26 มีนาคม 2561

การพลิกฟื้นคืนดี ขั้นที่สี่: ปลดชนวนระเบิดอารมณ์!


ขั้นตอนที่สี่  การพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์จากการขัดแย้ง คือการยอมรับความผิดในส่วนของเราเอง  ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง   ตามพระวจนะของพระเจ้าซึ่งเป็นคู่มือในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ถ้าท่านต้องการให้เกิดการพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์ให้กลับคืนใหม่ด้วยความจริงใจแล้ว   ให้เราเริ่มต้นยอมรับความผิดพลาด หรือ ความบาปของเรา   พระเยซูคริสต์ตรัสสอนว่า   “...จง​ชัก​ไม้​ทั้ง​ท่อน​ออก​จาก​ตา​ของ​ท่าน​ก่อน แล้ว​ท่าน​จะ​เห็น​ได้​ถนัด จึง​จะ​เขี่ย​ผง​ออก​จาก​ตา​พี่​น้อง​ของ​ท่าน​ได้” (มัทธิว 7:5 มตฐ.)

ความจริงที่พระคริสต์สอนเราคือ   เราทุกคนมีจุดบอดในชีวิต   บางครั้งเรามองไม่เห็นจุดบอดของตนเอง   เราต้องเปิดใจที่จะค้นหาความจริงโดยขอบุคคลที่สามช่วยบอกเราถึงจุดบอดที่เขาเห็นในชีวิตของเรา   ก่อนที่เราจะไปขอพบกับผู้ที่เรามีความขัดแย้งด้วย

ในขณะเดียวกัน  ตัวเราเองต้องมีเวลากับพระเจ้าส่วนตัวและขอพระองค์ช่วยชี้ให้เราเห็นถึงความผิดอะไรบ้างที่เราทำให้เกิดความขัดแย้งในครั้งนี้  เช่น เราอธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้าว่า...

ข้าพระองค์เป็นตัวปัญหาอย่างไรบ้าง?  
ข้าพระองค์ไม่ได้ใส่ใจสถานการณ์ความเป็นจริงในเวลานั้นอย่างไรบ้าง?  
ข้าพระองค์ไม่ได้ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่นอย่างไรบ้าง?   หรือ
ข้าพระองค์มีอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวเกินไปอย่างไรบ้าง?   

พระวจนะของพระเจ้าได้บอกแก่เราว่า  “ถ้า​เรา​กล่าว​ว่า​เรา​ไม่​มี​บาป เรา​ก็​หลอก​ตัว​เอง และ​สัจจะ​ไม่​ได้​อยู่​ใน​ตัว​เรา​เลย” (1ยอห์น 1:8 มตฐ.)

การสารภาพยอมรับความผิดบาปบกพร่องส่วนของตนเองนั้นเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการพลิกฟื้นคืนดี   บ่อยครั้งเมื่อเราลงมือจัดการกับความขัดแย้งมักส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดมากกว่าผลจากปัญหาที่แท้จริงในเวลานั้น   แต่เมื่อเราเริ่มต้นด้วยใจถ่อมลงและยอมรับความผิดพลาดในส่วนของเราที่ทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งนี้   เป็นการปลดชนวนระเบิดอารมณ์อีกฝ่ายหนึ่งอันเนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น   เพราะโดยปกติแล้ว  เมื่อเกิดความขัดแย้งต่างฝ่ายต่างต้องหาทางปกป้องตนเอง

อย่าแก้ตัว  หรือโยนความผิดพลาดกล่าวหาผู้อื่น   แต่ให้เรายอมรับส่วนที่เราเป็นผู้ทำให้เกิดความผิดพลาดจนเกิดความขัดแย้งในครั้งนี้   และยอมรับความรับผิดชอบของเราต่อความบาปผิดพลาดที่เราได้ทำลงไป   แล้วจึงขอการยกโทษจากคู่กรณี

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น