23 มีนาคม 2561

การพลิกฟื้นคืนดี ขั้นที่สาม: เห็นอกเห็นใจคนอื่น


หลักการพระวจนะการพลิกฟื้นคืนดีขั้นที่ 3 คือ เห็นอกเห็นใจ เพื่อเข้าอกเข้าใจในความรู้สึกของคนอื่น

ขั้นตอนนี้ เราจะต้องใช้ “หู” ของเรา มากกว่า “ปาก” ของเรา!

ก่อนที่เราจะพยายามแก้ไขข้อขัดแย้งใด ๆ   เราต้องฟังถึงความรู้สึกของคนอื่นอย่างใส่ใจ   เปาโลให้การแนะนำว่า  “แต่ละคนไม่ควรมุ่งมองหาประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่ควรคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย” (ฟิลิปปี 2:4 สมช.)  คำว่า “มุ่งมองหา” ภาษากรีกในพระคัมภีร์มีความหมายว่า การใส่ใจอย่างใกล้ชิด   มุ่งมองไปที่ความรู้สึกของผู้อื่น   ไม่ใช่มุ่งมองหาข้อเท็จจริง   ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการเห็นอกเห็นใจ เพื่อจะเข้าอกเข้าใจ  ไม่ใช่มุ่งมองหาข้อยุติ

เราคงไม่เริ่มต้นด้วยการพยายามให้คนอื่นบอกเราถึงความรู้สึกของเขาก่อน   ให้เราฟังและให้เขาได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกของเขาโดยเราไม่พยายามอธิบายเพื่อปกป้องตนเอง   พยักหน้าถึงความพยายามเข้าใจของเรา แม้ในบางเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยก็ตาม   เราตระหนักรู้ดีอยู่ว่าความรู้สึกมิใช่ข้อเท็จจริง หรือ มีเหตุมีผลเสมอไป   ความจริงแล้ว ความไม่พอใจ ความคับแค้นใจเป็นตัวที่กระตุ้นให้เรา “คิดและทำ” ในทางที่ไม่ฉลาดรอบคอบ  กษัตริย์ดาวิดยอมรับว่า  “เมื่อ​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์​ขม​ขื่น   เมื่อ​ข้า​พระ​องค์​เสียว​แปลบ​ถึง​หัว​ใจ   ข้า​พระ​องค์​เขลา​และ​ไม่​รู้​เรื่อง  ข้า​พระ​องค์​ประ​พฤติ​ตัว​เหมือน​สัตว์​ต่อ​พระ​องค์” (สดุดี 73:21-22 มตฐ.)

ในอีกด้านหนึ่ง  พระธรรมสุภาษิตได้กล่าวไว้ว่า ความสุขุมรอบคอบจะทำให้คนเราอดทน  และเกียรติยศของเขาคือการให้อภัยความผิดของคนอื่น (สุภาษิต 19:11 อมธ.)   ความอดทนมาจากปัญญา  และปัญญามาจากการได้ยินได้ฟังถึงมุมมองความคิดเห็นคนอื่น

การที่เราฟังคนอื่นอย่างใส่ใจ   เรากำลังบอกกับคนที่เราฟังว่า “ความคิดเห็นของท่านมีคุณค่าสำหรับข้าพเจ้า  ความสัมพันธ์ของเราเป็นเรื่องที่สำคัญมาก  และท่านเป็นผู้ที่สำคัญสำหรับข้าพเจ้า”   ดังมีคำกล่าวที่ว่า  “ผู้คนไม่สนใจว่าท่านมีความรู้อะไร   จนกว่าเมื่อเขารู้ว่าท่านสนใจและใส่ใจเขา

พระคัมภีร์บอกเราว่า  การพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์   “เราแต่ละคนควรทำให้เพื่อนบ้านพอใจอันเป็นผลดีแก่เขา เพื่อเสริมสร้างเขาขึ้น” (โรม 15:2 อมธ.)  เป็นการยอมและเสียสละเพื่อดูดซับความโกรธของผู้อื่น  ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุผลก็ตาม ที่เปาโลกล่าวเช่นนี้เพราะ พระคริสต์ได้ทำเป็นตัวอย่างแก่เราผู้เรียกตนว่าเป็นสาวกของพระองค์   และที่สำคัญคือพระคริสต์กระทำเช่นนี้เพื่อเราแต่ละคน พระองค์ทรงยอมทนความโกรธที่โหดเหี้ยมเพื่อช่วยเราให้รอด

“เพราะแม้แต่พระคริสต์ก็ไม่ได้ทรงทำสิ่งที่พระองค์เองพอพระทัย แต่ตามที่มีเขียนไว้ว่า “การหมิ่นประมาทของผู้ที่สบประมาทพระองค์ได้ตกอยู่แก่ข้าพระองค์” (ข้อ 3)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com;  081 289 4499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น