07 ธันวาคม 2561

คนที่ชอบ “ทะเลาะเบาะแว้ง”

ผมเชื่อว่า เราต่างเคยพบกับคนบางคนที่มักถกเถียงถึงขั้นทะเลาะวิวาท(เอาแพ้เอาชนะ)  เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนถูกต้อง ดีกว่าคนอื่น  ลึก ๆ ต้องการมีอำนาจเหนือคนอื่น  บางคนบางกลุ่มจะทะเลาะถกเถียงตลอดเวลา เพราะภูมิใจว่านั่นเป็นบุคลิกลักษณะของเผ่าพันธุ์ชาตินักรบ?

17...สติปัญญาจากสวรรค์ประการแรกนั้นคือบริสุทธิ์ จากนั้นคือรักสันติ เห็นอกเห็นใจ ยอมเชื่อฟัง เต็มด้วยความเมตตาและผลดี ไม่ลำเอียงแต่จริงใจ (ยากอบ 3:17 อมธ.)

ผู้ที่มีสติปัญญาจากเบื้องบนนั้นสร้างสัมพันธภาพ  สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   ซึ่งพระธรรมยากอบ 3:17 ได้แจงให้เห็นชัดว่า  คนกลุ่มใดเผ่าใด หรือองค์กรใดจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ก็เพราะแต่ละคนในองค์กรนั้น   มีจิตใจที่จริงใจ บริสุทธิ์ใจ รักสันติ เห็นอกเห็นใจ เปี่ยมด้วยความเมตตา  เป็นชีวิตที่ให้ผลดี  ยอมรับฟัง  ไม่ลำเอียง   และในพระธรรมสุภาษิตกล่าวไว้ด้วยว่า 

“...มีแต่คนโง่เท่านั้นที่ชอบหาเรื่อง” (สุภาษิต 20:3 อมธ.)

แล้วอะไรล่ะที่เป็นต้นเหตุนำไปสู่การทะเลาะถกเถียงเอาแพ้เอาชนะกัน?  มี 3 พฤติกรรมที่พึงตระหนักเพื่อระมัดระวังที่ชีวิตอาจจะถลำเข้าไปแล้วก่อเกิดการทะเลาะถกเถียงเอาแพ้เอาชนะ  ที่นำไปสู่การแตกแยก แบ่งขั้ว แบ่งก๊ก แบ่งพวก 

1.    การพูดแบบเปรียบเทียบกัน:   เราต้องระมัดระวังที่จะไม่พูดในลักษณะเปรียบเทียบเพื่อเหยียดให้คู่สนทนา ดูอ่อน  ด้อย หรือ หรือ เลว แย่กว่าคนอื่น  เช่น
“คุณเป็นเหมือน....” หรือ “ทำไมเธอไม่ทำเหมือน... (คนนั้น)”
   “สมัยที่ผมอายุรุ่นราวคราวเดียวกับคุณ   ผม......”
คำพูดลักษณะเช่นนี้รังแต่กระตุ้นให้คู่สนทนาลุกขึ้นปกป้องตนเอง หรือ ถึงกับลุกขึ้นสู้ให้เห็นดำเห็นแดง
2.    ตัดสินกล่าวโทษ  ประนาม  ตราหน้า สาดโคลน: เป็นการกล่าวหาคู่สนทนาว่าเป็นคนทำผิด หรือ ฝ่ายผิด  เช่น
   “นี่มันความผิดของคุณนะ”  “คุณควรอับอายในความผิดที่ทำลงไปบ้าง”
   “คุณทำอย่างงี้เสมอ...”   “คุณไม่เคยทำอะไรที่... (สร้างสรรค์)... เลย”
   “คุณควรจะทำ....”   “คุณไม่ควรจะทำ....”
ประโยคในการสนทนา หรือ ที่ใช้ในการสื่อสารแบบนี้ไม่ช่วยให้เกิดการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในคริสตจักร หรือ ในองค์กรเลย  รังแต่ยั่วยุให้คู่สนทนาเกิดอารมณ์เดือดดัน  ไม่พอใจ ต้องลุกขึ้นปกป้องตนเอง หรือ “เอาคืน”
3.      การสื่อสารที่เอาตนเองเป็นตัวตั้ง:   การสนทนาที่เอากรอบคิดของตนเองเป็นมาตรฐาน   ไม่สนใจ-ใส่ใจถึงความคิดความเข้าใจและความรู้สึกของคู่สนทนา   ไม่ยอมที่จะฟังอย่างใส่ใจ เพื่อเอาใจเขามาใส่ใจเรา   อาการเช่นนี้นำไปสู่การที่ถกเถียงกันถึงทะเลาะเบาะแว้ง   การที่จะเอาแพ้เอาชนะคะคานกัน   อาการเช่นนี้ตรงกันข้ามกับผู้สร้างสันติแน่!
คนที่โกรธช้า (ใจเย็น) ก็มีความเข้าใจมาก   แต่คนที่โกรธเร็ว (ในร้อน) ก็ยกย่องความโง่ (สุภาษิต 14:29 มตฐ. ในวงเล็บ สำนวนแปลของ อมธ.

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น