16 พฤษภาคม 2555

ท่านมีภาวะผู้นำแบบไหน?


สูตร ทฤษฎี หรือ แนวคิด ประการหนึ่งในการเสริมสร้างภาวะผู้นำคือ “การเปิดใจยอมรับมุมมองใหม่หรือชุดความคิดใหม่”  กูรูทางภาวะผู้นำทั้งหลายต่างไม่ปฏิเสธในเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริงก็พบว่า ผู้นำในยุคปัจจุบันนี้ต่างปิดกั้นตนเองในเรื่องนี้อย่างลึกๆ ในจิตใจ  จนประเด็นนี้กลายเป็นความจำกัดของผู้นำยุคทันสมัยนี้

การที่เราไม่ “เปิดใจรับความคิดใหม่” อย่างแท้จริงเพราะว่า  เราถูกครอบงำจากอิทธิพลของ “บริโภคนิยม”  ที่สร้างเราให้มีความอยากความต้องการที่จะครอบครองทุกอย่างที่เราเห็นว่าสำคัญและต้องการ   การมีจิตวิญญาณที่อยากจะครอบครอง/ควบคุมสิ่งต่างๆ และคนต่างๆ แวดล้อมนั้น ตรงกันข้ามและขัดแย้งกับการ “เปิดใจรับความคิดใหม่” ของเรา  

เพราะประการแรก เรากลัวว่าสิ่งใหม่ที่เราเปิดใจรับนั้นอาจจะมีอิทธิพลครอบงำเรา  แทนที่เราจะมีอำนาจควบคุมมัน   ประการที่สอง  การเปิดใจเปิดความคิดอาจจะทำให้เราสูญเสียสิ่งที่เราสามารถครอบครองและควบคุมอยู่แล้วให้หลุดลอยไปหรือเกิดความวุ่นวายสับสนจนควบคุมไม่อยู่   ซึ่งทั้งสองประการเป็นอิทธิพลที่เกิดต่อเนื่องกัน   และที่ร้ายคือเรา “กลัว” ว่ามันจะสร้างอิทธิพลมาครอบงำเรามากกว่าที่เราจะสามารถควบคุมมันได้

ในวงการของการพัฒนาศักยภาพและภาวะผู้นำในชีวิต   สิ่งที่พูดกันว่า คนๆ นั้นต้องพร้อมที่จะยอมรับ “ชุดความคิดใหม่”  นั่นหมายความว่า เราจะต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นก้าวขั้นที่จะต้องเดินเข้าไปเพราะนั่นคือก้าวขั้นที่นำการพัฒนาและการเจริญเติบโตต่อภาวะผู้นำของเรา   แต่ลึกๆ แล้วเราไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง   เพราะเรา “รู้สึก” ว่าการเปลี่ยนแปลงนำความยากลำบาก   อาจนำมาซึ่งการที่เราต้องยอมสูญเสีย  การที่เราต้องเสี่ยง   การที่เราต้องพัฒนาไม่หยุดยั้ง  เรา“รู้สึกเหนื่อย” กับการเปลี่ยนแปลง “รู้สึก” ไม่มั่นใจกับสิ่งใหม่ว่าจะสร้างความมั่นคงแก่เราหรือไม่  ตอบสนองความรู้สึกที่เราต้องการหรือไม่  ดังนั้น  เราจึงยังยึดติดกับความคิด “ชุดเดิมๆ” ที่เราเกาะยึดแน่นอยู่   ใจจริงไม่ต้องการที่จะรับเอา “ชุดความคิดใหม่” เข้ามาในชีวิตเลย (แต่ปากก็พร่ำไปว่า “ผู้นำที่มีประสิทธิภาพต้องไม่ติดยึดกับชุดความคิดเดิมๆ   ต้องกล้าที่เปิดมิติใหม่  กล้ารับชุดความคิดใหม่”  นั่นเป็นเพียงลมปากที่พูดคล่อง  แต่เป็นขวากหนามที่รกและปิดกั้นความกล้าของผู้นำ)

ตรงกันข้าม   ผู้นำในยุคแห่งบริโภคนิยมกลับอยากได้ใคร่มีสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต   แต่สิ่งที่อยากได้ใคร่มีมักมุ่งไปสู่สิ่งที่เป็นวัตถุ   หรือสิ่งที่สามารถสัมผัสและ “รู้สึกได้” หลายคนต้องการได้บ้านในฝันของตนเอง   ต้องการได้รถยนต์คันหรูที่มีประสิทธิภาพที่ตนต้องการ และ/หรือ ที่บ่งบอกถึงฐานะ “หน้าตา” ในสังคม   หลายคนต้องการที่จะมีเงินทองทรัพย์สินมากๆ   เพราะนั่นสร้าง “ความรู้สึก” มั่งคั่งมั่นคงในชีวิต   และการที่ต้องการสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตก็เพียงเพื่อสร้างความ “รู้สึก” ที่พึงประสงค์ของตนเท่านั้น

แต่ผู้นำปัจจุบันกลับปฏิเสธ “ความรู้สึกที่ตนไม่พึงประสงค์”  แล้ววิ่งตามหาเป็นบ้าเป็นหลังกับสิ่งที่ตอบสนอง “ความรู้สึกที่ตนพึงปรารถนา”   ผู้นำปัจจุบันวิ่งตามหา “สิ่งที่ต้องการจะได้”   แต่ปฏิเสธและหลีกเลี่ยง “สิ่งที่ต้องให้”   และนี่คือ “อิทธิพลจากชุดความคิดแบบบริโภคนิยม”   แต่มิใช่ “อิทธิพลจากชุดความคิดแห่งแผ่นดินของพระเจ้า” 

พระเยซูคริสต์ทรงถามตรงๆ กับเราในวันนี้ว่า  “โอคนโง่...ในคืนวันนี้ชีวิตของเจ้าจะต้องเรียกเอาไปจากเจ้า  และของที่เจ้ารวบรวมไว้นั้นจะเป็นของใคร?” (ลูกา 12:20 ฉบับมาตรฐาน)  เพราะชุดความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากบริโภคนิยม  เป็นชุดความคิดในการเป็นผู้นำ “เพื่อจะได้”   พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “...ทรัพย์สมบัติของพวกท่านอยู่ที่ไหน  ใจของท่านก็อยู่ที่นั่น” (ข้อ 34)  แต่อิทธิพลทางความคิดจากพระกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้าคือ การมีภาวะผู้นำ “เพื่อจะให้”    พระเยซูคริสต์ตรัสว่า  “...บุตรมนุษย์มิได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ  แต่มาเพื่อปรนนิบัติคนอื่น  และให้ชีวิตของท่าน เป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก” (มัทธิว 20:28 ฉบับมาตรฐาน)

อิทธิพลจากชุดหลักคิดจากพระกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้าคือ  “การให้”  และที่สำคัญคือการให้ชีวิต   และพระคริสต์ทรงสำแดงตัวอย่างนี้อย่างชัดเจนจากการให้ชีวิตของพระองค์  ดังนั้น  ใครก็ตามที่จะมีภาวะผู้นำในแผ่นดินของพระเจ้า  เริ่มต้นด้วยการที่พระคริสต์ทรงให้ชีวิต   และใครก็ตามที่คิดจะติดตามพระองค์ก็จะต้อง “ให้ชีวิต” ของตนแด่พระคริสต์   เพื่อชีวิตที่เคยเป็นของเราจะกลายเป็นชีวิตในแผ่นดินของพระคริสต์   แล้วพระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา   เพื่อใช้ชีวิตที่เรามีอยู่เป็นไปตามพระประสงค์   และนี่ก็คือการที่เรา “ให้ชีวิต” แก่มวลชน  เปาโลบอกกับคริสตชนในกรุงโรมว่า  “...โดยเห็นแก่ความเมตตากรุณาของพระเจ้า  ข้าพเจ้าวิงวอนท่านทั้งหลาย ให้ถวายตัวของท่านแด่พระเจ้า ...  อย่าลอกเลียนแบบอย่างคนในยุคนี้  แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ  แล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่...”  (โรม 12:1-2)  

จากนั้น  เปาโลได้อธิบายวิธีที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระคริสต์   จะเป็นชีวิตที่ “ให้” ในลักษณะต่างๆ  ตามสถานการณ์ หรือ เหตุการณ์ต่างๆ ที่ชีวิตต้องพบและเผชิญ  ...ผู้เชื่อแต่ละคนให้ชีวิตที่มีอยู่ให้เป็นส่วนหนึ่งในพระกายของพระคริสต์   เราให้ชีวิตแก่กันและกันในชุมชนแห่งความเชื่อ (ข้อ 4-5)   และ

เปาโลพูดถึงลักษณะ “การให้” ที่น่าสนใจยิ่งคือต้องให้จากใจให้จากชีวิต 

“...ผู้ที่ให้จงให้ด้วยใจกว้างขวาง 
ผู้ที่ครอบครองก็จงครอบครองด้วยเอาใจใส่  
ผู้ที่แสดงความเมตตา ก็จะแสดงด้วยใจยินดี... 
ขอให้ความรักมาจากใจจริง...
จงให้เกียรติกันและกัน...
จงเห็นอกเห็นใจช่วยธรรมิกชนเมื่อเขาขัดสน...
จงอุตส่าห์ต้อนรับแขกแปลกหน้า...
จงอวยพรคนที่เคี่ยวเข็ญท่าน...
จงชื่นชมยินดีกับผู้ที่มีความชื่นชมยินดี 
จงร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้...
จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  
อย่าใฝ่สูง  แต่ยอมสมาคมกับคนต่ำต้อย 
อย่าถือว่าตัวฉลาด...
อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย...
ถ้าเป็นได้ เท่าที่เรื่องขึ้นอยู่กับท่าน  จงอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน... 
อย่าแก้แค้น  ถ้าศัตรูท่านหิว จงให้อาหารเขารับประทาน  ถ้าเขากระหายน้ำจงให้น้ำเขาดื่ม...”
(ข้อ 8-10; 13-16; 18 และ 20  ฉบับมาตรฐาน)  
และนี่คือภาวะผู้นำในแผ่นดินของพระเจ้า

พระเยซูคริสต์ตรัสกับประชาชนว่า  “แต่ท่านทั้งหลายจงแสวงหาแผ่นดินองพระเจ้า  และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน  แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงนี้ให้” (มัทธิว 6:33  ฉบับมาตรฐาน)

วันนี้เราต้องเลือกว่าเราจะมีภาวะผู้นำแบบไหน

อะไรคือคำอธิษฐานของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น