ทำไมถึงว่าอย่างนั้น?...
(1) ความไม่ซื่อตรง การตีสองหน้าในชีวิตและความเชื่อ
พฤติกรรมของพ่อแม่ที่ดันให้ลูกออกห่างอย่างไม่ตั้งใจคือ
การที่ตนเองประกาศว่าตนเชื่อศรัทธาในพระเจ้า แต่ดำเนินชีวิตที่ตรงกันข้าม เช่น ครั้งหนึ่งมีโทรศัพท์ถึงคุณพ่อคนหนึ่งและปลายสายอีกด้านหนึ่งขอพูดสายกับแม่ แต่พ่อบอกเขาว่า แม่ไม่อยู่บ้าน ทั้ง ๆ ที่กำลังทำอาหารในห้องครัว และลูกชายวัย 8 ขวบของเขาก็อยู่ในห้องที่เขาโทรศัพท์ รับรู้เรื่องการ “โกหก” ของพ่อทั้งหมด พฤติกรรมของพ่อที่บอกว่าตนเป็นเป็นคริสตชนครั้งนี้กำลังบอกกับลูกของตนอย่างไม่ตั้งใจว่า ถ้าจะโกหกก็โกหกได้! และลูกก็เรียนรู้โดยไม่รู้ตัวว่า คริสตชนถ้าต้องโกหกในบางสถานการณ์ก็โกหกได้
เมื่อพ่อแม่มีพฤติกรรมเมื่ออยู่ในคริสตจักรแบบหนึ่ง แต่มีพฤติกรรมอีกแบบหนึ่งในบ้าน ลูกก็จะเห็นพฤติกรรมของคริสตชนว่า
เป็นพฤติกรรมสองมาตรฐานในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
คริสตชนก็หน้าซื่อใจคด หรือ ตีสองหน้าก็ได้ถ้าจะต้องทำ?
นี่มิเพียงแต่เป็นการดันให้ลูกออกห่างจากคริสต์จริยธรรมเท่านั้น
แต่เป็นการดันให้ลูกมีชีวิตที่ถ่างห่างออกจากพระเจ้าโดยพ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจ!
(2) ผลักดันลูกให้รับเชื่อ
หรือ ติดตามพระเจ้า
พฤติกรรมแบบ “ปากอย่างใจอย่าง” เมื่อเราพยายามดันให้ลูกติดตามพระเจ้า
และ มีสัมพันธภาพกับพระองค์ เราก็อาจจะผลักดันให้ลูกออกห่างจาพระเจ้าได้ด้วยเช่นกัน ขอตั้งข้อสังเกตว่า พระเยซูคริสต์ไม่ได้ผลักดัน
หรือ กดดันให้ผู้คนติดตามพระองค์
แต่พระองค์บอกเพียงว่า “จงตามเรามา” เท่านั้น(มัทธิว 16:24) พระองค์มิได้กดดันว่า
“ท่านต้องตามเรามา” หรือ “ถ้าจะให้ดีท่านต้องตามเรามา”
ด้วยความหวังดี
พ่อแม่บางคนได้กดดันให้ลูกของตนเองให้ได้รับความรอด การสื่อสารเช่นนี้ ลูกอาจจะทำตัวเหมือนว่าลูกยอมติดตามพระคริสต์เมื่อยู่ต่อหน้าพ่อแม่ แต่เมื่อลับหลังพ่อแม่ชีวิตของลูกกลับเป็นอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างตรงกันข้ามก็ได้
หรือไม่ก็ลูกทำตามเพราะต้องการเอาใจพ่อแม่ เพื่อหวังบางสิ่งจากพ่อแม่
แต่เมื่อชีวิตประจำวันของพ่อแม่มิได้ดำเนินตามคำสอนและแบบอย่างของพระคริสต์อย่างต่อเนื่อง มีพฤติกรรมสองแบบสองมาตรฐานแล้ว ย่อมเป็นอันตรายต่อชีวิตจิตวิญญาณของลูก และ ยิ่งจะแย่กว่าที่เป็นอยู่ถ้าพ่อแม่คู่นั้นพยายามผลักดัน
หรือ กดดันลูกให้รับเชื่อในพระเจ้า
(3) วางมือ อ่อนข้อ ...ในความรับผิดชอบของพ่อแม่คริสตชน
เมื่อพ่อแม่คริสตชนเลิกรา ละเว้น หรือว่างเว้น
ในบทบาทพ่อแม่คริสตชนที่จะต้องใส่ใจฟูมฟักชีวิตจิตวิญญาณของลูกทั้งการรับผิดชอบให้ลูกเข้ามีส่วนร่วมในชั้นเรียนรวีวารศึกษา
และ ในกลุ่มอนุชน หรือ เยาวชนในคริสตจักร
ถ้าพ่อแม่คริสตชนไม่มีความรับผิดชอบดังกล่าว แล้วใครจะมารับผิดชอบแทนได้?
ยิ่งในยุคปัจจุบัน
เวลาวันเสาร์วันอาทิตย์พ่อแม่คริสตชนหลายต่อหลายคน พยายามยัดเยียดกิจกรรมเสริมทักษะชีวิตด้านต่าง
ๆ ให้กับลูก และถ้าต้องเลือกระหว่าง
เวาลาสร้างเสริมทักษะชีวิตจิตวิญญาณของลูก กับ เวลาเสริมทักษะชีวิตในสังคมทันสมัยแล้ว พ่อแม่คริสตชนจำนวนมากจะเลือก หรือ
ใจอ่อนให้ลูกเลือกกิจกรรมเสริมทักษะชีวิตสังคมทันสมัยมากกว่า พ่อแม่คริสตชนอาจจะไม่ได้คิดรอบคอบ แต่กรณีนี้ตั้งใจครับ?
อีกด้านหนึ่งในพันธกิจการเสริมสร้างชีวิตจิตวิญญาณของเด็ก เยาวชน
และวัยรุ่นของคริสตจักร ปัจจุบันนี้คนที่มีของประทานในพันธกิจด้านเหล่านี้มีการถวายตัวรับใช้ลดน้อยถอยลงอย่างมาก
หลายคริสตจักรจึงต้องจ้างคนที่จบจากพระคริสต์ธรรมมารับใช้ในงานดังกล่าว ขอตั้งข้อสังเกตว่า
เมื่อพ่อแม่ไม่ได้เข้ามารับผิดชอบในพันธกิจสร้างเสริมชีวิตจิตวิญญาณของสมาชิกรุ่นใหม่ของคริสตจักร
ก็พลอยไม่ทุ่มเทที่จะช่วยให้ลูกเข้ารับการฝึกฝนและเสริมสร้างชีวิตจิตวิญญาณไปด้วย
เรียกว่าพ่อแม่ วางมือ อ่อนข้อในความรับผิดชอบความเป็นพ่อแม่คริสตชนของตนก็ว่าได้?
(4) เปรียบเทียบลูกกับเยาวชนคนอื่นในคริสตจักร
การเปรียบเทียบมักจะเปรียบเทียบว่าลูกของตนเองทำไมไม่ทำเหมือน
เยาวชนคนนั้น วัยรุ่นคนนี้ในคริสตจักร นั่นหมายความว่า
พ่อแม่ตัดสินลูกลงไปแล้วว่า
สู้เยาวชนคนหนุ่มสาวคนอื่นในคริสตจักรไม่ได้ การกระทำอย่างนี้เป็นการดันให้ลูกออกห่างจากคริสตจักร
และ ออกห่างจากพระเจ้าโดยพ่อแม่ไม่รู้ตัว
อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกประการหนึ่งที่เราอาจจะคิดไม่ถึงคือ ลูก ๆ ของเราอาจจะไม่ปลีกตัวเองออกไปจากคริสตจักรทันที แต่เขาต้องการเอาใจพ่อแม่เพื่อหวังจะได้อะไรบางอย่างจากพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่เอาลูกไปเปรียบกับเพื่อนเยาวชนคนอื่น ดังนั้น ลูกจึงพยายามทำตนให้เหมือนเพื่อนเยาวชนคนนั้นที่พ่อแม่เอาไปเปรียบเทียบ แทนที่ลูกของเราจะพัฒนาชีวิตประจำวันตามพระวจนะ
และ ตามแบบพระคริสต์ให้มากยิ่งขึ้น
นั่นหมายความว่า
แม้ลูกไม่ได้ออกจากคริสตจักร แต่ชีวิตจิตวิญญาณก็มิได้รับการสร้างเสริมและพัฒนาขึ้นตามคำสอนและแบบอย่างของพระคริสต์
แต่กลับไปเลียนแบบชีวิตเพื่อน และถ้าวันหนึ่ง เพื่อนเยาวชนคนนั้นที่พ่อแม่เปรียบเทียบเกิดผิดพลาดในการดำเนินชีวิต
แล้วลูกของเราจะคิดอย่างไร เข้าใจอย่างไร หรือจะเลียนแบบชีวิตผิดอย่างเขาด้วย?
(5) ภาพรวมและภาพหลัก
ภาพรวม และ
ภาพหลักที่จะหนุนเสริมให้ลูกหลานของเรายังคงยืนมั่นคงบนรากฐานความเชื่อในพระเจ้า และมีชีวิตที่พบกับพระคริสต์ และ
สัมพันธ์กับพระองค์ ในชีวิตประจำวันของเขา
สิ่งสำคัญคือ
เขาต้องมีชีวิตที่พบกับพระเจ้าในชีวิตของเขาเอง เผชิญหน้ากับพระองค์ในชีวิตแต่ละวัน
มีประสบการณ์ตรงกับพระเจ้าในการดำเนินชีวิตประจำวันของเขา
ประสบการณ์ชีวิตของลูกกับพระเจ้าในอดีตที่ผ่านมา
ได้เสริมสร้างความเชื่อศรัทธาของลูกที่เป็นอยู่ในวันนี้ และการที่เขามีประสบการณ์สัมผัสกับความรักเมตตาของพระองค์วันต่อวัน
ในวันนี้ ในปัจจุบันนี้ คือตัวเสริมสร้างความเข้มแข็งในความเชื่อ ความไว้วางใจในพระเจ้า
และการดำเนินชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นในอนาคตด้วย
พ่อแม่ และ ปู่ย่าตายาย
มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการรับผิดชอบร่วมกับพระเจ้าที่จะช่วยและเสริมสร้างให้ชีวิตหยั่งรากลงในความเชื่อ
และ วางใจในพระเจ้า
อย่าโยนภาระความรับผิดชอบที่เป็นความเป็นความตายของลูกไปให้คริสตจักร
แต่พ่อแม่คือตัวหลักในความรับผิดชอบนี้ที่พระเจ้าทรงมอบหมาย
“...พวกท่านจงสอนถ้อยคำเหล่านี้แก่บุตรหลานของท่าน
จงพูดถึงถ้อยคำเหล่านี้เมื่อท่านอยู่ในบ้าน
และเมื่อท่านเดินอยู่ตามทาง
เมื่อท่านนอนลงหรือลุกขึ้น
ท่านจงเขียนคำเหล่านี้ไว้ที่เสาประตูบ้าน
และที่ประตู(บ้าน)ของท่าน
เพื่ออายุของพวกท่านและอายุของบุตรหลานของท่านจะได้ยืนนานบนแผ่นดิน
ซึ่งพระยาห์เวห์ทรงปฏิญาณที่จะประทานแก่บรรพบุรุษของท่าน
ตราบเท่าที่ฟ้าสวรรค์อยู่เหนือโลก”
(เฉลยธรรมบัญญัติ 11:19-21 มตฐ.)
ประสิทธิ์
แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com; 081 289
4499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น