14 ธันวาคม 2561

ปรารถนามิตรภาพ

ความคาดหวังของพระเยซูตอนช่วงท้ายชีวิตบนโลกนี้คือ  พระองค์คาดหวังที่จะเห็นคริสต์ชน/สาวกของพระองค์มีความรักเมตตาต่อกัน หรือ การรักซึ่งกันและกันอย่างเป็นรูปธรรม

มีผู้กล่าวไว้ว่า  ความปรารถนาในชีวิตของเราคือ มิตรภาพ ความสัมพันธ์ที่เป็นมิตร

ศิษยาภิบาลท่านหนึ่งได้แบ่งปันว่า  เขาเคยมีความรู้สึกเหงามาก เหงาเหลือเชื่อจริง ๆ  แต่ก็ไม่สามารถที่จะชี้เจาะจงลงไปว่ามันมีสาเหตุจากอะไร   ทั้ง ๆ ที่อยู่ท่ามกลางครอบครัวพร้อมหน้า  พบเพื่อนฝูงคนสนิท  พาลูก ๆ ไปเล่นกับเพื่อนบ้าน

ศิษยาภิบาลท่านเดิมบอกต่อไปอีกว่า แต่เมื่อชีวิตอายุมากขึ้น  อาวุโสมากขึ้นท่านเรียนรู้ว่า อาการความรู้สึก “เหงา” ที่กล่าวนั้น  มิใช่ความรู้สึกเหงาโดดเดี่ยวอย่างที่คิด  แต่จริง ๆ แล้วเป็น ความปรารถนาลึก ๆ เพราะอาการความรู้สึกดังกล่าวยังเป็นจนถึงวันแก่เฒ่าด้วย แต่ในวัยสูงอายุนี้ตนโหยหาความสัมพันธ์ มิตรภาพ  แต่ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดภายในชีวิต หรือ ไม่มีใครทำให้ชีวิตรู้สึกเจ็บปวด เจ้าตัวปรารถนาที่จะเข้าใจเพื่อนฝูงมิตรสหาย และปรารถนาให้เพื่อนเข้าใจตนเอง ศิษยาภิบาลอาวุโสท่านนี้ต้องการที่จะให้ความรักและรับความรักเมตตาจากผู้คน ท่านต้องการมีมิตรภาพเช่นนี้กับทุกคน

ท่านศิษยาภิบาลอาวุโสแบ่งปันต่อไปว่า ความปรารถนาที่ว่านี้คือความรู้สึกว่าความสัมพันธ์และมิตรภาพที่เรามีต่อคนอื่นยังไม่สมบูรณ์  ยังไม่ดีพอ เราจึงต้องการที่จะทำให้ดีพอและสมบูรณ์  พระเจ้าทรง “ปลูก” ความปรารถนานี้ลงในชีวิตของเรา เพราะพระองค์มีพระประสงค์สร้างเราให้มีคุณภาพชีวิตที่อยู่ใน “สวนเอเดน”  มิใช่คุณภาพชีวิตใน “บาบิโลน”   เมื่อเกิดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ โดดเดี่ยว  ความรู้สึกดังกล่าวกำลังบอกเราว่า ชีวิตตามพระประสงค์ไม่ควรจะเป็นเช่นนี้  แล้วกระตุ้นเตือนเราให้ค้นและแสวงหาความปรารถนาที่แท้จริงของเราว่า เรากำลังต้องการอะไรกันแน่!

ทารกน้อยที่บังเกิดที่บ้านเบธเลเฮมเมื่อหลายศตวรรษก่อนมีภารกิจหลักในโลกนี้คือ  การประกาศและการนำ “อาณาจักรแห่งเอเดนใหม่” มาสถาปนาขึ้นบนโลกใบนี้ และทรงเชิญชวนเราท่านทุกคนให้มามีคุณภาพชีวิตแบบ “เอเดนใหม่” หรือที่เรารู้จักในนามว่า “แผ่นดินของพระเจ้า”

ชายหนุ่มจากนาซาเร็ธคนนี้รู้หลายเรื่องที่เราเองก็ยังไม่รู้ซึ้ง   เขาเรียนรู้ถึงประสบการณ์ที่ถูกเพื่อนสนิททอดทิ้งและหักหลัง เขารู้ถึงเรื่องชีวิตที่พระเจ้าทรงหันหลังให้ เขารู้ชัดเต็มอกว่า เขากำลังรับใช้คนที่ไม่รู้ถึงคุณค่าและความสำคัญในการรับใช้ของเขา เขาเป็นคนที่ถูกปฏิเสธ ไม่มีใครที่เคยมีประสบการณ์ชีวิตที่ว้าเหว่ โดดเดี่ยวเหมือนเขา และที่เขายอมรับเอาความว้าเหว่ เจ็บปวด และ โดดเดี่ยวก็เพื่อเราจะมีสัมพันธภาพที่แนบสนิทกับพระเจ้าตลอดไป

เปาโลได้กล่าวถึง “ความปรารถนา” ในชีวิตได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเขากล่าวถึงเรื่องความรักเมตตาว่า 
เพราะว่าเวลานี้เราเห็นสลัว ๆ เหมือนดูในกระจก แต่ในเวลานั้นจะเห็นแบบหน้าต่อหน้า เวลานี้ข้าพเจ้ารู้เพียงบางส่วน แต่เวลานั้นข้าพเจ้าจะรู้แจ้งเหมือนพระองค์ทรงรู้จักข้าพเจ้า (1โครินธ์ 13:12 มตฐ.)

อาจจะเป็นเพราะในประสบการณ์ชีวิตประจำวันของเรา เรามักเอา “ความปรารถนา” ของเราไปโยงสัมพันธ์กับ “สิ่งที่เราไม่มี  สิ่งที่เราขาด”  ในส่วนลึกของความคิดรู้สึกของเราแล้ว ความปรารถนาเป็นของประทานที่สร้างสรรค์ที่เราได้รับจากพระเจ้า   เพราะความปรารถนาทำให้เรามองไปข้างหน้าที่จะมีชีวิตที่ “ครบบริบูรณ์”  คือการที่ชีวิตของเราไปถึงจุดที่รู้และพบว่าเราเป็นคนที่ “พระเยซูคริสต์รู้จัก” และเป็นคนที่ “พระคริสต์ทรงรัก”  เมื่อเรามีความปรารถนาไปให้ถึงจุดนี้  ทำให้เรามองไปที่พระเยซูคริสต์และแสวงหา “ความครบบริบูรณ์ในพระองค์”

ความโดดเดี่ยวว้าเหว่สอนให้เราเรียนรู้ที่จะเข้าสนิทในความรักเมตตาของพระองค์  ไว้วางใจที่พระเจ้าทรงรู้จักและรักเมตตาเราอย่างเต็มเปี่ยม แม้เราจะเรียนรู้และเข้าใจที่ยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม และความว้าเหว่ยังสอนเราอีกว่า ไม่ไปยึดเอาคนอื่นมาเป็น “แม่แบบชีวิต” ของเรา แล้วไปคาดหวังว่า คนดังกล่าวจะให้ความรักแก่เราอย่างพระคริสต์ย่อมเป็นไปไม่ได้

เพราะความรักเมตตาแบบพระคริสต์ที่มีต่อเรานี้เองที่สอนให้เราที่จะรักเมตตาคนอื่นอย่างที่พระคริสต์ทรงมีต่อเรา เมื่อพลังดังกล่าวขับเคลื่อนในชีวิตประจำวันของเรา จะเป็นพลังแห่งความรักเมตตาที่สุดยอดสำหรับชีวิตประจำวันของเรา แต่ต้องตระหนักชัดว่านั่นเป็นพลังแห่งความรักเมตตาของพระคริสต์ที่มีในชีวิตของเรา

14เพราะความรักของพระคริสต์ผลักดันเราอยู่ เพราะเรามั่นใจว่าผู้หนึ่งได้ตายเพื่อคนทั้งปวง ฉะนั้นคนทั้งปวงจึงตายแล้ว 15และในเมื่อพระองค์ได้สิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งปวง บรรดาผู้มีชีวิตอยู่จึงไม่ควรอยู่เพื่อตัวเองอีกต่อไป แต่อยู่เพื่อพระองค์ผู้สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขาและคืนพระชนม์ขึ้นมาอีก” (2โครินธ์ 5:14-15 อมธ.)

เมื่อเราเข้าติดสนิทในความสัมพันธ์กับพระคริสต์ ความรักสัมพันธ์ของพระองค์กระตุ้นขับเคลื่อนให้เราไปช่วยคนอื่นให้เข้ามาอยู่ภายใต้ความรักเมตตาของพระเจ้า กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราสามารถที่จะ กระทำ ความปรารถนาของเราในความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่เราติดต่อเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ด้วยความรักเมตตา ให้เกียรติ และกระทำตามแบบอย่างของพระคริสต์ที่ทรงรักเมตตาเรา ทำให้เรารักพระคริสต์ผ่านการที่เรารักเมตตาและรับใช้คนอื่น  

พระคริสต์บอกกับเราว่า ความรักเมตตาที่ว่านี้คือการที่เราให้ชีวิตของเรากับมิตรสหายของเรา   อย่างที่พระคริสต์ให้ชีวิตของพระองค์แก่เรา  เพื่อเราจะได้ชีวิตใหม่ การรักคนอื่นคือการที่เราหาทางที่จะให้สิ่งที่เราต้องการได้จากสัมพันธภาพ หรือ มิตรภาพที่เรามีแก่เขา การรักเพื่อนบ้านคือการให้สิ่งที่เราต้องการแก่เขา มิใช่แสวงหาสิ่งที่เราต้องการจากเขา เมื่อเรากระทำเช่นนี้ เราก็ได้ประกาศถึงการเกิดขึ้นของแผ่นดินของพระเจ้า ที่เหล่าทูตสวรรค์ประกาศแก่เราถึงการมาบังเกิดของพระเยซูคริสต์  

ความจริงก็คือว่า ความรู้สึก โดดเดี่ยว  ว้าเหว่  การถูกทอดทิ้ง จะเกิดขึ้นเสมอตราบใดชีวิตของเรายังอยู่ใน “อาณาจักรแบบบาบิโลน”  ที่ยังโหยหา ที่ยังปรารถนา “มิตรภาพ”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น