21 ธันวาคม 2561

ของขวัญคริสต์มาสที่เราอาจจะลืม!

เมื่อถึงคริสต์มาสของแต่ละปี อะไรที่ทำให้เราตื่นเต้นในชีวิต? อะไรที่ทำให้เรามีสันติสุขภายใน? ถ้าท่านจะเขียนรายการสิ่งสำคัญที่สุด 5 รายการในช่วงเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่ท่านได้ทำ (จริง ๆ) ตามลำดับความสำคัญมีอะไรบ้าง? มีปีไหนบ้างไหม ที่ท่านได้จัดเวลาที่ชัดเจนในแต่ละวันช่วงที่เขาเฉลิมฉลองคริสต์มาส เพื่อใช้เวลานั้นในการอธิษฐานกับพระเจ้าอย่างตั้งใจและจริงใจ เป็นการส่วนตัว?

ผมเห็นด้วยครับให้เราทำเรื่องนี้ในปีนี้ให้เป็นรายการแรกในสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะทำในช่วงเวลาเฉลิมฉลองคริสต์มาส แต่บางท่านจะถามว่า แล้วจะให้เราอธิษฐานต่อพระเจ้าในเรื่องอะไรบ้าง? ผมส่วนตัวคิดว่า ก็อธิษฐานประเด็นชีวิตประจำวันในช่วงคริสต์มาสที่เกิดขึ้นกับเราแต่ละท่านครับ ส่วนตัวผมมีรายการอธิษฐานส่วนตัวกับพระเจ้าในช่วงเฉลิมฉลองนี้ เช่น...

วันแรก: อธิษฐานเผื่อผู้คนอีกจำนวนมากมายที่ไม่รู้ถึงพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอด และเป็นคำตอบโจทย์ในชีวิตของเขา ให้ทุกแห่งที่เฉลิมฉลองคริสต์มาส เป็นสื่อกลางที่จะนำให้คนทั้งหลายที่มาร่วมงานได้พบกับองค์พระคริสต์เป็นการส่วนตัว ให้พระคริสต์บังเกิดในชีวิตของเขา

วันที่สอง: อธิษฐานเผื่อผู้คนที่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดในชีวิตในช่วงคริสต์มาสนี้ โดยท่านเองมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเป็นใครที่ท่านได้พบเห็น เกี่ยวข้อง และถามพระเจ้าว่า พระองค์ประสงค์ให้ท่านทำอะไร เช่นไรกับคน ๆ นั้น? แล้วมีเวลาเงียบฟังเสียงจากเบื้องบน แล้วทำตามเสียงนั้น

วันที่สาม: ในคริสตจักรของท่าน มีใครบ้างที่ห่างหายจากคริสตจักร อธิษฐานเผื่อคน ๆ นั้น และทูลขอให้พระเจ้าทรงประทานความเข้าใจแก่ท่าน ที่จะเข้าใจถึงชีวิตของเขา เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วขอพระเจ้าทรงชี้นำว่าในคริสต์มาสปีนี้ พระองค์เปิดโอกาสอะไรบ้างแก่ท่านที่จะเข้าถึงคน ๆ นี้ เข้าใจคนนี้ เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขาในปีข้างหน้านี้ แล้วหาโอกาสที่จะไปเยี่ยมเยียนเขา พูดคุยกับเขา  ห่วงใยใส่ใจเขา และถามเขาว่า ท่านเองจะเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขาได้หรือไม่ และอยากให้ทำอย่างไร? แล้วฟังเขาอย่างใส่ใจ

วันที่สี่: ให้อธิษฐานเผื่อผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุที่เดินเหินลำบาก ทั้งในคริสตจักรและรอบคริสตจักร โดยอธิษฐานเผื่อเป็นรายบุคคลชัดเจนเจาะจง (ไม่อธิษฐานแบบหว่านแห) ออกชื่อของเขาในการอธิษฐาน เลือกไม่เกิน 3 คนก็จะดีมาก และปรึกษาพระเจ้าว่า ในปีข้างหน้านี้ ท่านจะมีพันธกิจกับทั้ง 3 คนนี้อย่างไรบ้าง? ขอพระเจ้าโปรดชี้นำว่า ท่านเองจะเข้าถึง และรู้จักทั้ง 3 คนนี้ได้อย่างไร ฟังเสียงการชี้นำจากพระเจ้า แล้วเริ่มทำตามเสียงนั้น เมื่อท่านได้เข้าถึงและเรียนรู้ถึงโจทย์ชีวิตของแต่ละท่านแล้ว ให้ท่านนำประเด็นชีวิตเหล่านั้นมาทูลปรึกษาพระเจ้าว่า พระองค์จะให้ความเข้าใจ เกิดแสงสว่างแก่ท่านว่าจะนำความรักเมตตาของพระคริสต์ไปตอบโจทย์ชีวิตของทั้งสามนี้อย่างไร? แล้วกระทำตามเสียงเปิดเผยจากเบื้องบน

วันที่ห้า: อธิษฐานเผื่อศิษยาภิบาล และ ผู้นำในคริสตจักรของท่าน ในการทำงานรับใช้พระเจ้าในคริสตจักรและชุมชนในปัจจุบัน ทูลขอพระเจ้าทรงชี้นำว่า ตัวท่านเองจะมีโอกาสและวิธีการที่จะให้กำลังใจ และ เสริมหนุนการรับใช้ของผู้นำเหล่านี้ให้เกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์ได้อย่างไร ในปีใหม่นี้ให้ท่านหาโอกาสที่จะสัมพันธ์ใกล้ชิดเพื่อหนุนเสริมชีวิตของพวกเขาด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสม   ที่พระเจ้าตรัสเปิดเผยกับท่าน

การอธิษฐานเหล่านี้เป็นของขวัญที่สูงค่าประเมินราคามิได้ ที่ท่านให้แก่คนเหล่านี้ ใช้การอธิษฐานทั้ง 5 วันในช่วงคริสต์มาสเป็นการ “เริ่มต้น” (Startup) ชีวิตสาวกพระคริสต์ที่รับใช้ตามพระบัญชาในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคนตลอดปีข้างหน้าที่พระเจ้าประทานแก่เรา 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

19 ธันวาคม 2561

“พิษสภาวะ” ในผู้นำคริสต์ชน

เมื่อพูดถึงเรื่อง “ผู้นำที่เป็นพิษ” ผู้คนมักมองว่าเป็น “ลักษณะ” ของคนอื่น  ไม่ใช่ตนเอง!

ความเป็นจริงอีกประการหนึ่งคือ  คนส่วนใหญ่ที่ทำงาน หรือ ผ่านการทำงานร่วมกับคนส่วนมากมาแล้วมักเคยพบกับ “ผู้นำที่เป็นพิษ” หรือ “พิษภาวะ” ของผู้นำ

แต่ถ้าจะเป็นประโยชน์สำหรับเราเองแล้ว คงต้องถามตนเองว่า ที่เป็นมาเรามีลักษณะผู้นำที่เป็นพิษประการใดบ้างที่มีในตัวเรา หรือ มีแนวโน้มที่เราจะมีลักษณะผู้นำใดบ้างที่เป็นพิษในการผู้นำ? เพื่อเราจะสามารถรู้เท่าทันตนเอง และหาทางแก้ไขและป้องกันก็จะเป็นประโยชน์แก่เราเองอย่างยิ่ง

การที่คริสตจักรใด องค์กรใดมีผู้นำที่เป็นพิษมิเพียงแต่สร้างผลเสียแก่เจ้าตัวเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงาน และ ลูกน้อง อีกทั้งสร้างผลกระทบที่เลวร้ายต่อองค์กร หรือ คริสตจักรอีกด้วย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ผู้นำที่เป็นพิษมี “พิษลักษณะ” หรือ “พิษสภาวะ”(?) ดังนี้

1. ผู้นำที่ไม่สำแดงคุณลักษณะผลของพระวิญญาณ ในพระธรรมกาลาเทีย บทที่ 5 กล่าวถึงผลของพระวิญญาณไว้ดังนี้  22ส่วนผลของพระวิญญาณนั้นคือ ความรัก ความชื่นชมยินดี สันติสุข ความอดทน ความปรานี ความดี ความสัตย์ซื่อ 23ความสุภาพอ่อนโยนและการควบคุมตนเอง...” (อมธ.) ในที่นี้ขอตั้งข้อสังเกตที่สำคัญคือ  ในพระคัมภีร์ตอนนี้กล่าวถึง “ผลของพระวิญญาณ” ที่เป็นเอกพจน์ มิใช่พหูพจน์  คือคุณลักษณะทั้ง 9 ประการรวมกันเป็นผลของพระวิญญาณ  มีความหมายถึงการที่ผู้นำคนนั้นจำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การทรงนำ การชี้นำอย่างแท้จริงที่เปี่ยมล้นจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เขาจึงเป็นผู้นำที่สามารถนำให้เกิดผลของพระวิญญาณ เพราะองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้กระทำให้ชีวิตผู้นำของเขาเกิดผล

ผู้นำที่เป็นพิษ เป็นผู้นำที่ไม่สำแดงผลของพระวิญญาณออกมาในการเป็นผู้นำของเขา เพราะเขามิได้ยอมให้องค์พระวิญญาณทรงควบคุม และชี้นำการเป็นผู้นำของเขา เขาจึงไม่สำแดงผลของพระวิญญาณทั้ง 9 ประการ

2. ผู้นำที่นำด้วย “ความคิดและจิตใจ” ของตนเอง กล่าวคือเขาเป็นผู้นำที่ไม่สนใจว่าทีมงาน/ลูกน้องคิดอย่างไรในเรื่องนั้น ไม่ปรึกษา หรือขอความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ หรือ การสะท้อนคิดในเรื่องที่ต้องตัดสินใจทำด้วยกันจากเพื่อนร่วมงาน/ทีมงานของตน เป็นผู้นำที่ไม่สนใจความคิดเห็น ความรู้สึกของลูกน้องและทีมงาน ลึก ๆ ของผู้นำพวกนี้คือสำคัญตนเองว่า “ตนเองรู้แล้ว”  “ตนเองรู้ดีกว่า”  “ใครจะรู้ดีเท่าตนเองในเรื่องนี้” เป็นผู้นำที่ไม่เห็นคุณค่า ความสำคัญของลูกน้อง ไม่เห็นความสำคัญของการทำงานแบบมีส่วนร่วม เป็นผู้นำที่ “เอาแต่ใจตนเอง”

3. ผู้นำที่คาดหวังให้คนอื่นมีพฤติกรรมที่ตนต้องการ แต่กลับมิได้คาดหวังพฤติกรรมดังกล่าวจากตนเอง เรามักได้ยินผู้นำประเภทนี้สั่งทีมงานว่า “อย่าทำอย่างนี้” หรือ “ให้ทำแบบนี้” แต่ปรากฏว่าผู้นำคนนี้ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองสั่งลูกน้องของตน เขาไม่ทำในสิ่งที่ตนเองพูดตนเองสั่ง

4. มองผู้ร่วมงานว่าไม่รู้ ไม่สามารถ หรือ เป็นคนที่อ่อนด้อย/อ่อนหัดในด้านต่าง ๆ ตรงกันข้ามมักมองว่าตนเองทำได้ดีกว่าทุกเรื่อง เป็นคนที่เหนือกว่าลูกน้องและทีมงาน ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องนำต้องตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว (เชื่อมโยงกับประการที่ 2)

5. เป็นผู้นำเลือกที่รักมักที่ชัง  เป็นผู้นำที่มีอคติต่อบางคน น่าสังเกตว่า ผู้นำพวกนี้จะชื่นชมลูกน้องที่ไม่โต้เถียง ไม่แสดงความคิดเห็น แต่กลับไม่ค่อยชอบและถูกใจลูกน้องที่มักแสดงความคิดเห็น หรือ มีข้อเสนอแนะ (ที่ตนไม่ต้องการ) เขาชอบลูกน้องพวกที่ “ค่ะ/ครับ เจ้านาย” หรือถ้านำไปเชื่อมกับข้อ 4  คือ ผู้นำพวกนี้จะชอบคนที่ไม่พูด  คนที่ไม่ทำงานจริงจัง แต่จะไม่ชอบพวกที่ทำงานเอาใจใส่และทำงานอย่างใช้สติปัญญา เขาไม่ชอบลูกน้องที่ไม่เห็นด้วยกับเขา แต่โปรดปรานลูกน้องที่ว่าไปตามที่เจ้านายคิด หัวหน้าต้องการ (เพื่อรักษา/ต้องการผลประโยชน์แห่งตน) 

6. เป็นผู้นำที่ไม่ชอบการตอบสนองในเชิงลบ หรือ ที่ไม่เหมือนกับตน หรือ ที่ไม่ยอมเออออห่อหมกกับตน ดังนั้น เขาจะมีคนห้อมล้อมที่เป็นลูกน้องจำพวก “เอาใจเจ้านาย”  “ว่าอย่างเจ้านาย”  “เอาอย่างที่หัวหน้าว่า” และมักจะถูกห้อมล้อมด้วยลูกน้องที่เป็นพิษ ที่ยกยอปอปั้นเจ้านาย  เอาใจเจ้านาย ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า  เจ้านายคิดผิด หรือ หัวหน้าจะทำเลวร้าย ฉ้อฉลอย่างไรก็ยังเอาใจหัวหน้า (เพื่อผลประโยชน์แห่งตนเอง)

7. ผู้นำที่คิดถึงแต่ตนเอง  ฉัน  ตัวฉัน  ฉันเอง...  เป็นผู้นำที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง  ผู้นำพวกนี้มุ่งมองสนใจแต่ว่า ฉันจำเป็นอะไร ฉันต้องการอะไร ผู้นำแบบนี้ไม่สามารถที่จะมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ไม่รู้เท่าทันตนเอง และก็จะไม่รู้ด้วยว่าคนอื่นมองตนเองอย่างไรบ้าง เวลาพูดคุยกับคนอื่นก็จะพูดแต่เรื่องของตนเอง ความโดดเด่น สำคัญของตนเอง โอ้อวดตนเอง

ทั้ง 7 ลักษณะที่เป็นพิษของผู้นำดังกล่าวนี้ จะเป็นผู้นำที่สร้างผลกระทบที่ “หายนะ” แก่องค์กร คริสตจักร สร้างความเดือดร้อนแก่ทีมงานที่ตั้งใจทำงาน ทำลายความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทีมงาน และทั้ง 7 ลักษณะที่เป็นพิษนี้เองที่จะกลับมาทำร้ายเจ้าตัวในที่สุด

น่าจะเป็นของขวัญล้ำค่าในคริสต์มาส 2018 นี้แก่องค์กร คริสตจักร ตัวผู้นำเอง และเพื่อนร่วมงานอย่างมาก   ถ้าผู้นำคริสต์ชนจะ “ล้างพิษ” (detoxify) หรือ ที่เรารู้ในภาษาว่า “ดีทอกซ์”  หรือ การ “ล้างพิษสภาวะ” ของผู้นำเสีย   ท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

17 ธันวาคม 2561

วันนี้...จะเอายังไงกับศัตรูของเราดี?

ในชีวิตทุกวันนี้ของเราคริสต์ชนรู้ว่าหลายเรื่องเป็นสิ่งดี และเป็นสิ่งที่ตนควรกระทำปฏิบัติ   แต่ลำบากใจที่จะปฏิบัติ  หรือไม่อยากปฏิบัติ  หรือไม่สามารถปฏิบัติได้   แต่ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่พระเยซูคริสต์มีพระประสงค์ให้เราปฏิบัติล่ะ  เราจะว่าอย่างไร?  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การปฏิบัติต่อ “ศัตรู” ของเรา  อย่างที่พระคริสต์ได้สอนและกระทำเป็นแบบอย่างแก่เราแล้ว   ในช่วงเวลาแห่งการรอคอยเตรียมรับพระคริสต์  ซึ่งเป็น “พระวาทะ” ให้มาบังเกิดในชีวิต(“เนื้อหนัง”) ของเรา  และอยู่ท่ามกลางชีวิตเรา (ยอห์น 1:14 อมธ.) มีชีวิตเป็นรูปธรรมในตัวตนเรา ให้เราพิจารณาแนวทางเรื่องนี้ที่เราสามารถรอคอยและเตรียมพร้อมฝึกปฏิบัติ ดังนี้

อธิษฐานเผื่อศัตรูคู่ปรปักษ์ของเรา

สิ่งหนึ่งที่พระคริสต์ทรงกระทำเมื่อดำเนินชีวิตเป็นมนุษย์ในโลกนี้คือ  เมื่อถูกตรึงบนกางเขน  พระองค์ทูลอธิษฐานต่อพระบิดาว่า “พระบิดา ขอทรงยกโทษให้พวกเขา เพราะพวกเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลูกา 23:34 อมธ.) ขอให้เราคิดใคร่ครวญดูว่า เราจะอธิษฐานขอพระเจ้าโปรดยกโทษแก่คนที่ข่มเหงเรา เอาเปรียบเรา ทำร้ายทำลายเรา เหยียดหยามดูหมิ่นชื่อเสียงเกียรติยศของเรา ฯลฯ อย่างที่พระคริสต์อธิษฐานขอพระบิดาโปรดยกโทษแก่พวกฟาริสี  ผู้นำศาสนายิว  ประชาชนที่เป็นลิ่วล้อผู้นำศาสนา  และพวกทหารโรมัน บนกางเขนพระคริสต์ได้กระทำสิ่งที่พระองค์สอนให้เห็นชัดเป็นรูปธรรมและแบบอย่างแก่ผู้คน ตามคำสอนที่ว่า “...จงรักศัตรูของท่านและอธิษฐานเผื่อบรรดาผู้ที่ข่มเหงท่าน” (มัทธิว 5:44 อมธ.)

รักศัตรูคู่ปรปักษ์ของเรา

ในใจลึก ๆ พวกผู้นำศาสนายิวเกลียดพวกโรมัน  พวกกรีก และคนที่ไม่ใช่ยิวเข้ากระดูก  และอีกคนหนึ่งที่พวกผู้นำศาสนายิวเกลียดนักเกลียดหนาคือพระเยซู   ดังนั้น พวกเขาถึงแสวงหาโอกาสที่จะฆ่าพระองค์เสีย แน่นอนครับ ไม่มีทางที่พวกผู้นำศาสนายิวจะอธิษฐานเผื่อศัตรูของเขา แต่พระคริสต์คาดหวังจากสาวกของพระองค์ทุกคนให้มีชีวิตที่ดีกว่าผู้นำศาสนายิวว่า  “ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวไว้ว่า ‘จงรักเพื่อนบ้านและเกลียดชังศัตรู’   แต่เราบอกท่านว่าจงรักศัตรูของท่าน...” (มัทธิว 5:43-44 อมธ.)  เปาโลบอกเราชัดเจนว่า พระเยซูคริสต์ทรงรักเราและตายเพื่อเรา...ในขณะที่เราเป็นศัตรูกับพระองค์ (โรม 5:10 อมธ.) และนี่คือประสบการณ์ตรงของเปาโลเองบนเส้นทางไปดามัสกัส

กระทำดีต่อศัตรูคู่ปรปักษ์ของเรา

แทนที่จะทูลขอให้พระเจ้าสาปแช่ง หรือ กล่าวโทษคนที่ดูถูก เหยียดหยาม โจมตี  ข่มเหงคะเนงร้ายเรา  แต่สาวกพระคริสต์จะทูลขอพระเจ้าทรงอวยพรศัตรูของเรา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่ไหมครับ? แต่พระคริสต์บอกแก่เราว่า  “จงอวยพรคนที่แช่งด่าท่าน จงอธิษฐานเผื่อผู้ที่ทำร้ายท่าน” (ลูกา 6:28 อมธ.) พระคริสต์คาดหวังสาวกของพระองค์ที่จะอวยพรคนที่แช่งด่าเรา อธิษฐานเผื่อคนที่ทำร้ายเรา เราไม่สามารถกระทำสิ่งนี้ด้วยกำลังความสามารถของเราเอง แต่เราทูลขอพระกำลังของพระเจ้าให้ช่วยเหลือเรา  ให้เราทำในสิ่งนี้ได้  เพราะเรามิได้ทำด้วยตัวเราเอง   แต่พระคริสต์ในตัวเราจะเป็นผู้กระทำให้เราสามารถกระทำในสิ่งที่พระองค์คาดหวังได้  

ถึงแม้เราไม่อยากจะทำเช่นนั้นต่อศัตรูก็ตาม  แต่นี่คือส่วนหนึ่งในกระบวนการที่พระคริสต์ทรงเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างชีวิตสาวกของพระองค์ในชีวิตของเราท่านในวันนี้ได้   และในเวลาเดียวกัน  ศัตรูของเราอาจจะเกิดความสับสนว่า เขากระทำร้ายกับเราถึงเพียงนี้แต่ทำไมเราถึงกระทำดีตอบเขา? ความรักเมตตาของพระคริสต์ที่ผ่านเราไปถึงชีวิตและความรู้สึกของเขา อาจจะเป็นการเปิดให้พระวิญญาณและความรักเมตตาของพระเจ้าจะซึมซาบเข้าไปในหัวใจที่แข็งกระด้างของเขา และช่วยให้เขาพบกับพระคุณอันน่าอัศจรรย์ของพระคริสต์ในชีวิตของเขาได้

วันนี้ ให้เราแต่ละคนตั้งเป้าชัดถึงผู้ที่เราจะอธิษฐานเผื่อเขา  อวยพระพรเขา  กระทำดีต่อเขา  แม้คน ๆ นั้นจะคิดร้ายทำลายเรา หรือเป็นคนที่เราไม่ชอบหน้า หรือที่เรารู้สึกไม่ดีกับเขา แล้วเราเองก็จะสัมผัสกับพระคุณอันน่าอัศจรรย์ของพระคริสต์ด้วยเช่นกันในวันนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

14 ธันวาคม 2561

ปรารถนามิตรภาพ

ความคาดหวังของพระเยซูตอนช่วงท้ายชีวิตบนโลกนี้คือ  พระองค์คาดหวังที่จะเห็นคริสต์ชน/สาวกของพระองค์มีความรักเมตตาต่อกัน หรือ การรักซึ่งกันและกันอย่างเป็นรูปธรรม

มีผู้กล่าวไว้ว่า  ความปรารถนาในชีวิตของเราคือ มิตรภาพ ความสัมพันธ์ที่เป็นมิตร

ศิษยาภิบาลท่านหนึ่งได้แบ่งปันว่า  เขาเคยมีความรู้สึกเหงามาก เหงาเหลือเชื่อจริง ๆ  แต่ก็ไม่สามารถที่จะชี้เจาะจงลงไปว่ามันมีสาเหตุจากอะไร   ทั้ง ๆ ที่อยู่ท่ามกลางครอบครัวพร้อมหน้า  พบเพื่อนฝูงคนสนิท  พาลูก ๆ ไปเล่นกับเพื่อนบ้าน

ศิษยาภิบาลท่านเดิมบอกต่อไปอีกว่า แต่เมื่อชีวิตอายุมากขึ้น  อาวุโสมากขึ้นท่านเรียนรู้ว่า อาการความรู้สึก “เหงา” ที่กล่าวนั้น  มิใช่ความรู้สึกเหงาโดดเดี่ยวอย่างที่คิด  แต่จริง ๆ แล้วเป็น ความปรารถนาลึก ๆ เพราะอาการความรู้สึกดังกล่าวยังเป็นจนถึงวันแก่เฒ่าด้วย แต่ในวัยสูงอายุนี้ตนโหยหาความสัมพันธ์ มิตรภาพ  แต่ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดภายในชีวิต หรือ ไม่มีใครทำให้ชีวิตรู้สึกเจ็บปวด เจ้าตัวปรารถนาที่จะเข้าใจเพื่อนฝูงมิตรสหาย และปรารถนาให้เพื่อนเข้าใจตนเอง ศิษยาภิบาลอาวุโสท่านนี้ต้องการที่จะให้ความรักและรับความรักเมตตาจากผู้คน ท่านต้องการมีมิตรภาพเช่นนี้กับทุกคน

ท่านศิษยาภิบาลอาวุโสแบ่งปันต่อไปว่า ความปรารถนาที่ว่านี้คือความรู้สึกว่าความสัมพันธ์และมิตรภาพที่เรามีต่อคนอื่นยังไม่สมบูรณ์  ยังไม่ดีพอ เราจึงต้องการที่จะทำให้ดีพอและสมบูรณ์  พระเจ้าทรง “ปลูก” ความปรารถนานี้ลงในชีวิตของเรา เพราะพระองค์มีพระประสงค์สร้างเราให้มีคุณภาพชีวิตที่อยู่ใน “สวนเอเดน”  มิใช่คุณภาพชีวิตใน “บาบิโลน”   เมื่อเกิดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ โดดเดี่ยว  ความรู้สึกดังกล่าวกำลังบอกเราว่า ชีวิตตามพระประสงค์ไม่ควรจะเป็นเช่นนี้  แล้วกระตุ้นเตือนเราให้ค้นและแสวงหาความปรารถนาที่แท้จริงของเราว่า เรากำลังต้องการอะไรกันแน่!

ทารกน้อยที่บังเกิดที่บ้านเบธเลเฮมเมื่อหลายศตวรรษก่อนมีภารกิจหลักในโลกนี้คือ  การประกาศและการนำ “อาณาจักรแห่งเอเดนใหม่” มาสถาปนาขึ้นบนโลกใบนี้ และทรงเชิญชวนเราท่านทุกคนให้มามีคุณภาพชีวิตแบบ “เอเดนใหม่” หรือที่เรารู้จักในนามว่า “แผ่นดินของพระเจ้า”

ชายหนุ่มจากนาซาเร็ธคนนี้รู้หลายเรื่องที่เราเองก็ยังไม่รู้ซึ้ง   เขาเรียนรู้ถึงประสบการณ์ที่ถูกเพื่อนสนิททอดทิ้งและหักหลัง เขารู้ถึงเรื่องชีวิตที่พระเจ้าทรงหันหลังให้ เขารู้ชัดเต็มอกว่า เขากำลังรับใช้คนที่ไม่รู้ถึงคุณค่าและความสำคัญในการรับใช้ของเขา เขาเป็นคนที่ถูกปฏิเสธ ไม่มีใครที่เคยมีประสบการณ์ชีวิตที่ว้าเหว่ โดดเดี่ยวเหมือนเขา และที่เขายอมรับเอาความว้าเหว่ เจ็บปวด และ โดดเดี่ยวก็เพื่อเราจะมีสัมพันธภาพที่แนบสนิทกับพระเจ้าตลอดไป

เปาโลได้กล่าวถึง “ความปรารถนา” ในชีวิตได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเขากล่าวถึงเรื่องความรักเมตตาว่า 
เพราะว่าเวลานี้เราเห็นสลัว ๆ เหมือนดูในกระจก แต่ในเวลานั้นจะเห็นแบบหน้าต่อหน้า เวลานี้ข้าพเจ้ารู้เพียงบางส่วน แต่เวลานั้นข้าพเจ้าจะรู้แจ้งเหมือนพระองค์ทรงรู้จักข้าพเจ้า (1โครินธ์ 13:12 มตฐ.)

อาจจะเป็นเพราะในประสบการณ์ชีวิตประจำวันของเรา เรามักเอา “ความปรารถนา” ของเราไปโยงสัมพันธ์กับ “สิ่งที่เราไม่มี  สิ่งที่เราขาด”  ในส่วนลึกของความคิดรู้สึกของเราแล้ว ความปรารถนาเป็นของประทานที่สร้างสรรค์ที่เราได้รับจากพระเจ้า   เพราะความปรารถนาทำให้เรามองไปข้างหน้าที่จะมีชีวิตที่ “ครบบริบูรณ์”  คือการที่ชีวิตของเราไปถึงจุดที่รู้และพบว่าเราเป็นคนที่ “พระเยซูคริสต์รู้จัก” และเป็นคนที่ “พระคริสต์ทรงรัก”  เมื่อเรามีความปรารถนาไปให้ถึงจุดนี้  ทำให้เรามองไปที่พระเยซูคริสต์และแสวงหา “ความครบบริบูรณ์ในพระองค์”

ความโดดเดี่ยวว้าเหว่สอนให้เราเรียนรู้ที่จะเข้าสนิทในความรักเมตตาของพระองค์  ไว้วางใจที่พระเจ้าทรงรู้จักและรักเมตตาเราอย่างเต็มเปี่ยม แม้เราจะเรียนรู้และเข้าใจที่ยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม และความว้าเหว่ยังสอนเราอีกว่า ไม่ไปยึดเอาคนอื่นมาเป็น “แม่แบบชีวิต” ของเรา แล้วไปคาดหวังว่า คนดังกล่าวจะให้ความรักแก่เราอย่างพระคริสต์ย่อมเป็นไปไม่ได้

เพราะความรักเมตตาแบบพระคริสต์ที่มีต่อเรานี้เองที่สอนให้เราที่จะรักเมตตาคนอื่นอย่างที่พระคริสต์ทรงมีต่อเรา เมื่อพลังดังกล่าวขับเคลื่อนในชีวิตประจำวันของเรา จะเป็นพลังแห่งความรักเมตตาที่สุดยอดสำหรับชีวิตประจำวันของเรา แต่ต้องตระหนักชัดว่านั่นเป็นพลังแห่งความรักเมตตาของพระคริสต์ที่มีในชีวิตของเรา

14เพราะความรักของพระคริสต์ผลักดันเราอยู่ เพราะเรามั่นใจว่าผู้หนึ่งได้ตายเพื่อคนทั้งปวง ฉะนั้นคนทั้งปวงจึงตายแล้ว 15และในเมื่อพระองค์ได้สิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งปวง บรรดาผู้มีชีวิตอยู่จึงไม่ควรอยู่เพื่อตัวเองอีกต่อไป แต่อยู่เพื่อพระองค์ผู้สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขาและคืนพระชนม์ขึ้นมาอีก” (2โครินธ์ 5:14-15 อมธ.)

เมื่อเราเข้าติดสนิทในความสัมพันธ์กับพระคริสต์ ความรักสัมพันธ์ของพระองค์กระตุ้นขับเคลื่อนให้เราไปช่วยคนอื่นให้เข้ามาอยู่ภายใต้ความรักเมตตาของพระเจ้า กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราสามารถที่จะ กระทำ ความปรารถนาของเราในความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่เราติดต่อเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ด้วยความรักเมตตา ให้เกียรติ และกระทำตามแบบอย่างของพระคริสต์ที่ทรงรักเมตตาเรา ทำให้เรารักพระคริสต์ผ่านการที่เรารักเมตตาและรับใช้คนอื่น  

พระคริสต์บอกกับเราว่า ความรักเมตตาที่ว่านี้คือการที่เราให้ชีวิตของเรากับมิตรสหายของเรา   อย่างที่พระคริสต์ให้ชีวิตของพระองค์แก่เรา  เพื่อเราจะได้ชีวิตใหม่ การรักคนอื่นคือการที่เราหาทางที่จะให้สิ่งที่เราต้องการได้จากสัมพันธภาพ หรือ มิตรภาพที่เรามีแก่เขา การรักเพื่อนบ้านคือการให้สิ่งที่เราต้องการแก่เขา มิใช่แสวงหาสิ่งที่เราต้องการจากเขา เมื่อเรากระทำเช่นนี้ เราก็ได้ประกาศถึงการเกิดขึ้นของแผ่นดินของพระเจ้า ที่เหล่าทูตสวรรค์ประกาศแก่เราถึงการมาบังเกิดของพระเยซูคริสต์  

ความจริงก็คือว่า ความรู้สึก โดดเดี่ยว  ว้าเหว่  การถูกทอดทิ้ง จะเกิดขึ้นเสมอตราบใดชีวิตของเรายังอยู่ใน “อาณาจักรแบบบาบิโลน”  ที่ยังโหยหา ที่ยังปรารถนา “มิตรภาพ”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

12 ธันวาคม 2561

ท่านรู้ข้อเท็จจริงเรื่องคริสต์มาสมากน้อยแค่ไหน? (ของกล้วย ๆ )

บ่อยครั้งที่คริสต์ชนเราคิดว่าเรารู้เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวความเชื่อของเรา เกี่ยวกับพระคัมภีร์ของเราอย่างดี   แต่เมื่อค้นหาความจริงจากพระคัมภีร์แล้วกลับพบว่า  ความรู้เรื่องราวต่างในพระคัมภีร์และในความเชื่อของเราบางเรื่องอาจจะไม่จริง หรือ ไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจเราเชื่อก็ได้   และเรื่องราวคริสต์มาสตามพระคัมภีร์ก็เป็นเช่นว่านี้ด้วยเช่นกัน

แล้วเรารู้เรื่องราวคริสต์มาสถูกต้องตามความจริงในพระคัมภีร์มากน้อยแค่ไหน?   ในฐานะคริสต์ชนเราต้องรู้แน่ชัดเกี่ยวถึงความจริงเรื่องต่าง ๆ ในพระคัมภีร์   วันนี้เรามาทดสอบดูว่า เรารู้เรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับคริสต์มาสมากน้อยแค่ไหน  

ต่อไปนี้เป็นแบบทดสอบสนุก ๆ เกี่ยวกับความรู้วันคริสต์มาส  (เอามาเล่นสนุกในครอบครัว หรือ ในชั้นเรียนก็ได้) ลองทดสอบดูว่าเรารู้เรื่องคริสต์มาสอย่างแท้จริงแค่ไหน   ขอให้ตอบคำถามข้างล่างนี้ด้วยความสัตย์ซื่อ  โดยไม่ใช้พระคัมภีร์ หรือ หนังสืออรรถาธิบายพระคัมภีร์  หรือหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวคริสต์มาส  ทั้งในหนังสือและในอินเตอร์เน็ท  

และ ยังไม่ไปดูคำเฉลยตอนท้าย 

ใครตอบได้บ้าง?
คำถามเรื่องคริสต์มาส

1. มารีย์และโยเซฟเดินทางไปเบธเลเฮมอย่างไร?
ก.      ขี่อูฐ
ข.      ขี่ลา
ค.      เดินเท้า
ง.      เกวียนลากด้วยลา
จ.      โยเซฟเดินเท้า  มารีย์นั่งบนหลังลา
ฉ.     ใครจะไปรู้ได้ล่ะ!
2. เจ้าของโรงแรมบอกมารีย์และโยเซฟว่าอย่างไร?
ก.      ไม่มีห้องว่างในโรงแรม
ข.      ฉันมีรางหญ้าที่คุณจะใช้ได้
ค.      ค่อยกลับมาเมื่อเลยเทศกาลคริสต์มาสแล้ว
ง.      ถูกทั้งข้อ ก. และ ข.
จ.      ไม่มีข้อที่ถูกต้อง
3. รางหญ้าที่ว่านี้ คืออะไรกันแน่?
ก.      คอกสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน
ข.      ที่สำหรับเก็บหญ้าแห้งในคอกสัตว์
ค.      รางให้อาหารสัตว์เลี้ยง
ง.      คอกเลี้ยงสัตว์
4. ตามข้อเท็จจริงในพระคัมภีร์  มีสัตว์อะไรบ้างที่ปรากฏในที่บังเกิดของพระเยซูคริสต์?
ก.      วัว  แกะ และ แพะ
ข.      วัว ลา แกะ
ค.      สัตว์เลี้ยงหลาย ๆ อย่างรวมกัน  รวมทั้ง ไก่  เป็ดด้วย
ง.      สิงโต เสือ  และ หมี
จ.      เราไม่รู้
5. ทูตสวรรค์บอกให้พวกคนเลี้ยงแกะสังเกต “หมายสำคัญ” อะไร?
ก.      ดวงดาวที่อยู่เหนือเบธเลเฮม
ข.      ทารกน้อยที่ไม่ร้องไห้
ค.      ทารกในรางหญ้า
ง.      ทารกน้อยนอนในรางหญ้า
จ.      ไม่มีข้อใดถูก
6. ใครที่มองเห็น “ดาวทางทิศตะวันออก”?
ก.      คนเลี้ยงแกะ
ข.      มารีย์และโยเซฟ
ค.      นักปราชญ์
ง.      ทั้งข้อ ก. และ ค.
จ.      ไม่มีข้อถูก
7. ทูตจากสวรรค์กล่าวว่าอย่างไรบ้าง?
ก.      พระทรงบังเกิด  โลกจงยินดี
ข.      อาเลลูยา
ค.      มีทารกน้อยมาเกิดเพื่อเรา
ง.      พระสิริจงมีแด่พระเจ้าในที่สูงสุด
8. ทารกน้อยเยซูร้องไห้หรือเปล่า?
ก.      ไม่เคยร้องไห้เลย
ข.      ร้องไห้เหมือนทารกทั่วไป
ค.      ร้องเมื่อเด็กที่มาตีกลองให้ทารกน้อย
9. มีนักปราชญ์ หรือ โหราจารย์มาหาทารกเยซูกี่คน?
ก.      เราไม่รู้แน่แต่น่าจะไม่มากกว่า 10 คน
ข.      มี 3 คน
ค.      เราไม่รู้แน่  แต่อาจจะมีผู้ติดตามจำนวนมาก (หลายคน)
ง.      ใครจะไปรู้ได้
10. นักปราชญ์ หรือ โหราจารย์ได้พบพระเยซูที่ไหน?
ก.      ในโรงวัว นอนในรางหญ้า
ข.      นอนในรางที่ให้อาหารสัตว์
ค.      ในโรงแรม หรือ ในห้องเช่า(โรงเตี๊ยม)
ง.      ในบ้าน


และตอนท้ายนี้เป็นข้อเฉลยคำตอบพร้อมตามข้อเท็จจริงจากพระคัมภีร์ 

บทเฉลย
  1. พระคัมภีร์ไม่ได้พูดถึงเรื่องลาเลย   ในลูกา 2:4 บอกเราเพียงว่า “ดังนั้นโยเซฟจึงเดินทางจากเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลีขึ้นไปยังเบธเลเฮมเมืองของดาวิดในแคว้นยูเดีย” (อมธ.)นักวิชาการทางพระคัมภีร์หลายคนคิดว่า   ตามฐานะทางเศรษฐกิจของมารีย์และโยเซฟทั้งสองน่าจะเดินเท้าไป
  2. ในพระคัมภีร์ไม่ได้บันทึกถึงคำพูดของเจ้าของโรงแรม   ตามข้อเท็จจริงแล้ว  ลูกาไม่ได้เอ่ยถึงเจ้าของโรงแรม   เพียงแต่เขียนไว้ว่า  “...เพราะว่าไม่มีที่ว่างในโรงแรมสำหรับพวกเขา” (มตฐ.)
  3. รางหญ้าในที่นี้ “น่าจะ” หมายถึงรางที่มีไว้สำหรับใส่อาหารให้สัตว์เลี้ยง
  4. ให้เราอ่าน ลูกา 2:1-20  เราพบว่า พระคัมภีร์ไม่ได้เอ่ยถึงสัตว์เลี้ยงชนิดใดเลยที่อยู่ล้อมรอบทารกน้อยเยซู ตอนที่บังเกิด
  5. หมายสำคัญที่ทูตสวรรค์บอกแก่คนเลี้ยงแกะคือ  “...นี่เป็นหมายสำคัญแก่ท่าน คือท่านจะพบพระกุมารพันผ้าอ้อมนอนอยู่ในรางหญ้า” (ลูกา 2:14)
  6. ดาวที่ว่านี้ถูกกล่าวถึงเมื่อพระคัมภีร์พูดถึงนักปราชญ์เท่านั้น  นักปราชญ์บอกกษัตริย์เฮโรดว่าเขาได้เห็นดาวปรากฏขึ้น  อ่าน มัทธิว 2:2  “...เราได้เห็นดาวของพระองค์เมื่อเราอยู่ที่ตะวันออก” (อมธ.)
  7. “พระสิริจงมีแด่พระเจ้าในที่สูงสุด ส่วนบนแผ่นดินโลก สันติสุขจงมีท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลายที่พระองค์โปรดปรานนั้น” (ลูกา 2:14 มตฐ.)
  8. ทารกน้อยเยซูบังเกิดเป็นมนุษย์  ย่อมร้องไห้เมื่อหิว เมื่อขับถ่าย เมือเจ็บปวด หรือ เมื่อเหน็ดเหนื่อยเหมือนทารกปกติทั่วไป
  9. พระคัมภีร์ไม่ได้บอกเราถึงจำนวนนักปราชญ์ที่เข้ามาเฝ้าพระกุมารเยซู แต่ผู้อ่านอาจจะมโนไปเองว่า เมื่อมีของถวาย 3 อย่าง น่าจะมีนักปราชญ์ 3 คน และตามทัศนะที่นักวิชาการทางพระคัมภีร์เสนอคือ นักปราชญ์ที่มาเฝ้าพระเยซูน่าจะมาเมื่อทารกอายุประมาณ 2 ปีแล้ว และเมื่อนำเรื่องนี้ไปเชื่อมกับการที่เฮโรดสั่งฆ่าทารกในเบธเลเฮมตั้งแต่ 2 ขวบลงมา
  10. ขอโทษครับ ที่ต้องพูดความจริงว่า หลายที่ที่วาดหรือทำหุ่นฉากการบังเกิดของพระเยซูคริสต์   ที่มีพร้อมทั้งคนเลี้ยงแกะและนักปราชญ์ในฉากเดียวกัน (บางภาพยังมีเด็กตีกลองถวายพระกุมาร) นั้นไม่น่าจะใช่ เพราะนักปราชญ์มาเฝ้าพระเยซูตอนนั้นอายุประมาณ 2 ปี ทั้งมารีย์ โยเซฟได้ย้ายมาอยู่ในบ้านแล้ว  “เมื่อเข้าไปในบ้านก็พบพระกุมารกับนางมารีย์มารดา จึงก้มลงนมัสการพระกุมารนั้น แล้วเปิดหีบสมบัติของพวกเขาและถวายเครื่องบรรณาการแด่พระกุมาร คือ ทองคำ กำยาน และมดยอบ”  (มัทธิว 2:11 มตฐ.)


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

10 ธันวาคม 2561

จาริกไปบนวิถีศรัทธา...อย่างโยเซฟ

อ่าน อิสยาห์ 7:10-16  และ  มัทธิว 1:18-25

“ไม่ช้าก็เร็ว เมื่อเราตัดสินใจติดตามพระคริสต์ชีวิตเราต้องเสี่ยงต่อทุกอย่างเพื่อจะได้ทุกอย่าง ชีวิตของเราเดิมพันด้วยสิ่งที่มองไม่เห็น  และเสี่ยงต่อทุกสิ่งที่เราเห็น รู้รส และรู้สึก   แต่เราก็รู้ว่า แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีความเสี่ยง แต่ก็คุ้มค่าที่จะเสี่ยง เพราะไม่มีอะไรที่ไม่มั่นคง และ ไม่ปลอดภัยเท่ากับโลกที่ชั่วคราวใบนี้”  
(โธมัส เมอตัน Thoughts in Solitude)

เรื่องราวที่ยิ่งใหญ่สุดที่เคยเล่าขานกันมา เริ่มต้นด้วยเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศีลธรรม มารีย์ได้หมั้นกับโยเซฟ และทั้งสองได้รักษาความบริสุทธิ์และความดีงามไว้อย่างดี แต่ต่อมาพบว่ามารีย์ตั้งครรภ์ ฝ่ายชายจะคิดอย่างไรในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้?

เมื่อคนเราถูกสภาพแวดล้อมกดดันอย่างหนัก ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของคน ๆ นั้นก็แสดงออกมา และนี่ก็เกิดขึ้นกับโยเซฟด้วย ท่ามกลางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกมองว่า ได้เกิดการ “เล่นไม่ซื่อ” “การสวมเขา” “การทรยศหักหลัง” และคนที่จะต้องรับผลร้ายในเรื่องนี้คือมารีย์  มิใช่โยเซฟเอง

ตัวโยเซฟเองตั้งใจที่จะใช้จิตใจที่ดีงามในสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ เขาคิดว่าเขาจะหายตัวไปอย่างเงียบ ๆ    แทนที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากพฤติกรรมของฝ่ายหญิงตามสิ่งที่ปฏิบัติกันในสังคมเวลานั้น แต่เพราะพระคุณของพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ท่ามกล่างสถานการณ์นี้และในชีวิตจิตใจของโยเซฟ พระเจ้าได้ทรงใช้ทูตสวรรค์มา เพื่อทำให้ความวุ่นวายใจของโยเซฟสงบลง และประทานสมาธิและปัญญาแก่เขาเพื่อรู้ว่าจะรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายซับซ้อนนี้เช่นไร

แผนการของโยเซฟที่จะทิ้งมารีย์ไปอย่างเงียบ ๆ ในสายตาของคนทั่วไปต้องบอกว่าเป็นแผนการของคนมีธรรมะธัมโม แต่นั่นเป็นแผนการที่วางตามมุมมองของมนุษย์  

วิถีตามความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า โยเซฟต้องตื่นขึ้นจากการมองการคิดอย่างมนุษย์ปุถุชน เขาต้องมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า พระเจ้าทรงกำลังทำอะไรอยู่ในสถานการณ์นั้น แล้วปรับเปลี่ยนวิธีมองและแผนการของตนตามพระราชกิจที่พระเจ้ากำลังกระทำอยู่ในขณะนั้น เช่นกัน... 

เมื่อเราต้องพบกับสถานการณ์ที่ดี หรือเลวร้ายในชีวิต เราจะไม่ไปติดยึดกับสถานการณ์แวดล้อมนั้น แต่เราจะต้องมองให้เห็นว่า พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจอะไรในเหตุการณ์นั้น แล้วเปลี่ยนแผนการของเราให้เป็นแผนการที่สอดคล้องกับแผนการของพระเจ้า

โยเซฟต้อง “ยกเลิก” แผนการของเขาเอง และตอบสนองต่อแผนการของพระเจ้าที่ได้ทรงเปิดเผยให้เขา   รับและร่วมในแผนการของพระเจ้าที่กระทำท่ามกลางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น

เมื่อเราสามารถมองเห็นวิถีแห่งความเชื่อศรัทธาของเราชัดเจนขึ้นเราก็จะรู้ว่า เราจำเป็นต้องเดินบนเส้นทางความเชื่อนี้อย่างไร เราต้องพบกับสิ่งที่เราจะต้องคัดสินใจ เราต้องเลือกที่จะตอบสนองตามที่พระเจ้าทรงชี้นำหรือไม่?  

การที่เราเพียงรู้ว่าอะไรคือน้ำพระทัยของพระเจ้านั้นไม่เพียงพอ  
แต่เมื่อรู้แล้วจะต้องทำตามต่างหากเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า

บางครั้งเราเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เราสามารถจาริกไปบนเส้นทางแห่งความเชื่อ โดยไม่มีความเชื่อที่แท้จริงและความเชื่ออย่างสุดจิต สุดใจ สุดชีวิต ที่เชื่อด้วยการกระทำ เรื่องราวของโยเซฟในตอนนี้ชี้ชัดแก่เราว่า  

...การดำเนินไปบนวิถีแห่งความเชื่อศรัทธาต้องการบางสิ่งบางอย่างจากชีวิตของเราที่มากกว่า “ความสามารถ” และยังบอกเราอีกว่า การตอบรับการจาริกไปบนเส้นทางชีวิตแห่งความศรัทธายังเป็นการตอบรับว่าเราจะจาริกไปตามการทรงชี้นำตามพระประสงค์ของพระเจ้า และเราจะพบว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการขับเคลื่อนอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า  

แผนการของพระเจ้าที่ทรงทำงานในชีวิตและผ่านชีวิตประจำวันของเรา เราจะได้รับประสบการณ์สัมผัสกับการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่เข้ามาในชีวิตในจิตใจของเรา ทางองค์ อิมมานูเอล 

พระเจ้าผู้บังเกิด อยู่ และ เติบโตในชีวิตของเรา  
ให้เราเรียกนามท่านว่า “เยซู”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

07 ธันวาคม 2561

คนที่ชอบ “ทะเลาะเบาะแว้ง”

ผมเชื่อว่า เราต่างเคยพบกับคนบางคนที่มักถกเถียงถึงขั้นทะเลาะวิวาท(เอาแพ้เอาชนะ)  เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนถูกต้อง ดีกว่าคนอื่น  ลึก ๆ ต้องการมีอำนาจเหนือคนอื่น  บางคนบางกลุ่มจะทะเลาะถกเถียงตลอดเวลา เพราะภูมิใจว่านั่นเป็นบุคลิกลักษณะของเผ่าพันธุ์ชาตินักรบ?

17...สติปัญญาจากสวรรค์ประการแรกนั้นคือบริสุทธิ์ จากนั้นคือรักสันติ เห็นอกเห็นใจ ยอมเชื่อฟัง เต็มด้วยความเมตตาและผลดี ไม่ลำเอียงแต่จริงใจ (ยากอบ 3:17 อมธ.)

ผู้ที่มีสติปัญญาจากเบื้องบนนั้นสร้างสัมพันธภาพ  สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   ซึ่งพระธรรมยากอบ 3:17 ได้แจงให้เห็นชัดว่า  คนกลุ่มใดเผ่าใด หรือองค์กรใดจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ก็เพราะแต่ละคนในองค์กรนั้น   มีจิตใจที่จริงใจ บริสุทธิ์ใจ รักสันติ เห็นอกเห็นใจ เปี่ยมด้วยความเมตตา  เป็นชีวิตที่ให้ผลดี  ยอมรับฟัง  ไม่ลำเอียง   และในพระธรรมสุภาษิตกล่าวไว้ด้วยว่า 

“...มีแต่คนโง่เท่านั้นที่ชอบหาเรื่อง” (สุภาษิต 20:3 อมธ.)

แล้วอะไรล่ะที่เป็นต้นเหตุนำไปสู่การทะเลาะถกเถียงเอาแพ้เอาชนะกัน?  มี 3 พฤติกรรมที่พึงตระหนักเพื่อระมัดระวังที่ชีวิตอาจจะถลำเข้าไปแล้วก่อเกิดการทะเลาะถกเถียงเอาแพ้เอาชนะ  ที่นำไปสู่การแตกแยก แบ่งขั้ว แบ่งก๊ก แบ่งพวก 

1.    การพูดแบบเปรียบเทียบกัน:   เราต้องระมัดระวังที่จะไม่พูดในลักษณะเปรียบเทียบเพื่อเหยียดให้คู่สนทนา ดูอ่อน  ด้อย หรือ หรือ เลว แย่กว่าคนอื่น  เช่น
“คุณเป็นเหมือน....” หรือ “ทำไมเธอไม่ทำเหมือน... (คนนั้น)”
   “สมัยที่ผมอายุรุ่นราวคราวเดียวกับคุณ   ผม......”
คำพูดลักษณะเช่นนี้รังแต่กระตุ้นให้คู่สนทนาลุกขึ้นปกป้องตนเอง หรือ ถึงกับลุกขึ้นสู้ให้เห็นดำเห็นแดง
2.    ตัดสินกล่าวโทษ  ประนาม  ตราหน้า สาดโคลน: เป็นการกล่าวหาคู่สนทนาว่าเป็นคนทำผิด หรือ ฝ่ายผิด  เช่น
   “นี่มันความผิดของคุณนะ”  “คุณควรอับอายในความผิดที่ทำลงไปบ้าง”
   “คุณทำอย่างงี้เสมอ...”   “คุณไม่เคยทำอะไรที่... (สร้างสรรค์)... เลย”
   “คุณควรจะทำ....”   “คุณไม่ควรจะทำ....”
ประโยคในการสนทนา หรือ ที่ใช้ในการสื่อสารแบบนี้ไม่ช่วยให้เกิดการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในคริสตจักร หรือ ในองค์กรเลย  รังแต่ยั่วยุให้คู่สนทนาเกิดอารมณ์เดือดดัน  ไม่พอใจ ต้องลุกขึ้นปกป้องตนเอง หรือ “เอาคืน”
3.      การสื่อสารที่เอาตนเองเป็นตัวตั้ง:   การสนทนาที่เอากรอบคิดของตนเองเป็นมาตรฐาน   ไม่สนใจ-ใส่ใจถึงความคิดความเข้าใจและความรู้สึกของคู่สนทนา   ไม่ยอมที่จะฟังอย่างใส่ใจ เพื่อเอาใจเขามาใส่ใจเรา   อาการเช่นนี้นำไปสู่การที่ถกเถียงกันถึงทะเลาะเบาะแว้ง   การที่จะเอาแพ้เอาชนะคะคานกัน   อาการเช่นนี้ตรงกันข้ามกับผู้สร้างสันติแน่!
คนที่โกรธช้า (ใจเย็น) ก็มีความเข้าใจมาก   แต่คนที่โกรธเร็ว (ในร้อน) ก็ยกย่องความโง่ (สุภาษิต 14:29 มตฐ. ในวงเล็บ สำนวนแปลของ อมธ.

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

05 ธันวาคม 2561

วิกฤติชีวิตจากการทรงเรียก!: กับการรับมือแบบมารีย์

ทุกวันนี้   เราท่านหลายคนต้องพบกับความผิดคาด  ผิดหวัง  ท้อแท้ หมดแรงในชีวิต   บ้างตกอยู่ในสถานการณ์ชีวิตที่ตนไม่พึงประสงค์   บ้างไม่คาดคิดเลยว่าตนจะพบกับสถานการณ์เลวร้ายอย่างที่เป็นอยู่   บ้างต้องตัดสินใจที่ก้าวเคลื่อนไปข้างหน้าทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ปลายทางของมันจะเป็นอย่างไรกันแน่

อยากจะบอกว่า  คนที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า   มิได้มีชีวิตที่สวยหรูวิจิตรน่าพึงพอใจเสมอไป   แต่ส่วนใหญ่แล้ว “การทรงเรียกของพระเจ้า”  ทำให้คนนั้นต้องพบกับสถานการณ์ที่  ผิดคาด ผิดหวัง เสียใจ  จนกระทั่งบางคนอาจจะหมดกำลังที่จะเคลื่อนต่อไปในชีวิต  บ้างหาทางหลบลี้...

มารีย์ เป็นคนหนึ่งที่พบกับวิกฤติชีวิตจากการทรงเรียกของพระเจ้า   แล้วเธอมีท่าทีอย่างไร?  เธอตอบสนองอย่างไร ต่อวิกฤติชีวิตจากการทรงเรียก?

ความคาดหวังของเธอมิได้ขึ้นอยู่กับใครบางคน!

สำหรับมารีย์ เป็นการง่ายอย่างยิ่งที่เธอจะตั้งความคาดหวังของเธอในตัวของโยเซฟ   เธอจำเป็นและต้องการความช่วยเหลือให้แผนการของพระเจ้าสำเร็จ แต่เท่าที่เธอรู้ โยเซฟกำลังคิดที่จะจากเธอไปอย่างเงียบ ๆ เมื่อเขารู้ว่าเธอตั้งครรภ์?

เมื่อมารีย์ตอบสนองสาส์นที่ทูตสวรรค์นำมาจากพระเจ้าถึงเธอ   เธอกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า...” (ลูกา 1:38ก. อมธ.)  ผู้ที่จะตอบสนองการทรงเรียกด้วยการเชื่อฟังพระเจ้าเพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้าคือตัวของมารีย์เอง   เธอไม่ได้คาดหวังจากใครคนอื่น   เธอมุ่งมองไปที่องค์พระผู้เป็นเจ้า   ใส่ใจในการทรงเรียกและพระสัญญาของพระเจ้าที่มีต่อเธอ  ไม่ว่าโยเซฟจะอยู่หรือจะไปจากเธอ

เมื่อเรามั่นใจว่าชีวิตของเราได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า   ตัวเราเองต้องมุ่งมองที่พระองค์และมั่นใจในการทรงเรียกและพระสัญญาของพระองค์   ความคาดหวังของเรามุ่งคาดหวังในพระเจ้าเท่านั้น  

อย่ามีความคาดหวังขึ้นอยู่กับ “มุมมองของคนอื่น” ที่มีต่อเรา

ถ้ามารีย์เอาความคาดหวังของเธอไปขึ้นอยู่กับเรื่องชื่อเสียง ภาพลักษณ์ที่คนอื่นมอง  คนอื่นคิดและเข้าใจ  ถ้าเธอมีมุมมองว่า เมื่อเป็นแผนดำเนินการที่มาจากพระเจ้าจะต้องเป็นแผนการที่ดีเยี่ยมไม่มีที่ติ  “ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี”   ถ้าเธอคาดหวังในสิ่งเหล่านี้  ก็จะต้องพบกับความผิดหวังเสียใจแน่

ทูตสวรรค์บอกชัดว่า  “มารีย์เอ๋ย อย่ากลัวเลย เธอเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า” (ลูกา 1:30 อมธ.)  เธอกำลังจะมีประสบการณ์สิทธิพิเศษกว่าบุตรีทั้งหลายในตระกูลดาวิด   แต่ “ความโปรดปราน” ของพระเจ้าจะมีผลอย่างไรในชีวิตของเธอ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีผลต่อเรื่องชื่อเสียงของเธอในสังคมอย่างไร?  แล้วคนรอบข้างจะเข้าใจสิ่งใหม่ในพระราชกิจของพระเจ้าทรงกระทำที่อยู่เหนือมารีย์ที่จะควบคุมได้อย่างไร? 

อย่ามีความคาดหวังขึ้นอยู่กับบางที่บางแห่ง

ในชีวิตของเราแต่ละคน จะมีที่บางแห่งที่เราชอบ คุ้นชิน และรู้สึกปลอดภัย  ที่เราเลือกจะไปที่นั่นเมื่อชีวิตประสบกับวิกฤติ   สำหรับมารีย์เธอไปหานางเอลิซาเบธญาติสนิท แม้จะเป็นเหมือนที่หลบภัยทางสังคมของเธอ  แต่เธออยู่ที่นั่นได้เพียง 6 เดือน  จากนั้น เธอตัดสินใจเผชิญกับความจริงจากการทรงเรียก  เธอกับโยเซฟมุ่งหน้าสู่เบธเลเฮม   ที่บางแห่งที่ปลอดภัย คุ้นชิน มิได้ช่วยให้เราเผชิญหน้ากับวิกฤติจากการทรงเรียกได้   แต่การก้าวเดินออกไปเผชิญกับวิกฤติต่างหากที่เราจะเห็นพระราชกิจพระเจ้าในชีวิต

บทเรียนชีวิตที่ได้รับจากมารีย์

สิ่งสำคัญประการแรกที่พึงสังเกตคือ  ในเหตุการณ์การทรงเรียกของพระเจ้า   มารีย์ดูเหมือนว่า เธอมิได้เข้าใจทุกอย่างในแผนการของพระเจ้า  หรือ แม้แต่ความเข้าใจในสิ่งที่พระเจ้ากำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์ในขณะนั้น  และนี่คือบทเรียนอันสำคัญสำหรับเราว่า  คนที่พระเจ้าทรงเรียกนั้นมิได้เข้าใจรายละเอียดในแผนการตามการทรงเรียกทุกเรื่องเสมอไป

สิ่งสำคัญประการที่สองคือ อยู่เหนือ “สายตาคนรอบข้างที่มองเธออย่างตัดสิน”   เธอไม่ยอมให้ “ความคิดเห็นของคนรอบข้าง” ที่มองเธอมีอิทธิพลเหนือ “ความสำคัญแห่งการทรงเรียกของพระเจ้า”  ถึงแม้เธอจะยังไม่เข้าใจทุกรายละเอียดในแผนการแห่งการทรงเรียกของพระเจ้า  การขาดรายละเอียดที่ชัดเจนในการทรงเรียกไม่ได้ทำให้เธอสูญเสียความมั่นใจในแผนการการทรงเรียกของพระเจ้า   ในวินาทีนี้เธอเลือกที่จะยอมรับเอาความคิดใหม่ความเข้าใจใหม่จากการทรงเรียกจากพระเจ้าที่มาถึงเธอ

สิ่งสำคัญประการที่สาม  จากบทเรียนชีวิตของมารีย์  ทำให้ได้เรียนรู้ว่า   เมื่อชีวิตเผชิญหน้ากับวิกฤติ   เมื่อชีวิตต้องการที่จะหลุดพ้นจากความเสียใจผิดหวัง  เมื่อชีวิตไปถึง “ทางแพร่ง”   เมื่อชีวิตต้องเผชิญกับสิ่งที่ต้องทำในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมในความคาดคิดของตน   ในเวลาที่จะต้องสละสิ่งที่มีค่าคุ้นชินในชีวิตของตนไปยังที่ที่ไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นไร   ในสถานการณ์เช่นนี้นำมาซึ่งความสิ้นหวังท้อใจ หมดกำลังชีวิต   แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากมารีย์คือ  เธอนำเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาใคร่ครวญในจิตใจในความคิดของเธอ   และนี่คือโอกาสที่เธอจะเติบโตขึ้น และ มีวุฒิภาวะในชีวิตและความเชื่อจากการเปิดเผยของพระเจ้า  

บทเรียนที่ผู้คนไม่อยากรับคือ  ในเวลาที่สิ้นหวัง หมดแรง   มารีย์ได้เรียนรู้ว่า  พระเจ้าสามารถใช้สถานการณ์สิ้นหวัง เสียใจ และเมื่อชีวิตหมดแรง  ในการพัฒนาให้เธอมีความเชื่อที่มั่นคงขึ้นในพระเจ้า   มารีย์มิได้วางความมั่นใจในตนเอง ในเพื่อนฝูง  ในมนุษย์  ในตำแหน่ง  ในทรัพย์สินเงินทองสิ่งของ  หรือมิได้มั่นใจในที่ใดที่หนึ่ง   แต่เธอมีความคาดหวัง  มีความมั่นใจในพระเจ้าเท่านั้น    สถานการณ์เหล่านี้กลับกลายเป็นโอกาสและเครื่องมือที่พระเจ้าทรงใช้ในการเสริมสร้างเราแต่ละคนให้เป็นคนที่มีประสิทธิภาพตามที่พระเจ้าทรงเรียกเรา และ ตามที่พระองค์ต้องการใช้เรามากขึ้น

คริสต์มาสปีนี้พระเจ้าทรงเรียกท่านในเรื่องอะไรครับ?  

แล้วท่านจะตอบสนองการทรงเรียกของพระองค์อย่างไรครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499