4:16)  

แต่คำถามก็ยังค้างคาใจผมอยู่   “ทำไม ศบ.ปีเตอร์ จะต้องด่วนตาย...ทั้งๆ ที่อายุยังไม่เท่าไหร่   และสิ่งที่ท่านจะทำแก่โลกก็ยังมีอีกมากมาย?

นี่เป็นความล้ำลึก ที่พระเจ้าเท่านั้นทรงรู้  ความพยายามของมนุษย์ที่จะพยายามจะอธิบายสิ่งเหล่านี้มักประสบกับความผิดพลาดคลาดเคลื่อน   คำตอบต่อคำถามที่ว่าทำไมนั้น มีคำตอบแน่นอน  แต่ตอนนี้เรายังไม่รู้ถึงคำตอบดังกล่าว 

คำตอบต่อคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบ  อาจจะสามารถตอบอย่างที่พระเจ้าทรงตอบโมเสสว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” (อพยพ 3:14 ฉบับมาตรฐาน)   เป็นคำตอบที่คนถามหลายคนยังต้องการคำอธิบายคำตอบนี้   เพราะคำตอบจากพระเจ้านั้นเป็นคำตอบที่เป็นบุคคล   มิใช่คำอธิบายด้วยหลักการเหตุผล   โมเสสค่อยๆ เข้าใจพระเจ้ามากขึ้น   จากการที่พระองค์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในเหตุการณ์ต่างๆ   ทำให้โมเสสและชนอิสราเอลรู้จักความเป็นพระเจ้าของพระองค์มากยิ่งขึ้น “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น”   บางท่านคงยังมีคำถามในใจว่า  “ตอบแบบนี้มันยังไม่พอ  ขอตอบแบบตรงไปตรงมาได้ไหม?”   ถ้าความเป็นพระเจ้าเป็นคำตอบที่ยังไม่เพียงพอแล้ว   คำตอบอะไรอีกล่ะที่จะเพียงพอสำหรับคำถามในใจของท่าน?

พระราชกิจแห่งการหนุนใจของพระเจ้า

“คนที่โศกเศร้าเป็นสุข   เพราะว่าเขาทั้งหลายจะได้รับการหนุนใจ”   พระคัมภีร์ได้เปิดเผยถึงสัจจะความจริงในพระราชกิจแห่งการหนุนใจจากพระเจ้า

1. พระเจ้าผู้ทรงเคียงข้างผู้ที่หัวใจแตกสลาย

ในสดุดี 34:18 ผู้ประพันธ์ได้เขียนจากประสบการณ์ชีวิตของท่านว่า “พระยาเวห์ทรงอยู่ใกล้ผู้ที่ใจแตกสลาย และทรงช่วยผู้ที่สิ้นหวัง” (ฉบับมาตรฐาน)  นี่เป็นทั้งประสบการณ์จริงในชีวิตและเป็นพระสัญญาจากพระเจ้าว่า พระองค์ทรงสถิตเคียงข้างเราท่ามกลางความเจ็บปวดในชีวิต   โดยทางองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเราในเวลาที่เราต้องประสบกับ “มหันตทุกข์”   เราสามารถสัมผัสกับการทรงอยู่เคียงข้างของพระองค์ด้วยสัมผัสเหนือความจำกัดของความเป็นมนุษย์   เราได้ยินเสียงของพระองค์ที่มิใช่ศัพท์สำเนียงเสียงพูดทั่วไป   คริสเตียนหลายท่านสามารถเป็นพยานถึงประสบการณ์ในทำนองนี้เมื่อชีวิตของเขาต้องตกอยู่ท่ามกลางอันตรายและเจ็บปวด

2. ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากคือโอกาสที่พระเจ้าประทานให้เราได้เข้าใกล้พระองค์

ในพระธรรมสดุดีบทเดียวกันนี้ ดาวิดได้ประกาศว่า  “ข้าพเจ้าได้แสวงหาพระยาเวห์ และพระองค์ทรงตอบข้าพเจ้า  และทรงกู้ข้าพเจ้าให้พ้นจากความกลัวทั้งสิ้น” (ข้อ 4)   ความทุกข์ยากลำบากทำให้เราหันกลับมาหาพระเจ้า   ในเมื่อไม่มีสิ่งใดที่ทำให้เราหันกลับมาหาพระองค์ได้

เมื่อไม่นานมานี้  นักโทษหญิงโมนิกา (Monica) ได้เขียนจดหมายถึงองค์กรคริสเตียนแห่งหนึ่ง   ในจดหมายตอนหนึ่งความว่า
“ดิฉันได้อ่านหนังสือ “An Anchor for the Soul” เมื่ออ่านจบแล้วดิฉันกลับอ่านซ้ำใหม่อีกรอบ...   ดิฉันเชื่อจริงๆ ว่าดิฉันได้รับพระพรอย่างมากจากสถานการณ์ที่ดิฉันต้องเป็นอยู่ในขณะนี้   เพราะตอนนี้ดิฉันรู้แล้วว่าตนเองได้รับชีวิตนิรันดร์ในพระเยซูคริสต์   ถ้าดิฉันมิได้ถูกจับ  และติดคุก  ดิฉันคิดว่าตนเองจะไม่มีทางที่จะมารู้จักกับพระเยซูคริสต์อย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้...”

ปกติทั่วไปแล้ว “คุก” มิใช่สิ่งดีในชีวิต   แต่การต้องติดคุกจะกลับกลายเป็นสิ่งดียิ่งถ้าทำให้เราหันกลับมาหาพระเจ้า   ดังนั้น การที่เราต้องประสบความความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสหรือโรคภัยไข้เจ็บ  แล้วเราอธิษฐานมากขึ้น  ด้วยจิตใจที่ร้อนรน ศรัทธาแรงกล้ามากขึ้นในช่วงเวลาวิกฤติเหล่านั้น   เพราะในเวลาเช่นนั้นเรารู้แน่แก่ใจแล้วว่า  ถ้าพระเจ้าไม่ทรงช่วยชีวิตเราล่มจมแน่   บางครั้ง พระเจ้าทรงอนุญาตให้หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา   เพื่อที่จะกระตุ้นให้เรามีความสนใจทั้งสิ้นในชีวิตของเรามุ่งตรงไปที่พระองค์   ในที่นี้หมายความว่า  เมื่อชีวิตของเราแต่ละคนต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบาก   พระเจ้าทรงใช้เหตุการณ์ความทุกข์ยากลำบากในชีวิตของเราครั้งนั้นๆ กระตุ้นเตือนให้เราหันกลับมาหาพระองค์    เมื่อพระเจ้าสถิตอยู่ใกล้เรา เหตุร้ายในชีวิตแทนที่จะจะสร้างความเลวร้ายแก่ชีวิตของเรา แต่พระองค์ใช้สถานการณ์ที่เลวร้ายนั้นเสริมสร้างให้เราได้มีโอกาสที่จะใกล้ชิดสนิทแนบกับพระองค์อีกครั้งหนึ่ง

3. เมื่ออยู่ในเวลาที่ทุกข์ยากลำบาก ชีวิตเราเติบโตเข้มแข็งขึ้นเร็วกว่าเมื่อชีวิตสุขสบาย

โรม 5:2-4 เปาโลได้อธิบายถึงกระบวนการที่พระเจ้าทรงใช้ในการพัฒนาวุฒิภาวะและบุคลิกภาพชีวิตคริสเตียนในตัวเรา  ในตอนนี้เปาโลกล่าวว่า “ยิ่งกว่านั้น เราก็ชื่นชมยินดีในความทุกข์ยากด้วย...” (ข้อ 3 ฉบับมาตรฐาน)  ในที่นี้เปาโลมิได้พูดผิดแน่ๆ   และเปาโลก็มิได้กำลังเผยแพร่ปรัชญาชีวิตทุกขนิยมเช่นกัน   นี่เราต้องชัดเจนว่า เปาโลมิได้กล่าวว่าคริสเตียนชื่นชมยินดีเพราะเราได้รับความทุกข์ยากลำบาก   แต่เปาโลบอกกับคริสเตียนว่า ให้เราชื่นชมยินดีท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายเจ็บปวด  คริสเตียนสามารถที่จะมีชีวิตชื่นชมยินดีได้   เพราะในสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น  พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจที่สำคัญของพระองค์ในชีวิตของเรา    พระคัมภีร์ตอนนี้ต่อไปอีก 2-3 ข้อได้อธิบายถึงกระบวนการในเรื่องนี้   กล่าวคือ  ความทุกข์ยากลำบากทำให้เกิดความทรหด  ความทรหดทำให้เห็นว่าเราเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้   และการที่เป็นเช่นนี้ทำให้เรามีความหวัง   และเมื่อเรามีความหวังจึงไม่ทำให้เราต้องผิดหวัง   เพราะเหตุว่าความรักของพระเจ้าได้เข้าสู่จิตใจของเราโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์(ข้อ 5)   กระบวนการนี้เริ่มต้นที่ความทุกข์ยากลำบากลงท้ายด้วยความรักของพระเจ้า   เป็นกระบวนการที่เริ่มต้นท่ามกลางความสิ้นหวังแต่จบลงด้วยความหวัง   การที่เราได้สัมผัสกับความรักของพระเจ้าก็เพราะพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านท่ามกลางชีวิตที่ทุกข์ยาก   และนี่คือพระคุณของพระเจ้า ที่ทรงทำพระราชกิจท่ามกลางความสิ้นหวังของเรา   จนนำเราให้พบกับความหวังในพระองค์

4.  ประสบการณ์การทรงหนุนใจจากพระเจ้าในความทุกข์  เราจึงหนุนใจคนอื่นที่ตกในความทุกข์ได้

2โครินธ์ 1:4 บอกเราว่า  “พระเจ้าทรงหนุนใจเราในความยากลำบากทั้งหมดของเรา  เพื่อเราจะสามารถหนุนใจคนทั้งหลายที่มีความทุกข์ยากลำบากอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยการหนุนใจซึ่งเราเองได้รับจากพระเจ้า” (ฉบับมาตรฐาน)   คำว่า “หนุนใจ” ในภาษากรีกที่ใช้ในพระคัมภีร์ตอนนี้   เป็นคำเดียวกันที่พระเยซูคริสต์ทรงใช้ใน มัทธิว 5:4 ด้วยเช่นกัน   ในความทุกข์ยากลำบากของเราพระเจ้าทรงหนุนใจเรา   และเมื่อเราเข้มแข็งและเติบโตขึ้น   เราสามารถที่จะอภิบาลคนเหล่านั้นที่ตกในความทุกข์ยากลำบากด้วยการหนุนใจอย่างพระองค์ในพระนามของพระองค์

ไม่มีใครจะเข้าใจถึงความเจ็บปวดในการเป็นโรคมะเร็งได้เท่ากับคนที่เคยเป็นโรคมะเร็ง,   ไม่มีความรู้ถึงความเจ็บปวดทางกาย ใจ และวิญญาณของผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์ได้ดีเท่ากับคนที่ป่วยเป็นเอดส์,   ไม่มีใครที่จะรู้สึกเจ็บปวดของการสูญเสียลูกได้ดีเท่ากับคนที่เคยสูญเสียลูก  

จากการที่เคยมีส่วนในงานพันธกิจเอดส์ผมพบว่า  คนที่อภิบาลชีวิตผู้ป่วยเอดส์ได้ดียิ่งคือคนที่ป่วยเป็นเอดส์เพราะเคยสัมผัสกับความเจ็บปวดในชีวิตและพระคุณของพระเจ้าในวิกฤติ   จึงสามารถช่วยเพื่อนที่ได้รับเชื้อเอชไอวีด้วยกัน   เพราะผู้คนเหล่านี้สามารถบอกกับคนอื่นว่า  “พระเจ้าจะทรงเอาใจใส่และหนุนใจคุณได้  เพราะพระองค์ทรงกระทำเช่นนั้นกับชีวิตของฉันมาก่อน”


                                                                                                                                                ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น