30 มีนาคม 2561

การพลิกฟื้นคืนดี ขั้นที่หก: ค่าราคาที่ผู้สร้างสันติต้องจ่าย!


การพลิกฟื้นคืนดี ขั้นที่หกคือ  การอยู่ร่วมกับทุกคนอย่างสงบ ศานติ และ สุข

เปาโลบอกกับคริสตชนว่า   “ถ้าเป็นได้เท่าที่เรื่องขึ้นอยู่กับท่าน จงอยู่ร่วมกับทุกคนอย่างสงบสุข” (โรม 12:18 อมธ.)  การที่เราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างก่อเกิด สันติ  สงบสุข และมีสุข  หรือที่คริสตชนเรียกว่า “ผู้สร้างสันติ”  การสร้างสันติเป็นสิ่งที่มีราคาค่างวดที่ผู้สร้างสันติสุข “จะต้องจ่าย”  และถ้าเราตั้งใจที่จะเป็นผู้ “สร้างสันติ” เราก็ต้องจ่ายค่าราคาของสันตินั้น  คือการที่เรายอมละความอหังการ ยโส หรือความภาคภูมิใจในตนเอง  ซึ่งแน่นอนครับที่เราต้องยอมสละและสลัดทิ้งความสำคัญแห่งตน หรือ  เลิกในการที่เรามีตนเองเป็นศูนย์กลางหรือเป็นใหญ่ในชีวิตประจำวันของตน แล้วเปิดชีวิตจิตใจให้พระคริสต์มาเป็นใหญ่ในชีวิตประจำวันของเรา

การสร้างความสงบสันติ  มิใช่การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง  หรือการมองข้าม  หรือหนีจากปัญหา  แต่เป็นการทำตามศุภพระพรของพระเยซูคริสต์ประการที่เจ็ด   ที่ทรงสอนถึงแนวทางสำหรับคนที่ติดตามพระองค์จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น แทนที่จะอยู่ด้วยจิตใจที่จะแข็งกร้าว  แข็งทื่อ หรือแสดงออกให้เห็นถึงความเหนือกว่าของตน  

แต่การสร้างสันติเป็นการอยู่เพื่อที่จะหนุนเสริมผู้อื่น  สนใจในความจำเป็นต้องการในชีวิตและการทำงานของคนที่เราอยู่ด้วย  พระเยซูคริสต์ทรงยกย่องฐานะของ “ผู้สร้างสันติ” ให้มีความสำคัญอย่างที่พระบิดายกย่องพระองค์คือ คนที่สร้างสันติเป็น “ลูกของพระเจ้า” ตามคำสอนของพระองค์ที่ว่า  “คน​ที่​สร้าง​สันติ​ก็​เป็น​สุข   เพราะ​ว่า​พระ​เจ้า​จะ​ทรง​เรียก​เขา​ทั้ง​หลาย​ว่า​เป็น​ลูก” (มัทธิว 5:9 มตฐ., เทียบ มัทธิว 3:17)

หลายคนมักทำตนว่าไม่รู้ไม่สนใจในปัญหาที่มีอยู่  หรือไม่กล้าเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นการหลีกเลี่ยง หรือ หลีกลี้หนีปัญหา  แต่พระเยซูคริสต์องค์สันติราช  พระองค์ไม่เคยหลีกเลี่ยง หรือ หนีปัญหา อีกทั้ง การสร้างสันติมิใช่การเอาใจคนรอบข้างที่เราอยู่หรือทำงานด้วย   หรือไม่ใช่การที่เราต้องยอมศิโรราบในทุกเรื่อง   หรือต้องยอมตนลงเป็น “พรมเช็ดเท้าของทุกคน”   หรือยอมให้คนอื่นเหยียบย่ำข้ามหัวตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้มิใช่ความหมาย “ผู้สร้างสันติ” ตามความคิดของพระเยซูคริสต์   พระองค์ไม่ยอมก้มหัวกับสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร   แต่พระองค์ยืนหยัดมั่นคงในการเผชิญหน้ากับอำนาจแห่งความชั่วบนจุดเชื่อจุดยืนของพระองค์

การสร้างสันติ หมายถึงการที่ร่วมมือรับใช้กับคนรอบข้าง  เพื่อพลิกฟื้นความสัมพันธ์ในครอบครัว ชุมชน ในองค์กร ในคริสตจักร  ในกลุ่มคน และ ฯลฯ  ด้วยการเคารพ ให้เกียรติ และเห็นคุณค่าของคนรอบข้าง  ด้วยระบบคุณค่าแบบพระคริสต์ คือ “ผู้สร้างสันติคือลูกของพระเจ้า”  แต่พระองค์ได้สำแดงเป็นแบบอย่างอย่างเป็นรูปธรรมด้วยชีวิตของพระองค์อย่างชัดเจนว่า  การสร้างสันติ พระคริสต์ต้องจ่ายราคาค่างวดของการเป็นผู้สร้างสันติคือ  ชีวิตบนไม้กางเขน  ที่เนินเขากลโกธา   เพื่อนำการพลิกฟื้นคืนดีมาสู่มนุษย์โลก  ให้คืนดีกับพระเจ้า  คืนดีกับเพื่อนบ้าน  คืนดีกับพระเจ้า  และคืนดีที่เกิดขึ้นภายในชีวิตของตนเองที่ร้าวฉานแตกหัก

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

28 มีนาคม 2561

การพลิกฟื้นคืนดี ขั้นที่ห้า: แก้ปัญหา...ไม่ใช่กล่าวหาคนอื่น


หลักการพระคัมภีร์ในการพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์ใหม่คือ การแก้ที่ปัญหา  แต่มิใช่การโยนปัญหา หรือ ความผิดให้กับผู้อื่น  หรือการค้นหาว่าใครทำผิด   เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลยถ้าเรามัวแต่มาหาว่าใครทำผิด ใครเป็นฝ่ายผิด   ดังนั้น การพลิกฟื้นคืนดี จึงมิใช่การโต้เถียงเอาเป็นเอาตายเพื่อพิสูจน์ หรือ หาว่าใครทำผิดกันแน่  พระคัมภีร์ให้หลักการแก่เราว่า เราจะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร  สุภาษิตแนะนำเราว่า  “คำตอบนุ่มนวลช่วยละลายความโกรธเกรี้ยวให้หายไป   แต่คำกักขฬะ เผ็ดร้อน ยั่วโทสะ” (สุภาษิต 15:1 สมช.)

เราจะไม่สามารถพูดกันรู้เรื่องจนสามารถพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์ของเราขึ้นใหม่ได้เลย   ถ้าเราไม่ใช้คำพูดที่มีปัญญา  คำพูดที่นุ่มนวลย่อมดีกว่าคำพูดที่ถากถาง เยาะเย้ย หรือ กล่าวโทษ

ท่าทีในการพูดและการใช้คำพูดมีความสำคัญมากต่อการแก้ปัญหา   ถ้าเราพูดด้วยท่าทีความไม่พอใจ  อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องปกป้องตนเอง   พระวจนะของพระเจ้าบอกแก่เราว่า  “คน​มี​ปัญ​ญา​เรียก​ได้​ว่า​เป็น​คน​มี​ความ​เข้า​ใจ  และ​วา​จา​อ่อน​หวาน​เพิ่ม​อำ​นาจ​การ​สั่ง​สอน” (สุภาษิต 16:21 อมธ.)

การพูดถากถาง  ดุด่า ไม่ช่วยในการแก้ปัญหา   เราจะไม่สามารถโน้มน้าวจิตใจของคนอื่นได้เลย   ถ้าคำพูดของเราทำให้คนอื่นต้องอับอาย เจ็บ หรือเสียหาย

ในช่วงสมัยสงครามเย็น   คู่สงครามทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องด้วยกันว่า  มีอาวุธสงครามบางอย่างนั้นทำลายล้างอย่างสูงและเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้อาวุธนั้น   เพื่อประโยชน์ร่วมกัน จึงเห็นว่าให้ทำลายคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์  และ มีการประมาณการใช้อาวุธเหล่านั้น

เปาโลกล่าวสรุปไว้ว่า  “อย่า​ให้​คำ​เลว​ร้าย​ออก​จาก​ปาก​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย แต่​จง​กล่าว​คำ​ดี ๆ ที่​เสริม​สร้าง​และ​ที่​เหมาะ​กับ​ความ​ต้อง​การ เพื่อ​จะ​ได้​เป็น​คุณ​แก่​คน​ที่​ได้​ยิน (เอเฟซัส 4:29 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

26 มีนาคม 2561

การพลิกฟื้นคืนดี ขั้นที่สี่: ปลดชนวนระเบิดอารมณ์!


ขั้นตอนที่สี่  การพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์จากการขัดแย้ง คือการยอมรับความผิดในส่วนของเราเอง  ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง   ตามพระวจนะของพระเจ้าซึ่งเป็นคู่มือในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ถ้าท่านต้องการให้เกิดการพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์ให้กลับคืนใหม่ด้วยความจริงใจแล้ว   ให้เราเริ่มต้นยอมรับความผิดพลาด หรือ ความบาปของเรา   พระเยซูคริสต์ตรัสสอนว่า   “...จง​ชัก​ไม้​ทั้ง​ท่อน​ออก​จาก​ตา​ของ​ท่าน​ก่อน แล้ว​ท่าน​จะ​เห็น​ได้​ถนัด จึง​จะ​เขี่ย​ผง​ออก​จาก​ตา​พี่​น้อง​ของ​ท่าน​ได้” (มัทธิว 7:5 มตฐ.)

ความจริงที่พระคริสต์สอนเราคือ   เราทุกคนมีจุดบอดในชีวิต   บางครั้งเรามองไม่เห็นจุดบอดของตนเอง   เราต้องเปิดใจที่จะค้นหาความจริงโดยขอบุคคลที่สามช่วยบอกเราถึงจุดบอดที่เขาเห็นในชีวิตของเรา   ก่อนที่เราจะไปขอพบกับผู้ที่เรามีความขัดแย้งด้วย

ในขณะเดียวกัน  ตัวเราเองต้องมีเวลากับพระเจ้าส่วนตัวและขอพระองค์ช่วยชี้ให้เราเห็นถึงความผิดอะไรบ้างที่เราทำให้เกิดความขัดแย้งในครั้งนี้  เช่น เราอธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้าว่า...

ข้าพระองค์เป็นตัวปัญหาอย่างไรบ้าง?  
ข้าพระองค์ไม่ได้ใส่ใจสถานการณ์ความเป็นจริงในเวลานั้นอย่างไรบ้าง?  
ข้าพระองค์ไม่ได้ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่นอย่างไรบ้าง?   หรือ
ข้าพระองค์มีอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวเกินไปอย่างไรบ้าง?   

พระวจนะของพระเจ้าได้บอกแก่เราว่า  “ถ้า​เรา​กล่าว​ว่า​เรา​ไม่​มี​บาป เรา​ก็​หลอก​ตัว​เอง และ​สัจจะ​ไม่​ได้​อยู่​ใน​ตัว​เรา​เลย” (1ยอห์น 1:8 มตฐ.)

การสารภาพยอมรับความผิดบาปบกพร่องส่วนของตนเองนั้นเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการพลิกฟื้นคืนดี   บ่อยครั้งเมื่อเราลงมือจัดการกับความขัดแย้งมักส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดมากกว่าผลจากปัญหาที่แท้จริงในเวลานั้น   แต่เมื่อเราเริ่มต้นด้วยใจถ่อมลงและยอมรับความผิดพลาดในส่วนของเราที่ทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งนี้   เป็นการปลดชนวนระเบิดอารมณ์อีกฝ่ายหนึ่งอันเนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น   เพราะโดยปกติแล้ว  เมื่อเกิดความขัดแย้งต่างฝ่ายต่างต้องหาทางปกป้องตนเอง

อย่าแก้ตัว  หรือโยนความผิดพลาดกล่าวหาผู้อื่น   แต่ให้เรายอมรับส่วนที่เราเป็นผู้ทำให้เกิดความผิดพลาดจนเกิดความขัดแย้งในครั้งนี้   และยอมรับความรับผิดชอบของเราต่อความบาปผิดพลาดที่เราได้ทำลงไป   แล้วจึงขอการยกโทษจากคู่กรณี

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

23 มีนาคม 2561

การพลิกฟื้นคืนดี ขั้นที่สาม: เห็นอกเห็นใจคนอื่น


หลักการพระวจนะการพลิกฟื้นคืนดีขั้นที่ 3 คือ เห็นอกเห็นใจ เพื่อเข้าอกเข้าใจในความรู้สึกของคนอื่น

ขั้นตอนนี้ เราจะต้องใช้ “หู” ของเรา มากกว่า “ปาก” ของเรา!

ก่อนที่เราจะพยายามแก้ไขข้อขัดแย้งใด ๆ   เราต้องฟังถึงความรู้สึกของคนอื่นอย่างใส่ใจ   เปาโลให้การแนะนำว่า  “แต่ละคนไม่ควรมุ่งมองหาประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่ควรคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย” (ฟิลิปปี 2:4 สมช.)  คำว่า “มุ่งมองหา” ภาษากรีกในพระคัมภีร์มีความหมายว่า การใส่ใจอย่างใกล้ชิด   มุ่งมองไปที่ความรู้สึกของผู้อื่น   ไม่ใช่มุ่งมองหาข้อเท็จจริง   ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการเห็นอกเห็นใจ เพื่อจะเข้าอกเข้าใจ  ไม่ใช่มุ่งมองหาข้อยุติ

เราคงไม่เริ่มต้นด้วยการพยายามให้คนอื่นบอกเราถึงความรู้สึกของเขาก่อน   ให้เราฟังและให้เขาได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกของเขาโดยเราไม่พยายามอธิบายเพื่อปกป้องตนเอง   พยักหน้าถึงความพยายามเข้าใจของเรา แม้ในบางเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยก็ตาม   เราตระหนักรู้ดีอยู่ว่าความรู้สึกมิใช่ข้อเท็จจริง หรือ มีเหตุมีผลเสมอไป   ความจริงแล้ว ความไม่พอใจ ความคับแค้นใจเป็นตัวที่กระตุ้นให้เรา “คิดและทำ” ในทางที่ไม่ฉลาดรอบคอบ  กษัตริย์ดาวิดยอมรับว่า  “เมื่อ​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์​ขม​ขื่น   เมื่อ​ข้า​พระ​องค์​เสียว​แปลบ​ถึง​หัว​ใจ   ข้า​พระ​องค์​เขลา​และ​ไม่​รู้​เรื่อง  ข้า​พระ​องค์​ประ​พฤติ​ตัว​เหมือน​สัตว์​ต่อ​พระ​องค์” (สดุดี 73:21-22 มตฐ.)

ในอีกด้านหนึ่ง  พระธรรมสุภาษิตได้กล่าวไว้ว่า ความสุขุมรอบคอบจะทำให้คนเราอดทน  และเกียรติยศของเขาคือการให้อภัยความผิดของคนอื่น (สุภาษิต 19:11 อมธ.)   ความอดทนมาจากปัญญา  และปัญญามาจากการได้ยินได้ฟังถึงมุมมองความคิดเห็นคนอื่น

การที่เราฟังคนอื่นอย่างใส่ใจ   เรากำลังบอกกับคนที่เราฟังว่า “ความคิดเห็นของท่านมีคุณค่าสำหรับข้าพเจ้า  ความสัมพันธ์ของเราเป็นเรื่องที่สำคัญมาก  และท่านเป็นผู้ที่สำคัญสำหรับข้าพเจ้า”   ดังมีคำกล่าวที่ว่า  “ผู้คนไม่สนใจว่าท่านมีความรู้อะไร   จนกว่าเมื่อเขารู้ว่าท่านสนใจและใส่ใจเขา

พระคัมภีร์บอกเราว่า  การพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์   “เราแต่ละคนควรทำให้เพื่อนบ้านพอใจอันเป็นผลดีแก่เขา เพื่อเสริมสร้างเขาขึ้น” (โรม 15:2 อมธ.)  เป็นการยอมและเสียสละเพื่อดูดซับความโกรธของผู้อื่น  ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุผลก็ตาม ที่เปาโลกล่าวเช่นนี้เพราะ พระคริสต์ได้ทำเป็นตัวอย่างแก่เราผู้เรียกตนว่าเป็นสาวกของพระองค์   และที่สำคัญคือพระคริสต์กระทำเช่นนี้เพื่อเราแต่ละคน พระองค์ทรงยอมทนความโกรธที่โหดเหี้ยมเพื่อช่วยเราให้รอด

“เพราะแม้แต่พระคริสต์ก็ไม่ได้ทรงทำสิ่งที่พระองค์เองพอพระทัย แต่ตามที่มีเขียนไว้ว่า “การหมิ่นประมาทของผู้ที่สบประมาทพระองค์ได้ตกอยู่แก่ข้าพระองค์” (ข้อ 3)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499

22 มีนาคม 2561

การพลิกฟื้นคืนดี ขั้นที่สอง: เริ่มที่ตัวเรา


หลักการพระวจนะของพระเจ้า ในการพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์ที่ฉีกขาดลงคือ เราต้องเริ่มก่อน!

ไม่ว่าเราจะเป็นคนทำผิดหรือไม่   พระเจ้าประสงค์ให้เราเป็นคนที่เริ่มก้าวแรกของการพลิกฟื้นคืนดี   อย่ารอให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนเริ่มต้นคืนดี   ให้เราเป็นคนเข้าไปหาคนนั้นก่อน

การพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์ที่แตกหักมีความสำคัญมาก  สำหรับพระคริสต์แล้วสำคัญยิ่งกว่าการที่เราจะประกอบศาสนพิธีที่สำคัญ ๆ ในพระวิหารของพระเจ้า เช่น การถวายเครื่องบูชาแด่พระองค์เสียอีก   พระคริสต์บอกกับเราตรงไปตรงมาว่า  “เพราะฉะนั้น ถ้าท่านนำเครื่องบูชามาถึงแท่นบูชาแล้ว และระลึกขึ้นได้ว่า พี่น้องมีเหตุขัดเคืองข้อหนึ่งข้อใดกับท่าน  จงวางเครื่องบูชาไว้ที่หน้าแท่นบูชา และกลับไปคืนดีกับพี่น้องผู้นั้นเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาถวายเครื่องบูชาของท่าน” (มัทธิว 5:23-24 มตฐ.)

เมื่อความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันของเราเกิดความขัดแย้งแตกร้าว   ในฐานะสาวกพระคริสต์เราจะหาทางออกเพื่อพลิกฟื้นความสัมพันธ์ให้คืนดีมีสันติสุขใหม่เร็วที่สุด   อย่าผัดวันประกันพรุ่ง  อย่าแก้ตัวหรือบอกกับตนเองว่า “แล้วเราจะค่อยหาเวลาที่เหมาะสมที่จะพูดกันในเรื่องนี้”   หาเวลาที่ไปพบกันหน้าต่อหน้าเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้   การรีรอหรือทิ้งไว้รังแต่จะสร้างความขุ่นเคืองไม่พอใจเพิ่มมากยิ่งขึ้น   อีกทั้งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

ในความขัดแย้ง “เวลา” ไม่ได้ช่วยเยียวยาสถานการณ์ให้ดีขึ้นแต่อย่างไร  กลับเพิ่มแต่ความเจ็บปวด และ เจ็บช้ำน้ำใจหรือ ทรมานใจอย่างไม่จำเป็นและเกินจริงได้

การที่เรารีบลงมือพลิกฟื้นคืนดียังลดผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับจิตวิญญาณของเราด้วย  พระวจนะของพระเจ้ากล่าวว่า การไม่แก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น   สิ่งนั้นจะกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นคำอธิษฐานของเราที่ไม่ได้คำตอบจากพระเจ้าด้วย  อีกทั้งทำให้ชีวิตของเราไม่เป็นสุข   โยบเตือนให้เราตระหนักว่า  “คนโง่ตายเพราะโทสะจริต  ความอิจฉาริษยาเข่นฆ่าคนเขลา” (โยบ 5:2 อมธ.)  และ “...ความเกรี้ยวกราดทำร้ายตนเอง” (18:4 สมช.)

ความสำเร็จของการพลิกฟื้นคืนดีสู่สันตินั้นขึ้นอยู่กับที่เราเลือกเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมในการพบปะสร้างความสัมพันธ์คืนดีขึ้นใหม่  อย่าไปพบเมื่อท่านกำลังหมดแรงเหนื่อยล้า  ต้องไม่เร่งรีบ  หรือ เกิดการรบกวน  เวลาที่ดีที่สุดคือเวลาที่ทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมในระดับหนึ่ง


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

19 มีนาคม 2561

การพลิกฟื้นคืนดี ขั้นที่หนึ่ง: พูดคุยปรึกษาพระเจ้าก่อน!


ในชีวิตประจำวันของเรา  ความขัดแย้ง หรือ การที่มีความสัมพันธ์ที่ฉีกขาด เป็นเรื่องที่เราพบบ่อยมากในชีวิต   ถ้าเราไม่ใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้เราสูญเสียความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว  เพื่อนร่วมงาน  หรือคนในชุมชนก็ได้   หรืออาจจะลามปามจนเป็นความขัดแย้งที่เอาผิดเอาถูก  เอาแพ้เอาชนะกันก็ได้  

สำหรับสาวกพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน เมื่อสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดี เกิดความขัดแย้ง  สิ่งที่เราจะต้องทำคือ การพลิกฟื้นคืนดี

ขั้นที่หนึ่ง  ของการพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์เริ่มต้นที่การ พบ พูดคุย และปรึกษากับพระเจ้าก่อนที่เราจะไปพูดคุยเรื่องนี้กับคนอื่น

ปรึกษาปัญหาความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าด้วยการอธิษฐานก่อนที่เราจะเผลอไปบ่น หรือ ซุบซิบนินทาเรื่องนี้ให้เพื่อนฟัง   ถ้าเราปรึกษาพูดคุยกับพระเจ้าก่อน เราจะพบหรือมีประสบการณ์ว่า พระเจ้าจะทรงเปลี่ยนแปลงอารมณ์ นึกคิด และใจของเรา หรือ จิตใจของอีกคนหนึ่งโดยที่ท่านไม่ต้องช่วยพระองค์

ความสัมพันธ์ทั้งสิ้นของท่านจะไปได้อย่างราบเรียบถ้าเราใช้เวลากับการอธิษฐานมากพอ  เฉกเช่นดาวิดกระทำที่ปรากฏในสดุดี ดาวิดระบายเรื่องต่าง ๆ กับพระเจ้าโดยตรง   ให้เราบอกพระเจ้าถึงความผิดหวัง สับสนวุ่นวายในใจของเรา เปิดความรู้สึกทั้งหมดกับพระเจ้า   พระองค์จะไม่แปลกใจ หรือ ไม่พอใจต่อความรู้สึกโกรธของเรา   ขอให้เราบอกพระองค์ตรงไปตรงมาถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิด   ความเจ็บปวด  ความกลัว  ความรู้สึกหวั่นไหวของเราในเวลานั้นกับพระเจ้าอย่างไม่ปิดบังซ่อนเร้นอะไรไว้

รากของความขัดแย้งส่วนใหญ่มาจากการที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายไม่ได้อย่างที่ตนเองต้องการ ไม่ได้อย่างที่คาดคิด  ซึ่งถ้าเราสาวลงลึกจะพบว่า หลายความจำเป็นที่เราต้องการจากคนอื่นนั้นแท้จริงพระเจ้าเท่านั้นที่จะให้แก่เราได้    บ่อยครั้ง ที่เราคาดหวังสิ่งต่าง ๆ ในตัวของคนอื่นไม่ว่าจะเป็นคู่ชีวิต  เพื่อนฝูง  คนในครอบครัว  ศิษยาภิบาล  นายจ้าง  ทีมงาน   เมื่อไม่ได้ดั่งใจคาดหวัง เราก็จะเกิดความผิดหวัง เกิดความเจ็บปวด เกิดความขมขื่น ในฐานะสาวกพระคริสต์เราต้องตระหนักรู้ว่า มีหลายอย่างที่เราจะได้จากพระเจ้าเท่านั้น หรือ พระเจ้าเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตอบความคาดหวังของเราได้

ยากอบได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่เรานั้นเกิดจากการที่เราไม่ได้อธิษฐาน ทูลขอ ปรึกษากับพระเจ้า  “อะไรคือต้นเหตุของการต่อสู้และการทะเลาะวิวาทในหมู่พวกท่าน? สิ่งเหล่านี้มาจากตัณหาซึ่งขับเคี่ยวกันภายในท่านไม่ใช่หรือ?   ท่านอยากได้แต่ไม่ได้ ท่านฆ่าและละโมบของผู้อื่น ท่านไม่ได้สิ่งที่ตนต้องการก็วิวาทและต่อสู้กัน ท่านไม่มีเพราะไม่ได้ทูลขอพระเจ้า (ยากอบ 4:1-2 อมธ.)

แทนที่เราจะมุ่งมองไปยังพระเจ้า   เรากลับไปมุ่งมองที่คนอื่น  จึงทำให้เราจึงผิดหวัง  ไม่มีความสุข และ เกิดความโกรธ ไม่พึงพอใจ เมื่อคนเหล่านั้นไม่สามารถทำอย่างที่เราต้องการหรือพอใจ  

พระเจ้าถามตรง ๆ กับเราวันนี้ว่า  “แล้วทำไมเจ้าไม่มาหาเราก่อนไปหาคนอื่น ๆ ล่ะ?”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499

17 มีนาคม 2561

เรียกร้อง...ความถูกต้องเป็นธรรม!


Personal Reflection

ปัจจุบันไม่ว่าในสังคมไหน   เราจะพบการเรียกร้องให้คนเรากระทำในสิ่งที่ถูกต้อง  กดดันให้มีการกระทำความเป็นธรรมมากมาย  

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น หรือ อย่างน้อยก็ส่วนใหญ่ที่เป็นการเรียกร้อง “คนอื่น” ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง  กดดันให้คนอื่นรับผิดชอบและกระทำในสิ่งที่เป็นความยุติธรรม  

แล้วสังคมก็จะมองว่าคน ๆ นั้นมีความกล้าหาญทางจริยธรรม   คนนั้นกล้าพูดความจริง   เขากล้าเสี่ยงมาเปิดโปงความผิดต่าง ๆ ของคนอื่น และ ที่เกิดขึ้นในสังคม

ยิ่งกว่านั้น   หลายคนยังมองว่าคน ๆ นั้น “ยืนหยัด” บนความถูกต้องชอบธรรม เพราะดูซิ เขากระหน่ำซ้ำเติมอย่างไม่ยอมลดลาวาศอก  

ใครจะไปรู้ เขาอาจจะกลายเป็น “ฮีโร่” ของเยาวชนคนมากมายก็ได้?   การกระทำแบบนี้กลายเป็น “ผู้กล้าในดวงใจ” ของเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกมากมายก็ได้ ...ใครจะไปรู้?

ใกล้เวลาสัปดาห์สุดท้ายในช่วงชีวิตของพระเยซูคริสต์ที่ปรากฏตัวในสังคโลกนี้ ในสัปดาห์สุดท้าย พระองค์ก็เผชิญกับ “การเรียกร้อง กดดัน ความถูกต้องเป็นธรรม” ด้วย? ผมขอเชิญชวนให้เราใช้ชีวิตในช่วงนี้ระลึกถึงเหตุการณ์ และ คำสอนของพระคริสต์ มีเวลาที่จะสงบ ใกล้ชิด ติดสนิทกับพระองค์ สะท้อนคิดถึงชีวิตการเป็นสาวกพระคริสต์ของตนในชีวิตประจำวันของเรา

วันนี้ให้เราย้อนระลึกถึงชีวิตการทำพันธกินของพระคริสต์ในโลกนี้   พระองค์ทรงใช้ชีวิตที่เปิดเผย  และพระองค์ทรงสอนในสิ่งที่เป็นชีวิตประจำวันของเรา   ไม่ลึกลับซับซ้อน   คำสอนของพระองค์เป็นรูปธรรม  และคำสอนของพระองค์ตอบโจทย์ชีวิตของประชาสามัญชนคนบาปทั่วไป

เมื่อพวกผู้นำศาสนา พร้อมด้วยพวกยุแยงตะแคงรั่ว ที่จะทำให้พระเยซูตกกับดักที่ตนวางไว้   เพื่อจะประณามทำลายความยอมรับนับถือของพระองค์ในหมู่ประชาชน พวกเขานำหญิงที่ถูกจับได้กำลังทำผิดประเวณี แล้วเรียกร้องให้พระองค์ตัดสินหญิงคนนี้ตามบทบัญญัติ กดดันพระองค์ให้เป็นคนตัดสินคนอื่น

แต่ในความนิ่ง สงบ และความเงียบของพระองค์   พระคริสต์บอกกับพวกเขาว่า  “ถ้าใครไม่เคยทำความบาปผิดก็ให้คนนั้นเป็นคนแรกที่เอาหินขว้างหญิงคนนี้” (ยอห์น 8:7)

ใช่ครับ...   ถ้าเราคิดจะทำให้คนอื่นเป็นคนที่ถูกต้องบริสุทธิ์ ไม่ใช่พร่ำสอน  บังคับ กดดัน ให้คนอื่นเป็นคนที่ทำถูกต้อง มีชีวิตที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม  

แต่พระคริสต์ให้เราเริ่มต้นที่จะ “พิจารณา” ตนเองก่อน

ในคำสอนของพระคริสต์ยังได้สอนเราว่า ถ้าเราคิดว่าจะช่วยเขี่ยผงออกจากตาของเพื่อนบ้าน ให้เรางัดเอาไม้ซุงทั้งท่อนที่ขวางการมองเห็นความจริงของเราออกไปเสียก่อน (มัทธิว 7:3)    

นี่คือแนวทางปฏิบัติง่าย ๆ สำหรับชีวิตสาวกพระคริสต์ในชีวิตประจำวันครับ

ถ้าเราคิดจะสร้างสาวกพระคริสต์ ให้เราเริ่มสร้างสาวกในชีวิตของตนเองก่อนครับ! เพราะถ้าชีวิตประจำวันของเราเป็นชีวิตที่สำแดงการเป็นสาวกของพระคริสต์แท้จริงแล้ว การสร้างสาวกก็สำเร็จไปเกินครึ่งแล้วครับ

ถ้าเราเป็นสาวกพระคริสต์  เราจะไม่เริ่มต้นด้วยการเรียกร้อง กดดัน ให้คนอื่นทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือ กดดันให้คนอื่นต้องทำหน้าที่ กำจัด ชำระ สังคมชุมชนให้ถูกต้อง   แต่ให้เราเริ่มต้นที่จะ ชำระ เปลี่ยนแปลง ในตัวเราเองก่อนตามที่พระคริสต์สอนและเป็นตัวอย่างดีไหม?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499

11 มีนาคม 2561

เมื่อเรามีเป้าหมาย พระเจ้าทรงเสริมสร้างภายในตัวเรา


จากข้อเขียนที่ผ่านมา   ได้กล่าวถึงเหตุผล 3 ประการที่คริสตชนจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายเพราะ  เป้าหมายเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตจิตวิญญาณของเรา   เป้าหมายเป็นคำแถลงการณ์แห่งความเชื่อ  และ เป้าหมายจะช่วยกำกับการใช้พลังชีวิตของเรา   ในข้อเขียนฉบับนี้ได้อ้างถึงเหตุผลของ ริก วอร์เรน อีก 3 ประการที่ท่านเห็นว่า คริสตชนควรกำหนดเป้าหมายในชีวิต

เราจำเป็นจะต้องมีเป้าหมาย เพราะเป้าหมายให้ความหวังทำให้เราเคลื่อนต่อไปด้วยความอดทน

โยบกล่าวว่า “ข้าเอากำลังจากไหนหนอจึงยังมีความหวังอยู่?   ข้ามีความคาดหมายอะไรหนอถึงทนอยู่ได้?” (โยบ 6:11 อมธ.)   คริสตชนจำเป็นจะต้องมีเป้าหมาย   เพื่อที่จะทำให้เรายังก้าวต่อไปไม่หยุด

เป้าหมายที่ว่านี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเป้าหมายที่ใหญ่โตอะไร เช่น เมื่อเราเข้ารับการผ่าตัดจากแพทย์  เป้าหมายสูงสุด เราต้องการกลับมามีสุขภาพแข็งแรงอีกครั้งหนึ่ง  เป้าหมายย่อยแรกคือ เราคาดว่าเราสามารถจะสามารถลุกขึ้นนั่งบนเตียงได้   จากนั้น เราสามารถจะยืนบนพื้นข้างเตียงได้  หลังจากนั้นเรามีเป้าหมายย่อยต่อไปว่าเราสามารถเดินรอบ ๆ เตียง   แล้วค่อย ๆ เดินไปยังทางเดินในหอพักผู้ป่วยได้

เป้าหมายที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ  ที่มีความต่อเนื่องกัน  เป็นกระบวนการพัฒนาในชีวิตของเรา   ชีวิตเคลื่อนจากเป้าหมายเล็กหนึ่งไปสู่อีกเป้าหมายหนึ่งอย่างเชื่อมโยง   แต่ขอเน้นว่า  ทุกเป้าหมายเล็ก ๆเหล่านี้มีความสำคัญทุกเป้าหมาย

การที่เราจะก้าวจากจุดที่เราเป็นอยู่ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไม่สามารถทำแบบก้าวกระโดดเพียงก้าวใหญ่ ๆ ก้าวเดียว   แต่ต้องค่อย ๆ ก้าวไปทีละก้าว   อย่างที่สุภาษิตจีนกล่าวว่า “ร้อยลี้เริ่มต้นที่ก้าวแรก”  และขออนุญาตต่อเติมว่า “แล้วก้าวต่อไปทีละก้าวอย่างตั้งใจและมั่นคง”   เป้าหมายที่สำคัญไม่ได้วัดกันที่ว่า เป้าหมายใหญ่โตแค่ไหน หรือ สวยงามเพียงใด   แต่เป้าหมายที่ดีเป็นเป้าหมายที่สามารถเห็นย่างก้าวเล็ก ๆ หลาย ๆ ก้าว ที่เคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง   เป้าหมายเช่นนี้จะให้กำลังใจแก่เราขับเคลื่อนไปแม้จะก้าวทีละก้าว  แต่มีพลังก้าวต่อไปอย่างต่อเนื่อง

เราจำเป็นในการกำหนดเป้าหมายเพราะเป้าหมายจะช่วยเสริมสร้างอุปนิสัยและบุคลิกภาพของเรา

ผลที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในชีวิตของเราไม่ใช่ผลสำเร็จที่เราสามารถสัมผัสจับต้องได้ภายนอก   แต่ส่วนสำคัญที่สุดในชีวิตของเราคือสิ่งที่เกิดขึ้นภายในชีวิตของเราในขณะที่เราก้าวเดินสู่เป้าหมายไปทีละก้าวทีละเป้าหมาย

พระเจ้าสนพระทัยในการเสริมสร้างอุปนิสัย และ บุคลิกภาพ ตัวตนที่แท้จริงของเราภายในมากกว่าผลสำเร็จที่เห็นภายนอกจากการทำงาน  และพระเจ้าใส่ใจเสริมสร้างชีวิตภายในของเราเพราะ  สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยั่งยืน นิรันดร์

ดังที่เปาโลกล่าวในฟิลิปปี 3:12 ที่ว่า  “...ดังนั้นข้าพเจ้าจึงยังคงมุ่งมั่นไปสู่หลักชัย...”  เปาโลใช้พลังชีวิต ความมานะพยายาม และมีจุดประสงค์ที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้   และเมื่อเรากำลังมุ่งก้าวไปสู่เป้าหมาย  พระเจ้าก็เสริมสร้างเราภายในให้มีอุปนิสัยและบุคลิกภาพของเราให้เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น  และสิ่งนี้เองที่เป็นตัวผลักดันให้พฤติกรรมท่าทีในชีวิตประจำวันของเราสะท้อนชีวิตเยี่ยงพระคริสต์มาสู่ภาพลักษณ์ภายนอกที่ผู้คนสามารถเห็นและสัมผัสได้

เราจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมาย เพราะเป้าหมายที่ดีจะทำให้เกิดผลตอบแทน

สุภาษิต 11:27 กล่าวไว้ว่า  “คนที่​แสวง​หา​ความ​ดี ก็​เสาะ​หา​ความ​โปรดปราน...” (มตฐ.) เมื่อเราใช้ชีวิตของเรามุ่งไปสู่เป้าหมายที่ดี   ก็จะนำเกียรติ การนับถือ และเสริมสร้างมรดกที่สร้างสรรค์แก่สังคมโลก

แต่ผลตอบแทนที่แท้จริงจากการที่กำหนดเป้าหมายที่ดีนั้นนำไปสู่ความยั่งยืนนิรันดร์   พระคัมภีร์กล่าวไว้ใน 1โครินธ์ 9:25-26 ว่า “ผู้เข้าแข่งขันทุกคนผ่านการฝึกซ้อมอย่างเข้มงวด เขาทำอย่างนั้นเพื่อมงกุฎอันไม่ยืนยง ส่วนเราทำเพื่อมงกุฎอันยืนยงเป็นนิตย์  เหตุฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ได้วิ่งอย่างไม่มีจุดหมาย ข้าพเจ้าไม่ได้ต่อสู้เหมือนคนชกลม” (อมธ.)    

เรายอมรับเลยว่า เปาโลเป็นผู้ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนในชีวิตประจำวัน   และคริสตชนทุกคนก็ควรเป็นเช่นเปาโล   เพื่อเราจะมุ่งไปสู่ชัยชนะ  เพื่อรับรางวัลที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมเพื่อเราในแผ่นดินของพระองค์

“ข้าพเจ้ายังไปไม่ถึงหลักชัย  และข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนที่ดีพร้อม  
แต่พระคริสต์ทรงฉวยข้าพเจ้าไว้  
ดังนั้นข้าพเจ้าจึงยังคงมุ่งมั่นไปสู่หลักชัยเพื่อรับรางวัลที่ได้รับการทรงเรียกจากเบื้องบน  
ซึ่งเป็นรางวัลที่พระเจ้าโปรดประทานผ่านทางพระเยซูคริสต์  
พวกเราทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วควรมีทัศนะเช่นนี้” (ฟิลิปปี 3:12, 14-15 สมช.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499

09 มีนาคม 2561

เป้าหมายช่วยให้เราทำสิ่งที่สำคัญที่สุด


เมื่อพระเยซูคริสต์เข้ามาทำพระราชกิจในสังคมโลก   พระองค์ทรงมีเป้าหมาย   ยิ่งกว่านั้นพระองค์ประกาศถ้อยแถลงแห่งเป้าหมายการทำพันธกิจของพระองค์อย่างชัดเจน

ทำไมคริสตชนต้องมีเป้าหมาย?   จำเป็นด้วยหรือที่คริสตชนจะต้องกำหนดเป้าหมายในชีวิต?

เราจะศึกษา พิจารณา และ ใคร่ครวญเรื่องนี้   โดยในตอนนี้จะกล่าวถึงเหตุผล 3 ประการแรก  และ ในตอนต่อไปอีก 3 ประการ

เราจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตจิตวิญญาณด้วย

ถ้าเรามิได้มีเป้าหมายในชีวิต   เราก็ได้ตัดสินใจแล้วที่จะให้คนอื่นขับเคลื่อนชีวิตของเรา   เมื่อเราไม่ตัดสินล่วงหน้าว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตของเรา   เราก็เปิดโอกาสให้คนอื่นตัดสินใจให้เรา   ในที่สุด ชีวิตที่มีอยู่และเป็นไปไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย   เสียเวลาและโอกาสในชีวิต   เพราะเราไม่ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า  เราต้องการเติบโตขึ้นในฐานะสาวกที่ติดตามพระคริสต์อย่างไร

พระคัมภีร์ได้บอกว่า   การเติบโตขึ้นในชีวิตจิตวิญญาณ   เราจะต้องกำหนดเป้าหมายชีวิตของเรา และ ขับเคลื่อนชีวิตด้วยการมุ่งมองไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

“ข้าพเจ้ายังไปไม่ถึงหลักชัย  และข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนที่ดีพร้อม   แต่พระคริสต์ทรงฉวยข้าพเจ้าไว้   ดังนั้นข้าพเจ้าจึงยังคงมุ่งมั่นไปสู่หลักชัยเพื่อรับรางวัลที่ได้รับการทรงเรียกจากเบื้องบน   ซึ่งเป็นรางวัลที่พระเจ้าโปรดประทานผ่านทางพระเยซูคริสต์   พวกเราทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วควรมีทัศนะเช่นนี้” (ฟิลิปปี 3:12, 14-15 สมช.)

เราจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายเพราะนั่นเป็นคำแถลงการณ์แห่งความเชื่อ

ถ้าเราเป็นผู้ที่เชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์  และกำหนดเป้าหมาย เป็นการที่บอกว่า “นี่คือสิ่งที่เราเชื่อว่า พระเจ้าประสงค์ให้เรากระทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จในเวลานี้   และยังเป็นการประกาศว่า เราเชื่อว่าพระเจ้าจะกระทำสิ่งเหล่านี้ในชีวิตของเรา”

เป้าหมายมิเพียงแต่จะเป็นคำแถลงการณ์แห่งความเชื่อศรัทธาของท่านเท่านั้น   แต่เป้าหมายยังช่วยแผ่ขยายความเชื่อศรัทธาของท่านด้วย   ยิ่งเป้าหมายของเราใหญ่โตเพียงใด  ความเชื่อศรัทธาของเราก็จะแผ่ขยายกว้างออกไปแค่นั้น   และนั่นเป็นสิ่งที่พอพระทัยพระเจ้า

“...พระองค์ผู้ทรงสามารถกระทำเกินกว่าที่เราจะทูลขอหรือคาดคิดได้ตามฤทธานุภาพของพระองค์ซึ่งกระทำการอยู่ภายในเรา” (เอเฟซัส 3:20 อมธ.)

เราจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมาย เพราะเป้าหมายจะมุ่งเน้นกำกับการใช้พลังชีวิตของเรา

การมุ่งเน้นเจาะจงในการใช้พลังชีวิตเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ชีวิตของเรามีประสิทธิภาพ   แต่ถ้าเราใช้พลังชีวิตที่เรามีอยู่อย่างกระจัดกระจายไร้ทิศทางและมุ่งเน้น   ชีวิตของเราไม่ได้สร้างผลกระทบที่แตกต่างอะไรเลย   แต่ถ้าเรามุ่งเจาะจงในการใช้พลังชีวิต   ชีวิตของเราจะมีพลัง  และจะเป็นพลังที่เปลี่ยนแปลงโลกได้

เราต้องตระหนักรู้ชัดว่า เราไม่มีเวลาที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้   และนี่เป็นข่าวดีคือ  พระเจ้ามิได้ทรงคาดหวังให้เราทำทุกสิ่งทุกอย่าง   สิ่งสำคัญที่เราในฐานะคนของพระเจ้าจะมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ   คือทำในสิ่งที่สำคัญที่สุด  และทิ้งสิ่งอื่นเสีย   การมีเป้าหมายช่วยเราเจาะจงชัดเจนในการใช้พลังชีวิตที่เรามีอยู่

“ดัง​นั้น​ข้าพ​เจ้า​ไม่​ได้​วิ่ง​แข่ง​โดย​ไม่​มี​เป้า​หมาย ข้าพ​เจ้า​ไม่​ได้​ต่อ​สู้​เหมือน​อย่าง​นัก​มวย​ที่​ชก​ลม” (1โครินธ์ 9:26 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499

07 มีนาคม 2561

ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อแผ่นดินของพระเจ้าอย่างไร?


คงไม่มีใครจะคัดค้านว่า   เทคโนโลยีการสื่อสารสังคมได้ขยายแผ่อิทธิพลครอบคลุมพื้นที่ชีวิต สังคม อย่างกว้างไกลและมีพลังครอบงำอย่างอยู่หมัด   ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในระดับฐานะเศรษฐกิจ อาชีพ หรือชนชั้น  หรือวัยไหนก็ตาม   หรือแม้แต่จะมีความเชื่อในศาสนาใดก็ตาม   เรียกได้ว่าไม่มีขอบเขตใดที่จะมาขวางกั้นอิทธิพลของเทคโนโลยีสื่อสังคมเหล่านี้ได้จริงจัง

คำถามสำหรับคริสตชน  เราคงไม่มาเสียเวลาถามว่า คริสตจักรควรจะใช้เทคโนโลยีสื่อสังคมสมัยใหม่นี้หรือไม่   แต่เราจำเป็นจะต้องแสวงหาหลักเกณฑ์และหลักการของเราว่า   เราจะใช้เครื่องมือสื่อสังคมสมัยใหม่นี้เพื่อก่อเกิดประโยชน์สร้างสรรค์แก่ชีวิตและสังคมโลกอย่างไรมากกว่า   และทำอย่างไรที่เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของคนที่ใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ที่จะมาครอบงำความคิด มุมมอง และ การตัดสินใจในการดำเนินชีวิตคริสตชนของเรา   ตรงกันข้าม เราจะใช้เครื่องมือสื่อสารทันสมัยนี้เพื่อพันธกิจแห่งแผ่นดินของพระเจ้า   โดยไม่เผลอตกลงในกับดักอุบายของคนใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยนี้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคม พรรคพวก  และวัฒนธรรมทันสมัยอย่างไร?

1.   อย่าให้การเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ทำให้เราต้องออกห่างความสัมพันธ์คนรอบข้าง

จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เราพบทุกเมื่อเชื่อวันในปัจจุบันนี้   ไม่ว่าในบ้าน  ในคริสตจักร  ในรถโดยสาร ในเครื่องบิน  ในสนามบิน  เราพบว่าต่างคนต่างสนใจ “หน้าจอ” ของตนเอง   แม้แต่คนที่รู้จักกัน เดินทางด้วยกันก็ไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน   แต่กลับใส่ใจ สนใจหน้าจอของตน   และนี่รวมถึงโต๊ะอาหารที่คนในครอบครัวรับประทานด้วยกัน?

ในฐานะคริสตชน  ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นเป็นเรื่องที่สำคัญ   แต่สำคัญกว่านั้นคือความสัมพันธ์ ความสนใจ และ การใส่ใจหน้าต่อหน้าที่มีต่อกันสำคัญกว่า   แต่ทุกวันนี้ “หน้าจอ” มาแย่งเวลาชีวิตของเราจากความสัมพันธ์ที่เราควรจะมีต่อกันแบบหน้าต่อหน้า

2.   ใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่เพื่อสิ่งที่มีคุณค่า และ ความหมายที่แท้จริง บนรากฐานความเชื่อของคริสตชน

เมื่อก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 4  ผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันได้ตัดถนนให้เชื่อมต่อกันให้กว้างไกลที่สุดทั่วจักรวรรดิอันไพศาลของตน   ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการแผ่กว้างอำนาจทางการทหาร  การปกครอง  และเศรษฐกิจของจักรวรรดิ   ซึ่งการกระทำเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เยี่ยมยอดและยิ่งใหญ่ในสมัยนั้นเลยทีเดียว   แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า   เบื้องหลังของความทันสมัยในเวลานั้นมีกลุ่มอำนาจที่ทำเพื่อจุดประสงค์ของตนเอง   อย่างที่กล่าวแล้วว่า  เพื่อการขยายและเคลื่อนกำลังกองทัพอันเกรียงไกรของโรมมันไปให้ทั่วจักรวรรดิ   พยายามที่จะควบคุมปกครองให้ทุกประเทศอยู่ในอำนาจของตน   เพื่อส่งเสริมทางการค้า   และในเวลาเดียวกันเพื่อจะสามารถเรียกเก็บภาษีจากประเทศต่าง ๆ ในจักรวรรดิของตนด้วย

ซึ่งจุดประสงค์ทั้งหมดทั้งสิ้นดังกล่าว  ในทางหนึ่งเป็นการสร้างอำนาจแก่คนเองและกดขี่คนอื่น   เป็นโอกาสของการสร้างระบบการเอารัดเอาเปรียบคนธรรมดาและคนยากไร้  ดูเหมือนเป็นความทันสมัยในเวลานั้น   แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นการทำร้ายทำลายคุณค่าและความหมายชีวิตของคนอื่น

ขอตั้งข้อสังเกตว่า   เมื่อเกิดคริสตจักรสมัยเริ่มแรก   อัครทูต  คริสตชนผู้เชื่อ  ต่างได้ใช้ถนนหนทางของจักรวรรดิในการเดินทางเพื่อประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์   และเสริมสร้างคริสตจักรที่เกิดขึ้นในดินแดนต่าง ๆ ในเวลานั้นให้มีความเชื่อที่มั่นคง   และมีความกล้าหาญในการทำพันธกิจของพระเยซูคริสต์แก่ผู้คนในสังคมยุคนั้น   และเพราะมีถนนหนทางที่เชื่อมต่อโยงใยถึงกันเช่นนี้เองที่ทำให้แผ่นดินของพระเจ้าแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว กว้างไกล และเข้มแข็ง

คริสตชนปัจจุบันต้องกลับมาถามตนเองว่า   ตนจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสารทันสมัยในปัจจุบันอย่างไร   เพื่อจะใช้ประโยชน์เพื่อสานต่อพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระเยซูคริสต์ได้ตามพระประสงค์   โดยไม่ตกหลุมพรางกับดัก หรือ เป็นเหยื่อในแผนการของคนที่สร้างและขายเทคโนโลยีสื่อทันสมัยนี้

3.   หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือสื่อสารทันสมัยเพื่อประโยชน์ของตนเอง/พรรคพวก/คริสตจักร

แนวโน้มสูงมากที่มีการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสื่อความทันสมัยยุคนี้   ที่นำไปสู่การสร้างการแข่งขัน  ขัดแย้ง แปลกแยก และ แตกแยกกันในสังคม และ ในคริสตจักรด้วย  ปัจจุบันเราสามารถพบได้ว่า หลายคนใช้เครื่องมือสื่อสารทันสมัยให้ออกความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การโจมตี กล่าวร้าย ยุแหย่ให้เกิดการเลือกข้าง   ที่เกิดขึ้นเช่นนี้เพราะคนกลุ่มนี้ใช้สื่อทันสมัยเพื่อประโยชน์แห่งตน หรือ เพื่อพรรคพวก  ซึ่งจะเห็นชัดในอีกไม่นานข้างหน้าที่จะออกมาในนาม “การหาเสียงเพื่อการเลือกตั้ง”?   คริสตชนจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ตกหลุมพรางของคนกลุ่มนี้

อีกประการหนึ่ง   การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทันสมัยเพื่อประโยชน์ของ “องค์กรคริสตจักร” และ (ผู้นำของคริสตจักรนั้น ๆ)   ที่ประกาศศักดาความเก่งกล้าสามารถของผู้นำคริสตจักร   สร้างความนิยมชมชื่นคนติดตามตนมากขึ้นแทนการติดตามและเป็นสาวกที่แท้จริงของพระคริสต์   หรือ  การสร้างชื่อเสียงแก่คริสตจักรด้วยกิจกรรม และ ความสำเร็จที่ตนทำ   แล้ววัดกันว่าจะมีผู้คน และ คริสตจักรที่มานิยมชมชื่นคริสตจักรของตนเองสักแค่ไหน   เปลี่ยนมาใช้วิธีการ และ กลยุทธแบบที่ตนเองนำเสนอมากน้อยแค่ใหน

แต่ในฐานะคริสตชน   เราต้องกลับมาอธิษฐานขอการชี้นำจากพระคริสต์ว่า   เราจะใช้เครื่องมือสื่อสารทันสมัยที่มีอยู่อย่างไรที่เป็นการสานต่อพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระเจ้า  ตามพระประสงค์ของพระองค์   เราจะใช้เทคโนโลยีสื่อทันสมัยที่จะเป็นสะพานนำคริสตชนและพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เข้าถึงชุมชน คนยากไร้ คนถูกทอดทิ้ง หรือ คนถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไร?  เราจะใช้เครื่องมือที่พระเจ้าประทานแก่เราในการสร้างสันติแห่งแผ่นดินของพระเจ้าได้อย่างไร?

เมื่อสังคมโลกมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย   คริสตชนจะรับผิดชอบที่จะใช้ของประทานเหล่านี้ตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างไร?

ท่านคิดเห็นอย่างไร?   และมีข้อแนะนำ  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างไรบ้างครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

05 มีนาคม 2561

สามสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อการไปถึงเป้าหมายของท่าน!


ปัจจุบันนี้มนุษย์เราสอนให้รู้จักการวางแผนการชีวิต และ แผนกลยุทธตามที่เราต้องการไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้   แต่เราพบความจริงว่า พระเจ้าทำมากยิ่งกว่าสอนเราวางแผนชีวิตเท่านั้น   แต่พระองค์หนุนเสริมให้เรามีปัญญา มีพลัง ที่จะเปลี่ยนแผนการที่เรากำหนดให้เป็นก้าวเดินที่สามารถทำจริง ก้าวจริง บนเส้นทางชีวิตที่ซับซ้อนและสับสนในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรมได้  

มนุษย์เราวางแผนชีวิตที่เราต้องการจะเป็น
แต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทำให้เราสามารถก้าวย่างไปบนเส้นทางชีวิตได้ (สุภาษิต 16:9 สมช.)

ยิ่งกว่านั้น เมื่อเรายอมรับการเสริมหนุนจากพระเจ้า   ในที่สุดเราพบว่า  มิใช่เป็นการเปลี่ยนจากแผนการ เป็นการปฏิบัติได้จริงในสถานการณ์ชีวิตของเราเท่านั้น   แต่เราพบว่า พระเจ้าทรงกระทำให้เป้าหมาย แผนการเปลี่ยนไปอย่างมีคุณค่าความหมาย   และที่สำคัญที่สุด เรากลับพบว่า  พระเจ้าทรงเปลี่ยนชีวิตของเราทั้งชีวิตด้วย

ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะ   พระเจ้ามิได้ประทานแผนการแก่เรา   แต่พระองค์ประทานสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า 3 สิ่งด้วยกันคือ...

(1)  พระวิญญาณของพระเจ้า ที่หนุนเสริมในชีวิตของเรา

ด้วยกำลังความสามารถของเราเอง   เราไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแม้แต่ในชีวิตของตนเองได้   แต่พระวิญญาณของพระเจ้าจะหนุนเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเรา  คริสตชนต้องตระหนักชัดว่า  การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมิได้เกิดขึ้นเพราะพลังของความตั้งใจ หรือ พลังแห่งจินตนาการเท่านั้น   แต่การไปถึงคุณค่า ความหมาย และ ถึงเป้าหมายชีวิตที่แท้จริงนั้นอยู่ที่เราต้องได้รับพลังจากพระเจ้าหนุนเสริมเราในชีวิตประจำวัน 

เศคาริยาห์ 4:6 บอกเรื่องนี้ว่า
“...ไม่ใช่ด้วยกำลัง ไม่ใช่ด้วยฤทธิ์อำนาจ แต่โดยวิญญาณของเรา...” (อมธ.)

(2)  พระวจนะของพระเจ้าเป็นเครื่องชี้นำชีวิตของเรา

พระเจ้าเป็นเจ้าของชีวิตของเรา  และพระวจนะของพระองค์เป็นคู่มือการดำเนินชีวิตของเรา   ดังนั้น ยิ่งถ้าเราอ่าน ศึกษา ขุดค้นหา ใคร่ครวญ  และปลูกฝังพระวจนะลงในความคิด ความจำ และในจิตสำนึกของเรามากแค่ไหน   เรายิ่งมีเรียนรู้การดำเนินชีวิตประจำวันของเรากว้างไกล เจาะลึก จากคู่มือการดำเนินชีวิตของพระเจ้ามากขึ้นแค่นั้น และแน่นอนว่า  ชีวิตของเราจะประสบกับคุณค่า ความหมาย  และสำเร็จตามเป้าประสงค์ของพระผู้ทรงสร้าง

เมื่อโยชูวาจะนำชนอิสราเอลเข้าไปในแผ่นดินพระสัญญา พระเจ้าได้กำชับไว้ว่า   “อย่า​ให้​หนัง​สือ​ธรรม​บัญ​ญัติ​นี้​ห่าง​จาก​ปาก​ของ​เจ้า แต่​จง​ตรึก​ตรอง​ตาม​นั้น​ทั้ง​กลาง​วัน​และ​กลาง​คืน เพื่อ​เจ้า​จะ​ได้​ระวัง​ที่​จะ​ทำ​ตาม​ข้อ​ความ​ทุก​ประ​การ​ที่​เขียน​ไว้​นั้น แล้ว​เจ้า​จะ​มี​ความ​เจริญ และ​ประ​สบ​ความ​สำเร็จ” (โยชูวา 1:8 มตฐ.)

(3)  การสนับสนุนจากประชากรของพระเจ้า

ในชีวิตจริง และ ในที่ทำงานแต่ละวัน   เราไม่สามารถปิดหูปิดตามุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายด้วยตัวคนเดียวได้   เราต้องร่วมกันกับทีมงานคนอื่น ๆ ถึงจะไปให้ถึงเป้าหมาย

ฝูงชนทั่วไปไม่สามารถสนับสนุนท่าน  แต่คนในกลุ่มเฉพาะสามารถทำได้   พวกเขารู้เมื่อคุณเจ็บป่วย  พวกเขารู้เวลาชีวิตคุณประสบกับความยากลำบาก   พวกเขารู้ว่าคุณจำเป็นต้องพักผ่อน  คุณสามารถแบ่งปันเป้าหมาย  ความสำเร็จและความล้มเหลวกับพวกเขา   เขาสามารถร่วมแสดงความยินดีกับท่าน   และพวกเขาให้กำลังใจท่านให้ก้าวเดินต่อไป   ท่านจำเป็นต้องการเพื่อนที่ทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม   และผูกพันหนุนเสริมกันไปด้วยความจริงใจ

ปัญญาจารย์ 4:12 กล่าวไว้ว่า  
“ตัวคนเดียวอาจถูกปราบลง   แต่ถ้ามีเพื่อนสองคนปกป้องกันได้ 
เชือกสามเกลียวย่อมไม่ขาดง่าย ๆ ...” (สมช.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

02 มีนาคม 2561

พ่อแม่ดันลูกให้ออกห่างพระเจ้า...โดยไม่ตั้งใจ?


ทำไมถึงว่าอย่างนั้น?...

(1)  ความไม่ซื่อตรง  การตีสองหน้าในชีวิตและความเชื่อ

พฤติกรรมของพ่อแม่ที่ดันให้ลูกออกห่างอย่างไม่ตั้งใจคือ  การที่ตนเองประกาศว่าตนเชื่อศรัทธาในพระเจ้า   แต่ดำเนินชีวิตที่ตรงกันข้าม  เช่น ครั้งหนึ่งมีโทรศัพท์ถึงคุณพ่อคนหนึ่งและปลายสายอีกด้านหนึ่งขอพูดสายกับแม่   แต่พ่อบอกเขาว่า แม่ไม่อยู่บ้าน   ทั้ง ๆ ที่กำลังทำอาหารในห้องครัว   และลูกชายวัย 8 ขวบของเขาก็อยู่ในห้องที่เขาโทรศัพท์   รับรู้เรื่องการ “โกหก” ของพ่อทั้งหมด    พฤติกรรมของพ่อที่บอกว่าตนเป็นเป็นคริสตชนครั้งนี้กำลังบอกกับลูกของตนอย่างไม่ตั้งใจว่า  ถ้าจะโกหกก็โกหกได้!    และลูกก็เรียนรู้โดยไม่รู้ตัวว่า  คริสตชนถ้าต้องโกหกในบางสถานการณ์ก็โกหกได้   

เมื่อพ่อแม่มีพฤติกรรมเมื่ออยู่ในคริสตจักรแบบหนึ่ง   แต่มีพฤติกรรมอีกแบบหนึ่งในบ้าน   ลูกก็จะเห็นพฤติกรรมของคริสตชนว่า เป็นพฤติกรรมสองมาตรฐานในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน   คริสตชนก็หน้าซื่อใจคด หรือ ตีสองหน้าก็ได้ถ้าจะต้องทำ?   นี่มิเพียงแต่เป็นการดันให้ลูกออกห่างจากคริสต์จริยธรรมเท่านั้น   แต่เป็นการดันให้ลูกมีชีวิตที่ถ่างห่างออกจากพระเจ้าโดยพ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจ!

(2)   ผลักดันลูกให้รับเชื่อ หรือ ติดตามพระเจ้า

พฤติกรรมแบบ “ปากอย่างใจอย่าง” เมื่อเราพยายามดันให้ลูกติดตามพระเจ้า และ มีสัมพันธภาพกับพระองค์  เราก็อาจจะผลักดันให้ลูกออกห่างจาพระเจ้าได้ด้วยเช่นกัน   ขอตั้งข้อสังเกตว่า พระเยซูคริสต์ไม่ได้ผลักดัน หรือ กดดันให้ผู้คนติดตามพระองค์   แต่พระองค์บอกเพียงว่า “จงตามเรามา” เท่านั้น(มัทธิว 16:24)   พระองค์มิได้กดดันว่า “ท่านต้องตามเรามา” หรือ “ถ้าจะให้ดีท่านต้องตามเรามา”

ด้วยความหวังดี  พ่อแม่บางคนได้กดดันให้ลูกของตนเองให้ได้รับความรอด   การสื่อสารเช่นนี้  ลูกอาจจะทำตัวเหมือนว่าลูกยอมติดตามพระคริสต์เมื่อยู่ต่อหน้าพ่อแม่   แต่เมื่อลับหลังพ่อแม่ชีวิตของลูกกลับเป็นอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างตรงกันข้ามก็ได้    หรือไม่ก็ลูกทำตามเพราะต้องการเอาใจพ่อแม่   เพื่อหวังบางสิ่งจากพ่อแม่

แต่เมื่อชีวิตประจำวันของพ่อแม่มิได้ดำเนินตามคำสอนและแบบอย่างของพระคริสต์อย่างต่อเนื่อง   มีพฤติกรรมสองแบบสองมาตรฐานแล้ว  ย่อมเป็นอันตรายต่อชีวิตจิตวิญญาณของลูก  และ  ยิ่งจะแย่กว่าที่เป็นอยู่ถ้าพ่อแม่คู่นั้นพยายามผลักดัน หรือ กดดันลูกให้รับเชื่อในพระเจ้า

(3)  วางมือ  อ่อนข้อ ...ในความรับผิดชอบของพ่อแม่คริสตชน

เมื่อพ่อแม่คริสตชนเลิกรา ละเว้น หรือว่างเว้น ในบทบาทพ่อแม่คริสตชนที่จะต้องใส่ใจฟูมฟักชีวิตจิตวิญญาณของลูกทั้งการรับผิดชอบให้ลูกเข้ามีส่วนร่วมในชั้นเรียนรวีวารศึกษา และ ในกลุ่มอนุชน หรือ เยาวชนในคริสตจักร   ถ้าพ่อแม่คริสตชนไม่มีความรับผิดชอบดังกล่าว   แล้วใครจะมารับผิดชอบแทนได้?

ยิ่งในยุคปัจจุบัน   เวลาวันเสาร์วันอาทิตย์พ่อแม่คริสตชนหลายต่อหลายคน   พยายามยัดเยียดกิจกรรมเสริมทักษะชีวิตด้านต่าง ๆ ให้กับลูก   และถ้าต้องเลือกระหว่าง เวาลาสร้างเสริมทักษะชีวิตจิตวิญญาณของลูก กับ เวลาเสริมทักษะชีวิตในสังคมทันสมัยแล้ว   พ่อแม่คริสตชนจำนวนมากจะเลือก หรือ ใจอ่อนให้ลูกเลือกกิจกรรมเสริมทักษะชีวิตสังคมทันสมัยมากกว่า  พ่อแม่คริสตชนอาจจะไม่ได้คิดรอบคอบ   แต่กรณีนี้ตั้งใจครับ?

อีกด้านหนึ่งในพันธกิจการเสริมสร้างชีวิตจิตวิญญาณของเด็ก เยาวชน และวัยรุ่นของคริสตจักร    ปัจจุบันนี้คนที่มีของประทานในพันธกิจด้านเหล่านี้มีการถวายตัวรับใช้ลดน้อยถอยลงอย่างมาก   หลายคริสตจักรจึงต้องจ้างคนที่จบจากพระคริสต์ธรรมมารับใช้ในงานดังกล่าว   ขอตั้งข้อสังเกตว่า  เมื่อพ่อแม่ไม่ได้เข้ามารับผิดชอบในพันธกิจสร้างเสริมชีวิตจิตวิญญาณของสมาชิกรุ่นใหม่ของคริสตจักร   ก็พลอยไม่ทุ่มเทที่จะช่วยให้ลูกเข้ารับการฝึกฝนและเสริมสร้างชีวิตจิตวิญญาณไปด้วย

เรียกว่าพ่อแม่ วางมือ อ่อนข้อในความรับผิดชอบความเป็นพ่อแม่คริสตชนของตนก็ว่าได้?

(4)  เปรียบเทียบลูกกับเยาวชนคนอื่นในคริสตจักร

การเปรียบเทียบมักจะเปรียบเทียบว่าลูกของตนเองทำไมไม่ทำเหมือน เยาวชนคนนั้น  วัยรุ่นคนนี้ในคริสตจักร   นั่นหมายความว่า พ่อแม่ตัดสินลูกลงไปแล้วว่า  สู้เยาวชนคนหนุ่มสาวคนอื่นในคริสตจักรไม่ได้   การกระทำอย่างนี้เป็นการดันให้ลูกออกห่างจากคริสตจักร และ ออกห่างจากพระเจ้าโดยพ่อแม่ไม่รู้ตัว

อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกประการหนึ่งที่เราอาจจะคิดไม่ถึงคือ  ลูก ๆ ของเราอาจจะไม่ปลีกตัวเองออกไปจากคริสตจักรทันที   แต่เขาต้องการเอาใจพ่อแม่เพื่อหวังจะได้อะไรบางอย่างจากพ่อแม่   เมื่อพ่อแม่เอาลูกไปเปรียบกับเพื่อนเยาวชนคนอื่น   ดังนั้น ลูกจึงพยายามทำตนให้เหมือนเพื่อนเยาวชนคนนั้นที่พ่อแม่เอาไปเปรียบเทียบ   แทนที่ลูกของเราจะพัฒนาชีวิตประจำวันตามพระวจนะ และ ตามแบบพระคริสต์ให้มากยิ่งขึ้น   นั่นหมายความว่า  แม้ลูกไม่ได้ออกจากคริสตจักร แต่ชีวิตจิตวิญญาณก็มิได้รับการสร้างเสริมและพัฒนาขึ้นตามคำสอนและแบบอย่างของพระคริสต์ แต่กลับไปเลียนแบบชีวิตเพื่อน และถ้าวันหนึ่ง เพื่อนเยาวชนคนนั้นที่พ่อแม่เปรียบเทียบเกิดผิดพลาดในการดำเนินชีวิต แล้วลูกของเราจะคิดอย่างไร  เข้าใจอย่างไร หรือจะเลียนแบบชีวิตผิดอย่างเขาด้วย?

(5)  ภาพรวมและภาพหลัก

ภาพรวม และ ภาพหลักที่จะหนุนเสริมให้ลูกหลานของเรายังคงยืนมั่นคงบนรากฐานความเชื่อในพระเจ้า   และมีชีวิตที่พบกับพระคริสต์ และ สัมพันธ์กับพระองค์ ในชีวิตประจำวันของเขา   สิ่งสำคัญคือ  เขาต้องมีชีวิตที่พบกับพระเจ้าในชีวิตของเขาเอง   เผชิญหน้ากับพระองค์ในชีวิตแต่ละวัน   มีประสบการณ์ตรงกับพระเจ้าในการดำเนินชีวิตประจำวันของเขา

ประสบการณ์ชีวิตของลูกกับพระเจ้าในอดีตที่ผ่านมา  ได้เสริมสร้างความเชื่อศรัทธาของลูกที่เป็นอยู่ในวันนี้   และการที่เขามีประสบการณ์สัมผัสกับความรักเมตตาของพระองค์วันต่อวัน ในวันนี้  ในปัจจุบันนี้   คือตัวเสริมสร้างความเข้มแข็งในความเชื่อ  ความไว้วางใจในพระเจ้า  และการดำเนินชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นในอนาคตด้วย

พ่อแม่ และ ปู่ย่าตายาย มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการรับผิดชอบร่วมกับพระเจ้าที่จะช่วยและเสริมสร้างให้ชีวิตหยั่งรากลงในความเชื่อ และ วางใจในพระเจ้า   อย่าโยนภาระความรับผิดชอบที่เป็นความเป็นความตายของลูกไปให้คริสตจักร   แต่พ่อแม่คือตัวหลักในความรับผิดชอบนี้ที่พระเจ้าทรงมอบหมาย

“...​พวก​ท่าน​จง​สอน​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​แก่​บุตร​หลาน​ของ​ท่าน
จง​พูด​ถึง​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​เมื่อ​ท่าน​อยู่​ใน​บ้าน และ​เมื่อ​ท่าน​เดิน​อยู่​ตาม​ทาง
เมื่อ​ท่าน​นอน​ลง​หรือ​ลุก​ขึ้น
ท่าน​จง​เขียน​คำ​เหล่า​นี้​ไว้​ที่​เสา​ประตู​บ้าน และ​ที่​ประตู​(บ้าน)ของ​ท่าน
เพื่อ​อายุ​ของ​พวก​ท่าน​และ​อายุ​ของ​บุตร​หลาน​ของ​ท่าน​จะ​ได้​ยืน​นาน​บน​แผ่น​ดิน
ซึ่ง​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​ปฏิ​ญาณ​ที่​จะ​ประ​ทาน​แก่​บรรพ​บุรุษ​ของ​ท่าน
ตราบ​เท่า​ที่​ฟ้า​สวรรค์​อยู่​เหนือ​โลก” (เฉลยธรรมบัญญัติ 11:19-21 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499