07 พฤษภาคม 2555

ภาวะผู้นำเริ่มที่ “ใจ” (ตอนที่ 3): ภาวะผู้นำในวิกฤติจริยธรรม


อ่าน 2ซามูเอล 12:1-15

นาธันทูลดาวิดว่า  “ฝ่าพระบาทนั่นแหละคือชายคนนั้น   พระยาเวห์พระเจ้าแห่งอิสราเอลตรัสดังนี้ว่า   ...ทำไมเจ้าดูหมิ่นพระวจนะของพระยาเวห์?   ทำสิ่งชั่วร้ายในสายพระเนตรของพระองค์   เจ้าประหารอุรียาห์คนฮิตไทต์ด้วยดาบ  เอาภรรยาของเขามาเป็นภรรยาของเจ้า...   ฝ่าพระบาทได้หมิ่นประมาทพระยาเวห์จริงๆ ด้วยการกระทำครั้งนี้   ราชโอรสที่ประสูติมานั้นจะสิ้นพระชนม์แน่นอน” (2ซามูเอล 12:7, 9, และ 14; ฉบับมาตรฐาน)

เมื่อผู้นำคริสตจักร  ผู้นำองค์กรศาสนา  ผู้นำสถาบันคริสเตียน  ผู้นำประเทศชาติลื่นล้มลงในด้านจริยธรรม  เมื่อรากฐานความถูกต้องถูกละเมิดทำลาย  ในยามที่จริยธรรมของผู้นำวิบัติเช่นนี้องค์กรจะทำเช่นไร?

เมื่อกษัตริย์ดาวิดในฐานะผู้นำของชุมชนอิสราเอลกลายเป็นผู้ทำลายรากฐานความถูกต้องของชุมชน  ในเวลาที่ภาวะผู้นำด้านจริยธรรมของกษัตริย์ดาวิดดิ่งต่ำลงสุดๆ   นาธันผู้เผยพระวจนะได้ใช้ภาวะผู้นำในการ “กระตุก” ต่อมสำนึกจริยธรรมของดาวิด   เพื่อเรียกสำนึกในความเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าคืนมา

การกระทำของผู้เผยพระวจนะนาธันเป็นการกระทำภาวะผู้นำที่สุ่มเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง   ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาผู้เผยพระวจนะนาธันกับกษัตริย์ดาวิดจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  ไว้วางใจและเคารพกันและกัน   แต่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้โอกาสที่ความสัมพันธ์ที่ดีอาจแตกหักฉีกขาดอย่างรุนแรงได้   เพราะกษัตริย์ดาวิดมีอำนาจมากมาย   กำลังเป็นฮีโร่ของประชาชน   สร้างชาติให้มั่นคงและมั่งคั่ง   ถ้าเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างผู้เผยพระวจนะนาธันกับกษัตริย์ดาวิด   แน่นอนครับประชาชนและเหล่าบรรดาข้าราชการ และ กองทัพต่างยืนเคียงข้างกษัตริย์ดาวิดอย่างแน่นอน

อีกประการหนึ่ง   เรื่องราวความวิบัติทางจริยธรรมของกษัตริย์ดาวิดมิได้เป็นเรื่องเปิดเผยในที่สาธารณะ มีผู้รู้ผู้ร่วมในการนี้ในวงจำกัด   และคนกลุ่มนี้ย่อมมีความสนิทชิดเชื้อกับกษัตริย์ดาวิดอย่างไม่ปกติ   จนถึงขั้นการเอื้อผลประโยชน์แก่กันไม่ว่าการกระทำนั้นจะถูกต้องหรือไม่  เช่นพวกทหารลิ่วล้อที่นำนางบัทเชบามาตอบสนองตัณหาของกษัตริย์ดาวิด   การที่แม่ทัพโยอาบยอมที่จะทำตามแผนลับที่ทำให้อุรียาห์ถูกศัตรูฆ่าตาย   ดังนั้น  การที่จะพิสูจน์ให้กษัตริย์ดาวิดเห็นว่าตนกระทำผิดพระบัญญัตินั้นย่อมถูกกลบเกลื่อนบิดเบือนด้วยเหตุผล และหลักฐานที่สร้างขึ้นภายหลังได้   กล่าวคือยากที่จะเอาผิดกษัตริย์ดาวิดด้วยหลักนิตินัย หรือ เหตุผลและหลักฐานพิสูจน์   เพราะสามารถบิดเบือนและหาแพะมารับบาปนี้ได้  เช่น  กษัตริย์ดาวิดอาจจะชี้แจงกับประชาชนว่า อุรียาห์มิได้ตายด้วยดาบของตน  แต่เขาตายในสงครามด้วยดาบของคนอัมโมนซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาว่าเมื่อทหารออกศึกย่อมมีโอกาสพลาดถึงแก่ชีวิตได้   อย่างที่ดาวิดพูดปลอบใจโยอาบที่ยอมร่วมกระทำผิดตามแผนลับว่า “...อย่าให้เรื่องนี้ทำให้ท่านทุกข์ใจ  เพราะดาบย่อมสังหารไม่ว่าคนนั้นหรือคนนี้...” (2ซามูเอล 11:25)   ดังนั้น   ภาระความรับผิดชอบและภาวะผู้นำในวิกฤติจริยธรรมนี้ของนาธันจึงมิใช่การหาหลักฐานพิสูจน์ว่าทำผิดอะไร   แต่ภารกิจที่หนักคือการกระตุกต่อมจริยธรรมของผู้นำที่ล้มเหลวด้านจริยธรรม

ในวิกฤติจริยธรรมของกษัตริย์ดาวิดที่สร้างความวิบัติในสังคมชุมชนอิสราเอล   ผู้เผยพระวจนะนาธันได้ใช้ภาวะผู้นำด้านความกล้าหาญ   ลุ่มลึกชาญฉลาด  และสำนึกในการเป็นคนรับใช้ของพระเจ้า   ซึ่งมีกระบวนการที่น่าสนใจดังนี้

1. เป็นภารกิจที่พระเจ้าทรงใช้:  ในข้อแรกของพระธรรม 2ซามูเอล บทที่ 12 กล่าวว่า “พระยาเวห์ใช้นาธันไปหาดาวิด   นาธันก็ไปเข้าเฝ้าและทูลพระองค์ว่า...” (ข้อที่ 1)   ที่ผู้เผยพระวจนะนาธันกระทำในฐานะผู้นำที่ตนเป็นผู้เผยพระวจนะเพราะ “พระเจ้าทรงใช้ให้ไป” ภาวะผู้นำที่ต้องทำหน้าที่ในวิกฤติจริยธรรมคือ กล้ากระทำเพราะพระเจ้าทรงใช้   กระทำด้วยสำนึกว่ากำลังกระทำตามที่พระเจ้าใช้ไป   มิได้กระทำเพราะตนเห็นว่าต้องกระทำ  หรือเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ต้องแก้ไข  หรือเพราะเป็นผู้เผยพระวจนะ(ตำแหน่งหน้าที่)เท่านั้น   แต่ฝืนและขัดขืนไม่ได้เพราะพระเจ้าใช้ไป   ดังนั้นเมื่อไปเผชิญหน้ากับกษัตริย์ดาวิดสิ่งที่ผู้เผยพระวจนะนาธันต้องกระทำคือ  กระทำตามที่พระเจ้าใช้ให้ไปทำมิใช่ไปกระทำตามสิ่งที่ตนเห็นว่าต้องกระทำ หรือ ควรกระทำ   ผมเชื่อแน่ว่า ผู้เผยพระวจนะนาธันต้องใช้เวลาในการแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าในสถานการณ์ที่กำลังเลวร้ายลงนี้

2. เรียกความสำนึกคืนมา:  การมาครั้งนี้ของผู้เผยพระวจนะนาธันมิได้มาเพื่อชี้ชัดความผิดของกษัตริย์ดาวิด   แต่พระเจ้าเปิดเผยให้นาธันเห็นว่า  กษัตริย์ดาวิดกำลังสูญเสียสำนึกในความเชื่อศรัทธาของเขาที่เคยมีต่อพระเจ้า   ดังนั้น  ผู้เผยพระวจนะนาธันจึงมิได้มาเพื่อจู่โจมว่ากษัตริย์ดาวิดทำผิด   แต่มาในฐานะที่มาเล่าเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล  เรื่องความอยุติธรรมในชุมชน   นาธันมาเพื่อปรึกษาขอการตัดสินในเรื่องที่เกิดขึ้น   แต่มิใช่การมุ่งชี้ผิดของดาวิด  และเรียกสำนึกบนรากฐานความเชื่อศรัทธาคืนมา

เมื่อผู้เผยพระวจนะนาธันเล่าเรื่องคนมั่งมีที่ไปแย่งแกะของคนจนมาเลี้ยงแขก   ทันทีต่อมจริยธรรมของกษัตริย์ดาวิดกลับมาทำงานทันที  ผมเห็นภาพของกษัตริย์ดาวิดพรวดลุกขึ้นทันทีและประกาศกับผู้เผยพระวจนะนาธันว่า  “พระยาเวห์ทรงพระชนม์อยู่แน่ฉันใด  คนที่ทำเช่นนั้นสมควรตาย  และจะต้องคืนลูกแกะตัวเมียให้สี่เท่าเพราะเขาได้ทำสิ่งนี้(อ้างตามพระบัญญัติจาก อพยพ 22:1)  และเพราะเขาไม่มีความเมตตา” (ข้อ 5-6)   แน่นอนครับ ต่อมสำนึกตามความเชื่อศรัทธาของกษัตริย์ดาวิดกำลังกลับมาทำงานและบอกตนเองว่า  ต้องไม่มีความอยุติธรรมและความชั่วช้าเช่นนี้ในแผ่นดินอิสราเอล   ถ้ามีต้องขจัดออกไปให้หมด

3. สำนึกบนความเชื่อศรัทธา: เมื่ออ่านพระธรรมตอนนี้เรามักให้ความสนใจและคามสำคัญกับการจู่โจมของผู้เผยพระวจนะนาธันที่กล่าวจู่โจมกษัตริย์ดาวิดว่า “ฝ่าพระบาทนั่นแหละคือชายคนนั้น...”(ข้อ 7)  แต่สิ่งที่ผู้เผยพระวจนะนาธันต้องการทำให้กษัตริย์ดาวิดเข้าใจอย่างถูกต้องชัดเจนว่า  นี่มิใช่เพียงเพราะกษัตริย์ดาวิดทำผิดพระบัญญัติ เพราะถ้าเป็นการทำผิดพระบัญญัติก็จะต้องมีการ “ตีความ” ดาวิดจะใช้เหตุผล และ เรียกร้องหลักฐานมาพิสูจน์  

แต่นาธันชี้ชัดลงไปว่ากษัตริย์ดาวิดกำลังกระทำผิดต่อพระเจ้า  ซึ่งเป็นการจี้ลงไปที่สำนึกบนความเชื่อศรัทธาของกษัตริย์ดาวิด(ที่กลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง)  ผู้เผยพระวจนะนาธันกล่าวว่า พระเจ้าตรัสถามดาวิดว่า “ทำไมเจ้าดูหมิ่นพระวจนะของพระยาเวห์?  (ทำไม)เจ้าทำสิ่งชั่วในสายพระเนตรของพระองค์?  (ทำไม)เจ้าประหารอุรียาห์คนฮิตไทต์ด้วยดาบของคนอัมโมน?  (ทำไม)เจ้าเอาภรรยาของอุรียาห์คนฮิตไทต์มาเป็นภรรยาของเจ้า?... เพราะเจ้ากระทำการนั้นอย่างลับๆ  แต่เราจะกระทำการนี้ต่อหน้าอิสราเอลทั้งสิ้นอย่างเปิดเผย” (ข้อ 9-10 และ 13)

ผู้เผยพระวจนะนาธัน มิเพียงแต่กระตุกต่อมสำนึกที่กระทำผิดพระบัญญัติ ทำผิดกฎระเบียบสังคมชุมชนอิสราเอลเท่านั้น   แต่สิ่งที่ผู้เผยพระวจนะนาธันกระทำคือ  การกระตุกที่ต่อมสำนึกบนรากฐานความเชื่อศรัทธาที่กษัตริย์พึงมีต่อพระยาเวห์   เพื่อเมื่อสำนึกผิดจะเป็นการสำนึกว่าตนกระทำผิดต่อพระยาเวห์   มิใช่การทำผิดพระบัญญัติเท่านั้น   แต่ถ้าสำนึกตนว่าได้กระทำผิดต่อพระยาเวห์  ดาวิดต้องสารภาพต่อพระยาเวห์   ต้องหันกลับมาหาพระเจ้า  และรื้อฟื้นความสัมพันธ์ใหม่กับพระองค์  และแน่นอนว่ากษัตริย์ดาวิดจะกลับมากระทำตามพระวจนะ และ พระประสงค์ของพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง

ผู้เผยพระวจนะรู้แน่แก่ใจว่า  พระเจ้ามิได้เรียกตนมาหากษัตริย์ดาวิดเพื่อชี้ว่าเขากระทำผิดกฎระเบียบหรือพระบัญญัติเท่านั้น   แต่ผู้เผยพระวจนะนาธันรู้ว่า พระเจ้าทรงเรียกตนมาหากษัตริย์     ดาวิดเพื่อให้ดาวิดสำนึกที่ตนกระทำผิดต่อพระเจ้า   และกลับใจหันกลับมาเชื่อฟังพระองค์อีกครั้งหนึ่ง


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น